PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2562

กกต.เปิดยอดสมาชิกพรรค'ปชป.'มากสุด'พปชร.'มีแค่4พันคนน้อยกว่าพรรคไม้ประดับ



25 ม.ค.62 -  ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้เผยแพร่ข้อมูลสมาชิกพรรคการเมืองล่าสุด ข้โดยเป็นข้อมูลที่พรรคการเมืองส่งข้อมูลเข้ามา ณ วันที่ 21 ม.ค. โดยจากการตรวจสอบพบว่าพรรคการเมืองเก่าหลายพรรคมียอดสมาชิกพรรคเพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยแจ้งยอดไว้ก่อนหน้านี้ รวมทั้งพรรคการเมืองใหม่ได้มีการแจ้งยอดสมาชิกพรรคเบื้องต้นแล้วเช่นกัน โดยจากข้อมูลดังกล่าวมีพรรคการเมืองที่ดำเนินการอยู่รวม 104 พรรค โดยสมาชิกพรรคการเมืองทุกพรรครวม 702,843 คน
พรรคการเมืองที่มีสมาชิกพรรคมากที่สุด 5 อันดับแรก คือพรรคประชาธิปัตย์ 129,392 คน รองลงมาคือพรรคไทรักธรรม 49,721 คน พรรคอนาคตใหม่ 43,201 คน พรรคพลังท้องถิ่นไท 30,072 คน และ พรรคภูมิใจไทย 30,031 คน
ส่วนพรรคการเมืองอื่นที่น่าสนใจอาทิ พรรคเพื่อไทย 20,334 คน, พรรคไทยรักษาชาติ 12,272 คน, พรรคเพื่อชาติ 16,453 คน, พรรคชาติไทยพัฒนา 20,587 คน, พรรคชาติพัฒนา 15,048 คน, พรรครวมพลังประชาชาติไทย 14,749 คน, พรรคพลังประชารัฐ 4,206 คน เป็นต้น ทั้งนี้ยังพบว่ามีพรรคการเมือง 8 พรรคที่ไม่แจ้งยอดสมาชิก และอีก 2 พรรคไม่มีสมาชิกพรรค
นอกจากนั้นยังมีพรรคการเมืองที่สิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 จำนวน 9 พรรค ได้แก่ พรรคประชาราช, พรรคพลังอุดร, พรรคกิจสังคม, พรรคประชาสันติ, พรรคอาสาสมัครไทย, พรรคคนไทย, พรรคพลังพลเมือง, พรรคมาตุภูมิ และพรรคเสรีนิยม.

'ประยุทธ์'นอนมา!เบอร์ 1 บัญชีนายกฯพลังประชารัฐ



25 ม.ค.62 - มีรายงานแจ้งถึง แคนดิเดตรายชื่อนายกรัฐมนตรีในบัญชีพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ว่าขณะนี้พรรควางไว้แล้วที่จะใช้สิทธิเสนอชื่อนายกฯเติมจำนวนตามที่กฎหมายกำหนด 3 คน โดยชื่อของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช.ถูกให้จัดให้อยู่ในอันดับที่ 1 ของบัญชีพรรค 

ขณะที่นายอุตตม สาวนายน ถูกจัดให้อยู่ในลำดับ 2 ในฐานะเป็นหัวหน้า 
ส่วนนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะอยู่ในลำดับที่ 3 ของบัญชีพรรค เพื่อให้นายสมคิดเป็นตัวประสานระหว่างนายกฯกับพรรค อีกทั้งจะเป็นสัญลักษณ์สร้างความมั่นใจในนโยบายเศรษฐกิจของพรรค และเป็นมือเศรษฐกิจให้กับพล.อ.ประยุทธ์ด้วย
วานนี้ นายอุตตม สาวนายน  หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ตอบคำถามสื่อที่ถามว่าหากเสนอชื่อมาจะเฮหรือไม่  ว่า "เฮทั้งประเทศ รับรองเฮด้วยความพอใจแน่นอน"
ทั้งนี้ สมาชิกพรรคการเมือง เสนอชื่อบุคคลที่เห็นสมควรจะเสนอให้ได้รับการพิจารณาแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีต่อกรรมการบริหารพรรคภายในวันที่ 28 ม.ค.นี้.

'บิ๊กตู่'ปรับโฉมรายการวันศุกร์ เน้นสั้นกระชับ-โชว์ผลงานรัฐบาล

'บิ๊กตู่'ปรับโฉมรายการวันศุกร์ เน้นสั้นกระชับ-โชว์ผลงานรัฐบาล

25 ม.ค. 62 - รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า สำหรับรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ซึ่งออกอากาศในวันนี้ ได้มีการปรับรูปแบบใหม่เป็นครั้งแรก ทั้งนี้ เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ต้องการให้นำเสนอในรูปแบบที่ประชาชนได้ประโยชน์และเข้าใจง่าย ให้นำจุดแข็งในด้านต่างๆมานำเสนอผ่านวีดิทัศน์  สำหรับเนื้อหารายการจะมีความกระชับและสั้นลง ไม่เกิน 25 นาที ซึ่งในเทปนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จะใช้เวลาพูดเพียง 7 นาที หลังจากนั้นจะเป็นการเปิดวิดีทัศน์อีก 7 นาที เพื่อรายงานความคืบหน้าโครงการต่างๆที่รัฐบาลได้ทำมา เช่น เรื่องการสร้างสังคมคุณภาพ เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด กองทุน สวัสดิการชุมชน และการยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานไทยผ่านกองทุนประกันสังคม ขณะที่ในสัปดาห์ถัดไปจะเป็นความคืบหน้าด้านอื่นๆ เช่น โครงการคลองลาดพร้าว กองทุนการออม บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แฟลตดินแดง เป็นต้น

รายงานข่าวเปิดเผยด้วยว่า สำหรับวิดีทัศน์ที่จะนำมาเปิดในรายการนั้น จะเป็นวิดีทัศน์ที่แต่ละกระทรวงได้ทำขึ้นมารายงานในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งยังไม่เคยนำมาเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบ และการปรับรูปแบบรายการดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวกับกรณีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปพ.ศ. 2562 แต่อย่างใด เพราะนายกฯยังไม่ได้ตัดสินใจทางการเมือง หากนายกฯตอบรับแล้วก็จะมาพิจารณารูปแบบรายการอีกครั้ง ว่าอะไรทำได้หรือทำไม่ได้ต่อไป .

777สานต่อนโยบายบิ๊กตู่

24 ม.ค.62 - ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ภายหลังมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป มีการเปิดแนวนโยบายของพรรค โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีการนำป้ายสโลแกนหาเสียง ที่สอดคล้องกับนโยบายพรรค อาทิ สังคมประชารัฐขจัดความขัดแย้ง ก้าวข้ามความขัดแย้งไม่แบ่งสีไม่แบ่งฝ่าย เศรษฐกิจประชารัฐขจัดความยากจน โดยมีกรรมการบริหารพรรค แกนนำพรรคภาคต่างๆ เข้าร่วมจำนวนมาก อาทิ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานยุทธศาสตร์ภาคอีสาน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง นายอนุชา นาคาศัย ประธานยุทธศาสตร์ภาคกลาง รวมทั้งว่าที่ผู้สมัครส.ส.ร่วมฟังการแถลงข่าวพร้อมเพรียง

ทั้งนี้กรอบแนว”นโยบายสร้างชาติ เพิ่มพลังเศรษฐกิจ”ประกอบด้วย 3 พันธกิจ ได้แก่ สวัสดิการประชารัฐ 7 เรื่องสังคมประชารัฐ 7 เรื่อง และเศรษฐกิจประชารัฐ 7 เรื่อง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสังคมเข็มแข็ง ปรับโครงเศรษฐกิจ สร้างโอกาสที่เท่าเทียมและสร้างความสามารถให้แข่งขันกับโลก โดยก่อนเปิดกรอบแนวนโยบายของพรรคได้ฉายวิดิทัศน์ที่มีเนื้อหาเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองจนนำไปสู่ความขัดแย้งก่อนเข้าสู่เนื้อหาการแถลงข่าว

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังนำประกาศของพรรค เรื่อง การเสนอชื่อบุคคลที่เห็นสมควรจะเสนอให้ได้รับการพิจารณาแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ข้อความว่า ด้วยพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งส.ส.เป็นการทั่วไปมีผลบังคับใช้แล้ว จึงขอเชิญชวนการบริหารพรรค กรรมการสาขาพรรคการเมือง ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด และสมาชิกพรรคการเมือง เสนอชื่อบุคคลที่เห็นสมควรจะเสนอให้ได้รับการพิจารณาแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีต่อกรรมการบริหารพรรคภายในวันที่ 28 ม.ค.นี้

จากนั้น นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค พปชร. ได้ขึ้นเวทีกล่าวว่า เราอาสาพาประเทศก้าวข้ามความขัดแย้ง ไม่แบ่งสีแบ่งฝ่าย จะเป็นประชาธิปไตยเป็นของทุกฝ่าย ไม่ใช่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น เป็นของคนไทยอย่างแท้จริง จากนี้สังคมไทยต้องเป็นสังคมสงบสุขอย่างแท้จริง พปชร.ให้ความมั่นใจได้ว่าเรามีความพร้อมเต็มที่ ทั้งบุคลากรที่เป็นตัวจริงเสียงจริง มาจากหลายฝ่าย หลายเหล่า หลายภาคส่วน คนเดิมที่เพียบด้วยประสบการณ์ และคนรุ่นใหม่ไฟแรงที่เต็มไปด้วยความคิด เรายังเพียบด้วยนโยบาย โดยพรรค พปชร. เปิด 7-7-7 นโยบาย ซึ่งตั้งอยู่บน 3 พันธกิจหลัก คือ 7 สวัสดิการประชารัฐ 7 สังคมประชารัฐ และ 7 เศรษฐกิจประชารัฐ

ขณะที่นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรค พปชร. กล่าวว่า นโยบายของเราไม่ใช่เอาของเก่ามาขาย แต่นโยบายต้องตอบโจทย์ประชาชน ประเทศไทย และต้องเป็นนโยบายที่ทำให้ประเทศมีศักดิ์ศรีในเวทีโลก สำหรับ 7 สวัสดิการประชารัฐ อาทิ การต่อยอดบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ขยายผลมาเป็นบัตรประชารัฐ เพื่อขยายไปสู่คนรายได้น้อย ซึ่งมี 4  กลุ่มเป้าหมายสำคัญที่มีภาระหนักอึ้งคือ คนสูงวัย ผู้พิการ สตรี และผู้ใช้แรงงาน

นอกจากนี้ ยังมี 4-5 กลุ่ม ที่จะเน้นเป็นพิเศษในการปลดหนี้คือ แรงงาน ชาวนา ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ นักศึกษา ครู โดยจะปลดหนี้ผู้ใช้แรงงานและชาวนาภายใน 5 ปี ขณะเดียวกัน ยังมีนโยบายบ้านล้านหลัง บ้านสุขใจวัยเกษียณ สิทธิ์ที่ดินทำกิน ส่วนหลักประกันสังคมถ้วนหน้าประชารัฐ อาทิ หลักประกันการศึกษาถ้วนหน้าตั้งแต่เด็กไปยันวัยทำงานรวมถึงหลักประกันรายได้ จุดขายสำคัญของ พปชร. เพื่อตอบโจทย์ขจัดความเหลื่อมล้ำแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ในเรื่องสุขภาพ เราจะทำเรื่องหมอถึงบ้าน พยาบาลถึงเรือน ประชาชนทุกคนมีหมอประจำตัว

นายสุวิทย์ กล่าวว่า ในส่วนสังคมประชารัฐ เด็กเล็กจะมีศูนย์พัฒนา ซึ่งบัตรประชารัฐจะเริ่มที่นี่ ขณะเดียวกัน พรรค พปชร.เชื่อว่าสังคมประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อ  1.กระจายอำนาจ 2.กระจายโอกาส 3.กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค เช่น โครงการอีอีซี ที่เราทดสอบในรัฐบาลชุดนี้  และจะกระจายศูนย์กลางความเจริญสู่ภูมิภาค เช่น อีอีซี, อีสาน 4.0, ล้านนา, 4.0 และด้ามขวาน 4.0 รวมไปถึงสร้างเมืองน่าอยู่, สังคมประชารัฐสีขาว ปลอดโลก ปลอดภัย ปลอดยา ปลอดฝุ่น ปลอดควัน ตลอดจน Bangkok 5.0 ด้าน

นายสุวิทย์ กล่าวว่า ส่วนเศรษฐกิจประชารัฐ โจทย์ใหญ่คือ สร้างความสามารถของคน สร้างกองทัพสตาร์ทอัพให้เพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้า 5 ล้าน สมาร์ทเอสเอ็มอี, 1 ล้าน สมาร์ทฟาร์มเมอร์, 1 ล้านสตาร์ทอัพ, 1 ล้าน เมกเกอร์, และ 1 ล้าน ร้านค้าปลีกชุมชน ที่จะทำอย่างไรให้เป็นโชห่วย 4.0 สำหรับ นโยบาย 7-7-7 เป็นนโยบายไม่ได้คิดเอง ทำเอง แต่เราลงไปในพื้นที่ เพื่อไปเอาข้อมูลมา ซึ่งไม่เคยถูกเติมเต็ม มาประมวลแล้วออกมาเป็นนโยบาย โดยแพ็กเก็จใหญ่จะแถลงอีกครั้งก่อนสมัคร ส.ส. ประมาณสัปดาห์หน้า

ผู้สื่อข่าวถามว่า นโยบายของพรรค พปชร.ถือเป็นการต่อยอดรัฐบาลใช่หรือไม่ นายอุตตม กล่าวว่า เราทำสิ่งที่ดีที่สุดให้ประชาชน สิ่งไหนที่ดีเราต่อยอด สิ่งใหม่เรามีแน่นอน โดยเอาประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเราต่อยอดแน่นอนถ้าเลือกเราร่วมรัฐบาล จะทำสิ่งเหล่านี้ให้ดีขึ้นต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นบัตรสวัสดิการ เกษตร ที่ทำกิน ที่จะต้องมาจัดหากัน ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทย

 เมื่อถามว่า มีการคำนึงถึงเม็ดเงินที่ใช้ในนโยบายสวัสดิการต่างๆ หรือไม่ นายอุตตม กล่าวว่า กกต.พูดชัดเจนว่าทุกนโยบายต้องพิจารณาเรื่องนี้ และยืนยันว่าเราทำได้จริง ไม่ขายฝัน ด้วยมาตรการที่ยั่งยืน

ถามว่า นโยบายของพรรค พปชร.ที่จะเปลี่ยนที่ดิน ส.ป.ก. ให้เป็นโฉนด ซึ่งนายกฯมีความห่วงใยเรื่องนี้ นายอุตตม กล่าวว่า ที่ดินทำกินเป็นเรื่องใหญ่ของคนไทย พรรคต้องดูให้ชัดเจน เพราะที่ ส.ป.ก.ทำกันมานาน สภาพการใช้ที่ดินเปลี่ยนไปแล้ว ซึ่งเรื่องนี้แนวทางจะขัดแย้งหรือเป็นปัญหาหรือไม่นั้น ยืนยันว่านโยบายเรื่องนี้ของพรรคจะเป็นแนวทางเดียวกับรัฐบาล


ปวดหัวกกต.คุมเข้ม นักการเมืองซัดข้อกำหนดรุงรัง'อิทธิพร'ไม่ผ่อนผัน


    ระเบียบ-ประกาศ กกต.ทำ “พรรค-นักการเมือง” ไปไม่เป็น อิทธิพรย้ำผู้จะสมัคร ส.ส.ต้องแนบบัญชีจ่ายภาษีย้อนหลัง 3 ปีตั้งแต่ปี 2559-2561 ผ่อนผันไม่ได้ “หนูนา” รับปวดหัว “มาร์ค” จี้เคลียร์ด่วนหาเสียงผ่านโลกออนไลน์ รับข้อกำหนดสุดรุงรัง กกต.กทม.ลั่นให้เวลา 5 วันปลดป้ายหาเสียง ชี้สัปดาห์หน้าถึงชัดเจนว่าติดได้ที่ไหน แกนนำ “พรรคเพื่อแม้ว” พร้อมใจจี้ “ประยุทธ์” ลาออกจากเก้าอี้นายกฯ-หัวหน้า คสช.
    เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 ม.ค. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศที่ลงนามโดยนายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 5 ฉบับ  ประกอบด้วย 1.ประกาศ กกต.เรื่องกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) วันรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และสถานที่ที่พรรคการเมืองจะส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง  ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 2.ประกาศ กกต.เรื่องจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี และจำนวนเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด 3.ประกาศ กกต.เรื่องการสมัครรับเลือกตั้ง  ส.ส. 4.ประกาศ กกต.เรื่องกำหนดวันและเวลาออกเสียงลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้งกลาง  และ 5.ประกาศ กกต.เรื่องกำหนดวัน เวลา ยื่นคำขอลงทะเบียนใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนน ส.ส.ก่อนวันเลือกตั้ง 
    ขณะเดียวกันนายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการ กกต.กล่าวว่า สำนักงาน กกต.ได้มีหนังสือเรื่องการเตรียมการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไปแจ้งไปยังผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้เตรียมการจัดการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการประสานกับสำนักทะเบียนอำเภอและทะเบียนท้องถิ่น ในเรื่องการจัดทำบัญชีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง การกำหนดหน่วยเลือกตั้ง การลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งและนอกเขตจังหวัดที่ กกต.กำหนดให้เปิดลงทะเบียน 28 ม.ค.-19 ก.พ. นอกจากนี้เมื่อวันที่  23 ม.ค.นายอิทธิพรได้ลงนามแต่งตั้ง กกต.ประจำเขตเลือกตั้ง (กกต.เขต) และผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง (ผอ.กต.เขต) ใน 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร รวม 350 เขตทั่วประเทศแล้ว
    ด้านนายอิทธิพรได้ชี้แจงถึงประกาศ กกต.เรื่องการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ที่กำหนดเรื่องหลักฐานการยื่นสมัคร ส.ส.ในส่วนของหลักฐานแสดงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นเวลาติดต่อกัน 3 ปีนับถึงปีที่สมัครรับเลือกตั้งว่า ที่ผ่านมา กกต.ได้หารือกันเรื่องการเสียภาษีย้อนหลังอย่างเข้มข้นหลายมิติ  เพราะมีพรรคการเมืองตั้งคำถามมา ซึ่งเราอภิปรายบนพื้นฐานการไขข้อข้องใจ ตั้งใจพยายามไม่ให้เป็นปัญหาข้อปฏิบัติ ขอบเขต และเวลา ส่วนที่นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.)  ระบุว่าหากใช้หลักฐานการเสียภาษีของปี 2559-2560-2561 อาจเป็นปัญหา เพราะการยื่นภาษีต้องยื่นภายในวันที่ 31 มี.ค.62 จึงควรใช้หลักฐานเสียภาษีย้อนหลังที่เสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่ปี 2558-2560 แทนนั้นไม่น่าทำได้ เพราะมาตรา 45 (2) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.กำหนดไว้ว่าต้องเป็นเวลาติดต่อกัน 3 ปีนับถึงปีที่สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งขณะนี้การยื่นภาษีปี 2561 ได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.62 ดังนั้นผู้ที่จะลงสมัครจึงยังมีช่วงเวลาดำเนินการได้อยู่
นักการเมืองสุดมึน
    ทั้งนี้ หากนับตามปฏิทินของ กกต.ที่จะรับสมัคร ส.ส.ที่กำหนดไว้ในวันที่ 4-8 ก.พ.ก็จะทำให้ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ทุกพรรคเหลือเวลาการยื่นภาษีให้เสร็จสิ้นเพียงแค่ 12 วันเท่านั้น
    ส่วน น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ยอมรับว่ากังวลพอสมควรและกำลังปวดศีรษะในเรื่องดังกล่าว ถือเป็นเรื่องยากมากที่จะทำได้ทัน จึงขอฝาก กกต.ให้พิจารณาด้วย รวมถึงระเบียบขั้นตอนใหม่ เช่นเรื่องการแต่งตั้งตัวแทนประจำจังหวัดทุกจังหวัดที่ส่งผู้สมัคร แต่ในฐานะพรรคการเมืองเราก็ต้องทำให้ได้ 
    นายนิกรกล่าวว่าจะมีปัญหาต่อผู้ลงสมัครของทุกพรรคการเมือง ขอให้ กกต.พิจารณาเรื่องนี้เป็นการด่วน
    ทั้งนี้ นอกจากเรื่องหลักฐานการยื่นการเสียภาษีย้อนหลัง 3 ปีแล้ว ยังมีปัญหาในเรื่องการหาเสียง  โดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์ที่ทำให้ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.และนักการเมืองไม่แน่ใจถึงกับปิดเฟซบุ๊กหรืองดโพสต์จำนวนมาก โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่าอยากให้ กกต.เร่งดำเนินการกำหนดรายละเอียดต่างๆ ในการหาเสียงให้เร็วที่สุด ทั้งการกำหนดจุดติดตั้งป้ายหาเสียง และการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการกำหนดให้มีผู้ช่วยหาเสียงได้ไม่เกิน 20 คน ถามว่าต้องนับใครบ้างและนับอย่างไร เป็นต้น
    “การหาเสียงทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ อยากให้ กกต.ชัดเจนในการปฏิบัติ เพราะได้กำหนดให้ต้องแจ้งชื่อผู้ผลิต ผู้ว่าจ้าง จำนวนชิ้นที่ผลิต วันที่ที่ผลิตไว้ทางด้านหน้าอย่างชัดเจน เรายินดีทำตามนี้ได้ แต่อยากเรียน กกต.ว่าค่อนข้างรุงรัง ถามว่าการกำหนดแบบนี้จำเป็นด้วยหรือ นอกจากนี้ก็อยากขอความชัดเจนในการควบคุมสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพราะพรรคเองก็ควบคุมได้เพียงส่วนหนึ่ง เช่นเพจเฟซบุ๊กเรารับผิดชอบข้อความที่เราเอาขึ้นเองได้ แต่ถ้าจะให้รับผิดชอบทุกความเห็นที่คนพิมพ์เข้ามาไม่ใช่เรื่องง่าย  ส่วนตัวผมจะไม่ปิดเพจตัวเอง เพราะมั่นใจว่าไม่ได้ทำอะไรผิด แต่ถ้าจะกรุณาควรกำหนดให้ชัดว่าความรับผิดชอบเป็นอย่างไรก็จะเป็นประโยชน์ เพราะ กกต.สามารถพิจารณาเรื่องนี้ได้ภายในครึ่งวัน ไม่จำเป็นต้องให้พรรคการเมืองทำหนังสือและ กกต.ตอบกลับ 30 วัน ซึ่งจะไม่ทันเวลาในการหาเสียง” นายอภิสิทธิ์กล่าว
    หัวหน้าพรรค ปชป.กล่าวว่า สิ่งที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นคือ ไปควบคุมอะไรเสียจนทำให้บรรยากาศที่จะทำให้คนสนใจการเลือกตั้งได้รับข้อมูลในเรื่องเกี่ยวกับการเลือกตั้งอย่างกว้างขวางถูกทำลายไป เพราะเราต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วม หากจำกัดการสื่อสารการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ใช่เรื่องความได้เปรียบเสียเปรียบ แต่เป็นผลเสียกับการเลือกตั้งโดยตรง ดังนั้นอะไรที่ทำความชัดเจนได้เร็วที่สุดเท่าไหร่ก็ควรทำเพื่อประโยชน์ต่อทุกคน 
    นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) กล่าวว่า ระเบียบ กกต.เรื่องการหาเสียงใช้เฉพาะกับผู้สมัคร ส.ส.และพรรคการเมืองเท่านั้น โดยเงื่อนไขมีอยู่เพียงว่าให้ไปแจ้งกับ กกต.ว่าจะใช้เพจอะไรเป็นทางการ ก่อนเริ่มต้นหาเสียง ก่อนเป็นผู้สมัคร ส.ส. ส่วนพี่น้องประชาชนทั่วไปยังใช้เสรีภาพของท่านได้ ทั้งนี้การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นจะสมบูรณ์แบบเป็นสากล จำเป็นต้องมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ทุกๆ คนอย่ากลัวในการที่จะแสดงออกว่าจะสนับสนุนพรรคการเมืองใด หรือไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใด นี่คือเรื่องปกติ อย่าให้ความผิดปกติของการที่รัฐบาลทหารครองอำนาจมาอย่างยาวนานกดทับเรา จนเราไม่กล้าใช้เสรีภาพ
สัปดาห์หน้าชัดพื้นที่ติดป้าย
    นายอุเทน ชาติภิญโญ อดีตหัวหน้าพรรคคนไทย กล่าวว่า สถานการณ์ของพรรคการเมืองทั้งใหม่และเก่าในขณะนี้เป็นไปตามคาด และเป็นเหตุให้ตัดสินใจแจ้ง กกต.เพื่อยุติพรรค เพราะเล็งเห็นว่าข้อปฏิบัติของพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินกิจกรรม และสุ่มเสี่ยงที่จะกระทำผิดกฎหมายที่อาจถูกตัดสิทธิ์ กระทั่งมีโทษทางอาญาหรือทางแพ่งได้ 
    “น่าสนใจว่าเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์ก่อนถึงวันสมัคร ส.ส. พรรคการเมืองต่างๆ จะมีความพร้อมได้ซักกี่พรรค ด้าน กกต.เองจะมีความพร้อมตรวจสอบและรับรองขั้นตอนต่างๆ ได้มากขนาดไหน จนทำให้พรรคการเมืองอีกหลายพรรคอาจตกม้าตายได้ง่ายๆ ซึ่งบทสรุปของการเลือกตั้งครั้งนี้ว่าจัดขึ้นด้วยความไม่พร้อมในทุกๆ ด้านทุกฝ่าย"
    ส่วนที่สำนักงาน กกต. น.ส.วิชชุดา เมฆานุวงศ์ ผู้อำนวยการ กกต.ประจำ กทม.กล่าวถึงการกำหนดพื้นที่สำหรับการติดป้ายหาเสียงเลือกตั้งว่า พรรคการเมืองยังไม่สามารถติดป้ายหาเสียงได้ เนื่องจาก กกต.ยังไม่ได้กำหนดสถานที่ติดป้าย ซึ่งได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบ ก็พบป้ายของหลายพรรคการเมืองติดอยู่ตามพื้นที่สาธารณะ เบื้องต้นได้ประสานไปยังสำนักงานเขตให้ปลดป้ายแล้ว ซึ่งถ้าจะดำเนินการจริงจังต้องถือว่ามีความผิดแล้ว แต่ กกต.อยากผ่อนปรนจึงขอความร่วมมือให้ปลดป้ายลง  ดังนั้นว่าที่ผู้สมัครรายใดที่ติดป้ายหาเสียงขอให้ปลดออกภายใน 5 วัน ถ้าไม่ดำเนินการสำนักงานเขตจะเก็บป้ายและดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ทั้งนี้ กกต.กทม.กำลังเร่งหารือกับสำนักงานปลัด กทม.เพื่อกำหนดสถานที่ติดป้ายหาเสียง โดยคาดว่าสัปดาห์หน้าจะชัดเจนแน่นอน
    รายงานแจ้งว่าภายหลังมี พ.ร.ฎ.ออกมา ปรากฏว่านายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เขตพญาไท จตุจักร ราชเทวีได้ให้ทีมงานติดป้ายหาเสียงตัวเองในเขตเลือกตั้งดังกล่าวทันที แต่ต่อมาในช่วงเที่ยงของวันพฤหัสบดีนายอรรถวิชช์ก็ได้สั่งเก็บป้ายดังกล่าวทันที โดยนายอรรถวิชช์กล่าวว่าหลังได้ติดป้ายหาเสียงไปแล้ว นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าฯ กทม.ได้โทรศัพท์มาขอให้เก็บป้าย เนื่องจาก กทม.ยังไม่ออกประกาศจุดติดป้าย ดังนั้นจึงยินดีร่วมมือแต่ก็อยากให้ กทม.เร่งออกประกาศด้วย 
    ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงการหาเสียงของพรรคการเมืองว่า กฎหมายกำหนดให้เริ่มหาเสียงได้ตั้งแต่วันที่มีพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เป็นต้นไป แต่เมื่อยังไม่ได้สมัคร ส.ส. ยังไม่มีหมายเลข จึงมีอะไรบางอย่างที่เป็นอุปสรรคอยู่บ้าง ซึ่งเป็นเรื่องของผู้สมัคร แต่กระบวนการต่างๆ กกต.ได้ออกระเบียบไว้หมดแล้ว ก็ทำได้เต็มที่ ส่วนรายละเอียดต่างๆ เช่น การจัดรถแห่ การโพสต์ในเฟซบุ๊ก และการจัดเวทีเสวนาต่างๆ นั้นต้องไปถามรายละเอียดกับ กกต. ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลหรือแม้แต่ตนเองที่จะไปพูด
แนะไปส่องกฎหมาย
    เมื่อถามถึงการวิจารณ์ว่ารัฐบาลกำลังเอาเปรียบทางการเมือง นายวิษณุกล่าวว่า เมื่อใดมีการกล่าวหาก็ต้องทำให้เกิดความชัดเจน ซึ่งรัฐบาลชัดเจนแล้วว่าทำได้ อย่างน้อยคือการจัดงานพระราชพิธี และการเตรียมการเป็นประธานอาเซียน เป็นเรื่องที่ต้องทำ เช่นเดียวกับการแก้ไขปัญหาและโครงการต่างๆ  ซึ่งเป็นเรื่องการพัฒนาประเทศ ใครที่บอกว่ามีปัญหาและทำไม่ได้กรุณาไปดูว่ากฎหมายมาตราใดที่ห้าม
    “ท่านอาจเป็นรัฐมนตรีหรือนักการเมืองในสมัยที่รัฐบาลยุบสภา หรือรัฐบาลครบวาระ หรือคณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งจากการที่นายกฯ ลาออก ท่านจึงเคยเผชิญกับการต้องพิจารณาว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ ซึ่งก็ถูกต้องเพราะรัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัด แต่เวลานี้รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนอย่างนั้น ไม่ได้มีข้อห้าม ดังนั้นจึงเป็นคนละกรณี คนที่พูดกำลังบอกว่าให้แฟร์หน่อย ช่วยทำให้เหมือนเก่าหน่อย” นายวิษณุกล่าว
    เมื่อถามถึงข้อเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้อำนาจตามมาตรา 44 นายวิษณุกล่าวว่า ทราบแล้ว แต่อำนาจมันมีอยู่ และพยายามจะไม่ใช้อยู่แล้ว การใช้มาตรา 44 ไม่ได้ทำกันง่ายๆ ไม่ใช่นึกสนุกก็ใช้  เพราะมันต้องมีปัญหาและมีกระบวนการอยู่ ซึ่งหลังจากจะใช้หรือไม่แล้วแต่เหตุการณ์และความจำเป็น  เพราะบางครั้งความจำเป็นเกิดจากประชาชนเรียกร้อง แต่จะเห็นว่าตั้งแต่ ม.ค.เป็นต้นมามีหลายหน่วยงานขอให้ใช้หลายเรื่อง แต่รัฐบาลปฏิเสธไม่ใช้มาตรานี้
ส่วนพรรคเพื่อไทย (พท.) ได้ออกแถลงการณ์กรณี กกต.กำหนดให้วันที่ 24 มี.ค.เป็นวันเลือกตั้ง  โดยเรียกร้องใน 6 ข้อ คือ 1.รัฐบาลต้องใช้อำนาจเสมือนเป็นรัฐบาลรักษาการ ต้องไม่ริเริ่มโครงการใหม่ที่ต้องใช้งบประมาณผูกพัน หรืองบประมาณจำนวนมากในลักษณะสร้างความนิยมทางการเมือง ต้องไม่โยกย้ายและแต่งตั้งข้าราชการที่จะส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้ง 2.หัวหน้า คสช.ต้องงดเว้นใช้มาตรา 44 3.คสช.และรัฐบาลต้องรักษาความเป็นกลางทางการเมืองโดยเคร่งครัด 4.กกต.ต้องใช้อำนาจของตนให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 5.พรรคขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนชาวไทยร่วมกันทำให้การเลือกตั้งสุจริต เสรี และเที่ยงธรรม ด้วยการสอดส่องและเปิดโปงการทุจริตการเลือกตั้งทุกรูปแบบ และ 6.พรรคเรียกร้องให้ทุกพรรคการเมืองทำการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งอย่างสร้างสรรค์ แข่งขันนำเสนอนโยบายให้ประชาชนตัดสิน 
    นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ประธานคณะกรรมการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.)  โพสต์เฟซบุ๊กตั้งข้อสังเกตว่า การมีวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการไม่ใช่หลักประกันอันใดเลย หากขบวนการขัดขวางล้มการเลือกตั้งยังขับเคลื่อน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าถึงปัจจุบันยังมีความพยายามของคนกลุ่มนี้อยู่ 
วันเดียวกันยังคงมีความเคลื่อนไหวของการเสนอบัญชีรายชื่อนายกฯ โดยนายอุตตม สาวนายน  หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า พปชร.กำลังพิจารณาผู้สมัคร ส.ส. 350 เขต และพิจารณาผู้ที่เหมาะสมเสนอชื่อเป็นนายกฯ ที่ต้องทำให้เสร็จภายในสัปดาห์หน้า ส่วนกรณี 4 รัฐมนตรีจะลาออกเมื่อใดนั้น ถึงเวลาที่เหมาะสมก็จะลาออก อีกไม่นานจะได้ฟังพร้อมๆ กัน ยืนยันว่ากระบวนการทั้งหมดจะเสร็จสิ้นก่อนวันที่ 4-8 ก.พ.
    เมื่อถามว่าได้ทาบทาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือยัง นายอุตตมตอบว่ายังไม่มีการทาบทามใครทั้งนั้น แต่กระบวนการหารือภายในพรรคได้เริ่มขึ้นแล้ว จะไปสู่จุดที่ชัดเจนและได้ข้อยุติภายในเร็วๆ นี้ โดยเมื่อเปิดชื่อออกมาจะเฮทั้งประเทศ รับรองเฮด้วยความพอใจแน่นอน
    สำหรับแคนดิเดตรายชื่อนายกฯ ในบัญชีพรรค พปชร.นั้น แม้พรรคเปิดโอกาสให้สมาชิกของพรรคเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมเป็นนายกฯ ภายในวันที่ 28 ม.ค.เพื่อให้กรรมการบริหารพรรคให้ความเห็นชอบ แต่ขณะนี้พรรควางไว้แล้วที่จะใช้สิทธิ์เสนอชื่อ 3 คน โดยชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่  1 ขณะที่นายอุตตมอยู่ในลำดับ 2 และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ อยู่ในลำดับที่ 3 
พาเหรดบี้บิ๊กตู่พ้นเก้าอี้
    นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ คณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงการลาออกของ 4  รัฐมนตรี พปชร.ว่า ต้องแล้วแต่วิจารณญาณของแต่ละท่าน ไม่ก้าวล่วง แต่อยากพูดถึงตัวเองซึ่งเคยอยู่เอกชนมาก่อนก็ลาออก เพราะคิดว่ามันไม่แฟร์ที่จะเอาเวลาซึ่งเราต้องทำงานให้เอกชนทำในแง่การเมือง  เพราะการเมืองไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีเวลาให้
    นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ไม่มีประเทศประชาธิปไตยใดในโลกที่จะมีหัวหน้าคณะปฏิวัติหรือหัวหน้า คสช.ที่มีอำนาจตามมาตรา 44 นั่งคุมประเทศจัดการเลือกตั้งร่วมกับ กกต.ไปจนกว่าการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งจะแล้วเสร็จ เพราะหัวหน้า คสช.มีผลประโยชน์ทับซ้อนที่จะได้รับการเสนอชื่อจากพรรคการเมืองให้เป็นนายกฯ ดังนั้นเพื่อให้ประเทศไทยได้รับความเชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งจะสุจริต เสรีเป็นธรรม เพื่อเกียรติยศและศักดิ์ศรีของประเทศ ที่ประเทศไทยกำลังจะมีพระราชพิธีสำคัญที่ประชาชนรอคอย คือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จึงสมควรที่ พล.อ.ประยุทธ์จะลาออกจากตำแหน่งหัวหน้า คสช.และงดเว้นการใช้อำนาจเต็ม เป็นเพียงรัฐบาลรักษาการเยี่ยงนานาอารยประเทศในทันที
    นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด คณะทำงานสื่อสารการเมืองพรรค พท.กล่าวทำนองเดียวกันว่า พล.อ.ประยุทธ์และ 4 รัฐมนตรี พปชร.ควรแสดงสปิริตลาออกได้แล้ว และควรพิจารณาในเรื่องนี้อย่างเด็ดขาด เพื่อให้การเลือกตั้งสุจริต เที่ยงธรรม และนำมาซึ่งการยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ
    นายมิตติ ติยะไพรัช เลขาธิการพรรค ทษช.กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ คสช.แสดงความจริงใจในการคืนอำนาจให้ประชาชน โดย พล.อ.ประยุทธ์ควรยุติการใช้มาตรา 44 นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และขอให้รัฐบาล คสช.ยึดแนวปฏิบัติเช่นเดียวกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหลังยุบสภา และขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศจุดยืนและอนาคตทางการเมืองโดยเร็ว และขอให้ กกต.ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง อิสระ โปร่งใส ไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจใดๆ  
    นายจตุพร พรหมพันธุ์ ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงพรรคเพื่อชาติ (พ.พ.ช.) กล่าวว่า ขอเรียกร้องไปยัง พล.อ.ประยุทธ์อีกครั้งหนึ่งว่าได้เวลาแล้วที่ต้องตัดสินใจให้เด็ดขาด ไม่ควรกั๊กว่าจะรอใครมาทาบทาม  เพราะทุกคนต่างเห็นกันอย่างชัดเจนว่าพรรค พปชร.ได้ทาบทามท่านทุกวันบนเวที พล.อ.ประยุทธ์ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกฯ และหัวหน้า คสช. มิฉะนั้นท่านจะเป็นคนเอาเปรียบมากที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้.