PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

คาดสิ้นปีขาดทุน700ล.!ล้วงรายได้ อสมท รื้อโครงสร้างทั้งระบบ-สู้วิกฤตสื่อดิจิทัล

คาดสิ้นปีขาดทุน700ล.!ล้วงรายได้ อสมท รื้อโครงสร้างทั้งระบบ-สู้วิกฤตสื่อดิจิทัล

เขียนวันที่
วันอังคาร ที่ 22 พฤศจิกายน 2559 เวลา 10:00 น.
เขียนโดย
isranews
4
 
0
 
0
 
4
 
"...เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้รับแจ้งข้อมูลสถานการณ์ทางการเงินล่าสุดจาก อสมทโดยมีการยืนยันข้อมูล ว่า ผลประกอบการในช่วงปี 2559 นี้ ตัวเลขขาดทุนน่าจะอยู่ที่ 700 ล้านบาท ส่วนเงินสดในมือขณะนี้มีอยู่ประมาณ 1,900 ล้านบาท แต่ต้องจ่ายค่าสัมปทานทีวีดิจิทัล 2 ช่อง ให้กสทช.ประมาณปีละ 700 ล้านบาท .."
picddddddd22 11 16
ผลประกอบการไตรมาส 3 (เดือน ก.ค.-ก.ย.) ปี 2559  ของบริษัทเอกชนเจ้าของธุรกิจสื่อดัง 5 ค่าย ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ประกอบไปด้วย 1. ค่ายเนชั่น หรือ บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), 2.ค่ายนิวส์ เน็ตเวิร์ค หรือ บริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (บริษัทแม่ของ สปริงนิวส์ และฐานเศรษฐกิจ) , 3. ค่ายมติชน หรือ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) 4. ค่ายโพสต์ หรือ บริษัท โพสต์ พับลิชชิง จำกัด (มหาชน) และ 5.ค่ายอมรินทร์ หรือ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด(มหาชน)  มีการเปิดเผยตัวเลขรายได้ธุรกิจออกมาเป็นทางการแล้ว ซึ่งมีข้อสรุปที่สำคัญว่า ธุรกิจสื่อยังประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่องอันเป็นผลมาจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ไทยและทั่วโลกเข้าขั้นวิกฤตอย่างแท้จริง เม็ดเงินโฆษณาในธุรกิจ”หนังสือพิมพ์” ลดลงอย่างต่อเนื่อง
น่าสนใจว่า ผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2559 ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในรูปบริษัทมหาชนจำกัด และเป็นกิจการสื่อสารมวลชน ภายใต้การกำกับของรัฐบาลไทย โดยสำนักนายกรัฐมนตรี ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เป็นอย่างไรบ้าง?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลงบการเงินของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2559 พบว่า แจ้งผลประกอบการในช่วงไตรมาส 3 ว่าขาดทุน 252,113,000 บาท เทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2558 แจ้งตัวเลขว่า มีกำไร 55,392,000 บาท 
ขณะที่ยอดรวมงบช่วง 9 เดือน ของปี 2559 แจ้งตัวเลขว่าขาดทุน 463,298,000 บาท เทียบกับช่วงปี 2558 แจ้งตัวเลขว่า มีกำไร 100,610 ,000 บาท
ชี้ให้เห็นว่า ประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก 
picghyhd22 11 16
หากเปรียบเทียบรายได้ ในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา จะพบว่า มีตัวเลขรายได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง 
โดย ปี 2555 แจ้งตัวเลข 5,947.45 ล้านบาท ปี 2556 แจ้งตัวเลข  5,984.77 ล้านบาท ปี 2557 แจ้งตัวเลข  4,455.38 ล้านบาท ปี 2558 แจ้งตัวเลข  3,840.19 ล้านบาท และล่าสุดช่วงไตรมาส 3 ของปี 2559 แจ้งตัวเลข  2,212.43 ล้านบาท 
เช่นเดียวกับกำไรของบริษัทฯ ที่มีตัวเลขลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
โดยปี 2555 แจ้งตัวเลข 1,758.87 ล้านบาท ปี 2556 แจ้งตัวเลข   1,526.93 ล้านบาท ปี 2557 แจ้งตัวเลข  503.79 ล้านบาท ปี2558 แจ้งตัวเลข  57.81 ล้านบาท และล่าสุดช่วงไตรมาส 3 ของปี  2559 แจ้งตัวเลขขาดทุน 463.30 ล้านบาท 
picghyhd0022 11 16
สำหรับคำอธิบายผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2559 ของ บริษัท อสมทฯ มีดังนี้ 
ภาพรวมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมโฆษณา
- ภาพรวมการบริโภคในประเทศมีแนวโน้มดีขึ้นในไตรมาสที่ 3 ของปี 2559 ได้รับแรงหนุนจากภาคการส่งออกที่กลับมาขยายตัวเป็นบวก รายได้ในภาคเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงภาคการท่องเที่ยวด้วย 
อย่างไรก็ตาม บริษัทเอกชนหลายรายที่เป็นผู้ซื้อสื่อโฆษณาที่สำคัญ ยังคงปรับลดงบประมาณที่ใช้ในการโฆษณาเพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย ประกอบกับไตรมาสที่ 3 เป็นฤดูกาลที่มีการใช้โฆษณาน้อย ส่งผลให้งบโฆษณาในอุตสาหกรรมสื่อยังคงลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 
รายได้รวม 
ผลการดำเนินงานของ บมจ.อสมท ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแข่งขันในธุรกิจโทรทัศน์ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และการลดลงของเม็ดเงินโฆษณา ซึ่งบริษัทฯ ตระหนักว่าธุรกิจโทรทัศน์ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัทฯ มีรายได้ลดลงค่อนข้างมาก จึงได้เพิ่มช่องทางในการหารายได้ให้หลากหลายขึ้น และนำสินทรัพย์ที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น ธุรกิจสื่อออนไลน์โดยใช้เนื่อหาและรายการที่บริษัทฯ เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ซึ่งแม้ว่าธุรกิจดังกล่าวจะเป็นธุรกิจใหม่ ที่ยังสร้างรายได้ได้ไม่มากนัก แต่มีแนวโน้มการเติบโตที่โดดเด่น
ทั้งนี้ ณ วันที่ 30 ก.ย.2559 บริษัทฯ มีสินทรัพย์รวม 10,644 ล้านบาท หนี้สินจำนวน 3,785 ล้านบาท และมีส่วนของผู้ถือหุ้นจำนวน 6,858 ล้านบาท โดยสรุปงบแสดงฐานะทางการเงินยังสะท้อนถึงสถานะที่มั่นคงของบริษัทฯ ดังเช่นที่ผ่านมา (ดูคำอธิบายฉบับเต็มที่นี่ file:///C:/Users/max/Downloads/16083854.pdf)
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้รับแจ้งข้อมูลสถานการณ์ทางการเงินล่าสุดจาก อสมท
