PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2561

ชาวเหนือ 9 จังหวัด โผล่ขอบคุณ-ให้กำลังใจ “บิ๊กป้อม”

หนุน “บิ๊กป้อม”
ชาวเหนือ 9 จังหวัด โผล่ขอบคุณ-ให้กำลังใจ “บิ๊กป้อม” แก้หนี้นอกระบบ คืนโฉนดที่ดินให้/ เยี่ยม ตำรวจเพชรบูรณ์ สั่งให้พูดจาไพเราะ เป็นมิตรกับประชาชน

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม พร้อมคณะ รับฟังการบรรยายสรุปจากกองทัพภาคที่ 3 และตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของกองพลทหารม้าที่ 1
พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษก กห. เปิดเผยว่า ในการไปตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจการปฏิบัติงานของตำรวจ ที่ สถานีตำรวจภูธรท่าพล และสถานีตำรวจภูธรเมืองเพชรบูรณ์
โดยย้ำการปฏิบัติงาน ขอให้ยึดประชาชนในพื้นที่เป็นศูนย์กลาง ใช้วาจาสุภาพเป็นมิตร โดยให้พัฒนาการบริการและระบบอำนวยความยุติธรรมให้เป็นที่เชื่อมั่นของประชาชน ในการป้องกันและลดปัญหาอาชญกรรมในพื้นที่ การดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในภาพรวม.
พร้อมทั้งกำชับ ให้ตำรวจเข้าไปช่วยเหลือดูแลชาวบ้านแก้ปัญหาหนี้นอกระบบและบังคับใช้กฎหมายจริงจังกับนายทุนเถื่อนในพื้นที่
รวมทั้งขอให้ปรับปรุงสถานีตำรวจ และสร้างความโปร่งใสในการบริหารงาน
ทั้งนี้ ขอให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับ กวดขันวินัยและดูแลสวัสดิการกำลังพลอย่างสม่ำเสมอ โดยต้องไม่ให้มีการเรียกรับผลประโยชน์หรือละเลยการปฏิบัติหน้าที่อย่างเด็ดขาด
พร้อมกันนี้ ได้มีประชาชนจำนวนมาก จากพื้นที่ 9 จังหวัดในภาคเหนือตอนล่าง ได้รวมตัวกันเดินทางมาแสดงความขอบคุณ และเป็นกำลังใจให้ พล.อ.ประวิตร ที่กำชับฝ่ายความมั่นคง ลงมาช่วยขับเคลื่อนดูแลความเดือดร้อนของผู้มีรายได้น้อยจากปัญหาหนี้นอกระบบอย่างจริงจัง โดยสามารถนำทรัพย์สินและโฉนดที่ดินกลับคืนมาได้ในที่สุด
ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ย้ำว่า เจ้าหน้าที่จะพยายามทำร่วมกันให้ถึงที่สุด ด้วยความเป็นธรรม โดยไม่ปล่อยให้ประชาชนต้องเผชิญปัญหาอย่างโดดเดี่ยวอีกต่อไป

สถานีคิดเลขที่ 12 หลังคลายล็อก โดย : ปราปต์ บุนปาน

สถานีคิดเลขที่ 12 หลังคลายล็อก โดย : ปราปต์ บุนปาน



ในที่สุด ก็มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่เรียกขานกันอย่างไม่เป็นทางการว่าคำสั่ง “คลายล็อกพรรคการเมือง” ประกาศออกมา ภายหลังราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
แม้หลายคนจะตั้งคำถามว่าทำไมถึงแค่ “คลายล็อก” ไม่ “ปลดล็อก”
แม้นักการเมืองหน้าเก่าหน้าใหม่จำนวนมากจะคลางแคลงใจต่อข้อห้ามไม่ให้หาเสียงผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์/อินเตอร์เน็ต
แต่อย่างไรเสีย กฎหมายและคำสั่งเหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องยืนยันชัดเจนว่าประเทศไทยกำลังเดินหน้ากลับคืนสู่ “การเลือกตั้ง”
การหวนคืนสู่ “การเลือกตั้ง” หมายความว่าอย่างไร?
อย่างน้อย “การเลือกตั้ง” ย่อมหมายความว่า ไม่ว่ากระบวนการเลือกตั้งและสภาวะทางการเมืองหลังจากนั้น จะมี “ความเป็นประชาธิปไตย” มากน้อยเพียงไหน
อย่างไรก็ตาม อำนาจทางการเมืองจะไม่ถูกผูกขาดอยู่กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงกลุ่มเดียวอีกต่อไป
แต่อำนาจทางการเมืองจะถูก “แชร์” โดยหลายๆ ฝ่าย หรือต้องผ่านการปรับประสานต่อรองระหว่างกลุ่มผลประโยชน์หลากหลายฝ่ายมากขึ้น
ไม่ว่าจะเป็น คสช. กองทัพ หน่วยงาน-องค์กรภาครัฐทั้งหลาย พรรคการเมืองต่างๆ นักการเมืองทั้งจากการเลือกตั้งและแต่งตั้ง และที่สำคัญ คือ “ประชาชน”
ต่อให้มีการออกแบบกลไก-กฎเกณฑ์ หรือกระทั่งจัดวางกระบวนการหลังการเลือกตั้ง เพื่อกลั่นกรองหรือปรับเปลี่ยนเจตจำนงของประชาชนเสียงส่วนใหญ่อย่างละเอียดลออ-สลับซับซ้อนสักเพียงใด

ทว่าเสียงดังกล่าวมักแสวงหาลู่ทางในการป่าวประกาศหรือยืนหยัดเจตจำนงของตนเองได้อยู่เสมอ แม้จะไม่เต็มศักยภาพ 100 เปอร์เซ็นต์
สิ่งที่ต้องยอมรับอีกอย่าง เมื่อมี “การเลือกตั้ง” ก็คือ ภายใต้กระบวนการตามวิถีทางประชาธิปไตยเช่นนั้น จะไม่มีฝ่ายหนึ่งกลุ่มใดที่ได้รับทุกสิ่งทุกอย่างสมตามความปรารถนาหรือความต้องการของตนเอง ชนิดครบถ้วนสมบูรณ์
เรื่องสำคัญไม่แพ้กันจึงดำรงอยู่ “หลังการเลือกตั้ง” นั่นคือคำถามว่า เราจะสามารถถ่วงดุล แบ่งสรรจัดการผลประโยชน์ และแสวงหา “จุดร่วม” หรือ “การยอมรับกฎกติการ่วมกัน” ของแต่ละฝ่าย ได้อย่างไร
ไม่อาจปฏิเสธว่า กว่าหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา สังคมไทยไม่เคยประสบความสำเร็จในการสานก่อภารกิจประการนี้เลย
จนพวกเราติดค้างอยู่ในสภาพที่หากฝ่ายหนึ่งชนะ อีกฝ่ายก็ไม่ยอมรับความพ่ายแพ้
หากฝ่ายหนึ่งได้ อีกฝ่ายก็จำเป็นต้องสูญเสีย
กระทั่งปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงเกินกว่าการเห็นต่างทั่วๆ ไป กลายสภาพเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หายขาด และฉุดรั้งความก้าวหน้าของประเทศ
แน่นอน การเดินหน้าสู่ “การเลือกตั้ง” ต้นปี 2562 คือ นิมิตหมายอันดี ซึ่งจะเปิดโอกาสให้หลายฝ่ายที่ต้อง “เงียบเสียง” มาเนิ่นนาน ได้กลับมาร่วมแสดงบทบาททางการเมืองอีกคำรบ
แต่จุดท้าทายศักยภาพของทุกฝ่ายอย่างแท้จริง อาจตั้งมั่นรออยู่ภายหลังการเลือกตั้ง
ปราปต์ บุนปาน

น.3คอลัมน์ : แนวรุก แนวต้าน การเลือกตั้ง ปี 2562 เก่า กับ ‘ใหม่’

น.3คอลัมน์ : แนวรุก แนวต้าน การเลือกตั้ง ปี 2562 เก่า กับ ‘ใหม่’



ไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งภายในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งภายในวันที่ 5 พฤษภาคม 2562 เด่นชัดอย่างยิ่งว่าจะเป็นการเลือกตั้งภายใต้ 3 ปัจจัยสำคัญ
1 ปัจจัยของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560
ขณะเดียวกัน 1 ปัจจัยการเข้ามาอย่างรวดเร็ว รุนแรง ล้ำลึกและกว้างไกลของโซเชียลมีเดียอันอยู่ในยุคดิจิทัล
และ 1 ปัจจัยจากการตัดสินใจของคนรุ่นใหม่
ไม่ว่า 1 ปัจจัยแรก ไม่ว่า 2 ปัจจัยหลัง กล่าวโดยรวบรัด กล่าวโดยสรุป สะท้อนให้เห็นการปะทะระหว่างเงาสะท้อนของ 2 รุ่น 2 ยุค
อย่างแรกเป็นรุ่นเก่า ยุคเก่า 2 อย่างหลังเป็นรุ่นใหม่ ยุคใหม่
การมี 250 ส.ว.อยู่ในมือเมื่อประสานเข้ากับพลานุภาพแห่ง “พลังดูด” ย่อมเป็นหลักประกันโดยพื้นฐานให้กับการสืบทอดอำนาจ
แต่ที่นอกเหนือการควบคุม คือ โซเชียลมีเดีย และคนรุ่นใหม่
แม้จะเคยประกาศจะนำประเทศเข้าสู่ “เศรษฐกิจ ดิจิทัล” แม้จะปักธงอย่างอึกทึกว่าเป้าหมายของประเทศคือ “ไทยแลนด์ 4.0”
แต่ก็ต้องยอมรับว่าอยู่ภายใต้ “ค่านิยม 12 ประการ”
แต่ก็ต้องยอมรับถึงการล้มเลิกและยึดคืนโครงการแจก “แท็บเล็ต” ให้เด็กอันริเริ่มมาตั้งแต่ยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ยิ่งเห็นโฉม “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560” ยิ่งเด่นชัด
ยิ่งเห็นการยื้อประกาศ คสช.ฉบับที่ 57/2557 คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2561 ยิ่งเด่นชัด
เด่นชัดว่า ความต้องการของ “คสช.” คืออะไร

แต่คำถามอันตามมาก็คือ คสช.จะสกัดขัดขวางหรือลดทอนบทบาทของ “โซเชียล มีเดีย” ในทางสังคมและในทางการเมืองลงได้หรือ
ยังการปรากฏขึ้นของ “คนรุ่นใหม่” อีกเล่า
คําว่าคนรุ่นใหม่ในที่นี้อาจนิยามตามความเป็นจริงที่ว่า คือคนที่มีความคิดใหม่ พร้อมที่จะเปิดใจรับกับการไหล่บ่าเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ และสิ่งใหม่ๆ
กับ คือคนที่ไม่เคยเลือกตั้งมาก่อนเลย
ที่พรรคอนาคตใหม่เสนอนิยามสภาพตั้งแต่รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 มายังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ว่า
เป็น “ทศวรรษที่สูญหาย” คือ ความเป็นจริงนี้
อย่าได้แปลกใจหากว่า เป้าหมายของพรรคอนาคตใหม่ คือ ความพยายามที่จะ “ปลุก” คนรุ่นใหม่ทั้งในความหมายแคบและความหมายกว้าง
หากสามารถปลุกได้ นั่นคือ ตัวแปร
การประสานพลังที่รุกคืบเข้ามาของ “โซเชียลมีเดีย” กับกลุ่มคนที่รู้สึกในความสูญเสียในห้วง 1 ทศวรรษที่ผ่านมาเข้าด้วยกันได้นั่นคือ “พลัง”
2 ปัจจัยหลังนี่แหละจะส่งผลสะเทือนอย่างล้ำลึก
เหมือนกับการเลือกตั้งในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะเป็นการปะทะระหว่าง “เผด็จการ” กับ “ประชาธิปไตย” ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง
เป็นการปะทะระหว่าง “เก่า” กับ “ใหม่”
เป็นการเคลื่อนไหวระหว่างคน 2 กลุ่มที่ขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง นั่นก็คือ 1 เอาด้วยกับ คสช.เห็นชอบกับการสืบทอดอำนาจ กับ 1 กลุ่มไม่เอาด้วย ไม่เห็นชอบกับการสืบทอดอำนาจของ คสช.
แนวรุก แนวต้านมีเพียง 2 แนวเท่านั้นไม่มีแนวอื่น

อภิสิทธิ์ที่ถูกเคลือบ โดย : นิธิ เอียวศรีวงศ์

อภิสิทธิ์ที่ถูกเคลือบ โดย : นิธิ เอียวศรีวงศ์



การสอบแข่งขันของเด็กอนุบาลเพื่อเข้าเรียนต่อชั้นประถมปีที่ 1 กำลังเป็นข่าว ปรากฏการณ์อันน่าสมเพช (ในหลายด้าน ทั้งตัวเด็ก, ผู้ปกครอง และผู้บริหารโรงเรียนดัง) นี้ปรากฏเป็นข่าวมาหลายปีแล้ว แต่ที่เป็นข่าวครั้งนี้เพราะผู้มีอำนาจกำลังจะขจัดปรากฏการณ์อันน่าสมเพชนี้ด้วยการออกกฎหมายห้าม ตรงไปตรงมาเลย
ก็เข้าใจได้ไม่ยาก ฝีมือบริหารของเผด็จการทหารมีอยู่เพียงเท่านี้ คือออกคำสั่งห้ามการกระทำใดๆ ที่ตนเห็นว่าผิด โดยไม่สนใจจะมองลึกลงไปถึงเงื่อนไขเบื้องหลังที่ทำให้เกิดการกระทำที่ผิด จะต้องปรับเปลี่ยนอะไร ด้วยวิธีไหน จึงจะทำให้ทัศนคติผิดๆ ที่ก่อให้เกิดการกระทำที่ผิดเปลี่ยนไป มันทำผิดก็ห้ามทำ จบ ทัศนคติที่ผิดๆ นั้นก็ยังอยู่ และคงผลักดันให้เกิดการกระทำแบบอื่นที่น่าสมเพชพอๆ กันหรือยิ่งกว่า
ที่จริงจะโทษแต่เผด็จการทหารก็ไม่ยุติธรรมนัก เพราะในคณะผู้ถืออำนาจร่วมกับเผด็จการทหารนั้น มี “ผู้ทรงคุณวุฒิ” ร่วมอยู่ด้วยอีกมาก รวมทั้งอดีตอธิการบดีซึ่งเมื่อสมัยที่ตัวเองดำรงตำแหน่งผู้บริหาร โรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยนั้น ก็จัดสอบแข่งขันเข้าเรียน ป.1 อยู่แล้ว การที่ตนต้องปล่อยให้ดำเนินต่อไป ก็คงเพราะมีปัจจัยอื่นๆ อีกหลายอย่างที่ทำให้เห็นว่าคำสั่งห้ามอย่างเดียวไม่แก้ปัญหา แต่บัดนี้โดยอาศัยอำนาจที่เหนือการต่อรองใดๆ ของเผด็จการ กลับเห็นว่าชี้นิ้วสั่งห้ามอย่างเด็ดขาดเสีย ก็แก้ปัญหาได้แล้ว
แปลว่าลึกๆ แล้ว คนเหล่านี้ก็เชื่อในอำนาจที่ปราศจากการต่อรองมาแต่ต้นแล้ว เพียงแต่ตัวไม่มี เลยไม่กล้าแก้ปัญหาด้วยวิธีนั้น ก็ไม่น่าแปลกใจอะไร ไม่อย่างนั้นจะเข้ามาสนับสนุนการรัฐประหารและร่วมงานกับเผด็จการทหารได้อย่างไร
ทีวีแห่งหนึ่งรายงานข่าวว่า จากการสำรวจความเห็น มีผู้ปกครองเด็กอนุบาลเห็นด้วยกับการสอบแข่งขัน พอๆ กับผู้ปกครองที่เห็นด้วยว่าควรยกเลิกการสอบแข่งขันเสียที ยิ่งกว่านี้เมื่อไปสำรวจความเห็นของสมาชิก สนช.ซึ่งเผด็จการทหารตั้งขึ้น ก็มีอีกจำนวนหนึ่งที่เห็นว่าควรรักษาการสอบแข่งขันของเด็กอนุบาลเอาไว้ บางคนเห็นว่ามีประโยชน์แก่เด็ก ป.1 ที่จะเข้าเรียนใน “การศึกษาพิเศษ” ซึ่งเขาหมายถึงการเรียนในโรงเรียนพิเศษ เช่นโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัย เขาจึงเห็นว่าการห้ามสอบแข่งขันของเด็กอนุบาลจะตัดโอกาสของเด็กเก่งๆ ข่าวลือว่าแม้แต่ใน ครม.ก็มีผู้คิดเห็นทำนองเดียวกัน
บังเอิญทีวีแห่งนั้น นำข้อสอบเข้า ป.1 ของโรงเรียนสาธิตแห่งหนึ่งมาแสดงให้ดู คำถามให้เลือกคำตอบที่ถูกต้องมาหนึ่งคำตอบ ผมอ่านตัวเลือกแล้วเห็นว่าตอบข้อไหนก็ได้ทั้งนั้น จะถูกหรือผิดขึ้นอยู่กับเหตุผลต่างหากว่าทำไมจึงเห็นว่าข้อนั้นข้อนี้ถูกกว่าข้ออื่น แต่ข้อสอบไม่ได้บอกให้ผู้สอบระบุเหตุผล (ก็เด็กเพิ่งเรียนจบอนุบาล – ซึ่งก็มีเหตุผลของตนเองแน่ แต่จะให้เขียนอธิบายเหตุผลนั้นออกเป็นตัวหนังสือก็คงจะยากเกินไป) ดังนั้นข้อที่ถือว่า “ถูก” คือข้อที่ผู้ออกข้อสอบมีความเห็นว่าถูกด้วยเหตุผลเฉพาะของตนเองเท่านั้น เด็กตอบได้ “ถูก” ในข้อสอบแบบนี้ จะแสดงว่าเก่งกว่าคนที่ตอบ “ผิด” ได้อย่างไร
แต่คิดอีกที นี่อาจเป็นวิธีคัดเลือกเด็กที่ตรงกับการศึกษาไทยอยู่แล้วก็ได้ เพราะหัวใจของการศึกษาไทยคือการเก็งใจครู
ในบรรดาโรงเรียนที่ถือว่า “ดัง” นั้น ส่วนใหญ่คือโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยต่างๆ และความ “ดัง” ของโรงเรียนเหล่านี้มีอยู่อย่างเดียว กล่าวคือสถิตินักเรียนที่สามารถสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยได้สำเร็จมีสูง แต่ก็ดังที่มีผู้ตั้งข้อสงสัยเสมอมาว่า ข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยนั้นวัดอะไรกันแน่ ดูเหมือนหลายสิบปีมาแล้ว เคยมีงานวิจัยที่แสดงความไม่มีสหสัมพันธ์ระหว่างคะแนนสอบเข้ากับผลการเรียนในมหาวิทยาลัยด้วย
ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงความเก่งและความสำเร็จในชีวิตว่ามีสหสัมพันธ์กับผลการสอบแข่งขันเข้าเรียนโน่นเรียนนี่หรือไม่
สมาชิก สนช.ที่แสดงความวิตกว่าหากเลิกการสอบแข่งขันเข้าเรียน ป.1 เสียแล้ว จะตัดโอกาสเด็กเก่ง น่าจะแสดงให้ผู้อื่นรู้ด้วยว่า ตนเข้าใจความ “เก่ง” ว่าอะไร และมีวิธี “วัด” กันอย่างไร ไม่ว่าในเด็กอายุ 5 หรือ 18 ปี
โรงเรียนสาธิตคือโรงเรียนอะไร?
ตามหลักการแล้ว โรงเรียนสาธิตคือโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนอย่างที่นักการศึกษาเชื่อว่า น่าจะบรรลุสัมฤทธิผลทางการศึกษาได้ดี อันเป็นการจัดการเรียนการสอนที่ไม่ได้ทำทั่วไปในประเทศไทย คณะศึกษาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ จึงตั้งโรงเรียนของตนขึ้น เพื่อจัดการเรียนการสอนด้วยวิธีดังกล่าวให้เห็นเป็นตัวอย่าง (ถึงได้ชื่อว่า “สาธิต” คือแสดงให้ดู) ด้วยเหตุดังนั้น โรงเรียนสาธิตจะบรรลุเป้าประสงค์ที่แท้จริงของตนได้จึงต้องประกอบด้วยเงื่อนไขสามสี่อย่างคือ 1.ควรมีสภาพใกล้เคียงกับความเป็นจริงของโรงเรียนไทยอื่นๆ เช่น นักเรียนก็คละกันทางปูมหลังครอบครัว, ความถนัด, และความเก่งในการเรียนรู้ 2.การมีครูชั้นดี หากจำเป็นก็ต้องถือว่าชั่วคราวในระยะเริ่มต้น ซึ่งต้องการผู้เชี่ยวชาญในการสอนแบบใหม่เท่านั้น ในระยะยาวแล้ว ต้องพัฒนาการบริหารที่ทำให้ครูทั่วไปสามารถเปลี่ยนตนเองมาเป็นครูชั้นดีได้ 3.ต้องพยายามดำเนินงานด้วยงบประมาณที่ไม่สูงมากกว่าโรงเรียนทั่วไปในเมืองไทยมากนัก 4.หาหนทางที่จะทำให้การ “แสดงให้ดู” นั้นได้ผลจริง ซึ่งคงไม่ใช่การแจกหนังสือหรือจัดสัมมนาเพียงอย่างเดียว
นั่นคือเหตุผลที่โรงเรียนสาธิตบางแห่ง เมื่อเริ่มดำเนินกิจการ ไม่มีการสอบแข่งขันใดๆ นอกจากสัมภาษณ์ผู้ปกครอง เพื่อเลือกเอาเด็กที่มาจากปูมหลังครอบครัวที่ต่างกัน จนเขาลือกันว่า หากพ่อแม่มีอาชีพที่ไม่ค่อยได้พบเห็น เช่น พ่อเป็นคนฉายหนังเร่ ลูกก็มีโอกาสสูงมากในการได้เข้าเรียน สาธิตอีกแห่งหนึ่งใช้วิธีจับสลาก เพราะโชคชะตาเป็นตัวกระจายโอกาสได้ดีเยี่ยมอย่างหนึ่ง เพราะมันไม่เข้าใครออกใคร จึงทำให้องค์ประกอบของชั้นเรียนใกล้เคียงกับโรงเรียนจริงในเมืองไทย

การอยู่ร่วมกับคนที่มีปูมหลังครอบครัวอันหลากหลายนั่นแหละคือการศึกษาที่ดีเยี่ยมอย่างหนึ่ง หากโรงเรียนรู้จักใช้ประโยชน์จากความหลากหลายเช่นนี้
แต่แล้วโรงเรียนสาธิตก็กลายเป็นโรงเรียนเด่นดัง เพราะเป้าประสงค์เดิมถูกลืมเลือนไปหมดแล้ว ที่ยังมีอยู่ในเวลานี้คือเป็นสวัสดิการสำหรับอาจารย์มหาวิทยาลัย และด้วยเหตุดังนั้น จึงเผื่อแผ่ไปยังครอบครัวของคนในชนชั้นเดียวกัน และไม่เหลือวิธีอื่นในการคัดเลือกเด็กเข้าเรียน นอกจากการสอบแข่งขัน ซึ่งเป็นวิธีที่คนชั้นกลางระดับบนของไทยรู้สึกปลอดภัยจากการถูกเบียดขับด้วยเส้นสาย แต่ตราบเท่าที่โรงเรียนสาธิตยังเป็นสวัสดิการของอาจารย์มหาวิทยาลัย ก็ปฏิเสธเส้นสายไม่ได้ ดังนั้น การสอบแข่งขันจึงเป็นความชอบธรรมให้แก่ระบบเส้นสายไปพร้อมกัน
การทรมานเด็ก ทรมานผู้ปกครอง จึงใช้เป็นเหตุผลให้ยกเลิกการสอบแข่งขันเข้าเรียนชั้น ป.1 ไม่ได้ เพราะการสอบแข่งขันมันแฝงอยู่ในระบบอภิสิทธิ์ของสังคมไทย ไม่เกี่ยวอะไรกับการเรียนรู้หรือการศึกษาของเด็กไทยแต่อย่างไร แล้วจะมีคนไทยระดับบนๆ สักกี่คน ที่เห็นว่าควรยกเลิกระบบอภิสิทธิ์ในสังคมไทยเสียทีล่ะครับ
ในโลกสมัยใหม่ซึ่งอภิสิทธิ์เป็นที่บาดหูบาดใจคน จำเป็นต้องหาความชอบธรรมมาเคลือบอภิสิทธิ์ให้หายคม และหนึ่งในความชอบธรรมซึ่งใช้เคลือบอภิสิทธิ์มานาน คือการศึกษาและความรู้ความสามารถซึ่งสมมุติว่ามาพร้อมกับการศึกษา
จะเตรียมเด็กอนุบาลคนหนึ่งให้สอบเข้าสาธิตได้นั้น ต้องลงทุนลงแรงอย่างไม่น่าเชื่อ ผู้ปกครองที่ให้สัมภาษณ์ทางทีวี และที่ผมเคยพูดคุย ทำให้พอประมวลได้ว่า
เด็กต้องเข้าเรียนในโรงเรียนอนุบาลที่มีคุณภาพ อย่างน้อยก็ไม่ทำให้เขาเบื่อหรือขยาดกับการเรียน ไม่ใช่ส่งไปศูนย์เด็กเล็กประจำหมู่บ้าน และจะนอนใจว่าเขาจะสอบเข้าสาธิตได้โดยปาฏิหาริย์ นี่เป็นทุนก้อนแรกที่ต้องลง หากไม่นับค่าอาหารและเลี้ยงดูตั้งแต่คลอด ซึ่งก็ต้องใช้สิ่งที่มีคุณภาพเหมือนกัน เพื่อบำรุงสมอง
เด็กควรใช้วันเสาร์อาทิตย์ในการเรียนพิเศษวิชาที่ทำให้ดูมีรสนิยมสักหน่อย เช่น ดนตรีไทยหรือเทศ, ขับร้อง, ฟ้อนรำ, วาดรูป, สนทนาภาษาอังกฤษ, ฯลฯ ซึ่งจะช่วยเพิ่มคะแนนในการสอบสัมภาษณ์ข้างหน้า
วิชาที่เรียนรู้ในโรงเรียนอนุบาลเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอแน่ จำเป็นที่เด็กควรได้เรียนจากเกม, หนังสือนิทาน, หรือการละเล่นอื่นๆ บางครอบครัวคุณแม่ต้องออกจากงานเพื่อมีเวลาสำหรับกำกับการเรียนรู้ของลูก หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องจ้างครูพิเศษมาทำหน้าที่ตรงนี้ และต้องเลือกครูที่นำการเรียนรู้ของเด็กในวัยอนุบาลเช่นนั้นได้เป็นด้วย และจะทำให้เด็กเรียนอย่างมีความสุข ก็ต้องเรียนที่บ้าน ไม่ใช่เรียนพิเศษที่โรงเรียนในตอนเย็น
ทั้งหมดนี้เป็นแค่ขั้นพื้นฐานที่ต้องทำเท่านั้น เพื่อให้แน่ใจว่าลูกหลานที่จะเข้าสอบแข่งขันนั้นเป็น “คุณหนู” ตัวจริงแน่แท้ และจะมีคนไทยที่ไม่ใช่อภิสิทธิ์ชนสักคนไหม ที่สามารถเลี้ยงลูกให้เป็น “คุณหนู” อย่างนี้ได้
โรงเรียนที่ต้องสอบแข่งขันเข้าเรียนในชั้น ป.1 นั้น คือโรงเรียนของ “คุณหนู” แต่โรงเรียนประกาศตรงไปตรงมาอย่างนี้ไม่ได้ เพราะมันระคายเคืองแก่คนส่วนใหญ่ในสังคมเกินไป (ก็ใช้เงินของสังคมไปเปิดโรงเรียน) ฉะนั้นจึงต้องสอบแข่งขัน คัดเลือกเอาเด็กที่เป็น “คุณหนู” ด้วยกัน เป็นภาพที่สาธารณชนพอรับได้ เพราะดูเหมือน “ใครดี ใครได้” แต่ที่จริงที่ว่าใครดี ก็ต้องดีมาก่อน ไม่ใช่ดีในการสอบเท่านั้น
โดยอาศัย ป.1 ในโรงเรียนดังเหล่านี้ คุณหนูก็จะไต่เต้าไปสู่มหาวิทยาลัยดัง หรือสอบชิงทุนไปเรียนต่อต่างประเทศ ผ่านเส้นทางการสอบแข่งขันที่เหมือนเปิดโอกาสที่เท่าเทียมแก่ทุกคน แต่ที่จริงแล้วโอกาสเปิดให้แก่คนที่มีอภิสิทธิ์จะพร้อมกว่าเท่านั้น ในที่สุดก็ไต่เต้าในหน้าที่การงานจนกลายเป็นสมาชิกของกลุ่มอภิสิทธิ์อย่างเต็มตัว
เข้าเรียน ป.1 จะต้องสอบแข่งขันหรือไม่ต้อง จึงไม่ได้อยู่ที่มีกฎหมายห้ามไว้หรือไม่ แต่อยู่ที่สิทธิที่ไม่เท่าเทียมกันของคนไทยต่างหาก ถึงห้ามสอบแข่งขัน ก็ต้องไปเปิดช่องอื่นให้แก่อภิสิทธิ์ชนจนได้

ปชป.จัดประชุมใหญ่’กก.บห.’แก้ข้อบังคับพรรค 26 ก.ย.นี้

ปชป.จัดประชุมใหญ่’กก.บห.’แก้ข้อบังคับพรรค 26 ก.ย.นี้ ‘มาร์ค’จวกคสช.ไม่เข้าใจงานการเมือง



ปชป.จัดประชุมใหญ่’กก.บห.’แก้ข้อบังคับพรรค 26 ก.ย.นี้ ‘มาร์ค’ ชี้ ‘จ้อน’ กลับสังกัดสมาชิกพรรค สามารถลงชิงเก้าอี้หน.ในโควตาคนในได้ จวกคสช.ไม่เข้าใจงานการเมือง มองแค่รวมตัวเพื่อมีอำนาจผ่านเลือกตั้ง ซัด ยิ่งจำกัดสิทธิ์ ยิ่งเอื้อพรรคซื้อเสียง

เมื่อวันที่ 17 กันยายน เวลา 11.30 น. ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) เรียกประชุมกรรมการบริหารพรรค(กก.บห.)ชุดปัจจุบัน โดยมีกรรมการเข้าประชุมอย่างพร้อมเพียง ขาดเพียง 7 คนที่แจ้งลาติดภารกิจ อาทิ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน คุณหญิงกัลยา โสภณภนิช และ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร รองหัวหน้าพรรค น.ส.รัชดา ธนาดิเรก นายสรรเสริญ สมะลาภา เป็นต้น โดยอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ขั้นตอนที่พรรคจะต้องดำเนินการ ทั้งทุนประเดิมและจำนวนสมาชิกพรรคได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงการแก้ไขข้อบังคับพรรค เลือกหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค เหรัญญิก นายทะเบียน และกรรมการบริหาร รวมทั้งการจัดตั้งสาขาพรรค การเปิดรับสมาชิกใหม่ ซึ่งทุกอย่างต้องผ่านการพิจารณาของที่ประชุมใหญ่พรรค โดยจะต้องทำหนังสือแจ้งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ให้ทราบล่วงหน้า 5 วัน ตนจึงต้องขอมติจากที่ประชุม ซึ่งจะส่งหนังสือให้กกต.ทราบภายในวันนี้ สมาชิกครบตามกฎหมายกำหนด 4 ปี ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา

จากนั้นเวลา 14.50 น. นายอภิสิทธิ์ แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติให้มีการจัดประชุมใหญ่ของพรรค เพื่อแก้ไขข้อบังคับพรรคให้สอดคล้องกับกฎหมายพรรคการเมือง ในวันที่ 26 กันยายน เวลา 13.00 น. ที่ทำการพรรคปชป. โดยในวันนี้จะลงนามหนังสือเพื่อขอดำเนินต่อกกต. อย่างไรก็ตาม ร่างข้อบังคับขณะนี้เรียบร้อย โดยมีอุดมการณ์ของพรรค ซึ่งยืนหยัดตั้งแต่ ปี 2489 และนโยบายพรรคซึ่งจะเป็นฉบับย่อ เพราะต้องรอให้กก.บห.ชุดใหม่มาปรับปรุงอีกครั้ง เบื้องต้นประกอบความเหลื่อล้ำทางเศรษฐกิจ การศึกษา การกระจายอำนาจ การเมืองที่สุจริต ทั้งนี้ สิ่งที่จะยังไม่ทำในการประชุมวันดังกล่าว คือการเลือกหัวหน้าพรรค และกก.บห. เพราะเราต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมเราถึงออกรูปแบบการหยั่งเสียง เพื่อให้มีความเที่ยงธรรมมากที่สุด ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการออกระเบียบว่ารูปแบบหยั่งเสียงจะเป็นอย่างไร คาดว่าเรื่องดังกล่าวจะชัดเจนหลังที่ประชุมใหญ่มีมติเห็นชอบข้อบังคับพรรค ส่วนการหยั่งเสียงตัวผู้สมัครส.ส.จะมีหรือไม่นั้น ต้องดูกรอบระยะเวลา เพราะขณะนี้ทำได้แค่งานด้านธุรการเท่านั้น เพราะหากพูดไปแล้วก็ต้องทำ


นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า สำหรับข้อบังคับพรรคนั้นที่ประชุมได้ทีการพูดถึงและมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมที่อาจจะต้องปรับปรุงแต่เบื้องต้นจะไม่มีการปรับปรุงในเชิงหลักการ โดยเฉพาะการหยั่งเสียงผู้ที่จะสมัครเป็นหัวหน้าพรรคปชป.สำหรับคนในนั้นจะต้องมีส.ส.สนับสนุนจำนวน 20 คน หรือ มีสมาชิกรับรองภาคละ 500 คน ส่วนโควตาของคนนอกนั้นจะเพิ่มเป็นสองเท่าคือจะต้องมีส.ส.สนับสนุนจำนวน 40 คน หรือสมาชิกรับรองภาคละ 1,000 คน ซึ่งรายชื่อผู้ที่ตกเป็นข่าวว่าจะลงชิงตำแหน่งกับตนก็เข้าข่ายเป็นคนในทั้งเพราะเคยเป็นทั้งอดีตส.ส.หรือรัฐมนตรี อย่างกรณีนายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรคฯ ถ้ากลับมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคก็สามารถใช้สิทธิ์โควต้าคนในได้

เมื่อถามว่าคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่คลายล็อกให้ถือว่ามีความชัดเจนหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า จะบอกว่าไม่ชัดเจนก็คงไม่ได้เสียทีเดียว เพราะในเรื่องการหาสมาชิกพรรค ถ้าธรรมชาติการเมือง หากไม่ทำกิจกรรม หรือพูดโน้มน้าวก็หาสมาชิกได้ยาก สะท้อนให้เห็นว่า คสช.ไม่เข้าใจงานการเมือง เพราะงานธุรการกับงานการเมืองแยกจากกันไม่ได้ งานการเมืองไม่ใช่แค่หาเสียง แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องมีทัศนคติว่าพรรคการเมืองมีไว้หาเสียงเท่านั้น พรรคการเมืองที่ดีต้องทำงานตลอด ไม่ใช่รวมตัวเพื่อมีอำนาจผ่านกระบวนการเลือกตั้ง ซึ่งพรรคเสียดายที่คิดจะปฏิรูปการเมือง แต่กลับมองว่าพรรคการเมืองมีหน้าที่เพียงเท่านี้

“ไม่อยากให้มองการทำกิจกรรมเป็นการจำกัดสิทธิ์ทางการเมือง แต่อยากให้มองว่าเป็นการจำกัดสิทธิ์ของประชาชนมากกว่า เพราะคนที่จะได้คะแนนบริสุทธิ์จากประชาชนต้องทำงานการเมือง ยิ่งจำกัดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเท่าไหร่ เท่ากับยิ่งช่วยพรรคการเมืองที่ไม่คิดจะได้คะแนนเสียงที่บริสุทธิ์ ให้ได้คะแนนมาโดยง่าย ผมฝากถามคสช.ว่าอยากได้การเมืองแบบไหน” หัวหน้าพรรคปชป.กล่าว

‘ชูศักดิ์’ ชี้ห้ามหาเสียง ตีความได้กว้างมาก เป็นการทำตามอำเภอใจ-จำกัดสิทธิเกินเหตุ

‘ชูศักดิ์’ ชี้ห้ามหาเสียง ตีความได้กว้างมาก เป็นการทำตามอำเภอใจ-จำกัดสิทธิเกินเหตุ



ชูศักดิ์ ศิรินิล (แฟ้มภาพ)

“ชูศักดิ์” ชี้ข้อติดขัดจากคำสั่ง 13/2561 เผย 28 ก.ย.นี้ จะถาม กกต. ในประเด็นการหาสมาชิกเพื่อตั้งสาขาพรรคทำได้มากน้อยเพียงใด
​เมื่อวันที่ 17 กันยายน นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงความติดขัดในทางปฏิบัติจากคำสั่ง คสช.ที่ 13/2561 ว่า จากการพิจารณาคำสั่ง ที่ 13/2561 โดยละเอียด พบว่ามาตรการที่กำหนดขึ้นใหม่ส่วนใหญ่เอื้อต่อพรรคการเมืองที่จะเกิดขึ้นใหม่ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการขยายเวลาเรื่องทุนประเดิม การชำระค่าบำรุงพรรคการเมือง การจัดให้มีการประชุมใหญ่โดยไม่ต้องมีตัวแทนสาขาพรรค ที่สำคัญ คือ การลดเงื่อนไขในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดยพรรคการเมืองนั้นๆ ไม่จำเป็นต้องมีตัวแทนสาขาพรรคการเมืองในแต่ละภาคอย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขา อันเป็นเงื่อนไขสำคัญทีพรรคการเมืองจะต้องมี ตามกฎหมายพรรคการเมือง 2560 และคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ซึ่งกำหนดว่า หากจัดตั้งสาขาได้ไม่ครบถ้วนจะส่งผู้สมัครมิได้ แสดงว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคการเมืองสามารถส่งผู้สมัครได้ แม้ยังไม่มีสาขาเลยก็ตาม กรณีจึงเป็นการเอื้อให้แก่พรรคการเมืองที่จัดตั้งใหม่เต็มๆ เรื่องสาขาพรรคและตัวแทนพรรคการเมืองยังมีความสับสนอยู่ในการตีความ เพราะคำสั่งที่ 13/2561 ไม่ให้นำมาตรา 47 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมืองมาใช้ในการทำไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งแรก คือ เขตเลือกตั้งที่พรรคการเมืองจะส่งผู้สมัครไม่ต้องมีสาขาพรรค หรือตัวแทนพรรคการเมืองในเขตนั้นก็ได้ แต่ในคำสั่งดังกล่าว ให้กรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรครับฟังความคิดเห็นของหัวหน้าสาขาพรรคการเมือง ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดและสมาชิกที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณาด้วย จึงมีความสับสนว่าจะต้องจัดตั้งสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัดไว้มากน้อยเพียงใด ถ้าไม่ได้จัดตั้ง ไว้เลยจะได้หรือไม่ เรื่องนี้พรรคจะได้สอบถามความชัดเจนจาก กกต. และน่าจะเป็นประเด็นในการที่พรรคการเมืองจะสอบถามจาก กกต. ในวันที่ 28 กันยายน นี้ด้วย

​นายชูศักดิ์กล่าวอีกว่า นอกจากนั้น พรรค พท.ยังมีความเห็นว่าการที่คำสั่ง คสช. ที่ 13/2561 อนุญาตให้พรรคการเมือง ประชาสัมพันธ์ ติดต่อสื่อสารกับสมาชิกผ่านทางเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยการดำเนินการนั้นต้องไม่มีลักษณะเป็นการหาเสียงนั้น จะสร้างความสับสนและเปิดโอกาสให้มีการเลือกปฏิบัติทำนองเดียวกับการห้ามชุมนุมทางการเมือง เนื่องจากคำว่าหาเสียงมีความหมายกว้างมาก ไม่มีการให้ความหมายใดๆ ไว้ คำสั่งเช่นนี้นอกจากจะเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพเกินสมควร เกินกว่าเหตุแล้ว ดูเหมือนเป็นการทำตามอำเภอใจอีกด้วย

ผ่าเคาต์ดาวน์เลือกตั้ง "กำหนด" ทิศทางประเทศ : คนไทย2ขั้ว ชี้ขาดแบบไทยๆ

ผ่าเคาต์ดาวน์เลือกตั้ง "กำหนด" ทิศทางประเทศ : คนไทย2ขั้ว ชี้ขาดแบบไทยๆ




สถานการณ์ที่ประเทศไทยต้องผจญอิทธิพลพายุ 2 ลูกซ้อนๆ
ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเตือนภัยพายุโซนร้อน “บารีจัต” และพายุไต้ฝุ่น “มังคุด” ระหว่างวันที่ 13–18 กันยายน ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้นเกือบทุกภูมิภาค โดยผลกระทบจากฝนตกหนักและฝนตกสะสมที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง รวมถึงดินโคลนถล่ม
ย่างเข้าปลายฤดู แนวโน้มฟ้าฝนยังส่อชุกกว่าทุกปี
ในโหมดสถานการณ์ที่เริ่มเข้าสู่ฤดูเลือกตั้ง ตามจังหวะ “เคาต์ดาวน์” นับถอยหลัง
นับจากวันที่ 12 กันยายน 2561 ที่ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชโองการโปรดเกล้าฯ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)
โดยในส่วนของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.มีผลบังคับใช้ทันที โดยให้ดำเนินการสรรหาและแต่งตั้ง
ให้แล้วเสร็จก่อนวันที่มีการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งแรก ไม่น้อยกว่า 15 วัน
ขณะที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ได้กำหนดให้ใช้บังคับเมื่อพ้น 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป และดำเนินกระบวนการเลือกตั้ง ส.ส.ให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน นับตั้งแต่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ มีผลบังคับใช้
หน่วงเวลาออกไปเพื่อให้ประชาชนและผู้เกี่ยวข้องมีเวลาเตรียมตัว ศึกษากติกาเลือกตั้งแบบใหม่
นั่นเท่ากับว่า ระยะเวลาในการเตรียมการจัดการเลือกตั้ง จะมีผลเริ่มนับได้ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2561 และการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้อย่างเร็วสุดในวันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ และอย่างช้าที่สุดไม่เกินวันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม 2562 ตามกรอบ 150 วัน
มันก็เป็นไปตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ตั้งเป็นตุ๊กตาไว้
แต่ที่ชัดเจนเลยก็คือ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.กลาโหม ยืนยันชัดถ้อยชัดคำ การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นภายในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 อย่างแน่นอน
เป็นอันว่า โปรแกรมเลือกตั้งเป็นตามล็อกโรดแม็ป
และนั่นก็เด้งรับทันที ตลาดหุ้นไทยวันที่ 13 กันยายน
ดีดขึ้นไปปิดที่ 1,717.96 จุด เพิ่มขึ้น 38.57 หรือพุ่งขึ้น 2.30 เปอร์เซ็นต์ รับข่าวการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ปีหน้า
นักลงทุนต่างชาติ นักลงทุนสถาบันเชื่อมั่นการเมือง
โดยสถานการณ์ต่อเนื่อง อันดับแรกเลย “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. ได้ทำการ “คลายล็อก” คำสั่งหัวหน้า คสช.ให้พรรคการเมืองขยับทำกิจกรรมได้บางส่วน
ตามจังหวะการขยับของป้อมค่ายการเมืองที่ชิงออกตัวก่อนแล้ว
แนวโน้มที่ถูกจับตามากที่สุดก็คือการแสดงความชัดเจนของ พล.อ.ประยุทธ์ ในวิถีเส้นทางไปต่อบนถนนการเมือง
ในการต่อตั๋วตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง
ค่อนข้างชัวร์แล้วว่าจะใช้ฐานพรรคพลังประชารัฐ
รอแค่จังหวะเปิดตัวอย่างเป็นทางการของนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กับนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ว่าที่หัวหน้าและเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ และยังรวมถึงกลุ่มสามมิตรที่นำโดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตเลขาธิการพรรคไทยรักไทย และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มมัชฌิมา
ตามสถานะของป้อมค่ายใหม่ที่แทรกขึ้นมาในเกมชิง
ขั้วอำนาจ
ขณะที่แชมป์เก่าอย่างพรรคเพื่อไทยยังอยู่ในจังหวะรอลุ้น “นอมินีรุ่น 3” ตามสถานการณ์ที่ “นายใหญ่ตระกูลชิน”
อย่างอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ยังดึงเกมเลี้ยงเรตติ้งเป็นระยะ
ปล่อยคิว “ลูกเขย” มาหยั่งกระแส กระตุ้นกองเชียร์
แต่เรื่องของเรื่องโดยเหลี่ยมที่จับทางได้ คิวของ “น้องปู” น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังหงายไพ่กันนาทีสุดท้าย ใช้เวลาแค่ 49 วัน โกยแต้มเลือกตั้ง ขึ้นแท่นนายกรัฐมนตรี
งานนี้ “ทีเด็ด” ตัวจริง ในวงเล็บ (ถ้ามี) คงไม่รีบเปิดมาล่อบาทาแน่
และมันจะเป็นคำตอบทางยุทธศาสตร์ของ “นายใหญ่” ศึกเลือกตั้งรอบนี้จะสู้แค่ไหน
แต่ที่ใส่กันตั้งแต่ยกแรกเลยก็คือคิวของรองแชมป์อย่างพรรคประชาธิปัตย์ ที่กำลังเปิดเกมโค่นกระดาน “เดอะมาร์ค” นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค
จากบท “เด็กดื้อ” ที่ทำให้สถานะ “ตัวแปร” กลายเป็น “ตัวปัญหา”
กับลีลายึกยัก ตั้งเงื่อนไขล่วงหน้า ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ จะนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีต่อ โดยไม่ได้เสียงข้างมากจาก ส.ส.ในสภา พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่สนับสนุน
ทำให้ดุลอำนาจของฝ่ายดัน “ลุงตู่” ไปต่อ สะดุด สมการตัวเลขแกว่ง
นั่นจึงเป็นที่มาของแรงกระแทกทั้งจากภายในและภายนอก เป้าหมายต้องโละ “อภิสิทธิ์” ออกจากหัวขบวนประชาธิปัตย์ เพื่อดีลอำนาจสำคัญ
เดิมพันไม่ใช่แค่พรรคประชาธิปัตย์ แต่มันอาจหมายถึงประเทศไทย
ทั้งหมดทั้งปวง โดยเงื่อนไขสถานการณ์ทั้งคิวของพรรคประชาธิปัตย์ ยุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อไทย แม้แต่การก่อกำเนิดพรรคพลังประชารัฐ มันก็วนอยู่ในระบบนิเวศการเมืองไทย
ฉากอำนาจ ภาคต่อของการปฏิวัติ
ในบรรยากาศที่นักการเมืองถูกกดอยู่ภายใต้ท็อปบูตมานาน ถึงเวลาทวงคืนอำนาจในสนามเลือกตั้ง
โดยเกมการต่อสู้มันก็หนีไม่พ้นฉากฝ่ายประชาธิปไตยสู้กับฝั่งทหาร
แน่นอน มันหมูมากสำหรับนักเลือกตั้งอาชีพ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ ทุกพรรค ทุกยี่ห้อ ที่จะปลุกเร้าให้ประชาชนเลือกระหว่างเผด็จการกับเสรีประชาธิปไตย
สังเกตได้จากทุกพรรคแสดงอาการรังเกียจทหาร ไม่เอี่ยวกับท็อปบูต
ตรงกันข้าม ตามสถานการณ์ยากๆของรัฐบาลทหาร
ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ ยึดอำนาจบริหารมา 4-5 ปี สวนกระแสโลกเสรีประชาธิปไตย
ต้องสู้กับอารมณ์ที่ฝังลึกอยู่ในมโนผู้คนในสังคม ทหารเก่งแต่รบ ไม่เชี่ยวเชิงบริหาร ไหนจะภาพมอมแมมๆ
ปม “เพื่อน พ้อง น้อง พี่” ที่ทำให้เห็นพฤติกรรมไม่แตกต่างจากที่ตำหนินักการเมือง
ทหารขาลง เข้าทางนักการเมืองที่โหนอารมณ์สังคมโหยหาเลือกตั้ง
บทสรุปมันก็อย่างที่ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยซ้ำแล้วซ้ำเล่า ผู้นำทหารตีตั๋วต่อในสนามการเมือง
แต่เรื่องของเรื่อง การเมืองแบบไทยๆที่ไม่เหมือนประเทศใดในโลก ภายใต้เงื่อนไขสถานการณ์ที่ประชาชนแตกออกเป็น 2–3 ขั้ว ความเห็นต่างกันไปคนละทาง
อย่างที่เห็นๆทหารไม่ได้เป็นผู้ร้าย แย่งอำนาจจากประชาชนเหมือนอดีต
ต้นเหตุจากพฤติกรรมน้ำเน่าของนักการเมือง แก่งแย่งอำนาจ ยื้อผลประโยชน์แบบที่ไม่มีใครยอมใคร
ฟากหนึ่ง ก็มีปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ใช้ประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งเข้ามากินรวบประเทศไทย เอื้อประโยชน์พวกพ้อง พอศาลตัดสินทุจริตก็ไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรม อ้างวาทกรรมสองมาตรฐาน
ตั้งท่าจะนิรโทษกรรม “นายใหญ่” กลับบ้านแบบเท่ๆ
จนกระทั่งถึงวันนี้ 2 พี่น้องอดีตผู้นำต้องหนีคดีทุจริตออกนอกประเทศ แต่ยังสามารถบัญชาการเกมพรรคการเมืองที่ครองกระแสนิยมชาวบ้านรากหญ้า รอจังหวะทวงอำนาจคืน
อีกฟาก อีกพรรคก็ผูกปีแพ้เลือกตั้ง อ้างซื้อเสียงสู้ไม่ได้ แพ้ซ้ำซากเกมในสภา ก็ลากเกมออกไปสู้กันบนถนน ปลุกมวลชน จุดชนวนม็อบป่วนเมือง โค่นกระดานอำนาจ
ทหารจำเป็นต้องเข้ามายุติเหตุนองเลือด ห้ามคนไทยฆ่ากัน
และโดยพฤติการณ์ที่สวนทางกับคำว่า “เผด็จการ” รัฐบาลทหาร คสช.คุมการบริหารราชการแผ่นดินมา 4–5 ปี ภายใต้จุดเด่นด้านความมั่นคง ทำให้บ้านเมืองสงบ ปราศจากม็อบป่วนเมือง
รื้อปมปัญหาฝังรากลึก ขบวนการสีเทา สิ่งผิดกฎหมาย เปลี่ยนแปลงแบบเห็นเนื้อเห็นหนัง
แบบที่ พล.อ.ประวิตร คุมทีมทหาร ตำรวจ ลุยล้างนายทุนเงินกู้นอกระบบ จัดการมาเฟียวินรถตู้ วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จัดระเบียบหาบเร่แผงลอยยึดทางเท้า ฯลฯ
ด้านเศรษฐกิจที่ถูกมองเป็นจุดอ่อนตามฟอร์มรัฐบาลทหาร แต่เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจดึงตัวนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มาเป็นรองนายกฯ คุมงานด้านเศรษฐกิจ จนสามารถฉุดลากเศรษฐกิจที่ติดลบจากวิกฤติการเมือง จน
จีดีพีพุ่งไปถึงร้อยละ 4.8 การันตีด้วยนักวิเคราะห์ต่างชาติที่มองเข้ามาประเทศไทย
ฐานแข็งแกร่ง ไม่สั่นสะเทือนตามภาวะผันผวนการเงินโลก
หุ้นเด้งรับเลือกตั้งทันที สะท้อนนักลงทุนมั่นใจสถานะทางเศรษฐกิจไทย
เหนือสิ่งอื่นใด ภายใต้รัฐบาล “นายกฯลุงตู่” ที่เดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจแบบเต็มกำลัง “สมคิด” กดปุ่มเดินหน้าเมกะโปรเจกต์รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้า มอเตอร์เวย์สารพัดสาย
ผู้รับเหมายืนยันเสียงเดียวกัน ไม่มี “หัวคิว” จ่ายเจ๊ แบบที่เคยชักกันถึงร้อยละ 20–30
องค์กรคอร์รัปชันประเทศไทยให้คะแนนโปร่งใส “นายกฯลุงตู่” เต็มร้อย
ทั้งหมดทั้งปวง โดยเงื่อนไขสถานการณ์ซับซ้อน อารมณ์การเมืองแบบไทยๆ ในบรรยากาศอั้นๆ ผู้คนในสังคมโหยหาการเลือกตั้งที่เว้นวรรคเข้าคูหากาบัตรมาหลายปี
คนไทย 2 ขั้ว จะทำการชี้ขาดประชาธิปไตยแบบไทยๆ
และแน่นอน การเลือกตั้งเมืองไทยจะเป็นกรณีศึกษาของโลก.
“ทีมการเมือง”

บนวิถีของ ‘จอมเฮี้ยว’

บนวิถีของ ‘จอมเฮี้ยว’



ระหว่างรอคำสั่ง คสช.คลายล็อกเป็นทางการ ให้พรรคการเมืองเคลื่อนไหวดำเนินการตามกฎหมายเลือกตั้งได้ ป้อมค่ายการเมืองที่เป็นอัมพฤกษ์อัมพาตมานาน เตรียมตัวขยับกันคึกคัก
มันก็จะเริ่มป่วนๆกันหน่อยแล้ว
ประเดิมคิวแหม่งๆมาก่อนเลย กับเอกสารที่มีหัวของสำนักโพลแห่งหนึ่งสำรวจความคิดเห็นชาวบ้านในพื้นที่แห่งหนึ่งใน จ.กาฬสินธุ์ มีการระบุในเอกสารถึงรายละเอียดของพรรคการเมืองต่างๆ
ลงละเอียดระบุชัด ทั้งตัวผู้สมัคร หัวหน้าพรรค บุคคลในบัญชีนายกฯแต่ละพรรค
ทั้งที่หลายค่ายยังเปิดศึกชิงเก้าอี้ บางค่ายดังยังตั้งไม่เสร็จ ยังไม่ประชุมพรรคเลยด้วยซ้ำ
ขบวนการป่วนน่าจะได้เวลาเริ่มงานแล้ว
ควบคู่ไปกับสถานการณ์ที่ขั้วค่ายการเมืองมีกิจกรรมเข้าจังหวะกันคึกคัก
โดยที่กำลังร้อน พรรคประชาธิปัตย์ ที่ดูเหมือน “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” จะพลาด “ปล่อยฟรี” กติกาหยั่งเสียงเลือกประมุขพรรค มีผู้ท้าชิงเก้าอี้เปิดตัวหลายราย ชนิดดูเหมือนใครๆก็ไม่รัก อยากสอยรูปหล่อเต็มที
ขณะที่ “อภิสิทธิ์” ก็ไม่ได้เป็นเหยื่อเซื่องๆ ให้รุมง่ายๆ เพราะถอดรหัสจากคิวเปิดกว้างเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ แต่วางเงื่อนไขกำหนดสเปก ชนิด “คนนอก”ยังฝ่าด่านยาก
ส่วนที่เปิดให้ “คนใน” เป็นแคนดิเดต จุดเสี่ยงโดนอำนาจนอกค่ายเข้าแทรกนั้น “อภิสิทธิ์” เดินหมากอีกชั้น แฝงแผนขยายแนวร่วม โดยเฉพาะการหยั่งเสียงทางแอปพลิเคชัน
ปลุก “จุดแข็ง” แฟนคลับบนโลกโซเชียล
ยังไม่รวมแบ็กอัปชั้นดี มีบรรดาซือแป๋กุนซือช่วยอุ้ม “เด็กดื้อ” ให้ได้เฮี้ยว
แล้วที่มาใหญ่ จัดว่าเฮี้ยวไม่แพ้กัน “เจ้าสัวหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่ไม่ใช่ออกอาการฟูในวันครบรอบวันเกิดครบ 52 ปีเท่านั้น
และไม่ต้องให้ “เสี่ยตุ้ย” สรอรรถ กลิ่นประทุม ประธานที่ปรึกษาอวย เปรียบหัวหน้าพรรคเป็นต้นไม้ “พันธุ์พิเศษ” ประเภท “โตไว” ใครๆก็อยากมาพึ่งพิงซูฮกบารมี
แต่ “เจ้าสัวหนู” กางปีกรอผงาดมาพักใหญ่แล้ว
ไม่ว่าจะเป็นบทเฮี้ยววิพากษ์วิจารณ์นโยบายโครงการรัฐบาล คสช. แบบตีไพ่สองหน้า อยู่ขวาฝั่งอำนาจท็อปบูตก็ได้ พลิกย้ายไปซ้ายเครือข่าย “อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร” ก็ไม่ลำบาก
จังหวะก้าวของเจ้าสัวยังร้อนแรง พาไพร่พลปะฉะดะบุกตีเมืองทั่วทิศ
ทั้งเปิดเกมรุกซ้อนเกี่ยวกับกลุ่มการเมือง พรรคการเมืองโฉบไปพื้นที่ที่มีบิ๊กเนมเจ้าถิ่น ที่ปกติอ๋องๆวงการจะเว้นวรรคให้กัน
พลังอัดฉีดเจ้าสัวซิโน–ไทย ตะลุยแหลกไม่เลือกหน้าเลือกค่าย
ถึงไม่ติดโพลเรตติ้งเรื่องว่าที่ผู้นำ แต่ “อนุทิน” กระเดื่องนามวงการไม่แพ้ใครในคิวร้อนแรงไร้ขีดจำกัด
นั่นก็แปรผกผันกับคำว่า “พวก”
แม้แต่ในเครือข่ายสีน้ำเงินค่ายภูมิใจไทย หลังจากที่เคยเปิดศึกกับเจ้าสัวสปอนเซอร์ใหญ่ ที่จ่อส่งนอมินีอดีตบิ๊กสีกากีเข้ามาฮุบพรรค เพียงแต่คิวนั้น “นอมินีสีกากี” พลาดสะดุดอีกเกมไปเสียก่อน
เบรกเกมบุก “ศึกเจ้าสัว” ได้ “อนุทิน” ผงาดและฮึกเหิมยิ่ง
แต่อีกทางจอยต์เวนเจอร์ผู้ร่วมทุนใหญ่อย่าง “เนวิน ชิดชอบ” ที่แม้จะรามือการเมืองไปพักใหญ่ แต่จากศึกเจ้าสัว พี่ที่แสนดีของ “เสี่ยหนู” ไม่มีท่าทีใดๆ เสมือน “ลอยตัว”
จนมีคำถามถึงสัมพันธภาพพี่–น้อง “เน–หนู” แปร่งๆไปหรือไม่
รวมทั้งข้อสังเกต “ความมั่นใจ” เกินร้อยของหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ในห้วงสัญญาณบ้านเมืองไม่ชัด
ที่ว่าแน่ว่าชัวร์ก็พลิกกันหลายตลบให้เห็นกันมาแล้ว
ถึงวันนี้วิถีเจ้าสัวกับเกมเฮี้ยวๆ ต้องรอบทสรุปกันอีกพักใหญ่.
ทีมข่าวการเมือง