PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2562

นิติศาสตร์ มช. แถลงจวก กกต. มีไว้ทำไม ซัดไร้ความรู้-ไร้ความสามารถ

ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มช. ออกแถลงการณ์ จวก กกต. ซัดไร้ความรู้ความสามารถ เลือกปฏิบัติ ไม่โปร่งใส หากไม่มีประสิทธิภาพจะมี กกต. ไว้ทำไม !?

วันที่ 24 เมษายน 2562 เฟซบุ๊ก ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ออกแถลงการณ์เรื่อง กกต. มีไว้ทำไม โดยเนื้อหาระบุถึง การทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ผ่านมา ที่ทำให้เกิดข้อกังขา 4 ประเด็นสำคัญ แถมยังถามทิ้งท้ายว่า หากไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว สังคมไทยจะมี กกต. เช่นนี้ไว้ทำไม

          โดยระบุเนื้อหาดังนี้... คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นองค์กรที่ถูกจัดตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2540 เนื่องจากความต้องการที่จะทำให้กระบวนการเลือกตั้งเป็นไปอย่างสุจริตและเที่ยงธรรม แก่ทุกฝ่ายที่เข้ามาแข่งขันในทางการเมือง กกต. จึงได้รับการออกแบบในฐานะขององค์กรอิสระ ทั้งในแง่ของกระบวนการคัดสรร การให้ความเห็นชอบ ความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งระยะเริ่มต้น กกต. ได้ปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นอย่างดี ในฐานะองค์กรที่มีความเป็นกลาง และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างตรงไปตรงมา

          อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับองค์กรอิสระหลายองค์กร องค์กรนี้ได้ถูกปรับเปลี่ยนและทำให้ระบบราชการเข้ามามีอำนาจครอบงำเพิ่มมากขึ้น ภายใต้ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น ในรอบ 2 ทศวรรษ ก็มีผลสำคัญทำให้องค์กรเหล่านี้อยู่ภายใต้การครอบงำของระบบราชการ และการเลือกฝักฝ่ายทางการเมืองที่เห็นได้ชัดเจน ความพยายามในการจัดการเลือกตั้ง "ให้ล้มเหลว" ก่อนรัฐประหาร 2557 ก็เป็นสิ่งที่ยืนยันได้เป็นอย่างดี

          รัฐธรรมนูญ 2560 ได้ปรับเปลี่ยนองค์ประกอบและกระบวนการสรรหา ภายใต้การโฆษณาว่าจะได้ "มนุษย์เทพ" มาทำหน้าที่ แต่มาถึงบัดนี้ก็ชัดเจนว่าการทำงานของ กกต. ทำให้เกิดความกังขาใน 4 เรื่องสำคัญ

          ประการที่ 1 ความสามารถการจัดการเลือกตั้งที่ผ่านมา ประสบปัญหานับตั้งแต่การเลือกตั้งล่วงหน้า ทั้งภายนอกและภายในประเทศ กกต. ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปอย่างปกติที่พึงมี ในสังคมประชาธิปไตยทั้งหลาย การไม่นับคะแนนที่มาจากต่างประเทศ หรือการจัดคูหาที่แออัดต่อการเลือกตั้งล่วงหน้าในประเทศ ทั้ง 2 เรื่อง เป็นสิ่งที่สามารถคาดหมายได้ไม่ยาก แต่ก็ไม่มีการตระเตรียมไว้ให้พร้อม ย่อมสะท้อนความสามารถในการจัดการเลือกตั้งว่ามีอยู่ในระดับใด

          ประการที่ 2 ความโปร่งใส แม้กระทั่งผ่านการเลือกตั้งไปหนึ่งเดือน ไม่เพียงไม่สามารถประกาศผลอย่างเป็นทางการ รวมถึง กกต. ก็ไม่เปิดเผยคะแนนเลือกตั้งรายหน่วยแก่สาธารณะ กลับให้ผู้ต้องการข้อมูลไปขอจากแต่ละจังหวัดด้วยตนเอง ทั้งที่การเปิดเผยข้อมูลระดับหน่วยเลือกตั้ง จะช่วยทำให้สามารถเห็นได้ว่าการทำงานของ กกต. ดำเนินไปอย่างถูกต้อง โดยมิได้มีการเอียงเข้าหาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ในอดีตที่ผ่านมา กกต. ก่อนหน้านี้ ก็ได้เปิดเผยต่อสาธารณะโดยตลอด จึงย่อมเป็นคำถามได้ว่าเหตุใดครั้งนี้ จึงไม่กล้าเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ

          ประการที่ 3 ความรู้ เป็นที่น่าตระหนกอย่างมาก เมื่อทาง กกต. ได้ส่งประเด็นสูตรการคำนวณจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ไปให้กับทางศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ขาด ไม่ว่าจะศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำตัดสินลักษณะใด แต่ในเบื้องต้นย่อมทำให้เกิดความคลางแคลงใจอย่างยิ่งว่า เพราะเหตุใด กกต. กลับไม่มีความรู้ในเรื่องของการคำนวณจำนวน ส.ส. ทั้งที่เป็นภาระหน้าที่หลักขององค์กร

ประการที่ 4 การเลือกปฏิบัติ เห็นได้ชัดว่าเมื่อมีการกล่าวหาต่อพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจรัฐ กับพรรคการเมืองที่ยืนอยู่ตรงกันข้ามกับผู้มีอำนาจรัฐในขณะนี้ จะเห็นได้ถึงการปฏิบัติที่แตกต่างกันเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านของความรวดเร็ว การแสวงหาหลักฐาน แนวโน้มของคำวินิจฉัย เช่น กรณีโต๊ะจีน, เอกสารราชการหลุด กรณีสนับสนุนพรรคการเมืองบางพรรค เป็นต้น

          กกต. มิใช่องค์กรอาสาสมัครที่เอาบรรดาผู้มีจิตใจสาธารณะมาทำงาน โดยมิได้ค่าตอบแทน หากเป็นองค์กรที่ได้ค่าตอบแทนอันมาจากภาษีประชาชนในจำนวนสูง อีกทั้งเป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติงาน ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเลือกตั้ง รวมถึงการทำหน้าที่ที่อาจทำให้เกิดผลเอียงข้างไปในทางใดทางหนึ่งได้ โดยไม่ยากลำบาก

          แต่จากที่กล่าวมาข้างต้น จึงย่อมนำมาซึ่งคำถามที่สำคัญได้ว่า "หากไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว สังคมไทยจะมี กกต. เช่นนี้ไว้ทำไม ?"

‘สมชัย’ เตือนโดมิโนจากคดีธนาธรโอนหุ้นสื่อในสังคมนิติรัฐ

‘สมชัย’ เตือนโดมิโนจากคดีธนาธรโอนหุ้นสื่อในสังคมนิติรัฐ



วันที่ 24 เมษายน 2562 นายสมชัย ศรีสุทธิยากร สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ อดีตคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก “Somchai Srisutthiyakorn” ระบุว่า ระวังโดมิโนที่จะตามมา สังคมนิติรัฐที่ยึดถือตัวอักษรทุกตัวกำลังกลายเป็นสังคมอยู่ยาก
กกต.ปัจจุบันท่านหนึ่ง ตอนสมัครรอบแรกโดนกรรมการสรรหาตีตก เนื่องจากถือหุ้น 1 หุ้นมูลค่าไม่กี่ร้อยบาท ในบริษัทขายบุหรี่ที่จดทะเบียนธุรกิจมีวัตถุประสงค์หนึ่งในแปดสิบข้อว่า ทำกิจการเกี่ยวกับสื่อ จนหลังจากนั้นรีบไปลาออกจึงสมัครเข้ามาใหม่ได้ในรอบสอง

ธนาธรกำลังโดนข้อหาถือหุ้นสื่อ เนื่องจากโอนไม่ทันหรือโอนไม่จริง ทั้งๆ ที่เป็นหนังสือแฟชั่นที่ปิดไปแล้ว

ผมไม่ใช่ friend of thanatorn ไม่มีความจำเป็นต้อง save thanatorn เจอหน้าเขา 100 ชอบเขาแค่ 20 ด้วยซ้ำ แต่อยากจะบอกว่าสังคมกำลังเดินทางผิดหรือไม่


เจตนาของการเขียนกฎหมายห้ามนักการเมืองถือหุ้นสื่อ คือต้องการไม่ให้เขาใช้อิทธิพลของสื่อที่มีเพื่อการหาเสียง หาความนิยมเข้าตัวเข้าพรรค หรือใช้สื่อเพื่อทิ่มแทงฝ่ายตรงข้าม

การลาออกจากสื่ออย่างเป็นทางการ แต่กลับเป็นเบื้องหลังสำคัญในการบงการทิศทางสื่อ ให้เอียงข้าง นั้นเลวร้ายกว่า การลืมลาออกจากสื่อที่ไม่เกี่ยวข้องหรือมีอิทธิพลใดทางการเมืองหรือไม่ แต่เราไม่เคยนึกถึง

เคยไหมที่ กกต.จะ monitor ทีวีทุกช่องทุกเช้า และส่งคำเตือนไปยังทีวี อย่างน้อย 3-4 ช่อง ว่าคุณไม่เป็นกลางนะ ขอให้ยุติการกระทำ เรื่องใหญ่ที่มีผลกระทบสมควรทำกลับไม่คิดทำ แต่เรื่องเล็กที่ตีความตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดกลับสนใจที่จะกระทำ โดมิโนจากเรื่องนี้ ยังตามมาอีกมาก ไม่เชื่อโปรดติดตาม

‘กก.บห.ปชป.’ ยังไร้ทิศทางการเมือง ‘ชวน ‘ขอโทษกลางที่ประชุม ‘กษิต’ ชงศึกษาเหตุแพ้ ลต.

‘กก.บห.ปชป.’ ยังไร้ทิศทางการเมือง ‘ชวน ‘ขอโทษกลางที่ประชุม ‘กษิต’ ชงศึกษาเหตุแพ้ ลต.



กก.บห.ปชป.ยังไร้ทิศทางการเมือง “กษิต” ชงตั้ง กก.ศึกษาจุดอ่อน-จุดแข็งหลังแพ้ ลต. ด้าน “นายหัวชวน” ขอโทษลูกพรรคกลางที่ประชุม

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 24 เมษายน ที่อาคาร ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2562 ของพรรค ปชป.ได้เริ่มขึ้น โดยมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรค เป็นประธานการประชุม โดยนายจุรินทร์ แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามระเบียบวาระการประชุม ได้แก่ รายงานกิจกรรมทางการเมืองของพรรค ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์มีสมาชิกจำนวน 128,377 คน และรายงานงบดุลประจำปี 2561 โดยหลังจากที่ประชุมลงมติเห็นชอบแล้ว พรรค ปชป.จะนำผลการประชุมดังกล่าวรายงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต่อไป แต่ที่ประชุมไม่ได้พูดคุยถึงทิศทางทางการเมืองหรือการตัดสินใจจะเข้าร่วมรัฐบาลหรือไม่ สำหรับการประชุมใหญ่วิสามัญของพรรค ครั้งต่อไปจะมีขึ้นวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่

ด้านนายจุติ ไกรฤกษ์ รักษาการเลขาธิการพรรค กล่าวว่า นายกษิต ภิรมย์ และสมาชิกพรรค กล่าวเสนอในที่ประชุมว่าพรรคควรจัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาจุดอ่อนและจุดแข็งจากการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อเตรียมพร้อมต่อการเลือกตั้งครั้งต่อไป ซึ่งการศึกษาด้านดังกล่าว คณะกรรมการบริหารพรรคชุดรักษาการได้มอบหมายให้นายกนก วงษ์ตระหง่าน ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นหัวหน้าคณะทำงานเพื่อศึกษารายละเอียดในแต่ละพื้นที่ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนก่อนสรุปผลให้ที่ประชุมพรรครับทราบอีกครั้ง ส่วนปัญหาที่ทำให้การเปิดประชุมล่าช้า เพราะองค์ประชุมไม่ครบจำนวนนั้น ไม่มีปัญหาความขัดแย้ง แต่สมาชิกพรรคบางคนต้องใช้เวลาเดินทางจากต่างจังหวัดเพื่อเข้าประชุมที่กรุงเทพฯ


นายจุติยังกล่าวถึงการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขตเลือกตั้ง 8 จ.เชียงใหม่ หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติให้ใบส้มนายสุรพล เกียรติไชยากรณ์ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย เนื่องจากพบการทุจริตเลือกตั้งว่า พรรคประชาธิปัตย์พร้อมเดินหน้าหาเสียงเต็มที่ แม้ผู้สมัครของพรรคจะเป็นคนหน้าใหม่ และได้คะแนนเพียงหลักพันเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคได้กล่าวกับสมาชิกในช่วงท้ายการประชุมว่า ขอโทษสมาชิกทุกคนที่ทำให้ไม่สมหวัง ซึ่งที่ผ่านมา ตนพยายามลงพื้นที่ไปทั่วทุกภาค แม้หวังผลชนะเลือกตั้งเป็นที่ 1 ไม่ได้ แต่ขอให้ได้รับเลือกตั้งเป็นอันดับ 2 หรือ 3 เพื่อรวมคะแนนเลือกตั้งไปให้กับผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้ได้ถึงลำดับที่ 50 เพื่อผลักดันให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ขอให้ทุกคนอยู่ทำงานกับ ปชป.ต่อไป และขอให้เข้าใจเลขาธิการพรรคด้วยว่าเขาทำงานหนัก อย่าต่อว่ากันมาก เพราะตนได้ต่อว่าเลขาธิการพรรคไปมากแล้ว ซึ่งนายจุติกล่าวขออภัยกับที่ประชุมเช่นกันที่ทำให้ผิดหวัง

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า สำหรับประเด็นการเลือกหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่นั้น ในที่ประชุมไม่มีผู้ติดใจในเรื่องขั้นตอนการเลือก มีเพียงนายกษิตที่สอบถามว่าจะมีบุคคลใดที่จะเสนอตัวให้สมาชิกพรรคเลือกเป็นหัวหน้าพรรค เพราะเห็นมีแต่ข่าวออกมาเท่านั้น แต่ไม่มีใครลุกขึ้นแสดงตัว

รายงาน : อายุ รัฐบาล คสช. พลังประชารัฐ กันยายน 2562

รายงาน : อายุ รัฐบาล คสช. พลังประชารัฐ กันยายน 2562



ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าพรรคอนาคตใหม่ ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ ลึกๆ แล้วมีบทสรุป “ร่วม” โดยอัตโนมัติว่า รัฐบาลจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม

ไม่น่าจะอยู่ “นาน”

บทสรุปเช่นนี้ย่อมขัดกับความเชื่อมั่นของ คสช. ความเชื่อมั่นของพรรคพลังประชารัฐ ความเชื่อมั่นของพรรครวมพลังประชาชาติไทย

เพราะปีกนี้เชื่อว่า จะอยู่ “นาน”

ความเชื่อของพรรคประชาธิปัตย์ อ่านได้จากข้อเสนอว่าด้วยรัฐบาลแห่งชาติ หรือรัฐบาลปรองดอง ที่ให้เวลาของรัฐบาลอยู่ 2 ปี

เป้าหมาย คือ แก้รัฐธรรมนูญ

ความเชื่อของพรรคอนาคตใหม่ คือ การลงพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนปักธงความคิดเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับความเชื่อของพรรคเพื่อไทย คือ การเตือนสมาชิกให้พร้อมรับการเลือกตั้งใหม่

ทำไมจึงเชื่อว่าอายุของรัฐบาลไม่น่าจะนาน

ฐานความเชื่อเช่นนี้มาจากสภาพความเป็นจริงอย่างน้อยก็ 2 ประการ นั่นก็คือ 1 ความจริงจากรัฐธรรมนูญ และ 1 ความจริงอันเห็นได้จากผลการเลือกตั้ง

การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม เป็นไปตาม “รัฐธรรมนูญ”

เป็นรัฐธรรมนูญที่จัดระบบและโครงสร้างการเลือกตั้งใหม่หมดจากรัฐธรรมนูญในอดีต ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรม

นูญก่อน พ.ศ.2540 หรือรัฐธรรมนูญก่อนฉบับปัจจุบัน

เป้าหมายเพื่อก่อให้เกิดอาการกระจัดกระจายของพรรคการเมือง

ผลไม่เพียงแต่ทำให้พรรคการเมืองใหญ่ในแบบพรรคไทยรักไทย หรือพรรคเพื่อไทยในอดีต ไม่สามารถดำรงอยู่ได้

จึงมากไปด้วยพรรคขนาดกลาง คือล้วนได้ต่ำกว่าครึ่ง


ผลก็คือ ไม่มีพรรคการเมืองใดสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เพียงพรรคเดียว จำเป็นต้องรวบรวมเสียงจากหลายพรรคการเมืองและจัดตั้งเป็น “รัฐบาลผสม”

เมื่อผสมจากหลายพรรคการเมืองก็ต้อง “เหนื่อย”

อย่าได้แปลกใจหากการสร้างพันธมิตรทางการเมืองที่ริเริ่มโดยพรรคเพื่อไทยกับพรรคอนาคตใหม่ มิได้มีเป้าหมายเพื่อจัดตั้งรัฐบาล

หากเรียกตัวเองว่า เป็นพันธมิตรต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช.

โดยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจ 250 ส.ว.สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้เท่ากับ 500 ส.ส. แม้พรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส.มากถึง 200 ก็จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้

รูปจึงออกมาในแบบ “ขวาง” เอาไว้เท่านั้นเอง

ขณะเดียวกัน พรรคพลังประชารัฐแม้จะอ้างว่าได้คะแนนป๊อปปูลาร์โหวตมาเป็นอันดับ 1 แต่ก็ได้ ส.ส.เพียง 116 แม้จะบวกกับพรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคพลังท้องถิ่นไท พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย เสียงก็ยังปริ่มๆ

ถึงจะดูดเอาพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา เข้ามา เสียงก็มากกว่าแนวร่วมต่อต้านการสืบทอดอำนาจไม่มากนัก

อาการปริ่มๆ นี่แหละ คือ อุปสรรคในอนาคต

มองจาก คสช.ก็อึดอัด มองจากพรรคพลังประชารัฐก็อึดอัด เพราะว่าทุกอย่างเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

ทั้งๆ ที่ “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ DESIGN มาเพื่อพวกเรา”

อย่าว่าแต่พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่เลยที่เชื่อว่ารัฐบาลไม่น่าจะอยู่ยาว แม้กระทั่งบางพรรคที่พร้อมจะหนุน คสช. ก็เชื่อว่าไม่น่าจะเกินเดือนกันยายน 2562

นั่นก็คือ แล่นไปไม่กี่เดือนก็ต้อง “จอด”

ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง กกต. ขอให้วินิจฉัยสูตรคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ชี้เป็นอำนาจของ กกต.




 ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง กกต. ขอให้วินิจฉัยสูตรคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ชี้เป็นอำนาจของ กกต.
.
วันนี้ (24 เม.ย.) ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคำร้องกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 230 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) แล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นว่า กรณี กกต. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 มาตรา 128 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 ซึ่งเป็นการขอให้พิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น 
.
รัฐธรรมนูญได้บัญญัติกระบวนการและขั้นตอนในการยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบทบัญญัติแห่งกฎหมายไว้เป็นการเฉพาะแล้ว โดยการใช้สิทธิทางศาลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 และการใช้สิทธิทางผู้ตรวจการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 231 (1) ผู้ร้องจึงไม่อาจยื่นคำร้องโดยตรงในประเด็นนี้ โดยอาศัยช่องทางตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (1) ได้ 
.
ส่วนคำร้องที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า ผู้ร้องจะคำนวณหาจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ ตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 มาตรา 128 ได้หรือไม่ และการดำเนินการดังกล่าวชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 หรือไม่นั้น
.
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก (7 ต่อ 2) ว่า กรณีดังกล่าวเป็นหน้าที่และอำนาจของ กกต. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 และ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 มาตรา 128 ซึ่งต้องกระทำหลังจากมีการประกาศผลการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตแล้ว และข้อเท็จจริงตามคำร้องยังไม่ปรากฏว่า กกต. ได้ใช้หน้าที่และอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายบัญญัติ 
.
จึงยังถือไม่ได้ว่ามีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของ กกต. เกิดขึ้นแล้ว คำร้องนี้จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ประกอบ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 44 ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้พิจารณาได้

ยังงี้ เค้าเรียกว่า ไปกันใหญ่ จริงๆ!!

ยังงี้ เค้าเรียกว่า ไปกันใหญ่ จริงๆ!!
“ลุงป้อม” กำลังตกเป็นเป้าทางการเมือง...เลี่ยงตอบคำถามนักข่าว มาหลายเรื่อง จนมาถึงเริ่อง เวบฯInvesting จัดให้ติดอันดับเศรษฐีเอเชีย แต่วานนี้ ลุงแก ก็ไม่ตอบ เมื่อโดนนักข่าวถาม โดยให้ โฆษกกลาโหม ชี้แจงแทนว่าเป็น เวบฯนี้จดทะเบียนโดยต่างชาติ ที่เกาะBritish Virgin กำลังตรวจสอบว่าเชื่อมโยงนักการเมืองหรือไม่ แต่ยันไม่ได้ร่ำรวย มีทรัพย์สินเท่าที่ชี้แจง ต่อปปช....
แต่มาวันนี้ ประชุม ครม. นักข่าว ก็ดักรอสัมภาษณ์ หลังเลิกประชุม ตามปกติ แต่วันนี้ พล.อ.ประวิตร ให้สัมภาษณ์ ไม่เดืนหนี. ทั้งเรื่องคดี”ธนาธร” และมาเรื่อง ที่ “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์” จะฟ้อง ปปช.ให้ตรวจสอบร่ำรวย....
พล.อ.ประวิตร ยืนตอบอย่างมั่นใจ ว่า ไม่ใช่เรื่องจริง ไปสอบได้เลย มีทรัพย์สิน เท่าที่ยื่นต่อ ปปช. จะมีอะไรอีกล่ะ....วาสนา เลยถามว่า ไม่มีที่อิ่น ที่ต่างประเทศ ตามที่มีข่าวลือ ต่อเนื่องจาก เวบฯนี้ ออกข่าว ใช่มั้ย... ลุงป้อม แก ร้อง โธ่เอ้ย! จะมีได้ไง ข้อมูลFake
พร้อมจบการให้สัมภาษณ์ ลุงป้อม แกก็เดินกัดฟัน เข้ามาหา แล้ว ทำท่า ชกพุง ...ซี่งเป็น ท่าทางปกติ ที่ ลุงป้อม แกจะ หยอกล้อ หรือแกล้ง นักข่าว ที่ถามเยอะ แต่ส่วนใหญ่ เป็นนักข่าวสายทหาร จะเดินกัดฟัน แบบหมั่นเขี้ยว เดินเข้ามา ชกไหล่ ชกแขน ชกพุงบ้าง จนกลายเป็นเรื่องปกติ
แต่พอดีวันนี้ ลุงป้อม มาทำท่านี้ที่ทำเนียบฯ น้องๆนักข่าวที่ทำเนียบฯ อาจไม่เคยเห็น เลยคิดว่า เอาจริง หรือหยอกเล่น แถมลุงป้อม กัดฟัน หน้าตาจริงจัง แถมเป็นการถามในเริ่อง เวบฯเริ่องทรัพย์สิน. เลยทำให้ ออกข่าวว่า ฉุน โมโห ตบนักข่าว
จนที่สุด ข่าว ในออนไลน์ และกระแสโจมตี พล.อ.ประวิตร ก็ทำให้ ข่าวถูกบิดเบือน ใส่สี กลายเป็น ตบนักข่าว และกลายเป็น ตบหน้านักข่าว แต่นักข่าว ไม่แจ้งความ ไม่เอาเริ่อง
ไปกันใหญ่ จริงๆ กระแสความขัดแย้ง แตกแยก เกลียดชัง ทำให้ข้อเท็จจริง ทั้งๆที่เกิดกับ นักข่าว เองแท้ๆ ยังถูกบิดเบือน ไปได้ถึงเพียงนี้
ตบหน้านักข่าว นักข่าว กลัว ไม่ฟ้อง ไม่เอาเรื่อง เพราะเกรงใจ
บอกเลย ถ้าตบ จริง ไม่ว่านักข่าวคนไหนโดน ไม่มีใครยอมหรอก แต่เราดูที่เจตนา และบุคลิกลักษณะ ของ พลเอกประวิตร แกเป็นแบบนี้ อยู่แล้ว
ที่พูดนี่ ไม่ใช่ปกป้อง หรือแก้ตัวแทน. แต่ เห็นข่าวลือ ใส่สี และ เวบข่าว ที่ไมใช่สื่อหลัก เขียนไปกันใหญ่ ผิดจากข้อเท็จจริง ไปมาก
โดยเฉพาะ กลายเป็นตบหน้านักข่าว นักข่าว ไม่ยอมเอาเริ่อง
ปัดโธ่เอ้ยยยย!! ข่าวลือไปถึงขั้นนั้น !!! แค่ชกพุง เนี่ยนะ แล้วไม่ได้แรงเลย แค่แตะเบาๆ แถมลุง น่าจะเจอ หัวเข็มขัด อ่ะ555
เห็นทีว่า ลุงป้อม ต้องไป ทำบุญ สะเดาะเคราะห์ แล้วล่ะ ช่วงนี้ “โดน” ต่อเนื่อง
เพิ่งกลับมาให้สัมภาษณ์. มาเจอเรื่องนี้เข้าไป น้องๆนักข่าวสายทหาร ยังบอกเลยว่า สงสัย ลุงป้อม จะ งดให้สัมภาษณ์ อีกยาว แน่ๆเลย
โชคดี นะ ลุง!!

นายกฯปัดคสช.ใช้คดีหุ้นสกัด"ธนาธร"ชี้ยึดกม.





ฟังชัดๆจาก"ลุงตู่"



นายกฯปัดคสช.ใช้คดีหุ้นสกัด"ธนาธร"ชี้ยึดกม.


เกาะสถานการณ์ 13.30 น. (24-04-62)





12.02 น. กลุ่มสามัคคีสร้างชาติให้กำลังใจศาลรัฐธรรมนูญ
12.19 น. "ชวน"ร่อนจดหมายขอบคุณสมาชิกพรรค
12.33 น. ธ.โลกหั่นศก.ไทยปี62โต3.8%ห่วงตั้งรบ.ช้า
12.46 น. ศาลรธน.ประชุมพิจารณาคำร้องกกต.
12.57 น. พม.เร่งช่วยชายวัย57ตาบอดรับจ้างปอกมะพร้าว

ข่าวต้นชั่วโมง 13.00 น. (24-04-62)







ข่าวต้นชั่วโมง เวลา13:00น.



- "ชวน"ร่อนจดหมายขอบคุณสมาชิกพรรค
- กลุ่มสามัคคีสร้างชาติให้กำลังใจศาลรัฐธรรมนูญ
- พิพากษาคุก10ปี9ผู้บริหารม.สันติภาพโลก

ข่าวต้นชั่วโมง 13.00 น. (24-04-62)







ข่าวต้นชั่วโมง เวลา13:00น.



- "ชวน"ร่อนจดหมายขอบคุณสมาชิกพรรค
- กลุ่มสามัคคีสร้างชาติให้กำลังใจศาลรัฐธรรมนูญ
- พิพากษาคุก10ปี9ผู้บริหารม.สันติภาพโลก

อวสาน"ฟ้ารักพ่อ"?



อวสาน"ฟ้ารักพ่อ"? จาก INN ออกอากาศทางช่องไบร์ททีวี 23เม.ย.62 23:30น.

21 พรรคการเมืองให้กำลังใจกกต.และศาลรัฐธรรมนูญ

21 พรรคการเมืองให้กำลังใจกกต.และศาลรัฐธรรมนูญ
(24เม.ย.62)พล.อ.อนันต์ บุญรำไพ หัวหน้าพรรคพลังศรัทธา พร้อมด้วยตัวแทนจาก 21 พรรคการเมืองขนาดเล็ก เรียกตนเองในนามตัวแทนกลุ่มสามัคคีสร้างชาติร่วมทำกิจกรรม แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ด้านหน้าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้องค์กรอิสระทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญให้เกิดความสงบสุขเรียบร้อยและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ตัวแทนกลุ่ม กล่าวว่า กลุ่มรักสามัคคีเป็นความร่วมมือกันของ 21 พรรคการเมืองทำตามมาตรา 9 และ 10 ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาระบบประชาธิปไตย ซึ่งทางกลุ่มมองว่าสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ความสำคัญที่สุดของการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 212 213 และ 219 ของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
โดยกลุ่มระบุว่าการมาทำกิจกรรมครั้งนี้เพื่อให้กำลังใจให้ทุกฝ่ายโดยเฉพาะองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ โดยเจตนารมย์ของกลุ่มต้องการให้ทุกฝ่ายร่วมกันทำหน้าที่นำประเทศออกจากความขัดแย้ง ขอให้ประชาชนไทยมีความรักสามัคคี
กิจกรรมเดิมจะมีการปล่อยลูกโป่งสีเหลืองที่มีรูปนกคาบใบไม้ แสดงถึง เป็นเสรีภาพทางการเมือง เพื่อให้การเมืองไทยหลุดพ้นจากความขัดแย้ง แต่เจ้าหน้าที่ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยลูกโป่ง จึงไดทำการรวบรวมเก็บไว้แทน
บ่ายนี้ที่ศาลรัฐธรรมนูญ คณะตุลาการมีกำหนดการประชุมวินิจฉัยคำร้องที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ขอให้ตีความสูตรการคำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ คาดการณ์ว่าจะมีความชัดเจนในเย็นวันนี้

ไพศาลชี้การบังคับใช้กม.

Paisal Puechmongkol
6 ชม.
ระบบกฎหมาย ทั้งรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง ที่ใช้ในปัจจุบันนี้เป็นเรื่องใหม่ทั้งนั้น! 
จึงไม่สามารถใช้ความรู้สึกหรือความเคยชินเก่าๆมานึกคิดเอาได้ 
จะต้องตรวจตราดูกฎหมายให้ดี มิฉะนั้นก็จะหลงทางหลงผิด 
ผมจึงพยายามเขียนอธิบายหรือเตือนในเรื่องนี้มาโดยลำดับ แต่ก็หามีใครสนใจไม่ 
จะขออธิบาย เรื่องผู้สมัครรับเลือกตั้งขาดคุณสมบัติเสียสักหน่อย

1 ในช่วงสมัครรับเลือกตั้ง ถ้ากกต. เห็นว่าผู้ใดขาดคุณสมบัติ กกต. ก็จะไม่รับรองให้เป็นผู้สมัคร ซึ่งเป็นอำนาจเด็ดขาดของกกต.
2 เมื่อกกต.รับสมัคร และรับรองการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งแล้ว
หากต่อมาเห็นว่าผู้สมัครคนใดขาดคุณสมบัติ กกต. ก็ต้องตรวจสอบไต่สวนและส่งให้ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งวินิจฉัยเพิกถอนความเป็นผู้สมัครนั้น ดังกรณีตัวอย่างที่ทำมาแล้ว
แต่ต้องกระทำก่อนวันเลือกตั้ง
เมื่อผ่านวันเลือกตั้งมาแล้ว กกต.ก็ไม่มีอำนาจ ที่จะวินิจฉัยเองหรือส่งให้ศาลฏีกา เพราะถือว่าพ้นระยะเวลามาแล้ว
3 ในกรณีที่กกต. เห็นว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใด ที่กกต.รับรองให้สมัครแล้ว ทำผิดกฎหมายเลือกตั้งคือทุจริต โกงเลือกตั้ง กกต. ต้องตรวจสอบไต่สวนแล้วส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญเพิกถอน
เงื่อนปมนอกจากนี้ ยังซ่อนเงื่อนอยู่ ผมยังไม่อาจพูดตอนนี้ได้
เพราะต้องรอฟังผลการวินิจฉัยไต่สวนของกกต.ก่อน
พูดไปตอนนี้ก็จะเป็นการก้าวล่วงมากไป

สุรพศ ทวีศักดิ์: ขจัดอนาคตใหม่กับต้นทุนที่ต้องจ่าย

เพื่อขจัด “ทักษิณ” และ “ยิ่งลักษณ์” สองพี่น้องตระกูลชินวัตร ฝ่ายอนุรักษ์นิยมต้องฉีกรัฐธรรมนูญไปถึง 2 ฉบับ ผ่านรัฐประหาร 2549 และ 2557 ถามว่านอกจากขจัดสองพี่น้องตระกูลชินออกจากประเทศไปได้แล้ว ฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้และเสียอะไร
ผลได้รูปธรรมคือ แกนนำ พธม.ตั้ง “พรรคการเมืองใหม่” แต่เมื่อลงเลือกตั้งปี 2554 ก็ไม่ได้รับเลือกแม้แต่คนเดียว แกนนำ กปปส.ตั้งพรรคการเมืองก็ได้ ส.ส.มาเพียง 5 ที่นั่ง ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ขณะที่ประชาธิปัตย์แพ้เกินคาดหมาย ส่วนพลังประชารัฐที่ประกาศหนุนประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกฯต่อ ก็ยังแพ้พรรคเพื่อไทย ดังนั้น ผลคะแนนนิยมจากประชาชนก็ยังแพ้ฝ่ายตรงข้ามอยู่ดี   
ผลได้นามธรรมคือ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมประสบผลสำเร็จในการปกปครองด้วยการสร้างความหวาดกลัว ที่ดำเนินการผ่านรัฐประหาร 2549 การสลายการชุมนุม 2553 รัฐประหาร 2557 และการใช้คำสั่ง กฎหมายของ คสช.ปิดปาก ไล่ล่า ดำเนินคดี จับฝ่ายคิดต่างปรับทัศนคติ เข้าคุก และถูกกดดันให้หนีออกนอกประเทศ ทำให้ไม่มีการเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมืองขยายวงกว้างเกินกว่าที่ คสช.จะเอาอยู่
แต่ผลได้นามธรรมดังกล่าวนี้ก็ไม่ใช่สิ่งยั่งยืน เพราะประชาชนที่รักเสรีภาพและประชาธิปไตยก็ไม่ได้ตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวตลอดเวลา ยังมีประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่พยายามใช้กลวิธีหลากรูปแบบในการลุกขึ้นมาต่อสู้ไม่สิ้นสุด ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าในยุคศตวรรษที่ 21 การปกครองด้วยการสร้างความหวาดกลัวกับความเชื่อถือศรัทธาไม่อาจไปด้วยกันได้
ส่วนผลเสียรูปธรรมนั้นมากเกินคณานับ ระบอบประชาธิปไตยถูกพังไปถึง 2 ครั้ง เกิดความแตกแยกของประชาชนออกเป็น 2 ฝ่าย ระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนและต่อต้านรัฐประหาร เกิดการสูญเสียชีวิตและอิสรภาพของประชาชนทั้งสองฝ่ายผ่านเหตุรุนแรงในการชุมนุม, การสลายการชุมนุม และการปราบปรามฝ่ายคิดต่างโดยอำนาจรัฐ (แน่นอนว่าฝ่ายเสื้อแดงสูญเสียมากกว่า) และประเทศเสียโอกาสพัฒนาเศรษฐกิจและด้านอื่นๆ ให้ก้าวหน้าไปพร้อมๆ กับความก้าวหน้าของประชาธิปไตย
ผลเสียนามธรรมคือ ความเสื่อมลงอย่างมากของความเชื่อถือศรัทธาในสถาบันหลักๆ ของสังคมว่ายังมีสถาบันใดๆ ดำรงความเป็นกลางและให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนทุกฝ่ายได้จริงหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันจารีต สถาบันการเมือง กองทัพ ศาล องค์กรอิสระ สื่อมวลชน กระทั่งสถาบันศาสนา
ดังนั้น การขจัดสองพี่น้องตระกูลชิน หรือการทำลายสิ่งที่เรียกกันว่า “ระบอบทักษิณ” จึงเป็นการใช้ต้นทุนที่สูงมากเกินจะประเมินได้ ดังอุปมาที่ว่า “พังบ้านตัวเองเพื่อไล่จับหนูเพียงตัวสองตัว” ยิ่งกว่านั้นเมื่อบ้านถูกพังลงแล้วแต่ยังจับหนูไม่ได้จริง เมื่อหวนกลับสู่การเลือกตั้งทีไร ฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็ยังแพ้พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามที่ประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุนเช่นเดิม
นอกจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมจะแพ้ “คู่ปรับเก่า” แล้วยังเกิด “คู่ปรับใหม่” คือ “พรรคอนาคตใหม่” ที่ชูอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยชัดเจนและแหลมคมมากกว่า การได้ ส.ส.(ประมาณ) 80-87 เสียงของอนาคตใหม่ ที่สมาชิกพรรคไม่มีอดีต ส.ส.เลย เป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมายและไม่ธรรมดา เพราะวาระทางการเมืองของอนาคตใหม่คือการสร้างกระแสนิยมจาก “คนรุ่นใหม่” ที่เชื่อมั่นในอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตย การแก้ปัญหาโครงสร้างผ่านการแก้รัฐธรรมนูญ การปฏิรูปกองทัพ สร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและระบบสวัสดิการที่เป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งแปลว่าคะแนนเสียงสนับสนุนอนาคตใหม่สะท้อนความต้องการการเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงมากกว่าที่จะอยู่กับประชาธิปไตยแบบไทยๆ ดังที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้ “ธนาธร” และ “ปิยบุตร” หัวขบวนของอนาคตใหม่จึงต้องถูกสกัดหรืออาจถูกกำจัดในทุกวิถีทาง
คำถามก็คือ อะไรคือต้นทุนที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมต้องจ่ายในการขจัดอนาคตใหม่
หากเทียบกับการขจัดสิ่งที่เรียกกันว่า “ระบอบทักษิณ” ฝ่ายอนุรักษ์นิยมอาจได้รับความชอบธรรมในสายตาของกองเชียร์อยู่มาก เพราะข้อกล่าวหาเรื่องคอร์รัปชันและอื่นๆ ทั้งจริงบ้างเท็จบ้างมีคนเห็นคล้อยตามจำนวนมาก นี่จึงเป็นเหตุให้ทำรัฐประหารสำเร็จต่อเนื่องถึงสองครั้ง
แต่ขณะที่ทำรัฐประหารสำเร็จ รัฐบาลจากรัฐประหารก็ไม่ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นรัฐบาลที่โปร่งใสตรวจสอบได้ตามข้อเรียกร้องของ พธม.และ กปปส.แต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับเป็นรัฐบาลที่ไม่มีระบบถ่วงดุลตรวจสอบเลย ซึ่งเป็นหลักฐานชี้ชัดถึงความผิดพลาดของขบวนการทางการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมทั้งขบวน ดังนั้นต้นทุนความศรัทธาเชื่อถือในฝ่ายอนุรักษ์นิยมจึงลดลงทั้งในทางรูปธรรมและนามธรรมดังกล่าวแล้ว
ในการขจัดอนาคตใหม่ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมมีเพียงข้อกล่าวหาหลักประการเดียวคือ “ล้มเจ้า” ซึ่งหลายปีมานี้ คนที่พอรู้เรื่องการเมือง ต่างก็รู้ๆ กันว่าเป็น “ข้อหาปลอม” หรือไม่มีมูลความจริงอยู่เลย
ความจริงมีเพียงความเห็นต่างในสาระสำคัญของ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เท่านั้น ขณะที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมเห็นว่าในยุครัฐบาลเลือกตั้งก็เรียกเป็นทางการว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในยุครัฐบาลจากรัฐประหารก็เรียกว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และถือว่าการอ้างสถาบันกษัตริย์เคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมืองและอ้างทำรัฐประหารแบบที่ทำๆ กันมานั้น เป็นการแสดงความจงรักภักดีและแสดงออกถึงการปกป้องสถาบันที่ควรทำหรือทำได้อย่างเป็นปกติ
แต่อนาคตใหม่ (น่าจะรวมเพื่อไทยและประชาชนส่วนใหญ่ด้วย) มองต่างออกไปว่า ในยุครัฐบาลจากการเลือกตั้งเท่านั้นจึงเรียกว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขได้ตามเป็นจริง โดยอนาคตใหม่ยืนยันว่า “ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”[i] ที่มีรัฐบาลจากการเลือกตั้งมีอำนาจเต็มในการบริหารประเทศ มีการแบ่งแยกอำนาจเป็นฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ สถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ อย่างที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า “Constitutional Monarchy” และอยู่เหนือความเป็นฝักฝ่ายทางการเมือง จึงต้องไม่มีการอ้างสถาบันกษัตริย์เคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมือง อ้างกล่าวหากันทางการเมือง และอ้างทำรัฐประหารแบบที่ผ่านๆ มาอีกต่อไป ขณะเดียวกันกองทัพก็ต้องออกไปจากการแทรกแซงการเมือง หยุดการทำรัฐประหารอย่างถาวร ทหารเป็นทหารอาชีพมีหน้าที่ป้องกันประเทศและอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเท่านั้น
ดังนั้น ถ้าเรามองอย่างตรงไปตรงมาด้วยจิตใจที่เที่ยงธรรม ระบอบประชาธิปไตยแบบที่อนาคตใหม่ยืนยันไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์แน่นอน แต่เป็นระบอบที่ต้องการให้สถาบันกษัตริย์กับความเป็นประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ และอำนาจอธิปไตยของประชาชนยั่งยืนไปด้วยกันได้อย่างแท้จริง
ถ้าฝ่ายอนุรักษ์นิยมยังพยายามขจัดอนาคตใหม่ให้สำเร็จได้จริงๆ ด้วยข้อกล่าวหาล้มเจ้าหรือเป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้นทุนที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมต้องจ่าย ย่อมหมายถึงการสูญเสียความศรัทธาเชื่อถือจากคนรุ่นใหม่จำนวนมาก ซึ่ง “คนรุ่นใหม่” ก็ไม่ได้ใหม่แค่ “อายุ” มีทั้งคนมีอายุมากที่มีความคิดก้าวหน้าจำนวนมาก และคนอายุน้อยจำนวนมากที่เติบโตขึ้นมาในโลกการสื่อสารไร้พรมแดนที่มีความคิดก้าวหน้าและมีแนวโน้มจะมีความคิดก้าวหน้าได้มากกว่าด้วย
นอกจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมจะประสบกับ “ความเสื่อมศรัทธา” ที่มีมากอยู่แล้วในระดับที่มากขึ้นไปอีก การขจัดอนาคตใหม่ ยังต้องมี “ต้นทุนอนาคตของประเทศ” ที่จะถูกทำให้เสียโอกาสไปอย่างไม่มีอะไรชดเชยได้อีกด้วย นั่นคือ อนาคตของประเทศที่สถาบันกษัตริย์กับความเป็นประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ และอำนาจอธิปไตยของประชาชนยั่งยืนไปด้วยกันได้ และการจบความขัดแย้งทางการเมืองเพื่อเป็นฐานตั้งต้นในการสร้างสังคมที่ก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ และมีระบบสวัสดิการด้านต่างๆ ที่เป็นธรรมมากขึ้นด้วย
พูดให้ชัดคือ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแบบที่อนาคตใหม่ยืนยัน คือประชาธิปไตยที่เปิด “พื้นที่” ให้ทั้งฝ่ายอนุรักษ์นิยม ฝ่ายเสรีนิยมและอื่นๆ มีสิทธิและเสรีภาพอย่างเท่าเทียมในการแข่งขันกันทางความคิดและนโยบายเพื่อสร้างสังคมให้น่าอยู่ขึ้น โดยที่ทุกคนทุกฝ่ายเคารพสิทธิมนุษยชนของกันและกัน จบสิ้นรัฐประหารอย่างถาวร ไม่มีนักโทษการเมือง นักโทษทางความคิด ไม่มีใครต้องติดคุกหรือหนีไปลี้ภัยการเมืองในต่างประเทศอีกต่อไป
ดังนั้น อนาคตใหม่จะต้องไม่ถูกอำนาจมืดใดๆ ขจัดทิ้ง พรรคการเมืองอื่นๆ และประชาชนที่รักเสรีภาพ ประชาธิปไตย ความยุติธรรมและต้องการสร้างอนาคตที่ดีกว่าของประเทศที่ทุกคน ทุกฝ่ายที่คิดต่างอยู่ร่วมกันได้อย่างมีศักดิ์ศรีเสมอภาคกัน จะต้องยืนเคียงข้างอนาคตใหม่เพื่ออนาคตที่ดีกว่าของประชาชนทุกคน




อ้างอิง

[i] คำให้สัมภาษณ์ของปิยบุตร แสงกนกกุล ในรายการ “ต่างคนต่างคิด” https://www.youtube.com/watch?v=jYFxYEfo71Q

กกต.มีมติแจ้งข้อกล่าวหา นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หน.พรรคอนาคตใหม่ ขาดคุณสมับัติสมัครส.ส.

กกต.มีมติแจ้งข้อกล่าวหา นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หน.พรรคอนาคตใหม่ ขาดคุณสมับัติสมัครส.ส. ให้เวลา 7 วัน ชี้เแจงแสดงหลักฐานแก้ข้อกล่าวหา มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส. ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 98(3) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการนสพ.หรือสื่อมวลชนใดๆ และพรป.การเลือกตั้งส.ส. มาตรา 42 (3)
มาตรา ๔๒ บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
(๓) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