PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ทบทวน 3 ขั้นตอน การคำนวณคะแนน 500 ส.ส. จากบัตรใบเดียว

ทบทวน 3 ขั้นตอน การคำนวณคะแนน 500 ส.ส. จากบัตรใบเดียว

อย่างที่ทราบกันดีว่า #รัฐธรรมนูญ ฉบับพ.ศ. 2560 กำหนดให้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 
หรือ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง มีทั้งหมด 500 คน โดยแบ่งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 350 คน และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 150 คน 
ส่วนการเลือกตั้งและวิธีนับคะแนนนั้น มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ
จากเดิมมาใช้ ระบบที่เรียกว่า "จัดสรรปันส่วนผสม" หรือที่รู้จักกันว่าเป็น "การเลือกตั้งบัตรใบเดียว" โดยให้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง
ทั้ง 350 เขตเลือกตั้ง อย่างเดียว แต่คะแนนรวมกันทั้งหมดนั้น จะไม่ถูกทิ้งน้ำให้เป็นคะแนนเสียเปล่า
อีกต่อไป 

เมื่อคะแนนจากการเลือกบัตรใบเดียวของ ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ทุกท่านนั้น จะถูกนำไปใช้คำนวณ
หา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ อีก 150 คนด้วย ซึ่งวิธีการคำนวณ หาส.ส.ทั้ง 500 คน จาก "การเลือกตั้ง
บัตรใบเดียว" มีวิธีง่ายๆ 3 ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1. หา "คะแนนเฉลี่ยต่อส.ส. 1 คน" ด้วยการนำคะแนนที่ "ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง" 
ทุกคนที่มาลงคะแนนเลือก "ผู้สมัครส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง" ทั้ง 350 เขตเลือกตั้งมารวมกันทั้งหมด แล้วนำมาหารด้วย 500 ซึ่งเป็นจำนวนส.ส.ทั้งหมด

เช่น ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปใช้สิทธิลงคะแนน เลือกผู้สมัครส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละ
พรรคการเมือง ทั้ง 350 เขตเลือกตั้ง ทั่วประเทศ รวม 29.5 ล้านเสียง ก็นำไปหารด้วยจำนวน ส.ส. 
ทั้งหมดคือ 500 คน ผลลัพธ์คือ คะแนนเฉลี่ยต่อส.ส.1คน = 59,000 คะแนน
ขั้นตอนที่ 2. หา "จำนวนส.ส.ที่แต่ละพรรคการเมืองพึงมี" ด้วยการรวมคะแนนที่แต่ละ
พรรคการเมืองได้รับ จากผู้ที่มาใช้สิทธิเลือกตั้ง เลือกส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งทั้ง 350 เขต ตาม
พรรคการเมืองที่สังกัด จากนั้นจึงนำมาหารกับ "คะแนนเฉลี่ยต่อส.ส. 1 คน" ตามข้อ 1
เช่น พรรคก. ได้รับคะแนนจากผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งทั้ง 350 เขต
จากทั่วประเทศ จำนวน 13.1 ล้านเสียง ก็ให้นำมาหารกับ "คะแนนเฉลี่ยต่อส.ส. 1 คน" ตามข้อ 1 
คือ 59,000 ผลลัพธ์คือ จำนวนส.ส.ที่พรรคก.พึงมีคือ 222.03 คน เมื่อปัดเศษแล้วก็คือ 222 คน 
 (การปัดเศษทศนิยม จะปัดขึ้นบวก1ให้แก่ พรรคการเมืองที่หารค่าเฉลี่ย”จำนวน ส.ส. 
ที่แต่ละพรรคพึงมี"แล้วมีเศษทศนิยมสูงสุด 7 อันดับแรก)
ขั้นตอนที่ 3.หา "จำนวนส.ส.แบบบัญชีรายชื่อและส.ส.แบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละ
พรรคการเมือง" ด้วยการนำ "จำนวนส.ส.ที่แต่ละพรรคการเมืองพึงมี" ลบด้วย “จำนวน ส.ส. เขต
ที่แต่ละพรรคการเมืองชนะเลือกตั้ง" ก็จะได้ผลลัพธ์คือ “จำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของแต่ละ
พรรคการเมือง"
เช่น "จำนวนส.ส.ที่พรรคก.พึงมี" คือ 222 คน แล้ว พรรคก. มี"จำนวนส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ชนะเลือกตั้ง" แล้ว 187 คน ก็ให้นำ "จำนวนส.ส.ที่พรรค ก. พึงมี" คือ 222 คน - (ลบ) 
"จำนวนส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่พรรค ก. ชนะ" คือ 187 คน ก็จะได้ผลลัพธ์คือ “จำนวน ส.ส. 
แบบบัญชีรายชื่อของพรรค ก.” คือ 35 คน ( 222 คน - 187 คน = 35 คน)
กลับกันถ้า พรรค ก. มี “จำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ชนะเลือกตั้ง” คือ 223 คน 
ก็ให้นำ “จำนวนส.ส.ที่พรรค ก. พึงมี” คือ 222 คน” - (ลบ) “จำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 
ที่พรรค ก. ชนะ” คือ 223 คน ก็จะได้ผลลัพธ์คือ “จำนวนส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรค ก.” 
คือ ไม่ได้เลยสักคน (222 คน - 223 คน = -1 คน) แปลว่า พรรค ก. จะได้รับจำนวน ส.ส. 
แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่พรรค ก. ชนะ เกินกว่า “จำนวน ส.ส. ที่พรรค ก. พึงมี” คือ 222 คน นั่นเอง

6 ตลกร้ายของรัฐธรรมนูญ 2560

ทำไมต้องร่วมกันแก้รัฐธรรมนูญฉบับถ่วงความเจริญของประเทศ 2560 - 6 ตลกร้ายของรัฐธรรมนูญ 2560





รัฐธรรมนูญปี 2560 คือรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของประเทศไทย เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ซึ่งจัดทำโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รัฐธรรมนูญฉบับนี้บังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 นับถือวันที่ 10 ธันวาคม 2561 เป็นเวลาประมาณหนึ่งปีเก้าเดือนที่รัฐธรรมนูญบังคับใช้ เนื่องในวันรัฐธรรมนูญ ปี 2561 ไอลอว์รวบรวมเรื่องราวตลกร้ายที่อยากจะขำแต่ขำไม่ออกเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญปี 2560 มาให้ทราบกัน

https://ilaw.or.th/node/5060

...




1.รัฐธรรมนูญที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม

คสช. ใช้เวลาสามปีกว่าหมกมุ่นอยู่กับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ คสช. กำหนดกรอบการร่างไว้ในมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญ(ชั่วคราว) 2557 เช่น ต้องสร้างกลไกในการป้องกันและปราบปรามทุจริต ต้องมีกลไกในการป้องกันไม่ให้มีการทำลายหลักการสำคัญขอรัฐธรรมนูญ และต้องมีกลไกป้องกันไม่ให้ผู้ที่เคยถูกศาลตัดสินว่าทุจริตเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง การกำหนดกรอบเช่นนี้ชัดเจนว่า คสช. มีธงในการร่างรัฐธรรมนูญของตัวเอง

สามปีกว่า คสช. ตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญถึงสองชุด ชุดแรกนำโดยบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ร่างเสร็จเมื่อตุลาคม 2558 แต่ก็ถูกคว่ำไป ซึ่งบวรศักดิ์ กล่าวถึงเหตุผลที่ร่างรัฐธรรมนูญของเขาถูกคว่ำว่าเพราะ “เขาอยากอยู่ยาว” ต่อมา คสช. จึงตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดที่สอง นำโดยมีชัย ฤชุพันธ์ เขากล่าวว่าการร่างรัฐธรรมนูญครั้งใหม่นี้เป็นภารกิจที่สำคัญจึงจำเป็นต้องไถ่ถาม คสช. ว่ามีความคิดอย่างไร

มีชัยร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 ใช้เวลาเกือบ 6 เดือนในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยให้ฉายาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า “รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง” ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกนำไปออกเสียงประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ซึ่งผลการออกเสียงประชามติประชาชนที่มาออกเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามการออกเสียงประชามติครั้งนี้ จัดทำภายใต้บรรยากาศที่ประชาชนถูกปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น และการรณรงค์เกิดขึ้นได้จากภาครัฐเท่านั้น ก่อนถึงวันออกเสียงประชามติ มีประชาชนอย่างน้อย 195 คน ต้องถูกดำเนินคดีจากการแสดงความคิดเห็น หรือการพยายามมีส่วนร่วมในด้านต่างๆ





2.รัฐธรรมนูญไม่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ

รัฐธรรมนูญปี 2560 พยายามสร้างนวัตกรรมใหม่โดยการโยกย้ายสิทธิบางประการ เช่น สิทธิในการศึกษาฟรี 12 ปี, สิทธิของผู้บริโภค, สิทธิการรับบริการสาธารณสุขโดยเสมอกัน ออกจากหมวดสิทธิเสรีภาพและไปอยู่ในหมวด 'หน้าที่ของรัฐ' ทำให้เรื่องสิทธิเสรีภาพที่มนุษย์พึงมีโดยธรรมชาติถูกทำให้พร่าเลือน กลายเป็นรัฐเป็นคนกำหนดสิทธิเสรีภาพให้ประชาชน นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังเพิ่มเงื่อนไขในการจำกัดเสรีภาพไว้อีกสองข้อ คือ การกระทบต่อความมั่นคง หรือ ความสงบเรียบร้อย ซึ่งเป็นคำที่ตีความได้กว้าง

แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะกำหนดให้กฎหมายที่จำกัดเสรีภาพต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่สร้างภาระหรือจำกัดสิทธิและเสรีภาพเกินสมควร แต่รัฐธรรมนูญ ก็ยังรับรองบรรดาประกาศและคำสั่ง คสช. หรือ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนตามกติกาสากลอยู่อีกด้วย

ที่ผ่านมาภาคประชาชนพยายามอ้างรัฐธรรมนูญเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เช่น ภาคประชาชนยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้ตรวจสอบคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินกลับอ้างว่าคำสั่งดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายเพราะมีผลบังคับใช้ตามรัฐธรรมนูญ หรือ กรณีภาคประชาชนยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้ตรวจสอบคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 เรื่อง ยกเว้นการบังคับใช้ผังเมืองและกฎหมายผังเมือง ซึ่งขัดต่อหลักสิทธิชุมชน แต่ศาลปกครองกลับยกฟ้องเนื่องจากรัฐธรรมนูญให้การคุ้มครองคำสั่งดังกล่าว





3.รัฐธรรมนูญ อ้างปราบโกง ยกเว้นพวกตัวเอง

มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เรียกรัฐธรรมนูญปี 2560 อย่างภาคภูมิใจว่า “ฉบับปราบโกง” โดยมีการสร้างกลไกใหม่ๆ เช่น การกำหนดให้มีมาตรฐานจริยธรรม, เพิ่มคุณสมบัติรัฐมนตรีว่า "ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์", ห้าม ส.ส. แปรญัตติกฎหมายให้ตัวเองมีส่วนร่วมในการใช้งบประมาณ ฯลฯ ทั้งนี้จุดมุ่งหมายเพื่อสร้างระบบคัดกรองนักการเมืองที่ “ซื่อสัตย์ สุจริต” และป้องกันนักการเมืองน้ำเน่าอันเป็นต้นเหตุของการคอรัปชั่นในประเทศไทย

กลไกปราบโกงถือเป็นหนึ่งในการปฏิรูปคอร์รัปชั่นก่อนการเลือกตั้ง ทั้งนี้นอกเหนือรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว ตลอดระยะเวลาการปกครอง คสช. ยังแก้ไขกฎหมายและกลไกต่างๆโดยตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมาปราบทุจริตโดยตรงสี่องค์กร ใช้อำนาจพิเศษออกประกาศ และคำสั่งของ คสช. ที่เกี่ยวข้องกับการปราบทุจริตไปแล้วอย่างน้อย 39 ฉบับ ใช้อำนาจผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ออก พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับการปราบทุจริตไปแล้วอย่างน้อยเก้าฉบับ ไม่นับรวมกฎหมายลูกเกี่ยวกับองค์กรอิสระอีกเจ็ดฉบับ

ท่ามกลางข่าวลือและข้อสงสัยเกี่ยวกับการทุจริตครั้งใหญ่ๆ มากมายในยุคของ คสช. เช่น การทุจริตโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์, การทุจริตโครงการจัดซื้อเรือเหาะ, การตั้งบริษัทในค่ายทหารของลูกชายพล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา, พฤติกรรมไม่แจ้งบัญชีทรัพย์สินของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ฯลฯ เรากลับไม่เห็นกลไกปราบคอร์รัปชั่นทำงานอย่างจริงจังในส่วนนี้ ในทางตรงกันข้ามการปฏิรูปคอร์รัปชั่นในยุคนี้ กลายเป็นการเอาคนจากกองทัพเข้าไปนั่งในองค์กรปราบทุจริต ทั้ง คตร., คตช., ศอตช., คตง. และ ป.ป.ช. นอกจากนี้การแก้ไขกฎหมายกำหนดให้อัยการทหารเป็นผู้ดำเนินคดีทุจริตกับทหารเองเท่านั้น ยิ่งเป็นการปกป้องคนจากกองทัพที่ชัดเจนขึ้นไปอีก

ยิ่งในกรณีล่าสุดยิ่งสะท้อนว่ากลไกปราบโกงเป็นข้อยกเว้นของผู้บริหารยุค คสช. เพราะเมื่อ ป.ป.ช. ออกประกาศให้บรรดาผู้บริหารหน่วยงานรัฐระดับสูงยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินฯ ส่งผลให้บริหารหลายคนลาออกโดยเฉพาะ มีชัย ฤชุพันธุ์ เจ้าของรัฐธรรมนูญ “ปราบโกง” ที่ชิงลาออกจากนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ขณะที่วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ด้านกฎหมาย ประกาศว่ากรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และคนที่ คสช. แต่งตั้งเข้ามาทำหน้าที่ปฏิรูปด้านต่างๆ ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ และ ป.ป.ช. ก็ออกมากล่าวว่าอาจมีการแก้กฎหมายให้ตำแหน่งที่ได้รับผลกระทบไม่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์ฯ





4.รัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจ คสช.

คสช. ออกแบบรัฐธรรมนูญปี 2560 เพื่อให้ตัวเองและคณะยังมีอำนาจต่อไปได้หลังการเลือกตั้ง โดยการสร้างกลไกอย่างสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดแรก จำนวน 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ผสมกับ ส.ว.โดยตำแหน่งหกที่นั่ง คือปลัดกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

นอกจากนี้ ยังให้อำนาจ ส.ว. ลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. 500 คน ซึ่งการเลือกนายกฯ ต้องใช้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสองสภาหรือ 376 คะแนนเสียง เท่ากับว่า ส.ว. ชุดนี้ร่วมมือกับ ส.ส. อีกเพียง 126 คน ก็สามารถโหวตเลือกนายกฯ ได้แล้ว โดย ส.ว. คือตัวแปรหลักในการเลือกนายกฯ และถ้า ส.ว. ชุดนี้เกิดไม่พอใจรายชื่อนายกฯ ที่แต่ละพรรคการเมืองเสนอมา ก็สามารถร่วมลงคะแนนเสียงกับ ส.ส. อีก 250 คน หรือใช้คะแนนเสียง 2/3 ของสองสภา เลือก "นายกฯ คนนอก" ได้อีกด้วย

ขณะที่หลังเลือกตั้ง คสช. ยังไม่ได้หายไปทันทีและยังสามารถใช้อำนาจพิเศษมาตรา 44 ตามใจชอบไม่เรื่อยๆ จนกว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ และถึงแม้ คสช. จะสิ้นสุดลงหลังมี ครม.ชุดใหม่ แต่ คสช. ก็ได้เขียน “ยุทธศาสตร์ คสช.” หรือยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี บังคับใช้ตั้งแต่ปี 2561 - 2580 ไว้แล้ว ซึ่งยุทธศาสตร์ชาติจะบังคับให้รัฐบาลหน้าต้องแถลงนโยบายและงบประมาณประจำปีให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ไม่เช่นนั้นรัฐบาลอาจพ้นจากตำแหน่งได้ โดยรัฐบาลหลังเลือกตั้งจะถูกกำกับโดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและ ส.ว. ซึ่งถูกแต่งตั้งจาก คสช.

ทั้งนี้ คสช. ยังทิ้งมรดกทางกฎหมาย คือ ประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. อย่างน้อย 540 ฉบับ ให้อยู่สืบต่อโดยรัฐธรรมูญให้การรับรองและบังคับใช้ได้ต่อไปได้จนกว่าจะมีกฎหมายมายกเลิก





5.รัฐธรรมนูญประชาชนแก้ยาก คสช. แก้ไขง่าย 

การแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นหนทางหนึ่งที่จะทำให้ประชาชนหลุดพ้นจากกลไกสืบทอดอำนาจของ คสช. ที่ถูกบรรจุเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดช่องทางแก้ไขให้ต้องยื่นต่อรัฐสภา โดยผู้มีสิทธิเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือ ครม., ส.ส. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวน ส.ส. ในสภา (100 เสียง), ส.ส. และ ส.ว. จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด (150 คน) และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คน

อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยสำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเมื่อร่างรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาแล้วต้องผ่านขั้นตอนสุดหินที่ คสช. วางเอาไว้ คือ ในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ รัฐธรรมนูญกำหนด ส.ส. และ ส.ว. ต้องเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา และในจำนวนนี้ต้องมี ส.ว. เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของ ส.ว. ซึ่งหากพิจารณาจากที่มาของ ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากประชาชน แต่ถูกเลือกโดย คสช. ดังนั้น การจะได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ว. เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก

และขั้นสุดท้ายในวาระที่ 3 ขั้นเห็นชอบเป็นกฎหมาย กำหนดให้ ส.ส. และ ส.ว. มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสองสภา โดยในจำนวนนี้ต้องมี ส.ส. จากพรรคการเมืองที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน และ มี ส.ว. เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา

นอกจากนี้รัฐธรรมนูญยังสร้างกลไกป้องกันแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการกำหนดให้หาก ส.ส. หรือ ส.ว. หรือสมาชิกทั้งสองสภารวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา หรือของทั้งสองสภารวมกัน เห็นว่า มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ ให้ ส.ส. และ ส.ว. รวมตัวกันยื่นความเห็นต่อประธานสภา เพื่อส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยชี้ขาดว่าสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นได้หรือไม่ได้ ทั้งนี้ระหว่างนี้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนายกฯ จะนำร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ ไม่ได้

ในทางตรงกันข้ามนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2560 ยังไม่ผ่านประชามติ รัฐธรรมนูญฉบันี้ก็ถูก คสช. ใช้อำนาจพิเศษ ม.44 แก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างง่ายดายเรื่อยมา เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังถูกวิจารณ์เรื่องเรียนฟรี 12 ปี โดยแก้ไขเป็น 15 ปีตามปกติ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องให้รัฐอุปถัมภ์พุทธศาสนานิกายเถรวาทเป็นให้เป็นอุปถัมภ์ทุกศาสนาเท่ากัน หรือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อสังเกตพระราชทาน เป็นต้น





6.รัฐธรรมนูญฉบับไม่ไว้ใจประชาชน

รัฐธรรมนูญปี 2560 นับว่าเป็นความถดถอยของระบอบประชาธิปไตยไทย เพราะเนื้อหาส่วนใหญ่ในรัฐธรรมนูญแสดงออกถึงความไม่ไว้ใจประชาชน เช่น เรื่องการคุ้มครองเสรีภาพการชุมนุม จะเห็นได้ชัดว่ามีการขยายความเงื่อนไขในการจำกัดเสรีภาพการชุมนุมให้กว้างขึ้น จากรัฐธรรมนู
ญฉบับก่อนหน้าอย่างรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ที่มีการกำหนดเงื่อนไขด้วยคำที่มีความหมายเฉพาะเจาะจง เช่น สภาวะสงครามหรือกฎอัยการศึก แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดให้จำกัดเสรีภาพได้ โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ซึ่งการใช้คำที่คลุมเครือเช่นนี้เท่ากับเป็นการเปิดให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ดุลพินิจได้อย่างกว้างขวาง

ขณะที่การตรวจสอบอำนาจรัฐโดยประชาชนกลับหายไปจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เช่น การตัดบทบัญญัติเกี่ยวกับการเข้าชื่อของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเสนอให้มีการริเริ่มกระบวนการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญ รวมทั้งบทบัญญัติที่กำหนดให้การต่อต้านโดยสันติซึ่งการเข้าสู่อำนาจที่ไม่ใช่วิถีทางตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 เคยรับรองไว้

ที่สำคัญที่มาของนายกรัฐมนตรีที่รัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 เคยกำหนดให้นายกฯ ต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งจะเข้าสู่อำนาจได้ต่อเมื่อได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดแค่เพียงให้พรรคการเมืองเป็นผู้เสนอชื่อบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อ กกต. ก่อนการเลือกตั้ง แต่บุคคลดังกล่าวไม่จำเป็นต้องลงสมัครรับเลือกตั้งจากประชาชน ทั้งยังมีการเขียนข้อยกเว้นด้วยว่า ส.ส. และ ส.ว. สามารถลงคะแนนเพื่อยกเว้นให้สามารถเสนอชื่อ “คนนอก” บัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอเป็นนายกฯ ได้ ซึ่งก็ดูจะยิ่งตอกย้ำว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความ "ไม่ไว้วางใจ" ประชาชน ไม่เชื่อว่าประชาชนจะสามารถเลือกสิ่งที่ดีให้กับประเทศได้

จากป่าแหว่ง ถึงบัตรแหว่ง

จากป่าแหว่ง ถึงบัตรแหว่ง

เหตุการณ์ป่าแหว่ง คือ เหตุการณ์ที่ชาวเชียงใหม่รวมตัวกันประท้วง ไม่พอใจการสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการของศาลอุทธรณ์ภาค 5 บริเวณเชิงดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ โดยเมื่อประชาชนเสียงดัง และรัฐบาลเห็นท่าว่าจะเดินหน้าต่อไปไม่ได้ ก็มีการแถลงว่าจะยอมรื้อถอนทั้งหมด จะคืนและกลับไปฟื้นฟูให้กลายผืนป่าเป็นข้อยุติที่ประชาชนพอใจ 

แต่จนถึงวันนี้ เมื่อเสียงของประชาชนอ่อนแรงลง รัฐบาลโดย นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ก็ออกมาแถลงเมื่อ 8 ธันวาคม 2561 ว่า ไม่รื้อถอนแต่ให้ไปฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมโดยรอบให้เป็นป่าที่สมบูรณ์และกลับมีการแจ้งความดำเนินคดีกับแกนนำคัดค้านอีกจำนวนหนึ่ง

เหตุการณ์บัตรแหว่ง คือเหตุการณ์ที่ กกต.ได้เตรียมการจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งโดยมีแค่หมายเลข ไม่มีชื่อพรรค ไม่มีโลโก้พรรค โดยอ้างอำนาจในการดำเนินการตามกฎหมายและข้อจำกัดในการทำงานทางธุรการ ซึ่งได้รับเสียงคัดค้านอย่างรุนแรงจากพรรคการเมือง และนักวิชาการที่เห็นว่า จะเป็นบัตรเลือกตั้งที่ไม่สมบูรณ์ ขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และอาจนำไปสู่การทุจริตการเลือกตั้ง เมื่อประชาชนเสียงดัง เจ้าหน้าที่ของกกต.ก็ออกมายอมรับว่าทำเป็นบัตรเต็มหรือบัตรแหว่งทำได้หมด รอให้ กกต. 7 คน เป็นคนตัดสินในขั้นสุดท้าย ซึ่งทำให้เสียงคัดค้านเริ่มแผ่วลง นึกว่าเขาจะยอมแล้ว (เหมือนยอมรื้อถอนบ้านพัก)

ชื่อไหมว่า เมื่อถึงเวลาที่ กกต.ต้องตัดสินและเสียงคัดค้านเหนื่อยล้า กกต.จะตัดสินใจแบบ “เอาง่าย” คือ ใช้บัตรแหว่งแทนบัตรเต็ม โดยอ้างความชอบธรรมตามกฎหมายและข้อจำกัดทางด้านเวลา ด้วยคำตอบที่บอกว่า “จะเอาบัตรแหว่งหรือจะเอาบัตรเต็มแต่ต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไป” ซึ่งทุกคนที่คัดค้านคงตกอยู่ในสภาวะจำยอมแบบภาษิตไทยที่ว่า “กำอุจจาระดีกว่ากำลมที่ออกมาจากก้น

ถึงวันนั้น การเลือกตั้งทั่วไปของไทยจะเต็มไปด้วยความวุ่นวาย เรื่องบัตรแหว่งอาจกลายเป็นอีกหนึ่งตำนานและบันทึกในประวัติศาสตร์ที่เป็นบทเรียนของ กกต. อีกครั้ง ควบคู่ไปกับวลีเด็ดที่ว่า “เพราะเขาอยากอยู่นาน”

สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร:เรื่องสั้นสองนาที

เรื่องสั้นสองนาที
นาฬิกาปลุกจากโทรศัพท์มือถือดังขึ้น ผมตื่นขึ้นมาดูปฏิทิน เป็นวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ วันเลือกตั้งครั้งแรกของไทยหลังการรัฐประหารปี ๒๕๕๗ วันนี้ผมมีสิ่งที่ต้องทำหลายอย่าง ก่อนจะไปสิทธิเลือกตั้งตอนบ่ายๆเพราะเห็นว่าเขาให้เลือกได้ถึงห้าโมงเย็น

หลังจากแต่งเนื้อแต่งตัวเสร็จ ผมนั่งเมล์สายประจำจากบ้านไปทำธุระให้เสร็จก่อนไปเลือกตั้ง เห็นป้ายหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ มีแต่รูปหัวหน้าพรรค ไม่ยักมีรูปผู้สมัคร อ๋อ เขากำหนดให้ผู้สมัครของแต่ละเขตติดป้ายได้ขนาดเล็กๆ จำนวนจำกัด และต้องไปติดตามจุดที่ กกต.ทำบอร์ดไว้ให้ติดเท่านั้นซึ่งไม่รู้อยู่ตรงไหน

รูปลุงตู่ช่างมากมายเยอะแยะไปหมด ปะติดกับโครงการประชารัฐสารพัดโครงการที่ขึ้นป้ายมาประชันกัน โน่นลุงตู่กับเน็ตประชารัฐ โรงเรียนประชารัฐ บ้านประชารัฐ ร้านธงฟ้าประชารัฐ ตลาดประชารัฐ ไอ้นั่นก็ป้ายรูปลุงตู่กับโครงการประชารัฐร่วมใจป้องกันภัยยาเสพติด จะมาโฆษณาอะไรกันมากมายตอนนี้ งบประมาณทำป้ายมาจากภาษีประชาชนทั้งนั้น

อ้าว นั่นป้ายลุงตู่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกนี่หว่า หน้าตาดีเชียว รถเมล์ผ่านแว็บๆ พรรคอะไรประชารัฐสักอย่าง เห็นบอกให้เลือกเบอร์ ๗ อ้าวพอรถเมล์วิ่งไปอีกหน่อย เห็นอีกป้าย อ้อชัดแระ พรรคพลังประชารัฐ เบอร์ ๑๕ เริ่มงงละ จะเลือกลุงตู่เบอร์ไหนหว่า ต้องดูให้แน่ป้ายหน้า เฮ้ย ไหงเป็นเบอร์ ๒๒ พออีกป้ายข้างหน้า เบอร์ ๑๑ ถัดไปอีกหน่อยเบอร์ ๓ ผมเริ่มสับสนแล้วว่า อยากได้ลุงตู่จะเลือกเบอร์ไหนดี

กว่าจะทำธุระตามเขตต่างๆหลายเขตใน กทม. ผมว่าเจอเบอร์ลุงตู่ไม่ซ้ำกันกว่า ๑๐ หมายเลข นี่จะสามโมงแล้วผมต้องไปเลือกตั้งเดี๋ยวจะเสียสิทธิ ผมรีบไปยังหน่วยที่เคยใช้สิทธิประจำ อ้าวไหงไม่มีชื่อ พลิกหาชื่อในบัญชีหน้าหน่วยไม่มีนี่ ถามเจ้าหน้าที่ เขาบอก กม.ใหม่เขายุบหน่วยให้น้อยลง จาก ๙๐,๐๐๐ กว่าหน่วย เหลือ แค่ ๗๐,๐๐๐ กว่าหน่วย เพราะเปลี่ยนจากเฉลี่ย ๘๐๐ คน เป็น ๑,๐๐๐ คน ต่อหน่วย หน่วยเลยน้อยลง และต้องเปลี่ยนที่ไปไกลจากบ้านมากขึ้น

กว่าผมจะหาหน่วยใหม่เจอก็ปาเข้าไปสี่โมงกว่า คนก็เยอะ รีบก็รีบ ผมไม่ทันได้ดูอะไรให้ชัดเจน รีบเข้าไปแสดงตัว ยื่นบัตรประชาชน รับบัตรเลือกตั้ง กะว่าอย่างน้อยได้มาสองใบคงกาถูกสักใบ เจ้าหน้าที่ให้บัตรมาใบเดียว ผมรับมางงๆพอไปคลี่บัตรในคูหา มีแต่หมายเลข ไม่มีชื่อพรรค ไม่มีโลโก้พรรคของลุงตู่ที่ผมจำมาแม่น แล้วผมจะเลือกงัยนี่

ทบทวนความจำจากป้ายที่ผมเห็นมาตลอดวัน มันมีหลายหมายเลขเกิน เอาเบอร์ที่เห็นเยอะที่สุดแล้วกัน ใช่แน่นอน เบอร์ ๑๕ เห็นหลายป้ายมากที่สุด ไม่พลาดแน่ ผมหยิบปากกามากาบนบัตรอย่างมั่นใจ และนำมาหย่อนในหีบด้วยความภาคภูมิใจว่าได้ใช้สิทธิเลือกตั้งแล้ว

ออกมาจากหน่วยเลือกตั้ง ผมพอมีเวลาหายใจหันไปดูป้ายที่แสดงรูปผู้สมัครจากพรรคต่างๆเพื่อให้แน่ใจว่าเลือกไม่ผิดตัว ผู้สมัครแต่ละคนหน้าตาช่างไม่คุ้นเคยเลย นั่นไง หมายเลข ๑๕ ใครก็ไม่รู้
อ้าว พรรคประชาธิปัตย์ !!