PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2562

ถ้าไม่ได้คุมพณ.กษ.ปชป.ทำขู่ถอนตัวรบ.

ภท.สำทับยึดดีลเดิม ส่ง ‘น้องเนวิน’ นั่งคค. ‘ธนกร’ แขวะ ‘อนุทิน’ ส.ว.ฮือขวางแก้รธน.

รัฐบาล “ประยุทธ์ 2” แค่เริ่มก็รวน ปชป.-ภท.ประสานเสียงยึดดีลเดิม “เทพไท” ย้ำ 4 เงื่อนไขหลักลงเรือ พปชร. เผยยื่นข้อเสนอคุม พณ.-กษ.ตั้งแต่ต้น โวยอย่ามัดมือชก ผิดสัญญาพร้อมทบทวนร่วมรัฐบาล “นิพนธ์” ปิดประตูไม่เจรจาอะไรอีก “นราพัฒน์” ฮึ่มล้มดีลผู้ใหญ่สองฝ่ายเสียคน “อนุทิน” เสียงเข้มปิดจ๊อบเรียบร้อยนานแล้ว ลั่นไม่เปลี่ยนแปลงอะไรทั้งสิ้น วางตัว “ศักดิ์สยาม” รมว.คมนาคม “นาที” รมว.การท่องเที่ยวฯ “ชาดา” ตีตราจอง รมช.มท. “ธนกร” ชกข้ามรุ่นสวน “เสี่ยหนู” กระทรวงมีไว้ทำงาน ไม่ใช่เก็บไว้ให้บริษัทเข้าไปหางาน พท.ลุยภารกิจแก้รัฐธรรมนูญ ปลุกพลังประชาชนดันร่างใหม่ทั้งฉบับ ล้างกลไกเผด็จการ สภานักศึกษา มธ.ศูนย์รังสิตซัด “บิ๊กตู่” ไม่สง่างาม เสียใจ ส.ว.ศิษย์เก่ารุ่นพี่ยกมือหนุนคนทำรัฐประหาร

การจัดตั้งรัฐบาลและแบ่งสรรโควตารัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัยที่ 2 ต้องประสบปัญหาความไม่ราบรื่นตั้งแต่เริ่ม โดยเกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะแกนนำกับพรรคร่วมรัฐบาล ล่าสุดนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ออกมายืนยันเงื่อนไข 4 ข้อในการตกลงเข้าร่วมรัฐบาล ระบุถ้ามีการผิดสัญญาพร้อมทบทวนการเข้าร่วมรัฐบาลทันที

“เทพไท” ย้ำ 4 เงื่อนไขลงเรือ พปชร.

เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐว่า ได้ลงพื้นที่ชาวบ้านสอบถามถึงการตั้ง ครม.ของรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐว่าไปถึงไหน ท่ามกลางข่าวขอเกลี่ยคืนกระทรวงเกรดเอจากพรรคภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์ ที่ยกมือโหวตเลือกให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯไปแล้ว พรรคประชาธิปัตย์มีภายใต้ 3 เงื่อนไขที่เปิดเผยต่อสาธารณชน คือ 1. พรรคเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย 2.เสนอให้รับนโยบายการประกันรายได้สินค้าเกษตรของพรรคไปเป็นนโยบายของรัฐบาล 3.การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลชุดนี้ ต้องไม่มีการทุจริตคอร์รัปชัน หากเกิดการทุจริตขึ้น พรรคประชาธิปัตย์สามารถขอถอนตัวออกจากรัฐบาลนี้ได้

เผยขอบริหาร พณ.-กษ. ตั้งแต่ต้น

“นอกจาก 3 เงื่อนไขดังกล่าวแล้วยังมีเงื่อนไขที่ 4 ที่ไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณชน คือโควตารัฐมนตรี พรรคประชาธิปัตย์เสนอว่าหากให้พรรครับผิดชอบแก้ไขปัญหาพืชผลการเกษตรให้มีคุณภาพ ได้ตามราคาที่เกษตรกรต้องการคือ ปาล์มน้ำมันต้องได้ราคาไม่น้อยกว่ากิโลกรัมละ 4 บาท ยางพาราต้องได้ราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 60 บาท จะต้องให้พรรคประชาธิปัตย์เข้าบริหารใน 2 กระทรวงหลักคือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรและช่วยเหลือเกษตรกร และกระทรวงพาณิชย์ที่เกี่ยวกับการขายระบายสินค้าเกษตรและอื่นๆทั้งในและต่างประเทศ ถ้าไม่ให้ 2 กระทรวงหลักนี้เชื่อว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรของประชาชนได้” นายเทพไทกล่าว

อย่ามัดมือชกขู่ผิดสัญญาจ่อทบทวน

“วันนี้สื่อต่างเผยแพร่ข่าวว่าพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจะขอทวง 2 กระทรวงหลักนี้คืน จึงอยากบอกว่าถ้าพรรคหลักเอา 2 กระทรวงนี้คืนจากพรรคประชาธิปัตย์เท่ากับผิดสัญญาหรือเงื่อนไขที่ตกลงไว้ก่อนหน้ากับพรรคประชาธิปัตย์ ทั้ง 4 เงื่อนไขนี้เป็นเรื่องที่ผ่านการประชุมร่วมของคณะกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรคและ ส.ส.พรรคได้พิจารณาหลักเกณฑ์ก่อนการเข้าร่วมรัฐบาล ดังนั้นหากเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งจากทั้ง 4 ข้อ มีการบิดพลิ้วผิดข้อตกลงจากสัญญาที่รับคำไว้แล้ว พรรคประชาธิปัตย์จะนำเงื่อนไขและการผิดข้อตกลงดังกล่าวกลับมาพิจารณาในที่ประชุม ส.ส.พรรคอีกครั้ง หากพรรคพลังประชารัฐคิดว่าจะมัดมือชก คิดว่าได้ตำแหน่งนายกฯไปแล้วไม่ต้องแคร์พรรคร่วมรัฐบาล อยากบอกว่ามันไม่ง่ายอย่างที่คุณคิดและเราเชื่อว่าถ้าคุณผิดสัญญาตั้งแต่ต้น เท่ากับไม่มีหลักประกันใดๆว่าจะไม่มีการผิดสัญญาในอนาคตอีก เชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์จะทบทวน ในที่ประชุม ส.ส.และ กก.บห.พรรคแน่นอน” นายเทพไทกล่าว

ไม่เชื่อล้มดีล ฮึ่มบิ๊กสองฝ่ายเสียคน

ด้านนายนราพัฒน์ แก้วทอง รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดูแลภาคเหนือ กล่าวถึงกรณีหากมีการล้มดีล ในข้อตกลงการร่วมรัฐบาลโดยเฉพาะการแบ่งงานในโควตากระทรวงที่กำกับดูแลว่าหากเป็นเช่นนั้นจริง พรรคประชาธิปัตย์เราต้องเริ่มนับ 1 ใหม่ เข้าที่ประชุมกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) พรรคและ ส.ส. แต่เชื่อว่าไม่เกิดขึ้นแน่ คงเป็นไปไม่ได้ มันไม่ใช่เด็กเล่นขายของ พรรคประชาธิปัตย์มีหลักเกณฑ์ และเป็นเรื่องของเขาต้องเคลียร์กันเองภายในพรรคกันเอง ถ้าจะล้มดีลหรือเปลี่ยนข้อตกลง ผู้ใหญ่ทั้ง 2 ฝ่ายจะเสียหายและเสียผู้ใหญ่แน่

“นิพนธ์” ปิดประตูไม่เจรจาเพิ่มอีก

นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีข่าวแกนนำกลุ่มในพรรคพลังประชารัฐไม่หยุดเคลื่อนไหวขอเกลี่ยโควตาแลกกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯว่า ถือว่าการเจรจาเงื่อนไขข้อตกลงจบตั้งแต่วันที่เลือกประธานสภาฯและวันโหวตเลือกนายกฯไปแล้ว ทุกอย่างยึดข้อตกลงเดิมทั้งหมด ขั้นตอนจากนี้เราต้องเดินตามโรดแม็ปที่วางเอาไว้ คือการฟอร์มทีมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใหม่ จัดทำนโยบายรัฐบาลโดยบรรจุนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาลใส่ในนโยบายรัฐบาล โดยไม่มีการเจรจาเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงอะไร เมื่อถามว่า แต่ยังมีการปล่อยข่าวสร้างแรงกระเพื่อมจากคนในพรรคพลังประชารัฐเพราะไม่พอใจเนื้องานและกระทรวงที่ได้ นายนิพนธ์กล่าวว่า ไม่ทราบไม่ขอยุ่งเกี่ยวเป็นเรื่องภายในของเขาต้องพูดคุยกันเอง เราดูแลพรรคเราให้ดี เมื่อถามย้ำว่า หากล้มดีลในข้อตกลงจริง พรรคประชาธิปัตย์เตรียมหาทางออกไว้รองรับแล้วหรือไม่ นายนิพนธ์กล่าวว่า เขาไม่ทำอย่างนั้น มั่นใจว่าไม่มีทางเกิดเหตุการณ์อย่างนั้นขึ้นแน่ ต่างเป็นผู้ใหญ่กันแล้ว

ผู้ใหญ่ย้ำดีลเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงปัญหาการจัดตั้งรัฐบาลที่กลุ่มต่างๆในพรรคพลังประชารัฐ เรียกร้องให้ทวงกระทรวงเกรดเอกลับคืนไปจากพรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ด้วยว่า ขอยืนยันว่าเงื่อนไขข้อตกลงในการจัดตั้งรัฐบาล ที่แกนนำพรรคที่มีอำนาจเต็มในการเจรจาได้หารือไว้กับผู้ใหญ่ในพรรคพลังประชารัฐแล้ว ต่างยืนยันว่ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงใดๆ หากพรรคพลังประชารัฐมีปัญหาภายในเป็นเรื่องที่พรรคพลังประชารัฐต้องไปแก้ไข

แจงเข้าใจดีความรู้สึกประชาชน

นายราเมศกล่าวถึงผลสำรวจของโพลบางสำนักที่ระบุประชาชนไม่เห็นด้วยที่พรรคมีมติเข้าร่วมรัฐบาล และล่าสุดสวนดุสิตโพลระบุประชาชนผิดหวังการที่พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐว่า พรรคเข้าใจความรู้สึกของพี่น้องประชาชนทุกกลุ่มที่สะท้อนความคิดเห็นมา การเข้าร่วมรัฐบาลเป็นการตัดสินใจอยู่ภายใต้มติของเสียงส่วนใหญ่ในพรรค จากการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการบริหารพรรค และ ส.ส.ทุกคนได้สะท้อนเสียงของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ มติจึงออกมาบนพื้นฐานสำคัญ คือยึดประโยชน์ของประชาชนและประเทศเป็นที่ตั้ง การมุ่งนำนโยบายของพรรคไปขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน เป็นสิ่งสำคัญที่สุด รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนำประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการบริหารราชการแผ่นดินต้องเป็นไปด้วยความซื่อสัตย์สุจริต

อ้อนพรรคยังยึดมั่นอุดมการณ์

นายราเมศกล่าวต่อว่า พรรคตั้งต้นคิดเพื่อประชาชน สุดท้ายปลายทางแน่นอนว่าอยากให้มองที่ความมุ่งมั่นและความสำเร็จในวันข้างหน้า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ได้ทำให้เห็นแล้วว่าเราทำเพื่อประชาชนได้จริง ส่วนอุดมการณ์ของพรรคยังคงดำรงอยู่เช่นเดิมทุกประการภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่อย่างไรก็ตาม พรรคตระหนักดีว่าไม่ว่าจะตัดสินใจไปทางไหน จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์และมีผลกระทบต่อพรรค แต่คำตอบที่จะได้จากหลักคิดบนพื้นฐานของการยึดประโยชน์จากประเทศในวันข้างหน้า จะเป็นคำตอบให้พี่น้องประชาชนได้ดีที่สุด

กก.ยุทธศาสตร์ลุยเฟ้นว่าที่ รมต.

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า วันที่ 10 มิ.ย.จะมีการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ของพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อพิจารณาแผนงานโครงการยุทธศาสตร์ของรองหัวหน้าพรรคที่รับผิดชอบพื้นที่ตามรายภาค และรองหัวหน้าพรรคที่รับผิดชอบด้านภารกิจที่รับมอบหมาย รวมถึงคณะกรรมการชุดต่างๆ พร้อมกับหารือถึงหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และตำแหน่งทางการเมือง ตามข้อบังคับพรรคข้อที่ 97 ถึง 99 ที่กำหนดไว้ เพื่อเป็นมาตรฐานในการคัดเลือก อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม แต่ยังไม่มีการกำหนดชื่อบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งแต่อย่างใด

“อุเทน” ชี้ รบ.บิ๊กตู่แตกเละไปก่อน 1 ปี

นายอุเทน ชาติภิญโญ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หลัง พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯอีกสมัย ตามที่ทุกฝ่ายคาดหมายและตามที่วางแผนผ่านการตรากฎหมายในยุค คสช. หวังว่าใช้อำนาจและบุคลากรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าที่ผ่านมา แต่ขอเตือนว่าการทำงานนับจากนี้จะแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจาก 5 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีฝ่ายค้านและกระบวนการตรวจสอบผ่านฝ่ายนิติบัญญัติ ยิ่งรัฐบาลมีเสียงปริ่มน้ำและในพรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงพรรคพลังประชารัฐขาดเอกภาพอย่างเห็นได้ชัด แค่เริ่มต้นแก่งแย่งเก้าอี้รัฐมนตรีชนิดไม่ลดราวาศอก ต่อไปหากมีเหตุการณ์ใดทำให้กลุ่มก๊วนของรัฐบาลผสมไม่สมประโยชน์ สภาพของรัฐบาลนี้ไม่ต่างจากรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อายุไม่ถึง 1 ปีต้องยุบสภา ที่สำคัญรัฐบาลประยุทธ์อาจมีอายุสั้นกว่าด้วย เพราะมีปัญหาภายในมากมาย นอกจากนี้กระแสสังคมรับไม่ได้ต่อการทำหน้าที่ของ ส.ว. ที่ลงคะแนนให้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีแตกแถว ไม่มีความจำเป็นใดๆที่ ส.ว.ต้องแห่แหนแสดงความจงรักภักดีต่อหัวหน้า คสช.ที่แต่งตั้งตัวเองขนาดนั้น ความผิดเพี้ยนในการลงมติเลือกนายกฯ สะท้อนว่าพิษของรัฐธรรมนูญกำลังทำร้ายประเทศอย่างรุนแรง เชื่อว่าภายใต้กติกาใหม่นี้จะก่อให้เกิดวิกฤติอีกครั้งในอนาคตอันใกล้นี้ คนที่ยกร่างรัฐธรรมนูญต้องรับผิดชอบ

“เสี่ยหนู” เสียงเข้มข้อตกลงจบนานแล้ว

นายอนุทิน ชาญวีรกูล ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงประเด็นปัญหาการจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีของพรรคร่วมรัฐบาลว่า ทุกอย่างจบเรียบร้อยไปตั้งนานแล้ว และยืนยันว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆทั้งสิ้น

“ศักดิ์สยาม” รมว.คค. “นาที” ท่องเที่ยว

ผู้สื่อข่าวรายงานจากพรรคภูมิใจไทยว่าโควตารัฐมนตรีในส่วนของพรรคภูมิใจไทยได้รับการจัดสรรทั้งหมด 7 เก้าอี้ คือ 1 รองนายกฯ 1 3 รมว. และ 3 รมช. โดยนายอนุทินจะนั่งรองนายกฯควบ รมว.สาธารณสุข ขณะที่ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬาจะมอบให้นางนาที รัชกิจประการ ส.ส.บัญชีรายชื่อและเหรัญญิกของพรรค ส่วน รมว.คมนาคมจะเป็นของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ส.ส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรค รมช.มหาดไทย เป็นนายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี รองหัวหน้าพรรค อีก 2 ตำแหน่งอยู่ระหว่างพิจารณา มีรายงานว่าการเจรจาเก้าอี้รัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทยได้พูดคุยกับผู้มีอำนาจตัดสินใจสูงสุดจบไปตั้งนานแล้ว ไม่มีการเกลี่ยใหม่อย่างที่มีกระแสข่าว

รองโฆษก พปชร.ย้อนแสบ “อนุทิน”

ทางด้านพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “กระทรวงมีไว้ให้คนเข้าไปทำงาน ไม่ใช่มีไว้ให้มาเที่ยวแลกไปมา จบข่าว” พร้อมแสดงความเห็นเพิ่มเติมในโพสต์ว่า “คมนาคม สาธารณสุข ท่องเที่ยวครับ เปลี่ยนไม่ได้” วันเดียวกัน เมื่อ 11.15 น. นายธนกร วังบุญคงชนะ รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ ได้โพสต์ข้อความตอบโต้นายอนุทิน 5 ข้อ 1.กระทรวงมีไว้ให้ทำงานเพื่อประชาชน ไม่ใช่มีไว้ให้เข้าไปหางานเพื่อบริษัท #ถูกต้องนะครับ

เก็บไว้ทำงานหรือหางานให้บริษัท

“2.กระทรวงมีไว้ให้ทำงานเพื่อประชาชน และที่สำคัญต้องไม่ใช่เก็บไว้ให้บริษัทเข้าไปหางาน #ถูกต้องนะครับ 3.กระทรวงมีไว้ให้ทำงานเพื่อประชาชน แลกเปลี่ยนได้ ถ้าจะเอาไปเพื่อประโยชน์บริษัทใด #ถูกต้องนะครับ 4.ไม่ยอมแลก เก็บไว้ ทำงานให้ประชาชน หรือหางานให้บริษัท #คนเขาสงสัย กระทรวงนี้ของข้าใครอย่าแตะ 5.ไม่มีใคร แลกอะไรกันไปมา มีแต่หาความเหมาะสม ไม่ให้คนเขานินทาว่าเลือกกระทรวงให้บริษัท #ถูกต้องนะครับ” เฟซบุ๊กนายธนกรระบุ ทั้งนี้หลังจากโพสต์ข้อความได้ไม่นานนายธนกรได้ลบข้อความดังกล่าวออกจากเฟซบุ๊กไปแล้ว

อัด “ธนาธร” หมอดูตี รบ.อายุสั้น

นายธนกรให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ระบุรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะอยู่ไม่ครบเทอมว่า รัฐบาลจะอยู่ครบเทอมหรือไม่ ขึ้นอยู่ว่าอยู่แล้วทำประโยชน์ให้กับประชาชนได้มากน้อยแค่ไหน อยู่แล้วประชาชนอยู่ดีกินดี บ้านเมืองสงบ ประชาชนมีความสุข นี่คือสิ่งสำคัญ เสียงปริ่มน้ำใช่ว่ารัฐบาลจะอายุสั้น อาจอยู่ยาวก็ได้หากบริหารจัดการให้ดี อย่าลืมว่า ส.ส.ฝ่ายค้านหรือรัฐบาลอยากเป็น ส.ส. เพื่อทำงานให้พี่น้องประชาชนนานๆ ไม่มีใครอยากเสียเวลามาเลือกตั้งใหม่ อย่าทำตัวเป็นนักพยากรณ์ และช่วยทำความเข้าใจกับผู้สนับสนุนในโซเชียลมีเดียให้เคารพสิทธิผู้เห็นต่างด้วย ไม่ใช่พอใครมีความเห็นแตกต่างกับพรรคตัวเองมารุมถล่มด่าด้วยถ้อยคำไม่สุภาพ คนรุ่นใหม่ไม่น่ามีพฤติกรรมแบบนี้ ไหนบอกว่าเคารพผู้อื่น ยึดหลักความเท่าเทียม อย่าแบ่งแยกประชาชน ยุติความขัดแย้ง ประเทศต้องการความปรองดอง

เหน็บอย่ามองกระทรวงเป็นสินค้า

ก่อนหน้านี้เมื่อเวลา 23.49 น. วันที่ 8 มิ.ย. นางทยา ทีปสุวรรณ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. ภรรยานายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รองหัวหน้าพรรค และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า “อย่ามองกระทรวงเป็นสินค้า” เลือกตั้งประธานสภาฯ รองประธานสภาฯ นายกฯเรียบร้อยแล้ว ตอนนี้ประชาชนรอดูโฉมหน้า ครม. เพื่อจะได้เดินหน้าขับเคลื่อนประเทศกันได้ซักที จริงๆแล้วแต่ละกระทรวงมีความสำคัญไม่แพ้กัน แตกต่างกันไปตามภาระหน้าที่งาน อย่ามองกระทรวงเป็นสินค้าเกรดเอ บี ซี เลย เพราะถ้าขุนพลที่เข้ามาคุมกระทรวงตั้งใจทำงาน มุ่งมั่นทำประโยชน์ให้ประเทศชาติตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย กระทรวงนั้นจะได้เกรดเอ โดยประชาชนจะให้คะแนนเอง เพราะสุดท้ายถ้ากระทรวงมีผลงาน ประเทศพัฒนา ประโยชน์สูงสุดจะตกอยู่กับคนไทยทุกคน อยากเห็นขุนพลทุกคนพร้อมออกรบเพื่อให้ชนะ ไม่ใช่เพื่อพรรค ไม่ใช่เพื่อตนเอง แต่เพื่อประเทศชาติ เพราะวันนี้เราไม่มีเวลามาขัดแย้งกันอีกแล้ว ปัญหาให้แก้รออยู่มากมาย แล้วอย่าลืมว่าครั้งนี้แม่ทัพไม่มี “ดาบกายสิทธิ์” อีกต่อไป งานหนัก งานยากรออยู่และฝ่ายค้านพร้อมตรวจสอบทุกเวลา

“สกลธี” ติคนในต่อรองจนน่าละอาย

ขณะที่นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าฯ กทม.และสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ โพสต์ในเฟซบุ๊กตอนหนึ่งว่า การเมืองเป็นเรื่องต่อรองผลประโยชน์ การที่พรรคร่วมรัฐบาลจะต่อรองนั่นโน่นนี่เป็นสิทธิและเป็นเรื่องปกติ ฝั่งไหนด้านไหนรับข้อเสนอและยอมให้ได้ตามที่พรรคร่วมขอ ก็ร่วมงานกันไป เป็นมาอย่างนี้ทุกยุคทุกสมัย...แต่การต่อรองของคนในพรรคแกนนำกันเองนี่สิมันน่าละอาย เคยอยู่ประชาธิปัตย์มา 10 กว่าปี ตอนตั้งรัฐบาลไม่เห็นมีใครในพรรคต่อรองอะไร ให้เป็นหน้าที่หัวหน้าพรรคกับกรรมการบริหารพรรคจะเห็นสมควร ยิ่งโดยเฉพาะการเลือกตั้งครั้งนี้ 80% ของคนที่เลือกพรรคพลังประชารัฐเพราะอยากเห็นลุงตู่เป็นนายกฯบริหารประเทศต่อไป น้อยนักที่เลือกเพราะอยากเห็นคนนั้นคนนี้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงโน้นนี้ ถ้าจะมีแฟนคลับส่วนตัวคงมีบ้างแต่เป็นส่วนน้อย การมีใครมาอ้างว่ามี ส.ส.ในมือเท่านั้นเท่านี้ แล้วมาต่อรองว่าต้องได้เป็นอะไร ละอายใจบ้างเถอะ อย่าเอาแต่ความอยากได้อยากเป็นของตัวเองเป็นที่ตั้ง ที่ผ่านมาคนคลื่นเหียนนักการเมืองมามากพอแล้ว ปล่อยให้นายกฯดูความเหมาะสมและจัดวางคนที่ดีให้ทำงานเถอะ ภาพข่าวที่ออกมามันบั่นทอน ความเชื่อมั่นทุกวันๆ #ทำเพื่อชาติซักครั้งเถอะ

พท.วางภารกิจผลักดันแก้ รธน.

นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง “ทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย” ระบุว่า พรรคเพื่อไทยมีภารกิจที่ต้องร่วมมือกันหลายด้าน ได้แก่ 1.การทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐบาลในสภาฯ การต่อสู้ในสภาฯครั้งนี้ยากลำบากกว่าเดิม เพราะกติกาบิดเบี้ยว การพัฒนาระบบตรวจสอบที่เข้มข้น ผ่านการอภิปรายที่มีเหตุผล โดยการทำงานเป็นทีมจะเป็นหลักประกันว่าพรรคเพื่อไทยใส่ใจกับการผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหาของประชาชนอย่างจริงจัง 2.สร้างการมีส่วนร่วมของเครือข่ายและประชาชนที่มีหัวใจรักประชาธิปไตย มีเป้าหมายร่วมมือกันเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จำเป็นต้องเดินหน้าคู่ขนานกันไปกับการทำงานในสภาฯ เพื่อให้ครอบคลุมถึงการละเมิดสิทธิ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การใช้กลไกรัฐในการทำลายผู้เห็นต่างอย่างไร้คุณธรรม

สร้างพรรคเป็นสถาบันที่พึ่ง ปชช.

นายภูมิธรรมระบุอีกว่า 3.การสร้างพรรคให้เป็นสถาบันการเมืองที่เข้มแข็ง ตอบสนองประโยชน์ของประชาชนได้ต่อเนื่องระยะยาว ไม่ใช่เป็นพรรคที่มีชีวิตในช่วงการเลือกตั้งและเปิดสภาฯเท่านั้น 4.การสร้างฐานมวลชนที่มั่นคงเข้มแข็ง สถานการณ์เช่นนี้เป็นโอกาสสร้างการเรียนรู้ใหม่ให้บุคลากรและกลไกทุกระดับของพรรค สมาชิกรุ่นใหม่ของพรรคที่อุดมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาระบบงานต่างๆ คุณค่าที่จะได้จากต้นทุนทุกระดับ ย่อมนำไปสู่การเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้พรรคได้ทั้งสิ้น จึงเป็นองคาพยพร่วมกันที่จะทำให้พรรคเพื่อไทยเข้มแข็ง อยู่ในใจประชาชนไปอีกนานเท่านาน

ถล่มหยุดทีเถอะต่อรองทึ้ง รมต.

นายภูมิธรรมให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาการจัดสรรโควตารัฐมนตรีระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรคร่วมรัฐบาลว่า “กระทรวงและงานบริหารประเทศ ไม่ใช่มีไว้ให้ใครมาเที่ยวแลก ไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของใครที่จะเอามาโยนไปมา แบ่งกันชม แบ่งกันใช้ หยุดเถอะครับ”

ปลุกพลัง ปชช. รื้อร่างใหม่ทั้งฉบับ

ร.ท.หญิง สุณิสา ทิวากรดำรง รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การยื้อแย่งเก้าอี้ในรัฐบาลของพรรค การเมืองอย่างมูมมามขณะนี้ สะท้อนความไร้เสถียรภาพทางการเมือง เป็นลางร้ายว่าต่อไปนี้การเมืองจะเป็นเรื่องการต่อรองผลประโยชน์ เพราะรัฐบาลมีเสียงปริ่มน้ำ ต้องง้อพรรคเล็กพรรคน้อย แลกกับการยกมือสนับสนุนในสภาฯ เป็นช่องทางหากินของนักการเมืองใช้ตำแหน่งหน้าที่ไปแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว สาเหตุที่ทำให้ระบบการเมืองไทยอ่อนแอมีต้นตอจากรัฐธรรมนูญ ทางแก้คือต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ไม่ใช่แก้เพียงบางมาตรา เพราะมีการหมกเม็ดกลไกสืบทอดอำนาจเผด็จการไว้ในรัฐธรรมนูญเต็มไปหมด การแก้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง เพราะบางพรรคได้ประโยชน์จากกติกาเลือกตั้งบิดเบี้ยวแบบนี้ ไม่อยากเปลี่ยนกติกาเลือกตั้ง โดยเฉพาะพรรคที่ไม่หวังชัยชนะในการเลือกตั้งแบบเขต แต่ส่งผู้สมัคร ส.ส.หวังเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ผิดหลักการแข่งขัน กติกาแบบนี้ทำให้เจตจำนงการลงคะแนนของประชาชนถูกบิดเบือน ทำลายความเข้มแข็งระบบรัฐสภา หากประชาชนต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง ต้องมีส่วนร่วมสร้างแรงกดดันทางสังคม ยกระดับให้เป็นประเด็นสาธารณะ ไม่อย่างนั้นระบอบรัฐประหารจะหลอกหลอนประเทศไทยไปชั่วลูกชั่วหลาน

หนุนแก้ รธน.เผด็จการครึ่งใบ

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด คณะทำงานสื่อสารการเมือง พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยมุ่งมั่นแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ตามเงื่อนไขและวิธีการที่กำหนดไว้อย่างตรงไปตรงมา เชื่อว่าหาก รัฐธรรมนูญเป็นแบบนี้ต่อไป ไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยครึ่งใบ แต่เป็นฉบับเผด็จการครึ่งใบที่ทำให้ประเทศชาติและประชาชนเสียโอกาส สภาผู้แทนราษฎรควรเป็นเสาหลักในการกำหนดทิศทางแก้ปัญหาประเทศ เพราะมาจากประชาชน ไม่ใช่วุฒิสภาที่ผ่านการคัดสรรมาจาก คสช.ที่ผลาญงบประมาณไป 1,300 ล้านบาท แต่ได้คนรอบตัว คสช.มาเป็นสภาฯฝักถั่วที่ยอมให้กดรีโมตได้

ย้อนยุคก่อนปี 40 ปชช.เสื่อมศรัทธา

นายอนุสรณ์กล่าวอีกว่า ขณะนี้ประชาชนเบื่อหน่ายการต่อรองกระทรวง แทนที่จะแข่งกันผลักดันนโยบายที่ใช้หาเสียงมาเป็นนโยบายเพื่อประชาชน รัฐบาลที่จะได้จะเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำสภาพไม่ต่างจากรัฐบาลเป็ดง่อย ที่รวบรวมพรรค การเมืองมากกว่า 20 พรรค หน้าตารัฐบาลที่ออกมาจึงไม่อาจเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศได้ ทำให้ประชาชนสิ้นหวัง สถานการณ์การเมืองปัจจุบัน เหมือนการเมืองย้อนไปในยุคก่อนปี 2540 ไม่รู้ว่าประชาชนต้องรอการต่อรองรัฐบาลอีกนานแค่ไหน การต่อรองโควตาเจรจาแลกเก้าอี้ ผลประโยชน์แต่ละพรรค ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ยิ่งตั้งรัฐบาลช้า ประเทศและประชาชนยิ่งเสียโอกาสมากขึ้น

“นิรันดร์” ปัดพา 12 ส.ส.ซบ พปชร.

นายนิรันดร์ นาเมืองรักษ์ ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกระแสข่าว ส.ส.อีสานพรรคเพื่อไทยบางส่วนไปรับประทานอาหารกับนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มสามมิตร พรรคพลังประชารัฐ ที่ร้านอาหารย่านถนนวิภาวดีรังสิตว่า ตนเป็น 1 ใน ส.ส.ที่ไปร่วมวงกินข้าวกับนายสมศักดิ์และนายสุริยะ เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.แต่ไปกินข้าวกันในฐานะเพื่อนที่คุ้นเคยกันมานาน เพราะสนิทสนมกับนายสมศักดิ์มาตั้งแต่ปี 2529 สมัยอยู่พรรคกิจสังคมด้วยกัน ส่วนนายสุริยะคุ้นเคยกันดีตั้งแต่อยู่พรรคไทยรักไทย พอเลิกประชุมสภาฯ เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.บังเอิญเดินมาเจอกัน เลยชักชวนไปกินข้าวกันตามประสาคนรู้จัก ตนจึงชวน ส.ส.เพื่อไทยคนอื่นอีก 4-5 คน ที่คุ้นเคยกับนายสมศักดิ์และนายสุริยะไปด้วย จากนั้นคนอื่นๆไปชวน ส.ส.ต่อกันไปเป็นทอดๆ จนมีทั้ง ส.ส.อีสาน และภาคเหนือประมาณ 11-12 คน ไปกินข้าวด้วยกัน

แค่แซวสนุกถ้ากลับต้องไปเซฟเฮาส์

“ยืนยันว่าได้พูดคุยสารทุกข์สุกดิบ หยอกล้อเรื่องอดีตเท่านั้น ไม่ได้พูดคุยทางการเมือง ชักชวนให้ ส.ส.อีสานไปอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ หรือบอกว่าถ้ามีปัญหาให้มาบอก ทางนี้พร้อมช่วยเหลือ อาจมีการหยอกล้อ แซวกันสนุกๆบ้าง แต่ไม่ได้จริงจังอะไร ใช้เวลากินข้าวด้วยกัน 1-2 ชั่วโมง ถ้าจะไปเจรจาทางลับ คงไปพูดคุยในเซฟเฮาส์แล้ว ไม่มากินอย่างเปิดเผยในร้านอาหารสาธารณะ

กินข้าวกับ “สมศักดิ์” ฉันเพื่อนเก่า

นายนิรันดร์กล่าวว่า ส่วนกระแสข่าวที่นายสุริยะ และนายสมศักดิ์นำรูป ส.ส.อีสานที่ไปกินข้าวร่วมกันไปให้ผู้ใหญ่ในพรรคพลังประชารัฐดูและบอกว่าได้ ส.ส.พรรคเพื่อไทยจำนวนนี้มาแล้ว ไม่ติดใจอะไร เพราะไม่เป็นเรื่องจริง ไปกินข้าวด้วยความบริสุทธิ์ใจในฐานะเพื่อนเก่า ไม่มีอะไรปกปิด ผู้ใหญ่ในพรรคเพื่อไทยโทรศัพท์มาสอบถามเรื่องนี้แล้ว ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงทุกอย่างให้ฟังจนเข้าใจดีแล้ว ขอให้ดูตอนอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือพิจารณากฎหมายสำคัญต่างๆ จะสวนมติพรรคหรือไม่ ยืนยันไปกินข้าวกันจริงๆ ไม่คิดว่าจะถูกจับโยงเป็นประเด็นการเมือง แต่ถึงโยงไปก็ไม่แคร์ เพราะบริสุทธิ์ใจอย่าไปตื่นเต้นทุกอย่างจบแล้ว

“พวงเพ็ชร” ปัดตั้งพรรควิสัยทัศน์ใหม่

นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด อดีตประธานสรรหาผู้สมัคร ส.ส.พรรคไทยรักษาชาติ กล่าวถึงกระเเสข่าวไปร่วมสนับสนุนการตั้งพรรควิสัยทัศน์ใหม่ที่อ้างถึงนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และนายจาตุรนต์ ฉายแสง ร่วมสนับสนุนจัดตั้งพรรคว่า ไม่ทราบเรื่องดังกล่าว ตั้งแต่พรรคไทยรักษาชาติสิ้นสภาพตามกฎหมาย ไม่ได้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองกับพรรคใดเลย แต่ติดตามข้อเรียกร้องและปัญหาชาวบ้านทุกแง่มุม เพราะเป็นอดีต ส.ส.หลายสมัยที่ชาวบ้านมาสะท้อนความเดือดร้อน จึงขอสะท้อนไปยังรัฐบาลใหม่ว่าควรยุติการต่อรองจับจองเก้าอี้ ครม.ได้แล้ว สงสารชาวบ้านบ้าง ไปเร่งทำงานเพราะชาวบ้านเดือดร้อนหลากหลายปัญหามายาวนานหลายปี โดยเฉพาะการทำมาหากิน

“เสรี” ฉะ อนค.ยุคนเกลียดชัง ส.ว.

ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. กล่าวถึงกรณีนายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ เตรียมยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 มาตรา โดยมีมาตรา 272 กรณีให้ ส.ว.ร่วมโหวตการเลือกนายกรัฐมนตรีรวมอยู่ด้วยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะมีหลายขั้นตอน เท่าที่ดูเฉพาะเสียงของฝ่ายพรรคอนาคตใหม่ที่รวมกับพรรคแนวร่วม 7 พรรค ไม่น่าจะเพียงพอ และยังต้องอาศัยเสียง ส.ว. 1 ใน 3 สนับสนุนด้วย หากเป็นเรื่องสำคัญต้องผ่านการเห็นชอบจากประชาชนอีก จึงมั่นใจว่า ไม่มีทางแก้สำเร็จ ดูแล้วเป็นแค่การพูดสร้างกระแสให้ประชาชนเกิดความสับสน ไม่ชอบและเข้าใจผิด ส.ว.ในแง่ร้าย ขณะนี้รัฐธรรมนูญเพิ่งเริ่มใช้ไปไม่ทันไร และ ส.ว. เพิ่งเริ่มทำหน้าที่ จึงยังไม่ถึงเวลาสมควรแก้รัฐธรรมนูญ การอ้างว่า ส.ว.มีที่มาจาก คสช.ให้มาโหวตเลือกนายกฯนั้น ถือว่าขัดต่อมติมหาชน เพราะการให้ ส.ว.เลือกนายกฯได้ผ่านการทำประชามติเห็นชอบจากประชาชนทั้งประเทศมาแล้ว ไม่ใช่อยู่ๆ คสช.ไปแต่งตั้งเอง การเสนอให้แก้รัฐธรรมนูญเรื่อง ส.ว. จึงเป็นข้อเสนอที่ต้องการเปลี่ยนแปลงฝ่ายที่ตัวเองไม่ชอบ เอาความรู้สึกตัวเองมาตัดสิน ถือว่ามีเหตุผลไม่เพียงพอ ถ้าจะแก้ควรแก้ในสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานหรือสิ่งที่ลิดรอนสิทธิประชาชนมากกว่า

ตอก “ปิยบุตร” หาเสียงรื้อ รธน.

นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ส.ว. กล่าวว่า การที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง ส.ว. เป็นสิทธิจะเสนอได้ แต่จะเหมาะสมหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ขณะนี้ ส.ว.ยังไม่ได้เริ่มทำงานอะไร นโยบายต่างๆและกฎหมายยังไม่ได้เริ่มพิจารณาสักฉบับ แต่จะมาขอแก้รัฐธรรมนูญแล้ว ขอโอกาสให้ ส.ว.ได้เริ่มทำงานก่อน อย่างน้อยควรให้ ส.ว.เริ่มทำงานไปสัก 6-7 เดือนก่อน แล้วค่อยมาพิจารณากัน รัฐธรรมนูญยังไม่มีความจำเป็นต้องแก้ไขในขณะนี้ ขอให้เลิกหาเสียงได้แล้ว

“วันชัย” สับรู้ทำไม่ได้แต่แค่จุดชนวน

นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. กล่าวถึงการที่พรรคอนาคตใหม่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญว่า ถ้าต้องการแก้ไขต้องไปหาเสียงจากฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ส.ว. และ ครม.ให้ได้เสียงตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด รวมถึงต้องผ่านความเห็นชอบจากประชาชนอีก หากทำสำเร็จตามเงื่อนไขเหล่านี้ ส.ว. ก็พร้อมไป แต่เท่าที่ดูสิ่งที่พรรคอนาคตใหม่แสดงออกขณะนี้แค่สร้างวาทกรรมทางการเมือง ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าทำไม่ได้ต้องการสร้างประเด็นให้เกิดปัญหาในบ้านเมืองเท่านั้น โดยที่รัฐธรรมนูญยังใช้ไปได้ไม่เท่าไร และ ส.ว.ยังไม่ได้เริ่มทำงานเลย เชื่อว่าหากทำงานไปสักระยะหนึ่งแล้ว ส.ว.เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาจริง ไม่ปิดกั้นการแก้ไข แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ช่วยพรรคอนาคตใหม่ได้อานิสงส์ทำให้ได้ ส.ส.เข้ามาจำนวนมาก แต่หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่พรรคอนาคตใหม่ต้องการทุกประการ การเลือกตั้งครั้งต่อไปพรรคอนาคตใหม่อาจจะหมดอนาคตก็ได้

“ไพศาล” ป้อง “ชวน” งดถกสภาฯไร้นัย

นายไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กถึงกรณีที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ แจ้งงดการประชุมสภาฯในวันที่ 12-13 มิ.ย. เหตุไม่มีวาระพิจารณาว่าไม่ควรกล่าวหานายชวนในเมื่อยังไม่มีเรื่องเข้าวาระประชุมต้องงด ถ้าจะไม่ให้งดประชุมต้องรีบเสนอร่างกฎหมายหรือญัตติหรือกระทู้เข้าสู่สภาฯ เมื่อบรรจุวาระแล้วสามารถดำเนินการประชุมได้ อย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญเจ้าปัญหา ได้เขียนให้รัฐบาลขณะนี้ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ แต่เป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม จึงเป็นรัฐบาลที่ต้องไปตอบกระทู้หรือชี้แจงแก้ญัตติในสภาฯ ถ้าตนเป็น ส.ส. จะยื่นญัตติด่วนให้รัฐมนตรีต้องมาตอบในสภาฯ ลองดูสิว่าจะกล่าวอ้างว่าไม่ต้องมาตอบ เพราะเป็นรัฐบาลรักษาการหรือไม่ จะได้เห็นความวิปริตของรัฐธรรมนูญอีกประการหนึ่ง

คนผิดหวัง ปชป.ร่วมหอ พปชร.

วันเดียวกัน สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนคิดอย่างไรกับการอภิปรายเพื่อโหวตนายกฯ 1,128 คน เมื่อวันที่ 6-8 มิ.ย. เมื่อถามว่าคิดอย่างไรกรณีพรรคประชาธิปัตย์ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ พบว่าร้อยละ 63.32 รู้สึกผิดหวัง ไม่เป็นไปตามอุดมการณ์ของพรรค ร้อยละ 24.24 อยากเป็นฝ่ายรัฐบาล ต้องการตำแหน่งรัฐมนตรี และร้อยละ 21.29 ปฏิบัติตามมติของพรรค ต้องเคารพเสียงส่วนใหญ่ โดยร้อยละ 61.79 เห็นด้วยกับเงื่อนไข 3 ข้อที่พรรคประชาธิปัตย์ยื่นต่อพรรคพลังประชารัฐ จะได้ดำเนินการตามนโยบายที่หาเสียงไว้ และร้อยละ 38.21 ไม่เห็นด้วย เพียงหาเหตุผลและข้ออ้างเข้าร่วมรัฐบาล อาจเปลี่ยนแปลงแก้ไข ไม่ปฏิบัติตามที่เสนอไว้ได้

ยี้ ภท.ไม่เคารพเสียง ปชช.

เมื่อถามว่าคิดอย่างไรกรณีพรรคภูมิใจไทยเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 58.20 ระบุเป็นการตัดสินใจที่ไม่เคารพเสียงประชาชน ไม่เป็นไปตามที่หาเสียงไว้ ร้อยละ 26.32 เลือกฝ่ายที่ได้เปรียบเพื่อผลประโยชน์พรรค ร้อยละ 19.84 ขอให้ทำตามนโยบายพรรค ทำงานเพื่อบ้านเมือง ส่วนกรณีพรรคการเมืองแย่งกันบริหารกระทรวงหลัก ร้อยละ 72.27 ระบุเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน เป็นกระทรวงที่มีงบประมาณมาก ร้อยละ 18.87 ควรคัดเลือกผู้ที่มีความรู้ความสามารถ เลือกให้ถูกคนถูกงาน ร้อยละ 16.91 ควรรีบจัดสรรและจัดตั้งรัฐบาลให้เร็วที่สุด

เชื่อเสียงปริ่มน้ำอยู่ไม่เกิน 1 ปี

เมื่อถามว่ารัฐบาลใหม่จะอยู่ครบวาระหรือไม่ ร้อยละ 73.65 เห็นว่าอยู่ไม่ครบวาระ คาดว่าอยู่ไม่เกิน 1 ปี ร้อยละ 34.07 ไม่เกิน 6 เดือน ร้อยละ 20.02 ไม่เกิน 2 ปี ร้อยละ 12.95 ไม่เกิน 1 ปีครึ่ง ร้อยละ 6.61 เพราะเป็นรัฐบาลปริ่มน้ำ มีเสียงไม่มากเพียงพอ เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ถูกคัดค้านต่อต้าน ทำงานรูปแบบเดิมๆ บ้านเมืองไม่มีเสถียรภาพที่แน่นอน และร้อยละ 26.35 อยู่ครบวาระ 4 ปี เพราะรัฐธรรมนูญออกแบบมาเพื่อสานต่อการทำงานของ คสช. มี ส.ว. 250 เสียง มีการวางแผนเตรียมการไว้แล้ว ฯลฯ

นิด้าโพลชี้คนดีใจ “ลุงตู่” เบิ้ลนายกฯ

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯสมัยที่ 2 ด้วยเสียงสมาชิกรัฐสภาลงมติ 500 เสียง สำรวจเมื่อวันที่ 6-7 มิ.ย. จากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ 1,265 หน่วยตัวอย่าง พบว่าร้อยละ 26.77 ระบุว่าดีใจเดินหน้าประเทศไทยต่อไปได้ ร้อยละ 25.50 เฉยๆใครเป็นนายกฯก็ได้ ร้อยละ 24.78 ผิดหวังเศรษฐกิจประเทศอาจต้องหยุดอยู่กับที่ไปอีกระยะหนึ่ง ร้อยละ 15.06 ระบุ พล.อ.ประยุทธ์ไม่เหมาะสมเป็นนายกฯในสถานการณ์ปัจจุบัน ร้อยละ 11.71 ระบุ พล.อ.ประยุทธ์เหมาะสม ร้อยละ 10.52 ระบุว่าพอใจที่ประเทศชาติจะเกิดความสงบ ร้อยละ 7.09 ระบุว่าดูเหมือนรัฐธรรมนูญกำหนดผลไว้ล่วงหน้าแล้วว่าใครจะได้รับเลือกเป็นนายกฯ ร้อยละ 6.29 กังวลว่าประเทศจะเกิดความขัดแย้งมากขึ้น ร้อยละ 2.63 ระบุเป็นพิธีกรรมทางการเมือง เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯต่ออีกสมัย ร้อยละ 2.07 เป็นการเลือกนายกฯตามระบอบประชาธิปไตย และร้อยละ 1.04 ระบุ พล.อ.ประยุทธ์ได้รับเลือกให้เป็นนายกฯถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ

เห็นไปอีกทาง รบ.ใหม่อยู่ครบ 4 ปี

เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่ออายุรัฐบาลใหม่ ร้อยละ 44.11 ระบุว่ารัฐบาลจะอยู่ได้ครบ 4 ปี ร้อยละ 18.47 อยู่ได้ไม่เกิน 2 ปี ร้อยละ 16.56 ระบุว่าอยู่ได้ไม่เกิน 1 ปี ร้อยละ 10.11 อยู่ได้ไม่เกิน 6 เดือน ร้อยละ 5.50 อยู่ได้ไม่เกิน 3 ปี และร้อยละ 5.25 ไม่ทราบ ไม่แน่ใจ ไม่สนใจ

สภา นศ.มธ.ซัด “บิ๊กตู่” ไม่สง่างาม

วันเดียวกัน สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต ได้เผยแพร่แถลงการณ์ของสภานักศึกษา มธ.ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. เรื่อง “จุดยืนของสภานักศึกษาต่อการลงมติเลือกนายกฯ” ว่า มีความกังวลว่าการลงมติดังกล่าว จะมีความไม่เหมาะสมและไม่สง่างาม เนื่องจากมีสมาชิกวุฒิสภาร่วมลงมติด้วย ทั้งที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน แต่มาจากการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหาที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานคณะกรรมการ ทั้งยังปรากฏว่า ส.ว.ทั้งหมดยังลงมติเลือก พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯด้วยมติเป็นเอกฉันท์ นอกจากจะขัดต่อประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแล้ว ยังอาจเข้าข่ายการกระทำอันเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจาก พล.อ.ประวิตร ประธานคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ดำรงตำแหน่งทั้งรองนายกฯใน ครม.ของ พล.อ.ประยุทธ์และประธานที่ปรึกษา คสช.

เสียใจศิษย์เก่าหนุนคนทำรัฐประหาร

แถลงการณ์ระบุด้วยว่า สภานักศึกษาเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้ทราบว่ามีศิษย์เก่าและอดีตบุคลากรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หลายท่านได้ร่วมลงมติเลือก พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ทั้งที่ปรากฏชัดแจ้งแล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้กระทำรัฐประหาร มีพฤติการณ์ล้มล้างรัฐธรรมนูญและการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อีกทั้งยังใช้อำนาจละเมิดสิทธิและจำกัดเสรีภาพของประชาชน รวมถึงคณาจารย์และศิษย์ปัจจุบันของ มธ.อีกด้วย การกระทำของศิษย์เก่าและอดีตบุคลากรดังกล่าว ไม่เคารพต่อจิตวิญญาณและเกียรติภูมิของ มธ.ที่ได้ยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และต่อต้านเผด็จการมาทุกยุคทุกสมัย สภานักศึกษาขอแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการกลับมาดำรงตำแหน่งนายกฯของ พล.อ.ประยุทธ์และขอต่อต้านกระบวนการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารทุกรูปแบบ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกภาคส่วนจะร่วมกันคัดค้านกระบวนการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร และร่วมกันนำการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขคืนสู่ประเทศไทย

กลุ่มสังคมนิยม ปชต.ร้องแก้ รธน.

ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา กลุ่มสังคมนิยมประชาธิปไตยและเครือข่าย จัดเสวนาสาธารณะเรื่องวิกฤติศรัทธาตุลาการกับอนาคตประเทศไทย โดยมีนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ประธานกลุ่มสังคมนิยมประชาธิปไตย นายชํานาญ จันทร์เรือง รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา แกนนำกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกฯ ร่วมอภิปราย โดยนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข กล่าวว่า วิกฤติศรัทธาตุลาการเริ่มเกิดตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน เกิดการปฏิบัติที่ไร้มาตรฐานและเลือกปฏิบัติของสถาบันตุลาการหรือไม่ ผู้เรียกร้องประชาธิปไตยต่อต้านอำนาจเผด็จการ กลายเป็นนักโทษการเมืองถูกจำคุก 72 คน ถูกอุ้มหายไป 8 คน ถูกทำร้ายร่างกายบาดเจ็บนับไม่ถ้วน อยากเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น นำระบบไต่สวนกับ ระบบลูกขุนมาใช้พิจารณาคดีแทนระบบกล่าวหาปัจจุบัน ให้การสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาจากฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และภาคประชาชนเพื่อกู้ศรัทธาตุลาการอีกครั้ง

“โบว์-ณัฏฐา” เตือนระวังเกิดกลียุค

ด้าน น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา กล่าวว่า วิกฤติวันนี้คือวิกฤติศรัทธาที่เกิดขึ้นต่อกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งศาลและองค์กรอิสระที่เลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม เราต้องสร้างวัฒนธรรมการไม่ยอมรับความไม่ยุติธรรมทุกรูปแบบ อย่าลามไปจนเกิดวิกฤติศรัทธาในความยุติธรรม เมื่อคนไม่เชื่อในความยุติธรรมแล้วจะเกิดกลียุค

“ชำนาญ” คาใจความเป็นกลางศาล

นายชํานาญ จันทร์เรือง รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 ทำให้ระบอบตุลาการเป็นใหญ่ เมื่อก่อนถอดถอนได้ผ่าน ส.ว.แต่ตอนนี้ทำไม่ได้ มีข้อสงสัยหลายครั้งต่อศาล เหตุแห่งความสงสัยเรื่องความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านใช้ผู้เชี่ยวชาญทดแทนได้ แต่เหตุแห่งความสงสัยต่อความเป็นกลางของศาลนั้น เกิดได้ไม่กี่เหตุ อย่างความสัมพันธ์ส่วนตัวที่มาจากความสัมพันธ์ทางความคิดและทัศนคติทางการเมือง คดีที่น่าสงสัยที่สุดคดีหนึ่ง คือคดีป่าแหว่ง มีข้อสงสัยที่ราชพัสดุมีมากมาย ทำไมต้องไปสร้างตรงนั้น สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายอย่างไฟป่า ที่น่าสงสัยทำไมศาลต้องไปทะเลาะกับประชาชนด้วยการฟ้องร้องคดี


ปวดหัวแทน

ภารกิจสำคัญที่รออยู่เบื้องหน้าประเทศไทยจะต้องเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียนระหว่างวันที่ 20–23 มิ.ย.นี้ ในฐานะไทยเป็นประธานอาเซียน

แต่วันนี้ยังคาบลูกคาบดอกว่าจะเป็นรัฐบาลชุดไหน ระหว่างชุดใหม่หรือชุดเก่า แต่ที่แน่นอนแล้วคือนายกฯเป็นคนหน้าเดิม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา “ลุงตู่” ผู้น่ารักของเด็กๆ

เวลากระชั้นชิดงวดเข้ามาทุกที แต่การต่อรองตำแหน่งโควตารัฐมนตรีระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรคร่วมรัฐบาลอย่างประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย จนป่านนี้ยังไม่สะเด็ดน้ำ เห็นแล้วก็ปวดหัวแทน “ลุงตู่” จริงๆ

ข่าวคราวการยื้อยุดฉุดกระชากเก้าอี้มีออกมาให้เห็นไม่เว้นแต่ละวัน กระทรวงเกรดเอล้วนเป็นที่หมายปองของทุกพรรค ทุกฝ่าย เพราะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยผลประโยชน์ และการสร้างผลงาน

กระทรวงคมนาคม พาณิชย์ เกษตรและสหกรณ์ พรรคร่วมก็อยากได้ พรรคหลักก็อยากมี

ตั้งโต๊ะ ล้มโต๊ะเจรจากันวุ่นวายขายปลาช่อนไปแล้วไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบ

ล่าสุดพลังประชารัฐพยายามดึงกระทรวงคมนาคมและพาณิชย์คืนมาจากพรรคร่วม โดยแลกกับกระทรวงศึกษาธิการ พลังงาน แถมพ่วงออปชันสมนาคุณเก้าอี้รัฐมนตรีเพิ่มให้อีกพรรคละ 1 ที่นั่ง แต่ก็ยังต้องลุ้นว่าโอเคหรือไม่

จับสัญญาณจากพี่ใหญ่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่โดนเหล่ ท่ามกลางกระแสข่าวผู้มีบารมีนอกพรรคแอบคุยลับกับพรรคร่วม เริ่มส่งเสียงอ่อยๆ “ผมแย่แล้ว ไม่สบาย ไม่แข็งแรงเท่าที่ควร” ก็ยิ่งตอกย้ำสมมติฐาน

และน่าแปลกเหลือเกินว่า ทั่นรองฯสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ก็พูดถึงเรื่องสุขภาพ อาจเป็นปมไม่ไปต่อกับ “ลุงตู่”

นัดกันป่วย ไม่รู้ว่าป่วยทางกาย หรือต้องการสื่อสารบอกอาการป่วยทางใจกันแน่!!!

แต่เกมต่อรองยังคงดำเนินไปไม่จบง่ายๆ ไหนๆก็ดูหนังเรื่องยาวมาแล้วก็ต้องฝืนดูให้จบ

เหลือบแลเข้าไปในพรรคพลัง-ประชารัฐเองก็มีปัญหาอลเวงไม่แพ้กัน

ย้อนกลับไปตอนก่อกำเนิดพรรคพลังประชารัฐ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นการรวมเอากลุ่มก้อนการเมืองเข้ามาผสมปนเปจนกลายเป็นพรรคขนาดใหญ่ในวันนี้

ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม 4 กุมาร สามมิตร บ้านริมน้ำ ชลบุรี ปากน้ำ โคราช เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร รวมทั้ง กปปส.

กวักมือโบกรถทุกคันบนถนนทุกสายให้ไหลเข้ามาเติมน้ำมันในปั๊มสามทหาร

วันนี้ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับสูงเหนือความคาดหมาย ใครจะคิดว่าหลังเลือกตั้งพลังประชารัฐจะกลายเป็นพรรคบิ๊กเบิ้มขนาดนี้

ดังนั้น ตามหลักฮวงจุ้ยแล้ว ต้องตกรางวัลให้ขุนพลในพรรคอย่างงดงาม

แต่กลับตาลปัตร เมื่อกลายเป็น “กากี่นั้ง” คนกันเองแล้ว ก็เลยถูกมองข้ามเหมือนเส้นผมบังภูเขา

หลายคนทำตัวสงบนิ่ง แต่ส่อว่าจะไม่ได้รางวัลอย่างที่หวัง เลยเปลี่ยนมาเล่นบทกระแทกกระทุ้งบ้าง

อย่างที่ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” แกนนำกลุ่มสามมิตร นำร่องถ้าพรรคแกนนำไม่ได้ดูแลกระทรวงเศรษฐกิจสำคัญ สิ่งที่หาเสียงไว้ในภาพรวมจะเกิดความเสียหาย

ขณะที่แกนนำหลายกลุ่มหลายมุ้ง ก็ส่งเสียงโหวกเหวกภายในพรรค ทวงถามตำแหน่งแห่งหนกันให้วุ่น

จึงเป็นหน้าที่ของ “นายกฯลุงตู่” ต้องบริหารจัดการทั้งพรรคหลัก–พรรคร่วม ในฐานะผู้นำสูงสุดของรัฐบาล

สวมบท “ฤาษีเลี้ยงลิง” จนไมเกรนกำเริบแน่!!!

“พ่อลูกอิน”