PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ส่วนได้เสียของ “สมาคม” ในการฟ้องคดีปกครองสิ่งแวดล้อมในระบบกฎหมายฝรั่งเศส


ส่วนได้เสียของ “สมาคม” ในการฟ้องคดีปกครองสิ่งแวดล้อมในระบบกฎหมายฝรั่งเศส

ปิยบุตร แสงกนกกุล

คดีสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองอาจแบ่งออกได้เป็นคดีเพิกถอนคำสั่งทางปกครองหรือกฎ (Recours pour excès de pouvoir ; Contentieux de l’annulation) และคดีเรียกค่าสินไหมทดแทนจากฝ่ายปกครอง (Contentieux de l’indemnisation) ซึ่งการพิจารณาว่าผู้ใดมีส่วนได้เสียเพียงพอที่จะเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีดังกล่าวก็ใช้เกณฑ์ในการพิจารณาแตกต่างกันไป กล่าวคือ ในคดีเพิกถอนคำสั่งทางปกครองหรือกฎซึ่งเป็นคดีที่มุ่งหมายให้ศาลตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งทางปกครองหรือกฎ ไม่ได้มุ่งหมายต่อการฟื้นฟูเยียวยาสิทธิของผู้ฟ้องคดี ผู้มีสิทธิฟ้องคดีเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งทางปกครองหรือกฎจึงไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าสิทธิของตนที่กฎหมายรับรองนั้นถูกกระทบจากคำสั่งทางปกครองหรือกฎ ผู้ฟ้องเพียงแสดงให้ศาลเห็นว่าประโยชน์หรือส่วนได้เสียของตนถูกกระทบก็เพียงพอแล้ว ในขณะที่คดีฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนนั้น เป็นคดีที่มุ่งหมายให้ศาลตรวจสอบว่าการกระทำของฝ่ายปกครองนั้นกระทบสิทธิของผู้ฟ้องคดีและทำให้ผู้ฟ้องคดีเสียหาย ฝ่ายปกครองจึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดี ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีดังกล่าวจึงต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าสิทธิของตนถูกกระทบ

กล่าวสำหรับคดีสิ่งแวดล้อมแล้ว บทบาทการฟ้องคดีมักตกอยู่กับบรรดาสมาคมคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย ทั้งนี้เนื่องจากความเสียหายหรือผลกระทบอันเกิดจากข้อพิพาทที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมีผลในวงกว้างและอาจไม่มีปัจเจกบุคคลริเริ่มฟ้องคดีเพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเท่าที่ควร เพราะตนไม่ได้รับประโยชน์โดยตรง สมาคมคุ้มครองสิ่งแวดล้อมจึงเป็นองค์กรสำคัญในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมผ่านการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง การพิจารณาส่วนได้เสียของสมาคมในการฟ้องคดีสิ่งแวดล้อมต่อศาลปกครอง อาจแยกพิจารณาเป็นการฟ้องคดีเพื่อบุคคลผู้เป็นสมาชิกของสมาคม (๒.) และการฟ้องคดีเพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (๓.) แต่ก่อนจะศึกษาหลักเกณฑ์การพิจารณาส่วนได้เสียในการฟ้องคดีของสมาคม จำเป็นต้องกล่าวถึงประเภทของสมาคมในระบบกฎหมายฝรั่งเศสเสียก่อน (๑.) เมื่อได้ทราบส่วนได้เสียของสมาคมในการฟ้องคดีปกครองสิ่งแวดล้อมในระบบกฎหมายฝรั่งเศสแล้ว จึงสมควรนำมาวิเคราะห์และตั้งข้อสังเกตเรื่องดังกล่าวในระบบกฎหมายไทย (๔.) 

๑. สมาคมกับการฟ้องคดีปกครองสิ่งแวดล้อม

สมาคมในระบบกฎหมายฝรั่งเศสมีหลายประเภท (๑.๑.) บางประเภทมีสถานะเป็นนิติบุคคล บางประเภทไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคล ซึ่งความเป็นนิติบุคคลย่อมส่งผลต่อความสามารถในการฟ้องคดี (๑.๒.) 

๑.๑. ประเภทของสมาคม

ในระบบกฎหมายฝรั่งเศส เราอาจแบ่งสมาคมได้เป็น ๒ ประเภท คือ สมาคมที่ไม่ได้จดทะเบียน (Associations non déclarées) และสมาคมจดทะเบียน (Associations déclarées) รัฐบัญญัติลงวันที่ ๑ กรกฎาคม ๑๙๐๑ รับรองเสรีภาพในการรวมตัวกันของบุคคลเพื่อก่อตั้งสมาคมไว้ โดยไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนกับทางการ ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจากทางการ ตลอดจนไม่จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้า หากกลุ่มบุคคลใดต้องการรวมตัวกันเป็นสมาคม เพียงแต่แสดงเจตจำนงร่วมกันว่าต้องการจัดตั้งเป็นสมาคม ก็ถือว่าสมาคมเกิดขึ้นแล้ว เพียงแต่ว่าหากสมาคมใดจดทะเบียน สมาคมนั้นก็จะได้รับสถานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไป ความข้อนี้แตกต่างจากระบบกฎหมายไทยที่บังคับให้การรวมตัวกันของบุคคลเพื่อก่อตั้งสมาคมจะสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อจดทะเบียนตามหลักเกณฑ์ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

นอกจากสมาคมที่ไม่ได้จดทะเบียน และสมาคมจดทะเบียนแล้ว ในเรื่องสิ่งแวดล้อมยังมีสมาคมเฉพาะอีกประเภทหนึ่ง คือสมาคมคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่จดทะเบียนและทำข้อตกลงกับทางการตามกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (Associations agréées de protection de l’environnement) อีกด้วย ซึ่งเงื่อนไขเบื้องต้นของการจดทะเบียนและทำความตกลง ก็คือ สมาคมเหล่านี้ต้องเป็นสมาคมจดทะเบียนตามรัฐบัญญัติลงวันที่ ๑ กรกฎาคม ๑๙๐๑ เพื่อมีสถานะเป็นนิติบุคคลเสียก่อน จึงจะมาจดทะเบียนและทำความตกลงตามกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เพื่อมีสถานะเป็นสมาคมคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่จดทะเบียนและทำข้อตกลงกับทางการตามกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อมได้

๑.๒. ความสามารถและสถานะสมาคมกับการฟ้องคดีปกครองสิ่งแวดล้อม

ความเป็นนิติบุคคลของสมาคมย่อมส่งผลต่อความสามารถและคุณสมบัติของสมาคมในการฟ้องคดี   สมาคมที่สามารถฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ต้องเป็นสมาคมที่มีสถานะเป็นนิติบุคคล สมาคมจะได้รับสถานะนิติบุคคลก็ต่อเมื่อจดทะเบียน ณ ศาลาว่าการจังหวัด และให้มีสถานะนิติบุคคลนับแต่การประกาศการจดทะเบียนสมาคมนั้นในรัฐกิจจานุเบกษา

สมาคมที่ไม่จดทะเบียนย่อมถือว่าไม่มีสถานะนิติบุคคล ดังนั้น โดยหลักแล้วจึงไม่อาจมีความสามารถในการฟ้องคดีต่อศาลได้ โดยเฉพาะการฟ้องคดีโดยสมาคมต่อศาลยุติธรรมแล้ว ศาลจะเคร่งครัดอย่างยิ่ง ถ้าสมาคมไม่จดทะเบียนมาฟ้องคดี ศาลยุติธรรมจะไม่รับฟ้อง และสมาคมไม่จดทะเบียนก็ไม่อาจถูกฟ้องเป็นจำเลยได้เช่นกัน กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ โจทก์และจำเลย หรือคู่ความในคดีที่อยู่ในเขตอำนาจศาลยุติธรรมนั้นต้องมีสถานะเป็นบุคคล 

ตรงกันข้าม สมาคมที่ไม่จดทะเบียนสามารถฟ้องต่อศาลปกครองได้ในคดีฟ้องขอให้เพิกถอนกฎหรือคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะถือว่าการฟ้องคดีดังกล่าวเป็นการฟ้องคดีแบบภาววิสัย (recours objectif) ซึ่งผู้ฟ้องมุ่งหมายให้ศาลตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของกฎหรือคำสั่งทางปกครอง มิใช่มุ่งหมายให้ศาลแก้ไขเยียวยาให้แก่สิทธิของผู้ฟ้องคดีที่ถูกกระทบ อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองไม่อาจรับฟ้องในกรณีที่สมาคมไม่จดทะเบียนฟ้องคดีเรียกค่าสินไหมทดแทน เพราะ ถ้าหากรับฟ้องและศาลพิจารณาคดีแล้ว พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่สมาคมไม่จดทะเบียนผู้ฟ้องคดี ก็เกิดปัญหาตามว่าจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ใคร เพราะ สมาคมไม่จดทะเบียนไม่มีสถานะเป็นบุคคล นอกจากนี้ การฟ้องคดีเรียกค่าสินไหมทดแทน เป็นการฟ้องคดีแบบอัตวิสัย (recours subjectif) ซึ่งผู้ฟ้องมุ่งหมายให้ศาลแก้ไขเยียวยาให้แก่ตนที่ถูกกระทบสิทธิ ดังนั้น จึงต้องมีบุคคลที่ถูกกระทบสิทธิเสียก่อน บุคคลนั้นจึงจะฟ้องคดีได้ เมื่อสมาคมไม่จดทะเบียนไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคล ก็เท่ากับว่าไม่มีบุคคลที่ถูกกระทบสิทธิ และก็ไม่มีสิทธิให้ถูกกระทบ เพราะไม่มีบุคคลเป็นผู้ทรงสิทธิ

ศาลปกครองสูงสุดในคดี Syndicat de défense des eaux de la Durance วางหลักไว้ว่า “ถ้าการบังคับใช้มาตรา ๕ และมาตรา ๖ ของรัฐบัญญัติลงวันที่ ๑ กรกฎาคม ๑๙๐๑ ทำให้สมาคมไม่จดทะเบียนไม่มีความสามารถในการฟ้องคดีเพื่อปกป้องสิทธิในกองทรัพย์สินของตนแล้ว การปราศจากการจดทะเบียนของสมาคมก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อสมาคมที่ก่อตั้งโดยชอบด้วยกฎหมายทั้งหลายในการโต้แย้งความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครองซึ่งกระทบส่วนได้เสียของสมาคมซึ่งสมาคมมีภารกิจคุ้มครอง” จากคดีนี้ ศาลปกครองได้ยืนยันว่า สมาคมไม่จดทะเบียนซึ่งไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคลย่อมไม่มีความสามารถในการฟ้องคดีเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ เพราะหากสามารถฟ้องได้และศาลสั่งให้ฝ่ายปกครองชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ก็จะไม่มีนิติบุคคลใดที่สามารถเป็นผู้ทรงสิทธิและเป็นผู้รับค่าสินไหมทดแทนนั้น ส่วนคดีเพิกถอนคำสั่งทางปกครองหรือกฎ แม้สมาคมไม่จดทะเบียนจะไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคล แต่ก็สามารถฟ้องคดีเหล่านี้ได้

ในส่วนของสมาคมต่างประเทศ ถ้าสมาคมต่างประเทศต้องการฟ้องคดีในประเทศใด ก็ต้องใช้กฎหมายของประเทศนั้น สำหรับกฎหมายฝรั่งเศส สมาคมต่างประเทศต้องจดทะเบียน ณ ศาลาว่าการจังหวัดในจังหวัดที่ที่ทำการของสมาคมตั้งอยู่เสียก่อน จึงจะมีความสามารถฟ้องคดีได้ 

ในกรณีที่ข้อบังคับของสมาคมกำหนดไว้ว่าผู้แทนของสมาคมจะฟ้องคดีต่อศาลได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการสมาคมเสียก่อน ผู้แทนของสมาคมก็ต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าตนได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการสมาคมให้ฟ้องคดีแล้ว ในกรณีที่ข้อบังคับของสมาคมไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดเกี่ยวกับการอนุญาตให้ฟ้องคดีไว้เลย ศาลปกครองถือว่า ผู้แทนสมาคมต้องแสดงให้ศาลเห็นว่าตนได้รับอนุญาตจากที่ประชุมใหญ่ของสมาคมแล้ว อย่างไรก็ตาม ในปี ๑๙๙๘ ศาลปกครองได้กลับแนวคำพิพากษาเดิม โดยวางแนวคำพิพากษาใหม่ว่า นายกสมาคมในฐานะเป็นบุคคลผู้รับผิดชอบสมาคมได้รับสมมติฐานว่าการตัดสินใจใดๆของสมาคมย่อมอยู่ในความรับรู้ของกรรมการบริหารสมาคม ดังนั้นนายกสมาคมจึงสามารถฟ้องคดีต่อศาลในนามของสมาคมได้เสมอ

๒. การพิจารณาส่วนได้เสียของสมาคมในการฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อคุ้มครองบุคคลผู้เป็นสมาชิกสมาคม
ในกรณีที่สมาคมฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อคุ้มครองบุคคลผู้เป็นสมาชิกของสมาคม ย่อมหมายความว่าสมาคมไม่ได้ฟ้องเพื่อปกป้องส่วนได้เสียหรือประโยชน์ของสมาคมเอง แต่เป็นการฟ้องเพื่อบุคคลแต่ละบุคคลผู้เป็นสมาชิกของสมาคม ดังนั้น การพิจารณาส่วนได้เสียในการเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดี จึงต้องพิจารณาจากส่วนได้เสียของบุคคลนั้นๆ โดยแยกพิจารณาตามประเภทคดี ได้แก่ คดีเรียกค่าสินไหมทดแทน (๒.๑.) และคดีเพิกถอนคำสั่งทางปกครองหรือกฎ (๒.๒.) 

๒.๑. คดีเรียกค่าสินไหมทดแทน

นับแต่ปลายศตวรรษที่ ๑๙ คำพิพากษาบรรทัดฐานของศาลปกครองปฏิเสธไม่ให้สมาคมฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสมาชิกของสมาคมเป็นรายบุคคล  นอกเสียจากสมาชิกที่เป็นผู้เสียหายนั้นได้มอบอำนาจให้แก่สมาคมฟ้องคดีแทนตนเอง 

คำพิพากษาบรรทัดฐานแนวนี้ตั้งอยู่บนเหตุผล ๒ ประการ คือ สมาคมไม่ได้เป็นผู้เสียหาย ไม่เกิดความเสียหายส่วนบุคคลเฉพาะตัวใดๆต่อสมาคมเลย แต่เป็นสมาชิกของสมาคมต่างหากที่เป็นผู้เสียหาย ประการหนึ่ง และการฟ้องคดีเรียกค่าสินไหมทดแทนให้แก่สมาชิกสมาคมเป็นรายบุคคลนั้น ศาลต้องพิจารณาประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นเพื่อคำนวณค่าสินไหมทดแทน ศาลจึงต้องทราบรายชื่อผู้เสียหายในฐานะปัจเจกบุคคล ดังนั้น การฟ้องคดีโดยสมาคมในกรณีเช่นนี้ ไม่อาจระบุให้ศาลเห็นได้ชัดเจนว่าบุคคลใดได้รับความเสียหายอย่างไร อีกประการหนึ่ง

นอกจากนี้ ในระบบกฎหมายฝรั่งเศส มีสุภาษิตกฎหมายที่ยอมรับกันมาช้านานว่า “ไม่มีใครในฝรั่งเศสฟ้องคดีได้ดังอัยการ” ซึ่งหมายความว่า ไม่มีบุคคลใดสามารถฟ้องคดีแทนบุคคลอื่นโดยปราศจากการรับมอบอำนาจและการระบุชื่อผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ

ดังนั้น เราอาจสรุปได้ว่า สมาคมอาจฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทนต่อความเสียหายของบุคคลผู้เป็นสมาชิกของสมาคมได้ก็ต่อเมื่อบุคคลผู้เป็นสมาชิกของสมาคมนั้นได้มอบอำนาจให้สมาคมฟ้องคดีแทนตนเอง โดยต้องระบุชื่อของบุคคลผู้เสียหายและสมาคมผู้รับมอบอำนาจเป็นตัวแทนฟ้องคดีไว้อย่างชัดเจน 

๒.๒. คดีขอเพิกถอนคำสั่งทางปกครองหรือกฎ  

ในกรณีข้อพิพาทเรื่องคำสั่งทางปกครองหรือกฎไม่ชอบด้วยกฎหมายกระทบส่วนได้เสียของปัจเจกบุคคล การพิจารณาส่วนได้เสียของบุคคลผู้มีสิทธิฟ้องคดีดังกล่าว ต้องพิจารณาส่วนได้เสียส่วนบุคคล (L’intérêt individuel) ของบุคคลผู้ฟ้องคดีนั้น โดยทั่วไปแล้ว บุคคลผู้ที่ส่วนได้เสียของตนถูกกระทบจากคำสั่งทางปกครองหรือกฎ จะฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งทางปกครองหรือกฎนั้นด้วยตนเอง 

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่บุคคลนั้นเป็นสมาชิกของสมาคม และไม่ต้องการฟ้องคดีเพิกถอนคำสั่งทางปกครองหรือกฎนั้นด้วยตนเอง แต่ต้องการให้สมาคมที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ฟ้องคดีแทน สมาคมก็สามารถฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อขอเพิกถอนคำสั่งทางปกครองหรือกฎในนามของบุคคลผู้เป็นสมาชิกของสมาคมได้เสมอโดยไม่จำเป็นต้องมีการมอบอำนาจการฟ้องคดี ทั้งนี้สมาคมผู้ฟ้องคดีต้องมีวัตถุประสงค์ที่อยู่ในขอบเขตส่วนได้เสียของข้อพิพาทที่สมาคมฟ้องคดีด้วย 

๓. การพิจารณาส่วนได้เสียของสมาคมในการฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อม
ในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม สมาคมเหล่านี้ไม่ได้มุ่งหมายคุ้มครองทรัพย์สินหรือกรรมสิทธิ์ใดๆของตนเอง แต่มุ่งหมายคุ้มครองเรื่องที่กระทบต่อวัตถุประสงค์ทางสังคมของสมาคมนั้นๆ เมื่อสมาคมเหล่านี้ได้ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อปกป้องคุ้มครองวัตถุประสงค์ดังกล่าว เมื่อมีข้อพิพาทใดที่กระทบกระเทือนต่อวัตถุประสงค์นั้น จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่สมาคมย่อมมีสิทธิในการฟ้องคดีต่อศาลเพื่อคุ้มครองวัตถุประสงค์ของสมาคม สมาคมที่ตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม จึงมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ในกรณีที่ข้อพิพาทนั้นกระทบกระเทือนต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าเมื่อไรก็ตามที่มีข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีการกระทำใดที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้วสมาคมจะสามารถฟ้องคดีต่อศาลได้เสมอ ตรงกันข้าม ศาลได้วางกรอบไว้พอสมควร สมาคมอาจฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อมได้ในคดีหลายประเภท และมีเกณฑ์ในการประเมินส่วนได้เสียของสมาคมผู้ฟ้องคดีแตกต่างกันไป ได้แก่ คดีขอเพิกถอนคำสั่งทางปกครองหรือกฎ (๓.๑.) และคดีเรียกค่าสินไหมทดแทน (๓.๒.) 

๓.๑. คดีขอเพิกถอนคำสั่งทางปกครองหรือกฎ

ในกรณีที่สมาคมฟ้องศาลปกครองเพื่อขอเพิกถอนคำสั่งทางปกครองหรือกฎนั้น ศาลปกครองได้วางหลักเกณฑ์ในการประเมินส่วนได้เสียของสมาคมในการฟ้องคดีไว้ ๒ ประการ คำสั่งทางปกครองหรือกฎที่เป็นวัตถุแห่งคดีต้องเกี่ยวพันกับเขตพื้นที่ตามวัตถุประสงค์ของสมาคม ประการหนึ่ง และคำสั่งทางปกครองหรือกฎที่เป็นวัตถุแห่งคดีต้องกระทบโดยตรงต่อวัตถุประสงค์ของสมาคม อีกประการหนึ่ง

๓.๑.๑. คำสั่งทางปกครองหรือกฎที่สมาคมขอเพิกถอนนั้นต้องเกี่ยวพันกับเขตพื้นที่ตามวัตถุประสงค์ของสมาคม

เมื่อสมาคมฟ้องคดีขอเพิกถอนคำสั่งทางปกครองหรือกฎต่อศาลปกครองเพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ศาลปกครองจะพิจารณาก่อนว่าคำสั่งทางปกครองหรือกฎนั้นมีความเกี่ยวพันกับเขตพื้นที่ของสมาคมซึ่งกำหนดไว้ในวัตถุประสงค์หรือไม่ ซึ่งเป็นไปได้ว่า ในบางกรณีเขตพื้นที่ของสมาคมอาจกว้างกว่าผลของคำสั่งทางปกครองหรือกฎ หรือในบางกรณีเขตพื้นที่ของสมาคมอาจแคบกว่าผลของคำสั่งทางปกครองหรือกฎ ซึ่งศาลปกครองจะปฏิเสธไม่รับคำฟ้องทั้งสองกรณีนี้ด้วยเหตุที่ว่าสมาคมผู้ฟ้องคดีไม่มีส่วนได้เสียเพียงพอในการฟ้องคดี

(ก.) เขตพื้นที่ของสมาคมกว้างกว่าผลของคำสั่งทางปกครองหรือกฎ
ศาลปกครองฝรั่งเศสวางแนวไว้ว่า ในกรณีที่เป็นสมาคมที่มีวัตถุประสงค์ครอบคลุมพื้นที่ในเขตเทศบาล สมาคมนั้นย่อมฟ้องคดีเพิกถอนคำสั่งทางปกครองหรือกฎได้เฉพาะกรณีที่มีผลอยู่ในเขตพื้นที่เทศบาลเท่านั้น ไม่อาจฟ้องคดีเพิกถอนคำสั่งทางปกครองหรือกฎที่มีผลอยู่ในเขตภาคได้ เช่นเดียวกัน ในกรณีที่เป็นสมาคมที่มีวัตถุประสงค์ครอบคลุมพื้นที่ระดับภาค สมาคมนั้นย่อมฟ้องคดีเพิกถอนคำสั่งทางปกครองหรือกฎได้เฉพาะกรณีที่มีผลอยู่ในเขตพื้นที่ภาคเท่านั้น ไม่อาจฟ้องคดีเพิกถอนคำสั่งทางปกครองหรือกฎที่มีผลอยู่ในเขตเทศบาลได้ เช่น

  • สมาคมคุ้มครองสิ่งแวดล้อม URDEN ฟ้องขอเพิกถอนใบอนุญาตสร้างอาคารที่พักอาศัยที่ออกให้โดยเทศบาลเมือง Luxeuil-les-Bains สมาคมมีที่ตั้งอยู่ที่ Luxeuil-les-Bains แต่วัตถุประสงค์ของสมาคม คือ การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ ชีวิต และคุณภาพชีวิตในเขต Franche-Comté ซึ่งรวมถึงประเด็นปัญหาทั้งหลายอันเกี่ยวกับการผังเมืองและอาคารในเขต Franche-Comté ซึ่งเป็นภาค (Région) ในคดีนี้ ตุลาการผู้แถลงคดี Dandelot  เห็นว่า  เมื่อสมาคมมีวัตถุประสงค์ในเขตพื้นที่ระดับภาคซึ่งครอบคลุม ๔ จังหวัด จึงไม่อาจยอมรับได้ว่าสมาคม URDEN มีส่วนได้เสียในการฟ้องขอเพิกถอนใบอนุญาตสร้างอาคารที่พักอาศัยในเทศบาลเมือง Luxeuil-les-Bains มิเช่นนั้นก็เท่ากับว่าสมาคมจะได้รับเอกสิทธิ์ในการฟ้องคดีจนเกือบกลายเป็นการยอมรับหลักการฟ้องคดีโดยประชาชนไป โดยไปจดทะเบียนวัตถุประสงค์ครอบคลุมพื้นที่ในอาณาบริเวณกว้างขวาง และในท้ายที่สุดองค์คณะศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้ก็ได้ตัดสินทำนองเดียวกันกับความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดี 
  • สมาคมระดับภาคสามารถฟ้องขอเพิกถอนประกาศเวนคืนที่ดินเพื่อประโยชน์สาธารณะ เพื่อนำที่ดินไปใช้ก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อเมือง Rhin-Saône
  • สมาคมระดับชาติสามารถฟ้องขอเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างศูนย์นิวเคลียร์ได้ เพราะ ศูนย์นิวเคลียร์เป็นโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลส่วนกลาง เป็นเรื่องระดับชาติ แม้ว่าศูนย์นิวเคลียร์ตั้งอยู่ในพื้นที่ของเทศบาลเดียวก็ตาม
(ข.) เขตพื้นที่ของสมาคมแคบกว่าผลของคำสั่งทางปกครองหรือกฎ
ศาลปกครองไม่รับคำฟ้องของสมาคม หากศาลปกครองประเมินแล้วว่าเขตพื้นที่ตามวัตถุประสงค์ของสมาคมนั้นแคบกว่าเมื่อเทียบกับผลของคำสั่งทางปกครองหรือกฎ เช่น 

  • สมาคมที่มีวัตถุประสงค์คุ้มครองคุณภาพชีวิตในเขตจังหวัด ย่อมไม่มีส่วนได้เสียเพียงพอในการฟ้องขอเพิกถอนรัฐกฤษฎีกาปรับปรุงบทบัญญัติในประมวลกฎหมายผังเมือง
  • สมาคมระดับเทศบาลไม่มีส่วนได้เสียเพียงพอในการฟ้องขอเพิกถอนการแก้ไขผังรวมการจัดการเมืองซึ่งครอบคลุม ๒๒ เทศบาลรวมทั้งเทศบาลที่สมาคมมีเขตพื้นที่ครอบคลุมอยู่ด้วย๑๐
ตรงกันข้าม ศาลปกครองตัดสินว่าสมาคมมีส่วนได้เสียในการฟ้องคดีเพิกถอนคำสั่งทางปกครองหรือกฎ หากศาลประเมินแล้วเห็นว่าผลของคำสั่งทางปกครองไม่ได้กว้างเกินกว่าเขตพื้นที่ตามวัตถุประสงค์ของสมาคม เช่น สมาคมระดับเทศบาลมีส่วนได้เสียในการฟ้องพอเพิกถอนประกาศการเวนคืนเพื่อประโยชน์สาธารณะเพื่อนำไปใช้ในการเชื่อมทางน้ำระหว่างแม่น้ำ Rhône และแม่น้ำ Rine๑๑

ศาลปกครองค่อนข้างเคร่งครัดในการพิจารณาว่าสมาคมสิ่งแวดล้อมมีส่วนได้เสียทางพื้นที่เพียงพอที่จะฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งทางปกครองหรือกฎหรือไม่ เพราะ ศาลเกรงว่า หากไม่ตีกรอบเรื่องเขตพื้นที่เลย ย่อมเปิดโอกาสให้สมาคมใดก็ตามที่จดทะเบียนวัตถุประสงค์ไว้เพียง “คุ้มครองสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต ทรัพยากรธรรมชาติ” สามารถฟ้องคดีเพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อมได้ทั่วประเทศ ปรากฏการณ์เช่นนี้อาจนำมาซึ่งการฟ้องคดีได้อย่างกว้างขวางจนกลายเป็น “สิทธิการฟ้องคดีโดยประชาชนทั่วไป (action populaire)”

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณามุมมองของทางฝ่ายสมาคมคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เห็นว่าการพิจารณาเงื่อนไขส่วนได้เสียทางพื้นที่อย่างเคร่งครัด อาจเป็นอุปสรรคต่อสมาคมในการฟ้องคดี ทั้งๆที่ในเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว การฟ้องคดีโดยสมาคมถือเป็น “อาวุธ” สำคัญ เพราะ ปัจเจกบุคคลมักไม่สนใจที่จะฟ้องคดีเรื่องสิ่งแวดล้อมเท่าไรนัก และเรื่องสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบในวงกว้าง ไม่ใช่กระทบใครคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง หากไม่มีสมาคมฟ้องคดี แล้วปล่อยให้บุคคลฟ้องเอง ก็ยากที่จะแสดงให้ศาลเห็นได้ว่าเรื่องนั้นๆกระทบส่วนได้เสียส่วนบุคคลอย่างไร 

กฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของฝรั่งเศสกำหนดให้มีการจัดตั้งสมาคมโดยขึ้นทะเบียนตามกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นสมาคมคุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายดังกล่าว  (Associations agréées de protection de l’environnement)โดยมีสิทธิประโยชน์บางประการและต้องทำความตกลงกับทางการเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมร่วมกัน๑๒ ภายหลังกฎหมายดังกล่าวใช้บังคับ มีสมาคมคุ้มครองสิ่งแวดล้อมจำนวนหนึ่ง เมื่อได้จดทะเบียนแล้ว ก็ได้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อขอเพิกถอนคำสั่งทางปกครองและกฎ โดยคาดหมายว่าสมาคมประเภทนี้ไม่จำเป็นต้องมีส่วนได้เสียในแง่พื้นที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองตัดสินก็ยังคงยืนยันว่า การที่สมาคมจดทะเบียนทำข้อตกลงกับทางการตามกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ไม่เป็นผลให้สมาคมนั้นไม่ต้องพิสูจน์ว่าคำสั่งทางปกครองหรือกฎที่ขอเพิกถอนมีความเกี่ยวพันทางเขตพื้นที่ของสมาคม๑๓

ฝ่ายตำราได้วิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาศาลปกครองต่อกรณีดังกล่าวเป็นจำนวนมากว่า ศาลปกครองไม่สนับสนุนให้สมาคมได้มีบทบาทในการฟ้องคดีเพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเท่าที่ควร ทั้งๆที่สมาคมและองค์กรเอกชนทั้งหลายล้วนแล้วแต่เป็นส่วนสำคัญและมีบทบาทคุ้มครองสิ่งแวดล้อมอย่างยาวนานและได้ผล ในท้ายที่สุด ฝ่ายนิติบัญญัติจึงตรากฎหมายเพื่อกำหนดให้สมาคมสิ่งแวดล้อมที่จดทะเบียนและทำข้อตกลงกับทางการ ย่อมได้ประโยชน์จากการทำข้อตกลงดังกล่าว โดยถือว่าหากสมาคมเหล่านี้มีส่วนได้เสียในการฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งทางปกครองหรือกฎซึ่งมีความสัมพันธ์โดยตรงกับวัตถุประสงค์ของสมาคมหรือกิจกรรมของสมาคมและนำมาซึ่งความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม (มีส่วนได้เสียทางเนื้อหา - คำสั่งทางปกครองหรือกฎที่ขอเพิกถอนนั้นมีผลกระทบต่อวัตถุประสงค์ของสมาคมและทำให้สิ่งแวดล้อมเสียหาย) สมาคมนั้นย่อมสามารถฟ้องคดีได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ว่าผลของคำสั่งทางปกครองหรือกฎที่ขอเพิกถอนมีความเกี่ยวพันทางเขตพื้นที่ของสมาคมหรือไม่๑๔ กล่าวให้ถึงที่สุด คือ กฎหมายกำหนดสิทธิประโยชน์ในการฟ้องคดีให้แก่สมาคมสิ่งแวดล้อมจดทะเบียน จากเดิมต้องแสดงให้เห็นถึงส่วนได้เสียทั้งในแง่พื้นที่และในแง่เนื้อหา มาเหลือเพียงพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าสมาคมมีส่วนได้เสียทางเนื้อหาเท่านั้น ประโยชน์ของกฎหมายดังกล่าว นอกจากจะให้สมมติฐานเรื่องส่วนได้เสียทางพื้นที่แก่สมาคมสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังกระตุ้นให้สมาคมสิ่งแวดล้อมต่างๆสนใจจดทะเบียนและทำข้อตกลงกับทางการมากขึ้น 

๓.๑.๒. คำสั่งทางปกครองหรือกฎที่เป็นวัตถุแห่งคดีต้องกระทบโดยตรงต่อวัตถุประสงค์ของสมาคม

กฎหมายที่ตราโดยฝ่ายนิติบัญญัติอันเป็นฐานที่มาของอำนาจในการออกคำสั่งทางปกครองหรือกฎต้องมีวัตถุประสงค์หรือเจตนารมณ์อยู่ เมื่อองค์กรเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองได้ออกคำสั่งทางปกครองหรือตรากฎโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายฉบับใด นั่นคือ การออกมาตรการบางอย่างบางประการเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของกฎหมายนั้น วัตถุประสงค์เช่นว่าก็คือวัตถุประสงค์หรือความมุ่งหมายของคำสั่งทางปกครองหรือกฎ หากผู้ใดประสงค์จะฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อขอเพิกถอนคำสั่งทางปกครองหรือกฎ ก็ต้องแสดงให้ศาลเห็นว่าประโยชน์ของตนที่ถูกกระทบจากคำสั่งทางปกครองหรือกฎนั้นมีความสัมพันธ์กับวัตถุประสงค์ของกฎหมายฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นฐานที่มาของการออกคำสั่งทางปกครองหรือการตรากฎ

เช่น บริษัทเอกชนต้องการก่อสร้างศูนย์การค้าขนาดใหญ่ในเมืองหนึ่ง บริษัทต้องได้รับการอนุญาตในเรื่องผังเมืองพาณิชย์เสียก่อน (autorisation d’urbanisme commercial) จากนั้นจึงต้องขอใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร (permis de construire) ต่อไป ถ้าหากองค์กรเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองได้ปฏิเสธไม่ออกใบอนุญาตอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่าง บริษัทนั้นก็ไม่อาจก่อสร้างศูนย์การค้าได้ ตามแนวคำพิพากษาบรรทัดฐานของศาลปกครอง ต้องปรากฏในเบื้องต้นก่อนว่ามีความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างประโยชน์ที่ผู้ร้องหยิบยกขึ้นอ้างกับวัตถุประสงค์ของกฎหมายฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นฐานที่มาของการออกใบอนุญาตหรือไม่ออกใบอนุญาต กฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมอาคารมีวัตถุประสงค์ในการจัดการเมือง การรักษาคุณภาพและความสวยงามของการก่อสร้างอาคารสถานที่  ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เรื่องการแข่งขันทางการค้าอย่างเป็นธรรม ดังนั้น หากผู้ฟ้องคดีต้องการฟ้องขอเพิกถอนใบอนุญาตการก่อสร้าง (permis de construire)ศูนย์การค้า โดยอ้างว่าประโยชน์หรือส่วนได้เสียของตนที่ถูกกระทบอันเนื่องมาจากการออกใบอนุญาตให้ก่อสร้างศูนย์การค้านั้นเป็นประโยชน์หรือส่วนได้เสียในเรื่องการค้า (เช่น เมื่อศูนย์การค้าขนาดใหญ่เปิดให้บริการ ร้านค้าขนาดเล็กหรือวิสาหกิจขนาดย่อมจะมีรายได้ลดลงอย่างมาก เพราะ ผู้คนย่อมหันไปเลือกจับจ่ายซื้อของจากศูนย์การค้าขนาดใหญ่แทนด้วยสาเหตุที่ว่าครบวงจรกว่าและราคาสินค้าถูกกว่า เป็นต้น)  เช่นนี้ ศาลจะถือว่าประโยชน์ของผู้ฟ้องคดีไม่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับวัตถุประสงค์ของกฎหมายซึ่งเป็นฐานที่มาของการออกใบอนุญาต ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีส่วนได้เสียเพียงพอในการฟ้องคดีขอเพิกถอนใบอนุญาตการก่อสร้างศูนย์การค้า๑๕ อย่างไรก็ตามผู้ฟ้องคดีอาจหยิบยกผลประโยชน์ทางการค้าเช่นว่า เพื่อใช้อ้างว่าตนมีส่วนได้เสียในการฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตผังเมืองพาณิชย์ (autorisation d’urbanisme commercial) ได้ เพราะกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองพาณิชย์มีวัตถุประสงค์รักษาการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมระหว่างศูนย์การค้าขนาดใหญ่กับร้านค้าขนาดเล็กหรือร้านโชว์ห่วย 

หลักเกณฑ์การพิจารณาความมีส่วนได้เสียของผู้ฟ้องคดีนี้นำมาใช้กับการฟ้องคดีโดยสมาคมคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน เช่น สมาคมคุ้มครองแม่น้ำลำธารไม่มีส่วนได้เสียในการฟ้องคดีเพื่อขอเพิกถอนใบอนุญาตผังเมืองพาณิชย์ของศูนย์การค้าขนาดใหญ่ เพราะ สมาคมไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในเรื่องปกป้องประโยชน์ทางการค้า๑๖ แต่สมาคมมีส่วนได้เสียในการฟ้องคดีขอเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารได้ โดยอ้างว่าสมาคมมีวัตถุประสงค์คุ้มครองสิ่งแวดล้อม  

ทำนองเดียวกัน ศาลปกครองสูงสุดตัดสินว่าสมาคมคุ้มครองพื้นที่ในย่านใดย่านหนึ่งไม่มีส่วนได้เสียในการฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ให้บริษัทได้สิทธิประโยชน์จากการก่อสร้างอาคาร ๔๓ แห่งในย่านนั้น เพราะ การให้สิทธิประโยชน์แก่บริษัทไม่ได้เกี่ยวข้องหรือเป็นผลจากการอนุญาตให้สร้างอาคาร ในเมื่อสมาคมมีวัตถุประสงค์ในเรื่องการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ทัศนียภาพและคุณภาพชีวิตในบริเวณพื้นที่ย่านนั้น สมาคมจึงไม่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับเรื่องสิทธิประโยชน์ที่บริษัทได้รับ หากสมาคมจะมีส่วนได้เสียก็เป็นส่วนได้เสียในการฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตสร้างอาคารต่างหาก๑๗

ในอีกคดีหนึ่ง ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าสัญญาระหว่างรัฐกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ได้ส่งผลโดยตรงให้เกิดการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ที่เป็นข้อพิพาท ส่วนข้อเท็จจริงที่ว่าสัญญาดังกล่าวมีข้อตกลงว่าด้วยการขยายสะพานบนพื้นที่ซึ่งสมาคมผู้ฟ้องคดีมีวัตถุประสงค์คุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อมนั้น ยังไม่ถือว่าทำให้สมาคมนั้นมีส่วนได้เสียเพียงพอในการฟ้องขอเพิกถอนสัญญาดังกล่าว๑๘  

เราอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า ในระบบกฎหมายฝรั่งเศสนั้น การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่จำเป็นต้องมีการขอใบอนุญาตจากทางการจำนวนมากและหลากหลายประเภท ตั้งแต่คำสั่งอนุญาตให้รื้อสิ่งปลูกสร้างเดิม, คำสั่งอนุญาตให้รื้อทำลายต้นไม้, ใบอนุญาตผังเมืองพาณิชย์, ใบอนุญาตก่อสร้าง ดังนั้น สมาคมใดจะมีส่วนได้เสียฟ้องคำสั่งอนุญาตใด ย่อมพิจารณาวัตถุประสงค์ของแต่ละสมาคมเป็นรายกรณีไป เช่น สมาคมอนุรักษ์อาคารเก่ามีส่วนได้เสียในการฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้รื้อสิ่งปลูกสร้างเดิม, สมาคมผู้คุ้มครองผู้บริโภคมีส่วนได้เสียในการฟ้องขอเพิกถอนใบอนุญาตผังเมืองพาณิชย์, สมาคมคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตมีส่วนได้เสียในการฟ้องขอเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง เป็นต้น สมาคมจึงไม่อาจฟ้องขอเพิกถอนการก่อสร้างโครงการขนาดยักษ์ได้ทั้งระบบ๑๙

กล่าวโดยสรุป การพิจารณาว่าสมาคมมีส่วนได้เสียเพียงพอที่จะถือว่าฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อขอเพิกถอนคำสั่งทางปกครองหรือกฎได้หรือไม่นั้น ต้องพิจารณา ๒ เงื่อนไข คือ เงื่อนไขแรก คำสั่งทางปกครองหรือกฎที่เป็นวัตถุแห่งคดีต้องเกี่ยวพันกับเขตพื้นที่ตามวัตถุประสงค์ของสมาคม (ส่วนได้เสียทางพื้นที่ – ratione loci) เงื่อนไขที่สอง คำสั่งทางปกครองหรือกฎที่เป็นวัตถุแห่งคดีต้องกระทบโดยตรงต่อวัตถุประสงค์ของสมาคม (ส่วนได้เสียทางเนื้อหา –ration materiae)โดยสมาคมต้องแสดงให้เห็นว่ามีส่วนได้เสียเพียงพอทั้งสองเงื่อนไข เว้นเสียแต่ว่าสมาคมนั้นเป็นสมาคมสิ่งแวดล้อมที่จดทะเบียนและทำข้อตกลงกับทางการตามมาตรา L 141-1 แห่งประมวลกฎหมายสิ่งแวดล้อม๒๐ เช่นนี้แล้ว สมาคมดังกล่าวย่อมได้รับประโยชน์จากการจดทะเบียนโดยถือว่ามีส่วนได้เสียทางพื้นที่ทันทีตามมาตรา L 142-1 แห่งประมวลกฎหมายสิ่งแวดล้อม๒๑ สมาคมนั้นจึงเหลือเพียงต้องแสดงให้เห็นว่ามีส่วนได้เสียในทางเนื้อหาเท่านั้น

๓.๒. คดีเรียกค่าสินไหมทดแทน

การพิจารณาว่าสมาคมคุ้มครองสิ่งแวดล้อมใดมีส่วนได้เสียในการฟ้องคดีเรียกค่าสินไหมทดแทนหรือไม่ ต้องแยกพิจารณาจากประเภทของสมาคม ได้แก่ สมาคมคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่จดทะเบียนและทำความตกลง (๓.๒.๑.) และสมาคมคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้จดทะเบียนและทำความตกลง (๓.๒.๒.)

๓.๒.๑. สมาคมคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่จดทะเบียนและทำความตกลง

ตามประมวลกฎหมายสิ่งแวดล้อม สมาคมคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่จดทะเบียนและทำความตกลงกับทางการตามกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (Associations agréées de protection de l’environnement) มีสิทธิในการฟ้องคดีเพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนต่อความเสียหายทั้งทางตรงและทางอ้อมซึ่งสมาคมได้รับ

การเรียกค่าสินไหมทดแทนต่อความเสียทางอ้อมถือเป็นข้อยกเว้นจากหลักเกณฑ์การเรียกค่าสินไหมทดแทนตามกฎหมายความรับผิดทางแพ่งซึ่งยอมรับเฉพาะการเรียกค่าสินไหมทดแทนให้แก่ความเสียหายทางตรงเท่านั้น ถ้าฝ่ายนิติบัญญัติกำหนดเป็นการเฉพาะเจาะจงให้สมาคมคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่จดทะเบียนสามารถฟ้องคดีเรียกค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายโดยอ้อมได้ นั่นแสดงว่า การที่ความเสียหายเกิดแก่สิ่งแวดล้อม ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายโดยตรงแก่สมาคมคุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามมาด้วย เพียงแต่กฎหมายยินยอมให้สมาคมนั้นได้ฟ้องคดีเรียกค่าสินไหมทดแทนได้โดยพิจารณาจากวัตถุประสงค์ของสมาคมนั่นเอง 

เมื่อกฎหมายกำหนดชัดเจนอนุญาตให้สมาคมคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่จดทะเบียนมีสิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่เกิดแก่สิ่งแวดล้อมเช่นนี้ จึงหากรณีได้ยากมากที่ศาลจะพิจารณาว่าสมาคมเหล่านี้ไม่มีส่วนได้เสียในการฟ้องคดีเรียกค่าสินไหมทดแทน อย่างไรก็ตาม ศาลยังคงพิจารณาว่ากรณีสมควรสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนเท่าไร แน่นอนว่าการเยียวยาความเสียหายที่ดีที่สุด คือ การทำให้สิ่งแวดล้อมที่เสียหายไปกลับคืนสู่สภาพเดิมให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วผู้ที่ต้องรับผิดไม่สามารถทำเช่นนั้นได้เสมอไป ศาลจึงใช้วิธีคำนวณความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมเป็นตัวเงิน แล้วสั่งให้ผู้ต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนนั้นแก่สมาคมคุ้มครองสิ่งแวดล้อมผู้ฟ้องคดี เพื่อให้สมาคมนำเงินนั้นไปใช้จ่ายในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การตีค่าให้ความเสียหายอันเกิดแก่สิ่งแวดล้อมเป็นผลทางเศรษฐกิจด้วยย่อมช่วยให้ศาลพิจารณาจำนวนค่าเสียหายได้ง่ายขึ้น

โดยทั่วไปแล้ว ศาลมักจะสั่งชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่สมาคมคุ้มครองสิ่งแวดล้อมผู้ฟ้องคดีในกรณีเป็นความเสียหายทางวัตถุ แต่ในบางกรณี สมาคมอาจเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนต่อความเสียหายทางจิตใจมาด้วยโดยอ้างว่าความเสียหายทางจิตใจเกิดต่อประโยชน์ร่วมที่สมาคมมีวัตถุประสงค์ในการปกป้องคุ้มครอง กรณีเช่นนี้ ศาลจะปฏิเสธไม่สั่งชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้หากเห็นว่าไม่เกิดประโยชน์ใดๆต่อสิ่งแวดล้อม 

๓.๒.๒. สมาคมคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้จดทะเบียนและทำความตกลง

สมาคมที่จดทะเบียนตามรัฐบัญญัติลงวันที่ ๑ กรกฎาคม ๑๙๐๑ แต่ไม่ได้จดทะเบียนและทำความตกลงเพื่อเป็นสมาคมคุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามมาตรา L 141-1 แห่งประมวลกฎหมายสิ่งแวดล้อม ถือว่าเป็นสมาคมที่มีสถานะเป็นนิติบุคคลเช่นกัน เพียงแต่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์บางประการตามประมวลกฎหมายสิ่งแวดล้อมเท่านั้น เมื่อมีสถานะเป็นนิติบุคคล ก็ย่อมฟ้องคดีเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ ประเด็นปัญหาจึงเหลือเพียงว่า ความเสียหายในลักษณะใดที่ศาลปกครองจะสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้?

สมาคมเป็นองค์กรกลุ่ม ความเสียหายที่สมาคมได้รับและอาจเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ จึงต้องเป็นความเสียหายร่วมของทั้งสมาคม ไม่ใช่ความเสียหายเฉพาะบุคคลของสมาชิกสมาคมคนใดคนหนึ่ง ในเรื่องนี้ศาลปกครองสูงสุดฝรั่งเศสได้วางบรรทัดฐานไว้ตั้งแต่ปี ๑๙๐๖ ในคดี Syndicat des patrons-coiffeurs de Limoges๒๒ ดังที่ตุลาการผู้แถลงคดี Latournerie แสดงความเห็น “การกระทำใดๆที่เป็นอุปสรรคโดยตรงและแน่นอนชัดเจนต่อการดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ของสมาคม ย่อมนำมาซึ่งความเสียหายที่อาจได้รับการชดใช้ได้” 

หากกล่าวจำเพาะเจาะจงในเรื่องสิ่งแวดล้อม ศาลปกครองชั้นต้น Versailles๒๓ ก็นำความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดี Latournerie มาใช้เช่นเดียวกันกับศาลปกครองชั้นต้น Nantes๒๔ กล่าวโดยสรุป กรณีที่สมาคมคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้จดทะเบียนและทำข้อตกลงกับทางการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนแก่ความเสียหายร่วมกันของทั้งสมาคมนั้น ศาลจะพิจารณาว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นกระทบต่อวัตถุประสงค์ของสมาคมหรือไม่ ถ้าศาลเห็นว่ากระทบ ความเสียหายนั้นก็เป็นความเสียหายของสมาคมที่อาจได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตรงกันข้าม ถ้าหากศาลเห็นว่าไม่กระทบ ศาลก็จะปฏิเสธไม่สั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่สมาคม 

๔. ข้อสังเกตเปรียบเทียบกับการฟ้องคดีปกครองสิ่งแวดล้อมโดยสมาคมในระบบกฎหมายไทย 


เมื่อทราบส่วนได้เสียของสมาคมในการฟ้องคดีปกครองสิ่งแวดล้อมในระบบกฎหมายฝรั่งเศสแล้ว ในหัวข้อนี้จะศึกษาและตั้งข้อสังเกตเปรียบเทียบกับการฟ้องคดีสิ่งแวดล้อมโดยสมาคมในระบบกฎหมายไทยในสองประเด็น คือ เกณฑ์การพิจารณาความมีส่วนได้เสียของสมาคมในการฟ้องคดีปกครองสิ่งแวดล้อม (๔.๑.) และการฟ้องคดีโดยองค์กรเอกชนที่จดทะเบียนตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมไทย (๔.๒.) 

๔.๑. เกณฑ์การพิจารณาความมีส่วนได้เสียของสมาคมในการฟ้องคดีปกครองสิ่งแวดล้อม


สมาคมและการรวมตัวกันเป็นองค์กรกลุ่มในระบบกฎหมายไทยมีหลากหลายประเภท ตั้งแต่ สมาคมตาม ป.พ.พ., มูลนิธิตาม ป.พ.พ., ตลอดจนองค์กรเอกชนที่เรียกชื่อแตกต่างกันไปทั้งที่มีสถานะเป็นนิติบุคคล และไม่เป็นนิติบุคคล นอกจากนี้ยังมีองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕ อีกด้วย รูปแบบอันหลากหลายเช่นนี้ส่งผลให้เกิดความไม่เป็นเอกภาพ โดยเฉพาะเมื่อนำมาพิจารณาในประเด็นสิทธิการฟ้องคดี 

การพิจารณาว่าสมาคมใดมีส่วนได้เสียในการฟ้องคดีสิ่งแวดล้อมต่อศาลปกครองหรือไม่นั้น ศาลจะพิจารณาจากขอบวัตถุประสงค์ของสมาคมเป็นสำคัญ ในกรณีฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งทางปกครองหรือกฎ ศาลจะพิจารณาว่าคำสั่งทางปกครองหรือกฎนั้นหรือมีความสัมพันธ์โดยตรงหรือกระทบต่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของสมาคมหรือไม่ ซึ่งตามหลักกฎหมายวิธีพิจารณาคดีปกครอง (โดยเฉพาะศึกษาเปรียบเทียบจากระบบกฎหมายฝรั่งเศสที่ระบบกฎหมายไทยรับอิทธิพลมา) ในการพิจารณาส่วนได้เสียของสมาคมหรือองค์กรกลุ่มในการฟ้องคดี ศาลจะพิจารณาส่วนได้เสียทั้งในแง่เนื้อหา (ratione materiae)  และในแง่พื้นที่ (ratione loci) ปัญหามีอยู่ว่า ศาลมักพิจารณาส่วนได้เสียในแง่เนื้อหาโดยดูจากวัตถุประสงค์ของสมาคม เช่น ข้อบังคับสมาคมกำหนดวัตถุประสงค์ของสมาคมในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และคำสั่งทางปกครองหรือกฎที่สมาคมฟ้องขอเพิกถอนนั้นส่งผลกระทบกระเทือนอันทำให้หรืออาจทำให้สิ่งแวดล้อมเสียหาย ศาลก็มักจะถือว่าสมาคมนั้นมีส่วนได้เสียในการฟ้องคดีแล้ว ในขณะที่สมาคมเองมักกำหนดวัตถุประสงค์ของสมาคมไว้ในข้อบังคับแบบกว้างๆ (เช่น คุ้มครองสิ่งแวดล้อม หรือรักษาทรัพยากรธรรมชาติ) 

ในส่วนของส่วนได้เสียในแง่พื้นที่นั้น กรณีผู้ฟ้องคดีเป็นสมาคม พบว่าศาลไม่พิจารณาเท่าไรนัก อาจเนื่องมาจากสมาคมมักจดทะเบียนและมีที่ตั้งของสำนักงานในกรุงเทพมหานคร เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เท่ากับว่า เมื่อไรก็ตามที่สมาคมผู้ฟ้องคดีเป็นสมาคมที่มีวัตถุประสงค์คุ้มครองสิ่งแวดล้อมแล้ว สมาคมนั้นก็มีส่วนได้เสียในการฟ้องคดีเพิกถอนคำสั่งทางปกครองหรือกฎที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าสมาคมนั้นตั้งอยู่ที่ใด และคำสั่งทางปกครองหรือกฎที่ฟ้องเพิกถอนนั้นมีผลในเขตพื้นที่ใด 

เกณฑ์การพิจารณาส่วนได้เสียในการฟ้องคดีของสมาคมดังกล่าว ส่งผลให้สมาคม มูลนิธิ หรือองค์กรเอกชนอื่นใดที่มีวัตถุประสงค์คุ้มครองสิ่งแวดล้อมอาจฟ้องคดีเกี่ยวกับการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมได้ทุกกรณีทั่วประเทศ เช่น สมาคมคุ้มครองสิ่งแวดล้อมหนึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร และจดทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานคร อาจฟ้องคดีเพิกถอนใบอนุญาตการก่อสร้างเขื่อนในเขตจังหวัดภาคเหนือได้ หรืออาจฟ้องคดีเพิกถอนใบอนุญาตสร้างโครงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ภาคตะวันออกได้ เป็นต้น ความข้อนี้ อาจทำให้สมาคมคุ้มครองสิ่งแวดล้อมกลายเป็น “ผู้ผูกขาดในการฟ้องคดีสิ่งแวดล้อมทั่วประเทศ” ขอเพียงแต่ให้สมาคมนั้นมีวัตถุประสงค์กว้างๆว่าคุ้มครองสิ่งแวดล้อมก็พอแล้ว ลักษณะดังกล่าวย่อมขัดกับหลักวิชาในกฎหมายวิธีพิจารณาคดีปกครองที่อนุญาตให้เฉพาะบุคคลที่มีส่วนได้เสียในเรื่องนั้นๆฟ้องคดีได้ มิใช่บุคคลใดก็ได้สามารถฟ้องคดีได้หมด หากเป็นเช่นนี้ก็เท่ากับว่าเกือบกลายเป็นหลักการฟ้องคดีโดยประชาชนคนใดก็ได้โดยที่ไม่ต้องมีส่วนได้เสียกับเรื่องที่ฟ้องเลย  

๔.๒. องค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕ 

พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕ ไม่ได้ให้สิทธิประโยชน์แก่องค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในการฟ้องคดีเท่าไรนัก กฎหมายกำหนดแต่เพียงว่า “เป็นผู้แทนในคดีที่มีการฟ้องร้องต่อศาล เพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน หรือค่าเสียหายให้แก่ผู้ที่ได้รับอันตรายหรือความเสียหายนั้นด้วย”๒๕

เหตุที่เป็นเช่นนี้ อาจเนื่องมาจากในช่วงการตรากฎหมายนี้ ยังไม่มีการจัดตั้งศาลปกครอง ข้อความคิดเรื่องประเภทคดีปกครอง (เช่น คดีเพิกถอนคำสั่งทางปกครองหรือกฎ, คดีความรับผิดของฝ่ายปกครอง, คดีสัญญาทางปกครอง) และข้อความคิดเรื่องผู้มีสิทธิฟ้องคดีตามลักษณะของประเภทคดี ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย อีกนัยหนึ่ง หากกล่าวถึงการฟ้องคดีสิ่งแวดล้อม ก็มักคิดถึงการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากสิ่งแวดล้อมเสียหาย หรือเนื่องจากมีผู้เสียหายจากกรณีที่สิ่งแวดล้อมเสียหาย ดังนั้น เป็นไปได้ว่าผู้ร่างกฎหมายจึงกำหนดไว้เฉพาะการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น 

หากพิจารณาอย่างลึกซึ้งต่อไป จะพบว่า การฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนขององค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ก็ไม่ได้เป็นการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนในนามขององค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติด้วย แต่เป็นการฟ้องในนามของผู้เสียหาย โดยผู้เสียหายมอบอำนาจให้องค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติฟ้องคดีแทนตนเอง ลักษณะดังกล่าว ไม่แตกต่างอะไรกับผู้เสียหายมอบอำนาจให้ทนายความฟ้องและดำเนินคดีแทนตนเอง ดังนั้น จึงไม่อาจกล่าวได้อย่างเต็มที่ว่า การจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕  จะทำให้องค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติได้สิทธิประโยชน์ต่างๆในด้านการฟ้องคดี 

เมื่อมีการจัดตั้งศาลปกครองแล้ว และมีคดีสิ่งแวดล้อมจำนวนมากที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง ผู้เขียนเห็นว่า ในอนาคตควรมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย โดยกำหนดให้

  • องค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕  มีส่วนได้เสียในการฟ้องคดีเพิกถอนคำสั่งทางปกครองและกฎตามมาตรา ๙ (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
  • หากในอนาคต ศาลปกครองเริ่มพิจารณาส่วนได้เสียในแง่พื้นที่ของสมาคมในการฟ้องคดีสิ่งแวดล้อมแล้ว ก็สมควรให้องค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ  ได้รับสิทธิประโยชน์จากการจดทะเบียนตามตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕ ด้วยการกำหนดให้องค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ มีส่วนได้เสียในแง่พื้นที่โดยอัตโนมัติ ไม่ว่าองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาตินั้นจะมีที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ใด หรือมีวัตถุประสงค์การดำเนินงานครอบคลุมเฉพาะเขตพื้นที่ใด
  • นอกจากจะฟ้องคดีเรียกค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายได้แล้ว องค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ก็ควรมีสิทธิในการฟ้องคดีเรียกค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่เกิดแก่สิ่งแวดล้อม โดยเป็นการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนในนามขององค์กรเอกชนฯด้วยตนเอง และค่าสินไหมทดแทนที่ได้มานั้น ก็เป็นขององค์กรเอกชนฯ เพื่อที่จะนำไปใช้ฟื้นฟูและรักษาสิ่งแวดล้อมต่อไป   

ตีพิมพ์ครั้งแรกใน วารสารนิติศาสตร์, ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๖
____________________________________
เชิงอรรถ

 บทความนี้ผู้เขียนค้นคว้าและเรียบเรียงจากงานสามชิ้น ได้แก่ Louis Boré, Contentieux associatif,Jurisclasseur Environnement et développement durable, Fascicule 1035, 16 août 2000 ; Louis Boré, La défense des intérêts collectifs par les associations devant les juridictions administratives et judiciaires, Paris, LGDJ, 1997 ; Piyabutr Saengkanokkul, L’intérêt à agir dans le contentieux administratif en matière d’environnement en Thaïlande, Mémoire DEA de droit public général et droit de l’environnement, Université de Nantes, 2004. ในกรณีที่ผู้เขียนอ้างงานอื่นๆนอกจากงานสามชิ้นดังกล่าว ผู้เขียนจะใส่งานที่อ้างอิงไว้ในเชิงอรรถ

 รัฐบัญญัติลงวันที่ ๑ กรกฎาคม ๑๙๐๑ มาตรา ๕

 CE 31 octobre 1969, Syndicat de défense des eaux de la Durance, Rec., p.462.

 CE 3 avril 1998, Fédération de la plasturgie

 CE 10 mars 1893, Matière ; CE 27 novembre 1896 Ville Limoges

 CE 26 juillet 1985, URDEN, AJDA, 1985, p.741.
 
 CE 13 février 1981, Association pour la protection de l’eau et des ressources naturelles du bassin inférieur du Doubs, RJE, 1981, p.270.

 CE 20 juin 1984, Association les amis de la terre 
 
 CE 10 mars 1989, Association regroupement des organismes de sauvegarde de l’Oise, Rec., p.835.
 
๑๐ TA Poitiers, 6 octobre 1993, Association des amis de Saint-Palais-sur-mer, JCP, 1994, IV, 1275.
 
๑๑ CE 13 février 1981, Association pour la protection de l’eau et des ressources naturelles du basin inférieur du Doubs, Revue juridique de l’environnement, 1981, p.270.

๑๒ มาตรา ๔๐ รัฐบัญญัติลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๑๙๗๖
 
๑๓ CE 15 janvier 1986, Fédération française des sociétés de protection de la nature
 
๑๔ มาตรา L 142-1 แห่งประมวลกฎหมายสิ่งแวดล้อม

๑๕ CE 11 mai 1987, Association des commerçants et artisans du quartier des Maisions-neuves, DA, 1987, Commentaire N°339 : CE 13 mai 1996, Ville Limoges et SCI Intermarché de l’Aurence, Rec., p.1071.

๑๖ TA Paris 4 février 1993, Association pour la sauvage du quartier Saint-Merri-Saint-Martin

๑๗ CE 6 octobre 1978, Association de quartier « La Corvée – La Roche des fées », Rec., p.908.
 
๑๘ CE 25 octobre 1996, Association Estuaire-Ecologie, Rec., p.415.
 
๑๙ J. Raymond, « En matière de défense de l’environnement : la qualité pour agir des associations et le recours pour excès de pouvoir », Revue juridique de l’environnement, 1991, p.453.
 
๒๐ มาตรา L 141-1 ประมวลกฎหมายสิ่งแวดล้อม
“เมื่อสมาคมดำเนินกิจกรรมอย่างน้อยสามปีขึ้นไป สมาคมที่จดทะเบียนนิติบุคคลและดำเนินกิจกรรมตามเอกสารจัดตั้งในเรื่องที่เกี่ยวกับการคุ้มครองธรรมชาติ การจัดการสัตว์ป่า การปรับปรุงคุณภาพชีวิต การคุ้มครองน้ำ อากาศ ดิน พื้นที่ ผังเมือง หรือมีวัตถุประสงค์ต่อต้านมลพิษและสิ่งรบกวน หรือกล่าวโดยทั่วไป มีวัตถุประสงค์คุ้มครองสิ่งแวดล้อม สามารถยื่นขอจดทะเบียนและทำความตกลงต่อองค์กรเจ้าหน้าที่ได้"

๒๑ มาตรา L 142-1 ประมวลกฎหมายสิ่งแวดล้อม
“สมาคมทั้งหลายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการคุ้มครองธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมย่อมฟ้องคดีต่อศาลปกครองในความเสียหายที่กระทบกับสมาคมนั้นได้

สมาคมคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่จดทะเบียนตามมาตรา L 141-1 รวมทั้งสมาคมตามมาตรา L 433-2 ย่อมถือว่ามีส่วนได้เสียในการฟ้องโต้แย้งการกระทำทางปกครองซึ่งมีความสัมพันธ์โดยตรงกับวัตถุประสงค์และกิจกรรมของสมาคม และซึ่งสร้างความเสียหายแก่สิ่งแวดล้อมในพื้นที่ทั้งหมดหรือบางส่วน ในการนี้ สมาคมจะได้รับประโยชน์จากการจดทะเบียนและทำความตกลงนับแต่การกระทำทางปกครองที่โต้แย้งนั้นเกิดขึ้นภายหลังจากการลงทะเบียนและทำความตกลง”

๒๒ CE 28 décembre 1906, Syndicat des patrons-coiffeurs de Limoges
 
๒๓ TA Versailles 21 novembre 1986, Association pour la défense de la qualité de la vie à Bondy
 
๒๔ TA Nantes 18 février 1997, Association des marais d’Olonne 

๒๕ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕ มาตรา ๘ (๕)
 ที่มา : เวป นิติราษฎร์
http://www.enlightened-jurists.com/page/283

ไม่มีความคิดเห็น: