PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2559

"ป๋าเปรม" ประกาศเชียร์ "ตู่" ลั่น เชื่อมือ "ตู่"



ลั่น เราทำเพื่อ ในหลวง-พระราชินี ขอให้"ตู่" มั่นใจว่า"ทหารแก่"อย่างเราจะทำทุกอย่าง เพื่อให้ตู่สามารถทำงานบรรลุภารกิจที่ยิ่งใหญ่ของชาติ ถ้าไม่ได้ก็ต้องทำต่อไปจนกว่าจะได้ หากมีอุปสรรคก็ต้องแก้ไข บอก นายกฯตู่ เดี๋ยวนี้ป๋าอายุมากแล้ว ก็อยากจะช่วยตู่เท่าที่สามารถจะช่วยได้

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ได้เปิดบ้านพักสี่เสาเทเวศร์รับรองให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรีที่เป็นอดีตนายทหาร อาทิ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรมว.กลาโหม พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม รวมถึงนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี
และ ผบ.เหล่าทัพ เช่น พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกลาโหม พล.อ.สมหมาย เกาฎีระ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก พล.ร.อ.ณะ อารีนิช ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง ผู้บัญชาการทหารอากาศ และพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และนายทหารชั้นผู้ใหญ่และตำรวจเข้าร่วมอวยพร เนื่องในวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 96 ปี ล่วงหน้า 26 สค.
พล.อ.ประยุทธ์ นำกล่าวอวยพรว่า ในโอกาสวันคล้ายวันเกิดได้เวียนมาบรรจบอีกวาระหนึ่ง ผมพร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ขอถือโอกาสอันเป็นมงคลนี้อำนวยพรแด่พล.อ.เปรมด้วยความรักและเคารพยิ่ง
พวกผมตระหนักเสมอว่าพล.อ.เปรมได้อุทิศตนในการทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และมีเกียรติประวัติคุณงามความดีและการดำรงตนด้วยความมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ ทำให้พล.อ.เปรมเป็นที่เคารพยกย่อง เชิดชูและเป็นแบบอย่าง
สำหรับพวกผมในการปฏิบัติหน้าที่ ยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นหลัก พร้อมที่จะมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าและเกิดประโยชน์สุขต่อพี่น้องประชาชนอย่างดีที่สุด
พล.อ.เปรม กล่าวว่า ขอขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่เป็นเพื่อนรักของพวกเราทุกคน
"ผมคิดอยู่เสมอว่าสมัยของพล.อ.ประยุทธ์ และสมัยของพวกเราที่ร่วมมือร่วมใจกันทำงานให้กับบ้านเมืองให้มีความรักความสามัคคีกลับมาให้ได้
"ผมเชื่อมือ นายกรัฐมนตรีและพวกเราว่าจะทำงานให้ชาติบ้านเมืองด้วยความจงรักภักดีความเสียสละ และเห็นแก่ความสุขของคนไทย พวกเราจะทุ่มเทในทุกอย่างเพื่อให้เกิดความสำเร็จ ถ้ามีอุปสรรคไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ยากหรือง่าย ขอให้นายกรัฐมนตรีสบายใจว่าพวกเรากองทัพและประชาชนจะสนับสนุนให้กำลังใจนายกรัฐมนตรีและพวกเราทุกคน"
“ตู่ เดี๋ยวนี้ป๋าอายุมากแล้ว ก็อยากจะช่วยตู่เท่าที่สามารถจะช่วยได้ ซึ่งสิ่งที่ผมช่วย คือเวลาคุยกับใครก็จะไปบอกเค้าว่าทำไมตู่ต้องมาเป็นนายกรัฐมนตรีให้มันเหนื่อยเปล่าทำไมป้อม(พล.อ.ประวิตร) ต้องมาช่วยน้องชาย และเจี๊ยบ (พล.อ.ธนศักดิ์) ต้องมาช่วยเพื่อนพวกเราทุกคนเห็นว่ามีความจำเป็นในการเข้ามาในสถานการณ์เช่นนี้
ที่พูดไม่ได้หมายความว่าเรามาทำเพื่อใครแต่เราทำเพื่อคนไทยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินีนาถ
"ขอให้ตู่มั่นใจว่าทหารแก่อย่างเราจะทำทุกอย่าง เพื่อให้ตู่สามารถทำงานบรรลุภารกิจที่ยิ่งใหญ่ของชาติ ถ้าไม่ได้ก็ต้องทำต่อไปจนกว่าจะได้ หากมีอุปสรรคก็ต้องแก้ไข”
“หวังว่าพวกเราทุกคนจะเข้าใจว่ามันเป็นโอกาสที่ดี ซึ่งไม่ใช่โอกาสที่ดีของตู่หรือใคร แต่เป็นโอกาสที่ดีของคนไทยที่พวกเราทุกคนจะช่วยทำให้เกิดความรักความสามัคคีในชาติบ้านเมืองให้ได้ อย่างที่พูดป๋าแก่แล้วคงจะช่วยอะไรไม่ได้มากนัก แต่จะเป็นกำลังใจว่าตู่ต้องทำให้สำเร็จ หวังว่าพวกเราทุกคนจะทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจได้สำเร็จและมีความรักความสามัคคีกลับมา
"ขอให้ตู่สบายใจ พวกเราจะเชียร์และเป็นกำลังใจ จะทำทุกอย่างที่ทำให้ตู่นำความผาสุกมาสู่ประชาชนคนไทย ขอให้โชคดีและมีความสุข” พล.อ.เปรม กล่าว
หลังจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมด้วย พล.อ.ประวิตร พล.อ.ธนะศักดิ์ พล.ร.อ.ณรงค์ พล.อ.อ.ประจิน นายวิษณุ และพล.อ.อนุพงศ์ ได้เข้าไปพูดคุยหารือเป็นการส่วนตัวกับพล.อ.เปรม ภายในบ้านพักเป็นเวลาประมาณ 20 นาที
หลังจากนั้นพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวภายหลังพูดคุยกับพล.อ.เปรมว่า ตนได้รายงานถึงสถานการณ์ภาพรวมของประเทศให้พล.อ.เปรมได้รับทราบ ซึ่งพล.อ.เปรมก็เป็นห่วงสถานการณ์บ้านเมือง และบอกจะเป็นกำลังใจให้ ซึ่งไม่ได้สั่งการอะไรทั้งสิ้น เพราะพล.อ.เปรมบอกว่าทำดีอยู่แล้ว ทั้งนี้สิ่งที่เราทำก็ได้มาจากการเรียนรู้มาโดยตลอด ซึ่งพล.อ.เปรมก็เป็นแบบอย่างการทำงานอยู่แล้ว อีกทั้งสิ่งหนึ่งสิ่งสำคัญอีกอย่างคือความซื่อสัตย์สุจริตซึ่งเรายึดมาโดยตลอด รวมถึงสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ต้องมาก่อนเสมอ ส่วนเรื่องอื่นๆ เราสามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งสิ้น พล.อ.เปรมก็ชื่นชมและบอกว่ายังมีงานอีกมากจะทำไหวหรือไม่ ซึ่งตนก็ตอบไปว่าไหวอยู่แล้ว
เมื่อถามว่ารู้สึกหายเหนื่อยไหมที่มีพล.อ.เปรม คอยเชียร์และเป็นกำลังใจให้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอบเพียงสั้นๆว่า “ผมไม่เคยเหนื่อย มีแต่โมโห”


"ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์" โดน ม.44 เด้งกลางอากาศ ขณะบินไปเกาหลีใต้

"ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์" โดน ม.44 เด้งกลางอากาศ ขณะบินไปเกาหลีใต้ร่วมงานครบ 10 ปี บ้านพี่เมืองน้อง “โซล-กรุงเทพฯ”

เมื่อวันที่ 25 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 50/2559 เรื่อง ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 6 โดยมีคำสั่งให้ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระงับการปฏิบัติราชการหรือหน้าที่ในกรุงเทพมหานครเป็นการชั่วคราวโดยยังไม่พ้นจากตําแหน่ง จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงคําสั่ง โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนในระหว่างนี้นั้น ล่าสุดพบว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ พร้อมคณะได้เดินทางไปราชการที่กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลีใต้ ระหว่างวันที่ 25-28 ส.ค.2559 เพื่อร่วมงานฉลองครบรอบ 10 ปี ความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องระหว่างกรุงเทพมหานคร - กรุงโซล ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการแจ้งจากกทม.ว่าม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ จะเดินทางกลับมาก่อนกำหนด หรือปฏิบัติราชการตามกำหนดการที่ได้ระบุไว้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ จะหมดวาระในตำแหน่งผู้ว่าฯกทม.ในวันที่ 27 มี.ค.2560 ซึ่งในการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.เมื่อวันที่ 3 มี.ค.2556 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ในฐานะผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนน 1,256,349 เสียง


พิรุธเพียบ-‘บวรศักดิ์’โทรเตือนแล้ว! เบื้องหลังคดี‘หมอเลี๊ยบ’แก้สัมปทานเอื้อชินคอร์ป




“…ได้ตรวจสอบดูแล้วเห็นว่า ไม่สามารถนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ เนื่องจากนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) มีฐานะเป็นประธานกรรมการบริหารบริษัท ชิน คอร์ปฯ และเป็นคู่สัญญากับภาครัฐ ดังนั้นหากนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อาจเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนขึ้นได้ … ได้โทรศัพท์กลับไปยัง นพ.สุรพงษ์ เพื่ออธิบายกรณีดังกล่าวแล้ว และขอให้ นพ.สุรพงษ์ ถอนเรื่องดังกล่าวออกจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แต่ นพ.สุรพงษ์ ไม่ยอม…”
PIC mholeabbbdd 25 8 59 1
‘หมอเลี๊ยบ’ หรือ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตนักการเมืองชื่อดัง ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาให้จำคุก 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา กรณีเมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) รัฐบาล ‘ทักษิณ ชินวัตร’ แก้ไขสัญญาสัมปทานดาวเทียมเอื้อให้บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ลดสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท ชิน แซทเทิลไลท์ จำกัด (มหาชน) จาก 51% เหลือ 40% ส่งผลให้ประเทศชาติอาจเกิดความเสียหายร้ายแรง
ซึ่งนับเป็น ‘คดีที่สอง’ ภายหลังคดีแรก กรณีแทรกแซงการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมัยที่ ‘หมอเลี๊ยบ’ นั่งเก้าอี้ รมว.คลัง ยุครัฐบาล ‘สมัคร สุนทรเวช’ ถูกศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุก 1 ปี เช่นกัน แต่รอลงอาญา 1 ปี
เพื่อให้สาธารณชนเห็นภาพชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปคำพิพากษา-พฤติการณ์ในคดีดังกล่าวมาเผยแพร่ให้ทราบ ดังนี้
ประเด็นแรกที่ต้องวินิจฉัยคือ การแก้ไขสัญญาสัมปทานดาวเทียมดังกล่าว เป็นอำนาจของ รมว.ไอซีที (หมอเลี๊ยบ) โดยไม่ต้องผ่านมติคณะรัฐมนตรีหรือไม่
ศาลพิเคราะห์แล้ว สรุปได้ทำนองว่า ในการทำสัญญาสัมปทานดาวเทียมเมื่อปี 2534 รมว.คมนาคม (ขณะนั้น) มีการเซ็นสัญญากับบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (เปลี่ยนเป็นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันคือบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)) โดยเนื้อหาบางตอนในสัญญาดังกล่าว ระบุว่า บริษัท ชินวัตรฯ จะตั้งบริษัทย่อยขึ้นมาดำเนินการ และจะเข้าไปถือหุ้น 51% ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ชุดนั้น) ได้อนุมัติตามหลักการดังกล่าว และเห็นว่า การที่บริษัท ชินวัตรฯ ถือหุ้น 51% ในบริษัท ชิน แซทเทิลไลท์ฯ (บริษัทย่อยที่ดำเนินการกิจการดาวเทียม) จะเป็นการไม่เปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติเข้ามาแทรกแซงการดำเนินงานของบริษัท ชิน แซทเทิลไลท์ฯ ได้ 
ดังนั้น นพ.สุรพงษ์ ที่อนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานดาวเทียมโดยลดสัดส่วนหุ้นของบริษัท ชิน คอร์ปฯ ที่ถือในบริษัท ชิน แซทเทิลไลท์ฯ จาก 51% เหลือ 40% โดยไม่ผ่านมติคณะรัฐมนตรี จึงฝ่าฝืนระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเรื่องให้คณะรัฐมนตรี พ.ศ.2535 
ส่วนการที่ นพ.สุรพงษ์ อ้างว่า ประเด็นการเขียนสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชินวัตรฯ ในบริษัทย่อยนั้น รมว.คมนาคม (ขณะนั้น) เป็นผู้อนุมัติ ไม่ใช่คณะรัฐมนตรี ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นทำนองว่า การเสนอสัดส่วนหุ้นดังกล่าว เป็นข้อเสนอของบริษัท ชินวัตรฯ และ รมว.คมนาคม ได้รับทราบในหลักการ และส่งสัญญาทั้งหมดให้คณะรัฐมนตรีมีมติ ดังนั้นข้ออ้างของ นพ.สุรพงษ์ จึงฟังไม่ขึ้น
ประเด็นต่อมา การอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานดาวเทียมดังกล่าว ทำไปโดยสุจริตหรือไม่
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นทำนองว่า นพ.สุรพงษ์ ได้นำเสนอเรื่องผ่านไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี โดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว เห็นว่าไม่เข้าหลักเกณฑ์ในการนำเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี จึงได้ตีเรื่องกลับไปยังกระทรวงไอซีที
หลังจากนั้นกระทรวงไอซีที ได้ทำหนังสือไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อหารือว่า การแก้ไขสัญญาสัมปทานดาวเทียมดังกล่าวเป็นอำนาจของ รมว.ไอซีที (หมอเลี๊ยบ) หรือไม่ อสส. มีความเห็นกลับมาว่า มีดุลยพินิจให้แก้ไขได้ แต่ก็มีนัยว่า ต้องนำเสนอผ่านคณะรัฐมนตรีด้วย 
ทั้งนี้จากการสืบพยาน นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เบิกความทำนองว่า ขณะเกิดเหตุกระทรวงไอซีทีได้มีหนังสือส่งมายังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ตนได้ตรวจสอบดูแล้วเห็นว่า ไม่สามารถนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ เนื่องจากนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) มีฐานะเป็นประธานกรรมการบริหารบริษัท ชิน คอร์ปฯ และเป็นคู่สัญญากับภาครัฐ ดังนั้นหากนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อาจเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนขึ้นได้ 
ทั้งนี้นายบวรศักดิ์ เบิกความอีกว่า ได้โทรศัพท์กลับไปยัง นพ.สุรพงษ์ เพื่ออธิบายกรณีดังกล่าวแล้ว และขอให้ นพ.สุรพงษ์ ถอนเรื่องดังกล่าวออกจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แต่ นพ.สุรพงษ์ ไม่ยอม ทางสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจึงทำหนังสือตอบกลับไปว่า ไม่เข้าหลักเกณฑ์
ซึ่งการกระทำนี้ทำไปเพื่อรักษาหน้าของ นพ.สุรพงษ์ และรักษาความสัมพันธ์ของนายบวรศักดิ์ กับ นพ.สุรพงษ์ และนายทักษิณ ด้วย
สำหรับคำให้การของนายบวรศักดิ์นั้น ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นทำนองว่า นายบวรศักดิ์ เป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่กลั่นกรองเรื่องก่อนเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และไม่เคยปรากฏเรื่องโกรธเคืองกับ นพ.สุรพงษ์ และจำเลยอีก 2 ราย (นายไกรสร พรสุธี อดีตปลัดไอซีที และนายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ อดีต ผอ.สำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ) มาก่อน นอกจากนี้ในการเบิกความที่ผ่านมา นายบวรศักดิ์ได้เบิกความด้วยความสุจริตมาตลอด ตั้งแต่คดียึดทรัพย์ของนายทักษิณ 
ขณะที่ นพ.สุรพงษ์ ในฐานะ รมว.ไอซีที ย่อมรู้หรือควรทราบว่านายทักษิณ เป็นประธานกรรมการบริหารบริษัท ชิน คอร์ปฯ ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทผู้ได้รับสัมปทานดาวเทียมจากภาครัฐ ซึ่งการนำเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อาจเข้าข่ายมีผลประโยชน์ทับซ้อนได้ แต่กลับไม่ยอมถอนเรื่องออกจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 
ดังนั้นพฤติการณ์ของ นพ.สุรพงษ์ ที่ปล่อยให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำหนังสือตอบกลับมาว่า ไม่เข้าหลักเกณฑ์ และทำหนังสือหารือถึง อสส. จึงเป็นการสร้างหลักฐานเพื่อป้องกันตนเองเดือดร้อน และถูกฟ้องร้องในอนาคต 
ศาลพิเคราะห์อีกทำนองว่า ขั้นตอนการแก้ไขสัมปทานดาวเทียมดังกล่าว มีพิรุธหลายประการ ไมว่าจะเป็นการ การที่บริษัท ชิน แซทเทิลไลท์ฯ เป็นผู้ทำหนังสือขออนุมัติจากกระทรวงไอซีทีเอง แต่กลับไม่มีมติที่ประชุมของบริษัท ชิน คอร์ปฯ รองรับในการขอปรับลดสัดส่วนการถือหุ้นแต่อย่างใด 
นอกจากนี้ยังอ้างเหตุผลกำกวม เช่น สภาพการแข่งขันของธุรกิจดาวเทียมในตลาดโลกที่สูงขึ้น จำเป็นต้องจับมือร่วมกับพันธมิตรเพื่อขยายศักยภาพทางธุรกิจ จึงจำเป็นต้องปรับลดสัดส่วนหุ้น เพื่อให้พันธมิตรเข้ามาร่วมถือหุ้น เพื่อเพิ่มแหล่งเงินทุน และประสบการณ์ในการทำธุรกิจ จึงขอปรับลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชิน คอร์ปฯ จาก 51% เหลือ 40% แต่กลับไม่ได้แนบมาว่า พันธมิตรรายใดที่ต้องการเข้ามาร่วมหุ้น หรือจะมีการให้ร่วมหุ้นในอัตราสัดส่วนเท่าใด ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงเลื่อนลอย และไม่มีความจำเป็นที่แท้จริง 
ทั้งนี้ในภายหลังที่ รมว.ไอซีที อนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานดาวเทียมปรับลดสัดส่วนหุ้นแล้ว ปรากฏว่า บริษัท ชิน แซทเทิลไลท์ฯ ได้ออกหุ้นเพิ่มทุนเป็นจำนวน 208 ล้านหุ้น เพื่อขายให้กับบุคคลทั่วไป ไม่ได้มีพันธมิตรเข้ามาซื้อหุ้นดังกล่าวตามที่ทำหนังสืออ้างแต่อย่างใดด้วย
ดังนั้นการกระทำดังกล่าวของ นพ.สุรพงษ์ จึงฝ่าฝืนระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2535 เป็นการกระทำที่ไม่สุจริต ปราศจากข้อแก้ตัว
ประเด็นต่อมา การแก้ไขสัญญาสัมปทานดาวเทียมดังกล่าว ทำให้รัฐเสียหายหรือไม่
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นทำนองว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ที่บังคับใช้ขณะนั้น มาตรา 40 ระบุทำนองว่า คลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เป็นของชาติ และมีกฎหมายควบคุม โดยกิจการโทรคมนาคมนั้น บริษัทที่เข้ามาดำเนินการจะต้องมีบุคคลสัญชาติไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่า 75% ของผู้ถือหุ้นทั้งหมด ขณะที่กรรมการของบริษัทจะต้องมีบุคคลสัญชาติไทย 3 ใน 4 ของกรรมการทั้งหมด ส่วนกรรมการผู้มีอำนาจนั้นจะต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทยเท่านั้น ซึ่งเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าวให้ความสำคัญกับกิจการโทรคมนาคม เนื่องจากเป็นกิจการที่ให้คุณ และสร้างประโยชน์ต่อประเทศ และต้องดำเนินการให้ปราศจากการควบคุมที่เป็นภัยต่อประเทศ คุ้มครองกิจการไม่ให้ตกเป็นของชาวต่างชาติ
ขณะที่การกระทำดังกล่าว ปรับลดสัดส่วนบริษัท ชิน คอร์ปฯ ถือหุ้นเหลือ 40% ในบริษัท ชิน แซทเทิลไลท์ฯ อาจทำให้ผู้ถือหุ้นที่เหลืออีก 60% สมคบคิดกันค้านมติของผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างบริษัท ชิน คอร์ปฯ ได้ แม้ว่าโอกาสที่เกิดขึ้นจะเป็นไปได้ยาก และปัจจุบันยังไม่เกิดขึ้นก็ตาม แต่ก็มีโอกาส ขณะที่ถ้าบริษัท ชิน คอร์ปฯ ถือหุ้น 51% จะไม่มีโอกาสดังกล่าวเกิดขึ้นได้เลย และหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อสังคม ประชาชน เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน อาจเกิดโอกาสทำให้รัฐเสียหายได้ 
ขณะที่ นพ.สุรพงษ์ และจำเลยอีก 2 ราย แย้งว่า การปรับลดสัดส่วนการถือหุ้นดังกล่าว ยังไม่เกิดผลครอบงำใด ๆ แก่บริษัท ชิน แซทเทิลไลท์ฯ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า กรณีนี้ได้อธิบายข้างต้นไว้หมดแล้ว คำกล่าวอ้างดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น
ประเด็นท้ายสุด กรณีนี้ถือเป็นการแก้ไขสัญญาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท ชิน คอร์ปฯ และบริษัท ชิน แซทเทิลไลท์ฯ หรือไม่
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การกระทำดังกล่าวมีเจตนาเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท ชิน คอร์ปฯ และบริษัท ชิน แซทเทิลไลท์ฯ เนื่องจากเห็นได้ว่า พอมีการแก้ไขสัญญาสัมปทานแล้ว บริษัท ชิน แซทเทิลไลท์ฯ ได้ออกหุ้นเพิ่มทุน 208 ล้านหุ้น ทำให้บริษัท ชิน คอร์ปฯ ไม่จำเป็นต้องซื้อหุ้นเพิ่มเติมเพื่อรักษาบริษัท ชิน แซทเทิลไลท์ฯ ไว้ 
ศาลมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า การกระทำของ นพ.สุรพงษ์ ผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ลงโทษจำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา
ส่วนนายไกรสร และนายไชยยันต์ นั้น ศาลพิเคราะห์แล้วสรุปได้ทำนองว่า นายไกรสร ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองปลัดไอซีที มีฐานะเป็นประธานกรรมการประสานงานการแก้ไขสัญญาสัมปทานดังกล่าวฯ โดยมีหน้าที่ต้องตรวจสอบข้อมูล ข้อดีข้อเสียของการแก้ไขสัญญาดังกล่าว ซึ่งขณะนั้นเกิดความเห็นแย้งกันระหว่างฝ่ายวิเคราะห์ของสำนักกิจการอวกาศฯ และฝ่ายนิติกร โดยฝ่ายนิติกรได้แย้งว่า การแก้ไขสัญญาสัมปทานดังกล่าว อาจส่งผลกระทบได้ แต่นายไกรสร ไม่ได้เรียกประชุมเพื่อหารือแก้ไขปัญหาดังกล่าว กลับลงนามตามที่ฝ่ายวิเคราะห์ของสำนักกิจการอวกาศฯเสนอ และส่งเรื่องให้ปลัดไอซีที ก่อนเสนอต่อ รมว.ไอซีที ตามลำดับ 
ส่วนนายไชยยันต์ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเคราะห์ของสำนักกิจการอวกาศฯ ได้วิเคราะห์ตามหนังสือที่บริษัท ชิน แซทเทิลไลท์ฯ ส่งมา ซึ่งเป็นประเด็นในข้อกฎหมาย และไม่ได้มีการแจ้งถึงความจำเป็นในการปรับลดสัดส่วนผู้ถือหุ้น รวมถึงไม่มีการแจ้งพันธมิตรที่จะเข้ามาซื้อหุ้น หรือแหล่งทุนในการซื้อหุ้น 
ดังนั้นผลวิเคราะห์ดังกล่าว จึงมีข้อบกพร่อง ไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริง และไม่ตอบผลประโยชน์ของประเทศ หรือข้อดีข้อเสียในการแก้ไขสัญญาสัมปทานดังกล่าว แต่เป็นผลวิเคราะห์สนับสนุนให้แก้ไขสัญญาสัมปทาน เอื้อให้เกิดการแก้ไขสัญญาสัมปทาน
ขณะที่ทั้งสองรายต่างเป็นข้าราชการมานาน ย่อมต้องรู้ หรือควรรู้ว่า นายทักษิณ เป็นประธานกรรมการบริหารบริษัท ชิน คอร์ปฯ ซึ่งเป็นคู่สัญญารัฐ การกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนได้
ศาลมีมติเสียงข้างมากว่า การกระทำของนายไกรสร และนายไชยยันต์ ผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ลงโทษจำคุก 1 ปี แต่ทั้งสองรายเป็นเพียงข้าราชการใต้บังคับบัญชา ไม่มีอำนาจอนุมัติในการแก้ไขสัญญาสัมปทานดังกล่าว โทษจำคุกให้รอลงอาญา 5 ปี
ทั้งหมดคือเบื้องลึก-ฉากหลังพฤติการณ์ของ ‘หมอเลี๊ยบ-พวก’ ในคดีดังกล่าว ก่อนจะถูกพิพากษาจำคุกในที่สุด

“วิลาศ” พอใจ “บิ๊กตู่” ใช้ ม.44 จัดการ “ชายหมู” เชื่อ ชิงออกคำสั่งก่อน ป.ป.ช. ชี้มูลออก


เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงคำสั่งมาตรา 44 ให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. ระงับการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวว่า ตนคาดว่าคำสั่งดังกล่าวมาจากการชี้มูลความผิด ผู้ว่าฯกทม. จากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กรณีโครงการประดับตกแต่งไฟเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวบริเวณลานคนเมืองของ กทม. วงเงินงบประมาณ 39.5 ล้านบาท ซึ่งขณะนั้นมีการเรียกร้องให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้มาตรา 44 จัดการกับผู้ว่าฯกทม. ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บอกว่า ยังมีแค่เรื่องเดียว แต่ตอนหลังมีเรื่องทุจริตรถดับเพลิง รถกู้ภัยขึ้นมา ตนจึงคิดว่านายกฯมีข้อมูลหลังจากที่มีคนวิจารณ์พอสมควรว่า นายกฯสองมาตรฐาน และขณะนี้เรื่องทุจริตอุโมงค์ไฟ ทางอนุกรรมการของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กำลังสอบอยู่ใกล้เสร็จแล้ว รอเข้าคณะใหญ่เท่านั้น หากคณะใหญ่ชี้มูล ผู้ว่าฯกทม.ก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่
“ถ้า ป.ป.ช.ชี้มูลว่า ผู้ว่าฯกทม. มีความผิด นายกฯก็ซวย จะเอาหน้าไปไว้ไหน เพราะคนจะกล่าวหาว่าสองมาตรฐาน ผมจึงคิดว่านายกฯรู้ว่าภายใน ป.ป.ช.เป็นอย่างไร ท่านจึงชิงออกคำสั่งก่อน เมื่อมีคำสั่งออกมาอย่างนี้ ผมก็ยอมรับได้ แสดงให้เห็นว่านายกฯ ไม่ได้รับฟังข้อมูลจากผมคนเดียว ที่ผ่านมาก็ปล่อยให้ท่านตัดสินใจไป แต่ถ้าตัดสินใจช้ากว่านี้ ผมจะพานายกฯ ไปนั่งเรือชมวิว เพราะมีเรื่องการจัดซื้อเรือ เพื่อให้ผู้ว่าฯ ใช้ตรวจการ แต่ยังไม่ได้ใช้ เพราะไฟไหม้เครื่องเสียก่อน ซึ่งเรื่องเรือน่าเกลียดไม่แพ้รถกู้ภัยแน่” นายวิลาศกล่าว
counter

รวมบรรดาข้อกล่าวหน้าผู้ว่ากกม.

รวมข้อกล่าวหา กทม.ยุคสุขุมพันธุ์1
วันนี้มีประกาศ ม.44 สั่งพักงาน" ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ุ บริพัตร" เหตุเกี่ยวข้องทุจริต
ข้อกล่าวหา "ความไม่โปร่งใส" ของ กทม. ยุค “สุขุมพันธุ์ บริพัตร” ก่อนพ้นตำแหน่งผู้ว่าฯ ต้นปี 2560
--
เหลืออีกเพียงครึ่งปีเศษ “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร” ก็จะครบวาระการดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) สมัยที่สอง ในเดือนมีนาคม 2560(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)
แม้จะได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนอย่างถล่มทลาย ถึง 1.2 ล้านเสียง มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ แต่ตลอดเวลาเกือบ 8 ปี ที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์นั่งทำงานอยู่ในทำเนียบเสาชิงช้า การทำงานของผู้ว่าฯ กทม. คนนี้ก็เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสาธารณชนอยู่เป็นระยะ โดยเฉพาะเรื่องความไม่โปร่งใสในการบริหารงาน
สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ได้รวบบรวมข้อกล่าวหาในยุค ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ว่ามีเรื่องใดบ้าง ผู้เกี่ยวข้องได้ออกมาชี้แจงอย่างไรและปัจจุบันสถานะของข้อกล่าวหาเหล่านั้นไปอยู่ที่ใด
หากยังจำได้ในสมัยแรก (ระหว่างปี 2552-2556) ของการดำรงตำแหน่ง เสียงวิพากษ์วิจารณ์ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์มุ่งไปที่ปัญหาการบริหารงานมากกว่า ยังไม่ค่อยมีเรื่องปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ว่าจะเรื่องติดกล้องวงจรปิด CCTV ครบ 2 หมื่นตัว และทำงานได้จริงหรือไม่ การก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ หรือการก่อสร้างสนามฟุตบอลบางกอกอารีน่าที่ล่าช้า
จนมาสมัยที่สอง (ระหว่างปี 2556-2560) เริ่มต้นมาก็เจอกับวิกฤติ เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ใบเหลืองกับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ จากกรณีที่ผู้สนับสนุนปราศรัยใส่ร้ายคู่แข่งในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. สมัยสอง กระทั่งต้องพักการปฏิบัติหน้าที่เป็นเวลา 4-5 เดือน โดยระหว่างนั้นได้มอบหมายให้นางผุสดี ตามไท รองผู้ว่าฯ กทม. รักษาการ ก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะยกคำร้องเมื่อไม่ปรากฏว่ามีความผิด
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ได้เผชิญกับวิกฤติจริงๆ หลังเกิดเสียงต่อว่า กรณีที่มีฝนตกลงมาแล้วหลายพื้นที่ใน กทม. ระบายน้ำไม่ทัน ทำให้เกิดปัญหารถติด ทั้งที่อุโมงค์ระบายน้ำยักษ์ก็เพิ่งสร้างเสร็จ แต่แทนที่ผู้ว่าฯ กทม. ชี้แจงไปตามปกติ กลับหลุดวรรคทองออกมาว่า “เราเป็นเมืองน้ำ เราเป็นเมืองฝน ไม่มีจุดเสี่ยงเลยเป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่อยากให้มีจุดเสี่ยงเรื่องน้ำท่วม ให้ไปอยู่บนดอยครับ” จนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ต้องออกมาขอโทษคนกรุงแทน และมีแรงกดดันจากภายในพรรคเก่าแก่นี้ให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ออกมาขอโทษต่อสาธารณชนด้วยเช่นกัน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ กระทั่งเกิดการแตกหักระหว่าง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กับ ปชป.
หลังจากนั้นผู้ว่าฯ กทม. รายนี้ถูกเริ่มต้นตรวจสอบอย่างหนักหน่วง ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2558 เป็นต้นมา ทั้งจากประชาชนทั่วไป องค์กรอิสระอย่างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ “คนกันเอง” อย่างสมาชิก ปชป. อาทิ นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.กรุงเทพมหานคร ในฐานะอดีตประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) ของสภาผู้แทนราษฎร
วิลาศ
นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ หนึ่งในผู้ที่ตรวจสอบการดำเนินงานของ กทม. ยุค ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อย่างเข้มข้น ทั้งๆ ที่อยู่พรรคเดียวกัน ที่มาภาพ: news.voicetv.co.th

เรียกรับเงินแต่งตั้ง ขรก.-บินต่างประเทศถี่

ต้นพฤศจิกายน 2558 นายวิลาศออกมาเปิดเผยเรื่องความไม่โปร่งใสในการบริหารงานของ กทม. โดยพุ่งเป้าไปที่รองผู้ว่าฯ กทม. บางคน ทั้งเรื่องการเดินทางไปต่างประเทศบ่อยด้วยตั๋วเครื่องบินชั้นเฟิสต์คลาส รวมถึงเข้าไปเรียกรับเงินในการแต่งตั้งโยกย้าย
การออกมาเปิดเผยดังกล่าวของนายวิลาศ ทำให้รองผู้ว่าฯ กทม. ทั้ง 2 คน ได้แก่ “นายจุมพล สำเภาพล” และ “นายอมร กิจเชวงกุล” ออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้เดินทางไปต่างประเทศบ่อย ส่วนอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายของ กทม. หากเป็นระดับซี 9 ขึ้นไปเป็นอำนาจของผู้ว่าฯ กทม. โดยตรง แต่ถ้าต่ำกว่าระดับซี 9 ก็จะเป็นอำนาจของปลัด กทม. รองผู้ว่าฯ กทม. ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ นายวิลาศได้เดินทางไปยื่นคำร้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้ามาตรวจสอบในเรื่องนี้แล้ว โดยรองผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคำร้องก็คือนายจุมพล ปัจจุบัน คดียังไม่มีความคืบหน้า
แม้การออกมาเปิดข้อมูลครั้งแรกของนายวิลาศจะพุ่งเป้าไปที่รองผู้ว่าฯ กทม. เป็นหลัก แต่ก็เป็นปฐมบทของการเดินหน้าตรวจสอบเรื่องอื่นๆ ในเวลาต่อมา

ซื้อเครื่องดนตรีให้โรงเรียนในสังกัด กทม. อย่างไม่จำเป็น

นายวิลาศยังเดินหน้าตรวจสอบ กทม. อย่างต่อเนื่อง โดยต้นเดือนธันวาคม 2559 ได้ออกมาเปิดเผยว่า มีความไม่ชอบมาพากลในจัดซื้อเครื่องดนตรีให้กับโรงเรียนในสังกัดของ กทม. ระหว่างปี 2552-2557 มูลค่ารวมทั้งหมดกว่า 1.3 พันล้าน อาจมีความไม่โปร่งใส โดยเฉพาะการจัดซื้อเปียโน 400 หลัง แก่โรงเรียนจำนวน 197 แห่ง รวมเป็นเงิน 585 ล้านบาท ทั้งที่บางโรงเรียนไม่มีครูสอนดนตรี
“โครงการนี้จึงมีปัญหาในเรื่องความเหมาะสม ในเมื่อโรงเรียนในสังกัด กทม. เกินครึ่งไม่มีครูดนตรี เมื่อซื้อมาแล้วใครจะสอน ทั้งยังไม่มีการสำรวจหรือให้แต่ละโรงเรียนเสนอว่าต้องการเครื่องดนตรีนั้นๆหรือไม่ รวมถึงหลายโรงเรียนยังไม่มีความพร้อมเรื่องสถานที่ เช่น ห้องดนตรีเพื่อใช้จัดเก็บ” นายวิลาศกล่าว
ด้านนายจรูญ มีธนาถาวร ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม. กล่าวชี้แจงว่า การจัดซื้อเปียโนเป็นส่วนหนึ่งของโครงการส่งเสริมทักษะทางดนตรีให้นักเรียนในสังกัด กทม. ถือเป็นหนึ่งในนโยบายของ กทม. ที่ต้องการเพิ่มพูนทักษะทางด้านดนตรีและพัฒนายกระดับทางจิตใจของนักเรียนให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปด้วยความโปร่งใส เพราะจัดซื้อโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) และก่อนเปิดประมูลก็ได้สืบราคามาก่อน และในขั้นตอนการประมูลก็มีบริษัทเข้ามาแข่งขัน 7-8 ราย เรื่องนี้สามารถตรวจสอบได้
ทั้งนี้ นายวิลาศได้เดินทางไปยื่นคำร้องให้ ป.ป.ช. เข้ามาตรวจสอบในเรื่องนี้แล้ว แต่ปัจจุบัน คดียังไม่มีความคืบหน้า

พิรุธประดับอุโมงค์ไฟแอลอีดี 39.5 ล้าน

กรณีอื้อฉาวนี้ไม่ได้มีใครมาเปิดประเด็น แต่เกิดจากการตั้งข้อสังเกตของประชาชน หลังจากช่วงกลางเดือนธันวาคม 2558 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ได้ออกข่าวประชาสัมพันธ์ว่า กทม. ได้ทุ่มงบกว่า 39.5 ล้านบาท ประดับไฟแอลอีดีกว่า 5 ล้านดวง เปลี่ยนลานคนเมืองให้เป็นสวนสวรรค์ คืนความสุขให้ประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่
หลายๆ คนก็ออกมาตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดต้องใช้งบสูงถึง 39.5 ล้านบาท ทั้งๆ ที่หลายประเทศก็มีการประดับไฟในลักษณะใกล้เคียงกันด้วยงบที่น้อยกว่า
กรณีนี้นำไปสู่การตรวจสอบโดย สตง. ซึ่งมีข้อสังเกตทั้งการเขียน TOR ที่ใช้เวลาเขียนเพียงวันเดียว รวมถึงการเลื่อนวันประมูลให้เร็วขึ้นทำให้บริษัทเอกชนที่สนใจอื่นๆ ยื่นประมูลไม่ทัน ไม่รวมถึงบริษัทเอกชนที่ชนะประมูลเป็นเพียงบริษัทรับจ้างจัดทัวร์ที่ไม่มีอุปกรณ์ใดๆ มาก่อน
กระทั่งกลางปี 2559 นายพิสิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการ สตง. ก็ออกมาระบุว่า โครงการนี้น่าจะมีการฮั้วประมูล และได้ส่งหนังสือไปยังกระทรวงมหาดไทย (มท.) ให้ลงโทษ ผู้ว่าฯ กทม. และผู้เกี่ยวข้อง
นำไปสู่การตั้งโต๊ะแถลงข่าวชี้แจงจาก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ว่า โครงการนี้มีความจำเป็นต้องทำเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ไม่ใช่โครงการแรกและโครงการสุดท้าย ยืนยันว่าการจัดจ้างทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย
โดยผู้ว่าฯ กทม. ยังได้ส่งทนายความยื่นฟ้องผู้ว่าฯ สตง. ฐานหมิ่นประมาทในเวลาต่อมาด้วย
สำหรับความคืบหน้าทางคดี ปัจจุบัน ป.ป.ช. ได้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเรื่องนี้แล้ว มีจำนวนผู้ถูกกล่าวหารวม 14 คน แต่ไม่มีชื่อของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์
สตง. ได้สรุปว่าการจัดจ้างประดับอุโมงค์ไฟแอลอิดีของ กทม. น่าจะเข้าข่ายการฮั้วประมูล ขณะที่ ป.ป.ช. ได้มีมติตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนแล้ว ที่มาภาพ : http://daily.bangkokbiznews.com/detail/250463
สตง. ได้สรุปว่าการจัดจ้างประดับอุโมงค์ไฟแอลอีดีของ กทม. วงเงิน 39.5 ล้านบาท น่าจะเข้าข่ายการฮั้วประมูล ขณะที่ ป.ป.ช. ได้มีมติตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนตรวจสอบการกระทำผิดของผู้เกี่ยวข้องในโครงการนี้แล้ว ที่มาภาพ: daily.bangkokbiznews.com/detail/250463

จ้างตกแต่งห้องทำงาน ทั้งที่ทำเสร็จไปแล้ว

กลางเดือนพฤษภาคม 2559 สื่อมวลชนได้เปิดประเด็นกรณีที่มีการเปิดประมูลจัดจ้างหาบริษัทเอกชนมาปรับปรุงห้องทำงานของผู้ว่าฯ กทม. และทีมงาน รวมเป็นเงิน 16.5 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ห้องทำงานดังกล่าวไปปรับปรุงเสร็จสิ้นและใช้งานมากว่าปีแล้ว โดยมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเพียงการเปิดประมูลเพื่อจ่ายเงินให้กับผู้รับเหมาที่ดำเนินการไปเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่ง สตง. ก็เข้ามาตรวจสอบในเวลาต่อมา
นพ.พีระพงษ์ สายเชื้อ ปลัด กทม. กล่าวยอมรับว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวผิดขั้นตอนและระเบียบของ กทม. เนื่องจากมีการดำเนินการก่อนเบิกงบประมาณ ซึ่งมีบุคคลในระดับผู้อำนวยการสำนักการโยธาเป็นผู้เซ็นอนุมัติ โดยจะต้องรอผลสรุปจาก สตง. อีกครั้ง แต่ยืนยันว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ไม่ทราบเรื่อง เนื่องจากดำเนินการระหว่างที่ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ เมื่อปี 2557 หลังถูก กกต. ให้ใบเหลือง
ปัจจุบัน กทม. ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมีนายพิชญา นาควัชระ ผู้ตรวจราชการ กทม. เป็นประธาน ขณะที่ผลการตรวจสอบจาก สตง. ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป

จัดซื้อรถกู้ภัยขนาดเล็กในราคาแพงเกินจริง

กลางเดือนกรกฎาคม 2559 นายวิลาศ สมาชิก ปชป. กลับมาตรวจสอบ กทม. อีกครั้ง โดยครั้งนี้เปิดประเด็นเรื่องการจัดซื้อรถกู้ภัยขนาดเล็ก จำนวน 20 คัน คันละ 8 ล้าน รวม 160 ล้านบาท โดยมีการตั้งข้อสังเกตทั้งเรื่องบริษัทที่ยื่นประมูลอยู่ในเครือเดียวกัน อุปกรณ์ดับเพลิงในรถกู้ภัยน่าจะมีราคาแพงเกินจริง นอกจากนี้ รถกู้ภัยดังกล่าวยังใช้พวงมาลัยซ้าย แตกต่างจากรถยนต์ทั่วไปในประเทศไทยที่ใช้พวงมาลัยขวา
นายวสันต์ มีวงษ์ โฆษกผู้ว่าฯ กทม. กล่าวชี้แจงว่า เหตุที่ต้องมีการจัดซื้อรถกู้ภัยขนาดเล็ก ก็เพื่อให้สามารถเข้าไปปฏิบัติงานในซอยต่างๆ ของ กทม. ที่มีจำนวนกว่า 5 พันซอยและมีขนาดแคบ ที่ระบุว่าอุปกรณ์ดับเพลิงในรถกู้ภัยน่าจะมีราคาสูงเกินจริง อยากถามว่าเอาอะไรมาวัดว่าสูงหรือไม่สูง และที่ตั้งข้อสังเกตเรื่องใช้พวงมาลัยซ้าย ก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ และไม่ผิด พ.ร.บ.จราจรทางบก
ทั้งนี้ นายวิลาศได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อ สตง. และ ป.ป.ช. ให้เข้ามาตรวจสอบการจัดซื้อรถกู้ภัยขนาดเล็กของ กทม. แล้ว
นี่คือ 5 ตัวอย่างของเรื่องกล่าวหาว่า กทม. ยุค ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์บริหารงานไม่โปร่งใส ซึ่งผลจากการถูกตรวจสอบอย่างหนักหน่วง โดยเฉพาะจาก สตง. ทำให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ออกมาให้สัมภาษณ์ตอบโต้ครั้งหนึ่งว่า “ที่ผ่านมาผมบริหาร กทม. เป็นไปตามกฎหมาย ตามนโยบายที่ได้หาเสียง จะไม่มีวันที่จะบริหาร กทม. ตามความเห็นของ สตง. เพราะว่าพี่น้องประชาชนกว่า 1.2 ล้านคน เป็นคนเลือกผมมาให้ดำเนินนโยบายตามที่ได้หาเสียงไว้ แม้ว่าผมจะเคารพ สตง. แต่ต้องขออภัยที่ผมเคารพพี่น้องประชาชนมากกว่าเคารพ สตง.”
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ยังระบุว่า จะขออยู่ในตำแหน่งจนครบเทอมในปี 2560 และหลังพ้นจากตำแหน่งจะขอกลับไปพักผ่อน
น่าสนใจว่าวิบากกรรมต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามาในช่วงปลายชีวิตการเมือง จะทำให้ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ได้กลับไปพักผ่อนหลังพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. จริงหรือไม่

กรณี"หมอเลี๊ยบ"กับการเอื้อประโยชน์"ชิน แซทเทลไลท์"


กรณี ศาลฎีกานักการเมืองจำคุก นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรมว.ไอซีที 1 ปี ไม่รอลงอาญา คดีทุจริตแก้สัญญาสัมปทานไทยคม
จำได้ว่าเรื่องนี้เคยเขียนลงนสพ.กรุงเทพธุรกิจเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ในซีรี่ย์ ไตรภาคคดียึดทรัพย์ ทักษิณ ตอน แกะรอยแก้สัมปทาน เอื้อผลประโยชน์"ชินแซท" ั
ลองย้อนกลับไปอ่านอีกครั้ง พบว่า ในช่วงนั้นมีหลายเรื่องที่ดูเหมือนว่า เป็นการกระทำที่เอื้อประโยชน์ให้กับชินแซท
---------------------------------------------------------
การใช้อำนาจเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทชิน แซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน)

บริษัทที่มีบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ชินคอร์ป ถือหุ้น 49% คือ หนึ่งในข้อกล่าวหาการใช้อำนาจเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ธุรกิจในเครือชินคอร์ป ระหว่างการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

ทั้งการอนุมัติโครงการยิงดาวเทียม ไอพี สตาร์ แทนดาวเทียมไทยคม 4 ซึ่งตามสัญญาสัมปทานกำหนดให้เป็นดาวเทียมสำรองของดาวเดียวไทยคม 3 และ การอนุมัติให้ใช้เงินค่าสินไหมทดแทน ดาวเทียมไทยคม 3 ไปเช่าช่องสัญญาณต่างประเทศ รวมถึงการลดสัดส่วนการถือหุ้นของชินคอร์ปในชินแซท ทั้งหมดนี้ถูกบรรจุไว้ในสำนวนคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านบาท ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมาตรการเอื้อประโยชน์ทั้งสิ้น

แม้ว่าในสำนวนเกี่ยวข้องกับการแก้ไขสัญญาสัมปทานให้กับชินแซท จะไม่มีข้อมูลที่บอกได้ชัดเจนว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นคนสั่งการในเรื่องต่างๆ แต่ต้องไม่ลืมว่ารัฐมนตรีที่รับผิดชอบ หรือลงนามในการแก้ไขสัญญาสัมปทาน ทั้งนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ล้วนเป็นรัฐมนตรีที่มาจากพรรคไทยรักไทย ที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นหัวหน้าพรรค ในยุคที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งสิ้น

เริ่มจากการแก้ไขสัญญาอนุมัติให้บริษัท ชิน แซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) เปลี่ยนแปลงรูปแบบการก่อสร้างดาวเทียมไทยคม 4 ซึ่งตามสัญญาสัมปทานกำหนดให้เป็นดามเทียมสำรองของดาวเทียมไทยคม 3 เป็นดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) ลงนามโดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2545
มีจุดเริ่มต้นจากข้อเสนอของชินแซท เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2545 ทำหนังสือถึงกระทรวงคมนาคม ขออนุมัติจัดสร้างดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) พร้อมกับขอแก้ไขข้อกำหนดทางเทคนิคของดาวเทียมไทยคม 4 เดิม ด้วยเหตุผลในเรื่องความทันสมัยและความต้องการที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

กระทรวงคมนาคมใช้เวลาพิจารณาเพียง 2 เดือนก็มีหนังสืออนุมัติการขอแก้ไขทางเทคนิค และอนุมัติให้บริษัทสร้างและส่งดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) ในวันที่ 24 ก.ย. 2545 จากนั้นอีก 4 ปี ในปี 2548 ดาวเทียมไอพี สตาร์ ก็ถูกส่งขึ้นวงโคจร

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบของ คตส.พบว่า การอนุมัติให้ชินแซท ยิงดาวเทียมไอพีสตาร์นั้น ขัดกับเงื่อนไขสัญญาสัมปทาน เพราะคุณสมบัติของดาวเทียมไอพีสตาร์ ไม่เหมือนกับดาวเทียมไทยคม 3 จึงเป็นดาวเทียมสำรองของดาวเทียมไทยคม 3 ไม่ได้ เนื่องจากการอนุมัติให้มีการแก้ไขคุณสมบัติโดยตัดคลื่นความถี่ CU-Band ที่มีในดาวเทียมไทยคม 3 ออกไป

นอกจากนี้ คตส.ยังมีความว่าการอนุมัติโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์ เป็นการอนุมัติโครงการใหม่ที่อยู่นอกกรอบสัญญาสัมปทาน เพราะดาวเทียมไอพี สตาร์ มีวัตถุประสงค์ทางการค้าและรองรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตสำหรับผู้ใช้งานในต่างประเทศ เพราะชินแซทได้ลงทุนสร้างอุปกรณ์ 18 แห่ง ใน 14 ประเทศ
แสดงว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวเน้นตลาดต่างประเทศเป็นหลัก จึงไม่อยู่ในกรอบสัญญาที่ต้องการให้ใช้สำหรับการสื่อสารในประเทศ หากเหลือให้ต่างประเทศใช้บริการ

คตส.จึงมีความเห็นว่า การอนุมัติดังกล่าวถือเป็นเอื้อประโยชน์แก่ชินแซท ไม่ต้องมีการแข่งขันเพื่อยื่นข้อเสนอรับสัมปทานโครงการใหม่

ส่วนกรณีกระทรวงไอซีที อนุมัติค่าสินไหมทดแทนความเสียหายของตามเทียมไทยคม 3 จำนวน 33,082,960 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,500 ล้านบาท ให้แก่ชินแซท เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นหลังจากดาวเทียมไทยคม 3 เกิดเหตุขัดข้องเกี่ยวกับระบบพลังงาน จนทำให้ช่องสัญญาณดาวเทียมบางส่วนไม่สามารถใช้งานได้ เมื่อปลายปี 2546 และบริษัทประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวน 33,082,960 ดอลลาร์สหรัฐ โดยเก็บไว้ที่บัญชี เอสโครว์ ที่ธนาคารกรุงเทพ สาขาสิงคโปร์ ลงวันที่ 11 ต.ค. 2547

จากนั้นในวันที่ 14 พ.ย. 2546 ไอซีที ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ ทก 0204/230 ถึงกรรมการผู้อำนวยการ ชินแซท เพื่อแจ้งให้ทราบว่า ไอซีที ได้อนุมัติเงินค่าสินไหมทดแทนจำนวนดังกล่าวให้บริษัท นำไปดำเนินการตามสัญญาสัมปทานดาวเทียม ข้อ 37 ใน 2 ประเด็น คือ
1. อนุมัติเงินจำนวน 6,765,299 ดอลลาร์สหรัฐ ให้บริษัทเพื่อจัดหาช่องสัญญาณดาวเทียม Intelsat จำนวน 3 ทรานสพอนเดอร์
2. อนุมัติเงินจำนวน 26,236,661 ดอลลาร์สหรัฐ ให้บริษัทสร้างดาวเทียมใหม่ (ไทยคม -3R) โดยมีเงื่อนไขว่า หากมูลค่าการก่อสร้างดาวเทียมดวงดังกล่าวสูงกว่าเงินค่าสินไหมทดแทนที่บริษัทได้รับ บริษัทต้องรับผิดชอบเงินที่เพิ่มขึ้นเองทั้งหมด

ต่อมาในวันที่ 30 มิ.ย. 2548 ชินแซท ได้ลงนามก่อสร้างดาวเทียมดวงใหม่ พร้อมกับนำเงินค่าสินไหมจำนวน 26.26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1,083 ล้านบาท ที่ไอซีที อนุมัติให้บริษัทนำไปสร้างดาวเทียมมาคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปีตามมาตรา 67 ทวิ ของประมวลรัษฎากร

จากนั้นวันที่ 14 พ.ย. 2548 นายดำรง เกษมเศรษฐ์ ประธานกรรมการบริหาร ชินแซท ได้มีหนังสือหารือไปยังกรมสรรพากร ใน 3 ประเด็น คือ

1. ค่าสินไหมทดแทนที่บริษัทได้รับจากไอซีที จำนวน 26.26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไม่ถือเป็นเงินได้ของบริษัทใช่หรือไม่
2. หากเงินค่าสินไหมที่บริษัทได้รับจำนวน 26.26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไม่ถือเป็นเงินได้ของบริษัท บริษัทมีสิทธิขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกรมสรรพากรได้ใช่หรือไม่
3. กรณีความเสียหายที่เกิดขึ้นจำนวน 400 ล้านบาท จากดาวเทียมไทยคม 3 สามารถนำมาเป็นรายจ่ายทางภาษีได้ใช่หรือไม่

วันที่ 20 ม.ค. 2549 กรมสรรพากร ที่ กค 0708/497 สรุปใจความสำคัญว่า ค่าสินไหมทดแทนที่บริษัทได้รับจากไอซีที ทั้งกรณีค่าสินไหมที่นำไปเช่าช่องสัญญาณดาวเทียม และค่าสินไหมที่ใช้ในการก่อสร้างดาวเทียมดวงใหม่ไม่ถือเป็นรายได้ที่ต้องเสียภาษี ส่วนความเสียหายของดาวเทียมไทยคม 3 จำนวน 400 ล้านบาท ไม่สามารถนำมาเป็นรายจ่ายทางภาษีได้

อย่างไรก็ตามคตส.ได้มีมติส่งหนังสือให้กรมสรรพากรทบทวนการคืนภาษี พร้อมกับเรียกเก็บภาษีเงินได้ จากบริษัท ชินแซท ประมาณ 377 ล้านบาทแล้ว เนื่องจากเห็นว่าเงินค่าสินไหมทดแทนความเสียหาย ของดาวเทียมไทยคม 3 จากกระทรวงไอซีทีจำนวน 33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ

ส่วนการลดสัดส่วนการถือหุ้นของชินคอร์ปในชินแซท จากเดิมที่กำหนดไว้ไม่ต่ำกว่า 51% เป็นไม่ต่ำกว่า 40% โดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชี้แจงว่า แก้ไขสัญญาเพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้น จากเดิมที่กำหนดไว้ไม่ต่ำกว่า 51% เป็นไม่ต่ำกว่า 40% โดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งฝ่าฝืน พระราชบัญญัติร่วมทุน ปี 2535

เรื่องนี้ ชินแซท ได้เสนอว่า ตามสัญญาสัมปทานที่บริษัททำไว้กับรัฐบาลเมื่อปี 2534 ได้กำหนดให้ชินคอร์ปจะต้องถือหุ้นในชินแซทไม่ต่ำกว่า 51% โดยไม่ระบุเหตุผลในสัญญา แต่จากการสอบถามทราบว่า เหตุที่ต้องกำหนดสัดส่วนการถือหุ้น เป็นเพราะต้องการให้ผู้รับสัญญาสัมปทานมีความรับผิดชอบในการผลักดันโครงการดาวเทียมให้เกิดขึ้น

หลังจากชินแซทแจ้งความจำนงที่จะขอลดสัดส่วนการถือหุ้นชินคอร์ปแล้ว กระทรวงไอซีที ได้เสนอเรื่องให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณา แต่สำนักงานอัยการ บอกว่าควรเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา หรือเห็นชอบ กระทรวงไอซีทีจึงส่งเรื่องให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อบรรจุเข้าเป็นวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการ คณะรัฐมนตรีในขณะนั้น แจ้งกลับมาว่า ไม่ใช่เรื่องที่ คณะรัฐมนตรีจะพิจารณา ทางไอซีทีจึงส่งเรื่องไปให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาอีกครั้ง และอัยการก็แจ้งกลับมาว่า เมื่อเลขาธิการ คณะรัฐมนตรี เห็นว่าไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะพิจารณา จึงเป็นอำนาจของไอซีทีที่จะพิจารณาอนุมัติ จนกระทั่งมีการลงนามแก้ไขสัญญาในเวลาต่อมา

ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชี้แจงว่า ข้อกล่าวหาของ คตส.ในกรณีต่างๆ ไม่ได้ทำให้หุ้น ชินคอร์ป มีราคาสูงขึ้นผิดปกติ แต่ราคาหุ้นขึ้นลงไปทิศทางเดียวกันกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในอัตราที่ใกล้เคียงกันตลอดเวลา

ดังนั้น เงินที่ได้จากการขายหุ้นทั้งหมดจึงไม่ใช่ทรัพย์ที่ได้มาจากการร่ำรวยผิดปกติ หรือได้ทรัพย์มาโดยไม่สมควรตามข้อกล่าว อีกทั้งมาตรการ 5 เอื้อประโยชน์ทั้ง 5 ของที่ คตส.และอัยการกล่าวหานั้น เจ้าหน้าที่รัฐจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างเบิกความสอดคล้องกันว่าเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน ไม่มีความเสียหายตามข้อกล่าวหาของ คตส. เกิดขึ้นจริงแต่อย่างใด

พ.ต.ท.ทักษิณ ยังบอกด้วยว่า ในช่วงเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่เคยทุจริต ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ ให้ประเทศชาติได้รับความเสียหาย และไม่เคยแม้แต่จะคิดทำการใดเพื่อเห็นแก่ประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง ยิ่งไปกว่าประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน การที่ถูกปฏิวัติรัฐประหารและตั้งข้อกล่าวหาในคดีนี้ เป็นเรื่องทางการเมืองทั้งสิ้น

ศาลฎีกาการเมืองสั่งจำคุก"หมอเลี๊ยบ"

Nation TV
"จำคุก 1 ปี หมอเลี๊ยบ! ไม่รอลงอาญา คดีแก้สัมปทานไทยคมเอื้อชินคอร์ปเรื่องโดย
25 สิงหาคม 2559 15:54 น.

ศาลฎีกานักการเมืองจำคุก 1 ปีหมอเลี๊ยบ ไม่รอลงอาญา คดีทุจริตแก้สัญญาสัมปทานไทยคม ส่วนจำเลยร่วม "ไกรสร -ไชยยันต์" อดีตรองปลัดไอซีที ให้รอลงอาญา 5 ปี ปรับ 2 หมื่นนพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมว.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เดินทางมา ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อฟังคำพิพากษาฎีกา คดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ฟ้อง นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมว.ไอซีที, นายไกรสร พรสุธี อดีตปลัดฯ ไอซีที สมัยรัฐบาลสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และนายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ อดีต ผอ.สำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ และอดีตปลัดกระทรวงไอซีที สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นจำเลยที่ 1- 3 ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ กรณีจำเลยร่วมกันอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ

ล่าสุด ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สั่งจำคุก 1 ปีนพ.สุรพงษ์ คดีทุจริตแก้สัญญาสัมปทานดาวเทียมเอื้อชินคอร์ป ส่วนนายไกรสร และไชยยันต์ อดีตรองปลัดไอซีที ให้รอลงอาญา 5 ปี ปรับ 2 หมื่น

คดีนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีมติชี้มูล 6 ต่อ 2 เสียง เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 56 ว่า การกระทำของ นพ.สุรพงษ์ ,นายไกรสร อดีตปลัดกระทรวงไอซีที สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และนายไชยยันต์ อดีตผู้อำนวยการสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ และอดีตปลัดกระทรวงไอซีที ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ได้อนุมัติให้แก้ไขสัญญาสัมปทานดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารในประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีการดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศตามสัญญา ลงวันที่ 11 ก.ย.34 ระหว่างกระทรวงคมนาคม กับบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอน คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ที่มีนายทักษิณ ชินวัตร เป็นกรรมการผู้มีอำนาจในขณะนั้น ปัจจุบันเป็น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ดังกล่าวมีมูลความผิดทางอาญาไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ป.ป.ช. ได้ยื่นฟ้อง ทั้งสามคนต่อศาลฎีกาฯ ระบุพฤติการณ์สรุปว่า ขณะเกิดเหตุ นพ.สุรพงษ์ จำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่ง รมว.ไอซีที,นายไกรสร จำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงไอซีที และนายไชยยันต์ จำเลยที่ 3 ดำรงตำแหน่งอดีตผู้อำนวยการสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่กำกับ ดูแล ตรวจสอบและควบคุมคู่สัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารในประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีการดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศตามสัญญา ลงวันที่ 11 ก.ย.34 ระหว่างกระทรวงคมนาคม กับบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอน คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นกรรมการผู้มีอำนาจในขณะนั้น ปัจจุบันเป็น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)ไกรสร พรสุธีต่อมา 18 ต.ค. 47 นพ.สุรพงษ์ จำเลยที่1อนุมัติให้แก้สัญญาตามที่นายไกรสร ปลัดกระทรวงเสนอ และมีการลงนามสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่5เมื่อวันที่27ต.ค.47โดยไม่เสนอ ครม.ที่มีนายทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะนั้นให้ความเห็นชอบ ทั้งที่จำเลยทราบแล้วว่าอัยการสูงสุดมีข้อสังเกตว่าเดิมโครงการ ได้รับอนุมัติจาก ครม.เป็นโครงการของประเทศ ควรที่ ก.ไอซีที ต้องนำเสนอ

 ครม.พิจารณา การกระทำของจำเลยทั้งสาม ที่มีหน้าที่ดูแลรักษาผลประโยชน์รัฐ จึงเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายกับ สำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ ก.ไอซีที เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ผู้รับสัมปทานจากรัฐศาลฎีกาฯ รับฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำ อม.66/2558 ขณะที่ นพ.สุรพงษ์ หรือหมอเลี๊ยบ , นายไกรสร ,นายไชยยันต์ จำเลยทั้งสามได้ประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี คนละ 10 ล้านบาท โดยทั้งสามให้การปฏิเสธต่อสู้คดี
"
อ่านต่อที่: http://www.nationtv.tv/main/content/crime/378514388/

"เทพไท"เขียน จม.เปิดผนึกถึง"เขียน ธีรวิทย์"

BLUESKY Channel
20 ชม.
จดหมายเปิดผนึกถึง
ศจ.เขียน ธีระวิทย์
ผมแปลกใจมากที่คนมีความรู้ระดับศาสตราจารย์ทางรัฐศาสตร์อย่างอาจารย์เขียน ธีระวิทย์ มาเห็นด้วยกับการปฎิวัติรัฐประหาร ชื่นชมรัฐบาลทหารในการปกครองประเทศ แม้ว่าผมจะมีความรู้ทางรัฐศาสตร์เพียงน้อยนิดเมื่อเที่ยบกับ อ.เขียน ธีระวิทย์ เพราะในคณะนิติศาสตร์ มร. มีเรียนวิชารัฐศาตร์เพียง2-3เล่มเท่านั้น แต่ผมมีความเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า ระบอบประชาธิปไตย ต้องดีกว่าระบอบเผด็จการทหาร ผมยังไม่เคยเห็นประเทศไหนในโลกนี้ที่ทหารปกครองแล้วนำความเจริญรุ่งเรื่อง ายังประเทศนั้น ประเทศที่เจริญศิวิไลซ์ในโลกใบนี้มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยทั้งนั้น คนทั้งโลกจึงมีความเชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยอาจจะไม่ดีที่สุดแต่เลวน้อยที่สุด อ.เขียน ธีระวิทย์ยกตัวอย่างนายกรัฐมนตรีที่มาจากคนนอกมาเปรียบเทียบกับนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง โดยการชื่นชมว่านายกรัฐมนตรีมาจากคนนอกเป็นคนดีกว่านั้น ในทางการเมืองคนที่ผ่านกระบวนการเลือกตั้งได้พิสูจน์ตัวเองต่อประชาชนมาแล้ว ถ้าเชื่อมั่นในวิถีทางประชาธิปไตยก็ต้องเคารพมติมหาชน ดีกว่าคนที่เป็นอีแอบ ฉวยโอกาสหยิบชิ้นปลามันเฉพาะในสถานการณ์หนึ่งๆที่ตนเองได้ประโยชน์ ไม่กล้าเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงต่อประชาชน สำหรับคุณภาพของคนเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ว่าคนนอกหรือคนใน ย่อมขึ้นอยู่กับตัวบุคคลนั้นๆ แต่คนที่กล้าเสนอตัวให้ประชาชนเลือกย่อมมีความกล้าหาญมากกว่า
การที่ อ.เขียน ธีระวิทย์ พาดพิงถึงคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เรื่องการบริหารงานอ่อนแอนั้น ผมเชื่อว่าท่านไม่ทราบข้อมูลที่แท้จริงของสถานการณ์ในขณะนั้น เป็นการวิพากวิจารณ์ของคนที่ห่างไกลเหตุการณ์ ไม่มีข้อมูลรอบด้าน อาจจะวิจารณ์ไปด้วย มโนคติ หรือ อคติอะไรหรือไม่ จึงไม่เป็นธรรมต่อผู้ถูกพาดพิง ถ้า อ.เขียน ธีระวิทย์ คิดว่าในบั้นปลายชีวิตขอเชียร์เผด็จการทหารสักครั้ง ผมก็เคารพในความเห็นของท่าน แต่แสนเสียดายเกียรติภูมิความเป็นศาสตราจารย์แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ด้วยความบริสุทธิ์ใจ
เทพไท เสนพงศ์
24สิงหาคม 2559