PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ทิศทาง การเมือง เลือกตั้ง กุมภาพันธ์ 2562 บนฐาน ความกลัว

ทิศทาง การเมือง เลือกตั้ง กุมภาพันธ์ 2562 บนฐาน ความกลัว



ไม่ว่าการเตะถ่วง หน่วง การเลือกตั้ง ไม่ว่าการสร้างกฎกติกาของกระบวน การเลือกตั้งให้มากด้วยความสลับซับซ้อน มาจาก 2 ปัจจัยอันสัมพันธ์กัน

ปัจจัย 1 คือ ความมั่นใจใน “อำนาจ”

หากไม่มั่นใจในอำนาจจะผลักดันออกมาไม่ได้หรอกในการกำหนด “โครงสร้าง” การเลือกตั้งที่ไม่เพียงแต่ต้องการบั่นทอนพรรคการเมืองมิให้พัฒนา เติบใหญ่

หากยังสร้างความสับสนในทุกวิถีทางให้กับ “ประชาชน”

เรียกตามศัพท์ทางรัฐศาสตร์ คือ อำนาจ “แข็ง” ซึ่งตรงกับสำนวนชาวบ้านที่รับรู้กัน ไม่ว่าทางเหนือ ใต้ ตก ออก อีสาน

นั่นก็คือ อำนาจ “ดิบ”

ขณะเดียวกัน ปัจจัย 1 ซึ่งไม่เชื่อแต่ก็ต้องเชื่อ นั่นก็คือปัจจัยอันเนื่องแต่ความหวาดกลัวโดยเฉพาะต่อพรรคใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทย พรรคใหม่อย่างพรรคประชาชาติ พรรคไทยรักษาชาติ พรรคเพื่อชาติ

ความกลัวจะพ่ายแพ้นั่นแหละนำไปสู่การดิ้น

มีเหตุผลที่ความหวาดกลัวจะกำหนดในแต่ละจังหวะก้าวอย่างต่อเนื่อง นับแต่เกิดรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา

ที่แหลมคมสุด-สุด คือ กลัว “เสียของ”

รูปธรรมแห่งการเสียของที่แหลมคมอย่างที่สุดก็คือ ความพ่ายแพ้ต่อการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเมื่อเดือนธันวาคม 2550 ต่อพรรคพลังประชาชน

ไม่ว่าจะเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 ต่อพรรคเพื่อไทย

ตลอด 4-5 ปีภายหลังรัฐประหารเป้าหมายหลัก คือ การกวาดล้างและจัดการกับคนของพรรคเพื่อไทย และรวมถึงคนที่เคยอยู่พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน

แต่ไม่ว่าจะดำเนินการอย่างไร คะแนนของพรรคเพื่อไทยก็ยังนำ

แม้กระทั่งการเปลี่ยนรูปแบบการเลือกตั้งทางพรรคเพื่อไทยก็งัดแผนแตกแยกตัวเป็นพรรคประชาชาติ พรรคไทยรักษาชาติ พรรคเพื่อชาติ มาต่อสู้


พรรคเพื่อไทยและพันธมิตรยังเป็นอันดับ 1

เป็นไปได้ว่าพรรคเพื่อไทยจะยังกำชัยในการเลือกตั้งเหมือนกับที่เคยชนะผ่านพรรคไทยรักไทยเมื่อปี 2544 และเมื่อปี 2548 เหมือนกับที่เคยชนะผ่านพรรคพลังประชาชนเมื่อปี 2550

ไม่ว่าจะเป็นโพล “เปิด” ไม่ว่าจะเป็นโพล “ลับ”

ยิ่งคำประกาศจากพรรคพลังประชารัฐที่เคยฮึกเหิมในเบื้องต้นว่าจะกวาด 350 ส.ส.แล้วลดลงมาเหลือเพียงขอให้ได้เพียง 150 ส.ส.

ยิ่งเท่ากับเป็นการยอมรับในความพ่ายแพ้

หากพรรคเพื่อไทย สามารถผนึกพลังร่วมกับ พรรคประชาชาติ พรรคไทยรักษาชาติ พรรคเพื่อชาติ หรือแม้กระทั่งพรรคอนาคตใหม่ได้

นั่นหมายถึงแนว “ต้าน” อันทรงพลังทางการเมือง

ความพยายามที่ปรากฏผ่านที่ประชุมร่วม คสช.กับพรรคการเมืองในวันที่ 7 ธันวาคม คือการโยนระเบิดลูกใหม่สร้างความปั่นป่วนภายในกระบวนการเลือกตั้ง

รากฐานก็ยังมาจาก “ความกลัว” ไม่แปรเปลี่ยน

การเลือกตั้งที่จะมาถึงในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ยิ่งวันยิ่งแจ่มชัดว่าจะเป็นครั้งแรกที่ประชาชนแทบไม่ได้ให้ความสนใจในเรื่อง “นโยบาย”

หากแต่อยู่ที่ว่า จะ “เอา” หรือ “ไม่เอา”

คำว่า “เอา” ในที่นี้หมายถึงจะเอา คสช. จะเอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คำว่า “ไม่เอา” ในที่นี้

หมายถึงจะไม่เอา คสช. จะไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เชื่อได้เลยว่าในที่สุดจะเป็นเช่นนี้ ไม่มีเป็นอื่น

ทำความเข้าใจ ม.44 ยกเลิก 9 คำสั่งคสช. แต่ละฉบับ สำคัญอย่างไร

ทำความเข้าใจ ม.44 ยกเลิก 9 คำสั่งคสช. แต่ละฉบับ สำคัญอย่างไร



คสช.ยกเลิก 9 คำสั่ง ให้พรรคการเมืองเคลื่อนไหวทำกิจกรรมทางการเมือง – หาเสียงผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ -ปชช.ชุมนุมการเมืองเกิน 5 คนได้ ขณะเดียวกันยกเลิกระงับการทำธุรกรรมการเงิน จาตุรนต์-บก.ลายจุด-จ่าประสิทธิ์ พร้อมให้ 18 นักการเมืองเดินทางออกนอกประเทศได้
กรณีราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 22 /2561 เรื่องการให้ประชาชนและพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งมีผลใช้บังคับในวันนี้ โดยมีผลให้ยกเลิกคำสั่ง คสช. 9 ฉบับ

ได้แก่ 1. คำสั่ง คสช.ที่ 10/2557 เรื่องห้ามกระทำการใดๆ หรือสั่งให้กระทำการใดๆ เกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงินหรือการดำเนินการทางการเงินเกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคล เท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของชาติและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยรวม ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 เฉพาะข้อ 2 ในข้อ 1 ซึ่งก็คือการยกเลิกการห้ามทำธุรกรรมทางการเงินของนายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานยุทธศาสตร์ พรรคไทยรักษาชาติ

2.คำสั่ง คสช.ที่ 26/2557 เรื่องห้ามกระทำการใดๆ หรือสั่งให้กระทำการใดๆ เกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงินหรือการดำเนินการทางการเงินเกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคล เท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของชาติและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยรวม ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 ก็คือยกเลิกการห้ามทำธุรกรรมทางการเงินของนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หัวหน้าพรรคเกียน และจ่าสิบตำรวจ ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ

3.คำสั่ง คสช.ที่ 39/2557 เรื่องการกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวของบุคคลที่มารายงานตัวกับ คสช.ลงวันที่ ‪25 พฤษภาคม 2557 ‬ก็คือการยกเลิกคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่ คสช.กักตัว และได้รับการปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไขให้ต้องมารายงานตัว และถ้าไม่มาก็จะมีความผิดจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

4.ประกาศ คสช.ที่ 40/2557 เรื่องการกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวของบุคคลที่ถูกกักตัวตามกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 มาตรา 15 ทวิ ลงวันที่ ‪25 พฤษภาคม 2557 ‬ก็คือการยกเลิกกรณีบุคคลที่ คสช.ปล่อยตัวหลังกักตัวไว้ครบ 7 วันตามกฎอัยการศึกแล้วต้องไม่เดินทางออกนอกราชอาณาจักร ห้ามร่วมชุมนุมและสนับสนุนการทำกิจกรรมทางเมือง หากผิดเงื่อนไขก็พร้อมจะถูกระงับการทำธุรกรรม และอาจถูกจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่น หรือทั้งจำทั้งปรับ


5.ประกาศ คสช.ที่ 57/2557 เรื่อง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับมีผลบังคับใช้ต่อไป ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2557 เฉพาะในข้อ 2 ก็คือการยกเลิกการห้ามไม่ให้พรรคการเมืองจัดประชุม ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองใดรวมถึงการจัดตั้ง จดทะเบียนพรรคและระงับการจัดสรรเงินกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองด้วย

6.คำสั่ง คสช.ที่ 80/2557 เรื่องให้บุคคลปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดลงวันที่ 28 มิถุนายน 2557 ก็คือการยกเลิกการห้ามนักการเมือง 18 คน คือ 1.นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ 2.พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ 3.นายชูศักดิ์ ศิรินิล 4.นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา 5.นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ 6.นายจตุพร พรหมพันธุ์ 7.นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ 8.นางธิดา โตจิราการ 9.นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ 10.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 11.นายจุติ ไกรฤกษ์ 12.นายศิริโชค โสภา 13.นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ 14.นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ 15.นายสุเทพ เทือกสุบรรณ 16.นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย 17.นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ และ 18.นายสมศักดิ์ โกศัยสุข เดินทางออกนอกประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต ห้ามเคลื่อนไหว หรือประชุมทางการเมือง หากฝ่าฝืนก็จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

7.คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3 /2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ลงวันที่ 1 เมษายน 2558 เฉพาะในข้อ 12 คือยกเลิกการห้ามชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

8.คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ลงวันที่ 22 ธันวาคม 2560 เฉพาะในข้อ 4 ข้อ 5 และข้อ 7 ก็คือการยกเลิกการห้ามพรรคการเมืองจัดประชุมใหญ่ จัดตั้งสาขาพรรค ประชุมสมาชิกพรรค หรือพรรคการเมืองที่จะตั้งขั้นใหม่ การจัดประชุมก่อตั้งพรรคก็ไม่ต้องขออนุญาต คสช.

และ 9.คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2561 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) ลงวันที่ 14 กันยายน 2561 เฉพาะในข้อ 6 ก็คือการยกเลิกการห้ามพรรคการเมืองหาเสียง หรือประชาสัมพันธ์ ติดต่อสื่อสารกับผู้ดำรงตำแหน่งภายในพรรค และสมาชิกพรรค

การยกเลิกตามคำสั่งที่ 3, 4 และ 6 ให้ยกเลิกเฉพาะในส่วนที่กำหนดห้ามบุคคลหรือให้บุคคลใดละเว้นการเคลื่อนไหว หรือประชุมทางการเมืองหรือห้ามการดำเนินการช่วยเหลือสนับสนุนกิจกรรมทางการเมือง

ทั้งนี้ ให้หมายความรวมถึงเงื่อนไขการปล่อยตัวบุคคลใดตามประกาศและคำสั่งดังกล่าวที่ห้ามหรือให้ละเว้นในเรื่องดังกล่าวด้วย ในคำสั่งยังระบุด้วยว่าการยกเลิกประกาศและคำสั่งทั้ง 9 ฉบับ ไม่กระทบกระเทือนถึงการดำเนินคดี การดำเนินการ หรือการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งที่ได้กระทำไปก่อนการยกเลิกโดยคำสั่งนี้

อีกเสียง!'อุตตม'ขอทำภารกิจระดับประเทศให้ลุล่วงก่อนแล้วจะลาออก

11 ธ.ค.61- นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์กรณีกระแสข่าวสี่รัฐมนตรีจากพรรค พปชร.เปลี่ยนใจไม่ลาออกจากตำแหน่งว่า ตนพูดตั้งแต่วันแรกว่าเราต่างมีภารกิจหน้าที่ที่ยังต้องรับผิดชอบ ซึ่งเป็นงานระดับประเทศ จึงต้องทำภารกิจตรงนี้ให้ลุล่วงไป และเมื่อถึงเวลาเราก็จะออก วันนี้ยังคงหลักการเดิม ไม่ได้เปลี่ยนแปลงหรือจะพลิกใจไปมา 
"เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมทุกคนจะเห็นเอง วันนี้อย่าเพิ่งพูดเพราะว่ายังเร็วไป ผมไม่ได้เปลี่ยนใจ พูดไว้อย่างไรก็ยังเหมือนเดิม ซึ่งภารกิจที่ตนกำลังทำให้ประเทศมีความคืบหน้าไปได้พอสมควร เช่น อีอีซีภาคตะวันออก เป็นต้น เรามีเวลาทำงานตามโรดแม็ปอยู่แล้ว เมื่อเราทราบโรดแม็ปและภารกิจแล้ว เราก็ต้องทำให้ทันตามเวลา และเมื่อถึงจุดที่เหมาะสม เชื่อได้ว่าเรารู้ตัวว่าเมื่อไรควรออก และสังคมจะเห็นเองว่าเป็นเช่นนั้น ทั้งนี้ หากตนลาออกในตอนนี้จะสร้างความเสียหาย"
นายอุตตม กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งภาคอีสาน ออกมาสนับสนุนให้สี่รัฐมนตรียังคงอยู่ในตำแหน่งนั้น ก็เป็นความเห็นของท่าน ซึ่งตนไม่เปลี่ยนใจ ยืนยันว่าจะทำภารกิจและงานที่รับผิดชอบให้สำเร็จ
เมื่อถามว่าจะออกจากตำแหน่งช่วงที่ พรฎ.เลือกตั้งมีผลบังคับใช้หรือไม่ นายอุตตม กล่าวว่า ต้องรอดู

'สนธิรัตน์'ยันทุกอย่างเป็นไปตามที่เคยพูดไว้ ลาออกแน่เมื่อถึงเวลา

11 ธ.ค.61- นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่ คสช.มีคำสั่งปลดล็อกให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมได้ ว่า เราจะสามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้มากขึ้น โดยเราจะดำเนินการตามที่ คสช.มีคำสั่งออกมา ซึ่งทางพรรคก็คงมีโอกาสได้ทำงานการเมืองมากขึ้น และเป็นไปตามกระบวนการปลดล็อก ส่วนนโยบายของพรรคนั้น ก็จะต้องทำตามขั้นตอน ซึ่งเรามีแผนดำเนินการไว้แล้ว ตอนนี้เราจะเน้นเรื่องคัดสรรว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ก่อน โดยเรามีคณะกรรมการสรรหาแล้ว ส่วนนโยบายพรรคก็ได้ทำไว้เกือบเสร็จหมดแล้ว โดยจะมีการแจ้งเรื่องนโยบายเป็นระยะๆ
เมื่อถามว่าหลังจากที่มีการปลดล็อกแล้ว พรรคพลังประชารัฐจะเปิดชื่อบุคคลที่จะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นายสนธิรัตน์ ตอบว่า ยังไม่ถึงเวลา และยังมีเวลาซึ่งพรรคพลังประชารัฐมีกระบวนการที่จะเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีในนามของพรรค และพรรคจะทำไพรมารีโหวตก่อน โดยจะพิจารณาตัวบุคคลว่าใครเป็นบุคคลที่สมาชิกและประชาชนเห็นว่าเป็นผู้ที่มีความเหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเราก็มีขั้นตอนของเรา ส่วนจะเสนอกี่รายชื่อ ก็ขึ้นกับคณะกรรมการบริหารพรรค โดยต้องพิจารณาจากรายชื่อที่เสนอมาทั้งหมดก่อน ซึ่งจะต้องดูกันในเบื้องต้นก่อนที่จะทำไพรมารีโหวตต่อไป 
ส่วนกระแสข่าวที่ 4 รัฐมนตรีที่เข้าร่วมพรรคพลังประชารัฐ เปลี่ยนใจไม่ลาออกจากตำแหน่ง นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ตนตอบคำถามนี้กับสื่อทุกวันเลย ขอให้รอฟังความชัดเจนจากหัวหน้าพรรค เพราะทุกอย่างเป็นไปตามที่เคยให้สัมภาษณ์ไปแล้ว เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม เราก็จะพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง 
ถามว่าการเปลี่ยนใจไม่ลาออกจะส่งผลกระทบต่อคะแนนนิยมหรือไม่ เพื่อไม่ให้เหมือนกับนักการเมืองในอดีต นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ยังไม่ถึงขั้นที่ต้องคุยกัน เพราะเรามีกรอบดำเนินการอยู่ โดยมีวิธีการและมีขั้นตอนอยู่แล้ว. 

'ทักษิณ'โผล่เสี้ยม!คสช.ปลดล็อกไม่ใช่ความกรุณา ปลุกแก้รธน.จุดหมายไม่ไกลเกินมือของพวกเรา

11 ธ.ค.61- นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊คThaksin Shinawatra ว่า วันนี้การที่คสช.จำต้องปลดล็อกไม่ใช่เขามีความกรุณาต่อเรา แต่เป็นการเอาสิทธิขั้นพื้นฐานของเราที่เขาช่วงชิงจากเราไปเป็นระยะเวลาเกือบ 5 ปี คืนกลับมาให้บางส่วนต่างหาก 
แต่อย่างไรก็ตาม ต้องขอแสดงความยินดีกับพี่น้องชาวไทยด้วยนะครับ ที่วันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความหวังที่เราจะได้รับสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคกลับคืนมา ถึงแม้ว่าอาจไม่เหมือนเดิมเหมือนเมื่อครั้งได้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ปี 2540 เพราะรัฐธรรมนูญนี้ตั้งใจควบคุมและจำกัดสิทธิของประชาชนตามมาตรฐานสากล 
ดังนั้นเราต้องร่วมกันแก้รัฐธรรมนูญฉบับถ่วงความเจริญของประเทศฉบับนี้ โดยเริ่มต้นก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน ด้วยความรัก ความสามัคคีของ คนไทยที่หัวใจเป็นไทอย่างแท้จริง และจุดมุ่งหมายที่วางไว้ คงไม่ไกลเกินมือของพวกเรา 
ขอเป็นกำลังใจให้คนไทยทุกคนและผมจะขอทำหน้าที่ในฐานะที่เคยรับใช้ประเทศไทยมาและใจก็ยังไม่ได้จากไปไหนครับ

โห่ฮิ้วโห่!'บิ๊กตู่'แต่งตัวรอขันหมากพรรคการเมือง เมื่อไหร่จะมาสู่ขอเป็นนายกฯ

11 ธ.ค.61 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีกระแสข่าวว่า 4 รัฐมนตรีที่สังกัดพรรคพลังประชารัฐจะไม่ลาออก ทั้งที่เคยพูดไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะลาออกเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมว่า กฎหมายว่าไว้อย่างไร ถ้าไม่ได้กำหนดก็จบ ต้องเป็นไปตามกฎหมายซึ่งก็เป็นเรื่องของ 4 รัฐมนตรี

เมื่อถามว่า นายกฯตัดสินใจหรือยังกรณีที่พรรคการเมืองอาจเสนอชื่อเป็นนายกฯในบัญชีของพรรค พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "ก็ยังไม่มีใครมาขอผมนี่หน่า ล่าสุดก็ยังไม่มี แล้วเมื่อไหร่ควรจะขอ เขาก็มีวันเวลากำหนดอยู่ว่า จะเสนอชื่อนายกฯเมื่อไหร่ เขาก็คงมาขอตอนนั้นมั้ง แล้วเขาจะขอผมหรือเปล่าก็ยังไม่รู้เลย แล้วผมจะไปตอบรับใครก็ยังไม่รู้เหมือนกัน พวกคุณจะมาถามอะไรนักหนา"
เมื่อถามย้ำว่า แล้วถ้าเขาไม่มาขอจะทำอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "อ้าว ก็เหมือนลูกสาว ถ้าเขาไม่มาขอแล้วจะแต่งงานได้ไหมเล่า ถามประหลาด ถามคำถามอะไรที่มันง่ายๆ และก็มีคำตอบอยู่ในตัวอยู่แล้ว แต่อยากจะได้ยินจากปากใช่ไหมพวกเธอ"

ไม่ให้ราคา‘ธีรยุทธ’!‘บิ๊กตู่’สวนหมัดพูดมา40ปี มีแต่ข้อมูลเก่าฝังหัว

11 ธ.ค.61 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายธีรยุทธ บุญมี     นักวิชาการและนักวิพากษ์วิจารณ์ด้านการเมือง ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นสัมปทานซึ่งไม่ต่างจากระบอบทักษิณว่า อันนั้นก็เป็นเรื่องของนายธีรยุทธ ซึ่งเห็นพูดมาตลอด 40 ปี แล้ว

"โธ่เอ้ย ไปดูวิธีการว่ามันต่างกันตรงไหน วันนี้บริหารประเทศต่างกันหรือไม่ ไปดูไป ถ้าจะพูดตรงนี้คุณก็เอาความคิดเดิมๆที่ฝังหัวอยู่มาพูดอยู่ทุกวันๆ ซึ่งผมไม่ให้ความสนใจหรอก ถ้าดีจริงทำได้จริงทำจบมานานแล้ว ประเทศไทยก็ไม่มีปัญหาอย่างวันนี้หรอก" นายกฯ กล่าว
เมื่อถามถึงกรณีที่โหรวารินทร์ทำนายว่า การเลือกตั้งจะเลื่อนออกไปแต่นายกรัฐมนตรียังเป็นคนเดิม พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า"นั่นก็เป็นเรื่องของโหรวารินทร์ แล้วอย่างไร  บอกแล้วก็ต้องเป็นอย่างนั้นหรืออย่างไร แล้วแต่ประชาชนที่เป็นคนเลือกตั้งไม่ใช่โหรวารินทร์เป็นคนเลือก"

คอนเฟิร์ม4รมต.ไม่ลาออก!สุริยะ'ลั่นคุยกันแล้ว เกิดผลเสียมากกว่าผลดี

11 ธ.ค.61  นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งภาคอีสาน พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงกรณี 4 รัฐมนตรีเปลี่ยนใจไม่ยอมลาออกว่า ข้อเรียกร้องดังกล่าวมีการพูดมานานแล้ว และตนเคยชี้แจงในอดีตรัฐมนตรีที่อยู่ในช่วงเลือกตั้งแล้วว่า ไม่มีรัฐมนตรีคนไหนลาออกจากตำแหน่ง และทำงานต่อเนื่องไปถึงสิ้นสุดการเลือกตั้ง

"ที่สำคัญการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องทำต่อเนื่อง หากลาออกตอนนี้งานก็จะสะดุด เกิดความชะงักงันทางเศรษฐกิจ ซึ่งเราควรทำให้ต่อเนื่อง ส่วนที่ว่าจะเป็นการเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่นๆนั้น ที่โจมตีกันอยู่ก็เป็นคู่แข่งทางการเมือง ในอดีตทุกรัฐบาลก็ทำอย่างนี้มา ขอยืนยันว่า ถ้า 4 รัฐมนตรีลาออกไปก็จะทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี ทั้งนี้ ส่วนตัวได้พูดคุยกับ 4 รัฐมนตรีแล้วและอยากให้อยู่ต่อ”นายสุริยะ กล่าว
นายสุริยะ กล่าวถึงกระแสข่าวที่บัตรเลือกตั้งจะไม่มีโลโก้กับชื่อพรรคการเมืองว่า ขอยืนยันว่าพปชร.ไม่ได้รู้เห็นกันกับ กกต.ในเรื่องนี้ และตนได้คุยกับว่าที่ส.ส. 30 กว่าคน รวมทั้งส.ส.ภาคเหนือ และภาคกลาง เห็นตรงกันว่า ต้องใส่ชื่อพรรคการเมืองพร้อมโลโก้พรรคเพื่อไม่ใช้ประชาชนมีความสับสน ดังนั้นอยากให้ กกต.ใส่ชื่อและโลโก้พรรคซึ่งจะเป็นประโยชย์ ส่วนจะได้หรือไม่ก็เป็นเรื่องของ กกต.
เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ว่าประชาชนจะเกิดความสับสน กรณีอดีตส.ส.ที่ย้ายมาพปชร. แต่ยังเข้าใจว่ายังอยู่พรรคเดิม เช่น พรรคเพื่อไทย นายสุริยะ กล่าวว่า ตนเชื่อว่า พปชร.แข็งแกร่งพอสมควร ขอยืนยันว่าจำเป็นจะต้องใส่ชื่อและโลโก้พรรคการเมืองเพื่อให้เกิดความชัดเจน

'วิษณุ'ชี้ปลดล็อกแล้วนักการเมืองทำไปเถอะอยากทำอะไรก็ทำได้ทั้งนั้น

1 ธ.ค.61-  นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯให้สัมภาษณ์ถึง คำสั่ง คสช.ในการปลดล็อกพรรคการเมือง ว่าขณะนี้พรรคการเมืองสามารถดำเนินกิจกรรมได้ทุกอย่าง อย่างการประชุมสมาชิกพรรคก็สามารถทำได้ ส่วนที่ต้องยกเลิกถึง 9 ฉบับนั้น มีคำสั่งเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพียง 2 ฉบับ แต่ที่ปลดมีทั้งเรื่องการเงินอะไรต่างๆด้วยวันนี้จึงเคลียร์ทั้งหมด 
ตอนนี้พรรคการเมืองสามารถลงพื้นที่พบปะประชาชนได้ ทั้งนี้พ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส. ระบุว่าการหาเสียงจะเริ่มได้ก็ต่อเมื่อ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง ส่วนจะหาเสียงอย่างไรให้เป็นไปตามวิธีการที่กกต.กำหนด ถ้าพูดไปแล้วก่อนมี พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง ถ้าปลดล็อกให้ทำกิจกรรมทางการเมืองได้ก็ทำไปแต่ไม่ถือว่านี่คือการหาเสียง
เมื่อถามว่าพรรคการเมืองจัดเวทีปราศรัยหรือเรียกประชุม ส.ส.โดยไม่ต้องขอ คสช.ได้เลยใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ทำไปเถอะอยากทำอะไรก็ทำได้ทั้งนั้น และถ้าจะพูดว่าห้ามหาเสียงก็เป็นเรื่องที่พูดยาก เพราะหากพูดว่าห้ามหาเสียงก็ต้องพูดว่าหาเสียงแล้วจะเกิดอะไรขึ้น คำตอบคือควรจะมีความผิด แต่มันไม่มีความผิดไม่มีโทษ ดังนั้นเอาเป็นว่าเอาเป็นว่า สิ่งที่เรียกว่าหาเสียง จะเริ่มก็ต่อเมื่อมี พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งแล้วคิดค่าใช่จ่ายตั้งแต่วันนั้น ก่อนหน้านั้นไม่มีการคิดค่าใช่จ่าย วันนี้คุณจะขึ้นป้ายคัตเอาท์อะไรก็สามารถทำได้ แต่เมื่อมี พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง ก็ต้องเอาลง 
เมื่อถามว่า ขณะนี้พรรคการเมืองสามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองทุกอย่างได้ นายวิษณุตอบว่า ทำได้ภายใต้กฎหมายที่มีอยู่เช่นกฎหมายรักษาความสะอาด กฎหมายความสงบเรียบร้อย แม้แต่การเชิญชวนให้เลือกพรรคก็สามารถทำได้ แต่เมื่อ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง ทุกอย่างจะเข้าสู่ระบบและจะเริ่มคิดค่าใช้จ่ายกันตั้งแต่วันนั้น อะไรที่เคยคิดว่าอิสระ ก็ต้องมาดูแล้วว่ากติกาการหาเสียง ทางวิทยุ โทรทัศน์ ทางสื่ออิเล็กทรอนิกเป็นอย่างไร แต่ขณนี้ถือว่ายังไม่มีกฎเกณฑ์อะไร
ถามย้ำว่า คำสั่งปลดล็อกฉบับนี้ ถือว่าเป็นการปล่อยผีให้พรรคการเมืองใช่หรือไม่ รองนายกฯตอบว่า แล้วแต่คุณจะเรียก เพราะปล่อยหมดแล้วจนไม่มีอะไรเหลือ และถือว่าดีกว่าช่วงที่ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งเสียอีก เพราะต้องเข้าไปอยู่ในกฎเกณฑ์ตามกฎหมาย เมื่อถามว่าเวลานี้พรรคการเมืองแต่ละพรรค สามารถบอกได้เลยใช่หรือไม่ว่าจะสนับสนุนให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ กล่าวว่าอยากจะพูดก็พูดไป.

(4ธ.ค.)“อดีตประธาน กกต.” ป้อง 4 รมต.ไม่ต้องลาออก

“อดีตประธาน กกต.” ป้อง 4 รมต.ไม่ต้องลาออก เหตุ รธน.ไม่บังคับ-แค่หาเสียงต้องระวัง ชี้ในอดีตก็ไม่มีใครลาออก
เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม นายศุภชัย สมเจริญ อดีตประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีข้อเรียกร้องให้นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เลขาธิการพรรค นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รองหัวหน้าพรรค และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โฆษกพรรค ลาออกจากตำแหน่งว่า ความเห็นส่วนตัวตามข้อกฎหมายตนเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นที่ทั้ง 4 รัฐมนตรีจะต้องลาออกจากตำแหน่ง เพราะตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 264 ในบทเฉพาะกาล ระบุว่า ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ก่อนที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ เป็น ครม.ตามบทบัญญัตินี้ จนกว่าจะมี ครม.ขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งครั้งแรก ซึ่งถือว่า ครม.ชุดนี้มีอำนาจตามปกติตามรัฐธรรมนูญไม่ใช่ ครม.รักษาการตามมาตรา 167(2) ที่ระบุว่า ครม.ทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งเมื่ออายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภา แต่ ครม.ชุดนี้มีบทเฉพาะกาลรองรับไว้
เมื่อถามว่าการอยู่ในตำแหน่งของ 4 รมต.จะเกิดความได้เปรียบในการหาเสียงทางการเมืองหรือไม่ นายศุภชัย กล่าวว่า คงตอบไม่ได้ว่าจะได้เปรียบเสียเปรียบกันอย่างไร แต่รัฐมนตรีทั้ง 4 คนจะต้องระมัดระวังตัวเป็นพิเศษหากจะไปหาเสียงให้พรรคพลังประชารัฐ เพราะมีแต่คนคอยจ้องจับผิดอยู่ตลอด โดยต้องระวังในหลายๆ เรื่อง เช่น การหาเสียงจะต้องทำนอกเวลางานหรือนอกเวลาราชการ และต้องไม่นำทรัพยากรของรัฐ เช่น ยานพาหนะหรือเจ้าหน้าที่ไปใช้ในการหาเสียงกับพรรค มิเช่นนั้นอาจจะเข้าข่ายความผิดในการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
“หากพิจารณาจากรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ เขียนไว้เช่นเดียวกับเดียวกับรัฐธรรมนูญทุกฉบับในอดีตที่ผ่านมา หากย้อนกลับไปดูแนวปฏิบัติที่ผ่านมาระหว่างที่มีการเลือกตั้ง สมัยที่พรรคการเมืองใดก็ตามตอนเป็นรัฐบาลและยุบสภา ไม่เคยปรากฏว่า มีรัฐมนตรีคนใดลาออกระหว่างที่มีการหาเสียงเลือกตั้งเลย เพราะรัฐธรรมนูญมีข้อกำหนดว่า จะต้องอยู่ทำหน้าที่ต่อจนกว่าจะมี ครม.ชุดใหม่เพื่อไม่ให้การบริหารประเทศเกิดความเสียหาย และกำหนดเรื่องข้อห้ามที่ไม่ให้ กระทำบางอย่างไว้อยู่แล้ว” นายศุภชัยกล่าว

ปรับแผน4รมต.ไม่ต้องออก

ปรับแผน4รมต.ไม่ต้องออก

แหล่งข่าวจาก พปชร.เปิดเผยว่า ภายหลังที่จะมีการปลดล็อกทางการเมืองในเร็วๆ นี้ ทำให้มีกระแสให้ 4 รัฐมนตรี ได้แก่ นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรค นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรค ลาออก เพื่อแสดงสปิริตทางการเมือง แต่ล่าสุดผู้ใหญ่ใน พปชร.ได้เปลี่ยนยุทธศาสตร์ใหม่ โดยไม่ให้ 4 รัฐมนตรีลาออก เพราะไม่มีกฎหมายบังคับ อีกทั้งหากอยู่ในตำแหน่งยังสามารถขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลที่จะเป็นประโยชน์ให้กับ พปชร.ได้ นอกจากนี้ยังมีเหตุผลสำคัญเพื่อเป็นกันชนและลดแรงเสียดทานให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. และถ้าหาก 4 รัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งไปแล้ว เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ต้องมาเป็นแคนดิเดตบัญชีรายชื่อนายกฯให้แก่ พปชร. ในเดือนมกราคม 62 จะถูกกระแสเรียกร้องให้ลาออกอย่างหนักหน่วงอย่างแน่นอน และอาจจะส่งผลต่อคะแนนนิยมตัว พล.อ.ประยุทธ์และ พปชร.ลดลงในการเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562

หน.คสช.สั่งปลดล็อคการเมืองแล้ว

10 ธ.ค.61 -  ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ๒๒/๒๕๖๑ เรื่อง การให้ประชาชนและพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง
โดยที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๑๒ กันยำยน ๒๕๖๑ มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายตั้งแต่วันที่๑๑ ธันวำคม ๒๕๖๑ อันเป็นวันที่พ้นกำหนด ๙๐ วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไปและมาตรา ๑๗๑ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวให้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายใน ๙๐ วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มีผลใช้บังคับและมาตรา ๑๗๓ บัญญัติให้ระยะเวลาในการคำนวณค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งและวิธีการหาเสียงเลือกตั้งให้นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีผลใช้บังคับซึ่งแสดงให้เห็นว่าการหาเสียงเลือกตั้งให้เริ่มกระทำได้ตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีผลใช้บังคับ คำสั่งคสช.22/2561ปลดล็อค

ว่าด้วยรัฐบาลหลังเลือกตั้ง

ว่าด้วยรัฐบาลหลังเลือกตั้ง
โดย สิริอัญญา 
วันอังคารที่ 11 ธันวาคม 2561

มีสถานการณ์สำคัญปรากฏขึ้นในทางการเมืองของประเทศไทยสองเรื่อง ที่จำเป็นจะต้องตั้งข้อสังเกตและพินิจพิเคราะห์ให้จงดี เพื่อจะได้เข้าใจความเป็นไปในบ้านเมืองของเราให้ถูกต้องถ่องแท้ 

เนื่องเพราะการเมืองไทยในปัจจุบันนั้นไม่เหมือนเมื่อก่อนอีกแล้ว เป็นการเมืองในสภาพที่ประชาชนชาวไทยเข้าถึงโซเชียลมีเดียอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ ทำให้ความนิยมชมชอบหรือความชิงชังรังเกียจทางการเมืองทั้งต่อพรรคการเมืองและนักการเมืองเปลี่ยนแปลงไปอย่างลึกซึ้ง 

พลังของโซเชียลมีเดียได้พิสูจน์ตนเองว่าสามารถพลิกผันการเลือกตั้งได้ชนิดฟ้าถล่มแผ่นดินทลายมาแล้ว ไม่ว่าในสหรัฐอเมริกา มาเลเซีย และไต้หวัน ซึ่งผู้ถืออำนาจรัฐได้ปราชัยให้แก่คู่แข่งอย่างชนิดพลิกล็อค และคาดคิดไม่ถึงที่ความเหนือกว่าทั่วด้านกลับตกเป็นฝ่ายปราชัยอย่างยับเยิน 

สถานการณ์สองอย่างที่เกิดขึ้นได้แก่ 

ประการแรก การแถลงของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะมีขึ้นหลังเลือกตั้ง ซึ่งทำให้เรื่องนี้มีความชัดเจนเป็นครั้งแรก และมีนัยยะที่สำคัญสองเรื่องคือ 

เรื่องแรก รัฐบาลหลังเลือกตั้งคือรัฐบาลที่จะสนองงานการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งเป็นพระราชพิธีสำคัญที่สุดพิธีหนึ่งของสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักพระราชวัง และไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาล โดยรัฐบาลมีหน้าที่ในการสนองงานเพื่อให้การทั้งหลายได้เป็นไปตามโบราณราชประเพณี และเป็นเกียรติยศอันยิ่งใหญ่ของราชอาณาจักรไทยและพระบรมราชจักรีวงศ์ 

ดังนั้นใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ประชาชนชาวไทยทั้งประเทศจะต้องพินิจไตร่ตรองให้จงดี เพื่อที่จะได้นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่มาสนองงานสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ในมงคลวโรกาสอันสำคัญยิ่งนี้ 

เรื่องที่สอง จะต้องคำนึงถึงผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่มีความเป็นไทแก่ตัว มีสติปัญญาความสามารถและมีศักยภาพที่จะทำให้การพระราชพิธีครั้งนี้ยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ สามารถรักษาดุลความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทุกฝ่ายได้อย่างดียิ่ง ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญในการเชิดชูประเทศไทยของเราให้ยิ่งใหญ่เด่นเป็นสง่าในสายตาชาวโลก และในสถานการณ์ที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียนด้วย 

ดังนั้นประชาชนชาวไทยทุกคนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งจึงต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ จะต้องตั้งความกตัญญูรู้คุณแผ่นดินและก้าวข้ามพ้นความขัดแย้ง ความชอบ ความชังส่วนบุคคล โดยถือผลประโยชน์แห่งชาติเป็นที่ตั้ง ดังนี้แล้วประเทศไทยก็จะมีเกียรติยศเกียรติศักดิ์ยิ่งใหญ่ในสายตาชาวโลกสืบไป 

ประการที่สอง คือการแถลงจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็อึมครึมกันอยู่ว่าจะยืนอยู่ข้างไหน เอาข้างไหน โดยล่าสุดนี้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้แถลงอย่างเป็นทางการว่าไม่เอาด้วยกับพรรคพลังประชารัฐ และถ้าทีมเศรษฐกิจของพรรคพลังประชารัฐยังเป็นชุดเดิมก็ไม่มีทางที่จะร่วมงานกันได้ 

การแถลงดังกล่าวทำให้พรรคประชาธิปัตย์มีสถานะเป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลทันที เพราะสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้จากผลโพลและกระแสทั้งหมดที่ออกมานั้นสามารถจัดก๊กการเมืองได้เป็น 3 ก๊ก และ 1 กลุ่ม คือ 

ก๊กแรก คือก๊กที่สนับสนุนพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ได้แก่พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคประชาชนปฏิรูป ซึ่งทั้งสามพรรคนี้มีอดีต ส.ส. รวมกันประมาณ 85 คน โดยมีกลุ่มนายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นขุนพลใหญ่ในการรณรงค์เลือกตั้งทั่วประเทศของพรรคพลังประชารัฐ 

ก๊กที่สอง คือก๊กที่ต่อต้านพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และสนับสนุนนายทักษิณ ชินวัตร ได้แก่พรรคเพื่อไทย พรรคไทยรักษาชาติ พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคอนาคตใหม่ 

ก๊กที่สาม คือพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากับพรรคเพื่อไทยมาตั้งแต่ต้น และวันนี้ก็แถลงไม่ร่วมด้วยกับพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งก๊กนี้อาจจะรวมพรรคพลังธรรมใหม่ด้วยก็ได้ เพราะเคยประกาศไม่ยอมรับการสืบทอดอำนาจของ คสช. แต่ก็ปฏิเสธนายทักษิณ ชินวัตร 

กลุ่มที่สี่ ได้แก่พรรคซึ่งยังไม่ชัดเจนในทางการเมืองว่าจะเอาข้างไหน สนับสนุนใครกันแน่ ได้แก่พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคชาติพัฒนา ซึ่งทั้งสามพรรคนี้เคยร่วมหัวจมท้ายกับพรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทยมายาวนานแล้ว 

ดังนั้นการกลับคืนสู่อำนาจนายกรัฐมนตรีและเป็นรัฐบาลของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสองประการสำคัญคือ 

ประการแรก ต้องได้รับคะแนนเสียงในการประชุมรัฐสภา ซึ่งมี ส.ว. 250 คน ร่วมลงคะแนนเสียงด้วย จำนวนไม่น้อยกว่า 376 เสียง จึงจะสามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ 

ประการที่สอง จะต้องมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร จึงจะสามารถบริหารราชการแผ่นดินได้ นั่นคือจะต้องมีเสียงในสภาผู้แทนราษฎรเกิน 250 คน และปกติก็ต้องมีถึง 280 คนจึงจะเพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่ 

ดังนั้นสิ่งที่จะชี้ขาดในการทำหน้าที่เป็นรัฐบาลอย่างสง่างามจึงอยู่ที่เสียงในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งแม้จะมี ส.ว.แต่งตั้งถึง 250 คน ก็มีอำนาจเฉพาะการเลือกนายกรัฐมนตรี แต่กลับไม่มีอำนาจที่จะประคองรัฐบาลให้ดำรงอยู่ได้ ถ้าหากมีเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎร 

นี่คือสิ่งที่น่าระทึกใจ และจะต้องจับตาดูหั่งเช้งของพรรคการเมืองต่าง ๆ ตั้งแต่วันปลดล็อคการเมืองเป็นต้นไปด้วย.

ประยุทธประชุมกอรมน.ทั่วประเทศ

“บิ๊กตู่” เตรียมประชุม กอ.รมน.ทั่วประเทศ มอบนโยบาย  และฟังสรุปผลการปฏิบัติงาน และการแถลงแผนการปฏิบัติงาน ปี62 ยึด แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี เป็นแนวทาง
 
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี/ผอ.รมน. จะเป็นประธาน การประชุมสรุปผลการปฏิบัติงาน ประจำปี 2561 และแถลงแผนการปฏิบัติงาน ประจำปี 2562 ของ กอ.รมน. 11ธ.ค.61 ที่  ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล 

พล.ต. ธนาธิป สว่างแสง โฆษก กอ.รมน. เปิดเผยว่า กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)  เผยว่า  จะมีการเสนอผลการปฏิบัติงานที่สำคัญผ่านบอร์ดนิทรรศการ และสื่อมัลติมีเดียร์ในรูปแบบต่างๆของ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ และ สำนักกิจการมวลชนและสารนิเทศ, ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1-5และกอ.รมน.ภาค 1–4
และการนำเสนอแผนงานที่จะดำเนินการต่อไปโดยวีดิทัศน์

เพื่อให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงและประชาชนได้รับทราบผลการปฏิบัติงานของ กอ.รมน.ในปีที่ผ่านมาและความพร้อมในการดำเนินงานรองรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมทั้งแผนการปฏิบัติงานในปี 2562 

และเพื่อเป็นโอกาสให้ผู้บริหารระดับสูงของ กอ.รมน.และหัวหน้าส่วนราชการ    ด้านความมั่นคงได้รับทราบนโยบายและแนวทางในการปฏิบัติงานด้านความมั่นคงจาก นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ได้ยึดถือเป็นแนวทาง ในการปฏิบัติต่อไป 

โดยจะมี สมาชิกคณะกรรมการอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร, คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง, ผู้แทนส่วนราชการในคณะกรรมการบูรณาการและขับเคลื่อนงานการรักษาความมั่นคงภายใน,ผู้บริหารระดับสูงของ กอ.รมน., ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด และกรุงเทพมหานคร, รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด และกรุงเทพมหานคร (ฝ่ายทหาร), และหัวหน้าหรือผู้แทนส่วนราชการด้านความมั่นคงที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมด้วย

พลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี /ผอ.รมน. จะมอบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติงานของ   กอ.รมน.ประจำปี 2562 โดยให้ยึดถือและปฏิบัติให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินและมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ตั้งรบ.ได้แต่ไม่ชอบธรรม

ยำใหญ่

หวั่นมีความชอบธรรมตํ่ำ

แนะบิ๊กตู่ถ้าจะนั่งนายกต่อ

ต้องใจกว้างและเป็นธรรม

ปรับวิธีคิดการทำงานใหม่

“ธีรยุทธ บุญมี” มาแล้ว อัด คสช.ประมูลสัมปทานคะแนนเสียง ไม่ต่างยุคคนแดนไกล “ตั้งใจสืบทอดอำนาจ” เชื่อตั้งรัฐบาลสมัยหน้าได้ แต่ความชอบธรรมตกต่ำ พร้อมบอกกลยุทธ์ “ประยุทธ์” หากอยากนั่งนายกรัฐมนตรีต่อไป ต้องมีใจกว้าง เป็นธรรม รวมทั้งปรับวิธีคิดวิธีการทำงานใหม่ ด้าน 4 รมต.พลังประชารัฐปรับแผนใหม่ยังไม่ลาออก

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน14ตุลา2516 ถนนราชดำเนิน นายธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการอิสระ กล่าวปาฐกถา ’45ปี14ตุลา’ครั้งที่4ในหัวข้อ‘มองประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง ปัญหาที่ใหญ่กว่าวิกฤตการเมือง’โดย นายธีระยุทธ ระบุว่า ประเด็นการเมืองตนเห็นว่า เวลานี้มีวิกฤตการเมืองใหม่ คือ‘วิกฤตที่เกิดจากความพยายามของกลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดที่จะสถาปนาอำนาจของตนเอง’โดยช่วง10กว่าปีที่ผ่านมาในช่วงบ้านเมืองวุ่นวาย มีการก่อตัวของกลุ่มทุนใหญ่เกิดขึ้นประมาณ 10กลุ่ม มีอิทธิพลครอบงำเศรษฐกิจสำคัญๆไว้ได้เกือบทั้งหมดและมักจะเข้าไปมีอิทธิพลครอบงำการเมืองจนเกิดศัพท์เฉพาะที่เรียกว่า การปกครองใต้อำนาจโดยตรงหรืออ้อมของคนกลุ่มน้อย คือทุนอิทธิพล โดยสามารถโน้มน้าว จูงใจ หรือบังคับให้รัฐ พรรคการเมือง ข้าราชการ สื่อและสังคม ให้คล้อยตามได้

เผยคสช.จ้องต่อท่อนานแล้ว

นายธีรยุทธ กล่าวอีกว่า ตนเห็นว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ( คสช.)ตั้งใจสืบทอดอำนาจมานานแล้ว เห็นได้ชัดตั้งแต่การล้มร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณและคณะ เป็นผู้ร่าง มาเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับในปัจจุบัน โดยให้พรรคการเมืองมีสิทธิเสนอชื่อคนนอกเป็นนายกฯ เพิ่มทั้งจำนวนและอำนาจของ สว.โดยมี 250คน และให้สิทธิ์เลือกนายกฯ การดึงกลุ่มการเมือง‘ยี้ - มาร’ มารวมเป็นพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โดยไม่สนเสียงวิจารณ์ ถือเป็นการการันตีว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นนายกฯคนต่อไป

เชื่อ’บิ๊กตู่’ตั้งรบ.แต่ชอบธรรมต่ำ

‘พล.อ.ประยุทธ์ คงจะจัดตั้งรัฐบาลหน้าขึ้นได้ แต่ความชอบธรรมจะต่ำ เพราะรูปแบบการประสานประโยชน์ระหว่างพลังทหาร ข้าราชการ กลุ่มอนุรักษ์และกลุ่มทุนใหญ่ ปรากฏชัดเจนเรื่อยๆ คสช.ทำลายความน่าเชื่อถือขององค์กรอิสระ ปิดกั้นการตรวจสอบ ซึ่งพฤติกรรมไม่ต่างจากระบอบทักษิณในอดีต คือมีการเอารัดเอาเปรียบก่อนเลือกตั้ง การเลือกตั้งปี2562ก็คือ การประมูลสัมปทานคะแนนเสียงเป็นรัฐบาล คล้ายการเลือกตั้งปี2544 ซึ่งพรรคของ คุณทักษิณ ก็ทำได้เก่ง เพราะประมูลเสียงจากชาวบ้านอย่างได้ผล มีการต่ออายุสัมปทานซ้ำหลายรอบ โดยใช้นโยบาย‘ประชานิยม’ประมูลเสียงจากชาวบ้านอย่างได้ผล ซึ่งดูจากพฤติกรรมของพรรค พปชร.บ่งชี้ว่า จะซ้ำรอยเหมือนกับพรรคคุณทักษิณ ซึ่งถ้าฝ่ายสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ชนะ แต่ความชอบธรรมต่ำ จะทำให้รัฐบาลเจอปัญหารุมเร้าตั้งแต่ต้น’นายธีรยุทธ กล่าว

แนะ’พท.-ปชป.’จับมือสู้ทหาร

นายธีรยุทธ กล่าวด้วยว่า ความขัดแย้ง ‘เหลือง-แดง’ ‘นปช.-กปปส.’ปัจจุบันถือว่าเป็นภาวะปกติแล้ว ไม่จำเป็นต้องเรียกร้องให้แต่ละฝ่ายเปลี่ยนจุดยืน อุดมการณ์ เพราะเวลาและสถานการณ์จะช่วยให้มีการปรับตัวให้ระบอบการเมืองดำเนินไปตามสภาพเหมือนเดิมได้ ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งหน้าตนคาดว่า ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)และพรรคเพื่อไทย (พท.) จะไม่มีใครใช้วาทกรรมและนโยบายสุดขั้วมาหาเสียง แต่จะต้องหาแง่มุมวิจารณ์ผลงาน พล.อ.ประยุทธ์ หรือ คสช.และต้องหาสิ่งใหม่กับสังคมและประชาชน

“ขณะนี้พรรคพท.แตกออกเป็นหลายพรรคย่อย ส่งผลโครงสร้างการเมืองที่ดีขึ้น คือมีกลุ่มการเมืองที่มีการตัดสินใจเป็นอิสระมากขึ้น การขึ้นกับตัวบุคคลและบางครอบครัวลดลง ถ้าพรรค พท.,ปชป.และทุกพรรค พัฒนานโยบายให้สร้างสรรค์ เว้นวาทกรรมเกลียดชังสุดขั้วจะทำให้การเลือกตั้งเดินไปด้วยดี มีโอกาสร่วมมือกันแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ถ้าทำโดยร่วมกันแสดงเหตุผลที่เหนือกว่า ก็อาจจะทำได้สำเร็จ โดยไม่ต้องเผชิญหน้าแบบรุนแรงกับฝ่ายทหารอีก’ นายธีรยุทธ กล่าว

บิ๊กตู่ต้องใจกว้าง-เป็นธรรมอยู่ยาว

นายธีรยุทธ ให้สัมภาษณ์หลังปาฐกถาถึงการเลือกตั้ง24กุมภาพันธ์ ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เริ่มต้นไม่ค่อยดีเท่าไหร่ มีคำกล่าวหาเรื่องดึงนักการเมืองที่เครดิตไม่ค่อยดีเข้ามา ซึ่งตนติงไปว่า อย่าทำถึงขั้นใช้อำนาจที่ไม่ชอบ จนลามไปถึงการเลือกตั้งสกปรก หรือโกงการเลือกตั้ง ซึ่งเรื่องนี้จะต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้ประชาชนเกิดความไม่พอใจ ที่สำคัญ พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องถือบทการเป็นนายกฯที่บริหารประเทศ ซึ่งกำลังจะมีการเลือกตั้ง นายกฯจะต้องมีความเป็นธรรม ต้องใจกว้างที่สุด เมื่อถามว่า การเลือกตั้งครั้งต่อไป พล.อ.ประยุทธ์ จะได้เป็นนายก 100เปอร์เซ็นต์ใช่หรือไม่ นายธีรยุทธ กล่าวว่า มีโอกาสสูงมาก เพราะมีเสียงสว.250เสียงและเสียงเพิ่มเติมอีก125-126เสียงจากกลุ่มสส.ที่ดึงเข้ามา ทำให้มีคะแนนเยอะ หรือพรรคอื่นก็พร้อมจะเข้าร่วม หากเห็นว่า 125เสียง เป็นเกณฑ์พอดีที่จะดึงจากคนเหล่านี้มาได้

ปรับบริหารใหม่-ปชช.มีส่วนร่วม

เมื่อถามว่า ที่ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะกลับมาเป็นนายกฯอีกครั้งประชาชนจะยอมรับหรือไม่ นายธีรยุทธ กล่าวว่า หากไม่โกงเลือกตั้ง ไม่ถูกหาว่าเลือกตั้งสกปรก ทุกคนจะยอมรับ ซึ่งทุกคนจะยอมรับกติกานี้ไปก่อนและจะหาทางแก้ไข แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จะมีแรงกดดัน ซึ่งตัว พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องเปลี่ยนวิธีคิดในการทำงานใหม่ เพราะก่อนหน้านี้ตนมองว่า พล.อ.ประยุทธ์ คิดแต่คำว่า รัฏฐาธิปัตย์ พูดอะไรทำอะไรมีความถูกต้อง แต่ครั้งนี้จะเจอบรรยากาศที่มีพรรคการเมืองอื่น กลุ่มพลังอื่นและมีเสียงประชาชนเข้าร่วม จึงทำให้เปลี่ยนไป ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ เจอปัญหาซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ลำบาก ทั้งนี้ หาก พล.อ.ประยุทธ์ ปรับวิธีคิดและวิธีทำงาน ก็จะยังเป็นนายกฯ ต่อไปได้ ที่น่าเป็นห่วงคือ การคอรัปชัน ถ้ามีปัญหาใหญ่เกิดขึ้นจะทำให้ฐานะรัฐบาลสั่นคลอนเป็นอย่างมาก ฉะนั้นรัฐบาลที่มีเสียง สว.เข้ามาหนุนหากมีปัญหาคอร์รัปชันแล้วไม่แก้ไขให้ได้ ก็จะนำมาซึ่งอายุรัฐบาลที่จะไม่ยืนยาว


'ดร.อาทิตย์'เตือนคสช.หาทางลงก่อนประเทศเข้าสู่ภาวะปั่นป่วนจลาจลยุ่งเหยิง

10 ธ.ค.61- ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อดีตประธานรัฐสภา แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Arthit Ourairat ระบุว่า 

อย่าคิดว่าเป็น ผบ.ทบ. แล้วทำรัฐประหารแล้ว จะทำได้ทุกอย่าง

คสช. และ ที่ปรึกษาพรรค หัวหน้าพรรค รองหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค โฆษกพรรค พปชร.ทุกคน คือมือใหม่หัดขับทางการเมืองมาเฟียน้ำเน่าของไทยทั้งสิ้น 

จงรีบหาทางลงเสียเถิด ก่อนที่จะเข้าสู่การเลือกตั้งไม่มีทางลง และจะนำประเทศเข้าสู่ภาวะปั่นป่วนจลาจลยุ่งเหยิง.

ไม่ต่างยุคทักษิณ 'ธีรยุทธ' ซัดบิ๊กตู่ประมูลสัมปทานคะแนนเสียง ตั้งรัฐบาลได้แต่ความชอบธรรมจะต่ำ

10 ธ.ค.61 - ศ.ธีรยุทธ บุญมี ปาฐกถา 45 ปี 14 ตุลา ครั้งที่ 4  ที่มหาวิทยาลัยรังสิต ในหัวข้อ“มองประเทศไทยหลังการเลือกตั้งปัญหาที่ใหญ่กว่าวิกฤติการเมือง” โดยช่วงหนึ่งกล่าวว่าพลเอกประยุทธ์คงจัดตั้งรัฐบาลหน้าขึ้นได้ แต่ความชอบธรรมจะต่ำเพราะรูปแบบการประสานประโยชน์ระหว่างพลังทหาร ข้าราชการ กลุ่มอนุรักษ์ และกลุ่มทุนใหญ่ ปรากฏชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ คสช. ทำลายความน่าเชื่อถือขององค์กรอิสระ เช่น ปปช. กกต. ปิดกั้นการตรวจสอบ พฤติกรรมเลือกตั้งก็ไม่ต่างไปจากระบอบทักษิณในอดีต คือมีการเอารัดเอาเปรียบก่อนเลือกตั้ง 

เช่น การดิสเครดิตนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามโดยอำนาจรัฐประหารที่ตนมี จับกุม ดำเนินคดี หรือเรียกมาอบรม ไปจนถึงการแจกเงินคนจน คนแก่ ข้าราชการ ชาวไร่ ชาวสวน บัตรเครดิตคนจน แจกซิมฟรี อินเทอร์เน็ตฟรี ลดภาษี ช็อปช่วยชาติ ขึ้นรถไฟฟ้าฟรี ฯ และรูปแบบโดยรวมการเลือกตั้งปี 2562 ก็คือการประมูลสัมปทานคะแนนเสียงเป็นรัฐบาล คล้ายการเลือกตั้งปี 2542 ซึ่งพรรคทักษิณได้พัฒนาจากการซื้อเสียงธรรมดามาเป็นการประมูลสัมปทานเพื่อจัดตั้งรัฐบาล โดยใช้ ประชานิยมประมูลเสียงจากชาวบ้านอย่างได้ผล ได้รับการต่ออายุสัมปทานซ้ำหลายรอบ การเลือกตั้งครั้งนี้ดูจากพฤติกรรมของพรรคพลังประชารัฐบ่งว่าจะซ้ำรอยการประมูลสัมปทานคะแนนเสียงเช่นกัน

"ต้องขอวิงวอนพลเอกประยุทธ์ กองทัพ และนายทหารที่มีวิจารณญาณ ช่วยระงับไม่ให้ฝ่ายต่าง ๆ ใช้อภินิหารกฎหมายหรืออำนาจอื่น ๆ จนถึงขั้นมีเสียงกล่าวหาว่าเป็น การเลือกตั้งสกปรก หรือ โกงการเลือกตั้ง แบบเดียวกับสมัยเผด็จการทหารปี 2500"

ศ.ธีรยุทธ กล่าวว่า ความชอบธรรมต่ำจะทำให้รัฐบาลประยุทธ์ถ้าชนะการเลือกตั้งจะเจอปัญหารุมเร้าตั้งแต่เริ่มต้น และจำเป็นต้องเปลี่ยนระบบคิดแบบทหาร หรือยังหลงคิดว่าตนเองเป็นรัฏฐาธิปัตย์มีสิทธิชอบธรรมทุกประการ ให้มาเป็นการยอมรับความจริงของโลกยุคปัจจุบันที่มีพลังมีความคิดที่หลากหลาย ต้องมีการปรึกษาหารือ ปรองดอง และแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ ให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น จึงจะมีโอกาสเป็นรัฐบาลที่ได้รับการยอมรับบทบาทการบริหารประเทศไปได้

4รมต.ไม่ออก

พปชร.ตั้ง 11 อรหันต์เฟ้นผู้สมัคร

วันเดียวกันเวลา 13.00 น. ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จัดประชุมใหญ่ครั้งที่ 2 เพื่อลงมติเลือกกรรมการสรรหาผู้สมัคร ส.ส.จำนวน 11 คน มีนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค พปชร. นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รองหัวหน้าพรรค นายวิเชียร ชวลิต นายทะเบียนพรรคการเมือง นายอิทธิพล คุณปลื้ม ผอ.พรรค นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรค พร้อมกรรมการบริหาร และพร้อมสมาชิกกว่า 500 คนเข้าร่วมประชุม นายอุตตมเปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติเลือกกรรมการสรรหาผู้สมัคร ส.ส.จำนวน 11 คน แบ่งเป็นกรรมการบริหารพรรค 4 คน ได้แก่ นายสนธิรัตน์ นายณัฏฐพล นายอิทธิพลและนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ประเภทตัวแทนสมาชิก 7 คน ได้แก่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายวิรัช รัตนเศรษฐ พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล นายสุชาติ ตันเจริญ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่าและนายสุพล ฟองงาม พร้อมเริ่มทำงานทันที เมื่อได้ข้อสรุปตัวว่าที่ผู้สมัครจะส่งให้คณะกรรมการบริหารพรรคพิจารณา ก่อนส่งให้ กกต.ภายในเดือน ม.ค.2562

ให้ กกต.กำหนดบัตรเลือกตั้ง

เมื่อถามถึงเสียงเรียกร้องให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง แบบบัตรเดียวเบอร์เดียว นายอุตตมตอบว่า เราเคารพในกฎกติกาการเลือกตั้ง เชื่อว่า กกต.ต้องรับฟังความเห็นทุกฝ่าย เพื่อให้การเลือกตั้งเกิดความเป็นธรรม เป็นที่รับได้ เมื่อถามว่าหลายพรรคออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วยกับการตัดโลโก้และชื่อพรรค ออกจากบัตรเลือกตั้ง นายอุตตมตอบว่า สำคัญที่สุดผลสรุปออกมาอย่างไรต้องเกิดความเป็นธรรมกับทุกพรรค ไม่ก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ ปล่อยให้ กกต.ตัดสินใจ และต้องชี้แจงเหตุผลที่ชัดเจน สำหรับพลังประชารัฐไม่ว่าหน้าตาบัตรเลือกตั้งออกมาอย่างไร ถ้าเป็นธรรมเราพร้อม คิดว่าการตัดโลโก้และชื่อพรรค ไม่ทำให้พลังประชารัฐไม่ได้เปรียบอย่างที่วิจารณ์กัน

ออกลูกพลิ้วไขก๊อกเมื่องานจบ

เมื่อถามว่า ไทม์ไลน์เลือกตั้งเริ่มชัดเจนแล้ว 4 รัฐมนตรีจะลาออกเมื่อใด นายอุตตมตอบว่า ให้รอดูเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม รัฐมนตรีทั้ง 4 คนล้วนมีภารกิจต้องทำเพื่อประเทศชาติ และตั้งใจจริงจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ให้งานต่างๆเสร็จสิ้นสมบูรณ์ อยากให้ดูว่าปัจจุบันนี้เราได้ทำอะไรที่หลุดออกไปจากกรอบหรือไม่ เราไม่ได้เอาเปรียบพรรคอื่น เมื่อถามย้ำว่าจะลาออกก่อนหรือหลังเปิดให้หาเสียง นายอุตตมตอบว่า เราต้องการทำงานให้สมบูรณ์ก่อน มิเช่นนั้นจะเกิดผลกระทบต่อประเทศ เราต้องการทำงานที่รับผิดชอบให้ถึงฝั่ง เมื่อถามถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์การจัดโต๊ะจีนระดมทุนเข้าพรรค 600 ล้านบาท นายอุตตมตอบว่า ฝ่ายกฎหมายของพรรคดูแลอยู่ ทำหนังสือถึง คสช. และ กกต. เพื่อขออนุญาตดำเนินการในส่วนนี้แล้ว ให้รอดู

ปรับแผนให้ 4 รมต.อยู่เป็นกันชน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หลังเกิดกระแสกดดันให้ 4 รัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐ คือ นาย อุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม หัวหน้าพรรค นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รองหัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เลขาธิการพรรค และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โฆษกพรรค แสดงสปิริตลาออกจากตำแหน่ง ล่าสุดผู้ใหญ่ในรัฐบาลปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ใหม่ ไม่ให้ 4 รัฐมนตรีลาออก เพราะไม่มีกฎหมายบังคับ และยังขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลที่จะเป็นประโยชน์กับพรรคได้ และเหตุผลสำคัญเพื่อเป็นกันชนและลดแรงเสียดทานให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หาก 4 รัฐมนตรีลาออก และ พล.อ.ประยุทธ์ต้องมาอยู่ในบัญชีแคนดิเดตนายกฯของพรรค ต้องถูกกระแสเรียกร้องให้ลาออกหนักหน่วงแน่ อาจส่งผลต่อคะแนนนิยมในตัว พล.อ.ประยุทธ์และพรรคได้

“สุวิทย์” ฮึ่มฟัน ขรก.เกียร์ว่าง

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า เตรียมลงพื้นที่ จ.หนองบัวลำภู ในวันที่ 12 ธ.ค. ก่อนการประชุม ครม.สัญจร ที่ จ.หนองคาย เพื่อดูโครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม ที่วิทยาลัยเทคนิคหนองบัวลำภูสร้างแรงบันดาลใจสู่สายอาชีพ “นักนวัตกร” ผลิตนวัตกรรมใช้ได้จริง ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยยุค 4.0 หลังจากนี้เตรียมเดินหน้าตั้งกระทรวงใหม่ให้เร็วที่สุด ให้ทันในรัฐบาลนี้ ส่วนข้าราชการกระทรวงฯที่กำลังเกียร์ว่างไม่ยอมทำงาน หรือมอบหมายงานให้แล้วไม่ทำ บางหน่วยงานใช้งบประมาณไม่หมด ไม่มีประสิทธิภาพ หรือทำหนังสือขอเปลี่ยนแปลงให้หน่วยงานอื่นทำแทน พอเห็นว่าใกล้เลือกตั้งแล้วกลับทำหนังสือมาของบประมาณกลับไปดูแลเอง ทั้งที่ผ่านมาไม่ยอมทำงาน อย่าคิดว่าตนไม่รู้หรือคิดว่าไม่มีเวลาบริหาร หรือต้องลาออกก่อน ขอบอกว่าข้าราชการเหล่านั้นกำลังคิดผิด เพราะตนไม่เพียงยังไม่ลาออกในระยะอันใกล้นี้ ยังมีแผนจัดการกับพวกข้าราชการที่ชอบเกียร์ว่างด้วย

เอาแน่ชง “ประยุทธ์” อยู่ในบัญชี

นายสุวิทย์กล่าวอีกว่า การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นพรรคเราตั้งเป้าว่าจะชนะใจประชาชน เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ส่วนตัวยังคงยืนยันสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหนึ่งในรายชื่อนายกฯของพรรค เพราะเป็นคนกำหนดวิสัยทัศน์ไทยแลนด์ 4.0 นโยบายประชารัฐลดความเหลื่อมล้ำ การแก้ปัญหาให้บ้านเมืองต้องมีความต่อเนื่อง และ พล.อ.ประยุทธ์คือความต่อเนื่องต่อจากนี้ ส่วนการจะสื่อสารด้านนโยบายให้ประชาชนเข้าใจเป็นเรื่องที่ท้าทาย ต้องทำให้ประชาชนเข้าใจภูมิทัศน์ใหม่ทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปประเทศต่อเนื่อง การสร้างความเข้มแข็งสู่ท้องถิ่น ลดความเหลื่อมล้ำภายใต้โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่ใช่เรื่องประชานิยม แต่เป็นการสร้างสังคม 2 แบบคือ เติมให้กับคนที่ขาด และคนที่เกินต้องรู้จักปัน หลังปลดล็อกให้หาเสียงได้ พรรคจะนำนโยบายเน้น 4 คำคือ สร้าง-เสริม-ปรับ-เปลี่ยน สร้างหลักประกันสังคม เสริมความเข้มแข็งฐานราก ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เปลี่ยนการ บริหารราชการไปสู่รัฐที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง มาทำความเข้าใจกับประชาชน

โฆษกปัดนายกฯชงตัดโลโก้พรรค

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และกรรมการบริหาร พปชร. กล่าวชี้แจงกรณีมีข่าว พล.อ.ประยุทธ์ เสนอตัดโลโก้และชื่อพรรคในบัตรเลือกตั้งว่า ยืนยันว่านายกฯไม่ได้ เป็นผู้เสนอ แต่มีตัวแทน 1-2 พรรคสอบถามกับ กกต. และเรื่องนี้ยังเป็นเพียงแนวทางเบื้องต้นของ กกต. นายกฯเพียงระบุจะเลือกใครต้องจำให้ได้ ไม่ได้ไปก้าวก่ายการทำงาน กกต. ยืนยันไม่ได้เอื้อพรรคใดทั้งสิ้น เพราะเมื่อเข้าคูหาประชาชนคงไตร่ตรองมาแล้ว เชื่อในวิจารณญาณและการตัดสินใจของประชาชน อย่าคิดแทนและดูถูกประชาชน ส่วนที่มีข้อเสนอให้แก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ในมาตรา 48 ให้พรรคการเมืองกลับมาใช้เบอร์เดียวทุกเขตเลือกตั้งนั้น รัฐบาลไม่ก้าวก่ายปล่อยให้เป็นหน้าที่ กกต.



ตั้งหลักให้ดี

อนิจจัง วะตะสังขารา ยังไม่ทันเลือกตั้ง ยังไม่ ทันปลดล็อกการเมือง “เจ็ดเสือ กกต.” ก็โดนกระแสรุมถล่มเละเป็นโจ๊กชามโต

ทำให้ภาพลักษณ์ กกต. ชุดใหม่ถลอกปอกเปิกอย่างรวดเร็ว

ประเด็นสำคัญที่ กกต.ถูกวิจารณ์ไม่มีชิ้นดี กรณี จะพิมพ์บัตรเลือกตั้ง ส.ส. โดยไม่ใส่โลโก้พรรคการเมือง

อ้างเหตุผลกำปั้นทุบดินว่ากลัวเกิดปัญหาขนส่งบัตรเลือกตั้ง ส.ส.ล่วงหน้านอกพระราชอาณาจักรไม่ทัน

ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาวุ่นวาย กกต.จึงตัดโลโก้พรรคการเมืองออกไป ให้พิมพ์แต่หมายเลขผู้สมัครอย่างเดียว!!

“แม่ลูกจันทร์” ชี้ว่าการที่ กกต.แบไต๋จะไม่ใส่โลโก้พรรคการเมืองในบัตรเลือกตั้ง ส.ส.จะทำให้ประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งสับสนวุ่นวายอย่างแน่นอน

เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่จำเบอร์ผู้สมัครไม่ได้ จำได้แต่ชื่อพรรคการเมือง

แทนที่ กกต.จะช่วยให้ประชาชนใช้สิทธิเลือกตั้งสะดวกขึ้น

กกต.ดันสร้างเงื่อนไขให้ประชาชนไม่สะดวกยิ่งกว่าเดิม

ข้อสำคัญ รัฐธรรมนูญ คสช.เปลี่ยนกติกาเลือกตั้ง ส.ส.จาก “ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ” ที่ใช้กันมาจนเคยชิน

เปลี่ยนเป็น “ระบบบัตรเลือกตั้ง ใบเดียว” เลือกทั้ง ส.ส.เขตและ ส.ส.บัญชีรายชื่อพร้อมกัน

แถมยังเพิ่มเงื่อนไขพิสดารให้ผู้สมัคร ส.ส.พรรคเดียวกันคนละเขตเลือกตั้งต้องใช้เบอร์เลือกตั้งแตกต่างกัน

ยิ่งเพิ่มความสับสนอลหม่านให้ประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งยิ่งขึ้นเป็นทวีคูณ

“แม่ลูกจันทร์” กระชุ่น กกต. “ต้อง” พิมพ์โลโก้พรรคการเมืองในบัตรเลือกตั้ง ส.ส.อย่างเดิม

เพื่อให้ประชาชนกาบัตรเลือกตั้งได้ถูกต้องตามที่ตั้งใจ

การที่ กกต.จะตัดโลโก้พรรค การเมืองออกไป จึงเป็นเรื่องไม่เข้าท่าเอาซะเลย

ถ้ามองแง่ร้าย การที่ กกต.ไม่ใส่โลโก้ชื่อพรรคการเมืองในบัตรเลือกตั้ง

เท่ากับเปิดช่องให้เกิดบัตรเสียจำนวนมากเป็นประวัติการณ์

ยิ่งมีบัตรเสียมากเท่าไหร่ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย 2 พรรคใหญ่ก็จะได้คะแนนรวมลดลง

เมื่อเอาคะแนนรวมไปเฉลี่ยเป็นสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อทั้ง 2 พรรคจะได้ที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อน้อยลง

การไม่ใส่โลโก้พรรคการเมืองในบัตรเลือกตั้งจึงชวนให้สงสัยในความเป็นกลางของ กกต.??

“แม่ลูกจันทร์” ไม่ต้องการซ้ำเติม กกต.ชุดใหม่ให้สังคมเสื่อมศรัทธาเร็วเกินไป

อยากส่งกำลังใจให้ 7 เสือ กกต.ชุดใหม่จัดการเลือกตั้งอย่างอิสระ เป็นกลาง โปร่งใส และเป็นธรรม

แต่ถ้าประเมินผลงาน 2 ชิ้นแรกของ กกต.ชุดนี้ ทั้งการแบ่งเขตเลือกตั้งแบบพิลึกกึกกือ และการไม่ยอมใส่โลโก้พรรคการเมืองในบัตรเลือกตั้ง ก็เริ่มมองเห็นความไม่ชอบมาพากล??

ขอให้สาธุชนจับตาการประกาศ “ระเบียบการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส.” ของ กกต.ในเร็วๆนี้ให้ดีๆ

เพราะมีข่าวว่า กกต.จะห้ามพรรคการเมืองเดินสายเปิดเวทีปราศรัยหาเสียงอย่างเดิม แต่จะอนุญาตให้ปราศรัยหาเสียงได้เฉพาะเวทีที่ กกต.จัดให้เอง

จริงเท็จประการใดโปรดอดใจรออีกแป๊บเดียว.

“แม่ลูกจันทร์”

เชื้อเก่าปมเสี่ยงใหม่

จะได้เลือกตั้งกันหรือเปล่า

ประโยคคำถามนี้กลับมาอื้ออึงอีกครั้งในหมู่นักวิเคราะห์การเมืองหรือแม้แต่ในวงของนักเลือกตั้งอาชีพระดับอ๋อง ชั้นเซียนของแต่ละป้อมค่าย

ประเมินจากอาการที่ยิ่งกว่า “จะตายห่ากันให้ได้”

ตามเงื่อนไขสถานการณ์เครียดๆบรรยากาศโคตรซีเรียสแบบที่คนยี่ห้อประชาธิปัตย์ แท็กทีมลูกข่าย “ทักษิณ ชินวัตร” 2 ค่ายการเมืองเจ้าถิ่นขาใหญ่รวมพลังกับ “เฟรชชี่” น้องใหม่ทีม “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ”

ดาหน้าถล่มปมบัตรเลือกตั้งไม่ติดแบรนด์ยี่ห้อพรรค

ชี้หน้าด่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับงาน คสช.ฝ่ายคุมเกมอำนาจ จงใจทำให้เกิดความสับสนในหมู่ผู้ใช้สิทธิกาบัตรผิดกาบัตรถูก เพื่อให้ผลคะแนนเพี้ยน สกัด “แบรนด์ขายดี” ยี่ห้อดัง

ตามจังหวะลูกติดพันมาจากรายการอาละวาดใส่ คสช.และ กกต. กรณีการแบ่งเขตเลือกตั้งแบบพิสดาร เอื้อประโยชน์ให้พรรคพลังประชารัฐ

จี้จุดเดือด “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ หัวหน้า คสช. นอตหลุดไปแล้ว

โดยแนวโน้มสถานการณ์ที่ “นักการเมืองอาชีพพันธุ์เก่า” แท็กทีม “เฟรชชี่พันธุ์ใหม่” ยกระดับอาการ “พยศ” เดินเกมรุกคืบกดดัน คสช. แบบได้คืบเอาศอก ได้ศอกเอาวา

จากเริ่มโหมกระแสตีปี๊บให้เลือกตั้ง ประจานเลื่อนเลือกตั้ง ตามด้วยการโหมประเด็นปลดล็อกกฎเหล็ก ต่อเนื่องมาตั้งแง่เรื่องรัฐบาลใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ให้พรรคหนุน พล.อ.ประยุทธ์ ลามไม่หยุดมาถึงการอาละวาดเรื่องแบ่งเขตและโวยวายปมบัตรเลือกตั้ง

ยื้อผลประโยชน์ของตัวเองแบบสุดกำลัง ตามฟอร์มเดิมๆ

แต่สิ่งที่เพิ่มเติมคือมุมของมวยจมูกไวอย่าง นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ โคตรเซียนยี่ห้อประชาธิปัตย์ ที่รีบออกมากระตุกขานักการเมืองอาชีพเชิงดักคอ “ตีกัน” ให้ระวังเข้าทางเกม “ล้มกระดาน” ของฝ่ายคุมเกมอำนาจ

ป่วนกันมาก ทหารจะหาเหตุไม่ให้เลือกตั้ง

แต่ถึงนาทีนี้ ไม่รู้บรรดามวยห้าว มวยบู๊ รุ่นเก๋า รุ่นฟันน้ำนม จะฟังกันหรือไม่ เพราะกำลังอยู่ในอารมณ์เมามัน โชว์ฟอร์มปั่นราคากันเต็มที่ เวทีเปิดต้องรีบชิงแจ้งเกิด ขืนช้ามีหวังดับ

และโดยรูปการณ์มันก็วนกลับไปติดล็อก “หลุมดำ” จับอาการที่นักการเมืองทั้งหน้าเก่า พันธุ์ใหม่ สะท้อนพฤติกรรมเดิมๆออกมา มันบ่งชัดเลยว่า “เชื้อร้าย” ต้นตอวิกฤติความแตกแยกในชาติที่ถูกอำนาจพิเศษกดทับไว้ 4-5 ปี ไม่ได้หายไปไหน

ไม่ทันปล่อยผี ก็แหกป่าช้าออกมาโชว์ฤทธิ์เดชท้าทายกระบองยักษ์

แถมแนวโน้ม “ดื้อยา” อำนาจพิเศษส่อกดอาการไม่อยู่

เหนืออื่นใด ภายใต้เงื่อนไขสถานการณ์ที่แฝงไปด้วยความ “อ่อนไหว” ในจังหวะที่ พล.อ.ประยุทธ์แจ้งกับประชาชนคนไทย ถึงห้วงเวลาพิเศษ กระบวนการเปลี่ยนผ่านขั้นตอนสำคัญ

ซึ่งนั่นหมายถึงการเมืองต้องนิ่งที่สุด

แต่โดยฉากสถานการณ์ที่ประเมินได้ด้วยสายตา อาการกระเพื่อมแรงๆจากเกมรุกหนักของนักการเมืองอาชีพที่ไล่บีบไล่กดดัน คสช.

ตามเกมที่เดาได้ นับจากวันปลดล็อกกฎเหล็กการเมือง ประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ปล่อยให้นักการเมืองหาเสียงกันได้เต็มที่ จนถึงวันเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ปีหน้า โดยกระบวนการต่อเนื่องกับการเลือกตั้ง ส.ว. การประกาศผลเลือกตั้ง ส.ส.รอบสุดท้าย

กว่าจะตั้งรัฐบาลชุดใหม่ได้ราวเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน 2562

เกือบครึ่งปีที่ พล.อ.ประยุทธ์ และ ครม.จะต้องผจญกับแรงกระแทก นักการเมือง ขบวนการต่อต้านทหารจะดาหน้าปฏิบัติการเตะตัดขา ดิสเครดิต ทำลายน้ำหนักของรัฐบาล

มีสถานะแค่ “รักษาการ” จนทำอะไรได้ไม่เต็มไม้เต็มมือ

ในอารมณ์ที่บรรดารัฐมนตรีก็จะพากันออกอาการ “เกร็ง” กลัวโดนสาวไส้ ปล่อยเกียร์ว่าง

แต่ที่ปล่อยมือไม่ได้เลยก็คือคิวของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ กัปตันทีมเศรษฐกิจ ที่ต้องแบกหินไว้บนบ่า สถานการณ์ภายในประเทศต้องประคองภาวะปากท้อง ท่ามกลางแรงถาโถมของ “social disruption” การค้าออนไลน์ที่กลายเป็นคลื่นซัดธุรกิจดั้งเดิมล้มระเนนระนาด

ขณะที่ภายนอกก็ต้องสู้กับความผันผวนเศรษฐกิจโลก จากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ไหนจะเหตุรุนแรงในประเทศฝรั่งเศสที่ม็อบอาละวาดรัฐบาลขึ้นภาษีน้ำมันลุกลามบานปลาย

เศรษฐกิจเหนื่อยหนัก เจอโจทย์ยากลำบาก

หากหลังเลือกตั้งยังไม่เห็นแสงสว่างการเมืองพ้นอุโมงค์ ก็เอวัง.

ทีมข่าวการเมือง