PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2560

สินบน"โรลส์-รอยซ์" -ปรองดอง-ทรัมป์

สินบน"โรลส์-รอยซ์" 

ปตท. ตั้งกรรมการสอบจัดซื้อจัดจ้างโครงการต่าง ๆ ที่ใช้เครื่องยนต์ "โรลส์-รอยซ์" รายงานบอร์ดใน 30 วัน  

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตามที่มีกระแสข่าวว่า บริษัท โรลส์-รอยซ์ ผู้ผลิตเครื่องยนต์สำหรับอากาศยาน
และเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมรายใหญ่ของประเทศอังกฤษ ได้เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินสินบนให้แก่เจ้าหน้าที่ของบริษัทพลังงานของรัฐในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยในช่วงปี 2543 - 2556 (ค.ศ.2000-2013) นั้น ขณะนี้ ปตท. ได้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการต่าง ๆ ที่มีการใช้เครื่องยนต์ของบริษัท โรลส์-รอยซ์ ในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อรายงานต่อคณะกรรมการบริษัทภายใน 30 วัน

ปตท. ขอยืนยันที่จะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจังและเร่งด่วน เพื่อให้เกิดความชัดเจนและโปร่งใส ภายใต้หลักธรรมาภิบาลของการกำกับดูแลกิจการที่ดี ทั้งนี้ จะรายงานความคืบหน้าเป็นระยะต่อไป
-------------
รมว.กต. รอความชัดเจนปมโรลส์-รอยซ์ ก่อนชี้แจงให้ต่างประเทศทราบ - ชี้นายกฯ ยังไม่ได้สั่งการอะไรเป็นพิเศษ 

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีบริษัท โรลส์-รอยซ์ ยอมรับต่อสำนักงานปราบปรามการทุจริตของประเทศอังกฤษ ว่า ได้มีการจ่ายสินบนในหลายประเทศที่ได้ทำการซื้อขายเครื่องยนต์ของโรลส์-รอยซ์ รวมถึงประเทศไทยในระหว่าง ปี พ.ศ. 2534-2548 ว่า ต้องมีข้อมูลที่ชัดเจน และรอการตรวจสอบ เนื่องจากรัฐบาลเป็นรัฐบาลที่โปร่งใสมีธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะพิจารณาว่าจะมอบให้ดำเนินการอย่างไร อาจจะให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อตรวจสอบหรือให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จะต้องดูเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว เพราะเรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องกับภาครัฐ ส่วนจะมีการชี้แจงให้กับต่างประเทศเข้าใจธรรมาภิบาลของไทยอย่างไรนั้น จะต้องมีความชัดเจนก่อน เพราะขณะนี้ข้อมูลตัวเลขในแต่ละที่ยังต่างกัน

ทั้งนี้ เมื่อมองในภาพรวมจะกระทบต่อประเทศหรือไม่นั้น นายดอน ระบุว่า อะไรที่ไม่ดีงามก็ไม่เป็นมงคลอยู่แล้ว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถ้ากระจ่างชัดก็จะเป็นประโยชน์ แต่อาจจะไม่เป็นไปตามข้อกล่าวหาก็ได้ ดังนั้น จึงต้องรอข้อมูลและการตรวจสอบ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังไม่ได้สั่งการอะไรเป็นพิเศษ
------------
พล.อ.อนันตพร ปฏิเสธตอบสื่อ กรณีบริษัทพลังงานเกี่ยวข้องรับสินบน บริษัท โรลส์-รอยซ์ พร้อมแสดงท่าทีไม่พอใจ

บรรยากาศที่กระทรวงพลังงาน ภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพลังงาน สื่อมวลชนจำนวนหนึ่งได้รอสัมภาษณ์ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เกี่ยวกับกรณีที่มีกระแสข่าวว่า บริษัทโรลส์-รอยซ์ ผู้ผลิตเครื่องยนต์สำหรับอากาศยานและเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมรายใหญ่ของประเทศอังกฤษ ได้เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินสินบนให้แก่เจ้าหน้าที่ของบริษัทพลังงานของรัฐในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยในช่วงปี 2543 - 2556

ทั้งนี้ พล.อ.อนันตพร ได้ปฏิเสธตอบคำถามกับสื่อมวลชนถึงกรณีดังกล่าว พร้อมแสดงความไม่พอใจที่สื่อมวลชนขึ้นมาดักรอบริเวณหน้าลิฟต์โดยสาร ชั้น 25 ซึ่งเป็นชั้นทำงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมว่ากล่าวสื่อมวลชน "ขึ้นมาได้อย่างไร ใครอนุญาตปล่อยให้ขึ้นมา" พร้อมหันไปถามเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ว่าใครปล่อยให้สื่อมวลชนขึ้นมาจะทำการสอบสวน ไม่มีมารยาท

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเช้าก่อนการประชุม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้สั่งให้ผู้บริหาร บมจ. ปตท. รายงานกรณีดังกล่าวแล้ว
-----------
กระทรวงพลังงาน ยัน ไม่ก้าวก่ายกรณีบริษัทพลังงานเกี่ยวข้องรับสินบน บริษัท โรลส์-รอยซ์

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและเเผนพลังงาน (สนพ.) และในฐานะโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เบื้องต้นทราบว่าในช่วงเย็นวันนี้ (20 ม.ค.) บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เตรียมจะออกแถลงการณ์ชี้แจงเกี่ยวกับกรณีที่มีกระแสข่าวว่า บริษัท โรลส์-รอยซ์ ผู้ผลิตเครื่องยนต์สำหรับอากาศยานและเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมรายใหญ่ของประเทศอังกฤษ ได้เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินสินบนให้แก่เจ้าหน้าที่ของบริษัทพลังงานของรัฐในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยในช่วงปี 2543 - 2556 ซึ่งกระทรวงพลังงาน จะไม่เข้าไปก้าวก่ายเรื่องดังกล่าว เนื่องจาก ปตท.สผ. เป็นบริษัทจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ทุกอย่างต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกและกระบวนการกำกับดูแลตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงบริษัท ปตท. จำกัด มหาชน เช่นกันที่ขณะนี้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว

ทั้งนี้ เมื่อทั้งสองบริษัทตรวจสอบได้ข้อสรุปแล้ว คาดจะรายงานให้กระทรวงพลังงานทราบเร็ว ๆ นี้ ในฐานะที่เป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัด
----------
"วัฒนา" โพสต์เฟซบุ๊ก บอกคณะรัฐมนตรียุค "ทักษิณ" ไม่เกี่ยวข้องปมโรลส์-รอยซ์ จี้เร่งหาผู้ได้รับผลประโยชน์

นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "Watana Muangsook" ว่า สำนักข่าวอิศรา เสนอข่าวที่ศาลสหราชอาณาจักรสั่งปรับบริษัท โรลส์-รอยซ์ จากการติดสินบนในการขายเครื่องยนต์ให้การบินไทย รวม 3 ครั้ง สองครั้งแรกเกิดก่อนตนเป็นรัฐบาล ส่วนครั้งที่สามเกิดในสมัยรัฐบาลไทยรักไทย (ปี 2547 - 2548) อ้างว่ามีการจ่ายเงินจำนวน 254 ล้านบาท ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ พนักงานการบินไทย เพื่อซื้อเครื่องบินไอพ่น ลอต 3 โดยพาดพิงว่าได้มีการไปพูดคุยและกินข้าวกับรัฐมนตรีเพื่อให้ ครม. อนุมัติสัญญา นั้น ขอเรียนว่าการบินไทยเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ เรื่องคุณสมบัติของเครื่องยนต์เป็นเรื่องทางเทคนิคของการบินไทยที่จะเป็นผู้กำหนดและเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเอง โดย ครม. ไม่มีอำนาจไปอนุมัติ เรื่องนี้จึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ ครม. ของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพวกตน ส่วนจะมีใครได้ส่วนแบ่งบ้างก็ช่วยกันหาให้เจอ
--------------
"ชูวิทย์" บุกสภา ร่ำลาสื่อ พร้อมเรียกร้องรัฐบาลเอาจริงปราบทุจริต ปมรับสินบนโรลส์-รอยซ์ แฉ อักษร ก. มีเอี่ยว

นายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ อดีตหัวหน้าพรรครักประเทศไทย เดินทางมาเยี่ยมสื่อมวลชนประจำรัฐสภา เพื่ออำลาวงการการเมืองถาวร ก่อนไปทำหน้าที่สื่อมวลชนเต็มตัว โดย นายชูวิทย์ เรียกร้องให้รัฐบาลเอาจริงเอาจังปราบปราบเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น โดยเฉพาะกรณีหน่วยงานรัฐของไทยรับสินบน จากบริษัท โรลส์-รอยซ์ ตามที่บริษัท โรลส์-รอยซ์ ยอมรับต่อศาลสหราชอาณาจักร พร้อมเปิดข้อมูลมีบุคคลที่มีอักษรพยัญชนะไทยตัวแรกหรือ ก. มีส่วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับ 3 กลุ่ม คือ หน่วยงานรัฐ สายการบินระดับชาติ และนายหน้า ซึ่งตามธรรมเนียมจะมีค่าประสานงานด้วย ขณะเดียวกัน เสนอให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ออกกฎหมายกำหนดเงื่อนไขข้อแลกเปลี่ยนในกรณีผู้กระทำความผิดยอมรับผิดในคดีทุจริตด้วย

นอกจากนี้ นายชูวิทย์ ยังนำวิทยุทรานซิสเตอร์มาเปิดและระบุว่า จะนำไปบริจาคที่กรมประชาสัมพันธ์ เพื่อสนับสนุนแนวคิดของรัฐบาลที่จะแจกประชาชนในช่วงวิกฤติน้ำท่วมด้วย

/////////////
ปรองดอง

เลขาฯ ป.ย.ป. เข้าพบ สนช. หารือแนวทางการปรองดอง คาดสัปดาห์หน้าชัดโครงสร้าง

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดิน ตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง หรือ ป.ย.ป. เดินทางเข้าพบ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 และ นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. คนที่ 2 เพื่อหารือถึงกรอบและแผนการทำงาน โดยเฉพาะเรื่องการสร้างความปรองดอง รวมถึงโครงสร้างของ ป.ย.ป. ให้มีความชัดเจนขึ้น โดยคาดว่าในสัปดาห์หน้าจะเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ กรรมาธิการการเมือง ของ สนช. ได้ยกร่างพระราชพระราชบัญญัติอำนวยความยุติธรรมไว้ ซึ่งน่าจะเป็นส่วนช่วยเหลือในการสร้างความปรองดองได้ แต่ที่สุดแล้วควรจะต้องนำข้อเสนออื่น ๆ มาร่วมพิจารณาด้วย
-----------------
"พล.อ.ประวิตร" ฟังปรองดองทุกฝ่าย คาดสัปดาห์หน้าได้ชื่อ คกก. - ยังไม่ปลดล็อกพรรคการเมือง

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกระแสตอบรับจากต่างประเทศเกี่ยวกับคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง ว่า ทุกคนอยากให้เกิดความปรองดอง เพราะหากเกิดขึ้นได้ ประเทศก็จะสงบและเดินหน้าไปได้ ส่วนรายชื่อคณะกรรมการนั้นคาดว่าจะเปิดเผยรายชื่อได้ภายในสัปดาห์หน้า ขณะที่สัดส่วนตำรวจ ทหาร ที่จะเข้ามานั้น ส่วนตัวมองไม่เป็นปัญหา เพราะทุกคนเป็นกลาง และทหารไม่เคยขัดแย้งกับใคร

ขณะที่การประสานกับกลุ่มการเมืองหรือพรรคการเมืองนั้น ส่วนตัวไม่ได้ติดต่อหรือประสานใครเป็นพิเศษ แต่ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้เป็นผู้พิจารณาว่าจะเชิญใครเข้ามาให้ความเห็นบ้าง โดยเปิดโอกาสให้กลุ่มการเมืองทุกฝ่าย ส่วนการปลดล็อกให้พรรคการเมืองจัดการประชุมพรรค เพื่อให้มีมติพรรคมานำเสนอนั้น ยังไม่จำเป็น เพราะส่วนตัวไม่ได้ขอมติพรรค แต่ต้องการความคิดเห็นของคนทั้งหมด เพื่อให้รวมเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งจะใช้เวลาในการรวบรวมความคิดเห็นทั้งหมดภายใน 3 เดือน และจะเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบต่อไป แล้วจึงจะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
----------
"สุรชัย" เผย เตรียมปรับโครงสร้าง กก.วิป 3 ฝ่าย, 2 ฝ่าย ขับเคลื่อนงานปฏิรูป - ปรองดอง ให้เป็นรูปธรรม ยืนยัน สนช. พร้อมให้ความร่วมมือ ป.ย.ป.

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่ 1 เปิดเผยความคืบหน้ากรณีเลขานุการคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง หรือ ป.ย.ป. เดินทางเข้าพบ สนช. ว่า เบื้องต้นได้มีการหารือถึงวิธีแนวทางการปฏิรูปประเทศ การกำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดองตามนโยบายที่ ป.ย.ป. กำหนด โดยจะมีการประชุมในระดับผู้แทนแต่ละฝ่าย ทั้ง สนช., สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. และรัฐบาลอีกครั้ง ที่ทำเนียบรัฐบาล และจะปรับโครงสร้างของกรรมการในวิป 3 ฝ่าย และวิป 2 ฝ่าย เพื่อให้กระชับขึ้น และให้งานทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านยุทธศาสตร์ชาติ การปฏิรูป และการสร้างปรองดอง สามารถขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรม

ขณะเดียวกัน นายสุรชัย ยังยืนยันว่า สนช. พร้อมให้ความร่วมมือการทำงานของ ป.ย.ป. โดยในเบื้องต้น นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. จะไปร่วมเป็นคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง และตนเอง จะร่วมเป็นคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์
----------
"ยิ่งลักษณ์" พร้อมปรองดองเพื่อประโยชน์ชาติ ขอเป็นกลางเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการสร้างความปรองดองที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ว่า ยินดีสนับสนุนการสร้างความปรองดองเพื่อประโยชน์ชาติแลประชาชน แต่จะต้องอยู่พื้นที่ของความเป็นกลางและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ตามหลักกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และหลักสากล ส่วนคณะกรรมการบริหารราชแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) อยากให้ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงาน และควรเปิดบุคคลที่มีความเป็นกลาง นักวิชาการ หรือบุคคลที่สังคมยอมรับเข้ามามีส่วนร่วม

ส่วนกระบวนการสร้างความปรองดองจะส่งผลให้ต้องเลื่อนโรดแมปการเลือกตั้งหรือไม่นั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ มองว่าเร็วไปที่จะพูดถึงเรื่องนี้
-----------------
"พรเพชร" เผยหารือ เลขา ป.ย.ป. แบ่งงาน ชี้อำนาจนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการ 4 คณะ หวังเป็นรูปธรรม

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. เปิดเผยผลการหารือร่วมกับ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ เลขานุการคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง หรือ ป.ย.ป. ว่า เป็นขั้นตอนก่อนที่จะตั้งคณะทำงาน 4 คณะ ตามอำนาจของนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรี เร่งรัดให้รีบดำเนินการ ให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ซึ่งส่วนตัวเห็นด้วยที่จะให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพในการหาข้อยุติ ทั้งนี้ นายพรเพชร กล่าวว่า ตนเองจะอยู่ร่วมทั้ง 3 คณะ และมีรองประธาน สนช. ร่วมคณะด้วย เพื่อเป็นตัวแทนฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งแต่ละภาคส่วน จะไปดำเนินการในส่วนที่รับผิดชอบ โดยสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จะทำงานด้านปฏิรูปเป็นหลัก และเสนอแผนเข้ามา ให้ สนช. เห็นชอบออกเป็นกฎหมาย

ขณะเดียวกัน ยืนยันว่า จะสามารถคาดหวังได้ในเรื่องของการปฏิรูป ส่วนด้านยุทธศาสตร์ชาติ สนช. มีส่วนเกี่ยวข้องมากในส่วนของการออกกฎหมาย ส่วนเรื่องความปรองดอง กฎหมายมีส่วนเกี่ยว

ข้องน้อย เพราะกฎหมายบังคับเรื่องความปรองดองไม่ได้ จึงต้องรอฟังข้ออเสนออีกครั้งว่า แต่ละฝ่ายต้องการออย่างไร เพราะส่วนตัวยังนึกไม่ออกว่า จะออกมาเป็นรูปแบบใด
-------------------
"สุวิทย์" รับทาบทาม "อำพน" นั่ง ผอ. PMDU ชี้ มีความเหมาะสมเข้าใจงานของ รบ. รอการตัดสินใจ 

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง
หรือ ป.ย.ป. เปิดเผยหลังหารือกับ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า เพื่อขับเคลื่อน ป.ย.ป. โดยเฉพาะคณะทำงานด้านการปฏิรูป ที่มี 3 องค์กรหลักเกี่ยวข้อง ทั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) สนช. และรัฐบาล เนื่องจากที่ผ่านมามีลักษณะ ต่างคนต่างทำงาน จึงต้องกำหนดแนวทางให้ทั้ง 3 องค์กร เป็นไปในเนื้อเดียวกัน ดังนั้น ในวันที่ 25 มกราคมนี้ จะกำหนดให้มีการประชุมวิป 3 ฝ่าย เพื่อกำหนดวาระการทำงานร่วมกัน ก่อนเริ่มลงมือทำงานร่วมกันในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ และทำให้การขับเคลื่อนเป็นรูปธรรมมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม จากการพูดคุย มีการเปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 ดูแลร่วมกันในส่วนของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ และคณะกรรมการปฏิรูป และให้ นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. คนที่ 2 ดูแลร่วมกันในส่วนของคณะกรรมการปรองดอง

ทั้งนี้ นายสุวิทย์ ยังเปิดเผยอีกว่า ได้ทาบทามให้ นายอำพน กิตติอำพน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี หรือ PMDU เนื่องจากเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ เข้าใจยุทธศาสตร์ และการขับเคลื่อนกลไกภาครัฐ และมีความสามารถในการประสานงานกับฝ่ายต่าง ๆ และที่สำคัญ คือ เข้าใจงานต่าง ๆ ของรัฐบาล ซึ่งขณะนี้ นายอำพน อยู่ระหว่างการตัดสินใจ
-------------
"ยรรยง" เบิกความคดีจำนำข้าว "ยิ่งลักษณ์" ชี้ตัวเลขปิดบัญชีของอนุฯ ไม่ตรงกับความจริง ย้ำ ระบายข้าวได้เร็วกว่าทุกรัฐบาลในอดีต

นายยรรยง พวงราช อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เบิกความในการไต่ส่วนพยานคดีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกฟ้องฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้เกิดความเสียในโครงการรับจำนำข้าว ว่า เคยตั้งข้อสังเกตตัวเลขปิดบัญชีของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีว่าตัวเลขไม่ตรงกับความจริง สอดคล้องกับข้อโต้แย้งของ นางวัชลี วิมุกตายน อดีตเลขานุการ กขช. ในเดือน มิ.ย. ปี 2556 ที่ระบุว่า คณะอนุกรรมการปิดบัญชีทำเกินหน้าที่ เนื่องจากคณะอนุกรรมการได้รวมโครงการอื่น ๆ เข้าไปด้วย จึงทำให้มีตัวเลขขาดทุนสูง รวมถึงโต้แย้งกรณี "ข้าวหาย" ที่ไม่คำนวณ 2.5 ล้านตัน และยังไม่นับรวมข้าวที่รัฐบาลบริจาค จึงทำให้ยอดขาดทุนสูงยิ่งขึ้นกว่าความเป็นจริง อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่ารัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ สามารถระบายข้าวในสต๊อกได้เร็วกว่าทุกรัฐบาล พิจารณาช่วง 2 ปี 6 เดือน ระบายข้าวได้กว่า 20 ล้านตัน ซึ่งไม่เคยมีรัฐบาลได้ทำได้มาก่อน
----------------
เพื่อไทย พร้อมร่วมมือสร้างปรอง แนะควรใช้รายงานการศึกษา คอป. - พระปกเกล้าหาทางออก มอบ "พงศ์เทพ - จาตุรนต์ - โภคิน - ชูศักดิ์" คอยติดตาม

นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตามที่ คสช. และรัฐบาล ได้ออกคำสั่งเพื่อให้มีการดำเนินการเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ การปฏิรูป และการสร้างความปรองดอง โดยจะจัดให้มีคณะกรรมการรับผิดชอบขับเคลื่อนในด้านต่าง ๆ และเรียกร้องให้นักการเมืองร่วมมือกันสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคม ว่า การร่วมสร้างความปรองดองเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายควรร่วมมือกันทำให้เกิดขึ้น เพราะเป็นหนทางที่จะทำให้ประเทศหลุดพ้นจากปัญหา แต่การที่จะแก้ไขให้ประสบความสำเร็จ คงมิใช่เป็นเพียงการให้พรรคการเมืองมาพบกัน และจัดทำเอ็มโอยูตามที่บางคนต้องการ เพราะปัญหาความไม่ปรองดอง มิใช่เกิดจากเฉพาะพรรคการเมืองแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่เกี่ยวพันกับคนหลายกลุ่มหลายฝ่าย หลายองค์กร รวมถึงผู้มีอำนาจในปัจจุบันก็เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาที่เกิดขึ้น

ดังนั้น หัวใจสำคัญของการสร้างความปรองดอง จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และต้องอาศัยความร่วมมือ และการมีส่วนร่วมของแต่ละฝ่าย ทั้งฝ่ายพรรคการเมือง ฝ่ายกลุ่มการเมืองผู้มีอำนาจในปัจจุบัน รวมถึงฝ่ายอื่น ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม จำเป็นต้องร่วมกันหารือ หาทางออกให้ประเทศ และปัจจัยที่จะทำให้ความปรองดองสำเร็จต้องคำนึงถึงความเข้าใจในความหมายของการปรองดองที่เป็นสากล, ควรให้ความสำคัญกับการแสวงหาความรู้ที่ชัดเจนถึงสาเหตุของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ซึ่ง คอป. และสถาบันพระปกเกล้าฯ ได้เคยศึกษาไว้อย่างละเอียดและครอบคลุมพอสมควรแล้ว สมควรจะนำมาพิจารณา, ต้องรู้ว่ามีผู้ใด/องค์กรใด หรือหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง และแสวงหาความร่วมมือจากส่วนต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหา และคณะกรรมการที่จะเข้ามาดำเนินการปรองดอง จะต้องมีความเป็นกลาง ยุติธรรม น่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับของสังคม

อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทย พร้อมให้ความร่วมมือและได้หารือกับหัวหน้าพรรคแล้ว และได้มอบหมายให้ นายโภคิน พลกุล, นายชัยเกษม นิติสิริ, นายชูศักดิ์ ศิรินิล, นายจาตุรนต์ ฉายแสง และ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา เป็นผู้ดำเนินการศึกษาและติดตามเรื่องนี้ต่อไป
---------------

//////////////
ทรัมป์เอฟเฟ็กซ์

ผู้ว่า ธปท. มองนโยบาย ทรัมป์ สร้างความผันผวนตลาดเงิน ตลาดทุนทั่วโลกรุนแรงแนะจับตาใกล้ชิด คง เป้าจีดีพีไทยโตะ 3.2%

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังกล่าว ปาฐกถาเรื่อง เศรษฐกิจการเงินไทยท่ามกลางความท้าทายในยุค 4.0 ในงานสัมมนาเศรษฐกิจการเงินไทยท่ามกลางความท้าทายในยุค 4.0 ในโอกาสเข้าสู่ปีที่ 20 การเปิดศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง โดยระบุว่า หลังจากนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลก คือการที่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ จะขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ และจากการดำเนินโยบายด้านเศรษฐกิจของทีมผู้บริหารชุดใหม่หลายเรื่อง จะสร้างความผันผวนให้กับตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลก

อย่างรุนแรงมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรตลาดสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนความกังวลนโยบายของ นายทรัมป์ ที่จะมีการกู้ยืมจากตลาดเงินเนื่องจากภาระหนี้งบประมาณในการดำเนินนโยบายที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งเงินดอลลาร์จากนี้จะผันผวน ทั้งแข็งค่าและอ่อนค่ารวดเร็ว เพราะนักลงทุนในตลาดจะรอการแถลงนโยบายที่ชัดเจน

ทั้งนี้ หากสหรัฐฯ มีการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศให้ฟื้นตัวเร็วขึ้นประเทศไทยจะได้อานิสงส์ในเชิงบวก แต่ในทางกลับกันเรื่องนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ นโยบายกีดกันเชื้อชาติ อาจจะทำให้ไทยและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียได้รับผลกระทบเนื่องจากเป็นประเทศเศรษฐกิจแบบเปิด

อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์หน้าทาง ธปท. จะดูแลตลาดเงินอย่างใกล้ชิดเตรียมรับความผันผวน ด้านผู้ประกอบการส่งออกนำเข้าควรจะติดตามสถานการณ์และทำประกันป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อลดความเสียหาย ขณะเดียวการทาง ธปท. จะประเมินผลกระทบการขยายตัวทางเศรษฐกิจใหม่ หลังจากการประกาศนโยบายของทรัมป์อย่างชัดเจน แต่ยังคงตั้งเป้าการขยายตัวของจีดีพีไว้ที่ร้อยละ 3.2
----------
ผู้ว่า ธปท. เผย ไทยยังมีความเสี่ยงและความท้าทายที่ต้องเผชิญ ซึ่งส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ เศรษฐกิจการเงินไทยท่ามกลางความท้าทายในยุค 4.0 ในงานสัมมนาเศรษฐกิจการเงินไทยท่ามกลางความท้าทายในยุค 4.0 ในโอกาสเข้าสู่ปีที่ 20 การเปิดศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง โดยบอกว่า ยอมรับว่าปัจจุบันประเทศไทย ยังมีความเสี่ยงและความท้าทายที่ต้องเผชิญหลายด้าน อาทิ ปัญหาเชิงโครงสร้าง จากการลงทุนในช่วง 5 - 10 ปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับต่ำ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2541 ที่ขยายตัวได้ร้อยละ 8 เหลือร้อยละ 3-4 ขณะเดียวกัน ไทยยังมีปัญหาในเรื่องของความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และโอกาส ที่ทำให้เกิดความแตกแยกของคนในสังคม

ทั้งนี้ ในอีก 15 ปีข้างหน้าจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่จะเกิดขึ้นโดยผู้สูงอายุกว่า 60 ปี จะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้รูปแบบการบริโภค การออมเปลี่ยนแปลง ภาระการคลังสูงขึ้นเนื่องจากต้องใช้ในการดูแลสวัสดิการ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาในส่วนโครงสร้างกฎหมายและกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย ที่ยังเป็นปัญหา เนื่องจากปัจจุบัน ไทยมีกฎหมายมากกว่า 100,000 ฉบับ และกฎหมายดังไม่ได้ถูกปรับแก้ไขให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งกฎหมายจำนวนมากมีผลทำให้กระบวนการบังคับใช้ไม่มีประสิทธิภาพ
---------------
ธปท. เตรียมแนวทางขับเคลื่อนการเงินไทย หลัง "โดนัลด์ ทรัมป์" ขึ้นตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ เศรษฐกิจการเงินไทยท่ามกลางความท้าทายในยุค 4.0 ในงานสัมมนาเศรษฐกิจการเงินไทยท่ามกลางความท้าทายในยุค 4.0 ในโอกาสเข้าสู่ปีที่ 20 การเปิดศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ว่า หลังจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเตรียมแนวทางการสำหรับการขับเคลื่อนการเงินไทยให้เท่าทันโลก หลังจากที่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ จะขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ เพราะมีแนวโน้วจะเกิดความผันผวนที่สูงอย่างปฏิเสธไม่ได้ โดยไทยจะต้องเร่งสร้างเสถียรภาพในระบบการเงิน และโครงสร้างเศรษฐกิจ สร้างภูมิคุ้มกันรองรับกับความผันผวนที่จะเกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งสิ่งสำคัญคือ การพัฒนากระจายผลประโยชน์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงกระจายโอกาสทางการศึกษา และการพัฒนาภาคเกษตร การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

ขณะที่การบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจจะต้องให้เกิดความยั่งยืน ยกระดับศักยภาพ เพิ่มผลิตภาพการผลิต และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ให้ธุรกิจพลิกฟื้นได้ ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดใหญ่สามารถแข่งขันได้อย่างเท่าเทียม ภาครัฐ ต้องกลไกการทำงาน ให้มีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ ลดบทบาทที่ไม่จำเป็นโดยคำนึงถึงความยั่งยืนด้านอำนาจ ซึ่งหากขาดประสิทธิภาพหรือความชัดเจนในการทำงาน อาจทำให้เสียโอกาสในการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพได้
----------------

ไม่มีความคิดเห็น: