PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

10 วิธีการที่ทั่วโลกใช้ปราบปรามและป้องกันไม่ให้ผู้สื่อข่าวรายงานข่าว



เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (3 พ.ค.) Amnesty International ได้เปิดเผย 10 วิธีการที่ทั่วโลกใช้ปราบปรามและป้องกันไม่ให้ผู้สื่อข่าวรายงานข่าวอย่างเสรีและเป็นธรรม

1. การทำร้ายร่างกาย 

ในบางประเทศ อย่างเช่น ซีเรีย เติร์กเมนิสถาน และโซมาเลีย รัฐบาล กองทัพ และกลุ่มติดอาวุธทำร้ายร่างกายหรือสังหารผู้สื่อข่าว ที่ถูกมองว่าพยายามวิพากษ์วิจารณ์นโยบายและการปฏิบัติของตน  เมื่อเดือน พ.ย.2555 ฮัสซัม ซาลาเมห์ (Hussam Salameh) ช่างภาพวีดิโอชาวปาเลสไตน์ และมามุด อัล-เคามี (Mahmoud al-Koumi) ผู้สื่อข่าวจากสถานีโทรทัศน์ Al-Aqsa ของกลุ่มฮามัส ถูกทางการอิสราเอลสังหารด้วยการยิงขีปนาวุธใส่รถยนต์ของพวกเขาระหว่างอยู่ในเมืองกาซา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลไม่พบหลักฐานว่าบุคคลเหล่านี้เกี่ยวข้องกับกิจการอย่างอื่นนอกเหนือจากการเป็นผู้สื่อข่าวพลเรือนทั่วไป แม้ว่ากองทัพอิสราเอลจะแถลงว่าบุคคลทั้งสองเป็น “สายลับของกลุ่มฮามัส”

ในเดือน พ.ค.2555 อาบัด อัล-ฆานี คายาเก (Abd al-Ghani Ka'ake) ผู้สื่อข่าวพลเมือง อายุ 18 ปี ได้ถูกหน่วยซุ่มยิงของรัฐบาลซีเรียยิงจนเสียชีวิต ระหว่างถ่ายภาพการชุมนุมประท้วงที่กรุงอาเล็บโป (Aleppo) กลุ่มต่อต้านรัฐบาลที่ติดอาวุธก็ทำร้ายและสังหารผู้สื่อข่าวเช่นกัน

มิเกล แองเจล โลเปส เวลัสโก (Miguel Ángel López Velasco) ผู้สื่อข่าว ภรรยาและลูกชายของเขาถูกยิงจนเสียชีวิตที่บ้านในเมืองเวราครูซ (Veracruz) เม็กซิโก โดยไม่ทราบตัวมือปืนเมื่อเดือน มิ.ย.2554 ก่อนหน้านั้นเขาได้รับคำขู่ว่าจะสังหารหลายครั้ง

อับดีฮาเร็ด ออสมัน อาเด็น (Abdihared Osman Aden) จากโซมาเลียถูกมือปืนที่ไม่ปรากฏชื่อสังหารระหว่างเดินไปทำงานเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2556 เขาเป็นหนึ่งในผู้สื่อข่าวอย่างน้อย 23 คนที่ถูก
สังหารในประเทศนี้นับแต่ปี 2554

2. การขู่จะขังคุก

ผู้สื่อข่าวยังเสี่ยงที่จะถูกตั้งข้อหาตามกฎหมายที่ใช้ปราบปรามการแสดงความเห็นอย่างสงบ หรือไม่ก็มีการตั้งข้อหาเท็จโดยมีแรงจูงใจทางการเมือง (อย่างเช่น ข้อหามียาเสพติดไว้ในครอบครองและฉ้อโกง) ทั้งนี้เพื่อขัดขวางไม่ให้มีการรายงานข่าว

ในวันที่ 12 มี.ค.2556 อาวาซ เซนาลี (Avaz Zeynali) ได้ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดฐานติดสินบน ใช้กำลังข่มขู่รีดไถ หลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล และข้อหาหนีภาษี เขาถูกลงโทษจำคุกเก้าปีที่ประเทศอาเซอร์ไบจาน ที่ผ่านมาเขามักรายงานเปิดโปงการคอรัปชั่นและวิพากษ์วิจารณ์ความพยายามของประธานาธิบดีที่จะคุกคามสื่อมวลชนและนักเคลื่อนไหวในอิหร่าน ผู้สื่อข่าวอย่างน้อย 18 คนถูกจับกุมนับแต่เดือนมกราคม 2556 และถูกตั้งข้อหาว่าร่วมมือกับหน่วยงานสื่อนอกประเทศอิหร่าน “ที่ต่อต้านการปฏิวัติ” ผู้สื่อข่าวหลายสิบคนเป็นผู้จัดทำเว็บบล็อกและได้ถูกทางการอิหร่านคุมขัง

ในวันที่ 5 ก.พ.2556 อับเดียซิซ อับนูร์ อิบราฮิม (Abdiaziz Abdnur Ibrahim) ได้ถูกศาลพิพากษาจำคุกหนึ่งปีที่กรุงโมกาดิชู (Mogadishu) โซมาเลีย ในข้อหาหมิ่นสถาบันแห่งชาติ หลังจากเขาได้

สัมภาษณ์ผู้หญิงคนหนึ่งที่ให้ข้อมูลว่าถูกทหารของรัฐบาลข่มขืนกระทำชำเรา ต่อมาศาลฎีกาได้ยกฟ้องคดีนี้เมื่อเดือนมีนาคม

ในเดือน ม.ค.2555 เรโยต์ อาเลมู (Reyot Alemu) และวูบเช็ต ทาเย (Woubshet Taye) ผู้สื่อข่าวได้ถูกศาลสั่งลงโทษข้อหาก่อการร้ายที่ประเทศเอธิโอเปีย ในระหว่างการไต่สวนคดี มีการจำกัดการเข้า

ถึงทนายความ ไม่มีการจัดล่ามที่ดีพอให้ ทั้งศาลยังยอมให้มีการใช้พยานหลักฐานที่ได้มาจากการข่มขู่บังคับ

3. การข่มขู่คุกคาม

รัฐบาลหลายประเทศพบว่าการข่มขู่ผู้สื่อข่าวหรือญาติของพวกเขาเป็นวิธีการที่ใช้ได้ผลเพื่อปิดปากพวกเขา

ทางการอิหร่านออกคำสั่งห้ามเดินทางสำหรับญาติของเนการ์ โมฮัมมาดี (Negar Mohammadi) ผู้สื่อข่าว Voice of America และยังยึดหนังสือเดินทางของญาติคนหนึ่งไว้เมื่อเดือน ก.พ.2555

ในเยเมน อับดุล คาริม อัล-ไควานี (Abdul Karim al-Khaiwani) ได้ถูกคุกคามตั้งแต่ต้นปี 2556 หลังจากเขาเขียนบทความเปิดโปงคุกลับและการทรมานของหน่วยทหารเกราะที่หนึ่ง มีการยิงอาวุธ

สงครามใส่บ้านเขาสองครั้ง และเขายังได้รับโทรศัพท์ถามว่าได้ยินเสียงปืนหรือไม่

มูซา โมฮัมหมัด ออวัล (Musa Mohammad Auwal) ได้ถูกทหารฝ่ายความมั่นคงจับกุมที่บ้านที่กรุงกาดูนา (Kaduna) ไนจีเรียเมื่อเดือน ก.พ.2555 เขาถูกขังไว้แปดวัน และมีการสอบปากคำเกี่ยวกับ

หน่วยงานข่าวของเขา รวมทั้งสอบถามที่อยู่ของบรรณาธิการบริหาร (ซึ่งอยู่ระหว่างการหลบซ่อนตัวเพราะถูกคุกคาม) ต่อมาเขาได้รับการประกันตัวออกไป

4. การจับตามอง

ในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งคิวบาและจีน นักเคลื่อนไหวและผู้สื่อข่าวมักประสบปัญหาในการรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชน เนื่องจากทางการมักเฝ้าติดตามการสื่อสารของพวกเขา

ในเดือน มี.ค.2555  เยานี ซานเชซ (Yoani Sánchez) ผู้จัดทำเว็บบล็อกและผู้สื่อข่าวในคิวบา ไม่สามารถรับข้อความสั้นหรือรับโทรศัพท์ได้ในระหว่างที่สมเด็จพระสันตปปาเสด็จเยือนประเทศ

ในจีน ศาลสั่งลงโทษจำคุกเป็นเวลานานสำหรับคนที่จัดทำเว็บบล็อกหรือส่งข้อมูลที่ถือว่ามีความละเอียดอ่อนเมื่อปี 2555

ในเดือน มี.ค.2556 มีรายงานข่าวว่าทางการซาอุดิอารเบียขู่ที่จะปิดกั้นการใช้งาน Skype, WhatsApp, Viber และ Line หากบริษัทสื่อสารเหล่านี้ไม่ยอมให้ทางการเจาะข้อมูลที่ถูกเข้ารหัสในโปรแกรมได้

5. การปิดกั้นการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต              

รัฐบาลที่กดขี่บางแห่งพยายามควบคุมการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเพื่อจำกัดการดำเนินงานของผู้สื่อข่าว

ทางการจีนได้ปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ New York Times และ Bloomberg เป็นการชั่วคราว และยังห้ามไม่ให้เสิร์ชหาคำว่า ‘New York Times’ หลังจากสำนักข่าวเหล่านี้เปิดโปงข้อมูลด้านการเงินที่

อื้อฉาวของผู้นำรัฐบาลจีนบางคน

6. การออกกฎหมายหมิ่นประมาทที่รุนแรง              

ในบางประเทศมีการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทอย่างมิชอบเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้สื่อข่าววิพากษ์วิจารณ์เจ้าหน้าที่รัฐบาลและผู้มีอิทธิพล

ในติมอร์เลสเต้ ออสการ์ มาเรีย ซานซินฮา (Oscar Maria Salsinha) และไรมันโด โอกิ (Raimundo Oki) ถูกตั้งข้อหาว่า “หมิ่นประมาทด้วยถ้อยคำร้ายแรง” หลังจากตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับอัยการเขต

ซึ่งถูกกล่าวหาว่ารับสินบนในคดีอุบัติเหตุด้านจราจรซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 ต.ค.2554      

ในเดือน ส.ค.2555 อิสลาม อาฟีฟี (Islam Affifi) บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ El-Dostor อียิปต์ ต้องเข้ารับการไต่สวนของศาลฐานที่ตีพิมพ์ข้อมูลเท็จ ซึ่งเป็น “การดูหมิ่นประธานาธิบดี” การไต่สวนยัง

ดำเนินต่อไป

หน่วยงานความมั่นคงของทางการปาเลสไตน์ในเขตเวสต์แบงก์ และหน่วยงานความมั่นคงของกลุ่มฮามัสในเขตฉนวนกาซา มีมักสอบปากคำและคุกคามผู้สื่อข่าว ในเดือนมีนาคม 2556 มัมดูห์ ฮา

มัมเรห์ (Mamdouh Hamamreh) ชาวปาเลสไตน์ได้ถูกศาลสั่งจำคุกเป็นเวลาหนึ่งปีในข้อหาดูหมิ่นประธานาธิบดีมามุด อับบาส (Mahmoud Abbas) ต่อมาเขาได้รับการอภัยโทษจากประธานาธิบดีและ
ได้รับการปล่อยตัว

7. การเพิกถอนวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน              

ในบางประเทศ รวมทั้งซีเรีย รัฐบาลปฏิเสธหรือเพิกถอนวีซ่าผู้สื่อข่าวต่างชาติเพื่อหยุดยั้งไม่ให้พวกเขาสอบสวนกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ส่วนผู้สื่อข่าวในประเทศก็เจอกับความเสี่ยงที่จะถูก

เพิกถอนใบอนุญาตทำงานเช่นกัน

ในปี 2554 ทางการซีเรียได้เพิกถอนใบอนุญาตของอายัด ชาบี (Ayad Shabi) หลังจากเขาไม่ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติที่กำหนดโดยกระทรวงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการรายงานข่าวการประท้วง              

แอนเดซ พ็อกโซบูต์ (Andrzej Poczobut) ได้รับโทษจำคุกสามปีแต่รอลงอาญาที่ประเทศเบลารุส ซึ่งมีผลเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 ในข้อหา “หมิ่นประมาทประธานาธิบดี” เนื่องจากตีพิมพ์บทความ

เกี่ยวกับนักโทษด้านความคิดในประเทศ ตามเงื่อนไขของบทลงโทษ เขาจะต้องไปรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นประจำ และไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศ

เมื่อเดือน ส.ค.2555 ผู้สื่อข่าวบีบีซีที่เดินทางไปประเทศแกมเบียเพื่อรายงานข่าวเกี่ยวกับการรื้อฟื้นการประหารชีวิต ถูกกักตัวที่สนามบิน และได้รับแจ้งให้เดินทางออกนอกประเทศ แม้จะได้รับ

อนุญาตล่วงหน้าให้เข้าประเทศมาทำงานได้              

ในเดือน พ.ค.2555 สำนักข่าว Al Jazeera ภาคภาษาอังกฤษได้ปิดสำนักงานที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีนหลังจากทางการปฏิเสธที่จะต่ออายุวีซ่าของเมลิสสา เฉิน (Melissa Chan) นักข่าวที่รายงานเกี่ยว

กับการคุมขังแบบลับและการบังคับทำแท้ง

8. การไม่ยอมสอบสวนเมื่อเกิดกรณีการทำร้ายผู้สื่อข่าว          

การที่รัฐบาลไม่นำตัวผู้ทำร้ายผู้สื่อข่าวมาลงโทษ เป็นการส่งสัญญาณอย่างหนึ่ง ทำให้นักข่าวไม่กล้ารายงานข้อมูลในประเด็นที่ละเอียดอ่อน

มีการยกฟ้องคดีต่อบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าทรมานนาซีฮา ซาอีด (Nazeeha Saeed) ผู้สื่อข่าวระหว่างที่เธอถูกจับกุมตัวที่ประเทศบาห์เรน ในปี 2554 แม้จะมีหลักฐานทางนิติเวชว่าเธอได้ถูกทรมานจริง

นาซีฮาได้ถูกควบคุมตัวและทรมานช่วงที่ออกมาเปิดโปงว่ามีการสังหารผู้ประท้วง ซึ่งเธอมีส่วนเป็นพยานรู้เห็นและเกิดขึ้นที่วงเวียน Pearl Roundabout              

ในเดือน เม.ย.2555 อีดรัก อับบาซอฟ (Idrak Abbasov) และอาดาเล็ต อับบาซอฟ (Adalet Abbasov) ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลที่อาเซอร์ไบจาน หลังจากถูกทำร้ายร่างกายโดย

พนักงานราชการและตำรวจ 25 คน พวกเขาพยายามถ่ายภาพการรื้อบ้านอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ชานกรุงบากุ (Baku) ทางการไม่เคยสอบสวนเรื่องนี้อย่างจริงจัง              

ที่ผ่านมายังไม่มีการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษในปากีสถาน กรณีที่มีการลักพาตัวและสังหารซาลีม ชาซัด (Saleem Shahzad) เมื่อเดือน พ.ค.2554 ก่อนเขาจะเสียชีวิตสองวัน ชาซัดได้ตีพิมพ์บท

ความกล่าวหาว่ามีการแทรกซึมของกลุ่มอัลกออีดะห์ในกองทัพ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและต้องห้ามในประเทศนี้

9. การสั่งปิดหน่วยงานสื่อ              

ทางการในหลายประเทศสั่งปิดหนังสือพิมพ์และสถานีวิทยุที่ถูกมองว่ามุ่งวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล

ในช่วงสองเดือนแรกของปี 2555 ทางการซูดานได้สั่งพักการดำเนินงานของหนังสือพิมพ์สามฉบับ โดยใช้กฎหมายที่ให้อำนาจในการยุติการดำเนินงานของสิ่งพิมพ์ที่มีข้อมูลซึ่งถือว่าเป็นภัยคุกคาม

ต่อความมั่นคงแห่งชาติ

เมื่อเดือน ก.ย.2555 หนังสือพิมพ์ The Standard และ Daily News newspapers ในแกมเบียได้ถูกสั่งปิด หลังจากมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบซึ่งเชื่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองเข้าไปในสำนักงาน

และสั่งการให้พวกเขายุติการดำเนินการใด ๆ เป็นการชั่วคราว              

ในโซมาเลีย เมื่อเดือน เม.ย.2556 ทางการในเขตพันต์แลนด์ (Puntland) ได้สั่งปิดสถานีวิทยุสามแห่ง ซึ่งถูกมองว่าเป็นความพยายามคุกคามต่อสื่อมวลชนก่อนจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่น

10. สนับสนุนการใส่ร้ายป้ายสี              

ในหลายประเทศ รัฐบาลส่งเสริมให้มีการใส่ร้ายป้ายสีผู้สื่อข่าวที่ชอบวิพากษ์วิจารณ์ทางการ      
ในศรีลังกา รัฐได้สนับสนุนแผนการใส่ร้ายป้ายสีฆนาสิริ ก็อดเตโกดา (Gnanasiri Kottegoda) จนเป็นเหตุให้เขาต้องหนีหายไปจากบ้านเมื่อปี 2555 และต้องไปลี้ภัยในที่อื่นเนื่องจากถูกคุกคามด้านความปลอดภัย              

ที่เวเนซูเอลา รายมา ซูปรานี (Rayma Suprani) ถูกข่มขู่และดูหมิ่นทั้งโดยผ่านข้อความสั้นและสื่อสังคมออนไลน์ เธอเชื่อว่าเป็นความพยายามที่จะทำร้ายเธอเนื่องจากเธอทำงานเป็นนักเขียนการ์ตูน
การเมืองและเป็นผู้สื่อข่าว.


เสียงสะอื้นจากแม่น้องไตเติ้ลเด็กน้อยเหยื่อไฟใต้6ศพ


เหตุเมื่อคืน(01พ.ค.56).. ผลการสอบสวน ประวัติ ปืนกบ.1 HK33 เคยก่อเหตุมาแล้ว 19 คดี ตั้งแต่ปี 50 ได้ยิงทั้งประชาชน ตำรวจ ทหาร เช่น- ยิง ด.ต.มะรอซี สุหรง ที่ อ.เมือง ปน.เมื่อ 31 ส.ค.51 - ยิง จ.ส.อ.สุรชัย ก้าวประเสริฐ ภายในปั๊มเอสโซ่ เมือง ปน.เมื่อ 21 มี.ค. 52 ยิงนายยะโก๊ป หร่ายมณี โต๊ะอิหม่ามมัสยิดกลางปน.เมื่อ 11 ต.ค.53 - ยิง ทหารร้อย ร 1523 ถนนเลียบสะพานตะลุโบะ เมื่อ 4 ม.ค.2556 สำหรับประวัติปืน AK102 เคยก่อเหตุมา 1 คดี คือ ยิงหม้อแปลงไฟฟ้า ต.ตาแกะ อ.ยะหริ่ง ปน.เมื่อ 23 ก.พ.56

"แฟนพูดทุกวันว่าอยากกลับไปอยู่บ้านเกิด พาพ่อพาลูกไปอยู่ที่โน่น แต่ติดที่เรายังไม่มีเงินก้อนเลย หากจะไปก็ลำบาก ต้องทนอยู่ทำมาหากิน กลัวตายก็กลัว แต่ก็กลัวอดเหมือนกัน พอมีเหตุอย่างนี้ เสียทั้งพ่อทั้งลูก จัดงานศพเสร็จจัดการอะไรเสร็จก็จะอพยพครอบครัวกลับไปอยู่บุรีรัมย์แน่นอน"

เป็นเสียงครวญปนสะอื้นของ วัชริน นวลสาย หรือ "ตา" วัย 34 ปี ภรรยาของ สมาน เฮียงมา วัย 38 ปี และเป็นแม่ของ "น้องไตเติ้ล" หรือ จักริน เฮียงมา วัย 2 ขวบเศษ ทั้งสามีและลูกน้อยของเธอถูกกราดยิงเสียชีวิตหน้าร้านขายของชำของตัวเองย่านรูสะมิแล ทั้งๆ ที่อยู่ไม่ห่างจากย่านชุมชนเมืองปัตตานีเมื่อคืนวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา

วัชริน ที่นัยน์ตาแดงก่ำเพราะร้องไห้อย่างหนัก เล่าว่า เธอเป็นคนบุรีรัมย์ แม่ย้ายมาตั้งรกรากที่ปัตตานีตั้งแต่เธออายุได้เพียง 8 เดือน เธอจึงรู้สึกเหมือนเป็นคนปัตตานีตั้งแต่กำเนิด เพราะทะเบียนบ้านก็อยู่ที่นี่ พ่อกับแม่ก็ทำมาหากินที่นี่ ใช้ชีวิตอยู่ปัตตานีอย่างสงบสุขตลอดมา กระทั่งเริ่มมีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นบ่อยครั้งในห้วง 8-9 ปีหลัง และเหตุการณ์เริ่มโหดร้ายทารุณ ทั้งยังกระทำกับคนไทยพุทธถี่ขึ้น ทำให้เธอและครอบครัวเริ่มคุยกันถึงการกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิดของพ่อแม่ คือ จ.บุรีรัมย์

"ก็คุยกันมาพักหนึ่งแล้ว แต่ติดตรงที่ครอบครัวของเรามีรายได้น้อยเหลือเกิน พอแค่ได้กินได้ใช้ไปในแต่ละวัน สามีของฉันก่อนหน้านี้มีอาชีพหาของเก่าขาย แต่รายได้ไม่พอกับรายจ่ายเลยหันไปออก
เรือประมงทางฝั่งมาเลย์ ไปครั้งละ 2 เดือน ก่อนถูกยิงเขาเพิ่งกลับมา กำลังจะไปใหม่วันที่ 4 พ.ค.นี้ ส่วนฉันเองก็ขายของชำอยู่กับบ้านมา 6 ปีแล้ว จะปิดร้านประมาณ 2 ทุ่มของทุกวัน"

วัชริน เล่าให้ฟังถึงนาทีที่ถูกโจมตีจากกระสุนปืนสงครามของคนร้าย

"คนที่ตายเกือบทั้งหมดเขานั่งกันอยู่ที่โต๊ะม้าหินหน้าร้าน ตอนแรกฉันก็นั่งอยู่กับพวกเขา แล้วก็เดินไปจะอาบน้ำ เปิดน้ำอยู่ในห้องน้ำ ได้ยินเสียงปืนดังลั่นก็เลยปิดน้ำแล้วรีบออกมา เห็นเขม่าควันเต็มไปหมด เสียงปืนดังต่อก็กลัว เลยกลับเข้าไปในห้องน้ำอีก พอเสียงเงียบคิดว่าเป็นหน้าบ้านเราแน่ๆ สักพักเจ้าหน้าที่ก็มา และพาฉันไปหลบด้านหลังบ้าน เขากลัวว่าจะมีเหตุซ้ำ จากนั้นก็ตามไปที่โรงพยาบาล ยังไม่ได้ดูศพทั้งพ่อทั้งลูก ศาลาวัดก็ยังไม่ว่าง ต้องรอญาติสามีลงมาจากหนองบัวลำภูด้วยเพื่อมาจัดการศพ อยากให้เขามาทันรดน้ำศพ และน่าจะเผาได้วันจันทร์" 

วัชริน บอกว่า แต่ละวันน้องไตเติ้ลจะวิ่งเล่นซนตามประสาเด็ก เขาติดพ่อ ไม่ว่าพ่ออยู่ไหนเขาก็จะไปอยู่ด้วย ส่วนใหญ่เพื่อนที่มานั่งคุยนั่งกินกันก็จะรู้ว่า 3 ทุ่มจะปิดร้าน ปิดไฟ หลังจากนั้นก็ไปนั่งกันที่ม้าหินข้างบ้านต่อเป็นปกติ นั่งกันมานานไม่เคยมีเหตุร้ายอะไร ถ้านั่งอยู่ด้วยก็คงโดนหมดทั้งบ้าน แต่คิดว่าตายพร้อมกันดีกว่าต้องมาทรมานกับการที่ได้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

"ไตเติ้ลเป็นเด็กหัวไว จำได้หมดว่าอะไรเป็นอะไรในร้าน ใครสั่งอะไรไปหยิบถูก ท่องศัพท์ได้หมด ก.ไก่ ข.ไข่ก็คล่อง กำลังหาโรงเรียนให้เขา ถ้าตายไปพร้อมกันคงดีกว่าที่ต้องมานั่งเห็นบ้าน เห็นข้าวของและคิดถึงเขาสองคนอยู่แบบนี้ มันโหดร้ายมากที่ทำกับเด็ก 2 ขวบได้ กราดยิงแล้วไปยิงซ้ำเขาอีก เด็กบริสุทธิ์ไม่ได้ทำผิดอะไร ทำไมต้องทำกับเขาขนาดนี้ แฟนก็เป็นคนขยันทำมาหากิน รักครอบครัว อะไรที่ทำแล้วได้เงินมาเขาไม่เคยเกี่ยงเพื่อให้ครอบครัวอยู่รอด กำลังจะเอาของเก่าที่หาได้ไปขายเพื่อจะได้จ่ายค่าเช่าร้าน ค่านมลูก เขาไม่อยู่แล้วก็ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อ"

"แฟนเคยพูดทุกวันว่าอยากกลับไปอยู่บ้านเกิด พาพ่อพาลูกไปอยู่ที่โน่น แต่ติดที่เรายังไม่มีเงินก้อน จะไปก็ลำบาก ต้องทนอยู่ทำมาหากิน กลัวตายก็กลัว แต่ก็กลัวอดเหมือนกัน พอมีเหตุอย่างนี้ทั้งพ่อทั้งลูก จัดงานศพเสร็จจัดการอะไรเสร็จก็จะอพยพครอบครัวกลับไปอยู่บุรีรัมย์แน่นอน ไม่รู้จะอยู่อีกทำไม ไม่อยากตายทั้งครอบครัว"

ด้าน "ยายน้อย" สัมฤทธิ์ นวลสาย แม่ของวัชริน และยายของน้องไตเติ้ล บอกว่า มาตั้งรกรากที่ปัตตานีกว่า 30 ปีแล้ว ทำมาหากินสุจริตมาตลอด ตาของไตเติ้ลก็ไปเป็นคนเรือ ออกเรือฝั่งมาเลเซียเหมือนกัน แม้อายุจะเยอะก็ต้องทำเพื่อให้มีกิน ญาติพี่น้องที่บุรีรัมย์จะถามมาเสมอว่าเมื่อไหร่จะกลับไปอยู่บุรีรัมย์เพราะเป็นห่วงสถานการณ์ในพื้นที่

"ที่ผ่านมาก็บอกเขาไปว่าคงไม่ซวยมาตายไกลบ้าน เพราะเราเช่าบ้านอยู่ในเมือง ไม่ใช่ชนบท แต่สุดท้ายก็มาเกิดเหตุจนได้ ทั้งๆ บ้านเราอยู่ห่างกับจุดตรวจแค่ 200 เมตร คืนที่เกิดเหตุถ้าใครอยู่หน้า
บ้านก็คงถูกยิงตายหมด ยายอยู่บ้านถัดมาอีกสามห้อง ได้ยินเสียงปืนแต่ไม่กล้าออกไปดู สงสารลูกที่ต้องเสียทั้งสามีและลูก คราวนี้คงได้กลับบุรีรัมย์จริงๆ แล้ว" ยายน้อยบอกทั้งน้ำตา

ด้าน นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชาว จ.ปัตตานี ซึ่งไปเยี่ยมกำลังใจครอบครัวของวัชริน กล่าวว่า เป็นเหตุสะเทือนขวัญเหตุใหญ่ที่สุดเหตุหนึ่งของปัตตานีตั้งแต่มีสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่เมื่อปี 2547 เป็นต้นมา เพราะมีผู้เสียชีวิตพร้อมกันถึง 6 คน ผู้ที่รับผิดชอบปัญหาภาคใต้ต้องดูแลเป็นพิเศษแล้ว

"จากภาพรวมเหตุการณ์ในพื้นที่ตั้งแต่รัฐบาลไปลงนามในข้อตกลงพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มบีอาร์เอ็นเมื่อ 28 ก.พ.2556 เหตุการณ์นี้นับว่าสะเทือนขวัญมากที่สุด พุ่งเป้าไปยังเป้าหมายอ่อนแอ เพราะผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นชาวบ้าน กราดยิงแล้วยังลงไปยิงซ้ำ หนึ่งในนั้นคือเด็กชายวัยเพียง 2 ขวบ ถูกยิงจนกะโหลกไม่มีมันสมอง แล้วยังยิงคนพิการด้วย ประชาชนตั้งคำถามว่าคาดหวังอะไรได้กับการพูดคุยสันติภาพ เพราะมีเหตุการณ์ถี่และมากขึ้นทุกวันอย่างชัดเจน"

"ผมคิดว่าเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดและสร้างความมั่นใจให้มากขึ้น เพราะเหตุการณ์แบบนี้ทำให้แม่น้องไตเติ้ลตัดสินใจย้ายกลับไปบุรีรัมย์ ทั้ง
ที่มาอยู่ที่นี่ตั้งแต่แบเบาะ เนื่องจากไม่อยากมีชะตากรรมเหมือนสามีกับลูก"

ในฐานะประธานอนุกรรมการการติดตามประเมินผลการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อนุศาสน์ บอกว่า อยากให้ภาครัฐดูแลครอบครัวผู้สูญเสีย

เป็นพิเศษและครบคลุมทุกมิติ โดยเฉพาะค่าเดินทางมาร่วมพิธีศพของญาติ อยากให้ช่วยดูแลเหมือนกับเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะทุกคนมีสิทธิ์เท่ากัน

ที่โรงพยาบาลปัตตานี อดุลย์ ดวงแก้ว หนุ่มใหญ่วัย 40 ปีที่รอดชีวิตอย่างหวุดหวิดจากเหตุการณ์ฆ่าหมู่ 6 ศพยังคงนอนพักรักษาอาการบาดเจ็บอยู่บนเตียงผู้ป่วย

เขาเล่าถึงนาทีชีวิตให้ฟังสั้นๆ ว่า "ไม่ได้นั่งรวมอยู่กับกลุ่มที่ม้าหินอ่อน แต่ยืนอยู่นอกร้าน จู่ๆ ก็มีรถมอเตอร์ไซค์ 2 คันแล่นมาจอด คนบนรถ 4 คนแต่งชุดสีดำคล้ายทหารพราน ตอนแรกก็ไม่ได้เอะใจอะไร เพราะแถวนี้มีทหารพรานเดินผ่านบ่อยๆ อยู่แล้ว แต่เสี้ยววินาทีนั้นเองเขาก็กราดยิง ผมก็เลยรีบวิ่งหนี แต่ยังถูกยิงที่ขา ก็พยายามตะเกียกตะกายต่อไปจนไปล้มที่หน้าร้านอีกร้านหนึ่ง คนอื่นๆ ละแวกนั้นก็วิ่งหนีเข้าบ้าน"

อดุลย์ บอกด้วยว่า เขามีพื้นเพเป็นคน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี มีอาชีพรับเหมาก่อสร้าง และพักอาศัยอยู่ในย่านที่เกิดเหตุ ส่วนคนที่ถูกยิงส่วนใหญ่เป็นพนักงานบริษัทสหพันธ์ ซึ่งเป็นบริษัทก่อสร้าง

"คนแถวนั้นก็นั่งสังสรรค์กันปกติอยู่แล้ว ไม่นึกเลยว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น" อดุลย์กล่าวด้วยเสียงแหบแห้ง

สถานการณ์ความไม่สงบที่เต็มไปด้วยความโหดร้าย ทารุณ ทำให้ทุกชีวิตที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ล้วนมีโอกาสตกเป็นเป้าหมายของความรุนแรง...จะมีอีกสักกี่ชีวิตที่ต้องสังเวยกว่าจะถึงวัน

สันติภาพ!

ข้อมูลโดย:สถาบันอิศรา

เหตุความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับยุค Social network ปี 2556


เหตุความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
กับยุค Social network ปี 2556

นับว่าประสบผลสำเร็จอีกครั้ง กับเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2556ความสำเร็จดังกล่าว จะเป็นการกระทำของฝ่ายใดก็แล้วแต่ทั้งการใช้อาวุธสงคราม การโปรยตะปูเรือใบ และใบปลิวซึ่งมีผลด้านจิตวิทยากับประชาชนทั้งในพื้นที่ และทั้งประเทศ

ย้อนหลังไปเพียงแค่ ปลายปี 2546 ช่วงเริ่มต้นเหตุความไม่สงบ(รอบใหม่) การจะโปรยใบปลิว หรือ การปล่อยข่าวลือ เพื่อช่วงชิงมวลชน กระทำค่อนข้างยาก ต้องติดใบปลิวกับเสาไฟฟ้า บ้านร้านค้า หรือสถานที่ต่างๆ ซึ่งเท่ากับว่าต้องทำในปริมาณมากและรับรู้กันเพียงแค่ในวงแคบๆ ของแต่ละพื้นที่

แต่ปัจจุบันทำใบปลิวเพียงไม่กี่แผ่น ไม่ต้องติดตามเสาไฟฟ้าแค่ถ่ายรูป แล้วส่งผ่าน Social network เพียงแค่เสี้ยวนาทีรับรู้กันทั่วประเทศ และอาจกว้างกว่านั้นรวมไปถึงรูปภาพเหตุการณ์ของผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในแต่ครั้ง ก็ถูกส่งผ่าน Social network โดยที่...

1. ผู้ส่งอาจจะหวังดี ใจกว้าง อยากดัง ฯลฯ
2. ผู้ที่เห็น ได้อ่าน เกิดความสงสาร เห็นใจ ก็แชร์กันต่อๆ ไป
บางกรณีหลายท่านเกิดอารมณ์ร่วม ก็แสดงความคิดเห็นทั้งแบบสุภาพและแบบใช้ภาษาพ่อขุนรามคำแหง

ผลแห่งความเป็นจริง อาจเป็นการฏิบัติงานที่ยากขึ้นของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ แต่ในทางกลับกันอาจเป็นผลงานอันเยี่ยมยอดของฝ่ายตรงข้ามที่ถือว่าประสบผลสำเร็จ

วิวัฒนาการด้านการสื่อสารทันสมัยขึ้นต่างฝ่ายต่างใช้กระบวนการเหล่านี้สร้างความเชื่อมั่น ความน่าเชื่อถือศรัทธาให้แก่ตนเองและเช่นเดียวกันต่างฝ่ายต่างใช้กระบวนการเหล่านี้ทำลายกันเสริม เพิ่ม

เติมจากการกระทำด้วยอาวุธ

สรุปแล้วประชาชนเหล่าสาวก Social network ทั้งหลายรวมถึงผู้เขียนเอง ต้องตระหนักและคิดให้รอบคอบ หลายๆ รอบก่อนที่จะโพสต์ ก่อนที่จะส่ง ก่อนที่จะแชร์ และก่อนที่จะแสดงความคิดเห็น

ต่อเหตุความรุนแรงในแต่ละครั้ง เพราะอาจจะเป็นตัวเราเสียเอง ที่มีส่วนทำให้ "ความสงบ มันไม่สงบ"

ทุกคนมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่ "สามัญสำนึก อยู่ที่ท่านเอง"

วันพฤหัสบดี ที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ๒๓.๕๕

ชมรมนักวิทยุสมัครเล่นอาสาบรรเทาสาธารณภัย ศูนย์วารี ปัตตานี 144.6500 MHz