PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ทิศทาง การเมือง เลือกตั้ง กุมภาพันธ์ 2562 บนฐาน ความกลัว

ทิศทาง การเมือง เลือกตั้ง กุมภาพันธ์ 2562 บนฐาน ความกลัว



ไม่ว่าการเตะถ่วง หน่วง การเลือกตั้ง ไม่ว่าการสร้างกฎกติกาของกระบวน การเลือกตั้งให้มากด้วยความสลับซับซ้อน มาจาก 2 ปัจจัยอันสัมพันธ์กัน

ปัจจัย 1 คือ ความมั่นใจใน “อำนาจ”

หากไม่มั่นใจในอำนาจจะผลักดันออกมาไม่ได้หรอกในการกำหนด “โครงสร้าง” การเลือกตั้งที่ไม่เพียงแต่ต้องการบั่นทอนพรรคการเมืองมิให้พัฒนา เติบใหญ่

หากยังสร้างความสับสนในทุกวิถีทางให้กับ “ประชาชน”

เรียกตามศัพท์ทางรัฐศาสตร์ คือ อำนาจ “แข็ง” ซึ่งตรงกับสำนวนชาวบ้านที่รับรู้กัน ไม่ว่าทางเหนือ ใต้ ตก ออก อีสาน

นั่นก็คือ อำนาจ “ดิบ”

ขณะเดียวกัน ปัจจัย 1 ซึ่งไม่เชื่อแต่ก็ต้องเชื่อ นั่นก็คือปัจจัยอันเนื่องแต่ความหวาดกลัวโดยเฉพาะต่อพรรคใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทย พรรคใหม่อย่างพรรคประชาชาติ พรรคไทยรักษาชาติ พรรคเพื่อชาติ

ความกลัวจะพ่ายแพ้นั่นแหละนำไปสู่การดิ้น

มีเหตุผลที่ความหวาดกลัวจะกำหนดในแต่ละจังหวะก้าวอย่างต่อเนื่อง นับแต่เกิดรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา

ที่แหลมคมสุด-สุด คือ กลัว “เสียของ”

รูปธรรมแห่งการเสียของที่แหลมคมอย่างที่สุดก็คือ ความพ่ายแพ้ต่อการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเมื่อเดือนธันวาคม 2550 ต่อพรรคพลังประชาชน

ไม่ว่าจะเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 ต่อพรรคเพื่อไทย

ตลอด 4-5 ปีภายหลังรัฐประหารเป้าหมายหลัก คือ การกวาดล้างและจัดการกับคนของพรรคเพื่อไทย และรวมถึงคนที่เคยอยู่พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน

แต่ไม่ว่าจะดำเนินการอย่างไร คะแนนของพรรคเพื่อไทยก็ยังนำ

แม้กระทั่งการเปลี่ยนรูปแบบการเลือกตั้งทางพรรคเพื่อไทยก็งัดแผนแตกแยกตัวเป็นพรรคประชาชาติ พรรคไทยรักษาชาติ พรรคเพื่อชาติ มาต่อสู้


พรรคเพื่อไทยและพันธมิตรยังเป็นอันดับ 1

เป็นไปได้ว่าพรรคเพื่อไทยจะยังกำชัยในการเลือกตั้งเหมือนกับที่เคยชนะผ่านพรรคไทยรักไทยเมื่อปี 2544 และเมื่อปี 2548 เหมือนกับที่เคยชนะผ่านพรรคพลังประชาชนเมื่อปี 2550

ไม่ว่าจะเป็นโพล “เปิด” ไม่ว่าจะเป็นโพล “ลับ”

ยิ่งคำประกาศจากพรรคพลังประชารัฐที่เคยฮึกเหิมในเบื้องต้นว่าจะกวาด 350 ส.ส.แล้วลดลงมาเหลือเพียงขอให้ได้เพียง 150 ส.ส.

ยิ่งเท่ากับเป็นการยอมรับในความพ่ายแพ้

หากพรรคเพื่อไทย สามารถผนึกพลังร่วมกับ พรรคประชาชาติ พรรคไทยรักษาชาติ พรรคเพื่อชาติ หรือแม้กระทั่งพรรคอนาคตใหม่ได้

นั่นหมายถึงแนว “ต้าน” อันทรงพลังทางการเมือง

ความพยายามที่ปรากฏผ่านที่ประชุมร่วม คสช.กับพรรคการเมืองในวันที่ 7 ธันวาคม คือการโยนระเบิดลูกใหม่สร้างความปั่นป่วนภายในกระบวนการเลือกตั้ง

รากฐานก็ยังมาจาก “ความกลัว” ไม่แปรเปลี่ยน

การเลือกตั้งที่จะมาถึงในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ยิ่งวันยิ่งแจ่มชัดว่าจะเป็นครั้งแรกที่ประชาชนแทบไม่ได้ให้ความสนใจในเรื่อง “นโยบาย”

หากแต่อยู่ที่ว่า จะ “เอา” หรือ “ไม่เอา”

คำว่า “เอา” ในที่นี้หมายถึงจะเอา คสช. จะเอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คำว่า “ไม่เอา” ในที่นี้

หมายถึงจะไม่เอา คสช. จะไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เชื่อได้เลยว่าในที่สุดจะเป็นเช่นนี้ ไม่มีเป็นอื่น

ไม่มีความคิดเห็น: