PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2562

ขู่ตู่ห้ามเบี้ยวส่งปปช.เอาผิด ดุสิตโพลระบุรัฐบาลสอบตก

เพื่อไทยสวนไม่มีเหตุจำเป็นต้องประชุมลับอภิปรายปมถวายสัตย์ฯ “สามารถ” สับการไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ไม่เกี่ยวกับความมั่นคง-สถาบันหลัก “ภูมิธรรม” ซัดนายกฯ อย่าวิตกจริตเกินเหตุ บี้มาตอบเองตามประเพณีการปกครอง “อนุสรณ์” ฉะผู้นำอย่าปากกล้าขาสั่นหนีสภาฯ “ชลน่าน” ยื่นเงื่อนไขให้หารือลับเป็นช่วงๆ ขู่ “บิ๊กตู่” เบี้ยวอีกยื่น ป.ป.ช. ส่งศาลอาญานักการเมือง-ศาล รธน. เอาผิดฐานจงใจหลบเลี่ยงไม่ทำตาม รธน. “วิรัช” โยกโย้รอรัฐบาลเคาะ เตือนคนพูดเกินเลยก้าวล่วงต้องรับผิดชอบเอง เล็ง 11-12 ก.ย. เหมาะเปิดเวที “ชาดา” ยุปล่อยฟรีให้จ้อแค่วันเดียวน้อยเกินไป “ดุสิตโพล” เผยชาวบ้านให้รัฐบาลสอบตกได้แค่ 4.51 เต็ม 10 ส่วนฝ่ายค้านโชว์ผลงานผ่านได้ 5.92 คะแนน 7 พรรคฝ่ายค้านลุยเชียงใหม่ปลุกวาระประชาชนแก้ รธน.

พรรคฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะเสนอให้การประชุมสภาฯเพื่ออภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม นำ ครม. กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนปฏิบัติหน้าที่ไม่ครบถ้วนเป็นการประชุมลับตลอดการประชุม ระบุนายกฯและรัฐบาลไม่ควรวิตกจริตจนเกินไป

พท.ค้านถกลับตลอดการประชุม

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 1 ก.ย. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงกรณีวิป รัฐบาลอาจเสนอให้ประชุมลับในการเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม นำ ครม.กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนปฏิบัติหน้าที่ไม่ครบถ้วนว่า โดยหลักการกฎหมายและข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร การประชุมต้องเป็นไปโดยเปิดเผย เว้นแต่เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับความมั่นคงและสถาบัน ให้ ส.ส.เข้าชื่อกันเพื่อขอเปิดประชุมลับ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบโดยมติที่ประชุมก่อน หากจะโหวตกันจริงๆฝ่ายค้านคงไปโหวตสู้เสียงข้างมากไม่ได้ เบื้องต้นในญัตติของฝ่ายค้านไม่เกี่ยวกับความมั่นคงหรือสถาบัน ไม่มีความจำเป็นต้องประชุมลับ


เสนอเปิดประชุมลับเป็นช่วงๆ

“แนวทางฝ่ายค้านจะไปเจรจากับฝ่ายรัฐบาลว่าหากจะเปิดประชุมลับ ขอให้ทำเป็นช่วงๆไป ไม่ใช่ประชุมลับตลอดการประชุม แนวทางน่าจะเป็นเช่นนี้ ช่วงใดที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันอย่างเลี่ยงไม่ได้ อาจให้เป็นการประชุมลับ เรื่องนี้ผู้อภิปรายมีความระมัดระวังอยู่แล้ว แต่ถ้าจะให้เป็นการประชุมลับโดยตลอดคงไม่ได้ เพราะเนื้อหาในญัตติที่ฝ่ายค้านเสนอไปมีหลายส่วน อาทิ กรณีที่รัฐบาลไม่แจกแจงที่มาของรายได้ในนโยบายต่างๆของรัฐบาล ไม่จำเป็นต้องประชุมลับ เพราะไม่เกี่ยวกับความมั่นคงหรือสถาบัน” นพ.ชลน่านกล่าว

ขออย่างน้อยวันครึ่ง จำเป็นจริงเหลือ 1 วัน

นพ.ชลน่านกล่าวอีกว่า ส่วนระยะเวลาการอภิปรายนั้น ฝ่ายค้านอยากได้อย่างน้อย 1 วันครึ่ง แต่ถ้าจำเป็นจริงๆให้เหลือ 1 วันได้ พรรคเพื่อไทยเตรียมผู้อภิปรายไว้ 15 คน นำโดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านจะเป็นผู้นำเปิดการอภิปราย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนมและตน ฝ่ายค้านอยากให้เปิดอภิปรายภายในสัปดาห์นี้ หรืออย่างช้าในสัปดาห์ต่อไป

“บิ๊กตูู่” หนียื่น ป.ป.ช.-ศาล รธน.เอาผิด

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกฯมีภารกิจแน่นตลอดสัปดาห์หน้า อาจมาชี้แจงต่อสภาฯไม่ได้ภายในวันที่ 6 ก.ย. นพ.ชลน่านกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์คงปฏิเสธการมาชี้แจงต่อสภาฯไม่ได้แล้ว อย่างไรก็ต้องมา หากเปิดอภิปรายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ในสัปดาห์นี้ และ พล.อ.ประยุทธ์ยังเลี่ยงไม่มาชี้แจง ฝ่ายค้านจะมีมาตรการทั้งการยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.ให้ส่งเรื่องไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีจงใจหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญในการมาชี้แจงต่อสภาฯ เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 150 วรรค 2 ระบุว่ารัฐมนตรีมีสิทธิไม่มาชี้แจงต่อสภาฯ หาก ครม.เห็นว่าไม่ควรเปิดเผย เพราะเป็นเรื่องความปลอดภัยหรือประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน ถ้าภารกิจของนายกฯเป็นเรื่องความปลอดภัย หรือเป็นประโยชน์สำคัญเร่งด่วนของแผ่นดินในช่วงนี้ เช่น การลงพื้นที่ไปดูปัญหาน้ำท่วมยังพอเข้าใจได้ แต่ถ้าภารกิจเป็นแค่การไปดูงานทั่วไป ไม่สามารถจะเลี่ยงชี้แจงได้ หากยังเลี่ยงไม่มาชี้แจงอีก จะใช้ช่องทางกฎหมายเอาผิดต่อไป


“สามารถ” ซัดไม่มีเหตุผลต้องถกลับ

ด้านนาย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและอดีตรองประธานสภาฯ กล่าวถึงการอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 ที่รัฐบาลระบุสามารถขอเปิดประชุมลับได้ว่า ตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมสภาฯสมาชิกหรือรัฐมนตรีร้องขอให้เปิดเป็นประชุมลับได้ แต่การประชุมลับนั้นจะเป็นเรื่องของความมั่นคงของประเทศ หรือกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือเรื่องอื่นเรื่องใดที่กระทบกับความมั่นคงทั้งของชาติหรือของสถาบันหลัก แต่การยื่นญัตติตามมาตรา 152 เรื่องการถวายสัตย์ฯไม่ครบถ้วน รวมถึงเรื่องการแถลงนโยบายที่ไม่พูดที่มาของงบประมาณตามที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 5 ฝ่ายค้านจึงอยากซักถามถึงสิ่งเหล่านี้ และอาจมีข้อเสนอแนะที่เหมาะสม ต้องดูว่าเรื่องเหล่านี้กระทบความมั่นคงอะไรหรือไม่ แต่ส่วนตัวมองว่าการไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญของนายกฯและ ครม.ไม่ได้เกี่ยวหรือกระทบกับความมั่นคงตรงไหน ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะขอประชุมลับ หรือความมั่นคงที่รัฐบาลกลัวจะกระทบนั้นเป็นความมั่นคงของรัฐบาล

เหน็บ “บิ๊กตู่” อย่าปากกล้าขาสั่นหนีสภาฯ

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า แม้ฝ่ายรัฐบาลสามารถเสนอให้ประชุมลับตามข้อบังคับการประชุมสภาฯได้ แต่ไม่อยากให้รัฐบาลวิตกจริต ตีตนไปก่อนไข้ การอภิปรายทั่วไปเป็นการทำหน้าที่ตรวจสอบของฝ่ายค้านตามวิถีประชาธิปไตย มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ผู้อภิปรายต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูงอยู่แล้ว หากประชุมลับจะทำให้ประชาชนเสียโอกาสรับทราบข้อมูลข่าวสาร ที่ผ่านมามีแต่ลูกหาบออกมาการันตีว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม พร้อมมาตอบคำถามในสภาฯ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่เคยยืนยันชัดๆว่ากล้ามาตอบหรือไม่ พอกลัวสภาฯกลัวการตรวจสอบก็บิดเบือนว่าฝ่ายค้านเอาเวลาไปแก้ปัญหาปากท้องดีกว่า ทั้งที่คนที่ต้องแก้เป็นหลักคือรัฐบาล คำถามมีเพียง 2 ประเด็นคือ พล.อ.ประยุทธ์ถวายสัตย์ฯครบหรือไม่ รวมถึงแจ้งที่มาของงบประมาณในนโยบายรัฐบาลหรือไม่ ความกลัวทำให้เสื่อม อย่าปากกล้าขาสั่น ถ้ามั่นใจแค่เข้ามาตอบคำถามในสภาฯเท่านั้นเอง

“ภูมิธรรม” ติงไม่ควรวิตกจริตเกินเหตุ

นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวถึงการอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 ที่นายกฯยังไม่ตอบรับชัดเจนว่าจะมาชี้แจงด้วยตัวเองหรือไม่ว่า ตามกฎหมายไม่ได้บังคับว่านายกฯต้องมาตอบเอง แต่โดยประเพณีการปกครองชัดเจนว่า เมื่อสภาฯเสนอความเห็นว่าสิ่งที่นายกฯทำมีคำถาม ท่านควรมาชี้แจงและร่วมกันแก้ปัญหา ไม่อยากให้นายกฯมองว่าสภาฯเป็นคนละฝ่ายที่มุ่งทำลายและสร้างความเสียหายให้นายกฯ อยากให้ร่วมกันมาหาทางออก เพราะข้อที่มีการท้วงติงว่าการถวายสัตย์ฯไม่สมบูรณ์จะทำให้เกิดความอึมครึม และเป็นปัญหาต่อการบริหารงานของรัฐบาล จะมีปัญหาต่อเนื่องว่าการบริหารงานของรัฐบาลชอบหรือไม่ อย่างไรก็ตามเชื่อว่านายกฯกล้าหาญ หากทำอะไรผิดพลาด สภาฯคือทางออกมาพูดคุยกันฉันมิตร ส่วนประเด็นนี้ควรอภิปรายลับหรือไม่ ตามหลักการทำงานของสภาฯควรเปิดให้ประชาชนรับทราบทุกเรื่อง หากมีสิ่งใดเกินเลยเป็นอำนาจของประธานสภาฯจะควบคุม และสมาชิกขอให้ประชุมลับได้ แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นว่ามีอะไรที่เป็นปัญหา นายกฯจึงไม่ควรวิตกจริตจนเกินไป อยากให้นายกฯมาร่วมกันแก้ปัญหาให้
เรื่องนี้จบ ประเทศจะได้เดินหน้าต่อไปเสียที

ศม.เปลี่ยนหัวไม่กระทบฝ่ายค้าน

นายภูมิธรรม ยังกล่าวถึงกรณีพรรคเศรษฐกิจใหม่ (ศม.) เปลี่ยนตัวหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคใหม่ว่า คงไม่มีอะไรกระทบการทำงานของพรรคร่วมฝ่ายค้าน แต่ละพรรคมีกระบวนการดำเนินการภายในของตัวเองอยู่แล้ว ทุกพรรคมีอิสระ นายมนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่คนใหม่ จากนี้คงได้เข้ามาทำงานร่วมกันมากขึ้น ที่ผ่านมาได้คุยกับนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ แกนนำพรรคเศรษฐกิจใหม่มาโดยตลอด เมื่อเขาได้คณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีในการทำงานร่วมกันต่อไป และพรรคร่วมฝ่ายค้านมีภารกิจทำหน้าที่ร่วมกัน เราไม่มุ่งมั่นค้านทุกเรื่อง อะไรที่รัฐบาลทำดีเราพร้อมจะสนับสนุน อะไรมีปัญหาเราจะนำเสนอ

ยำทีม ศก.รัฐบาลขาดวิสัยทัศน์

น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. พรรค เพื่อไทยกล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันเลวร้ายมาก ส่วนหนึ่งมาจากผลพวงการรัฐประหารทำให้การค้าขายในประเทศไทยขาดความเชื่อมั่นจากคู่ค้าในต่างประเทศ ขณะที่ทีมเศรษฐกิจนำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ไม่มีฝีมือการบริหาร ขาดวิสัยทัศน์ ไร้ความสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งปิดตัวเลิกจ้างคนงาน ขณะนี้มีคนงานโรงงานอุตสาหกรรมถูกเลิกจ้างมากกว่า 40,000 คน คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยผู้ประกอบการไม่เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นเมื่อใด และนโยบายเศรษฐกิจที่ประกาศออกมาไร้อนาคต หากยังเป็นเช่นนี้สถิติการฆ่าตัวตายของประชาชนที่หมดหวังกับรัฐบาลจะเพิ่มสูงขึ้น หากรัฐบาลไม่มีมาตรการอะไรที่ทำให้ประชาชนมีความ รู้สึกเชื่อมั่นได้ รัฐบาลไม่สนใจสัญญาณทางเศรษฐกิจ มุ่งหวังแก้ปัญหาทางการเมือง ถ้ายังแก้ไม่ถูกจุดจะยิ่งซ้ำเติมประชาชน ทีมเศรษฐกิจต้องเร่งกอบกู้ ฟื้นความเชื่อมั่นโดยเร็วอย่ามองฝ่ายค้านโจมตี เพราะฝ่ายค้านสะท้อนความเดือดร้อนประชาชนให้รัฐบาลฟัง อย่าเหมารวมว่าเป็นเรื่องการเมือง

ทวงสัญญาเร่งแก้ รธน.กู้ความเชื่อมั่น

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯระบุขณะนี้ยังไม่ใช่จังหวะเวลาแก้รัฐธรรมนูญ แม้จะเป็นนโยบายเร่งด่วนว่า แม้รัฐบาลจะทุ่มเทเพียงใด แต่ถ้าเดินผิดทางไม่ได้แก้ที่หัวใจของปัญหาคือการสร้างความเชื่อมั่นประเทศ การให้กติกาบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยจะเสียทั้งเวลาและงบประมาณ หัวใจของปัญหาคือระบบการเมืองไม่ได้รับความเชื่อมั่น ไม่มีเสถียรภาพ ใครจะมาลงทุน มีแต่ย้ายฐานหนีตายไปประเทศเพื่อนบ้าน แต่ยังหวงและสืบทอดอำนาจ หากรัฐบาลดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย บอกไทม์ไลน์ชัดเจน ทำควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ความเชื่อมั่นจะค่อยๆกลับคืนมา ทุกวันนี้กติกาผิดเพี้ยน มีพรรคการเมืองมากมาย จะตั้งรัฐบาลทีเคาะกะลากันที แย่งชามข้าวแย่งตำแหน่งกัน ความรู้ความสามารถในตำแหน่งผิดฝา ผิดตัวไปหมด การสร้างกติกาบ้านเมืองให้เป็นธรรม เป็นประชาธิปไตย ความเชื่อมั่นประเทศจะกลับคืนมา ส่งผลให้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องถูกที่ถูกทางในที่สุด

“วิรัช” ให้รอความชัดเจนจากรัฐบาล

วันเดียวกัน นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ประเด็นการถวายสัตย์ปฏิญาณว่า อยากให้รอฟังผลการประชุมวิปรัฐบาลในวันที่ 2 ก.ย. ที่จะมีตัวแทน ครม.อย่างนายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษาและกรรมการวิปรัฐบาลเข้าร่วมประชุมด้วย และหลังประชุมวิปรัฐบาล อยากให้รอฟังความชัดเจนจากทางรัฐบาลด้วย นายเทวัญจะนำผลการประชุมวิปรัฐบาลรายงานต่อที่ประชุม ครม.ในวันที่ 3 ก.ย. อย่างไรก็ตาม วันที่ 2 ก.ย. ตนจะเดินทางไปหานายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ถามความชัดเจนถึงการบรรจุวาระ วันเวลาอภิปรายและความชัดเจนในหลายเรื่อง

เตือนฝ่ายค้านเกินเลยรับผิดชอบเอง

นายวิรัชกล่าวอีกว่า โดยส่วนตัวเห็นว่าการอภิปรายดังกล่าวไม่จำเป็นต้องมีการประชุมลับ ควรเปิดเผยให้สังคมและประชาชนทราบข้อเท็จจริง เพราะเป็นการอภิปรายแค่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ถวายสัตย์ฯครบถ้วนหรือไม่เท่านั้น ขณะที่ฝ่ายค้านจะอภิปรายอะไรต้องระมัดระวังให้อยู่ในกรอบเนื้อหา เนื่องจากกรณีนี้อยู่ในกระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว หากฝ่ายค้านอภิปรายเกินเลยหรือก้าวล่วงจนระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท เป็นเรื่องที่ฝ่ายค้านต้องรับผิดชอบเอง

เล็ง 11–12 ก.ย.เหมาะแต่รอ ครม.เคาะ

นายวิรัชกล่าวต่อว่า ในการอภิปรายอยากให้เสร็จก่อนวันปิดสมัยประชุม อาจเป็นวันที่ 11 หรือ 12 ก.ย. แต่อย่างไรก็ตามยังต้องรอมติที่ประชุมวิปรัฐบาลและความพร้อมในส่วนของ ครม.ที่จะหารือในวันที่ 3 ก.ย.ว่าสะดวกในวันดังกล่าวหรือไม่อย่างไร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ มีหนังสือถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอทราบความพร้อมเกี่ยวกับวันชี้แจงญัตติกรณีถวายสัตย์ฯต่อสภาฯ ตั้งแต่ 28 ส.ค.โดย ครม.มีเวลา 15 วัน นับจากได้รับหนังสือเพื่อตอบกลับไปยังสภาฯ

ฟังสัญญาณรัฐบาลแจ้งวิปเดินเกม

นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ในฐานะวิปรัฐบาล กล่าวว่า การประชุมวิปรัฐบาลวันที่ 2 ก.ย.จะหารือถึงการอภิปรายทั่วไป โดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ประเด็นการถวายสัตย์ปฏิญาณว่ารัฐบาลจะเอาอย่างไร คงต้องรอฟังรัฐบาลด้วยจะมาได้เมื่อใด ทุกอย่างขึ้นอยู่กับรัฐบาลทั้งสิ้น ต้องรอฟังรัฐบาล เพื่อวิปรัฐบาลจะได้เตรียมการได้ถูก เมื่อถามว่าแสดงว่าน่าจะมีสัญญาณการอภิปรายจากรัฐบาลมาก่อนวิปรัฐบาลจะประชุม นายนิกรตอบว่าคาดว่าน่าจะมี แล้วแต่รัฐบาลจะว่าอย่างไร เป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร วันเวลาขึ้นอยู่กับผู้ตอบคือรัฐบาล ส่วนการประชุมลับเป็นสิทธิของรัฐบาลที่ทำได้ เท่าที่ฟังความคิดเห็นต่างๆเชื่อว่าการอภิปรายน่าจะเกิดขึ้นในการประชุมสภาฯสมัยนี้ ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งในสภาฯเท่านั้น

ที่ต้องผ่านไปให้ได้ เพราะไม่ได้มีการลงมติ นอกจากนี้วิปรัฐบาลจะหารือถึงการตั้งกรรมาธิการคณะต่างๆ เพราะเหลือเวลาประชุมสภาฯสมัยนี้แค่ 2 สัปดาห์ เมื่อข้อบังคับการประชุมสภาฯผ่านและประกาศใช้แล้ว ต้องรีบตั้งคณะกรรมาธิการต่างๆให้แล้วเสร็จ เรื่องนี้ต้องคุยกันพอสมควรระหว่างรัฐบาลและฝ่ายค้าน คุยไม่สะเด็ดน้ำจะตั้งไม่ได้

“ชาดา” ขวางประชุมลับติง 1 วันน้อยไป

ขณะที่นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า การประชุมวิปรัฐบาลวันที่ 2 ก.ย. จะพิจารณาญัตติการเปิดอภิปรายทั่วไปของฝ่ายค้าน โดยเฉพาะข้อเสนอการประชุมลับการเปิดอภิปรายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 เบื้องต้นจากการพูดคุยจะไม่เป็นการประชุมลับทันที แต่จะดำเนินการตามขั้นตอนไปก่อน เพื่อฟังเนื้อหาการอภิปรายของฝ่ายค้าน หากมีประเด็นหมิ่นเหม่สถาบัน หรือบุคคลอื่นจะเสนอให้ประชุมลับทันที ส่วนตัวเห็นว่าไม่ควรมีการประชุมลับใครพูดไม่ดีให้รับผิดชอบเอง พรรคร่วมรัฐบาลไม่มีการวางตัวใครเป็นพิเศษ เชื่อว่ามีเพียงพรรคพลัง–ประชารัฐที่จัดทีมไว้ การอภิปรายของฝ่ายค้านไม่มีผลใดๆเพราะไม่มีการลงมติ หากตั้งทีมประท้วงทำให้เสียเวลา ส่วนกรอบเวลาอภิปรายยังไม่ได้หารือกัน แต่ 1 วันน้อยเกินไปหากฝ่ายค้านมีผู้อภิปรายมากต้องเปิดให้เต็มที่

ฝ่ายค้านขึ้นเชียงใหม่ปลุกแก้ รธน.

เมื่อเวลา 13.00 น. ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดเสวนา “ความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ” โดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวตอนหนึ่งว่า ตั้งแต่มีการรัฐประหาร ปัญหาปากท้องประชาชนไม่ได้รับการแก้ไข ผู้มีอำนาจมุ่งเน้นแต่สืบทอดอำนาจ การร่างรัฐธรรมนูญร่างมาจากใบสั่งผู้มีอำนาจ ออกกฎระเบียบต่างๆทำลายสิทธิมนุษยชนโดยสิ้นเชิง รัฐธรรมนูญมีปัญหาจริงๆ จึงต้องแก้ให้ใช้กับทุกคนอย่างเท่าเทียม ตนไม่ได้ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญทุกอย่าง แต่อยากทำให้สมบูรณ์แบบ ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ไม่ใช่แค่คนกว่า 70 คนออกแบบให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ไขยาก จึงหวังพึ่งประชาชน จะรณรงค์เรื่องนี้ให้มากที่สุดให้ประชาชนเข้าใจ เชื่อว่าหากมีการทำประชามติ ประชาชนอยากให้มีการเปลี่ยนแปลง หากยังปล่อยให้มีรัฐธรรมนูญเช่นนี้ต่อไปอนาคตย่ำแย่แน่ ในการเลือกตั้งประชาชนต่างเลือกพรรคที่เป็นประชาธิปไตย มีพรรคเดียวเท่านั้นที่ไม่กล้าพูดเต็มปากว่าสนับสนุนประชาธิปไตย แม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย ต่างพูดสนับสนุนประชาธิปไตย แต่สุดท้ายไม่รู้ว่าไปเจอขนมหวานอะไร จึงไปเข้าร่วมด้วยกัน

ชูเป็นวาระสำคัญของประชาชน

ต่อมาเวลา 13.45 น.มีการอภิปรายหัวข้อ “รัฐธรรมนูญและจินตนาการใหม่” โดยตัวแทน 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านและภาคประชาชนร่วมอภิปราย นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องใช้เวลาอีกยาวนาน ไม่ได้จบเพียงแค่การรณรงค์แก้ไข ทั้งนี้การเข้ามาของผู้มีอำนาจได้สร้างปัญหาให้สังคมไทยพอสมควร ตลอดเวลา 5 ปีของการรัฐประหารได้พิสูจน์แล้วว่า การบริหาร ที่ควบคุมชีวิตประชาชนเบ็ดเสร็จไม่สามารถแก้ปัญหาของประชาชนได้ วันนี้เป็นก้าวแรกที่พรรคร่วมฝ่ายค้านจะร่วมกับประชาชนแก้ไขปัญหาต่างๆ ประชาชนคือคนที่ได้รับผลกระทบจากระบบการเมืองการปกครอง จึงมีสิทธิลุกขึ้นมาแสดงออกให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คิดว่าการสร้างฉันทามติของสังคมให้เกิดขึ้นเป็นเรื่องสำคัญ วันนี้เขาปิดปากเราไม่ให้แก้รัฐธรรมนูญด้วยผลประชามติที่ไม่เสรี ฝ่ายการเมืองจึงมีหน้าที่ต้องเปิดพื้นที่ให้เกิดการถกเถียง ถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญจะไม่สามารถแก้วิกฤติประเทศ และปัญหาเศรษฐกิจได้ อยากเชิญชวนฝ่ายวิชาการ นักศึกษา ประชาชนมาร่วมหาทางออกจากวิกฤติร่วมกัน ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นวาระประชาชน

อาจารย์ มช.ซัดบางพรรคจ้องขวาง

นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า วันนี้สังคมต้องการรัฐธรรมนูญที่สังคมเป็นผู้กำหนด ไม่ต้องการธรรมนูญที่เป็นของคณะรัฐประหารอีกต่อไป มองว่ารัฐธรรมนูญ ปี 2540 คือตัวแบบที่ดี เพราะประชาชนมีส่วนร่วม ทุกฝ่ายถกเถียงกันได้ระหว่างจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ วันนี้เห็นพรรคการเมืองบางพรรคที่ได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้คอยขวางการแก้ไข ดังนั้นแรงผลักดัน ทางสังคมจึงสำคัญมาก หากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกคนต้องมีส่วนร่วมผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

นศ.สะอิดสะเอียนเรียก “ลุงตู่” นายกฯ

น.ส.อนินท์ญา ขันขาว นักศึกษาชั้นปี 3 คณะรัฐศาสตร์ ม.เชียงใหม่ สมาชิกกลุ่มนักกิจกรรมเยาวชน กล่าวว่า ในฐานะนักเคลื่อนไหวและนักกิจกรรม สิ่งที่ใกล้ตัวที่สุดคือ การถูกคุกคามเสรีภาพ เวลาออกไปเคลื่อนไหว นักศึกษาสามารถมีกิจกรรมผลักดันให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ แต่ยังไม่สามารถขับเคลื่อนได้ เพราะยังถูกควบคุม จึงขอร้องให้เลิกควบคุม ท่านถามอาจารย์เราว่าทำไมเด็ก มช.ชอบประท้วงนายกฯ เราอยากถามว่าเหตุใดในฐานะประชาชนคนหนึ่งจะแสดงความคิดเห็นตามสิทธิเสรีภาพไม่ได้ อยากบอกทหารว่าให้เลิกแทรกแซงทางการเมืองได้แล้ว

ดุสิตโพลให้คะแนนรัฐบาลสอบตก

วันเดียวกัน สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนที่มีต่อ “ดัชนีการเมืองไทย” ในเดือน ส.ค. จากกลุ่มตัวอย่าง 2,438 คน จากตัวชี้วัด 25 ประเด็น คะแนนเต็ม 10 โดยรัฐบาลได้แค่ 4.51 คะแนน จำแนกตามภูมิภาคได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4.88 คะแนน ภาคกลาง 4.68 คะแนน กทม.4.55 คะแนน ภาคใต้ 4.10 คะแนน และภาคเหนือ 3.81 คะแนน ทั้งนี้ หากจำแนกตามรายละเอียด 25 ตัวชี้วัด คะแนนเต็ม 10 ปรากฏว่า การปฏิบัติงานของฝ่ายค้านได้ 5.92 คะแนน ข่าวสารที่เผยแพร่จากสื่อต่างๆให้ประชาชนได้รับรู้ 5.28 คะแนน การดำเนินงานของพรรคการเมืองโดยภาพรวม 4.72 คะแนน ผลงานนายกรัฐมนตรี 4.63 คะแนน การมีส่วนร่วมของประชาชนและองค์กรอิสระ 4.57 คะแนน ผลงานของรัฐบาล 4.56 คะแนน การบริหารประเทศตามนโยบายที่ประกาศไว้ 4.49 คะแนน การแก้ปัญหาต่างๆของรัฐบาลในภาพรวม 4.38 คะแนน การแก้ปัญหาผู้มีอิทธิพล 4.23 คะแนน ความเป็นอยู่ของประชาชน 4.19 คะแนน สภาพเศรษฐกิจโดยภาพรวม 4.09 คะแนน การแก้ปัญหาคอร์รัปชัน 4.01 คะแนน การแก้ปัญหาความยากจน 3.91 คะแนน และราคาสินค้า 3.86 คะแนน

ชาวบ้าน 97% ไม่รู้เรื่อง ส.ว.ใน รธน.

ขณะที่สำนักวิจัยซูเปอร์โพล สำรวจความคิดเห็น “ประชาชนคิดอย่างไรต่อวุฒิสมาชิก” จำนวน 1,104 ตัวอย่าง พบว่า ร้อยละ 97.2 ไม่เคยอ่านรัฐธรรมนูญปี 60 ในส่วนวุฒิสภา มีเพียงร้อยละ 2.8 เท่านั้นที่เคยอ่าน และร้อยละ 73.6 เคยได้ยินว่ารัฐธรรมนูญปี 60 ไม่ดีเรื่องวุฒิสมาชิก ส่วนความ ต้องการต่อการทำงานของวุฒิสมาชิก 5 อันดับแรกพบว่า ร้อยละ 82.4 ช่วยแก้ปัญหาปากท้อง แก้ความยากจน ร้อยละ 73.5 ช่วยเหลือด้านกฎหมายให้ประชาชนมีช่องทางทำมาหากิน ร้อยละ 69.9 เป็นที่พึ่งเรื่องที่ทำกิน ใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติเป็นธรรมเท่าเทียม ร้อยละ 68.7 ตรวจสอบการทำงานของ ส.ส.และนักการเมืองท้องถิ่น และร้อยละ 65.5 เข้าถึงประชาชน ติดดิน ไม่เหินห่าง

ปชช.เชื่อภัยแล้งดันข้าวเหนียวแพง

ด้านสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ข้าวเหนียวแพง” จำนวน 1,272 ตัวอย่าง เมื่อถามถึงความถี่ในการรับประทานข้าวเหนียวของประชาชน พบว่าร้อยละ 54.09 ระบุว่ารับประทานข้าวเหนียวบ้าง แล้วแต่โอกาส ร้อยละ 26.02 ระบุว่ารับประทานเป็นประจำ ร้อยละ 9.91 ระบุว่ารับประทานอย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง ร้อยละ 7.23 ระบุว่ารับประทานข้าวเหนียวค่อนข้างบ่อย และร้อยละ 2.75 ระบุว่าไม่รับประทานข้าวเหนียวเลย ส่วนสาเหตุที่ราคาข้าวเหนียวแพงขึ้น ร้อยละ 47.62 ระบุว่าเพราะภาวะภัยแล้ง ร้อยละ 27.57 มีการกักตุนโดยพ่อค้า คนกลาง ร้อยละ 19.32 การปั่นราคาของพ่อค้าคนกลาง เจ้าของโรงสี ส่วนความเห็นของประชาชนต่อผู้ได้ประโยชน์จากข้าวเหนียวราคาแพงขึ้น ร้อยละ 76.48 ระบุว่าเป็นพ่อค้าคนกลาง ร้อยละ 20.21 โรงสี ร้อยละ 10.99 ผู้นำเข้าส่งออกข้าว ร้อยละ 4.61 ชาวนา เมื่อถามถึงความต้องการของประชาชนต่อพ่อค้า แม่ค้าขายอาหารที่มีข้าวเหนียวเป็นส่วนประกอบ ร้อยละ 35.73 ระบุว่าลดปริมาณข้าวเหนียว แต่ราคาเดิม ร้อยละ 29.11 ยอมกำไรน้อย ไม่มีกำไร เพื่อลูกค้าโดยให้ปริมาณข้าวเหนียวคงเดิมและราคาเดิม ร้อยละ 15.44 เพิ่มราคาและปริมาณข้าวเหนียว ร้อยละ 14.63 ปริมาณข้าวเหนียวคงเดิม แต่เพิ่มราคา

ป.ป.ช.จับตาโครงการรัฐเสี่ยงทุจริต

วันเดียวกัน พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า ได้สั่งการให้แต่ละสำนักของ ป.ป.ช.ดำเนินการ ค้นหาข้อมูลโครงการต่างๆของรัฐบาล ภายหลังจากที่ ครม.แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เพื่อนำไปจัดลำดับความเสี่ยงการทุจริตของแต่ละโครงการว่าโครงการใดมีความเสี่ยงจะเกิดการทุจริต หากพบว่าในช่วงตั้งต้นของโครงการมีความเสี่ยงจะเฝ้าระวังตรวจสอบว่ามีการทำอะไรช่วงใดและขอรายละเอียดโครงการมาพิจารณา พร้อมแจ้งเตือนรัฐบาลให้เฝ้าระวังและวางแผนป้องกันความเสี่ยง ถือเป็นการป้องกันไว้ก่อน นอกจากนี้จะต้องเปิดเผยข้อมูลโครงการให้ประชาชนหาข้อมูลได้เต็มที่ ตามรัฐธรรมนูญหาก ป.ป.ช.พบว่าโครงการใดมีความเสี่ยงสามารถลงมติเสียงข้างมาก 2 ใน 3 ให้ยับยั้งโครงการดังกล่าวไว้ก่อนได้ ส่วนการจัดซื้อจัดจ้างในหน่วยงานรัฐได้หารือกับนายณรงค์ รัฐอมฤต กรรมการ ป.ป.ช.ว่า ความโปร่งใสในการดำเนินโครงการของหน่วยงานต่างๆ เช่น องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ควรเปิดเผยรายละเอียดโครงการในเว็บไซต์หน่วยงานท้องถิ่นนั้นๆให้ประชาชนรับรู้ว่าอยู่ในขั้นตอนใด ใช้งบประมาณเท่าไหร่ ใครเป็นผู้ประมูลชนะในราคาเท่าไร

สามกลุ่มเปิดตัวต่อต้าน “ประยุทธ์”

เมื่อเวลา 13.00 น. ที่หน้าร้านแมคโดนัลด์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 3 กลุ่มต่อต้านรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จับมือนัดหมายชุมนุมขับไล่รัฐบาล ประกอบด้วยกลุ่มรณรงค์ผู้ไม่เอารัฐบาลเถื่อน นำโดยนายไตรรัตน์ ผลศิริวัจน์ หรือทนายแฟรงค์ เป็นแกนนำ กลุ่มเลือกข้างประชาธิปไตย นำโดยนายภัทรพล ธนเดชพรเลิศ หรือไก่บิ๊กแมน นายเอกภพ กตัญญู และกลุ่มเพื่อนแท้ชาววิน ผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้างจากทุกเขตนำมวลชนราว 100 คน มาปักหลักชุมนุมปราศรัยชูป้ายโจมตีรัฐบาลเรียกร้องให้เร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้ปัญหาเศรษฐกิจ แก้ปัญหาจักรยานยนต์รับจ้างและขับไล่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ให้ลาออก ในจำนวนนี้มีนายไพโรจน์ อิสระเสรีพงษ์ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย เขตหนองจอก เข้าร่วม โดย พ.ต.อ.อรรถวิทย์ สายสืบ รอง ผบก.น.1 และ พ.ต.อ.พาติกรณ์ ศรชัย ผกก.สน.ชนะสงคราม นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ เข้ารักษาความปลอดภัยรอบพื้นที่ ห้ามไม่ให้ขึ้นไปชุมนุมบนลานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเด็ดขาด และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจับตาการชุมนุมครั้งนี้เป็นพิเศษ เพราะเป็นกลุ่มประกาศขับไล่รัฐบาลกลุ่มแรก ที่มีนักการเมืองร่วมชุมนุม และเป็นกลุ่มที่ไม่เคยชุมนุมร่วมกันมาก่อน

นัดชุมนุมทุกสัปดาห์ระดมล้านคนไล่ รบ.

ขณะที่นายนายไตรรัตน์ ผลศิริวัจน์ หรือทนายแฟรงค์ แกนนำกลุ่มรณรงค์ผู้ไม่เอารัฐบาลเถื่อน ระบุว่า ปัจจัยหลักที่ออกมารณรงค์ขับไล่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์มาจากความเดือดร้อนของประชาชนทั้งด้านเศรษฐกิจและปัญหาการเมือง เป้าหมายหลังจากนี้จะรณรงค์ให้คนมาชุมนุมให้ได้ 1 ล้านคน เพื่อกดดันให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ลาออก จึงจะมีการจัดการชุมนุมทุกสัปดาห์จนกว่าจะได้เป้าหมายตามที่วางไว้ นอกจากนี้ จะขอเชิญชวนให้ประชาชนทุกสีเสื้อที่ได้รับความเดือดร้อนออกมาร่วมชุมนุมด้วย จากนี้จะเข้าแจ้งความ พล.อ.ประยุทธ์และ ครม. ในฐานความผิดมาตรา 112 และมาตรา 157 เร็วๆนี้ด้วย

อดีต ส.ส.แจมจุดประกายเปลี่ยนแปลง

นายไพโรจน์ อิสระเสรีพงษ์ อดีต ส.ส.พรรค เพื่อไทย เขตหนองจอก กล่าวว่า ทราบว่ามีการชุมนุมของประชาชน จึงมาร่วมสังเกตการณ์ มองว่าไม่ผิดกฏหมาย เพราะมีการขออนุญาตการชุมนุมกับตำรวจแล้วยืนยันว่า มาร่วมในนามส่วนตัวไม่ได้อยู่เบื้องหลัง แค่เห็นด้วยกับแนวทางของภาคประชาชนที่ออกมาเรียกร้อง โดยเฉพาะการร่วมกันขับเคลื่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ 60 ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ตลอดช่วงที่เกิดการยึดอำนาจเมื่อปี 57 บ้านเมืองเสียหายไปมาก ทุกวันนี้มีแต่คนฆ่าตัวตายเพราะปัญหาเศรษฐกิจ หลังจากนี้จะมาร่วมทุกครั้ง การชุมนุมครั้งนี้จะเป็นประวัติศาสตร์การจุดประกายครั้งแรกของการเปลี่ยนแปลงอนาคตลูกหลาน