PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2560

สินบน 'โรลส์-รอยซ์'

บันลือโลกครับ!!!
สำนักงานปราบปรามการทุจริตของอังกฤษ (Serious Freud Office (SFO) ตีแผ่ว่า ได้ตรวจสอบ บริษัท โรลส์-รอยซ์ ในข้อหาคบคิดทุจริต ตกแต่งบัญชี และไม่มีการป้องกันการจ่ายสินบนในการทำธุรกิจ
เป็นการตรวจสอบครั้งใหญ่ที่สุดของ SFO ซึ่งต้องใช้เงินดำเนินการถึง ๑๓ ล้านปอนด์ หรือกว่า ๕๖๕ ล้านบาท
ด้านกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐ แถลงเมื่อวันที่ ๑๗ มกราคมที่ผ่านมาว่า บริษัท โรลส์-รอยซ์ ยอมรับว่าได้จ่ายเงินให้แก่เจ้าหน้าที่ของบริษัทพลังงานของรัฐในหลายประเทศ
เช่น คาซัคสถาน, บราซิล, อาเซอร์ไบจาน, แองโกลา, อิรัก, จีน และไทย
โฟกัสมาที่ประเทศไทย การซื้อขายเครื่องยนต์รุ่น T-๘๐๐ เพื่อติดตั้งในเครื่องบินรุ่นโบอิ้ง ๗๗๗ ของการบินไทยมีการจ่ายเงินสินบน จำนวน ๓ ครั้ง รวม ๑,๒๒๓ ล้านบาท
ครั้งที่ ๑ เกิดขึ้นในการจัดซื้อ ระหว่างวันที่ ๑ มิ.ย.๒๕๓๔ - ๓๐ มิ.ย.๒๕๓๕
โรลส์-รอยซ์ จ่ายค่านายหน้าคนกลางให้หน่วยงานหนึ่งเป็นเงิน ๑๘.๘ ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว ๖๖๓ ล้านบาท) และเงินดังกล่าวมีการนำไปให้กับเจ้าหน้าที่รัฐและพนักงานของการบินไทย เพื่อช่วยให้โรลส์-รอยซ์ ชนะการเสนอขายดังกล่าว
ครั้งที่ ๒ เกิดขึ้นระหว่างวันที่ ๑ มี.ค.๒๕๓๕ - ๓๑ มี.ค.๒๕๔๐
โรลส์-รอยซ์ จ่ายเงิน ๑๐.๓๘ ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว ๓๓๖ ล้านบาท) ให้นายหน้าคนกลาง ซึ่งนำเงินดังกล่าวบางส่วนไปให้พนักงานการบินไทย
และครั้งที่ ๓ เกิดขึ้นระหว่างวันที่ ๑ เม.ย.๒๕๔๗ - ๒๘ ก.พ.๒๕๔๘
โรลส์-รอยซ์ จ่ายเงินให้กับคนกลาง ๗.๒ ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว ๒๕๔ ล้านบาท) ซึ่งมีเงินบางส่วนตกไปสู่เจ้าหน้าที่รัฐและพนักงานของการบินไทย
ใครงาบไปบ้าง กลุ่มบุคคลที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการจ่ายเงินสินบนเป็นพวกไหน จับข่าวสารจากหลายสำนักมายำรวมกัน ก็พอเห็นเค้าลางครับ
กลุ่มที่ได้เงินจากการจ่ายสินบนครั้งที่ ๑ ประกอบด้วย ๑.นายหน้าคนกลาง ๒.หน่วยงานแห่งหนึ่ง ๓.เจ้าหน้าที่รัฐ ๔.พนักงานการบินไทย
จ่ายสินบนครั้งที่ ๒ มี ๑.นายหน้าคนกลาง ๒.พนักงานการบินไทย
และการจ่ายสินบนครั้งที่ ๓ กลุ่มที่รับเงินไปมี ๑.นายหน้าคนกลาง ๒.เจ้าหน้าที่รัฐ ๓.พนักงานการบินไทย
ทีนี้ไปดูว่า เจ้าหน้าที่รัฐ พนักงานการบินไทย ในช่วงเวลาที่ถูกระบุถึงนั้น ใครอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ใดบ้าง แบ่งเป็น ๓ ช่วงเวลา
ช่วงแรก
นายวีระ กิจจาทร เป็นดีดีการบินไทย ปี ๒๕๓๑-๒๕๓๕
พล.อ.อ.วรนาถ อภิจารี ผบ.ทอ. เป็นประธานบอร์ด ปี ๒๕๓๑-๒๕๓๒
พล.อ.เกษตร โรจนนิล ผบ.ทอ. เป็นประธานบอร์ด ปี ๒๕๓๒-๒๕๓๕
ช่วงที่สอง
นายฉัตรชัย บุญญะอนันต์ เป็นดีดีการบินไทย ปี ๒๕๓๕-๒๕๓๖
พล.อ.อ.กันต์ พิมานทิพย์ ผบ.ทอ. เป็นประธานบอร์ด ปี ๒๕๓๕-๒๕๓๖
นายธรรมนูญ หวั่งหลี เป็นดีดีการบินไทย ปี ๒๕๓๖-๒๕๔๓
พล.อ.อ.ม.ร.ว.ศิริพงษ์ ทองใหญ่ เป็นประธานบอร์ดการบินไทยตั้งแต่ปี ๒๕๓๖-๒๕๓๙
นายมหิดล จันทรางกูร ปลัดกระทรวงคมนาคม มาดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดการบินไทย ช่วงระหว่างธันวาคม ๒๕๓๙ - พฤศจิกายน ๒๕๔๓
ช่วงที่สาม
นายกนก อภิรดี ดีดีการบินไทย ปี ๒๕๔๕-๒๕๔๙
นายทนง พิทยะ ประธานบอร์ด มิถุนายน ๒๕๔๕ - มีนาคม ๒๕๔๘
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม ฉะนั้นต้องไปดูด้วยว่า เจ้าหน้าที่รัฐอีกประเภทคือ รัฐมนตรีคมนาคมในช่วงเวลาดังกล่าวมีใครบ้าง
นายนุกูล ประจวบเหมาะ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระหว่าง 2 มีนาคม ๒๕๓๔ - ๒๒ มีนาคม ๒๕๓๕
นายบรรหาร ศิลปอาชา ระหว่าง ๗ เมษายน๒๕๓๕ - ๙ มิถุนายน ๒๕๓๕
นายนุกูล ประจวบเหมาะ ระหว่าง ๑๐ มิถุนายน ๒๕๓๕ - ๒๒ กันยายน ๒๕๓๕
พันเอกวินัย สมพงษ์ ระหว่าง 23 กันยายน ๒๕๓๕ - ๒๕ ตุลาคม ๒๕๓๗
นายวิชิต สุรพงษ์ชัย ระหว่าง ๒๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๗ - ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๓๘
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ระหว่าง ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๓๘ - ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๙
นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ระหว่าง ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ - ๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๐
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ระหว่าง ๓ ตุลาคม ๒๕๔๕ - ๒ สิงหาคม ๒๕๔๘
นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล ระหว่าง ๒ สิงหาคม ๒๕๔๘ - ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙
เบื้องต้น ไม่ได้หมายความว่าท่านเหล่านี้รับสินบนนะครับ
เพราะผลสอบไม่ได้ระบุว่าเป็นเจ้าหน้าที่ระดับไหน แต่เป็นข้อมูลให้รับรู้ว่า ณ ช่วงเวลาที่ว่านี้ ใครมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลงานการบินไทยบ้าง
จึงถือว่าทุกคนยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
แต่คนโกงมีแน่!!!
แม้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้ามาดูเรื่องนี้แล้ว ก็ยังตอบยากครับว่า จะจับมือใครดมได้หรือไม่
ยกเว้นจะมีการเปิดรายชื่อโดย บริษัท โรลส์-รอยซ์
คอร์รัปชันเป็นประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาต่อเนื่อง เพราะคนโลภมันเยอะ!
หากจะปราบโกงกันจริงจัง บอร์ดการบินไทยชุดปัจจุบัน ท่านมีเรื่องต้องทำครับ
ใครคือนายหน้าคนกลางในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งแน่นอนว่า...การบินไทยต้องรู้ เป็นหน้าที่ท่านต้องให้ข้อมูลกับ ป.ป.ช. และ สตง.
และนับจากนี้ไป การจัดซื้อไม่ควรผ่านคนกลางอีกต่อไป
ลองไปดูซิครับว่าสายการบินใหญ่ๆ เขาใช้วิธีไหน และเขาทำอย่างไรถึงได้ใสสะอาด ไม่มีเรื่องโกงมารบกวนใจ
อย่าลืมนะครับ บริษัท โรลส์-รอยซ์ ค้าขายกับสายการบินทั่วโลก แต่ที่มีปัญหาก็สายการบินประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องคอร์รัปชันทั้งนั้น
รวมไทยเราด้วย
โรลส์-รอยซ์ เข้ามาตั้งสำนักงานส่วนภูมิภาคที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ ๒๕๓๒ เสียด้วยซ้ำ ก็ยังมีความพยายามซื้อขายผ่านคนกลาง
ที่บ่นซื้อเครื่องบินแล้วทำให้ขาดทุนหนัก ก็ลองกลับไปพิจารณาดูว่า เงินหล่นไปที่ไหนบ้าง แล้วต้องแก้ไขอย่างไร
ไปดูสถานการณ์ทุจริตคอร์รัปชันไทยปี ๕๙ กันหน่อยครับ
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดตัวเลขมาวานนี้ (๑๙ มกราคม)
โดยภาพรวมแล้วถือว่าดีขึ้น และดีที่สุดในรอบ ๖ ปีที่ผ่านมา
พบว่ามีอัตราการจ่ายเงินใต้โต๊ะลดลง จากเดิมที่เคยจ่าย ๒๕-๓๕% คิดเป็นมูลค่ากว่า ๔๐๐,๐๐๐ ล้านบาท เหลือเพียง ๑๕% หรือ ๑๒๐,๐๐๐ ล้านบาท
นั่นทำให้รัฐบาลประหยัดงบประมาณรายจ่ายไปได้กว่า ๓๐๐,๐๐๐ ล้านบาท
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เขาคำนวณว่าการลดเรียกเงินสินบนทุกๆ ๑% ส่งผลให้ลดการคอร์รัปชันลง ๑๐,๐๐๐ ล้านบาท
จะชมรัฐบาล คสช.ว่าขจัดคอร์รัปชันได้ผล มันพูดไม่เต็มปากครับ
ใต้โต๊ะจาก ๓๕% มาเหลือ ๑๕% ลดลงก็จริง แต่ถามว่าน่าพอใจหรือไม่
๑๕% หรือ ๑๒๐,๐๐๐ ล้านบาท มันมหาศาลเกินไป
เป็นตัวเลขที่ไม่สามารถยอมรับได้ครับ
นี่ถ้าหยุดโกง ๕ ปี สามารถสร้างรถไฟความเร็วสูงได้ครบทุกเส้นทาง เหนือ ใต้ ออก ตก มีใช้หมด
บอกตรงๆ ฟัง นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงแล้วอยากร้องไห้
"ปี ๕๘ รัฐบาลยังไม่ได้มีโครงการขนาดใหญ่ออกมา ขณะเดียวกันได้เริ่มต้นมีโครงการปราบปรามทุจริตต่างๆ ก็เหมือนหมูกลัวน้ำร้อน จึงหยุดพฤติกรรมทุจริตไปก่อน ต่อมาปี ๕๙ รัฐบาลเริ่มมีโครงการต่างๆ ออกมา ขณะที่หมูเริ่มคุ้นกับน้ำอุ่นแล้ว แต่ปี ๖๐ นี้ ดูเหมือนว่าหมูจะวิ่งสู้ฟัด เพื่อให้ได้งานต่างๆ ที่รัฐบาลกำลังทยอยออกมาในปีนี้”
นั่นซิครับ...เกรงว่าใต้โต๊ะที่ลดลงมามันเป็นแค่ปรากฏการณ์เทียมเท่านั้น
ของจริงกำลังจะกลับมา?.
ผักกาดหอม

สินบน"โรลส์-รอยซ์" -ปรองดอง-ทรัมป์

สินบน"โรลส์-รอยซ์" 

ปตท. ตั้งกรรมการสอบจัดซื้อจัดจ้างโครงการต่าง ๆ ที่ใช้เครื่องยนต์ "โรลส์-รอยซ์" รายงานบอร์ดใน 30 วัน  

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตามที่มีกระแสข่าวว่า บริษัท โรลส์-รอยซ์ ผู้ผลิตเครื่องยนต์สำหรับอากาศยาน
และเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมรายใหญ่ของประเทศอังกฤษ ได้เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินสินบนให้แก่เจ้าหน้าที่ของบริษัทพลังงานของรัฐในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยในช่วงปี 2543 - 2556 (ค.ศ.2000-2013) นั้น ขณะนี้ ปตท. ได้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการต่าง ๆ ที่มีการใช้เครื่องยนต์ของบริษัท โรลส์-รอยซ์ ในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อรายงานต่อคณะกรรมการบริษัทภายใน 30 วัน

ปตท. ขอยืนยันที่จะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจังและเร่งด่วน เพื่อให้เกิดความชัดเจนและโปร่งใส ภายใต้หลักธรรมาภิบาลของการกำกับดูแลกิจการที่ดี ทั้งนี้ จะรายงานความคืบหน้าเป็นระยะต่อไป
-------------
รมว.กต. รอความชัดเจนปมโรลส์-รอยซ์ ก่อนชี้แจงให้ต่างประเทศทราบ - ชี้นายกฯ ยังไม่ได้สั่งการอะไรเป็นพิเศษ 

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีบริษัท โรลส์-รอยซ์ ยอมรับต่อสำนักงานปราบปรามการทุจริตของประเทศอังกฤษ ว่า ได้มีการจ่ายสินบนในหลายประเทศที่ได้ทำการซื้อขายเครื่องยนต์ของโรลส์-รอยซ์ รวมถึงประเทศไทยในระหว่าง ปี พ.ศ. 2534-2548 ว่า ต้องมีข้อมูลที่ชัดเจน และรอการตรวจสอบ เนื่องจากรัฐบาลเป็นรัฐบาลที่โปร่งใสมีธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะพิจารณาว่าจะมอบให้ดำเนินการอย่างไร อาจจะให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อตรวจสอบหรือให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จะต้องดูเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว เพราะเรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องกับภาครัฐ ส่วนจะมีการชี้แจงให้กับต่างประเทศเข้าใจธรรมาภิบาลของไทยอย่างไรนั้น จะต้องมีความชัดเจนก่อน เพราะขณะนี้ข้อมูลตัวเลขในแต่ละที่ยังต่างกัน

ทั้งนี้ เมื่อมองในภาพรวมจะกระทบต่อประเทศหรือไม่นั้น นายดอน ระบุว่า อะไรที่ไม่ดีงามก็ไม่เป็นมงคลอยู่แล้ว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถ้ากระจ่างชัดก็จะเป็นประโยชน์ แต่อาจจะไม่เป็นไปตามข้อกล่าวหาก็ได้ ดังนั้น จึงต้องรอข้อมูลและการตรวจสอบ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังไม่ได้สั่งการอะไรเป็นพิเศษ
------------
พล.อ.อนันตพร ปฏิเสธตอบสื่อ กรณีบริษัทพลังงานเกี่ยวข้องรับสินบน บริษัท โรลส์-รอยซ์ พร้อมแสดงท่าทีไม่พอใจ

บรรยากาศที่กระทรวงพลังงาน ภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพลังงาน สื่อมวลชนจำนวนหนึ่งได้รอสัมภาษณ์ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เกี่ยวกับกรณีที่มีกระแสข่าวว่า บริษัทโรลส์-รอยซ์ ผู้ผลิตเครื่องยนต์สำหรับอากาศยานและเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมรายใหญ่ของประเทศอังกฤษ ได้เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินสินบนให้แก่เจ้าหน้าที่ของบริษัทพลังงานของรัฐในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยในช่วงปี 2543 - 2556

ทั้งนี้ พล.อ.อนันตพร ได้ปฏิเสธตอบคำถามกับสื่อมวลชนถึงกรณีดังกล่าว พร้อมแสดงความไม่พอใจที่สื่อมวลชนขึ้นมาดักรอบริเวณหน้าลิฟต์โดยสาร ชั้น 25 ซึ่งเป็นชั้นทำงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมว่ากล่าวสื่อมวลชน "ขึ้นมาได้อย่างไร ใครอนุญาตปล่อยให้ขึ้นมา" พร้อมหันไปถามเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ว่าใครปล่อยให้สื่อมวลชนขึ้นมาจะทำการสอบสวน ไม่มีมารยาท

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเช้าก่อนการประชุม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้สั่งให้ผู้บริหาร บมจ. ปตท. รายงานกรณีดังกล่าวแล้ว
-----------
กระทรวงพลังงาน ยัน ไม่ก้าวก่ายกรณีบริษัทพลังงานเกี่ยวข้องรับสินบน บริษัท โรลส์-รอยซ์

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและเเผนพลังงาน (สนพ.) และในฐานะโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เบื้องต้นทราบว่าในช่วงเย็นวันนี้ (20 ม.ค.) บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เตรียมจะออกแถลงการณ์ชี้แจงเกี่ยวกับกรณีที่มีกระแสข่าวว่า บริษัท โรลส์-รอยซ์ ผู้ผลิตเครื่องยนต์สำหรับอากาศยานและเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมรายใหญ่ของประเทศอังกฤษ ได้เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินสินบนให้แก่เจ้าหน้าที่ของบริษัทพลังงานของรัฐในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยในช่วงปี 2543 - 2556 ซึ่งกระทรวงพลังงาน จะไม่เข้าไปก้าวก่ายเรื่องดังกล่าว เนื่องจาก ปตท.สผ. เป็นบริษัทจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ทุกอย่างต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกและกระบวนการกำกับดูแลตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงบริษัท ปตท. จำกัด มหาชน เช่นกันที่ขณะนี้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว

ทั้งนี้ เมื่อทั้งสองบริษัทตรวจสอบได้ข้อสรุปแล้ว คาดจะรายงานให้กระทรวงพลังงานทราบเร็ว ๆ นี้ ในฐานะที่เป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัด
----------
"วัฒนา" โพสต์เฟซบุ๊ก บอกคณะรัฐมนตรียุค "ทักษิณ" ไม่เกี่ยวข้องปมโรลส์-รอยซ์ จี้เร่งหาผู้ได้รับผลประโยชน์

นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "Watana Muangsook" ว่า สำนักข่าวอิศรา เสนอข่าวที่ศาลสหราชอาณาจักรสั่งปรับบริษัท โรลส์-รอยซ์ จากการติดสินบนในการขายเครื่องยนต์ให้การบินไทย รวม 3 ครั้ง สองครั้งแรกเกิดก่อนตนเป็นรัฐบาล ส่วนครั้งที่สามเกิดในสมัยรัฐบาลไทยรักไทย (ปี 2547 - 2548) อ้างว่ามีการจ่ายเงินจำนวน 254 ล้านบาท ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ พนักงานการบินไทย เพื่อซื้อเครื่องบินไอพ่น ลอต 3 โดยพาดพิงว่าได้มีการไปพูดคุยและกินข้าวกับรัฐมนตรีเพื่อให้ ครม. อนุมัติสัญญา นั้น ขอเรียนว่าการบินไทยเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ เรื่องคุณสมบัติของเครื่องยนต์เป็นเรื่องทางเทคนิคของการบินไทยที่จะเป็นผู้กำหนดและเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเอง โดย ครม. ไม่มีอำนาจไปอนุมัติ เรื่องนี้จึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ ครม. ของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพวกตน ส่วนจะมีใครได้ส่วนแบ่งบ้างก็ช่วยกันหาให้เจอ
--------------
"ชูวิทย์" บุกสภา ร่ำลาสื่อ พร้อมเรียกร้องรัฐบาลเอาจริงปราบทุจริต ปมรับสินบนโรลส์-รอยซ์ แฉ อักษร ก. มีเอี่ยว

นายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ อดีตหัวหน้าพรรครักประเทศไทย เดินทางมาเยี่ยมสื่อมวลชนประจำรัฐสภา เพื่ออำลาวงการการเมืองถาวร ก่อนไปทำหน้าที่สื่อมวลชนเต็มตัว โดย นายชูวิทย์ เรียกร้องให้รัฐบาลเอาจริงเอาจังปราบปราบเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น โดยเฉพาะกรณีหน่วยงานรัฐของไทยรับสินบน จากบริษัท โรลส์-รอยซ์ ตามที่บริษัท โรลส์-รอยซ์ ยอมรับต่อศาลสหราชอาณาจักร พร้อมเปิดข้อมูลมีบุคคลที่มีอักษรพยัญชนะไทยตัวแรกหรือ ก. มีส่วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับ 3 กลุ่ม คือ หน่วยงานรัฐ สายการบินระดับชาติ และนายหน้า ซึ่งตามธรรมเนียมจะมีค่าประสานงานด้วย ขณะเดียวกัน เสนอให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ออกกฎหมายกำหนดเงื่อนไขข้อแลกเปลี่ยนในกรณีผู้กระทำความผิดยอมรับผิดในคดีทุจริตด้วย

นอกจากนี้ นายชูวิทย์ ยังนำวิทยุทรานซิสเตอร์มาเปิดและระบุว่า จะนำไปบริจาคที่กรมประชาสัมพันธ์ เพื่อสนับสนุนแนวคิดของรัฐบาลที่จะแจกประชาชนในช่วงวิกฤติน้ำท่วมด้วย

/////////////
ปรองดอง

เลขาฯ ป.ย.ป. เข้าพบ สนช. หารือแนวทางการปรองดอง คาดสัปดาห์หน้าชัดโครงสร้าง

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดิน ตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง หรือ ป.ย.ป. เดินทางเข้าพบ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 และ นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. คนที่ 2 เพื่อหารือถึงกรอบและแผนการทำงาน โดยเฉพาะเรื่องการสร้างความปรองดอง รวมถึงโครงสร้างของ ป.ย.ป. ให้มีความชัดเจนขึ้น โดยคาดว่าในสัปดาห์หน้าจะเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ กรรมาธิการการเมือง ของ สนช. ได้ยกร่างพระราชพระราชบัญญัติอำนวยความยุติธรรมไว้ ซึ่งน่าจะเป็นส่วนช่วยเหลือในการสร้างความปรองดองได้ แต่ที่สุดแล้วควรจะต้องนำข้อเสนออื่น ๆ มาร่วมพิจารณาด้วย
-----------------
"พล.อ.ประวิตร" ฟังปรองดองทุกฝ่าย คาดสัปดาห์หน้าได้ชื่อ คกก. - ยังไม่ปลดล็อกพรรคการเมือง

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกระแสตอบรับจากต่างประเทศเกี่ยวกับคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง ว่า ทุกคนอยากให้เกิดความปรองดอง เพราะหากเกิดขึ้นได้ ประเทศก็จะสงบและเดินหน้าไปได้ ส่วนรายชื่อคณะกรรมการนั้นคาดว่าจะเปิดเผยรายชื่อได้ภายในสัปดาห์หน้า ขณะที่สัดส่วนตำรวจ ทหาร ที่จะเข้ามานั้น ส่วนตัวมองไม่เป็นปัญหา เพราะทุกคนเป็นกลาง และทหารไม่เคยขัดแย้งกับใคร

ขณะที่การประสานกับกลุ่มการเมืองหรือพรรคการเมืองนั้น ส่วนตัวไม่ได้ติดต่อหรือประสานใครเป็นพิเศษ แต่ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้เป็นผู้พิจารณาว่าจะเชิญใครเข้ามาให้ความเห็นบ้าง โดยเปิดโอกาสให้กลุ่มการเมืองทุกฝ่าย ส่วนการปลดล็อกให้พรรคการเมืองจัดการประชุมพรรค เพื่อให้มีมติพรรคมานำเสนอนั้น ยังไม่จำเป็น เพราะส่วนตัวไม่ได้ขอมติพรรค แต่ต้องการความคิดเห็นของคนทั้งหมด เพื่อให้รวมเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งจะใช้เวลาในการรวบรวมความคิดเห็นทั้งหมดภายใน 3 เดือน และจะเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบต่อไป แล้วจึงจะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
----------
"สุรชัย" เผย เตรียมปรับโครงสร้าง กก.วิป 3 ฝ่าย, 2 ฝ่าย ขับเคลื่อนงานปฏิรูป - ปรองดอง ให้เป็นรูปธรรม ยืนยัน สนช. พร้อมให้ความร่วมมือ ป.ย.ป.

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่ 1 เปิดเผยความคืบหน้ากรณีเลขานุการคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง หรือ ป.ย.ป. เดินทางเข้าพบ สนช. ว่า เบื้องต้นได้มีการหารือถึงวิธีแนวทางการปฏิรูปประเทศ การกำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดองตามนโยบายที่ ป.ย.ป. กำหนด โดยจะมีการประชุมในระดับผู้แทนแต่ละฝ่าย ทั้ง สนช., สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. และรัฐบาลอีกครั้ง ที่ทำเนียบรัฐบาล และจะปรับโครงสร้างของกรรมการในวิป 3 ฝ่าย และวิป 2 ฝ่าย เพื่อให้กระชับขึ้น และให้งานทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านยุทธศาสตร์ชาติ การปฏิรูป และการสร้างปรองดอง สามารถขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรม

ขณะเดียวกัน นายสุรชัย ยังยืนยันว่า สนช. พร้อมให้ความร่วมมือการทำงานของ ป.ย.ป. โดยในเบื้องต้น นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. จะไปร่วมเป็นคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง และตนเอง จะร่วมเป็นคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์
----------
"ยิ่งลักษณ์" พร้อมปรองดองเพื่อประโยชน์ชาติ ขอเป็นกลางเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการสร้างความปรองดองที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ว่า ยินดีสนับสนุนการสร้างความปรองดองเพื่อประโยชน์ชาติแลประชาชน แต่จะต้องอยู่พื้นที่ของความเป็นกลางและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ตามหลักกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และหลักสากล ส่วนคณะกรรมการบริหารราชแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) อยากให้ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงาน และควรเปิดบุคคลที่มีความเป็นกลาง นักวิชาการ หรือบุคคลที่สังคมยอมรับเข้ามามีส่วนร่วม

ส่วนกระบวนการสร้างความปรองดองจะส่งผลให้ต้องเลื่อนโรดแมปการเลือกตั้งหรือไม่นั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ มองว่าเร็วไปที่จะพูดถึงเรื่องนี้
-----------------
"พรเพชร" เผยหารือ เลขา ป.ย.ป. แบ่งงาน ชี้อำนาจนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการ 4 คณะ หวังเป็นรูปธรรม

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. เปิดเผยผลการหารือร่วมกับ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ เลขานุการคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง หรือ ป.ย.ป. ว่า เป็นขั้นตอนก่อนที่จะตั้งคณะทำงาน 4 คณะ ตามอำนาจของนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรี เร่งรัดให้รีบดำเนินการ ให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ซึ่งส่วนตัวเห็นด้วยที่จะให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพในการหาข้อยุติ ทั้งนี้ นายพรเพชร กล่าวว่า ตนเองจะอยู่ร่วมทั้ง 3 คณะ และมีรองประธาน สนช. ร่วมคณะด้วย เพื่อเป็นตัวแทนฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งแต่ละภาคส่วน จะไปดำเนินการในส่วนที่รับผิดชอบ โดยสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จะทำงานด้านปฏิรูปเป็นหลัก และเสนอแผนเข้ามา ให้ สนช. เห็นชอบออกเป็นกฎหมาย

ขณะเดียวกัน ยืนยันว่า จะสามารถคาดหวังได้ในเรื่องของการปฏิรูป ส่วนด้านยุทธศาสตร์ชาติ สนช. มีส่วนเกี่ยวข้องมากในส่วนของการออกกฎหมาย ส่วนเรื่องความปรองดอง กฎหมายมีส่วนเกี่ยว

ข้องน้อย เพราะกฎหมายบังคับเรื่องความปรองดองไม่ได้ จึงต้องรอฟังข้ออเสนออีกครั้งว่า แต่ละฝ่ายต้องการออย่างไร เพราะส่วนตัวยังนึกไม่ออกว่า จะออกมาเป็นรูปแบบใด
-------------------
"สุวิทย์" รับทาบทาม "อำพน" นั่ง ผอ. PMDU ชี้ มีความเหมาะสมเข้าใจงานของ รบ. รอการตัดสินใจ 

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง
หรือ ป.ย.ป. เปิดเผยหลังหารือกับ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า เพื่อขับเคลื่อน ป.ย.ป. โดยเฉพาะคณะทำงานด้านการปฏิรูป ที่มี 3 องค์กรหลักเกี่ยวข้อง ทั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) สนช. และรัฐบาล เนื่องจากที่ผ่านมามีลักษณะ ต่างคนต่างทำงาน จึงต้องกำหนดแนวทางให้ทั้ง 3 องค์กร เป็นไปในเนื้อเดียวกัน ดังนั้น ในวันที่ 25 มกราคมนี้ จะกำหนดให้มีการประชุมวิป 3 ฝ่าย เพื่อกำหนดวาระการทำงานร่วมกัน ก่อนเริ่มลงมือทำงานร่วมกันในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ และทำให้การขับเคลื่อนเป็นรูปธรรมมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม จากการพูดคุย มีการเปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 ดูแลร่วมกันในส่วนของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ และคณะกรรมการปฏิรูป และให้ นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. คนที่ 2 ดูแลร่วมกันในส่วนของคณะกรรมการปรองดอง

ทั้งนี้ นายสุวิทย์ ยังเปิดเผยอีกว่า ได้ทาบทามให้ นายอำพน กิตติอำพน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี หรือ PMDU เนื่องจากเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ เข้าใจยุทธศาสตร์ และการขับเคลื่อนกลไกภาครัฐ และมีความสามารถในการประสานงานกับฝ่ายต่าง ๆ และที่สำคัญ คือ เข้าใจงานต่าง ๆ ของรัฐบาล ซึ่งขณะนี้ นายอำพน อยู่ระหว่างการตัดสินใจ
-------------
"ยรรยง" เบิกความคดีจำนำข้าว "ยิ่งลักษณ์" ชี้ตัวเลขปิดบัญชีของอนุฯ ไม่ตรงกับความจริง ย้ำ ระบายข้าวได้เร็วกว่าทุกรัฐบาลในอดีต

นายยรรยง พวงราช อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เบิกความในการไต่ส่วนพยานคดีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกฟ้องฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้เกิดความเสียในโครงการรับจำนำข้าว ว่า เคยตั้งข้อสังเกตตัวเลขปิดบัญชีของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีว่าตัวเลขไม่ตรงกับความจริง สอดคล้องกับข้อโต้แย้งของ นางวัชลี วิมุกตายน อดีตเลขานุการ กขช. ในเดือน มิ.ย. ปี 2556 ที่ระบุว่า คณะอนุกรรมการปิดบัญชีทำเกินหน้าที่ เนื่องจากคณะอนุกรรมการได้รวมโครงการอื่น ๆ เข้าไปด้วย จึงทำให้มีตัวเลขขาดทุนสูง รวมถึงโต้แย้งกรณี "ข้าวหาย" ที่ไม่คำนวณ 2.5 ล้านตัน และยังไม่นับรวมข้าวที่รัฐบาลบริจาค จึงทำให้ยอดขาดทุนสูงยิ่งขึ้นกว่าความเป็นจริง อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่ารัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ สามารถระบายข้าวในสต๊อกได้เร็วกว่าทุกรัฐบาล พิจารณาช่วง 2 ปี 6 เดือน ระบายข้าวได้กว่า 20 ล้านตัน ซึ่งไม่เคยมีรัฐบาลได้ทำได้มาก่อน
----------------
เพื่อไทย พร้อมร่วมมือสร้างปรอง แนะควรใช้รายงานการศึกษา คอป. - พระปกเกล้าหาทางออก มอบ "พงศ์เทพ - จาตุรนต์ - โภคิน - ชูศักดิ์" คอยติดตาม

นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตามที่ คสช. และรัฐบาล ได้ออกคำสั่งเพื่อให้มีการดำเนินการเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ การปฏิรูป และการสร้างความปรองดอง โดยจะจัดให้มีคณะกรรมการรับผิดชอบขับเคลื่อนในด้านต่าง ๆ และเรียกร้องให้นักการเมืองร่วมมือกันสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคม ว่า การร่วมสร้างความปรองดองเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายควรร่วมมือกันทำให้เกิดขึ้น เพราะเป็นหนทางที่จะทำให้ประเทศหลุดพ้นจากปัญหา แต่การที่จะแก้ไขให้ประสบความสำเร็จ คงมิใช่เป็นเพียงการให้พรรคการเมืองมาพบกัน และจัดทำเอ็มโอยูตามที่บางคนต้องการ เพราะปัญหาความไม่ปรองดอง มิใช่เกิดจากเฉพาะพรรคการเมืองแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่เกี่ยวพันกับคนหลายกลุ่มหลายฝ่าย หลายองค์กร รวมถึงผู้มีอำนาจในปัจจุบันก็เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาที่เกิดขึ้น

ดังนั้น หัวใจสำคัญของการสร้างความปรองดอง จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และต้องอาศัยความร่วมมือ และการมีส่วนร่วมของแต่ละฝ่าย ทั้งฝ่ายพรรคการเมือง ฝ่ายกลุ่มการเมืองผู้มีอำนาจในปัจจุบัน รวมถึงฝ่ายอื่น ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม จำเป็นต้องร่วมกันหารือ หาทางออกให้ประเทศ และปัจจัยที่จะทำให้ความปรองดองสำเร็จต้องคำนึงถึงความเข้าใจในความหมายของการปรองดองที่เป็นสากล, ควรให้ความสำคัญกับการแสวงหาความรู้ที่ชัดเจนถึงสาเหตุของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ซึ่ง คอป. และสถาบันพระปกเกล้าฯ ได้เคยศึกษาไว้อย่างละเอียดและครอบคลุมพอสมควรแล้ว สมควรจะนำมาพิจารณา, ต้องรู้ว่ามีผู้ใด/องค์กรใด หรือหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง และแสวงหาความร่วมมือจากส่วนต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหา และคณะกรรมการที่จะเข้ามาดำเนินการปรองดอง จะต้องมีความเป็นกลาง ยุติธรรม น่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับของสังคม

อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทย พร้อมให้ความร่วมมือและได้หารือกับหัวหน้าพรรคแล้ว และได้มอบหมายให้ นายโภคิน พลกุล, นายชัยเกษม นิติสิริ, นายชูศักดิ์ ศิรินิล, นายจาตุรนต์ ฉายแสง และ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา เป็นผู้ดำเนินการศึกษาและติดตามเรื่องนี้ต่อไป
---------------

//////////////
ทรัมป์เอฟเฟ็กซ์

ผู้ว่า ธปท. มองนโยบาย ทรัมป์ สร้างความผันผวนตลาดเงิน ตลาดทุนทั่วโลกรุนแรงแนะจับตาใกล้ชิด คง เป้าจีดีพีไทยโตะ 3.2%

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังกล่าว ปาฐกถาเรื่อง เศรษฐกิจการเงินไทยท่ามกลางความท้าทายในยุค 4.0 ในงานสัมมนาเศรษฐกิจการเงินไทยท่ามกลางความท้าทายในยุค 4.0 ในโอกาสเข้าสู่ปีที่ 20 การเปิดศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง โดยระบุว่า หลังจากนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลก คือการที่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ จะขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ และจากการดำเนินโยบายด้านเศรษฐกิจของทีมผู้บริหารชุดใหม่หลายเรื่อง จะสร้างความผันผวนให้กับตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลก

อย่างรุนแรงมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรตลาดสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนความกังวลนโยบายของ นายทรัมป์ ที่จะมีการกู้ยืมจากตลาดเงินเนื่องจากภาระหนี้งบประมาณในการดำเนินนโยบายที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งเงินดอลลาร์จากนี้จะผันผวน ทั้งแข็งค่าและอ่อนค่ารวดเร็ว เพราะนักลงทุนในตลาดจะรอการแถลงนโยบายที่ชัดเจน

ทั้งนี้ หากสหรัฐฯ มีการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศให้ฟื้นตัวเร็วขึ้นประเทศไทยจะได้อานิสงส์ในเชิงบวก แต่ในทางกลับกันเรื่องนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ นโยบายกีดกันเชื้อชาติ อาจจะทำให้ไทยและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียได้รับผลกระทบเนื่องจากเป็นประเทศเศรษฐกิจแบบเปิด

อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์หน้าทาง ธปท. จะดูแลตลาดเงินอย่างใกล้ชิดเตรียมรับความผันผวน ด้านผู้ประกอบการส่งออกนำเข้าควรจะติดตามสถานการณ์และทำประกันป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อลดความเสียหาย ขณะเดียวการทาง ธปท. จะประเมินผลกระทบการขยายตัวทางเศรษฐกิจใหม่ หลังจากการประกาศนโยบายของทรัมป์อย่างชัดเจน แต่ยังคงตั้งเป้าการขยายตัวของจีดีพีไว้ที่ร้อยละ 3.2
----------
ผู้ว่า ธปท. เผย ไทยยังมีความเสี่ยงและความท้าทายที่ต้องเผชิญ ซึ่งส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ เศรษฐกิจการเงินไทยท่ามกลางความท้าทายในยุค 4.0 ในงานสัมมนาเศรษฐกิจการเงินไทยท่ามกลางความท้าทายในยุค 4.0 ในโอกาสเข้าสู่ปีที่ 20 การเปิดศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง โดยบอกว่า ยอมรับว่าปัจจุบันประเทศไทย ยังมีความเสี่ยงและความท้าทายที่ต้องเผชิญหลายด้าน อาทิ ปัญหาเชิงโครงสร้าง จากการลงทุนในช่วง 5 - 10 ปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับต่ำ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2541 ที่ขยายตัวได้ร้อยละ 8 เหลือร้อยละ 3-4 ขณะเดียวกัน ไทยยังมีปัญหาในเรื่องของความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และโอกาส ที่ทำให้เกิดความแตกแยกของคนในสังคม

ทั้งนี้ ในอีก 15 ปีข้างหน้าจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่จะเกิดขึ้นโดยผู้สูงอายุกว่า 60 ปี จะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้รูปแบบการบริโภค การออมเปลี่ยนแปลง ภาระการคลังสูงขึ้นเนื่องจากต้องใช้ในการดูแลสวัสดิการ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาในส่วนโครงสร้างกฎหมายและกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย ที่ยังเป็นปัญหา เนื่องจากปัจจุบัน ไทยมีกฎหมายมากกว่า 100,000 ฉบับ และกฎหมายดังไม่ได้ถูกปรับแก้ไขให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งกฎหมายจำนวนมากมีผลทำให้กระบวนการบังคับใช้ไม่มีประสิทธิภาพ
---------------
ธปท. เตรียมแนวทางขับเคลื่อนการเงินไทย หลัง "โดนัลด์ ทรัมป์" ขึ้นตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ เศรษฐกิจการเงินไทยท่ามกลางความท้าทายในยุค 4.0 ในงานสัมมนาเศรษฐกิจการเงินไทยท่ามกลางความท้าทายในยุค 4.0 ในโอกาสเข้าสู่ปีที่ 20 การเปิดศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ว่า หลังจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเตรียมแนวทางการสำหรับการขับเคลื่อนการเงินไทยให้เท่าทันโลก หลังจากที่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ จะขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ เพราะมีแนวโน้วจะเกิดความผันผวนที่สูงอย่างปฏิเสธไม่ได้ โดยไทยจะต้องเร่งสร้างเสถียรภาพในระบบการเงิน และโครงสร้างเศรษฐกิจ สร้างภูมิคุ้มกันรองรับกับความผันผวนที่จะเกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งสิ่งสำคัญคือ การพัฒนากระจายผลประโยชน์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงกระจายโอกาสทางการศึกษา และการพัฒนาภาคเกษตร การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

ขณะที่การบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจจะต้องให้เกิดความยั่งยืน ยกระดับศักยภาพ เพิ่มผลิตภาพการผลิต และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ให้ธุรกิจพลิกฟื้นได้ ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดใหญ่สามารถแข่งขันได้อย่างเท่าเทียม ภาครัฐ ต้องกลไกการทำงาน ให้มีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ ลดบทบาทที่ไม่จำเป็นโดยคำนึงถึงความยั่งยืนด้านอำนาจ ซึ่งหากขาดประสิทธิภาพหรือความชัดเจนในการทำงาน อาจทำให้เสียโอกาสในการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพได้
----------------

ทูต เมียนมา ลา "บิ๊กตู่" นายกฯชมผลงานยอดเยี่ยม ทำสัมพันธ์ราบรื่น "อองซาน ซูจี" มาเยือนไทย /ปี61

ทูต เมียนมา ลา "บิ๊กตู่" นายกฯชมผลงานยอดเยี่ยม ทำสัมพันธ์ราบรื่น "อองซาน ซูจี" มาเยือนไทย /ปี61 สัมพันธ์ครบ70ปี
ที่ทำเนียบรัฐบาล นาย U Win Maung เอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทย เข้าพบ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่ออำลา ในโอกาสจะพ้นจากหน้าที่
พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอกประยุทธ์ กล่าวขอบคุณเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาประจำประเทศไทย สำหรับการปฏิบัติหน้าที่เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเมียนมาอย่างแข็งขันตั้งแต่เข้ารับหน้าที่ ส่งผลให้ความสัมพันธ์ไทย-เมียนมามีความก้าวหน้าหลายประการ ในช่วงที่เอกอัครราชทูตฯดำรงตำแหน่ง
ทั้ง การแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงของทั้งสองประเทศ การเสด็จฯ เยือนเมียนมาของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี การเยือนเมียนมาอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี
การเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนาง ออง ซาน ซู จี ในฐานะที่ปรึกษาแห่งรัฐ การเยือนไทยของรองประธานาธิบดี มินต์ ส่วย เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำแห่งเอเชีย ครั้งที่ 2
และการเยือนไทยของประธานาธิบดีเมียนมา เพื่อสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นมากยิ่ง และพร้อมให้การสนับสนุนกันและกันในทุกด้าน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ และการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างทั้งสองประเทศ เช่น การสร้างสะพานมิตรภาพไทย – เมียนมา แห่งที่ 2 การพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยง และเขตเศรษฐกิจพิเศษ
ทูตเมียนมา กล่าวขอบคุณรัฐบาลไทยที่ให้การช่วยเหลือเมียนมามาโดยตลอด ถือได้ว่า ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยและเมียนมาในขณะนี้อยู่ในจุดสูงสุด
พร้อมยืนยันที่จะสานต่อความสัมพันธ์ระหว่างกันให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นในอนาคต
ในตอนท้าย พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลไทยพร้อมทำงานร่วมกับเอกอัครราชทูตเมียนมาคนใหม่ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโอกาสครบรอบ 70 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย– เมียนมา ในปี พ.ศ. 2561

“บิ๊กป้อม” ลั่น "ผมไม่ ดีล กับใคร"

เผย ยังไม่ได้ติดต่อพรรคการเมือง รออนุมัติรายชื่อ "คณะกรรมการปรองดอง” สัปดาห์หน้า ยัน ยังไม่ปลดล็อค พรรคการเมือง พรรคไม่ต้องเปิดประชุม เพื่อมาเจรจา เพราะไม่ได้ขอมติพรรค เผยใช้เวลา 3 เดือนรับฟังความคิดเห็นก่อนเดินหน้าต่อ
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวถึงแนวทางการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ว่า การสร้างบรรยากาศความปรองดองเป็นไปในเชิงบวก ทุกคนต้องการให้เกิดความปรองดอง เพื่อให้ประเทศชาติสงบสุข ให้เศรษฐกิจเดินหน้าไปได้ ประชาชนสามารถทำมาหากินได้อย่างปกติสุข
พลเอกประวิตร กล่าวว่า ตอนนี้ ผมยังไม่ได้ติดต่อกับกลุ่มการเมืองหรือพรรคการเมืองใดๆ
"เพราะผมไม่ดีล กับใครอยู่แล้ว "
อีกทั้ง ต้องรอรายชื่อคณะกรรมเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดองออกมาก่อน โดยจะให้ทุกกลุ่มการเมือง พรรคการเมืองได้แสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะเข้ามา เพื่อให้คณะกรรมการได้พิจารณาในภาพรวมทั้งหมด
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้ารายชื่อของคณะกรรมการจะแล้วเสร็จและสามารถเปิดเผยได้
โดยคณะกรรมการนี้ จะดูว่าต้องเชิญกลุ่มการเมือง พรรคการเมืองใดบ้าง โดยจะพยายามให้ทุกกลุ่มเข้ามาพูดคุยหารือ เริ่มจากพรรคการเมืองก่อน
ทั้งนี้ การที่คณะกรรมการมีแต่ทหารในกองทัพ นั้น ไม่ใช่ปัญหา เพราะกองทัพเป็นกลาง ทหารไม่มีความขัดแย้งกับใคร และคณะกรรมการก็ไม่ใช่เด็กๆ ล้วนแต่เป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ทั้งนั้น
เมื่อถามว่าหากพรรคการเมืองจะขอเปิดประชุม เพื่อขอมติพรรคในเรื่องนี้ จะอนุญาตหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่เห็นจำเป็นต้องประชุม ผมไม่ได้ต้องการการตัดสินใจในภาพรวมของพรรค เพียงแต่ต้องการการแสดงความคิดเห็นว่า จะทำอย่างไรให้เกิดความสงบขึ้นหลังจากมีการเลือกตั้ง ป้องกันการประท้วง การออกมาตีกัน ไม่ได้ขอมติพรรค ใครอยากเสนออะไรก็สามารถเสนอได้ ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเป็นมติพรรค
โดยเบื้องต้นได้มีการวางกรอบในการพูดคุยหารือและคำถามต่างๆ ที่เตรียมไว้สำหรับทุกฝ่ายอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นประเด็นด้านการเมือง ยุทธศาสตร์ชาติ การปฏิรูป เป็นต้น
“เราจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนในการที่จะรับฟังข้อคิดเห็นทั้งหมด ไม่ใช่ว่ากระบวนการเสร็จสิ้นภายใน 3 เดือน จากนั้นนำความคิดเห็นต่างๆ มาเผยแพร่ และเข้าสู่กระบวนการต่อไป” พล.อ.ประวิตร กล่าว

"บิ๊กช้าง" ยัน เจรจาปรองดองนักการเมืองไม่ใช่แค่ "ซื้อเวลา" หรือที่สุดเป็น"มวยล้ม"

"บิ๊กช้าง" ยัน เจรจาปรองดองนักการเมืองไม่ใช่แค่ "ซื้อเวลา" หรือที่สุดเป็น"มวยล้ม"ขอเวลา3 เดือน พูดคุย รวบรวมความเห็นร่วม
พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกลาโหม ในฐานะหัวหน้าคณะกรรมการอำนวยการการปรองดอง กล่าวว่า กระบวนการรับฟังความคิดเห็นฝ่ายต่างๆ ทั้งพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง จะใช้เวลา 3 เดือน โดยจะสรุปข้อเสนอทั้งหมดทำเป็นข้อตกลงร่วมกัน ซึ่งยังไม่สามารถระบุม กรอบเวลาที่ชัดเจนได้ต้องรอดูข้อมูลที่จะได้รับก่อน
ส่วนที่ฝ่ายการเมืองมองว่ากระบวนการปรองดอง เป็นแค่การซื้อเวลา เป็นมวยล้มต้มคนดูนั้น พลเอกชัยชาญ ยืนยันว่า
ไม่ใช่การซื้อเวลา ไม่มีมวยล้มต้มคนดู อย่างแน่นอน

"บิ๊กป้อม"เตรียมเปืด บ้านกลาโหม พบ สื่อ ตั้งแต่ระดับบิ๊กบอส จนถึง นักข่าวภาคสนาม

"บิ๊กป้อม"เตรียมเปืด บ้านกลาโหม พบ สื่อ ตั้งแต่ระดับบิ๊กบอส จนถึง นักข่าวภาคสนาม ขอความร่วมมือสร้างปรองดอง สร้างความเข้าใจ งานความมั่นคง/พบกันปีละครั้ง ทานข้าวกลางวัน /พบปะ ผบ.เหล่าทัพ ด้วย
พลตรี คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เผยว่า กระทรวงกลาโหม มีกำหนดเปิดบ้าน ต้อนรับสื่อมวลชน ทั้งระดับบรรณาธิการ หัวหน้าข่าว และนักข่าวสายทหาร เพื่อพบปะพูดคุย สานความร่วมมือเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศ ในโหมดความมั่นคง.ในวันที่ 23 ม.ค.60 เวลา 1100-1330 ที่กระทรวงกลาโหม

ทั้งนี้ สำนักงานโฆษกกระทรวงกลาโหม ได้ส่งจดหมาย เชิญสื่อมวลชนสายทหาร รวมทั้งบรรณาธิการข่าวหรือหัวหน้าข่าวของหนังสือพิมพ์ รวมทั้ง สื่อออนไลน์ และสถานีวิทยุโทรทัศน์ ร่วมรับประทานอาหารกลางวัน กับผู้บริหารกระทรวงกลาโหมและเหล่าทัพเพื่อสานสัมพันธ์และพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน

ทั้งนี้ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว. กลาโหม ได้เชิญ ปลัดกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด. ผู้บัญชาการเหล่าทัพ. จะมาร่วมพบปะกับสื่อมวลชนด้วย