PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

สถานการณ์ข่าว6พ.ย.57

สนช. มีมติ 87:75 เสียง รับพิจารณาสำนวนถอดถอน "สมศักดิ์ - นิคม" ปมแก้ที่มา ส.ว. พร้อมตั้ง 23 กมธ.สามัญ

การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ที่มี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่ประธานการประชุม หลังใช้เวลาการประชุมลับกว่า 3 ชั่วโมง จากนั้น ที่ประชุมมีมติเห็นด้วย 87:75 เสียง งดลงคะแนน 1 เสียง เป็นผลให้สภานิติบัญัติแห่งชาติ รับการพิจารณาสำนวนถอดถอน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และ นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา จากกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของวุฒิสภา โดยมิชอบแล้ว

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมมีมติให้ตั้งคณะกรรามธิการสามัญเพื่อพิจารณารวบรวมความคิดเห็นในการร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 23 คน ด้วยคะแนน 161:6 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง
ทั้งนี้ มาจาก สนช. 7 คน และผู้แทนจากคณะกรรมาธิการสามัญ 16 คณะ คณะละ 1 คน รวมเป็น 23 คน
----------
มติสนช.รับพิจารณาถอดถอนสมศักดิ์-นิคม

เมื่อวันที่ 6 พ.ย.2557 ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้พิจารณารายงานและสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตามหนังสือสำนักงาน ป.ป.ช. ลับ ที่ ปช 0028/0802 ลงวันที่ 27 มีนาคม 2557 กรณีกล่าวหา นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตรองประธานรัฐสภา และตามหนังสือสำนักงาน ป.ป.ช. ลับ ที่ ปช 0028/0804 ลงวันที่ 4 เมษายน 2557 กรณีกล่าวหานายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา ในการดำเนินการเกี่ยวกับการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภา เป็นการกระทำที่ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ว่าเป็นความผิดที่อยู่ในอำนาจของสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่จะพิจารณาถอดถอน ตามข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2557 หรือไม่ ซึ่งเป็นการพิจารณาต่อจากการประชุม สนช. เมื่อวันที่ 17 ต.ค.

โดยเมื่อเวลา 14.10 น. การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ได้กลับมาประชุมแบบเปิดเผยอีกครั้ง ภายหลังใช้เวลาประชุมลับประมาณ 3 ชั่วโมง 20 นาที โดยเป็นการลงมติว่าเรื่องดังกล่าวเป็นความผิดที่อยู่ในอำนาจของสนช.ที่จะรับไว้พิจารณาถอดถอนหรือไม่ อย่างไรก็ตาม นายศักดิ์ชัย ธณบุญชัย สนช. ได้เสนอให้ลงมติลับ ซึ่งที่ประชุมก็เห็นชอบและให้กลับไปลงมติลับโดยไม่เปิดเผยว่าสมาชิกสนช.ลงมติแบบใด โดยผลการลงมตินั้น ที่ประชุมสนช.มีมติเห็นว่า สนช.มีอำนาจรับเรื่องไว้พิจารณาด้วยคะแนน 87 เสียงต่อ 75 เสียง และงดออกเสียง 15 เสียง
---------
"พรเพชร" เผย 24 สนช. อภิปรายก่อน มีมติรับสำนวนถอด "สมศักดิ์-นิคม" ขณะแถลงเปิดคดี 24 - 25 พ.ย.

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงชี้แจงหลังที่ประชุม สนช. มีมติรับสำนวนคดีถอดถอน นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา ไว้พิจารณาว่า เป็นความผิดตามข้อกล่าวหาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยมี สมาชิก สนช.อภิปรายในประเด็นนี้ 24 คน โดยเป็นการอภิปรายถึงข้อกฎหมาย ซึ่งทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยฝ่ายที่เห็นว่ามีอำนาจนั้นได้พิจารณาตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ของ ป.ป.ช. ในมาตรา 58 ส่วนฝ่ายที่มองว่า ไม่มีอำนาจรับ
ไว้นั้นเห็นว่า เป็นความผิดตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้ว

นอกจากนี้ นายพรเพชร กล่าวว่า กระบวนการหลังจากนี้ สนช. จะส่งเอกสารสำนวนคดี ให้ทาง ป.ป.ช. และผู้ถูกร้องคือ นายสมศักดิ์ และ นายนิคม ภายใน 15 วัน จากนั้นจะมีการแถลงเปิดคดีในวันที่ 24 - 25 พ.ย. และจะให้มีการตั้งกรรมาธิการซักถาม ซึ่งระหว่างนี้ ผู้ถูกร้องสามารถยืนเอกสารและขอสอบพยานเพิ่มเติมได้ ซึ่งกระบวนการจะแล้วเสร็จภายใน 30 - 45 วัน ก่อนที่ประชุม สนช. จะลงมติว่าจะถอดถอนหรือไม่
------------
มาร์คชี้ถอดถอนสมศักดิ์-นิคมเป็นปัญหาแน่

เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2557 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาวาระการถอดถอน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มา ส.ว.โดยมิชอบว่า การถอดถอนเป็นปัญหาแน่ และเป็นปัญหาที่มีความละเอียดอ่อน แล้วถ้าเป็นเหตุการณ์ปกติ การเมืองเดินมาแบบไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่มีการรัฐประหาร กระบวนการดังกล่าวจะต้องเข้าสู่สภาฯ แต่พอเกิดการรัฐประหารขึ้น เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนมากขึ้นไปอีก

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า มุมมองของมวลชน 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งก็มีความรู้สึกว่า ถ้าเรื่องนี้ไม่เดินหน้าทำอย่างจริงจัง ก็มีความรู้สึกค้างคาใจ อีกฝ่ายหนึ่งก็มองว่า เมื่อเกิดรัฐประหารขึ้น องค์กรที่มาทำหน้าที่แทนวุฒิสภา ไม่ใช่เป็นวุฒิสภา ก็เกิดความค้างคาใจ เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นจุดที่ทำให้เกิดการออกมาแสดงความคิดเห็นต่างๆ ซึ่งผมเข้าใจว่าผู้มีอำนาจก็กังวลเรื่องนี้ แต่สนช.ต้องดำเนินการไปตามข้อกฎหมายว่าไปตามเนื้อผ้า เดินหน้าไปตามข้อเท็จจริง ตามข้อกฎหมาย แต่ฝ่ายต่างๆต้องได้รับความเป็นธรรม ซึ่งตนอยากให้ทุกฝ่ายยอมรับในข้อยุติ ให้กระบวนการทุกอย่างเดินไปตามหลักด้วย
----------------------
"นิคม" พร้อมเข้าสู่กระบวนการถอดถอน

นายนิคม ไวยรัชพาณิช อดีตรองประธานรัฐสภา กล่าวถึงการที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติรับเรื่องถอดถอนเอาไว้ ว่ายังไม่ขอให้ความเห็นประเด็นใดๆกับผลการลงมติรับไวเพิจารณาถอดถอน หากเรื่องเข้าสู่กระบวนการตนก็จะปฏิบัติตามกรอบการพิจารณาถอด โดยในวันที่ 25 พ.ย. ตนก็จะเข้าไปชี้จงต่อที่ประชุม สนช. ด้วยตนเอง ส่วนพยานหลักฐานก็จะเป็นเทปบันทึกภาพการประชุมในวันที่ถูกยกเป็นประเด็นกล่าวหา
----------------------
เพื่อไทยไม่กังวล สนช.ถอดถอน นิคม-สมศักดิ์

เมื่อวันที่ 6 พ.ย.2557 นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ประชุมสนช.มีมติให้รับพิจารณาสำนวนถอดถอน นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา ว่า ไม่รู้สึกกังวลเพราะคะแนนที่ลงมติไม่ห่างกันเท่าไร ตนพูดมาตลอด สนช.ไม่มีอำนาจในการพิจารณาเพราะมองว่าเมื่อรัฐธรรมนูญ ปี 50 ได้ถูกยกเลิกแล้วก็ไม่ควรนำมาพิจารณาซึ่งจะเป็นการสร้างความขัดแย้งขึ้นมารอบใหม่ในสังคม ที่ผ่านทางเราให้โอกาส คสช. และรัฐบาลอย่างเต็มที่ในการแก้ปัญหาของบ้านเมืองให้เกิดการปรองดอง เข้าสู่การปฏิรูปในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จตามแผนตาม คสช.ได้วางไว้ จึงไม่อยากเห็นความขัดแย้งรอบใหม่อยากเห็นการเดินหน้าของประเทศชาติมากกว่า
-------------
"ทนายยิ่งลักษณ์" วอน "นิพนธ์ " หยุด ชี้นำสังคม

นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ตั้งข้อสังเกตกรณี นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ ได้ออกมาเปิดเผยว่า โครงการรับจำนำข้าวปี 2554 - 2556 มีการทุจริตถึง 1.1 แสนล้านบาท โดยมีเกี่ยวข้องกับการทุจริตในขั้นตอนการระบายข้าวถึง 7.5 หมื่นล้านบาท อ้างว่ามีหลักฐานเชื่อมโยงการทุจริต ว่า ตนเป็นทนายความ ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ได้รับผิดชอบคดีในโครงการรับจำนำข้าว จึงขอตั้งข้อสังเกตในประเด็นดังต่อไปนี้ 1. นายนิพนธ์ ฯ มีวาระซ่อนเร้น ในการนำตัวเลขดังกล่าวมาแถลงและชี้นำในช่วงเวลาที่จะมีการประชุมของคณะกรรมการร่วม อัยการ ป.ป.ช.ในวันที่ 7 พ.ย. และนายนิพนธ์ ฯ มีเจตนาที่จะชี้นำสังคมเพื่อให้สังคมกดดันคณะกรรมการร่วมอัยการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่สมควร

นายนรวิชญ์ กล่าวต่อว่า 2.นายนิพนธ์ ฯ เอง โดยสถานะ ก็เป็นพยานในคดีโครงการรับจำนำข้าวและในในการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าว แห่งชาติครั้งที่ 5/2552 เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 52 นายนิพนธ์ฯ ก็เคยไปช่วยรัฐบาลในสมัยนั้นทำโครงการช่วยเหลือชาวนาที่ตรงข้ามกับโครงการ รับจำนำข้าว จึงขอตั้งข้อสังเกต และถามว่ามีวาระช้อนเร้นหรือไม่อย่างไร ที่ต้องนำ มาเปิดเผยในช่วงเวลาดังกล่าว 3. หากพิจารณาถึงตัวตัวเลขที่นำมาเปิดเผย แล้วจะเห็นได้ว่ามีข้อโต้แย้งและผิดพลาดเกี่ยวกับตัวเลขของเจ้าหน้าที่รัฐอยู่หลายเรื่อง เช่น เรื่องค่าใช้จ่ายในโครงการตลอดจนหลักฐานที่อ้างว่ามีการทุจริต ก็ปราศจากหลักฐาน เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ซึ่งโดยข้อเท็จจริงในปัจจุบันก็ยังไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รายใด

นายนรวิชญ์ กล่าวอีกว่า ตนในฐานะทนายความของน.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงขอวอนให้นายนิพนธ์ฯ ยุติการเคลื่อนไหว และชี้นำสังคมในช่วงที่จะมีการพิจารณาคดีต่อลูกความของตน ควรปล่อยให้คดีได้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมมากกว่าการชี้นำทางสังคมเช่นนี้
//////////////////////
สปช./กมธ.

กมธ.ยกร่าง รธน. ส่วนใหญ่ให้ยกร่าง รธน.ใหม่ทั้งฉบับ แทนการนำปี 2540 และ 2550 มาปรับแก้ เชื่อแก้ปัญหาบ้านเมืองได้

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงแนวทางการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า เสียงส่วนใหญ่ของคณะกรรมาธิการเห็นว่าควรเริ่มต้นร่างใหม่ทั้งฉบับ เพราะจะสามารถแก้ไขปัญหาบ้านเมืองได้ ดีกว่านำรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 มาให้ปรับแก้

ส่วนการรับฟังความคิดเห็นจากพรรคการเมือง ทางอนุกรรมาธิการประสานงานเพื่อรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะของสภาปฏิรูปแห่งชาติและองค์กรต่าง ๆ จะทำหนังสือถึงพรรคการเมืองให้เสนอความคิดเห็นตอบกลับมา หรือสามารถมาแสดงความคิดเห็นได้ด้วยตนเอง ซึ่งทางอนุกรรมาธิการยินดีรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการยกร่างฯ จะประชุมเพื่อวางกรอบแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญ ในสัปดาห์หน้า ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในภายในวันอาทิตย์ที่ 16 พฤศจิกายนนี้
-----------
"สุจิต" รับมีกรอบยกร่าง รธน. แล้ว ไม่กดดัน ในการทำหน้าที่รับฟังความเห็นทุกฝ่าย ยังไม่ตอบทำประชามติหรือไม่

นายสุจิต บุญบงการ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า การประชุมวันนี้ จะมีการแต่งตั้งตำแหน่งต่าง ๆ เช่น รองประธาน, เลขาฯ และ โฆษก เป็นต้น หลังจากได้มีการหารือกันแล้วเมื่อวานนี้ ส่วนแนวทางในการทำงานนั้นยอมรับมีกรอบในการยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว และไม่กดดัน ในการทำหน้าที่แต่อย่างใด พร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย

ทั้งนี้ นายสุจิต ยังกล่าวถึงเรื่องประชามติที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าหลังจากยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จจะมีการทำประชามติหรือไม่ ว่า เบื้องต้นรัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ได้กำหนดไว้ แต่จะทำก็ได้ในขณะนี้ต้องการที่จะโฟกัสในเรื่องการยกร่างฯ ให้เสร็จก่อน
-------------------
วิษณุ มอง ควรเขียน รธน. ให้สั้นและมีกลไกรองรับการแก้ปัญหา ขณะ คงอัยการศึก หลังสถานการณ์ ปท. ยังไม่เรียบร้อย

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย กล่าวถึงรูปแบบการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ว่า ตามหลักการแท้จริงนั้น ในการร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ควรมีความละเอียดมากเกินไป เพราะจะทำให้การตีกรอบความหมายสั้นลง โดยส่วนตัวมองว่า การร่างรัฐธรรมนูญควรเขียนให้สั้น และควรมีกลไกเพื่อรองรับการแก้ไขปัญหา เช่น หากมีข้อสงสัย ก็สามารถส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้ โดยไม่ต้องรอให้เรื่องเกิดขึ้น และผู้ที่จะมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก็ต้องเป็นที่ไว้วางใจได้

ส่วนกรณีการยกเลิกกฎอัยการศึก นั้น ขณะนี้สถานการณ์ในประเทศยังไม่เรียบร้อย ยังต้องคงไว้อยู่ ซึ่งในอนาคต หากสถานการณ์ในประเทศ เหมาะสมรัฐบาลอาจจะผ่อนปรนในบางพื้นที่ เช่น จังหวัดที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยว และตามที่นายกรัฐมนตรี ได้แถลงต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ไว้เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ที่ผ่านมา
----------
สนช.ตั้ง24กมธ.รวบรวมความเห็นพิจารณาจัดทำร่างรธน.

เมื่อเวลา 14.30 น.วันที่ 6 พ.ย.2557 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.ทำหน้าที่ประธานในการประชุม โดยนายสมชาย แสวงการ สนช. ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมาธิการกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(วิปสนช.) ได้เสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการสามัญรวบรวมความเห็นประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 24 คน โดยเป็นตัวแทนจากสมาชิกสนช. 8 คน และตัวแทนจากคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 16 คณะ คณะละ 1 คน รวมเป็น 24 คน และมีระยะเวลาดำเนินการ 120 วัน

/////////////
คลื่นใต้น้ำ
พล.อ.อนุพงษ์ ระบุ ยังไม่พบกลุ่ม นปช.-กปปส. เคลื่อนไหวกดดันการทำหน้าที่ของ สนช.

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกระแสที่กลุ่มมีคลื่นใต้น้ำออกมาเคลื่อนไหว ว่า ยังไม่ทราบความคืบหน้า แต่จากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายน่าจะแก้ปัญหาได้ ส่วนกรณีกระแสข่าวกลุ่มนปช.และ กปปส. จะมีการเคลื่อนไหวกดดันการทำหน้าที่ของ สนช.ในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น จากการที่ได้มีการพูดคุยสอบถามยังไม่มีกระแสของคนส่วนใหญ่ออกมา ซึ่งทั้งนี้น่าจะให้โอกาสรัฐบาลแก้ปัญหา ภายใต้ภาวะที่เศรษฐกิจโลก และภายในประเทศย่ำแย่ รวมถึงปัญหาภัยแล้ง ดังนั้น จึงต้องเร่งแก้
ปัญหาให้ประชาชนได้รับคุณภาพชีวิตดีกว่านี้ เพราะแนวทางการดำเนินการต้องมีการปฏิรูป ควรรอผลในการปฏิรูปก่อน โดยยังไม่ใช่เวลาที่จะนำความขัดแย้งมาพูดกัน

นอกจากนี้ ทางกระทรวงมหาดไทยได้มีการสั่งการไปถึงผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดให้สร้างความเข้าใจตามแนวทางการปรองดองของรัฐบาล และพยายามแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน
-------------
ทำเนียบฯ
"เลขานายกฯ"เซอร์ไพร์สสื่อทำเนียบกางเต๊นท์รอเลี้ยงข้าวพรุ่งนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่าเมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายสถานที่ของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้นำเต๊นท์ผ้าใบมากางบริเวณด้านหน้าห้องปฏิบัติงานสื่อมวลชน1 ซึ่งติดกับตึกนารีสโมสร เมื่อผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามเจ้าหน้าที่ว่าจะมีงานอะไรทำไมถึงต้องมีเต๊นท์มาตั้งแต่ก็ไม่ได้รับคำตอบใดใด

ทั้งนี้จากการตรวจสอบจากแหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ว่านำเต๊นท์มาตั้งเพราะจะมีพิธีส่งมอบตึกบัญชาการ1 จากกรมโยธาธิการและผังเมืองใช่หรือไม่ ซึ่งแหล่งข่าวปฏิเสธว่าไม่ใช่ เพราะตึกบัญชาการ 2 ยังบูรณะไม่แล้วเสร็จ แต่ที่นำเต๊นท์มากางเพราะว่า สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี(สลน.)ได้รับคำสั่งจาก พลเอกวิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้จัดเตรียมสถานที่ในงานพบปะและเลี้ยงอาหารกลางวันสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาลในวันศุกร์ที่ 7 พ.ย. เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์กับสื่อมวลชนหลังจากมีความไม่เข้าใจกันในหลายเรื่อง โดยจะมีพลเอกวิลาศ นำทีมโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้บริหารสำนักเลขาธิการนายกฯ มาพบปะพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจกัน แต่เจ้าหน้าที่คงยังไม่ได้แจ้งให้สื่อมวลชนทราบจึงยังไม่มีใครทราบว่าจะมีงานดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากการตรวจสอบปรากฏว่าสื่อมวลชนทำเนียบรัฐบาลส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าสำนักเลขาธิการนายกฯจะมีงานเลี้ยงและพบปะเนื่องจากยังไม่ได้รับการประสานใด ๆ จากเจ้าหน้าที่
-------------
ประยุทธ์ชี้คนไทยรักชาติสูงแล้วไม่ค่อยยอมใคร

เมื่อวันที่ 6 พ.ย.2557 เวลา 15.00 น.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวตอนหนึ่งระหว่างร่วมเปิดงานเทศกาลจักรยาน "สสส. พรีเซนต์ อะเดย์ ไบค์ เฟส 2014" ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม และคนไทยมีความรักชาติสูงแล้วไม่ค่อยยอมใคร ซึ่งสามารถสังเกตได้ว่าเวลาทะเลาะกันจะไม่มีเลิกต้องมีกรรมการเข้ามาห้าม ซึ่งบางครั้งกรรมการก็โดนด่าไปด้วย และบางทีก็ห้ามยาก ดังนั้นกรรมการต้องเป็นกลางให้ได้ว่าจะทำอย่างไรให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันให้ได้ ให้มีความเสียสละซึ่งกันและกัน แบ่งปันการใช้ทรัพยากร ถนนเรามีจำนวนจำกัด วันนี้ถนนเราแคบ บ้านเมืองเราถึงแคบ ทางระบายน้ำก็แคบ ฟุตปาธก็แคบ ดังนั้นก็ต้องพัฒนาสู่อนาคตว่าจะทำอย่างไรกัน

"ทุกคนรอว่าเมื่อไหร่ผมจะไป แต่เมื่อยังไม่เรียบร้อยก็ต้องรอส่งกันให้ได้ และดูว่าใครจะเข้ามาทำงานต่อ ซึ่งผมก็ไม่รู้ นักข่าวอยู่ไหนวันนี้ไม่ต้องพูดเรื่องการเมืองการอะไรทั้งสิ้น เป็นการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ บริหารปากมามากแล้ว สมองเองก็ต้องตอบทุกวัน ถามคำถามที่หนึ่งเสร็จก็ตอบไปถึงคำถามที่สอง-สาม-สี่ ก็กลับมาถามคำถามที่หนึ่งใหม่ ผมก็งงเหมือนกันแหละ บางทีก็ปวดหัวมาก" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
//////////////
เหตุระเบิดโรงงานดอยเต่า

จ่อประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉินเหตุระเบิดดอยเต่า

เมื่อเวลาประมาณ 09.00 น.วันนี้ (6 พ.ย.) พ.ต.ครรชิต เวฬุวนารักษ์ หัวหน้าชุดบรรเทาสาธารณะภัยพร้อมเจ้าหน้าที่จากศูนย์บรรเทาสาธารณภัย สำนักงานพัฒนาภาค 3 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (ดอยหล่อ) ได้นำเครื่องค้นหารังสีความร้อนเข้ามาตรวจหาความร้อนบริเวณรอบบ้านที่เกิดเหตุเพื่อค้นหาสิ่งมีชีวิตหรือผู้ที่คาดว่าจะรอดชีวิต

พ.ต.ครรชิต กล่าวว่า เบื้องต้นสามารถทำการตรวจรังษีความร้อนได้เฉพาะบริเวณรอบนอกแนวเขตหวงห้ามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกั้นไม่ให้บุคคลภายนอกเข้า-ออก และพบว่าอุณหภูมิความร้อนอยู่ที่ระดับ 25-27 องศาเซลเซียส ซึ่งเบื้องต้นสันนิษฐานได้ว่าในพื้นที่จะไม่มีสิ่งมีชีวิตอยู่ในพื้นที่แล้วและไม่พบสัญญานชีพของผู้รอดชีวิตแล้ว และขณะนี้รอทางเจ้าหน้าที่ตรวจพิสูจน์เข้าตรวจสอบในพื้นที่เพื่อหาสาเหตุการระเบิดที่แท้จริงต่อไป

ส่วนทางเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ปกครอง อ.ดอยเต่า ได้ตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุความเสียหายจากระเบิดเพื่อรอให้ความช่วยเหลือต่อไป โดยมีชาวบ้านทยอยเข้าแจ้งความเสียหายอย่างต่อเนื่อง ทางด้านนายชัชวาล ปัญญา นายอำเภอดอยเต่า กล่าวว่า จะเร่งทำเรื่องส่งทางจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉินให้ เพื่อให้ชาวบ้านได้รับความช่วยเหลือต่อไป สำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทั้ง 7 คน ได้รับการยืนยันจากผู้อำนวยการโรงพยาบาลดอยเต่าว่าทั้งหมดมีอาการปลอดภัยและบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยและคาดว่าวันนี้จะออกจากโรงพยาบาลได้ อีกทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้
สร้างความตื่นตระหนักให้กับชาวบ้านในพื้นที่ ใกล้เคียงอย่างมาก ซึ่งทางอำเภอจะได้ประสานกับจิตแพทย์ลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้าน

ส่วนสาเหตุการระเบิด นายอำเภอดอยเต่า บอกว่า เบื้องต้นทราบว่าเจ้าของบ้านได้เก็บสารโปรแตสเซียมคลอเรท ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้เร่งดอกและผลของลำไยไว้ชั้นใต้ถุนบ้านและใกล้กันก็พบว่ามีการประกอบอาหาร จึงอาจเป็นสาเหตุของการเกิดระเบิดได้ อย่างไรก็ตาม ต้องรอเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานสรุปอีกครั้ง

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา จ.เชียงใหม่ เคยเกิดเหตุการณ์สารโปรแตสเซียมคลอเรตระเบิดครั้งใหญ่ที่ อ.สันป่าตอง เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2542 ระหว่างการขนย้ายสารดังกล่าวเข้าไปในโรงงาน ซึ่งระเบิดครั้งนั้นส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 45 ราย บาดเจ็บ 102 ราย และบ้านเรือนเสียหาย 571 หลังคาเรือน
---------------
สารโปรแตสเซียมระเบิดที่เชียงใหม่ ดับ2เจ็บ7

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากเหตุการณ์ระเบิดใน ร้านขายอุปกรณ์การเกษตร เบื้องต้นคาดว่าเกิดจากสารโปรแตสเซียมคอลเรท ซึ่งเป็นสารเร่งต้นลำใยให้ออกดอก ที่เก็บอยู่ในร้านเกิดระเบิดขึ้น โดยจุดเกิดเหตุ บ้านไร่ หมู่ที่ 2 ตำบลดอยเต่า อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ เบื้องต้นมีผู้เสียชีวิต 2 ราย อยู่ระหว่างพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล และบาดเจ็บ 7 ราย เป็นชาย 3 หญิง 4 ขณะนี้ทุกคนพ้นขีดอันตรายแล้ว
ส่วนบ้านเรือนเสียหายหนัก 2 หลัง เป็นบ้านเกิดเหตุ 1 หลัง และได้รับผลกระทบ 1 หลัง ส่วนหลังอื่นๆ ได้รับความเสียหายจากเศษไม้ตกใส่หลังคา กระจกแตกจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ทางอำเภอดอยเต่า ปภ. อปท. ศูนย์บริการการแพทย์ฉุก เฉินจังหวัด เจ้าหน้าที่ตำรวจ อส. และหน่วยงานที่เกี่ยว ข้องเข้าตรวจสอบในพื้นที่แล้ว

สำหรับรายชื่อผู้ได้รับบาดเจ็บ คือ 1.น.ส.สาวิตรี ยางนิยม อายุ 18 ปี ระดับความรุนแรง บาดเจ็บเล็กน้อย 2.นายสม ยางนิยม อายุ 50 ปี ระดับความรุนแรงบาดเจ็บเล็กน้อย3. นายสิรวุฒิ ขันแก้วน่าน อายุ 39 ปี ระดับความรุนแรง บาดเจ็บเล็กน้อย4. นางนาง ติแก้ว อายุ 95 ปี ระดับความรุนแรง บาดเจ็บ ปานกลาง5. ด.ญ.จิราภรณ์ อินใจ อายุ 1.9 ปี ระดับความรุนแรง บาดเจ็บเล็กน้อย6. นายวัน ติแก้ว อายุ
95 ปี ระดับความรุนแรง บาดเจ็บปานกลาง7. น.ส.นงคราญ ทนุโวหาร อายุ 33 ปี ระดับความรุนแรง บาดเจ็บปานกลาง
////////////////
ป้ายโฆษณานครบาล

บช.น.ตั้งกก.สอบ50ผกก.ปมให้เอกชนตั้งป้ายโฆษณา

กรณีที่พล.ต.ต.ศรีวราห์ ระงสิพราหมณกุล รรท.ผบช.น. ได้มีคำสั่งไปยัง ผบก.น.1-9 ให้ตรวจสอบพร้อมตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการที่เอกชนมีการนำป้ายมาติดตั้งในพื้นที่ต่างๆทั่วกรุงเทพฯรวมทั้งตามป้อมตำรวจบริเวณสี่แยก พร้อมเตรียมเอาผิดกับผู้กำกับสถานีตำรวจในพื้นที่ 50 นาย ตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมา

ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 พ.ย.2557 พลตำรวจโท ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีการติดตั้งจอแสดงภาพ หรือป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ บริเวณป้อมจราจรตามแยกต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่า การประกอบธุรกิจลักษณะดังกล่าว มีการดำเนินการมานานแล้ว โดยเป็นการขอความร่วมมือจากภาคเอกชน ในการติดตั้ง เพื่อใช้เป็นช่องทางประชาสัมพันธ์งานด้านต่างๆ ของตำรวจ และแบ่งสัดส่วนการประชาสัมพันธ์ให้กับบริษัทนั้นๆ แต่อาจเป็นการใช้พื้นที่ของทางราชการในทางมิชอบ ลักษณะให้บริษัทเอกชนเข้ามาประกอบธุรกิจหาผลประโยชน์บนที่ราชพัสดุ แต่ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือยินยอม และมีหลักฐานเป็นหนังสือยินยอม แต่ไม่ถูกต้องตามระเบียบทางราชการ ซึ่ง พลตำรวจตรีศรีวราห์ รังสิพรหมณกุล รักษาราชการแทน ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงข้าราชการตำรวจระดับผู้กำกับการเกือบ 50 นาย แล้ว

วันที่โพสข่าว : 6 พย. 2557 เวลา 09:35 น.
/////////////
สถานการณ์ใต้
แม่ทัพภาค 4 พบสื่อมวลชน ชี้แจงการทำงานดับไฟใต้

เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 57 เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุม อาคารกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี พลโทปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาค 4 ได้เดินทางมาเป็นประธานในการประชุมพบปะสื่อพัฒนาสัมพันธ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ทางศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า จัดขึ้น โดยมี พล.ต.ท.อนุรุต กฤษณะการะเกตุ ผู้บัญชาการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้แทนจาก ศอ.บต. ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สื่อมวลชนจากทุกแขนง ในพื้นที่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา กว่า 100 คน เข้าร่วมประชุม

ในที่ประชุม พลโทปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาค 4 ได้พบปะพูดคุยกับบรรดาสื่อมวลชน ที่เข้าร่วมประชุม โดยเฉพาะนโยบายในการปฎิบัติหน้าที่แก้ไขปัญหาความไม่สงบ ก่อนที่จะให้หน่วยงานที่รับผิดชอบงานต่างๆ ชี้แจงทำความเข้าใจ เรื่อง การขับเคลื่อนแผนทุ่งยางแดงโมเดล ยุทธศาสตร์การพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ การใช้งานนิติวิทยาศาสตร์ และความคืบหน้าคดีสำคัญ รวมทั้งการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สอดคล้องกับงานด้านความมั่นคง ทั้งนี้ยังเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้หารือ ซักถาม รวมทั้งแลกเปลี่ยนเสนอแนะในเรื่องการปฎิบัติงานต่างๆในพื้นที่ด้วย
-----------------
โฆษกทบ.ยันโอนมอบปืนให้กำลังจชต.ฝึกอบรมอย่างดี

เมื่อวันที่ 6 พ.ย.2557 พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก กล่าวชี้แจงกรณีที่มีความกังวลว่าอาวุธปืนที่กองทัพบกโอนมอบให้กับกำลังประจำถิ่นที่ปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อาจจะตกไปอยู่ในมือของผู้ไม่หวังดี โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่ากำลังประจำถิ่นหรืออาสาสมัครพลเรือนอาจได้รับการฝึกฝนไม่เพียงพอและอาจมีความเสี่ยงอยู่นั้นว่า ปัจจุบันกำลังพลผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ได้เริ่มการพัฒนาศักยภาพให้มีความสมบูรณ์มากขึ้นไปตามลำดับ เพื่อสอดรับกับยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะในส่วนงานรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินที่มีนโยบายเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กำลังประจำถิ่นในพื้นที่ ไม่ใช่เพียงสนับสนุนในเรื่องของอุปกรณ์เท่านั้น แต่จะต้องมีการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพของบุคคลอย่างเป็นระบบให้มีคุณสมบัติที่ใกล้เคียงกับเจ้าหน้าที่กำลังหลัก ส่วนเรื่องการดูแลเก็บรักษาอาวุธยุทโธปกรณ์จากนี้ไปก็จะต้องมีมาตรฐานเดียวกันกับกำลังหลัก เช่น ทหาร และตำรวจ


พ.อ.วินธัย กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ตามแผนของกำลังประจำถิ่น หรืออาสาสมัครพลเรือนจะช่วยเสริมการทำงานของเจ้าหน้าที่กำลังหลักในงานดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชนในพื้นที่ได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากเป็นกำลังคนในพื้นที่จึงทำให้มีข้อเด่นที่น่าสนใจ ทำให้ในอนาคตอาจจะสามารถลดระดับการใช้กำลังทหาร ที่จัดมาจากภูมิภาคอื่นลงไปได้บ้าง สำหรับความจำเป็นของการมีอาวุธไว้นั้นก็เพียงเพื่อปกป้องตนเอง และคุ้มครองประชาชนที่อยู่ในการดูแล กรณีเมื่อถูกคุกคามด้วยการใช้อาวุธจากผู้ไม่หวังดี เพราะปัจจุบันฝ่ายผู้ก่อเหตุรุนแรงยังมีลักษณะท่าทีของความพยายามที่จะใช้ความรุนแรงต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์อยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่มีเครื่องมือที่เหมาะสมให้เจ้าหน้าที่อาจมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ได้ อย่างไรก็ตามยืนยันว่าคงไม่ใช้กำลังประจำถิ่นไปดำเนินการปฏิบัติในลักษณะเชิงรุกเหมือนกำลังหลักทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างแน่นอน