PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2562

'นปช.-พท.'สะดุ้งเฮือก!'แรมโบ้อีสาน’ท้าเรียงตัว ขู่ลากไส้ใครทำอะไรไว้กับบ้านเมือง



3 เม.ย. 62 นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ เจ้าของฉายาแรมโบ้อีสาน อดีตแกนนำนปช. และอดีตผู้สมัคร ส.ส.นครราชสีมา เขต 10 พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) กล่าวว่า กรณีพล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ. ) แสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างดุเดือดว่า   ในฐานะที่เคยเป็นอดีต นปช. และร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมานานเห็นว่า การแสดงความคิดเห็นของผบ.ทบ.มีเจตนาห่วงใยสถานการณ์บ้านเมือง และตนเห็นด้วยกับท่านว่าบ้านเมืองจะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย จึงจะเดินหน้าต่อไปได้

ส่วนกรณีที่ ผบ.ทบ.ระบุว่า มีนักวิชาการที่เรียนจบจากต่างประเทศจะมาเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศไทย ถ้าเป็นจริงเช่นนั้นตนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสถาบันพระมหากษัตริย์ที่คนไทยเทิดทูนอยู่เหนือหัว ใครจะมาเปลี่ยนแปลงหรือคิดล้มล้างไม่ได้ การที่ผู้บริหารพรรคเพื่อไทย และว่าที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ผบ.ทบ.นั้น สะท้อนให้เห็นว่าเป็นการกินปูนร้อนท้อง อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่แล้ว

“อย่าลืมว่าปัญหาบ้านเมืองที่ผ่านมาใครเป็นคนเริ่มต้น ใครเป็นคนจุดประกายจนทำให้ชาติบ้านเมืองเสียหายมาถึงทุกวันนี้ ถ้าไม่มีกองทัพเข้ามาปกป้องป่านนี้ประเทศชาติจะเป็นอย่างไร ที่ ผบ.ทบ.ออกมาพูดนั้นเป็นเรื่องจริง ผมในฐานะที่เคยอยู่ นปช. ขอยืนยันว่าการต่อสู้ที่ผ่านมาไม่ใช่เป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ไม่ใช่เป็นการสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจของประชาชน แต่เป็นการแสวงหาอำนาจเพื่อบุคคลและเพื่อตระกูลใดตระกูลหนึ่งเท่านั้น”นายสุภรณ์ กล่าว
และว่า ตนขอเตือนหากพรรคเพื่อไทยยังไม่หยุดที่จะแสวงหาอำนาจให้กับตระกูลดัง หรือทำเพื่อตัวเอง แล้วบ้านเมืองก็จะเกิดวิกฤตขึ้นมาอีกครั้ง ตนในฐานะที่เคยเป็น นปช.ขอท้าพรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช.ที่เหลืออยู่ทุกคนทุกเวที และพร้อมแฉว่าที่ผ่านมาใครทำอะไรและเกิดอะไรขึ้นบ้าง     ตนไม่มีเจตนาที่จะเผาบ้านที่เคยอยู่  แต่จะทำเพื่อให้พรรคเพื่อไทยหยุดการกระทำเสียก่อนที่จะกลายเป็นชนวนทำให้บ้านเมืองเสียหายเหมือนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา
นายสุภรณ์ กล่าวอีกว่า การที่พล.อ.อภิรัชต์ ออกมาพูดเพื่อเป็นการปรามและปกป้องประเทศชาติไม่ให้คนไทยออกมาต่อสู้กันบนท้องถนนอีก การที่พรรคเพื่อไทยไปกล่าวหาว่าฝ่ายตรงกันข้ามว่าเป็นเผด็จการนั้น เป็นการแบ่งแยกคนในสังคมให้เกลียดชังกัน ซึ่งที่ผ่านมาก็เกิดเผด็จการรัฐสภาเสียงข้างมากลากไป จนเกิดการโกงกินทุจริตเกิดขึ้นมากที่สุด ส่งผลให้ประเทศชาติพังย่อยยับซึ่งเลวร้ายกว่าเผด็จการอื่นๆ ที่พรรคเพื่อไทยกล่าวถึงด้วยซ้ำไป
นายสุภรณ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีการสร้างสถานการณ์กล่าวหาใส่ร้ายการทำงานของ กกต.และพรรคพลังประชารัฐเพื่อที่จะสร้างเงื่อนไขให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตนขอร้องให้หยุดวาทกรรมสร้างภาพใส่ร้ายป้ายสีคนอื่น ซึ่งจะนำไปสู่ความวุ่นวายในบ้านเมือง เพื่อหวังให้ตนเองกลับมามีอำนาจ จึงขอเตือนให้ผู้ที่ไม่หวังดีต่อประเทศชาติหยุดการกระทำนั้นเสียก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป เพราะถ้าเกิดความไม่สงบขึ้นในบ้านเมืองก็ไม่มีฝ่ายใดได้ประโยชน์ มีแต่ประเทศชาติเสียหาย

อัยการสั่งฟ้องสองคู่หู‘เอกชัย-โชคชัย’คดีไลฟ์สดหมิ่นประมาทกองทัพบก



3 เม.ย.62 เว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด มีความเห็นสั่งฟ้องนายเอกชัย หงส์กังวาน และนายโชคชัย ไพบูลย์รัชตะ สองนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ในข้อหาหมิ่นประมาทกองทัพบกจากการไลฟ์เฟซบุ๊กหน้ากองบัญชาการกองทัพบก

ทั้งคู่ถูกฟ้องฐานร่วมกันหมิ่นประมาทผู้อื่นด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 จากการไลฟ์เฟซบุ๊กหน้ากองบัญชาการกองทัพบก เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2562 ในช่วงที่มีกระแสเลื่อนการเลือกตั้งวิพากษ์วิจารณ์กองทัพแทรกแซงการเมือง และรบแพ้ตลอดประวัติศาสตร์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ต่อมาวันที่ 22 ม.ค. 2562 พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายกฎหมายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าแจ้งความดำเนินคดีเอกชัยและโชคชัยต่อพนักงานสอบสวนสน.นางเลิ้ง ให้เอาผิดทั้ง 2 คน ในฐานความผิดด้วหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 ก่อนถูกแจ้งข้อหาเมื่อ 12 ก.พ. 2562 ก่อนพนักงานสอบสวนจะรวบรวมสำนวนการสอบสวนให้อัยการและมีคำสั่งฟ้องคดีวันที่ 3 เม.ย. 2562
เนื้อหาในคำฟ้องส่วนที่กล่าวหาว่า จำเลยวิจารณ์กองทัพ ระบุว่า “ตอนนี้ก็คือการเลือกตั้งมันช้าเพราะว่าทางคสช. กกต. โยนลูกกันไปมา เมื่อกี้คุยกับทางกกต. เมื่อกี้คุยกับทางกกต. เขาบอกว่าน่าจะส่งภายในสัปดาห์นี้นะ คราวนี้ก็จะมาส่วนของกองทัพบกจะถามว่ากองทัพบกเกี่ยวอะไรด้วย กองทัพไม่ได้เกี่ยวกับการเลือกตั้งเลย”
สำหรับข้อความอันเป็นเหตุที่ คสช. เข้าแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับเอกชัยและโชคชัย คือ “ถ้าไปดูตั้งแต่ประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นบุกไทยขึ้นตรงอ่าวมะนาวที่จังหวัดประจวบ รบกันได้ไม่ถึงเดือนคุณก็ประกาศยอมแพ้ นั่นคือครั้งแรก ก็เลยเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ ก็คือฝ่ายญี่ปุ่นก็แพ้สงครามอีก กลายเป็นว่าประเทศเกือบเสียค่าประติกรรมสงครามในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากนั้นเป็นต้นมาไม่ว่าจะเป็นช่วงสงครามเย็น สงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม ฝ่ายไทยอุตส่าห์ไปหนุนช่วยฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์ คุณก็แพ้เขาตลอด”
“จนมาล่าสุด ปี 31 คือสงครามร่มเกล้า คุณก็แพ้ให้กับลาวอีก ไม่ต้องไปพูดถึงต่างประเทศอะไรไกล ๆ เลย แต่กับประเทศลาวเพื่อนบ้านคุณยังไม่มีปัญญาสู้เลย เพราะฉะนั้นก็อย่างที่บอกนะ ทหารไทยเก่งแต่กับเฉพาะคนที่ไม่มีทางสู้เท่านั้น กับชาวบ้านที่ไม่มีอาวุธ ไม่มีปืน คุณก็ข่มเขา เก่งกับเขา รัฐบาลคุณก็รัฐประหารเขา แต่พอให้คุณไปรบทำสงครามจริง ๆ คุณสู้ไม่ได้เรื่องเลย”
อัยการเห็นว่า ข้อความข้างต้นมีความหมายว่ากองทัพบกของไทยรบกับใครก็แพ้ แม้แต่ประเทศลาวก็แพ้ ซึ่งไม่เป็นความจริง ความจริงแล้วการสู้รบระหว่างไทยกับลาวที่บริเวณบ้านร่วมเกล้า ฝ่ายไทยได้ใช้กองทัพอากาศโจมตีลึกเข้าไปในดินแดนลาว 30-40 กิโลเมตร จนเป็นเหตุให้ฝ่ายลาวขอเจรจากับฝ่ายไทยให้หยุดยิงเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2531 ส่วนกรณีกับญี่ปุ่น เป็นเรื่องของยุทธวิธีของรัฐบาลในขณะนั้นที่ต้องการรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติไว้ จึงไม่อาจตีความได้ว่าเป็นความพ่ายแพ้ของกองทัพบก ขณะที่สงครามอื่นๆ ที่ไทยได้ส่งทหารไปร่วมรบ ประเทศไม่ได้เป็นคู่สงครามโดยตรงแต่อย่างใด ฉะนั้นจะถือว่ากองทัพบกของไทยพ่ายแพ้สงครามไม่ได้
หลังอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดีนายเอกชัย และนายโชคชัย เดินทางมาที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ก่อนเข้าไปที่ห้องเวรชี้เพื่อถามคำให้การ ทั้งคู่ให้การปฏิเสธขอต่อสู้คดี ศาลจะอนุญาตให้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์คนละ 50,000 บาท และนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 3 มิ.ย. 2562 เวลา 13.30 น.
สำหรับเอกชัย หงส์กังวาน และโชคชัย ไพบูลย์รัชตะ ถือเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่ออกมาตรวจสอบรัฐบาลคสช. อย่างต่อเนื่อง และต้องเผชิญกับข่มขู่ คุกคาม และถูกทำร้ายในหลายรูปแบบ กรณีเอกชัยเอง การถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทกองทัพครั้งนี้นับเป็น 1 ใน 8 คดีที่ทางคสช. แจ้งความเอาผิดกับเขา

เปิดมูลเหตุหมายเรียก‘ธนาธร’กระด้างกระเดื่อง โยงรถตู้สีขาว-รังสิมันต์

3 เม.ย.62 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ผู้สื่อข่าวรายงานถึงกรณีพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ออกหมายเรียก นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในคดีอาญาที่ 691/2558 ซึ่ง คสช.กล่าวหานายธนาธร ฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116(2) (3) ยุยงปลุกปั่นฯ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และ 2.ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189 ให้ที่พักพิงผู้ต้องหา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เหตุเกิดหน้า สน.ปทุมวัน กทม. เมื่อวันที่24 มิถุนายน 2558 เวลา 22.00 น.

ทั้งนี้ พฤติการณ์แห่งคดี อันเป็นที่มาของหมายเรียกดังกล่าว สืบเนื่องจากก่อนเกิดเหตุเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2558 ที่ สน.ปทุมวัน ทางพนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียก นายรังสิมันต์ โรม และพวกรวม 7 คน ซึ่งเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับศาลทหารกรุงเทพ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา เมื่อมาถึง สน.ปทุมวัน ผู้ต้องหากับพวกไม่ยอมเข้าพบพนักงานสอบสวน โดยรออยู่บริเวณใกล้เคียง สน.ปทุมวัน หลังจากนั้นได้มีกลุ่มบุคคลให้การช่วยเหลือกลุ่มผู้ต้องหา
จากการสืบสวนทราบว่ากลุ่มที่ให้การช่วยเหลือนั้นได้นำรถตู้สีขาวพากลุ่มผู้ต้องหาหลบหนี จากการตรวจสอบทะเบียนรถทราบว่าเป็นรถของบริษัทฯ ที่มีนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดาของนายธนาธรเป็นกรรมการ
จากการตรวจสอบทราบว่า ในวันดังกล่าวนายธนาธรได้มาอยู่ที่ สน. ปทุมวัน กับนายรังสิมันต์ และพวกด้วย คณะ คสช. จึงมอบอำนาจให้ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ  ร้องทุกข์ดำเนินคดีกับนายธนาธรตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ 189 เพื่อให้ได้รับโทษตามกฎหมาย
ส่วนที่นายรังสิมันต์ โรม ถูกออกหมายเรียกนั้นเนื่องจากการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (คสช.) ที่นำโดยนายรังสิมันต์ ในพื้นที่ สน.ปทุมวันและพื้นที่อื่นๆอีกหลายแห่งช่วงปี 2558 และกลุ่มนักศึกษาที่เข้าร่วมการชุมนุมถูกออกหมายเรียกแล้วจำนวนหนึ่ง 
ด้าน พ.ต.อ.ธรรมนูญ บุญเรือง ผกก.สน.ปทุมวัน เปิดเผยว่า ทราบว่าที่มาของการออกหมายเรียกในคดีนี้เป็นเรื่องเก่าและยังไม่ทราบข้อมูลอะไร ทราบแต่เพียงว่าการออกหมายเรียกครั้งนี้มาจากคณะทำงานก็ยังไม่แน่ใจว่าเป็นของ ตร. หรือ บช.น.ซึ่งไม่เกี่ยวกับทาง สน.ปทุมวัน สำนวนคดีตัดจากโรงพักไป ทั้งหมดเป็นเรื่องของคณะทำงาน ยืนยันว่าตนยังไม่เห็นสำนวนการสอบสวนของคดีนี้เลย 
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พ.อ.บุรินทร์ ฝ่ายกฎหมายของ คสช. ได้เดินทางเข้าพบ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ฝ่ายความมั่นคง กระทั่งมีหมายเรียกไปถึงนายธนาธร ให้เข้าพบพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ดังกล่าว

‘พิชิต’ชี้ผู้มีอำนาจปราบฝ่ายตรงข้ามยาก เหตุคุมสื่อออนไลน์ไม่ได้



3 เม.ย. 62 รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว ระบุว่า ฝ่ายผู้มีอำนาจคงไม่อาจหาเรื่องล้อมปราบฝ่ายตรงข้ามได้ง่ายอย่างในอดีต เพราะยุคนี้มีสื่อออนไลน์ที่ฝ่ายผู้มีอำนาจไม่สามารถควบคุมข้อมูลข่าวสารให้เป็นไปตามที่ต้องการได้อีกต่อไป และแม้ดึงดันจะทำให้ได้สุดท้ายย่อมขาดความชอบธรรม ดังนี้

“การล้อมปราบด้วยกำลังจะทำได้และมีแรงต่อต้านน้อยต้องมีการปิดล้อมทางการเมืองเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นก่อน คือฝ่ายที่ถูกปราบตกเป็นฝ่ายรับและถูกโดดเดี่ยวในประเด็นการเมือง แต่การปิดล้อมทางการเมืองดังว่าจะทำได้ต้องอาศัยการปิดล้อมทางข่าวสารก่อน ด้วยการสร้างข้อมูลเท็จ ด้านเดียว ข่าวลือ ข้อกล่าวหาเลื่อนลอย สร้างกระแสปลุกอารมณ์หวาดกลัวเกลียดชังสุดขั้ว ขณะที่ฝ่ายที่ถูกกระทำไม่มีช่องทางสื่อสารตอบโต้ จนกระทั่งสังคมยืนนิ่งเฉยขณะที่การปราบปรามดำเนินไปจนสำเร็จ ตัวอย่างคือเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 และการปราบเสื้อแดงปี 53”

“หลังเลือกตั้ง 62 พวกเขาตกเป็นฝ่ายรับทางการเมืองในประเด็นผลการเลือกตั้ง จึงหาทางรุกกลับด้วยการปั่นกระแสล้มเจ้า ภัยความมั่นคง ฯลฯ เป็นขั้นแรกของการปิดล้อมทางข่าวสาร ตามด้วยข้อหาการเมือง แต่วันนี้ รัฐไม่ได้ผูกขาดช่องทางสื่อสารเด็ดขาดเหมือนอดีต ปฏิบัติการข่าวสารของรัฐได้ผลน้อยลง รัฐควบคุมสื่อทางเลือกได้น้อยกว่าสื่อหลัก ทั้งเทคโนโลยี ลักษณะองค์ประกอบของผู้เสพสื่อที่เปลี่ยนไปจากอดีต คนจำนวนมากขึ้น ๆ ไม่พร้อมที่จะเชื่ออะไรก็ได้ที่รัฐโยนให้”
“พวกเขาอาจขืนดันทุรังไปถึงการปราบทางการเมืองจนได้แต่เปลือก ความชอบธรรมที่หวังจะได้จากการเลือกตั้งนั้นไม่มีอีกต่อไป”

สะพัด!ถกสูตรพ่นพิษเล็งเขี่ยพรรคเล็กไร้ส.ส.เขตชวดแบ่งเค้กส.ส.‘ปาร์ตี้ลิสต์’

ลุ้นระทึก8พรรคใหญ่ส่อกินรวบ พรรคเล็กไร้ส.ส.เขตส่อชวดแบ่งเค้กส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ หลังวงถกที่ปรึกษากฎหมาย กกต. อดีตกรธ. ยกข้อท้วงติงนักวิชาการอ้าง รธน.ม. 91 (4)  ให้จัดสรรพรรคการเมืองที่มีส.ส.แบบเขตมีสิทธิเข้าร่วมวงแบ่งเค้กซิวคำนวณส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เท่านั้น 
         3 เม.ย. 62  มีรายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายในวันนี้ ซึ่งสำนักงาน กกต.ได้เชิญ นายประพันธ์ นัยโกวิท อดีต กรธ. มาให้ความเห็นในประเด็นการคิดคำนวณสูตร ส.ส. บัญชีรายชื่อ กกต. ได้เข้าร่วมในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วย 
ในการประชุมทางสำนักงานกกต.ได้มีการรวบรวมความเห็นทางข้อกฎหมายจากบรรดานักวิชาการที่มีการเผยแพร่การคำนวณสูตรมาหารือ   ไม่ว่า จะเป็นกรณีของพรรคการเมืองที่ได้คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ส.ส.1 คน ไม่ควรได้รับการจัดสรร ส.ส. บัญชีรายชื่อ , พรรคการเมืองที่จะได้รับการจัดสรรคือ พรรคการเมืองที่มี ส.ส. เขตเท่านั้น 
ทั้งนี้ในที่ประชุม ระบุเจตนารมณ์ให้ทุกคะแนนเสียงมีความหมายไม่ทิ้งน้ำ จึงต้องนำคะแนนของพรรคทั้ง 74 พรรคไปคำนวณ ทำให้พรรคที่ได้คะแนนไม่ถึงจำนวน ส.ส. พึงมี มีสิทธิได้รับการจัดสรร ส.ส. ด้วย 
โดยเรียงตามหลักทศนิยมจากมากไปหาน้อยว่า แบบใดตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่งทาง กรธ. ยืนยันว่า ในชั้นการยกร่างการคิดสูตรคำนวณอยู่บนพื้นฐานว่า ไม่ต้องการให้ทุกคะแนนเสียงถูกทิ้งน้ำ  และยังมีการกำหนดตารางการคำนวณ ซึ่งได้เผยแพร่หน้าเว็บไซต์ของ กรธ. มาตั้งแต่เดือนกันยายน 2561 ส่วนในประเด็นอื่นๆ ทาง กรธ. ไม่ได้ให้ความชัดเจนจาก กกต. 
ทั้งนี้หากยึดตามสูตรที่นักวิชาการที่คิดว่า พรรคที่ไม่ได้ ส.ส. เขต จะไม่ได้รับการจัดสรร ส.ส. บัญชีรายชื่อ น่าจะเป็นการแปลความตามมาตรา 91 (4) ของรัฐธรรมนูญ และมาตรา 128 (5) ของพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่มีถ้อยคำที่บัญญัติในกรณีเกิดโอเวอร์แฮงค์ว่า  “...ให้นำจำนวนส.ส.แบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมือง ที่มีจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งต่ำกว่าจำนวน ส.ส. ที่พรรคการเมืองนั้นพึงจะมีได้ ตามอัตราส่วน แต่ต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดดังกล่าวมี ส.ส. เกินจำนวนที่จะพึงมีได้...”นั้น 
ปรากฏว่า มีเพียง 8 พรรคการเมืองเท่านั้น ที่จะได้รับการจัดสรร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อเพิ่ม ประกอบด้วย พลังประชารัฐ อนาคตใหม่ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา ประชาชาติ รวมพลังประชาติไทย และชาติพัฒนา 

ในส่วนพรรคการเมืองที่เหลือที่แม้จะได้คะแนนเกิน 71,000 คะแนน เช่น พรรคเสรีรวมไทย หรือ พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคเพื่อชาติ พรรคพลังท้องถิ่นไท พรรครักษ์ผืนป่า พรรคพลังปวงชนไทย และพรรคพลังชาติไทย ก็จะไม่ได้รับการจัดสรร ส.ส. บัญชีรายชื่อ เพราะไม่มี ส.ส. เขต

'วงจรอุบาทว์การเมืองไทย' จะหลุดพ้นได้หรือ?

'วงจรอุบาทว์การเมืองไทย' จะหลุดพ้นได้หรือ?


  

“ลุยเลยครับ หนุ่มสาวทั้งหลาย เพราะหลังจากนี้ สังคมนี้คือชีวิตของพวกมึง รุ่นของกูพ่ายแพ้ต่อพวกมันอย่างยับเยินมานานแล้ว พวกมึงทำอะไรได้ก็ทำไป  ขออย่างเดียว อย่ารวมกันออกมาบนท้องถนนแบบที่คนรุ่นกูทำไว้ กูบอกไว้เลย ถนนคือกับดักที่จะผลักเราทุกคนกลับไปสู่วังวนเผด็จการด้วยข้ออ้างเดิมๆ ของพวกมัน นั่นก็คือ “ความสงบ” เป็นคำกล่าวของ “ต้อม - ยุทธเลิศ สิปปภาค” ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง โพสต์ลงอินสตาแกรมส่วนตัวในชื่อ yuhtlerd เมื่อวันที่ 30 มี.ค.2562 ต่อกรณีที่มีกลุ่มนิสิตนักศึกษาตั้งโต๊ะล่ารายชื่อถอดถอน กกต.
    มันชวนให้เราย้อนคิดกลับไปตั้งแต่การรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 จนถึงการรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 เป็นสองครั้งที่ทำให้คนไทยไม่เชื่อว่าเมืองไทยจะไม่มีการรัฐประหารอีกแล้ว ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเรามีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน จนหลายคนเชื่อว่าจะไม่มีรัฐประหารอีก สุดท้ายรัฐบาลพรรคไทยรักไทยที่นำโดย “ทักษิณ ชินวัตร” ที่มีอำนาจเต็มที่ ก่อเกิด “ระบอบทักษิณ” ส่งผลเกิดวิกฤติการเมืองที่ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ออกมาขับไล่ นำมาสู่การรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 ในที่สุด
    ต่อมาในปี 2556 ยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่มี “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เป็นนายกฯ ก็ได้ก่อวิกฤติอีกครั้งในสภาผู้แทนราษฎร ด้วยการผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับเหมาเข่งหรือสุดซอย ที่จะล้างความผิดทางการเมืองทุกกรณีที่เกิดขึ้นในช่วงที่มีเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองยุคเสื้อเหลือง-เสื้อแดง ซึ่งรวมไปถึงการล้างคดีของ “ทักษิณ ชินวัตร” ให้เป็นผู้บริสุทธิ์ด้วย นำไปสู่การเคลื่อนไหวขับไล่ของกลุ่ม “กปปส.” จนเกิดการรัฐประหาร 22 พ.ค.2557
    รัฐบาลของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกฯ และหัวหน้า คสช. ปกครองประเทศมายาวนานตั้งแต่การรัฐประหาร 2557 ครั้งนั้น และจะปกครองประเทศต่อไปจนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งรัฐบาลชุดใหม่จากผลการเลือกตั้ง 24 มี.ค.2562 “พรรคพลังประชารัฐ” ที่เสนอให้ “พล.อ.ประยุทธ์” ดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อไป ได้คะแนนเสียง Popular Vote จากการเลือกตั้งครั้งนี้มากที่สุด กลายเป็นเครื่องมืออ้างอิงที่จะขอเป็นรัฐบาลต่อไป ขณะที่ “พรรคเพื่อไทย” ชนะได้คะแนนเสียง ส.ส.มากที่สุด ก็อ้างความชอบธรรมตามกฎหมายที่จะเป็นรัฐบาล
    ขณะที่เหตุของการล่ารายชื่อถอดถอน กกต. มาจากความไม่ไว้วางใจของประชาชน ที่ในการเลือกตั้งครั้งนี้มีหลายเหตุการณ์ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งเกิดความข้องใจว่ามีการทุจริตการเลือกตั้งอย่างมาก ซึ่งมีทั้งการแชร์ข้อมูลเบาะแสต่างๆ ในสื่อโซเชียลมีเดีย และการเข้าร้องเรียนของผู้สมัคร ส.ส.พรรคต่างๆ ต่อ กกต. กรณีพบความผิดปกติในเขตเลือกตั้งพื้นที่ของตนเอง ทั้งความผิดของเจ้าหน้าที่ประจำหน่วย และความผิดของผู้สมัคร โดยกลุ่มที่ทำการล่ารายชื่อถอดถอน กกต.นั้น ยังมี “กลุ่มแนวร่วมประชาชนเพื่อการเลือกตั้งที่เป็นธรรม” หรือเดิมคือกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ก็ได้ทำกิจกรรมตั้งโต๊ะล่ารายชื่อจนเหมือนเป็นการชุมนุมย่อยๆ ตามที่สาธารณะด้วย
    สำหรับผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการที่จะออกในวันที่ 9 พ.ค.2562 จนไปถึงการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ที่ใครๆ ก็คาดการณ์กันว่า ฝ่ายพรรคเพื่อไทยแม้จะมีเสียง ส.ส.ที่มากกว่า แต่ก็ยากที่จะตั้งรัฐบาลได้ เพราะยังมีด่าน 250 ส.ว. ที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ในฐานะหัวหน้า คสช. แต่งตั้งมาเอง คงพร้อมที่จะโหวตให้ “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนายกฯ ต่อไปแน่นอน พรรคพลังประชารัฐจะเป็นรัฐบาลที่อาจจะมีเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎรก็เป็นได้ ถ้ารวมเสียง ส.ส.งูเห่า ได้น้อยกว่าขั้วพรรคเพื่อไทยที่ร่วมกับพรรคอื่นประกาศเป็นฝ่ายประชาธิปไตยก่อนหน้านี้
    เรียกได้ว่า พรรคพลังประชารัฐเป็นรัฐบาล ก็สุ่มเสี่ยงที่จะวิกฤติจากความไม่พอใจของขั้วตรงข้ามด้วยเสียง ส.ส.ที่น้อยกว่า หรือต่อให้พรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล วิกฤติความไม่พอใจของขั้วตรงข้ามก็มีอยู่เช่นกัน ถ้าเริ่มมีการแก้รัฐธรรมนูญหรืออะไรก็ตามที่จุดประเด็นเป็นเรื่อง วิกฤติสองขั้วยังไม่หายไปไหน และพร้อมระเบิดออกมาบนท้องถนนได้อย่างน่ากลัว ถ้าทุกอย่างไม่สามารถทำให้จบในสภาได้อย่างเป็นธรรมเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ซึ่งคนไทยคงไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นอีกแน่
    ทุกอย่างคงจะเป็นไปอย่างที่ “ยุทธเลิศ” ว่าไว้ การลงถนนเป็นกับดัก ไม่ว่าจะขั้วใดขั้วหนึ่งกระทำก็ตาม  ลงไปก็เสี่ยงความตาย ลงไปก็เสี่ยงต่อการยึดอำนาจรัฐประหารอีกครั้งเพื่อความสงบ วงจรอุบาทว์การเมืองไทยจะไม่มีทางหลุดพ้นได้เลย จากผลการเลือกตั้ง 24 มี.ค. จนถึงการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และการบริหารประเทศต่อไป
     คำตอบต้องอยู่ที่สภาเท่านั้น รวมถึงความหวังว่า ผบ.ทบ. ซึ่งเป็นบุตรชายของอดีตหัวหน้าคณะรัฐประหารปี 2534 จะเป็น “ลูกไม้ที่หล่นไกลต้น” หรือไม่.

https://www.thaipost.net/main/detail/32845

เรืองไกร จี้กกต. เปิดเผยคะแนนทุกหน่วยเลือกตั้ง

เรืองไกร จี้กกต. เปิดเผยคะแนนทุกหน่วยเลือกตั้ง
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ยื่นหนังสือต่อประธาน กกต. ขอให้ตรวจสอบและชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั่วไปต่อสาธารณชนว่าไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
โดยนายเรืองไกร กล่าวว่า ตนในฐานะผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งและได้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งแล้วมีความประสงค์ขอให้กกต. ตรวจสอบและชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั่วไปต่อสาธารณชนว่าไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรมหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ขอให้กกต. ออกมาชี้แจงเกี่ยวกับจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2562 โดยระบุว่าข้อมูลที่แถลงเมื่อวันที่ 24 มีนาคมเป็นจำนวนของผู้มาใช้สิทธิ์ที่รายงานเข้ามา 90 เปอร์เซ็นต์ของหน่วยเลือกตั้ง 83,088 หน่วย จากทั้งหมด 92,320 หน่วย ซึ่งยังคงเหลืออีก 9,232 หน่วย ที่ยังไม่ได้รายงานข้อมูลเข้ามาอีกทั้งยังไม่นับรวมจำนวนคะแนนที่มาจากการเลือกตั้งล่วงหน้าอีกกว่า 2 ล้านบัตร
และข้อมูลการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ระบุว่ามีผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง 74.69 เปอร์เซ็นต์เป็นข้อมูลที่เพิ่มขึ้นเมื่อได้รับรายงานเป็นเอกสารจากทุกหน่วยเลือกตั้งครบร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว จึงไม่ใช่กรณีที่จำนวนผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ หรือเกิดจากการทุจริตแต่อย่างใด และการเลือกตั้งครั้งนี้ใช้ระยะเวลาประมาณ 5 วันในการนับคะแนนเท่ากับการเลือกตั้งทุกครั้งไม่ได้มีความล่าช้าในการรายงานผลการนับคะแนนเลือกตั้งแต่อย่างใด
แต่จากข้อมูลที่ กกต. แถลงมาข้างต้นพบว่ายังมีข้อสงสัยที่ขอให้ กกต. ชี้แจงดังนี้
จำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ ซึ่งมีความแตกต่างจากเดิมกว่า 4 ล้านคนนั้น กกต. ไม่ได้ชี้แจงให้ชัดเจนว่าเกิดขึ้นจากหน่วยเลือกตั้งใดบ้าง และบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า ทั้งในประเทศและนอกราชอาณาจักรอีกกว่า 2 ล้านบาทนั้นจำนวนที่แท้จริงคือเท่าใด คิดเป็นร้อยละเท่าใดเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ที่ลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด และการที่ กกต. ไม่ระบุตัวเลขให้ชัดเจนเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
เพราะ พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส พศ 2561 มาตรา 113 ระบุไว้ชัดเจนว่าต้องนำบัตรที่มาจากการเลือกตั้งล่วงหน้า มานับรวมที่หน่วยเลือกตั้งด้วย ดังนั้นที่ชี้แจงว่าจำนวนที่รายงานเข้ามา 90 เปอร์เซ็นต์ ยังไม่รวมจำนวนคะแนนที่มาจากการเลือกตั้งล่วงหน้า จึงน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย. พร้อมเรียกร้องให้เปิดเผยจำนวนบัตรดี บัตรเสีย และบัตรไม่ออกเสียงโหวตโน ในแต่ละหน่วยเลือกตั้งว่ามีเท่าใด และบัตรที่ไม่ได้ใช้ออกไปมีเหลือเท่าใดจากยอดที่พิมพ์ทั้งหมด
โดยขอให้นำเอกสารทุกหน่วยมาเปิดเผย ให้สาธารณชนหรือพรรคการเมืองใดที่จะมีข้อสงสัยได้ทำการตรวจสอบต่อไป

จ่านิวถูก จนท.ห้ามตั้งโต๊ะล่ารายชื่อถอดถอนกกต.

จ่านิวถูก จนท.ห้ามตั้งโต๊ะล่ารายชื่อถอดถอนกกต.
เจ้าหน้าที่ห้ามเครือข่ายนักศึกษานำโดย นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ห้ามตั้งโต๊ะแจกเอกสารล่ารายชื่อถอดถอนกกต.หน้าสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยจ่านิงยืนยันจะนั่งรอเอกสารแทน
นาย สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว ตัวแทนเครือข่ายนักศึกษาที่รวบรวมรายชื่อถอดถอนคณะกรรมการการเลือกตั้ง เดินทางมาที่ศูนย์ราชการถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อรอรับเอกสารของประชาชนที่จะร่วมกันยื่นถอดถอนคณะกรรมการการเลือกตั้ง 7 คนตามกำหนดการที่แจ้งในโซเชียลมีเดียโดยเดิมมีกำหนดการตั้งโต๊ะเปิดรับรายชื่อประชาชนที่ต้องการถอดถอนกกต. แต่เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาต จึงต้องเปลี่ยนมาเป็นนั่งรอรับเอกสารแทน โดยจะไม่มีการยื่นหนังสือใด กับ กกต. เนื่องจากมองว่าไม่มีประโยชน์
ส่วนรายชื่อที่ทางเครือข่ายนักศึกษาได้รวบรวมไว้ ขณะนี้มีกว่า 5,000 รายชื่อ เป็นการรวบรวมจากสถาบันการศึกษา หรือ มหาวิทยาลัย 20 แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยราชภัฏจังหวัดพิษณุโลก เป็นต้น ส่วนการล่ารายชื่อประชาชน เครือข่ายมีเป้าหมายล่ารายชื่อ 20,000 รายชื่อ เพื่อนำไปทำคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. พร้อมกับหลักฐานที่สามารถชี้ได้ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่โปร่งใส โดยจะปิดการล่ารายชื่อวันที่ 5 เมษายน 2562 และจะส่งต่อให้ ป.ป.ช.ดำเนินการตรวจสอบ ในวันที่ 10 เมษายน 2562

ออกหมายเรียก 'ธนาธร' กระด้างกระเดื่องถึงขนาดจะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร!

3 เม.ย.62 - นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า เมื่ออำนาจมืดไม่ยอมปล่อยอนาคตใหม่

ผมเพิ่งกลับจากการเดินสายขอบคุณประชาชน 2 วัน 5 จังหวัด เริ่มจากจันทบุรี ตราด ระยอง ต่อด้วยฉะเชิงเทราและสมุทรปราการ ขึ้นรถแห่มาราธอนทั้งวัน แดดร้อนของเดือนเมษายนไม่ได้ทำให้ทีมอนาคตใหม่ย่อท้อ เพราะรอยยิ้มและการโบกมือต้อนรับจากประชาชนเนืองแน่นทุกพื้นที่ สมกับที่ทั้ง 5 จังหวัดเป็นเขตที่อนาคตใหม่ทำคะแนนได้ดีเยี่ยม และได้ ส.ส. เขตรวมกันถึง 7 คน ใน 5 จังหวัด

แต่กลับมาถึงบ้านยังไม่ทันจะได้พัก กลับเจอเรื่องร้อนที่ไม่น่าจะเป็นเรื่อง มีหมายเรียกมารอผมที่บ้าน กล่าวหาว่าผมมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และให้ผมไปรายงานตัวที่ สน. ปทุมวัน วันที่ 6 เมษายนนี้ เวลา 10 โมงเช้า ซึ่งผมก็ยังสงสัยอยู่ว่า ผมไปก่อความกระด้างกระเดื่องหรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศตอนไหน ในเมื่อตลอดปีที่ผ่านมา เวลาเกือบทั้งหมดในแต่ละวันของผม ทุ่มไปกับการพบปะประชาชนใน 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย แทบจะไม่ได้เจอหน้าลูกๆด้วยซ้ำ

เป็นที่แน่ชัดว่าเกมการเมืองเก่าไม่ใช่แค่ไม่ยอมยุติลงหลังเลือกตั้ง แต่กลับยิ่งเข้มข้นขึ้น เพราะพวกเขากำลังกลัวอนาคตใหม่ กลัวชัยชนะที่เกินความคาดหมายของหลายๆ คน กลัวความจริงที่ว่าการเมืองที่ชูนโยบาย อุดมการณ์ สร้างความเชื่อมั่นศรัทธาได้ สร้างแรงสนับสนุนจากประชาชนได้โดยไม่ต้องใช้เงินหรืออิทธิพล กลัวความจริงที่ว่ามีคนเกือบ 6 ล้าน 3 แสนคนที่สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ด้วยใจบริสุทธิ์

ผมจะไปตามหมายเรียกครั้งนี้เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ เพื่อพิสูจน์ว่ากระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยจะไม่ศิโรราบยอมตนเป็นเครื่องมือเผด็จการ ผมไม่มีกฎหมาย ไม่มีอำนาจรัฐในมือ ไม่มีมาตรา 44 ไม่มีปืนหรือคุกตารางไว้จัดการคนที่อยู่ตรงข้าม แต่ผมเชื่อมั่นว่ามีประชาชนหลายล้านคนที่รักความเป็นธรรม ยืนเคียงข้างผม และพร้อมจะแสดงออกว่าพวกเขาไม่ยอมทนกับอำนาจมืดที่จ้องทำลายอนาคตใหม่

เดินแผนลึก

ท่ามกลางการช่วง ชิงกันเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคพลังประชารัฐ

โดยพรรคเพื่อไทยอ้างสิทธิอันชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา เมื่อเป็นพรรคที่ชนะการเลือกตั้ง มีว่าที่ ส.ส.ระบบเขตมากที่สุด 137 คน ย่อมได้สิทธิจัดตั้งรัฐบาลก่อน

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ ที่เป็นพรรคอันดับสอง มีว่าที่ ส.ส.ระบบเขต 97 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ อีก 19 คน รวมเป็น 116 คน ก็ประกาศตั้งขั้วแข่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

โดยอ้างว่า พรรคพลังประชารัฐ ได้คะแนนเสียงเลือกตั้งรวมทั้งประเทศ มาเป็นอันดับหนึ่ง 8.4 ล้านเสียง ขณะที่พรรคเพื่อไทย มีคะแนนรวมเป็นอันดับสอง 7.9 ล้านเสียง

ต่างฝ่ายต่างยกเหตุผล สร้างความชอบธรรมให้ตัวเอง ในการชิงอำนาจรัฐ

เปิดยุทธการดึงพรรคแนวร่วมทุกรูปแบบ เพื่อรวมเสียงข้างมากเกินครึ่งสภาฯ จัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ

ท่ามกลางวาทกรรม “ฝ่ายประชาธิปไตย” กับ “ฝ่ายสืบทอดอำนาจ” ที่ใช้สร้างกระแสโจมตีกันมาตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ยันประกาศผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ

เร้าสถานการณ์แบ่งฝักแบ่งฝ่าย เลือกขั้วเลือกข้าง ทั้งในส่วนพรรคการเมือง และลามลงลึกถึงระดับประชาชน

จุดชนวนความแตกแยกให้ปะทุขึ้นมาแบบเนียนๆ เคล้าไปกับบรรยากาศประชาธิปไตยว่าด้วยการเลือกตั้ง

ส่วนอีกด้าน ก็อาศัยความอ่อนด้อยประสบการณ์ของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่จัดการเลือกตั้งเกิดข้อผิดพลาดบกพร่องหลายเรื่องราวนานัปการ

จนกลายเป็นประเด็นเข้าทางพรรค การเมืองบางขั้วค่าย ปลุกกระแสให้มีการเคลื่อนไหวขยายผลโจมตี กกต.

คู่ขนานกับการขยับของเครือข่ายนักศึกษา คนรุ่นใหม่ ล่ารายชื่อถอดถอน กกต.ข้อหาจัดการเลือกตั้งไม่สุจริตโปร่งใส

ปูทางตั้งธงให้เชื่อว่ามีการโกงเลือกตั้งทั้งระบบ แม้ยังไม่มีหลักฐานมาแสดงอย่างชัดแจ้ง

เสมือนมีแผนเร้ากระแส เพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวใหญ่ในช็อตต่อไป

จากสถานการณ์ทั้งหมดหากไม่มีการตักเตือนให้ยั้งคิด อาจไม่เป็นผลดีต่อความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง

ด้วยเหตุนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. จึงออกแถลงการณ์ “สารจากนายกรัฐมนตรี” เพื่อสื่อสารโดยตรงถึงพี่น้องประชาชน โดยระบุว่า

“รัฐบาล คสช. เหล่าทัพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หน่วยงานภาครัฐ ได้ใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวดสร้างความเป็นปึกแผ่นของบ้านเมือง สร้างศรัทธาต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

ข่าวสารการรวมจัดตั้งรัฐบาลของพรรคต่างๆที่ประชาชนส่วนใหญ่กังวลอยู่เวลานี้ ไม่อยากให้มองว่ามุ่งเน้นการต่อสู้ทางการเมืองอย่างเดียว หากแต่เป็นการรวมกลุ่มกันเพื่อทำความดีให้กับชาติบ้านเมืองและประชาชน ขจัดคนไม่ดี หรือคนที่ทำให้บ้านเมืองเสียหายออกไป

ขอให้สื่อต่างๆนำเสนอข่าวอย่างพอเหมาะ ช่วยกันสร้างบรรยากาศที่ดี และความสงบสุขให้กับบ้านเมือง สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน

ช่วงนี้ขอทุกคนระมัดระวังการรับรู้ข่าวสาร ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ โซเชียลมีเดีย พิจารณาอย่างมีเหตุมีผลด้วยข้อเท็จจริง อย่าหลงเชื่อคำบิดเบือน ทำให้ประเทศกลับไปสู่อันตรายเดิมๆที่ฝ่าฟันมา...”

สถานการณ์หัวเลี้ยวหัวต่อ ถ้ายังไม่พินิจพิเคราะห์ให้ดี คงได้ดูหนังม้วนเก่ากันอีกรอบ!!!

“พ่อลูกอิน”

จุดเสี่ยงคนจนกระดาน


“ขอให้รักกันเถิด นำความรู้ระบอบประชาธิปไตยของเขามาต้องดูด้วย ไม่ใช่พยายามเปลี่ยนแปลงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อย่าเอาซ้ายจัดมาแล้วดัดจริต นี่คือแผ่นดินที่บรรพบุรุษเสียเลือดเนื้อ ขอฝาก รักกันเถอะ หยุดวาทกรรมการเมือง ในเมื่อกรรมการตัดสินแล้ว ขอให้อยู่เกมใครเกมมัน เป็นไปตามครรลอง ล้างแค้นกันไปมาก็ไม่มีวันจบ”

“บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. คำราม “สัญญาณพิเศษ”

เป็นจังหวะสถานการณ์สอดคล้องต่อเนื่องกับปรากฏการณ์ที่ “นายกฯลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออก “สารนายกรัฐมนตรี” ขอให้ประชาชนร่วมใจกันปกป้องบ้านเมืองไม่ให้วุ่นวายอีก

ชี้มีผู้ไม่หวังดีบางกลุ่มใช้โซเชียลบิดเบือนข้อเท็จจริง

และน่าจะเป็นสิ่งที่โยงได้กับปรากฏการณ์ “บิ๊กเซอร์ไพรส์” ต่อเนื่องกับ “ฮ่องกงเอฟเฟกต์” จนมาถึงสถานะล่าสุดของอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร อย่างที่สังคมรับรู้กัน

อาการเสือจนตรอก อารมณ์ของคนไม่มีอะไรจะเสีย อย่าเสี่ยงไว้ใจ

สะท้อนเงื่อนไขสถานการณ์ที่ฝ่ายความมั่นคงเริ่มอยู่ “นิ่งเฉย” ไม่ได้ ตามฉากการเมืองร้อนๆอุ่นเตาก่อชนวนไฟ เกมป่วนชิงจัดตั้งรัฐบาลที่ลุกลามเป็นแรงตกกระทบ กระแสกดดันคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กลายเป็นตำบลกระสุนตก

โดนถล่มหนัก โดยเฉพาะจากฝั่งของพรรคการเมืองเครือข่าย “ทักษิณ” ค่ายอนาคตใหม่ ในจังหวะล้อกับนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆตั้งโต๊ะล่ารายชื่อถอดถอน กกต.

ส่อลุกลามตามเกมปลุกกระแสในสื่อโซเชียลมีเดีย

ประกอบกับปมหุ้นร้อนๆของ “ไพร่หมื่นล้าน” นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่เทียบน้ำหนักระหว่างการยืนยันด้วยปาก โอนคืนให้แม่ไปแล้วตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง กับหลักฐานเอกสารทางราชการของหน่วยงานรัฐ ที่ระบุวันเวลาประชุมและจำนวนผู้ถือหุ้นชัดเจนขัดกับคำพูด

ส่อเข้าเหลี่ยม “ผิดพลาดโดยสุจริต” เหมือนไอดอล “ทักษิณ”

ขณะที่อาการสำนึกรักสถาบันกะทันหันที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ออกมาแก้ลำ อ้างโดนตัดต่อคำบรรยายสอนนักศึกษาที่หมิ่นเหม่มาตรา 112

สะดุ้งกับการขยับของขบวนการร้องยุบพรรค เพราะปมหมิ่นเหม่เบื้องสูง

“ธนาธร” กับ “ปิยบุตร” ส่อติดเงี่ยงกฎหมาย วิบากของทีมอนาคตใหม่เต็มไปด้วยชนักปักหลัง

ถ้าหัวขาดเมื่อไหร่ “งูเห่าสีส้ม” คงเลื้อยกันเพ่นพ่าน เพราะต่างคนต่างรู้ตัว โอกาสถูกรางวัลที่หนึ่งจากกระแสการเมืองที่วูบวาบคงเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้ง พวกถูกหวยปาร์ตี้ลิสต์อนาคตใหม่ก็คงเป็น ส.ส.ได้แค่สมัยเดียว เก็บเกี่ยวเบี้ยบำนาญไว้กินตอนแก่แน่นอนกว่า

ทีมโหนประชาธิปไตยถือไพ่แต้มรองทีมหนุน “นายกฯลุงตู่”

ยิ่งดูจากรูปการณ์ ถ้าเคลียร์กันด้วยหลักการเหตุผล ยังไงความชอบธรรมก็ต้องจบที่ กกต.

เพราะ “ระบบจัดสรรปันส่วนผสม” ก็บอกความหมายอยู่แล้ว การคิดคำนวณคะแนนเลือกตั้งต้องมีความสลับซับซ้อน ทุกคะแนนมีค่าหมด โดยเฉพาะปาร์ตี้ลิสต์

คิดไม่เหมือน “สูตรเถื่อน” ที่ปล่อยตัวเลขออกมากดดันสูตรของ กกต.

และนั่นก็คงได้แค่สร้างกระแส แห่พวกเสพข่าว 2–3 บรรทัดในโลกโซเชียลมีเดีย เพราะตราบใดที่ กกต.ยึดตามรัฐธรรมนูญ ถือสิทธิตามกฎหมายเป็นผู้บริหารจัดการเลือกตั้ง

คำตอบสุดท้าย ก็ต้องอยู่ที่ กกต.จะยึดเกณฑ์ในการพิจารณา

เทียบง่ายๆพวกที่บอกพรรคเล็กได้ 3 หมื่นกว่าคะแนนไม่ควรได้แบ่ง ส.ส.1 ที่นั่ง แต่วัดกับ ส.ส.เขตเลือกตั้งหลายเขต ผู้ชนะได้คะแนนที่หนึ่งก็ได้แค่ 2 หมื่นกว่าไม่ถึง 3 หมื่นด้วยซ้ำ

นี่คือจุดมุ่งหมายของระบบจัดสรรปันส่วนผสมตามรัฐธรรมนูญ

ถ้ายึดตามกติกาก็เข้าใจกันได้ง่ายๆ แต่ปัญหาเพราะมีพวกยึดตามอารมณ์เป็นใหญ่ และก็คงไม่พลาดตายน้ำตื้นง่ายๆ แบบที่มีเสียงขู่จากพวก “แต้มหาย” ฮึ่มๆ กกต.จะติดคุกเพราะตุกติกคิดคะแนนปาร์ตี้ลิสต์เข้าทางพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม ซ้ำรอย “กกต.อย่างหนา”

แต่เงื่อนไขมันผิดกันกับ กกต.ยุคที่เดินตามใบสั่ง “นายใหญ่” โดยเลี่ยงกติกา

เพราะ กกต.ชุดนี้เดินตามรัฐธรรมนูญ และธรรมดาของ “มือใหม่” แถมยังเป็นครั้งแรกระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมที่การคิดคำนวณปาร์ตี้ลิสต์สลับซับซ้อน ไหนยังต้องรอการเลือกตั้งซ่อม ใบเหลือง ใบแดง ใบดำ ทำให้การประกาศผลคะแนนอย่างเป็นทางการทำไม่ได้เหมือนการเลือกตั้งรอบที่ผ่านมา

แพ้ชนะ จัดรัฐบาลได้ตั้งแต่ช่วงค่ำวันเลือกตั้งรู้ตัวเลข ส.ส. โดยจังหวะมันก็เลยเข้าเหลี่ยมพวกไม่พอใจผลคะแนนไม่เข้าทาง ปลุกกระแส ตีปี๊บจุดไฟในโซเชียลมีเดีย หวังปลุกพลังนักศึกษาด้อยประสบการณ์ มาเดินเกมมวลชนแทนแกนนำม็อบขาใหญ่ที่ติดคุก ชดใช้วีรกรรมป่วนเมืองอยู่ในเรือนจำ

เกมเขี้ยวของตัวป่วนหน้าเก่า ใช้คนรุ่นใหม่เป็นเครื่องมือ.

ทีมข่าวการเมือง

บิ๊กแดงแจงสื่อนอกเชื่อวุ่นวายกฏอัยการศึกเอาอยู่

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 2 เม.ย.2562 ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ถนนราชดำเนิน พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เชิญสื่อต่างประเทศประจำประเทศไทยมาร่วมพูดคุยถึงสถานการณ์บ้านเมืองที่อยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลทหารสู่รัฐบาลระบอบประชาธิปไตย โดยสำนักข่าวที่ได้รับเชิญในครั้งนี้ ประกอบด้วย CNN, EPA, Japanese News Agency, BBC, เกียวโด จากญี่ปุ่น, AFP, reuters, ABC Australia, CNA Singapore และ NHK โดยมีเนื้อหาคล้ายคลึงกับการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนไทยเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา แต่มีตอนหนึ่งที่พล.อ.อภิรัชต์ กล่าวถึงการเมืองไทยในปัจจุบันว่า เราผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว จะเป็นอย่างไรก็ตาม กองทัพบก และทหารจะต้องวางตัวเป็นกลาง ตนเข้ามาเป็น ผบ.ทบ.มีจุดยืนของตัวเอง ไม่ได้ให้ใครเข้ามาควบคุม ตนอยู่ในกฎระเบียบกติกา กองทัพไม่เกี่ยวกับรัฐบาล และไม่ก้าวก่ายการเมือง ในหมู่ทหารมีทั้งดีและไม่ดี เช่นเดียวนักการเมือง ส่วนผลการเลือกตั้งรอให้กกต.ประกาศเป็นทางการ ทุกอย่างมีไทม์ไลน์ ไม่จำเป็นต้องให้ใครมาผลักดันและตนไม่รู้ว่าใครจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลและเป็นนายกรัฐมนตรีในอนาคต กองทัพไม่เข้าไปเกี่ยวทั้งสิ้น ตนยอมไม่ได้ที่จะให้คนไทยออกไปต่อสู้กันบนถนนอีกแล้ว 

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามว่า สถานการณ์หลังการเลือกตั้งจะมีทางออกหรือไม่ พล.อ.อภิรัชต์ กล่าวว่า ทางออกก็คือทุกคนต้องยอมรับกติกาให้เป็นไปตามขั้นตอนก็คือกกต.ประกาศผลการเลือกตั้งทางการวันที่ 9 พ.ค. ถามว่าทำไมต้องเป็นวันที่ 9 พ.ค. ก็เพื่อป้องกันไม่ให้กระทบต่องานพระราชพิธีสำคัญของคนไทย ถ้าประกาศก่อนขั้นตอนอื่นๆก็จะตามมา แต่หากประกาศผลเป็นทางการในวันที่ 9 พ.ค.ก็คือผ่านพ้นงานพระราชพิธีไปแล้ว ทุกวันนี้นายกรัฐมนตรีพยายามควบคุมให้ทุกอย่างเป็นธรรม ส่วนจะแฟร์หรือไม่ก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กติกา แต่อยู่ที่ตัวบุคคล เมื่อมีการเลือกตั้ง คนแพ้ไม่พอใจก็หาเรื่อง แต่ถ้าคุณจัดตั้งรัฐบาลจะแก้รัฐธรรมนูญ แก้กฎหมาย ก็ไปทำกันในรัฐสภา ส่วนทหารไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวเด็ดขาด การทำให้เกิดสภาพเช่นนี้ ทุกฝ่ายไม่สบายใจกันหมด

พล.อ.อภิรัชต์ กล่าวถึงจุดยืนเรื่องรัฐประหารว่า  ปัจจุบันการทำรัฐประหารไม่ใช่เรื่องง่าย ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ขณะนี้รัฐบาลก็เดินไปได้ดีและนำไปสู่การเลือกตั้ง ซึ่งตนหวังว่าคนไทยจะไม่ต้องออกมาประหัตประหารต่อสู้กัน ซึ่งตนเคยผ่านเหตุการณ์ต่างๆมาตั้งแต่สมัยของบิดาของตนจนมาถึงสมัยตนเอง เมื่อมีคนมาต่อสู้กันบนถนนคนที่เรียกตัวเองว่านักประชาธิปไตย นักการเมืองก็หอบลูกเมียไปอยู่ต่างประเทศ เขาไปนั่งดูอยู่ที่ต่างประเทศ และดูว่าเมื่อไหร่ประเทศไทยจะสงบแล้วก็กลับมา ส่วนคนที่อยู่ก็ต้องสูญเสีย ทั้งทหารและประชาชน  ซึ่งคนที่เสียชีวิตก็ไม่ได้มีหัวหน้าพรรค รองหัวหน้าพรรค คนมีเงิน หรือคนมีชื่อเสียง

เมื่อถามว่าเหตุการณ์ต้องเข้าสู่สภาวะไหนถึงจะตัดสินใจยุติปัญหาด้วยการรัฐประหาร พล.อ.อภิรัชต์ กล่าวว่า ต้นเหตุของการเกิดรัฐประหารในทุกยุคทุกสมัยแตกต่างกัน ซึ่งไม่ได้เกิดจากฝ่ายการเมืองเสมอไป แต่การทำรัฐประหารสิ่งที่เห็นชัดเจนที่สุดคือประเทศไม่มีใครควบคุมได้รัฐบาลควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ รวมถึงตำรวจมีการใช้อาวุธ มีคนออกมาต่อสู้ประชาชนล้มตาย ถามว่าเมื่อถึงตรงนั้นกองทัพจะยืนอยู่ตรงไหน จะให้ยืนดูประชาชนต่อสู้กันจนเกิดสงครามการเมืองหรือไม่การใช้กองกำลังทหารเข้าควบคุมก็ไม่ได้ถือว่าเป็นการปฏิวัติรัฐประหาร ทุกอย่างมีขั้นตอนของตัวเอง ซึ่งอาจเกิดความวุ่นวายขั้นตอนแรกก็คือตำรวจมีหน้าที่โดยตรงในฐานะเจ้าพนักงานต้องเข้าไปควบคุม และถ้าบานปลายก็เป็นตำรวจอีกเช่นกัน ส่วนไปการประกาศภาวะฉุกเฉินเมื่อประกาศแล้วก็ต้องพิจารณาดูว่าดีพอหรือไม่ ซึ่งอาจจะถึงขั้นแค่ประกาศกฎอัยการศึกเท่านี้ ก็น่าจะแก้ไขได้แล้ว


ยังไม่มีสูตรคำนวณคะแนน

จรุงวิทย์" เลขาธิการ กกต. ชี้ยังไม่มีการคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ย้ำ กกต. เป็นผู้ใช้กฎหมาย ไม่ใช่ผู้ร่าง ส่วนกรณีล่าชื่อถอดถอนเป็นสิทธิ พร้อมขอให้ฟังเหตุผล...

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ระบุถึงการ ประชุมชี้แจงขั้นตอนการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการวินิจฉัยคำร้อง และปัญหาหรือข้อโต้แย้งการจัดการเลือกตั้ง ว่าคณะอนุกรรมการชุดนี้ มีหน้าที่กลั่นกรองสำนวนไต่สวนและมีความเห็นเบื้องต้นก่อนส่งให้ กกต. เพื่อลงมติว่าจะสั่งให้เลือกตั้งใหม่ หรือ การระงับสิทธิสมัคร หรือ การส่งให้ศาลพิจารณาให้ใบแดง ตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวน พร้อมปฏิเสธกระแสข่าว ที่มีการตั้งธงว่า กกต.จะสอย 117 เขตเลือกตั้ง ซึ่งพยานหลักฐานทั้งหมดจะอยู่ในคำร้องเมื่อพิจารณาแล้วถึงจะวินิจฉัยได้ ยืนยัน กระบวนการจะดำเนินไปอย่างรวดเร็ว

พร้อมเปิดเผยว่า ขณะนี้มีคำร้อง 264 เรื่อง ซึ่งยังไม่ได้เป็นสำนวน เนื่องจากยังไม่ได้สั่งรับคำร้อง ขณะเดียวกันก่อนหน้านี้ มีการสั่งรับคำร้องไปแล้ว 142 เรื่อง และมีเรื่องที่ตรวจสอบหลักฐาน 117 เรื่อง

เลขาธิการ กกต. ระบุว่า จะมีความชัดเจนเรื่องสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งมีกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งหลังจากนี้ กกต.จะศึกษาต้นแบบวิธีการคำนวณ ตามกฎหมาย รวถึงข้อโต้แย้ง เพื่อตอบข้อซักถามจากสังคม ยืนยัน ปัจจุบัน กกต.ยังไม่ได้ดำเนินการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแต่อย่างใด ซึ่ง กกต.ต้องย้อนกลับไปค้นเจตนารมณ์ของการร่างกฎหมายในการคิดคำนวณ ส.ส. เพราะต้องไม่ลืมว่า กกต. คือผู้ใช้กฎหมาย ไม่ใช่ผู้ร่างกฎหมายเหล่านั้น สุดท้ายเมื่อ กกต. มีมติอย่างใด ก็จะแจ้งให้สังคมรับทราบ ซึ่งในวันที่ 9 พฤษภาคมนี้ จะมีการประกาศรับรอง ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วย

ส่วนที่พรรคการเมืองกดดันให้ กกต. ยึดการคำนวณตามมาตรา 128 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.นั้น ขอย้ำว่า การตีความกฎหมายต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ กกต. จึงไม่รู้สึกกดดันใดๆ เพราะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงกฎหมายได้

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวถึง กรณีที่สังคมล่ารายชื่อถอดถอน กกต. ว่า เป็นสิทธิของประชาชน ส่วน กกต. ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงไปแล้ว ทั้งการแถลงข่าวและการออกเอกสารชี้แจงอย่างเปิดเผย ตั้งแต่เรื่องของการคัดแยกบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า และบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร พร้อมขอให้ทุกฝ่ายฟังเหตุผล ส่วนใครจะมองว่าเป็นการดิสเครดิตใคร หรือไม่ แล้วแต่สังคมจะมอง แต่ส่วนตัวมองว่าสังคมประชาธิปไตยต้องมีเหตุผล.

สมชัยชี้ กรธ. ถูกยุบแล้วให้สูตรคำนวณ ส.ส. ไม่ได้ ย้ำพรรคต่ำกว่า 71,065 ไม่มีที่นั่ง


อดีต กกต. สมชัย ระบุ กกต. อาจขาดความมั่นใจเรื่องสูตรการคำนวณที่นั่ง ส.ส. จึงต้องถาม กรธ. แต่ก็คงไม่ได้คำตอบที่เป็นหลักอิงได้ เพราะ กรธ. ไม่มีสถานะทางกฎหมายแล้ว สุดท้าย กกต. ต้องลงมติยืนยันเอง และรับผลที่จะตามมาเอง แนะให้ตีความกฎหมายอย่างเคร่งครัด ตรงไปตรงมา ไม่เอื้อพรรคการเมืองพร้อมเปิดสูตรคำนวณให้ดูเป็นตัวอย่าง พบ พรรคต่ำว่า 71,065 ไม่มีที่นั่งในสถาผู้แทนฯ

2 เม.ย. 2562 สืบเนื่องจากกรณีที่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีที่มีการเรียกร้องให้ กกต. เปิดวิธีการคำนวณที่นั่ง ส.ส. ในระบบัญชีรายชื่อนั้น ว่า เวลานี้ กกต. ยังไม่มีมติในเรื่องดังกล่าว คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในสัปดาห์นี้ ทั้งนี้สูตรคำนวณส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วย ส.ส. แต่ถึงอย่างนั้น ก็ต้องมีต้นแบบการคำนวณ ซื่ง กกต.จะได้รวบรวมทุกความเห็นและข้อโต้แย้ง รวมทั้งศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีคำตอบกับสังคม กกต.ไม่ได้เป็นผู้ร่างกฎหมาย เป็นเพียงผู้ใช้กฎหมาย และยืนยันว่าที่ผ่านมา กกต.ยังไม่ได้เริ่มคำนวณเลย ส่วนเรื่องจุดทศนิยม หรือการปัดเศษต่างๆ ตนยังไม่ขอตอบ แต่ขอให้มั่นใจว่า กกต. รับฟังทุกข้อโต้แย้ง

เมื่อถามว่าจะต้องเชิญคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) มาให้ความเห็นหรือไม่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า สูตรคำนวณ เป็นเรื่องคณิตศาสตร์ที่นำมาเขียนเป็นกฎหมาย กกต.จึงต้องรับฟังทั้งความเห็นของ กรธ.และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่ามีเจตนารมณ์ในการเขียนกฎหมาย และการตีความกฎหมายนี้อย่างไร ทั้งนี้ เมื่อกกต. มีมติออกมาก็อาจจะเผยแพร่ และชี้แจงกับประชาชน ถึงอย่างไรก็หนีไม่พ้นต้องประกาศรับรองผลการเลือกตั้งในวันที่ 9 พ.ค. อย่างไรก็ตาม ประเด็นสูตรคำนวณ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ ไม่ได้กดดันการทำงานของ กกต. เพราะเป็นเรื่องที่ต้องตีความ และวินิจฉัยไปตามข้อกฎหมาย

ต่อกรณีดังกล่าว ประชาไท สัมภาษณ์ สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่มีวการจัดการเลือกตั้งเสร็จแล้ว แต่ กกต. ยังไม่มีวิธีการคิดคำนวณที่นั่ง ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อ

สมชัย ระบุว่า กกต. อาจจะเริ่มไม่มีความมั่นใจในสิ่งที่กำลังทำอยู่ ก็คงต้องให้โอกาสเขาแล้วรอดูว่าจะตั้งหลักกันอย่างไร เพราะว่าสิ่งที่ กกต. อาจจะคิดและเชื่ออาจจะเป็นปัญหาในเชิงของการตีความกฎหมายจริงๆ ดังนั้น กกต. อาจจะมองหาหลังพิง ก็เลยต้องถามไปยัง สนช. และ กรธ.

“ผมเข้าใจว่าคำถามของ กกต. จะไม่มีคำตอบ เพราะการถาม กรธ. วันนี้คือใครอยู่ที่ไหน เพราะเขายุบไปแล้ว คุณจะส่งจดหมายไปที่ใคร เรื่องนี้ในทางธุรการไม่สามารถทำได้ และการที่ กรธ. ออกมาตอบ ถ้าตอบปากเปล่าก็ไม่ได้เป็นหลักอิงที่เพียงพอ มันต้องตอบเป็นจดหมายจึงจะเป็นหลักอิงที่เพียงพอ แต่จะตอบได้อย่างไรในเมื่อองค์กรมันไม่มีอยู่แล้ว” สมชัย กล่าว

เขากล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม กกต. คงไม่ได้คำตอบที่เพียงพอที่จะนำมาเป็นข้อมูลสนับสนุนในการตัดสินใจได้ ดังนั้นสิ่งที่ กกต. ต้องทำคือการตีความกฎหมายอย่างเคร่งครัด และตรงไปตรงมา และอ่านเจตนาของการร่างกฎหมายให้ถูกต้อง และดำเนินการด้วยความเป็นกลาง โดยไม่คิดว่าจะนำไปสู่การเพิ่ม หรือลด จำนวน ส.ส. ให้กับพรรคใด หรือนำไปสู่การส่งเสริมให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตั้งรัฐบาลได้

“เป็นเรื่องที่ยากมากในสถานการณ์นี้ และ กกต. ทั้ง 7 คนจะเป็นขั้นสุดท้ายที่จะลงมติว่าจะใช้สูตรใด ซึ่งต้องรับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้นตามมา ไม่ว่าเจ้าหน้าที่ อนุกรรมการ จะเสนอมาอย่างไรก็แล้วแต่ ความรับผิดทั้งหมดจะอยู่ที่ กกต. ทั้ง 7 คน เพราะท่านมีหน้าที่ตัดสินใจ” สมชัย กล่าว

เมื่อถามจากการอ่านกฎหมายทั้งหมดแล้วมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่ จะมีการปัดเศษให้กับพรรคการเมืองที่ได้คะแนนไม่ถึง 71,065.2940 เสียง ได้รับที่นั่งในสภา สมชัยระบุว่า การคำนวณทุกอย่างตนได้เขียนเป็นเอกสารตีความกฎหมายที่ขั้นตอนเรียบร้อยแล้ว พร้อมยืนยันว่า จากการคำนวณพบว่าไม่สามารถทำให้พรรคการเมืองที่มีคะแนนไม่ถึง 71,065.2940 เสียง

ตารางการคำนวณ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ โดยสมชัย ศรีสุทธิยากร

คำนวณ ส.ส.บัญชีแบบถอดรหัส พรป.ส.ส. บรรทัดต่อบรรทัด 

โดยรองศาสตราจารย์สมชัย ศรีสุทธิยากร

มาตรา ๑๒๘ ในกรณีที่มีการประกาศผลการเลือกตั้งครบทุกเขตเลือกตั้งแล้ว การคํานวณหา จํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ จะพึงได้รับ ให้คํานวณตามวิธีการดังต่อไปนี้ โดยในกรณีที่มีเศษให้ใช้ทศนิยมสี่ตําแหน่ง

(๑) นําคะแนนรวมทั้งประเทศที่พรรคการเมืองทุกพรรคที่ส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อได้รับ จากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งหารด้วยห้าร้อยอันเป็นจํานวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร

ผลลัพธ์ 35,532,647 หาร 500  ได้เท่ากับ  71,065.2940 คน ต่อ ส.ส.ที่พึงจะมี 1 คน

(๒) นําผลลัพธ์ตาม (๑) ไปหารจํานวนคะแนนรวมทั้งประเทศของพรรคการเมืองแต่ละพรรค ที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทุกเขต จํานวนที่ได้รับให้ถือเป็นจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้เบื้องต้น และเมื่อได้คํานวณตาม (๕) (๖) หรือ (๗) ถ้ามีแล้ว จึงให้ถือว่า เป็นจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้

ผลลัพธ์ มีพรรคการเมือง 16 พรรค ที่มี จำนวน ส.ส.พึงจะมีได้ ดังนี้

พลังประชารัฐ                118.6674 คน

เพื่อไทย                      111.4557 คน

อนาคตใหม่                   88.1717 คน

ประชาธิปัตย์                  55.5507 คน

ภูมิใจไทย                     52.5275 คน

เสรีรวมไทย                   11.6306 คน

ชาติไทยพัฒนา               11.0044 คน

เศรษฐกิจใหม่                 6.8341 คน

ประชาชาติ                     6.8308 คน

เพื่อชาติ                        5.9015 คน

รวมพลังประชาชาติไทย       5.8583 คน                   

ชาติพัฒนา                     3.5467 คน

พลังท้องถิ่นไท                2.9991 คน

รักษ์ผืนป่าประเทศไทย       1.9221 คน

พลังปวงชนไทย              1.1501 คน

พลังชาติไทย                 1.0395 คน

(๓) นําจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองจะพึงมีได้ตาม (๒) ลบด้วยจํานวน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทั้งหมดที่พรรคการเมืองนั้นได้รับเลือกตั้งในทุกเขตเลือกตั้ง ผลลัพธ์คือจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นจะได้รับเบื้องต้น   

ผลลัพธ์ จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ พรรคการเมืองแต่ละพรรคจะได้รับเบื้องต้น  มีจำนวน 15 พรรค (ยกเว้น พรรคเพื่อไทยที่มีจำนวน ส.ส.เขตมากกว่าจำนวน ส.ส.ที่พึงจะมี  จึงมีจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็น 0) 

พลังประชารัฐ                  21.6674  คน

อนาคตใหม่                    58.1717  คน

ประชาธิปัตย์                   22.5507 คน

ภูมิใจไทย                      13.5275  คน

เสรีรวมไทย                    11.6306  คน

ชาติไทยพัฒนา                5.0044  คน

เศรษฐกิจใหม่                  6.8341 คน

ประชาชาติ                      0.8308 คน

เพื่อชาติ                         5.9015 คน

รวมพลังประชาชาติไทย       4.8583 คน                   

ชาติพัฒนา                     2.5467 คน

พลังท้องถิ่นไท                 2.9991 คน

รักษ์ผืนป่าประเทศไทย        1.9221 คน

พลังปวงชนไทย                1.1501 คน

พลังชาติไทย                   1.0395 คน

จำนวนรวม 160.6345 คน (ซึ่งเกินจำนวน 150 คน ของ ส.ส.บัญชีรายชื่อ)    

(๔) ภายใต้บังคับ (๕) ให้จัดสรรจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมือง จะได้รับให้ครบหนึ่งร้อยห้าสิบคน โดยจัดสรรให้พรรคการเมืองตามผลลัพธ์ตาม (๓) เป็นจํานวนเต็มก่อน หากยังไม่ครบจํานวนหนึ่งร้อยห้าสิบคน ให้พรรคการเมืองที่มีเศษจากการคํานวณมากที่สุดได้รับการจัดสรร จํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกหนึ่งคนตามลําดับจนครบจํานวนหนึ่งร้อยห้าสิบคน ในกรณีมีเศษเท่ากัน ให้ดําเนินการตาม (๖)

ผลลัพธ์  ต้องข้ามขั้นตอนนี้ไปก่อน เพราะกม.เขียนให้ไปทำ (๕) ก่อน

(๕) ถ้าพรรคการเมืองใดมีผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เท่ากับหรือสูงกว่าจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม (๒) ให้พรรคการเมืองนั้น มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามจํานวนที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และไม่มีสิทธิได้รับ การจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และให้นําจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่มีจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ต่ํากว่าจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม (๒) ตามอัตราส่วน แต่ต้อง ไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดดังกล่าวมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินจํานวนที่จะพึงมีได้ตาม (๒)

ผลลัพธ์ พรรคที่มี จำนวนส.ส.เขตสูงกว่า จำนวนส.ส.ที่พึงจะมี คือ พรรคเพื่อไทย มีจำนวน ส.ส.ที่เกินมาเท่ากับ 25.5443 คน ต้องนำจำนวนดังกล่าว ไปจัดสรรให้กับพรรคตาม (๒) ตามอัตราส่วน ทำให้ 15 พรรค ตาม (๒) ได้ จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่  ดังนี้

พลังประชารัฐ                25.1130  คน

อนาคตใหม่                   67.4223  คน

ประชาธิปัตย์                  26.1367 คน

ภูมิใจไทย                     15.6787  คน

เสรีรวมไทย                   13.4801  คน

ชาติไทยพัฒนา               5.8002  คน

เศรษฐกิจใหม่                 7.9208 คน

ประชาชาติ                     0.9630 คน

เพื่อชาติ                        6.8400 คน

รวมพลังประชาชาติไทย      5.6309 คน                   

ชาติพัฒนา                    2.9516 คน

พลังท้องถิ่นไท                3.4760 คน

รักษ์ผืนป่าประเทศไทย       2.2278 คน

พลังปวงชนไทย              1.3330 คน

พลังชาติไทย                 1.2048 คน

รวมจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ จากการนำโควต้าของพรรคเพื่อไทยไปเพิ่มให้กับพรรคการเมือง 15 พรรค เป็น จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 186.1788 คน (ซึ่งเกินกว่าจำนวน 150 คน)

(๖) ในการจัดสรรตาม (๕) แล้วปรากฏว่ายังจัดสรรจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ไม่ครบหนึ่งร้อยห้าสิบคน ให้พรรคการเมืองที่มีเศษจากการคํานวณมากที่สุดได้รับการจัดสรรจํานวนสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกหนึ่งคนตามลําดับจนครบจํานวนหนึ่งร้อยห้าสิบคน กรณีที่เศษที่เหลือ ของแต่ละพรรคการเมืองเท่ากันจนทําให้ไม่สามารถจัดสรรสมาชิกสภาผ้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อได้ครบจํานวน หนึ่งร้อยห้าสิบคน ให้นําค่าเฉลี่ยคะแนนของแต่ละพรรคการเมืองต่อจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่พึงมีหนึ่งคนมาพิจารณา โดยหากพรรคการเมืองใดมีค่าเฉลี่ยคะแนนของพรรคการเมืองต่อจํานวน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พึงมีหนึ่งคนมากกว่าพรรคการเมืองอื่น ให้พรรคการเมืองนั้นมีสิทธิได้รับ การจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกหนึ่งคน และหากยังมีจํานวนค่าเฉลี่ยดังกล่าว เท่ากันอีก ให้ใช้วิธีจับสลาก

ผลลัพธ์  ข้ามขั้นตอนนี้ เนื่องจากจำนวนที่คำนวณรวม เกิน 150 คน

(๗) ในกรณีที่เมื่อคํานวณตาม (๕) แล้วปรากฏว่าพรรคการเมืองทุกพรรคได้รับจํานวน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อรวมกันแล้วเกินหนึ่งร้อยห้าสิบคน ให้ดําเนินการคํานวณปรับ จํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อใหม่โดยคํานวณตามอัตราส่วนที่ทุกพรรคจะได้รับการจัดสรร จํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อซึ่งเมื่อรวมแล้วไม่เกินหนึ่งร้อยห้าสิบคน โดยให้นําจํานวน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองจะได้รับคูณด้วยหนึ่งร้อยห้าสิบ หารด้วยผลบวกของหนึ่งร้อยห้าสิบกับจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่เกินจํานวนหนึ่งร้อยห้าสิบ และให้นํา (๔) มาใช้ในการคํานวณด้วยโดยอนุโลม

ผลลัพธ์  คำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่ของพรรค 15 พรรคใหม่ โดยใช้สูตร คูณด้วย 150 หารด้วย 186.1788 ได้ผลเป็นจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคดังนี้

พลังประชารัฐ                20.2330  คน

อนาคตใหม่                   54.3206  คน

ประชาธิปัตย์                  21.0578 คน

ภูมิใจไทย                     12.6319  คน

เสรีรวมไทย                   10.8606  คน

ชาติไทยพัฒนา               4.6731  คน

เศรษฐกิจใหม่                 6.3816 คน

ประชาชาติ                     0.7758 คน

เพื่อชาติ                        5.5108 คน

รวมพลังประชาชาติไทย      4.5367 คน                   

ชาติพัฒนา                    2.3781 คน

พลังท้องถิ่นไท                2.8005 คน

รักษ์ผืนป่าประเทศไทย       1.7949 คน

พลังปวงชนไทย               1.0740 คน

พลังชาติไทย                  0.9707 คน

รวมจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ 150 คน พอดี แต่ ยังมีทศนิยม 4 หลักติดอยู่ ซึ่งไม่สามารถจัดสรรได้จริง เพราะต้องจัดสรรเป็นจำนวนเต็ม ต้องต้องย้อนไปดำเนินการตาม (๔) อีกรอบ

(๔) ภายใต้บังคับ (๕) ให้จัดสรรจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมือง จะได้รับให้ครบหนึ่งร้อยห้าสิบคน โดยจัดสรรให้พรรคการเมืองตามผลลัพธ์ตาม (๓) เป็นจํานวนเต็มก่อน หากยังไม่ครบจํานวนหนึ่งร้อยห้าสิบคน ให้พรรคการเมืองที่มีเศษจากการคํานวณมากที่สุดได้รับการจัดสรร จํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกหนึ่งคนตามลําดับจนครบจํานวนหนึ่งร้อยห้าสิบคน ในกรณีมีเศษเท่ากัน ให้ดําเนินการตาม (๖)

ผลลัพธ์ สามารถจัดสรรเป็นจำนวนเต็มให้แก่พรรคการเมือง 13 พรรค ดังนี้ คือ

พลังประชารัฐ                  20 คน

อนาคตใหม่                    54 คน

ประชาธิปัตย์                   21 คน

ภูมิใจไทย                      12 คน

เสรีรวมไทย                    10 คน

ชาติไทยพัฒนา                4 คน

เศรษฐกิจใหม่                  6 คน

เพื่อชาติ                         5 คน

รวมพลังประชาชาติไทย       4 คน                

ชาติพัฒนา                     2 คน

พลังท้องถิ่นไท                2 คน

รักษ์ผืนป่าประเทศไทย       1 คน

พลังปวงชนไทย              1 คน

รวมจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ 142 คน  เหลืออีก 8 คน จัดสรรโดยพิจารณาจากเศษที่เหลือจากคำนวณเรียงจากมากสุด จนถึงน้อยสุดได้ดังนี้

พรรคพลังชาติไทย          เศษ 0.9707  ได้ 1 คน

พรรคเสรีรวมไทย            เศษ 0.8606 ได้ 1 คน

พรรคพลังท้องถิ่นไท        เศษ 0.8005 ได้ 1 คน

พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย เศษ 0.7949 ได้ 1 คน

พรรคประชาชาติ              เศษ  0.7758 ได้ 1 คน

พรรคชาติไทยพัฒนา        เศษ 0.6731 ได้ 1 คน

พรรคภูมิใจไทย                  เศษ 0.6319  ได้ 1 คน

พรรครวมพลังประชาชาติไทย  เศษ 0.5367 ได้ 1 คน

เป็นผลให้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อในขั้นสุดท้ายของแต่ละพรรคเป็นดังนี้

พลังประชารัฐ                20 คน

อนาคตใหม่                   54 คน

ประชาธิปัตย์                  21 คน

ภูมิใจไทย                      13 คน

เสรีรวมไทย                   11 คน

ชาติไทยพัฒนา                5 คน

เศรษฐกิจใหม่                  6 คน

เพื่อชาติ                        5 คน

รวมพลังประชาชาติไทย       5 คน                

ชาติพัฒนา                      2 คน

พลังท้องถิ่นไท                 3 คน

รักษ์ผืนป่าประเทศไทย        2 คน

พลังปวงชนไทย               1 คน

ประชาชาติ                     1 คน

พลังชาติไทย                  1 คน

รวม จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ   150 คน

(๘) เมื่อได้จํานวนผู้ได้รับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองแล้ว ให้ผู้สมัคร ตามลําดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น เป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในกรณีที่ผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งตายภายหลังวันปิดรับสมัครรับเลือกตั้งแต่ก่อนเวลาปิด การลงคะแนนในวันเลือกตั้ง ให้นําคะแนนที่มีผู้ลงคะแนนให้ มาคํานวณตาม (๑) และ (๒) ด้วย ทั้งนี้ การดําเนินการตาม (๑) ถึง (๘) ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกําหนด

ผลลัพธ์  ยังไม่มีใครตายจึงยังไม่ต้องดำเนินการตามข้อนี้

คำนวณเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2562  เวลา 11.00 น.

รองศาสตราจารย์ สมชัย  ศรีสุทธิยากร