PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2559

พิรุธเพียบ-‘บวรศักดิ์’โทรเตือนแล้ว! เบื้องหลังคดี‘หมอเลี๊ยบ’แก้สัมปทานเอื้อชินคอร์ป




“…ได้ตรวจสอบดูแล้วเห็นว่า ไม่สามารถนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ เนื่องจากนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) มีฐานะเป็นประธานกรรมการบริหารบริษัท ชิน คอร์ปฯ และเป็นคู่สัญญากับภาครัฐ ดังนั้นหากนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อาจเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนขึ้นได้ … ได้โทรศัพท์กลับไปยัง นพ.สุรพงษ์ เพื่ออธิบายกรณีดังกล่าวแล้ว และขอให้ นพ.สุรพงษ์ ถอนเรื่องดังกล่าวออกจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แต่ นพ.สุรพงษ์ ไม่ยอม…”
PIC mholeabbbdd 25 8 59 1
‘หมอเลี๊ยบ’ หรือ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตนักการเมืองชื่อดัง ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาให้จำคุก 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา กรณีเมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) รัฐบาล ‘ทักษิณ ชินวัตร’ แก้ไขสัญญาสัมปทานดาวเทียมเอื้อให้บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ลดสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท ชิน แซทเทิลไลท์ จำกัด (มหาชน) จาก 51% เหลือ 40% ส่งผลให้ประเทศชาติอาจเกิดความเสียหายร้ายแรง
ซึ่งนับเป็น ‘คดีที่สอง’ ภายหลังคดีแรก กรณีแทรกแซงการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมัยที่ ‘หมอเลี๊ยบ’ นั่งเก้าอี้ รมว.คลัง ยุครัฐบาล ‘สมัคร สุนทรเวช’ ถูกศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุก 1 ปี เช่นกัน แต่รอลงอาญา 1 ปี
เพื่อให้สาธารณชนเห็นภาพชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปคำพิพากษา-พฤติการณ์ในคดีดังกล่าวมาเผยแพร่ให้ทราบ ดังนี้
ประเด็นแรกที่ต้องวินิจฉัยคือ การแก้ไขสัญญาสัมปทานดาวเทียมดังกล่าว เป็นอำนาจของ รมว.ไอซีที (หมอเลี๊ยบ) โดยไม่ต้องผ่านมติคณะรัฐมนตรีหรือไม่
ศาลพิเคราะห์แล้ว สรุปได้ทำนองว่า ในการทำสัญญาสัมปทานดาวเทียมเมื่อปี 2534 รมว.คมนาคม (ขณะนั้น) มีการเซ็นสัญญากับบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (เปลี่ยนเป็นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันคือบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)) โดยเนื้อหาบางตอนในสัญญาดังกล่าว ระบุว่า บริษัท ชินวัตรฯ จะตั้งบริษัทย่อยขึ้นมาดำเนินการ และจะเข้าไปถือหุ้น 51% ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ชุดนั้น) ได้อนุมัติตามหลักการดังกล่าว และเห็นว่า การที่บริษัท ชินวัตรฯ ถือหุ้น 51% ในบริษัท ชิน แซทเทิลไลท์ฯ (บริษัทย่อยที่ดำเนินการกิจการดาวเทียม) จะเป็นการไม่เปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติเข้ามาแทรกแซงการดำเนินงานของบริษัท ชิน แซทเทิลไลท์ฯ ได้ 
ดังนั้น นพ.สุรพงษ์ ที่อนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานดาวเทียมโดยลดสัดส่วนหุ้นของบริษัท ชิน คอร์ปฯ ที่ถือในบริษัท ชิน แซทเทิลไลท์ฯ จาก 51% เหลือ 40% โดยไม่ผ่านมติคณะรัฐมนตรี จึงฝ่าฝืนระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเรื่องให้คณะรัฐมนตรี พ.ศ.2535 
ส่วนการที่ นพ.สุรพงษ์ อ้างว่า ประเด็นการเขียนสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชินวัตรฯ ในบริษัทย่อยนั้น รมว.คมนาคม (ขณะนั้น) เป็นผู้อนุมัติ ไม่ใช่คณะรัฐมนตรี ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นทำนองว่า การเสนอสัดส่วนหุ้นดังกล่าว เป็นข้อเสนอของบริษัท ชินวัตรฯ และ รมว.คมนาคม ได้รับทราบในหลักการ และส่งสัญญาทั้งหมดให้คณะรัฐมนตรีมีมติ ดังนั้นข้ออ้างของ นพ.สุรพงษ์ จึงฟังไม่ขึ้น
ประเด็นต่อมา การอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานดาวเทียมดังกล่าว ทำไปโดยสุจริตหรือไม่
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นทำนองว่า นพ.สุรพงษ์ ได้นำเสนอเรื่องผ่านไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี โดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว เห็นว่าไม่เข้าหลักเกณฑ์ในการนำเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี จึงได้ตีเรื่องกลับไปยังกระทรวงไอซีที
หลังจากนั้นกระทรวงไอซีที ได้ทำหนังสือไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อหารือว่า การแก้ไขสัญญาสัมปทานดาวเทียมดังกล่าวเป็นอำนาจของ รมว.ไอซีที (หมอเลี๊ยบ) หรือไม่ อสส. มีความเห็นกลับมาว่า มีดุลยพินิจให้แก้ไขได้ แต่ก็มีนัยว่า ต้องนำเสนอผ่านคณะรัฐมนตรีด้วย 
ทั้งนี้จากการสืบพยาน นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เบิกความทำนองว่า ขณะเกิดเหตุกระทรวงไอซีทีได้มีหนังสือส่งมายังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ตนได้ตรวจสอบดูแล้วเห็นว่า ไม่สามารถนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ เนื่องจากนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) มีฐานะเป็นประธานกรรมการบริหารบริษัท ชิน คอร์ปฯ และเป็นคู่สัญญากับภาครัฐ ดังนั้นหากนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อาจเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนขึ้นได้ 
ทั้งนี้นายบวรศักดิ์ เบิกความอีกว่า ได้โทรศัพท์กลับไปยัง นพ.สุรพงษ์ เพื่ออธิบายกรณีดังกล่าวแล้ว และขอให้ นพ.สุรพงษ์ ถอนเรื่องดังกล่าวออกจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แต่ นพ.สุรพงษ์ ไม่ยอม ทางสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจึงทำหนังสือตอบกลับไปว่า ไม่เข้าหลักเกณฑ์
ซึ่งการกระทำนี้ทำไปเพื่อรักษาหน้าของ นพ.สุรพงษ์ และรักษาความสัมพันธ์ของนายบวรศักดิ์ กับ นพ.สุรพงษ์ และนายทักษิณ ด้วย
สำหรับคำให้การของนายบวรศักดิ์นั้น ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นทำนองว่า นายบวรศักดิ์ เป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่กลั่นกรองเรื่องก่อนเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และไม่เคยปรากฏเรื่องโกรธเคืองกับ นพ.สุรพงษ์ และจำเลยอีก 2 ราย (นายไกรสร พรสุธี อดีตปลัดไอซีที และนายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ อดีต ผอ.สำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ) มาก่อน นอกจากนี้ในการเบิกความที่ผ่านมา นายบวรศักดิ์ได้เบิกความด้วยความสุจริตมาตลอด ตั้งแต่คดียึดทรัพย์ของนายทักษิณ 
ขณะที่ นพ.สุรพงษ์ ในฐานะ รมว.ไอซีที ย่อมรู้หรือควรทราบว่านายทักษิณ เป็นประธานกรรมการบริหารบริษัท ชิน คอร์ปฯ ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทผู้ได้รับสัมปทานดาวเทียมจากภาครัฐ ซึ่งการนำเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อาจเข้าข่ายมีผลประโยชน์ทับซ้อนได้ แต่กลับไม่ยอมถอนเรื่องออกจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 
ดังนั้นพฤติการณ์ของ นพ.สุรพงษ์ ที่ปล่อยให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำหนังสือตอบกลับมาว่า ไม่เข้าหลักเกณฑ์ และทำหนังสือหารือถึง อสส. จึงเป็นการสร้างหลักฐานเพื่อป้องกันตนเองเดือดร้อน และถูกฟ้องร้องในอนาคต 
ศาลพิเคราะห์อีกทำนองว่า ขั้นตอนการแก้ไขสัมปทานดาวเทียมดังกล่าว มีพิรุธหลายประการ ไมว่าจะเป็นการ การที่บริษัท ชิน แซทเทิลไลท์ฯ เป็นผู้ทำหนังสือขออนุมัติจากกระทรวงไอซีทีเอง แต่กลับไม่มีมติที่ประชุมของบริษัท ชิน คอร์ปฯ รองรับในการขอปรับลดสัดส่วนการถือหุ้นแต่อย่างใด 
นอกจากนี้ยังอ้างเหตุผลกำกวม เช่น สภาพการแข่งขันของธุรกิจดาวเทียมในตลาดโลกที่สูงขึ้น จำเป็นต้องจับมือร่วมกับพันธมิตรเพื่อขยายศักยภาพทางธุรกิจ จึงจำเป็นต้องปรับลดสัดส่วนหุ้น เพื่อให้พันธมิตรเข้ามาร่วมถือหุ้น เพื่อเพิ่มแหล่งเงินทุน และประสบการณ์ในการทำธุรกิจ จึงขอปรับลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชิน คอร์ปฯ จาก 51% เหลือ 40% แต่กลับไม่ได้แนบมาว่า พันธมิตรรายใดที่ต้องการเข้ามาร่วมหุ้น หรือจะมีการให้ร่วมหุ้นในอัตราสัดส่วนเท่าใด ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงเลื่อนลอย และไม่มีความจำเป็นที่แท้จริง 
ทั้งนี้ในภายหลังที่ รมว.ไอซีที อนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานดาวเทียมปรับลดสัดส่วนหุ้นแล้ว ปรากฏว่า บริษัท ชิน แซทเทิลไลท์ฯ ได้ออกหุ้นเพิ่มทุนเป็นจำนวน 208 ล้านหุ้น เพื่อขายให้กับบุคคลทั่วไป ไม่ได้มีพันธมิตรเข้ามาซื้อหุ้นดังกล่าวตามที่ทำหนังสืออ้างแต่อย่างใดด้วย
ดังนั้นการกระทำดังกล่าวของ นพ.สุรพงษ์ จึงฝ่าฝืนระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2535 เป็นการกระทำที่ไม่สุจริต ปราศจากข้อแก้ตัว
ประเด็นต่อมา การแก้ไขสัญญาสัมปทานดาวเทียมดังกล่าว ทำให้รัฐเสียหายหรือไม่
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นทำนองว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ที่บังคับใช้ขณะนั้น มาตรา 40 ระบุทำนองว่า คลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เป็นของชาติ และมีกฎหมายควบคุม โดยกิจการโทรคมนาคมนั้น บริษัทที่เข้ามาดำเนินการจะต้องมีบุคคลสัญชาติไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่า 75% ของผู้ถือหุ้นทั้งหมด ขณะที่กรรมการของบริษัทจะต้องมีบุคคลสัญชาติไทย 3 ใน 4 ของกรรมการทั้งหมด ส่วนกรรมการผู้มีอำนาจนั้นจะต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทยเท่านั้น ซึ่งเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าวให้ความสำคัญกับกิจการโทรคมนาคม เนื่องจากเป็นกิจการที่ให้คุณ และสร้างประโยชน์ต่อประเทศ และต้องดำเนินการให้ปราศจากการควบคุมที่เป็นภัยต่อประเทศ คุ้มครองกิจการไม่ให้ตกเป็นของชาวต่างชาติ
ขณะที่การกระทำดังกล่าว ปรับลดสัดส่วนบริษัท ชิน คอร์ปฯ ถือหุ้นเหลือ 40% ในบริษัท ชิน แซทเทิลไลท์ฯ อาจทำให้ผู้ถือหุ้นที่เหลืออีก 60% สมคบคิดกันค้านมติของผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างบริษัท ชิน คอร์ปฯ ได้ แม้ว่าโอกาสที่เกิดขึ้นจะเป็นไปได้ยาก และปัจจุบันยังไม่เกิดขึ้นก็ตาม แต่ก็มีโอกาส ขณะที่ถ้าบริษัท ชิน คอร์ปฯ ถือหุ้น 51% จะไม่มีโอกาสดังกล่าวเกิดขึ้นได้เลย และหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อสังคม ประชาชน เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน อาจเกิดโอกาสทำให้รัฐเสียหายได้ 
ขณะที่ นพ.สุรพงษ์ และจำเลยอีก 2 ราย แย้งว่า การปรับลดสัดส่วนการถือหุ้นดังกล่าว ยังไม่เกิดผลครอบงำใด ๆ แก่บริษัท ชิน แซทเทิลไลท์ฯ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า กรณีนี้ได้อธิบายข้างต้นไว้หมดแล้ว คำกล่าวอ้างดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น
ประเด็นท้ายสุด กรณีนี้ถือเป็นการแก้ไขสัญญาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท ชิน คอร์ปฯ และบริษัท ชิน แซทเทิลไลท์ฯ หรือไม่
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การกระทำดังกล่าวมีเจตนาเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท ชิน คอร์ปฯ และบริษัท ชิน แซทเทิลไลท์ฯ เนื่องจากเห็นได้ว่า พอมีการแก้ไขสัญญาสัมปทานแล้ว บริษัท ชิน แซทเทิลไลท์ฯ ได้ออกหุ้นเพิ่มทุน 208 ล้านหุ้น ทำให้บริษัท ชิน คอร์ปฯ ไม่จำเป็นต้องซื้อหุ้นเพิ่มเติมเพื่อรักษาบริษัท ชิน แซทเทิลไลท์ฯ ไว้ 
ศาลมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า การกระทำของ นพ.สุรพงษ์ ผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ลงโทษจำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา
ส่วนนายไกรสร และนายไชยยันต์ นั้น ศาลพิเคราะห์แล้วสรุปได้ทำนองว่า นายไกรสร ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองปลัดไอซีที มีฐานะเป็นประธานกรรมการประสานงานการแก้ไขสัญญาสัมปทานดังกล่าวฯ โดยมีหน้าที่ต้องตรวจสอบข้อมูล ข้อดีข้อเสียของการแก้ไขสัญญาดังกล่าว ซึ่งขณะนั้นเกิดความเห็นแย้งกันระหว่างฝ่ายวิเคราะห์ของสำนักกิจการอวกาศฯ และฝ่ายนิติกร โดยฝ่ายนิติกรได้แย้งว่า การแก้ไขสัญญาสัมปทานดังกล่าว อาจส่งผลกระทบได้ แต่นายไกรสร ไม่ได้เรียกประชุมเพื่อหารือแก้ไขปัญหาดังกล่าว กลับลงนามตามที่ฝ่ายวิเคราะห์ของสำนักกิจการอวกาศฯเสนอ และส่งเรื่องให้ปลัดไอซีที ก่อนเสนอต่อ รมว.ไอซีที ตามลำดับ 
ส่วนนายไชยยันต์ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเคราะห์ของสำนักกิจการอวกาศฯ ได้วิเคราะห์ตามหนังสือที่บริษัท ชิน แซทเทิลไลท์ฯ ส่งมา ซึ่งเป็นประเด็นในข้อกฎหมาย และไม่ได้มีการแจ้งถึงความจำเป็นในการปรับลดสัดส่วนผู้ถือหุ้น รวมถึงไม่มีการแจ้งพันธมิตรที่จะเข้ามาซื้อหุ้น หรือแหล่งทุนในการซื้อหุ้น 
ดังนั้นผลวิเคราะห์ดังกล่าว จึงมีข้อบกพร่อง ไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริง และไม่ตอบผลประโยชน์ของประเทศ หรือข้อดีข้อเสียในการแก้ไขสัญญาสัมปทานดังกล่าว แต่เป็นผลวิเคราะห์สนับสนุนให้แก้ไขสัญญาสัมปทาน เอื้อให้เกิดการแก้ไขสัญญาสัมปทาน
ขณะที่ทั้งสองรายต่างเป็นข้าราชการมานาน ย่อมต้องรู้ หรือควรรู้ว่า นายทักษิณ เป็นประธานกรรมการบริหารบริษัท ชิน คอร์ปฯ ซึ่งเป็นคู่สัญญารัฐ การกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนได้
ศาลมีมติเสียงข้างมากว่า การกระทำของนายไกรสร และนายไชยยันต์ ผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ลงโทษจำคุก 1 ปี แต่ทั้งสองรายเป็นเพียงข้าราชการใต้บังคับบัญชา ไม่มีอำนาจอนุมัติในการแก้ไขสัญญาสัมปทานดังกล่าว โทษจำคุกให้รอลงอาญา 5 ปี
ทั้งหมดคือเบื้องลึก-ฉากหลังพฤติการณ์ของ ‘หมอเลี๊ยบ-พวก’ ในคดีดังกล่าว ก่อนจะถูกพิพากษาจำคุกในที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น: