PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2561

น.3คอลัมน์ : แนวรุก แนวต้าน การเลือกตั้ง ปี 2562 เก่า กับ ‘ใหม่’

น.3คอลัมน์ : แนวรุก แนวต้าน การเลือกตั้ง ปี 2562 เก่า กับ ‘ใหม่’



ไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งภายในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งภายในวันที่ 5 พฤษภาคม 2562 เด่นชัดอย่างยิ่งว่าจะเป็นการเลือกตั้งภายใต้ 3 ปัจจัยสำคัญ
1 ปัจจัยของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560
ขณะเดียวกัน 1 ปัจจัยการเข้ามาอย่างรวดเร็ว รุนแรง ล้ำลึกและกว้างไกลของโซเชียลมีเดียอันอยู่ในยุคดิจิทัล
และ 1 ปัจจัยจากการตัดสินใจของคนรุ่นใหม่
ไม่ว่า 1 ปัจจัยแรก ไม่ว่า 2 ปัจจัยหลัง กล่าวโดยรวบรัด กล่าวโดยสรุป สะท้อนให้เห็นการปะทะระหว่างเงาสะท้อนของ 2 รุ่น 2 ยุค
อย่างแรกเป็นรุ่นเก่า ยุคเก่า 2 อย่างหลังเป็นรุ่นใหม่ ยุคใหม่
การมี 250 ส.ว.อยู่ในมือเมื่อประสานเข้ากับพลานุภาพแห่ง “พลังดูด” ย่อมเป็นหลักประกันโดยพื้นฐานให้กับการสืบทอดอำนาจ
แต่ที่นอกเหนือการควบคุม คือ โซเชียลมีเดีย และคนรุ่นใหม่
แม้จะเคยประกาศจะนำประเทศเข้าสู่ “เศรษฐกิจ ดิจิทัล” แม้จะปักธงอย่างอึกทึกว่าเป้าหมายของประเทศคือ “ไทยแลนด์ 4.0”
แต่ก็ต้องยอมรับว่าอยู่ภายใต้ “ค่านิยม 12 ประการ”
แต่ก็ต้องยอมรับถึงการล้มเลิกและยึดคืนโครงการแจก “แท็บเล็ต” ให้เด็กอันริเริ่มมาตั้งแต่ยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ยิ่งเห็นโฉม “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560” ยิ่งเด่นชัด
ยิ่งเห็นการยื้อประกาศ คสช.ฉบับที่ 57/2557 คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2561 ยิ่งเด่นชัด
เด่นชัดว่า ความต้องการของ “คสช.” คืออะไร

แต่คำถามอันตามมาก็คือ คสช.จะสกัดขัดขวางหรือลดทอนบทบาทของ “โซเชียล มีเดีย” ในทางสังคมและในทางการเมืองลงได้หรือ
ยังการปรากฏขึ้นของ “คนรุ่นใหม่” อีกเล่า
คําว่าคนรุ่นใหม่ในที่นี้อาจนิยามตามความเป็นจริงที่ว่า คือคนที่มีความคิดใหม่ พร้อมที่จะเปิดใจรับกับการไหล่บ่าเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ และสิ่งใหม่ๆ
กับ คือคนที่ไม่เคยเลือกตั้งมาก่อนเลย
ที่พรรคอนาคตใหม่เสนอนิยามสภาพตั้งแต่รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 มายังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ว่า
เป็น “ทศวรรษที่สูญหาย” คือ ความเป็นจริงนี้
อย่าได้แปลกใจหากว่า เป้าหมายของพรรคอนาคตใหม่ คือ ความพยายามที่จะ “ปลุก” คนรุ่นใหม่ทั้งในความหมายแคบและความหมายกว้าง
หากสามารถปลุกได้ นั่นคือ ตัวแปร
การประสานพลังที่รุกคืบเข้ามาของ “โซเชียลมีเดีย” กับกลุ่มคนที่รู้สึกในความสูญเสียในห้วง 1 ทศวรรษที่ผ่านมาเข้าด้วยกันได้นั่นคือ “พลัง”
2 ปัจจัยหลังนี่แหละจะส่งผลสะเทือนอย่างล้ำลึก
เหมือนกับการเลือกตั้งในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะเป็นการปะทะระหว่าง “เผด็จการ” กับ “ประชาธิปไตย” ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง
เป็นการปะทะระหว่าง “เก่า” กับ “ใหม่”
เป็นการเคลื่อนไหวระหว่างคน 2 กลุ่มที่ขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง นั่นก็คือ 1 เอาด้วยกับ คสช.เห็นชอบกับการสืบทอดอำนาจ กับ 1 กลุ่มไม่เอาด้วย ไม่เห็นชอบกับการสืบทอดอำนาจของ คสช.
แนวรุก แนวต้านมีเพียง 2 แนวเท่านั้นไม่มีแนวอื่น

ไม่มีความคิดเห็น: