PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2560

‘สตานิสลาฟ เปตรอฟ’ ชายผู้ช่วยโลกเลี่ยงสงครามนิวเคลียร์ เสียชีวิตแล้ว

‘สตานิสลาฟ เปตรอฟ’ ชายผู้ช่วยโลกเลี่ยงสงครามนิวเคลียร์ เสียชีวิตแล้ว


อดีตพันโทแห่งกองทัพโซเวียต ผู้ที่ช่วยไม่ให้เกิดสงครามนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐฯ และกองทัพแดงในช่วงสงครามเย็น เสียชีวิตแล้วอย่างเงียบๆ ที่บ้านของตัวเองในมอสโก...

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า สตานิสลาฟ เปตรอฟ อดีตพันโทแห่งกองทัพสหภาพโซเวียต ผู้สร้างวีรกรรมที่ชาวโลกส่วนใหญ่ไม่เคยรู้ ซึ่งช่วยให้โลกไม่ต้องเผชิญสงครามนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐฯ และโซเวียตในช่วงสงครามเย็น เสียชีวิตแล้วในวัย 77 ปี ที่บ้านของเขาในกรุงมอสโก เมืองหลวงของประเทศรัสเซีย

วีรกรรมของเปตรอฟเกิดขึ้นในวันที่ 26 กันยายน ปี 2526 แต่เรื่องราวได้รับการเปิดเผยออกมาในอีกหลายปีให้หลัง โดยขณะนั้น พันโท เปตรอฟ อายุ 44 ปี ทำงานอยู่ที่ศูนย์เตือนภัยนิวเคลียร์ของโซเวียต แต่ในวันเกิดเหตุ เรดาร์ตรวจพบสัญญาณขีปนาวุธจำนวนมากกำลังเดินทางจากสหรัฐฯ มุ่งสู่รัสเซีย ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่อาจเป็นชนวนให้เกิดสงครามนิวเคลียร์ระหว่างมหาอำนาจทั้ง 2 ประเทศขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม นายเปตรอฟเชื่อมั่นในสัญชาตญาณของตัวเองว่า สัญญาณดังกล่าวเป็นการเตือนที่ผิดพลาด และฝ่าฝืนคำสั่งไม่แจ้งเบื้องบนถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในทันที ซึ่งในท้ายที่สุดก็เป็นการเตือนที่ผิดพลาดจริง โดยผลการสอบสวนในภายหลังชี้ว่า เป็นความผิดพลาดของดาวเทียมโซเวียต ที่ระบุว่า แสงอาทิตย์ที่สะท้อนกับเมฆเป็นเครื่องยนต์ของขีปนาวุธข้ามทวีป

“ผมมีข้อมูลทุกอย่างที่ชี้ว่ามีการโจมตีโดยขีปนาวุธเกิดขึ้น ถ้าผมรายงานไปตามสายบังคับบัญชาของผม คงไม่มีใครพูดโต้แย้งเรื่องนี้แน่ สิ่งที่ผมต้องทำก็คือเอื้อมไปหยิบโทรศัพท์ ต่ดสายตรงถึงผู้บังคับบัญชาของเรา แต่ผมขยับไม่ได้ ผมรู้สึกเหมือนนั่งอยู่บนกระทะร้อนๆ” นายเปตรอฟให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซี ภาษารัสเซีย ในปี 2556 และสุดท้ายเขาก็โทรศัพท์ไปหาเจ้าหน้าที่ที่สำนักงานใหญ่กองทัพเพื่อแจ้งว่าระบบขัดข้อง

นายเปตรอฟระบุด้วยว่า หากตัวเขาทำผิดไป ระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรกจะเกิดขึ้นภายในไม่กี่นาทีต่อมา แต่ทว่า หลังจากผ่านไปแล้ว 23 นาที ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทำให้เขาโล่งใจมาก

ทั้งนี้ นายเปตรอฟเสียชีวิตไปตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม แต่ข่าวการตายของเขาเพิ่งได้รับการเปิดเผยออกมาในเดือนนี้ หลังจาก คาร์ล ชูมัคเกอร์ ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ชาวเยอรมัน และคนแรกที่เผยแพร่วีรกรรมของนายเปตรอฟให้โลกได้รับรู้ โทรศัพท์ไปหานายเปตรอฟเพื่อแสดงความยินดีในวันคล้ายวันเกิดเมื่อ 7 กันยายน แต่ ดีมิทรี ลูกชายของเปตรอฟระบุว่า บิดาของเขาเสียชีวิตไปแล้ว จากนั้นชูมัคเกอร์จึงนำข่าวนี้เผยแพร่ลงบนโลกออนไลน์

ที่มา: ไทยรัฐ https://www.thairath.co.th/content/1074329

ย้อนรอย เมื่อ ผบ.ทบ. บอกว่า จะไม่มีรัฐประหาร

ทบทวนคำพูด 'พล.อ.สนธิ-พล.อ.ประยุทธ์' เมื่อครั้งเป็น ผบ.ทบ.ที่เคยออกมายืนยันหนักแน่นว่าจะไม่มีรัฐประหาร หลัง พล.อ.เฉลิมชัย ออกมายืนยันหนักแน่นว่าจะไม่มีรัฐประหารเพื่อโต้บทวิเคราะห์ วอชิงตันโพสต์ ยกไทยเสี่ยง รปห.อันดับ 2 ของโลก
2 ก.พ. 2560 พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และ เลขาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีเว็บไซต์วอชิงตันโพสต์ รายงานบทวิเคราะห์เรื่อง “ประเทศใดที่จะมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการรัฐประหารขึ้นในปี 2560” ซึ่งปรากฏว่า ประเทศไทยติดอยู่อันดับ 2 ว่า แล้วสื่อเชื่อหรือไม่ ฝรั่งก็พูดไป คนไทยมีสมองรู้จักคิดเราอยู่ในพื้นที่เอง รู้ว่าอะไรเป็นอะไรและเรื่องดังกล่าวตนพูดไปแล้วเมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2559 ในวันที่ มอบนโยบายให้กับกองทัพบกในช่วงที่รับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกว่าไม่มี
เมื่อย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 3 ต.ค. ที่ผ่านมา พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า ถ้าพูดถึงเรื่องการปฏิวัติต้องถามว่ามีเหตุผลอะไร เพราะสถานการณ์ปัจจุบันนั้นทำการปฏิวัติไม่ได้ อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้า คสช. ก็ระบุแล้วว่าเรื่องการปฏิวัติครั้งที่ผ่านมา คือ ครั้งสุดท้าย ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ถ้าประชาชนไม่เห็นชอบด้วย เราสังเกตได้ว่าการปฏิวัติ 2 ครั้งที่ผ่านมา ทหารเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองและการควบคุมสถานการณ์ได้รับการตอบรับจากประชาชนอย่างท่วมท้น ตนเป็นทหารอาชีพ ผู้บังคับบัญชาว่าอย่างไรก็ดำเนินการตามนั้น ซึ่งไม่ได้มีปัญหาและทุกคนไม่ต้องกังวลเรื่องการปฏิวัติ เพราะตนยืนยันว่าไม่มี
“การปฏิวัติซ้อนเป็นไปไม่ได้ และไม่มีทาง ผมอยากให้ลบคำนี้ไป อย่ามากังวล อะไรจะเกิดขึ้นนั้นขึ้นอยู่กับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ถ้ารัฐบาลปกครองโดยมีคุณธรรมอะไรก็เกิดขึ้นไม่ได้ เรื่องการปฏิวัติ ผมอยากให้ลืมไปเลย และไม่ต้องถามผมอีกแล้ว” พล.อ.เฉลิมชัย กล่าว (ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์
        
สำหรับบทวิเคราะห์ดังกล่าว เผยแพร่ทางเว็บไซต์วอชิงตันโพสต์ จากกรณีเมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา ปรากฏว่า ประเทศไทยติดอยู่อันดับ 2 ของการวิเคราะห์ในครั้งนี้ รองจากประเทศบุรุนดีที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดการรัฐประหารมากที่สุดในโลก ขณะที่ อันดับ 3 คือสาธารณรัฐแอฟริกากลาง อันดับ 4 คือสาธารณรัฐชาด และอันดับ 5 คือตุรกี ส่วนประเทศที่มีความเสี่ยงที่เกิดจะเกิดความพยายามก่อรัฐประหารน้อยที่สุด คือนอร์เวย์ ตามด้วยฟินแลนด์ ญี่ปุ่น และสโลเวเนีย 
 
อย่างไรก็ตาม กรณี ผบ.ทบ. ออกมาพูดยืนยันว่าจะไม่มีการรัฐประหาร แต่เวลาต่อมากลับเปลี่ยนใจมักปรากฏให้เห็นตลอดการรัฐประหาร 2 ครั้งที่ผ่านมา ทั้ง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยมีรายละเอียดดังนี้
 

พล.อ.สนธิ : ไม่น่าจะมีนะ

 
"ไม่น่าจะมีนะ เราต้องหนักแน่นเอาไว้ อย่าไปเชื่อกระแสพวกนี้ทำให้เกิดความสามัคคีเราลดลง" พล.อ.สนธิ ตอบคำถามผู้สื่อข่าว กรณีมีกระแสข่าวการรัฐประหาร ก่อนเกิดรัฐประหาร จริงในเวลาต่อมา (19 ก.ย. 2549)
 
 
นอกจากนี้ 25 พ.ย.48 พล.อ.สนธิ ยังเคยกล่าวด้วยว่า ไม่ต้องห่วงเรื่องปฏฺิวัติ เพราะการปฏิวัติจะทำให้บ้านเมืองเสียหาย
 
ที่มา : มติชนสุดฯ ฉบับประจำวันที่ 2-3 ธ.ค.48
 

พล.อ.ประยุทธ์ : ทหารออกมาจะวุ่นวาย

28 ต.ค.56 พล.อ.ประยุทธ์ ผบ.ทบ. กล่าวถึงกรณีที่มีความกังวลว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้นว่า “สื่อบางสื่อใช้ไม่ได้เพราะเขียนข่าวแบ่งคนเป็นพวกๆ และเมื่อถึงเวลาคนพวกนี้เขาออกมาตีกัน สื่อต้องรับผิดชอบด้วย วันนี้หลายเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นม็อบ ชายแดน ภาคใต้ และปัญหาอื่นๆ ยังแก้ไม่ได้สักเรื่อง เราพยายามแก้ไขปัญหาให้ได้รวดเร็ว แต่ดูเหมือนสื่อต้องการให้เหตุการณ์แรง ผมไม่เข้าใจ เหตุการณ์ในประเทศไทยเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่ไม่เคยนำมาเป็นบทเรียนเพื่อไม่ให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์มาเสียชีวิต การที่ท่านจะมุ่งไปสู่เป้าหมายอะไร ต้องหาวิธีการที่ไม่รุนแรง หรือไม่กระทบคนอื่น ยืนยันว่าทหารทำหน้าที่จริงใจทุกปี ทุกเหตุการณ์ ทหารต้องทำงาน 100 เปอร์เซ็นต์ จะเอาทหารออกมา เตาะแตะไม่ได้ อย่าเรียกร้องให้ทหารออกมา ทหารออกมาจะวุ่นวาย อยากขอให้ทุกคนเข้าใจทหาร”
(ที่มา : 28 ต.ค.2556, คมชัดลึก)
"ทำไม เรื่องปฏิวัติรัฐประหาร เขียนอยู่ได้ ไม่รู้จะเขียนไปทำไม หะ ใครจะปฏิวัติ ใครจะรัฐประหาร ใครสัญญา ใครไม่สัญญา เขียนทำไมเล่า" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พ.ย. 56 ผบ.ทบ. ขณะนั้น (ที่มา :  เรื่องเล่าเช้านี้)

ทหารออกมาด้วยคำสั่งตามกฎหมาย

4 พ.ย. 56 พล.อ.ประยุทธ์  กล่าวถึงการชุมนุมต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมถ้า และตอบคำถามประเด็นที่ว่าหากสถานการณ์ยืดเยื้อทหารจะออกมาหรือไม่ ว่า ถ้าไม่สั่งก็คงไม่ออก แต่ถ้าสั่งให้ทหารออกก็ต้องดูว่าให้ออกไปทำอะไร ที่ผ่านมาทุกรัฐบาลเมื่อสั่งให้ทหารออก เราก็ออก รัฐบาลชุดที่แล้วสั่งเราก็ออก ถ้ารัฐบาลชุดนี้สั่งแล้วเราไม่ออกจะได้หรือไม่ ซึ่งก็ไม่ได้ ตนอยากจะอธิบายให้ประชาชนเข้าใจว่าที่ทหารออกมาทุกครั้งออกมาด้วยคำสั่งตามกฎหมาย ไม่ใช่นึกอยากจะออกก็ออก ถ้าออกมาโดยที่ไม่ฟังคำสั่ง ตนถามว่าเหตุการณ์จะจบหรือไม่ ซึ่งก็ไม่จบแล้วจะเรียกร้องให้ทหารออกมาทำไม ส่วนจะทำอย่างไรก็ไปคิดกันเอาเอง
(ที่มา, 4 พ.ย. 2556, ไทยรัฐออนไลน์)

รัฐประหารเป็นการแก้ปัญหาผิดทาง 

เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 56 พล.อ.ประยุทธ์ ออกมายืนยันว่า ไม่ว่าเหตุการณ์การชุมนุมใหญ่ของกลุ่ม กปปส. ในวันที่ 9 ธ.ค. 56 จะเป็นอย่างไร ทหารก็จะไม่ออกมาปฏิวัติ พร้อมกล่าวด้วยว่า "ถ้าทหารปฏิวัติ(รัฐประหาร)อีก แก้ปัญหาผิดทาง ปัญหาอื่นๆ ก็จะเกิดขึ้นอีก ประเทศไทยจะยืนอยู่ในสังคมโลกอย่างไร ทุกคนรักชาติแต่ไม่ยอมเรียนรู้ที่จะอยู่ด้วยกันอย่างสันติ"

ข่าวลือก็เป็นข่าวที่ไม่จริง

7 ม.ค. 57 พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานวันสถาปนากรมแพทย์ทหารบกครบรอบ 114 ปีถึงกระแสข่าวว่า การที่ทหารเคลื่อนย้ายกำลังในช่วงนี้เพื่อทำการปฏิวัติว่า ข่าวลือก็เป็นข่าวที่ไม่จริง ดังนั้น ไม่ต้องเชื่อ เพราะเรามีการเคลื่อนย้ายกำลังพลทุกปี และนโยบายในปี 2557 ของกองทัพบกเป็นการนำพากองทัพไปสู่ความทันสมัยในอนาคต ในปีนี้เป็นวาระพิเศษที่เรากำหนดไว้ล่วงหน้าแล้วว่า เราจะนำยุทโธปกรณ์ใหม่ๆ ที่ได้จัดซื้อจัดหามาให้ประชาชนในกรุงเทพฯ ได้เห็นว่า สิ่งที่เราได้จัดซื้อมามีสมรรถนะเพียงใด
(ที่มา : 7 ม.ค. 2557, ไทยรัฐออนไลน์)

เราต้องยึดถือกฎเกณฑ์ ไม่สามารถทำอะไรนอกเหนือกฎเกณฑ์ได้

22 ม.ค.57 พล.อ.ประยุทธ์ ผบ.ทบ. กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ว่า วันนี้จัดทหาร 40 กองร้อย จัดตั้งจุดตรวจร่วม 30 กว่าจุด ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และ จัดจุดตรวจของทหารอีกกว่า 20 จุดมีการปรับแผนการทำงานทุกวัน โดยมีกองทัพภาคที่ 1 เป็นคนรับผิดชอบในภาพการใช้กำลัง ตามแนวทางของ ศอ.รส. ทุกวันได้เสนอแผนจากกองทัพไปยัง ศอ.รส.ตลอด ที่ผ่านมาความขัดแย้งระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจมีมาก ทหารจึงจำเป็นต้องไปเสริมในหลายจุด เราต้องลดความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะทำให้ความรุนแรงเกิดขึ้น ทหารยังต้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาดูแล และเป็นผู้รับผิดชอบในภาพรวม ทหารเป็นผู้สนับสนุน ในฐานะผู้ช่วยเจ้าพนักงานในการออกไปดูแลประชาชนทุกฝ่ายให้เกิดความปลอดภัย ไม่ใช่ว่า เรานิ่งนอนใจ ทหารทำทุกอย่าง แต่วันนี้เราต้องยึดถือกฎเกณฑ์ ไม่สามารถทำอะไรนอกเหนือกฎเกณฑ์ได้ เพราะกำลังพลถืออาวุธ ดังนั้นการทำอะไรต่างๆ ต้องระมัดระวัง รวมถึงการวางตัวของทหารทุกคน ซึ่งตนได้กำชับกำลังพลที่ออกไปปฏิบัติหน้าที่เสมอ ทหารมีบทเรียนมากมาย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
(ที่มา : 22 ม.ค. 2557, ผู้จัดการออนไลน์)

ต้องยึดถือกฎหมายรัฐธรรมนูญ

24 ก.พ. 57 พล.อ.ประยุทธ์ ได้อ่านแถลงการณ์ชี้แจงจุดยืนของกองทัพบกต่อสถานการณ์ทางการเมืองผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 (ททบ.5)  ตอนหนึ่งว่า สิ่งที่กองทัพดำเนินการในเวลานี้จำเป็นต้องยึดถือกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยการจัดกำลังออกมาดูแลประชาชนในพื้นที่ที่มีการประกาศกฎหมายพิเศษเป็นจำนวนมากตลอด 24 ชั่วโมง หากเราดำเนินการไม่ถูกวิธี หรือใช้กำลังทหารเต็มรูปแบบ เราจะแน่ใจได้หรือว่า สถานการณ์จะยุติลงได้โดยสงบ ขณะที่ทุกฝ่ายยังไม่พยายามลดเงื่อนไข ไม่พยายามพิสูจน์หาข้อเท็จจริง และยอมรับกฎกติกา กฎหมายของสังคม สิ่งที่น่ากระกระทำในเวลานี้คือ ให้ทุกฝ่ายได้ทำงานตามความรับผิดชอบของตนอย่างเต็มสติกำลังอย่างครบถ้วนด้วยความเป็นธรรม อำนวยความยุติธรรมได้อย่างถูกต้อง และสมบูรณ์โดยไม่ถูกกดดันโดยฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด และหาทางลดความขัดแย้งให้ได้โดยเร็ว ประการสำคัญคือ การใช้กำลังทหารคลี่คลายสถานการณ์อย่างเต็มรูปแบบนั้น จะได้รับการยอมรับจากประชาชนที่อยู่นอกเหนือจากความขัดแย้งนี้หรือไม่ เรื่องนี้ต้องพิจารณาด้วยความระมัดระวัง ประกอบกับขณะนี้สภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจสังคมของประเทศไทยในสายตาของต่างชาติยังมีความสำคัญ สำหรับความขัดแย้งในครั้งนี้เป็นไปอย่างกว้างขวางมากกว่าปี 2553 เพราะในปี 53 เกิดจากคู่ขัดแย้งไม่มากนัก แต่ในปัจจุบันมีหลายกลุ่มและมีเงื่อนไขสลับซับซ้อน
(ที่มา : 24 ก.พ.2557, เดลินิวส์ เว็บ)

จะไปเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยกติกาไหน

25 มี.ค. 57 พล.อ.ประยุทธ์  ตอบคำถามถึงกรณีที่ นายณัฐวุฒิ ใสเกื้อ ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหนึ่งในแคนดิเดตเป็นนายกรัฐมนตรีคนกลางด้วยนั้น ว่า ต้องไปถามเขา เขาตั้งตนได้ไหม ถ้าตั้งไม่ได้แล้วจะมาถามตนทำไม แล้วถามจะไปเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยกติกาไหน และกติกาจะเกิดหรือไม่ตนก็ไม่รู้ แต่อย่าถามตนว่า ตนจะทำนั่นทำนี่หรือไม่ ตนไม่ตอบ เพราะไม่ได้เกี่ยวอะไรกับตน ไม่ใช่เรื่องของตน
(ที่มา : 25 มี.ค. 2557, กรุงเทพธุรกิจ)

ไม่เข้าข้างคนทำผิดกฎหมาย

9 เม.ย. 57 พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ปราศรัยเรื่องรัฏฐาธิปัตย์ว่า "จุดยืนกองทัพในตอนนี้ คือ ไม่เข้าข้างคนทำผิดกฎหมาย และเรื่องรัฏฐาธิปัตย์ DSI ก็ดำเนินการไปแล้ว ผมไม่ได้เข้าข้างนายสุเทพ เทือกสุบรรณ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ หรือ นายจตุพร พรหมพันธุ์ หรือใครทั้งนั้น เพราะทหารต้องทำหน้าที่ของทหาร ที่ทำอยู่ทุกวันไม่ใช่หน้าที่ แต่มาลงที่ทหารทั้งหมด จะรบกับศัตรูนอกประเทศก็ทหาร รบในประเทศก็จะใช้ทหาร เขียนไปเขียนมาให้ผมอยู่ข้างนั้นข้างนี้ ผมอยู่ข้างความถูกต้องเท่านั้น ภายใต้ความอดทนและทนอยู่ทุกวันนี้ ส่วนแนวทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุด ต้องไปถามรัฐบาล"
(ที่มา : 9 เม.ย. 2557, ประชาชาติธุรกิจ)

การรัฐประหารทำไปก็ไม่จบ

10 พ.ค. 57 พล.อ.ประยุทธ์ ได้ฝากข้อความผ่านทางรายการ ลับ ลวง พลาง โดยยืนยันกองทัพตัองหนักแน่น จะทำตามใครเรียกร้องไม่ได้ ต้องใจเย็น ขอให้เชื่อมั่นในทหาร ซึ่งจะต้องเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประเทศชาติและประชาชนได้ในทุกโอกาส ให้เก็บทหารไว้เป็นที่พึ่งสุดท้าย เชื่อว่า การรัฐประหารทำไปก็ไม่จบ ขอให้เข้าใจทหาร เพราะทหารทำหรือไม่ทำก็โดนตำหนิ
(ที่มา : 10 พ.ค.2557, สำนักข่าวเจ้าพระยา)

รัฐประหารนั้น เป็นคำถามที่ตอบไม่ได้

20 พ.ค. 57 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะ ผอ.กอ.รส.  ตอบคำถามกรณีแนวคิดตั้งนายกรัฐมนตรี มาตรา 7 หลังประกาศกฏอัยการศึก ว่า ที่ประชุมไม่ได้กล่าวถึง แต่ถ้าทำได้ก็ทำ แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย แต่ทหารจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว ส่วนการรัฐประหารนั้น เป็นคำถามที่ตอบไม่ได้ สำหรับสถานะรัฐบาลและการรายงานให้รัฐบาลทราบหลังประกาศใช้กฎอัยการศึก ขณะนี้รัฐบาลอยู่ไหนไม่ทราบ แต่ถ้าเจอจะรายงานให้ทราบถึงสถานการณ์ อย่างไรก็ตามขอให้เป็นกำลังใจทหารตำรวจในการทำงานด้วย
(ที่มา : 20 พ.ค. 2557, มติชนออนไลน์)

11 ปีที่หายไป / โดย เพจลงทุนแมน

11 ปีที่หายไป / โดย เพจลงทุนแมน
ถ้าโลกนี้มีปุ่มให้ RESET
แล้วกดย้อนกลับไปเริ่มต้นใหม่ในอดีต
เราคงอยากรู้ว่า คุณทักษิณอยากกลับไปทำอะไรบ้าง
ถ้าทักษิณยังอยู่เมืองไทย
และวันนั้นทักษิณไม่ขายชินคอร์ปให้เทมาเส็ก
ตอนนี้คุณทักษิณจะเป็น 1 ใน 5 คนรวยที่สุดในประเทศไทย
วันนี้เป็นวันครบรอบ 11 ปี รัฐประหาร 19 กันยายน 2549
ดูเหมือนว่าตั้งแต่วันนั้นมา ประเทศไทยก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
วันนั้นคุณทักษิณ ชินวัตร ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรีอยู่ในสหรัฐฯ เมื่อเจอรัฐประหาร จึงทำให้ต้องลี้ภัยอยู่ต่างประเทศนับตั้งแต่นั้นมา
จริงๆแล้วคุณทักษิณได้กลับมาประเทศไทยอีกครั้งในปี 2551 แต่ก็เป็นช่วงเวลาสั้นๆ
ในวันนี้เพจลงทุนแมนจะมาเล่าประวัติการทำธุรกิจของทักษิณ ไม่ได้มาพูดถึงเรื่องการเมือง และขออนุญาตผู้อ่านอย่าคอมเม้นเรื่องการเมือง
เมื่อย้อนกลับไปดู ประวัติ ต้นตระกูล ชินวัตร คุณปู่เป็นคนจีนอพยพ มาอยู่เชียงใหม่ ค้าขายเส้นไหมจากจีน ได้ตั้งโรงงานทอผ้า และ ร้านชินวัตรผ้าไหม มีชื่อเสียงโด่งดัง คุณทักษิณ ก็มีหัวการค้าตั้งแต่เด็ก ช่วยคุณพ่อ ขายกาแฟ และ ดูแล โรงหนัง
ปี 2522
ตอนอายุ 30 ปี จบปริญญาเอก
คุณทักษิณ เรียนดีมาก ได้ที่ 1 ของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และ ได้ทุนไปเรียนต่อจนจบปริญญาเอก เมื่อกลับมารับราชการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้ทำกิจการส่วนตัวไปด้วย ทั้ง ขายผ้าไหม ขายภาพยนตร์
ปี 2526
ตอนอายุ 34 ปี คุณทักษิณตั้งบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์..
ในสมัยก่อน การซื้อขายกับราชการ มีข้อกำหนดมากมาย ทำให้ บริษัท ไอบีเอ็ม ซึ่งเป็น บริษัทสัญชาติอเมริกา ไม่สามารถเซ็นสัญญาตรงได้ จึงแต่งตั้ง บริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ ของคุณทักษิณ ให้เป็นบริษัทคู่ค้าในการขายคอมพิวเตอร์ให้ภาคราชการ ทำให้ธุรกิจเติบโต
นอกจากจะเป็นตัวแทนไอบีเอ็มแล้ว ยังเป็นตัวแทนให้ AT&T ขาย ดาต้าคิท ระบบสื่อสารข้อมูลพร้อมเสียงให้องค์การโทรศัพท์ จนมาถึงการได้สัมปทานคลื่นความถี่วิทยุอีกหลายคลื่นจาก คณะกรรมการประสานงานการจัดและบริหารความถี่วิทยุแห่งชาติ หรือ กบถ. โดยร่วมทุนกับต่างชาติให้บริการ แพ็คลิงค์ เพจเจอร์ ในยุคแรก และต่อมาทำเองในชื่อของ โฟนลิงค์
จากนั้นคุณทักษิณได้ สัมปทานโทรศัพท์ GSM 900 MHz และ ดาวเทียมไทยคม
คุณทักษิณจึงลาออกหลังจากรับราชการมา 8 ปี และ พันตำรวจโท เป็นยศสุดท้าย (แต่ยศถูกถอดโดยคสช. ในปี 2558)
ปี 2533
ตอนอายุ 41 ปี คุณทักษิณ IPO บริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์เป็นครั้งแรก..
บริษัทหลักของคุณทักษิณ มี 3 บริษัทดังนี้
บริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์เซอร์วิสแอนด์อินเวสเมนท์ จำกัด (ชินคอร์ป หรือ อินทัชในปัจจุบัน) ก่อตั้งปี 2526 IPO ปี 2533 บริษัทนี้เป็น โฮลดิ้งคอมพานี ถือหุ้นบริษัทอื่น ปัจจุบันถือหุ้น AIS 40.45% และ ไทยคม 41.41%
บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (AIS) ก่อตั้งปี 2529 IPO ปี 2534
บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (ไทยคม ในปัจจุบัน) ก่อตั้งปี 2534 IPO ปี 2537
คุณทักษิณไม่ได้ถือหุ้น AIS และ ไทยคม แต่ถือหุ้นในชินคอร์ป แล้วเอาชินคอร์ปมาถือ AIS และ ไทยคมอีกที หมายความว่าถ้าทักษิณขายกิจการทั้งหมดให้คนอื่น ก็ขายหุ้นในชินคอร์ปทีเดียว
หลังจากนั้นคุณทักษิณก็เริ่มเข้าสู่การเมือง โดยการชักชวนจาก พลตรีจำลอง ศรีเมือง..
ปี 2544
ตอนอายุ 52 ปี คุณทักษิณได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 และ เป็นนายกคนแรกและคนเดียวที่มาจากการเลือกตั้ง ที่อยู่จนครบเทอม
ก่อนเข้ารับตำแหน่ง คุณทักษิณและภรรยาได้ชี้แจงทรัพย์สิน 15,124 ล้านบาท มีผลงานมากมายภายใต้รัฐบาล ตั้งแต่ โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ แปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุน ครัวไทยครัวโลก สนามบินสุวรรณภูมิ การแปลงรัฐวิสาหกิจให้เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ หวยบนดิน
ทำให้ ถัดมาในสมัยที่ 2 ก็ชนะการเลือกตั้งอีกในปี 2548
มีคนรักก็ต้องมีคนเกลียด
ในอีกด้านของการบริหาร มีคนโจมตีนโยบายประชานิยม ไม่ชี้แจงรายระเอียดทรัพย์สินให้ครบโดยอ้างว่าเผอเรอ และ
มีการเปลี่ยนสัญญาหลายฉบับเพื่อเอื้อให้บริษัทกลุ่มชินวัตรซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ศาลตัดสินยึดเงินในเวลาต่อมา
ปี 2549 จุดเปลี่ยน
เรื่องที่พีคสุดก็คงจะหนีไม่พ้น ปี 2549 คุณทักษิณขายหุ้นชินคอร์ป ให้เทมาเส็ก บริษัทลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์
ดีลตอนนั้นมีมูลค่า 73,274 ล้านบาท ซึ่งเป็นดีลประวัติศาสตร์ที่สูงสุดในไทยเวลานั้น
โดยมีประเด็นที่หนึ่งคือ ทักษิณขายหุ้นหลังจากใช้ พรบ โทรคมนาคม ฉบับใหม่เพียง 2 วัน
พรบ โทรคมนาคมฉบับใหม่มีเนื้อหาอะไรที่สำคัญ?
พรบ นี้อนุญาตให้คนต่างประเทศ ถือหุ้นในบริษัทโทรคมนาคมเพิ่มขึ้นจาก 25% เป็น 50%
และก็ดูเป็นการสอดคล้องกันว่า ใน 2 วันต่อมา คุณทักษิณขายหุ้น 49.595% ในบริษัทชินคอร์ปให้เทมาเส็ก
และอีกประเด็นคือ การไม่เสียภาษีในการขายหุ้น
บริษัทแอมเพิลริช คือบริษัทของคุณทักษิณที่อยู่ในบริติช เวอร์จิน ถ้าขายให้เทมาเส็กตรงๆจะต้องเสียภาษี เพราะแอมเพิลริชถือว่าเป็นนิติบุคคล ถ้านิติบุคคลขายหุ้นมีกำไรจะต้องเสียภาษี
คุณทักษิณจึงเลี่ยงให้แอมเพิลริชไปขายต่อให้ลูกของคุณทักษิณในราคาต่ำ (ราคาต่ำเพื่อไม่ให้แอมเพิลริชมีกำไร ทำให้ไม่โดนภาษี) และให้ลูกมาขายต่อให้เทมาเส็กอีกทีหนึ่ง (เพราะ บุคคลธรรมดาซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไม่ต้องเสียภาษี)
สรุปแล้วดีลนี้คุณทักษิณใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายที่ แม้แต่ตัวกรมสรรพากรเองก็ยัง งง กลับความเห็นไปมา ไม่รู้จะเก็บภาษีดีไหม
เพราะถ้าดูที่กฎหมายตรงๆก็ไม่ต้องเสียภาษี แต่ความเห็นสรรพากรครั้งสุดท้ายคือ เจตนานี้จัดว่าเป็นนิติกรรมอำพรางให้โดนเก็บภาษีด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม..
เรื่องนี้ได้เปลี่ยนชีวิตคุณทักษิณไปตลอดกาล
เรื่องนี้เป็นจุดที่ทำให้เรื่องใหญ่โตขึ้นมา จนคุณทักษิณต้องยุบสภา และมีเรื่องราวต่างๆตามมา ทำให้เกิดสูญญากาศทางการเมือง จึงทำให้เกิดรัฐประหารในวันนี้เมื่อ 11 ปีที่แล้ว..
ปี 2553
ศาลฎีกาตัดสินยึดเงินคุณทักษิณ 46,373 ล้านบาทให้ตกเป็นของแผ่นดิน โดยเหตุผลคือ ใช้อำนาจในฐานะนายกรัฐมนตรีเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจของตนเอง มีการแก้ไขสัญญาหลายฉบับเพื่อเอื้อให้ AIS และ ไทยคม ให้มีค่าใช้จ่ายที่ถูกลง
46,373 ล้านบาทที่โดนยึดคือ ส่วนของกำไร และเงินปันผล หลังจากการเป็นนายกรัฐมนตรี
สรุปแล้วคุณทักษิณได้เงินมาจากเทมาเส็ก 73,274 ล้านบาท โดยไม่เสียภาษี แต่มาโดนยึด 46,373 ล้านบาท คิดง่ายๆก็เหลือ 26,901 ล้านบาท
นี่ยังไม่รวมสรรพากรที่จะเรียกเก็บภาษีย้อนหลังจากการขายหุ้นเทมาเส็ก ฝ่ายคุณทักษิณมองว่าเงินส่วนกำไรโดนยึดไปแล้ว จะมาเก็บภาษีอะไรอีก เพราะไม่มีกำไรแล้ว แต่อีกฝ่ายก็มองว่าเป็นต่างกรรมต่างวาระ มีสิทธิยึดอีกได้
สรรพากรเรียกเก็บภาษีพร้อมดอกเบี้ยย้อนหลัง 17,629.58 ล้านบาท
ถ้าสรรพากรตามเก็บได้จริงเงินคุณทักษิณก็จะเหลือ 9,271.42 ล้านบาท (น้อยกว่าครอบครัวคุณต๊อบ เถ้าแก่น้อย ที่ตอนนี้มีทรัพย์สินมูลค่า 19,409 ล้านบาท)
ปี 2560
แล้วถ้าทักษิณไม่ขายหุ้นให้เทมาเส็กในตอนนั้น ตอนนี้ คุณทักษิณจะมีเงินเท่าไร?
บริษัทอินทัช (ชินคอร์ปเดิม) ตอนนี้มีมูลค่าบริษัท 189,980 ล้านบาท
ถ้าคุณทักษิณถือสัดส่วนเดิมที่ 49.595% ตอนนี้จะมีมูลค่า 94,220 ล้านบาท
หลายคนอาจจะคิดว่าเยอะแล้ว แต่จริงๆแล้วเงินปันผลตั้งแต่ปี 2549 ที่บริษัทชินคอร์ปจ่ายทั้งหมดให้ผู้ถือหุ้นรวมกันมากถึง 138,288 ล้านบาท เมื่อคูณสัดส่วน 49.595% จะได้เป็น 68,584 ล้านบาท
เมื่อรวม 2 รายการเข้าด้วยกันก็จะได้คำตอบว่า ถ้าคุณทักษิณยังถือหุ้นชินคอร์ปอยู่
คุณทักษิณจะมีเงิน 162,804 ล้านบาท..
เงินจำนวนนี้มากกว่ามูลค่าที่ขายให้เทมาเส็ก 2 เท่า และเทียบไม่ได้เลยกับเงินที่เหลือหลังจากโดนยึดไป
และถ้าคุณทักษิณยังถือหุ้นชินคอร์ปอยู่ คุณทักษิณน่าจะติดอันดับคนรวยอันดับที่ 5 ของประเทศไทย เป็นรองเพียงเจ้าของ ซีพี ไทยเบฟ เซ็นทรัล และ กระทิงแดง
แต่ตอนนี้คุณทักษิณอายุ 68 ปี แล้ว และกำลังลี้ภัยอยูที่ดูไบ มีคดีความ 7 คดี หย่ากับคุณหญิงพจมาน ภรรยา
เรื่องนี้ทำให้คิดได้ว่า ไม่ว่าคนเราจะรวยแค่ไหน สิ่งที่ต้องการจริงๆก็คงจะเป็นความสุข ไม่ใช่ตัวเงิน
ถ้าโลกนี้มีปุ่มให้ RESET แล้วกดย้อนกลับไปเริ่มต้นใหม่ในจุดเดิมในอดีต
ก็น่าสงสัยว่าคุณทักษิณอยากกดปุ่มนั้น หรือไม่? คุณทักษิณอยากกด RESET ปี ย้อนกลับไปปี 2544 แล้วหยุดเล่นการเมือง หรือไม่?
11 ปีที่ผ่านมาก็คงเป็น 11 ปีที่หายไปของคุณทักษิณ
แต่จริงๆแล้ว ไม่ใช่ทักษิณ แต่น่าจะเป็น 11 ปีที่หายไปของเราทุกคน..
ประเทศไทย
เรื่องราวทั้งหมด สิ่งที่เกิดขึ้น พวกเราเกี่ยวข้องกันทั้งหมด จากอดีตสู่ปัจจุบัน
ผลจากการกระทำของทุกคน ได้ส่งผลมาจนถึงวันนี้
และ คงโชคร้ายสำหรับเรา ที่โลกนี้ไม่มีปุ่ม RESET ให้ย้อนกลับไป
แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป คืออนาคตของเรา ตัวเราเองจะเป็นคนให้กำเนิดอนาคต
แล้วเราทุกคนจะเลือกทางเดินแบบไหน ที่ภูมิใจได้ว่า เป็นทางเดินที่ถูกแล้ว และ ไม่อยากกดปุ่ม RESET อีกต่อไป..
"เพราะว่าเป็นประเทศของเรา
ไม่ใช่ประเทศของหนึ่งคนสองคน
เป็นประเทศของคนทุกคน
เพราะปัญหามีอยู่ที่เวลาเกิดจะใช้คำว่า บ้าเลือด
เวลาคนมีการปฎิบัติรุนแรงมันลืมตัว
ลงท้ายเขาไม่รู้ว่าตีกันเพราะอะไร
แล้วก็จะแก้ปัญหาอะไร
เพียงแต่ว่าจะต้องเอาชนะ
แล้วใครจะชนะ ไม่มีทาง
อันตรายทั้งนั้น มีแต่แพ้
คือต่างคนต่างแพ้
ผู้ที่เผชิญหน้าก็แพ้
แล้วที่แพ้ที่สุดก็คือประเทศชาติ
ประชาชนจะเป็นประชาชนทั้งประเทศ
ไม่ใช่ประชาชนเฉพาะในกรุงเทพมหานคร
ถ้าสมมติว่า
เฉพาะในกรุงเทพมหานครเสียหายไป
ประเทศก็เสียหายไปทั้งหมด
แล้วก็จะมีประโยชน์อะไร
ที่จะทะนงตัวว่าชนะ
เวลาอยู่บนกองซากปรักหักพัง"
พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
20 พฤษภาคม 2535

‘ทักษิณ’ทวีตความรู้สึกครบ 11 ปี วันถูกยึดอำนาจ

‘ทักษิณ’ทวีตความรู้สึกครบ 11 ปี วันถูกยึดอำนาจ


วันที่ 19 กันยายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทวีตข้อความเนื่องในโอกาสครบรอบ 11 ปี 19 กันยายน 2549 ซึ่งถูกยึดอำนาจจาก คมช. โดยทวีตข้อความเป็นภาษาอังกฤษ ระบุว่าหวังว่าสิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อ 11 ปีที่แล้ว จะไม่เลือนรางหายไปจากใจของประชาชนชาวไทย และตนเองยังคงห่วงใยต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเสมอ
I hope the memory of what happened 11 years ago has not faded from the hearts of Thai people.
I am, and will always be, concerned about the livelihood of my fellow Thai citizens.

ย้อนดู11ปีที่แล้ววันนี้19ก.ย.รัฐประหาร

ส. ผาน้ำย้อยติดตาม
5 ชม.
เหตุการณ์วันนี้ในอดีต กับรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
วันนี้เราจะมาไล่เรียงและลำดับเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งชนวนความขัดแย้งสำคัญของการเมืองไทยที่ส่ง ผลกระทบมาจวบจนปัจจุบัน
การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในช่วงเดือนกลางปี 2549 เพื่อขับไล่ ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้นให้ลงจากตำแหน่ง กลายเป็นหนึ่งในเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองครั้งใหญ่ของหน้าประวัติ ศาสตร์ไทย เพราะในครั้งนั้นมีกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับ ดร.ทักษิณ ออกมาชุมนุมกลางเมืองหลวงของประเทศไทยกันเป็นจำนวนมาก และไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นจะจบลงเช่นไร เมื่อกลุ่มพันธมิตรฯ ประกาศนัดชุมนุมใหญ่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้าในวันที่ 20 กันยายน 2549
อย่างไรก็ตาม ก็คงไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายเท่าไรนักที่สุดท้ายแล้ว การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ จะยอมปิดฉากลงเมื่อทหารออกมาปฏิวัติรัฐประหาร ลองมาย้อนลำดับเหตุการณ์กันดูครับ
เวลาประมาณ 07.00 น. (ตรงกับเวลา 18.00 น.ของวันที่ 18 ก.ย. ในนิวยอร์ค) ดร.ทักษิณ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์รายการ ‘ประชาธิปไตยทูเดย์’ ของสถานีไอพีทีวี ที่ห้องพักของโรงแรมแกรนด์ไฮเอ็ด ในนิวยอร์ค โดยไม่มีท่าทีว่าจะทราบถึงความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น
เวลาประมาณ 08.00 น. (ตรงกับเวลา 19.00 น.ของวันที่ 18 กันยายน ในนิวยอร์ค) มีคำสั่งจาก ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรียกผู้นำทุกเหล่าทัพเข้าประชุมร่วมกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ทำเนียบรัฐบาล แต่ไม่มีผู้นำเหล่าทัพคนใดเข้าร่วม พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.อ้างว่ากระชั้นชิดเกินไป ทำให้ต่อมามีกระแสข่าวลือการปฏิวัติรัฐประหารแพร่สะพัดไปทั่วทำเนียบรัฐบาล และเริ่มกระจายสู่ภายนอก โดยเฉพาะตลาดหลักทรัพย์
เวลาประมาณ 11.00 น. (ตรงกับเวลา 22.00 น.ของวันจันทร์ที่ 18 กย.ในนิวยอร์ค) ดร.ทักษิณ ชินวัตร, ดร.สุรเกียรติ เสถียรไทย และนพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ประชุมผ่านระบบเว็บแคมฯ กับคณะรัฐมนตรีในเมืองไทยด้วยทีท่าเคร่งเครียดอย่างเห็นได้ชัด
เวลาประมาณ 12.00 น.หลังการประชุม ครม.โดยผ่านระบบเว็บแคมฯ รัฐมนตรีหลายรายได้สอบถามผู้สื่อข่าวถึงข้อเท็จจริงการปฏิวัติรัฐประหารอย่างตื่นเต้น
เวลา 18.55 น.สำนักข่าวไทยรายงานว่า ดร.ทักษิณ ชินวัตร ประกาศเลื่อนเดินทางกลับประเทศไทยเร็วขึ้นจากวันที่ 22 กันยายน เป็นเวลา 05.00 น. วันที่ 21 กันยายนแทน
เวลา 20.00 น.ตำรวจ 191 เบิกอาวุธปืนเอ็ม 16 ไปรอเตรียมพร้อมที่กองกำกับการ 2 (ป้องกันและปราบปรามจลาจล) ถ.วิภาวดีรังสิต
เวลาประมาณ 21.00 น.กำลังทหารจากพลร่มป่าหวาย หน่วยสงครามพิเศษลพบุรี เข้ามาประจำการที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) มีผู้โพสต์ข้อความถามถึงข่าวลือปฏิวัติในเว็บพันทิป
เวลา 21.10 น.รถถ่ายทอดสด (โอบี) สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 (ททบ.5) เข้า บก.ทบ.
เวลาประมาณ 21.30 น.สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ตัดรายการปกติ เปิดเพลงที่มีเนื้อหาสรรเสริญพระบารมี
เวลาประมาณ 21.30 น.กลุ่มผู้สื่อข่าวได้เข้าไปทำเนียบรัฐบาล แต่ไม่พบสิ่งผิดปกติ ตำรวจยังคงรักษาการณ์ทำเนียบรัฐบาลเป็นปกติ ท่ามกลางข่าวลือว่ามีการนำกำลังเข้าควบคุมตัว พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รักษาการ รมว.กลาโหม ขณะที่มีอีกกระแสข่าวว่า นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายของ ดร.ทักษิณ เดินทางไปประเทศอังกฤษตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทำเนียบรัฐบาลมีคำสั่งห้ามคนนอกเข้าไปเด็ดขาด ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เชิญผู้สื่อข่าวบางส่วนออกมา จึงทำให้ผู้สื่อข่าวที่รอไปทำข่าวต่างจับกลุ่มออกันอยู่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลเป็นจำนวนมาก
เวลา 21.30 น.น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกฯ เดินทางมาที่ทำเนียบรัฐบาลด้านหลังตึกไทย ไล่เลี่ยกัน พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ยุติธรรม เดินทางตามเข้ามา แต่ไม่ได้ลงจากรถ ก่อนที่ น.พ.พรหมินทร์ จะหอบเอกสารปึกใหญ่เดินขึ้นรถ พล.ต.อ.ชิดชัย และเคลื่อนรถออกไปจากทำเนียบด้วยกัน
เวลาประมาณ 21.30 น.กำลังคอมมานโดตำรวจกองปราบปรามเดินทางไปรักษาความปลอดภัยที่บ้านจันทร์ส่องหล้า
เวลา 22.00 น.ขบวนรถถังเคลื่อนเข้าคุมเชิงที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ และ ถ.ราชดำเนิน
เวลาประมาณ 22.00 น.สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นรายงานสด (เบรกกิ่งนิวส์) สถานการณ์ในเมืองไทย หลังมีผู้เห็นกองกำลังทหารออกคุมกำลังตามสถานที่สำคัญต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ
เวลา 22.15 น.ทหารจำนวนมากออกมาตรึงกำลังตามถนนต่างๆ ตั้งแต่แยกเกียกกาย ผ่านมาถึง ถ.ราชสีมา บริเวณสวนรื่นฤดี สี่แยกราชตฤณมัยสมาคม (สนามม้านางเลิ้ง) โดยมีทหารแต่งกายลายพรางเต็มยศเป็นผู้ควบคุมกำลัง
เวลา 22.13 น. สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อสมท ถ่ายทอดเสียงของ ดร.ทักษิณ ออกประกาศพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ควบคุมพื้นที่กรุงเทพฯ ระบุอยู่ในขั้นรุนแรง และให้ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.ไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยให้รายงานตัวต่อ พล.ต.อ.ชิดชัย และตั้ง พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ผบ.สส.คุมอำนาจแก้สถานการณ์ฉุกเฉิน
เวลา 22.17 น.สัญญาณช่อง 9 อสมท ถูกตัด หน้าจอโทรทัศน์ดับสนิทชั่วครู่ ก่อนจะตัดเข้าโฆษณา และรายการปกติ โดยมีรายงานข่าวว่ากำลังทหารบุกเข้าควบคุมที่ห้องส่งสัญญาณออกอากาศ พร้อมควบคุมตัวนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ผอ.ใหญ่ บมจ.อสมท
เวลา 22.25 น.สถานีโทรทัศน์เกือบทุกช่องตัดเข้ารายการเพลง เปิดเพลงที่มีเนื้อหาสรรเสริญพระบารมี ยกเว้นช่อง 9 และช่อง 3 ที่นำเสนอรายการปกติ โดยมีรายงานข่าวว่า มีกำลังทหารเข้ายึดสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง โดยเฉพาะช่อง 9 อสมท และไอทีวี
เวลา 22.30 น.สถานีโทรทัศน์ทุกช่องเริ่มเชื่อมสัญญาณกับ ททบ.5 และเปิดเพลงที่มีเนื้อหาสรรเสริญพระบารมี แม้แต่สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมอย่างเอเอสทีวี ยกเว้นเนชั่นแชนนัล ทางสถานีโทรทัศน์ไททีวี ช่อง 1 ที่ยังคงรายงานสถานการณ์ได้ตามปกติ
เวลา 22.35 น.เนชั่นแชนนัล ถูกเชื่อมสัญญาณเหมือนทุกช่อง
เวลา 22.30 น.มีรายงานข่าวว่า มีรถถ่ายทอดสดไปที่บ้านพักสี่เสาเทเวศร์เพื่อเตรียมถ่ายทอดสด
เวลา 22.30 น.มีรายงานข่าวว่า กำลังทหารส่วนหนึ่งได้เข้าควบคุมตัว พล.ต.ต.วินัย ทองสอง ผู้บังคับการกองปราบปราม และ พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต (เสธ.ไอซ์) ที่ปรึกษากองทัพบก
เวลา 22.54 น.สถานีโทรทัศน์ทุกช่องขึ้นโลโก้สถานีรวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย พร้อมขึ้นคำประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พร้อมขออภัยในความไม่สะดวก พร้อมเปิดเพลง "ความฝันอันสูงสุด"
เวลา 22.57 น.สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นแพร่ภาพรถถังและกำลังทหารควบคุมสถานการณ์ภายใน กทม. และช่วงหนึ่งได้แพร่ภาพกลุ่มชาวบ้านใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายรูปกำลังทหารเหล่านั้น โดยไม่ได้รู้สึกหวาดกลัวต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด
เวลา 23.15 น.พล.ต.ประพาศ ศกุนตนาค อดีตโฆษก ททบ.5 อ่านแถลงการณ์คณะปฏิรูปการปกครองฯ ที่แสดงไว้หน้าจอก่อนหน้านี้ซ้ำถึงสองครั้ง
เวลา 23.30 น.เอเอสทีวีออกอากาศได้ตามปกติอีกครั้ง ขณะที่สถานีโทรทัศน์ทุกช่องยังคงเชื่อมสัญญาณกับ ททบ.5 ขณะเดียวกัน ทหารจาก ป.พัน.21 สังกัด ร.21 ประมาณ 30 นาย พร้อมอาวุธครบมือ เดินทางมายังอาคารเนชั่นทาวเวอร์ ที่สถานีโทรทัศน์เนชั่นแชนนัล โดยยืนยันว่ามาดูแลความสงบเรียบร้อยทั่วไป ขณะที่เนชั่นแชนนัล เริ่มออกอากาศได้อีกครั้ง เวลา 23.44 น.
เวลา 23.53 น.ผู้บัญชาทหารทุกเหล่าทัพเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต
เวลา 23.57 น.โฆษกคณะปฏิรูปการปกครองฯ ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ชี้แจงสาเหตุการยึดอำนาจ
และนี่ก็คือลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่เกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่งแม้จะผ่านมาถึง10ปีแล้ว แต่ดูเหมือนว่าการรัฐประหารครั้งนั้นก็ไม่สามารถลดทอนความขัดแย้ง หรือแก้ปัญหาใด ๆ ได้มากนัก ตรงกันข้าม กลับเป็นเหมือนอีกหนึ่งชนวนสำคัญที่ทำให้เชื้อไฟความขัดแย้งทางการเมือง ลุกลามบานปลายมาจนถึงทุกวันนี้..!!

วีระ โต้ ประยุทธ์ อัดกลุ่มเรียกทหารยึดอำนาจ สมควรถูกเรียกว่าพวก ‘กบเลือกนาย’

วีระ โต้ ประยุทธ์ อัดกลุ่มเรียกทหารยึดอำนาจ สมควรถูกเรียกว่าพวก ‘กบเลือกนาย’



(แฟ้มภาพ)
วันนี้ (19 ก.ย.) นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น โพสต์ข้อความทางเฟสบุ๊กกรณีนายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงความเห็นทางการเมืองเทียบคนไทย “กบเลือกนาย” พร้อมเตือนเลือกตั้งอย่าเลือกผิด ระหว่างลงพื้นที่ จังหวัดสุพรรณบุรี นายวีระระบุว่า

คุณประยุทธ์คุณเข้าใจผิดแล้ว การเลือกนายกฯของคนไทยโดยผ่านการเลือกตั้ง เป็นการเลือกลูกจ้างมาทำงานให้ชาติและประชาชน ไม่ได้เลือกให้เข้ามาเป็นนายของประชาชน

หากนายกฯทำให้ชาติและประชาชนเสียหาย ประชาชนก็สามารถไล่ออกและเลือกใหม่ได้
แต่นายกฯที่มาจากการทำรัฐประหาร เป็นนายกฯที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการ แต่ไม่สามารถคัดค้านได้เพราะเกรงกลัวอำนาจรัฐ เมื่อทำให้เกิดความเสียหายแก่ชาติและประชาชน จึงมีเสียงคัดค้าน ก่นด่า ขับไล่ โมฆะบุรุษจะพูดอย่างไม่อายฟ้าไม่อายดินว่า “อย่าเพี่งไล่ผม ไล่ตอนนี้ก็ไม่ไป ผมไปตามโรดแมป” นายกฯที่มาจากรัฐประหารมักหลงในอำนาจว่า “มีอำนาจเหนือประชาชน เป็นนายของประชาชน” ที่สำคัญประชาชนบางกลุ่มที่เรียกร้องให้ทหาร เข้ามายึดอำนาจ ในที่สุดตนเองก็ต้องถูกกดขี่ข่มเหงไปด้วย แต่ไม่สามารถเปลี่ยนหรือไล่ผู้กดขี่ออกไปได้ นั่นแหละสมควรเรียกว่าพวก “กบเลือกนาย”

‘มาร์ค’ ยันไม่เสียหาย ชทพ.พบบิ๊กตู่ เชื่อ’ประภัตร’ยุ คสช.อยู่ยาว แค่กังวลความขัดแย้ง

‘มาร์ค’ ยันไม่เสียหาย ชทพ.พบบิ๊กตู่ เชื่อ’ประภัตร’ยุ คสช.อยู่ยาว แค่กังวลความขัดแย้ง


“มาร์ค”ชี้ ไม่เสียหาย อดีตส.ส.ชทพ.ต้อนรับ “บิ๊กตู่”หากคุยปัญหาปชช. แนะ คสช.สร้างความมั่นใจ ลต.ตามโรดแมป

เมื่อเวลา 11.40 น. วันที่ 19 กันยายน ที่พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคปชป.กล่าวถึงกรณีพล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมประชาชนในครม.สัญจรที่จ.สุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมาโดยมีอดีตส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา(ชทพ.) ไปร่วมต้อนรับว่า ถือเป็นเรื่องปกติที่เจ้าของพื้นที่ หรือเจ้าภาพจะไปต้อนรับ การลงพื้นที่ของนายกฯที่ไปดูงานเรื่องการเกษตรในพื้นที่แปลงนาสาธิตของนายประภัตร โพธสุธน อดีตเลขาฯพรรคชทพ. การมีอดีตส.ส.พรรคไปร่วมต้อนรับก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร และการที่นายกฯจะคุยกับนักการเมืองบ้างก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร

เมื่อถามว่า เป็นการส่งสัญญาณว่าจะมีการจับมือระหว่างทหารกับพรรค ชทพ.ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นหรือไม่ หัวหน้าพรรคปชป.กล่าวว่า ต้องไปถามพล.อ.ประยุทธ์ กับคนที่ไปต้อนรับ แต่การพูดคุยกันจะไม่มีอะไรเสียหายหากนำปัญหาของพี่น้องประชาชนไปเป็นตัวตั้ง และเร็วเกินไปที่จะบอกว่าเป็นการจับขั้วทางการเมืองในเวลานี้ เพราะนายกฯพูดเองว่าจะดูแลกติกาเลือกตั้งให้ผู้เล่น ส่วนที่นายกฯบอกว่า อย่าเอานายกฯไปเป็นผู้เล่นด้วยนั้น ก็อยู่ที่ตัวนายกฯจะต้องกำหนดตัวเองว่าจะเป็นผู้เล่นหรือไม่ เพราะนายกฯเป็นคนเดียวที่จะตอบได้

นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงกรณีที่นายประภัตร ระบุว่า ยังไม่จำเป็นต้องมีการเลือกตั้งให้รัฐบาลนี้อยู่ยาวเพราะบรรยากาศยังไม่มีความปรองดองนั้นว่า เข้าใจว่านายประภัตรคงกังวลเรื่องความขัดแย้ง แต่ตนยืนยันว่า การไม่เดินตามโรดแมปที่คสช.กำหนดไว้ จะเกิดความเสียหายมากกว่าการที่อ้างว่า หากกลับไปสู่ระบบประชาธิปไตยแล้วจะมีปัญหา ซึ่งจะทำให้หลงทางอีก ดังนั้นหน้าที่ของคสช.จึงต้องทำให้เกิดความมั่นใจว่า การเลือกตั้งตามแผนที่ คสช.กำหนดจะนำไปสู่ความสงบเรียบร้อยอย่างไร จำเป็นต้องแสวงหาความร่วมมือจากกลุ่มไหน ก็ให้ดำเนินการไป เพราะคสช.และแม่น้ำ 5 สายเป็นผู้กำหนดทุกอย่าง

สมศักดิ์แจง ชทพ.รับ’บิ๊กตู่-ครม.’หวังสะท้อนความเดือดร้อน-จุดยืน เป็นมิตรทุกฝ่าย

สมศักดิ์แจง ชทพ.รับ’บิ๊กตู่-ครม.’หวังสะท้อนความเดือดร้อน-จุดยืน เป็นมิตรทุกฝ่าย


‘ตือ’แจงอดีต ส.ส.ชทพ. ต้อนรับ’บิ๊กตู่-ครม.’ หวังสะท้อนความเดือดร้อน ปชช. ระบุแล้วแต่ใครจะมองหนุนรัฐบาลทหาร ยันจุดยืนพรรคไม่เพาะศัตรู

เมื่อวันที่ 19 กันยายน นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนากล่าวถึงกรณีอดีต ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา ออกมาต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระหว่างการลงพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี ว่าก่อนอื่นขอขอบคุณที่ พล.อ.ประยุทธ์ให้เกียรติถามถึงตน และให้เกียรติตระกูลปริศนานันทกุล จึงเชื่อว่านายกฯให้ความเชื่อมั่นว่าเราทำงานการเมืองให้กับประชาชนได้ ทั้งนี้ การที่อดีต ส.ส.ได้ไปพบปะพูดคุยกับนายกฯ และรัฐมนตรีอีกหลายคนนั้นถือว่าทุกฝ่ายมีโอกาส ทั้งประชาชน รัฐบาล และประเทศ ที่จะได้โอกาสนั้นในเมื่อนายกฯและ ครม.ลงมาถึงในพื้นที่เป็นเรื่องที่ดีกับการที่ได้มาพบประชาชน โดยเฉพาะชาวนา ซึ่งพวกเราเป็นนักการเมือง ไม่ใช่นักเลือกตั้ง เรามาทำหน้าที่ของเราในการมาพูดเวทีเดียวกับที่นายกฯมา เพราะเราเป็นอดีต ส.ส. ในเมื่อวันนี้ไม่มีสภาให้เราไปพูดแทนประชาชนแล้ว พอมีเวทีจึงต้องมาสะท้อนข้อคิดเห็นของประชาชนให้รัฐบาลฟัง

นายสมศักดิ์กล่าวว่า ส่วนการที่นายประภัตร โพธสุธน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยุให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ยาวถึง 10 ปีนั้น ตนต้องขอบอกว่าในเมื่อวันนี้ คสช.ไม่ให้นักการเมืองทำกิจกรรม ไม่ให้มีประชุมพรรค แล้วจะมาบอกว่าเป็นความเห็นของพรรคชาติไทยพัฒนาคงไม่ได้ ต้องถือเป็นความเห็นส่วนตัวของนายประภัตรที่พูดต่อสาธารณะและนายกฯ หรือที่นายวราวุธ ศิลปอาชา อดีต ส.ส.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา พูดต่อประชาชนและรัฐบาลนั้นก็เป็นเสียงสะท้อนจากอดีต ส.ส.ที่ทำงานคลุกคลีกับเกษตรกรและชาวนาตามที่นายประภัตรระบุว่าขอให้รัฐบาลเจียดงบประมาณโครงการรถไฟความเร็วสูงหรือโครงการใหญ่ๆ ต่างๆ มาให้กับชาวนาบ้าง ก็ให้อยู่ต่อไป นั่นคือ เสียงสะท้อนในฐานะอดีต ส.ส.

นายสมศักดิ์กล่าวต่อว่า ถ้าเอาเหตุการณ์เมื่อวานนี้มาคิด เราต้องมาคิดใหม่ว่าตรรกะเป็นอย่างไร สิ่งใดคือประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน อะไรจะเกิดประโยชน์ต่อรัฐบาล เพราะเราคิดว่าถ้าอดีต ส.ส.ไม่ไปสะท้อนเสียงข้อคิดเห็นที่มาจากประชาชนให้รัฐบาลฟังแล้ว ประชาชนคงจะมีโอกาสน้อยที่ได้ไปยืนพูดให้นายกฯกับรัฐมนตรีได้รับทราบถึงปัญหาที่เขาประสบอยู่ อย่างที่เห็นอดีต ส.ส.ได้สะท้อนความเดือดร้อนของชาวนาให้นายกฯกับรัฐมนตรีได้รับรู้ เพื่อที่รัฐบาลจะได้แก้ปัญหาถูกจุด และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นถือเป็นโอกาสของทุกฝ่าย ทั้งรัฐบาล ประชาชน และประเทศมากกว่า

“ใครจะวิพากษ์วิจารณ์ว่าพรรคชาติไทยพัฒนาหันไปสนับสนุนรัฐบาลทหารแล้วนั้น สุดแล้วแต่ใครจะมอง พรรคชาติไทยพัฒนาไม่เคยสร้างศัตรูกับใคร เราเป็นมิตรกับทุกพรรค เราเป็นพรรคที่ถูกเลือก แล้วเมื่อร่วมกับใครแล้วเราไม่เคยทิ้งพวกกลางคัน เมื่อพรรคที่มีเสียงข้างมากไม่เลือกเรา เราก็ไปเป็นฝ่ายค้าน ที่ผ่านมาเคยทำให้เห็นแล้ว เราไม่เคยเพาะศัตรู ที่สำคัญ เราไม่มีโอกาสจะรู้ได้ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล และเราไปคิดแทนประชาชนไม่ได้” นายสมศักดิ์กล่าว

"บิ๊กป้อม" ร้อง ปัดโธ่ เอ้ย!! ปัด พบ "ทักษิณ”"ที่อังกฤษ แจง บิน คนละเวลา

"บิ๊กป้อม" ร้อง ปัดโธ่ เอ้ย!! ปัด พบ "ทักษิณ”"ที่อังกฤษ แจง บิน คนละเวลา ใช้คนละสนามบิน เผย ซื้ออาวุธ เรื่องของกองทัพ
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม กล่าวถึงการถูกตั้งข้อสังเกตว่า ในการเดินทางไปอังกฤษเมื่อ 12-15 ก.ย.ที่ผ่านมาได้พบนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เดินทางไปอังกฤษในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน หรือไม่นั้น
"โอ้ย ! ปัดโธ่ เอ้ย พวกคุณ
ไม่มีๆ ไปคนละเวลา ไม่เจอกันเลย
อีกคนไปเวลาหนึ่ง อีกคนกลับเวลาหนึ่ง ผมกลับกลางวัน เขามากลางคืน จะเจอกันได้ยังไง ขนาดใช้สนามบินก็คนละสนามกัน แล้วจะไปเจอกันได้อย่างไร คุณก็พูดไป”
เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่าภายหลังจากหารือกับรมว.กลาโหมและรมช.ต่างประเทศของอังกฤษ จะมีการอนุมัติจัดซื้ออาวุธเพิ่มเติมหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่มีอะไร เรื่องการจัดซื้อก็เป็นไปตามเดิมที่มีเรื่องอาวุธ ผมไม่ได้ไปดู แต่เป็นทางเหล่าทัพที่ไปดู

สุรชาติ : ต้องปฏิรูปกองทัพ โลกประชาธิปไตยไม่มีรัฐซ้อนรัฐ

ประชาชาติธุรกิจ17กันยายน2560
ตั้งแต่รัฐประหาร 2549 ถึงรัฐประหาร 2557
ผ่านมา 11 ปี การเมืองไทยยังอยู่ยุคทหาร ขณะที่นักวิเคราะห์-โหรการเมือง ทำนายไปในทำนองเดียวกันว่า แม้มีการเลือกตั้ง มีรัฐบาลแต่ก็ยังเป็นรัฐบาลใต้ร่มเงาทหาร ทั้งที่แม่น้ำ คสช.ปักธงว่ายุคนี้เป็นยุคแห่งการปฏิรูป แต่กลับไม่มีการพูดถึงการ “ปฏิรูปกองทัพ”
“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนากับ “สุรชาติ บำรุงสุข” นักวิชาการด้านความมั่นคง จากรั้วจามจุรี วิเคราะห์โจทย์ปัจจุบัน โจทย์อนาคต ว่าเหตุใดจึงไม่มีการพูดถึงเรื่องปฏิรูปกองทัพ
Q : ทำไมรัฐประหาร 2557 ถึงอยู่ยาวกว่ารัฐประหาร 2549 
รัฐประหาร 57 เป็นผลสืบเนื่องรัฐประหารปี 49 เพราะปีกอนุรักษนิยมที่เปิดการเคลื่อนไหวใหญ่ล้มรัฐบาลเลือกตั้งปี 49 เหมือนกับยังไม่สิ้นสุดในตัวเอง แต่ปี 57 เป็นความพยายามที่จะสุดซอยและปรากฏผลชัดเจนด้วยการออกมาตรการต่าง ๆ ใช้สื่อ กลไกต่าง ๆ สร้างพลังทางสังคมให้เกิดการสนับสนุนรัฐบาลทหาร พยายามออกแบบสังคมการเมืองไทยในอนาคตผ่านรัฐธรรมนูญ หลังการเลือกตั้งจะมีสมาชิกวุฒิสภาแต่งตั้ง 250 เสียง จะกลายเป็นฐานเสียงหลักของพรรคทหารในอนาคต แต่สิ่งที่ใหญ่กว่าคือกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตีกรอบอนาคตของไทย เท่ากับกำหนดวาระรัฐบาลเลือกตั้ง 5 รัฐบาล ดังนั้นการเลือกตั้งในอนาคตจะไม่มีสถานะรัฐบาลแท้จริง รัฐบาลอาจถูกบังคับให้ล้มโดยไม่ต้องรัฐประหาร
Q : ผ่านมา 3 ปี ทำไมทหารมีแต้มต่อมากกว่านักการเมือง 
ฝ่ายทหารมีกระบวนการทำลายภาพลักษณ์ของพรรคการเมืองและนักการเมืองว่าการเมืองแบบการเลือกตั้งเป็นสิ่งที่เลวร้าย ไม่มีความชอบธรรม รัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจดีกว่ารัฐบาลเลือกตั้ง ที่ท้าทายคือนักการเมืองหรือพรรคการเมือง จะฟื้นความเชื่อมั่นในหมู่พี่น้องประชาชนได้อย่างไร
Q : การไม่มีชินวัตรอยู่ในประเทศจะทำให้พื้นที่การเมืองของทหารมีมากขึ้นหรือไม่
ปฏิบัติการจิตวิทยาที่เกิดขึ้นไม่มีอะไรมากไปกว่าการปลุกผีทักษิณกับผียิ่งลักษณ์ ที่เป็นเป้าหมายการทำลายของปีกอนุรักษนิยม แต่ถ้ายกปัญหาให้พ้นตัวบุคคล สิ่งที่เห็นทั้งหมดคือการสู้กันระหว่างกระแสเสนานิยม กับ เสรีนิยม ปัจจุบันปีกอนุรักษนิยมเชื่อมั่นในกระแสเสนานิยมแล้วผลักดันกระแสเสนานิยมให้เป็นกระแสหลักของการเมืองไทย และปฏิเสธกระแสเสรีนิยม โดยเชื่อว่ากระแสเสรีนิยมเป็นกระแสที่จะสร้างปัญหาให้กับผลประโยชน์หรือปีกอนุรักษนิยม ดังนั้น กระแสประชาธิปไตยไทยในช่วงหลังมีอาการขึ้น ๆ ลง ๆ เป็นประชาธิปไตยที่ไม่มีจุดจบ คือไม่สามารถนำไปสู่รัฐบาลประชาธิปไตยที่มีความเข้มแข็ง และนำมาสู่การรัฐประหาร เมื่อการเลือกตั้งเกิดขึ้น จะเห็นการเผชิญหน้าระหว่างกระแสสองชุดนี้อย่างชัดเจน
Q : ด้วยกลไกต่าง ๆ ที่เข้าทางฝ่ายทหาร คิดว่าจะปฏิรูปกองทัพได้หรือไม่ 
หลังจากการยึดอำนาจ เราไม่เห็นโจทย์การปฏิรูปกองทัพ สังคมไทยพยายามจะสร้างว่ากลไกรัฐเป็นเหมือนกลไกอิสระที่ฝ่ายการเมืองเข้าไปแตะต้องไม่ได้ ผู้นำทหารที่มาจากการยึดอำนาจก็เป็นนักการเมืองในอีกรูปแบบหนึ่ง ภาษารัฐศาสตร์เรียกว่า politician in uniform แล้วโจทย์ปฏิรูปกองทัพอยู่ตรงไหน หรือเราเชื่อว่ากองทัพสมบูรณ์ทุกอย่างแล้ว ไม่ต้องการปฏิรูป
Q : ถ้าจะปฏิรูปกองทัพต้องเริ่มจากอะไร
1.การเป็นทหารอาชีพ ถ้าเดินทางไปไม่ถึงจุดนั้นการปฏิรูปจะไม่มีความหมายเลย 2.เราอยากเห็นกองทัพที่มีประสิทธิภาพ ทั้งในแง่การบริหารกำลังพล การใช้ทรัพยากร การสร้างบุคลากร 3.กองทัพจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างไร
ในทางรัฐศาสตร์ ทหารอาชีพคือทหารที่ไม่ยุ่งกับการเมือง เมื่อไหร่ก็ตามที่ทหารไปมีบทบาททางการเมือง เราถือกันในดัชนีทางรัฐศาสตร์ว่า ทหารได้ละทิ้งการเป็นทหารแล้ว ถ้าอยู่ในระบอบคอมมิวนิสต์ พรรคคุมปืน การเมืองคุมกองทัพ ถ้าอยู่ในบริบทโลกประชาธิปไตย การเมืองอยู่เหนือการทหาร หรือกองทัพอยู่ภายใต้ควบคุมของพลเรือน ไม่มีสถานะเป็นรัฐซ้อนรัฐ
Q : จำเป็นหรือไม่จะต้องปฏิรูปกองทัพก่อน จึงจะปฏิรูปการเมืองได้
การปฏิรูปกองทัพทำฝ่ายเดียวโดยปราศจากการปฏิรูปการเมืองไม่ได้ เช่นเดียวกัน การปฏิรูปการเมืองที่ละเลยการปฏิรูปกองทัพก็จะประสบปัญหาในอนาคต
Q : ทำไมปฏิรูปการเมืองกับปฏิรูปกองทัพต้องเดินไปด้วยกัน
ถ้ายอมรับโดยหลักการพื้นฐานว่า กองทัพเป็นกลไกในนโยบายของรัฐบาล กองทัพไม่มีสถานะเหนือรัฐ ถ้าพูดอย่างนี้ สังคมไทยอาจรับไม่ได้ เนื่องจากคุ้นเคยอยู่กับสภาวะที่เรียกว่ากองทัพเป็นอิสระจากการเมือง
สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ไม่เคยเกิดในประวัติศาสตร์โลก คือสภาวะที่เรียกว่ากองทัพมีสถานะเป็นรัฐซ้อนรัฐ หรือไม่ยอมรับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เช่น ญี่ปุ่น เยอรมัน แต่แปลกที่โจทย์แบบนี้เกิดกับการเมืองไทยในโลกสมัยใหม่ ในหลายประเทศเป็นโจทย์ที่จบลงแล้ว และจบลงด้วยการตั้งรัฐบาลประชาธิปไตย แต่ของเราเป็นสภาวะเกิดแล้วไม่จบ สภาวะของความเชื่อหรือวาทกรรมที่กองทัพเป็นอิสระจากรัฐ ถอนไม่ออกจากสังคมไทย เมื่อไหร่ที่มีปัญหา คำถามที่ตามมาคือเมื่อไหร่จะยึดอำนาจ ไม่เคยยอมรับว่าจริง ๆ แล้วกองทัพเป็นกลไกรัฐ
Q : จะถอดสลักความเชื่อนี้ เพื่อปลดล็อกปฏิรูปกองทัพได้อย่างไร 
เป็นเหมือนกับปัญหาที่พันอยู่กับสังคมไทยโดยที่เราไม่สามารถสลัดมันทิ้งได้ สังคมไทยต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องตอบคำถามว่า ตกลงอนาคตของสังคมไทยจะอยู่กับรัฐประหารต่อไปอีกนานเท่าไหร่ จะยอมรับว่ารัฐประหารยังเป็นเครื่องมือของการแก้ปัญหาทางการเมืองใช่หรือไม่ ถ้ายังอยู่ภายใต้วาทกรรมชุดนี้ ว่ากองทัพเป็นอิสระจากรัฐ และกองทัพเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาทางการเมือง ถ้าเป็นอย่างนี้รัฐประหารจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาในสังคมไทย
Q : คสช.จะดำรงอยู่ได้ในอนาคต เพราะสังคมอ่อนแอและยอมรับรัฐประหาร
คสช.อาจเผชิญแรงกดดันบ้าง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับคนรุ่นผมที่โตมากับ 14 ตุลา 16 กระแสที่ไม่ตอบรับรัฐบาลทหารสูงมาก กระแสชุดนี้สามารถผนึกกำลังขนาดใหญ่ได้ จินตนาการแบบปี 14 ตุลา 16 อาจหลายเงื่อนไข อาจเกิดไม่ง่าย เพราะปัจจุบันยังมีความอ่อนแอทางการเมืองค่อนข้างมาก
แต่เราเห็นตัวแบบที่เป็นข้อเตือนใจเสมอ คือบทบาทของกองทัพในละตินอเมริกา แม้ว่าเราจะเห็นกองทัพมีความเข้มแข็ง หลังจากการรัฐประหาร 1960-1964 แต่ท้ายที่สุดเมื่อทหารนำเสนอโครงการทางเศรษฐกิจ เสนานิยมในอเมริกาใต้จบลงด้วยหนี้สินขนาดใหญ่ คือจุดสุดท้ายที่บอกว่ากองทัพต้องออกจากการเมือง การพากองทัพเข้าไปมีบทบาททางการเมืองอาจเป็นสิ่งที่ทำลายกองทัพ
Q : บทเรียนนี้สะท้อนอะไร
คสช.ดูเหมือนเข้มแข็ง ทั้งหมดไม่ใช่กระแสทหารอย่างเดียว แต่เป็นกระแสเสนานิยมและกระแสอนุรักษนิยม แล้วกระแสเสนานิยมชุดนี้อยู่ด้วยปีกอนุรักษนิยมในสังคมไทย แต่ปีกอนุรักษนิยมก็อยู่บนความเปราะบางของอำนาจ กระแสอนุรักษนิยมไทยกลัวการเลือกตั้ง ขณะที่กระแสขวาในยุโรปหรืออเมริกาไม่กลัวการเลือกตั้ง ในบริบทอย่างนี้ ปีกอนุรักษนิยมไทยจะปรับตัวอย่างไร เพราะการเมืองไทยปฏิเสธกระแสในเวทีโลกไม่ได้