PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

'บิ๊กตู่' ลั่น 'ประชามติ' ไม่ผ่านเริ่มใหม่อยู่ต่อ ปลื้มผลงาน 2 ปี คสช.

นายกฯ เตรียม แถลง 2 ปี คสช. ย้ำไม่อยากเปิดศึกทะเลาะกับใคร สั่งฝ่ายความมั่นคง ส่องการแสดงความเห็นประชามติ ให้อยู่ในกรอบ แจงต้องเสี่ยงหยุดจ่ายค่าโง่คลองด่าน ยอมรับโดนฟ้องกลับแพ้ก็ต้องจ่ายกลับ ชี้ลดเบี้ยเลี้ยงผู้สูงอายุผู้มีรายได้ ระบุ ครม.ยุติเหมืองทองมีได้มีเสีย

เมื่อวันที่ 16 พ.ค.59 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงวาระครบรอบ 2 ปี รัฐประหาร 22 พฤษภาคม ว่า กำลังเตรียมแถลงการณ์ดำเนินงานของ คสช. ในรอบ 2 ปี ที่ผ่านมา โดยจะนำสิ่งที่ทำมาทั้งหมดมาเสนอให้ประชาชนได้รับทราบ พร้อมกับตอบคำถามสื่อมวลชน ส่วนการทำงานของ คสช.ต่อจากนี้มีอีกหลายเรื่อง เพื่อส่งต่อให้รัฐบาลหน้า หากรัฐบาลหน้าไม่ดำเนินการก็ต้องไปถามกับรัฐบาลหน้าเอง การทำงานนั้นต้องมีแผนงาน ไม่ใช่คนชอบแล้วค่อยทำ ไม่ทำในสิ่งที่คนไม่ชอบ และตนทำทุกอย่าง ซึ่งต้องทะเลาะกับคนจำนวนมาก ทั้งการจัดระเบียบ การค้าขาย ซึ่งตนไม่ต้องการเปิดศึกกับประชาชน แต่ต้องแก้ไขเพราะมีการเรียกร้อง จะปล่อยไปเพราะเห็นว่าเป็นผู้มีรายได้น้อยคงไม่ได้
"วันนี้ประเทศเรามีความขัดแย้งสูง ขณะเดียวกันการแสดงความคิดเห็นในการทำประชามตินั้น กำลังให้ฝ่ายความมั่นคงดูอยู่ โดยต้องเป็นไปตามช่องทางที่มี ถามว่าท่านอยากให้เกิดปัญหาใหม่ขึ้นอีกหรือไม่ ผมไม่เคยจะไปเปิดศึกกับใครสักคน มีแต่คนเปิดศึกใส่ผม ซึ่งผมต้องชี้แจง หงุดหงิดบ้างอะไรบ้าง และผมรู้ว่าไม่ควร บางคนบอกนายกฯ ใส่เกียร์ถอยบ้าง แต่ผมไม่เคยถอย เพราะต้องดำเนินการทุกคดี คนจะไม่นิยมตัวผมก็ไม่เป็นไร วันหน้าจะรู้เอง ว่าผมทำอะไร คิดแบบนี้สิ" นายกฯ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญพูดตั้งหลายครั้งแล้วว่า ให้ทำไป ตนให้อำนาจไปแล้ว ไม่มีใครเขาให้แบบนี้ พอถึงเวลาก็อยู่ไปเรื่อยๆ ใครจะด่าว่าก็ไม่สนใจ แต่ตนมีโรดแม็ป แต่ถ้าเกิดความวุ่นวาย ไปไม่ได้ก็จบรัฐธรรมนูญ หากไม่เห็นชอบก็ไม่ต้องผ่าน แล้วมาเริ่มต้นใหม่แล้วจะให้ตนลาออกหรือ ในเมื่อไม่ใช่เรื่องของตน ตนกำลังทำเพื่อประเทศ และไม่ได้ขู่ว่าจะอยู่ต่อ หากไม่รับร่างฯ ถ้าไม่รับก็ต้องมีเหตุผลว่ามันไม่ดี ถ้ารับก็ต้องมองเห็นข้อดี จากนั้นเข้าสู่การเลือกตั้ง ซึ่งต้องมีธรรมาภิบาล ไม่เอาคนมีคดีกลับเข้ามา
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีชำระเงินค้างค่างวดคลองด่านว่า ก็เป็นเรื่องของศาล วันนี้ ครม.รับทราบเฉยๆ เป็นเรื่องการปฏิบัติของฝ่ายกฎหมาย องค์กรอิสระ ศาลปกครองตัดสินมารัฐบาลก็ปฏิบัติตาม แต่คดีอาญาตามทีหลังก็ต้องมาทบทวนเป็นเรื่องของคณะกรรมการจะไปศึกษารายละเอียดมา ตนก็รับทราบเฉยๆ ตามอำนาจมาตรา 48 ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ขณะนี้คณะกรรมการกำลังหารืออยู่แจ้งให้ทราบว่าตอนนี้ ปปง.อายัดเงินตามกฎหมายของ ปปง.ตามอำนาจ เมื่อมีคดีอาญาตามมาก็ต้องทบทวน ไม่ใช่ว่ารัฐบาลจะไม่จ่ายเพราะจ่ายตามคำสั่งศาลปกครองแต่เมื่อมีคำทักท้วงจาก ปปง.แล้วอายัดเงิน ก็ต้องไปว่ากันตรงนั้น แล้วถ้าต้องจ่ายอีกถ้าสมมติมีคดีการดำเนินการก็ต้องเข้าไปสู่คณะกรรมการพิจารณาที่ตั้งไว้ร่วมกัน ทุกคนพยายามบอกว่าไม่ต้องจ่ายๆ ตนก็ให้ไปพิจารณาว่าไม่ต้องจ่ายเพราะอะไรผิดหรือถูก และถ้าบริษัทฟ้องกลับมามีปัญหาเราแพ้อีกจะต้องเตรียมมาตรการทางหนีไล่ให้ดี อนุญาโตตุลาการอะไรก็มีแต่ส่วนใหญ่สู้ไม่ได้หมด นั่นคือความเสี่ยง ซึ่งตนปล่อยปละละเลยไม่ได้ก็ต้องเสี่ยงร่วมกันเพราะทุกคนอยากให้ทำ แต่ตนทำให้ถูกต้องตามขั้นตอนกฎหมาย ดังนั้นทุกคนต้องรับทราบถ้าบริษัทกลับมาแล้วแพ้ก็แพ้ก็ต้องจ่ายเงินค่าปรับเพิ่มให้เขา ทุกคนต้องยอมรับจะเอาแต่ได้ๆ บอกว่าตนต้องทำให้ได้ทุกอย่าง แล้วตนไปสั่งเขาได้ไหมเล่า ประเทศไทยจะไปละเมิดสิทธิมนุษยชนยึดคนโน้นปรับคนนี้ทำได้หรือ
ส่วนเรื่องลดเบี้ยผู้สูงอายุนั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เป็นการที่ต้องให้ไปดูว่าที่ศึกษามาลดเพราะอะไร บางคนมีรายได้เพียงพอแล้ว บางทีมากกว่าคนที่ทำงานรายวันอีกถ้าเราไปกำหนดด้วยอายุอย่างเดียว อาจจะใช้งบประมาณไม่ตรงเท่าไร จริงๆ ผู้สูงอายุคงไม่เดือดร้อนเท่าไรเพราะเงินแค่ 600-1,000 บาท ถ้าทุกคนมีเงินฝาก 3 ล้านในบัญชีรายได้เดือนละ 9,000 บาท ถามว่าจนหรือไม่ ต้องดูอย่างนี้จะได้เหลือเงินไปทำตรงอื่น ทั้งเรื่องสังคมสูงอายุ รถเมล์ฟรี รถไฟฟรี จะเอาเงินจากที่ไหนถ้าไม่ใช้ให้ถูกต้องทุกคนต้องช่วยกัน หลายคนบอกว่ามันเป็นสิทธิประชาธิปไตย แต่คำว่าประชาธิปไตยไม่ใช่ว่าเท่ากันได้ทุกคนมันต้องมีช่องว่าง การที่ต้องปรับกันอย่างไร

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า วันนี้ตนกำลังแก้ปัญหาร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำไมมาติติงตนนักไม่เข้าใจ ตนแก้ได้ 20-30 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็เอาร้อยเปอร์เซ็นต์มาไล่ล่าพวกตน นึกถึงคนที่เขาทำงานบ้าง เรื่องของการเกษตรเรื่องฝนวันนี้เร่งในเรื่องแหล่งน้ำที่มันตื้นเขินมีใครเคยคิดไหมที่ผ่านมา ถ้าน้ำไม่แห้งไม่เห็นท้องน้ำตื้นเขินพอเห็นบอกรัฐบาลไม่ดูแล สั่งจัดงบฯ ส่วนหนึ่งให้เร่งไปขุดลอกให้ลึกอย่างน้อยจะสามารถแก้ไขชะลอและระบายน้ำได้ ตอนนี้แหล่งน้ำที่ขุดมีหลายพันแห่ง เคยดูแผนบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลจริงๆ เป็นอย่างไร อย่างไปดูว่าตรงนี้ทุจริตก็ไปว่ามาตนไม่ได้ปิดบังใคร จะผิดถูกตรงไหนเข้ากระบวนการศาลทั้งหมด

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงเรื่องยกเลิกเหมืองทองว่า คณะกรรมการ 4 กระทรวง ได้สรุปมา และก็เห็นปัญหาทั้งหมด ขณะเดียวกันคนที่เดือดร้อนคนงานอีกเท่าไรใครรับผิดชอบ แต่คนที่ได้ประโยชน์จากการทำเหมืองทองก็มีอยู่เพราะบริษัทมีงบฯ ในการทำซีเอสอาร์ประชาสัมพันธ์ส่วนหนึ่ง ที่ให้ดูแลคนประชาชน อีกส่วนให้เงินอีกจำนวน 400-500 ล้านบาท ที่ให้กับ อปท.ท้องถิ่น ทั้งหมดมันมีได้มีเสีย เพียงแต่เงินที่ได้ที่เสียเกิดประโยชน์กับประชาชนและท้องถิ่นจริงหรือไม่ แต่ตนไม่เคยได้
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงเรื่องการประชารัฐสงสัยว่า เอื้อประโยชน์หรือเปล่าว่า วันนี้ที่รัฐทำฝ่ายเอกชนจัดให้ เอกชนไม่เคยมาจัดให้ตนเป็นคนสั่งเขาไม่อย่างนั้นตนจะเข้ามาทำไม ตนใช้อำนาจของตนคิดของตน นโยบายไม่ว่าจะผิดจะถูกก็เรื่องของตน มันก็เรื่องคณะทำงาน เรื่องของ ครม.และกระทรวงไปตั้งคณะทำงานไปศึกษามา เรื่องที่ตนพูดทำได้ไหม ทำได้ก็ทำ ตนทำงานแบบนี้ถึงแม้จะมีคนถามว่าทหารฉลาดพอหรือเปล่าตนก็พอสมควรในเรื่องของการคิดริเริ่มและไปใช้กระบวนการปกติไปพิจารณาว่าทำได้ไม่ได้ ไม่ได้ก็คือไม่ได้บอกเลิก ไม่เช่นนั้นก็อยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำ

นายกฯ เผยไปรัสเซีย เล็งคุย ซื้อ ฮ.MI17 และ รถถังรัสเซียT90

นายกฯ เผยไปรัสเซีย เล็งคุย ซื้อ ฮ.MI17 และ รถถังรัสเซียT90 ชี้ ทั้ง ฮ.ทั้ง รถถัง เก่า อายุมากกว่าผมอีก นั่ง ฮ.ต้องเอามือช่วยปัดน้ำฝน ขอเห็นใจทหารเสี่ยงชีวิต นั่ง อ.เก่า จนทุกวันนี้. เหน็บ ถ้า เอา "ถัง มาใส่ปืนยิง"ได้ ก็ไม่ต้องซื้อ เผยที่ซื้อเขาเพราะเราทำเองไม่ได้. เผยซื้อตามแผนพัฒนากองทัพ และมีคณะกรรมการกำหนดมาตรฐาน และคณะกรรมการคัดเลือก
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการ และการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-รัสเซีย สมัยพิเศษระหว่างวันที่ 17 -21 พ.ค. ในประเด็นความร่วมมือทางการทหารถึงการที่นายกฯให้สัมภาษณ์สื่อรัสเซียว่า มีความสนใจ เฮลิคอปเตอร์และยุทโธปกรณ์จากรัสเซีย
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สิ่งที่สื่ออยากรู้ คือจะซื้อหรือไม่ซื้อ หรือราคาเท่าไหร่ สนใจอยู่แค่นี้หรือ
"วันนี้ถามหน่อย ประเทศขาดอะไร ทำเฮลิคอปเตอร์เองได้ไหม สร้างได้เหรอ ที่ซื้อจากเขาเพราะเราทำเองไม่ได้ เราต้องหามาใช้ทดแทน สิ่งที่พัง สิ่งที่เก่า.
นายกฯเปรยว่า คราวหลังไม่ต้องจัดเฮลิคอปเตอร์ MI-17 ให้นักข่าวพวกนี้นั่ง เอาเฮลิคอปเตอร์ ฮิวอี้ รุ่นแรก ที่ใช้มากว่า 30 - 40 ปี มาให้นั่ง ทำไมทหารไม่มีชีวิตจิตใจหรืออย่างไร เขาจะซื้อไปทำอะไร
ส่วนการสั่งซื้อเฮลิคอปเตอร์ครั้งนี้ จะนำมาช่วยในเรื่องดับเพลิงด้วย การซื้อมันมีคำว่าซื้ออาวุธหรือยุทโธปกรณ์ ฉะนั้นการหารือครั้งนี้ตนพูดทุกประเทศ ไม่ใช่เฉพาะรัสเซีย เป็นการค้าขายการลงทุน ต้องไปเพิ่มการศึกษาวิจัย เรื่องการตั้งโรงงานซ่อมสร้าง ศูนย์รวมอะไหล่ แต่ตนได้ให้นโยบายว่า ยุทโธปกรณ์นั้นจะต้องใช้ในการกู้ภัย
มันก็มีเฮลิคอปเตอร์ที่จะต้องใช้ ผมตถามว่าถ้าประเทศอื่นเสนอมาราคาถูกกว่า และคุณภาพเท่านี้ก็อยู่ที่คณะกรรมการเป็นคนเลือกไม่ใช่ผม ฉะนั้นผม ก็จะไปเจรจาในขั้นต้น ว่ามีการร่วมมือจัดหาอาวุธ ยุทโธปกรณ์ระยะยาว ไม่ใช่ซื้อที่เดียวยาวไป 20 ปี มีเงินเท่าไหร่ ซื้อเท่านั้น แล้วกว่าจะซื้อเขาก็ต้องใช้เวลา ไม่ใช่ว่ากลัวนู้นนี่ไปหมด ถ้าเราไม่ซื้ออะไรเขา แล้วเขาจะซื้ออะไรเราไหม
เมื่อถามถึงการที่รัสเซียสนใจสินค้าทางการเกษตรของไทย นายกฯ กล่าวว่า เขาเรียกว่าต่างตอบแทน เข้าใจคำว่าต่างตอบแทนไหม ไม่ใช่ว่าใครจะบ้าไปซื้ออยู่ข้างเดียว เป็นการไว้เนื้อเชื่อใจ ลดความหวาดระแวง แล้วเราก็ซื้อได้ 3-4 ลำกี่ปีแล้ว ระหว่างนั้นเขาก็จะมาซื้อผลิตผลทางการเกษตร แลกเปลี่ยนกันจัดหาซื้อพลังงาน คิดอย่างนี้ เพราะเราไม่มีอะไรเลย มีแต่การเกษตรอย่างเดียว น้ำมันก็มีอยู่อย่างจำกัดคุณภาพก็สู้เขาไม่ได้ ถึงจะต้องมีน้ำมันส่วนหนึ่งผลิตแล้วไปขายข้างนอก แล้วซื้อของดีมาในประเทศ คิดอย่างนี้
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า การซื้ออาวุธ ยุทโธปกรณ์เขามีคณะกรรมการจัดหายุทโธปกรณ์ในกองทัพ ซึ่งมีการกำหนดความต้องการ ต้องไปดูจากของที่ใช้แล้วมีเท่าไหร่ มีความจำเป็นอย่างไร ต้องหามาเสริมกัน ถ้าคุณภาพใกล้เคียงขั้นต่ำจะต้องเท่านี้ ไม่ใช่ถูกอย่างเดียว จะต้องผ่านมาตรฐานที่เรายอมรับได้ ซึ่งทั้งหมดซื้อตามแผนพัฒนากองทัพ 5 ปี 10 ปี 20 ปี เพราะต้องย้อนกลับไปว่า ยุทโธปกรณ์ในกองทัพใช้มากี่สิบปีแล้ว ตนถามว่าไม่มีได้ไหม ถ้าเราไม่มีเราต้องผลิตเอง เราก็ต้องแลกเปลี่ยนเมื่อเราไปซื้อมา เขาจะมาสร้างโรงงานในประเทศและเอาคนของเราไปเรียนรู้
เมื่อถามว่า จะมีการพูดคุยเรื่องรถถังT-90 ของรัสเซียด้วยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ให้ทั้งหมดไปพิจารณามา ว่าคณะกรรมการเขาผ่านไหม ถ้าไปบอกว่าจะซื้อนี้ ซื้อโน่น มันไม่ใช่ อันไหนถูกซื้อตรงนั้น
" รถถังก็ ถังจะเอามาใส่ปืนได้ไหม ถ้าทำได้ก็ไม่ต้องซื้อ วันนี้รถถังก็มีอายุมากกว่าผม
เห็นมั้ย เครื่องนั่งเฮลิคอปเตอร์ที่จะต้องเอามือไปปัดน้ำฝนไหม ผมนั่งมาหมดแล้ว มันยังบินอยู่ นั้นแหล่ะคือสิ่งที่เราต้องเป็นห่วงชีวิตคน ถ้ามีภัยพิบัติเกิดขึ้น และจะต้องไปขนคน ทหารก็เสี่ยงอยู่ทุกวัน ก็หาอะไรเท่าที่สามารถทำได้ คิดว่าเราจะซื้อที่อื่นก็ได้ แต่จะต้องมีการทำประกัน มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต มีการนำคนไปเรียนที่ประเทศเขา"

เปิดรายงาน “เสรีภาพบนอินเทอร์เน็ตปี 2558” กรณีประเทศไทย

เปิดรายงาน “เสรีภาพบนอินเทอร์เน็ตปี 2558” กรณีประเทศไทย
2016.05.16 12:34
ดาวน์โหลด รายงานฉบับ pdf
freedom-on-the-net-thailand-2015_4
หมายเหตุ รายงานเสรีภาพบนอินเทอร์เน็ต (Freedom on the Net Reportเป็นรายงานประจำปีที่ฟรีดอมเฮาส์ (Freedom House) จัดทำตั้งแต่ปี 2011 เพื่อเป็นข้อมูลให้กับนักกิจกรรม สื่อมวลชน นักออกแบบนโยบาย ผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไปในการรณรงค์เพื่ออินเทอร์เน็ตที่มีเสรีภาพ เปิดกว้าง และปลอดภัย รายงานฉบับปี 2558 นี้ คณะทำงานของฟรีดอมเฮาส์ร่วมมือกับนักวิจัยจาก 65 ประเทศทั่วโลกจัดทำขึ้น โดยมีเกณฑ์การให้คะแนนจาก อุปสรรคในการเข้าถึง การจำกัดเนื้อหา และการละเมิดสิทธิผู้ใช้
รายงานฉบับนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศเนเธอร์แลนด์, สำนักงานประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและแรงงาน  กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา, กูเกิล, และยาฮู รายงานฉบับแปลภาษาไทยจัดทำโดยเครือข่ายพลเมืองเน็ตภายใต้ความร่วมมือกับฟรีดอมเฮาส์ อ่านรายงานต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ ที่นี่
freedom-on-the-net-thailand-2015
freedom-on-the-net-thailand-2015_2

บทนำ

ในช่วงระยะเวลาที่จัดทำรายงานนี้ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตไทยถูกคุกคามและถูกจับกุมเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่เคยเป็นมาก่อนการเกิดรัฐประหารในปี พ.ศ. 2557 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ประกาศกฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 จากนั้นอีกสองวันต่อมา ด้วยสถานะของหัวหน้าคณะรัฐประหารที่เรียกตนเองว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พล.อ. ประยุทธ์ ฉีกรัฐธรรมนูญ ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร และประกาศว่ารัฐบาลทหารจะปกครองประเทศเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี 5 เดือน ก่อนจะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป การรัฐประหารได้รับการประกาศผ่านทางสื่อทั้งหมด รวมทั้งเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์[1]
หลายสัปดาห์ต่อจากนั้น รัฐบาลทหารออกคำสั่งห้ามสื่อมวลชนที่มีอยู่ออกอากาศ มีการตรวจสอบเนื้อหาข่าวออนไลน์ ตลอดจนสอดส่องหรือจับกุมนักวิจารณ์หลายร้อยคน โดยอ้างความชอบธรรมของหลายมาตรการเหล่านี้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “คืนความสุขให้คนไทย” และให้เหตุผลว่าจำเป็นต้องควบคุมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในขณะที่สถานการณ์ยังคง “ไม่ปกติ” แต่แผนการของรัฐบาลทหารซึ่งรวมไปถึงการแก้ไขและเร่งรัดการตรากฎหมายใหม่ที่มีความสำคัญหลายฉบับจะมีผลกระทบยาวนาน[2] มีความพยายามออกชุดกฎหมาย “เศรษฐกิจดิจิทัล” ที่มีขอบเขตกว้างขวาง รวมทั้งกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงออนไลน์ฉบับแรกของประเทศและกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล ร่างกฎหมายเหล่านี้มาพร้อมกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากนักวิชาการเเละนักกิจกรรมเสรีภาพอินเทอร์เน็ตว่าจะส่งผลกระทบต่อความเป็นส่วนตัว จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และขัดขวางการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งตรงข้ามกับชื่อกฎหมายโดยสิ้นเชิง
ตั้งแต่เกิดรัฐประหาร มีการสอดส่องนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวอย่างโจ่งแจ้ง ประชาชนกว่า 400 คนถูกเรียกตัวมาซักถามในพื้นที่ทหารหลายแห่งทั่วประเทศไทย หลายคนถูกบังคับให้แจ้งรหัสผ่านอีเมลและเฟซบุ๊กเพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบการสื่อสารได้
รัฐใช้หลากหลายวิธีการในการละเมิดเสรีภาพผู้ใช้บริการออนไลน์ผ่านการดำเนินการในรูปของกฎหมายอาชญากรรมเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ซึ่งตราขึ้นหลังการทำรัฐประหาร พ.ศ. 2549 ควบคู่กับการดำเนินคดีหมิ่นประมาททางอาญา รวมทั้งใช้บทบัญญัติของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามประมวลกฎหมายอาญาลงโทษการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์อันพึงเป็นที่เคารพสักการะ ภายใต้กฎหมายเหล่านี้ รัฐบาลได้ดำเนินการปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์และหน้าสื่อสังคมออนไลน์นับหมื่นหน้า และจำคุกบุคคลจำนวนมากที่เผยแพร่ข้อมูลและความคิดเห็นออนไลน์หรือผ่านทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทุกคนสามารถกล่าวโทษเนื้อหาออนไลน์ใดๆ ในประเทศไทยว่ากระทำการหมิ่นประมาทหรือหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งเป็นการเปิดช่องให้บุคคลต่างๆ มีบทบาทในการฟ้องคดีกับฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง หรือเพื่อกีดกันการเคลื่อนไหวของพลเมืองในสภาพแวดล้อมทางการเมืองที่มีการแบ่งขั้วอย่างรุนแรง ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร จำเลยในคดีเหล่านี้จะถูกดำเนินคดีในศาลทหาร ซึ่งลงโทษสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญเเละไม่สามารถอุทธรณ์ได้ เมื่อ พ.ศ. 2558 มีการพิพากษาลงโทษจำคุกมากกว่า 50 ปีอย่างน้อย 2 ครั้งในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพผ่านการเเสดงความคิดเห็นออนไลน์ แต่ทั้งสองคดีศาลพิพากษาให้ลดโทษลงกึ่งหนึ่งเนื่องจากจำเลยรับสารภาพ

อุปสรรคในการเข้าถึง

อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากโครงการของรัฐบาลที่เปิดโอกาสให้อินเทอร์เน็ตมีราคาที่เข้าถึงได้ แม้การใช้อินเทอร์เน็ตจะกระจุกตัวเข้มข้นในกรุงเทพมหานครเเละเมืองศูนย์กลางอื่นๆ รวมทั้งความเร็วและคุณภาพบริการอินเทอร์เน็ตจะยังแตกต่างกันก็ตาม หลังการรัฐประหารเดือนพฤษภาคม .. 2557 เจ้าหน้าที่ประกาศความตั้งใจที่จะใช้ซิงเกิลเกตเวย์กับอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ ซึ่งอาจจะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมหรือแม้กระทั่งปิดกั้นการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศได้

ความพร้อมในการใช้งานเเละความยากง่ายในการเข้าถึง

อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในปี พ.ศ. 2557 อยู่ที่ร้อยละ 29 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 26 ในปี พ.ศ. 2556 และในช่วงเดียวกันนี้เอง อัตราการเข้าถึงผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 140 เป็นร้อยละ 144[3] ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตไทยส่วนใหญ่และผู้ใช้สมาร์ทโฟนส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และภาคใต้ ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนเฉลี่ยสูง อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ต่ำสุดในประเทศคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนหนึ่งเนื่องจากขาดแคลนบริการ[4]
ในช่วงเวลาที่จัดทำรายงานฉบับนี้ รัฐบาลทหารอนุมัติงบประมาณ 1,980 ล้านบาท ให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเพื่อขยายการให้บริการไฟฟ้าสู่พื้นที่ห่างไกล[5] ภายใต้โครงการ “คืนความสุขให้คนไทย” คสช. ยังดำเนินโครงการไอซีทีฟรีไวไฟ (ICT Free WiFi) ที่รัฐบาลก่อนหน้าริเริ่มไว้ต่อ โครงการนี้ได้รับทุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ให้บริการเชื่อมต่อไร้สายในอาคารรัฐบาลและอาคารเอกชนต่างๆ สามารถรองรับผู้ใช้บริการ 15 ราย ที่ใช้เลขประจำตัวประชาชนลงทะเบียนพร้อมกันเพื่อใช้งานฟรีครั้งละ 20 นาที รวมทั้งหมดไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน ในปี พ.ศ. 2557 โครงการฟรีไวไฟติดตั้งจุดเชื่อมต่อ 120,000 จุดทั่วประเทศ ภายใต้ความร่วมมือกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่ได้รับคัดเลือก และมีเป้าหมายที่จะติดตั้งจุดเชื่อมต่อเพิ่มอีก 130,000 จุด ภายใน พ.ศ. 2558 [6] [7]
ผลส่วนหนึ่งจากความพยายามดังกล่าว ทำให้ตัวเลขทางการในปี พ.ศ. 2556 ระบุว่าประชากรไทยร้อยละ 39 สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และอีกร้อยละ 23 เสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า 200 บาทต่อเดือน[8] โดยมีรายงานว่าการเชื่อมต่อมีความเร็วประมาณ 12 Mbps[9] และมีเสถียรภาพในการใช้งานมากที่สุดในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล

การจำกัดการเชื่อมต่อ

ที่ผ่านมา รัฐบาลไม่เคยดำเนินการปิดกั้นหรือบีบการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตด้วยเหตุผลทางด้านการเมืองและความมั่นคง ทว่า ภายในอาทิตย์เดียวของการรัฐประหารเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า จะนำเสนอโครงการ “อินเทอร์เน็ตดิจิตอลเกตเวย์แห่งชาติ” สำหรับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) เพื่อใช้ในการเชื่อมต่อกับต่างประเทศ ความคิดริเริ่มนี้จะเป็นความร่วมมือระหว่าง บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) สองผู้ประกอบการโทรคมนาคมของรัฐที่มีเกตเวย์ของตัวเองและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตอื่นๆ อีก 6 ราย รัฐมนตรีช่วยฯ กล่าวว่า โครงการนี้จะช่วยให้กระทรวงไอซีทีขัดขวางการเข้าถึงได้โดยตรงโดยง่าย[10] แม้ไม่มีการประกาศพัฒนาโครงการดังกล่าวต่อในช่วงที่จัดทำรายงานฉบับนี้ แต่มีรายงานข่าวในช่วงปลายปี พ.ศ. 2558 ว่า หน่วยงานภาครัฐกำลังสำรวจพื้นฐานทางกฎหมายสำหรับโครงการซิงเกิลเกตเวย์อยู่
ปริมาณการใช้แบนด์วิดท์ระหว่างประเทศของไทยอยู่ที่ 1,563 Gbps เมื่อเดือนพฤษภาคม 2558 และการใช้แบนด์วิดท์ภายในประเทศอยู่ที่ 2,323 Gbps เพิ่มขึ้นร้อยละ 195 และร้อยละ 132 ตามลำดับเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา[11]

ตลาดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

พ.ศ. 2557 จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตแบบเชื่อมต่อผ่านสายโทรศัพท์ลดลง ในขณะที่จำนวนผู้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูล ณ สิ้นปี พ.ศ. 2557 ประเทศไทยมีจำนวนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 97.10 ล้านเลขหมาย หรือเฉลี่ย 1.4 เลขหมายต่อคน ประชาชนไทยใช้จ่ายค่าโทรศัพท์เคลื่อนที่เฉลี่ย 192 บาทต่อเดือน[12]
อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงยังคงกระจุกตัวในมือผู้ให้บริการรายใหญ่ ตามสถิติที่ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2557 ทรูอินเทอร์เน็ตยังคงเป็นผู้นำตลาด โดยมีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 37 ตามมาด้วยทีโอที ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 31 และ 3BB ร้อยละ 29 ขณะที่ผู้ให้บริการรายอื่นๆ รวมกันมีส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 4 เท่านั้น[13]

หน่วยงานกำกับดูแล

ตั้งแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม มีข่าวเกี่ยวกับความคืบหน้าของแผนการและนโยบายที่กระทรวงไอซีทีประกาศก่อนหน้านี้น้อยมาก ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงเพราะรัฐบาลทหารมีอำนาจรวมศูนย์ แต่เนื่องจากกระทรวงไอซีทีเองอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านที่มีแนวโน้มจะนำไปสู่การสับเปลี่ยนอำนาจด้วย ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2557 และมกราคม พ.ศ. 2558 คณะรัฐมนตรีอนุมัติร่างกฎหมายจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ยังไม่ทราบชื่อย่อทางการ) เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2558 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการเปลี่ยนชื่อกระทรวงไอซีทีเป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งการปรับโครงสร้างให้สอดคล้องกับคณะกรรมการชุดย่อยที่ระบุไว้ในร่างกฎหมายการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ โครงสร้างพื้นฐานด้านการบริการ สังคมดิจิทัล ทรัพยากรความรู้ และการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล แต่กระบวนการกลับชะงักท่ามกลางความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในการวางตำแหน่งคำว่า “ดิจิทัล” ในชื่อกระทรวง และสถานะของกระทรวงที่ยังไม่ชัดเจนในตอนท้ายของช่วงเวลาที่จัดทำรายงานฉบับนี้[14]
คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งประกอบด้วยกรรมการ 11 คน เป็นหน่วยงานกำกับดูแลอิสระที่ถือว่ามีความเป็นธรรมระดับหนึ่ง[15] ยังคงทำหน้าที่จัดการอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ณ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2558 แต่บทบาทของ กสทช. ก็ตกอยู่ภายใต้การคุกคาม การแก้ไข พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (พ.ร.บ.กสทช.) จะเปลี่ยนสภาพ กสทช. จากหน่วยงานกำกับดูแลอิสระเป็นหน่วยงานของรัฐภายใต้อำนาจของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานร่างชุดกฎหมายดิจิทัลกล่าวว่า กสทช. จะยังคงเป็นอิสระภายใต้กฎหมายฉบับปรับปรุงใหม่ แต่รัฐจะเป็นผู้ดูแลนโยบาย โดยคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะมีอำนาจในการลงโทษหน่วยงานภาครัฐบาลหรือเอกชนที่ไม่ปฏิบัติตามกฎ และจะทำหน้าที่ควบคุมการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อการใช้งานของรัฐและเพื่อประโยชน์สาธารณะ ส่วน กสทช. มีหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่เพื่อการพาณิชย์เท่านั้น[16] นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงนี้จะเป็นอุปสรรคต่อการจัดสรรคลื่นความถี่ของไทย
การออกกฎหมายต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ “เศรษฐกิจดิจิทัล” ที่รัฐบาลกล่าวว่าจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจ ในช่วงท้ายของระยะเวลาการจัดทำรายงานนี้ มีกฎหมายใหม่ทั้งหมด 10 ฉบับหรือกฎหมายฉบับแก้ไขกำลังอยู่ระหว่างรอการพิจารณาจากคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อนที่จะส่งต่อไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร กฎหมายทุกฉบับล้วนมีเรื่องที่น่ากังวลอยู่[17] ภาคประชาสังคมและผู้มีบทบาทภาคเอกชนมองว่ากฎหมายเหล่านี้จะเป็นอุปสรรค และยังวิพากษ์วิจารณ์การมุ่งเน้นสร้างหน่วยงานใหม่ที่มีอำนาจอย่างกว้างขวาง ร่างกฎหมายนี้ยังโอนทรัพย์สินของ กทปส. ภายใต้ พ.ร.บ.กสทช. ที่ใช้อยู่มาอยู่ภายใต้ “กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม” ที่ตั้งขึ้นมาใหม่ ขณะที่ กทปส. ดำเนินงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนทางการเงินแก่ภาครัฐหรือเอกชนที่เป็น “ผู้ประกอบการเศรษฐกิจดิทัล” ซึ่งอาจทำให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน[18] นอกจากนี้ ร่างกฎหมายยังกำหนดว่าผู้แทนจากหน่วยงานที่รัฐเป็นเจ้าของ เช่น บริษัททีโอที และบริษัท กสท โทรคมนาคม ซึ่งเป็นผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมที่ดำเนินงานภายใต้ใบอนุญาตจาก กสทช. จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติด้วย ในทางปฏิบัติจะทำให้บริษัทในการกำกับดูแลมีอำนาจเหนือผู้กำกับดูแล เป็นการบ่อนทำลายหลักการของการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม[19]
เมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 คสช. ออกคำสั่งให้ชะลอการประมูลคลื่นความถี่ 4G ไปอีกหนึ่งปี[20] นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ความล่าช้าอาจเป็นไปเพื่อให้กฎหมายใหม่ที่กำลังจะออกให้อำนาจควบคุมแก่คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมากขึ้น[21] คาดว่าการประมูลไม่น่าจะเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2558 เนื่องจากการขาดการเตรียมการ[22]

ข้อจำกัดด้านเนื้อหา

นับตั้งแต่การรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม พ.. 2557 ทั้ง คสชและรัฐบาลที่คณะรัฐประหารแต่งตั้งได้ออกคำสั่งและประกาศจำนวนมากเพื่อปิดกั้นเนื้อหาออนไลน์โดยตรงหากพบว่าเนื้อหานั้นเกี่ยวข้องกับการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ไทย คสชหรือรัฐบาล รูปแบบของการเซ็นเซอร์เปลี่ยนแปลงจากการดำเนินการปิดกั้นหลังได้รับคำสั่งศาลตามกฎหมายไทยว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาเป็นการร้องขอ ความร่วมมือ” ด้วยวาจา แม้จะมีการเซ็นเซอร์ที่แพร่หลายมากขึ้นและมีแรงกดดันจากเจ้าหน้าที่ แต่พื้นที่ออนไลน์ยังคงเป็นที่รวมตัวที่ง่ายที่สุดสำหรับนักกิจกรรมเเละผู้เห็นต่าง

การสกัดกั้นและการกรองเนื้อหา

แม้ประเทศไทยจะมีการเซ็นเซอร์เว็บไซต์อย่างหนักเป็นเวลานาน แต่หลังรัฐประหารกระบวนการเซ็นเซอร์ก็ยิ่งง่ายและเร็วขึ้น ในช่วงระยะเวลาการจัดทำรายงานชิ้นนี้ คสช. ออกคำสั่งเเละประกาศหลายฉบับมาควบคุมเนื้อหา ดังนี้
  • ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 18/2557 ห้ามเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ, ความสงบ และความเป็นระเบียบเรียบร้อย
  • ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 12/2557 ขอให้ผู้ใช้และผู้ประกอบการสื่อสังคมออนไลน์ป้องกันเนื้อหาที่ยั่วยุให้เกิดความรุนแรง กระตุ้นให้เกิดการประท้วง หรือต่อต้านการปกครองของ คสช.
  • ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 17/2557 ให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเฝ้าระวังและป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือนข้อเท็จจริงใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความไม่สงบ หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ
  • ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 26/2557 ให้ตัวแทนของกองทัพเฝ้าระวังและสอดส่องสื่อสังคมออนไลน์[23]
นอกเหนือจากคำสั่งเหล่านี้ กสทช. ในฐานะผู้กำกับดูแล ยังขอให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเฝ้าระวังและเซ็นเซอร์เนื้อหาออนไลน์ที่อาจทำให้เกิดความขัดแย้งและขัดขวางความความสงบเรียบร้อยด้วย[24]
ก่อนการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 แม้ไม่ค่อยมีความโปร่งใส แต่ขั้นตอนการปิดกั้นเว็บไซต์ก็เป็นไปอย่างเข้มงวด เจ้าพนักงานตามกฎหมายของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (กระทรวงไอซีที) จะต้องได้รับหมายศาลหลังจากได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ เพื่อปิดกั้นเว็บไซต์ตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หลังรัฐประหาร ข้าราชการระดับใดก็ตาม รวมทั้งพนักงานผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต มีอำนาจในการปิดกั้นเว็บไซต์โดยตรงด้วยวิจารณญาณของตนเอง โดยใช้อำนาจภายใต้คำสั่ง คสช. ข้างต้นรองรับ เป็นผลให้ไม่มีสถิติการเซ็นเซอร์อย่างเป็นทางการอีก
เนื้อหาที่ถูกเซ็นเซอร์มากที่สุดหลังการทำรัฐประหารแบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก คือ การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ไทย และการวิจารณ์ คสช. หรือรัฐบาลที่คณะรัฐประหารแต่งตั้ง เว็บไซต์ที่ถูกปิดกั้นนั้นรวมถึงเว็บไซต์ข่าวต่างประเทศ เช่น รอยเตอร์ และหนังสือพิมพ์เดลิเมลจากสหราชอาณาจักร เว็บไซต์ข่าวในประเทศ เช่น ประชาธรรม เว็บไซต์ของกลุ่มสิทธิมนุษยชน เช่น องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ เว็บไซต์ทางวิชาการ เช่น มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนและนิติราษฎร์ เว็บไซต์ส่วนบุคคลของบล็อกเกอร์และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เฟซบุ๊ก และหน้าเว็บของยูทูบที่มีเนื้อหา[25]ต่อต้านรัฐประหาร

การนำเนื้อหาออกจากระบบ

หลังรัฐประหาร การร้องขอให้นำเนื้อหาออกจากระบบมีลักษณะเช่นเดียวกับการปิดกั้นการเข้าถึง เป็นกระบวนการที่เร่งรัดเเละกระจายอำนาจออกจากศูนย์กลาง กระบวนการใหม่ไม่เป็นระบบ และขาดการประสานงานจนแทบจะเป็นการดำเนินการตามอำเภอใจ เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558 ซีเอส ล็อกซอินโฟ (CS Loxinfo) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เรียกผู้ดูแลเว็บไซต์ของสำนักข่าวสถาบันอิศรามาแจ้งให้นำบทความข่าวเปิดเผยสินทรัพย์ของน้องชายผู้นำรัฐบาลทหารออกจากเว็บไซต์ ซีเอส ล็อกซอินโฟ บอกว่าบทความนี้เป็นการสร้างความแตกแยก แต่เมื่อผู้ดำเนินการเว็บไซต์ติดต่อกระทรวงไอซีที กระทรวงกลับไม่สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของคำขอให้นำเนื้อหาออกจากระบบได้[26]
คสช. ยังคุกคามบุคคลเพื่อให้ลบเนื้อหาจากหน้าสื่อสังคม ในช่วงกลางปี พ.ศ. 2557 นายธนาพล อิ๋วสกุล สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ผู้พิมพ์นิตยสารฟ้าเดียวกัน เป็นหนึ่งในบุคคลจำนวนมากที่ คสช. ควบคุมตัวในระยะเวลาสั้นๆ เเละบังคับให้ลงชื่อในเงื่อนไขการปล่อยตัวว่าจะไม่วิพากษ์วิจารณ์การรัฐประหารต่อสาธารณะ กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ธนาพลเผยแพร่ความคิดเห็นของตนเกี่ยวกับ คสช. และนโยบายของรัฐบาลในบัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัว เจ้าหน้าที่ทหารโทรศัพท์สั่งให้ธนาพลลบเนื้อหาออก โดยให้เหตุผลว่าเขาจะต้องไม่โพสต์เนื้อหาทางการเมืองที่อาจสร้างความเข้าใจผิดหรือ “ทัศนคติที่ไม่ดี” ต่อรัฐประหาร ธนาพลจึงลบเนื้อหานั้น แต่เปลี่ยนเป็นการบันทึกการสนทนาบนเฟซบุ๊กแทน[27] ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2557 เพจฟ้าเดียวกันบนเฟซบุ๊กโพสต์เรื่องเจ้าหน้าที่ทหารรบกวนกิจกรรมในงานมหกรรมหนังสือที่มีนักเขียนและนักวิชาการด้านการเมือง เจ้าหน้าที่ทหารสั่งให้ธนาพลลบเนื้อหาโดยอ้างว่าทำให้รู้สึกไม่สบายใจ[28]
มีการสั่งให้นักกิจกรรมหยุดใช้เฟซบุ๊กเพื่อการสื่อสาร อาทิ กฤษฎากร ศิลารักษ์ (Krisdakorn Silalaksa) ได้รับคำสั่งจากทหารให้ยุติกิจกรรมบนเฟซบุ๊กเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2557 กฤษฎากรเป็นผู้สนับสนุนสำคัญที่เรียกร้องให้รัฐเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล จังหวัดอุบลราชธานี เป็นการถาวร เพื่อให้ชาวบ้านทำประมงได้ (เขื่อนปากมูลเป็นประเด็นระหว่างเครือข่ายนักเคลื่อนไหวระดับรากหญ้าและรัฐบาลไทยมาทุกยุคทุกสมัย) และกองทัพยังขอให้เขาปิดเฟซบุ๊กส่วนตัวของตนเนื่องจากมีความคิดเห็นที่ “ไม่เหมาะสม” ด้วย[29]
เฟซบุ๊กลบเนื้อหาที่พิจารณาได้ว่าเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ 30 ครั้งในช่วงครึ่งหลังปี พ.ศ. 2557  การลบเนื้อหามาจากคำร้องขอของกระทรวงการต่างประเทศ หรือศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย (ไทยเซิร์ต) นี่แสดงให้เห็นว่าอัตราการขอให้ลบเนื้อหาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับในช่วงครึ่งปีแรกของ พ.ศ. 2557 ที่มีคำขอให้ลบ 5 ครั้ง เเละเมื่อช่วงปลาย พ.ศ. 2556 ซึ่งไม่มีการลบเนื้อหา[30]

สื่อ ความหลากหลาย และการจัดการเนื้อหา

คำสั่งควบคุมเนื้อหาที่เพิ่มขึ้นอย่างกะทันหัน ทำให้เกิดการเซ็นเซอร์ตัวเองและทำลายความหลากหลายของข้อมูลที่มีอยู่บนอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ประกาศ คสช. ฉบับที่ 14/2557 ห้ามสื่อสัมภาษณ์ผู้มีบทบาททางการเมืองใดๆ ที่ไม่ได้เป็นข้าราชการพลเรือน กระนั้น ผู้นำรัฐบาลทหารที่แต่งตั้งตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรีเฉพาะกาลสามารถเเสดงมุมมองของตัวเองทั่วประเทศทางโทรทัศน์ในช่วงไพรม์ไทม์สัปดาห์ละหลายครั้ง
ผู้สื่อข่าวที่พยายามข้ามข้อจำกัดจะถูกตำหนิ นางสาววาสนา นาน่วม หนึ่งในผู้สื่อข่าวสายทหารที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศไทย เล่าชีวิตประจำวันอดีตนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ถูกยึดอำนาจ ลงในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ในรูปของการบรรยายโดยหลีกเลี่ยงรูปแบบการสัมภาษณ์ วาสนาถูก คสช. ตำหนิวาสนาอย่างรุนแรงและเธอต้องขอโทษ คสช. ต่อสาธารณชน บทความนี้ถูกลบออกจากเว็บไซต์บางกอกโพสต์[31]
สื่อหลายเจ้าเลือกที่จะเซ็นเซอร์ตนเองในบรรยากาศที่กดขี่ เช่น รายการเจาะข่าวตื้น ซึ่งเป็นรายการโทรทัศน์เชิงเสียดสียอดนิยมทางอินเทอร์เน็ต งดออกอากาศชั่วคราวหลังจากการทำรัฐประหารจนถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2557[32] นายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา พิธีกรรายการโทรทัศน์ ประกาศเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2557 ว่าตัดสินใจยุติรายการที่ออกอากาศทางรายการ อัมรินทร์ นิวส์ไนท์ ที่ออกอากาศทางโทรทัศน์ดิจิทัลช่องใหม่ช่องหนึ่ง เพื่อรักษาหลักการตามวิชาชีพ[33]
ไม่มีเอกสารปรากฏต่อสาธารณะว่ามีผู้ใดได้รับเงินตอบแทนการบิดเบือนเนื้อหาทางการเมืองบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในรอบปีที่รายงาน แม้เจ้าหน้าที่สนับสนุนประชาชนให้ตรวจสอบเนื้อหาออนไลน์ของผู้อื่น (โปรดพิจารณาส่วน การสอดแนม ความเป็นส่วนตัว และการไม่อาจระบุตัวตนบนอินเทอร์เน็ต) และยังมีกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นเพื่อข่มขู่คุกคามฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลทหารด้วย (โปรดพิจารณาส่วน การข่มขู่และความรุนแรง)

กิจกรรมการเคลื่อนไหวดิจิทัล

แม้จะมีจำนวนการข่มเหงและการจับกุมเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่รัฐประหาร พื้นที่ออนไลน์ยังคงเป็นช่องทางแสดงความคิดเห็นที่ทรงพลังให้บุคคลหลากหลายกลุ่มใช้ในการสื่อสารและจัดกิจกรรมทางการเมือง ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 มูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง ซึ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลายภายใต้ชื่อเดิมว่า “เครือข่ายพลเมืองเน็ต” รวบรวมรายชื่อ 20,000 รายชื่อเพื่อคัดค้านกฎหมายดิจิทัลของรัฐบาลทหาร 10 ฉบับ ด้วยเหตุผลว่าเป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็นและละเมิดความเป็นส่วนตัว ทั้งการยกร่างกฎหมายยังขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน[34]จากการประท้วง ฝ่ายยกร่างกฎหมายของรัฐบาลกล่าวว่าจะฟังความคิดเห็นของประชาชน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาจะจัดการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะขึ้นต่อร่างกฎหมายเหล่านี้ฉบับหนึ่งในภายหลัง แต่กระบวนการก็ยังคงเป็นความลับเช่นเคย
นักกิจกรรมและนักวิชาการผู้ตรงไปตรงมาจำนวนไม่น้อยหลบหนีออกนอกประเทศหลังรัฐประหารแต่ยังคงเคลื่อนไหวโดยใช้สื่อสังคมออนไลน์ เช่น สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักประวัติศาสตร์ที่โดดเด่นและอดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ต้องย้ายไปต่างประเทศแต่ยังคงเผยแพร่ข้อคิดเห็นและบทวิเคราะห์ทางการเมืองผ่านเฟซบุ๊ก การที่ตัวอยู่นอกประเทศช่วยให้คนเหล่านี้แสดงความคิดเห็นได้ตรงไปตรงมามากขึ้น

การละเมิดสิทธิผู้ใช้อินเทอร์เน็ต

จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต บล็อกเกอร์ นักข่าวพลเมือง และสื่ออิสระที่ถูกคุกคาม พ.. 2557 และ พ.. 2558 ปรากฏขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน นอกเหนือจากการใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างรุนแรง เช่น กฎหมายการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คสชยังดำเนินการภายใต้กฎอัยการศึก รวมทั้งออกกฎหมายและคำสั่งที่ละเมิดสิทธิออนไลน์อย่างรุนแรงจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีชุดร่างกฎหมายดิจิทัล10 ฉบับที่คณะรัฐมนตรีผลักดันในช่วงปลายปี พ.. 2557 และต้นปี พ.. 2558  ซึ่งมีแนวโน้มที่จะมีผลกระทบในระยะยาวต่อชุมชนออนไลน์ของไทยหากกฎหมายเหล่านั้นมีผลบังคับใช้ เพราะทำให้รัฐบาลมีอำนาจเฝ้าระวังและเซ็นเซอร์อย่างกว้างขวาง

สภาพแวดล้อมทางกฎหมาย

มาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ประกันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในวงกว้าง แต่เมื่อถูกแทนที่ด้วยรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 หลังรัฐประหาร แม้ว่าจะมีการรับรองสิทธิลักษณะเดียวกัน แต่ประเทศไทยยังคงอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก ซึ่งห้ามบุคคลและสื่อจัดกิจกรรมทางการเมืองใดๆ ในพื้นที่สาธารณะ
ขณะที่รอบปีที่ผ่านมา เครื่องมือทางกฎหมายหลักที่ใช้ตั้งข้อหาผู้ใช้อินเทอร์เน็ตยังคงเป็นข้อหาเรื่องการ “ละเมิดความมั่นคงแห่งชาติ” ภายใต้กฎหมายสองฉบับ คือ มาตรา 14 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ) ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่าด้วยกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ รวมเอาการเเสดงความคิดเห็นออนไลน์เหล่านี้เป็นอาชญากรรมแบบเดียวกับการเจาะระบบหรือการเผยแพร่สื่อลามกอนาจาร และ คสช. ยังออกกฎหมายและคำสั่งอื่นๆ อีกหลายฉบับที่เป็นการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
การบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่และคำสั่ง คสช. รุนแรงมากขึ้นหลังจากการประกาศคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 37/2557 ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 ซึ่งระบุว่าพลเมืองที่ประกอบกิจกรรมทางการเมืองจะได้รับการไต่สวนในศาลทหาร ศาลทหารที่ไต่สวนคดีเหล่านี้เป็นศาลที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จโดยไม่มีขั้นตอนการอุทธรณ์หรือศาลชั้นที่สูงขึ้นไปอีก ในหลายคดีที่มีการตัดสินลงโทษผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต ศาลทหารตัดสินลงโทษที่รุนแรงกว่า ในกรณีของคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพระหว่างปี 2553-2557 (ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จำนวนของคดีที่ถูกฟ้องร้องเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน) ศาลพลเรือนมีคำตัดสินลงโทษจำคุกโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 4.4 ปีจากอัตราโทษระหว่าง 3-15 ปี แต่หลังจากรัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา ศาลทหารตัดสินลงโทษจำคุกโดยเฉลี่ย 10 ปี และลดโทษเหลือ 5 ปีหลังจากรับสารภาพ[35]
คณะรักษาความสงบแห่งชาติกำลังผลักดันนโยบาย “เศรษฐกิจดิจิทัล” ผ่านร่างกฎหมาย 10 ฉบับที่จะแก้ไขกฎหมายพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์, กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์, กฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม และกฎหมายสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และจะเกิดกฎหมายใหม่สำหรับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์, กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล, การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล, กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม[36]
การแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ภายใต้ชื่อคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจะเป็นศูนย์กลางของนโยบาย และจะมีหน้าที่รับผิดชอบการออกแบบข้อบังคับในทุกด้านสำหรับเรื่องเทคโนโลยีและดิจิทัล นายสิทธิชัย โภไคยอุดม ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี อธิบายการให้อำนาจอย่างกว้างขวางต่อคณะกรรมการชุดนี้ว่าเป็นความพยายามที่จะพัฒนาความล้มเหลวของยุทธศาสตร์การทำให้เกิดรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ในอดีต แม้นโยบายนี้จะดูเหมือนเป็นการเปิดทางให้มีการควบคุมออนไลน์มากขึ้น ร่างกฎหมายคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกำหนดให้คณะกรรมการฯ มีอำนาจเหนือกระทรวงและหน่วยงานรัฐบาลอื่นๆ ทั้งหมด รวมถึงอำนาจในการดำเนินการทางวินัยต่อเจ้าหน้าที่รัฐหรือพลเมืองที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการฯ[37] กฎหมายเหล่านี้ยังให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการตรวจสอบข้อมูลสารสนเทศได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายโดยไม่จำเป็นต้องมีหมายและขึ้นอยู่กับสิ่งที่คาดว่าจะเป็น “ภัยคุกคาม” ซึ่งไม่ได้มีการให้คำจำกัดความอย่างเหมาะสมไว้ในร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์
การเสนอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่แม้จะไม่ได้รวมอยู่กับชุดกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลแต่อยู่ในระหว่างรอการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดักจับข้อมูลการสื่อสารของประชาชนภายใต้การอนุมัติของผู้บังคับการและศาล ร่างกฎหมายนี้กำหนดขอบเขตของประเภทการกระทำความผิดที่จะทำให้การดักจับข้อมูลถูกต้องตามกฎหมายไว้อย่างกว้างขวาง นอกเหนือจากการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐและการกระทำผิดที่เป็นองค์กรอาชญากรรม ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้รวมหมวดการกระทำผิดที่กว้างขวาง เช่น อาชญากรรมที่ “ยุ่งยากซับซ้อน”[38]
ภายใต้ร่างกฎหมายอีกฉบับสำหรับ “ป้องกันและปราบปรามสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตราย” เจ้าพนักงานจะต้องขอหมายในการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งมีเหตุอันควรสงสัยว่าจะยั่วยุพฤติกรรมการกระทำวิปริตทางเพศ, ความสัมพันธ์หรือการกระทำทางเพศกับเด็ก, การฆ่าตัวตายของเด็ก, การกระทำทารุณกรรมต่อเด็ก, การอัตวินิบาตกรรมหมู่, การใช้สารเสพติด, การก่อการร้าย, การโจรกรรม, การฆาตกรรม หรือการกระทำอันทารุณ ภายใต้ร่างกฎหมายนี้ ผู้ผลิตและผู้เผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวต้องระวางโทษจำคุกหนึ่งถึงเจ็ดปีและมีโทษปรับสูงสุดเจ็ดแสนบาท ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ให้บริการ (ตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์) ที่รู้ว่ามีการกระทำความผิดดังกล่าวอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ที่ตนควบคุมและไม่ได้ทำการเอาข้อมูลเหล่านั้นออก จะต้องระวางโทษจำคุกสูงสุดห้าปีและปรับสูงสุดห้าแสนบาทเช่นกัน[39]
นอกเหนือจากเนื้อหาที่มีปัญหาในร่างกฎหมายเหล่านี้ นักวิเคราะห์มองว่าขั้นตอนการออกกฎหมายซึ่งขาดการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องหรือการประชาพิจารณ์นั้นมีลักษณะรีบร้อนและซ่อนเร้น ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมร่างกฎหมายอ้างว่า กระบวนการร่างกฎหมายแบบบนลงล่าง (top-down) นั้นเป็นผลมาจากความเร่งรีบในการกำหนดนโยบายภายใต้รัฐบาลเฉพาะกาล[40] แต่รัฐบาลนั้นก็ยังละเมิดผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและภาคประชาสังคมที่แสดงออกถึงความกังวลที่มีต่อร่างกฎหมายเหล่านี้ ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2558 เมื่อกลุ่มนักศึกษาได้จัดงานเสวนาในประเด็นสิทธิเสรีภาพภายใต้ร่างกฎหมายชุดนี้ เจ้าหน้าที่ทหารนายหนึ่งได้ข่มขู่กลุ่มผู้จัดงานเรื่องการไม่ได้ขออนุญาตล่วงหน้าสำหรับการจัดงานและเข้ามาเป็นหนึ่งในผู้อภิปรายโดยไม่ได้รับเชิญ[41] ต่อมาในเดือนเดียวกัน ภายใต้การตื่นตัวของการประท้วงออนไลน์ เจ้าหน้าที่รัฐยอมรับว่ารัฐบาลอาจจะนำข้อกฎหมายบางข้อที่สร้างความกังวลออกไปจากตัวร่างฯ, ควบรวมร่างกฎหมายบางฉบับให้เป็นกฎหมายใหม่ และจัดประชุมวงปิดเพื่อรับฟังเสียงวิจารณ์ก่อนจะนำเสนอตัวร่างฯ ที่ปรับแก้ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อออกเสียงรับรอง อย่างไรก็ตาม กระบวนการที่กล่าวมานี้ยังคงคลุมเครือไม่ชัดเจน[42]

การดำเนินคดีและการคุมขังกรณีกิจกรรมออนไลน์

หลังจากการรัฐประหาร คสช. ได้เรียกประชาชนจำนวนหลายร้อยคนเข้ารายงานตัวโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการปราบปราบผู้ที่อาจจะมีความเห็นต่าง และทำการจับกุมประชาชนที่ขับเคลื่อนให้มีการประท้วงในที่สาธารณะ ผู้ถูกจับกุมส่วนใหญ่ถูกควบคุมตัวเป็นเวลา 7 วัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาสูงสุดที่กระทำได้ตามกฎอัยการศึก สมบัติ บุญงามอนงค์ หนึ่งในนักกิจกรรมต้านรัฐประหารที่โดดเด่นตั้งแต่รัฐประหารในปี 2549 เป็นหนึ่งในรายชื่อที่ คสช. เรียกตัวทันทีหลังรัฐประหาร อย่างไรก็ตาม สมบัติปฏิเสธที่จะเข้ารายงานตัวโดยให้เหตุผลว่าอำนาจของ คสช. ไม่มีความชอบธรรม และยังคงโพสต์ข้อความต่อต้านรัฐประหารบนเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ในเดือนมิถุนายน 2557 สำนักข่าวกรองแห่งชาติแกะรอยตามหมายเลขไอพีที่สมบัติใช้งานไปยังที่พักของเขา สมบัติถูกตั้ง 3 ข้อหา คือ ไม่ตอบสนองต่อคำสั่งเรียกรายงานตัวของ คสช., สร้างความกระด้างกระเดื่อง และนำข้อมูลที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์[43] สมบัติได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวแต่คดีของเขายังคงอยู่ในศาลทหาร[44]
เจ้าหน้าที่มุ่งเป้าไปยังช่องทางข่าวอิสระซึ่งดำเนินการออนไลน์โดยปกปิดสถานที่เพื่อหลีกเลี่ยงการลงโทษจากรัฐบาลทหาร ณัฐ รุ่งวงษ์ (นามแฝง) บรรณาธิการของบล็อกและเว็บไซต์รวบรวมข่าวสาร ไทยอีนิวส์ (Thai E-News) ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่รัฐประหารปี พ.ศ. 2549 ถูกจับกุมเนื่องจากการเผยแพร่บทความที่มีเนื้อหาละเมิดกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แม้ว่าบทความจะเขียนโดยนักเขียนคนอื่นที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ[45] คดีของณัฐถูกตัดสินโดยศาลทหารในเดือนพฤศจิกายน 2557 ซึ่งลงโทษจำคุกเขา 9 ปี และลดโทษเหลือ 4 ปีครึ่งหลังรับสารภาพ[46] ในเดือนมิถุนายน 2557 คฑาวุธ (นามแฝง) นักจัดรายการวิทยุออนไลน์ถูกตั้งข้อหากระจายเสียงเนื้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ศาลทหารลงโทษจำคุก 10 ปีด้วยการพิจารณาคดีลับ และลดโทษเหลือ 5 ปีเนื่องจากคฑาวุธให้การรับสารภาพ[47] ในอีกกรณีหนึ่ง บรรพต (นามแฝง) นักจัดรายการวิทยุอีกรายถูกตั้งข้อหาการใช้สื่อออนไลน์ในการยุยงให้เกิดความเกลียดชังและเผยแพร่เนื้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในเดือนมกราคม 2558 กองทัพจับกุมบุคคลอย่างน้อย 6 คนที่เชื่อว่ามีความเกี่ยวข้องกับบรรพต ทั้งหมดถูกตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จำเลยทั้งหกถูกคุมขัง เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดถูกยึด และทุกคนถูกบังคับให้เปิดเผยข้อมูลชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านเฟซบุ๊ก ทั้งหกคนถูกกล่าวหาว่าใช้เฟซบุ๊กและยูทูบเพื่อเผยแพร่คำพูด, ภาพถ่าย และคลิปวิดีโอที่มีเนื้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ[48] ผู้คนทั่วไปไม่ทราบตัวตนของบุคคลต่างๆ เบื้องหลังไทยอีนิวส์, บรรพต หรือคฑาวุธ แต่ทั้งหมดมีกลุ่มผู้ติดตามจำนวนมาก
นอกเหนือจากสื่อและนักข่าวพลเมืองแล้ว คสช. ยังได้ดำเนินการทางกฎหมายกับกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วไปที่เผยแพร่เนื้อหาทางการเมือง:
  • อัครเดช นักศึกษามหาวิทยาลัย ถูกจับจากข้อความที่โพสต์ในเฟซบุ๊กในเดือนมิถุนายน 2557 และถูกตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ศาลตัดสินลงโทษจำคุกอัครเดช 5 ปี และลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 2 ปีครึ่งหลังรับสารภาพ[49]
  • ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชื่อว่า เฉลียว ถูกกล่าวหาว่านำคลิปเสียงจากรายการวิทยุของบรรพตซึ่งมีเนื้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเข้าสู่เว็บไซต์ 4shared เฉลียวถูก คสช. เรียกตัวในเดือนมิถุนายน 2557 และถูกคุมขังตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เฉลียวให้การรับสารภาพต่อข้อกล่าวหา ในเดือนสิงหาคม 2558 ศาลอาญาตัดสินจำคุกเฉลียว 3 ปี โดยให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี[50]
  • สิรภพ ถูกกล่าวหาว่าเป็นนักเขียนและกวีที่ใช้นามแฝงว่า “รุ่งศิลา” ถูกตั้งข้อหาเนื่องจากโพสต์บทกวี 3 ชิ้นที่มีเนื้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในเว็บไซต์ประชาไท เจ้าหน้าที่ทหาร 5 คนจับกุมสิรภพระหว่างที่เขากำลังเดินทางในเดือนกรกฎาคม 2557 คดีของสิรภพกำลังถูกพิจารณาลับในศาลทหาร[51]
  • ธเนศ (นามแฝง) ถูกกล่าวหาว่าส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเชื่อมโยงกับเนื้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในปี 2553 ธเนศถูกควบคุมตัวตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2557 คดีของธเนศกำลังถูกพิจารณาลับในศาลทหาร[52]
  • จารุวรรณ พนักงานโรงงานในจังหวัดราชบุรี ถูกกล่าวหาว่าโพสต์เนื้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในเฟซบุ๊ก จารุวรรณให้การปฏิเสธว่าไม่ได้โพสต์เนื้อหาดังกล่าวลงในเฟซบุ๊กและกล่าวว่าเธอถูกจัดฉาก ศาลทหารคุมขังจารุวรรณตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2557 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2558[53]
  • ปิยะ (นามแฝง) ถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กแต่ปฏิเสธ ในเดือนธันวาคม 2557 เจ้าหน้าที่ตั้งข้อหาปิยะเรื่องการเผยแพร่เนื้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในเฟซบุ๊ก คดีของปิยะยังคงรอคำตัดสินของศาล[54]
สถิติโทษจำคุกที่ยาวนานที่สุดในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2558 ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากที่จัดทำรายงานฉบับนี้ขึ้น ศศิวิมล วัย 29 ปี ถูกตัดสินจำคุก 56 ปี และลดเหลือ 28 ปีหลังให้การรับสารภาพจากกรณีเนื้อหาเฟซบุ๊ก 7 โพสต์ถูกพิจารณาว่าเป็นข้อความหมิ่นฯ[55]ในอีกคดีหนึ่ง พงษ์ศักดิ์ ศรีบุญเพ็ง ถูกตัดสินจำคุก 60 ปี และลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 30 ปี หลังให้การรับสารภาพจากกรณีโพสต์ดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ในเฟซบุ๊ก[56]
นอกเหนือจากการจับกุมผู้ใช้เฟซบุ๊กหลายคนแล้ว ตำรวจยังใช้โปรแกรมส่งข้อความในเฟซบุ๊กเป็น “เหยื่อล่อ” ให้ผู้ใช้เฟซบุ๊กเปิดเผยความรู้สึกที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ยกตัวอย่างเช่น กรณีผู้ใช้รายหนึ่ง ชื่อพงษ์ศักดิ์ (นามแฝง) ถูกเชิญให้เข้าร่วมการพูดคุยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ในโปรแกรมส่งข้อความในเฟซบุ๊ก รวมทั้งถูกชักชวนให้เดินทางไปยังอีกจังหวัดหนึ่ง ซึ่งเขาถูกจับกุมทันทีที่ไปถึง
ต่อมา ตำรวจได้ทำการจับกุม ชโย (นามแฝง) ด้วยข้อหาเดียวกันหลังจากบทสนทนาระหว่างพงษ์ศักดิ์และชโยในโปรแกรมส่งข้อความของเฟซบุ๊กที่ถูกบันทึกไว้แสดงให้เห็นว่าชโยส่งข้อความและรูปภาพที่มีเนื้อหาหมิ่นฯ ผ่านโปรแกรม[57]
เนื้อหาด้านวัฒนธรรมก็ถูกตรวจสอบอย่างละเอียดมากขึ้นด้วย ประเด็นนี้สะท้อนออกมาในคำตัดสินของศาลกรณีละครเวทีเชิงเสียดสีเรื่อง “เจ้าสาวหมาป่า” ที่มีการจัดแสดง ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเดือนตุลาคม 2556 นักกิจกรรม 2 คนที่ร่วมแสดงในละครเวทีเรื่องนี้ถูกดำเนินคดีในเวลาต่อมาและศาลตัดสินให้ทั้งสองมีความผิดในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทั้งสองคนได้รับโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน โดยทั่วไปแล้ว ศาลมักจะตัดสินให้รอลงอาญาสำหรับจำเลยที่ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน แต่ศาลปฏิเสธที่จะรอลงอาญาในคดีนี้ โดยให้เหตุผลว่าละครเวทีเรื่องนี้ได้ถูกเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต และถูกมองว่าเป็น “พฤติการณ์อันเลวร้าย”[58] ส่วนจักราวุธ อาชีพนักดนตรี ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊ก 3 บัญชีซึ่งโพสต์ข้อความหมิ่นฯ 9 ข้อความในช่วงปี 2554-2557 จักราวุธถูก คสช. เรียกรายงานตัวในเดือนกรกฎาคม 2557 และถูกไต่สวนคดีโดยศาลอาญาจังหวัดอุบลราชธานี ในเดือนกรกฎาคม 2557 จักราวุธถูกตัดสินจำคุก 30 ปี และลดเหลือ 15 ปีหลังรับสารภาพ[59]
เช่นเดียวกับบรรยากาศออนไลน์อื่นๆ อินเทอร์เน็ตไทยเต็มไปด้วยการให้ข้อมูลที่ผิดพลาด การบิดเบือนข้อมูล ข่าวเท็จ และข่าวลือ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะได้รับการเปิดเผยและแก้ไขโดยผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรายอื่น ข้อมูลดังกล่าวที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ได้กลายเป็นสาเหตุของการดำเนินคดีกับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในช่วงหลังรัฐประหาร ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ประกาศของสำนักพระราชวังฉบับเท็จเกี่ยวกับพระพลานามัยของพระมหากษัตริย์ถูกโพสต์และเผยแพร่อย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ ตำรวจทำการจับกุมผู้ใช้รายหนึ่งซึ่งตำรวจอ้างว่าเป็นผู้โพสต์รายแรก เช่นเดียวกับบรรณาธิการของเอเอสทีวี เว็บไซต์ข่าวกระแสหลักซึ่งโพสต์ประกาศฉบับเท็จและบทความที่เกี่ยวข้อง[60]
นอกจากกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและข้อความทางการเมืองแล้ว การหมิ่นประมาทเป็นอีกปัญหาที่มีมายาวนานในประเทศไทย มาตรา 14(1) ของกฎหมายอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ปัจจุบันถือว่า “การนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบ” นั้นมีโทษทางอาญา แม้ว่าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จและการหมิ่นประมาทจะเป็นสิ่งที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในทางกฎหมาย แต่การฟ้องประชาชนด้วยกฎหมายทั้งสองในเวลาเดียวกันได้กลายเป็นบรรทัดฐานที่เกิดขึ้น อัยการและผู้พิพากษาแสดงให้เห็นว่าขาดความเข้าใจในความแตกต่างระหว่างกฎหมายทั้งสอง และข้อเท็จจริงที่ว่า “ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ” ในสำนวนของอาชญากรรมไซเบอร์นั้นหมายถึงอาชญากรรมในทางเทคนิค เช่น การเจาะเข้าโปรแกรมหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่ความซื่อตรงของเสรีภาพออนไลน์ โจทก์ส่วนใหญ่ในคดีเหล่านี้คือเจ้าหน้าที่รัฐ
ตัวอย่างคดีของการใช้กฎหมายอาชญากรรมคอมพิวเตอร์และกฎหมายหมิ่นประมาทในปี 2557 และ 2558 ได้แก่:
  • กระทรวงพลังงานยื่นฟ้องหม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ เกษมศรี นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน จากการโพสต์ข้อความในบัญชีเฟชบุ๊กว่าน้ำมันดีเซลบางส่วนจากประเทศไทยถูกส่งไปจำหน่ายที่ลาวในราคาต่ำกว่าราคาน้ำมันในประเทศ คดีนี้ยังคงอยู่ในชั้นศาล[61]
  • กองทัพเรือฟ้องร้องเว็บไซต์ภูเก็ตหวานต่อการตีพิมพ์บทความที่ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์จากสำนักข่าวรอยเตอร์ซึ่งกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ของกองทัพเรือได้รับผลประโยชน์จากการลักลอบนำเข้าผู้ลี้ภัยโรฮิงญาจากประเทศพม่า กองทัพเรือปฏิเสธการให้สัมภาษณ์กับสื่อที่ประจำอยู่ในจังหวัดภูเก็ตและสั่งห้ามไม่ให้ผู้สื่อข่าวจากภูเก็ตหวานเข้ามาที่ฐานทัพ คดีนี้ยังอยู่ในชั้นศาลในช่วงเวลาที่มีการจัดทำรายงาน[62]
  • เนเชอรัลฟรุต บริษัทผลไม้กระป๋อง ฟ้องร้องนักกิจกรรมแรงงานข้ามชาติ แอนดี ฮอลล์ (Andy Hall) จากการเผยแพร่รายงานวิจัยที่กล่าวอ้างว่ามีการละเมิดสิทธิแรงงานในกระบวนการผลิตของบริษัท บริษัทกำลังฟ้องร้องแอนดี ฮอลล์ ใน 3 คดี หนึ่งในนั้นเป็นการใช้กฎหมายอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ เนื่องจากมีการเผยแพร่ตัวรายงานผ่านสื่อออนไลน์ คดียังคงอยู่ในชั้นศาล[63]
ในช่วงเวลาเดียวกัน ข้อหาอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ต่อนักข่าวหรือการหมิ่นประมาทบุคคลสาธารณะจำนวนหนึ่งจบลงที่โจทก์ตัดสินใจไม่ฟ้องคดีหรือศาลสั่งยกฟ้อง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นการฟ้องร้องที่ไม่อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง แต่เป็นการคุกคามผู้ถูกกล่าวหา กรณีตัวอย่างกรณีหนึ่งในเดือนสิงหาคม 2557 เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองได้ยื่นฟ้องมูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทยและสถาบันอิศรา กรณีนำเสนอข่าวเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองมีบันทึกส่วนตัวขอให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติสนับสนุนการโยกย้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่ง ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2557 ศาลอาญามีคำสั่งยกฟ้องโดยให้เหตุผลว่าโจทก์เป็นบุคคลสาธารณะจึงจำเป็นต้องยอมรับการตรวจสอบ และจำเลยได้แสดงความคิดเห็นโดยสุจริต[64] ในอีกกรณีหนึ่งจากเดือนกันยายน 2557 สถานีโทรทัศน์ช่องสามได้ยื่นฟ้อง สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. จากความเห็นในการให้สัมภาษณ์และทวีตประเด็นความขัดแย้งภายในของช่องในการเปลี่ยนผ่านมาสู่ระบบดิจิทัล ในเดือนธันวาคม 2557 สถานีโทรทัศน์ช่องสามได้ยื่นขอถอนฟ้อง[65]

การสอดแนม ความเป็นส่วนตัว และการไม่อาจระบุตัวตนบนอินเทอร์เน็ต

ในหลายกรณีที่ประชาชนถูกเรียกตัวหรือถูกจับกุม เจ้าหน้าที่ได้ทำการยึดสมาร์ทโฟนเพื่อสำรวจข้อมูลส่วนตัวและรูปภาพ หรือตรวจสอบความเป็นไปได้ที่จะเชื่อมโยงไปสู่บุคคลอื่นๆ ก่อนจะปล่อยตัวผู้ถูกกล่าวหา
คสช. ประกาศนโยบายชัดเจนในเรื่องการสอดแนมการสื่อสารของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต กฎหมายและคำสั่ง คสช. จำนวนหนึ่งได้ให้อำนาจการสอดแนมข้อมูลทางสื่อออนไลน์ไว้โดยเฉพาะ ในวันที่ 23 มิถุนายน 2557 สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ประกาศให้ประชาชนไทย “ช่วยกันเป็นหูเป็นตา” ให้กับรัฐ สมยศสนับสนุนให้ประชาชนถ่ายภาพใครก็ตามที่แสดงสัญลักษณ์ต่อต้านการรัฐประหารในที่สาธารณะและพื้นที่ออนไลน์แล้วส่งรูปภาพเหล่านั้นให้ตำรวจ หากตำรวจสามารถจับกุมและดำเนินคดีบุคคลในภาพได้ จะมีรางวัลให้เป็นเงิน 500 บาทต่อหนึ่งรูปภาพ สมยศยังสนับสนุนให้ประชาชนแจ้งข้อมูลให้กับตำรวจผ่านเพจเฟซบุ๊ก จ่าฮูก[66] กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมักจะให้สัมภาษณ์ว่ารัฐบาลไทยกำลังติดตามการสื่อสารส่วนตัว เช่น การใช้แอปพลิเคชันไลน์[67] หน่วยงานเดียวกันยังกล่าวมากกว่าหนึ่งครั้งว่าจะส่งเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานไปยังสำนักงานของสื่อโซเชียลที่ได้รับความนิยมอย่างเฟซบุ๊ก กูเกิล และไลน์ เพื่อขอความร่วมมือในการระงับการใช้บัญชีของผู้ใช้งานจำนวนหนึ่ง ไม่มีการยืนยันจนปัจจุบันว่าบริษัทเหล่านี้ให้ความยินยอมหรือไม่[68] หลังจากมีการจัดประชุมระหว่าง คสช. กูเกิล และเฟซบุ๊ก ขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์ในเดือนพฤษภาคม 2557[69] ประกาศ คสช. ฉบับที่ 26/2557 ได้ให้อำนาจกับหน่วยงานทหารในการสอดแนมและตรวจสอบการใช้สื่อโซเชียล[70]
ในเดือนกันยายน 2557 มีรายงานข่าวว่ากระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้มีคำสั่งให้ผู้บริการอินเทอร์เน็ตทุกรายติดตั้งเครื่องมือสอดแนมไว้ที่ศูนย์ข้อมูลของผู้ให้บริการ โดยทดลองนำมาใช้งานตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2557[71] ผู้ใช้บางรายคาดเดาว่าจะใช้เครื่องมือนี้กับเว็บไซต์ยอดนิยมอย่างกูเกิลและยาฮูในรูปแบบการโจมตีจากคนกลาง (man-in-the-middle attack) โดยการสร้างเว็บไซต์ปลอมที่ไม่ปกป้องข้อมูลของผู้ใช้งาน เพื่อให้ผู้ใช้งานใส่ชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านก่อนที่จะไปถึงชั้นของการเข้ารหัสที่ปกป้องข้อมูลของผู้ใช้งานในหน้าเพจจริง[72]
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ผู้ใช้โทรศัพท์แบบชำระเงินล่วงหน้าและผู้ใช้สัญญาณไวไฟฟรีทั่วประเทศต้องลงทะเบียนก่อนวันที่ 31 กรกฎาคม 2558[73]
โครงการลูกเสือไซเบอร์ที่ริเริ่มขึ้นมาในปี 2554 ยังคงดำเนินต่อไป เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและกระทรวงศึกษาธิการ ฝึกอบรมนักเรียนให้สอดส่องและรายงานพฤติกรรมออนไลน์ที่อาจจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ปัจจุบันมีลูกเสือไซเบอร์มากกว่า 120,000 คนจาก 88 โรงเรียนทั่วประเทศ หลักสูตรลูกเสือไซเบอร์เน้นไปที่การหาสมาชิกใหม่และอบรมผู้นำไซเบอร์[74]

การคุกคามและความรุนแรง

หลายกรณีที่เกิดขึ้นในการเรียกตัวของ คสช. แสดงให้เห็นว่าแม้กระทั่งผู้ที่ให้ความร่วมมือก็ถูกกดดันจาก คสช. หลายคนจำเป็นต้องเซ็นข้อตกลงที่จะไม่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองหรือวิจารณ์ คสช. ในขณะที่จำนวนหนึ่งถูกขอรหัสผ่านเฟซบุ๊กผ่านกระบวนการคุกคามทางจิตวิทยาและได้รับการบอกเล่าจากเจ้าหน้าที่ทหารว่าบทสนทนาออนไลน์ส่วนตัวจะถูกสอดส่องเป็นระยะ[75]
ในหลายกรณี ทหารได้ขอให้นักกิจกรรมโพสต์ข้อความบนบัญชีเฟซบุ๊กของตัวเอง ข้อความที่ถูกบังคับให้เขียนเหล่านี้มีเนื้อหาว่าทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่รัฐ ได้ปฏิบัติต่อนักกิจกรรมเหล่านี้อย่างดี และพวกเขาจะหยุดการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองทุกประเภทเพื่อให้ความร่วมมือและสนับสนุนความพยายามในการปฏิรูปประเทศของรัฐบาล[76]
แม้ว่าเผด็จการทหารมักจะอ้างว่ารัฐประหารครั้งนี้เป็นไปเพื่อแก้ปัญหาที่ฝังรากลึกในสังคมไทยและเพื่อ “คืนความสุข” ให้กับประชาชน แต่กรณีการคุกคามใหม่ๆ ยังคงเกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมทางสังคมและการเมืองที่ถูกออกแบบโดยเผด็จการทหาร ส่วนใหญ่เป็นการอ้างว่ามีการละเมิดความมั่นคงของรัฐหรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งพร้อมจะกลายเป็นคดีโดยกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตด้วยกันทันทีอย่างไม่ต่างจากรัฐ กลุ่มผู้สนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์มีการจัดตั้งออนไลน์เพื่อรายงานและฟ้องคดีอาญาต่อผู้มีความคิดเห็นแตกต่าง “องค์กรเก็บขยะแผ่นดิน” ซึ่งอ้างตนเป็นกลุ่มศาลเตี้ยได้ฟ้องร้องผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหลายคนด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ รวมถึงสุรชัย แซ่ด่าน นักกิจกรรมที่ถูกองค์กรเก็บขยะแผ่นดินกล่าวหาว่าจัดรายการวิทยุออนไลน์ที่มีเนื้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ[77] ธานัท ธนวัชรนนท์ อดีตนักแสดงซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อทอม ดันดี ถูกฟ้องร้องด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพโดย “เครือข่ายราษฎรอาสาปกป้องสถาบัน” จากการกล่าวปราศรัยทางการเมืองบนเวทีชุมนุมเสื้อแดงในเดือนพฤศจิกายน 2556 ซึ่งมีผู้บันทึกเอาไว้และเผยแพร่ไปบนยูทูบในเดือนมิถุนายน 2557 เขาถูกจับในเดือนเดียวกัน[78]
การใช้งานส่วนที่เรียกว่า “รายงาน” (report) ในเฟซบุ๊กซึ่งอนุญาตให้ผู้ใช้แจ้งเรื่องเนื้อหาที่ละเมิดข้อตกลงการใช้เว็บไซต์กลายเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการรังควานและคุกคาม หลังจากข่าวลือว่า ตั้ง อาชีวะ (นามแฝง) นักกิจกรรมเสื้อแดง ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองในนิวซีแลนด์แพร่สะพัดออกไป หน้าเฟซบุ๊กของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติก็ถูกโจมตีด้วยคำประณามจนสำนักงานยกเลิกหน้าเพจชั่วคราว[79]

การโจมตีทางเทคนิค

ที่ผ่านมามีรายงานเรื่องการโจมตีด้วยการเจาะข้อมูลของเว็บไซต์ข่าวออนไลน์เป็นครั้งคราว แต่ไม่มีการรายงานถึงการโจมตีทางเทคนิคดังกล่าวในช่วงเวลาที่จัดทำรายงานฉบับนี้ แม้ว่านักเจาะระบบได้มุ่งเป้าไปที่เว็บไซต์ของรัฐบาล

ยืนยัน "ผามออีแดง" คือเขตประเทศไทย

.พลเอกประวิตร ยืนยัน "ผามออีแดง" คือเขตประเทศไทย จะสร้าง "ปราสาทฯจำลอง"ตรงไหนก็ได้...ยอมรับ แม้ sensitive นิดหน่อย แต่เขมรก็ไม่ได้ว่าอะไร เตรียมเจรจา กองทัพภาค2 ให้เปิดให้ประชาชนชมได้ ยันไม่เคยคิด จะทุบทิ้ง
บิ๊กป้อม เตรียมคุย แม่ทัพภาค2 เปิดให้ชม"ปราสาทพระวิหารจำลอง" บนผามออีแดง ในอนาคต ยันสร้างในเขตไทย เขมรไม่ได้ทักท้วง เพราะสร้างในเขตไทย สร้างตรงไหนก็ได้ ยันไม่เคยมีแนวคิดทุบทิ้ง เผยยังไม่ได้พบ พลเอกธีรชัย ผบ.ทบ. ที่เพิ่งกลับจากเยือนญี่ปุ่น ส่วน การย้าย พันเอกธนศักดิ์ พ้น ผบ ร.6 นั้น เป็นอำนาจ ผบทบ. ซึ่งทาง ผบ.หน่วยในพื้นที่ ทางแม่ทัพ2 เสนอขึ้นมา. ไม่เกี่ยวกับ การสร้างปราสาทพระวิหารจำลอง ยันไม่ทุบทิ้ง แน่ อาจเปิดให้ชม เปรยถ้าทุบทิ้ง ก็ต้องทุบ ปราสาทจำลอง ที่เมืองโบราณ ด้วย
พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ. รองนายกฯและ รมว.กลาโหม. กล่าวถึงการแก้ไข ปัญหา ปราสาทพระวิหารจำลอง บนผามออีแดง กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ ว่า ต้องทำให้ถูกต้อง. เพราะในเมื่อการสร้างปราสาทจำลอง สร้างในเขตประเทศไทย
ส่วนการที่ พลเอกธีรชัย นาควานิช ผบทบ. ย้าย พันเอกธนศักดิ์ มิตรภานนท์ ออกจาก ผบ.ร.6 นั้น. พลเอกประวิตร กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่ได้เจอ ผบ.ทบ. เลย แต่การโยกย้าย นั้น ไม่เกี่ยวกับเริ้องการสร้างปราสาทจำลอง. แต่เป็นเรื่องที่ ทางผู้บังคับบัญชาในพื้นที่ จนถึงแม่ทัพภาค2 ทำเรื่องขึ้นมาให้ ผบ.ทบ. ย้าย ด้วย ไม่ใช่ ผบ.ทบ.คนเดียว ย้าย เพราะฉะนั้น ก็ต้องดู ว่าอะไรเป็นอะไร ด้วยนะ
แต่เรื่องปราสาทฯ ถ้าเราสร้างในเขตของประเทศไทย ในพื้นที่ของเรา สร้างได้นะ ไม่ว่าจะที่ไหน
"แต่อาจมีคน sensitive นิดหน่อยว่า ทำไมจะต้องไปสร้าง ตรงนั้น. เพราะปราสาทพระวิหารของจริง อยุ่ตรงนั้น. แต่ว่าถ้าเป็นพื้นที่ประเทศไทย เราจะสร้างตรงไหนก็สร้างได้ เพราะเขมรเอง เขาก็ไม่ได้ว่าอะไรมาเลย" พลเอกประวิตร กล่าว
ดังนั้น ทบ.จะเปิดมให้ประชาชนไปชมได้ เพราะเป็นแหล่งท่องเที่ยว ได้หรือไม่ พบเอกประวิตร กล่าวว่า ไม่มีปัญหาหรอก เดี๋ยวให้ทาง แม่ทัพภาค2 ทางกองทัพภาค 2 เขาดู ไม่มีปัญหา. ยืนยันว่า ไม่มีการทุบทิ้งอย่างที่กลัวกัน. ยันไม่เคยคิดทุบทิ้ง
เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ว่า ในอนาคต กัมพูชา อาจจะประท้วง คล้ายๆกับที่ อียิปต์ ประท้วงให้จีน ทุบ สฟิ้งค์ ทิ้ง พลเอกประวิตร กล่าวว่า ไม่กังวล เพราะถ้าเป็นแบบนั้น เราคงต้องทุบ ปราสาทพระวิหาร ที่เมืองโบราณ ด้วย

"ผมไม่ครองเมือง ผมทำเพื่อประชาชน ทหาร ไม่ได้ครองเมือง สื่อนั่นแหล่ะครองเมือง



"ผมไม่ครองเมือง ผมทำเพื่อประชาชน ทหาร ไม่ได้ครองเมือง สื่อนั่นแหล่ะครองเมือง เป็นผู้ชี้ชะตาประเทศ ไม่ใช่ผม"...
นายกฯ เผยได้รับ"ถุงเล็กๆ"จาก"ท่านเจ้าคุณธงชัย" แล้ว แต่ไม่รู้ว่าเป็น"หนุมานครองเมือง" หรือไม่ . เพราะยังไม่ได้เปิดดู.....บอกสื่อ "ผมไม่ได้ครองเมือง ผมทำเพื่อประชาชน" ยันทหารไม่ได้ครองเมือง. สื่อนั่นแหล่ะครองเมือง เป็นผู้ชี้ชะตาประเทศ ไม่ใช่ผม....
เมื่อสื่อแจงว่า หมายถึง องค์ลอย รุ่น"หนุมานครองเมือง" ของท่านเจ้าคุณธงชัย นั้น นายกฯ กล่าวว่า เธอก็ไปขอท่านบ้างสิ จะได้ครองเมือง. แต่สื่อครองเมืองอยู่แล้ว พวกเรา ครองเมือง ชี้ชะตาประเทศ
เมื่อ นักข่าว ขอให้นายกฯ ทดลอง ยิงเป้าบิน ให้ดู. หลังจากที่ นายกฯ ทดลอง ถือเครื่องยิงเป้าบิน บนตึกไทยคู่ฟ้า ในโอกาสที่ น้องนี สุทธิยา จิวเฉลิมมิตร เข้าพบ
นายกฯ หันมา บอกว่า ให้รอรัฐบาลหน้า นายกฯคนใหม่ มาทำอย่างสื่อต้องการ โน่น
ทั้งนี้ มีรายงานว่า ท่านเจ้าคุณธงชัย มอบให้พล.อ.ประยุทธ์ คือ ผ้ายันต์เลสเตอร์ เหรียญพระศิวะนาฏราช เหรียญแปดเหลี่ยม. ด้านหน้าเป็นพระพุทธรูปหลวงพ่อทองคำ และด้านหลังเป็นลิงขี่ม้า
ความหมายของวัตถุมงคลที่ท่านเจ้าคุณธงชัยมอบให้พล.อ.ประยุทธ์ นั้น ในส่วนของผ้ายันต์เลสเตอร์ก็เพื่อให้ได้รับชัยชนะ ส่วนเหรียญพระศิวะนาฏราช เป็นการเพิ่มและเสริมบารมี เสริมอำนาจ
ส่วนศิวะนาฏราชนี้ เป็นปางหนึ่งของพระศิวะที่นิยมบูชากันมาก และนิยมนำมาใช้ประกอบพิธีกรรมสำคัญๆ และเหรียญแปดเหลี่ยมนั้นก็เปรียบเสมอนแปดเซียน แปดทิศที่จะคอยคุ้มครองป้องกันภัยอันตราย

กำหนดการนายกรัฐมนตรีและคณะจะเดินทางไปเยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการ 17-21 พ.ค.59

รายละเอียดและกำหนดการนายกรัฐมนตรีและคณะจะเดินทางไปเยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการ 17-21 พ.ค.59 พบปูตินด้วย
-----------
โพสต์นี้ขอลงข่าวรายละเอียดที่น่าสนใจว่าลุงตู่และคณะจะไปกระชับความสัมพันธ์กับรัสเซียระหว่างวันที่ 17-21 พฤษภาคม 2559 นี้อย่างไรบ้างนะครับ ข่าวนี้เอามาจากทำเนียบรัฐบาลไทย เมื่ออ่านไปแล้วคุณจะยิ้มไปอย่างมีความสุขเพราะเราจะเริ่มมีความหวังหลายๆ อย่าง เราจะเห็นการเดิมเกมการเมืองระหว่างประเทศที่ชาญฉลาดและทันเกมของนักล่าฝั่งตะวันตกในรัฐบาลชุดนี้ เป็นการถ่วงดุลมหาอำนาจที่ปากบอกว่าเป็น "มหามิตร" ของเรา แต่จ้องจะหาเรื่องรังแกเราอยู่ตลอดเวลา ส่วนพวกนักการเมืองโปรอเมริกาที่วาดฝันเอาไว้ว่าจะกลับมาบ่อนทำลายกัดกินประเทศไทยอีกครั้งในเร็วๆนี้ ก็จะเหี่ยวเฉาไปเอง 
                 มีอยู่ตอนหนึ่งที่เนื้อหาในข่าวนี้บอกว่า "2. ร่างแผนปฏิบัติการอย่างครอบคลุมเพื่อส่งเสริมความร่วมมืออาเซียนกับสหพันธรัฐรัสเซีย ค.ศ. 2016-2020" เฮ้อๆ… ลุงตู่อยู่ยาวแน่ครับงานนี้ และคาดว่าคงจะไปขอศึกษากลยุทธ์และเทคนิคจากปรมาจารย์ทางการเมืองชั้นครูจากปูตินด้วยแหงๆ ว่ามีเทคนิคอะไรถึงได้ครองใจประชาชนชาวรัสเซียส่วนมากได้แม้จะเริ่มต้นเป็นผู้นำประเทศด้วยการสืบทอดอำนาจจากอดีตปธน.คนก่อนของรัสเซีย แต่ก็สามารถชนะการเลือกตั้งจนก้าวขึ้นเป็นผู้นำของรัสเซียติดต่อกันหลายสมัยจนสหรัฐฯและตะวันตกพากันอิจฉา งานนี้ไทยจะร่วมเป็นหุ้นส่วนกับยูเรเซีย (EEU) และ SCO ด้วยนะครับ แหล่มป๊ะ ถ้าอยากรู้มากกว่านี้ ต้องอ่านให้จบนะครับ ยาวสักนิดนึง แต่คุ้มครับท่าน

+ นายกรัฐมนตรีและคณะ มีกำหนดการเยือนสหพันธรัฐรัสเซียอย่างเป็นทางการ และการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหพันธรัฐรัสเซีย สมัยพิเศษ (ASEAN – Russia Commemorative Summit)

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเดินทางเยือนนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สหพันธรัฐรัสเซียอย่างเป็นทางการ (Working Visit) ระหว่างวันที่ 17 – 19 พฤษภาคม 2559 และการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน - สหพันธรัฐรัสเซีย สมัยพิเศษ (ASEAN – Russia Commemorative Summit) ระหว่างวันที่ 19–21พฤษภาคม 2559
โดย พลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกำหนดการ และวัตถุประสงค์การเดินทางเยือนและการเข้าร่วมประชุม ดังนี้

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมภริยา และคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วยประกอบด้วย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นาย วีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี และพลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

การเดินทางเยือนสหพันธรัฐรัสเซียอย่างเป็นทางการ ในครั้งนี้ของนายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์ และความร่วมมือกับรัสเซียอย่างเป็นรูปธรรม และอย่างรอบด้าน โดยสหพันธรัฐรัสเซียถือเป็นประเทศแรกนอกภูมิภาคเอเชียที่นายกรัฐมนตรีเดินทางเยือนในลักษณะทวิภาคี และยังเป็นการเดินทางเยือนสหพันธรัฐรัสเซียครั้งแรกของนายกรัฐมนตรีไทยในรอบ 11 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ในปี พ.ศ. 2560 จะครบรอบ 120 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-รัสเซีย 

ซึ่งการเยือนนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งกับความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ เนื่องจากเป็นเมืองที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ทวิภาคีของไทยและรัสเซีย โดยเป็นเมืองที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรปเป็นครั้งแรก รวมถึงสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ที่เสด็จแทนพระองค์ ในโอกาสเชื่อมความสัมพันธ์ 110 ปี ไทย-รัสเซีย อีกทั้งยังเป็นบ้านเกิดของทั้งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีรัสเซียอีกด้วย

โดยการหารือกับนายกรัฐมนตรีรัสเซียนั้น ซึ่งครั้งนี้นับเป็นการพบหารือกันครั้งที่ 4 ของผู้นำทั้งสอง ((1) การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 25 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ณ กรุงเนปิดอว์ เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 57 (2) การเยือนไทยอย่างเป็นทางการ วันที่ 8 เม.ย. 58 ณ ทำเนียบรัฐบาล และ (3) การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 23 วันที่ 18 พ.ย. 58 ณ กรุงมะนิลา) 

นายกรัฐมนตรีจะใช้โอกาสนี้ในการเสริมสร้างความร่วมมือทวิภาคีอย่างรอบด้านบนผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศ โดยทั้งสองฝ่ายจะมุ่งให้ความสำคัญกับการหารือเรื่องความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การขยายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว วัฒนธรรม และวิชาการ โดยจะมุ่งผลักดันการเปิดตลาดสินค้าเกษตรและอาหารของไทยในรัสเซีย รวมถึงยางพารา และสินค้าเกษตรอื่นๆ เช่น สินค้าประมง เนื้อสัตว์ปีก และเนื้อสุกร และเร่งส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าระหว่างสองประเทศให้มากยิ่งขึ้น และลดอุปสรรคทางด้านการค้าระหว่างกัน ทั้งทางด้านการเงินและการธนาคารและระบบ โลจิสติกส์ รวมถึงผลักดันความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมกับรัสเซียให้เป็นรูปธรรม

การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหพันธรัฐรัสเซีย สมัยพิเศษ (ASEAN – Russia Commemorative Summit) การประชุมครั้งนี้เป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 20 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-รัสเซีย ซึ่งจะเป็นโอกาสอันดีในการพัฒนาแนวทางความสัมพันธ์อาเซียนแบบใหม่ เพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายในบริบทสถานการณ์โลกที่มีความตึงเครียดทางการเมืองและการแข่งขันที่สูงทางเศรษฐกิจ โดยฝ่ายอาเซียนมองว่า รัสเซียควรมีบทบาทที่แข็งขันและสร้างสรรค์ในภูมิภาคเพื่อที่จะสร้างความสมดุลในความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจในภูมิภาค ในส่วนของรัสเซียมองว่า ความสัมพันธ์อาเซียนกับรัสเซียยุคใหม่จะช่วยเพิ่มทางเลือกทางการทูตและเศรษฐกิจในภาวะที่รัสเซียมีความตึงเครียดกับประเทศตะวันตก

สำหรับการประชุมครั้งนี้ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย เป็นประธานการประชุมร่วมกับ นายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ในฐานะประธานอาเซียน ทั้งนี้ ในปี 2559 สปป. ลาว ยังรับหน้าที่เป็นประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-รัสเซียด้วย)ประเด็นที่รัสเซียเสนอสำหรับประชุมสุดยอดฯ ได้แก่ ความมั่นคงในภูมิภาค การจัดการกับความท้าทายรูปแบบใหม่ การพัฒนาความร่วมมือระหว่างอาเซียน-รัสเซีย ด้านเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ พลังงาน สังคมและวัฒนธรรม

ประเด็นสำคัญที่ไทยจะผลักดัน ได้แก่

1. ผลักดันให้มีความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ในทุกมิติที่มีผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างอาเซียนกับรัสเซียมากยิ่งขึ้น โดยไทยต้องการให้รัสเซียมี presence และบทบาทสร้างสรรค์มากขึ้นในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเพื่อสนับสนุน regional architecture ที่มีอาเซียนเป็นแกนกลาง และเพื่อเพิ่มทางเลือกทางการทูตให้กับไทยและอาเซียนในการมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจ
2. สนับสนุนการยกระดับความสัมพันธ์อาเซียน-รัสเซีย สู่ระดับหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของการที่รัสเซียมีปฏิสัมพันธ์กับอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นในการสนับสนุนการเป็นประชาคมอาเซียนและนโยบายของอาเซียนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
3. สนับสนุนความเชื่อมโยงทางยุทธศาสตร์ ในด้านเศรษฐกิจ การคมนาคม และระหว่างประชาชน ระหว่างอาเซียน EEU และ regional organization อื่นๆ รวมถึง SCO และ Asia Cooperation Dialogue (ACD) และส่งเสริมการค้าการลงทุนของทั้งสองฝ่าย โดยเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อขจัดอุปสรรคทางการค้าต่างๆ และเน้นการเข้ามามีบทบาทของภาคเอกชน
4. สนับสนุนความร่วมมือในการรับมือปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่ ซึ่งรวมถึงการจัดการภัยพิบัติ การต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ รวมถึงการก่อการร้ายและลัทธิสุดโต่ง โดยส่งเสริมความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็วและเป็นระบบ รวมทั้งสนับสนุนการทำงานศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน และส่งเสริมความร่วมมือด้านการต่อต้านยาเสพติดร่วมกับศูนย์ ASEAN-NARCO
ผลลัพธ์การประชุมฯ การประชุมครั้งนี้จะมีเอกสารผลลัพธ์ของการประชุม ได้แก่ 1. ปฏิญญาโซชิ 2. ร่างแผนปฏิบัติการอย่างครอบคลุมเพื่อส่งเสริมความร่วมมืออาเซียนกับสหพันธรัฐรัสเซีย ค.ศ. 2016-2020 3. รายงานข้อเสนอแนะแนวทางความสัมพันธ์อาเซียน-รัสเซียของกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิอาเซียน-รัสเซีย
+ กำหนดการเยือนสหพันธรัฐรัสเซียอย่างเป็นทางการ และการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-รัสเซีย มีดังนี้
+ วันอังคารที่ 17 พ.ค. 2559
- เวลา 11.00 น.: นายกรัฐมนตรีและคณะออกเดินทางไปยังไปยังนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก
- เวลา 16.40 น.: นายกรัฐมนตรีและคณะเดินทางถึงนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สหพันธรัฐรัสเซีย (เวลาที่นครเซนต์ปีเตอร์เบิร์กช้ากว่าไทย 4 ชั่วโมง)
- เวลา 19.00 น.: ผู้ว่าการนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำ เพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีและภริยา
+วันพุธที่ 18 พ.ค. 2559
- ช่วงเช้า: พิธีวางพวงมาลา ณ สุสานทหารนิรนาม (Piskaryovskoye Memorial Cemetary)
- ช่วงเช้า: นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีเปิดงาน Thai-Russia Business Dialogue
- ช่วงเที่ยง: นายกรัฐมนตรีพบทีมประเทศไทยในสหพันธรัฐรัสเซียและร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวัน ซึ่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก และภริยาเป็นเจ้าภาพเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีและภริยา
- ช่วงบ่าย: นายกรัฐมนตรีพบหารือทวิภาคีแบบเต็มคณะกับนายกรัฐมนตรีสหพันธรัฐรัสเซีย
- ช่วงค่ำ: นายกรัฐมนตรีสหพันธรัฐรัสเซียเป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีและภริยา
+วันพฤหัสบดีที่ 19 พ.ค. 2559
- ช่วงเช้า: นายกรัฐมนตรีและคณะออกเดินทางจากนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ไปยังเมืองโซชิ (ใช้เวลาเดินทาง 3 ชั่วโมง)
- ช่วงบ่าย: นายกรัฐมนตรีพบหารือทวิภาคีกับนายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีสหพันธรัฐรัสเซีย
- ช่วงค่ำ: นายกรัฐมนตรีและภริยาเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำต้อนรับผู้นำซึ่งนายวลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีสหพันธรัฐรัสเซียเป็นเจ้าภาพ
+ วันศุกร์ที่ 20 พ.ค. 2559
- ช่วงเที่ยง: นายกรัฐมนตรีพบปะกับนักธุรกิจในงาน Business Forum
- ช่วงบ่าย: นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-รัสเซีย สมัยพิเศษ
- 17.00 น.: นายกรัฐมนตรีและภริยา พร้อมด้วยคณะ เดินทางออกจากท่าอากาศยานนานาชาติโซชิ เมืองโซชิ เพื่อเดินทางกลับประเทศไทย
- วันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม 2559
- 05.30 น.: นายกรัฐมนตรีและภริยา พร้อมด้วยคณะ เดินทางถึงจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
*************************************
The Eyes
เพจ: ปอกเปลือก ทรราช
https://www.facebook.com/fisont
https://vk.com/theeyesproject
16/05/2559
----------
http://www.thaigov.go.th/…/government-…/item/103120-id103120