PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2561

ผ่าเคาต์ดาวน์เลือกตั้ง "กำหนด" ทิศทางประเทศ : คนไทย2ขั้ว ชี้ขาดแบบไทยๆ

ผ่าเคาต์ดาวน์เลือกตั้ง "กำหนด" ทิศทางประเทศ : คนไทย2ขั้ว ชี้ขาดแบบไทยๆ




สถานการณ์ที่ประเทศไทยต้องผจญอิทธิพลพายุ 2 ลูกซ้อนๆ
ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเตือนภัยพายุโซนร้อน “บารีจัต” และพายุไต้ฝุ่น “มังคุด” ระหว่างวันที่ 13–18 กันยายน ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้นเกือบทุกภูมิภาค โดยผลกระทบจากฝนตกหนักและฝนตกสะสมที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง รวมถึงดินโคลนถล่ม
ย่างเข้าปลายฤดู แนวโน้มฟ้าฝนยังส่อชุกกว่าทุกปี
ในโหมดสถานการณ์ที่เริ่มเข้าสู่ฤดูเลือกตั้ง ตามจังหวะ “เคาต์ดาวน์” นับถอยหลัง
นับจากวันที่ 12 กันยายน 2561 ที่ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชโองการโปรดเกล้าฯ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)
โดยในส่วนของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.มีผลบังคับใช้ทันที โดยให้ดำเนินการสรรหาและแต่งตั้ง
ให้แล้วเสร็จก่อนวันที่มีการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งแรก ไม่น้อยกว่า 15 วัน
ขณะที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ได้กำหนดให้ใช้บังคับเมื่อพ้น 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป และดำเนินกระบวนการเลือกตั้ง ส.ส.ให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน นับตั้งแต่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ มีผลบังคับใช้
หน่วงเวลาออกไปเพื่อให้ประชาชนและผู้เกี่ยวข้องมีเวลาเตรียมตัว ศึกษากติกาเลือกตั้งแบบใหม่
นั่นเท่ากับว่า ระยะเวลาในการเตรียมการจัดการเลือกตั้ง จะมีผลเริ่มนับได้ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2561 และการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้อย่างเร็วสุดในวันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ และอย่างช้าที่สุดไม่เกินวันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม 2562 ตามกรอบ 150 วัน
มันก็เป็นไปตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ตั้งเป็นตุ๊กตาไว้
แต่ที่ชัดเจนเลยก็คือ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.กลาโหม ยืนยันชัดถ้อยชัดคำ การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นภายในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 อย่างแน่นอน
เป็นอันว่า โปรแกรมเลือกตั้งเป็นตามล็อกโรดแม็ป
และนั่นก็เด้งรับทันที ตลาดหุ้นไทยวันที่ 13 กันยายน
ดีดขึ้นไปปิดที่ 1,717.96 จุด เพิ่มขึ้น 38.57 หรือพุ่งขึ้น 2.30 เปอร์เซ็นต์ รับข่าวการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ปีหน้า
นักลงทุนต่างชาติ นักลงทุนสถาบันเชื่อมั่นการเมือง
โดยสถานการณ์ต่อเนื่อง อันดับแรกเลย “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. ได้ทำการ “คลายล็อก” คำสั่งหัวหน้า คสช.ให้พรรคการเมืองขยับทำกิจกรรมได้บางส่วน
ตามจังหวะการขยับของป้อมค่ายการเมืองที่ชิงออกตัวก่อนแล้ว
แนวโน้มที่ถูกจับตามากที่สุดก็คือการแสดงความชัดเจนของ พล.อ.ประยุทธ์ ในวิถีเส้นทางไปต่อบนถนนการเมือง
ในการต่อตั๋วตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง
ค่อนข้างชัวร์แล้วว่าจะใช้ฐานพรรคพลังประชารัฐ
รอแค่จังหวะเปิดตัวอย่างเป็นทางการของนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กับนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ว่าที่หัวหน้าและเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ และยังรวมถึงกลุ่มสามมิตรที่นำโดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตเลขาธิการพรรคไทยรักไทย และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มมัชฌิมา
ตามสถานะของป้อมค่ายใหม่ที่แทรกขึ้นมาในเกมชิง
ขั้วอำนาจ
ขณะที่แชมป์เก่าอย่างพรรคเพื่อไทยยังอยู่ในจังหวะรอลุ้น “นอมินีรุ่น 3” ตามสถานการณ์ที่ “นายใหญ่ตระกูลชิน”
อย่างอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ยังดึงเกมเลี้ยงเรตติ้งเป็นระยะ
ปล่อยคิว “ลูกเขย” มาหยั่งกระแส กระตุ้นกองเชียร์
แต่เรื่องของเรื่องโดยเหลี่ยมที่จับทางได้ คิวของ “น้องปู” น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังหงายไพ่กันนาทีสุดท้าย ใช้เวลาแค่ 49 วัน โกยแต้มเลือกตั้ง ขึ้นแท่นนายกรัฐมนตรี
งานนี้ “ทีเด็ด” ตัวจริง ในวงเล็บ (ถ้ามี) คงไม่รีบเปิดมาล่อบาทาแน่
และมันจะเป็นคำตอบทางยุทธศาสตร์ของ “นายใหญ่” ศึกเลือกตั้งรอบนี้จะสู้แค่ไหน
แต่ที่ใส่กันตั้งแต่ยกแรกเลยก็คือคิวของรองแชมป์อย่างพรรคประชาธิปัตย์ ที่กำลังเปิดเกมโค่นกระดาน “เดอะมาร์ค” นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค
จากบท “เด็กดื้อ” ที่ทำให้สถานะ “ตัวแปร” กลายเป็น “ตัวปัญหา”
กับลีลายึกยัก ตั้งเงื่อนไขล่วงหน้า ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ จะนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีต่อ โดยไม่ได้เสียงข้างมากจาก ส.ส.ในสภา พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่สนับสนุน
ทำให้ดุลอำนาจของฝ่ายดัน “ลุงตู่” ไปต่อ สะดุด สมการตัวเลขแกว่ง
นั่นจึงเป็นที่มาของแรงกระแทกทั้งจากภายในและภายนอก เป้าหมายต้องโละ “อภิสิทธิ์” ออกจากหัวขบวนประชาธิปัตย์ เพื่อดีลอำนาจสำคัญ
เดิมพันไม่ใช่แค่พรรคประชาธิปัตย์ แต่มันอาจหมายถึงประเทศไทย
ทั้งหมดทั้งปวง โดยเงื่อนไขสถานการณ์ทั้งคิวของพรรคประชาธิปัตย์ ยุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อไทย แม้แต่การก่อกำเนิดพรรคพลังประชารัฐ มันก็วนอยู่ในระบบนิเวศการเมืองไทย
ฉากอำนาจ ภาคต่อของการปฏิวัติ
ในบรรยากาศที่นักการเมืองถูกกดอยู่ภายใต้ท็อปบูตมานาน ถึงเวลาทวงคืนอำนาจในสนามเลือกตั้ง
โดยเกมการต่อสู้มันก็หนีไม่พ้นฉากฝ่ายประชาธิปไตยสู้กับฝั่งทหาร
แน่นอน มันหมูมากสำหรับนักเลือกตั้งอาชีพ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ ทุกพรรค ทุกยี่ห้อ ที่จะปลุกเร้าให้ประชาชนเลือกระหว่างเผด็จการกับเสรีประชาธิปไตย
สังเกตได้จากทุกพรรคแสดงอาการรังเกียจทหาร ไม่เอี่ยวกับท็อปบูต
ตรงกันข้าม ตามสถานการณ์ยากๆของรัฐบาลทหาร
ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ ยึดอำนาจบริหารมา 4-5 ปี สวนกระแสโลกเสรีประชาธิปไตย
ต้องสู้กับอารมณ์ที่ฝังลึกอยู่ในมโนผู้คนในสังคม ทหารเก่งแต่รบ ไม่เชี่ยวเชิงบริหาร ไหนจะภาพมอมแมมๆ
ปม “เพื่อน พ้อง น้อง พี่” ที่ทำให้เห็นพฤติกรรมไม่แตกต่างจากที่ตำหนินักการเมือง
ทหารขาลง เข้าทางนักการเมืองที่โหนอารมณ์สังคมโหยหาเลือกตั้ง
บทสรุปมันก็อย่างที่ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยซ้ำแล้วซ้ำเล่า ผู้นำทหารตีตั๋วต่อในสนามการเมือง
แต่เรื่องของเรื่อง การเมืองแบบไทยๆที่ไม่เหมือนประเทศใดในโลก ภายใต้เงื่อนไขสถานการณ์ที่ประชาชนแตกออกเป็น 2–3 ขั้ว ความเห็นต่างกันไปคนละทาง
อย่างที่เห็นๆทหารไม่ได้เป็นผู้ร้าย แย่งอำนาจจากประชาชนเหมือนอดีต
ต้นเหตุจากพฤติกรรมน้ำเน่าของนักการเมือง แก่งแย่งอำนาจ ยื้อผลประโยชน์แบบที่ไม่มีใครยอมใคร
ฟากหนึ่ง ก็มีปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ใช้ประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งเข้ามากินรวบประเทศไทย เอื้อประโยชน์พวกพ้อง พอศาลตัดสินทุจริตก็ไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรม อ้างวาทกรรมสองมาตรฐาน
ตั้งท่าจะนิรโทษกรรม “นายใหญ่” กลับบ้านแบบเท่ๆ
จนกระทั่งถึงวันนี้ 2 พี่น้องอดีตผู้นำต้องหนีคดีทุจริตออกนอกประเทศ แต่ยังสามารถบัญชาการเกมพรรคการเมืองที่ครองกระแสนิยมชาวบ้านรากหญ้า รอจังหวะทวงอำนาจคืน
อีกฟาก อีกพรรคก็ผูกปีแพ้เลือกตั้ง อ้างซื้อเสียงสู้ไม่ได้ แพ้ซ้ำซากเกมในสภา ก็ลากเกมออกไปสู้กันบนถนน ปลุกมวลชน จุดชนวนม็อบป่วนเมือง โค่นกระดานอำนาจ
ทหารจำเป็นต้องเข้ามายุติเหตุนองเลือด ห้ามคนไทยฆ่ากัน
และโดยพฤติการณ์ที่สวนทางกับคำว่า “เผด็จการ” รัฐบาลทหาร คสช.คุมการบริหารราชการแผ่นดินมา 4–5 ปี ภายใต้จุดเด่นด้านความมั่นคง ทำให้บ้านเมืองสงบ ปราศจากม็อบป่วนเมือง
รื้อปมปัญหาฝังรากลึก ขบวนการสีเทา สิ่งผิดกฎหมาย เปลี่ยนแปลงแบบเห็นเนื้อเห็นหนัง
แบบที่ พล.อ.ประวิตร คุมทีมทหาร ตำรวจ ลุยล้างนายทุนเงินกู้นอกระบบ จัดการมาเฟียวินรถตู้ วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จัดระเบียบหาบเร่แผงลอยยึดทางเท้า ฯลฯ
ด้านเศรษฐกิจที่ถูกมองเป็นจุดอ่อนตามฟอร์มรัฐบาลทหาร แต่เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจดึงตัวนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มาเป็นรองนายกฯ คุมงานด้านเศรษฐกิจ จนสามารถฉุดลากเศรษฐกิจที่ติดลบจากวิกฤติการเมือง จน
จีดีพีพุ่งไปถึงร้อยละ 4.8 การันตีด้วยนักวิเคราะห์ต่างชาติที่มองเข้ามาประเทศไทย
ฐานแข็งแกร่ง ไม่สั่นสะเทือนตามภาวะผันผวนการเงินโลก
หุ้นเด้งรับเลือกตั้งทันที สะท้อนนักลงทุนมั่นใจสถานะทางเศรษฐกิจไทย
เหนือสิ่งอื่นใด ภายใต้รัฐบาล “นายกฯลุงตู่” ที่เดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจแบบเต็มกำลัง “สมคิด” กดปุ่มเดินหน้าเมกะโปรเจกต์รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้า มอเตอร์เวย์สารพัดสาย
ผู้รับเหมายืนยันเสียงเดียวกัน ไม่มี “หัวคิว” จ่ายเจ๊ แบบที่เคยชักกันถึงร้อยละ 20–30
องค์กรคอร์รัปชันประเทศไทยให้คะแนนโปร่งใส “นายกฯลุงตู่” เต็มร้อย
ทั้งหมดทั้งปวง โดยเงื่อนไขสถานการณ์ซับซ้อน อารมณ์การเมืองแบบไทยๆ ในบรรยากาศอั้นๆ ผู้คนในสังคมโหยหาการเลือกตั้งที่เว้นวรรคเข้าคูหากาบัตรมาหลายปี
คนไทย 2 ขั้ว จะทำการชี้ขาดประชาธิปไตยแบบไทยๆ
และแน่นอน การเลือกตั้งเมืองไทยจะเป็นกรณีศึกษาของโลก.
“ทีมการเมือง”

ไม่มีความคิดเห็น: