PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

การเคลื่อนไหวทางการเมืองอียิปต์-ไทย:ศิโรจน์ คล้ามไพบูลย์

มีสี่เรื่องที่ทำให้การประท้วงในอียิปต์ไม่เหมือนกับไทยสมัยพันธมิตร และนั่นหมายความว่าการเอาวิธีมองการเมืองไทยไปมองการเมืองอียิปต์จะไม่ช่วยให้เข้าใจอะไรเลย

แน่นอนว่าอียิปต์มีความขัดแย้งระหว่างประธานาธิบดีกับกองทัพและศาล แต่เทียบไม่ได้กับความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกับกลุ่มที่เรียกว่า "อำมาตย์" ของไทย

๑) คู่ขัดแย้งหลักในไทยคือฝ่ายอำมาตย์กับฝ่ายประชาธิปไตย ขณะที่คู่ขัดแย้งหลักในอียิิปต์คือฝ่ายอำนาจเก่ากับฝ่ายการเมืองอิงศาสนา ความขัดแย้งหลักของไทยจึงเป็นเรื่องการเอาหรือไม่เอาประชาธิปไตย ขณะที่ความขัดแย้งในอียิปต์เป็นเรื่องระหว่าง อำนาจเก่าที่ไม่เอาประชาธิปไตย กับอำนาจใหม่ที่อิงรัฐศาสนา (ซึ่งมีธรรมชาติจะขัดแย้งกับหลักเสรีประชาธิปไตย)

๒) มวลชนฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอียิปต์คือพวกเสรีนิยม พวกฝ่ายซ้าย พวกกลุ่มพลเมือง รวมทั้งกลุ่มผู้หญิงและเยาวชน ส่วนมวลชนฝ่ายต่อต้านทักษิณคือพวกอนุรักษ์นิยมโหนเจ้าและอิงศาสนาบางนิกาย ความต้องการของมวลชนฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอียิปต์จึงเป็ํนเรื่องของการเรียกร้องการเลือกตั้งและประชาธิปไตย ขณะที่มวลชนฝ่ายไล่ทักษิณเป็นพวก 70-30 และนายกพระราชทาน

๓) ฉากการเมืองในอียิปต์คือผู้ขับไล่รัฐบาลใช้วิธีชุมนุมยืดเยื้อในที่ตั้งแต่ถูกกองกำลังของรัฐและมวลชนผู้สนับสนุนรัฐบาลประทุษร้ายจนฝ่ายต่อต้านตายไปแล้วอย่างน้อย ๑๘ ศพ ฉากการเมืองไทยสมัยไล่ทักษิณคือฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยใช้การชุมนุมแบบดาวกระจายเพื่อเร่งให้สถานการณ์รุนแรงและยั่วยุให้ทหารรัฐประหาร

๔) พลังอนุรักษ์นิยมอียิปต์คือศาลและกองทัพซึ่งไม่มีโอกาสยุ่งกับความขัดแย้งทางการเมืองโดยตรง ยุ่งเมื่อไรก็จะกลายเป็นฝ่ายทำลายประชาธิปไตยเมื่อนั้น ขณะที่พลังอนุรักษ์นิยมไทยมีความยอมรับนับถือในประชาสังคมและพรรคการเมืองเป็นฐาน ยุ่งเมื่อไรก็ไม่ถูกหาว่าทำลายประชาธิปไตย ซ้ำยังถูกมองว่าเป็นบทบาทที่จำเป็นเพื่อพิทักษ์ประชาธิปไตย

"หญิงหน่อย" ขอบคุณ ป.ป.ช.จ่อเอาคืน "ภักดี" เพื่อบรรทัดฐาน ลั่นเขียนหนังสือแฉรัฐประหาร

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 3 กรกฎาคม 2556 16:34 น.

ฃอดีตรมว.สธ. ขอบคุณป.ป.ช.ให้ความเป็นธรรมคดีจัดซื้อคอมฯ ฉาว โอดทุกข์มา 7 ปี อ้างเข้าใจโดนยัดข้อหาช่วงรัฐประหาร เสียใจทำข้าราชการโดนเป็นเหยื่อการเมือง โวย อนุกก.ไต่สวนไม่ให้ความเป็นธรรม จนต้องยื่นถอด เล็งเล่นกลับ "ภักดี" บอกเป็นบรรทัดฐาน ลั่นเขียนหนังสือแฉแน่ ย้ำเว้นวรรคการเมืองจนกว่าจะบูรณะสถานที่ประสูติเสร็จ
     
       วันนี้ (3 ก.ค.) ที่บ้านลาดปลาเค้า 60 เมื่อเวลา 14.00 น. คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย แถลงกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ยกคำร้องกรณีการยกเลิกการจัดซื้อคอมพิวเตอร์กระทรวงสาธารณสุขวงเงิน 821ล้านบาท โดยมิชอบ สมัยที่คุณหญิงสุดารัตน์ ดำรงตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข ว่า รอคอยความเป็นธรรมมา 7 ปี ขอขอบคุณป.ป.ช.ทั้ง 8 คนที่ให้ความเป็นธรรม ว่า การยกเลิกโครงการดังกล่าวเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้จะใช้เวลานานถึง 7 ปี ซึ่งเป็นการรอที่ทุกข์ใจ แต่เรามั่นใจว่า ไม่ได้ทำผิด และไม่ใช้อำนาจในทางที่ผิด แต่ทำไปด้วยสำนึกของความเป็นข้าราชการที่ดี ปกป้องผลประโยชน์ประเทศชาติ แต่กลับต้องได้รับความเสียหาย
     
       คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า ทั้งนี้หลังการปฏิวัติ ถูกป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหาใช้อำนาจยกเลิกโครงการโดยมิชอบ เข้าใจดีว่าการเปลี่ยนแปลงการเมืองในช่วงนั้นมีความรุนแรง มีความจำเป็นต้องกำจัดอีกฝ่ายหนึ่งออกจากเวทีให้ได้ ตนเป็นนักการเมืองที่อยู่ในช่วงนั้นเข้าใจดีถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนเห็นแก่ได้และข้าราชการใช้ป.ป.ช.เป็นเครื่องมือจัดการนักการเมือง ตลอด 7 ปีของการต่อสู้ ตนถูกกล่าวหาว่าประพฤติชั่ว ทำให้รู้สึกเสียใจที่ทำให้ข้าราชการอีกเกือบ 20 คน ต้องพลอยเป็นเหยื่อทางการเมืองไปด้วย เป็นข้อกล่าวหาที่ยากทำใจได้ ที่สำคัญตลอดการต่อสู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากคณะอนุกรรมการไต่สวนของป.ป.ช.ที่ตั้งผู้มีส่วนได้เสียที่เคยเป็นประธานคณะกรรมการกำหนดทีโออาร์ในโครงการนี้ มาเป็นประธานคณะอนุกรรมการไต่สวน มีการใช้เอกสารและพยานเท็จ โดยไม่รับฟังข้อกฎหมาย และข้อต่อสู้จากอีกฝ่าย จนตนต้องยื่นถอดถอนกรรมการป.ป.ช.ผู้นั้น แม้จะถอดถอนไม่สำเร็จ แต่ป.ป.ช.ก็ยอมเปลี่ยนตัวคณะอนุกรรมการสอบสวนชุดใหม่ให้ ทำให้มีมติยกคำร้องคดีนี้
     
       คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้กำลังฝ่ายกฎหมายหารือว่า จะดำเนินคดีตามกฎหมายกับอดีตประธานคณะอนุกรรมการไต่สวน และคณะอนุกรรมการไต่สวนของป.ป.ช.ที่ไม่ให้ความเป็นธรรมกับตนได้อย่างไรบ้าง เพื่อให้เป็นบรรทัดฐาน คาดว่าใช้เวลา 1สัปดาห์จะได้ข้อสรุปเรื่องดังกล่าว ซึ่งไม่ได้ก้าวล่วงองค์กรอิสระ เพราะสนับสนุนองค์กรอิสระแต่อยากดำเนินการเป็นรายบุคคลกับผู้ที่ไม่ให้ความเป็นธรรม ขอให้กรณีของตนเป็นเหยื่อรายสุดท้ายของความขัดแย้งทางการเมือง อยากให้กระบวนการยุติธรรมเดินหน้าให้ความเป็นธรรมกับทุกข์ฝ่ายอย่างแท้จริง หลังจากนี้จะเขียนหนังสือ 1 เล่มเป็นกรณีศึกษาถึงความไม่เป็นธรรมของกระบวนการยุติธรรมในช่วงที่การเมืองเปลี่ยนแปลง
     
       ส่วนการกลับเข้าสู่การการเมืองนั้น คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า ขอยืนยันว่า เว้นวรรคทางการเมืองจนกว่างานบูรณะสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าเสร็จสิ้น แม้ป.ป.ช.จะตัดสินให้พ้นผิด แต่ไม่ใช่เหตุผลที่จะยกเลิกความตั้งใจ ส่วนในอนาคตการเมืองจะเป็นอย่างไร ขอให้ขึ้นกับสถานการณ์ช่วงหน้าว่าจะเป็นอย่างไร

บ.ขุดเจาะน้ำมันยอมย้ายสารกัมมันตรังสี

 

บริษัทขุดเจาะน้ำมันใน จ.สงขลา เตรียมเคลื่อนย้าย วัสดุสารกัมมันตรังสี ออกจากตัวเมือง ภายในเดือนพฤศจิกายน นี้
บ.ขุดเจาะน้ำมันยอมย้ายสารกัมมันตรังสี
บริษัทขุดเจาะน้ำมันใน จ.สงขลา เตรียมเคลื่อนย้าย วัสดุสารกัมมันตรังสี ออกจากตัวเมือง ภายในเดือนพฤศจิกายน นี้ 

ที่โรงแรมกรีนเวิลด์พาเลซสงขลา นายนิรันดร์  พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน ลงพื้นที่ไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีการร้องเรียนเกี่ยวกับสถานที่จัดเก็บสารกัมมันตรังสีของบริษัท ชลัมเบอร์เจอร์ โอเวอร์ซีส์ เอส.เอ. จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทขุดเจาะน้ำมัน ตั้งอยู่ที่ถนนไทรงาม เขตเทศบาลนครสงขลา ซึ่งเป็นย่านชุมชน และเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อชุมชน โดยมีตัวแทนของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ส่วนราชการเกี่ยวข้องใน จ.สงขลา องค์กรพัฒนาเอกชน และตัวแทนของบริษัทชลัมเบอร์เจอร์ โอเวอร์ซีส์ เอส.เอ. จำกัด เข้าร่วมรายงานข้อเท็จจริง
ทั้งนี้ ทางบริษัทขุดเจาะน้ำมัน ชี้แจงว่า ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการเคลื่อนย้ายวัสดุสารกัมมันตรังสี ไปยังสถานที่จัดเก็บแห่งใหม่ ซึ่งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ ต.ฉลุง อ.หาดใหญ่ ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างสถานที่จัดเก็บ และจะดำเนินการเคลื่อนย้ายให้แล้วเสร็จ ภายในเดือนพฤษจิกายนนี้
ขณะที่ ตัวแทนของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ รายงานว่า จากการตรวจสอบปริมาณสารกัมมันตรังสีของบริษัทชลัมเบอร์เจอร์ฯ อยู่ในระดับที่ปลอดภัย และความรุนแรงของวัสดุกัมมันตรังสีที่ใช้อยู่ในระดับ 3 จาก 5 ระดับ ตามมาตรฐานสากล ส่วนสถานที่จัดเก็บวัสดุกัมมันตรังสีใน จ.สงขลา มีทั้งหมด 29 แห่ง

ผลสำรวจระบุ "ชาวอเมริกัน" ใช้สมาร์ทโฟนในการทำงานในช่วงวันหยุดมากขึ้น

วันที่ 03 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 เวลา 12:30:04 น.




ผลการสำรวจในสหรัฐอเมริการะบุว่า พนักงานส่วนใหญ่ใช้สมาร์ทโฟน ในการทำงานระหว่างวันหยุดมากขึ้น โดยผลการศึกษาเปิดเผยว่า ชาวอเมริกัน 3 ใน 4 ยอมรับว่าพวกเขาจะรู้สึกหงุดหงิดมาก หากพวกเขาทำมือถือสมาร์ทโฟนหายในช่วงวันหยุด เนื่องจากพวกเขาจะไม่สามารถใช้มันในการทำงานได้ 


เทอรี่ แคมป์เบล รองประธานบริษัท ริโค อเมริกา คอร์ป (Ricoh America Corp) ระบุว่า การใช้สมาร์ทโฟนนั้นทำให้พนักงานสามารถเช็คงานได้ตลอดทุกวัน ทุกเวลา ซึ่งมันเป็นเหมือนทั้ง "การปฏิวัติและคำสาป" โดยแคมป์เบลมองว่า พนักงานต้องรู้จักจะใช้เวลาว่างเพื่อพักผ่อน และใช้เวลาฟื้นฟูตัวเองอย่างเต็มที่ และไม่สนใจอีเมล์จากที่ทำงานบ้าง ไม่เช่นนั้นการลาพักผ่อนก็คงจะไม่มีประโยชน์ 

อนึ่ง ผลการสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนชาวอเมริกัน 2,071 คนระบุว่า ชาวอเมริกันมีปัญหาในการแยกเวลาพักผ่อนออกจากเรื่องงาน และมีประชาชนถึงราว 30% ที่ใช้มือถือสมาร์ทโฟนในการทำงาน ในระหว่างวันหยุด และพนักงานกว่า 54% เชื่อว่าหัวหน้าต้องการให้พวกเขาเช็คข่าวสารในที่ทำงานระหว่างวันหยุดด้วย ขณะที่ 67% บอกว่า คนที่บ้านมักจะหงุดหงิดเวลาที่พวกเขาเช็คข่าวเรื่องงานเวลาหยุดพักผ่อน 

นอกจากนี้ พนักงานราว 27% ระบุว่า พวกเขาสามารถเข้าถึงข้อมูลเรื่องงานโดยไม่ต้องเข้าที่ทำงาน และจำนวนเดียวกันนี้ยังใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารกับลูกค้าและเพื่อนร่วมงานด้วย และราว 6 ใน 10 คนของพนักงานที่ตอบแบบสอบถามทั้งหมดบอกว่า การที่พวกเขาในเทคโนโลยีสื่อสารกับที่ทำงานทำให้พวกเรารู้สึกดีมากขึ้นในการกลับมาทำงานหลังจากที่วันหยุดสิ้นสุดลง และทำให้พวกเขาสามารถแบ่งเวลาในการทำงาน และทำกิจธุระส่วนตัวได้ดีขึ้น

ที่มา : มติชน

รื้อคดีนักโทษประหาร หลังพบไม่เกี่ยวข้อง

ศาลนัดไต่สวนคำร้องคดีผู้ต้องขังโทษประหาร ขอให้รื้อฟิ้นคดีใหม่อีกครั้ง หลังดีเอสไอสอบใหม่ว่าไม่เกี่ยวข้องในวันนี้

ศาลอาญา รัชดาภิเษก นัดไต่สวนคำร้อง ในคดีที่ นางนิรมล ใจสุด ภรรยาของ นายสุชาติ ใจสุด ผู้ต้องขังโทษประหารชีวิต คดีสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาคดีใหม่ ในคดีที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้อง นายสุชาติ กับพวก
สำหรับคดีนี้ ศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ประหารชีวิต นายสุชาติ เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2553 แต่ผู้ร้องเห็นว่า มีกฎหมายรื้อฟื้นคดีอาญา จึงร้องขอความเป็นธรรมจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ โดยมีการสอบพยานและพบพยานหลักฐานชิ้นใหม่ว่า นายสุชาติ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติดหลายประเด็น
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ได้มีการเลื่อนไต่สวนคำร้องมาแล้ว 1 ครั้ง เนื่องจากเอกสารรายงานการสอบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชน จากกรรมการสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญที่ใช้ในการประกอบการแถลงคดี ศาลจึงเลื่อนไต่สวนคำร้องในวันนี้ ตลอดทั้งวัน


"ทีวีดาวเทียม" ผนึกกำลัง เปิดศึกชิง "คนดู" ดูดเม็ดเงินโฆษณา

"ทีวีดาวเทียม" ผนึกกำลัง เปิดศึกชิง "คนดู" ดูดเม็ดเงินโฆษณา

Prev
1 of 1
Next
คลิกภาพเพื่อขยาย
updated: 03 ก.ค. 2556 เวลา 11:58:07 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
หลายคนคงเริ่มนับถอยหลังรอดู "ทีวีดิจิทัล" ที่มีคิวเปิดประมูลปลายปีนี้ (ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด) ล่าสุด "กสทช." เพิ่งออกใบอนุญาตให้ผู้ให้บริการโครงข่าย หรือ Multiplexer (MUX) 4 ราย (เดิม) คือ ช่อง 5 ช่อง 9 ช่อง 11 และ Thai PBS พร้อมเตรียมอนุญาตให้ผู้ผลิตกล่องแปลงสัญญาณ (Set-top-Box) และเครื่องรับโทรทัศน์ระบบดิจิทัลนำสินค้าเข้ามาวางจำหน่ายได้เดือน ก.ค.นี้
คำถามที่ตามมาก็คือ "ทีวีดาวเทียม" ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว มีช่องรายการหลายร้อยช่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจะเป็นเช่นไร

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม (ประเทศไทย) หรือ STAT จัดงานสัมมนาในหัวข้อเข้ากระแสเป็นอย่างยิ่ง "ทางรอดทีวีดาวเทียม"

"มานพ โตการค้า" ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอพีเอ็มทีวี จำกัด หรือที่รู้จักกันดีกับจานสีส้ม กล่าวว่า ทีวีดิจิทัลมีข้อดีอยู่มาก เพราะแพร่ภาพได้หลายรายการเมื่อเทียบกับระบบแอนะล็อก ด้วยการบีบอัดสัญญาณแบบใหม่ยังทำให้เกิดช่องรายการความละเอียดสูง หรือ HD ได้ด้วย แต่เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นแล้วผ่านการให้บริการเพย์ทีวี เช่น ทรูวิชั่นส์ ที่ให้บริการช่อง HD ทั้งมีรายการจำนวนมาก ทางทีวีดาวเทียมที่ไม่เสียค่าบริการจึงมองว่าถ้าทีวีดิจิทัลเปิดใช้งานในช่วง 5 ปีก่อนคงได้ความนิยมแน่นอน แต่ถึงตอนนี้ยากที่จะทำได้

ทั้งมีเรื่องความครอบคลุมของการให้บริการ เพราะระยะการส่งสัญญาณแอนะล็อกไปได้ไกล 100 กม.ต่อสถานี แต่เป็นระบบดิจิทัลระยะส่งแคบ ขณะที่เทคโนโลยี DVBT-2 มีความจุมากเพื่อใส่รายการเข้าไปได้เยอะ ขณะที่เทคโนโลยีก่อนหน้านี้ หรือ DVBT-1 ส่งได้ 67 กม. แต่มีระยะที่รับชมได้แน่นอนประมาณ 20 กม.โดยรอบ

"แค่ความสามารถในการส่งก็ต้องขยายสถานีเพิ่มแล้ว แต่เรื่องนี้ไม่ยากที่จะให้การรับชมไปถึง 95% ของประชากรภายใน 5 ปี เรื่องที่ยากคงเป็นเรื่องกล่อง เพราะเมื่อเลือกเทคโนโลยีใหม่เซตท็อปบ็อกซ์จะมีราคาแพงขึ้น ดังนั้นจะคุ้มหรือไม่ที่ผู้ชมต้องไปซื้อกล่องราคามากกว่าพันบาท เพื่อรับชมรายการ 48 ช่อง คอนเทนต์จะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ เทียบกับทีวีดาวเทียมดูได้หลักร้อยช่อง และมีศูนย์บริการอยู่ทั่วประเทศ จึงไม่ต้องกังวลหากมีปัญหาในการรับชม"

อย่างไรก็ตาม บริษัทมีแผนที่จะเข้าประมูลช่องทีวีดิจิทัลด้วย เพราะเป็นโอกาสทางธุรกิจ แต่ด้วยราคาค่าบริการโครงข่ายยังไม่ชัดเจนทำให้มีโอกาสไม่เข้าร่วม เพราะถ้าคำนวณค่าบริการ

โครงข่าย รวมกับค่าให้บริการทีวีดาวเทียมแล้วออกมาไม่คุ้มก็ไม่ทำ จึงอยากให้ผู้ประกอบการทีวีดาวเทียมที่มีแผนเข้าประมูลทีวีดิจิทัลนำเงินที่จะไปลงทุนในธุรกิจใหม่ 1 ใน 3 มาลงทุนทำให้รายการบนดาวเทียมมีคุณภาพดีกว่า เพราะมั่นใจว่าหากทำได้ดีสู้ทีวีดิจิทัลได้แน่

ด้าน "อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ" กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น หรือ NBC กล่าวในทำนองเดียวกันว่า ระบบทีวีดิจิทัลเป็นเรื่องดี เพราะประเทศอื่นใช้มากว่า 10 ปี ในประเทศพัฒนาแล้วช่วง 3 ปีแรกก็มีปัญหาในการเปลี่ยนผ่าน แต่หลังจากนั้นผู้บริโภคเริ่มเข้าใจมากขึ้น และใช้งานจนถึงปัจจุบัน แต่จะมีการออกอากาศควบคู่ไปกับทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี โดยสองแบบหลังมีรายการที่น่าสนใจกว่าทำให้ยังดำเนินธุรกิจอยู่ได้

กลับมาที่ประเทศไทยบ้าง ถ้าอ้างอิงจากข้อมูลของบริษัทวิจัยนีลเส็นจะพบว่า ปัจจุบันจำนวนครัวเรือนไทยมีประมาณ 22 ล้านครัวเรือน ในจำนวนนี้มีบ้านที่มีจานดาวเทียม 44% มากกว่าบ้านที่ใช้

เสาก้างปลาหรือหนวดกุ้งที่มีอยู่ 36% ที่เหลือเป็นเคเบิลทีวี 11% และทรูวิชั่นส์ 9% ดังนั้นกลุ่มที่จะเปลี่ยนมาใช้เซตท็อปบ็อกซ์เพื่อชมทีวีดิจิทัลคงมีแค่ 36% เท่านั้น

ถ้า กสทช.มีความชัดเจนเรื่อง Must Carry หรือให้ทุกช่องทางต้องรับชมรายการของทีวีดิจิทัลได้ บ้านที่ดูดาวเทียมหรือช่องทางอื่นอยู่ก็ไม่ต้องเปลี่ยนกล่อง ต้องขึ้นอยู่กับ กสทช.ว่าจะเอารายการประเภทใดเป็น Must Carry บ้าง

"วิธีนี้อาจเป็นอีกทางหนึ่งที่ทำให้ทุกบ้านรับชมทีวีดิจิทัลได้เร็วขึ้น เพราะบังคับให้ทุกระบบต้องแพร่ภาพรายการของทีวีดิจิทัล แต่การนำรายการต่าง ๆ ขึ้นไปแพร่ภาพเป็นการเพิ่มการใช้งานแถบคลื่นเพื่อส่งรายการลงมาให้ผู้ชมดูเช่นกัน

ดังนั้นจะบอกว่าเป็นภาระคงไม่แปลก ผู้ประกอบการอาจส่งสัญญาณขึ้นไปก็จริง แต่อาจไม่ยิงลงมาให้คนที่บ้านรับชมก็ได้ เพราะรายการที่แพร่ภาพอยู่ก็เพียงพอต่อการรับชม"

ทั้งนี้ การเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบทีวีดิจิทัล ผู้ที่ลำบากที่สุดในธุรกิจนี้เป็นผู้ประกอบการรายเก่า เพราะเมื่อก่อนนั้นอาจมีช่องรายการเพียง 6 ช่อง ทำให้ไม่ต้องแข่งขันมากก็มีคนมาดูแน่นอน

แต่จากนี้จะมีตัวเลือกจำนวนมาก และหน้าใหม่พร้อมลงทุนโปรดักชั่นเพื่อดึงผู้ชมมาดู พร้อมนำจำนวนผู้ชมมาแลกกับค่าโฆษณาที่จะหลั่งไหลเข้ามาด้วย ถ้าผู้เล่นรายเก่าไม่เปลี่ยนแปลง เร็ว ๆ นี้อาจไม่แตกต่างจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เช่น ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม ที่แต่ก่อนเป็นเสือนอนกิน ตอนนี้ต้องดิ้นรนสุดชีวิตเพื่อความอยู่รอด

"เอกชัย ภัคดุรงค์" ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ส่วนงานกิจการองค์กร บมจ.ไทยคม กล่าวว่า ในฐานะแพลตฟอร์มผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดาวเทียม ทำให้รู้ถึงความต้องการรับชมของผู้บริโภค รวมถึงความต้องการของผู้ประกอบการทีวีดาวเทียมรายใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นมาจำนวนมากเพื่อตอบโจทย์การรับชมเหล่านั้น เมื่อมีทีวีดิจิทัลไม่ใช่จะมาแย่งผู้ชมจากผู้ครองตลาดเดิมไปทั้งหมด ปัจจุบันมีหลายรายการที่มีผู้ชมติดตามจำนวนมาก รวมถึงมีสินค้าเข้าไปโฆษณา แม้เม็ดเงินที่เข้ามาจะค่อนข้างน้อย แต่ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน

"ดิจิทัลทีวีในประเทศไทยไม่ได้เกิดขึ้นมาเพราะความต้องการ แต่เกิดขึ้นเพราะภารกิจของ กสทช.มากกว่า ถ้ามองกันดี ๆ ทุกอย่างของทีวีดาวเทียมตอบโจทย์การใช้งานอยู่แล้ว ถ้า กสทช.ออก Must Carry ให้ดูทีวีดิจิทัลได้ก็แทบไม่เปลี่ยนแปลงอะไร กล่องที่มีอยู่ที่บ้านก็ดูทีวีดิจิทัลได้ ดังนั้นการมีทีวีดิจิทัลไม่ได้ทำให้ทีวีดาวเทียมหายไป แต่ทำให้เกื้อหนุนกันและโตไปด้วยกันมากกว่า"

ในส่วนเทคโนโลยีน่าจะเป็นเรื่องที่ทุกเจ้าต้องเตรียมตัว เพราะอีก 10 ปีจะมีระบบการออกอากาศแบบภาพคมชัดสูง หรือ 4K ที่ชัดกว่า HD ถึง 4 เท่า และชัดกว่า SD ถึง 10 เท่า ซึ่งการออกอากาศแบบนี้ต้องใช้แถบความถี่มาก ทุกคนต้องวางแผน เพื่อนำเอาเทคโนโลยีใหม่มาเป็นจุดทำตลาดเพื่อสร้างรายได้ให้ริษัทต่อไปอีกด้วย

ปิดท้ายที่ "นิพนธ์ นาคสมภพ" นายกสมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม (ประเทศไทย) กล่าวว่า ราคาประมูลช่องธุรกิจของดิจิทัลทีวีเมื่อคำนวณออกมาแล้วค่อนข้างสูง ไม่คุ้มต่อการลงทุน เช่น ช่องทั่วไปความละเอียด HD ราคาประมูล 1.5 หมื่นล้านบาท ถ้าค่าเชื่อมต่อ MUX มีราคาสูง โอกาสคุ้มทุนน้อยไปด้วย ดังนั้นค่อนข้างเสี่ยง แต่ถ้าเกิดขึ้นจริงทางสมาคมก็เตรียมจับมือกับสมาชิกเพื่อสร้างช่องรายการคุณภาพ 20 ช่องออกมาสู้กับดิจิทัลทีวี และช่องอื่น ๆ ในทีวีดาวเทียมจะทยอยเปลี่ยนเช่นกัน แต่จะเกิดขึ้นหลังจากครัวเรือนในประเทศไทยมีโทรทัศน์แบบนี้เกิน 70% ปัจจุบันกำลังสำรวจอยู่ เพื่อให้รู้ว่าครัวเรือนไทยมีโทรทัศน์แบบนี้มากแค่ไห

เปิดบัญชี "ด๊อกเตอร์กิตติมศักดิ์ มจร." ปี 52ชีทศพรติดอันดับท็อปทเวนตี้

เปิดบัญชี "ด๊อกเตอร์กิตติมศักดิ์ มจร." ปี 52

ชีทศพรติดอันดับท็อปทเวนตี้
ขณะที่คนเด่นคนดังทั่วฟ้าเมืองไทยล้วนต้องตามก้นชีทศพร
เห็นหรือยังว่าอานุภาพเงินทรงพลังเพียงใด




ภาพแม่ชีทศพร เทวาพิทักษ์ธรรม วัดพิชัยญาติ เข้ารับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ด๊อกเตอร์) จากมหาวิทยาลัยสงฆ์ มจร. วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2552 โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นผู้ประสาทปริญญาบัตร ซึ่งอันดับของแม่ชีทศพรนั้นคือ หมายเลข 17





พิธีเดียวกัน

นางจุฬารัตน์ บุณยากร ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติในสมัยนั้น เข้ารับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เป็นอันดับที่ 23 ตามหลังแม่ชีทศพรไปถึง 6 อันดับ ทั้งๆ ที่นางจุฬารัตน์เป็นถึง ผอ.สำนักพุทธ ควบคุมดูแลกิจการงานพระพุทธศาสนาทั่วประเทศไทย แต่เพราะมีแต่ตำแหน่ง ไม่มีเงินให้ ได้ขนาดนี้ก็บุญโขแล้ว
















MONEY TALK


"เมื่อเงินพูด ทุกอย่างเงียบ" ดูอย่างกรณีแม่ชีทศพรในวันเข้ารับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยสงฆ์ มจร. เมื่อ พ.ศ.2552 ที่ผ่านมา สามารถฝ่าด่านอรหันต์ข้ามหัวบรรดาผู้ทรงคุณวุฒิและผู้มีอำนาจทั่วประเทศไทยเข้าไปรับในอันดับที่ 17 ได้อย่างไม่น่าเชื่อ แต่ก็เป็นไปแล้ว

ลองสำรวจดูรายชื่อตามบัญชีที่มหาวิทยาลัยสงฆ์จัดทำไว้นี้ดูเถิด ยกเว้นแต่พระสงฆ์ทรงศักดิ์ขั้นเอกอุและแขกสำคัญจากต่างประเทศเสีย ก็มีชื่อแม่ชีทศพรรั้งอันดับ 1 หรือหัวขบวนของบรรดาดุษฎีบัณฑิตในปีนั้น เช่น

ศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อดีตปลัดทบวงมหาวิทยาลัย อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี นายกสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ต้องเข้าแถวตามก้นแม่ชีทศพร อดีตแม่ค้า ซึ่งไม่เคยมีประวัติด้านการศึกษามาก่อน (จบแค่ ป .7) อาศัยแต่เพียงวิชาแก้กรรมหลอกลวงชาวบ้านได้เงินมาซื้อปริญญาเท่านั้น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์รุ่งเรือง บุญโญรส ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์ มจร. วิทยาเขตเชียงใหม่ ก็ได้อันดับ 22 ไปครอง แบบว่าผู้ก่อตั้ง มจร. น่ะ กระจอกกว่าแม่ชีวัดพิชัยญาติ

นางจุฬารัตน์ บุณยากร ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นผู้หญิงเก่งคนเดียวที่ได้ครองตำแหน่งอันอาถรรพ์นี้ แต่ก็สู้อิทธิพลของแม่ชีทศพลไม่ได้ ต้องทิ้งห่างไปถึง 7 อันดับ

ปีนั้น นายสด แดงเอียด อธิบดีกรมการศาสนา และนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติคนปัจจุบัน  ได้แค่เข็มเกียรติคุณไปครอง สมค่ากับชีวิตที่อุทิศเพื่อพุทธศาสน์โดยแท้

จึงอยากจะเรียนถามไปยัง ท่านศาสตราจารย์ ดร.พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต ป.ธ.9) อธิการบดีมหาวทิยาลัยสงฆ์ มจร. ว่ากล้ากล่าวหรือไม่ล่ะ ว่ามหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้ได้พิจารณาอันดับของแม่ชีทศพร เทวาพิทักษ์ธรรม อย่างเหมาะสมแก่ภูมิปัญญาและกรณียกิจ โดยไม่มีอามิสสินจ้างเข้ามาเกี่ยวข้อง พูดอีกนัยหนึ่งก็คือว่า กล้าปฏิเสธหรือไม่ว่า มจร. มิได้ขายปริญญาดุษฎีบัณฑิตให้แก่แม่ชีทศพร เพราะถ้า มจร. ไม่ขายปริญญาให้แก่แม่ชีทศพร ก็ต้องอธิบายให้สังคมไทยเข้าใจให้ถ่องแท้ ว่าสภามหาวิทยาลัยสงฆ์มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอนุมัติปริญญาบัตรอย่างไร แม่ชีทศพรได้อันดับต้นๆ ของบุคคลสำคัญระดับประเทศด้วยสาเหตุอันใด ลำพังการดูกรรมแก้กรรมทำให้สภามหาวิทยาลัยสงฆ์ มจร. ยกย่องเชิดชูถึงระดับดูษฎีปัณฑิตกิตติมศักดิ์ หรือด๊อกเตอร์ ทีเดียวเชียวหรือ เพราะความจริงแล้ว ให้แค่ปริญญาตรีก็ดีถมเถ แถมการได้พาสชั้นขึ้นไปรับในอันดับต้นๆ จึงเป็นที่ฉงนใจเป็นอย่างมาก 

อย่างกรณี ผู้ช่วยศาสตราจารย์รุ่งเรือง บุญโญรส ซึ่งเป็นถึงผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์ มจร. วิทยาเขตเชียงใหม่ มีผลงานมากมาย ซึ่งน่าจะได้อันดับต้นๆ นั้น ถามว่าสภามหาวิทยาลัยให้ค่าเป็นอันดับรั้งท้ายแม่ชีทศพรได้อย่างไร ? กรณีนี้จะมองเห็นเป็นอื่นใดไปไม่ได้ นอกจากจะเป็นการดูถูกบุคคลากรของมหาวิทยาลัยเอง เพราะขนาดผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์ยังได้อันดับนี้ ต่อไปคงไม่มีบุคคลากรของมหาวิทยาลัยคนใดเข้ารับปริญญาของ มจร. เพราะไม่สมเกียรติ

วันนี้ มีข่าวกระทรวงศึกษาธิการสั่งสอบมหาวิทยาลัยหลายแห่งในข้อหา "ขายปริญญาบัตร" ก็อยากให้หันมาสอบมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งดูบ้าง ว่าโปร่งใสหรือไม่อย่างไร โดยยกแม่ชีทศพร เทวาพิทักษ์ธรรม เป็นกรณีแรก



ะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะ ดอทคอม รายงาน
28 เมษายน 2554


20 ปีวิถีคนไทยรู้จักออมเงินและมีเงินออมเพิ่มขึ้นคนจน-รวยยังมีช่องว่าง

20 ปีวิถีคนไทยรู้จักออมเงินและมีเงินออมเพิ่มขึ้นแนะรัฐลดช่องว่าง“รวยสุด-จนสุด”ยังเหลื่อมล้ำสูง

โดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น กอปรกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่สนับสนุนการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในช่วงที่ผ่านมา ถือเป็นปัจจัยหลักที่อาจส่งผลให้ตัวเลขการออมของคนไทยลดน้อยลงเนื่องจากประชาชนมีกำลังการออมที่จำกัด โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีรายได้ต่ำ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร. ชัยสิทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยผลศึกษาภาพรวมเกี่ยวกับเงินออม การสะสมทุน และการถือครองทรัพย์สินของครัวเรือนไทย ในช่วง 2 ทศวรรษ (โดยใช้ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนไทยในช่วง พ.ศ.2531-2552) โดยกล่าวว่า สถานะการออมของคนไทยในช่วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ในภาพรวมมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นโดยสัดส่วนครัวเรือนที่มีการออมเงินหรือมีรายได้สูงกว่ารายจ่ายมีแนวโน้มสูงขึ้น  จากสถิติเมื่อปี พ.ศ. 2531 พบว่าสัดส่วนครัวเรือนที่ไม่มีเงินออมอยู่ที่ร้อยละ 48 แต่ในปี พ.ศ. 2552 สัดส่วนดังกล่าวลดลงเหลือเพียงร้อยละ 25 ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด โดยที่ครัวเรือนมีเงินออมเฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณ 10 เท่า จากที่ในปี 2531 ครัวเรือนไทยมีเงินออมเฉลี่ยเพียง 507 บาทต่อเดือนเท่านั้น แต่ในปี 2552 พบว่าเพิ่มขึ้นเป็น 5,145 บาท คิดเป็นอัตราเติบโตสูงถึงร้อยละ 12 ต่อปี  โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเติบโตของรายได้ ขณะที่รายจ่ายไม่ได้ขยายตัวในอัตราที่สูงเทียบเท่ากับรายได้

อย่างไรก็ดี นักวิชาการทีดีอาร์ไอได้ตั้งข้อสังเกตว่า สังคมไทยยังมีความเหลื่อมล้ำด้านเงินออมระหว่างคนรวยกับคนจนอย่างชัดเจน จากการแบ่งประชากรไทยออกเป็น 5 กลุ่มๆ ละเท่าๆ กัน โดยใช้ข้อมูลข้างต้น พบว่าในปี 2552 กลุ่มคนที่ร่ำรวยสุดมีเงินออมเฉลี่ยสูงมากถึงราวๆ 6,300 บาทต่อคนต่อเดือน ขณะที่กลุ่มคนที่จนสุดโดยเฉลี่ยไม่มีเงินออม ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มคนที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดเนื่องจากไม่มีเงินออมที่สามารถใช้เป็นหลักประกันทางการเงินสำหรับตนเองและครอบครัวในยามที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องใช้เงิน  ข้อเท็จจริงประการหนึ่งจากผลสำรวจดังกล่าวชี้ว่าความเหลื่อมล้ำด้านการออมดังกล่าวน่าจะเป็นผลพวงจากความไม่เท่าเทียมกันของระดับการศึกษาของคนในสังคมไทย โดยผู้ที่มีการศึกษาสูงมีรายได้ดีและสามารถจัดสรรเงินออมไปลงทุนในทางเลือกต่างๆ ได้ดีกว่าผู้ที่มีการศึกษาน้อยกว่า ทั้งนี้ หากพิจารณาผลการศึกษา ภาวะหนี้ครัวเรือนไทย:ความเสี่ยงและนัยเชิงนโยบาย โดยยรรยง ไทยเจริญและคณะ (2547)ประกอบ พบว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ด้านการจัดการทางการเงิน โดยผู้ที่มีความรู้ทางการเงินน้อยมักจะเป็นคนในกลุ่มรายได้ต่ำและมีการศึกษาน้อย  

นอกจากนั้น เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างด้านการออมจากโครงสร้างครัวเรือน 6 ประเภท ได้แก่ 1.ครัวเรือนแบบ 1 รุ่น 2.ครัวเรือนแบบ 2 รุ่น 3. ครัวเรือนแบบ 3 รุ่น 4.ครัวเรือนแบบอยู่คนเดียว 5.ครัวเรือนแบบอยู่กับญาติหรือเพื่อน และ 6.ครัวเรือนแบบแหว่งกลาง พบว่า ครัวเรือนที่อยู่กัน 2 รุ่น หรืออยู่กับญาติมีแนวโน้นสะสมทุนได้มากกว่าครัวเรือนแบบอื่นๆ เนื่องจากครัวเรือนเหล่านี้มีสมาชิกอยู่ในวัยทำงาน จึงมีโอกาสในการสะสมทรัพย์สินทางการเงินได้ง่ายและมากกว่าครัวเรือนประเภทอื่น แต่ในทางกลับกัน ครัวเรือนแบบแหว่งกลาง (เช่น ครัวเรือนที่ปู่-ย่า-ตา-ยายและหลานอาศัยอยู่ร่วมกัน) เป็นกลุ่มที่จนสุดและมีการออมเงินในระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับครัวเรือนประเภทอื่น เนื่องจากสมาชิกในครอบครัวประเภทนี้คือผู้สูงอายุเลยวัยเกษียณ(อายุ 60 ปีขึ้นไป) ซึ่งมีรายได้ที่ค่อนข้างต่ำ โดยส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาเงินโอนในรูปแบบต่างๆ อีกทั้งมีเงินออมน้อยและน่าจะมีข้อจำกัดในการวางแผนรองรับในระยะยาวเพื่อลดผลกระทบของความไม่แน่นอนในอนาคต

เช่นเดียวกับการสะสมทุนหรือการถือครองทรัพย์สินทางการเงินของครัวเรือน เป็นผลสืบเนื่องมาจากครัวเรือนที่มีการบริหารจัดการระหว่างรายได้กับรายจ่าย โดยจะนำเงินออมส่วนหนึ่งไปแปรเปลี่ยนเป็นสินทรัพย์ต่างๆ  จากข้อมูลในปี 2552 พบว่า ครัวเรือนกลุ่มที่จนสุดร้อยละ 94 มีทรัพย์สินทางการเงินไม่เกิน50,000 บาท ส่วนครัวเรือนกลุ่มที่รวยสุดกว่าร้อยละ30 ถือครองทรัพย์สินทางการเงินมากกว่า 100,000 บาท   ในภาพรวมความสามารถในการสะสมทุนของครัวเรือนนอกจากจะมีความแตกต่างกันในด้านมิติของรายได้แล้ว ยังมีแนวโน้มผันแปรตามระดับการศึกษาอีกด้วย เนื่องจากสมาชิกในครัวเรือนที่มีการศึกษาสูงมักมีโอกาสในการสร้างรายได้และสามารถจัดสรรเงินไปลงทุนในทรัพย์สินทางการเงินต่างๆ ได้ดีกว่าครัวเรือนที่สมาชิกมีการศึกษาน้อย

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ได้เสนอแนะให้ภาครัฐเร่งยกระดับมาตรฐานการศึกษาเพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพแก่ผู้เสียเปรียบทางด้านเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากคุณภาพการศึกษานับว่าเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่กำหนดรายได้ของแต่ละบุคคล  อย่างไรก็ดี ความรู้จากการศึกษาขั้นพื้นฐานและรูปแบบการออมแบบดั้งเดิม เช่น การฝากเงินกับธนาคารเพื่อรับดอกเบี้ย เป็นต้น คงไม่เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่มีพลวัตรและแปรเปลี่ยนตลอดเวลา ดังนั้นในส่วนของประชาชน ควรเพิ่มความรอบรู้ทางการเงิน และมองถึงการลงทุนระยะยาว รวมทั้งควรดำเนินชีวิตโดยใช้หลักความพอเพียงมาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการด้านการเงิน และรักษาระดับการใช้จ่ายของตนไม่ให้เกินตัว เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วโดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ  นอกจากนั้น ภาครัฐควรพยายามขยายฐานภาษีไปสู่ผู้ที่มีรายได้สูงที่ยังไม่เสียภาษีหรือเสียภาษีได้ไม่เต็มความสามารถ ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาลที่จะนำไปใช้จ่ายเป็นสวัสดิการได้มากขึ้นสำหรับคนยากจนและผู้เสียเปรียบทางด้านเศรษฐกิจและสังคม.


วันที่เขียนบทความ 03/07/2556

ใช้บริการรถตู้ผี ตาย-เจ็บฟรี เจ็บเองจ่ายเอง

“ใช้รถตู้ผี ตายฟรี- บาดเจ็บจ่ายเอง”

โดย สวนีย์ ฉ่ำเฉลียว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) 
                 ไม่ไหวจะเคลียร์ อ่อนเพลียหัวใจ จริงๆ กับปัญหาการใช้บริการรถตู้โดยสารประจำทาง ที่มีมากมายหลายหลากทั้ง ขับรถเร็ว ซิ่ง หวาดเสียว บรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวน สภาพรถทรุดโทรมไม่เหมาะสมกับการใช้งาน  แต่ปัญหาที่มีสะสมมานาน เหมือนโรคเรื้อรัง และดูเหมือนว่าจะมาแรงแซงทางโค้งขณะนี้ก็คือ“ปัญหารถตู้ผี” ที่ออกมาวิ่งกันเกลื่อนถนน หลอกหลอนผู้คนไปทั่วสารทิศ 

                “รถตู้ผี”  คืออะไร   รถตู้ผีก็คือ รถที่ไม่ได้จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก ตามพระราชบัญญัติขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 เพื่อใช้รับส่งผู้โดยสารประจำทาง  แต่จดทะเบียนตาม พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522  เพื่อเป็นรถยนต์ใช้ส่วนบุคคลแทน จุดสังเกตง่ายๆก็คือ สีของป้ายทะเบียน หากเป็นรถตู้โดยสารประจำทาง จะเป็นป้ายทะเบียนสีเหลือง มีหมวดเลข 1 นำหน้า เช่น 10-19 แล้วตามด้วยตัวเลข 4 หลัก  ส่วนรถยนต์ตู้ส่วนบุคคลจะมีป้ายทะเบียนสีขาว และขึ้นต้นด้วยหมวดตัวอักษร รถตู้ประเภทนี้จะไม่สามารถนำมาใช้เป็นรถตู้โดยสารประจำทางได้ หากนำมาใช้วิ่งบริการ เราจะเรียกว่า รถตู้ผี หรือ รถตู้เถื่อน นั่นเอง

                 หากถามว่าแล้ว รถตู้ผี เกิดมาได้อย่างไร คำตอบคือ เกิดมาจากระบบการจัดการขนส่งที่ไม่สมบูรณ์ การประกอบการขนส่งของเมืองไทยจะมีผู้รับสัมปทานเพียง 2 เจ้า คือ บริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.) และ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) แต่เนื่องจากทั้งสองหน่วยงานมีรถไม่เพียงพอกับการให้บริการ ทั้งสองหน่วยงานจึงออกใบอนุญาตเดินรถให้กับผู้ประกอบการเอกชนที่นำรถเข้าร่วมวิ่งในเส้นทางต่างๆ ซึ่งเราจะเรียกรถเหล่านี้ว่า “รถร่วมบริการ” มีอายุการถือครองใบอนุญาต 7 ปี

                แต่ที่น่าตกใจคือจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2553 พบว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการเดินรถนั้น กลับไม่มีรถโดยสารเป็นของตนเอง ถึงร้อยละ 60 รองลงมาคือ มีรถโดยสารของตนเอง 1-5 คันเท่านั้น ส่วนผู้ประกอบการที่มีรถของตนเองอย่างเพียงพอจะมีสัดส่วนที่น้อยมาก คือ ร้อยละ 2 เท่านั้น

                ดังนั้นการประกอบการเดินรถในปัจจุบันจึงมีรูปแบบที่เรียกว่า “การนำรถเข้ามาร่วมวิ่งกับผู้ถือใบอนุญาต” ใครมีรถตู้แล้วอยากนำมาวิ่งรับขนคนโดยสารก็นำมาวิ่งร่วมได้ บางเส้นทาง 1 ใบอนุญาตแต่มีผู้ประกอบการกว่า 100 คน เลยทีเดียว และบางครั้งรถตู้ที่นำมาวิ่งให้บริการก็เป็น รถยนต์ตู้ส่วนบุคคล หรือเรียกว่า รถผี รถเถื่อน เพราะผู้ถือใบอนุญาตไม่มีการควบคุม บริหารจัดการ ให้เป็นไปตามกฎระเบียบของกฎหมาย ทำเรื่องผิดกฎหมายให้กลายเป็นความเคยชิน ให้บริการกันเป็นปกติเช่นเดียวกับรถโดยสารประเภทประจำทาง จนในที่สุดเรื่องผิดกฎหมายก็อาจกลายเป็นถูกกฎหมายในเวลาต่อมา

              รถตู้ผี คือ รถตู้ที่ผิดกฎหมาย ปัญหาที่ตามมาจากการใช้บริการรถตู้ประเภทนี้ถ้าจะให้สาธยายสามวันเจ็ดวันก็คงบรรยายไม่ครบ แต่ถ้าจะจำกัดความให้สั้นกระทัดรัดก็คือ “ใช้รถตู้ผี ตายฟรี- บาดเจ็บจ่ายเอง จากการดำเนินงานของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในการให้ความช่วยเหลือผู้โดยสารที่นั่งรถตู้ผี แล้วประสบอุบัติเหตุ ระหว่าง ปี 2554-2556 (อุบัติเหตุ 83 ครั้ง เป็นรถผี 44 ครั้ง) พบว่า ปัญหาการใช้บริการรถตู้ผี มีดังต่อไปนี้

·        รถตู้ผี เป็นการนำรถมาใช้ผิดประเภท รถตู้ที่จดทะเบียนตาม พระราชบัญญัติรถยนต์ คือ รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน หรือ 7 คน แต่ไม่เกิน 12 คน เมื่อนำมารับส่งผู้โดยสาร 14-15 คน ประกันภัยก็จะรับประกันเท่ากับ 7 หรือ 12 คน เท่านั้น แต่ถ้าตรวจสอบแล้ว ผิดเงื่อนไขในกรมธรรม์ก็อาจไม่รับผิดชอบทั้งสิ้น

·        รถตู้ผี จะไม่นับว่าเป็นรถร่วมบริการที่ถูกกฎหมาย นั่นหมายความว่า เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ผู้ที่รับผิดชอบก็คือ คนขับและเจ้าของรถเท่านั้น ซึ่งบางครั้ง คนขับและเจ้าของรถอาจเป็นคนเดียวกันอีก ไม่สามารถเกี่ยวร้อยไปยัง ผู้ถือใบอนุญาต (เจ้าของวิน) และ บริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.) หรือ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.)  ได้เลย สถานการณ์เช่นนี้ สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะไม่ได้รับค่าชดเชย เยียวยา ที่เหมาะสม หรือไม่ได้เลย  

·        รถตู้ผี เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ หรือ การได้รับบริการที่ไม่เหมาะสม เช่น บางเส้นทางรถตู้วิ่งให้บริการ เกิน 300 กิโลเมตร (ระยะทางรวมต้นทางปลายทาง) ซึ่งผิดกฎหมาย แถมยังมีคนขับคนเดียว อาจเกิดความอ่อนล้า เหน็ดเหนื่อย จนทำให้เกิดการหลับใน เป็นสาเหตุของอุบัติเหตุในเวลาต่อมา

·        รถตู้ผี เป็นการขยายอาณาเขตระบบการให้บริการที่ผิดกฎหมาย แทรกซึมมากับระบบที่ถูกต้อง หากผู้โดยสาร ยังคงส่งเสริม สนับสนุน ให้เกิดบริการเช่นนี้ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ก็เท่ากับยินยอมถูกละเมิดสิทธิที่จะสามารถเลือกใช้บริการที่มีความปลอดภัยในชีวิต และเรายังเป็นผู้ส่งเสริมให้เรื่องผิดกฎหมายกลายเป็นเรื่องถูกกฎหมายนั่นเอง 

           ถึงเวลาที่ผู้บริโภคอย่างเรา ต้องหันมาเรียนรู้ ร่วมกัน ปลูก ปลุก และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคไทยให้เข้­­มแข็ง และสร้างจิตสำนึกใหม่ ให้รู้เท่าทันกับผลประโยชน์ที่แอบแฝง จ้องแต่จะเอาเปรียบเราทุกลมหายใจ พบปัญหาจากการใช้บริการรถตู้โดยสารสาธารณะ ติดต่อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 02-248-3734-37 หรือcomplaint@consumerthai.org และ ร่วมเป็นแฟนเพจอีกแล้วรถโดยสารไทยทางhttp://www.facebook.com/againbus  

ข้อมูลประกอบ
ภาพรวมอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ ตั้งแต่เดือน  ตุลาคม 2554 – มิถุนายน  2556
ประเภทรถโดยสาร
จำนวนอุบัติเหตุ (ครั้ง)
บาดเจ็บ
เสียชีวิต
ร้อยละ
รถตู้
83
638
119
30.63
รถโดยสารปรับอากาศ
82
1,878
123
30.26
รถโดยสารนำเที่ยว
43
1,050
42
15.87
รถโดยสารระหว่างจังหวัด
19
407
15
7.01
รถรับส่งพนักงาน
18
248
18
6.64
รถเมล์
21
81
9
7.75
รถแท็กซี่
5
5
6
1.85
รวม
271
4307
332
100.00
ข้อมูลจาก ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(มพบ.)
วันที่เขียนบทความ 03/07/2556

รัฐมนตรีใหม่ กระทรวงสาธารณสุข เข้ากระทรวง

“สรวงศ์” เข้ารับตำแหน่งที่กระทรวงสาธารณสุข พร้อมเร่งพัฒนาบริการสุขภาพ เสริมความสุขแก่ประชาชนแนวชายแดน 


             นายสรวงศ์ เทียนทอง เดินทางเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยความตั้งใจ พร้อมทำงานร่วมกับข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข  เพื่อเร่งพัฒนาด้านบุคลากรและบริการสุขภาพ เสริมความสุขแก่ประชาชน  โดยเฉพาะตามแนวชายแดน ให้เข้าถึงบริการอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
          วันนี้ (3 กรกฎาคม 2556) นายสรวงศ์  เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข    เดินทางเข้ารับตำแหน่งที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี โดยได้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงเพื่อเป็นศิริมงคล ตามลำดับดังนี้ 1.พระพุทธนิรามัย ณ หอพระประจำกระทรวงสาธารณสุข 2.ต้นพระศรีมหาโพธิ์ 3.ศาลพระพรหมที่บริเวณหน้ากรมควบคุมโรค 4.พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม  พระบรมราชชนกและสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประดิษฐานบนแท่นฐานเดียวกัน และพระอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร  โดยมีผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข ให้การต้อนรับ และมอบดอกไม้แสดงความยินดีเป็นจำนวนมาก
          นายสรวงศ์ให้สัมภาษณ์ว่า ถือว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อผมและวงศ์ตระกูลเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขในครั้งนี้ ผมพร้อมที่จะทำงานร่วมกับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารระดับสูง และข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขทุกคน ซึ่งมีจำนวนหลายแสนคนกระจายอยู่ในภูมิภาค   ผมเป็นสส.ในต่างจังหวัด โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดน ได้เห็นสภาพความแตกต่างของการให้บริการประชาชน ซึ่งเป็นปัญหาสืบเนื่องมาจากการขาดแคลนทั้งอุปกรณ์และบุคลากร ซึ่งในชนบทยังต้องการผู้มีความรู้ความสามารถอีกจำนวนมาก จึงถือเป็นนิมิตรหมายอันดี
“ผมตั้งใจอย่างยิ่งที่จะทำงานร่วมกับข้าราชการเพื่อแก้ไขปัญหาและเสริมความสุขให้ประชาชนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ     ขณะนี้ ยังไม่ได้มอบหมายงานอย่างเป็นทางการ จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ถ้ายืนตามที่นพ.ชลน่านเคยดูแลก็คือ 6 หน่วยงานด้วยกัน ยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่พร้อมที่จะทำงานทุกด้านร่วมกับข้าราชการทุกคนและพร้อมรับคำชี้แนะต่างๆ สิ่งที่ตั้งใจทำงานคือต้องการพัฒนาด้านบุคลากรและการให้บริการกับประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม” นายสรวงศ์กล่าว
นายสรวงศ์กล่าวต่อว่า ผมมีประสบการณ์ด้านการแพทย์น้อย แต่มีประสบการณ์จากการคลุกคลีประชาชนมากพอสมควร จะนำสิ่งต่างๆ ที่ได้พบเห็นในพื้นที่ภูมิภาคต่างๆ มาปรับใช้กับการทำงานในส่วนกลาง เพื่อให้แก้ไขปัญหาให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด
 ***************************** 3 กรกฎาคม 2556

'ปู-แม้ว'จ้างล็อบบี้ยิสต์ใช้โลกล้อมไทย

วันพุธที่ 3 กรกฎาคม 2556

'ปู-แม้ว'จ้างล็อบบี้ยิสต์ใช้โลกล้อมไทย

'ปชป.' ปูด 'ปู-แม้ว' จ้าง 4 บริษัทล็อบบี้ยิสต์ สร้างความชอบธรรมให้ตนเอง แฉ 2 ปี นายกฯอยู่ตปท.109 วัน ทัวร์แล้ว 5 ทวีป 43 ปท. เรียกร้องรัฐ 3 ข้อ แก้จำนำข้าว


                              3 ก.ค. 56  นายธีมะ กาญจนไพริน โฆษกประจำตัวผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึง การเดินทางไปเยือนต่างประเทศของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในช่วงระยะเวลา 2 ปี ว่า การเดินทางนี้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ โลกล้อมประเทศ เพราะแต่ละครั้งจะมีการปาฐกถาที่เกี่ยวข้องกับการเมืองไทย โดยมีการเผยแพร่ประชาธิปไตยตามแนวคิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี รวมถึงแต่ละประเทศที่นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไป พ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางไปก่อนล่วงหน้าทุกครั้ง ซึ่งจากการตรวจสอบการเดินทางไปต่างประเทศของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตลอด 2 ปีในการบริหารประเทศพบว่า มีการเดินทางนอกประเทศ 109 วัน 5 ทวีป 43 ประเทศ และหากนับประเทศที่เดินทางซ้ำจะอยู่ที่ 1 - 3 รอบ และเกือบทุกครั้งก่อนการเดินทางไปต่างประเทศของนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ จะเดินทางไปกรุยทางก่อน ล่าสุดการปาฐกถาของนายกรัฐมนตรี เช่น ที่มองโกเลียมีการพูดถึงการเมืองประเทศไทย โดยใช้เวทีนานาชาติโจมตีการเมืองประเทศไทย เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง
                              นายธีมะ กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบพบว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ได้มีการจ้าง บริษัทประชาสัมพันธ์และนักล็อบบี้จากต่างประเทศ 4 บริษัทใหญ่ มาเป็นที่ปรึกษาทางด้านกฎหมาย ประชาสัมพันธ์ และการล็อบบี้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับตนเอง ในการเดินทางไปยังประเทศต่างๆ คือ บีจีอาร์ก็อบเวอร์เมนท์แอฟแฟร์ บริษัท เน้นการทำหน้าที่เจรจาเดินสายคุยกับนักการเมืองสหรัฐอเมริกา เผยแพร่วาทะกรรมความคิดเรื่องประชาธิปไตยของ พ.ต.ท.ทักษิณ บ.อัมเสตอดัมแอนด์เฟอร์รอฟ เป็นสำนักงานบริการด้านกฎหมายของโรเบิร์ตอัมเสตอดัม บริษัทโค๊บแอนด์คิมแอลแอลพี รับทำงานล็อบบี้และวางแผนด้านนโยบายเศรษฐกิจการเมือง และบริษัทเบเคอร์บอทแอลแอลพี เจ้าของคือนายเจมส์เบเกรอ์อดีต รมว.ต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเมืองสหรัฐอเมริกา ซึ่ง 2 พี่น้องตระกูลชินวัตรทุ่มเงินหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ จ้าง 4 บริษัท
                              "ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการบริหารงานในประเทศมากกว่า เพราะขณะนี้รัฐบาลยังมีปัญหาที่ไม่สามารถตอบคำถามประชาชนได้ ทั้งเรื่องโครงการรับจำนำข้าว และ การออก พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท รวมการเข้าร่วมประชุมสภาสมัยสามัญทั่วไป ที่จะเปิดประชุมในวันที่ 1 ส.ค.นี้ ด้วย"
                              นายธีระ กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ทีมงานโฆษกพรรคเพื่อไทย และโฆษกรัฐบาล หยุดโจมตี เรื่องส่วนตัวของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และเรื่องที่พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งคำถามเรื่องโครงการรับจำนำข้าว และการ กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท ของรัฐบาล ทั้งที่ทีมโฆษกพรรคเพื่อไทย และรัฐบาล ควรนำเวลาไปหาข้อมูลมาตอบคำถามเพื่อคลายความสงสัยให้กับประชาชนมากกว่าการโจมตีเรื่องส่วนตัวซึ่งควรปล่อยให้เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม
  
เรียกร้องรัฐ 3 ข้อ แก้ปัญหาจำนำข้าว

                              นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธานส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงกรณีที่รัฐบาลมีมติกลับไปใช้ราคาจำนำข้าว 15,000 บาทต่อตันอีกครั้ง ว่า เป็นความผิดพลาดของรัฐบาลตั้งแต่ต้นที่จำนำราคาข้าวสูงกว่าตลาด จนข้าวอยู่ในสต๊อคจำนวนมาก ทำให้เกิดความยากลำบากต่อการระบาย และมีปัญหาการขาดทุน จึงมีแนวคิดปรับราคา แต่ก็กลับมาจำนำราคาเดิม เป็นนโยบายที่เปลี่ยนไปมาเหมือนไม้หลักปักเลน หาความแน่นอนในโครงการไม่ได้ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของกระบวนการผลิตและการจำหน่ายข้าวไทยไปสู่ตลาดด้วย
                              ทั้งนี้พรรคขอเรียกร้อง 3 ประการคือ 1.ขอให้รัฐบาลเร่งสร้างความเชื่อมั่นกับกระบวนการการผลิตและระบายข้าวของไทยให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 2 .รัฐบาลประกาศว่าจะพยายามเร่งระบายข้าวให้ได้เดือนละ 1 ล้านตัน โดยต้องไม่ทำให้เกิดภาวะขาดทุนเพิ่มเติมจากที่เป็นอยู่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา 3. เนื่องจากมีสต๊อคข้าวจำนวนมากที่ยังไม่ได้ระบายออกไป ขอให้คำนึงถึงข้าวที่จะระบายออกไปด้วย เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อข้าวไทยโดยรวมทั้งหมด
                              ส่วนกรณีที่นายยรรยง พวงราช รมช.พาณิชย์ มีนโยบายร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดทำข้าวหอมมะลิเป็นของที่ระลึกจำหน่ายตามสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อเป็นช่องทางในการระบายข้าวในสต็อกจากโครงการรับจำนำข้าว และโปรโมทข้าวหอมมะลิให้เป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทยเหมือนกับโสมที่เป็นภาพลักษณ์ของประเทศเกาหลีนั้น ตนเข้าใจว่ารัฐบาลพยายามหาทางระบายข้าวออกทุกวิถีทาง แต่การจะนำข้าวไทยไปเป็นของที่ระลึกให้ชาวต่างชาติควรจะใช้เป็นแผนระยะยาวมากกว่า ซึ่งการสร้างแบรนด์นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายต้องใช้เวลา ตนเข้าใจว่า รัฐบาลพยายามใช้ทุกช่องทางในการระบายข้าว จะทำก็ทำไปไม่ได้ว่า แต่ความคิดของนายยรรยงคงแก้ปัญหาการระบายข้าว ในโครงการรับจำนำข้าวไม่ได้
ที่มา : คมชัดลึก
3/7/56

ส่วนได้เสียของ “สมาคม” ในการฟ้องคดีปกครองสิ่งแวดล้อมในระบบกฎหมายฝรั่งเศส


ส่วนได้เสียของ “สมาคม” ในการฟ้องคดีปกครองสิ่งแวดล้อมในระบบกฎหมายฝรั่งเศส

ปิยบุตร แสงกนกกุล

คดีสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองอาจแบ่งออกได้เป็นคดีเพิกถอนคำสั่งทางปกครองหรือกฎ (Recours pour excès de pouvoir ; Contentieux de l’annulation) และคดีเรียกค่าสินไหมทดแทนจากฝ่ายปกครอง (Contentieux de l’indemnisation) ซึ่งการพิจารณาว่าผู้ใดมีส่วนได้เสียเพียงพอที่จะเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีดังกล่าวก็ใช้เกณฑ์ในการพิจารณาแตกต่างกันไป กล่าวคือ ในคดีเพิกถอนคำสั่งทางปกครองหรือกฎซึ่งเป็นคดีที่มุ่งหมายให้ศาลตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งทางปกครองหรือกฎ ไม่ได้มุ่งหมายต่อการฟื้นฟูเยียวยาสิทธิของผู้ฟ้องคดี ผู้มีสิทธิฟ้องคดีเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งทางปกครองหรือกฎจึงไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าสิทธิของตนที่กฎหมายรับรองนั้นถูกกระทบจากคำสั่งทางปกครองหรือกฎ ผู้ฟ้องเพียงแสดงให้ศาลเห็นว่าประโยชน์หรือส่วนได้เสียของตนถูกกระทบก็เพียงพอแล้ว ในขณะที่คดีฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนนั้น เป็นคดีที่มุ่งหมายให้ศาลตรวจสอบว่าการกระทำของฝ่ายปกครองนั้นกระทบสิทธิของผู้ฟ้องคดีและทำให้ผู้ฟ้องคดีเสียหาย ฝ่ายปกครองจึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดี ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีดังกล่าวจึงต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าสิทธิของตนถูกกระทบ

กล่าวสำหรับคดีสิ่งแวดล้อมแล้ว บทบาทการฟ้องคดีมักตกอยู่กับบรรดาสมาคมคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย ทั้งนี้เนื่องจากความเสียหายหรือผลกระทบอันเกิดจากข้อพิพาทที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมีผลในวงกว้างและอาจไม่มีปัจเจกบุคคลริเริ่มฟ้องคดีเพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเท่าที่ควร เพราะตนไม่ได้รับประโยชน์โดยตรง สมาคมคุ้มครองสิ่งแวดล้อมจึงเป็นองค์กรสำคัญในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมผ่านการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง การพิจารณาส่วนได้เสียของสมาคมในการฟ้องคดีสิ่งแวดล้อมต่อศาลปกครอง อาจแยกพิจารณาเป็นการฟ้องคดีเพื่อบุคคลผู้เป็นสมาชิกของสมาคม (๒.) และการฟ้องคดีเพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (๓.) แต่ก่อนจะศึกษาหลักเกณฑ์การพิจารณาส่วนได้เสียในการฟ้องคดีของสมาคม จำเป็นต้องกล่าวถึงประเภทของสมาคมในระบบกฎหมายฝรั่งเศสเสียก่อน (๑.) เมื่อได้ทราบส่วนได้เสียของสมาคมในการฟ้องคดีปกครองสิ่งแวดล้อมในระบบกฎหมายฝรั่งเศสแล้ว จึงสมควรนำมาวิเคราะห์และตั้งข้อสังเกตเรื่องดังกล่าวในระบบกฎหมายไทย (๔.) 

๑. สมาคมกับการฟ้องคดีปกครองสิ่งแวดล้อม

สมาคมในระบบกฎหมายฝรั่งเศสมีหลายประเภท (๑.๑.) บางประเภทมีสถานะเป็นนิติบุคคล บางประเภทไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคล ซึ่งความเป็นนิติบุคคลย่อมส่งผลต่อความสามารถในการฟ้องคดี (๑.๒.) 

๑.๑. ประเภทของสมาคม

ในระบบกฎหมายฝรั่งเศส เราอาจแบ่งสมาคมได้เป็น ๒ ประเภท คือ สมาคมที่ไม่ได้จดทะเบียน (Associations non déclarées) และสมาคมจดทะเบียน (Associations déclarées) รัฐบัญญัติลงวันที่ ๑ กรกฎาคม ๑๙๐๑ รับรองเสรีภาพในการรวมตัวกันของบุคคลเพื่อก่อตั้งสมาคมไว้ โดยไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนกับทางการ ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจากทางการ ตลอดจนไม่จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้า หากกลุ่มบุคคลใดต้องการรวมตัวกันเป็นสมาคม เพียงแต่แสดงเจตจำนงร่วมกันว่าต้องการจัดตั้งเป็นสมาคม ก็ถือว่าสมาคมเกิดขึ้นแล้ว เพียงแต่ว่าหากสมาคมใดจดทะเบียน สมาคมนั้นก็จะได้รับสถานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไป ความข้อนี้แตกต่างจากระบบกฎหมายไทยที่บังคับให้การรวมตัวกันของบุคคลเพื่อก่อตั้งสมาคมจะสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อจดทะเบียนตามหลักเกณฑ์ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

นอกจากสมาคมที่ไม่ได้จดทะเบียน และสมาคมจดทะเบียนแล้ว ในเรื่องสิ่งแวดล้อมยังมีสมาคมเฉพาะอีกประเภทหนึ่ง คือสมาคมคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่จดทะเบียนและทำข้อตกลงกับทางการตามกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (Associations agréées de protection de l’environnement) อีกด้วย ซึ่งเงื่อนไขเบื้องต้นของการจดทะเบียนและทำความตกลง ก็คือ สมาคมเหล่านี้ต้องเป็นสมาคมจดทะเบียนตามรัฐบัญญัติลงวันที่ ๑ กรกฎาคม ๑๙๐๑ เพื่อมีสถานะเป็นนิติบุคคลเสียก่อน จึงจะมาจดทะเบียนและทำความตกลงตามกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เพื่อมีสถานะเป็นสมาคมคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่จดทะเบียนและทำข้อตกลงกับทางการตามกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อมได้

๑.๒. ความสามารถและสถานะสมาคมกับการฟ้องคดีปกครองสิ่งแวดล้อม

ความเป็นนิติบุคคลของสมาคมย่อมส่งผลต่อความสามารถและคุณสมบัติของสมาคมในการฟ้องคดี   สมาคมที่สามารถฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ต้องเป็นสมาคมที่มีสถานะเป็นนิติบุคคล สมาคมจะได้รับสถานะนิติบุคคลก็ต่อเมื่อจดทะเบียน ณ ศาลาว่าการจังหวัด และให้มีสถานะนิติบุคคลนับแต่การประกาศการจดทะเบียนสมาคมนั้นในรัฐกิจจานุเบกษา

สมาคมที่ไม่จดทะเบียนย่อมถือว่าไม่มีสถานะนิติบุคคล ดังนั้น โดยหลักแล้วจึงไม่อาจมีความสามารถในการฟ้องคดีต่อศาลได้ โดยเฉพาะการฟ้องคดีโดยสมาคมต่อศาลยุติธรรมแล้ว ศาลจะเคร่งครัดอย่างยิ่ง ถ้าสมาคมไม่จดทะเบียนมาฟ้องคดี ศาลยุติธรรมจะไม่รับฟ้อง และสมาคมไม่จดทะเบียนก็ไม่อาจถูกฟ้องเป็นจำเลยได้เช่นกัน กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ โจทก์และจำเลย หรือคู่ความในคดีที่อยู่ในเขตอำนาจศาลยุติธรรมนั้นต้องมีสถานะเป็นบุคคล 

ตรงกันข้าม สมาคมที่ไม่จดทะเบียนสามารถฟ้องต่อศาลปกครองได้ในคดีฟ้องขอให้เพิกถอนกฎหรือคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะถือว่าการฟ้องคดีดังกล่าวเป็นการฟ้องคดีแบบภาววิสัย (recours objectif) ซึ่งผู้ฟ้องมุ่งหมายให้ศาลตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของกฎหรือคำสั่งทางปกครอง มิใช่มุ่งหมายให้ศาลแก้ไขเยียวยาให้แก่สิทธิของผู้ฟ้องคดีที่ถูกกระทบ อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองไม่อาจรับฟ้องในกรณีที่สมาคมไม่จดทะเบียนฟ้องคดีเรียกค่าสินไหมทดแทน เพราะ ถ้าหากรับฟ้องและศาลพิจารณาคดีแล้ว พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่สมาคมไม่จดทะเบียนผู้ฟ้องคดี ก็เกิดปัญหาตามว่าจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ใคร เพราะ สมาคมไม่จดทะเบียนไม่มีสถานะเป็นบุคคล นอกจากนี้ การฟ้องคดีเรียกค่าสินไหมทดแทน เป็นการฟ้องคดีแบบอัตวิสัย (recours subjectif) ซึ่งผู้ฟ้องมุ่งหมายให้ศาลแก้ไขเยียวยาให้แก่ตนที่ถูกกระทบสิทธิ ดังนั้น จึงต้องมีบุคคลที่ถูกกระทบสิทธิเสียก่อน บุคคลนั้นจึงจะฟ้องคดีได้ เมื่อสมาคมไม่จดทะเบียนไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคล ก็เท่ากับว่าไม่มีบุคคลที่ถูกกระทบสิทธิ และก็ไม่มีสิทธิให้ถูกกระทบ เพราะไม่มีบุคคลเป็นผู้ทรงสิทธิ

ศาลปกครองสูงสุดในคดี Syndicat de défense des eaux de la Durance วางหลักไว้ว่า “ถ้าการบังคับใช้มาตรา ๕ และมาตรา ๖ ของรัฐบัญญัติลงวันที่ ๑ กรกฎาคม ๑๙๐๑ ทำให้สมาคมไม่จดทะเบียนไม่มีความสามารถในการฟ้องคดีเพื่อปกป้องสิทธิในกองทรัพย์สินของตนแล้ว การปราศจากการจดทะเบียนของสมาคมก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อสมาคมที่ก่อตั้งโดยชอบด้วยกฎหมายทั้งหลายในการโต้แย้งความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครองซึ่งกระทบส่วนได้เสียของสมาคมซึ่งสมาคมมีภารกิจคุ้มครอง” จากคดีนี้ ศาลปกครองได้ยืนยันว่า สมาคมไม่จดทะเบียนซึ่งไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคลย่อมไม่มีความสามารถในการฟ้องคดีเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ เพราะหากสามารถฟ้องได้และศาลสั่งให้ฝ่ายปกครองชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ก็จะไม่มีนิติบุคคลใดที่สามารถเป็นผู้ทรงสิทธิและเป็นผู้รับค่าสินไหมทดแทนนั้น ส่วนคดีเพิกถอนคำสั่งทางปกครองหรือกฎ แม้สมาคมไม่จดทะเบียนจะไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคล แต่ก็สามารถฟ้องคดีเหล่านี้ได้

ในส่วนของสมาคมต่างประเทศ ถ้าสมาคมต่างประเทศต้องการฟ้องคดีในประเทศใด ก็ต้องใช้กฎหมายของประเทศนั้น สำหรับกฎหมายฝรั่งเศส สมาคมต่างประเทศต้องจดทะเบียน ณ ศาลาว่าการจังหวัดในจังหวัดที่ที่ทำการของสมาคมตั้งอยู่เสียก่อน จึงจะมีความสามารถฟ้องคดีได้ 

ในกรณีที่ข้อบังคับของสมาคมกำหนดไว้ว่าผู้แทนของสมาคมจะฟ้องคดีต่อศาลได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการสมาคมเสียก่อน ผู้แทนของสมาคมก็ต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าตนได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการสมาคมให้ฟ้องคดีแล้ว ในกรณีที่ข้อบังคับของสมาคมไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดเกี่ยวกับการอนุญาตให้ฟ้องคดีไว้เลย ศาลปกครองถือว่า ผู้แทนสมาคมต้องแสดงให้ศาลเห็นว่าตนได้รับอนุญาตจากที่ประชุมใหญ่ของสมาคมแล้ว อย่างไรก็ตาม ในปี ๑๙๙๘ ศาลปกครองได้กลับแนวคำพิพากษาเดิม โดยวางแนวคำพิพากษาใหม่ว่า นายกสมาคมในฐานะเป็นบุคคลผู้รับผิดชอบสมาคมได้รับสมมติฐานว่าการตัดสินใจใดๆของสมาคมย่อมอยู่ในความรับรู้ของกรรมการบริหารสมาคม ดังนั้นนายกสมาคมจึงสามารถฟ้องคดีต่อศาลในนามของสมาคมได้เสมอ

๒. การพิจารณาส่วนได้เสียของสมาคมในการฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อคุ้มครองบุคคลผู้เป็นสมาชิกสมาคม
ในกรณีที่สมาคมฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อคุ้มครองบุคคลผู้เป็นสมาชิกของสมาคม ย่อมหมายความว่าสมาคมไม่ได้ฟ้องเพื่อปกป้องส่วนได้เสียหรือประโยชน์ของสมาคมเอง แต่เป็นการฟ้องเพื่อบุคคลแต่ละบุคคลผู้เป็นสมาชิกของสมาคม ดังนั้น การพิจารณาส่วนได้เสียในการเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดี จึงต้องพิจารณาจากส่วนได้เสียของบุคคลนั้นๆ โดยแยกพิจารณาตามประเภทคดี ได้แก่ คดีเรียกค่าสินไหมทดแทน (๒.๑.) และคดีเพิกถอนคำสั่งทางปกครองหรือกฎ (๒.๒.) 

๒.๑. คดีเรียกค่าสินไหมทดแทน

นับแต่ปลายศตวรรษที่ ๑๙ คำพิพากษาบรรทัดฐานของศาลปกครองปฏิเสธไม่ให้สมาคมฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสมาชิกของสมาคมเป็นรายบุคคล  นอกเสียจากสมาชิกที่เป็นผู้เสียหายนั้นได้มอบอำนาจให้แก่สมาคมฟ้องคดีแทนตนเอง 

คำพิพากษาบรรทัดฐานแนวนี้ตั้งอยู่บนเหตุผล ๒ ประการ คือ สมาคมไม่ได้เป็นผู้เสียหาย ไม่เกิดความเสียหายส่วนบุคคลเฉพาะตัวใดๆต่อสมาคมเลย แต่เป็นสมาชิกของสมาคมต่างหากที่เป็นผู้เสียหาย ประการหนึ่ง และการฟ้องคดีเรียกค่าสินไหมทดแทนให้แก่สมาชิกสมาคมเป็นรายบุคคลนั้น ศาลต้องพิจารณาประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นเพื่อคำนวณค่าสินไหมทดแทน ศาลจึงต้องทราบรายชื่อผู้เสียหายในฐานะปัจเจกบุคคล ดังนั้น การฟ้องคดีโดยสมาคมในกรณีเช่นนี้ ไม่อาจระบุให้ศาลเห็นได้ชัดเจนว่าบุคคลใดได้รับความเสียหายอย่างไร อีกประการหนึ่ง

นอกจากนี้ ในระบบกฎหมายฝรั่งเศส มีสุภาษิตกฎหมายที่ยอมรับกันมาช้านานว่า “ไม่มีใครในฝรั่งเศสฟ้องคดีได้ดังอัยการ” ซึ่งหมายความว่า ไม่มีบุคคลใดสามารถฟ้องคดีแทนบุคคลอื่นโดยปราศจากการรับมอบอำนาจและการระบุชื่อผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ

ดังนั้น เราอาจสรุปได้ว่า สมาคมอาจฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทนต่อความเสียหายของบุคคลผู้เป็นสมาชิกของสมาคมได้ก็ต่อเมื่อบุคคลผู้เป็นสมาชิกของสมาคมนั้นได้มอบอำนาจให้สมาคมฟ้องคดีแทนตนเอง โดยต้องระบุชื่อของบุคคลผู้เสียหายและสมาคมผู้รับมอบอำนาจเป็นตัวแทนฟ้องคดีไว้อย่างชัดเจน 

๒.๒. คดีขอเพิกถอนคำสั่งทางปกครองหรือกฎ  

ในกรณีข้อพิพาทเรื่องคำสั่งทางปกครองหรือกฎไม่ชอบด้วยกฎหมายกระทบส่วนได้เสียของปัจเจกบุคคล การพิจารณาส่วนได้เสียของบุคคลผู้มีสิทธิฟ้องคดีดังกล่าว ต้องพิจารณาส่วนได้เสียส่วนบุคคล (L’intérêt individuel) ของบุคคลผู้ฟ้องคดีนั้น โดยทั่วไปแล้ว บุคคลผู้ที่ส่วนได้เสียของตนถูกกระทบจากคำสั่งทางปกครองหรือกฎ จะฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งทางปกครองหรือกฎนั้นด้วยตนเอง 

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่บุคคลนั้นเป็นสมาชิกของสมาคม และไม่ต้องการฟ้องคดีเพิกถอนคำสั่งทางปกครองหรือกฎนั้นด้วยตนเอง แต่ต้องการให้สมาคมที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ฟ้องคดีแทน สมาคมก็สามารถฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อขอเพิกถอนคำสั่งทางปกครองหรือกฎในนามของบุคคลผู้เป็นสมาชิกของสมาคมได้เสมอโดยไม่จำเป็นต้องมีการมอบอำนาจการฟ้องคดี ทั้งนี้สมาคมผู้ฟ้องคดีต้องมีวัตถุประสงค์ที่อยู่ในขอบเขตส่วนได้เสียของข้อพิพาทที่สมาคมฟ้องคดีด้วย 

๓. การพิจารณาส่วนได้เสียของสมาคมในการฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อม
ในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม สมาคมเหล่านี้ไม่ได้มุ่งหมายคุ้มครองทรัพย์สินหรือกรรมสิทธิ์ใดๆของตนเอง แต่มุ่งหมายคุ้มครองเรื่องที่กระทบต่อวัตถุประสงค์ทางสังคมของสมาคมนั้นๆ เมื่อสมาคมเหล่านี้ได้ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อปกป้องคุ้มครองวัตถุประสงค์ดังกล่าว เมื่อมีข้อพิพาทใดที่กระทบกระเทือนต่อวัตถุประสงค์นั้น จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่สมาคมย่อมมีสิทธิในการฟ้องคดีต่อศาลเพื่อคุ้มครองวัตถุประสงค์ของสมาคม สมาคมที่ตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม จึงมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ในกรณีที่ข้อพิพาทนั้นกระทบกระเทือนต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าเมื่อไรก็ตามที่มีข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีการกระทำใดที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้วสมาคมจะสามารถฟ้องคดีต่อศาลได้เสมอ ตรงกันข้าม ศาลได้วางกรอบไว้พอสมควร สมาคมอาจฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อมได้ในคดีหลายประเภท และมีเกณฑ์ในการประเมินส่วนได้เสียของสมาคมผู้ฟ้องคดีแตกต่างกันไป ได้แก่ คดีขอเพิกถอนคำสั่งทางปกครองหรือกฎ (๓.๑.) และคดีเรียกค่าสินไหมทดแทน (๓.๒.) 

๓.๑. คดีขอเพิกถอนคำสั่งทางปกครองหรือกฎ

ในกรณีที่สมาคมฟ้องศาลปกครองเพื่อขอเพิกถอนคำสั่งทางปกครองหรือกฎนั้น ศาลปกครองได้วางหลักเกณฑ์ในการประเมินส่วนได้เสียของสมาคมในการฟ้องคดีไว้ ๒ ประการ คำสั่งทางปกครองหรือกฎที่เป็นวัตถุแห่งคดีต้องเกี่ยวพันกับเขตพื้นที่ตามวัตถุประสงค์ของสมาคม ประการหนึ่ง และคำสั่งทางปกครองหรือกฎที่เป็นวัตถุแห่งคดีต้องกระทบโดยตรงต่อวัตถุประสงค์ของสมาคม อีกประการหนึ่ง

๓.๑.๑. คำสั่งทางปกครองหรือกฎที่สมาคมขอเพิกถอนนั้นต้องเกี่ยวพันกับเขตพื้นที่ตามวัตถุประสงค์ของสมาคม

เมื่อสมาคมฟ้องคดีขอเพิกถอนคำสั่งทางปกครองหรือกฎต่อศาลปกครองเพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ศาลปกครองจะพิจารณาก่อนว่าคำสั่งทางปกครองหรือกฎนั้นมีความเกี่ยวพันกับเขตพื้นที่ของสมาคมซึ่งกำหนดไว้ในวัตถุประสงค์หรือไม่ ซึ่งเป็นไปได้ว่า ในบางกรณีเขตพื้นที่ของสมาคมอาจกว้างกว่าผลของคำสั่งทางปกครองหรือกฎ หรือในบางกรณีเขตพื้นที่ของสมาคมอาจแคบกว่าผลของคำสั่งทางปกครองหรือกฎ ซึ่งศาลปกครองจะปฏิเสธไม่รับคำฟ้องทั้งสองกรณีนี้ด้วยเหตุที่ว่าสมาคมผู้ฟ้องคดีไม่มีส่วนได้เสียเพียงพอในการฟ้องคดี

(ก.) เขตพื้นที่ของสมาคมกว้างกว่าผลของคำสั่งทางปกครองหรือกฎ
ศาลปกครองฝรั่งเศสวางแนวไว้ว่า ในกรณีที่เป็นสมาคมที่มีวัตถุประสงค์ครอบคลุมพื้นที่ในเขตเทศบาล สมาคมนั้นย่อมฟ้องคดีเพิกถอนคำสั่งทางปกครองหรือกฎได้เฉพาะกรณีที่มีผลอยู่ในเขตพื้นที่เทศบาลเท่านั้น ไม่อาจฟ้องคดีเพิกถอนคำสั่งทางปกครองหรือกฎที่มีผลอยู่ในเขตภาคได้ เช่นเดียวกัน ในกรณีที่เป็นสมาคมที่มีวัตถุประสงค์ครอบคลุมพื้นที่ระดับภาค สมาคมนั้นย่อมฟ้องคดีเพิกถอนคำสั่งทางปกครองหรือกฎได้เฉพาะกรณีที่มีผลอยู่ในเขตพื้นที่ภาคเท่านั้น ไม่อาจฟ้องคดีเพิกถอนคำสั่งทางปกครองหรือกฎที่มีผลอยู่ในเขตเทศบาลได้ เช่น

  • สมาคมคุ้มครองสิ่งแวดล้อม URDEN ฟ้องขอเพิกถอนใบอนุญาตสร้างอาคารที่พักอาศัยที่ออกให้โดยเทศบาลเมือง Luxeuil-les-Bains สมาคมมีที่ตั้งอยู่ที่ Luxeuil-les-Bains แต่วัตถุประสงค์ของสมาคม คือ การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ ชีวิต และคุณภาพชีวิตในเขต Franche-Comté ซึ่งรวมถึงประเด็นปัญหาทั้งหลายอันเกี่ยวกับการผังเมืองและอาคารในเขต Franche-Comté ซึ่งเป็นภาค (Région) ในคดีนี้ ตุลาการผู้แถลงคดี Dandelot  เห็นว่า  เมื่อสมาคมมีวัตถุประสงค์ในเขตพื้นที่ระดับภาคซึ่งครอบคลุม ๔ จังหวัด จึงไม่อาจยอมรับได้ว่าสมาคม URDEN มีส่วนได้เสียในการฟ้องขอเพิกถอนใบอนุญาตสร้างอาคารที่พักอาศัยในเทศบาลเมือง Luxeuil-les-Bains มิเช่นนั้นก็เท่ากับว่าสมาคมจะได้รับเอกสิทธิ์ในการฟ้องคดีจนเกือบกลายเป็นการยอมรับหลักการฟ้องคดีโดยประชาชนไป โดยไปจดทะเบียนวัตถุประสงค์ครอบคลุมพื้นที่ในอาณาบริเวณกว้างขวาง และในท้ายที่สุดองค์คณะศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้ก็ได้ตัดสินทำนองเดียวกันกับความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดี 
  • สมาคมระดับภาคสามารถฟ้องขอเพิกถอนประกาศเวนคืนที่ดินเพื่อประโยชน์สาธารณะ เพื่อนำที่ดินไปใช้ก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อเมือง Rhin-Saône
  • สมาคมระดับชาติสามารถฟ้องขอเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างศูนย์นิวเคลียร์ได้ เพราะ ศูนย์นิวเคลียร์เป็นโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลส่วนกลาง เป็นเรื่องระดับชาติ แม้ว่าศูนย์นิวเคลียร์ตั้งอยู่ในพื้นที่ของเทศบาลเดียวก็ตาม
(ข.) เขตพื้นที่ของสมาคมแคบกว่าผลของคำสั่งทางปกครองหรือกฎ
ศาลปกครองไม่รับคำฟ้องของสมาคม หากศาลปกครองประเมินแล้วว่าเขตพื้นที่ตามวัตถุประสงค์ของสมาคมนั้นแคบกว่าเมื่อเทียบกับผลของคำสั่งทางปกครองหรือกฎ เช่น 

  • สมาคมที่มีวัตถุประสงค์คุ้มครองคุณภาพชีวิตในเขตจังหวัด ย่อมไม่มีส่วนได้เสียเพียงพอในการฟ้องขอเพิกถอนรัฐกฤษฎีกาปรับปรุงบทบัญญัติในประมวลกฎหมายผังเมือง
  • สมาคมระดับเทศบาลไม่มีส่วนได้เสียเพียงพอในการฟ้องขอเพิกถอนการแก้ไขผังรวมการจัดการเมืองซึ่งครอบคลุม ๒๒ เทศบาลรวมทั้งเทศบาลที่สมาคมมีเขตพื้นที่ครอบคลุมอยู่ด้วย๑๐
ตรงกันข้าม ศาลปกครองตัดสินว่าสมาคมมีส่วนได้เสียในการฟ้องคดีเพิกถอนคำสั่งทางปกครองหรือกฎ หากศาลประเมินแล้วเห็นว่าผลของคำสั่งทางปกครองไม่ได้กว้างเกินกว่าเขตพื้นที่ตามวัตถุประสงค์ของสมาคม เช่น สมาคมระดับเทศบาลมีส่วนได้เสียในการฟ้องพอเพิกถอนประกาศการเวนคืนเพื่อประโยชน์สาธารณะเพื่อนำไปใช้ในการเชื่อมทางน้ำระหว่างแม่น้ำ Rhône และแม่น้ำ Rine๑๑

ศาลปกครองค่อนข้างเคร่งครัดในการพิจารณาว่าสมาคมสิ่งแวดล้อมมีส่วนได้เสียทางพื้นที่เพียงพอที่จะฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งทางปกครองหรือกฎหรือไม่ เพราะ ศาลเกรงว่า หากไม่ตีกรอบเรื่องเขตพื้นที่เลย ย่อมเปิดโอกาสให้สมาคมใดก็ตามที่จดทะเบียนวัตถุประสงค์ไว้เพียง “คุ้มครองสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต ทรัพยากรธรรมชาติ” สามารถฟ้องคดีเพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อมได้ทั่วประเทศ ปรากฏการณ์เช่นนี้อาจนำมาซึ่งการฟ้องคดีได้อย่างกว้างขวางจนกลายเป็น “สิทธิการฟ้องคดีโดยประชาชนทั่วไป (action populaire)”

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณามุมมองของทางฝ่ายสมาคมคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เห็นว่าการพิจารณาเงื่อนไขส่วนได้เสียทางพื้นที่อย่างเคร่งครัด อาจเป็นอุปสรรคต่อสมาคมในการฟ้องคดี ทั้งๆที่ในเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว การฟ้องคดีโดยสมาคมถือเป็น “อาวุธ” สำคัญ เพราะ ปัจเจกบุคคลมักไม่สนใจที่จะฟ้องคดีเรื่องสิ่งแวดล้อมเท่าไรนัก และเรื่องสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบในวงกว้าง ไม่ใช่กระทบใครคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง หากไม่มีสมาคมฟ้องคดี แล้วปล่อยให้บุคคลฟ้องเอง ก็ยากที่จะแสดงให้ศาลเห็นได้ว่าเรื่องนั้นๆกระทบส่วนได้เสียส่วนบุคคลอย่างไร 

กฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของฝรั่งเศสกำหนดให้มีการจัดตั้งสมาคมโดยขึ้นทะเบียนตามกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นสมาคมคุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายดังกล่าว  (Associations agréées de protection de l’environnement)โดยมีสิทธิประโยชน์บางประการและต้องทำความตกลงกับทางการเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมร่วมกัน๑๒ ภายหลังกฎหมายดังกล่าวใช้บังคับ มีสมาคมคุ้มครองสิ่งแวดล้อมจำนวนหนึ่ง เมื่อได้จดทะเบียนแล้ว ก็ได้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อขอเพิกถอนคำสั่งทางปกครองและกฎ โดยคาดหมายว่าสมาคมประเภทนี้ไม่จำเป็นต้องมีส่วนได้เสียในแง่พื้นที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองตัดสินก็ยังคงยืนยันว่า การที่สมาคมจดทะเบียนทำข้อตกลงกับทางการตามกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ไม่เป็นผลให้สมาคมนั้นไม่ต้องพิสูจน์ว่าคำสั่งทางปกครองหรือกฎที่ขอเพิกถอนมีความเกี่ยวพันทางเขตพื้นที่ของสมาคม๑๓

ฝ่ายตำราได้วิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาศาลปกครองต่อกรณีดังกล่าวเป็นจำนวนมากว่า ศาลปกครองไม่สนับสนุนให้สมาคมได้มีบทบาทในการฟ้องคดีเพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเท่าที่ควร ทั้งๆที่สมาคมและองค์กรเอกชนทั้งหลายล้วนแล้วแต่เป็นส่วนสำคัญและมีบทบาทคุ้มครองสิ่งแวดล้อมอย่างยาวนานและได้ผล ในท้ายที่สุด ฝ่ายนิติบัญญัติจึงตรากฎหมายเพื่อกำหนดให้สมาคมสิ่งแวดล้อมที่จดทะเบียนและทำข้อตกลงกับทางการ ย่อมได้ประโยชน์จากการทำข้อตกลงดังกล่าว โดยถือว่าหากสมาคมเหล่านี้มีส่วนได้เสียในการฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งทางปกครองหรือกฎซึ่งมีความสัมพันธ์โดยตรงกับวัตถุประสงค์ของสมาคมหรือกิจกรรมของสมาคมและนำมาซึ่งความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม (มีส่วนได้เสียทางเนื้อหา - คำสั่งทางปกครองหรือกฎที่ขอเพิกถอนนั้นมีผลกระทบต่อวัตถุประสงค์ของสมาคมและทำให้สิ่งแวดล้อมเสียหาย) สมาคมนั้นย่อมสามารถฟ้องคดีได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ว่าผลของคำสั่งทางปกครองหรือกฎที่ขอเพิกถอนมีความเกี่ยวพันทางเขตพื้นที่ของสมาคมหรือไม่๑๔ กล่าวให้ถึงที่สุด คือ กฎหมายกำหนดสิทธิประโยชน์ในการฟ้องคดีให้แก่สมาคมสิ่งแวดล้อมจดทะเบียน จากเดิมต้องแสดงให้เห็นถึงส่วนได้เสียทั้งในแง่พื้นที่และในแง่เนื้อหา มาเหลือเพียงพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าสมาคมมีส่วนได้เสียทางเนื้อหาเท่านั้น ประโยชน์ของกฎหมายดังกล่าว นอกจากจะให้สมมติฐานเรื่องส่วนได้เสียทางพื้นที่แก่สมาคมสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังกระตุ้นให้สมาคมสิ่งแวดล้อมต่างๆสนใจจดทะเบียนและทำข้อตกลงกับทางการมากขึ้น 

๓.๑.๒. คำสั่งทางปกครองหรือกฎที่เป็นวัตถุแห่งคดีต้องกระทบโดยตรงต่อวัตถุประสงค์ของสมาคม

กฎหมายที่ตราโดยฝ่ายนิติบัญญัติอันเป็นฐานที่มาของอำนาจในการออกคำสั่งทางปกครองหรือกฎต้องมีวัตถุประสงค์หรือเจตนารมณ์อยู่ เมื่อองค์กรเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองได้ออกคำสั่งทางปกครองหรือตรากฎโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายฉบับใด นั่นคือ การออกมาตรการบางอย่างบางประการเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของกฎหมายนั้น วัตถุประสงค์เช่นว่าก็คือวัตถุประสงค์หรือความมุ่งหมายของคำสั่งทางปกครองหรือกฎ หากผู้ใดประสงค์จะฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อขอเพิกถอนคำสั่งทางปกครองหรือกฎ ก็ต้องแสดงให้ศาลเห็นว่าประโยชน์ของตนที่ถูกกระทบจากคำสั่งทางปกครองหรือกฎนั้นมีความสัมพันธ์กับวัตถุประสงค์ของกฎหมายฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นฐานที่มาของการออกคำสั่งทางปกครองหรือการตรากฎ

เช่น บริษัทเอกชนต้องการก่อสร้างศูนย์การค้าขนาดใหญ่ในเมืองหนึ่ง บริษัทต้องได้รับการอนุญาตในเรื่องผังเมืองพาณิชย์เสียก่อน (autorisation d’urbanisme commercial) จากนั้นจึงต้องขอใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร (permis de construire) ต่อไป ถ้าหากองค์กรเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองได้ปฏิเสธไม่ออกใบอนุญาตอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่าง บริษัทนั้นก็ไม่อาจก่อสร้างศูนย์การค้าได้ ตามแนวคำพิพากษาบรรทัดฐานของศาลปกครอง ต้องปรากฏในเบื้องต้นก่อนว่ามีความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างประโยชน์ที่ผู้ร้องหยิบยกขึ้นอ้างกับวัตถุประสงค์ของกฎหมายฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นฐานที่มาของการออกใบอนุญาตหรือไม่ออกใบอนุญาต กฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมอาคารมีวัตถุประสงค์ในการจัดการเมือง การรักษาคุณภาพและความสวยงามของการก่อสร้างอาคารสถานที่  ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เรื่องการแข่งขันทางการค้าอย่างเป็นธรรม ดังนั้น หากผู้ฟ้องคดีต้องการฟ้องขอเพิกถอนใบอนุญาตการก่อสร้าง (permis de construire)ศูนย์การค้า โดยอ้างว่าประโยชน์หรือส่วนได้เสียของตนที่ถูกกระทบอันเนื่องมาจากการออกใบอนุญาตให้ก่อสร้างศูนย์การค้านั้นเป็นประโยชน์หรือส่วนได้เสียในเรื่องการค้า (เช่น เมื่อศูนย์การค้าขนาดใหญ่เปิดให้บริการ ร้านค้าขนาดเล็กหรือวิสาหกิจขนาดย่อมจะมีรายได้ลดลงอย่างมาก เพราะ ผู้คนย่อมหันไปเลือกจับจ่ายซื้อของจากศูนย์การค้าขนาดใหญ่แทนด้วยสาเหตุที่ว่าครบวงจรกว่าและราคาสินค้าถูกกว่า เป็นต้น)  เช่นนี้ ศาลจะถือว่าประโยชน์ของผู้ฟ้องคดีไม่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับวัตถุประสงค์ของกฎหมายซึ่งเป็นฐานที่มาของการออกใบอนุญาต ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีส่วนได้เสียเพียงพอในการฟ้องคดีขอเพิกถอนใบอนุญาตการก่อสร้างศูนย์การค้า๑๕ อย่างไรก็ตามผู้ฟ้องคดีอาจหยิบยกผลประโยชน์ทางการค้าเช่นว่า เพื่อใช้อ้างว่าตนมีส่วนได้เสียในการฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตผังเมืองพาณิชย์ (autorisation d’urbanisme commercial) ได้ เพราะกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองพาณิชย์มีวัตถุประสงค์รักษาการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมระหว่างศูนย์การค้าขนาดใหญ่กับร้านค้าขนาดเล็กหรือร้านโชว์ห่วย 

หลักเกณฑ์การพิจารณาความมีส่วนได้เสียของผู้ฟ้องคดีนี้นำมาใช้กับการฟ้องคดีโดยสมาคมคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน เช่น สมาคมคุ้มครองแม่น้ำลำธารไม่มีส่วนได้เสียในการฟ้องคดีเพื่อขอเพิกถอนใบอนุญาตผังเมืองพาณิชย์ของศูนย์การค้าขนาดใหญ่ เพราะ สมาคมไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในเรื่องปกป้องประโยชน์ทางการค้า๑๖ แต่สมาคมมีส่วนได้เสียในการฟ้องคดีขอเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารได้ โดยอ้างว่าสมาคมมีวัตถุประสงค์คุ้มครองสิ่งแวดล้อม  

ทำนองเดียวกัน ศาลปกครองสูงสุดตัดสินว่าสมาคมคุ้มครองพื้นที่ในย่านใดย่านหนึ่งไม่มีส่วนได้เสียในการฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ให้บริษัทได้สิทธิประโยชน์จากการก่อสร้างอาคาร ๔๓ แห่งในย่านนั้น เพราะ การให้สิทธิประโยชน์แก่บริษัทไม่ได้เกี่ยวข้องหรือเป็นผลจากการอนุญาตให้สร้างอาคาร ในเมื่อสมาคมมีวัตถุประสงค์ในเรื่องการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ทัศนียภาพและคุณภาพชีวิตในบริเวณพื้นที่ย่านนั้น สมาคมจึงไม่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับเรื่องสิทธิประโยชน์ที่บริษัทได้รับ หากสมาคมจะมีส่วนได้เสียก็เป็นส่วนได้เสียในการฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตสร้างอาคารต่างหาก๑๗

ในอีกคดีหนึ่ง ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าสัญญาระหว่างรัฐกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ได้ส่งผลโดยตรงให้เกิดการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ที่เป็นข้อพิพาท ส่วนข้อเท็จจริงที่ว่าสัญญาดังกล่าวมีข้อตกลงว่าด้วยการขยายสะพานบนพื้นที่ซึ่งสมาคมผู้ฟ้องคดีมีวัตถุประสงค์คุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อมนั้น ยังไม่ถือว่าทำให้สมาคมนั้นมีส่วนได้เสียเพียงพอในการฟ้องขอเพิกถอนสัญญาดังกล่าว๑๘  

เราอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า ในระบบกฎหมายฝรั่งเศสนั้น การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่จำเป็นต้องมีการขอใบอนุญาตจากทางการจำนวนมากและหลากหลายประเภท ตั้งแต่คำสั่งอนุญาตให้รื้อสิ่งปลูกสร้างเดิม, คำสั่งอนุญาตให้รื้อทำลายต้นไม้, ใบอนุญาตผังเมืองพาณิชย์, ใบอนุญาตก่อสร้าง ดังนั้น สมาคมใดจะมีส่วนได้เสียฟ้องคำสั่งอนุญาตใด ย่อมพิจารณาวัตถุประสงค์ของแต่ละสมาคมเป็นรายกรณีไป เช่น สมาคมอนุรักษ์อาคารเก่ามีส่วนได้เสียในการฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้รื้อสิ่งปลูกสร้างเดิม, สมาคมผู้คุ้มครองผู้บริโภคมีส่วนได้เสียในการฟ้องขอเพิกถอนใบอนุญาตผังเมืองพาณิชย์, สมาคมคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตมีส่วนได้เสียในการฟ้องขอเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง เป็นต้น สมาคมจึงไม่อาจฟ้องขอเพิกถอนการก่อสร้างโครงการขนาดยักษ์ได้ทั้งระบบ๑๙

กล่าวโดยสรุป การพิจารณาว่าสมาคมมีส่วนได้เสียเพียงพอที่จะถือว่าฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อขอเพิกถอนคำสั่งทางปกครองหรือกฎได้หรือไม่นั้น ต้องพิจารณา ๒ เงื่อนไข คือ เงื่อนไขแรก คำสั่งทางปกครองหรือกฎที่เป็นวัตถุแห่งคดีต้องเกี่ยวพันกับเขตพื้นที่ตามวัตถุประสงค์ของสมาคม (ส่วนได้เสียทางพื้นที่ – ratione loci) เงื่อนไขที่สอง คำสั่งทางปกครองหรือกฎที่เป็นวัตถุแห่งคดีต้องกระทบโดยตรงต่อวัตถุประสงค์ของสมาคม (ส่วนได้เสียทางเนื้อหา –ration materiae)โดยสมาคมต้องแสดงให้เห็นว่ามีส่วนได้เสียเพียงพอทั้งสองเงื่อนไข เว้นเสียแต่ว่าสมาคมนั้นเป็นสมาคมสิ่งแวดล้อมที่จดทะเบียนและทำข้อตกลงกับทางการตามมาตรา L 141-1 แห่งประมวลกฎหมายสิ่งแวดล้อม๒๐ เช่นนี้แล้ว สมาคมดังกล่าวย่อมได้รับประโยชน์จากการจดทะเบียนโดยถือว่ามีส่วนได้เสียทางพื้นที่ทันทีตามมาตรา L 142-1 แห่งประมวลกฎหมายสิ่งแวดล้อม๒๑ สมาคมนั้นจึงเหลือเพียงต้องแสดงให้เห็นว่ามีส่วนได้เสียในทางเนื้อหาเท่านั้น

๓.๒. คดีเรียกค่าสินไหมทดแทน

การพิจารณาว่าสมาคมคุ้มครองสิ่งแวดล้อมใดมีส่วนได้เสียในการฟ้องคดีเรียกค่าสินไหมทดแทนหรือไม่ ต้องแยกพิจารณาจากประเภทของสมาคม ได้แก่ สมาคมคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่จดทะเบียนและทำความตกลง (๓.๒.๑.) และสมาคมคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้จดทะเบียนและทำความตกลง (๓.๒.๒.)

๓.๒.๑. สมาคมคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่จดทะเบียนและทำความตกลง

ตามประมวลกฎหมายสิ่งแวดล้อม สมาคมคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่จดทะเบียนและทำความตกลงกับทางการตามกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (Associations agréées de protection de l’environnement) มีสิทธิในการฟ้องคดีเพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนต่อความเสียหายทั้งทางตรงและทางอ้อมซึ่งสมาคมได้รับ

การเรียกค่าสินไหมทดแทนต่อความเสียทางอ้อมถือเป็นข้อยกเว้นจากหลักเกณฑ์การเรียกค่าสินไหมทดแทนตามกฎหมายความรับผิดทางแพ่งซึ่งยอมรับเฉพาะการเรียกค่าสินไหมทดแทนให้แก่ความเสียหายทางตรงเท่านั้น ถ้าฝ่ายนิติบัญญัติกำหนดเป็นการเฉพาะเจาะจงให้สมาคมคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่จดทะเบียนสามารถฟ้องคดีเรียกค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายโดยอ้อมได้ นั่นแสดงว่า การที่ความเสียหายเกิดแก่สิ่งแวดล้อม ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายโดยตรงแก่สมาคมคุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามมาด้วย เพียงแต่กฎหมายยินยอมให้สมาคมนั้นได้ฟ้องคดีเรียกค่าสินไหมทดแทนได้โดยพิจารณาจากวัตถุประสงค์ของสมาคมนั่นเอง 

เมื่อกฎหมายกำหนดชัดเจนอนุญาตให้สมาคมคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่จดทะเบียนมีสิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่เกิดแก่สิ่งแวดล้อมเช่นนี้ จึงหากรณีได้ยากมากที่ศาลจะพิจารณาว่าสมาคมเหล่านี้ไม่มีส่วนได้เสียในการฟ้องคดีเรียกค่าสินไหมทดแทน อย่างไรก็ตาม ศาลยังคงพิจารณาว่ากรณีสมควรสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนเท่าไร แน่นอนว่าการเยียวยาความเสียหายที่ดีที่สุด คือ การทำให้สิ่งแวดล้อมที่เสียหายไปกลับคืนสู่สภาพเดิมให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วผู้ที่ต้องรับผิดไม่สามารถทำเช่นนั้นได้เสมอไป ศาลจึงใช้วิธีคำนวณความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมเป็นตัวเงิน แล้วสั่งให้ผู้ต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนนั้นแก่สมาคมคุ้มครองสิ่งแวดล้อมผู้ฟ้องคดี เพื่อให้สมาคมนำเงินนั้นไปใช้จ่ายในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การตีค่าให้ความเสียหายอันเกิดแก่สิ่งแวดล้อมเป็นผลทางเศรษฐกิจด้วยย่อมช่วยให้ศาลพิจารณาจำนวนค่าเสียหายได้ง่ายขึ้น

โดยทั่วไปแล้ว ศาลมักจะสั่งชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่สมาคมคุ้มครองสิ่งแวดล้อมผู้ฟ้องคดีในกรณีเป็นความเสียหายทางวัตถุ แต่ในบางกรณี สมาคมอาจเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนต่อความเสียหายทางจิตใจมาด้วยโดยอ้างว่าความเสียหายทางจิตใจเกิดต่อประโยชน์ร่วมที่สมาคมมีวัตถุประสงค์ในการปกป้องคุ้มครอง กรณีเช่นนี้ ศาลจะปฏิเสธไม่สั่งชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้หากเห็นว่าไม่เกิดประโยชน์ใดๆต่อสิ่งแวดล้อม 

๓.๒.๒. สมาคมคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้จดทะเบียนและทำความตกลง

สมาคมที่จดทะเบียนตามรัฐบัญญัติลงวันที่ ๑ กรกฎาคม ๑๙๐๑ แต่ไม่ได้จดทะเบียนและทำความตกลงเพื่อเป็นสมาคมคุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามมาตรา L 141-1 แห่งประมวลกฎหมายสิ่งแวดล้อม ถือว่าเป็นสมาคมที่มีสถานะเป็นนิติบุคคลเช่นกัน เพียงแต่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์บางประการตามประมวลกฎหมายสิ่งแวดล้อมเท่านั้น เมื่อมีสถานะเป็นนิติบุคคล ก็ย่อมฟ้องคดีเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ ประเด็นปัญหาจึงเหลือเพียงว่า ความเสียหายในลักษณะใดที่ศาลปกครองจะสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้?

สมาคมเป็นองค์กรกลุ่ม ความเสียหายที่สมาคมได้รับและอาจเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ จึงต้องเป็นความเสียหายร่วมของทั้งสมาคม ไม่ใช่ความเสียหายเฉพาะบุคคลของสมาชิกสมาคมคนใดคนหนึ่ง ในเรื่องนี้ศาลปกครองสูงสุดฝรั่งเศสได้วางบรรทัดฐานไว้ตั้งแต่ปี ๑๙๐๖ ในคดี Syndicat des patrons-coiffeurs de Limoges๒๒ ดังที่ตุลาการผู้แถลงคดี Latournerie แสดงความเห็น “การกระทำใดๆที่เป็นอุปสรรคโดยตรงและแน่นอนชัดเจนต่อการดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ของสมาคม ย่อมนำมาซึ่งความเสียหายที่อาจได้รับการชดใช้ได้” 

หากกล่าวจำเพาะเจาะจงในเรื่องสิ่งแวดล้อม ศาลปกครองชั้นต้น Versailles๒๓ ก็นำความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดี Latournerie มาใช้เช่นเดียวกันกับศาลปกครองชั้นต้น Nantes๒๔ กล่าวโดยสรุป กรณีที่สมาคมคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้จดทะเบียนและทำข้อตกลงกับทางการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนแก่ความเสียหายร่วมกันของทั้งสมาคมนั้น ศาลจะพิจารณาว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นกระทบต่อวัตถุประสงค์ของสมาคมหรือไม่ ถ้าศาลเห็นว่ากระทบ ความเสียหายนั้นก็เป็นความเสียหายของสมาคมที่อาจได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตรงกันข้าม ถ้าหากศาลเห็นว่าไม่กระทบ ศาลก็จะปฏิเสธไม่สั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่สมาคม 

๔. ข้อสังเกตเปรียบเทียบกับการฟ้องคดีปกครองสิ่งแวดล้อมโดยสมาคมในระบบกฎหมายไทย 


เมื่อทราบส่วนได้เสียของสมาคมในการฟ้องคดีปกครองสิ่งแวดล้อมในระบบกฎหมายฝรั่งเศสแล้ว ในหัวข้อนี้จะศึกษาและตั้งข้อสังเกตเปรียบเทียบกับการฟ้องคดีสิ่งแวดล้อมโดยสมาคมในระบบกฎหมายไทยในสองประเด็น คือ เกณฑ์การพิจารณาความมีส่วนได้เสียของสมาคมในการฟ้องคดีปกครองสิ่งแวดล้อม (๔.๑.) และการฟ้องคดีโดยองค์กรเอกชนที่จดทะเบียนตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมไทย (๔.๒.) 

๔.๑. เกณฑ์การพิจารณาความมีส่วนได้เสียของสมาคมในการฟ้องคดีปกครองสิ่งแวดล้อม


สมาคมและการรวมตัวกันเป็นองค์กรกลุ่มในระบบกฎหมายไทยมีหลากหลายประเภท ตั้งแต่ สมาคมตาม ป.พ.พ., มูลนิธิตาม ป.พ.พ., ตลอดจนองค์กรเอกชนที่เรียกชื่อแตกต่างกันไปทั้งที่มีสถานะเป็นนิติบุคคล และไม่เป็นนิติบุคคล นอกจากนี้ยังมีองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕ อีกด้วย รูปแบบอันหลากหลายเช่นนี้ส่งผลให้เกิดความไม่เป็นเอกภาพ โดยเฉพาะเมื่อนำมาพิจารณาในประเด็นสิทธิการฟ้องคดี 

การพิจารณาว่าสมาคมใดมีส่วนได้เสียในการฟ้องคดีสิ่งแวดล้อมต่อศาลปกครองหรือไม่นั้น ศาลจะพิจารณาจากขอบวัตถุประสงค์ของสมาคมเป็นสำคัญ ในกรณีฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งทางปกครองหรือกฎ ศาลจะพิจารณาว่าคำสั่งทางปกครองหรือกฎนั้นหรือมีความสัมพันธ์โดยตรงหรือกระทบต่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของสมาคมหรือไม่ ซึ่งตามหลักกฎหมายวิธีพิจารณาคดีปกครอง (โดยเฉพาะศึกษาเปรียบเทียบจากระบบกฎหมายฝรั่งเศสที่ระบบกฎหมายไทยรับอิทธิพลมา) ในการพิจารณาส่วนได้เสียของสมาคมหรือองค์กรกลุ่มในการฟ้องคดี ศาลจะพิจารณาส่วนได้เสียทั้งในแง่เนื้อหา (ratione materiae)  และในแง่พื้นที่ (ratione loci) ปัญหามีอยู่ว่า ศาลมักพิจารณาส่วนได้เสียในแง่เนื้อหาโดยดูจากวัตถุประสงค์ของสมาคม เช่น ข้อบังคับสมาคมกำหนดวัตถุประสงค์ของสมาคมในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และคำสั่งทางปกครองหรือกฎที่สมาคมฟ้องขอเพิกถอนนั้นส่งผลกระทบกระเทือนอันทำให้หรืออาจทำให้สิ่งแวดล้อมเสียหาย ศาลก็มักจะถือว่าสมาคมนั้นมีส่วนได้เสียในการฟ้องคดีแล้ว ในขณะที่สมาคมเองมักกำหนดวัตถุประสงค์ของสมาคมไว้ในข้อบังคับแบบกว้างๆ (เช่น คุ้มครองสิ่งแวดล้อม หรือรักษาทรัพยากรธรรมชาติ) 

ในส่วนของส่วนได้เสียในแง่พื้นที่นั้น กรณีผู้ฟ้องคดีเป็นสมาคม พบว่าศาลไม่พิจารณาเท่าไรนัก อาจเนื่องมาจากสมาคมมักจดทะเบียนและมีที่ตั้งของสำนักงานในกรุงเทพมหานคร เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เท่ากับว่า เมื่อไรก็ตามที่สมาคมผู้ฟ้องคดีเป็นสมาคมที่มีวัตถุประสงค์คุ้มครองสิ่งแวดล้อมแล้ว สมาคมนั้นก็มีส่วนได้เสียในการฟ้องคดีเพิกถอนคำสั่งทางปกครองหรือกฎที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าสมาคมนั้นตั้งอยู่ที่ใด และคำสั่งทางปกครองหรือกฎที่ฟ้องเพิกถอนนั้นมีผลในเขตพื้นที่ใด 

เกณฑ์การพิจารณาส่วนได้เสียในการฟ้องคดีของสมาคมดังกล่าว ส่งผลให้สมาคม มูลนิธิ หรือองค์กรเอกชนอื่นใดที่มีวัตถุประสงค์คุ้มครองสิ่งแวดล้อมอาจฟ้องคดีเกี่ยวกับการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมได้ทุกกรณีทั่วประเทศ เช่น สมาคมคุ้มครองสิ่งแวดล้อมหนึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร และจดทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานคร อาจฟ้องคดีเพิกถอนใบอนุญาตการก่อสร้างเขื่อนในเขตจังหวัดภาคเหนือได้ หรืออาจฟ้องคดีเพิกถอนใบอนุญาตสร้างโครงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ภาคตะวันออกได้ เป็นต้น ความข้อนี้ อาจทำให้สมาคมคุ้มครองสิ่งแวดล้อมกลายเป็น “ผู้ผูกขาดในการฟ้องคดีสิ่งแวดล้อมทั่วประเทศ” ขอเพียงแต่ให้สมาคมนั้นมีวัตถุประสงค์กว้างๆว่าคุ้มครองสิ่งแวดล้อมก็พอแล้ว ลักษณะดังกล่าวย่อมขัดกับหลักวิชาในกฎหมายวิธีพิจารณาคดีปกครองที่อนุญาตให้เฉพาะบุคคลที่มีส่วนได้เสียในเรื่องนั้นๆฟ้องคดีได้ มิใช่บุคคลใดก็ได้สามารถฟ้องคดีได้หมด หากเป็นเช่นนี้ก็เท่ากับว่าเกือบกลายเป็นหลักการฟ้องคดีโดยประชาชนคนใดก็ได้โดยที่ไม่ต้องมีส่วนได้เสียกับเรื่องที่ฟ้องเลย  

๔.๒. องค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕ 

พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕ ไม่ได้ให้สิทธิประโยชน์แก่องค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในการฟ้องคดีเท่าไรนัก กฎหมายกำหนดแต่เพียงว่า “เป็นผู้แทนในคดีที่มีการฟ้องร้องต่อศาล เพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน หรือค่าเสียหายให้แก่ผู้ที่ได้รับอันตรายหรือความเสียหายนั้นด้วย”๒๕

เหตุที่เป็นเช่นนี้ อาจเนื่องมาจากในช่วงการตรากฎหมายนี้ ยังไม่มีการจัดตั้งศาลปกครอง ข้อความคิดเรื่องประเภทคดีปกครอง (เช่น คดีเพิกถอนคำสั่งทางปกครองหรือกฎ, คดีความรับผิดของฝ่ายปกครอง, คดีสัญญาทางปกครอง) และข้อความคิดเรื่องผู้มีสิทธิฟ้องคดีตามลักษณะของประเภทคดี ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย อีกนัยหนึ่ง หากกล่าวถึงการฟ้องคดีสิ่งแวดล้อม ก็มักคิดถึงการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากสิ่งแวดล้อมเสียหาย หรือเนื่องจากมีผู้เสียหายจากกรณีที่สิ่งแวดล้อมเสียหาย ดังนั้น เป็นไปได้ว่าผู้ร่างกฎหมายจึงกำหนดไว้เฉพาะการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น 

หากพิจารณาอย่างลึกซึ้งต่อไป จะพบว่า การฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนขององค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ก็ไม่ได้เป็นการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนในนามขององค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติด้วย แต่เป็นการฟ้องในนามของผู้เสียหาย โดยผู้เสียหายมอบอำนาจให้องค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติฟ้องคดีแทนตนเอง ลักษณะดังกล่าว ไม่แตกต่างอะไรกับผู้เสียหายมอบอำนาจให้ทนายความฟ้องและดำเนินคดีแทนตนเอง ดังนั้น จึงไม่อาจกล่าวได้อย่างเต็มที่ว่า การจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕  จะทำให้องค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติได้สิทธิประโยชน์ต่างๆในด้านการฟ้องคดี 

เมื่อมีการจัดตั้งศาลปกครองแล้ว และมีคดีสิ่งแวดล้อมจำนวนมากที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง ผู้เขียนเห็นว่า ในอนาคตควรมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย โดยกำหนดให้

  • องค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕  มีส่วนได้เสียในการฟ้องคดีเพิกถอนคำสั่งทางปกครองและกฎตามมาตรา ๙ (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
  • หากในอนาคต ศาลปกครองเริ่มพิจารณาส่วนได้เสียในแง่พื้นที่ของสมาคมในการฟ้องคดีสิ่งแวดล้อมแล้ว ก็สมควรให้องค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ  ได้รับสิทธิประโยชน์จากการจดทะเบียนตามตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕ ด้วยการกำหนดให้องค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ มีส่วนได้เสียในแง่พื้นที่โดยอัตโนมัติ ไม่ว่าองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาตินั้นจะมีที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ใด หรือมีวัตถุประสงค์การดำเนินงานครอบคลุมเฉพาะเขตพื้นที่ใด
  • นอกจากจะฟ้องคดีเรียกค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายได้แล้ว องค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ก็ควรมีสิทธิในการฟ้องคดีเรียกค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่เกิดแก่สิ่งแวดล้อม โดยเป็นการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนในนามขององค์กรเอกชนฯด้วยตนเอง และค่าสินไหมทดแทนที่ได้มานั้น ก็เป็นขององค์กรเอกชนฯ เพื่อที่จะนำไปใช้ฟื้นฟูและรักษาสิ่งแวดล้อมต่อไป   

ตีพิมพ์ครั้งแรกใน วารสารนิติศาสตร์, ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๖
____________________________________
เชิงอรรถ

 บทความนี้ผู้เขียนค้นคว้าและเรียบเรียงจากงานสามชิ้น ได้แก่ Louis Boré, Contentieux associatif,Jurisclasseur Environnement et développement durable, Fascicule 1035, 16 août 2000 ; Louis Boré, La défense des intérêts collectifs par les associations devant les juridictions administratives et judiciaires, Paris, LGDJ, 1997 ; Piyabutr Saengkanokkul, L’intérêt à agir dans le contentieux administratif en matière d’environnement en Thaïlande, Mémoire DEA de droit public général et droit de l’environnement, Université de Nantes, 2004. ในกรณีที่ผู้เขียนอ้างงานอื่นๆนอกจากงานสามชิ้นดังกล่าว ผู้เขียนจะใส่งานที่อ้างอิงไว้ในเชิงอรรถ

 รัฐบัญญัติลงวันที่ ๑ กรกฎาคม ๑๙๐๑ มาตรา ๕

 CE 31 octobre 1969, Syndicat de défense des eaux de la Durance, Rec., p.462.

 CE 3 avril 1998, Fédération de la plasturgie

 CE 10 mars 1893, Matière ; CE 27 novembre 1896 Ville Limoges

 CE 26 juillet 1985, URDEN, AJDA, 1985, p.741.
 
 CE 13 février 1981, Association pour la protection de l’eau et des ressources naturelles du bassin inférieur du Doubs, RJE, 1981, p.270.

 CE 20 juin 1984, Association les amis de la terre 
 
 CE 10 mars 1989, Association regroupement des organismes de sauvegarde de l’Oise, Rec., p.835.
 
๑๐ TA Poitiers, 6 octobre 1993, Association des amis de Saint-Palais-sur-mer, JCP, 1994, IV, 1275.
 
๑๑ CE 13 février 1981, Association pour la protection de l’eau et des ressources naturelles du basin inférieur du Doubs, Revue juridique de l’environnement, 1981, p.270.

๑๒ มาตรา ๔๐ รัฐบัญญัติลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๑๙๗๖
 
๑๓ CE 15 janvier 1986, Fédération française des sociétés de protection de la nature
 
๑๔ มาตรา L 142-1 แห่งประมวลกฎหมายสิ่งแวดล้อม

๑๕ CE 11 mai 1987, Association des commerçants et artisans du quartier des Maisions-neuves, DA, 1987, Commentaire N°339 : CE 13 mai 1996, Ville Limoges et SCI Intermarché de l’Aurence, Rec., p.1071.

๑๖ TA Paris 4 février 1993, Association pour la sauvage du quartier Saint-Merri-Saint-Martin

๑๗ CE 6 octobre 1978, Association de quartier « La Corvée – La Roche des fées », Rec., p.908.
 
๑๘ CE 25 octobre 1996, Association Estuaire-Ecologie, Rec., p.415.
 
๑๙ J. Raymond, « En matière de défense de l’environnement : la qualité pour agir des associations et le recours pour excès de pouvoir », Revue juridique de l’environnement, 1991, p.453.
 
๒๐ มาตรา L 141-1 ประมวลกฎหมายสิ่งแวดล้อม
“เมื่อสมาคมดำเนินกิจกรรมอย่างน้อยสามปีขึ้นไป สมาคมที่จดทะเบียนนิติบุคคลและดำเนินกิจกรรมตามเอกสารจัดตั้งในเรื่องที่เกี่ยวกับการคุ้มครองธรรมชาติ การจัดการสัตว์ป่า การปรับปรุงคุณภาพชีวิต การคุ้มครองน้ำ อากาศ ดิน พื้นที่ ผังเมือง หรือมีวัตถุประสงค์ต่อต้านมลพิษและสิ่งรบกวน หรือกล่าวโดยทั่วไป มีวัตถุประสงค์คุ้มครองสิ่งแวดล้อม สามารถยื่นขอจดทะเบียนและทำความตกลงต่อองค์กรเจ้าหน้าที่ได้"

๒๑ มาตรา L 142-1 ประมวลกฎหมายสิ่งแวดล้อม
“สมาคมทั้งหลายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการคุ้มครองธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมย่อมฟ้องคดีต่อศาลปกครองในความเสียหายที่กระทบกับสมาคมนั้นได้

สมาคมคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่จดทะเบียนตามมาตรา L 141-1 รวมทั้งสมาคมตามมาตรา L 433-2 ย่อมถือว่ามีส่วนได้เสียในการฟ้องโต้แย้งการกระทำทางปกครองซึ่งมีความสัมพันธ์โดยตรงกับวัตถุประสงค์และกิจกรรมของสมาคม และซึ่งสร้างความเสียหายแก่สิ่งแวดล้อมในพื้นที่ทั้งหมดหรือบางส่วน ในการนี้ สมาคมจะได้รับประโยชน์จากการจดทะเบียนและทำความตกลงนับแต่การกระทำทางปกครองที่โต้แย้งนั้นเกิดขึ้นภายหลังจากการลงทะเบียนและทำความตกลง”

๒๒ CE 28 décembre 1906, Syndicat des patrons-coiffeurs de Limoges
 
๒๓ TA Versailles 21 novembre 1986, Association pour la défense de la qualité de la vie à Bondy
 
๒๔ TA Nantes 18 février 1997, Association des marais d’Olonne 

๒๕ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕ มาตรา ๘ (๕)
 ที่มา : เวป นิติราษฎร์
http://www.enlightened-jurists.com/page/283