PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2562

นิติศาสตร์ มช. แถลงจวก กกต. มีไว้ทำไม ซัดไร้ความรู้-ไร้ความสามารถ

ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มช. ออกแถลงการณ์ จวก กกต. ซัดไร้ความรู้ความสามารถ เลือกปฏิบัติ ไม่โปร่งใส หากไม่มีประสิทธิภาพจะมี กกต. ไว้ทำไม !?

วันที่ 24 เมษายน 2562 เฟซบุ๊ก ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ออกแถลงการณ์เรื่อง กกต. มีไว้ทำไม โดยเนื้อหาระบุถึง การทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ผ่านมา ที่ทำให้เกิดข้อกังขา 4 ประเด็นสำคัญ แถมยังถามทิ้งท้ายว่า หากไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว สังคมไทยจะมี กกต. เช่นนี้ไว้ทำไม

          โดยระบุเนื้อหาดังนี้... คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นองค์กรที่ถูกจัดตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2540 เนื่องจากความต้องการที่จะทำให้กระบวนการเลือกตั้งเป็นไปอย่างสุจริตและเที่ยงธรรม แก่ทุกฝ่ายที่เข้ามาแข่งขันในทางการเมือง กกต. จึงได้รับการออกแบบในฐานะขององค์กรอิสระ ทั้งในแง่ของกระบวนการคัดสรร การให้ความเห็นชอบ ความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งระยะเริ่มต้น กกต. ได้ปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นอย่างดี ในฐานะองค์กรที่มีความเป็นกลาง และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างตรงไปตรงมา

          อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับองค์กรอิสระหลายองค์กร องค์กรนี้ได้ถูกปรับเปลี่ยนและทำให้ระบบราชการเข้ามามีอำนาจครอบงำเพิ่มมากขึ้น ภายใต้ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น ในรอบ 2 ทศวรรษ ก็มีผลสำคัญทำให้องค์กรเหล่านี้อยู่ภายใต้การครอบงำของระบบราชการ และการเลือกฝักฝ่ายทางการเมืองที่เห็นได้ชัดเจน ความพยายามในการจัดการเลือกตั้ง "ให้ล้มเหลว" ก่อนรัฐประหาร 2557 ก็เป็นสิ่งที่ยืนยันได้เป็นอย่างดี

          รัฐธรรมนูญ 2560 ได้ปรับเปลี่ยนองค์ประกอบและกระบวนการสรรหา ภายใต้การโฆษณาว่าจะได้ "มนุษย์เทพ" มาทำหน้าที่ แต่มาถึงบัดนี้ก็ชัดเจนว่าการทำงานของ กกต. ทำให้เกิดความกังขาใน 4 เรื่องสำคัญ

          ประการที่ 1 ความสามารถการจัดการเลือกตั้งที่ผ่านมา ประสบปัญหานับตั้งแต่การเลือกตั้งล่วงหน้า ทั้งภายนอกและภายในประเทศ กกต. ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปอย่างปกติที่พึงมี ในสังคมประชาธิปไตยทั้งหลาย การไม่นับคะแนนที่มาจากต่างประเทศ หรือการจัดคูหาที่แออัดต่อการเลือกตั้งล่วงหน้าในประเทศ ทั้ง 2 เรื่อง เป็นสิ่งที่สามารถคาดหมายได้ไม่ยาก แต่ก็ไม่มีการตระเตรียมไว้ให้พร้อม ย่อมสะท้อนความสามารถในการจัดการเลือกตั้งว่ามีอยู่ในระดับใด

          ประการที่ 2 ความโปร่งใส แม้กระทั่งผ่านการเลือกตั้งไปหนึ่งเดือน ไม่เพียงไม่สามารถประกาศผลอย่างเป็นทางการ รวมถึง กกต. ก็ไม่เปิดเผยคะแนนเลือกตั้งรายหน่วยแก่สาธารณะ กลับให้ผู้ต้องการข้อมูลไปขอจากแต่ละจังหวัดด้วยตนเอง ทั้งที่การเปิดเผยข้อมูลระดับหน่วยเลือกตั้ง จะช่วยทำให้สามารถเห็นได้ว่าการทำงานของ กกต. ดำเนินไปอย่างถูกต้อง โดยมิได้มีการเอียงเข้าหาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ในอดีตที่ผ่านมา กกต. ก่อนหน้านี้ ก็ได้เปิดเผยต่อสาธารณะโดยตลอด จึงย่อมเป็นคำถามได้ว่าเหตุใดครั้งนี้ จึงไม่กล้าเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ

          ประการที่ 3 ความรู้ เป็นที่น่าตระหนกอย่างมาก เมื่อทาง กกต. ได้ส่งประเด็นสูตรการคำนวณจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ไปให้กับทางศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ขาด ไม่ว่าจะศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำตัดสินลักษณะใด แต่ในเบื้องต้นย่อมทำให้เกิดความคลางแคลงใจอย่างยิ่งว่า เพราะเหตุใด กกต. กลับไม่มีความรู้ในเรื่องของการคำนวณจำนวน ส.ส. ทั้งที่เป็นภาระหน้าที่หลักขององค์กร

ประการที่ 4 การเลือกปฏิบัติ เห็นได้ชัดว่าเมื่อมีการกล่าวหาต่อพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจรัฐ กับพรรคการเมืองที่ยืนอยู่ตรงกันข้ามกับผู้มีอำนาจรัฐในขณะนี้ จะเห็นได้ถึงการปฏิบัติที่แตกต่างกันเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านของความรวดเร็ว การแสวงหาหลักฐาน แนวโน้มของคำวินิจฉัย เช่น กรณีโต๊ะจีน, เอกสารราชการหลุด กรณีสนับสนุนพรรคการเมืองบางพรรค เป็นต้น

          กกต. มิใช่องค์กรอาสาสมัครที่เอาบรรดาผู้มีจิตใจสาธารณะมาทำงาน โดยมิได้ค่าตอบแทน หากเป็นองค์กรที่ได้ค่าตอบแทนอันมาจากภาษีประชาชนในจำนวนสูง อีกทั้งเป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติงาน ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเลือกตั้ง รวมถึงการทำหน้าที่ที่อาจทำให้เกิดผลเอียงข้างไปในทางใดทางหนึ่งได้ โดยไม่ยากลำบาก

          แต่จากที่กล่าวมาข้างต้น จึงย่อมนำมาซึ่งคำถามที่สำคัญได้ว่า "หากไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว สังคมไทยจะมี กกต. เช่นนี้ไว้ทำไม ?"

ไม่มีความคิดเห็น: