PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เสียงสะอื้นจากแม่น้องไตเติ้ลเด็กน้อยเหยื่อไฟใต้6ศพ


เหตุเมื่อคืน(01พ.ค.56).. ผลการสอบสวน ประวัติ ปืนกบ.1 HK33 เคยก่อเหตุมาแล้ว 19 คดี ตั้งแต่ปี 50 ได้ยิงทั้งประชาชน ตำรวจ ทหาร เช่น- ยิง ด.ต.มะรอซี สุหรง ที่ อ.เมือง ปน.เมื่อ 31 ส.ค.51 - ยิง จ.ส.อ.สุรชัย ก้าวประเสริฐ ภายในปั๊มเอสโซ่ เมือง ปน.เมื่อ 21 มี.ค. 52 ยิงนายยะโก๊ป หร่ายมณี โต๊ะอิหม่ามมัสยิดกลางปน.เมื่อ 11 ต.ค.53 - ยิง ทหารร้อย ร 1523 ถนนเลียบสะพานตะลุโบะ เมื่อ 4 ม.ค.2556 สำหรับประวัติปืน AK102 เคยก่อเหตุมา 1 คดี คือ ยิงหม้อแปลงไฟฟ้า ต.ตาแกะ อ.ยะหริ่ง ปน.เมื่อ 23 ก.พ.56

"แฟนพูดทุกวันว่าอยากกลับไปอยู่บ้านเกิด พาพ่อพาลูกไปอยู่ที่โน่น แต่ติดที่เรายังไม่มีเงินก้อนเลย หากจะไปก็ลำบาก ต้องทนอยู่ทำมาหากิน กลัวตายก็กลัว แต่ก็กลัวอดเหมือนกัน พอมีเหตุอย่างนี้ เสียทั้งพ่อทั้งลูก จัดงานศพเสร็จจัดการอะไรเสร็จก็จะอพยพครอบครัวกลับไปอยู่บุรีรัมย์แน่นอน"

เป็นเสียงครวญปนสะอื้นของ วัชริน นวลสาย หรือ "ตา" วัย 34 ปี ภรรยาของ สมาน เฮียงมา วัย 38 ปี และเป็นแม่ของ "น้องไตเติ้ล" หรือ จักริน เฮียงมา วัย 2 ขวบเศษ ทั้งสามีและลูกน้อยของเธอถูกกราดยิงเสียชีวิตหน้าร้านขายของชำของตัวเองย่านรูสะมิแล ทั้งๆ ที่อยู่ไม่ห่างจากย่านชุมชนเมืองปัตตานีเมื่อคืนวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา

วัชริน ที่นัยน์ตาแดงก่ำเพราะร้องไห้อย่างหนัก เล่าว่า เธอเป็นคนบุรีรัมย์ แม่ย้ายมาตั้งรกรากที่ปัตตานีตั้งแต่เธออายุได้เพียง 8 เดือน เธอจึงรู้สึกเหมือนเป็นคนปัตตานีตั้งแต่กำเนิด เพราะทะเบียนบ้านก็อยู่ที่นี่ พ่อกับแม่ก็ทำมาหากินที่นี่ ใช้ชีวิตอยู่ปัตตานีอย่างสงบสุขตลอดมา กระทั่งเริ่มมีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นบ่อยครั้งในห้วง 8-9 ปีหลัง และเหตุการณ์เริ่มโหดร้ายทารุณ ทั้งยังกระทำกับคนไทยพุทธถี่ขึ้น ทำให้เธอและครอบครัวเริ่มคุยกันถึงการกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิดของพ่อแม่ คือ จ.บุรีรัมย์

"ก็คุยกันมาพักหนึ่งแล้ว แต่ติดตรงที่ครอบครัวของเรามีรายได้น้อยเหลือเกิน พอแค่ได้กินได้ใช้ไปในแต่ละวัน สามีของฉันก่อนหน้านี้มีอาชีพหาของเก่าขาย แต่รายได้ไม่พอกับรายจ่ายเลยหันไปออก
เรือประมงทางฝั่งมาเลย์ ไปครั้งละ 2 เดือน ก่อนถูกยิงเขาเพิ่งกลับมา กำลังจะไปใหม่วันที่ 4 พ.ค.นี้ ส่วนฉันเองก็ขายของชำอยู่กับบ้านมา 6 ปีแล้ว จะปิดร้านประมาณ 2 ทุ่มของทุกวัน"

วัชริน เล่าให้ฟังถึงนาทีที่ถูกโจมตีจากกระสุนปืนสงครามของคนร้าย

"คนที่ตายเกือบทั้งหมดเขานั่งกันอยู่ที่โต๊ะม้าหินหน้าร้าน ตอนแรกฉันก็นั่งอยู่กับพวกเขา แล้วก็เดินไปจะอาบน้ำ เปิดน้ำอยู่ในห้องน้ำ ได้ยินเสียงปืนดังลั่นก็เลยปิดน้ำแล้วรีบออกมา เห็นเขม่าควันเต็มไปหมด เสียงปืนดังต่อก็กลัว เลยกลับเข้าไปในห้องน้ำอีก พอเสียงเงียบคิดว่าเป็นหน้าบ้านเราแน่ๆ สักพักเจ้าหน้าที่ก็มา และพาฉันไปหลบด้านหลังบ้าน เขากลัวว่าจะมีเหตุซ้ำ จากนั้นก็ตามไปที่โรงพยาบาล ยังไม่ได้ดูศพทั้งพ่อทั้งลูก ศาลาวัดก็ยังไม่ว่าง ต้องรอญาติสามีลงมาจากหนองบัวลำภูด้วยเพื่อมาจัดการศพ อยากให้เขามาทันรดน้ำศพ และน่าจะเผาได้วันจันทร์" 

วัชริน บอกว่า แต่ละวันน้องไตเติ้ลจะวิ่งเล่นซนตามประสาเด็ก เขาติดพ่อ ไม่ว่าพ่ออยู่ไหนเขาก็จะไปอยู่ด้วย ส่วนใหญ่เพื่อนที่มานั่งคุยนั่งกินกันก็จะรู้ว่า 3 ทุ่มจะปิดร้าน ปิดไฟ หลังจากนั้นก็ไปนั่งกันที่ม้าหินข้างบ้านต่อเป็นปกติ นั่งกันมานานไม่เคยมีเหตุร้ายอะไร ถ้านั่งอยู่ด้วยก็คงโดนหมดทั้งบ้าน แต่คิดว่าตายพร้อมกันดีกว่าต้องมาทรมานกับการที่ได้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

"ไตเติ้ลเป็นเด็กหัวไว จำได้หมดว่าอะไรเป็นอะไรในร้าน ใครสั่งอะไรไปหยิบถูก ท่องศัพท์ได้หมด ก.ไก่ ข.ไข่ก็คล่อง กำลังหาโรงเรียนให้เขา ถ้าตายไปพร้อมกันคงดีกว่าที่ต้องมานั่งเห็นบ้าน เห็นข้าวของและคิดถึงเขาสองคนอยู่แบบนี้ มันโหดร้ายมากที่ทำกับเด็ก 2 ขวบได้ กราดยิงแล้วไปยิงซ้ำเขาอีก เด็กบริสุทธิ์ไม่ได้ทำผิดอะไร ทำไมต้องทำกับเขาขนาดนี้ แฟนก็เป็นคนขยันทำมาหากิน รักครอบครัว อะไรที่ทำแล้วได้เงินมาเขาไม่เคยเกี่ยงเพื่อให้ครอบครัวอยู่รอด กำลังจะเอาของเก่าที่หาได้ไปขายเพื่อจะได้จ่ายค่าเช่าร้าน ค่านมลูก เขาไม่อยู่แล้วก็ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อ"

"แฟนเคยพูดทุกวันว่าอยากกลับไปอยู่บ้านเกิด พาพ่อพาลูกไปอยู่ที่โน่น แต่ติดที่เรายังไม่มีเงินก้อน จะไปก็ลำบาก ต้องทนอยู่ทำมาหากิน กลัวตายก็กลัว แต่ก็กลัวอดเหมือนกัน พอมีเหตุอย่างนี้ทั้งพ่อทั้งลูก จัดงานศพเสร็จจัดการอะไรเสร็จก็จะอพยพครอบครัวกลับไปอยู่บุรีรัมย์แน่นอน ไม่รู้จะอยู่อีกทำไม ไม่อยากตายทั้งครอบครัว"

ด้าน "ยายน้อย" สัมฤทธิ์ นวลสาย แม่ของวัชริน และยายของน้องไตเติ้ล บอกว่า มาตั้งรกรากที่ปัตตานีกว่า 30 ปีแล้ว ทำมาหากินสุจริตมาตลอด ตาของไตเติ้ลก็ไปเป็นคนเรือ ออกเรือฝั่งมาเลเซียเหมือนกัน แม้อายุจะเยอะก็ต้องทำเพื่อให้มีกิน ญาติพี่น้องที่บุรีรัมย์จะถามมาเสมอว่าเมื่อไหร่จะกลับไปอยู่บุรีรัมย์เพราะเป็นห่วงสถานการณ์ในพื้นที่

"ที่ผ่านมาก็บอกเขาไปว่าคงไม่ซวยมาตายไกลบ้าน เพราะเราเช่าบ้านอยู่ในเมือง ไม่ใช่ชนบท แต่สุดท้ายก็มาเกิดเหตุจนได้ ทั้งๆ บ้านเราอยู่ห่างกับจุดตรวจแค่ 200 เมตร คืนที่เกิดเหตุถ้าใครอยู่หน้า
บ้านก็คงถูกยิงตายหมด ยายอยู่บ้านถัดมาอีกสามห้อง ได้ยินเสียงปืนแต่ไม่กล้าออกไปดู สงสารลูกที่ต้องเสียทั้งสามีและลูก คราวนี้คงได้กลับบุรีรัมย์จริงๆ แล้ว" ยายน้อยบอกทั้งน้ำตา

ด้าน นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชาว จ.ปัตตานี ซึ่งไปเยี่ยมกำลังใจครอบครัวของวัชริน กล่าวว่า เป็นเหตุสะเทือนขวัญเหตุใหญ่ที่สุดเหตุหนึ่งของปัตตานีตั้งแต่มีสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่เมื่อปี 2547 เป็นต้นมา เพราะมีผู้เสียชีวิตพร้อมกันถึง 6 คน ผู้ที่รับผิดชอบปัญหาภาคใต้ต้องดูแลเป็นพิเศษแล้ว

"จากภาพรวมเหตุการณ์ในพื้นที่ตั้งแต่รัฐบาลไปลงนามในข้อตกลงพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มบีอาร์เอ็นเมื่อ 28 ก.พ.2556 เหตุการณ์นี้นับว่าสะเทือนขวัญมากที่สุด พุ่งเป้าไปยังเป้าหมายอ่อนแอ เพราะผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นชาวบ้าน กราดยิงแล้วยังลงไปยิงซ้ำ หนึ่งในนั้นคือเด็กชายวัยเพียง 2 ขวบ ถูกยิงจนกะโหลกไม่มีมันสมอง แล้วยังยิงคนพิการด้วย ประชาชนตั้งคำถามว่าคาดหวังอะไรได้กับการพูดคุยสันติภาพ เพราะมีเหตุการณ์ถี่และมากขึ้นทุกวันอย่างชัดเจน"

"ผมคิดว่าเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดและสร้างความมั่นใจให้มากขึ้น เพราะเหตุการณ์แบบนี้ทำให้แม่น้องไตเติ้ลตัดสินใจย้ายกลับไปบุรีรัมย์ ทั้ง
ที่มาอยู่ที่นี่ตั้งแต่แบเบาะ เนื่องจากไม่อยากมีชะตากรรมเหมือนสามีกับลูก"

ในฐานะประธานอนุกรรมการการติดตามประเมินผลการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อนุศาสน์ บอกว่า อยากให้ภาครัฐดูแลครอบครัวผู้สูญเสีย

เป็นพิเศษและครบคลุมทุกมิติ โดยเฉพาะค่าเดินทางมาร่วมพิธีศพของญาติ อยากให้ช่วยดูแลเหมือนกับเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะทุกคนมีสิทธิ์เท่ากัน

ที่โรงพยาบาลปัตตานี อดุลย์ ดวงแก้ว หนุ่มใหญ่วัย 40 ปีที่รอดชีวิตอย่างหวุดหวิดจากเหตุการณ์ฆ่าหมู่ 6 ศพยังคงนอนพักรักษาอาการบาดเจ็บอยู่บนเตียงผู้ป่วย

เขาเล่าถึงนาทีชีวิตให้ฟังสั้นๆ ว่า "ไม่ได้นั่งรวมอยู่กับกลุ่มที่ม้าหินอ่อน แต่ยืนอยู่นอกร้าน จู่ๆ ก็มีรถมอเตอร์ไซค์ 2 คันแล่นมาจอด คนบนรถ 4 คนแต่งชุดสีดำคล้ายทหารพราน ตอนแรกก็ไม่ได้เอะใจอะไร เพราะแถวนี้มีทหารพรานเดินผ่านบ่อยๆ อยู่แล้ว แต่เสี้ยววินาทีนั้นเองเขาก็กราดยิง ผมก็เลยรีบวิ่งหนี แต่ยังถูกยิงที่ขา ก็พยายามตะเกียกตะกายต่อไปจนไปล้มที่หน้าร้านอีกร้านหนึ่ง คนอื่นๆ ละแวกนั้นก็วิ่งหนีเข้าบ้าน"

อดุลย์ บอกด้วยว่า เขามีพื้นเพเป็นคน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี มีอาชีพรับเหมาก่อสร้าง และพักอาศัยอยู่ในย่านที่เกิดเหตุ ส่วนคนที่ถูกยิงส่วนใหญ่เป็นพนักงานบริษัทสหพันธ์ ซึ่งเป็นบริษัทก่อสร้าง

"คนแถวนั้นก็นั่งสังสรรค์กันปกติอยู่แล้ว ไม่นึกเลยว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น" อดุลย์กล่าวด้วยเสียงแหบแห้ง

สถานการณ์ความไม่สงบที่เต็มไปด้วยความโหดร้าย ทารุณ ทำให้ทุกชีวิตที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ล้วนมีโอกาสตกเป็นเป้าหมายของความรุนแรง...จะมีอีกสักกี่ชีวิตที่ต้องสังเวยกว่าจะถึงวัน

สันติภาพ!

ข้อมูลโดย:สถาบันอิศรา

ไม่มีความคิดเห็น: