เมื่อวันศุกร์ที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา ภายใต้สถานการณ์ที่มีข้อจำกัดมากมายในการนำเสนอข่าวสารข้อมูลสู่สังคม มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ เปิดมีเดีย คาเฟ่-สื่อสนทนาหัวข้อ “นักข่าว นักเขียน กับเรื่องห้าม” ชวนสื่อรุ่นใหม่มองอดีต ปัจจุบัน และอนาคตการทำงานของสื่อกับเรื่องห้ามสารพัดที่คับข้องใจ และบทบาทของสถาบันสื่อในการตอบสนองต่อ “ข้อห้าม”
ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย ณรรธราวุธ เมืองสุข ผู้ช่วยบรรณาธิการเว็บไซต์ไทยพีบีเอส อดีตผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา และอดีตผู้สื่อข่าวเว็บไซต์ Deep South Watch, พิณผกา งามสม บรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท, สุเจน กรรพฤทธิ์ นักเขียนประจำกองบรรณาธิการนิตยสารสารคดี-ผู้เขียนหนังสือ “ตามรอยเจ้าอนุวงศ์ คลี่ปมประวัติศาสตร์ไทย-ลาว” และ “จากวังจันทร์สู่เวียงแหง ตามรอยนเรศวรมหาราช” โดยมี เพ็ญนภา หงษ์ทอง บรรณาธิการร่วม มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ ชวนสนทนา
เรื่องห้ามในการเขียน
เพ็ญนภา: เรื่องห้ามในการเขียนของแต่ละท่านมีอะไรบ้าง ประสบการณ์ของเรื่องที่เราทำแล้วถูกห้าม มีอะไรบ้าง
ณรรธราวุธ เมืองสุข ผู้ช่วยบรรณาธิการเว็บไซต์ไทยพีบีเอส กล่าวว่าในสังคมไทยไม่ได้เขียนได้ทุกเรื่องมานานมากแล้ว ไม่สามารถบอกได้ว่าจุดเริ่มต้นมาจากไหน เรามีหลายเรื่องที่พูดกันไม่ได้ในที่สาธารณะ หัวข้อที่นักข่าวแตะไม่ได้เลย คือ ประเด็นพระมหากษัตริย์ นอกจากเรื่องพระราชกรณียกิจ การยกย่องพระเกียรติ และมีอีกหลายๆ เรื่องที่คนทั่วไปไม่รู้ว่าเป็นเรื่องพูดถึงไม่ได้เช่นกัน เช่น เรื่องความมั่นคง จากประสบการณ์ที่ทำข่าวภาคใต้มาเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานที่สุดในชีวิตการเป็นนักข่าวของเขา สอนว่าพูดถึงเรื่องนี้ได้ยากมาก ยกเว้นการยกย่องหรือการประชาสัมพันธ์
“ถ้าจำกันได้ ผมเปิดประเด็นเรื่องของเรือเหาะที่สามจังหวัด ที่กระทรวงกลาโหมสั่งซื้อเข้ามาแพงมาก ไม่ใช่ใช้งานไม่ได้แต่เป็นเรื่องความจำเป็นที่จะสั่งซื้อ สุดท้ายพอซื้อเข้ามาก็ยังใช้งานไม่เป็น ต้องมีการฝึก สุดท้ายพยายามจะขึ้นบินแล้วตกลงมาหลายรอบ เราจึงตั้งคำถามว่าตกลงใช้งบไปเท่าไร 200 กว่าล้านไม่รวมค่าบำรุงรักษาอื่นๆ พอผมพูดเรื่องนี้ทุกคนก็จะเตือนว่ามันพูดไม่ได้ ไม่ปลอดภัย มันอันตราย”
พิณผกา งามสม บรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท กล่าวว่าในฐานะบรรณาธิการ หน้าที่ของเธอคือคนห้าม ทำหน้าที่เซ็นเซอร์ว่าอะไรแตะได้ ไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องยากเพราะเชื่อมโยงมาถึงกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในประเทศ กระบวนการบังคับใช้กฎหมาย กระบวนการตีความ ซึ่งกว้างขวางหลากหลายและยังหาหลักเกณฑ์อะไรไม่ได้เลย เช่น เรื่องมาตรา 112 พูดได้แค่ไหน อาจารย์นิติศาสตร์อาจบอกว่าจำกัดเฉพาะพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันในฐานะประมุขของรัฐ แต่ฎีกาที่เพิ่งออกมาในปี 2556 ก็ตีความเลยไปถึงรัชกาลที่ 4 เพราะเชื่อมโยงกันโดยทางสายเลือด อาจส่งผลกระทบต่อองค์ปัจจุบันได้ การทำงานจึงค่อนข้างยาก และด้วยความที่ประชาไทจับประเด็นที่สื่อส่วนใหญ่ไม่นำเสนอ จับประเด็นต้องห้ามเหล่านี้ จึงยากมากที่จะหยิบมานำเสนอ เพราะความไม่แน่นอนในการตีความกฎหมายที่เกี่ยวกับความมั่นคงและสิ่งที่แตะต้องลำบากในประเทศ
“เราทำเท่าที่เราทำได้ในเวลาที่กฎหมายคลุมเครือ โอเค เราเลือกที่จะทำไปก่อน เพราะหน้าที่สื่อคือเราต้องพยายามนำเสนอข่าวสาร เราเลือกที่จะนำเสนอไปก่อน แต่หากมีคำเตือนหรือบอกว่าไม่ได้ เราก็ต้องยกประโยชน์ให้จำเลยในแง่ที่ว่าเราไม่รู้ว่าคุณจะตีความยังไง มันก็ต้องมาคุยกันทีหลังว่าสิ่งที่เราเสนอไปนั้นมันไม่ได้ กระทบเพราะอะไร”
สุเจน กรรพฤทธิ์ นักเขียนประจำกองบรรณาธิการนิตยสารสารคดี กล่าวว่า มีข้อจำกัดมากมาย ทั้งเรื่องทุน ทั้ง taboo ของสังคมไทย งานที่เขาทำคือสารคดีประวัติศาสตร์และสารคดีสิ่งแวดล้อม สารคดีประวัติศาสตร์ แน่นอนว่าในประวัติศาสตร์นั้นมีการเมืองอยู่ด้วย
“อย่างกรณีรัชกาลที่ 4 ท่านเป็นพระอัยกาของรัชกาลปัจจุบัน วิจารณ์ไม่ได้ แต่เพียงผมพูดว่าสมัยนั้นมันมีทาสอยู่ก็ผิดแล้ว อย่างนี้ต่อไปวงวิชาการประวัติศาสตร์หรืองานเขียนประวัติศาสตร์เราก็ไม่ต้องทำงานกันเลย ไม่สามารถตีความใหม่ได้ ปิดจ็อบเลย และผมเสนอว่าถ้าเป็นอย่างนี้เราอาจต้องปิดภาควิชาประวัติศาสตร์ด้วย เพราะเราทำได้แค่อ่านแล้วท่องจำตามได้อย่างเดียว”
กรณีของทุน สุเจนบอกว่าการทำงานในองค์กรใหญ่ย่อมมีปัญหา พูดอย่างตรงไปตรงมา นักเขียนก็ยังต้องกินข้าว ต้องผ่อนบ้าน มีภาระในชีวิตอีกมากมาย ในองค์กรก็มีคนอีกจำนวนมาก เรามักจะโดนคำถามมาว่า สิ่งที่คุณทำกระทบกับคนอีกร้อยคน คุณรับผิดชอบไหวหรือ
สุเจน บอกว่าบางครั้งนักเขียนอาจต้องใช้วิธีการที่แยบยลในการแหวกข้อจำกัด ทลาย taboo เหล่านี้
“ผมเคยคิดว่าสังคมไทยมีวุฒิภาวะมากขึ้น หลังจากในช่วงสิบปีที่ผ่านมาเราสามารถวิพากษ์ประวัติศาสตร์ได้ ทำงานมาสิบปีผมเริ่มทำอะไรแปลกๆ ออกนอกกรอบวิชาการเดิมๆ ได้ ในยามปกติเราอาจจะเขียนเรื่องนี้ได้ โอเค เราอาจไม่ได้พูดในทางสาธารณะ แต่ในทางวิชาการ ในทางงานเขียนซึ่งมีหลักฐานหนักแน่น เราเขียนได้ แต่หลังรัฐประหารปี 2549 โดยเฉพาะรัฐประหารครั้งล่าสุด เราเขียนอะไรแทบจะไม่ได้เลย หรือถึงขั้นที่ผมยังคิดว่าถ้าเราเขียนไปเพื่อเอาอกเอาใจ ไม่เป็นตัวของตัวเอง สู้เรานิ่งเสียดีกว่า มันเป็นสถานการณ์ที่เราอึดอัดกันอยู่ทุกวันนี้”

ผู้ร่วมสนทนา-จากซ้าย สุเจน กรรพฤทธิ์, พิณผกา งามสม, ณรรธราวุธ เมืองสุข, เพ็ญนภา หงษ์ทอง
ข้อห้าม-ใครห้าม-ใครต้าน
ณรรธราวุธ กล่าวถึงปรากฏการณ์ของวงการสื่อหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งห้ามสื่อวิพากษ์วิจารณ์ คสช. ว่า สมาคมวิชาชีพสื่อ 4 สมาคมประชุมร่วมกันเพื่อหาแนวทางที่จะบีบให้สื่อแสดงความรับผิดชอบในการนำเสนอข่าวมากขึ้นภายหลังจากที่คณะของวิชาชีพสื่อเดินทางไปพบ คสช. ซึ่งเขาเห็นว่าจะนำไปสู่การที่จะมีเรื่องต้องห้ามมากขึ้นสำหรับสื่อ
“ทั้งๆที่สื่อต้องเป็นปากเสียงให้ประชาชน ที่เราท่องเป็นนกแก้วนกขุนทองที่ผ่านมา สื่อเป็นปากเสียงของประชาชน สื่อเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน ถามว่าเราจะไปรับผิดชอบอะไรได้ในเมื่อเราไม่มีเสรีภาพที่จะพูด”
พิณผกา กล่าวถึงท่าทีของสมาคมสื่อว่า การที่สมาคมวิชาชีพบอกว่าจะหารือกันเพื่อจะวางแนวทางเพิ่มขึ้นอีก นอกจากประกาศ คสช. ฉบับที่ 97 แล้วอำนาจตัวเองจริงๆ คือไม่มี ถ้าใครไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับคุณ ไม่ยอมรับอำนาจคุณ คุณก็ไม่มีอำนาจไปตรวจสอบเขาใช่ไหม แต่แนวทางที่เกิดขึ้นคือ พยายามจะไปดึงคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เข้ามาช่วยดูแล ซ้อนเข้าไปอีก
“นี่เป็นการเสริฟการเซ็นเซอร์สื่อให้ถึงที่ อะไรที่ตัวเองไม่มีอำนาจก็ไปดึงส่วนที่มีอำนาจมาจัดการให้ ตรงนี้เป็นอะไรที่แอคทีฟมากสำหรับการกดขี่เสรีภาพของตัวเองและเพื่อนสื่อมวลชน”
ณรรธราวุธ ตั้งข้อสังเกตว่า หลังจากเกิดการรัฐประหารรอบล่าสุดนี้ วงการสื่อจะอินมากกับคำว่า สื่อต้องมีความรับผิดชอบ มีการรณรงค์เรื่องต้องไม่มีการใช้ถ้อยคำที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง (hate speech) เหมือนว่าทุกอย่างที่สังคมไทยเดินมาขนาดนี้เพราะสื่อไม่รับผิดชอบเลย
“ผมก็คิดว่า เอ มันจริงเหรอ ไม่ได้ปฏิเสธว่าความรับผิดชอบมันสำคัญมากๆ แต่ความรับผิดชอบมันก็เป็นปัจเจกด้วย ทั้งในระดับองค์กร ในระดับของตัวคนทำงานสื่อ ทุกคนต้องรับผิดชอบ มีกฎหมายที่บังคับและควบคุมอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าเราจะเข้มงวดในการใช้กฎหมายนั้นมากน้อยขนาดไหน แต่เมื่อมองย้อนกลับไป วงการสื่อก็เต็มไปด้วยระบบอุปถัมภ์ มีแต่ระบบพวกพ้อง มันทำให้ความเข้มงวดในการตรวจสอบความรับผิดชอบมันค่อนข้างต่ำ พอถึงวันหนึ่ง ประเด็นสิทธิเสรีภาพเป็นประเด็นหลักที่จะต้องพูด เขาไม่พูด เขาจะสวิงไปพูดเรื่องความรับผิดชอบ เหมือนสร้างประเด็นซ้อนขึ้นมาเพื่อให้คนมุ่งความสนใจไปตรงนั้นโดยเฉพาะคนในแวดวงสื่อ
พิณผกา กล่าวว่า สื่อไทยน่าจะตีความคำว่า ‘รับผิดชอบ’ เกินเลยหน้าที่ตัวเองไปนิดหนึ่ง ในสังคมประชาธิปไตยไหนๆ ก็ตาม เสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารนั้นคือพื้นฐาน แล้วสื่อก็อยู่ตรงนี้คือทำหน้าที่ในการถ่ายทอดข้อมูลข่าวสาร ความรับผิดชอบของสื่อก็คือ การนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องตรวจสอบได้ เป็นข้อเท็จจริง เท่านั้นเอง คุณไม่ได้มีหน้าที่ถึงขั้นไปส่งความจริงให้คนด้วยซ้ำ
“ดิฉันไม่ได้เชื่อว่าสามารถเอาความจริงไปเสิร์ฟให้คนได้ แต่อย่างน้อยในข่าวมันต้องมีข้อเท็จจริงตรวจสอบได้ เชื่อถือได้ มีแหล่งข่าวชัดเจน เราทำแค่นี้โดยไม่ต้องคิดเรื่องฝักฝ่ายทางการเมืองว่าทำไปแล้วจะทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม คุณรู้ได้ยังไงว่าคนเขาจะแตกแยกกัน หรือคุณรู้ได้ยังไงว่าคุณเสนอข้อมูลไปคนจะไปตีความว่าอย่างไร คุณมีหน้าที่ควบคุมครอบงำวิธีตีความข่าวสารที่คุณนำเสนอหรือ ตรงนี้สื่อไทยอาจตีความเกี่ยวกับเรื่องความรับผิดชอบมากไปนิดหนึ่ง”
เพ็ญนภา: คำถามของดิฉันคือ มันน่าจะต้องตั้งหลักตั้งแต่คำว่ารับผิดชอบด้วยซ้ำไปว่า สื่อรับผิดชอบต่ออะไร เพราะเมื่อฟังคุณณรรธราวุธเมื่อสักครู่ ย้อนไปในสมัยรุ่นครูบาอาจารย์ มันเห็นชัดว่า ความรับผิดชอบของนักหนังสือพิมพ์ นักเขียนรุ่นนั้นคือการรับผิดชอบต่อผู้อ่าน ต่อสังคม ต่อมวลประชาทั้งหมด แต่ ณ วันนี้เมื่อพูดถึงความรับผิดชอบของสื่อ แต่ละเล่มดูเหมือนเขารับผิดชอบต่างกัน ตรงนี้มองอย่างไร
ณรรธราวุธ กล่าวว่า ถ้าพูดถึงเรื่องความรับผิดชอบ สื่อเลือกรับผิดชอบต่อกลุ่มคนอ่านกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น โดยจะไม่รับผิดชอบกับกลุ่มคนอ่านอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่พอใจกับการนำเสนอข่าวที่ไม่สามารถจะบอกได้ว่าข่าวชิ้นนั้นคือข้อเท็จจริง
เขาเล่าถึงความรู้สึกและสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนทำงานข่าวในระดับล่างๆที่มีปฏิกิริยาตอบโต้กับเรื่องห้ามด้วยว่า ช่วงที่ยึดอำนาจใหม่ๆ มีนักข่าวคนหนึ่งเอาสก็อตเทปมาแปะปาก เป็นการแสดงออกเพื่อจะบอกว่าทางฝ่ายทหารหรือความมั่นคงทำเกินไปแล้ว สื่อจะถามจะเดินไปดูนู่นนี่นั่นไม่ได้เลย ทหารจะไล่

“วิธีการแบบนี้มันเป็นอารยะขัดขืนที่สันติมากๆ น่ารักมากๆ สำหรับคนกลุ่มหนึ่ง แทนที่จะใช้วิธีการไปพูดไปด่า แต่เธอกลับใช้วิธีการแสดงสัญลักษณ์ของการเซ็นเซอร์ตัวเอง แต่ผลที่ได้รับคือเธอโดนไล่ออก เธอโดนนักข่าวกลุ่มหนึ่งด่าว่าอยากดัง อยากเป็นกระแส ผมงงมากเลยว่าสื่อไทยเป็นอะไรกัน ผมว่านี่คือเรื่องที่เขาต้องแอคชั่นออกมาเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพ พอมองย้อนไปวงการสื่อผมก็ไม่แปลกใจ พอถึงเวลาที่เขาต้องพูดถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพเขาจะไปพูดถึงความรับผิดชอบแทน ไปพูดถึงการปฏิรูป ทุกครั้งที่สังคมจะเดินสู่จุดวิกฤต สื่อต้องมาเสียเวลาในการปรับตัว จุดยืนจะต่ำมาก ต้องเสียเวลาในการปรับตัว ตอนปี 49 ก็ปรับนู่นปรับนี่กัน เพราะความที่เขาไม่มีจุดยืน ตอนนั้นก็ไปเฮ้ๆๆ กันเรื่องสังคมต้องสมานฉันท์ ต้องปรองดอง เขาไป take side โดยไม่รู้ตัว มาถึงตอนนี้ก็มาพูดเรื่องความรับผิดชอบ โดยไม่ได้มองเลยว่าเราพูดอะไรได้บ้าง รับผิดชอบต่อคนสองฝ่ายหรือเปล่า ต้องทบทวนตัวเองตรงจุดนี้ ไม่ใช่พูดถึงความรับผิดชอบกันแบบเรื่อยเปื่อย ไม่มีจุดมุ่งหมาย”
สุเจน วิจารณ์ว่าสื่อไทยอยู่ในภาวะล่มสลาย เมื่อเกิดรัฐประหาร ทุกคนสิโรราบกันทั้งหมด เมื่อทหารไปปิดสถานีนั้น แม้เห็นความพยายามที่จะทำงานต่อของไทยพีบีเอส แต่ไทยพีบีเอสก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าก่อนหน้านี้ก็นำเสนอค่อนข้างเอียงไปทางฝ่ายหนึ่งเยอะ
“ผมคิดว่าเราน่าจะศึกษาวิธีการต่อสู้ของสื่อรุ่นเก่า ผมไม่ได้เห็นด้วยว่าทุกคนต้องเอาตัวเข้าแลก ไปโดนยิง โดนอะไร มันไม่คุ้ม แต่สื่อรุ่นเก่า ถ้าสมมติทหารบอกว่าไม่ให้นำเสนอนะ วันรุ่งขึ้น หนังสือพิมพ์ก็จะไม่พาดหัวเลย หรือพาดหัวเลยว่าพระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันตก นั่นคือการสู้ของสื่อรุ่นเก่า ซึ่งผมคิดว่าผู้บริหารสื่อรุ่นใหม่ไม่มีความกล้าหาญในจุดนี้ เป็นเพราะเขาเป็นทุนนิยมมากขึ้นหรือเปล่าผมไม่ทราบ แต่ในฐานะคนทำงานตัวเล็กๆ เราได้แต่ยืนมองแล้วก็อึดอัด บางทีมันอาจเป็นอย่างที่อาจารย์นิธิ [เอียวศรีวงศ์] พูดก็ได้ว่า ไม่ต้องไปต่อสู้หรอก อีกหน่อยนักข่าวก็ไม่มีสิทธิพูดแล้วว่าเสรีภาพสื่อ คือ เสรีภาพของประชาชน อาจารย์นิธิเสนอเลยว่าไม่ต้องไปสู้ให้พวกมันแล้ว ปล่อยให้พวกมันตายกันไปเลย ไปเลือกรับสื่อเอาเองทางออนไลน์ คุณจะตายไปเรื่อยๆ ถ้าสื่อกระแสหลักยังไม่มีการปรับตัว”

พิณผกา เสริมว่าประกาศ คสช.ฉบับที่ 97 ไม่ได้กระทบแค่สื่อ แต่กระทบผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั้งหมด ถ้าตราบเท่าที่ประชาชนธรรมดาไม่ได้มีวิชาชีพปกป้องตัวเอง สื่อต้องมีเสรีภาพอีกชั้นหนึ่งเพื่อไปคุ้มครองเสรีภาพของประชาชนอีกทีหนึ่ง วันนั้นสื่อจะเป็นอะไรในสังคมนี้
“บทบาทสื่อจะคืออะไร ถ้าคุณขี้ขลาดกว่าประชาชนทั่วไป แล้ววันนี้เราไม่ต้องรอฉบับปริ๊นท์ รอทีวี ไม่ต้องรอกอง บก.พิจารณา เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ใครๆ ก็มี ประชาชนเขามีสื่อของตัวเอง และถ้าวันหนึ่งประชาชนเขากล้าหาญกว่าคุณ เขากล้าพูดมากกว่าคุณ กล้าวิพากษ์มากกว่าคุณ”
ณรรธราวุธ แย้งว่าจริงๆ แล้วไม่ใช่สื่อขี้ขลาด ถูกบีบบังคับ กดดันไม่ให้พูด แต่สื่อไม่พูดเองและสื่อก็เห็นด้วยที่จะไม่พูดเรื่องนี้ ประเด็นก็คือ สื่อทุกวันนี้ไม่ได้อยู่ภายใต้การถูกบีบบังคับ แต่เป็นสื่อของผู้ชนะ ผู้ชนะที่สังคมของเราเดินมาถึงจุดนี้ เราสามารถห้าม หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า ได้ ทุกวันนี้แนวคิดบางอย่างกำลังชนะ แนวคิดบางอย่างกำลังแพ้ แนวคิดที่ชนะคือแนวคิดที่สนับสนุนให้เกิดการรัฐประหาร แนวคิดเหล่านี้มันดำรงอยู่ในสื่อมาพักใหญ่ก่อนจะเกิดรัฐประหาร แนวคิดที่ว่าต้องใช้ยาแรง ใช้มาตรการของทหารมาแก้ปัญหาสังคม
“อย่างที่คุณพิณผกาบอกว่าเขาอยู่ในสื่อที่คิดอีกแบบหนึ่ง แต่สื่อทุกวันนี้การทำสื่อก็เพื่อรับเงินเดือน แต่ด้วยแนวคิดหรือเจตนารมณ์หรือวิธีการหลายๆ อย่าง ผมว่าทุกวันนี้เฟซบุ๊กเป็นสื่อมากกว่าสื่อทั่วไปอีก มันมีการวิพากษ์วิจารณ์ มีการด่าทอ มีการชื่นชม ทุกมุมเราจะเจอได้ในเฟซบุ๊ก”
เพ็ญนภา: ในฐานะที่ตัวเองเป็นนักข่าว สมัยเข้าสู่วงการถูกสอนมาและยึดเป็นหลักสำคัญคือ ตัวนักข่าวต้องอยู่ตรงข้ามอำนาจ ตั้งคำถามทุกคำถามที่เป็นการตรวจสอบอำนาจ มีการสอนกันในสมัยนี้ไหม
ณรรธราวุธ กล่าวว่า ปรากฏการณ์ทุกวันนี้คือสิ่งที่อยู่นอกตำราทั้งหมด ศรีบูรพาเป็นสุดยอดนักหนังสือพิมพ์ อิศรา อมันตกุล เป็นสุดยอดนักหนังสือพิมพ์ แต่ทุกวันนี้คนที่ไปรับรางวัลอิศรา อมันตกุล รางวัลศรีบูรพา เขาเป็นอะไร ถึงบอกว่าความหลากหลายของทุกวันนี้ไม่ใช่ความหลากหลายของปัญญา แต่เป็นความหลากหลายของความพาล เป็นการพยายามที่จะกลืนคนบางกลุ่มให้คิดเหมือนตัวเอง เป็นความหลากหลายของเผด็จการ สิ่งที่เราเรียกร้องคือ ไม่ได้อยากให้ทุกคนเห็นเหมือนกับเรา แต่อยากให้ทุกคนเปิดโอกาสให้เราพูดในสิ่งที่เราต้องการพูด อันนี้หลักการพื้นๆ มาก แต่คนอีกกลุ่มหนึ่งบอกว่าคุณอย่าไปพูดเรื่องนั้น เรื่องนี้ เรื่องอื่นๆ ก็ยังมีเสรีภาพ
พิณผกา กล่าวว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่กลัวคำถาม ไม่ชอบคำถาม หรือว่าเวลาที่คุณจะถาม นักข่าวก็กล้าถามกับเฉพาะคนที่ถามแล้วไม่มีผลสะท้อนกลับ เช่น กับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งคุณถามอะไรก็ได้ คุณถามแบบไล่บี้ยังไงก็ได้ แต่คนที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนเลยคุณกลับไม่ถาม ไม่ถามเลย ไม่กล้าตั้งคำถามกับคนเหล่านั้น แล้วก็มา exercise ประหนึ่งว่าคุณมีจริยธรรมทางวิชาชีพสูงมากในการถามคนที่เขาจะไม่ทำอะไรคุณ
“อีกประการหนึ่ง สิ่งที่นักข่าวหลายๆ คนโดน ประชาไทเองก็อาจจะโดน เราตั้งคำถาม แล้วก็มีคนบอกว่าคำถามนี้จะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรง ดิฉันคิดว่าเป็นการกลัวความขัดแย้งที่ hyper มาก เรียกว่ากลัวคนจะโกรธกัน จริงๆ แล้วคนทะเลาะกันได้ สังคมที่เป็นประชาธิปไตย สังคมที่สงบสุข ไม่ได้แปลว่าเขาไม่ทะเลาะกัน ทะเลาะกันได้เพียงแต่เขาต้องเคารพในกติกาเดียวกัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมนี้คือ เราไม่มีกติกาเดียวกัน มีคนไม่อยากเคารพกติกา อันนั้นต่างหากที่มันทำให้เกิดความขัดแย้ง มีคนที่ไม่อยากจะเคารพกติกาว่าปลายทางต้องแก้ไขด้วยการเจรจา ด้วยสันติวิธี ด้วยการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ นั่นต่างหากที่สร้างความขัดแย้งและมันทำให้เห็นว่า ประเทศไทยนี้อีกไกลมาก ไม่อยากจะพูดคำนี้เพราะมันง่ายเกินไป ว่าเหมือนอยู่ในยุคมืดเลย แต่เวลาที่เกิดคำถาม การยั่วแย้ง สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่บทสนทนา แต่คือการปิดปากและการกดขี่ แล้วสิ่งที่น่ากลัวมากขึ้นสำหรับปัจจุบันคือ มันไม่ใช่การปิดปากของคนที่มีอำนาจปืน แต่มันคือคนทั่วไปและรวมถึงสื่อที่จริงๆ แล้วควรจะทำหน้าที่ในการปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานอันนี้”
ข่าวที่ไม่เขียน
เพ็ญนภา: ถ้าเข้าใจไม่ผิด ประชาไท เห็นเป็นหนึ่งในสองสื่อ ที่มีการเผยแพร่คำถามและคำตอบของประวิตร โรจนพฤกษ์ ที่มีต่อ รธน.มาตรา 44 ถามว่าไทยพีบีเอสลงข่าวอันนี้ไหม
ณรรธราวุธ ผู้ช่วยบรรณาธิการเว็บไซด์ไทยพีบีเอส ตอบว่าสื่อที่เขาดูแลไม่ได้เผยแพร่ข่าวดังกล่าว ซึ่งโดยทั่วๆไปแล้ว ข่าวอย่างกรณีของประวิตร โรจนพฤกษ์ หรือแม้กระทั่งสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ก็แทบไม่ได้อยู่ในสื่อกระแสหลักอยู่แล้ว การที่สื่อเลือกไม่พูดบางเรื่อง ไม่ใช่เพราะโดนกดดัน กดขี่ทำให้ไม่สามารถพูดได้
“ยกตัวอย่างกรณีที่มีการเปิดโปงสื่อกลุ่มหนึ่งที่ไปรับเงินของทุนใหญ่ เรื่องง่ายๆ ตื้นๆ ที่ทุกสามารถพูดได้ ไม่ใช่เรื่องทหาร คสช. พระมหากษัตริย์เลย ถ้าเป็นต่างประเทศจะมันมากเลย มีการเปิดโปงกันมากมาย แต่เชื่อไหม ผมมีข้อความเข้ามาทางเฟซบุ๊กหลายข้อความมากเลยว่า มีองค์กรมึงด้วยหรือเปล่า มึงอย่าพูดถึงเรื่องนี้บ่อยนักมันจะกระทบกับคนนั้นคนนี้ ผมก็ถามว่าทำไมเราไม่พูดเรื่องพวกนี้กัน เขาก็บอกว่ามันมีมานานแล้ว ถึงไม่แจกเงินให้ก็แจกมือถือกันทุกปี พาไปเที่ยวต่างประเทศ มันเป็นเรื่องธรรมดามาก แต่สำหรับผมมันไม่ธรรมดา คือ ที่ผ่านมาคุณรู้ปัญหาแต่ทำไมถึงไม่พูด เพราะฉนั้น เราจะพูดถึงเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมยังไง ความรับผิดชอบต่อตัวเองยังไม่มีกันเลยในแวดวงสื่อทุกวันนี้ เครือโพสต์ยอมรับก่อนว่ารับเงินมา แต่ไม่ยอมรับว่ารับเงินมาเพื่อนำเสนอข่าวแต่รับมาเพื่อลงโฆษณา อันนี้เป็นข้อเท็จจริง ก็นำมาซึ่งการตั้งกรรมการสอบของสมาคมสื่อ เรื่องนี้เป็นข่าวอยู่สองวันจริงๆ หลังจากนั้นหายไปหมดเลย มันสะท้อนถึงรากฐานที่เน่ามากของวงการสื่อเลย”
ระบบอุปถัมภ์ในวงการสื่อ
สุเจน กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า เป็นปัญหาระบบอุปถัมภ์ เรารู้จักกันแบบพี่แบบน้อง เราก็ไม่อยากทำร้ายกัน มันมีเรื่องนี้อยู่ด้วยทั้งๆ ที่มันผิดหลักการ “อีกอย่างหนึ่งตัวสมาคมสื่อไทยเอง ถ้าเราไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งของเขาทุกเดือนมีนาคม ผมไม่เรียกว่าการเลือกตั้งนะ แต่เรียกมันว่าการสืบทอดอำนาจ เพราะเลือกกันไว้แล้วแล้วก็มายกมือรับรองเป็นพิธี ผมเคยเช็ค เคยถามอยู่เหมือนกันและพบว่าในอดีตเคยมีการเลือกตั้งจริงๆ แต่เขาเห็นว่ามันทำให้เกิดความขัดแย้ง แบ่งฝ่าย ก็เลยเลิกระบบนี้ไป”
“ตอนนี้ผมรู้แล้วว่าปีหน้า นายกสมาคมนักข่าวคือใคร” ณรรธราวุธ เสริม
ข่าวที่กระทบทุน
เพ็ญนภา: สื่อของคุณสุเจนมีภาพลักษณ์ความเป็นสื่อที่ทำเรื่องสิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์ ในขณะที่องค์กรขนาดใหญ่ของประเทศเราขณะนี้ทำงานที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน แล้วเป็นสปอนเซอร์หลักของหลายสื่อ ถามว่า ประเด็นแรก การทำงานของกอง บก.สารคดี ได้รับผลกระทบจากการซื้อโฆษณาขององค์กรนี้หรือไม่ ประเด็นที่สอง ประวัติศาสตร์ ตอนนี้เหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นเป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ถือเป็นประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง รวมถึงการขับเคลื่อนมาตรา 112 ที่ผ่านมา มันมีผลต่อากรทำงานที่จะเป็นการบันทึกทางประวัติศาสตร์หรือไม่อย่างไร
สุเจน ตอบว่าในส่วนของตัวเองนั้นยังทำงานได้ 90% แต่ก็ต้องระวัง ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เขาเขียนวิจารณ์องค์กรยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งได้ แต่ไม่สามารถลงภาพชาวบ้านถ่ายคู่กับท่อส่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ได้ เพราะในทางเนื้อหาภาพแรงกว่า ถามว่าโฆษณากระทบกับนิตยสารไหม นิตยสารทุกเล่มในเมืองไทยโดนหมด เพราะนิตยสารในเมืองไทยไม่ได้อยู่ได้ด้วยคนอ่าน
“เราทำงานภายใต้ข้อจำกัดและพยายามจะดีล ถ้าบริษัทไหนมาลงโฆษณา ถ้าประเภทบอกว่าโรงไฟฟ้าดีนั้นไม่เอา จะปลูกป่าอะไรก็เรื่องของคุณ แต่บางทีเราก็ใช้วิธีทำข่าวประกบในอีกด้านหนึ่ง”
ในแง่งานเขียนสารคดีประวัติศาสตร์ สุเจนตอบว่าเป็นเทคนิคของแต่ละคนแล้วว่าจะเอาชนะข้อจำกัดอย่างไร “ผมก็จะทิ้งประโยคบางประโยคไว้ จับผมได้ก็จับแล้วกัน จับไม่ได้ก็หลุดออกไป นักเขียนก็มีวิธีการของเขา ยิ่งบทกวีนี่ยิ่งจับไม่ได้ไล่ไม่ทันใหญ่เลย ผมว่านักเขียน นักข่าวที่ดี รู้ข้อจำกัดตัวเองแต่ก็จะไม่ยอมหมอบราบคาบแก้ว”
ณรรธราวุธ เสริมว่าจริงๆ แล้วเราสามารถเขียนได้ทุกเรื่อง ใช้ความสามารถของตัวเองในการเขียนออกมา แต่ทำไมไม่เขียน ก็เพราะเลือกที่จะไม่เขียนอยู่แล้วแต่แรก เลือกที่จะไม่พูดอยู่แล้วแต่แรก เลือกจะชื่นชมบางแนวคิดอยู่แล้วแต่แรก
เพ็ญนภา: ถามซื่อๆ เลย ถ้าสื่อเลือกเช่นนั้นแต่แรก ผิดไหม
พิณผกา: แบบนั้นก็ชัดดี คุณอยู่ฝั่งไหนก็ยอมรับไปนะ แต่ก็ต้องเตรียมยอมรับกับคำวิพากษ์วิจารณ์ด้วย คุณเชียร์ไปเลย ชัดเจนเลย “แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือเราไม่ได้พูดกันตรงๆ แล้วอาศัยความมีคุณธรรมบางอย่าง จริยธรรมวิชาชีพ มาครอบงำ อาศัยการเป็นที่ยอมรับในสังคมมาพูดแล้วคิดว่าคนอื่นเขาจะฟัง จริงๆ แล้วเป็นการดูถูกสติปัญญาคนอื่นมาก ไม่ใช่ว่าเขาไม่รู้ คุณพูดออกมาตรงๆ ดีกว่าว่าหมายถึงอะไร”
เพ็ญนภา: ในอเมริกา ในช่วงเลือกตั้งสื่อจะประกาศเลยว่าเชียร์เดโมแครต หรือเชียร์รีพับลิกัน แล้วให้คนอ่านใช้วิจารณญาณเอาเอง แปลว่าคุณพิณผกามองว่า หากสื่อไทยปรับตัวองไปสู่จุดนั้นจะโอเคใช่ไหม
พิณผกา: ใช่ แล้วคุณจะไม่งงจุดยืนตัวเอง เอาง่ายๆ ประชาไทเราประกาศใน code of conduct เรายอมรับว่าเราเป็น advocate media สำหรับประชาธิปไตย เรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เรื่องสิทธิมนุษยชน ต้องให้ก่อน เป็น priority ก่อน อันนี้เป็นจุดยืน ถ้าคุณเข้ามาอ่านไม่พอใจก็ไม่เป็นไร จะวิพากษ์วิจารณ์ก็ส่งมาได้ เราก็แฟร์พอจะลงให้คุณ เราก็จะไม่งงจุดยืนเราไง แปลว่ามีรัฐประหารเราก็จะต่อต้าน
สื่อในสังคมประชาธิปไตย
เพ็ญนภา: ที่ผ่านมาแนวคิดของสังคมมักมองว่าสื่อควรต่อต้านอำนาจรัฐ สนับสนุนประชาธิปไตย ถ้าหากวันนี้เราไม่ได้มีรัฐบาลมาจากประชาธิปไตย สื่อสนับสนุน คสช.ชัดเจน สื่อยังสามารถประกาศตัวเป็นสื่อ เป็นที่ยอมรับได้ไหม
พิณผกา: แม้แต่ในสังคมประชาธิปไตยอย่างสหรัฐอเมริกา ก็ไม่ใช่จะไม่มีกลุ่มอนุรักษ์นิยม และมีเป็นกลุ่มใหญ่ด้วย คุณเชื่ออะไรคุณก็แสดงมันออกมา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ คุณไม่แสดงว่าคุณเชื่ออะไร ไม่แสดงออกมาอย่างเปิดเผยจริงใจ สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นการแสดงจุดยืนที่ลักลั่นย้อนแย้งตลอดเวลา แต่โอเค มาถึงจุดนี้มันไม่ค่อยจะย้อนแย้งแล้ว ถึงที่สุดคุณก็อาจจะเชฟตัวเองไปสู่จุดนั้น แต่ว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือความแฟร์ของการให้พื้นที่ข่าว ไม่ว่าจะอยู่ในจุดไหนก็ตามก็ต้องให้พื้นที่กับฝั่งที่คุณไม่เห็นด้วยอยู่ดี
สุเจน: สิ่งที่ไปเห็นมากับการทำงานของสื่อในโลกประชาธิปไตยประเทศอื่น เขาประกาศตัวก็จริงว่าเชียร์ใคร แต่สิ่งที่เขาทำคือให้พื้นที่กับทั้งคู่ ผมไม่รู้ว่าคนอื่นเป็นยังไง แต่ผมพยายาม keep ตรงนี้ไว้ เคยมีกรณีหนึ่งที่เจอเรื่องของโรงไฟฟ้า ชาวบ้านมโนเอง โรงไฟฟ้าไม่ได้ผิดอะไรเลย นักข่าวส่วนหนึ่งชอบคิดว่าชาวบ้านคือฝ่ายถูกต้องเสมอ ไม่เผื่อใจไว้ตรงกลางเลย
"ผมว่ามันไม่ผิด แต่ผมคิดว่านักข่าวบ้านเรา ผมไม่ได้บอกว่าผมเป็นมืออาชีพมากพอ แต่เราต้อง keep ที่จะให้พื้นที่เขา เขาปฏิเสธก็อีกเรื่องหนึ่ง หลายครั้งผมเขียนสารคดีจะบอกเลยว่าอีกฝ่ายไม่ตอบรับ พยายามต่อแล้ว แต่บางทีถ้ามีข้างเดียวก็เลือกไม่ลงเลยหากกระทบแรงๆ ผมคิดว่าไม่ผิดที่จะเลือกข้าง แต่นักข่าวเราตอนนี้เลือกข้างแล้วอินมาก"
ณรรธราวุธ: เราไม่ได้เรียกร้องให้ทุกคนเห็นเหมือนกันนะ แม้กระทั่งจะบอกว่าให้ทุกคนต่อต้านเผด็จการให้หมด ยืนฝ่ายประชาธิปไตยให้หมด ผมไม่เคยเรียกร้องแบบนั้นเลย บางอย่างผมก็ลักลั่นในตัวเองเหมือนกัน มันไม่มีใครเป็นมนุษย์สมบูรณ์แบบ เป็น perfect man แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่เรียกร้องคือ เราเรียกร้องวิจารณญาณของคุณ เปิดรับฟังในสิ่งที่ควรจะได้พูด คุณต้องปล่อยให้เขาได้พูด ต้องเปิดใจว่าสังคมเรามีคนหลากหลาย อาจคิดและแสดงออกต่างจากที่คุณเชื่อ แต่ที่เป็นปัญหาคือ ฝ่ายที่คิดว่าตัวเองดีอยู่แล้ว เป็นฝ่ายธรรมะ จะเห็นว่าฝ่ายที่คิดต่างเป็นอธรรมหมด มันจึงเกิดปัญหาขึ้น ถ้าทุกคนคิดว่าความแตกต่างตราบใดไม่ละเมิดกฎหมาย ไม่ละเมิดสิทธิของคนอื่น มันก็จะไม่เกิดปัญหา ทุกคนปล่อยให้พูดอย่างเท่าเทียมกัน
“ถ้าถามว่าสิ่งที่เราพูดไม่ได้หรือเขาห้ามพูดอะไร แต่เราถามว่าเราพูดอะไรได้บ้าง อีก 5-10 อาจต้องจัดเวทีเรื่องนี้ เหลืออะไรที่เราพูดได้บ้าง ทุกวันนี้เราพูดได้แต่ความดี พูดความชั่วไม่ได้ สังคมไทยชาชินมากๆ กับการเซ็นเซอร์ อย่างการพูดถึงความมั่นคง หนังของคุณยุทธเลิศ สิบปปภาค เรื่องมาตุภูมิ ทุกวันนี้ห้ามฉายเพราะพูดเรื่องภาคใต้ ไม่ต้องพูดถึงเลยว่าในวันหนึ่ง นายใน จะถูกทำเป็นหนังที่เราอยากดูมากๆ มันไม่มีทางเกิดขึ้นจนกว่าฮอลีวู้ดจะเจอหนังสือเล่มนี้แล้วมาทำเป็นหนัง นมของชิซูกะก็เห็นไม่ได้ เราถูกเซ็นเซอร์จนเคยชินจนคิดว่าคือความปกติ จนวันหนึ่งเราเห็นนมชิซูกะขึ้นมาก็กลายเป็นเรื่องผิดปกติที่เราต้องต่อต้าน”
พิณผกา: เรื่องการเซ็นเซอร์ เวลาเราต้องทำข่าวเกี่ยวกับเรื่องที่แตะต้องลำบากอย่างคดีที่เกี่ยวกับมาตรา 112 หรือข่าวอะไรก็ตามที่มันลำบากแบบที่มันเกินกำลังที่จะเกลา ข้อความแบบนี้มันเกลาไม่ได้ เรายอมรับกันไปตรงๆ เลยดีกว่าว่าเรานำเสนอไม่ได้ ให้ยกออกทั้งชิ้นเราก็ไม่ยอม เราเลยคาดดำ คนก็ฮือฮาว่าประชาไทท้าทายมาก ไม่นะคะ เวลาสื่อต่างประเทศอ่านเขาตกใจมากว่าขนาดสื่อที่ดู progressive แล้วยังเซ็นเซอร์ตัวเองขนาดนี้เลยหรือ นี่คือ เรานำเสนอมากที่สุดแล้วเท่าที่เราจะทำได้
สุเจน: ผมก็ไม่รู้ว่าเราเดินถอยมาถึงจุดนี้ได้ยังไง มาอยู่เหมือนกับเหมือนบ้านที่เป็นสังคมนิยม ผมเคยไปอบรมงานนักข่าวงานหนึ่ง ผมคุยกับนักข่าวพม่า น่าแปลกมาก ประเทศพม่าปิดที่สุดแต่สื่อกลับมีแรงต่อสู้มากที่สุด ขณะที่สื่อในประเทศสังคมนิยมเขาจะมีแววตาแปลกๆ ผมคุยกับเขาทำไมเขียนเรื่องนี้ไม่ได้ๆ ผมว่าสื่อไทยก็เริ่มใกล้เคียงขึ้นเรื่อยๆ ผมกลัวว่าวันหนึ่งเราจะหยุดตั้งคำถามกัน งานนักข่าวจะกลายเป็นงาน white-collar ไม่ต้องคิดอะไรอีกเลย เอาข่าวแจกมาเขียนเท่านั้น เทรนด์นี้น่ากลัวมากสำหรับสื่อในอาเซียน
นักข่าวยังจำเป็นอยู่หรือไม่
เพ็ญนภา: ปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดในสังคมออนไลน์ สิ่งที่เรียกว่า นักสืบพันทิป อันนี้ทำงานดีแบบน่าตกใจเลยนะ ไม่ได้พูดถึงประเด็นที่เขาไปขุดคุ้ย แต่มันเห็นว่าต่อไปเราอาจไม่ต้องพึ่งนักข่าว เวลาที่กลุ่มผู้อ่านอยากรู้อะไรเขาสามารถขุดคุ้ยได้เองอย่างดีมากๆ
ณรรธราวุธ: จริงๆ สังคมไม่ต้องการสื่อมานานแล้ว เพราะสื่อไม่เคยตอบโจทย์ที่เติมเต็มสังคม ไม่สามารถเป็นปากเสียงหรือตัวแทนสิทธิเสรีภาพของสังคมได้ ทุกวันนี้สื่อทำไปตามหน้าที่ที่เคยมี และเป็นธุรกิจหนึ่งที่ดูดเม็ดเงินโฆษณาได้ ฉะนั้นการเกิดของไทยพีบีเอสจึงต้องเลือกแนวทางแนวทางหนึ่งแล้วมาปั้นเป็นตุ๊กตา เป็นโมเดล ไม่ได้ยึดโยงกับแนวทางเก่าที่สื่อทำกันอยู่
ถามว่าสื่อยังจะเป็นความหวังของสังคมได้ไหม ไม่ต้องพูดแล้วล่ะ คงต้องมาถามสื่อเองแล้วว่ายังจะทำกันต่อไปอย่างนี้หรือเปล่า หรือต้องปรับตัวเอง ปรับวิธีคิด รูปแบบบางอย่างที่คิด ตัดสินแทนสังคม ทำให้สังคมกลายเป็นเด็ก ไม่เชื่อมั่นในวิจารณญาณของคนอ่านเลย สื่อมองว่าเป็นสังคมล้าหลัง สื่อเป็นหัวก้าวหน้าต้องชี้นำ แล้วการชี้นำก็ตีความกันผิดๆ ท่องคัมภีร์แล้วมาท่องมากล่อมให้สังคมเชื่อ ทั้งที่หน้าที่ของสื่อคือ ให้ความรู้ ให้ข้อมูลข่าวสาร ไม่ต้องชี้นำความคิดคนเลย ปล่อยให้คนเขาคิด เขาตัดสินเอา แล้วเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายได้เล่าอย่างเท่าเทียม มันจะไม่มีปัญหาเลย
สุเจน: มันกลับไปสู่จุดที่ว่าเราต้องเชื่อในวิจารณญาณคน ยกตัวอย่าง รายการนักข่าวพลเมือง ถามว่านักข่าวยังจำเป็นไหม ผมว่าเราต้องเปลี่ยนบทบาทตัวเอง นักข่าวหลายคนคิดว่าตัวเองเป็นตะเกียง แต่เดี๋ยวนี้คนเขาเตะตะเกียงทิ้งไปหมดแล้ว เอาน้ำสาดด้วย ผมคิดว่านักข่าวเป็นแค่กระจก ส่วนจะสะท้อนได้แค่ไหนขึ้นกับความสามารถของนักข่าว ถ้าเราสื่อสารข้อมูลของทุกฝ่ายได้เต็มที่อย่างที่ควรจะเป็น ผมเชื่อว่าคนรู้ เวลาผมดูรายการอย่างข่าวพลเมืองของไทยพีบีเอส แม้จะเป็นชาวบ้านที่โดนเขื่อนไปสร้างทับ ผมก็จะชั่งน้ำหนัก เพราะชาวบ้านเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง แน่นอน ทิศทางของเขาทำเพื่อ defend ตัวเองอยู่แล้ว หรือย่างที่ผมยกตัวอย่างเรื่องโรงไฟฟ้าที่พอลงไปดูจริงๆ แล้วเขาไม่ได้ผิด มันจึงกลับไปสู่จุดที่บางทีคนกลางก็ยังจำเป็นอยู่ นักข่าวพลเมืองเขาก็ไม่มีเวลามานั่งทำข่าวทั่วไปเหมือนที่นักข่าวมืออาชีพทำได้ นักข่าวมืออาชีพต้องปรับบทบาทตัวเอง ไม่ใช่แคปบทความในเฟซบุ๊กนักวิชาการเอามาขึ้นเว็บ คุณน่าจะมีเวลามากขึ้น น่าจะทำข่าวเจาะ สิ่งนี้น่าจะเป็นสิ่งที่นักข่าวยังทำได้
เพ็ญนภา: ระหว่างการมีสื่อแต่สังคมเต็มไปด้วยเรื่องต้องห้ามมากมาย กับการไม่มีสื่อเลยมันต่างกันไหม
พิณผกา: มันเป็นการสมมติที่สุดโต่งอยู่เหมือนกัน เพราะเวลาพูดว่าไม่มีสื่อคือไม่มีสื่อแบบไหนด้วย เราอาจมีเรื่องต้องห้ามมากมายแต่เราอยู่ในยุคที่ใช้เทคโนโลยีไอทีกันเยอะมาก เราไม่คิดว่าตัวประกาศ ความคิดต้องห้ามทั้งหลาย จะสามารถ exercise อำนาจได้อย่างสมบูรณ์ มันมีรอยรั่วมีพื้นที่เสมอในที่ที่คนเขาอยากแสดงความเห็น อยากจะดิ้นรน เราอาจพูดเปรียบเทียบตัวเองกับเพื่อนบ้านกันมาก มีหลายคนเปรียบเทียบไทยกับพม่ากันมาก แต่เราไม่คิดว่ามันจะเป็นแบบนั้น เพราะคนไทยอยู่กับสิทธิเสรีภาพมานานกว่ามาก มีพื้นฐานเรื่องนี้อยู่โดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ลองนึกถึงวันที่ คสช.ยึดอำนาจแล้วเปิดเพลงปลุกใจซ้ำๆ มีการปล่อยข่าวว่า คสช.จะปิดเฟซบุ๊ก แต่ในที่สุดคสช.ก็ต้องเปิดเพจขึ้นมาหนึ่งเพจ เพราะการปิดเฟซบุ๊กกระเทือนคนที่เห็นด้วยกับคุณด้วย ซึ่งมีจำนวนมาก โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ การที่เปิดแต่เพลงปลุกใจขนาดคนที่เชียร์คุณยังทนไม่ได้เลย เราจะเรียกว่าอะไร จะเรียกว่าสปอยล์ก็ได้ เราคุ้นชินกับเสรีภาพระดับหนึ่งและทนไม่ได้กับการปิดกั้นขนาดนั้น จัดระเบียบขนาดนั้น เราไม่คิดว่าคนไทยจะคุ้นชินกับอะไรแบบนี้ได้ เพราะเราอยู่กับเสรีภาพมาระดับหนึ่งและจะมากจะน้อยเราก็ exercise กับนักการเมืองชั่วๆ มาตลอดว่าต้องวิพากษ์วิจารณ์ได้
ณรรธราวุธ: สื่อมีบทบาทน้อยลง แต่จะว่าไม่ต้องการเลยก็ไม่ใช่ แต่ลองนึกดูว่าทุกวันนี้คุณอยู่กับสื่อหรืออยู่กับโทรศัพท์ กับพื้นที่ของตัวเอง คนไม่อ่านหนังสือพิมพ์อยู่ได้ แต่ไม่มีโทรศัพท์ได้ไหม ถามว่าสื่อยังจำเป็นขนาดไหน ยังจำเป็นอยู่ แต่ถ้ายังเลือกทำข่าวเจาะแต่กับคนที่ตัวเองไม่ชอบอยู่ อยากจะกล่อมเกลาให้คนเห็นว่าคนกลุ่มนี้มันชั่วจริงๆ แบบนี้ถึงวันหนึ่งก็คงได้คำตอบว่าไม่จำเป็นแล้ว เพราะทุกคนเป็นนักข่าวได้เอง ถ้ายังทำกันแบบนี้มันอาจถึงจุดที่คนคิดว่าสื่อเป็นกาฝากของสังคม และผมกลัวมากที่จะถึงภาวะนั้น
สุเจน: ผมว่ามันขึ้นกับสื่อแล้ว แต่ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่าถ้าย้อนไปดูประวัติศาสตร์ของสื่อ ดูพม่าเขาโดนกดทับมาเกือบครึ่งศตวรรษ แต่สื่อของเขาแอคทีฟมาก ผมเพิ่งไปทวายมาแล้วก็พบว่าชาวบ้านของเขาเชื่อมั่นในสื่อของเขา เชื่อว่าจะเป็นปากเป็นเสียงให้เขาได้ พม่าวันนี้มีเฟซบุ๊กแล้ว และเชื่อว่าสื่อพม่าจะไปไกลกว่าสื่อไทย เขากำลังเริ่มใช้เครื่องมือใหม่ ส่วนความคิดของนักข่าวพม่าเขาก้าวหน้ากว่าเราหลายช่วงตัว เขาทำข่าวเจาะ เน้นการวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำ โดนปิดกั้นออกมาประท้วง ผมคิดว่าห้าสิบปีที่ผ่านมาเขาไม่ได้หลับไหล ขณะที่เราเพิ่งโดนไม่กี่เดือนแต่เราหลับสนิท ผมยังคิดเคยที่สมาคมนักข่าวออกมาแถลงไม่กี่วันก่อน คุณเพิ่งตื่นเหรอ วันที่ 22 พ.ค.เกิดอะไร อันที่จริงวันที่ 23 พ.ค. พาดหัวข่าวต้องไม่ลงอะไรเลย ปล่อยกระดาษทิ้ง นี่คือการต่อสู้ขั้นต่ำของนักหนังสือพิมพ์
นักข่าวปกติก็ตกต่ำอยู่แล้ว เคยไปทำสารคดีเรื่องป้ายหาเสียง อยู่ๆ เจ้าของบริษัทเอาเงินมายัดให้ 5,000 บาท ผมไม่รับ แต่มันหมายความว่ายังไง ผมยังนึกไม่ออกว่าเรายังมีรางวัลศรีบูรพา อิศรา อมันตกุล กันไปทำไม เราให้กันด้วยหลักเกณฑ์อะไร
ณรรธราวุธ: ทุกวันนี้พอถึงวันที่ต้องมอบรางวัล เหล่านี้ เป็นวันที่ผมรู้สึกคันมาก เรายังรับรางวัลในชื่อเหล่านี้แต่ไม่ได้รับเอาแนวคิดหรือจิตวิญญาณแบบนั้นมาทบทวนตรวจสอบตัวเองว่าเราเป็นอย่างเขาได้หรือเปล่า ไม่ได้ทั้งหมดแต่ก็ได้บางส่วนก็ยังดี รักประชาธิปไตย รักประชาชน รักความเป็นธรรม พอหรือเปล่า ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้คุณต้องปฏิเสธรางวัล แต่ก็ยังรับกันได้