PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2557

นายแพทย์จากมอ. ถ้ายิ่งลักษณ์มีท้องจะส่งเกวียนมารับที่กทม.ไปคลอดที่หาดใหญ...



 "ผมอยากจะขอร้องคุณยิ่งลักษณ์มี 3 ประเด็นเท่านั้นเอง 1 ..ถ้าคุณยิ่งลักษณ์ทำได้โดยการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนไทยทั้งประเทศอาจจะทำเหรียญยิ่งลักษณ์แก้ผ้าให้ก็ได้.. 2..ถ้ายิ่งลักษณ์มีท้อง โปรดฟังให้ดีนะครับ ผมจะส่งเขวียนมารับที่กรุงเทพ ไปคลอดที่หาดใหญ่ครับ แถมจะทำรีแพร์ชนิดสามีคนต่อไปต้องยกนิ้วให้ "พูดแล้วคุณอัญชะลียังสียวเลยนะครับ" 3.ยังไม่สายเกิดไปที่คุณยิ่งลักษณ์จะลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะยังไม่แก่เกิดไปที่จะเป็นางแบบปฏิทิน เพราะว่าประจำเดือนยังไม่หมดนะครับ 4. ถ้าไม่มีใครต้องการยิ่งลักษณ์จริงๆนะครับ ผมยินดีเป็นข้ารับใช้ ซื้อและเปลี่ยนโกเต๊กให้ตลอดไป" นายแพทย์จากมอ., 13 ม.ค.57 ปราศรัยข้อเรียกร้องต่อยิ่งลักษณ์ 4 ข้อ เรียกเสียงปรี๊ดจากนกหวีดสนั่นแยกปทุมวัน ที่มา : นาทีที่ 2.49 เป็นต้นไป นายแพทย์จากมอ. ถ้ายิ่งลักษณ์มีท้องจะส่งเกวียนมารับที่กทม.ไปคลอดที่ห http://www.youtube.com/watch?v=Pdw2sfDheaE

"ดร.เสรี"ปรี๊ดแตกให้สัมภาษณ์นักข่าวChannel 4 อังกฤษบนเวที



John Sparks ผู้สื่อข่าวจาก Channel 4 ของอังกฤษ ขึ้นเวทีราชประสงค์เพื่อขอสัมภาษณ์ "ดร.เสรี วงษ์มณฑา" ปรากฏว่าเขากลับถูกทำให้เป็น “ตัวตลก” บนเวที โดย ดร.เสรี ทำท่าเหมือนโชว์ความเหนือกว่า

จอห์นถามว่า “รัฐบาลยิ่งลักษณ์มาจากการเลือกตั้ง และคงไม่ยอมลงจากอำนาจ”
 เสรีบอกว่า “ถึงยิ่งลักษณ์มาจากการเลือกตั้ง ถ้าทำอะไรคอร์รัปชัน เราก็โค่นเธอจากตำแหน่งได้ก่อนวาระเสมอ”

จอห์นถามต่อว่า “ทำไมไม่ต่อต้านยิ่งลักษณ์โดยผ่านกระบวนการประชาธิปไตย ปล่อยให้ประชาชนตัดสินใจเองโดยผ่านการเลือกตั้งที่เสรีสิครับ”

เสรีบอกว่า
“เราไม่มีช่องทางที่จะบอกเรื่องราวกับประชาชน เพราะตอนนี้เราไม่มีประชาธิปไตย เรามีเผด็จการรัฐสภา เพราะทักษิณมีเงินมาก เขาซื้อเสียงคนที่มีสิทธิเลือกตั้ง เขาซื้อผู้ว่าราชการจังหวัดหลายคน เขาซื้อผู้บังคับการตำรวจภูธรหลายจังหวัด เขาซื้อกรรมการการเลือกตั้งหลายคน เขายังใช้โครงการตามนโยบายประชานิยมเพื่อล่อให้คนสนับสนุน ประชาชนชอบประโยชน์ที่จะได้ แต่พวกเขาไม่รู้ว่าทักษิณเป็นคนคอร์รัปชัน เขาขโมยเงินจำนวนมากไปจากคนไทย เราไม่อยากให้คนไทยเป็นทาส เราคำนึงถึงคุณธรรม ศีลธรรม และธรรมาภิบาล” คำสุดท้ายกระแทกใส่หน้าจอห์นแบบเหยียดหยาม สะใจโก๋มาก

เสรี
ถามแบบเยาะเย้ยต่อว่า “มีคำถามอีกเปล่าจ๊ะ” 
จอห์นบอก “ชัวร์” และถามต่อว่า “มีข้อกล่าวหาว่า ทั้งสองฝ่าย (คงหมายถึงพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์) โดนกล่าวหาว่าคอร์รัปชันทั้งคู่ คอร์รัปชันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วสังคมไทย”

เสรีบอกว่า
“แต่มีขีดจำกัด ทักษิณไปไกลกว่าขีดจำกัดนั้น เราทนการคอร์รัปชันของเขาไม่ได้อีกแล้ว และเขายังพยายามเป็นเจ้าของทรัพย์สินของราชการหลายอย่าง ไม่เคยมีรัฐบาลไหนทำแบบนี้ การคอร์รัปชันเป็นเปอร์เซ็นต์พอรับได้ แต่การออกนโยบายเพื่อเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางราชการเป็นสิ่งที่รับไม่ได้”

ก่อนจบ เสรีพูดกระแทกใส่หน้าหนุ่มจอห์นอย่างสะใจ
ว่า “ก่อนคุณจะพูดอะไร ควรหาข้อมูลมาก่อน คุณต้องรู้บริบทของไทยด้วย” พูดเสร็จก็เชิดหน้านี้ด้วยความสะใจ ท่ามกลางเสียงโห่ร้องและนกหวีดของมวลมหาประชาชน Maysa Nitto

http://blogs.channel4.com/world-news-blog/flambuoyant-duelling-heart-thailands-protests/26695

“บรรยง พงษ์พานิช” เปิด 5 ปมความต้วมเตี้ยม-ตัวถ่วงประเทศไทย ชี้รัฐแสนดีแสนเก่งไม่มีในโลก

6 พฤศจิกายน 2013

การเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนผ่าน แต่บางครั้งการเปลี่ยนผ่านที่ไม่ได้มีการกำหนดทิศทางและเป้าหมายก็นำมาซึ่งความผุกร่อน อาการของประเทศไทยที่ปรากฏในขณะนี้มีเครื่องบ่งชี้ “ความเสื่อม” ที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ไม่ว่าจะเป็น World Economic Forum (WEF) ได้เผยแพร่รายงานประจำปี 2556-2557 เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาถึงความถดถอยของประเทศไทยในแต่ละด้าน นอกจากนี้งาน สัมมนาจับชีพจรประเทศไทย โดยสถาบันอนาคตไทยศึกษา ได้เผยแพร่งานวิจัยชี้ 3 อาการประเทศไทย

หากจะวิเคราะห์ถึงรากของเหตุและปัจจัย ก็จะมีมุมมองแตกต่างกันไป “บรรยง พงษ์พานิช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ได้ให้สัมภาษณ์ทีมงานสถาบันอนาคตไทยในหัวข้อ “A Nation in Decline” เพื่อรวบรวมความคิดของบุคคลในหลายสถาบันต่อประเด็นดังกล่าวเพื่อทำเป็น หนังสือสำนักข่าวไทยพับลิก้าจึงขอเก็บตกรายละเอียดการสัมภาษณ์มานำเสนอดังนี้

เช็คอาการ 50 ปี ประเทศไทย

ปัญหาของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ผมอยากจะเริ่มที่หลักง่ายๆ คือ หลักพื้นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจ มีเป้าหมายยังไง จริงๆ เป้าหมายมันง่ายๆ มีอยู่ 3 เรื่อง ก็คือ 1) ความมั่งคั่ง ซึ่งแน่นอน ที่ไหนๆ ในปัจจุบันก็ยังวัดด้วย per capita GDP ว่าเรามีความมั่งคั่งแค่ไหน 2) การกระจาย เผอิญว่า per capita GDP ของคนวัดง่ายๆ ว่าเอาผลผลิตรวมของทั้งประเทศแล้วหารด้วยจำนวนคน ความสำคัญอยู่ที่ว่า มันอยู่ที่ไหน ถ้ามันอยู่กับคนจำนวนไม่กี่คน ความกระจายก็แย่ ฉะนั้นเป้าหมายก็คือ per capita สูง การกระจายดี มีความเหลื่อมล้ำต่ำ และ 3) มีการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต คือเติบโตและต้องยั่งยืนด้วย หมายความว่าเติบโตอย่างมีรากฐานที่แข็งแรง ที่จะต่อยอดไปเรื่อยๆ มีภูมิคุ้มกันเรื่องของความเสี่ยงที่จะเผชิญกับวิกฤติต่างๆ

นี่คือเป้าหมายเศรษฐกิจมีอยู่ 3 อัน แค่นี้

ผมมาดูว่าประเทศไทยสถานะเป็นอย่างไรในทั้งสามเรื่อง ในเรื่องฐานะ ประเทศไทยเราเป็น developing country มาตั้งแต่มีนิยามคำนี้มากกว่า 50 ปีที่แล้ว และวันนี้เราก็ยังเป็น developing country ถ้าถามว่า 50 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 พร้อมๆ กับการตั้งสภาพัฒน์ฯ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ในปี 2504 มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติว่าทำยังไงประเทศถึงจะมีการเติบโตมีความมั่งคั่ง มีความเจริญและมีการกระจายที่ดี ประเทศไทยมีทั้งหมด 11 แผน แผนละ 5 ปี แผนพัฒนาฯ ฉบับแรกมี จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น) เป็นคนมอบหมายให้สภาพัฒน์ฯ ซึ่งมีดร.อำนวย วีรวรรณ เป็นเลขาธิการคนแรก ทำแผนมาและเราก็พัฒนามาเรื่อยๆ

คำถามว่า ผลเป็นยังไง ผมอยากจะพูดอย่างนี้ว่า เราตั้งสภาพัฒน์ฯ ในปีเดียวกันกับที่สิงคโปร์ตั้ง EDB แต่เราตั้งก่อนเล็กน้อย EDB คือ Economic Development Board ของสิงคโปร์เป้าหมายเหมือนกัน โดยสิงคโปร์เพิ่งได้เอกราชตั้งประเทศปี 2502 และปี 2504 เขาก็ตั้ง EDB ณ จุดเริ่มต้นไทยกับสิงคโปร์เริ่มต้นที่จุดพอๆ กัน ก็คือ per capita GDP พอๆ กัน วันนี้สิงคโปร์มี GNI หรือ Gross National Income ของสิงคโปร์ per capita ปัจจุบันเป็น 48,000 เหรียญสหรัฐฯ ของเรา 5,200 เหรียญสหรัฐฯ ต่างกัน 9 เท่า ทั้งที่เริ่มมาพร้อมๆ กัน

หากว่ากันตามนิยามประเทศ high income, middle income, low income ประเทศไทยก็อยู่ middle income มาตลอด พัฒนากันมา 50 ปี มีแค่ 12 ประเทศที่สามารถที่จะก้าวข้ามจาก middle income ขึ้นไปเป็น high income หรือก้าวจาก developing country ไปเป็น developed country มีแค่ 12 ประเทศ ซึ่งเป็นประเทศเล็กๆ ในเอเชียมี 4 ประเทศ ที่เขาเรียกว่า 4 เสือของเอเชีย มีสิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลี ไต้หวัน วันนี้ฮ่องกง มี per capita GNI ประมาณ 38,000 เหรียญสหรัฐฯ ตามมาด้วยเกาหลี ไต้หวัน ประมาณ 22,000 เหรียญ

ประเทศไทยเมื่อก่อนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง เราก็ถูกจัดว่าจะเป็นเสือตัวที่ 5 และเราก็เจอวิกฤติ เราก็ค่อนข้างจะต้วมเตี้ยมหลังจากนั้นมาตลอดอีก 16 ปี มาวันนี้เราอยู่ 5,200 เหรียญสหรัฐฯ สำหรับ per capita GNI เส้นที่แบ่งอยู่ที่ 12,500 เหรียญสหรัฐฯ เรา 5,200 ยังไม่ถึงครึ่งเลย

เพราะฉะนั้น การที่บอกว่าจะเป็นเสือตัวที่ 5 “เลิก”… ตัวที่ 5 เป็นมาเลเซียแน่นอน เพราะมาเลเซียวันนี้ 9,800 เหรียญสหรัฐฯ และเขามีแผนที่เป็นรูปธรรมค่อนข้างชัดเจนอย่างที่เรารู้กันอยู่ว่าเป้าหมาย

จะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว อย่างช้าในปี 2020 และมีแผนที่เป็นรูปธรรม และเราจะไปเป็นตัวที่ 6 ไหม ไม่ได้อีก เพราะจีนแซงเราไปแล้ว

สำหรับจีน ผมอยากจะบอกว่าปี 1979 ซึ่งเป็นปีที่ เติ้งเสี่ยวผิง ประกาศนโยบายเศรษฐกิจจีนใหม่ ซึ่งกว่า 30 ปีแล้ว ตอนนั้นจีนมี per capita GNI ไม่ถึง 1 ใน 3 ของไทย ปีที่แล้วเขาแซงเรา

“เห็นไหมครับ ที่คุณบอกว่าเราเป็นประเทศที่ค่อนข้างจะ…ผมไม่เรียกว่าเสื่อมถอยหรือล้มเหลวนะครับ แต่ต้องใช้คำว่าต้วมเตี้ยม แบบย่ำเท้า นี่คือภาพใหญ่ๆ ของการวัดความมั่งคั่งที่วัดกันโดยขนาดของเศรษฐกิจและรายได้ต่อหัวต่อคนต่อปี ซึ่งเราถือว่าไม่ประสบความสำเร็จในการพัฒนา”

ตัววัดที่ 2 ประเทศไทยอยู่ประมาณอันดับ 82 ถ้าวัดกันตามระดับ per capita GNI ขณะที่มี 45 ประเทศในโลกที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศพัฒนาแล้ว เราอยู่อันดับที่ 82 ค่อนข้างจะอยู่ระดับล่างของ upper middle income ก็ดีหน่อยที่มันเป็น upper ถึงจะเป็นประเทศที่ยากจน เราก็อยู่ตรงกลางๆ ถ้าบอกชิลๆ ทางสายกลางก็อาจจะดูไม่เดือดร้อนอะไร แต่ก็น่าเสียดายเพราะเราเป็นประเทศที่อยู่ในสภาพที่มันน่าจะพร้อม มีทรัพยากรพร้อม อยู่ในจุดที่มีความได้เปรียบเยอะแยะไปหมด มีรากฐานที่ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงมาบ้างแต่ก็ถือว่าค่อนข้างจะมั่นคง ไม่มีความแตกต่างทางด้านลัทธิเชื้อชาติศาสนามากนัก ถ้าจะบอกว่าไม่มีเลยก็ไม่ได้ เพราะเราก็มีปัญหาพวกนี้อยู่ แต่ถ้าเทียบกับประเทศอื่นแล้วเราน่าจะพัฒนาไปได้ดีกว่านี้

เราโชคดีที่ในอดีตเราไม่เจอเหตุที่เกิดผิดพลาดครั้งใหญ่หลวง คือ มาถึงวันนี้นะครับ วันหน้าไม่รู้ ประเทศในโลกมีจำนวนมากที่ผมต้องใช้คำว่าหลงทางไปตามลัทธิมาร์กซ์ (Marxism) แล้วก็ไปใช้ลัทธิสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ประเทศพวกนั้นชัดเจนว่าการเจริญในช่วงนั้นหยุดไปเลย เป็นคอมมิวนิสต์ 50 ปีก็หายไป 50 ปี อันนี้พิสูจน์มาหมดแล้ว

ผมไม่ได้ชื่นชมทุนนิยมหรืออะไร แต่โลกมันพิสูจน์แล้ว ตัวอย่างง่ายๆ เวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่ดีเท่าๆ กับเรา แต่พอลุงโฮ (โฮจิมินห์) สามารถรวมเวียดนามได้ การพัฒนาของเวียดนามก็หายไปประมาน 30 กว่าปี ขณะที่เกาหลี ประเทศเดียวกันแท้ๆ แยกเป็นเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ วันนี้เกาหลีใต้ per capita GNI 22,000 เหรียญสหรัฐฯ แต่เกาหลีเหนือยัง 800 เหรียญสหรัฐฯ ต่อคนต่อปี ต่างกันเกือบ 30 เท่า “เท่า” นะครับไม่ใช่เปอร์เซ็นต์ เรื่องนี้พิสูจน์ชัดว่าคอมมิวนิสต์ไม่ทำให้มนุษย์มีแรงจูงใจพอที่จะสร้างผลผลิต หรือเยอรมันก็เหมือนกัน ตอนปี 1989 กำแพงเบอร์ลินล่มสลาย เยอรมันตะวันตกมีผลผลิตต่อหัวต่อคน 7 เท่าของเยอรมันตะวันออก คือนี่พิสูจน์ชัดว่าระบบที่อุดมการณ์ดีแต่พอนำไปใช้จริงแล้วไม่ประสบความสำเร็จ

หรือพม่า ตอนนี้ per capita GNI ยังต่ำว่าไทยอยู่ ถ้าวัดตามตัวเลขเป็นทางการเกือบ 30 เท่านะ ทั้งๆ ที่เมื่อ 50 ปีที่แล้วยังอยู่ในระดับเดียวกันกับไทย แต่เพราะเขาใช้ระบบสังคมชาตินิยมแบบพม่า คือนอกจากเป็นสังคมนิยมแล้วยังชาตินิยมอีก ชาตินิยมคือปิดประเทศ การพัฒนาประเทศโดยใช้ภูมิปัญญาพม่าแต่อย่างเดียว ขณะที่ทั้งโลกเขาพัฒนาไปด้วยกัน พม่าเลยอยู่กับที่ การพัฒนาหายไป 50 ปีอันนี้พูดถึงระบบเศรษฐกิจกับพัฒนาการมากไปหน่อยไม่ค่อยเกี่ยวกับเราเท่าไร

กลับมาที่การวัดการกระจายเขาวัดกัน 2 แบบที่เป็นที่นิยม ส่วนใหญ่แล้วจะวัดการกระจายรายได้ การกระจายผลผลิต ซึ่งแน่นอนวัดต่อคนต่อปี ที่นี้มีวิธีวัดสองอัน วิธีแรกก็คือ เอารายได้ของคนร้อยละ 20 ข้างบนหารด้วยรายได้ของคนร้อยละ 20 ข้างล่าง ร้อยละ 60 ตรงกลางตัดทิ้งไป เอา 20 บนหารด้วย 20 ล่าง ของไทยค่อนข้างคงที่มาตลอดเกือบ 30 ปีตั้งแต่มีการวัดตัวนี้ คืออยู่ที่ 12.5-13 เท่า

ถามว่าดีไหม ไม่ดี ส่วนใหญ่ประเทศที่พัฒนาแล้ว จะอยู่ที่ 4-7 เท่า ส่วนญี่ปุ่นก็ต่ำ ยุโรปเหนือก็ต่ำ อยู่ที่ 3 เท่าก็มีบ้าง 3 เท่านี่คือคนข้างบนกับคนข้างล่างห่างกันแค่นั้น

จริงๆ มาตรวัดนี้สะท้อนอะไรหลายๆ อย่าง ทั้งเรื่อง “การศึกษา” ถ้ามนุษย์มีการศึกษาเท่าเทียมกันไม่ควรจะห่าง 13 เท่า มันจะสร้างผลผลิตได้ยังไงต่างกัน 13 เท่า มันไม่ควร ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงผลของการศึกษา อันที่สอง การเข้าถึง “ทรัพยากร” ถ้าคนเรามีความรู้เท่ากันไม่ต่างกันมาก มีการเข้าถึงทรัพยากร โอกาสพอๆ กัน การสร้างผลผลิตมันก็ไม่ควรจะต่างกัน 13 เท่า นี่เป็นเรื่องง่ายๆ เพราะถ้าผมทำอะไรมากกว่าคนอื่น 13 เท่า หลักง่ายๆ คือคนนั้นต้องไม่ได้ทำอะไรเลย ไม่มีความรู้ เข้าไม่ถึงทรัพยากร นี่เราพูดถึงคนจำนวน 20 เปอร์เซ็นต์คือ 12-13 ล้านคนของประเทศ ข้างบน 13 ล้านคนกับข้างล่างสุด 13 ล้านคน ต่างกัน 13 เท่า คือมองโดย common sense มันก็เป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็นเลยว่าระบบการศึกษาเราไม่ทั่วถึง คนมีความรู้ต่างกันตั้ง 13 เท่า การเข้าถึงทรัพยากรคือโอกาสที่จะได้ทำ มันต่างกันอย่างนั้นได้อย่างไร

“แต่ข้อดีก็คือมันไม่เลวลง เรื่องนี้นักวิชาการก็บอกว่าสถานการณ์ไม่ได้ชั่วลงนะ มันก็อยู่ของมันอย่างนี้ 13 เท่ามานาน ผมว่ามันเป็นคำชี้แจงที่รับไม่ได้ ในเมื่อเราทุ่มเทไปตั้งเยอะ มันต้องดีขึ้น ผมถือว่าเป็นความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง”

“คำถามว่าทำไมคนข้างบน 20 คน เก่งมาก ที่ยังสงวนทั้ง “โอกาส” ทั้ง “ความสามารถ” ไว้เฉพาะพวกตัว และไม่ยอมให้คนอื่นเขาลืมตาอ้าปาก ผมขอพูดแรงๆ แบบนั้น ซึ่งอันนี้แสดงให้เห็นเลยว่าล้มเหลว”

วิธีที่สอง ตัวที่นิยมใช้วัดคือ ค่าสัมประสิทธิ์ Gini หรือ Gini coefficient index คือ ถ้าเผื่อทุกคนกระจายเท่ากันหมด index เท่ากับ 0 ซึ่งไม่มีในโลกนี้ ถ้าคนเดียวเอาไปหมด index จะเท่ากับ 100 ซึ่งไม่มี เพราะฉะนั้น ในโลกมันก็อยู่ระหว่าง 20-60 ของไทยดูแล้วก็เหมือนไม่เลว

“ผมว่าตัวนี้เป็นตัวหลอกได้ เราอยู่ที่ประมาน 40.2 ซึ่งผมไม่รู้ว่าเขาวัดยังไง ซึ่งดีขึ้นเรื่อยๆ จาก 10 กว่าปีที่แล้วอยู่ที่ 45 ตอนนี้ 40.2 ก็คือดีขึ้นเพราะมันกระจาย นี่วัดโดยค่าสัมประสิทธิ์ Gini ผมไม่รู้รายละเอียด อยากถามนักวิชาการเหมือนกัน ถ้าดูตัวนี้เหมือนพัฒนาการการกระจายดีขึ้น แต่พอไปดูมาตรวัดอื่นๆ กับสิ่งที่เราเจอ มันไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น”

ผมเคยทำวิเคราะห์กับอาจารย์ศุภวุฒิ (สายเชื้อ) เรื่องความเหลื่อมล้ำ พบว่า 16 ปีที่ผ่านมา ประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจมันตกกับนายทุนหมดเลย กับคนข้างบนหมดเลย แต่ค่า Gini ทำไมมันถึง improve อันนี้ผมขอตั้งเป็นคำถามมากกว่าที่จะบอกว่ามันดีขึ้น แต่ตัวเลข 13 เท่าที่ผมบอกนี่ มันเป็นเรื่องที่รับไม่ได้อยู่แล้ว เพราะนั้นผมถือว่าไทยล้มเหลวทั้งในเรื่องของการพัฒนาทั้งการกระจายและความยั่งยืนของการเติบโต

ส่วนความยั่งยืนของการเติบโต สุดท้ายมันต้องกลับไปสู่ศักยภาพของการแข่งขันที่แท้จริงของประเทศ ประเทศไทยมีข้อดีคือ 50 ปีผ่านมา สินค้าที่เราผลิตยังเป็นสินค้าปฐมภูมิโดยส่วนใหญ่ ช่วยรองรับความผันผวนได้ดีกว่า ดูเหมือนความมั่นคงของเราพอใช้ได้ เพราะว่า “ข้าว” ยังไงก็ต้องกิน แม้เศรษฐกิจจะแย่

นอกจากนั้น ประเทศเรายังมีลักษณะที่ดี เราเป็นสังคมเศรษฐกิจที่มีความหลากหลายที่ดีมาก สินค้าที่เรียกว่า sufficient สินค้าอุปโภคบริโภคสำคัญ ผลิตได้ในประเทศทั้งหมด อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรคที่จำเป็นๆ ที่อยู่อาศัย เราผลิตได้เองครบ ปัจจัยเหล่านี้จะช่วยให้เราดูดซับปัจจัยไม่คาดฝันจากภายนอก (absorb external shock) ได้ดีกว่า และสินค้าส่งออกก็มีความหลากหลาย ไม่มีตลาดไหนที่มีอิทธิพลต่อเราเกินร้อยละ 20 การทำให้หลากหลายนั้นก็ค่อนข้างที่จะทำให้เราดี

ถ้าเราสังเกต เนื่องจากว่าโครงสร้างทางสังคมแบบครอบครัวไทยดั้งเดิมมันเกื้อหนุน คนตกงานก็กลับบ้าน มีกินมีบ้าน อาหารอุดมสมบูรณ์ มันช่วยไปได้เยอะ ซึ่งลักษณะนี้กำลังเปลี่ยน เพราะคนจนเข้าเมืองกันเยอะ ตอนนี้คนจนมาอยู่ในเมือง ขณะที่เกษตรกร 14-15 ล้านคน จำนวนนี้คงที่มา 15 ปีไม่เปลี่ยนเลย และอายุเฉลี่ยของเกษตรกรที่อยู่ในชนบทสูงขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้เฉลี่ยอายุ 57 ปี และอายุเพิ่มขึ้น 7 ปี ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นตัวเลขที่บอกชัดเจนว่าคนรุ่นใหม่ไม่เป็นเกษตรกร

การเข้าเมืองของชนบท พบตัวเลขที่น่าเป็นห่วง ก็คือเข้ามาประกอบอาชีพไร้ทักษะ อาทิ ก่อสร้าง พนักงานเสิร์ฟ เป็นพนักงานขายของ ถือว่าเป็นอาชีพไร้ทักษะ ซึ่งมักจะได้ค่าตอบแทนใกล้เคียงกับ
ค่าแรงขั้นต่ำ และยังเป็นการขยายตัวของเศรษฐกิจนอกระบบ อันนี้ผมไม่มีตัวเลข แต่เราสามารถสังเกตได้ในชีวิตประจำวันชัดเจนมาก หาบเร่แผงลอย มอเตอร์ไซค์รับจ้างเต็มเมืองไปหมด และไม่ใช่เฉพาะกรุงเทพฯ การขยายตัวของเมืองทั่วประเทศที่เขาเรียกว่าเป็น urbanization trend ค่อนข้างจะเห็นชัดเจน

เพราะฉะนั้น ลักษณะของสังคมก็จะเปลี่ยนไป สังคมที่เคยเป็นสังคมชนบทเป็นแกนหลักคอยเกื้อหนุนจุนเจือกันก็จะเปลี่ยนไป

“ผมไม่ใช่นักสังคมศาสตร์ แต่ขอตั้งข้อสังเกต ผมสรุปว่าการพัฒนาของเราช้าและล้าหลัง และการกระจายซึ่งค่อนข้างจะพิสูจน์ได้ว่าไม่ดี”

อะไรคือสาเหตุ “ต้วมเตี้ยม”

ที่นี้ก็มาถามกลับว่า อะไรเป็นสาเหตุของการไม่พัฒนา แน่นอนทุกคนก็จะพูดถึง อันที่หนึ่ง คุณภาพคน ระบบการศึกษา อันที่สองก็คือระบบสถาบันต่างๆ คำว่าสถาบันไม่ได้หมายถึงว่าองค์กร แต่หมายถึงโครงสร้าง ทั้งเรื่องของกฎหมาย ทั้งผู้ที่ขับเคลื่อนบังคับใช้กฎหมายเป็นอุปสรรคกับการพัฒนา อันที่สาม เรื่องโอกาส เมืองไทยคนมีโอกาสไม่เท่าเทียม จริงๆ ไม่ต้องเท่าเทียม คำว่าเท่าเทียมก็เป็นคำที่อุดมคติไปหน่อย แต่คนได้โอกาสน้อยไปหน่อย โอกาสของคนที่จะเรียนรู้ “โอกาสที่จะได้” ซึ่งสำคัญมากคือโอกาสที่จะเข้าถึงทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรธรรมชาติ ที่ดิน ทรัพยากรเงินทุน ซึ่งการกระจายโอกาสไม่ค่อยจะดี

แต่อย่างไรก็ตาม ผมขอพูดถึงปัญหาสาเหตุ 4 อย่าง ที่ผมเห็นว่ามีความสำคัญน้อยไปหาสำคัญมากก็แล้วกัน

1. ตลาดการเงินไม่พัฒนา

ผมถือว่าตลาดการเงิน ซึ่งเป็นอาชีพที่ผมทำอยู่ของไทยยังพัฒนาได้ไม่ดีเท่าที่ควร คือ ประเทศจะพัฒนาทุกประเทศจะต้องก้าวจากอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรแรงงานหรือทรัพยากรธรรมชาติ ต้อง
เข้าสู่อุตสาหกรรมที่เรียกว่า capital intensive คือเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เงินทุนสูง ต้องมีการลงทุนสูง ต้องใส่ทุน ต้องใส่ capital พอพูดอย่างนี้ ก็รู้เลยว่า จะเป็นอย่างนั้นได้ต้องมี “ตลาดการเงิน” ซึ่งเป็นคนจัดหาทุน (provide capital) ที่มีประสิทธิภาพ

นิยามง่ายๆ ตลาดการเงินซึ่งประกอบด้วยตลาดธนาคารพาณิชย์และตลาดทุน ทั้ง 2 อันพัฒนาขาใดขาหนึ่งไม่ได้ ต้องไปด้วยกัน ในประเทศไทยที่ผ่านมา ที่เกิดวิกฤติปี 1997 เราเกิดความผิดพลาดของตลาดการเงินทั้งของเราเองและของทั้งโลก มันเกิดวิกฤติไปทั่ว หลังจากนั้นทุกคนก็จะภาคภูมิใจว่าตลาดเรานี่ดูมั่นคง ธนาคารแห่งประเทศไทยจะภูมิใจมากถึงความมั่นคงของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ผมก็อยากจะเรียนว่าความมั่นคงไม่ใช่เป้าหมายเดียว เพราะถ้าแค่มั่นคง แต่ถ้าไม่สามารถให้บริการเศรษฐกิจได้ดีตามเป้าหมาย “มั่นคง” แปลว่าอะไรครับ ถ้าเรามั่นคงก็คือ หนึ่ง ไม่เจ๊งแน่

สอง กำไรเยอะ ส่วนตลาดทุนก็เหมือนกัน ทุกคนภูมิใจว่าตอนนี้มูลค่าราคาตลาดหุ้นรวมมากกว่า GDP และ ขนาดของ volume แซงสิงคโปร์แซงมาเลเซีย อันนั้นเป็นเนื้อหาที่ไม่ใช่สาระแท้จริง

ผมขอกลับมา ง่ายๆ เศรษฐศาสตร์ 101 ตลาดการเงิน หน้าที่ที่สำคัญของตลาดการเงินก็คือรวบรวมทรัพยากรจัดสรรทรัพยากร ติดตามดูแลทรัพยากรให้มีการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพและเพื่อส่งเสริมศักยภาพการแข่งขัน ง่ายๆ เศรษฐศาสตร์ 101 ถ้าถามว่าตลาดการเงินที่ดี ควรจะแบ่งยังไง ก็คือตลาดการเงินที่รวบรวมทรัพยากรได้พอเพียงจากแหล่งที่ถูกต้อง

วิกฤติเศรษฐกิจ 1997 ก็เพราะว่าเรารวบรวมได้เยอะมาก การกู้เงินจาก BIBF ประมาณ 1 แสนล้านเหรียญ เท่ากับ GDP ในตอนนั้น แต่เป็นเงินกู้ระยะสั้นที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ และเอามาลงทุนในการลงทุนระยะยาวที่ไม่ให้ผลตอบแทนเป็นเงินตราต่างประเทศ อันนั้นคือต้นเหตุของวิกฤติเศรษฐกิจ ฉะนั้นตลาดการเงินที่ดีต้องรวบรวมให้ได้พอเพียงจากแหล่งที่ถูกต้อง

สองจะต้องมีต้นทุนทางการเงินที่แข่งขันได้ อันนี้สำคัญมาก เพราะประเทศจะพัฒนาต้องเป็น capital intensive ถ้าเงินนั้นมีต้นทุนสูงคุณก็จบ และคุณไม่มีทางแข่งกับใครได้ ถ้าเงินคุณต้นทุนสูงและคุณอยากแข่งคุณก็ต้องไปกดค่าแรงคน วัตถุดิบซึ่งเป็นของคนส่วนใหญ่ในประเทศ อันนั้นไม่บรรลุเป้าประสงค์ของการทำงาน ซึ่งต้นทุนการเงินสำคัญมาก เราพูดถึงน้อย

คุณจะเห็นว่าดอกเบี้ยเมืองไทยก็อาจจะต่ำกว่าอินโดนีเซีย แต่ต้นทุนตัวกลางของเรา โห… นั่นคือกำไรของธนาคารพาณิชย์ อันนั้นก็คือต้นทุน ต้นทุนประกอบไปด้วยสองอย่างอันที่หนึ่งก็คือต้นทุนของตัวเงินเลย ความต้องการผลตอบแทนของนักลงทุน ซึ่งอันนั้นขึ้นกับปัจจัยเยอะมากตั้งแต่ความเสี่ยงของประเทศ ความมั่นคงของอุตสาหกรรม แผนมีศักยภาพการแข่งขัน ตัวนั้นน่ะวัดได้ง่ายๆ

วัดที่ตัวอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก อัตราดอกเบี้ยพันธบัตร อันนั้นคือต้นทุนที่เขา ผู้ที่อยากจะได้เงิน ผู้ที่ยอมลงทุนต้องการ ถ้าในตลาดหุ้นก็วัดโดย P/E นั่นแหละ ถ้า P/E สูงแสดงว่าต้นทุนทางการเงินต่ำ ถ้า P/E ต่ำแปลว่าต้นทุนทางการเงินสูง มันมีปัจจัยอื่นให้วัดง่ายๆ ของไทยก็อย่างที่บ่นๆ กันมาตลอดว่าทำไมหุ้นเรา P/E ต่ำ ก็ต้นทุนทางการเงินเราสูง ความไม่มั่นคงอะไรก็ว่าไป

ต้นทุนที่สำคัญอันที่สองคือต้นทุนของตัวกลางทางการเงิน นั่นก็คือที่เขาเรียกว่า NIM (Net Interest Margin) ของแบงก์ ซึ่งของไทยผมจะบอกว่าดอกเบี้ยที่ธนาคารคิดจากผู้กู้ทั้งหมดเป็นกำไรต้นทุนของธนาคารมากกว่าดอกเบี้ยที่จ่ายให้กับผู้ฝากเงินอีก นั่นคือต้นทุนตัวกลาง การกล่าวเช่นนี้เท่ากับว่าผมกำลังจะทุบหม้อข้าวตัวเอง ซึ่งทุบให้ดูอยู่ อันนี้ถามว่าสูงไหม สูงมาก ธนาคารจึงมีกำไรกันมาก

ในตลาดทุนก็เหมือนกัน ต้นทุนตัวกลางในตลาดทุนเมืองไทยดีขึ้นเยอะ เพราะอะไรรู้ไหมครับ เพราะเปิดเสรี เปิดการแข่งขัน volume มากขึ้นมามหาศาล นี่สะท้อนให้เห็นเลย แต่มันมีต้นทุนอย่างอื่นที่แฝงอยู่ เช่น เรายังมีสินค้าไม่เพียงพอ คือถ้าความเสี่ยงถูกบริหารจัดการได้ดี ก็ต้องมีผลิตภัณฑ์ ที่จำนวนมากพอ หลากหลายพอ ถ้าความเสี่ยง บริหารจัดการได้ดีขึ้น ต้นทุนตัวแรกคือต้นทุนของความต้องการผลตอบแทนก็จะลดลง ดังนั้นทั้งสองตลาดโดยรวมแล้วผมถือว่าพัฒนาการยังไม่ดี

ตลาดการเงินที่ดีคือหนึ่งรวบรวมได้ อันที่สองต้นทุนดี อันที่สามจัดสรรทั่วถึง ทรัพยากรเมื่อได้มาแล้วต้องจัดสรรไปให้คนที่ควรได้ ต้องจัดสรรให้กว้างขวางและทั่วถึง คือคนต้องเข้าถึงได้ คือในเมืองไทยคนเข้าไม่ถึงทรัพยากร เยอะมาก ถ้าคุณเป็น corporate คุณกู้ได้ในอัตราดอกเบี้ย 4% แต่ถ้าคุณเป็น SMEs อัตราดอกเบี้ย 8% หรือ 10% เท่าตัวเลย เจอต้นทุนทางการเงินอย่างนี้มันก็โตยาก มันมีประเด็นปัญหาเยอะแยะมาก SMEs เข้าถึงทรัพยากรยาก คนรากหญ้าเข้าถึงทรัพยากรยาก ถึงแม้ว่ารัฐจะเข้าไปช่วย แต่ก็ยังถือว่ายังห่างไกล

เพราะฉะนั้น ตลาดการเงินก็ยังจัดสรรทรัพยากรได้ไม่ทั่วถึง ตลาดทุน ผมต้องใช้คำว่าเรามีโครงสร้างการลงทุนที่ไป promote นักลงทุนที่ไม่มีศักยภาพพอที่จะช่วยให้คุณภาพการจัดสรรดีขึ้น กล่าวคือ นักลงทุนบุคคลธรรมดา ไม่มีทางที่บุคคลธรรมดาจะมีความรู้พอว่าอันไหนดีกว่า อันไหนไม่ดีกว่า ผมไม่ได้ดูถูกใคร ประเทศไทยเป็น 1 ใน 3 ประเทศในเอเชียที่มีสัดส่วนการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของบุคคลธรรมดาสูงที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง สูงที่สุดในเอเชีย แซงไต้หวันไปแล้ว เกาหลีนี่นักลงทุนสถาบันกำลังแซง สิงคโปร์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น และตลาดที่พัฒนาแล้ว ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย นักลงทุนสถาบันมีอำนาจเหนือ (dominate) หมด

ถ้าถามสัดส่วนนักลงทุนว่าชี้วัดอะไร ต้องบอกว่าคุณภาพ คือ ตลาดการเงินจะดีได้ ทุนต้องมีคุณภาพ คุณภาพคือทุนที่รู้ว่าเงินควรจะให้ใคร เงินควรเอาไปให้ใครและติดตามดูแลได้ การติดตามดูแล คือ monitor ทุนตัวเอง นั่นคือ CG (Corporate Governance) CG ไม่ใช่ check list ของตลาดหลักทรัพย์ ไม่ใช่ check list ของ IOD อันนั้นเป็นรูปแบบ แต่สาระสำคัญของ CG มันขึ้นอยู่กับคุณภาพเจ้าของเงินเลย คุณชนะประกวดไม่ชนะประกวดนี่ไม่เกี่ยว ถ้าคุณดีจริง เจ้าของเงินจะเป็นคนตาม require ว่าคุณภาพของ CG คุณไม่ดีก็ไม่ให้เงิน เรียกว่าแรง force แต่ผมถามว่าบุคคลธรรมดา เขาไม่มีศักยภาพที่จะไปเรียกร้องเรื่องพวกนี้ เพราะฉะนั้น โดยรวมการจัดสรรมันไม่ทั่วถึง จัดสรรผิดเยอะ ง่ายๆ คือนักลงทุนที่มีคุณภาพไม่ซื้อหุ้นที่ปั่นอยู่ทุกวัน หรือกองทุนต่างประเทศจะไม่เข้าไปยุ่งกับหุ้นปั่น

โดยสรุป กระบวนการติดตามดูแลในตลาดการเงินเราก็ยังไม่ค่อยจะดี CG มาตรฐานต่างๆ จริงๆ ก็จะโทษตลาดการเงินอย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะบริษัทไทยก็ยังหนีภาษี ยังมีบัญชีสอง มันทำให้กระบวนการจัดสรรเกี่ยวโยงไปหมด ต้องต้นทุนต่ำ จัดสรรถูกติดตามดูแลได้ดี และมีกระบวนการที่เรียกว่าการจัดสรรทรัพยากรใหม่ (reallocation of resource) เมื่อ resource เกิดผิดพลาด คือทุกกระบวนการมันผิดพลาดได้หมด จะเก่งขนาดไหน มันต้อง reallocation of resource ได้ง่าย

ผมขอประณามระบบกฎหมายไทยหน่อย เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กระบวนการจัดสรรและต้นทุนมันสูงขึ้น ผมยกตัวอย่างให้ง่ายๆ ที่คนไม่ค่อยจะสนใจ อย่างกฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ ที่เราอ้างว่าไอเอ็มเอฟมาบังคับเราเพื่อให้เราขายชาติเนี่ย ในนั้นมีอยู่ 6 ฉบับที่เป็นเรื่องของกระบวนการที่จะแก้ปัญหาเมื่อกิจการมีปัญหา ก็คือ กฎหมายที่เกี่ยวกับกฎหมายล้มละลาย กฎหมายที่เกี่ยวกับบังคับคดี ขายทรัพย์ ซึ่งเราก็ต่อรองเสียจน… ผมเข้าใจเวลาที่ออกกฎหมายพวกนั้น ตอนนั้น NPL มันเฉลี่ยเกือบ 50% ในมิติทางการเมืองก็เข้าใจได้ว่ากฎหมายก็ต้องเข้าไปช่วย คนเป็นหนี้ NPL กฎหมายจึงค่อนข้างที่จะไปคุ้มครองคนที่เป็น NPL เมื่อเวลาผ่านไป NPL ลดลงไปเหลือ 16 คุณก็ไม่ได้ไปแก้กฎหมายนั้น เพราะกฎหมายใช้แก้ยามวิกฤติเท่านั้น มันเลยกลายเป็นกฎหมายที่คุ้มครองคนส่วนน้อยนิดเดียว แต่เป็นต้นทุนของคนส่วนใหญ่ทั้งประเทศ

เรื่องนี้ก็ไม่ค่อยมีใครพูด นี่ผมยกตัวอย่างให้ฟังนะ ให้เห็นภาพ ทำไมประเทศไทยถึงเป็นหนึ่งในน้อยประเทศ แทบจะเป็นประเทศเดียว ที่ดอกเบี้ยในการเช่าซื้อรถต่ำกว่าดอกเบี้ยในการผ่อนบ้าน เป็นประเทศที่มีสัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้อรถสูงที่สุดเมื่อเทียบกับสินเชื่อผ่อนบ้าน ทำไม? ทั้งๆ ที่ทั่วโลกบ้านมันสำคัญกว่ารถ มีคนพยายามบอกว่าคนไทยนี่รถเป็นชีวิตหรืออะไรก็แล้วแต่ อาจจะถูกบ้าง แต่จริงๆ ผมจะอธิบายให้ฟังง่ายๆ เวลาคนมีปัญหาการเงิน เขาหยุดผ่อนบ้านก่อนหยุดผ่อนรถ ถามว่าทำไม ก็เพราะว่า ถ้าคุณผิดนัดผ่อนบ้าน ต้องอีก 5 ปีธนาคารจะยึดบ้านคุณได้ แต่คุณผิดนัดผ่อนรถ 4 เดือน เขายึดรถคุณแล้ว นี่คือกฎหมายทำให้ทุกอย่างบิดเบี้ยว

ถามว่าทำไมต้อง 5 ปี สหรัฐอเมริกานี่ 4 เดือนคุณต้องออกจากบ้าน กระบวนการนี้ จริงๆ มันทำให้ดอกเบี้ยผ่อนบ้านลดลง ขณะที่คนเป็น NPL มัน 5% เท่านั้น แต่คุณดันไปคุ้มครองเขา ทำให้เป็นต้นทุนให้คนอีก 95% เรียกว่า loss given default โอกาส default ของคนผ่อนรถมากกว่าน้ันก็ใช่ แต่ธนาคารเสียหายจากผู้กู้บ้านมากกว่าผู้กู้รถ ซึ่งมันไม่ควร เพราะรถมูลค่าลดลงแต่บ้านมูลค่าเพิ่ม เพราะใช้เวลา 5 ปี ถ้าเป็นธุรกิจ 10 ปี เพราะกฎหมายล้มละลายยื้อได้ 10 ปีธนาคารถึงจะเข้าไปยึดทรัพย์สินการดำเนินกิจการได้ ฟังดูเหมือนดีแต่จริงๆ ก็คือต้นทุนทั้งประเทศมันเลยสูงโดดไปหมด ธนาคารเลยต้องไปบวกต้นทุนค่านั่นค่านี่ นี่คือทำไม SMEs ถึงเข้าไม่ถึงทรัพยากร ทำไมเข้าถึงแล้วธนาคารต้องคิดคุณแพง ทั้งๆ ที่คุณเป็นคนดี แต่เป็นเพราะว่า ระบบกฎหมายพยายามป้องกันคนไม่ดี นี่คือโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ที่ระบบทั้งระบบต้องแบกต้นทุนอยู่อย่างนี้

ยังมีตัวอย่างที่ให้เห็นว่าตลาดการเงินยังด้อยพัฒนามาก มีเรื่องเบี้ยวๆ ในตลาดการเงินอีก เช่น โรงรับจำนำ เรามีสาขาธนาคารพาณิชย์อยู่สองหมื่นกว่าแห่งทั่วประเทศ แต่ประเทศไทยมีโรงรับจำนำทั้งประเทศเป็นของเอกชน 300 แห่ง เป็นโรงรับจำนำของรัฐบาล 200 แห่ง รวมเป็น 500 ธุรกิจโรงรับจำนำเป็นธุรกิจเดียวของรัฐที่กำไรดี ถามว่าทำไมมีน้อยขนาดนั้น เพราะว่ากระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดูแล เป็นผู้ให้ใบอนุญาต และใบอนุญาตมันแพงเหลือเกินกว่าจะได้ นี่คือช่องทางสำคัญสุดสำหรับรากหญ้า ช่องทางสุดท้ายแล้วที่จะเข้าถึงแหล่งทรัพยากร

2. “ชาตินิยม” เครื่องหมายกีดกันผู้มีประสิทธิภาพ

ผมแปลกใจมากว่า ประชาชนคนไทยถูกปลูกฝัง “ค่านิยม” คำว่า “ของคนไทย” เรามีความรู้สึกว่า ใช่…เรื่องนี้ถูกต้อง เวลาคุณบอกว่าเป็นของคนไทย ผมถามว่ากี่ตระกูลที่เป็นเจ้าของพวกนี้ได้ เช่น ธนาคาร บริษัทโทรคมนาคม กิจการเดินเรือ กิจการแอร์ไลน์ กิจการใหญ่ๆ นี่ห้ามหมดเลยนะครับ อยู่ใน พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าวและกฎหมายอื่นๆ อีกเยอะแยะมากเลย กฎหมายเฉพาะ เอะอะก็ต้องคนไทยๆ ผมเรียก พ.ร.บ. นี้ว่า พ.ร.บ.กีดกันผู้มีประสิทธิภาพ

“ขอโทษนะ ผมเป็นคนไทย ยืนยันว่ารักชาติยิ่งกว่าใครๆ เหมือนกัน แต่มันไม่สมเหตุสมผล เพราะมันกันไปหมด แล้วเรื่องพวกถือครองที่ดินอะไรนี่ผมไม่เห็นด้วยทั้งหมดเลย พอบอกว่าต้องคนไทยเท่านั้น มันก็เลยเหลือไม่กี่คน อย่าลืมว่าโลกแห่งทุนนิยมคือโลกที่เปิดให้มีการแข่งขัน หลักการง่ายๆ คนยิ่งมีโอกาสได้เข้ามาแข่งจะยิ่งดี แต่เรากันหมดเลย แล้วพวกนั้นคือพวกเก่งๆ ทั้งนั้นที่เรากันไม่ให้มาแข่งกับเรา และกันเพื่อใคร ผมจะบอกให้ อย่างมากสองแสนคนที่มีโอกาสได้รับการคุ้มครองจากคำนี้ ผมก็ด้วยเป็นหนึ่งในนั้น จริงๆ ผมควรจะชอบ แต่บอกตรงๆ ว่าอันนี้แหละคือตัวถ่วงความเจริญแบบไม่น่าเชื่อ

“ยกตัวอย่าง พอคุณบอกว่าต้องเป็นของคนไทย มันก็เลยเกิด 2-3 เรื่อง เรื่องที่หนึ่งก็คือต่างชาติที่ดีที่เก่งเขาไม่มา เขาเคารพกฎหมาย แต่คุณกันได้ไหม คุณปิดมัน มันเลยมีแต่คนไม่ดี เป็นไงกันคนดีออกไป คนชั่วก็เลยชอบ มันแข่งขันง่ายเพราะคนดีไม่แข่ง”

เรื่องที่สอง มันเกิดการบิดเบือนเยอะมาก พอคุณบอกว่าเกินครึ่งมันต้องเป็นของคนไทย ต่างชาติเวลาเขามาลงทุนก็ต้องมีตัวแทน (nominees) อย่างที่เรารู้แต่อย่างน้อยครึ่งหนึ่งเขาก็ต้องหาคนไทยมา ก็สร้างสิ่งที่เรียกว่า free rider คือคนที่ได้โดยที่ไม่ต้องทำ ถ้าปกติถ้าผมเป็นต่างชาติต้องการผลตอบแทนการการลงทุน 15% แต่เขาบังคับว่าต้องแบ่งให้คนไทยครึ่งหนึ่ง ผมก็เลยกลายเป็น 30%

เพราะปกติผมต้องการจริงๆ แค่ 15 % แต่ต้องกลายเป็น 30% ถึงจะคุ้มเพราะต้องแบ่งให้คนไทย พอเป็นอย่างนี้ ผมก็ต้องตั้งราคาแพงขึ้นเพื่อให้กำไรมากขึ้น ใครรับภาระเรื่องนี้ ผู้บริโภคซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นคนไทย แต่ถ้าผมขึ้นราคาไม่ได้ ผมก็ต้องไปกดค่าแรงถูกๆ คนที่ได้ผลกระทบคือแรงงานซึ่งเป็นคนไทยส่วนใหญ่

เรื่องที่สาม ในเมื่อทั้งสองอันไม่เวิร์ก ต่างชาติเขากลัวการลงทุนเขาก็ไม่มา เพราะถูกบังคับว่าต้องแบ่งให้คนไทยครึ่งหนึ่ง แบบนี้สมเหตุสมผลไหม ปกป้องกี่คนกี่ตระกูลที่มีศักยภาพพอที่จะไปหุ้นกับพวกนี้ เครือใหญ่ๆ เยอะแยะที่เติบโตมาแบบนี้ เขาโหนกฎหมายฉบับนี้แล้วได้ประโยชน์เป็นมหาเศรษฐีกันหมด

ผมขอประณามความรู้สึก “ชาตินิยม” ที่ว่าต้องเป็นของคนไทย ต่างชาติจะมาซื้อที่เกษตรเป็นข่าวใหญ่โต แต่ตระกูลใหญ่ๆ ในเมืองไทยกว้านซื้อที่ดิน ผมถามว่ามันต่างกันยังไง ให้ต่างชาติมาแข่งยิ่งดี
ชาวนาจะได้ราคาดีขึ้น ถ้าห้ามต่างชาติ ก็เหลือไม่กี่คนที่ซื้อได้ เขาก็ยิ่งสบายไป

นี่คือประเด็นที่ชี้ให้เห็นนะ คำว่าต่างชาติ คำว่าชาตินิยม นี่ใช้ผิดหมด แล้วมันไปปกป้องคนไม่กี่คนบนต้นทุนของคนทั้งประเทศ ทำให้ประเทศไทยไม่เจริญ ไม่อย่างนั้นเรามี FDI มากกว่านี้ ไม่อย่างนั้นเรามีการพัฒนาเทคโนโลยีพัฒนาการบริหารจัดการมากกว่านี้เยอะแยะ ถ้าให้เขามาแข่งแล้วพวกเราเก่งขึ้น อย่าง ถ้ามาร์กาเรต แธตเชอร์ ไม่ทำ big bang ในอังกฤษในปี 1985 อังกฤษก็ไม่ได้เป็น financial center of the world ถึงทุกวันนี้ คนอังกฤษไม่รู้กี่แสนคนได้งานสุดยอดทำระดับโลก และบริษัทไม่ใช่บริษัทอังกฤษเลย

ประเทศไทยสงวนอาชีพ สงวนธุรกิจ อาชีพเล็กๆ ให้คนไทย เรื่องอย่างนี้มันไม่สมเหตุสมผล แบบอาชีพของคนธรรมดานี่ อาชีพสถาปนิกนี่สงวนไว้ทำไม สถาปนิกเขาไม่จน ช่างตัดผม คนเผาถ่าน แต่ตอนนี้สถาปนิกก็เปิดมากขึ้น สถาปนิกไทยก็เก่งขึ้นนะ ถ้าคุณมีคู่แข่งคุณก็ต้องเก่ง ถ้าคุณไม่มีคู่แข่งคุณก็ไม่ต้องเก่ง

3. ภาคเอกชนกำหนด public policy-กลไกอ่อนแอ

บทบาทภาคเอกชนมีบทบาทเหนือ government policy สามารถที่จะชักจูงให้ภาครัฐออกนโยบายที่เอื้อเอกชนได้ อย่างการตรึงค่าเงินบาท เป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผล หากเทียบกับสิงคโปร์ สมัยนั้นลีกวนยูบอกว่าค่าเงินแข็งแน่ ทุกคนลงทุนปรับตัว แข่งขันให้ได้ รัฐมีหน้าที่อย่าให้ผันผวน ใครแข่งไม่ได้อย่ามาโวยวายว่าสู้ไม่ได้ เลิก แต่ของเรานี่ จะแบบว่ากดดันแบงก์ชาติ อะไรสารพัด ว่าเรื่องค่าเงินจะต้อง แรงกดดันพวกนี้ส่วนใหญ่มาจากภาคเอกชน คือผ่านกลไกสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า สมาคมธนาคาร สภาตลาดทุน เขามีจุดยืนว่าต้องปกป้องผลประโยชน์สมาชิก ถูกต้อง ทุกทีที่เข้าไปเขาก็ต่อรองเพื่อผลประโยชน์ แต่กลไกคานนี่สิที่เมืองเราไม่มี พวกนี้ก็เข้าไปวิ่งล็อบบี้ ฟังดูเหตุผลดี อธิบายชาวบ้านได้ แถลงข่าวได้

กลไกคานมีอะไรบ้าง ภาคประชาสังคมที่มีคุณภาพ สถาบันที่คอยจับตามองการออกนโยบาย (policy watch) อันนี้สำคัญมาก แต่มีน้อย อย่าง TDRI สถาบันไทยอนาคตศึกษา แต่เมืองไทยนี่มีน้อย พวก
policy watch เป็นคนคานเลย รวมทั้งสื่อ

กลไกคานพวกนี้สร้างได้ และต้องสร้างอย่างมุ่งมั่น เช่น ประเทศอื่นนั้นรัฐบาลเขาจะต้องเจียดงบประมาณให้กับองค์กรภาคประชาชน ภาคสังคมจะต้องลุกขึ้นมา คือมันต้องสร้างองคาพยพพวกนี้
open society institution เพื่อให้มีกลไกที่จะไปคานเขา

4. รัฐแสนดีแสนเก่งไม่มีในโลก

เรื่องอำนาจรัฐ คือ ทั่วโลก พิสูจน์ชัดว่ารัฐแสนดีแสนเก่งไม่มีในโลก เพราะฉะนั้น บทบาทหน้าที่ของรัฐจะต้องชัดเจน หลักง่ายๆ ก็คือ 1) รัฐจะทำสิ่งที่เอกชนไม่ทำ ตลาดไม่ทำ เช่น ความมั่นคง การศึกษา สุขภาพ บริการสาธารณะต่างๆ สวัสดิการ 2) การจัดสรรทรัพยากร ทรัพยากรจากส่วนกลางนี่ทำยังไงที่จะให้คนด้อยโอกาสได้รับ เอาทรัพยากรจากคนมีไปให้คนจน เอาทรัพยากรจากอนาคตมาใช้ในปัจจุบันที่จำเป็น พวกนี้คือหน้าที่ของรัฐ แล้วก็ให้บริการเรื่องความมั่นคง แต่รัฐไม่ควรเข้ามายุ่งกับตลาด

คนไทยชอบเข้าใจ Keynesian ผิด คือ Keynesian นั้นรัฐต้องเข้ามาเกี่ยวข้องจริง แต่ Keynesian จริงๆ รัฐจะเข้ามาเกี่ยวในเวลาที่ควรเกี่ยวในเรื่องที่ควรเกี่ยว รัฐเข้ามาอย่าง QE เนี่ยก็เป็น Keynesian แต่ของเขานี่คืออัดเงินเข้าไปอย่างเดียวรัฐไม่ต้องเข้ามา operate เพราะมันก็เป็นมาตรการที่ชั่วคราว นี่คือ concept ของ Keynesian คือดุลยภาพที่ตลาดมันสร้าง บางครั้งมันไม่ถูก มันไม่ดี รัฐต้องเข้ามาเพื่อที่จะกระชาก ไม่ใช่ชักเย่อ

เพราะฉะนั้น มาตรการที่จะใช้ก็ควรจะเป็น

1) มาตรการชั่วคราว ใช้เสร็จถอดได้ ไม่ใช่อยู่ไปตลอดกาล

2) เป็นมาตรการที่ใช้กลไกตลาดเข้ามาช่วย ไม่ใช่ไปสร้างกลไก สร้างหน่วยงานสร้างองค์กรสร้างกลไกแล้วเลยต้องอยู่ตลอด

3) จะต้องเป็นมาตรการที่ไม่เกิดผลแทรกซ้อนไปบิดเบือนโครงสร้างไปเกิดผลแทรกซ้อนระยะยาว อย่างเช่น รถคันแรก มันก็ไปลดอำนาจซื้อ เลยต้องอัดมาตรการอย่างอื่นตามเข้าไป จะต้องไม่ใช่แทรกแซงโดยการแย่งตลาดมาทำ อย่างเช่นจำนำข้าว คือไปยึดตลาดของเอกชนมาเป็นของรัฐตั้งแต่วิกฤติปี 1998 จนปัจจุบัน ประมาณ15-16 ปี ปรากฏว่ารัฐไทยฝืนโลก ทั่วโลกเขาลดบทบาทรัฐ เวลามีวิกฤติรัฐต้องเข้าไปยุ่ง แต่ไม่ใช่ไปยุ่งแบบประเทศไทย ของไทยนี่เพิ่มทั้งขนาดบทบาทและอำนาจ

Professor Prescott เคยมาพูดที่เมืองไทย บอกว่าประเทศไหนรัฐยุ่งน้อย เจริญมาก รัฐยุ่งมากเจริญน้อย ซึ่งพิสูจน์แล้วทั่วโลก โดย trend ใหญ่เขาลดบทบาทรัฐ เพิ่มบทบาทเอกชน เพราะรัฐแสนดีแสน
เก่งนั้นไม่มี

แต่เมืองไทยตั้งแต่ปี 1998 มาถึงปัจจุบัน ที่ปรากฏ 1) งบประมาณเมื่อก่อนประมาณ 18% ของ GDP ตอนนี้เป็น 22% แม้ไม่มากนัก แต่นอกงบประมาณโครงการ 3 .5 แสนล้าน โครงการ 2 ล้านล้าน โครงการไทยเข้มแข็ง นี่คืองบประมาณนอกงบประมาณ

2) แต่พอไปดูรัฐวิสาหกิจ เชื่อไหมว่า ปี 1998 ค่าใช้จ่ายรวมของรัฐวิสาหกิจที่ไม่รวมสถาบันการเงินเป็นร้อยละ 17 ของ GDP ปีที่แล้ว (2555) ร้อยละ 38 หรือประมาณ 4 ล้านล้านบาท ไม่รวมสถาบันการเงินที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ลองดูว่า 4 ล้านล้านบาทนี่ต้องบอกว่ามากกว่างบประมาณเกือบเท่าตัว เพราะงบประมาณปี 2556 วงเงิน 2.2 ล้านล้านบาท เพราะฉะนั้น รัฐวิสาหกิจก็คือรัฐ เพราะรัฐมนตรีสั่งได้

3) ถัดมาคือ SFI สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เอสเอ็มอีแบงก์ เอ็กซิมแบงก์ ทั้งหมดจาก 13% ของ GDP ปีที่แล้ว (2555) เป็น 34% จะเห็นว่ารัฐไทยยิ่งใหญ่ขึ้นในแง่ขนาด อำนาจ

อำนาจนี่ เวลาผมพูดถึงรัฐนี่ไม่ได้หมายถึงรัฐบาลเท่านั้นนะ องค์กรอิสระอะไรทั้งหลายมีการตั้งมากเกินไป หลายองค์กรตั้งเพื่อมาคานอำนาจมาตรวจสอบ แต่พอใครมีอำนาจเขาก็ exercise อำนาจ แล้วมันก็ลามไปหมด ทำให้กลไกต่างๆ องคาพยพต่างๆ ไม่เคลื่อนไหว ผมเข้าใจเจตนานะ แต่หลายๆ ครั้ง มันก็มีเรื่องแทรกซ้อน ผมว่าเราควรจะรื้อระบบ ปฏิรูปกลไกอำนาจของสถาบันภายในประเทศไทยใหม่ทั้งหมด มันถูกสร้างมาจากมิติทางการเมือง จากรัฐธรรมนูญบ้าง จากอะไรบ้าง

privatization เป็นเรื่องหนึ่งที่ก็เป็นเรื่องน่าเศร้าที่สังคมไทย ไปถูกเข้าใจผิดว่า privatization เป็นเรื่องขายชาติ ผมเห็นด้วยว่า privatization ต้องทำดีกว่านี้ คือเราไม่เคย privatization อะไรเลย แต่ผมยืนยันตรงนี้นะครับว่าดีกว่าไม่ทำแน่นอน การที่ ปตท. เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ดีกว่าไม่จดทะเบียน แต่ยังไม่ดีที่สุด ดีที่สุดต้องแปรรูปให้สมบูรณ์ ก็คือขายไปให้หมด

ปกติการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเขาแปลว่าการโอนทรัพย์สินและกิจการที่สามารถดำเนินการในการพาณิชย์ได้ จากภาครัฐสู่ภาคเอกชน แต่สิ่งที่เราทำนี่ไม่ใช่ เพราะเราทำครึ่งเดียว ไม่ได้โอนไปให้เอกชน มันกลับข้างนะ คือปกติเค้าย้ายทรัพยากรจากภาครัฐไปให้เอกชน ของเราเลยไปกวาดต้อนทรัพยากรภาคเอกชนมาอยู่ภายใต้รัฐ ถามว่าเมื่อไหร่ถึงเรียกว่าแปรรูปเต็มรูปแบบ ผมก็เลยใช้คำง่ายๆ เลย คือ เมื่อรัฐมันตรีสั่งไม่ได้

5. คอร์รัปชัน ตัวถ่วงความเจริญ

คอร์รัปชัน เวลาคนพูดถึงคอร์รัปชัน คนมักจะไปพูดง่ายๆ ว่าคอร์รัปชันมันผิดศีลธรรม ผิดจริยธรรม เหมือนเป็นการลักทรัพย์ คนมักจะไปมองเพียงว่าทำให้ค่าใช้จ่ายรัฐสูงเกินความจำเป็น รั่วไหล จริงๆ โทษของมันมากกว่านั้นเยอะ เพราะคอร์รัปชันมันถ่วงความเจริญ มันทำให้ประเทศอยู่ในความล่มสลาย (in decline) หนักขึ้น

อันที่หนึ่ง มันทำให้นโยบายการคลังบิดเบือนและไม่ได้ผล นโยบายการคลังผมพูดไปแล้วว่าจริงๆ ก็คือการโยกย้ายทรัพยากรจากคนมีมากกว่าไปให้คนมีน้อยกว่า จากภาคส่วนที่มีความจำเป็นน้อยกว่าไปให้ภาคส่วนมีความจำเป็นมากกว่า เอาไปสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานทั้งหลายแหล่ รวมทั้งย้ายทรัพยากรจากอนาคตมาใช้ที่ปัจจุบัน เพื่อที่จะมีความรุ่งเรืองในอนาคต แต่พอมีคอร์รัปชันเข้ามาเกี่ยว เริ่มตั้งแต่กระบวนการตัดสินใจ แรงจูงใจในการจัดนโยบายการคลังมันก็เบี้ยวตั้งแต่ต้น และระหว่างทางยังทั้งรั่วทั้งไหล มันทำให้แย่

อันที่สอง มันทำให้บริการพื้นฐานทั้งหลายมีต้นทุนสูง คุณภาพแย่ มีไม่เพียงพอ มันก็บั่นทอนการแข่งขันของประเทศต้นทุน เพราะคอร์รัปชันมันให้รัฐเกิดเรื่องอย่างนั้น

อันที่สาม ทำให้เกิดการบิดเบือนทรัพยากรอย่างมาก คือธรรมชาติของเศรษฐศาสตร์ ภาคไหนกำไรมากภาคนั้นทรัพยากรไหลเข้า ทั้งทรัพยากรเงินทุน ทรัพยากรการลงทุน คนที่มีคุณภาพ จะไหลไปสู่ภาคที่มีกำไรมากที่สุด อันนี้เป็นธรรมชาติของเศรษฐกิจ ภาคที่ corruptible เกือบทั้งหมดเป็นภาคที่ไม่ต้องแข่งขันกับใครเพราะ corruptible หมายถึงการกีดกันการแข่งขัน การล็อกสเปก เพราะฉะนั้น

ภาคที่ corruptible เลยเป็นภาคที่ทำลายการแข่งขัน เช่น เป็นพวก non tradable ถ้าคุณส่งออกสินค้าไปแข่งขัน การยัดเงินนี่ไม่ช่วยคุณ เพราะฉะนั้น การยัดเงินแล้วจะช่วยคุณก็เฉพาะกิจกรรมในประเทศหรือใช้ทรัพยากรรัฐมาช่วย ภาคต่างๆ เหล่านี้เป็นภาคที่ไม่แข่งกับโลก เพราะแข่งปั๊บ corrupt ช่วยไม่ได้ พอไม่แข่งกับโลก ทรัพยากรทั้งหมดก็เลยไปลงทุนในภาคพวกนี้ อัจฉริยะของไทยนี่เป็นนักล็อบบี้เยอะมาก เพราะเป็นอาชีพที่รวยที่สุดแล้ว ไปบิดเบือนกลไกรัฐแล้วรวยที่สุดแล้ว คือเป็นภาคส่วนที่ไม่สร้างประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจเลยแต่เอาผลประโยชน์ไปเยอะมาก พอเอาผลประโยชน์ไปเยอะมาก ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่จะกระจายให้กับคนที่มุ่งมั่นสร้างประสิทธิภาพ มันก็เลยไม่เหลือ นวัตกรรมไม่มีเพราะมันไม่มีต้องนวัตกรรม มันเหลือแต่นวัตกรรมคอร์รัปชันอย่างเดียวในประเทศนี้

ทำไมประเทศไทยทั้งประเทศถึงมีการจด international patent น้อยกว่า Huawei บริษัทเดียวต่อปี เพราะมันไม่จำเป็น เพราะว่า R&D ทำไปเพื่ออะไร เมืองไทยซื้อศักยภาพการแข่งขันได้ ซื้อความได้เปรียบได้ พอซื้อความได้เปรียบมันชัวร์กว่า สัจจะแปลว่าจ่ายครบกูทำให้แน่ (หัวเราะ)

มันเลยกลายเป็นสัจธรรม กลายเป็นวงจรที่แกะไม่หลุด ณ ปัจจุบัน แต่ผมก็ยังเชื่อว่ายังไงประเทศไทยก็ต้องดีขึ้น มันอาจไม่น่าเชื่อ เวลา momentum มานะ ผมเชื่อว่า momentum มันกำลังมา เวลา momentum มันมา อย่างประธานาธิบดีไต้หวันอยู่ในคุก ประธานาธิบดีเกาหลีฆ่าตัวตาย อีกคนอยู่ในคุก นี่คือพัฒนาการทั่วโลก มันเร็ว ถ้าสังคมตื่น

การพัฒนาช้านำไปสู่อะไร?

ดังนั้น ความที่ประเทศไทยต้วมเตี้ยม ความที่มันไร้ประสิทธิภาพจะนำไปสู่อะไร ความจริงการพัฒนาช้านี่นะ ผลของมันก็จะแทรกซึมไปทั่ว โดยปกติแล้วถ้าพัฒนาช้าในแง่ของเศรษฐกิจเองมันไม่ทำให้เกิดวิกฤติ ถ้าพัฒนาเร็วต่างหากล่ะมักจะต้องเจอวิกฤติ เขาบอกวิกฤติเป็นต้นทุนของการพัฒนา เพราะฉะนั้นการพัฒนาช้าจะไม่นำไปสู่วิกฤติหรอก แต่เราก็อยู่ต้วมเตี้ยมๆ อยู่อย่างนี้ แต่มันจะไปเกิดวิกฤติอื่นในแง่เศรษฐกิจ ข้อดีของการพัฒนาช้าคือจะไม่นำไปสู่วิกฤติ ทำไมเราถึงเกิดวิกฤติ 1997 ก็เพราะเครื่องมันเร่งเต็มที่ในปี 1992-1996 เพราะมันพัฒนาเร็วมาก จีดีพีโต 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ต่อปี มันทำให้เกิดวิกฤติ

ดังนั้น การพัฒนาช้ามีข้อดีคือไม่วิกฤติ และต้นทุนของการพัฒนาช้ามันแทรกๆ ซึมๆ แต่ผมกลับไปกลัวว่า การพัฒนาช้ามันจะสร้างความเหลื่อมล้ำที่ไม่ได้รับการแก้ไข ผมให้ความสำคัญกับเรื่องการกระจายมากกว่าการเติบโต แต่เติบโตก็ต้องเติบโตบ้างนะ แต่ถ้าการกระจายไม่ดีนี่เกิดวิกฤติได้ มันเกิดวิกฤติสังคม คนมันขัดข้องหมองใจ คนจนในชนบทเขาจะเจอพ่อค้าคนกลางกับนายทุนเงินกู้ ซึ่งมันก็ไม่ดีทั้งคู่ แต่พอเข้าเมือง โห…มันมากกว่านั้นน่ะ คุณเจอการเหยียดหยาม เจอตำรวจเทศกิจ เจอการเปรียบเทียบ เรื่องพวกนี้ที่ผมคิดว่ามันถูกนำไปสู่ปัจจัยทางการเมือง

การจะโตช้านี่ไม่เป็นไร มันเลยทำให้เรื่องคุณภาพสื่อ คุณภาพคน คุณภาพการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าเมืองไทย พอพูดถึงเรื่องปรับโครงสร้าง เรื่องพัฒนาในแง่โครงสร้างนี่ไม่มีใครทำ เพราะ
จะทำทำไม ไม่มีใครซาบซึ้ง แก้แต่เปัญหาเฉพาะหน้า ได้กันเห็นๆ เพราะฉะนั้นถึงไม่เกิดการปฏิรูป มันจะเกิดก็ต่อเมื่อมีวิกฤติสักที ต้องให้คนที่เก่งจริงๆ อย่าง ไอเอ็มเอฟมาผลักดันให้เราเกิดการปฏิรูป

บรรยง พงษ์พานิช:"ปฏิรูปประเทศไทย"........อะไร....ทำไม....เพื่ออะไร....อย่างไร

“บรรยง พงษ์พานิช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน)  โพสในเฟสบุ๊ค Banyong Pongpanich เมื่อวันที่ 8 มกราคม2557 ว่า
///
"ปฏิรูปประเทศไทย"........อะไร....ทำไม....เพื่ออะไร....อย่างไร

เราได้ยินได้เห็นคำว่า "ปฏิรูปประเทศไทย" ทุกเวที ทุกหนังสือพิมพ์ ทุกช่องทีวี ทุกๆวงสนทนา ทุกวัน วันละเป็นร้อยเป็นพันครั้ง ลองมานั่งทวนกันดูไหมครับ ว่าอะไรคือปฏิรูป ทำไมต้องปฏิรูป ปฏิรูปเพื่ออะไร ปฏิรูปไปเป็นแบบไหน ปฏิรูปอย่างไร จะปฏิรูปอะไรบ้าง ปฏิรูปอะไรก่อนหลัง เริ่มปฏิรูปยังไง ใครเป็นคนปฏิรูปส่วนไหน (เห็นไหมแค่ย่อหน้าเดียวก็มีถึง สิบคำถามเกี่ยวกับปฏิรูปเข้าไปแล้ว ...น่าเวียนหัวไหมครับ)

กำลังนี้ ใครๆที่พอมีบทบาทในสังคม ไม่ว่านักการเมือง ข้าราชการ นักวิชาการ นักคิด นักเขียน นักประชาสังคม นักธุรกิจ ต่างก็วุ่นวายแสดงความคิดความเห็นอยู่ในเวทีต่างๆ เพื่อ"ระดมสมอง" กรรมการปฏิรูปชุดต่างๆ ถูกตั้งขึ้นมาจนนับไม่ทั่วถ้วน

เพื่อไม่ให้เป็นที่ตกกระแส ถูกเยาะเย้ยถากถางว่าเป็นไทยเฉย ไม่ยอมทำตนให้เป็นประโยชน์บ้านเมือง ผมก็เลยจะเปิดเวทีเสวนาเรื่อง "ปฏิรูปประเทศไทย" ขึ้นมาบ้าง ทางFacebook นี่แหละครับ เพราะไม่เห็นใครติดต่อให้ไปร่วมเวทีไหนเลย (จริงๆมีถามมาเหมือนกัน ชวนให้ไปพูด 2 นาทีแห่งหนึ่ง 5 นาทีอีกแห่ง เลยต้องขอบาย ไม่อัจฉริยะขนาดนั้น แก้ปัญหาได้ในสองนาที)

ขอเริ่มด้วยคำว่า "ปฏิรูป" ก่อนเลยครับ ตามพจนานุกรม แปลตรงๆว่า ทำให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสม สภาพที่สมควร ถ้าภาษาอังกฤษ ก็ตรงกับคำว่า REFORM ซึ่งความหมายก็ชัดเจนอยู่แล้ว ว่ามันมีเรื่องมีองค์ประกอบสำคัญ ที่อยู่ในสภาพที่ไม่เหมาะสม บิดเบือนไปจากที่ควรเป็น เลยต้องมาReform คือมาจัดใหม่ ดังนั้นต้องเข้าใจในเรื่องต่อไปนี้ก่อน

- การปฏิรูป ไม่ใช่"การพัฒนา"ที่หมายถึงว่ามีอะไรอยู่ ก็ทำให้ดีขึ้น ขาดอะไรที่ควรมี ก็จัดให้มี แต่ปฏิรูปหมายถึงว่า มีบางอย่างผิดไปจากที่ควร จึงต้องปรับ ต้องจัดใหม่ เพราะฉะนั้น การปฏิรูปมักจะไม่มีทาง win-win (คำเพราะที่ชอบพูดกันจัง)ไปทุกฝ่าย มันจะต้องมีฝ่ายที่ได้ในบางเรื่อง เสียในบางเรื่อง ประเด็นมันอยู่ที่ว่า จะทำอะไร เป้าหมายอะไร มีแผนอะไร มันควรจะค่อนข้างชัดเจน ทุกฝ่ายจะได้รับรู้ปรับตัวได้

- การปฏิรูป(Reform) ไม่ใช่ "การปฏิวัติ"(Revolution) ซึ่งหมายถึง การเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคน เปลี่ยนอย่างฉับพลัน รวดเร็ว เข้าสู่สิ่งที่เป็นเป้าหมาย เพราะฉะนั้น การปฏิรูป ย่อมต้องเป็นกระบานการที่มีการต่อรอง ต้องใช้เวลาดำเนินการ ต้องมีความอดทน ไม่สามารถได้มาโดยใช้อำนาจ โดยใช้กำลังเข้าหักโค่น ไม่สามารถจะมีฝ่ายใดได้รับตามสิ่งที่ปรารถนาไปทั้งหมด ทุกเรื่อง(อย่างปชต.อังกฤษ ที่เริ่มโดย Magna Carta ฉบับแรก เมื่อเกือบแปดร้อยปีก่อน มาวันนี้ก็ยังปรับเปลี่ยนอยู่ตลอด ยังไม่เป็น "ประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข"เลย และหลายครั้งก็ปรับไปตามพระอัจฉริยะ พระจริยวัตร ของพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ด้วยซำ)

- เป็นที่พิสูจน์แล้วว่า การเปลี่ยนแปลงแบบ"ปฏิวัติ"นั้น มักต้องทำลายเปลี่ยนแปลงรากฐานสถาบันแบบเดิม มักก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงตามมา เกิดความวุ่นวาย ไร้กฎกติกา ในที่สุดจะนำมาซึ่งความเสื่อมถอยยาวนานทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ตัวอย่างเช่น การปฏิวัติฝรั่งเศส การปฏิวัติรัสเซีย รวมไปถึงกรณี Arab Springs ทั้งหลาย ขณะที่การปฏิรูปอย่างสันติ มักนำผลที่ดีกว่าในทุกด้าน ตัวอย่างเช่น ที่เกิดในประเทศยุโรปเหนือ ที่ยังมีสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

- "เวทีต่อรองที่เหมาะสม" เป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่จะทำให้เกิดการปฏิรูปที่พึงประสงค์ และ พอยอมรับได้จากทุกฝ่าย(ซึ่งแปลว่า ถึงไม่ชอบก็พอเข้าใจ พอที่จะอดทน ไม่ออกไปต่อสู้วุ่นวาย) เวทีที่ว่า ไม่ได้หมายถึงสถานที่ การประชุม คณะกรรมการ หรือ คนที่ได้รับแต่งตั้งมอบหมายเข้าร่วมเท่านั้น แต่หมายถึงกระบวนการที่จะต้องดำรงอยู่ตลอดไป จริงอยู่ ในระยะแรกอาจต้องมีผู้เข้ามาจัดทำแผนแม่บทใหญ่ (ซึ่งทำอย่างไรก็ไม่มีทางเสร็จสมบูรณ์ในรายละเอียดได้) ซึ่งเป็นได้ก็แค่กรอบเป้าหมาย กลยุทธหลักๆ แยกแยะกลุ่ม แยกประเภท หลังจากนั้นจะเป็นกระบวนการดำเนินงาน ซึ่งต้องมีกลไกให้เกิดการต่อรองไปได้ในทุกๆระยะ มีพลวัตรไปตามการเปลี่ยนแปลงของเหตุ ปัจจัยรอบด้านตลอดเวลา

- ผู้ที่มีส่วนได้เสีย ทุกกลุ่ม ทุกหมู่เหล่า จะต้องมีช่องทาง มีโอกาสมีส่วนร่วมในกระบวนการปฏิรูป โดยเฉพาะในเรื่องที่ตนเกี่ยวข้อง จะต้องได้รับโอกาสที่จะพิทักษ์ผลประโยชน์ของตนตามควร

เขียนมายืดยาวเพิ่งจะอธิบายถึงความหมาย คำจำกัดความของ"การปฏิรูป"เท่านั้น ความจริงประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลง มีการปฏิรูปอยู่ตลอดเวลา ควบคู่ไปกับการพัฒนา แม้การปฏิวัติโดยกำลังทหารเท่าที่ผ่านมา(ยกเว้นการปฏิวัติ 2475) ทุกครั้งก็ไม่ใช่การปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนรื้อโครงสร้างการปกครอง หรือเศรษฐกิจสังคมแต่อย่างใด เป็นเพียงแค่การแย่งชิงจัดสรรอำนาจของกลุ่มคนชั้นบนเท่านั้น หรืออาจเรียกได้เพียงแค่ เป็นส่วนหนึ่งของการ"ปฏิรูป"เท่านั้น

ผมจะขอลองเล่าย้อนหลังเพื่อลองเรียนรู้จากการ "ปฏิรูป" ที่ผ่านมาของประเทศไทย

"ระบอบทักษิณ"ที่หลายล้านคนเกลียดชัง ก็เป็นแค่กระบวนการที่เกิดขึ้นมาเพียง 12 ปี และก็เป็นผลมาจากความพยายามใน"การปฏิรูปการเมือง"ครั้งใหญ่ โดยการออกรัฐธรรมนูญ 2540 (ซึ่งผมยังเชื่อว่าเป็นรธน.ที่ดีที่สุด ทั้งในด้านเนื้อหา และวิธีการจัดร่าง) ซึ่งในครั้งนั้นเป็นความพยายามที่จะปรับรื้อระบบการเมืองให้พ้นจากแบบ Buffet Cabinet ที่ก่อร่างสร้างตัวมาตั้งแต่ปี 2531 (เมื่อสิ้นสุดยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ ที่มีเลือกตั้ง แต่ทหารยังมีบทบาทอำนาจสูง มีพลอ. จากกองทัพ เป็นนายกรัฐมนตรีติดต่อกันเกือบ 11 ปี...ยุคเกรียงศักดิ์ และ เปรม)

ก่อนหน้า ปชต.ครึ่งใบ เกรียงศักดิ์+เปรม เราก็เคยมียุคสั้นๆ ที่ขอเว้นวรรคประชาธิปไตย เพื่อ"ปฏิรูป"วางรากฐาน ให้ประชาชนมีความ"พร้อม" คือยุค นายกฯธานินทร์ กรัยวิเชียร ที่ท่านขอเวลา 4-8ปี แต่เอาเข้าจริงก็ไม่มีใครยอมทนรอ โดยเฉพาะพวกผู้มีอำนาจที่แต่งตั้งท่านมา เค้าก็ปลดท่านออกในปีเดียว

ยุคธานินทร์เอง ก็เป็นผลพวงมาจากความล้มเหลว ของระบบประชาธิปไตยเต็มใบ ที่เกิดมาจากการ"ปฏิวัติ"ประชาชน ตุลาคม 2516 แล้วมีรัฐบาลพระราชทาน อ.สัญญา ธรรมศักดิ์ ใช้เวลา 1 ปีเศษ เตรียมรธน.ใหม่ ให้มีการเลือกตั้งทั่วไป แล้วได้สองพี่น้อง มรว.ราชสกุลปราโมช มาสลับเป็นนายกฯ ไม่ถึง 2 ปี ทางขุนทหารก็ยึดอำนาจกลับโดยการปลุกผีคอมมิวนิสต์ สร้างสงครามกลางเมือง ฆ่านักศึกษาไปเป็นเบือ เมื่อ 6 ตุลา 2519 กลับมาเถลิงอำนาจแบบครึ่งใบยาวนานตามที่เล่ามาแล้ว

ย้อนไปอีก ก่อน 14 ตุลาคม 16 เราก็อยู่ใต้ยุคมืดของประชาธิปไตย (แต่เศรษฐกิจดันเจริญดี หลายคนจึงยังถวิลหา) นั่นก็คือยุคเผด็จการทหารยาวนาน 16 ปี ต่อเนื่องมาสามจอมพล สฤษดิ์-ถนอม-ประภาส แถมด้วย 1 พันเอก(ณรงค์ กิตติขจร) ที่มีส่วนเร่งให้ระบบพังลง (เป็นคุณูปการใหญ่หลวงต่อประเทศ)

ถ้าจะให้ย้อนไปอีกถึง พุทธศตวรรษที่แล้ว เราก็มีกระบวนการเปลี่ยนแปลงในระดับที่พอจะเรียกได้ว่า "ปฏิรูป"มาตลอด ย้อนจากยุคสมัย จอมพลแปลก ไปจนยุค "คณะราษฎร์" แม้การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราช ในปี 2475 ก็เป็นไปโดยสงบ จัดได้เป็นกระบวนการ Reform พอๆกับ Revolution

ที่เขียนมาทั้งหมด เพียงเพื่อจะพยายามทำความเข้าใจ ว่า"การปฏิรูป" ในความหมายของผม จะเป็นกระบวนการต่อเนื่อง ที่ต้องมีส่วนร่วมในวงกว้าง ใช้เวลา ไม่จำกัดแต่ผู้ที่อ้างตนว่ามีความรู้ความเข้าใจเหนือกว่าคนอื่น
หรือ พูดง่ายๆว่าไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้สำเร็จลุล่วงได้ในเวลาอันสั้น หรือแม้แต่จะพูดได้ว่าไม่มีทางสำเร็จสมบูรณ์ไปได้เลยด้วยซำ เป็นกระบวนการที่มีอยู่คู่กับสังคมตลอดมา และจะต้องมีอยู่ตลอดไปด้วย แต่คำว่าค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้หมายความว่าไม่มีเป้าหมาย ไม่มีแผนการ ไม่มีการวัดความคืบหน้า

การปฏิรูปที่ผ่านมาทั้งหมดตั้งแต่ปี 2475 ถึงจะมีความคืบหน้า แต่ก็กล่าวได้ว่าค่อนข้างสะเปะสะปะ มีเดินหน้า มีถอยหลัง มีส่วนที่ดีขึ้น มีส่วนที่แย่ลง เป็นไปตามภูมิความรู้สะสมของสังคม ตามบริบทอำนาจต่อรองของแต่ละภาคส่วน แต่ละช่วงเวลา

มาปัจจุบัน.... เรากำลังยืนอยู่บนทางสองแพร่ง ชาวไทยทั้งมวล(ไม่เฉพาะแต่มวลมหา...นะครับ) กำลังต้องตัดสินใจครั้งใหญ่ ว่าเราจะก้าวสู่โอกาสในการปฏิรูปรุดหน้าครั้งสำคัญ หรือ จะถอยหลังก้าวใหญ่ (ซึ่งอาจนำไปสู่ความเป็นรัฐที่ล้มเหลว ที่ต้องใช้เวลาหลายสิบปี กว่าจะลุกขึ้นมาได้อีก)

ความจริง เป้าหมายการปฏิรูปนั้น ค่อนข้างชัดเจน เห็นร่วมกันแทบทุกกลุ่ม ทุกเหล่า อันได้แก่ 1. ลดความเหลื่อมลำ 2. ขจัดคอรัปชั่น 3. กระจายอำนาจ และทรัพยากร 4. วิธีการเลือกตั้ง การเข้าสู่อำนาจ 5. พัฒนาศักยภาพมนุษย์ 6. เพิ่มผลิตภาพโดยรวม 7.กระบวนการตรวจสอบ และถ่วงดุลอำนาจ

ปัญหามันอยู่ที่วิธีการ กับการแย่งชิงกันเป็นผู้นำในการปฏิรูป ตลอดไปจนถึงความไม่เชื่อใจในความจริงใจที่จะปฏิรูป เรื่องพวกนี้น่าจะหาวิธี หาเวที ร่วมกันสุมหัวได้ข้อสรุปได้ ถ้าทุกคนมีสติ สงครามกลางเมืองน่าจะหลีกเลี่ยงได้ การปฏิวัติล้าสมัยโดยฝ่ายทหารก็ไม่น่าจะเกิด

ถ้าความเข้าใจของผมเกี่ยวกับ"การปฏิรูป"ไม่คลาดเคลื่อน คำที่เราเห็นตามป้าย ตามการชุมนุม ตลอดไปจนถึงตาม Profile Pictures ของเพื่อนFacebook นับหมื่น ว่า "ปฏิรูป ก่อน เลือกตั้ง" หรือ "Reform Before Election" น่าจะหมายความเพียงว่า "วางกรอบ และวิธีการ ปฏิรูป ก่อนการเลือกตั้ง" เท่านั้น เพราะถ้าจะปฏิรูป"ให้เสร็จ" ก่อนเลือกตั้งจริงๆ สงสัยเราต้องรอให้หลานๆเรามาเป็นคนเลือกตั้งครั้งต่อไป(มันต้องใช้เป็นสิบปีครับ) แถม ใน"การปฏิรูป" ต้องมีการออกกฎหมายเยอะแยะ จะทำได้อย่างไรถ้าไม่มีสภา (ถ้าให้สภาปชช.ของท่านกำนันออกกฎหมาย ผมคนหนึ่งละที่จะขอ"อารยะขัดขืน") ต้องฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง แล้วใช้ "ประกาศคณะปฏิวัติ"เท่านั้น

ทุกท่านใน"มวลมหาประชน" ล้วนมีความรู้ มีตรรกะดีเลิศ โปรดใคร่ครวญเถอะครับ ท่านเรียกร้องตะโกนหา "การปฏิรูป" แต่วิธีการที่เดิน กำลังเพรียกหา "การปฏิวัติ" หรือเปล่า

สถานการณ์เปรียบเทียบทางการเมือง

เหตุการณ์ 14 ตุลา เรียกร้องรัฐธรรมนูญ
เหตุการณ์ 6 ตุลา เรียกร้องให้จอมพลถนอม กิตติขจรออกนอกประเทศ
เหตุการณ์พฤษภา 35 เรียกร้องให้สุจินดาลาออกจากตำแหน่งนายกฯ
เหตุการณ์ชุมนุมพันธมิตรฯ 48-49 เรียกร้องให้ทักษิณลาออกจากตำแหน่งนายกฯ
เหตุการณ์ชุมนุมเสื้อแดง 53 เรียกร้องให้ยุบสภา
เหตุการณ์ชุมนุมกปปส.
+ เรียกร้องให้ยกเลิกพรบ.นิรโทษกรรม (สำเร็จแล้ว)
+ ให้นายกฯ รักษาการลาออก
+ ตระกูลชินวัตรออกนอกประเทศ
+ ขออำนาจการบริหารประเทศ
+ ให้ตั้งสภาประชาชน
+ นายกฯ พระราชทาน
+ ปฏิรูปประเทศ
+ ???
‪#‎bkk_shutdown‬


นิ้วกลม:เราพอจะมีอะไรที่เห็นตรงกันบ้างไหม

Roundfinger ได้แชร์ รูปภาพ ของ Roundfinger
ท่ามกลางความขัดแย้งและแตกต่างทางความคิด อยากชวนทุกคนมาแลกเปลี่ยนกันครับ (แปะไว้เมื่อคืนนี้)
เราพอจะมีอะไรที่เห็นตรงกันบ้างไหม
******************************

ท่ามกลางความขัดแย้งและสถานการณ์ที่แม้แต่หมอดูที่แม่นที่สุดยังไม่รู้ว่าจะจบลงอย่างไร เสียงหนึ่งดังแหวกอากาศขึ้นมาในม่านหมอก "เราพอจะมีอะไรที่เห็นตรงกันบ้างไหม" ผมคิดว่านี่เป็นคำถามที่สร้างสรรค์ อย่างน้อยที่สุดก็มีเจตนาดี แทนที่จะเพิ่มความต่าง ความเกลียดชัง การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ซึ่งมีโอกาสนำไปสู่ความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นทุกวัน คำถามนี้ถามทุกฝ่ายในบ้านเมืองว่า มีอะไรบ้างที่เป็น "จุดร่วมต่ำสุด" ที่เราทุกคนพอจะยอมรับตรงกันได้ หรือมีความเป็นห่วงในเรื่องเดียวกัน

ผมได้ยินเสียงถกเถียงจากผู้คนรอบตัว (และผมเองก็เป็นหนึ่งในผู้ถกเถียงนั้นด้วย) ในหัวข้อหลักของวันนี้คือ เราควรปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง หรือควรเลือกตั้งก่อนปฏิรูป

ฝ่ายต้องการให้ปฏิรูปก่อนไม่ไว้วางใจนักการเมือง (ซึ่งก็ไม่ควรจะวางใจ) ว่าเมื่อเข้ามามีอำนาจจะทำการปฏิรูปหรือไม่ ฝ่ายที่เห็นว่าการเลือกตั้งเป็นสิ่งจำเป็นก็มองว่า หากมีการปฏิรูปจาก "สภาประชาชน" ที่ได้รับการเลือกจาก กปปส. (ซึ่งไม่ใช่คนทั้งหมดของประเทศ) ก็อาจนำไปสู่ความวุ่นวาย เพราะอธิบายไม่ได้ว่า ใช้อำนาจใดมาตั้งสภาประชาชนนั้น และอีกฝ่ายก็มีสิทธิ์จะออกมาประท้วงเพื่อทำในสิ่งเดียวกัน

ท่ามกลางเสียงถกเถียงที่ดังขรม คำถามหนึ่งดังขึ้นมาว่า "เราสามารถเลือกตั้งเพื่อการปฏิรูปได้ไหม" เราจะทำอย่างไรให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็น "การเลือกตั้งเพื่อการปฏิรูป"

ในความหมายว่า 1.ลดความเหลื่อมล้ำ 2.ขจัดคอร์รัปชั่น 3.กระจายอำนาจและทรัพยากร 4.วิธีการเลือกตั้ง การเข้าสู่อำนาจ 5.พัฒนาศักยภาพมนุษย์ 6.เพิ่มผลิตภาพโดยรวม 7.กระบวนการตรวจสอบ และถ่วงดุลอำนาจ (อ้างอิงจากhttps://www.facebook.com/banyong.pongpanich/posts/198925906977383 )

ไม่กี่วันก่อน ผมมีโอกาสได้เข้าไปนั่งเป็นเด็กหลังห้อง (ผู้สังเกตการณ์) เพื่อฟังคนกลุ่มหนึ่งซึ่งห่วงใยประเทศ ไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นในบ้านเมือง ประชุมกันเพื่อช่วยกันระดมสมองหาทางออกจากวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้น ในห้องนั้นมีทั้งนักวิชาการ เอ็นจีโอ ตัวแทนภาคประชาชน ซึ่งมีทั้งคนที่ถูกสังคมมองว่าเป็นแดงและเป็นเหลือง (ทั้งที่เขาอาจไม่ได้สังกัดสีใด) แน่นอนว่า ความเห็นของคนทั้งหมดย่อมไม่ตรงกัน แต่ละคน แต่ละกลุ่ม พอจะเป็นตัวแทนความคิดของคนในสังคมกลุ่มต่างๆ ได้จำนวนหนึ่ง ข้อแตกต่างจากการถกเถียงของผู้คนในสังคมก็คือ ในห้องนั้นเริ่มต้นการพูดคุยด้วยการตั้งธงว่า "มาดูซิว่า เราพอจะมีอะไรที่เห็นตรงกันบ้างไหม"

นั่นย่อมหมายถึง ถ้าหากมีสิ่งที่เห็นไม่ตรงกัน แต่ละฝ่ายจะพูดคุยเพื่อ "ยอม" ให้กันในบางจุด ในบางรายละเอียด ได้มากน้อยแค่ไหนด้วย

แน่นอนครับ ว่าการพูดคุยของคนที่มีความเห็นแตกต่างกันย่อมไม่ง่าย แต่สิ่งที่ทำให้การพูดคุยในห้องนี้ง่ายขึ้นคือ "เจตนา" ของการพูดคุยกัน นั่นคือ "การหลีกเลี่ยงความรุนแรงในทุกรณี" ทุกคนในห้องเห็นตรงกันว่า ไม่อยากให้บ้านเมืองของเราต้องเดินไปถึงทางตัน และการปะทะที่รุนแรง

จึงตั้งธงไว้ที่การ "แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง" เพื่อหาทางออก

ข้อเสนอที่ได้จากความคิดเห็นของทุกคนในห้องประชุมได้แถลงออกมาแล้วในนามของ "เครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา" ซึ่งทุกคนน่าจะได้รับฟังผ่านการแถลงข่าวไปแล้ว ในมุมของผมเอง การได้ไปนั่งฟังผู้มีเหตุมีผลถกกันในวันนั้นนับเป็นประสบการณ์ที่มีค่ายิ่ง ทำให้ได้คิดอะไรมากมาย จึงอยากนำมาเล่าสู่กันฟังครับ

...

สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากห้องประชุม และคิดว่า เราสามารถนำมาปรับใช้เพื่อหารือกันได้ในสังคมวงกว้าง ทั้งในสเกลใหญ่ระดับสังคมผ่านสื่อต่างๆ และในสเกลอย่างในกลุ่มเพื่อนหรือในครอบครัวก็ตาม มีดังต่อไปนี้ครับ

1. เราสามารถตกลงร่วมกันก่อนได้ไหมว่า เราเอาอะไร และเราไม่เอาอะไร สำหรับผม ผมไม่เอาอำนาจนอกระบบ ไม่เอารัฐประหาร ไม่เอาการปราบปรามที่รุนแรงโดยรัฐบาล สรุปว่า ไม่เอาความรุนแรงทุกรูปแบบ

2. เราเริ่มต้นตกลงกันก่อนได้ไหมว่า เรายังยึดหลักประชาธิปไตย เราให้ความสำคัญกับทุกเสียงเท่าเทียมกัน ไม่มีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเสียงดังกว่า ไม่มีกลุ่มใดสามารถตั้ง "สภาประชาชน" ขึ้นมาได้ โดยที่ไม่ผ่านกระบวนการลงคะแนนจากคนทั้งประเทศ หากตกลงกันเช่นนี้ เราก็จะขีดเส้นเริ่มต้นได้ว่า เราจะปฏิรูป "ในระบบ" และ "ในกติกา"

3. สำหรับข้อถกเถียงว่า จะเลือกตั้งก่อนหรือปฏิรูปก่อน เราสามารถทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งเพื่อการปฏิรูปได้หรือไม่ คือไม่ได้ปฏิเสธหรือขัดขวางการเลือกตั้ง แต่กดดันนักเมืองให้รับฟังข้อเสนอการปฏิรูปจากกลุ่มต่างๆ หรือเสนอนโยบายเพื่อการปฏิรูปแล้วให้ประชาชนเลือกว่าชอบของพรรคใด (ซึ่งคงจะดีถ้าประชาธิปัตย์ลงเลือกตั้งและร่วมเสนอด้วย) หรือกระทั่งทำสัญญาประชาคมว่า เมื่อเลือกตั้งเข้ามาแล้วคุณต้องทำหน้าที่ปฏิรูปตามที่สัญญาไว้ หากไม่ทำก็เท่ากับทรยศประชาชนที่เลือกคุณเข้ามา

4. เราจำเป็นต้องเปิดพื้นที่ให้กับความคิดที่แตกต่างได้แสดงตัว เพื่อหาทางออกอื่นๆ และส่งเสียงอื่นๆ บ้าง โดยไม่รีบ "พิพากษา" หรือ "ป้ายสี" ให้คนที่ออกมาแสดงตัวกลายเป็นเพียงหนึ่งในขั้วความขัดแย้ง เช่น กิจกรรมจุดเทียนหรือปล่อยลูกโป่งที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น "แดงแปลงกาย" ทั้งที่ในคนจำนวนนั้นอาจมีทั้งแดง ทั้งไม่แดง ซึ่งการผลักคนที่เห็นต่างจากตนเองไปเป็นฝั่งตรงข้ามตลอดเวลาเช่นนี้ เป็นการมองโลกแบบทวิลักษณ์ "ไม่เป็นพวกฉันต้องเป็นพวกมัน" ซึ่งยิ่งเพิ่มความรู้สึก "พวกกู-พวงมึง" มากยิ่งขึ้น จนเราไม่คิดจะมองหา "จุดร่วม" ของเรากับคนอื่นๆ ที่หลากหลายไปกว่าชื่อเรียกแคบๆ เหล่านั้นอย่าง แดง เหลือง สลิ่ม แมลงสาบ ควาย ฯลฯ

การพิพากษาเช่นนี้ ทำให้เราไม่ได้ยินเสียงของคนที่ไม่เห็นด้วย เพราะหลายคนที่เป็น "พลังเงียบ" ไม่กล้าแสดงตัว เพราะพอแสดงความคิดเห็นที่ไม่ตรงใจ "มวลมหาประชาชน" ก็อาจจะถูกพิพากษาว่าเป็นอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งที่เขาอาจจะไม่เห็นด้วยทั้งกับนกหวีดและเพื่อไทยก็เป็นได้ เช่นกันกับที่เขาอาจจะมีบางส่วนที่เห็นด้วยกับชาวนกหวีด เช่น เห็นด้วยกับข้อเรียกร้อง แต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการเรียกร้อง ฯลฯ

ผมเชื่อว่ายังมีคนกลุ่มนี้อีกเป็นจำนวนมาก ผมคิดว่าการเปิดพื้นที่ให้ได้ยินเสียงของคนกลุ่มนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อส่งสัญญาณว่า ยังมีคนอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับการเดินหน้าเพื่อนำไปสู่ทางตันของทั้งสองฝ่าย ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อความรุนแรง และการรัฐประหาร

หากลดน้ำเสียงลักษณะที่ว่า "ไม่ใช่กู มึงก็เป็นพวกมัน" ลดบ้าง เราจะได้ยินเสียงกลางๆ ที่ยังเชื่อในระบบและกติกาดังขึ้น ซึ่งในระยะยาวนั้นน่าจะเป็นข้อดี เราควรสลายขั้วและสลายวิธีการมองเพื่อนร่วมสังคมแบบ "ไม่แดง มึงก็เหลือง" หรือ "ไม่เหลือง มึงก็แดง" ได้หรือยัง เพราะบางที คนที่ถูกป้ายสีว่าแดงหรือเหลืองก็มีความคิดตรงกันในหลายเรื่อง แต่ทันทีที่ถูกขีดเส้นจากการกระทำเพียงครั้งเดียวหรือไม่กี่ครั้ง เราก็เลิกฟังกันไปแล้ว

คนที่ถูกมองว่าเหลือง ก็ใช่ว่าจะไม่เอาประชาธิปไตย
คนที่ถูกมองว่าแดง ก็ใช่ว่าจะเอาคอร์รัปชั่น
อย่างน้อยก็ไม่ใช่ทุกคน หากเราไม่เรียกกันว่าสีนั้นสีนี้ เราก็จะเห็นว่า บางครั้งความคิดความเห็นของแต่ละคนไม่ต่างกันมากนัก แค่อาจให้น้ำหนักไม่เท่ากัน ซึ่งก็แลกเปลี่ยนกันได้มิใช่หรือ

แน่นอนว่า เดินกันมาถึงจุดนี้ คงไม่มีใครกล้าฝันถึงสังคมที่ปราศจากความขัดแย้งอีกต่อไป แต่เราสามารถขัดแย้งกันอย่างให้เกียรติกันได้ เคารพในความคิด และในสถานะความเป็นคนเหมือนกันของอีกฝ่าย เถียงกันด้วยเหตุผล ไม่ก่นด่าคนที่ไม่เหมือนเราอย่างดูถูกเหยียดหยาม เพราะนั่นยิ่งทำให้เราคุยกันไม่ได้ เราเกลียดกัน และที่แย่ที่สุดคือ ไม่มีใครกล้าพูดความเห็นต่าง ไม่มีใครอยากแสดงความคิด ซึ่งนั่นจะทำให้เรากลายเป็นสังคมประชาธิปไตยที่พิการ ไม่มีความเห็นที่หลากหลายอย่างที่ควรจะเป็น ทั้งที่การแสดงความคิดเห็นของแต่ละคนนั้นเป็นสิทธิและเสรีภาพที่พึงจะมีในสังคมประชาธิปไตย แต่กลับกลายเป็นว่า เราสามารถพูดได้ตาม "กฎหมาย" แต่พูดไม่ได้ทาง "วัฒนธรรม" เพราะคนจำนวนหนึ่งในสังคมไม่ยอมรับความเห็นต่าง และผลักให้ไปอยู่ฝ่ายตรงข้ามเสียจนไม่กล้าพูด ซึ่งความกัดดันหรือการควบคุมทางสังคมแบบนี้ บางครั้งส่งผลแรงไม่น้อยไปกว่ากฎหมายเลย

หากเราเป็นสังคมประชาธิปไตยจริง ทุกความคิดต้องมีสิทธิส่งเสียง และต้องได้รับการเคารพในฐานะความคิดหนึ่ง เท่ากับความคิดของทุกคนมิใช่หรือ และไม่ใช่สิ่งนี้หรอกหรือที่ทำให้สังคมประชาธิปไตยมีคุณค่าและงดงาม--ความหลากหลายทางความคิด และการอดทนกับความคิดที่แตกต่าง

...

ในวันที่ 13 มกราคม แม้ลุงกำนันจะยืนยันเดินหน้าปิดกรุงเทพฯ อย่างน้อยผมก็ขอใช้สิทธิ์ในการส่งเสียงเล็กๆ ของผมว่า

1. ผมอยากให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งเพื่อการปฏิรูป และเราจะใช้ทั้งพลังจากมวลมหาประชาชน พลังเงียบ รวมทั้งพลังจากคนที่เลือกรัฐบาลใหม่เข้าไป ช่วยกันกดดันให้เดินหน้าสู่การปฏิรูป (ในวงเล็บว่า การปฏิรูปที่สังคมได้ประโยชน์ และเกิดขึ้นจากข้อเสนอของประชาชนทุกภาคส่วน) และผมจะรอใช้สิทธิ์ของผมในวันเลือกตั้งครับ

2. ผมไม่สนับสนุนการทำรัฐประหาร และไม่สนับสนุนการปราบปรามที่รุนแรงจากทางฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งผมคิดว่าทุกฝ่ายไม่ควรเดินหน้าไปสู่จุดที่เปราะบางและเสี่ยงต่อการเกิดการปะทะ

3. ผมไม่สนับสนุนรัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้งแล้วอ้างเสียงข้างมากมาสร้างความชอบธรรมให้กับทุกอย่างที่ตัวเองทำ ไม่ว่าจะเป็นการทุจริตหรือนโยบายที่ล้มเหลวแล้วดันทุรังเดินหน้าต่อไป ซึ่งคงเป็นหน้าที่ของประชาชนที่ตื่นตัวแล้ว ในการช่วยตรวจสอบรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่เราได้ลงคะแนนให้ หรือเราไม่ได้ลงคะแนนให้ก็ตาม ซึ่งผมคิดว่า เราเดินมาสู่จุดที่พอจะให้ความหวังกับพลังตรวจสอบของประชาชนได้ไม่น้อยแล้วนะครับ

4. เป็นไปได้ไหมว่า เราจะค่อยๆ ถอนตัวออกจากการเป็น "กองเชียร์" พรรคการเมือง มาสู่การเป็นพลเมืองด้วยกัน และเลิกป้ายสีให้คนที่คิดต่างต้องเป็นฝ่ายตรงข้ามตลอดเวลา หากเราเป็นพลเมืองด้วยกัน เราน่าจะได้พลังพลเมืองที่เข้มแข็งเพื่อตรวจสอบผู้มีอำนาจ/นักการเมืองทั้งหลาย แทนที่จะแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ซึ่งเข้าทางนักการเมือง เพราะยิ่งมีมวลชนสนับสนุน เขาก็ยิ่งเข้มแข็ง แต่ถ้าเราด่าฝ่ายที่เราเลือกเท่าๆ กับฝ่ายที่เราไม่ได้เลือก เห็นความผิดของฝ่ายที่เราเลือกเท่าๆ กับที่เห็นความผิดของฝ่ายตรงข้าม นักการเมืองไม่ว่าพรรคไหนก็น่าจะยิ่งต้อง "ดูแลพฤติกรรม" ของตัวเองมากขึ้น ไม่ว่าเขาจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน เพราะพอเราเป็นกองเชียร์ของพรรคการเมือง เราก็ได้เห็นพรรคการเมืองแต่ละพรรคทำพฤติกรรมน่ารังเกียจให้เห็นโดยไม่สนใจประชาชน เพราะเขามั่นใจว่า ยังไงกองเชียร์เขาก็เกลียดอีกฝ่ายมากกว่าพฤติกรรมห่วยๆ ของพรรคตัวเอง เลยกลายเป็นว่าเราต้องอยู่กับปิศาลสองตนที่ไม่คิดเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง เพราะมั่นใจในความทุเรศของฝ่ายตรงข้ามว่าจะมีมากกว่า

ดูเหมือนเรากำลังยืนอยู่บนทางแยก ระหว่างการเดินหน้าไปตามเส้นทางประชาธิปไตย ตรวจสอบ ส่งเสียง ยอมรับฟัง พูดคุย เคารพกติกา เปิดพื้นที่ให้ความหลากหลาย ประชาชนเข้มแข็ง และเดินหน้าปฏิรูปเพื่อประเทศ กับการถอยหลังไปสู่สังคมที่ไม่เคารพกติกา (อาจจะรัฐประหาร) กำจัดคนคิดต่าง ดูถูก เลิกคบ ทะเลาะ ลงไม้ลงมือ เกลียดชัง แตกแยก และผู้มีอำนาจเข้มแข็ง (ทั้งนี้ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นได้จากทุกฝ่าย)

หากเราเชื่อในพลังตรวจสอบ พลังกดดันของประชาชน ซึ่งอยู่ในทีม "พลเมือง" ด้วยกัน ผมคิดว่าไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะต้องรังเกียจการเลือกตั้งเพื่อการปฏิรูป แน่นอนครับ นักการเมืองนั้นอาจไม่น่าเชื่อถือสักเท่าไหร่ แต่นักการเมืองก็เป็นคน ที่ต้องคิดและปฏิบัติตามกระแสของสังคม

คำถามจากเพื่อนๆ ที่เป่านกหวีดคือ "มึงจะมั่นใจได้ยังไงว่า มันจะเข้าไปปฏิรูปจริงๆ เดี๋ยวมันก็อ้างเสียงข้างมาก แล้วก็โยนแผนปฏิรูปทิ้ง" ซึ่งก็คล้ายๆ กับหลายอย่างที่ลุงกำนันเดินหน้าปฏิรูปได้ตั้งแต่ตอนเป็นรัฐบาล แต่ก็ไม่ทำ

ผมไม่มีคำตอบให้กับคำถามของเพื่อน ผมไม่รู้ว่าเราจะมั่นใจได้อย่างไร แหม ใครจะไปมั่นใจนักการเมืองผู้มีผลประโยชน์ส่วนตัวเต็มไม้เต็มมือไปหมด ทั้งที่ดิน เงินทอง มรดก อำนาจ ใครจะอยากกระจายมันออกไปให้คนอื่น หรือเกลี่ยให้เท่าเทียมกันมากขึ้น ผมว่าสิ่งที่พอจะมั่นใจได้คือ พลังการตรวจสอบของพวกเรานี่แหละ ซึ่งคงต้องเริ่มกดดันพรรคการเมืองต่างๆ ตั้งแต่วันนี้ ไปจนถึงวันที่เราได้เห็นการปฏิรูปอย่างแท้จริง

ผมจะไปเลือกตั้ง และผมก็จะเกาะติดรอดูการปฏิรูปจากรัฐบาลที่จะเข้ามาบริหาร ผมเชื่อว่า เราสามารถปฏิรูปได้ด้วยการใช้พลังของประชาชนกดดัน ในรูปแบบที่อยู่ที่กติกา อธิบายได้ และนับทุกเสียงในประเทศ

5. สิ่งที่ผมได้เรียนรู้ข้อสุดท้ายจากการได้นั่งฟังผู้รู้ทั้งหลายในห้องประชุมวันนั้นก็คือ แม้ว่าเราจะคิดต่างแค่ไหน หากเราตั้งธงก่อนว่า เราปรารถนาดีต่อประเทศชาติจริงๆ ไม่เอาแต่ใจ ไม่อยากให้ต้องเกิดเรื่องแย่ๆ ขึ้น เราพอจะมี "จุดร่วมต่ำสุด" ที่ยอมรับร่วมกันได้มาก-น้อยแค่ไหน ในห้องประชุมวันนั้น ผมเห็นการโต้แย้ง เห็นการยอม เห็นการถอย ไม่มีใครได้ทั้งหมด และไม่มีใครเสียทั้งหมด ไม่มีใครชนะทั้งหมด ไม่มีใครแพ้ทั้งหมด ผลลัพธ์เช่นนี้จึงเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกันได้

หากฝ่ายใดคิดที่จะชนะทั้งหมด และผลักให้อีกฝ่ายแพ้ทั้งหมด ก็น่าตั้งคำถามเหมือนกันว่า ฝ่ายที่คิดเช่นนั้นหวังดีกับประเทศชาติจริงหรือ แล้วคุณจะเอาคนอีกจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นพี่น้องร่วมชาติกับคุณไปไว้ที่ไหน

ทั้งหมดทั้งมวลที่เขียนมา เป็นความคิดที่ได้มาจากการฟังผู้รู้ในห้องประชุมวันนั้นถกเถียงแลกเปลี่ยนกัน และนำมาขบคิดเองอีกทีหนึ่ง เพื่อสรุปจุดยืนของตัวเอง ผมเชื่อว่าหลายคนก็ฟังความเห็นและข้อมูลมามากมาย ทุกคนล้วนมีความคิดเห็นของตัวเองทั้งนั้น อยู่ที่จะพูดออกมาหรือแสดงออกมาหรือเปล่า

ผมยังเชื่อว่า มีอีกหลายเสียงที่เป็น "เสียงเงียบ" ยังมีคนที่ไม่เอาความรุนแรง ไม่เอารัฐประหาร และเชื่อว่าการเลือกตั้งนำไปสู่การปฏิรูปได้ และผมคิดว่าอาจจะถึงเวลาแล้ว ที่ "เสียงเงียบ" ทั้งหลายต้องแสดงตัวออกมาบ้าง ตามเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย เพราะมันอาจจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงขึ้นได้ รวมถึงพี่น้องมวลมหาประชาชนที่อาจจะคิดเห็นไม่ได้ต่างกันมากนัก ก็น่าจะส่งเสียงในฐานะปัจเจกได้ด้วยเช่นกัน ผมเชื่อว่าพี่ๆ น้องๆ น้าๆ อาๆ ไม่ได้เห็นด้วยกับลุงกำนันไปเสียทุกอย่างหรอก ใช่ไหมครับ

และถ้าเสียงจากผู้คนในกลุ่มต่างๆ ดังขึ้นมามากพอ เราก็จะเห็นความหลากหลายของคนในสังคม ไม่มีใครป้ายสีใครได้ง่ายๆ แล้วคนก็จะกล้าแสดงความคิดเห็นกันอย่างเสรีมากขึ้น โดยไม่ต้องกังวลว่าจะต้องผลักไปอยู่ฝั่งไหน (ซึ่งผมว่าก็มีคนผลักอยู่ดีนั่นแหละ 555 แต่ถึงตอนนั้น การผลักคนอื่นไปยืนฝั่งตรงข้ามอาจจะกลายเป็นเรื่องตลกไปแล้วก็ได้)

หากเราคิดตรงกัน ถ้าเราพอจะมี "จุดร่วม" ตรงกันอยู่บ้าง ฝากส่งเสียง และแชร์ความคิดหรือข้อความออกไปเพื่อร่วมกันเดินหน้าปฏิรูปในระบบประชาธิปไตยไปด้วยกัน

เชื่อว่า ไม่ได้มีแค่ผมที่คิดเช่นนี้

ส่วนพี่ๆ เพื่อนๆ ที่เชื่อมั่นในแนวทางอื่น ผมเคารพการตัดสินใจ ความคิด และการกระทำของทุกคนครับ แค่อยากชวนมาร่วมกันคิดว่า ในความเห็นที่แตกต่างกันนั้น เราพอจะมีอะไรที่เห็นตรงกันบ้างไหม หากเห็นต่างก็อยากชวนมาแลกเปลี่ยนความคิดกันด้วยเหตุด้วยผล ไม่มีประโยชน์ที่จะก่นด่ากันด้วยอารมณ์หรือผลักคนที่คิดต่างไปเป็นฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ ถ้าเราปรารถนาดีกับสังคมที่เราอยู่ร่วมกันจริงๆ เราน่าจะหันมาช่วยกันลดอุณหภูมิ และถกเถียงกันอย่างใจเย็นด้วยเหตุด้วยผลมากกว่าอารมณ์มิใช่หรือ สุดท้ายแล้ว ทุกคนย่อมสามารถแสดงออกตามเสรีภาพในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ ข้อเขียนนี้ของผมก็ขออนุญาตใช้สิทธินั้นเช่นกันครับ แม้เราคิดไม่ตรงกัน แต่เราก็คุยกันได้อย่างสร้างสรรค์ ผมเชื่อเช่นนั้นเสมอ

ด้วยความเคารพในทุกความคิดเห็นครับ
///
หมายเหตุ : "นิ้วกลม" หรือ นายสราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ นักเขียนชื่อดังระดับประเทศ ขวัญใจคนรุ่นใหม่ เขียนผ่านเฟซบุ๊ก http://www.facebook.com/Roundfinger  แสดงทัศนะต่อวิกฤตการเมืองที่กำลังเกิดขึ้น
16

'สุเทพ'ลั่น!3วันจับ'นายกฯ-รมต.'

14 ม.ค.57 ผู้สื่อข่าวรายงานจากแยกอโศกว่า เมื่อเวลา 12.00 น. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการกปปส. เดินทางมาเยี่ยมเยียนผู้ชุมนุมที่เวทีปราศรัยแยกอโศก ซึ่งนายสุเทพได้รับประทานอาหารเที่ยงที่โรงครัว จากนั้น นายสุเทพได้เดินลงไปทักทายจับมือผู้ชุมนุมหน้าเวทีอย่างเป็นกันเอง และผู้ชุมนุมบางคนมอบเงินบริจาคให้นายสุเทพด้วย 

ทั้งนี้ นายสุเทพ ขึ้นเวทีพร้อมปราศรัยว่า พวกเราต่อสู้ 24 ชั่วโมง ทั้งวันทั้งคืนและเราจะต่อสู้ต่อไปจนกว่าชัยชนะจะเป็นของประชาชน งานนี้สู้จนจบไม่จบไม่เลิกไม่กลับบ้านมือเปล่า โดยภาพรวมได้มีการปิดถนน 8 แห่ง ได้แก่ แยกอโศก ถนนแจ้งวัฒนะ 5 แยกลาดพร้าว อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แยกราชประสงค์ ปทุมวัน และสวนลุมพินี ซึ่งกิจกรรมกลางวันผู้ชุมนุมจะไปปิดหน่วยงานกระทรวงต่างๆ แล้วกลับมายังที่ตั้งเดิม ซึ่งผู้ชุมนุมที่แยกอโศกได้รับมอบหมายไปปิดที่กระทรวงแรงงาน แต่ผู้ชุมนุมแยกลาดพร้าวไปปิดแล้ว จึงต้องให้ผู้ชุมนุมรอปิดศูนย์สิริกิตติ์ หากมีหน่วยงานราชการมาทำงาน และวันที่ 15 ม.ค.นี้ ตนจะมานำพี่น้องเดินขบวนออกจากแยกอโศก ไปตามถนนสุขุมวิท เลี้ยวซ้ายเข้าถนนทองหล่อ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนเพชรบุรีตัดใหม่ และกลับแยกอโศก เพื่อเชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันออกมาต่อสู้ 

นายสุเทพ กล่าวต่อว่า เมื่อเช้าวันที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมา ยังมีคนมาต่อรองกับตนว่า หากรัฐบาลจะเลื่อนการเลือกตั้งจากวันที่ 2 ก.พ.เป็นวันที่ 4 พ.ค. กปปส.จะเอาอย่างไร ตนจึงตอบว่า ไม่เอา เพราะการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปไม่มีความหมายในสายตาประชาชน เนื่องจากจากประชาชนคิดไปไกลถึงเรื่องปฏิรูปประเทศไทย โดยการให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ต้องลาออกพร้อมคณะรัฐมนตรีก่อน เพื่อให้เกิดสูญญากาศทางการเมือง และหาคนดีเป็นนายกฯ เป็นสภาประชาชน ทำการปฏิรูปให้เสร็จเมื่อไหร่ก็ค่อยเลือกตั้ง และเมื่อตนปฏิเสธก็มีการตัดพ้อว่า รัฐบาลถอยไปมากแล้ว ตนจึงบอกว่า รัฐบาลไม่ต้องหาทางลงให้กระโดดลงเอง เพราะตอนขึ้นก็หาทางขึ้นไปเอง และต้องทำให้รู้ 

"ภายใน 2-3 วันนี้ จะปิดสถานที่ราชการให้หมด โดยผมจะนำไปยึดสถานที่ราชการบางแห่ง นอกจากนี้ จะมีการควบคุมนายกฯ พร้อมคณะรัฐมนตรีให้หมด พร้อมตัดน้ำตัดไฟบ้านรัฐมนตรี หากยังดื้อด้านก็จะควบคุมตัวและขอให้แต่ละคนส่งลูกเมียไปที่อื่นก่อน หากฉุกเฉินจะได้หนีได้สะดวก" นายสุเทพ กล่าว

นายสุเทพ กล่าวต่ออีกว่า ขณะนี้ มีกลุ่มคนเล็กที่ยุให้น.ส.ยิ่งลักษณ์อยู่สู้ต่อคือ 1.นายสุรพงษ์ โตวิจักขณ์ชัยกุล รองนายกฯและรมว.ต่างประเทศ 2.ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน 3.พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกฯ 4.นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ 5.นายภูมิธรรม เวชชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย และ 6.นายปลอดประสพ สุรัสสวี รองนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ เราจะรอเวลาบุกควบคุมตัวตามลำดับ

http://komchadluek.net/mobile/detail/20140114/176804.html