PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2557

จนกว่าไทยจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้สำเร็จ

จนกว่าไทยจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้สำเร็จ

รอยเตอร์สเผยร่างเอกสารการประชุมชี้ อียูเล็งระงับความร่วมมือทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจกับไทย จนกว่าไทยจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

รอยเตอร์สเปิดเผยว่า การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 23 มิ.ย. อาจมีการพิจารณาชะลอการลงนามในข้อตกลงความร่วมมือกับไทยทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งหมายรวมถึงการชะลอการลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือไทย-ประชาคมยุโรปและประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (พีซีเอ)จนกว่าไทยจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้สำเร็จ

รายงานดังกล่าวได้อ้างเนื้อหาในร่างเอกสารการประชุม ที่จะนำมาใช้ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของอียูที่จะขึ้นในวันที่ 23 มิ.ย. โดยยังคงต้องรอการพิจารณาจากเจ้าหน้าที่อียู และอาจเปลี่ยนแปลงได้
"การเดินทางเยือนอียูและไทยอย่างเป็นทางการของเจ้าหน้าที่ระดับสูงจะต้องระงับไว้ชั่วคราว ขณะที่ทางอียูและประเทศสมาชิกจะไม่ลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือไทย-ประชาคมยุโรปและประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (พีซีเอ) จนกว่าไทยจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยสำเร็จ" เนื้อหาในร่าง ระบุ
ทั้งนี้ กรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือไทย-ประชาคมยุโรปและประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (พีซีเอ) ร่างขึ้นเสร็จสมบูรณ์แล้วตั้งแต่เมื่อเดือนพ.ย. ปีที่แล้ว ทว่ายังคงรอต้องการลงนามอนุมัติจากทางอียู โดยข้อตกลงดังกล่าว จะยกระดับความร่วมมือระหว่างไทยและอียูทั้งด้านการท่องเที่ยว การจ้างงาน การศึกษา การอพยพย้ายถิ่น การขนส่ง สิ่งแวดล้อม รวมถึงการกระชับความสัมพันธ์ทางการเมืองที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม เนื้อหาในร่างเอกสารดังกล่าวไม่ได้ระบุว่า การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีแบบทวิภาคีจะได้รับผลกระทบหรือไม่
นอกจากนี้ ร่างดังกล่าว ยังระบุอีกว่า ทางอียูจะยังทบทวนความสัมพันธ์กับไทยและพิจารณาใช้มาตรการอื่นๆต่อไปในอนาคตทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์
"ไทยจะได้รับความสนับสนุนจากอียูต่อเมื่อมีการเปิดเผยแผนการที่น่าเชื่อถือที่นำไปสู่การฟื้นการใช้รัฐธรรมนูญและจัดการเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือ" ร่างระบุ
http://www.posttoday.com/รอบโลก/ข่าวรอบโลก/301577/อียูเล็งระงับความร่วมมือทุกด้านกับไทย

ว่าด้วย การบินไทยกับปัญหาหมักหมม

บริษัท การบินไทยฯ เป็น รัฐวิสาหกิจ ที่รับใช้ประเทศมานานถึง 54 ปี มีหน้าที่รับใช้ลูกค้าทุกระดับตั้งแต่ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้บริหาร/ผู้นำประเทศทั้งของไทยและต่างประเทศ รวมทั้งผู้โดยสารทั่วไป สู่จุดหมายปลายทางหลายประเทศในโลก เป็นสายการบินที่เป็นของคนไทย ของประเทศไทย สามารถแข่งขันกับสายการบินทั้งโลกได้ไม่น้อยหน้าใคร อย่างที่พูดได้เต็มปากว่า “We are the second to None” มีการบริการที่มีเอกลักษณ์และวัฒนธรรมไทยที่สง่างามและเป็นจุดแข็งของการแข่งขัน เป็นที่ชื่นชอบของคนต่างชาติมากมาย อีกหนึ่งภารกิจหลักที่สำคัญในฐานะ “National flag carrier of Thailand” ของการบินไทยคือ การรับใช้ชาติในกรณีที่ต้องนำคนไทยในต่างประเทศกลับสู่ประเทศไทยเมื่อมีภาวะที่ไม่ปลอดภัยในประเทศนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว หรือ สงคราม โดยที่สายการบินอื่นของประเทศไทยไม่ต้องรับผิดชอบ และพนักงานผู้ปฏิบัติ/ลูกเรือไทย ไม่เคยเกี่ยงงอนต่อภารกิจที่เสี่ยงต่อความปลอดภัยดังกล่าว
วันนี้มีปัญหาเกิดขึ้นกับ การบินไทย ขาดทุนสะสมต่อเนื่องมาตลอดแม้แต่ในช่วง peak season ซึ่งสาเหตุของปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากพนักงานส่วนใหญ่ของบริษัทฯ หรือ ระดับปฏิบัติเลย ในทางตรงกันข้าม พนักงานส่วนใหญ่โดยเฉพาะพนักงานระดับปฏิบัติได้ทุ่มเท แรงกายแรงใจ อย่างสุดความสามารถ และทำทุกวิถีทางเพื่อปรับตัว ปรับวิธีการทำงาน เพื่อให้บริษัทฯ รับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางอุตสาหกรรมการบินที่ค่อนข้างรุนแรง แต่เป็นที่น่าเสียดาย และ น่าเสียใจ ของพนักงาน ที่มีความจริงที่คนทั้งประเทศรู้กันดีว่า ตั้งแต่นักการเมืองเข้ามาบริหารในฐานะบอร์ด หรือ พรรคการเมืองส่งคนเข้ามาบริหารการบินไทย ไม่เคยปรากฏว่ามีส่วนภาคใดขององค์กรที่ได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นเลย มีแต่สร้างปัญหาต่างๆมากมาย อาทิ
• การสั่งซื้อ การเลือกแบบของเครื่องบินที่หลากหลาย (ซึ่งมีผลประโยชน์มากมายมหาศาล) ทำให้ยากต่อการซ่อมบำรุง ทำให้อุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ในการบริการบนเครื่องบินต้องหลากหลายตามแบบของเครื่องบินไปด้วยตามมาตรฐานอุตสาหกรรมการบิน การฝึกอบรมตามแบบเครื่องบินต่างๆ สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อต้นทุนการดำเนินงานทั้งสิ้น และล้วนแต่ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มโดยไม่ก่อให้เกิดรายได้แต่อย่างใด
• การปรับเปลี่ยนโครงสร้างบ่อยครั้ง เรียกได้ว่าทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนผู้บริหาร ไม่ก่อให้เกิดผลดีแต่ประการใด ผู้บริหารไม่มีความรู้ในเรื่องโครงสร้าง ปรับเปลี่ยนตามความต้องการ หรือเพิ่มโครงสร้างเพื่อต้องการช่วยพรรคพวกให้ได้ตำแหน่งสูง ทำให้เกิดความสับสนในการปฏิบัติงาน งานที่สำคัญบางส่วนหายไป งานที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์เกิดขึ้นมากมาย
• การแต่งตั้งระดับผู้บริหารจากเส้นสายโดยไม่คำนึงถึงความสามารถในการทำงาน ทำให้เกิดการจ้างที่ปรึกษามากมายหลายชุด ที่ปรึกษาเหล่านั้นไม่มีความรู้ ต้องใช้พนักงานการบินไทยให้ข้อมูลทั้งหมด สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากมาย ที่สำคัญทำให้กระบวนการทำงานของการบินไทยที่ดีอยู่แล้วเสียหาย ข้อมูลที่เคยมี/ใช้ในการวิเคราะห์ต่างๆไม่ครบถ้วน บางกรณีต้องเสียเงินเพิ่มถ้าต้องการข้อมูลที่ต้องการกลับคืนมา
บริษัทการบินไทยฯ เคยเป็นบริษัทฯแรกที่นักศึกษาจบใหม่ปราถนาที่จะได้เข้ามาทำงาน พนักงานเคยมีความภาคภูมิใจในองค์กรว่าเป็นที่หนึ่ง บินไปไหนไม่เคยน้อยหน้าใครในอุตสาหกรรมเดียวกัน วันนี้ทุกคนอยากเกษียณก่อนกำหนด เบื่อหน่ายในการทำงานที่ไม่เห็นอนาคต คนมีความสามารถลาออกไปเพราะทนไม่ได้ ในอดีต จุดแข็งอย่างหนึ่งของการบินไทย นอกเหนือจากวัฒนธรรมไทย คือ ทรัพยากรบุคคล วันนี้ การบินไทยรับได้แต่ แรงงานภายนอกเท่านั้น มากว่า 10 ปีแล้ว
สายการบินหนึ่งของต่างชาติแต่ติดธงชาติไทยได้รับการเอื้อประโยชน์มากมาย ทั้งในเรื่องของสนามบินดอนเมือง ที่รัฐมนตรีคมนาคมสั่งให้การบินไทยต้องย้ายออกไปทั้งหมด ประดุจหนึ่งจะสร้างสายการบินนี้มาแทนการบินไทย
ครั้งหนึ่งที่มีการปิดสนามบิน รัฐบาลสั่งให้ การบินไทย บริการผู้โดยสารที่ตกค้างทั้งหมดของทุกสายการบินในนามของประเทศไทย การบินไทยต้องรับภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมากที่ไม่สามารถเบิกคืนจากหน่วยงานใดหรือสายการบินใด พนักงานการบินไทยช่วยกันระดมปฏิบัติหน้าที่อย่างดีเยี่ยม อีกทั้งยังได้ช่วยกันบริจาคเงินส่วนตัวช่วยผู้โดยสารหลายท่าน ให้ที่พักฟรีกับผู้โดยสาร บางคนพาผู้โดยสารไปพักที่บ้าน จนได้รับคำชมเชยจากผู้โดยสารมากมายในครั้งนั้น
บัดนี้ การบินไทยประสบเคราะห์กรรมจากผู้บริหารและนักการเมืองที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ในฐานะพนักงานตัวเล็กๆคนหนึ่งที่ปฏิบัติหน้าที่มาด้วยความซื่อสัตย์ และจงรักภักดีต่อองค์กรมาตลอดชีวิตการทำงานจนใกล้เกษียณอีกไม่กี่วันข้างหน้า อยากถามกระทรวงการคลังที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ว่า จะยินยอมให้สายการบินแห่งชาติ ของคนไทยทั้งประเทศ ล้มละลายหรือ? และจะยินยอมให้สายการบินของต่างชาติที่ติดธงชาติไทย ใช้สิทธิการบินเสรีในปัจจุบัน ผงาดในท้องฟ้าประเทศไทยเป็นที่หนึ่งในประเทศไทย แทนสายการบินไทย สายการบินแห่งชาติกระนั้นหรือ
พร้อมนี้ขอเสนอแนะ ปัญหาเร่งด่วนที่ควรทำ เพื่อผลประโยชน์ของบริษัทฯ และสร้างขวัญกำลังใจแก่พนักงาน
1. ปรับโครงสร้างเฉพาะส่วนผู้บริหาร ลดจำนวน S.VP , E.VP , VP ให้เหลือเฉพาะหน่วยงานที่มีความสำคัญต่อการบริหารเท่านั้น ปัจจุบัน โครงสร้างการบินไทยเป็น ปิรามิดคว่ำ
2. ลดผลประโยชน์ของ S.VP , E.VP , VP ลง ค่ารับรอง (รวมทั้ง corporate card ที่ไม่จำกัดวงเงินของ บอร์ด และ E.VP, VP) และค่ารถ เป็นการแก้ไขเร่งด่วนที่ได้ผลทันที และ เป็นสิ่งที่พนักงานต้องการเห็นสปิริตจากผู้บริหารระดับสูง
3. เรื่องเงินสดหมุนเวียน และ เงินที่ต้องชำระค่าเครื่องบินที่ต้องกู้ ทำให้รับภาระดอกเบี้ยสูง กระทรวงการคลังผู้เป็นเจ้าของ ผู้ถือหุ้นใหญ่ เพิ่มทุน ส่วนหนึ่ง และรับรองการกู้เงินในประเทศอีกส่วนหนึ่ง เพื่อลดภาระดอกเบี้ย
ขอฝากข้อมูลนี้ ให้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ประธานบอร์ดการบินไทย ผู้เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของคสช.ไว้เพื่อพิจารณาว่าจะมีแนวทางใดที่จะช่วยนำพาสายการบินแห่งชาติ ให้ผ่านพ้นภาวะวิกฤติ และพัฒนาต่อไปอย่างถูกทิศทาง

บทบรรณาธิการ : ข่าวลือ


บทบรรณาธิการ : ข่าวลือ
นสพ.ข่าวสด 
18มิ.ย.57

กรณีแรงงานชาวกัมพูชาจำนวนมากเดินทางกลับประเทศ เพราะมีข่าวลือกวาดล้างแรงงานเถื่อนแพร่กระจายอย่างรวดเร็วโดยไม่มีที่มาที่ไป เป็นอีกตัวอย่างที่บ่งบอกว่าอิทธิพลข่าวลืออันตรายอยู่เสมอ

เหมือนเมื่อช่วงสิบกว่าปีก่อนที่มีข้อเขียนในหนังสือพิมพ์เอ่ยถึงข่าวลือว่า นางเอกสาวของไทยพูดจาเหยียดหยามชาวกัมพูชาว่านครวัดเป็นของไทยไม่ใช่ของกัมพูชา ก่อนจะถูกขยายความแพร่ไปในสื่ออื่นๆ จนปลุกกระแสโกรธแค้นขึ้น

จากนั้นบานปลายเป็นเหตุจลาจลและเผาสถานทูตไทยในกรุงพนมเปญ เมื่อปี 2546 

บทเรียนสำคัญจากเหตุการณ์ดังกล่าวยังรวมถึงการปลุกระดมบรรยากาศชาติ นิยมเกินภาวะปกติ จนเกิดความเสียหายร้ายแรงและกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ



สําหรับข่าวลือในครั้งนี้มีผลทำให้แรงงานกัมพูชาเร่งรีบเดินทางกลับประเทศไปจำนวนมาก

จากจำนวนที่องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน ประเมินว่า มีแรงงานชาวกัมพูชาอยู่ในไทยราว 180,000 คน

ทางกระทรวงการต่างประเทศของไทย จึงเชิญเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทยเข้าชี้แจง และปฏิเสธข่าวลือดังกล่าว

สองฝ่ายเห็นร่วมกันว่า ต้องมีการติดต่อกันโดยตรงอย่างใกล้ชิด และเปิดสายด่วนติดตามสื่อสารระหว่างกันโดยตรง เพื่อป้องกันการปล่อยข่าวลือ 

เป็นแนวทางที่จะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นเหมือนเมื่อครั้งที่รัฐบาลสองฝ่ายพยายามป้องกันปัญหาการเผชิญหน้าในช่วงคดีเขาพระวิหารขึ้นศาลโลก

เพราะถึงอย่างไร ความเป็นชาติเพื่อนบ้านนั้นจะดำรงอยู่ต่อไปไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใดก็ตาม



ในประเด็นเรื่องแรงงาน ผลการหารือของรัฐบาลสองฝ่ายยืนยันว่าต้องการทำให้แรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมายไม่ต้องตื่นตระหนกหรือกังวล ส่วนคนที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมายจะได้เข้าสู่ระบบตามกฎหมายไทย

เพื่อให้แรงงานเหล่านี้ได้รับสิทธิประโยชน์และการคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกับแรงงานไทยและไม่ตกเป็นเหยื่อในกระบวนการค้ามนุษย์ อันเป็นปัญหาที่โลกจับจ้องภูมิภาคอาเซียนอยู่

โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมประมงที่ไทยตกเป็นข่าวอื้อฉาวมาเป็นระลอก

เรื่องนี้ไม่ใช่แค่ข่าวลือ แต่เป็นกรณีที่ต้องพิสูจน์ความจริงและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง