PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ราชกิจจา เผยแพร่คำสั่งไล่ ‘ดิสธร วัชโรทัย’ ออกจากราชการ

ราชกิจจา เผยแพร่คำสั่งไล่ ‘ดิสธร วัชโรทัย’ ออกจากราชการ เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ฐานกระทำผิดวินัย-ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง


สำนักพระราชวังมีคำสั่งไล่ “ดิสธร วัชโรทัย” ออกจากราชการ และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ฐานกระทำผิดวินัย-ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง นำรถยนต์ในพระปรมาภิไธยไปใช้จนเกิดอุบัติเหตุ และแอบอ้างพระปรมาภิไธย ยกเว้นภาษีการนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศ มีสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับหญิงอื่นจนท้องและสั่งให้ทำแท้ง บังคับหญิงดังกล่าวแต่งงานกับชายอื่น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศ เล่ม 134 ตอนที่ 60 ข ประกาศ เรื่อง พระราชทานพระราชานุญาตให้เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ

มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชานุญาตให้เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ซึ่ง นายดิสธร วัชโรทัย ข้าราชการในพระองค์ฝ่ายพลเรือน ตําแหน่งประจําสํานักพระราชวังพิเศษ ระดับ 10 สังกัดราชการบริหารส่วนกลาง สํานักพระราชวังได้รับพระราชทาน เนื่องจากถูกลงโทษไล่ออกจากราชการ ตามคําสั่งสํานักพระราชวัง ที่ 568/2560 ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2560

เพราะเหตุกระทําผิดวินัย ฐานกระทําการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง โดยมีกรณีความผิดกล่าวคือ นายดิสธร วัชโรทัย ซึ่งได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งประธานมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ฯ อีกหน้าที่หนึ่ง ได้ใช้อํานาจของตนสั่งการให้เจ้าหน้าที่มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ฯ แสดงเอกสารรับรองว่าบุคคลภายนอกได้บริจาคเงินให้แก่มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ฯ เป็นจํานวนเงินยี่สิบห้าล้านบาท ซึ่งเงินจํานวนดังกล่าวเป็นส่วนลดในการซื้อสินค้าตามปกติ โดยไม่ได้มีการบริจาคเงินจํานวนดังกล่าวจริงแต่อย่างใด และ นายดิสธร วัชโรทัยได้นําเอกสารรับรองการบริจาคดังกล่าวเสนอต่อกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เพื่อขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นทุติยดิเรกคุณาภรณ์ให้แก่บุคคลภายนอก อันเป็นการฉ้อโกงเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และ นายดิสธร วัชโรทัย ในฐานะรองเลขาธิการพระราชวัง ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลกองพระราชพาหนะ ได้นํารถยนต์ในพระปรมาภิไธยไปใช้จนเกิดอุบัติเหตุ และแอบอ้างพระปรมาภิไธย เพื่อยกเว้นภาษีการนําเข้ารถยนต์จากต่างประเทศแล้วนํารถยนต์ที่นําเข้าจากต่างประเทศไปใช้ทดแทนรถยนต์คันเดิมที่ประสบอุบัติเหตุ โดยไม่ปรากฏหลักฐานการน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายรถยนต์คันใหม่และไม่มีหลักฐานการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์คันเดิมแต่อย่างใด

นอกจากนี้ นายดิสธร วัชโรทัยได้มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับหญิงอื่นที่มิใช่ภรรยาของตนเอง เมื่อหญิงตั้งครรภ์กลับพาหญิงคนดังกล่าวไปทําแท้ง นอกจากนั้นเมื่อหญิงคนดังกล่าวตั้งครรภ์เป็นครั้งที่สอง นายดิสธร วัชโรทัย ก็ยังบังคับข่มขืนใจเพื่อให้ไปทําแท้งอีกครั้งแต่หญิงคนดังกล่าวไม่ยินยอม นายดิสธร วัชโรทัย จึงบังคับหญิงคนดังกล่าวให้แต่งงานกับชายอื่น ซึ่งไม่เคยมีความสัมพันธ์กัน อีกทั้ง นายดิสธร วัชโรทัย ได้นําดินที่ขุดทิ้งจากพื้นที่โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาใหม่ ซึ่งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ฯ ขอรับบริจาค จากสภาผู้แทนราษฎรเพื่อนําไปใช้ประโยชน์ในกิจการของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ฯ แต่ นายดิสธร วัชโรทัย กลับนําดินดังกล่าวไปขายให้แก่โครงการหมู่บ้านจัดสรรและยังนําดินส่วนหนึ่งไปถมในพื้นที่ของครอบครัวตนเอง ซึ่งมิได้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ขอรับบริจาค

พฤติกรรมดังกล่าวของ นายดิสธร วัชโรทัยเป็นการกระทําผิดราชสวัสดิ์และเป็นความผิดวินัยฐานกระทําการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง จึงเห็นสมควรได้รับโทษไล่ออกจากราชการ ซึ่งสํานักพระราชวังพิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทําของ นายดิสธร วัชโรทัย เป็นความผิดวินัยฐานกระทําการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง จึงเห็นควรลงโทษไล่ออกจากราชการ อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 มาตรา 15 และมาตรา 18 แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560จึงลงโทษไล่ นายดิสธร วัชโรทัย ออกจากราชการและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2560 ซึ่งมีเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ต้องเรียกคืนตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พ.ศ. 2548 ประกอบด้วย ชั้นมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก มหาวชิรมงกุฎประถมาภรณ์ช้างเผือก ประถมาภรณ์มงกุฎไทย ปฐมดิเรกคุณาภรณ์ ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทยทุติยจุลจอมเกล้า ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ตริตาภรณ์มงกุฎไทย เหรียญเงินดิเรกคุณาภรณ์เหรียญจักรพรรดิมาลา และเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 5
คลิกอ่านฉบับเต็ม

"เลือกตั้งครั้งหน้า พรรค คสช. มีอยู่แล้ว

"เลือกตั้งครั้งหน้า พรรค คสช. มีอยู่แล้ว
ส.ว. 250 ที่นั่ง พร้อมโหวตเลือกนายกฯ คนต่อไป"
สัปดาห์นี้ข่าวคราวเรื่อง "พรรคทหาร" เป็นประเด็นร้อน เมื่อหนังสือพิมพ์คมชัดลึกเปิดประเด็น "พรรคพลังชาติไทย" นำโดย พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ อดีตคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เปิดตัวเดินสายพบประชาชนตามพื้นที่ต่างๆ โดยชูจุดขายเป็นพรรคทหาร และจะสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นนายกฯ คนต่อไป
แม้ผู้มีอำนาจใน คสช. จะปฏิเสธไม่รู้ไม่เห็นกับพรรคพลังชาติไทย และไม่รู้จักพล.ต.ทรงกลด แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธว่า คสช. จะไม่ตั้งพรรคการเมือง หรือพรรคทหารจะไม่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งหน้า
เสียงที่ชัดเจนจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรรณ รองหัวหน้าคสช. ว่า "ถ้าจำเป็นต้องตั้งก็ต้องตั้ง ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องตั้ง" เมื่อนักข่าวจี้ถามว่า คสช. จะต้องพรรคการเมืองหรือไม่
ด้านหัวหน้า คสช. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ย้ำไปในทิศทางเดียวกันว่า "เรื่อง คสช. ตั้งพรรคการเมือง ยังไม่คิดตอนนี้ ดูสถานการณ์ไปก่อน มีเวลาอีกตั้งปี"
ท่าทีของผู้นำคสช. ทั้งสองตรงกัน คือ การตั้งพรรคของ คสช. เอง เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งจะเกิดขึ้นหรือไม่ ยังคงต้องดูสถานการณ์ แต่ที่แน่ๆ มีกลุ่มการเมืองหลายกลุ่มพร้อมตั้งพรรคลงเลือกตั้งสนับสนุน คสช. และพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ
ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังชาติไทย ที่กล่าวไปตอนต้น หรือ พรรคประชาชนปฏิรูปประเทศ ของไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตกลุ่ม 40 ส.ว. และอดีตสมาชิกสปช. ที่เปิดตัวพร้อมสนับสนุนมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2559 ยังไม่รวมถึงพรรคการเมืองเก่าขนาดกลางที่มีโน้มโน้มจะได้ที่นั่ง ส.ส. เพิ่มขึ้นจะระบบเลือกตั้งใหม่
แต่! หลังการเลือกตั้งครั้งหน้า ในสภาไม่ได้มีแค่ ส.ส. จากการเลือกตั้งจำนวน 500 ที่นั่งเท่านั้น ยังมี ส.ว.อีก จำนวน 250 ที่นั่ง ซึ่งท้ายที่สุดจะมาจากการเลือกของคสช. ซึ่ง ส.ว. ทั้งหมด มีสิทธิลงคะแนนเลือกนายกฯ คนต่อไป ด้วยเหตุนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่า ในสภาครั้งหน้าพรรคของคสช. มีอยู่แน่ๆ แล้ว ก็คือ บรรดาเหล่าส.ว.แต่งตั้งนี้เอง
อาจเป็นไปได้ว่าหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า ส.ว. แต่งตั้ง 250 คน จะเป็นพรรคการเมืองเสียงข้างมากหรือมีเสียงที่ใกล้เคียงกับพรรคเสียงข้างมากจากการเลือกตั้ง เพราะระบบเลือกตั้งใหม่ที่ คสช. ออกแบบ จะทำให้ไม่มีพรรคการเมืองใดสามารถได้เสียงข้างมากแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แม้ประชาชนจะพร้อมใจกันเลือกพรรคนั้นก็ตาม
ดังนั้นในการเลือกนายกฯ ครั้งหน้า ที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ ส.ส.ร่วมกับ ส.ว.ลงคะแนนเลือก "พรรค ส.ว." จึงน่าจะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดตัวนายกฯ และพรรคขนาดกลาง หรือพรรคทหาร ก็จะเป็นตัวแปรสำคัญในการเลือกนายกฯ คนต่อไป ซึ่งเปิดช่องให้นายกฯ คนนอก เสียด้วย
...
๐ 10 กลไกตามรัฐธรรมนูญ ที่ส่อทำให้การเลือกตั้งไร้ความหมาย https://ilaw.or.th/node/4663
๐ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ "ตั้งพรรคยาก ยุบพรรคง่าย ห้ามประชานิยม" https://ilaw.or.th/node/4654

ยังไม่ ทูลเกล้าฯโผ ครม.

ยังไม่ ทูลเกล้าฯโผ ครม.
‪"นายกฯบิ๊กตู่" ยัน ยังไม่ได้ ทูลเกล้าฯ โผ ครม."ประยุทธ์ 5"...ก่อนบินไปประชุมผู้นำApec ที่ ดานัง เวียดนาม 10-11พย. และ ถกAsean Summit ต่อที่ ฟิลิปปินส์ 13-14พย.‬
‪นายกฯ บอกนักข่าว "ฝากดูแลประเทศด้วยนะ"‬
‪เดี๋ยวจะกลับมา!!!‬

ภาวะผู้นำกับการเปลี่ยนแปลง

คิดกันอย่างไรครับ... กับ ๖ คำถาม จากนายกฯ ลุงตู่
อ่านให้ละเอียดแล้วจะรู้ว่า....
มีเรื่องให้ประชาชนอย่างเราๆ ต้องคิดกันเยอะจริงๆ
ภาพรวมของคำถาม เหมือนจะให้เลือกระหว่างของ "เก่า" กับ "ใหม่"
มีการอธิบายถึงความแตกต่างระหว่างเก่ากับใหม่
และให้ข้อมูลเล็กน้อยว่า เก่าเคยทำอะไร ใหม่ทำอะไรไปบ้าง
ฉะนั้นวันนี้อย่าเพิ่งไปไกล ถึงประเด็นที่ว่า คสช.ปูทางสืบทอดอำนาจหรือเปล่า
เอาแค่เบื้องต้น.....
ประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจ จะตอบคำถาม ๖ ข้อนี้อย่างไร
จะด่ายับ หรือเชียร์ลั่น....
ก็เอาตามสะดวก
แต่ขอให้รู้เอาไว้ว่า หลังจากผ่านพ้นรัฐบาล คสช.ไปแล้ว การเมืองจะดี จะเลวนั้น อย่าได้เอ่ยปากโทษใครเชียว
เพราะอำนาจเริ่มต้นจากประชาชน!
ประชาชนเจ้าของอำนาจ
การจะแจกจ่ายอำนาจให้ใคร ประชาชนก็ต้องร่วมรับผิดชอบด้วย
หากอำนาจนั้นถูกนักการเมืองนำไปใช้เพื่อหาประโยชน์ให้ตัวเองและพวกพ้อง ประชาชนซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ก็ต้องเป็นผู้แก้ปัญหา
จะรับผิดชอบอย่างไร?
ร่วมกันกระชากออกมาจากตำแหน่งทางการเมือง ไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการใช้อำนาจอีก นั่นคือความรับผิดชอบสูงสุด ที่ประชาชนพึงกระทำได้
แล้วจะตอบคำถาม ๖ ข้อนี้อย่างไร?
เห็นนักการเมืองเขาเรียงคิวตอบคำถามแล้ว...
ก็ไม่มีอะไรผิดคาด
เพราะคำตอบมันมีอยู่แค่นั้น
จะให้พอใจได้อย่างไร ในเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ถามเหมือนหลอกด่านักการเมืองไปในตัว
ที่จริงก่อนที่จะตอบคำถาม ๖ ข้อ ประชาชนควรจะถามตัวเองก่อนว่า...
ที่ผ่านมาเห็นอะไรบ้าง?
เห็นนักการเมืองเต็มไปด้วยคุณภาพ
นักการเมืองทำงานเพื่อชาติ ประชาชน อย่างแท้จริง
ไม่มีนักการเมืองโกงบ้านกินเมือง
เราเห็นสิ่งเหล่านี้จากการเมืองไทยหรือไม่?
ผมเคยพูดถึงหลายครั้งเป็นเรื่องน่าแปลก ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้รับความนิยมอย่างสูง ทั้งๆ ที่เข้าสู่อำนาจด้วยการทำรัฐประหาร
ไม่ใช่การเลือกตั้ง
ทำไมประชาชนถึงศรัทธา คสช. เป็นเรื่องที่พรรคการเมืองต้องหาคำตอบ
หาได้เมื่อไหร่ เมื่อนั้นแหละครับการเมืองไทยจะดีขึ้น
เป็นหน้าที่ ที่พรรคการเมืองต้องสร้างศรัทธาให้เกิด หากทำไม่ได้ ความขัดแย้งไม่มีทางจบ
แต่ขอให้จำเอาไว้ว่า...เพราะการเมืองเลว ประชาชนถึงศรัทธาคณะรัฐประหาร
ถ้ารักประชาธิปไตยจริง ต้องลดความเลวให้เหลือน้อยที่สุด ไม่สร้างเงื่อนไขให้ประชาชนเอาด้วยกับการรัฐประหาร
นั่นคือสิ่งที่พรรคการเมืองต้องทำให้ได้
ครับ...จนถึงป่านนี้จะมีกี่พรรคการเมืองที่คิดได้ เพราะเห็นออกมาตอบโต้พ่นน้ำลาย เอ็งชั่วข้าเลวกันเป็นทิวแถว
จะบอกอะไรให้...ถ้าคิดไม่ได้ ก็คงต้องเดินตามเกม คสช.ร่ำไป เพราะเขาอยู่มา ๓-๔ ปี เขาเดินตามแผนที่วางไว้
ไม่มีประเด็นไหนมาว่ากันหน้างานหรอกครับ!
๖ คำถาม ดูเหมือนโฉ่งฉ่าง!
แต่ลองกลับไปอ่านอีกทีครับ มันตรงไปตรงมาแบบล้ำลึกจนนักการเมืองถึงกับสำลัก เพราะเอาความรู้สึกที่เกิดขึ้นจริงมาอธิบายกันล้วนๆ
การพูดเรื่องพรรคเก่า พรรคใหม่ นักการเมืองหน้าเก่า หน้าใหม่ เพื่อให้เกิดการวิจารณ์เชิงเปรียบเทียบ
มันคือการกระตุ้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น
ถ้าจะเอาแบบขนมจีนน้ำยา คลุกเคล้าอร่อยเหาะ เรียกว่าทุกอย่างเข้ากันพอดี ก็เอาโพสต์เฟซบุ๊กของลูกสาวคนเล็กของนายทักษิณ มาอธิบายเรื่องนี้ได้เลย
"วันนี้มานั่งประชุมห้องเดิมพ่อ มาเปิดหนังสือประวัติพ่อดูเล่น ในฐานะของลูก ก็อดคิดไม่ได้ ว่าคนเราคงไม่มีใครดี ๑๐๐% แต่ช่วงที่พ่อเป็นนายกฯ พ่อก็ได้ทำอะไรเพื่อประเทศไว้เยอะมากจริงๆ
พ่อออกไป ๑๑ ปีแล้ว เด็กรุ่นหลังๆ คงจะได้ยินอะไรมาต่างๆ นานา เสียดายไม่ได้โตทันช่วงที่ผู้ชายที่รักประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ด้วยหัวใจและจิตวิญาณ เสียสละเวลาของตัวเอง และครอบครัว ไปทุ่มเทให้ประเทศที่เค้ารัก เอามันสมองที่มี คิดแต่จะให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า
วันนี้คนเป็นลูก คิดแต่ขอให้พ่อแข็งแรง และมีความสุข ไม่ว่าพ่อจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ไม่หวังอะไร หวังแค่ยังได้ยินเสียงทุกครั้งที่อยากได้ยิน หวังแค่อยากกอดก็ได้กอด แค่นี้จริงๆ"
ประชาชนก็ต้องถามตัวเองว่า เห็นอะไรในยุคที่ทักษิณเอาอำนาจของประชาชนไปใช้
เด็กรุ่นหลังที่โตไม่ทัน ติ๊กผิด สุจริตโดยบกพร่อง จะเสียดายหรือไม่ ที่ไม่ได้เห็นการทุจริตเชิงนโยบาย เต็มไปด้วยผลประโยชน์ทับซ้อนกับตาตัวเอง
ชายผู้รักสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่รอบกายเต็มไปด้วยแก๊งหมิ่นสถาบัน
นั่นคือสิ่งที่ พรรคการเมืองเก่า นักการเมืองเก่า ทำเอาไว้
แล้วพรรคการเมืองใหม่ นักการเมืองใหม่ คือใคร?
วันนี้ยังยากที่จะตอบ
ในความเป็นจริง นักการเมืองหน้าใหม่ เกิดยาก
แต่พรรคการเมืองใหม่เกิดง่าย
การรวมกลุ่มการเมืองหน้าเดิมภายใต้ชื่อพรรคการเมืองใหม่...ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด
ฉะนั้นสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการสื่อ ไม่ใช่นักการเมืองหน้าใหม่ หรือพรรคการเมืองใหม่ แต่คือโฉมหน้าการเมืองใหม่ ที่ประชาชนต้องการว่า ควรจะเป็นเช่นไร
ประชาชนจึงต้องคิดตาม!
เพราะผู้ที่จะสร้างการเมืองใหม่ขึ้นมาได้ ไม่ใช่ คสช.
แต่เป็นประชาชนนั่นเอง
การที่ พล.อ.ประยุทธ์ตั้งคำถาม เชิงบอกกล่าวว่า คสช.เองก็มีสิทธิ์ที่จะสนับสนุนพรรคการเมือง แม้จะแปลความได้ว่า....
เป็นการปูทางเพื่ออยู่ในอำนาจอีกวาระหลังการเลือกตั้ง
กลับกัน คสช.เชื่อว่ามันเป็นหนทางให้เกิดการเมืองใหม่ ซึ่งจะมองว่านี่คือการดิ้นรนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงก็ว่าได้
แต่การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้จริงหรือ?
ภาวะผู้นำเป็นสิ่งสำคัญ!
ปี ๒๕๐๐ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ชนะการเลือกตั้งอย่างไม่บริสุทธิ์ ด้วยการโกง ใช้ไพ่ไฟ ส่งอันธพาลออกก่อกวน
ประชาชนจึงลุกฮือเพื่อขับไล่!
ขณะนั้น จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นรัฐมนตรีกลาโหม
จอมพล ป. แต่งตั้งให้จอมพลสฤษดิ์ เป็นผู้บัญชาการ ๓ เหล่าทัพ เพื่อคอยควบคุมสถานการณ์
แต่จอมพลสฤษดิ์สั่งการไม่ให้ทหารทำอันตรายประชาชนที่เดินขบวนชุมนุมประท้วง
แถมยังอาสาเป็นผู้นำประชาชนเข้าพบจอมพล ป. ที่ทำเนียบฯ
จอมพลสฤษดิ์จึงกลายเป็นขวัญใจของประชาชนทันที
และเมื่อเห็นว่าจอมพล ป. หมดความชอบธรรมที่จะบริหารประเทศ จอมพลสฤษดิ์จึงประกาศลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
และกล่าวบอกประชาชนทางวิทยุยานเกราะว่า
“พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ”
ไม่ใช่มายกยอปอปั้นคนที่ได้ชื่อว่าเป็นจอมเผด็จการในภายหลัง
เพราะหลัง พบกันอีกครั้งเมื่อชาติต้องการ จอมพลสฤษดิ์มีทั้งสิ่งที่ดี และเลว ฝากเอาไว้กับแผ่นดินมากมาย
แต่ต้องการสะท้อนให้เห็นถึงภาวะผู้นำในสถานการณ์ที่ควรแสดงออกมา
สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แสดงออกผ่าน ๖ คำถามในวันนี้ คือการจุดพลุ สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในวงกว้าง ที่รัฐบาลจากการเลือกตั้งไม่เคยคิดจะทำ
เพราะนักการเมืองคิดอีกแบบ นั่นคืออยู่เฉยๆ ไม่ต้องพูดเสียดีกว่า จะได้ไม่เปลืองตัว โดยเฉพาะในช่วงขาลง
ครับ...สิ่งที่จอมเผด็จการเบ็ดเสร็จอย่างจอมพลสฤษดิ์ฝากเอาไว้ให้คนรุ่นหลัง มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
การท่องเที่ยวไทยซึ่งทำรายได้หลักให้กับประเทศในวันนี้ ได้รับการวางรากฐานจาก จอมพลสฤษดิ์ ที่มีนโยบายพัฒนาประเทศไทยให้มีภาพลักษณ์ในการท่องเที่ยวเหมือนบราซิลและอาร์เจนตินา
มีแผนการพัฒนาเมืองพัทยาให้เป็นเมืองพักผ่อนตากอากาศเหมือนบัวโนสไอเรส ของอาร์เจนตินา
พัฒนากรุงเทพฯ ให้เหมือนกรุงรีโอเดจาเนโร ของบราซิล
แล้วรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลไหนมีผลงานระดับที่เรียกได้ว่า เป็นการวางรากฐานให้กับประเทศในระยะยาวบ้าง
ฉะนั้น ๖ คำถามตอบไม่ยาก ที่ยากกว่านั้นคือ....
ใครคือคนที่ประชาชนควรมอบอำนาจให้.
ผักกาดหอม

การเมือง 2 แนวทาง โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

การเมือง 2 แนวทาง โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน



พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา(แฟ้มภาพ)

ได้ผลตอบรับอย่างร้อนแรงจริงๆ สำหรับคำถาม 6 ข้อ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยบรรดานักการเมืองแห่งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย ดาหน้าออกมาตอบกลับอย่างดุดัน โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า เป็นคำถามซึ่งชี้ให้เห็นว่าสอบตกด้านประชาธิปไตย

อันที่จริงหลักประชาธิปไตยของ พล.อ.ประยุทธ์และคณะ คสช.ที่ปกครองบ้านเมืองอยู่ในขณะนี้ กับประชาธิปไตยในระบบปกติ ประชาธิปไตยของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ย่อมแตกต่างกันอยู่แล้ว
สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์และคณะ ลงมือปฏิรูปการเมืองในช่วงกว่า 3 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งผลักดันผ่านรัฐธรรมนูญและกรอบกติกาต่างๆ บ่งบอกอยู่แล้วว่า ไม่ต้องการให้ประชาธิปไตยไทยเราเป็นเหมือนหลักสากลทั่วไป และไม่เป็นเหมือนในช่วง 20 ปีมานี้ ซึ่งถือว่าเป็นยุคเฟื่องฟูสุดขีดของระบบพรรคการเมือง นับจากใช้รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา

โดยทำทุกอย่างเพื่อให้การเมืองไทยถอยไปเหมือน 30 ปีที่แล้ว สมัยที่มีรัฐบาลผสมหลายพรรค และนายกฯมาจากคนนอก ซึ่งสนับสนุนโดยกองทัพและชนชั้นสูง

รวมทั้งพูดมาตลอดว่า เราต้องมีประชาธิปไตยที่เป็นแบบไทยๆ หรือประชาธิปไตยที่เป็นเอกลักษณ์ของเราเอง

วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์และคณะ ทำให้การเมืองไทยย้อนยุคสำเร็จเรียบร้อยแล้ว กำลังเตรียมจะเริ่มต้นใช้กติกานี้ ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นอีกปีสองปีข้างหน้า

อีกทั้งจากคำถาม 6 ข้อล่าสุด สรุปรวบรัดได้ว่า เรากำลังจะได้เห็นพรรคการเมืองใหม่ ถือเป็นทางเลือกใหม่ ไม่ใช่แค่พรรคเดิมๆ หรือนักการเมืองหน้าเดิมในอดีตเท่านั้น

รวมทั้ง คสช.และ พล.อ.ประยุทธ์ มีสิทธิจะแสดงการสนับสนุนพรรคการเมืองใหม่ๆ นี้ด้วย

พูดภาษาชาวบ้านก็คือ จะมีพรรคทหารเกิดขึ้นอย่างแน่นอน รวมทั้งเราจะได้เห็น คสช.แสดงจุดยืนชัดเจนว่าจะหนุนพรรคไหน

แล้วพรรคนั้นจะต้องประกาศสนับสนุนให้มีนายกฯมาจากคนนอกอย่างแน่นอน

อาจจะเปิดชื่อเปิดหน้านายกฯคนนอกที่เตรียมเอาไว้แล้วเลยก็ได้

มองในแง่นี้ก็มีข้อดีอย่างหนึ่ง นั่นคือ ให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ตัดสินใจได้ง่าย ได้ชัดเจนขึ้น

ระหว่างต้องการประชาธิปไตยแบบที่ คสช.ผลักดัน คือ ระบบที่ทำให้พรรคการเมืองไม่สามารถทำอะไรได้มากมายนัก เป็นแค่ส่วนประกอบในสภา ในรัฐบาล โดยเสียงของคนในกองทัพและชนชั้นสูงจะดังกว่าใครเป็นพิเศษ

เอาให้ง่ายขึ้นก็คือ ภาพการเมืองสมัยป๋าเปรมเป็นนายกฯ ช่วงปี 2523-2531 นั่นแหละ

ถ้าชอบย้อนยุคถอยหลัง ก็เลือกพรรคที่ คสช.สนับสนุนไปเลย

กับอีกแนวทางคือ ชอบการเมืองที่เป็นแนวเสรีประชาธิปไตย เสียงของประชาชนมีความศักดิ์สิทธิ์มีพลังอำนาจ เลือกตัวผู้แทนราษฎร และผู้จะมาเป็นนายกฯก็ควรผ่านการเลือกตั้งจากประชาชนเท่านั้น

อีกทั้งรัฐบาลควรบริหารงานภายใต้นโยบายที่หาเสียงไว้กับประชาชน เพื่อประโยชน์ของประชาชนวงกว้าง ไม่ใช่ไม่มีนโยบายอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เข้ามาเป็นรัฐบาลก็เพื่อทำงานตามนายกฯคนนอก ที่เป็นตัวแทนของชนชั้นอื่น

จริงอยู่ วันนี้กฎกติกาการเมือง ทำให้ประชาธิปไตยเราถอยหลังไป 30-40 ปีแล้ว แต่หากต้องการประชาธิปไตยเสรีนิยมกลับมา ก็ต้องเลือกพรรคการเมืองที่มีจุดยืนในแนวทางนี้ เพื่อให้มีโอกาสเข้ามาผลักดันการเมืองไทย ให้ค่อยๆ พ้นจากวังวนย้อนยุคกันต่อไป

ถือเสียว่าเป็นการต่อสู้ทางการเมือง 2 แนวทางที่ชัดเจนอย่างมาก

ระหว่างประชาธิปไตย คสช. กับประชาธิปไตยสากลนิยม

……………………
สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

จังหวะ การเมือง ปลดล็อก ปรับ”ครม.” กับ พรรคทหาร

จังหวะ การเมือง ปลดล็อก ปรับ”ครม.” กับ พรรคทหาร



การจัดตั้ง “พรรคทหาร” มีความสัมพันธ์กับ 2 ปรากฏการณ์อันอึกทึกครึกโครมอย่างยิ่งนับแต่ย่างเข้าเดือนพฤศจิกายน

1 การปลดล็อกพรรคการเมือง
1 การปรับ ครม.

ผลการประชุมของ คสช.เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ปรากฏออกมาแล้วว่า “สถานการณ์ยังไม่เรียบร้อย บ้านเมืองยังอยู่ระหว่างห้วงเวลาที่ยังไม่ควรมีความขัดแย้งทางการเมืองหรือทางอื่นใด กฎหมายลูก 2 ฉบับสุดท้ายที่จำเป็นต่อการเลือกตั้งก็ยังไม่เรียบร้อย

“จึงขอให้การปลดล็อกที่พูดกันรอไปอีกระยะ อย่าตื่นเต้น กังวล”

เท่ากับเป็นการส่ง “สาร” ไปยังพรรคการเมือง และนักการเมืองโดยตรง คำว่า “อีกระยะ” จึงมิได้มีความหมายเพียง “กฎหมายลูก” อย่างที่กล่าวอ้าง

หากยังอยู่ที่กระบวนการ “ปรับ ครม.”

หากยังอยู่ที่ “ความพร้อม” อย่างเต็มเปี่ยมในการจัดตั้ง “พรรคการเมือง” ขึ้นมา

จากนี้ จึงเห็นได้อย่างเด่นชัดว่า คสช.ยังถือเอา “การเลือกตั้ง” เป็นยุทธศาสตร์ที่จะก้าวไปให้ถึงและบรรลุให้จงได้ตามที่เคยระบุหลังเดือนพฤษภาคม 2557

เราจะทำตาม “สัญญา” ขอเวลาอีกไม่นาน

จากเดือนพฤษภาคม 2557 มายังเดือนพฤษภาคม 2560 เป็นเวลา 3 ปี คำว่า “ไม่นาน” ของ คสช.จึงน่าอยู่ที่ไม่เกินเดือนพฤษภาคม 2561

ครบ 4 ปีพอดี

กระนั้น สัญญาณ 1 ที่จะอ่านได้ว่า คสช.มีความมั่นใจและพร้อมที่จะทำตาม “สัญญา” มากน้อยเพียงใดจำเป็นต้องดูจากกระบวนการ “ปรับ ครม.”

เด่นชัดยิ่งว่า น่าจะเป็น “ปรับใหญ่”

สัญญาณเตือนเพื่อนพ้อง น้องพี่ เท่ากับยืนยันว่าสถานการณ์ในแบบที่ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล ประสบมาแล้วจะต้องเกิดขึ้นอีก

ความโน้มเอียง คือ แนวทาง “ประชารัฐ”

ถามว่าแนวทาง “ประชารัฐ” คืออะไร คือการประสานระหว่าง “รัฐราชการ” กับ นักธุรกิจที่เรียกว่า “ภาคเอกชน” อันดำรงอยู่ผ่าน 3 สดมภ์หลัก

1 หอการค้า 1 สภาอุตสาหกรรม และ 1 สมาคมธนาคาร

แนวทางนี้ในห้วงที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจยังไม่แจ่มชัด

แต่หลังการเข้ามาของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ในเดือนสิงหาคม 2558

มีความแจ่มชัด

ความแจ่มชัด 1 คือการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ในที่ประชุม สปช.อันเท่ากับเป็นการคว่ำ “ปฏิญญาโตเกียว” บนพื้นฐานที่ว่า

“เขาอยากอยู่ยาว”

การอยู่ยาวในที่นี้เห็นได้จากการผลักดันนโยบายทางเศรษฐกิจเกือบทุกนโยบายที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เคยมีส่วนร่วมกับพรรคไทยรักไทยในอดีต ภายใต้แนวทาง “ประชารัฐ”

เป้าหมายก็คือ ต้องการสยบและลบ “ประชานิยม” ออกไป

หากการปรับ ครม.ในอีกไม่นานเป็นไปตาม “ยุทธศาสตร์” นี้ เท่ากับจะใช้แนวทาง “ประชารัฐ” เข้าไปสู่การเลือกตั้ง

จากนี้จึงเห็นหรือยังว่า พรรคทหารจะเกิดขึ้นหรือไม่ มีความพร้อมมากน้อยเพียงใดต้องประสานมติของ คสช.เข้ากับกระบวนการปรับ ครม.

เพราะทุกกระบวนท่ามี “เป้าหมาย” เดียวกัน

การปรับ ครม.เพื่อเสริมความแข็งแกร่ง การยื้อระยะเวลาปลดล็อกก็เพื่อ “แช่แข็ง” พรรคการเมืองอื่น
หากทุกอย่างสมประสงค์จึงจะเป็นก้าวย่างของ “พรรคทหาร”

ยืนยันความพร้อมอย่างเต็มเปี่ยมใน “การเลือกตั้ง”

เอาจริง

เอาจริง


วันอังคารที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ยืนยัน แต่ไม่ปฏิเสธข่าว คสช.จะตั้งพรรคการเมือง

นายกฯบิ๊กตู่บอกว่า “เรื่องคสช.จะตั้งพรรคการเมืองหรือไม่ ยังไม่คิดตอนนี้ดูสถานการณ์ไปก่อนยังมีเวลาอีกตั้งปี”

แต่ผ่านไปแค่วันเดียว...วันเดียวเท่านั้นท่านพระครู

นายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ แบไต๋ด้วยการตั้งคำถาม 6 ข้อ ถามความเห็นประชาชนผ่านศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย

“แม่ลูกจันทร์” ลอกคำถามเปิดไต๋ 6 ข้อของนายกฯบิ๊กตู่มาฉายซ้ำชัดๆอีกที

คำถามข้อที่ 1, จำเป็นต้องมีพรรคการเมืองใหม่ หรือมีนักการเมืองหน้าใหม่ที่มีคุณภาพ เพื่อให้เกิดการปฏิรูปอย่างต่อเนื่องตามยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่??

คำถามข้อที่ 2, การที่ คสช.จะสนับสนุนพรรคการเมืองใดเป็นสิทธิ์ของ คสช.ใช่หรือไม่??

คำถามข้อที่ 3, สิ่งที่ คสช.และรัฐบาล คสช.ได้ดำเนินการในช่วง 3 ปี ประชาชนมองเห็นอนาคตที่ดีของประเทศชาติบ้างหรือไม่??

คำถามข้อที่ 4, การเอาแนวทางจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอดีตมาเปรียบเทียบกับการจัดตั้งรัฐบาลในวันนี้ เป็นสิ่งที่ถูกต้องทั้งหมดหรือไม่??

คำถามข้อที่ 5, รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพ ธรรมาภิบาล และการพัฒนาประเทศที่มีความต่อเนื่องชัดเจนเพียงพอหรือไม่??

คำถามข้อที่ 6, การที่ช่วงนี้มีพรรคการเมือง และนักการเมืองออกมาวิพากษ์วิจารณ์บิดเบือนการทำงานของรัฐบาล คสช.มากผิดปกติเป็นเพราะเหตุใด??

กระทรวงมหาดไทยจะรวบรวมคำตอบจากประชาชนทั่วประเทศ เสนอ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อนำไปพิจารณากำหนดทิศทางและบทบาทของ คสช.ให้สอดคล้องกับความ ต้องการของประชาชนต่อไป

“แม่ลูกจันทร์” ชี้ว่าคำถามทั้ง 6 ข้อของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้แฝงปริศนาเร้นลับอะไรเลย

อ่านปุ๊บสรุปปั๊บได้ 3 ประเด็น

1, คสช.ต้องการเอาคำตอบจากประชาชนไปรับรองความชอบธรรมที่จะตั้งพรรคการเมืองใหม่เพื่อใช้เป็นฐานสำหรับจัดตั้งรัฐบาลชุดต่อไป

2, ต้องการเอาคำตอบจากประชาชน เป็นเกราะป้องกันไม่ให้ถูกโจมตีว่า คสช.ต้องการสืบทอดอำนาจการเมือง

3, ต้องการใช้เสียง ส.ส.ของพรรค คสช. บวกกับเสียง ส.ว.ลากตั้ง 250 คนเป็นบันไดคอนกรีตเพื่อรองรับ “นายกฯคนกลาง”

“แม่ลูกจันทร์” ย้ำว่าพรรคการเมืองใหม่ของ คสช.ย่อมไม่มีบิ๊ก คสช.เป็นแกนนำพรรคโดยตรง

เพราะ “บิ๊กตู่” หรือ “บิ๊กป้อม” หรือ “บิ๊กป๊อก” เป็นหัวหน้าพรรคไม่ได้ ลงสมัคร ส.ส.ก็ไม่ได้ เนื่องจากขัดรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ดี ในเมื่อ คสช.คิดการใหญ่จะตั้งพรรคการเมืองใหม่ของตัวเอง

คนที่จะขึ้นแท่นเป็นหัวหน้าพรรค คสช.จึงต้องเป็นระดับ “บิ๊กเนม”

ต้องฟอร์มดี ชื่อเสียงดัง ขึ้นเวที ประชันกึ๋นกับหัวหน้าพรรคการเมืองอื่นๆได้สบายๆ

คำถามคือ ใครเป็นหัวหน้าพรรค คสช.??

“แม่ลูกจันทร์” เดาว่า ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นี่แหละจะถูกวางตัวให้เป็นหัวหน้าพรรค คสช.แบเบอร์
เอ้า ไม่เชื่อก็คอยดู.

"แม่ลูกจันทร์"

เปิดหน้ารอลงสนาม

เปิดหน้ารอลงสนาม

ชักจะเลิกเหนียม ไม่เขินกันแล้ว

ตามคำถาม 6 ข้อล่าสุดของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่ปล่อยของถามชาวบ้านแบบตรงๆ

วันนี้เราจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองใหม่ๆ หรือนักการเมืองหน้าใหม่ๆที่มีคุณภาพให้ประชาชนได้พิจารณาในการเลือกตั้งครั้งต่อไปบ้างหรือไม่

หรือหาก คสช.จะสนับสนุนพรรคการเมืองใด ถือเป็นสิทธิของ คสช.ใช่หรือไม่ เพราะนายกฯก็ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งด้วยอยู่แล้ว

โยนหินถามทางอยากตั้งพรรคทหาร ซาวเสียงความรู้สึกจากประชาชน เพื่อเพิ่มความชอบธรรมการมีพรรคการเมืองเป็นของตัวเองไว้เป็นฐานที่มั่นในการเลือกตั้งปลายปีหน้า

สอดรับสัญญาณก่อนหน้านี้ที่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ระบุหากมีความจำเป็น คสช.ก็ต้องตั้งพรรคการเมือง

เค้าลางพรรคสีเขียวชักมีน้ำหนักมากขึ้น

แต่ต้องเช็กเรตติ้งให้ชัวร์ เพื่อวางแผนการเมืองในอนาคตก่อนลงสนามจริง

เปิดหน้าเข้าสู่สมรภูมิเป็นทางเลือกใหม่ให้ประชาชน เพื่อปูทางต่อท่ออำนาจอยู่ต่อยาวๆ

ท่ามกลางเสียงต่อต้านหนักจากทุกค่ายการเมือง ถึงขั้นใช้คำแรงๆ “ไร้ยางอาย” แสดงความไม่เห็นด้วยกับการแบไต๋ขอสืบทอดอำนาจอยู่ต่อ

แต่ดูแนวโน้มแล้ว พรรคท็อปบูตมาแน่ แต่ยังเก็บอาการไม่กล้ากระโตกกระตากในเวลานี้ หรืออย่างน้อยหากไม่ตั้งพรรคเองก็ต้องมีนอมินีเป็นหลักให้ยึดพิงได้

ตามเสียงตอบรับจากพันธมิตรอำนาจพิเศษหลายก๊วนที่เสนอตัวเป็นนั่งร้านให้ “บิ๊กตู่” ตะกายขึ้นแท่นผู้นำรอบสอง ตั้งแต่พรรคขนาดเล็ก พรรคขนาดกลาง และพรรคน้องใหม่

ที่แสดงอาการออกหน้าออกตาเห็นๆ อาทิ พรรคประชาชนปฏิรูปของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และเครือข่ายทีมงาน “ลุงกำนัน” สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส. ที่ประกาศตีตั๋วให้ “ลุงตู่” เป็นผู้นำเที่ยวต่อไปตั้งแต่ไก่โห่

ยังไม่รวมพรรคขนาดกลาง พรรคขนาดเล็ก หรือการจุดพลุ “พรรคพลังชาติไทย” ที่มีเครือข่ายท็อปบูตเป็นแกนนำ ต่างมีท่าทีอยากจับมือกับ “บิ๊ก คสช.” ในอนาคต

สารพัดค่ายการเมืองพร้อมเป็นขุมกำลังโหวตให้เบอร์ 1 คสช.ได้วีซ่าทำงานต่อ เพราะถึงอย่างไรก็เลี่ยงไม่พ้นชื่อ “ประยุทธ์” กลับเข้าทำเนียบรัฐบาลอีกครั้งแน่ๆ

เหลือแค่การประคองความเชื่อมั่นให้อยู่ ไม่ให้วูบก่อนไปถึงสนามเลือกตั้ง ในภาวะที่กำลังเสียเหลี่ยม คะแนนนิยมรัฐบาลถดถอย

สะท้อนให้เห็นจากผลโพลที่ระบุฐานเสียงสาธารณชนที่เคยสนับสนุน “บิ๊กตู่” ลดลงจากร้อยละ 78.4 ในเดือน ก.ค.2560 หล่นมาเหลือที่ร้อยละ 52 ในการสำรวจเมื่อต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา

เรตติ้งวูบไป 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ในช่วงเวลาไม่กี่เดือน

แน่นอนที่สุดส่วนหนึ่งมาจากการแก้ปัญหาประเทศยังไม่เข้าตาประชาชน โดยเฉพาะปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพของประชาชนที่ยังไม่กระเตื้องมากขึ้นเท่าใด

โจทย์ยากที่ต้องกระตุกความเชื่อมั่นกลับมาโดยเร่งด่วน ซึ่งคำตอบสุดท้ายหนีไม่พ้นการยกเครื่องใหญ่ปรับ ครม. ที่เตรียมลดโควตาที่นั่งทหาร หมดเวลาโปรโมชั่นตอบแทนกันแล้ว

เสริมทัพทีมงานมืออาชีพจากภาคธุรกิจที่มีความรู้ ความสามารถเหมาะกับเนื้องาน มาแทนพวกมีรอยตำหนิ

เป็นจุดวัดใจ “บิ๊กตู่” จะกล้าปลดหรือโยกย้ายพวกสายแข็งที่เป็นตำบลกระสุนตก เรียกแขกให้รัฐบาลหรือไม่ เพื่อแลกกับการกู้ความเชื่อมั่นกลับคืนมา

ยังไม่รวมร่องรอยคาใจของสังคมในแม่น้ำร่วมสาย อาทิ การแต่งตั้งคนที่มีปัญหาถูก ป.ป.ช.ตรวจสอบเป็น กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

สุ่มเสี่ยงถูกลดทอนเครดิตการยกร่างกฎหมายปราบโกง

หรือการถูกจับผิดกรณี คสช.และ กรธ.ตั้งลูกหลานตัวเองเข้ามาช่วยงาน ถูกตั้งคำถามเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน

ทีมงานรอบตัวบั่นทอนความเชื่อมั่นลงเรื่อยๆ หนีไม่พ้นกระทบมาถึงเบอร์หนึ่งในรัฐบาล

กลายเป็นเดิมพันที่ต้องยกเครื่องกันครั้งใหญ่ เพื่อโกยแต้มกลับคืนมา

หากกู้ศรัทธากลับคืนมาไม่ได้ มันก็คงไปต่อลำบาก!!!

ทีมข่าวการเมือง