โดยมีการยืนยันข้อมูล ว่า ผลประกอบการในช่วงปี 2559 นี้ ตัวเลขขาดทุนน่าจะอยู่ที่ 700 ล้านบาท ส่วนเงินสดในมือขณะนี้มีอยู่ประมาณ 1,900 ล้านบาท แต่ต้องจ่ายค่าสัมปทานทีวีดิจิทัล 2 ช่อง ให้กสทช.ประมาณปีละ 700 ล้านบาท 
เบื้องต้น สคร. ได้ให้ อสมท กลับไปทบทวนตัวเลขใหม่ พร้อมให้ไปแนวทางที่ทำให้ตัวเลขผลประกอบการในช่วงปลายปี ออกมาในลักษณะ ถ้าไม่มีกำไรก็ต้องไม่ขาดทุน
ส่วนเงินสดในมือของอสมท นั้น  สคร. ส่งสัญญาณชัดเจนไปแล้วว่า ไม่ให้กู้เงินและไม่ให้เพิ่มทุน ซึ่งขณะนี้ฝ่ายบริหาร อสมท กำลังพิจารณาแนวทางต่างๆ อยู่ แต่ยังไม่มีแนวทางปรับลดพนักงานที่มีอยู่ในปัจจุบันจำนวน 1,500 คนลงแต่อย่างใด 
สำหรับแนวทางการลดปัญหาขาดทุน เพื่อความอยู่รอดในช่วง 1-2 ปี นี้ นั้น  อสมท กำหนดทิศทางว่า จะดำเนินธุรกิจแบบ 360 องศา กล่าวคือ รายการใดที่ทำแล้วขาดทุน ให้ยกเลิกทันที เน้นเพิ่มรายการหรือต่อยอดส่วนที่สามารถสร้างรายได้ เช่น ข่าว และไนน์เอ็นเตอร์เทนต์ เพื่อแข่งขันกับสถานีโทรทัศน์ช่องอื่น และต้องเลิกคิดรายการที่ผูกติดกับเรตติ้งมากเกินไป
ขณะที่ สำนักข่าวไทย จะมุ่งไปสู่การผลิตเพื่อป้อนเข้าสู่สื่อดิจิทัลมากขึ้น ทั้งในรูปการนำเสนอในสื่อดิจิทัลที่มีสัญญาซื้อขายกับเจ้าของสื่อหรือรับจ้างผลิตเพื่อเผยแพร่ทางสื่อดิจิทัลให้เจ้าของสินค้า 
ส่วนรายได้จากโฆษณาจะเน้นการขายตรงในลักษณะ จีทูจี โครงการพิเศษภาครัฐมากขึ้น เพราะยังมีเม็ดเงินประชาสัมพันธ์ก้อนนี้ในตลาดอยู่มาก โดยนำโมเดลของลูกค้ามาปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับสิ่งที่เป็นจุดแข็งของ อสมท แล้วออกแบบการผลิตให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าแทน ซึ่งหากทำได้ตามเป้าหมาย คาดว่า อสมท จะกลับมามีกำไรจากผลประกอบการจริง ๆ ในช่วงปี 2562
ส่วนแผนงานทั้งหมดนี้ จะช่วยทำให้อสมท ผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจได้หรือไม่ คงต้องจับตาดูกันต่อไป 
แต่ถ้าหากพิจารณาในแง่มุมเรื่องความเป็น 'เจ้าของสื่อ' แล้ว แม้ อสมท จะเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่ก็ยังเป็นหน่วยงานในสังกัดของรัฐอยู่ดี ดังนั้น ไม่ว่าจะประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจอย่างไร รัฐก็คงต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลืออยู่แล้ว ต่างจากเอกชนทั่วไป ที่ต้องต่อสู้กัดฟันดิ้นรนด้วยตัวเอง 
แต่ถึงแม้จะมีแต้มต่อในทางธุรกิจอย่างไร สุดท้ายก็ต้องวัดกันที่ฝีมือของผู้บริหารและคนในองค์กรว่า จะร่วมใจกันฝ่าฟันปัญหาเพื่อให้รอดพ้นวิกฤตได้หรือไม่  
ถ้าผู้บริหารขาดฝีมือไร้วิสัยทัศน์ในการทำงาน ส่วนพนักงานในองค์กรยังคงเล่นเกมเปิดสงครามแย่งชิงอำนาจกันภายในไม่เว้นแต่ละวัน 
เห็นทีเป้าหมายที่วางไว้สวยหรู อาจจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก 
สถานการณ์ของ อสมท ในขณะนี้ จึงเป็นอะไรที่น่าจับตามองยิ่งนัก!