PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

สถานการณ์ข่าว17พ.ย.57

สื่อมวลชน

มท.1 ขอให้สื่อช่วยกันเสนอข่าวที่ทำให้บ้านเมืองสงบ ชี้ หากสื่อพบปัญหาเรื่องความโปร่งใสของ รบ. สามารถจัดการได้เต็มที่ ไม่ต้องเกรงใจ

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึง แนวทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังจากที่สื่อมวลชนออกมาเรียกร้องในการจำกัดสิทธิ ว่า ได้เห็นความสำคัญของสื่อมวลชน ในเรื่องการปิดกั้นสื่อโดยมีข้อกำหนดกับสื่อจนขาดการเป็นตัวของตัวเองซึ่งไม่ใชเรื่องดี แต่หากมองในเรื่องของความมั่นคง ทางรัฐบาลเห็นว่าถ้าช่วยกันทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยก็น่าจะเป็นคุณกับการบริหารประเทศ ดังนั้นจึงอยากขอให้สื่อช่วยกันเสนอข่าวที่ทำให้บ้านเมืองสงบ แต่หากการทำงานของรัฐบาลมีปัญหาในเรื่องความโปร่งใส สื่อสามารถจัดการได้เต็มที่ไม่ต้องเกรงใจ แต่หากเป็นเรื่องอื่น หากช่วยให้สงบได้อยากขอร้องสื่อให้ช่วยกันนำเสนอเพราะตนเองเข้าใจดีว่าสื่อมวลชนต้องมีความเป็นอิสระ
--------------
พล.อ.ประวิตร ย้ำ ทบ. ปกป้องสถาบัน สร้างความปรองดอง ยัน ยังไม่ยกเลิกประกาศ คสช. เกี่ยวกับสื่อ

พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เน้นย้ำกับกองทัพบกในเรื่องของการปกป้องรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์และการสร้างความปรองดองของคนในชาติ พร้อมกันนี้ ยังกล่าวถึงกรณีที่มีกลุ่มสื่อมวลชนออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ยกเลิกประกาศ คสช.ฉบับที่ 97 และฉบับที่ 103 ที่เกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนว่ายังไม่ยกเลิก ซึ่งขณะนี้ ทางรัฐบาลและ คสช. กำลังทำงานอยู่ ขอเวลาให้รัฐบาลและ คสช. ได้ทำงาน ซึ่งเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมเชื่อว่าหัวหน้า คสช. จะมีการผ่อนปรนให้ตามลำดับ

ทั้งนี้ พลเอกประวิตร ได้ขอทางสื่อมวลชนอย่านำเสนอสิ่งที่มีเนื้อหานำไปสู่ความขัดแย้ง ส่วนกรณีที่มีเจ้าหน้าที่ทหารไปเข้าพบกับผู้บริหารสำนักสื่อนั้น พลเอกประวิตร บอกไม่ใช่เป็นการไปปิดกั้นการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน แต่เป็นการไปขอความร่วมมือและทำความเข้าใจ
/////////
-------------
สปช.

เทียนฉาย นัดสมาชิกประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ เช้านี้ พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมาธิกาวิสามัญ 5 คณะ พร้อมสั่งงดประชุมพรุ่งนี้

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีคำสั่งนัดสมาชิกประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ ครั้งที่ 8/2557 ในเวลา 09.30 น. เพื่อพิจารณารายงานการดำเนินการจัดตั้งคณะ กมธ.วิสามัญ จำนวน 5 คณะ ตามข้อบังคับการประชุม สปช. พ.ศ.2557 ข้อ 84 ซึ่งทางคณะ กมธ.วิสามัญกิจการ สปช. หรือ วิป สปช. ได้พิจารณาเสร็จแล้ว

ทั้งนี้ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้สั่งงดการประชุมครั้งที่ 9/2557 คือวันอังคารที่ 18 พ.ย. โดยให้คณะ กมธ.วิสามัญ จำนวน 5 คณะ ที่ได้รับเลือก ไปประชุมเลือกตำแหน่งต่าง ๆ และให้สมาชิกได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมาธิการได้อย่างเต็มที่ สำหรับห้องประชุมของคณะ กมธ.วิสามัญ แต่ละคณะนั้น จะแจ้งให้ทราบในวันนี้

ขณะที่การรักษาความปลอดภัยทั้งในและนอกรัฐสภาเป็นไปอย่างเข้มงวด ตำรวจรัฐสภายืนประจำตามจุดทุกประตูเข้าออก ซึ่งผู้ที่เข้ามาติดต่อราชการต้องติดบัตรแสดงตนชัดเจน

-----------
สภาปฏิรูปแห่งชาติ เข้าสู่วาระพิจารณาการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 5 คณะ แล้ว เตรียมขอความเห็นชอบจากที่ประชุม

บรรยากาศการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ล่าสุด เปิดการประชุมแล้ว โดยมี นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ทำหน้าที่ประธานการประชุม จากนั้นพิจารณารายงานการดำเนินการจัดตั้งคณะ กมธ.วิสามัญ จำนวน 5 คณะ ตามข้อบังคับการประชุม สปช. พ.ศ.2557 ข้อ 84 ซึ่งทางคณะ กมธ.วิสามัญกิจการ สปช. หรือ วิป สปช. ได้พิจารณาแล้วเสร็จ

ทั้งนี้ นางสาวทัศนา บุญทอง ในฐานะรองประธาน วิป สปช. กล่าวรายงานว่า วิป สปช. ได้พิจารณาแต่งตั้งทั้งอำนาจหน้าที่และสัดส่วนกรรมาธิการ อาทิ

- คณะกรรมาธิการติดตามให้ข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลส่งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 18 คณะ
และประสานงานติดตามความก้าวหน้าการทำงาน มี กมธ. ไม่เกิน 12 คน
- คณะกรรมาธิการจัดทำวิสัยทัศน์รูปแบบของอนาคตประเทศไทย มีหน้าที่ศึกษาวิเคราะห์อนาคตประเทศไทย ให้มีประสิทธิภาพ
เน้นการมีส่วนร่วม มีกรรมาธิการ ไม่เกิน 12 คน
- คณะกรรมาธิการรับฟังความคิดเห็นและการมีความส่วนรวมของประชาชน มีหน้าที่ออกแบบระบบ กลไกรับฟังความเห็น การ
มีส่วนร่วมของประชาชนที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนมีกรรมาธิการ ไม่เกิน 30 คน
-----------------
สภาปฏิรูปแห่งชาติ เปิดให้สมาชิกอภิปรายการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 5 คณะ  ขณะ สปช.เสรี เรียกร้องให้ คสช. ผ่อนปรนกฎอัยการศึก

ที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดโอกาสสมาชิกอภิปรายในการจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญทั้ง 5 คณะ โดยมีบางส่วนตั้งข้อสังเกตถึงจำนวนของสัดส่วนคณะกรรมาธิการวิสามัญจัดทำวิสัยทัศน์และออกแบบอนาคตประเทศไทยว่า มีจำนวนน้อย

โดย นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการ วิป สปช. ชี้แจงว่า กรรมาธิการที่ตั้งขึ้นมา 5 คณะ เน้นกระบวนการทำงาน ต้องมีความกะทัดรัด คล่องตัว จึงมีจำนวนไม่มาก และใช้วิธีจัดสรรผู้เชี่ยวชาญลงไปเฉพาะด้าน ส่วนกรรมาธิการการมีส่วนร่วมและรับฟังความเห็นของประชาชน ที่มีสัดส่วนกรรมาธิการถึง 30 คน เพื่อที่จะให้การทำงานเชื่อมโยงไปยังจังหวัดต่าง ๆ รวมถึงปัญหาที่ต้องมีการปฏิรูปในแต่ละด้าน

ขณะที่ นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิก สปช. เสนอแนะให้ประธาน สปช. ประสานไปยัง คสช. เพื่อขอผ่อนปรนการประกาศกฎอัยการศึกให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ มายัง สปช. เพราะหากยังมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก อาจจะทำให้การรับฟังความเห็นไม่ครอบคลุม
------------
ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ รับหนังสือจากเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อขอให้ปฏิรูปโดยคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐาน

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) รับหนังสือจากเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อขอให้ปฏิรูปประเทศโดยคำนึงถึงสิทธิดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่า เนื่องจากประเทศไทยมีชนเผ่าพื้นเมืองทั่วประเทศ 57 ชนเผ่า มีประชากรกว่า 10 ล้านคน และส่วนใหญ่อาศัยในประเทศไทยมาเป็นเวลานาน แต่จากการพัฒนาประเทศในช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชนเผ่าต่าง ๆ เพราะการไร้สัญชาติ จึงทำให้ถูกปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐาน ขาดแคลนที่อยู่อาศัย ไม่ได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาล รวมทั้งเมื่อมีนโยบายการท่องเที่ยวก็ทำให้ชนเผ่าที่อยู่ติดชายฝั่งทะเลถูกไล่ที่ทำมาหากิน ดังนั้น จึงขอให้สภาปฏิรูปแห่งชาติเร่งแก้ปัญหาการถูกไล่ที่
------------
สภาปฏิรูปแห่งชาติ มีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญทั้ง 5 คณะ พร้อมนัดประชุมดำเนินงานทันทีพรุ่งนี้

บรรยากาศการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ ล่าสุด ปิดการประชุมแล้ว ภายหลังจาก นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานการประชุม สั่งพักการประชุมให้ไปสรรหาสัดส่วนบุคคลมาเป็นกรรมาธิการวิสามัญ ทั้ง 5 คณะ และกลับมาประชุมต่อ โดย นายเทียนฉาย ได้เสนอรายชื่อต่อที่ประชุม เพื่อขอมติรับรอง จากนั้น ที่ประชุมเห็นชอบตามที่เสนอ ประธานการประชุม จึงขอปรึกษาให้ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ ทั้ง 18 คณะ ประชุม ห้อง 219 หลังร่วมพิธีเปิดศูนย์รับฟังความคิดเห็นสภาปฏิรูปแห่งชาติเสร็จสิ้น เพื่อหารือถึงการตั้งคณะอนุกรรมาธิการ รูปแบบการทำงาน ในการจัดทำรายงานเสนอต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากตั้งแต่วันนี้ จนถึงกลางเดือนธันวาคม ภารกิจหน้าที่จะมีมากขึ้น ดังนั้น จะนัดประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ และ วิป สปช. เป็นครั้งคราว ให้สมาชิกได้ทำงานเต็มที่

อย่างไรก็ตาม วันพรุ่งนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญทั้ง 5 คณะ จะประชุมทันที เดินหน้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
-----------
"เทียนฉาย" เปิดศูนย์รับฟังความคิดเห็นสภาปฏิรูปแห่งชาติ อย่างเป็นทางการ รวบรวมข้อมูลเสนอ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์รับฟังความคิดเห็นสภาปฏิรูปแห่งชาติ อย่างเป็นทางการ ที่บริเวณด้านหน้าอาคารรัฐสภา 1 โดยมี นางสาวทัศนา บุญทอง รองประธาน สปช. คนที่สอง เป็นผู้ชี้แจงวัตถุประสงค์การจัดตั้งศูนย์รับฟังความคิดเห็นสภาปฏิรูปแห่งชาติ ว่า เพื่อใช้เป็นช่องทางในการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปประเทศไทย และจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ พ.ศ. 2557 ข้อ 83 ที่กำหนดให้สภาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติขึ้น 1 คณะ มีอำนาจหน้าที่พิจารณาหรือศึกษาเรื่องใด โดยจัดจัดให้มีการจัดตั้งศูนย์รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากประชาชนเกี่ยวกับการปฏิรูปและจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเพื่อรวบรวมข้อมูลส่งคณะกรรมาธิการวิสามัญการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถเสนอความคิดเห็นผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้หลายช่องทาง อาทิ เสนอความคิดเห็นด้วยตนเองที่ศูนย์รับฟังความคิดเห็นสภาปฏิรูปแห่งชาติ Call Center 1743 หรือโทร 0-2244-1881 ในวันและเวลาราชการ ตู้ปณ. 999 ปณฝ.รัฐสภา กรุงเทพฯ 10305 และทางรายการ "ทันสถานการณ์กับสภาปฏิรูปแห่งชาติ" ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงรัฐสภา FM 87.5 MHz. และ AM 1071 KHz. ออกอกาศทุกวันจันทร์เวลา 07.30 - 08.00 น. ภายใต้สโลแกน "ร่วมคิดสร้างไทย ร่วมใจสร้างอนาคต"
------------------
ครม.-คสช.-สนช.-สปช.-กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ นัดประชุมร่วมเป็นทางการพรุ่งนี้ ณ บ้านเกษะโกมล 

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวขอบคุณทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วม ที่ช่วยกันประคับประคองให้ สปช. เดินหน้าทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลังจากนี้ศูนย์รับฟังความคิดเห็นสภาปฏิรูปแห่งชาติจะเป็นเครื่องมือในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนมายัง สปช. โดยทุกความคิดเห็นจะถูกบันทึกว่าเป็นความคิดเห็นจากใคร และจะตอบกลับในทุกความคิดเห็น

นอกจากนี้ นายเทียนฉาย ยังเปิดเผยว่า ในวันที่ 18 พฤศจิกายนนี้ เวลา 14.00 น. ที่บ้านเกษะโกมล ซึ่งจะมีการหารือร่วมกันนัดแรกระหว่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนวาระการประชุมนั้นยังไม่มีการวางกรอบการประชุม พร้อมปฏิเสธว่าในที่ประชุมจะมีการหารือเรื่องการขอผ่อนปรนการประกาศใช้กฎอัยการศึกหรือไม่ ทั้งนี้ ยืนยันว่า การแสดงความคิดเห็นของทุกฝ่าย ที่มายัง สปช. ในเรื่องการปฏิรูปประเทศ ไม่ขัดแย้งกับการประกาศใช้กฎอัยการศึก และการแสดงความคิดเห็นของประชาชนจะไม่มีการตีกรอบ ประชาชนทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมได้อย่างเต็มที่
///////
กรรมาธิการยกร่างฯ
------
พล.อ.เลิศรัตน์ เผย ทุกพรรคตอบรับเข้าเสนอความเห็นแล้ว ย้ำ ไม่มีธง-พิมพ์เขียวในการร่าง พร้อมรับฟังทุกความเห็น มั่นใจเสร็จทันตามกรอบ

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่าง รธน.) ในฐานะโฆษก กมธ. เปิดเผยกับ สำนักข่าว INN ว่า ความคืบหน้าในการเชิญพรรคการเมือง กลุ่มการเมืองต่าง ๆ เข้าให้ความเห็น เสนอแนะข้อมูลในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ มีความคืบหน้าไปมาก มีการตอบกลับมาเกือบครบทุกพรรคแล้ว พรรคเพื่อไทย ส่งหนังสือถึงประธานขอเลื่อนเวลาไปต้นเดือนหน้า

ขณะที่ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ทำหนังสือขออนุญาต คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อประชุมสรุปข้อมูลก่อน ส่วนพรรคที่จะเข้าให้ข้อมูลเป็นพรรคแรกในวันพรุ่งนี้ คือ พรรคชาติไทยพัฒนา กับ ภูมิใจไทย ส่วนในวันพุธก็จะเป็นชาติพัฒนา กับ พลังชล

ทั้งนี้ พล.อ.เลิศรัตน์ ย้ำว่า กมธ. มีความตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด และพร้อมรับฟังความเห็นของประชาชน กลุ่มการเมืองต่าง ๆ อย่างเต็มที่ โดย
ไม่มีธง หรือพิมพ์เขียวใดไว้ล่วงหน้า โดยมั่นใจว่าจะทำงานได้สำเร็จตามกรอบเวลาที่จะต้องส่ง ร่าง รธน.ใหม่ ให้กับสภา ภายในวันที่ 17 เม.ย. 2558 ได้อย่างแน่นอน
----------
"เรืองไกร" ระบุ เพื่อไทยยังไม่หารือเข้าร่วมเสนอความเห็น กมธ.ยกร่าง รธน. หรือไม่ ส่วนตัว มองไม่ควรเข้าร่วม

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย เปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น ว่า ขณะนี้พรรคเพื่อไทยยังไม่มีการหารืออย่างเป็นทางการ ว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ เนื่องจากยังติดกฎอัยการศึกและการประกาศ คสช. ที่ห้ามชุมนุมทางการเมือง แต่ส่วนตัวเห็นว่า พรรคเพื่อไทยไม่ควรเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น เพราะการหารือมีการวางกรอบรัฐธรรมนูญไว้แล้วทั้ง 11 ด้าน ขณะเดียวกันหากพรรคมีมติเข้าร่วมคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ตนก็ยอมรับ

ทั้งนี้ ยังเห็นด้วยที่มีผู้เสนอให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ทำเรื่องขออนุญาตคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อให้สามารถประชุมพรรคการเมืองได้
------------
พล.อ.ประวิตร ชี้ แค่หัวหน้าพรรคนำเสนอข้อมูล กมธ.ยกร่าง รธน. ก็น่าจะพอ ไม่จำเป็นต้องประชุมใหญ่

พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่พรรคการเมืองอยากให้มีการผ่อนปรนกฎอัยการศึก เพื่อให้สามารถจัดประชุมพรรคเพื่อทำข้อคิดเห็นเสนอในการปฏิรูปและร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ที่ผ่านมาทางรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เปิดโอกาสให้สมัครเข้ามาเป็นสภาปฏิรูปแห่งชาติหรือ สปช. แต่ก็ไม่ยอมเข้าร่วม แล้วในตอนนี้จะมาเรียกร้องทำในสิ่งที่ขัดกฎหมายทำไม ซึ่งหากมีข้อเสนอแนะทางหัวหน้าพรรคก็สามารถที่จะรวบรวมและประสานงานแล้วนำเสนอต่อ คสช. - สปช. - รัฐบาลและคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญได้โดยไม่จำเป็นต้องจัดการประชุมใหญ่ได้

ทั้งนี้ พลเอกประวิตร ยังได้กล่าวถึงภาพรวมตลอด 6 เดือนในการทำงานของ คสช. ว่า บ้านเมืองสงบดี ประชาชนมีความสุขเพิ่มขึ้น

---------------
"ถวิลวดี" ประชุม อนุ กมธ. การมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แต่งตั้งบุคคล ในตำแหน่งต่าง ๆ

การประชุมคณะอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนัดแรก ที่มีนางถวิลวดี บุรีกุล เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ เพื่อหารือขั้นตอนการประชุมวิธีการดำเนินการเรื่องการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน รวมทั้งพิจารณาดำเนินการให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมและแสดงความคิดเห็นในการยกร่างรัฐธรรมนูญด้วย

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการเลือกตำแหน่งต่าง ๆ ในคณะอนุกรรมาธิการ ดังนี้ นายสติธร ธนานิธิโชติ เป็นเลขานุการอนุกรรมาธิการ นายเลิศพร อุดมพงษ์ เป็นผู้ช่วยเลขานุการอนุกรรมาธิการ พล.ท.นคร
สุขประเสริฐ นายกษิดิ์เดชธนทัต เสกขุนทด และ นายศุภณัฐ เพิ่มพูนวิวัฒน์ เป็นโฆษกอนุกรรมาธิการ โดยการทำงานของคณะอนุกรรมาธิการฯ จะประสานงานร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า สำนักงานสถิติแห่งชาติ และสภาองค์กรชุมชน

นอกจากนี้ จะมีการเปิดตู้ ปณ.9 เพื่อให้ประชาชนได้ส่งความคิดเห็นเกี่ยวกับการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะทำงานควบคู่ไปกับตู้ ปณ.999 ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ
/////////////
ปปช./ถอดถอน

"ปานเทพ" ยัน คดี "ยิ่งลักษณ์" ไม่สอบพยานเพิ่ม เชื่อ ประชุมร่วมครั้งต่อไปได้ข้อสรุป ไม่หนักใจ เพื่อไทย มอง 2 มาตรฐาน ปม ปรส.

นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยถึงกรณีการทำงานของคณะทำงานร่วมอัยการสูงสุด กับ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงที่คณะทำงานแต่ละฝ่ายไปหารือกัน ซึ่ง ป.ป.ช. ยินดีจะหาเอกสารพยามเพิ่มเติมตามที่ อสส. ขอ แต่ยืนยันว่าจะไม่สอบพยานเพิ่มเติม เพราะเกรงว่าจะทำให้พยานที่สอบไปแล้วนั้นเสียน้ำหนัก

โดย อสส. ยินดีที่จะนำข้อเสนอไปพิจารณา ซึ่งคาดว่าในการประชุมครั้งต่อไปจะทราบข้อารุปว่า อสส. จะส่งสำนวนคดีดังกล่าวฟ้องต่อศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ ซึ่งหากไม่ส่ง ป.ป.ช. จะดำเนินการเอง แต่ ป.ป.ช. ต้องการให้ อสส. เป็นผู้ส่งฟ้อง

นอกจากนี้ นายปานเทพ ยังกล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยมองว่า ป.ป.ช. ดำเนินการแบบ 2 มาตรฐาน กรณีไม่ชี้มูลความผิด นายชวน หลีกภัย คดีการขายทรัพย์สินขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ว่า ป.ป.ช. ดำเนินการทุกอย่างภายใต้กฎหมาย ไม่มีการ 2 มาตรฐาน ส่วนที่ไม่ชี้มูลความผิด นายชวน อดีตนายกรัฐมนตรี นั้น เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานเชื่อมโยงไปถึง จึงถือว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล ซึ่งตนก็ยินดีที่จะชี้แจงเหตุผลกับพรรคเพื่อไทย และไม่รู้สึกหนักใจอะไร
-----------
"เรืองไกร" ยื่น นายกฯ ตรวจสอบ ป.ป.ช. ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ปมไม่รายงานคดี ปรส. ต่อ สนช.

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในการตรวจสอบคดีเกี่ยวกับการประมวลทรัพย์สินคณะกรรมการเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งเรื่องให้ เนื่องจากพบว่ามีการก่อหนี้ยาวนานจากนโยบายการเงินที่ผิดพลาดของรัฐบาล นายชวน หลีกภัย ที่มีจำนวนสูงถึง 1 ล้านล้านบาท แต่ ป.ป.ช. กลับไม่รายงานคดีนี้ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. และการแถลงผลงานครบ 8 ปี จึงอยากให้นายกรัฐมนตรีตรวจสอบว่า ป.ป.ช. มีการปกปิดข้อมูลและมีพฤติการณ์ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 63/2557 พร้อมนำมาตรา 44 มาบังคับใช้หากคดี ปรส. หมดอายุ
-------------
"เรืองไกร" ยื่น ป.ป.ช. เปิดเผยผลการไตร่สวนข้อเท็จจริงคดี ปรส. เหตุใดยกคำร้องต่อสาธารณะ ภายใน 7 วัน

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย เดินทางมายื่นหนังสือที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อร้องขอให้ ป.ป.ช. เปิดเผยผลการไตร่สวนข้อเท็จจริงในคดีการขายทรัพย์สินขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ว่า เริ่มต้นเมื่อไร ใครเป็นผู้รับผิดชอบ และเหตุใด ป.ป.ช. จึงยกคำร้องต่อสาธารณะโดยด่วนที่สุดภายใน 7 วัน เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ ซึ่ง ป.ป.ช. สามารถดำเนินการได้ตามความในพระราชบัญญัติข้อมูลความข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542

นอกจากนี้ ยังขอให้ ป.ป.ช. ชี้แจงว่าสำนวนคดีที่ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งมาให้ ป.ป.ช. นั้น มีการกล่าวหา นายชวน หลีกภัย ในฐานะนายกรัฐมนตรี ด้วยใช่หรือไม่ และเหตุใด ป.ป.ช. จึงยกคำร้อง

อย่างไรก็ตาม นายเรืองไกร ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนดังกล่าวกับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ตามกระบวนการ มิได้ประสานให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มารับหรังสือแต่อย่างใด
------------
"พรเพชร" ปัดมีใบสั่งเร่งถอดถอดคดี ยิ่งลักษณ์ ทุจริตจำนำข้าว ย้ำ รอ 28 พ.ย. พร้อมยืนยัน ยังไม่ได้รับสำนวน 38 ส.ว. จาก ป.ป.ช.

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปฏิเสธมีใบสั่งเร่งดำเนินการพิจารณาสำนวนถอดถอน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง กรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว พร้อมย้ำทุกอย่างเป็นตามกระบวนการยุติธรรม ส่วนกำหนดการถอดถอนที่ปรากฏออกมาตามสื่อนั้น ไม่ใช่กำหนดการที่ สนช. กำหนดไว้ ต้องรอการประชุมนัดแรก ในวันที่ 28 พฤศจิกายน นี้ก่อน เนื่องจากมีขั้นตอนตามข้อบังคับการประชุมอยู่แล้ว

นอกจากนี้ นายพรเพชร ยืนยันอีกว่า ยังไม่ได้รับสำนวนถอดถอน 38 ส.ว. กรณีลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มา ส.ว. จากคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่อย่างใด ทั้งนี้ หากมาถึงแล้วจะพิจารณาเองว่า เข้าข่ายสู่กระบวนการถอดถอนหรือไม่ สำหรับสมาชิก สนช. 1 คน ที่ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลด้วยนั้น ไม่มีปัญหาอะไร และยังคงปฏิบัติหน้าที่ สนช. ต่อได้
------------
ป.ป.ช. คาด หารือร่วม อสส. 16 ธ.ค. 57 อาจถกคดี "ยิ่งลักษณ์" ขณะ 6 เรื่องค้าง พิจารณาไม่ได้ หลัง รธน. 50 ยกเลิก

นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. กล่าวถึงความคืบหน้าของคณะทำงานร่วมระหว่างอัยการสูงสุดหรืออสส.และป.ป.ช.เพื่อพิจารณาคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีว่า เมื่อช่วงเช้าวันนี้ คณะทำงานฝ่าย อสส.ประสานมายัง ป.ป.ช. ว่า ขณะยังอยู่ขั้นตอนการรายงานต่ออัยการสูงสุด และยังไม่มีการส่งรายงานสรุปกลับมาให้ทาง ป.ป.ช. ทั้งนี้ คาดว่า วันที่ 16 ธันวาคม นี้ จะมีการหารือข้อราชการของผู้บริหารของทั้งสองฝ่าย คาดว่าจะมีการหารือในประเด็นดังกล่าวด้วย

นอกจากนี้ นายสรรเสริญ เปิดเผยว่า ขณะนี้ ป.ป.ช. ยังมีคดีที่ขัดรัฐธรรมนูญปี 2550 ในความรับผิดชอบอยู่ทั้งหมด 48 เรื่อง และมี 6 เรื่องขัดกับรัฐธรรมนูญฉบับ ปี 2550 เพียงอย่างเดียว ซึ่งไม่สามารถนำมาพิจารณาได้ เนื่องรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว
///////////////
นายกฯ
นายกฯ ยิ้มทักทายสื่อก่อนเข้าประชุม คกก.เขตเศรษฐกิจพิเศษ ด้านทูตญี่ปุ่นเข้าพบ "ม.ล.ปนัดดา"

ความเคลื่อนไหวที่ทำเนียบรัฐบาลในช่วงบ่ายนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ครั้งที่ 2/2557 ตึกสันติไมตรี โดยมีผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินทางเข้ามาร่วมการประชุมในวันนี้อย่างพร้อมเพรียง ทั้งนี้ ก่อนเข้าการประชุมนายกรัฐมนตรีได้ยิ้มทักทายกับสื่อมวลชนด้วย

ส่วนความเคลื่อนไหวอื่น ๆ ที่ทำเนียบรัฐบาลนั้น นายชิเกะคะสุ ซะโตะ (H.E. Mr. Shigekazu Sato) เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยเข้าเยี่ยมคารวะ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนัก
นายกรัฐมนตรี ณ ห้องทำงาน อาคารสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

-----
เรืองไกร มั่นใจ นายกฯ ลงพื้นที่ "ขอนแก่น-กาฬสินธุ์" ไร้ปัญหา เพราะยังมีอัยการศึก

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ระบุถึงการลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดกาฬสินธุ์ ของนายกรัฐมนตรีในวันที่ 19 พฤศจิกายนนี้ ว่า ไม่น่าจะเกิดปัญหา เนื่อง

จากยังมีการใช้กฎอัยการศึกอยู่ ขณะเดียวกันภายหลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าควบคุมอำนาจ กลุ่มทางภาคอีสานไม่ได้มีการเคลื่อนไหวแต่อย่างใด
///////////////////
รัฐบาล

พล.อ.อนุพงษ์ ต้อนรับ กมธ.บริหารราชการแผ่นดิน หวัง กมธ. ช่วยผลักดันข้อเสนอการบริหารราชการ มท. ให้เป็นรูปธรรม

ความเคลื่อนไหวที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยผู้บริหารของกระทรวงมหาดไทย ให้การต้อนรับคณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ นำโดย พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งเดินทางมาศึกษาดูงานที่กระทรวง

โดย พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสให้การต้อนรับคณะกรรมาธิการฯ และสำหรับการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ของกระทรวงมหาดไทยนั้น ได้นำแนวทางแผน

พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 นโยบายรัฐบาล 11 ด้าน มาเป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงาน โดยกำหนดแผน Roadmap ที่เรียกว่า “8 วาระมหาดไทย” ทั้งนี้ คาดหวังว่าคณะกรรมาธิการฯ จะได้รับทราบถึงงานสำคัญ ปัญหา อุปสรรค และแนวทางการแก้ไขปัญหาของกระทรวงมหาดไทย ผ่านกลไกการบูรณาการที่มีอยู่ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ท้องถิ่น ท้องที่ และได้ช่วยผลักดันข้อเสนอแนะด้านการบริหารราชการแผ่นดินของกระทรวงมหาดไทยให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะทำให้การปฏิบัติงานตามภารกิจของกระทรวงมหาดไทยมีความคล่องตัว สามารถตอบสนองนโยบายรัฐบาล และสามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
--------------
มท. 1 ยัน นายกฯ สามารถไปได้ทุกพื้นที่ เน้นช่วยเหลือ ปชช. ย้ำเห็นต่างได้ แต่อย่าสร้างความขัดแย้ง 

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีออกกำหนดการที่จะลงตรวจเยี่ยมพื้นที่ตามจังหวัดต่าง ๆ ในวัน 19 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งทางจังหวัด หรือท้องถิ่น รายงานเรื่องกลุ่มเคลื่อนไหวอย่างไรบ้างนั้น ไม่ว่าพื้นที่ใดต้องสามารถไปได้หมด พร้อมย้ำว่า เห็นต่างได้แต่อย่าแสดงความขัดแย้ง ส่วนการลงพื้นที่ครั้งนี้จะเน้นหนักให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในเรื่องการช่วยเหลือประชาชนโดยเฉพาะเรื่องภัยแล้ง เพราะปีนี้จะแล้งมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะภาคอีสาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่มีปัญหา

อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่าประชาชนส่วนใหญ่จะเข้าใจการทำงานของรัฐบาล จึงขอร่วมมือให้อยู่ในความสงบเรียบร้อยและไม่ควรทำอะไรก็แล้วแต่ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์
-------
วิปรัฐบาล เตรียมชง ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยี และ ร่าง พ.ร.บ.การยาง เข้า ครม. วันพรุ่งนี้ ก่อนส่งให้ สนช.

นายสุวพันธุ์ ตัณยุวัฒนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ วิปรัฐบาล ในวันนี้ว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.จำนวน 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ซึ่งมีสาระสำคัญคือจะเป็นการดูแลเด็กที่เกิดจากเทคโนโลยีทางการแพทย์ตั้งแต่เริ่มต้น และแม่ไม่สามารถตั้งครรภ์ปกติได้ ซึ่งการตั้งครรภ์แทนนั้นจะต้องเป็นญาติของพ่อแม่ และห้ามการกระทำการเชิงพาณิชย์ ซึ่งมีการกำหนดข้อห้ามต่าง ๆ ให้ชัดเจนขึ้น โดยเชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาสังคมได้

ขณะเดียวกันที่ประชุมยังมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การยาง โดยมีสาระสำคัญคือ จะมีการตั้งกองทุนดูแลเสถียรภาพราคายาง การวิจัยและพัฒนายาง รวมถึงการบริหารจัดการยางในประเทศ อีกทั้ง ยังมีการส่งเสริมภาครัฐและเอกชนรวมถึงเกษตรกรสวนยาง

อย่างไรก็ตาม จะมีการเสนอร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้เพื่อพิจารณาก่อนจะส่งต่อเข้าสู่ที่ประชุม สนช. ต่อไป

////////////

ศาลอุทธรณ์ลดโทษ 85นักรบศรีวิชัยบุกNBT คุก3-8ด.


ศาลอาญารัชดา อ่านคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ ในคดี นักรบศรีวิชัย การ์ดพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นจำเลยความผิด ซ่องโจร ฯลฯ โดยให้จำคุก 6 เดือน ถึง 1 ปี ’85 นักรบศรีวิชัย’แต่สารภาพให้ลดดทษเหลือ 3-8 เดือน
ศาลอาญา รัชดา อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้อง นายธเนศร์ คำชุม กับพวก รวม 85 คน ซึ่งเป็นกลุ่มนักรบศรีวิชัย การ์ดพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นจำเลยในความผิดฐานซ่องโจร, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และข้อหาอื่นๆ
จากกรณีเมื่อระหว่างวันที่ 22 ถึง 25 สิงหาคม 2551 จำเลยทั้ง 82 คน กับพวกอีก 3 คน ซึ่งเป็นเยาวชน ร่วมกันบุกรุกอาคารสำนักงานสถานี NBT พร้อมพกอาวุธจำนวนมาก และร่วมกันทำลายทรัพย์สิน รวมค่าเสียหายทั้งสิ้นกว่า 6 แสนบาท ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวเป็นของทางราชการ
โดยศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้ให้จำคุก จำเลย ตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 1 ปี แต่จำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ จำคุก 3 เดือน ถึง 8 เดือน ส่วนอีก 6 คน เป็นเยาวชนขณะเกิดเหตุ โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญา พร้อมออกหมายจับจำเลย อีก 7 คน ที่ไม่เดินทางมาศาลในวันนี้
อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก นายธเนศร์ จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน ส่วนจำเลยอื่น ๆ พิพากษาจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 2 ปี 6 เดือน และโทษจำคุกให้รอลงอาญา 6 คน เนื่องจากขณะกระทำผิดยังเป็นเยาวชนอยู่

(ข้อมูล)อนุกมธ ในกมธ.ยกร่างฯ11คณะ


วันที่ 13 พฤศจิกายน 2557
เผยชื่อ'ปธ.อนุกมธ.11คณะ'


“กมธ.ยกร่างรธน.” เผย “ชื่อ ปธ.อนุกมธ. 11 คณะ” มั่นใจส่งมอบร่าง รธน.ให้“สปช.”ได้ภายใน 17 เม.ย.58 ลั่นไม่ลากยาว
 
นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมผ่านมติการจัดตั้งคณะอนุกรรมาธิการด้านสารัตถะหรือเนื้อหาจำนวน 10 บวก 1 คณะ คือ 10 คณะเป็นเนื้อหาในรัฐธรรมนูญที่เริ่มดำเนินการทันที ส่วนอีกหนึ่งคณะเป็นการเตรียมการตรากฎหมายหรือแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญด้วย โดยทั้ง 11 คณะประกอบด้วย

โฆษกคณะกมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม วันนี้ได้รายชื่อคณะกรรมาธิการที่อาสาเป็นประธาน คือ คณะที่ 1 คือ อนุกรรมาธิการกรอบการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ รับผิดชอบในการพิจารณาเกี่ยวกับภาค 1 พระมหากษัตริย์และประชาชน หมวดสอง ส่วนที่ 1 ความเป็นพลเมืองและส่วนที่สามหน้าที่พลเมือง มีนายมานิจ สุขสมจิตร เป็นประธาน สำหรับคณะที่สองเป็นคณะอนุกรรมาธิการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ รับผิดชอบพิจารณาศึกษา ภาค 1 พระมหากษัตริย์ และประชาชน หมวดสอง ประชาชน ส่วนที่ 2 สิทธิ เสรีภาพของพลเมือง และส่วนที่ 4 การมีส่วนร่วมทางการเมืองและส่วนที่ 5 การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบมีนายปกรณ์ ปรียากร เป็นประธาน

นายคำนูญ กล่าวว่า คณะที่สามรับผิดชอบพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับ ภาคสองผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมือง ในหมวด 1 ระบบผู้แทนที่ดี และผู้นำการเมืองที่ดี หมวด 2 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ หมวดสาม รัฐสภา และหมวดสี่คณะรัฐมนตรี มีนายสุจิต บุญบงการ เป็นประธาน สำหรับคณะที่สี่ พิจารณาศึกษาเกี่ยวกับภาคสอง หมวด 5 การเงิน การคลังและการงบประมาณของรัฐ มีนายจรัส สุวรรณมาลา เป็นประธาน ส่วนคณะที่ 5 ศึกษาเกี่ยวกับภาคสอง หมวดที่ 6 ความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการ นักการเมืองและประชาชน มีนายปรีชา วัชราภัย เป็นประธาน

โฆษกคณะกมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า คณะที่ 6 พิจารณาศึกษาเกี่ยวกับภาคสอง หมวด 7 การกระจายอำนาจและการปกครองส่วนท้องถิ่น มีศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์กระแส ชนะวงศ์ เป็นประธาน ทั้งนี้คณะที่ 7 ศึกษาเกี่ยวกับภาคสาม นิติธรรม ศาล และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ในหมวด 1 ศาลและกระบวนการยุติธรรม มีนายบรรเจิด สิงคะเนติ เป็นประธาน สำหรับคณะที่ 8 ศึกษาเกี่ยวกับ ภาคสามสองเกี่ยวกับการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ องค์กรอิสระ องค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ และองค์กรตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธาน

นายคำนูญ กล่าวว่า คณะที่ 9 พิจารณาศึกษาเกี่ยวกับภาคสี่ การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง เฉพาะหมวด 1 การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม มีนายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ เป็นประธาน ส่วนคณะที่ 10 ศึกษาเกี่ยวกับภาคสี่ การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง หมวด 2 การสร้างความปรองดอง มีนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธาน ส่วนอีกหนึ่งคณะนั้น โฆษกคณะกมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า คืออนุกรรมาธิการจัดทำข้อเสนอแนะในการตรากฎหมาย หรือแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มีนายเจษฏ์ โทณะวณิก เป็นประธาน
โฆษกคณะกมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า เมื่อได้คณะอนุกรรมาธิการทั้ง 11 คณะแล้วจะเปิดโอกาสให้ สปช.ส่งตัวแทนมาร่วมคณะละไม่เกิน 5 คน และจะให้มีสนช.ส่งตัวแทนได้ 1 คนต่อ 1 คณะ ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตามข้อบังคับคือมีจำนวนอนุกรรมาธิการฯแต่ละคณะไม่เกิน 15 คน ยกเว้นบางคณะที่มีความจำเป็นจะมีได้ไม่เกิน 21 คน โดยรายชื่อของคณะอนุกรรมาธิการฯทั้งหมด จะมีคำสั่งแต่งตั้งภายในวันศุกร์ที่ 14 พ.ย.หรือช้าที่สุดไม่เกินเช้าวันจันทร์ที่ 17 พ.ย.57 จากนั้นจะมีการประชุม

นายคำนูณ กล่าวว่า หลังจากที่รับฟังความเห็นพรรคการเมืองและกลุ่มการเมือง ซึ่งกำหนดไว้ในวันที่ 17-25 พ.ย.2557 แล้ว โดยอนุกรรมาธิการฯ 10 คณะจะพิจารณาเนื้อหาตั้งแต่สัปดาห์หน้า ก่อนจะนำข้อสรุปผลการรับฟังความเห็นเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ 26 พ.ย.57 จากนั้นในวันที่ 15-16 ธ.ค.น่าจะมีการพิจารณาในที่ประชุม สปช.และส่งข้อเสนอจาก สปช.ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 19 ธ.ค. และในวันที่ 20 ธ.ค. คณะกรรมาธิการยกร่างฯจะเริ่มร่างรัฐธรรมนูญ โดยลงรายละเอียดเป็นรายมาตรา เพื่อส่งมอบรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ตามกรอบเวลาที่กำหนดในวันที่ 17 เม.ย.58 โดยมีความตั้งใจที่จะให้แล้วเสร็จก่อนสงกรานต์
“การร่างรัฐธรรมนูญต้องเป็นไปตามกรอบเวลา เพราะเป็นบทบังคับของรัฐธรรมนูญ กรรมาธิการฯทั้ง 36 คน ไม่เอาชื่อเสียงมาทิ้งไว้ในชั้นนี้ รัฐธรรมนูญจะดีหรือไม่ดีอีกเรื่องหนึ่งแต่ทำงานไม่ทันอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าฟ้าไม่ถล่มดินไม่ทลายรัฐธรรมนูญจะเสร็จภายในวันที่ 17 เม.ย.58 แม้ว่าในรัฐธรรมนูญชั่วคราวจะเปิดช่องให้มีการร่างใหม่ หากไม่เสร็จตามกรอบเวลา แต่ทุกคนมีเกียรติยศชื่อเสียง จึงขอให้ให้ความไว้วางใจต่อคนทำงานเพราะถ้าทำไม่เสร็จ จะถูกกล่าวหาว่าเป็นแผนที่จะลากยาว ย่อมทำให้สังคมไม่เกิดความสงบสุข และเชื่อว่าไม่ใช่ความปรารถนาของ คสช.เช่นเดียวกัน” โฆษกคณะกมธ.ยกร่างฯ กล่าว