PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2560

ขุดมายาคติ2475

หมุด ‘ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ’ หรือเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า ‘หมุดคณะราษฎร’ ถูกขุดทิ้ง แทนที่ด้วย ‘หมุดหน้าใส’ มีรั้วรอบขอบชิดและห้ามถ่ายรูปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สิ่งที่กำลังถูก ‘ขุด’ ต่อคือ ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ บทบาทของคณะราษฎรในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ซึ่งเดิมก็ถูกทำให้พร่าเลือนอยู่แล้ว และยิ่งเกิดเป็นข้อถกเถียงบนมายาคติการรับรู้ของคนใน พ.ศ.ปัจจุบัน
นี่คือตัวอย่างมายาคติเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ 2475 ที่มีหลักฐานข้อสรุปทางวิชาการไปแล้ว แต่เรายังเถียงกันอยู่

1. ชิงสุกก่อนห่าม

‘ชิงสุกก่อนห่าม’ เป็นคำอธิบายการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่แพร่หลายในช่วงต้นทศวรรษที่ 2510 โดยมุ่งให้ภาพเชิงลบต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ว่าเป็นเรื่องของ ‘พวกที่ใจร้อน ทนรอไม่ได้ โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนฝรั่งเศส’
งานเขียนกลุ่มนี้มีอิทธิพลอย่างสูงต่อสังคมไทย ระหว่างช่วงรัฐบาลเผด็จการทหาร โดยมีสาระสำคัญคล้ายคลึงกับงานสารคดีการเมืองในช่วงทศวรรษที่ 2490 ที่เหล่านักโทษการเมืองในคดีกบฏบวรเดชได้รับการอภัยโทษ เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นผลจากความพยายามคืนดีกับฝ่ายอนุรักษนิยมของ ปรีดี พนมยงค์ [1]
การอธิบาย ‘2475’ ในความหมาย ‘ชิงสุกก่อนห่าม’ ถูกยกขึ้นมาโต้แย้งครั้งแรกๆ โดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เขียนบทความเรื่อง ‘ความจำเป็นทางประวัติศาสตร์ของการเคลื่อนไหว 24 มิถุนายน 2475’ ในปี 2525 [8] เพื่อชำระคำอธิบายดังกล่าว เสกสรรค์พิจารณาสถานะทางประวัติศาสตร์ของ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จากสามปัจจัย ได้แก่
หนึ่ง – แบบแผนรัฐธรรมนูญที่พระองค์ศึกษา
สอง – เนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 รับสั่งให้ร่าง
สาม – ประเด็นขัดแย้งกับคณะราษฎรอันนำไปสู่การสละราชสมบัติ เพื่ออธิบายว่า ‘2475’ ไม่ใช่ชิงสุกก่อนห่าม หากแต่หมายถึง ‘ความจำเป็นทางประวัติศาสตร์’ ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ขณะที่ในจดหมายโต้ตอบระหว่างพระปกเกล้ากับที่ปรึกษาชาวอเมริกัน ชื่อ ฟรานซิส บี. แซยร์ (Francis Bowes Sayre) หรือ ‘พระยากัลยาณไมตรี’ ซึ่งงานของ เบนจามิน เอ. บัทสัน (Benjamin A. Batson) นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ระบุว่า ตามความเห็นของที่ปรึกษา (ฟรานซิส บี. แซยร์) การปกครองโดยมีระบบผู้แทน ไม่ใช่สิ่งที่น่าพึงประสงค์ [4]

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับพระยากัลยาณไมตรี หรือ ‘Outline of Preliminary Draft’ 12 มาตรา (ฉบับแปลโดยวิษณุ เครืองาม)

มาตรา 1 อำนาจอธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์
มาตรา 2 พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีนายหนึ่ง ซึ่งรับผิดชอบต่อพระองค์ในการบริหารราชการแผ่นดินทั้งปวง และให้นายกรัฐมนตรีอยู่ในตำแหน่งตามพระราชอัธยาศัย
มาตรา 3 ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบในการแต่งตั้งและถอดถอนรัฐมนตรีทั้งหลาย ซึ่งเป็นเจ้ากระทรวงต่างๆ โดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบต่อพระมหากษัตริย์ในกิจการทั้งปวงของแต่ละกระทรวง และจะต้องรับผิดชอบในการปฏิบัติภารกิจตามนโยบายทั่วไปของรัฐบาล ดังที่มีพระบรมราชโองการ และรับผิดชอบในการประสานงานระหว่างกระทรวงต่างๆ เพื่อให้บรรลุนโยบายดังกล่าว
มาตรา 4 ให้รัฐมนตรีแต่ละนายรับผิดชอบโดยตรงต่อนายกรัฐมนตรี สำหรับงานในกระทรวงของตน และให้ร่วมปฏิบัติภาคกิจตามนโยบายทั่วไปของรัฐบาลตามคำบัญชาของนายกรัฐมนตรี
มาตรา 5 ให้มีการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยให้คณะรัฐมนตรีประกอบด้วยรัฐมนตรีทุกนาย คณะรัฐมนตรีอาจอภิปรายปัญหาสำคัญอันเป็นประโยชน์ได้เสียร่วมกันได้ แต่ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบในการลงมติทั้งปวง
มาตรา 6 ให้นายกรัฐมนตรีกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์เพื่อขอรับพระบรมราชวินิจฉัย ในปัญหาทั้งปวงอันเกี่ยวด้วยนโยบายทั่วไป และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดก็ตาม นายกรัฐมนตรีต้องปฏิบัติตามพระบรมราชโองการ
มาตรา 7 พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งมนตรี 5 นาย ประกอบกันเป็น อภิรัฐมนตรีสภา ให้นายกรัฐมนตรีเป็นสมาชิกอภิรัฐมนตรีสภาโดยตำแหน่ง แต่ห้ามรัฐมนตรีนายอื่นดำรงตำแหน่งสมาชิกด้วย อภิรัฐมนตรีไม่มีอำนาจทางบริหาร ไม่ว่าในกรณีใดๆ ก็ตาม อำนาจหน้าที่ของอภิรัฐมนตรีสภามีเพียงถวายความคิดเห็นแด่พระมหากษัตริย์ ในปัญหาเกี่ยวด้วยนโยบายทั่วไป หรือปัญหาอื่นใดอันมิใช่รายละเอียดเกี่ยวกับงานบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลเท่านั้น อภิรัฐมนตรีสภาไม่มีอำนาจเสนอแนะให้แต่งตั้งใครดำรงตำแหน่งใดตลอดจนเสนอแนะรายละเอียดเกี่ยวกับการปกครอง อย่างไรก็ตาม อภิรัฐมนตรีสภามีอำนาจเปลี่ยนแปลงผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี
มาตรา 8 พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งและถอดถอนสมาชิกองคมนตรีสภาตามพระราชอัธยาศัย
มาตรา 9 ภายในระยะเวลา 3 วันนับแต่วันเสวยราชสมบัติ พระมหากษัตริย์จะทรงเลือกบุคคลหนึ่ง เป็นทายาทด้วยคำแนะนำและยินยอมขององคมนตรีสภา บุคคลผู้จะเป็นรัชทายาทได้นั้น จะต้องเป็นโอรสของพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระบรมราชินี หรือเป็นบุคคลอื่นซึ่งอยู่ในราชตระกูล แต่ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องอยู่ในลำดับฐานะมีพระอิสริยยศสูง หรือมีอาวุโสสูง การกำหนดบุคคลใดให้เป็นรัชทายาทย่อมไม่อาจเพิกถอนได้ แต่อาจถูกทบทวนใหม่ได้ในเวลาสิ้นสุดของทุกกำหนด 5 ปี โดยพระมหากษัตริย์ด้วยคำแนะนำและยินยอมขององคมนตรีสภา หากพระมหากษัตริย์สวรรคตก่อนมีการเลือกรัชทายาท ให้องคมนตรีสภาเลือกบุคคลหนึ่งขึ้นเป็นรัชทายาททันทีหลังจากที่พระมหากษัตริย์สวรรคต ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดก็ตาม สามในสี่ของสมาชิกองคมนตรีสภา ซึ่งอยู่ในราชอาณาจักร ย่อมประกอบกันเป็นองค์ประชุมกำหนดตัวรัชทายาท
มาตรา 10 ภายใต้บังคับแห่งพระราชอำนาจสูงสุด ศาลฎีกาและศาลอื่นใดทั้งหลายซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงตั้งขึ้นเป็นคราวๆ เป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการ
มาตรา 11 อำนาจสูงสุดทางนิติบัญญัติเป็นของพระมหากษัตริย์
มาตรา 12 การแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญนี้กระทำได้โดย พระมหากษัตริย์ ประกอบด้วยคำแนะนำและยินยอมจากสามในสี่ของสมาชิกองคมนตรีสภา
อ้างอิงข้อมูลจากวิษณุ เครืองาม.2523. กฎหมายรัฐธรรมนูญ. พิมพ์ครั้งที่ 2. หน้า 132-4. กรุงเทพฯ; โรงพิมพ์แสวงสุทธิการพิมพ์
ต้นฉบับภาษาอังกฤษ https://en.wikisource.org/wiki/Siam%27s_outline_of_preliminary_draft_of_constitution

ในร่างรัฐธรรมนูญอีกฉบับ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รับสั่งให้ เรมอนด์ บี. สตีเวนส์ (Raymond B. Stevens) กับ พระยาศรีวิสารวาจา เขียนขึ้น มีเนื้อหามุ่งไปสู่การเอื้ออำนวยให้เกิดความชอบธรรมแก่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่แก้ไขใหม่ ดังตัวอย่าง สิทธิ์ของกษัตริย์ในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี
“นายกรัฐมนตรีจักต้องได้รับการเลือกสรร โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และรับผิดชอบต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการบริหารรัฐบาล อำนาจของพระมหากษัตริย์ในการเลือกสรร (นายกรัฐมนตรี) จักต้องไม่ถูกจำกัดโดยสิ่งใดทั้งสิ้น
ถึงกระนั้นพระประสงค์นี้ก็เป็นสิ่งที่ถือว่า ‘มากเกินไป’ ในสายตาของ เรมอนด์ บี. สตีเวนส์ และเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ที่ไม่พึงประสงค์การปฏิรูประบอบตามพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้ไม่สามารถประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ได้ในวันที่ 6 เมษายน 2475 หรือครบรอบ 150 ปีของการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ตามพระราชประสงค์ตั้งต้น
อีกสาเหตุหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงคือ บริบทของสังคมไทยในปี 2475 ประสบปัญหาในระดับรากฐาน กล่าวคือ มีการลดลงของเงินคงคลังในรัฐบาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าอยู่หัว และภาวะข้าวยากหมากแพงแพร่กระจาย ซึ่งระบอบการเมืองแบบเดิมไม่สามารถปรับตัวรองรับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ขณะที่บริบทโลกเอง ก็เกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจ จึงทำให้เกิดกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่การปฏิวัติไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ [2]

2. พระราชหัตถเลขา

ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป
แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยฉะเพาะ เพื่อใช้
อำนาจนั้นโดยสิทธิขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร
ข้อความที่คุ้นเคยนี้มักถูกจัดวางประกอบกับภาพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า พระราชทานรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 แต่ข้อเท็จจริงคือ เป็นพระราชหัตถเลขาในบริบทสละราชสมบัติเมื่อปี 2477 หลังเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองสองปี
งานวิชาการหลายชิ้นยอมรับกันว่า การสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 นั้น มีสาเหตุมาจากความพยายามอันล้มเหลวที่จะเพิ่มพระราชอำนาจให้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ มิใช่การเรียกร้องสิทธิประชาธิปไตยให้กับประชาชน นักวิชาการหลายท่านจึงสรุปตรงกันว่า การสละราชย์เป็นเครื่องมือต่อรองสุดท้ายที่จะบังคับให้คณะราษฎรยอมทำตามข้อเรียกร้อง
งานเขียนของ ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ คืองานสำคัญชิ้นหนึ่ง ซึ่งใช้เอกสารกระทรวงต่างประเทศอังกฤษ (จดหมายส่วนพระองค์ของรัชกาลที่ 7 ถึงที่ปรึกษารัฐบาลไทยชาวอังกฤษ) เพื่อชี้ให้เห็นว่าพระองค์ทรงใช้การสละราชย์มาต่อรองรัฐบาลของคณะราษฎร โดย ม.ล.วัลย์วิภา สรุปว่า
“เนื่องมาจากประเทศอังกฤษเคยแย้มพรายว่า หากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯสละราชย์ ประเทศไทยจะต้องเกิดจลาจลแน่ ซึ่งในภาวะเช่นนั้นอังกฤษจำเป็นจะต้องเข้าแทรกแซงกิจการภายในประเทศไทยทันที…ทรงทราบว่ารัฐบาลหวั่นเกรงภัยจากการแทรกแซงของต่างชาติมาก…ฉะนั้นคำขู่เรื่องการแทรกแซงจากต่างประเทศจะได้ผลและทำให้รัฐบาลประนีประนอมต่อพระองค์ท่าน” [7]
ถึงกระนั้น พระราชหัตถเลขาสละราชสมบัตินี้ ก็กลายมาเป็นข้อความทรงพลังในเวลาต่อมา เพราะเนื้อหานั้นเลือกที่จะหันเข้าหาหลักการประชาธิปไตย จากการค้นคว้าของ ประจักษ์ ก้องกีรติ พบว่า พระราชหัตถเลขานี้ มีศักยภาพที่จะกลายเป็นเอกสารสำหรับใช้โฆษณาชวนเชื่อต่อต้านรัฐบาลทหาร ระหว่างการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษา ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
ในวิธีการสร้างวาทกรรมขบวนการนักศึกษาได้มีการใช้สัมพันธบท โดยนำพระราชหัตถเลขาของรัชกาล 7 ตีพิมพ์ในสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ของขบวนการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเคลื่อนไหวใหญ่ของขบวนการนักศึกษา ซึ่งเป็นการหยิบยืมถ้อยแถลงในอดีตของพระมหากษัตริย์มาวางกับบริบทใหม่ที่ถูกจัดวางให้เป็นประชาธิปไตย เรียกว่าวาทกรรม ‘กษัตริย์ประชาธิปไตย’ หรือเรียกอีกอย่างว่าเป็น ‘การอ้างอิงความหมายนอกบริบท’ [5]

3. เผด็จการทหารเป็นมรดกคณะราษฎร

ความเข้าใจนี้เกิดขึ้นในหมู่ขบวนการนักศึกษาก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม โดยเฉพาะงานเขียนของกลุ่มอนุรักษนิยมซึ่งอธิบายว่า คณะราษฎรเป็นต้นตอของ ‘วงจรอุบาทว์’ ที่ทำให้การเมืองประเทศไทยตกอยู่ในวังวนของการรัฐประหาร ยึดอำนาจ เพื่อผลประโยชน์ของพวกพ้อง
คำอธิบายนี้มีอิทธิพลอยู่ภายใต้บริบทในเวลานั้น ที่การต่อต้านรัฐบาลทหารของ จอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งสืบทอดอำนาจมาจากรัฐบาล จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
ทว่า จากการค้นคว้าของ ประจักษ์ ก้องกีรติ [5] พบว่า เกิดจากการตัดตอนความทรงจำทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากว่า หลังการรัฐประหาร 2490 และการรัฐประหารของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้มีการทำลายความทรงจำของคณะราษฎรลงไปอย่างมาก
ตัวอย่างสำคัญคือ หนังสือนักศึกษาในช่วงทศวรรษนี้ ได้ปิดฉากลงด้วยการปฏิวัติของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อ 20 ตุลาคม 2501 หนังสือนักศึกษาแต่ละมหาวิทยาลัยที่กำลังจัดทำอยู่ถูกยึดไปตรวจ บางเล่มถูกเซนเซอร์ข้อความออกไปจำนวนมาก
ก่อนหน้านั้นไม่นาน ในทศวรรษที่ 2490 เริ่มมีงานเขียน (โดยมากอยู่ในรูปแบบสารคดีทางการเมือง) อธิบายการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ในเชิงลบมากขึ้น โดยมองว่าการปฏิวัติ 2475 คือการแย่งอำนาจการปกครองหรือการรัฐประหารธรรมดาๆ ไม่ได้ให้ความสำคัญว่าเป็นกำเนิดของระบอบการปกครองใหม่ ซึ่งนำความก้าวหน้ามาให้กับชาติแบบงานในช่วงแรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ทางออกของการรับรู้นี้คือ การยกย่องเชิดชูสถาบันกษัตริย์ (พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว) ให้เป็นผู้นำต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแทนประชาชน ควบคู่ไปกับความใกล้ชิดระหว่างนักศึกษาและในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มีโครงเรื่องอยู่ภายใต้อุดมการณ์ราชาชาตินิยม ซึ่งสร้างคู่ตรงข้ามระหว่างสถาบันกษัตริย์และเผด็จการทหาร อันเป็นการปกครองที่ยาวนาน และสร้างการรับรู้ให้คณะราษฎรเป็นส่วนหนึ่งในที่มาของระบอบเผด็จการทหาร รวมถึงการรับรู้ต่อบทบาทของ ปรีดี พนมยงค์ ที่ลางเลือน แม้กระทั่งกลุ่มนักศึกษาที่สำคัญในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ อย่างนักศึกษากลุ่มสภาหน้าโดม ก็ขาดการรับรู้ต่อบทบาท ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งงานชิ้นนี้เสนอว่า มีสาเหตุมาจากระบอบเผด็จการทหารได้ทำลายความทรงจำของคณะราษฎรลงไปยาวนานหลายปี
 

4. รัฐธรรมนูญพระราชทาน

ความเข้าใจนี้เป็นผลมาจากการรับรู้ต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ทั้งสามข้อที่กล่าวมา แต่หากพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ได้นำเสนอไปแล้วจะพบว่า ความเข้าใจนี้คลาดเคลื่อนออกไป อีกตัวอย่างหนึ่งคือ รูปแบบสัญลักษณ์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ยังสามารถบอกความจริงได้อยู่หลายประการ โดยเฉพาะประเด็นการพระราชทานรัฐธรรมนูญ
ดังที่ นิธิ เอียวศรีวงศ์ อธิบายการออกแบบรัฐธรรมนูญบนยอดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยชี้ว่า ปกติหากสิ่งที่เป็นของพระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีพานแว่นฟ้ารองรับ ในทางตรงกันข้าม หากเป็นสิ่งที่ประชาชนทูลเกล้าฯ ถวายขึ้นไปนั้น ถึงจะมีการใช้พานแว่นฟ้ารองรับเสมอ เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญที่วางอยู่บนพานแว่นฟ้าจึงหมายถึงรัฐธรรมนูญว่าเป็นสิ่งที่เกิดจากคณะราษฎรเป็นผู้ถวายให้แก่พระมหากษัตริย์ มิใช่สิ่งที่ได้รับพระราชทานมาจากเบื้องบน [3]
ในวิทยานิพนธ์เรื่อง นัยทางการเมืองของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในสังคมไทย เขียนโดย มาลินี คุ้มสุภา ในปี 2541 อธิบายไว้ว่า อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยได้แปรเปลี่ยนความหมายไปจากเดิม เริ่มจากจุดประสงค์เพื่อต้องการสื่อถึงประชาธิปไตย ที่เกิดจากความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 อย่างไรก็ตาม ในอดีตมีการพยายามใช้พื้นที่ไปในงานอื่นซึ่งไม่ได้มีความหมายเกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยด้วย
ตัวอย่างเช่น พระราชพิธี การเดินสวนสนามของกองทัพ หรือการนำพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 7 มาอ่านในพื้นที่อนุสาวรีย์เพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างผิดฝาผิดตัว แต่เนื่องจากความต้องการพื้นที่แสดงออกถึงการมีส่วนร่วมทางการเมือง ทำให้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถูกใช้ชุมนุมทางการเมืองมากขึ้นเป็นลำดับ เช่น 14 ตุลาคม 2516 หรือ พฤษภาคม 2535 การใช้พื้นที่ทางการเมืองเชิงสัมพัทธ์นี้มีส่วนก่อรูปความหมายได้อย่างสำคัญ มาลินีเห็นว่า ความสำคัญของชื่อ งานเขียน และภาพของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถือได้ว่ามีส่วนก่อรูปและเปลี่ยนแปรความหมายของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยให้เชื่อมโยงกับกระบวนการประชาธิปไตยไทย แทนที่ความหมายเชิงสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ได้ [6]
กล่าวได้ว่า สัญลักษณ์ของคณะราษฎร ไม่ได้มีความหมายที่หยุดนิ่ง หากแต่เต็มไปด้วยการช่วงชิงความหมายตลอดหน้าประวัติศาสตร์ ตัวอย่างของการใช้พื้นที่ของสัญลักษณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นหลักฐานอันดีที่ชี้ให้เห็นความจริงข้อนี้

อ้างอิงข้อมูลจาก:[1] ณัฐพล, ใจจริง. 2556. ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ: ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ. 2475-2500). นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน
[2] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. 2540. การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475. พิมพ์ครั้งที่ 2 , กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง
[3] นิธิ เอียวศรีวงศ์. 2538. ชาติไทยเมืองไทยแบบเรียนและอนุสาวรีย์ว่าด้วยวัฒนธรรมรัฐและรูปการจิตสำนึก. กรุงเทพฯ: มติชน
[4] เบนจามิน เอ. บัทสัน; บรรณาธิการแปล กาญจนี ละอองศรี, ยุพา ชุมจันทร์; คณะแปล พรรณงาม เง่าธรรมสาร, สดใส ขันติวรพงศ์, ศศิธร รัชนี ณ อยุธยา. 2555. อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
[5] ประจักษ์ ก้องกีรติ. 2558. การเมืองวัฒนธรรมไทย: ว่าด้วย ความทรงจำ วาทกรรม อำนาจ. นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน
[6] มาลินี คุ้มสุภา. 2541. นัยทางการเมืองของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในสังคมไทย. วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
[7] วัลย์วิภา บุรุษรัตนพันธุ์, ม.ล. 2520. การศึกษาเชิงวิเคราะห์แนวพระราชดำริทางการเมืองของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2468-2477). กรุงเทพฯ, สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
[8] เสกสรรค์ ประเสริฐกุล. 2525. ความจำเป็นทางประวัติศาสตร์ของการเคลื่อนไหวของ 24 มิถุนายน 2475. ใน วารสารธรรมศาสตร์. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ปีที่ 11 ฉบับที่ 2, หน้า 62-67

“มันนี่เกม” ของ"เจ้าสัวเจริญ"

ทางออกนอกตำรา
โดย : บากบั่น บุญเลิศ 

“มันนี่เกม” ของ"เจ้าสัวเจริญ"
กลายเป็นประเด็นที่เรียกเสียงฮือฮากันในตลาดทุนของไทยมากที่สุดในขณะนี้ คือการที่ผู้บริหารบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในกลุ่ม TCC Group ของ นายเจริญ สิริวัฒนภักดี แจ้งความประสงค์ไปยังบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTAM) เพื่อขอซื้อทรัพย์สินทั้งหมดของกองทุนพร็อพเพอร์ตี้ฟันด์ 3 กองทุน ที่ได้ขายให้กับนักลงทุนไปก่อนหน้าออกมาทั้งหมด จากปัจจุบันที่กลุ่มคุณเจริญถืออยู่ 33-35%

อันนี้ ไม่นับรวมถึงการใช้ตัวแทนผู้ถือหน่วย (นอมินี) ที่อยู่ในกองทุนเหล่านี้นะครับ…ผมว่าถ้านับรวมนอมินีด้วยกลุ่มคุณเจริญน่าจะถือหน่วยลงทุนตกประมาณ 50-65%
3 กองทุนที่บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของ “วัลลภา” และสามี คือ “โสมพัฒน์ ไตรโสรัส” ซึ่งเป็นทายาทของเจ้าสัวเจริญ ขอทำการซื้อคืน ประกอบด้วย
1.กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าไทยคอมเมอร์เชียลอินเวสเม้นต์ (TCIF) ทรัพย์สินของกองทุน ประกอบด้วย อินเตอร์ลิงค์ ทาวเวอร์, อาคารแอทธินี, อาคารเอ็มไพร์ ทาวเวอร์, ซีดับเบิ้ลยู ทาวเวอร์, อาคาร 208 โดยบริษัท ซี.ไอ.ที.แอพเพรซัล จำกัด มูลค่าทรัพย์สินรวม 28,382 ล้านบาท
2.กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าไทยโฮเทลอินเวสเมนท์ (THIF) ทรัพย์สินของกองทุนประกอบด้วย พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า งามวงศ์วาน, พันธ์ทิพย์ พลาซ่า เชียงใหม่, พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า บางกะปิ, พันธ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ, เอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟร้อนท์, ตะวันนา และ โอ.พี.เพลส ราคาประเมินรวมจากบริษัท ไนท์แฟรงค์ ชาร์เตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด อยู่ที่ 20,767 ล้านบาท
3.กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าไทยรีเทล อินเวสเมนท์ (TRIF) ทรัพย์สินประกอบด้วย ที่ดิน อาคาร เฟอร์นิเจอร์และอื่น ๆ ของโรงแรม 12 แห่ง โรงแรมเชอราตันสมุย รีสอร์ท, โรงแรมอิมพีเรียล โบ๊ทเฮาส์ บีช รีสอร์ท, โรงแรมแบงก์ค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนปาร์ค, โรงแรมเดอะเมโทรโพล ภูเก็ต, โรงแรมเลอ เมอริเดียน กรุงเทพฯ, โรงแรมบันยันทรี สมุย, โรงแรมวนาเบลล์ เกาะสมุย, โรงแรมฮิลตัน สุขุมวิท, โรงแรมดับเบิ้ลทรี ฮิลตัน สุขุมวิท, โรงแรมเลอ เมอริเดียน เชียงใหม่, โรงแรมพลาซ่า แอทธินี กรุงเทพฯ และโรงแรมโอกุระ เพรสทีจ กรุงเทพฯ โดยบริษัท ซีบี ริชาร์ด เอลลิส (ประเทศไทย) จำกัด ประเมินมูลค่าทรัพย์สินรวมไว้ 37,612 ล้านบาท
แต่ราคาที่กลุ่มคุณเจริญเสนอซื้อคืนนั้นแตกต่างกันไปดังนี้
กองทุน TCIF กลุ่มเจ้าสัวเจริญขอซื้อคืนในราคา 29,000 ล้านบาท
กองทุน THIF กลุ่มเจ้าสัวเจริญขอซื้อทรัพย์สินคืนในราคา 30,000 ล้านบาท
กองทุน TRIF กลุ่มเจ้าสัวเจริญขอซื้อในราคา 21,000 ล้านบาท
รวมเม็ดเงินทั้งหมดในการขอซื้อคืนตกประมาณ 8 หมื่นล้านบาท
ผมได้พิจารณาในรายละเอียดของข้อเสนอการรับซื้อกับราคาหน่วยลงทุนที่ขายอยู่ในตลาดแล้ว พบความผิดปกติ ที่นักลงทุนควรพิจารณา กล่าวคือ กองทุน TRIF ราคาเสนอซื้อต่อ 1 หน่วยลงทุนเท่ากับ 13.22 บาท แต่ราคาซื้อขายกองทุนในตลาดเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 15.38 บาทต่อหน่วย
กองทุน TCIF กลุ่มเจ้าสัวเจริญเสนอซื้อต่อ 1 หน่วยลงทุนเท่ากับ 13.10 บาท แต่ราคาที่ซื้อขายหน่วยลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ 14.13 บาทต่อหน่วย
อย่างไรก็ตาม ระดับราคาที่เสนอมานี้ น่าจะมีการเจรจากัน หรือต้องหาข้อสรุปในการประชุมผู้ถือหน่วยลงทุนในวันที่ 17 พฤษภาคม 2560 เพื่อพิจารณาอนุมัติการขายทรัพย์สินและโอนสิทธิ์การเช่าทั้งหมดของกองทุนรวม และพิจารณาอนุมัติการเลิกกองทุนและเพิกถอนหน่วยลงทุนออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งทาง บลจ.กรุงไทยฯ ต้องดำเนินการตามขั้นตอน
ถามว่า กลุ่มเจ้าสัวเจริญมีสิทธิ์ซื้อคืนหรือไม่ คำตอบคือ ตามประกาศของ ก.ล.ต.นั้น กลุ่มเจ้าของเดิมมีสิทธิ์เต็ม 100% ที่จะขอซื้อคืน แต่ต้องขอมติอนุมัติจากผู้ถือหน่วยตามหลักเกณฑ์ โดยผู้ทำคำเสนอซื้อต้องได้เสียงโหวตเกิน 50% ของหน่วยลงทุนที่จำหน่ายแล้วทั้งหมด หรือ 3 ใน 4 ของผู้เข้าร่วมประชุม
ถามว่า ทำไมต้องเร่งซื้อคืน และจะกระทบกับกองทุนรวมอื่นๆหรือไม่ อันนี้ต่างหากที่ต้องวิเคราะห์และประเมินกัน
ผมสืบเสาะข้อมูลจากผู้รู้และบรรดาผู้บริหารกองทุนแล้ว ได้ข้อสรุปชัดเจนว่า งานนี้มีเรื่อง “ภาษี”ที่ต้องจ่ายให้กับรัฐบาล เข้ามาเกี่ยวข้องแน่นอน 100%
อีกประเด็นหนึ่ง อันนี้น่าจะสำคัญมากที่ทำให้ “วัลลภา-โสมพัฒน์” ที่เป็นอดีตนักการเงิน ปรับแนวทางการระดมทุน คือ มูลค่าของทรัพย์สินจริง กับการเคลื่อนไหวราคาของหน่วยลงทุนไม่สัมพันธ์กัน
ถ้าพิจารณาทรัพย์สินที่มีการนำมามัดรวมกันเพื่อจัดตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์กับราคาหน่วยลงทุน เราจะพบว่าความเคลื่อนไหวมีน้อยมาก นั่นหมายถึงว่า มูลค่าหน่วยลงทุนไม่ขยับ หรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเจ้าของ แต่หากมีการนำเงินสดที่ปัจจุบันกลุ่มเจ้าสัวเจริญมีอยู่ในมือในแต่ละวัน แต่ละเดือน มาซื้อคืนแล้วสร้างมูลค่าขึ้นมาใหม่ ได้หลากหลายขึ้น หรืออาจจะนำมาจัดสรรใหม่ในรูปของทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ซึ่งสามารถเพิ่มเงินทุนหรือกู้เงินเพิ่มเติมมาขยายงานได้อีก
ทางออกในรูปแบบการจัดการทรัพย์สินก้อนมหึมาของจ้าสัวเจริญ สามารถออกดอกเห็นผลมากกว่า
โปรดจับตา Money Game เกมเล่นกับเงิน และการจัดการทรัพย์สินของกลุ่มเจ้าสัวเจริญและทายาทกันให้ดี
รับรองว่า ทรัพย์สินทั้งหมดที่มีอยู่ 8 หมื่นล้านบาทเศษ แล้วนำมาจัดระบบใหม่จะสร้างความฮือฮา ไม่แพ้การลงทุน 1.2 แสนล้านบาท ในโครงการ One Bangkok ย่านพระราม 4 แน่นอน
เชื่อมือเจ้าสัวเจริญได้ครับ…
คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา /หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3254 ระหว่างวันที่ 20-22 เม.ย.2560

ศาลสั่งลดค่าสินไหม”แพรวา”เหลือ19ล้าน ชี้โชเฟอร์รถตู้ขับเร็วมีส่วนผิด

ศาลสั่งลดค่าสินไหม”แพรวา”เหลือ19ล้าน ชี้โชเฟอร์รถตู้ขับเร็วมีส่วนผิด ถึงไม่ได้ก่อผลโดยตรง

ภาพจากแฟ้มข่าว

เมื่อวันที่ 19 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 เมษายน ที่ผ่านมา ศาลแพ่งอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำ 2266-2278/2559 ที่กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ จากอุบัติเหตุที่ น.ส.แพรวา หรือ อรชร (นามสมมุติ) ขับรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า ซีวิค เฉี่ยวชนรถตู้โดยสารพลิกคว่ำ เมื่อคืนวันที่ 27 ธันวาคม 2553 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.แพรวา (นามสมมุติ) เยาวชนหญิง ที่ขับรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า ซีวิค รวมถึงบิดาและมารดาของเยาวชน นายสุพิรัฐ จ้าววัฒนา ผู้ครอบครองรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า ซีวิค นายสันฐิติ วรพันธ์ น.ส.วิชชุตา วรขจิต และบริษัท นวกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลย 1-7 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2554 เรื่องกระทำละเมิด ให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 113,077,510.22 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 บาทต่อปี
สำหรับคดีนี้ศาลชั้นต้น อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2558 เห็นว่าคดีน.ส.แพรวา เป็นการกระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวมถึงทรัพย์สินเสียหาย ซึ่งเป็นการกระทำละเมิด จึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และเมื่อรับฟังได้ว่า น.ส.แพรวา จำเลยที่ 1 กระทำผิด โดยบิดาและมารดาซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 และ 3 ไม่ได้นำสืบถึงความระมัดระวังในการดูแลจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย พิพากษาให้ น.ส.แพรวา บิดาและมารดา ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ประกอบด้วย ค่าไร้อุปการะ และค่ารักษาพยาบาลรวมถึงค่าอื่นๆให้กับโจทก์ร่วม รวม 28 คน ซึ่งเป็นครอบครัวของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บแต่ละคน ในจำนวนเงินแตกต่างกันตั้งแต่ คนละ 4,000- 1,800,000บาท รวมเป็นเงินประมาณ 30 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย ร้อยละ 7.5 ต่อปี
ต่อมาโจทก์ที่ 5 ,11 และ จำเลย 1-3 ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์จากคำเบิกความของพยานหลักฐานเห็นได้ว่า พฤติการณ์กระทำละเมิดไม่ได้เกิดจาก จำเลยที่1 เพียงฝ่ายเดียว พฤติการณ์การขับรถของนางนฤมล ปิตาทานัง ผู้ขับรถตู้ที่ได้ขับด้วยความเร็วสูงโดยประมาทเช่นเดียวกัน เมื่อข้อเท็จจริงเป็นดังนี้ การเรียกค่าเสียหายจากค่าขาดไร้อุปการะจำเลยที่ 1-3 ที่ศาลชั้นต้นกำหนดจึงเป็นจำนวนเงินที่สูงเกินควร ตามที่จำเลยที่ 1-3 อุทธรณ์ นั้นได้ความว่านางนฤมลขับรถตู้ด้วยความเร็วสูง แต่ข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่า นางนฤมลขับตัดหน้า หรือขับเสียหลักชนรถยนต์จำเลยที่ 1 ขับ เพราะหากจำเลยที่1 ไม่ขับรถยนต์ด้วยความเร็วสูงเพื่อแซงคนขับรถตู้โดยสาร ก็จะไม่เกิดการเฉี่ยวชนกัน จึงฟังได้ว่าจำเลยที่1 เป็นฝ่ายประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงมากกว่านางนฤมล กรณีนี้ไม่ได้เรื่องที่จำเลยที่ 1 หรือ นางนฤมลประมาทเลินเล่อไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันตามที่จำเลยที่ 1-3 อุทธรณ์ และเมื่อพิจารณาค่าขาดไร้อุปการะตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์แต่ละรายเห็นว่าเป็นอัตราที่เหมาะสมแล้ว แต่เมื่อฟังว่า นางนฤมลมีส่วนประมาทอยู่บ้าง ย่อมมีส่วนทำความผิดก่อให้เกิดความเสียหายด้วยแต่ไม่ได้เป็นผลโดยตรง ค่าสินไหมทดแทนที่ต้องชดใช้จึงต้องพิจารณาลดหย่อนตามพฤติการณ์ เห็นสมควรกำหนดให้จำเลยที่ 1-3 รับผิดชอบค่าเสียหายในส่วนค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์แต่ละราย 4 ใน 5 ส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 1-3 ร่วมกันชำระเงิน แก่โจทก์ที่ 1- 5 ,9-19,21- 22 ,25 -28 รวมเป็นเงิน 19,826,925 บาท โดยมีจำนวนเงินตั้งแต่ 80,000-1,440,000 บาท และให้จำเลยที่4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1-3 ต่อโจทก์ที่ 5และที่ 11 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
สำหรับคดีอาญา ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีเยาวชน และครอบครัว 1 ยื่นฟ้อง น.ส.แพรวา อายุ 17 ปี (ขณะเกิดเหตุ) ต่อศาลเยาวชน และครอบครัวกลางในความผิดฐานขับรถยนต์โดยประมาท จนเป็นเหตุในผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัส และถึงแก่ความตาย และทรัพย์สินเสียหายนั้น ซึ่งคดีได้ถึงที่สุดแล้ว ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำคุกน.ส.แพรวา 3 ปี แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญา 4 ปี บำเพ็ญประโยชน์ 48 ชั่วโมงต่อปี และห้ามขับรถจนกว่าจะมีอายุครบ 25 ปี ซึ่งน.ส.แพรวา ได้ยื่นฎีกาสู้คดี แต่ศาลไม่รับฎีกาจึงทำให้คดีสิ้นสุดตามคำพิพากษาดังกล่าว
ด้านนางทองพูล พานทอง มารดาของ นางนฤมล คนขับรถตู้ ซึ่งเป็น1ในโจทก์ร่วม กล่าวว่า ในส่วนของลูกสาวที่ศาลอุทธรณ์มองว่ามีความผิดฐานขับรถเร็วด้วย ส่วนเงินค่าเสียหายเดิมนั้นศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายแก่ตนประมาณ 150,000 บาท แต่พอมาถึงชั้นอุทธรณ์ศาลก็พิพากษาแก้ค่าเสียหายให้แก่ตนเหลือ 120,000 บาท ลดจำนวนเงินลง รวมถึงผู้เสียหายรายอื่นด้วย ส่วนเรื่องจะยื่นฎีกาหรือไม่นั้นต้องขอประชุมร่วมกับผู้เสียหายคนอื่นก่อนว่าจะมีความเห็นอย่างไร

ทหารบุกมูลนิธิสืบฯ ให้หยุดเสวนา เช่าที่ดิน 99 ปี อ้างทำประชาชนสับสน


ทหารบุกมูลนิธิสืบฯ ให้หยุดเสวนา เช่าที่ดิน 99 ปี อ้างทำประชาชนสับสน


เมื่อวันที่ 19 เมษายน นายภานุเดช เกิดมะลิ เลขามูลนิธิสืบ นาคะเสถียร กล่าวว่า ช่วงเช้าวันนี้ ได้มีฝ่ายปกครอง ปลัดอำเภอ ทหาร ตำรวจ เข้ามาพูดคุยให้ทางมูลนิธิสืบฯ งดกิจกรรมเสวนา “วิพากษ์การให้เช่าที่ดิน 99 ปี ผลประโยชน์ของไทย หรือผลประโยชน์ของใคร?” โดยมีการเชิญนักวิชาการมาร่วมพูดคุย ได้แก่ นายเดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายสมนึก จงมีวศิน นักวิชาการด้านชุมชน นส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ และ น.ส.พรพนา ก๋วยเจริญ กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 23 เมษายน นี้ ที่มูลนิธิสืบฯ อ.เมือง จ.นนทบุรี
“ทหารให้เหตุผลกับเราว่า การเช่าที่ดิน 99 ปีตามนโยบายของรัฐบาลในการผลักดันการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นเพียงการร่างพ.ร.บ.เท่านั้น ยังไม่ได้ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติและยังไม่มีการประกาศใช้ใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งอาจมีเนื้อหาที่เปลี่ยนแปลงได้จึงไม่อยากให้เราวิตกกังวลไปก่อน อย่างไรก็ตามเราไม่แน่ใจว่าทหารไปโยงกับหมุดคณะราษฎรหรือไม่ เพราะมีนักวิชาการบางคนโพสในเฟชบุ๊กเกี่ยวข้องกับหมุดคณะราษฎรดังกล่าว จึงไม่อยากให้ผู้ที่เห็นต่างกับรัฐบาลจัดเสวนานี้ขึ้น อีกทั้งยังให้เจ้าหน้าที่ตำรวจลงบันทึกประจำวันเกี่ยวกับการจัดเสวนาในครั้งนี้อีกด้วย จึงทำให้มูลนิธิสืบฯ ต้องเลื่อนการเสนวนาไปก่อนอย่างไม่มีกำหนด” นายภานุเดช กล่าว
เลขามูลนิธิสืบฯ กล่าวต่อว่า สิ่งที่พวกตนตั้งใจจัดกิจกรรมเสวนาดังกล่าวขึ้น เพราะมีข้อกังวลเป็นห่วง เนื่องจากในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษในบางพื้นที่อยู่ในแนวเขตป่า เช่น ป่าสงวนที่ยังมีความอุดมสมบูรณ์อยู่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่า ชุมชน ความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์ ซึ่งหากเกิดปล่อยให้มีการเช่าที่ดิน 99 ปี จะเกิดผลอย่างไรบ้าง จึงเชิญนักวิชาการจากหลายฝ่ายมาพูดคุยในเรื่องนี้ให้หลากหลายมิติ การที่ทหารชี้แจงว่าไม่อยากให้กังวลไปก่อนนั้น ไม่อยากต้องมาพูดคุยในช่วงที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านแล้ว หรือประกาศใช้แล้ว จึงค่อยมาถกเถียงว่ามันดีหรือไม่ดีอย่างไร จะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ การเสวนาครั้งนี้เพื่อให้สังคมรับทราบถึงสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอยู่นั้นว่ามีผลดีผลเสียอย่างไร ไม่อยากให้ปิดหูปิดตาประชาชน

หมุดหน้าใสคือความอ่อนหัดทางการเมืองของอนุรักษ์นิยม ชาตรี ประกิตนนทการ

หมุดหน้าใสคือความอ่อนหัดทางการเมืองของอนุรักษ์นิยม ชาตรี ประกิตนนทการ

นักวิชาการสถาปัตย์วิเคราะห์ ‘หมุดหน้าใส’ เกิดเพราะไสยศาสตร์ เชิดชูอุดมการณ์ราชาชาตินิยม และรื้อถอนความทรงจำคณะราษฎร เหตุหมุดคณะราษฎรมีพลังทางการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ หลัง 2553 เชื่อไม่ได้หมุดคณะราษฎรคืน ตอกคนเอาออกเป็นความอ่อนหัดทางการเมืองของฝ่ายอนุรักษ์นิยม
การรื้อถอนหมุดคณะราษฎรอย่างลึกลับ ไม่มีหน่วยงานรัฐแห่งใดรับรู้ ไม่แม้แต่จะพยายามสืบค้น แล้วถูกแทนที่ด้วยหมุดที่ถูกเรียกอย่างลำลองว่า ‘หมุดหน้าใส’ ที่ก็ไม่มีใครรู้เช่นกันว่ามาสิงสถิตอยู่ ณ จุดนั้นได้อย่างไร หมุดคณะราษฎรหายไปไหน ทุกอย่างยังคงเป็นความลับ
สิ่งที่พอจะสันนิษฐานได้คือ นี้เป็นอีกครั้งหนึ่งของกระบวนการทำลาย-รื้อถอนความทรงจำต่อคณะราษฎรผู้ก่อการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 ชาตรี ประกิตนนทการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า
“เราอย่ามองหมุดคณะราษฎรกรณีเดียว แต่ต้องมองกระบวนการรื้อถอนทำลายประวัติศาสตร์ความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎรอันยาวนานของฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ต่อต้านประชาธิปไตย ต้องมองกรณีนี้เทียบกับกรณีอื่นตั้งแต่ศาลาเฉลิมไทย อาคารศาลฎีกา การย้ายอนุสาวรีย์ปราบกบฏพิทักษ์รัฐธรรมนูญ การปรับปรุงถนนราชดำเนินกลาง มันคือกระบวนการภาพใหญ่ภาพเดียวกันและหมุดคณะราษฎรเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์ของภาพใหญ่ทั้งหมด”
ชาตรีวิเคราะห์การอุบัติขึ้นของหมุดหน้าใสและถ้อยคำบนหมุดว่ามีสาเหตุ 3 ประการ หนึ่ง-เหตุผลทางไสยศาสตร์ หากย้อนกลับไปดูในรอบสองสามปีที่ผ่านมามีหลายกลุ่มเคลื่อนไหวกับหมุดคณะราษฎรในลักษณะที่เชื่อว่า การตอกหมุดเป็นเรื่องไสยศาสตร์ที่คณะราษฎรตั้งใจทำไว้ในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของสมบูรณาญาสิทธิราช จึงมีคนไปขีดข่วน เอายางมะตอยไปทับ นำพราหมณ์ไปทำพิธี คือรากทางความคิดหนึ่งของกลุ่มที่เกลียดคณะราษฎร
"การไม่ดำรงอยู่ของวัตถุสัญลักษณ์คือสิ่งที่ดีที่สุด แต่การที่วัตถุนั้นไม่ดำรงอยู่ แล้วมีวัตถุสัญลักษณ์ที่เป็นอุดมการณ์ตรงข้ามมาแทน มันทำให้เรายังคงเห็นวัตถุเก่าอยู่เสมอ เมื่อเรามองหมุดใหม่ เราก็ยังเห็นหมุดเก่า ในแง่การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองนี่จึงเป็นความอ่อนหัด มีแต่ความเกลียดและกลัวสัญลักษณ์ในยุคคณะราษฎร”
สอง-อุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกัน เมื่ออ่านข้อความบนหมุดหน้าใสสามารถตีความได้ชัดเจนว่ากำลังกล่าวถึงอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นชาตินิยมแบบไทยๆ หรือเป็นราชาชาตินิยมตามแนวคิดของธงชัย วินิจจะกูล กล่าวสรุปคือข้อความบนหมุดคือราชาชาตินิยม
และสาม-เป็นข้อความที่มาจากศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง แม้ว่าจะไม่ใช่คำว่าไพร่ฟ้า แต่เป็นประชาชนสุขสันต์หน้าใส ทำให้เห็นถึงรากทางความคิดของคนกลุ่มนี้ที่มองสุโขทัยเป็นรัฐในอุดมคติ เพราะกลุ่มที่ต่อต้านประชาธิปไตยมักพูดถึงสุโขทัยตลอดมาตั้งแต่ทศวรรษ 2490 งาน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นตัวอย่างที่ดีที่มองว่าสุโขทัยเป็นภาพในอุดมคติของการเป็นประชาธิปไตยก่อนปฏิวัติ 2475 เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของคณะราษฎร การปรากฏของคำว่าประชาชนสุขสันต์หน้าใสเกิดขึ้นบนรากความคิดนี้
ปรากฏการณ์ถอนหมุดคณะราษฎร ฝังหมุดหน้าใส จึงสะท้อนให้เห็นว่า วัตถุนี้มีพลังทางการเมืองที่ทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมรู้สึกไม่สบายอกสบายใจ เพราะ...
“ถ้ามันไม่มีความหมายอะไร ต่อใครเลย เขาจะเสียเวลาเอาออกทำไม ยกตัวอย่างง่ายๆ ในประวัติศาสตร์ของคณะราษฎรช่วงเวลาตั้งแต่หลัง 2490 ถึงก่อนรัฐประหาร 2549 เป็นช่วงที่ถูกเพิกเฉย ทุกฝ่ายทางการเมืองมองว่าคณะราษฎรเป็นผู้ร้ายทางประวัติศาสตร์ ในทัศนะผมในช่วงนี้ คณะราษฎรไม่ได้มีภาพลักษณ์เชิงบวกอะไร ในช่วงนี้เอง สัญลักษณ์ ศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ที่เกี่ยวข้องกับคณะราษฎรก็ถูกเพิกเฉย ในแง่นี้ว่าไม่เชิดชูและไม่ทำร้าย เพราะมันไม่มีค่า จะไปรื้อยังเสียดายงบในการรื้อ”
สำหรับชาตรี วัตถุสัญลักษณ์ใดๆ มีพลังมากกว่าการเป็นวัตถุ โดยเฉพาะกับหมุดคณะราษฎรที่ถูกสร้างความหมายโดยคนหลายรุ่น ยิ่งหลังรัฐประหาร 2549 จนถึงปัจจุบัน คนกลุ่มใหม่ๆ โดยเฉพาะกลุ่มคนเสื้อแดง รวมถึงนักวิชาการหลายคน ซึ่งเขายอมรับว่าก็เป็นหนึ่งในนักวิชาการเหล่านั้น ได้เข้าไปรื้อฟื้นและสร้างความหมายให้กับหมุดหรืองานศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ที่สร้างขึ้นโดยคณะราษฎร ในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์หรือจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญมากครั้งหนึ่งในสังคมไทย
พอความหมายนี้เริ่มเกิดขึ้นอีกครั้ง เริ่มมีพลังมากขึ้น มีมวลชนเข้ามาสัมพันธ์ ใช้หมุดตัวนี้ในฐานะเป็นพื้นที่ประกอบกิจกรรม กระทั่งเกิดจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งหนึ่งคือหลังปี 2553 ที่เกิดเหตุการณ์ล้อมปราบที่ราชประสงค์ สัญลักษณ์ทางการเมืองของคณะราษฎรก็ยิ่งมีความสำคัญ เพราะความหมายล่าสุดของหมุดคณะราษฎรเกี่ยวข้องโดยตรงกับรัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย ความเสมอภาค เสรีภาพ มันจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมมันจึงต้องถูกเอาออก
“ภาพหรือความหมายที่มีหมุดเป็นศูนย์กลาง ทำให้ผู้มีอำนาจรัฐที่มีความคิดที่ตรงข้ามกับหลักการประชาธิปไตยเห็นว่า วัตถุเหล่านี้เริ่มมีอันตรายและต้องรื้อ หมุดคณะราษฎรมีความหมายและพลังทางการเมืองมาก และจะขยายไปมากกว่านี้อย่างก้าวกระโดด เพียงแต่ ณ วันนี้ที่มาตั้งคำถามว่ามันไม่มีความสำคัญก็เป็นเพราะผลของรัฐประหาร 2557 ที่เราทุกคนถูกปิดปาก ปิดหู ปิดตา”
นักวิชาการคนหนึ่งวิเคราะห์หมุดหน้าใสไร้ที่มาที่ไป สุดท้ายแล้ว จะเป็นแค่วัตถุแปลกปลอม ไร้สถานะ และความชอบธรรมที่จะปกป้องตนเอง แต่ชาตรีกลับไม่คิดอย่างนั้น เขามองว่า ใช่, ในสภาวะรัฐปกติที่เป็นประชาธิปไตยหรือตั้งอยู่บนเหตุผลขั้นพื้นฐาน หมุดหน้าใสจะลงเอยเช่นที่ว่า แต่ในสังคมอปกติเวลานี้ การที่ผู้เกี่ยวข้องกับรัฐทำไม่รู้ไม่ชี้ ถือเป็นสภาวะที่น่ากลัว ซึ่งสะท้อนว่าหมุดนี้มีอะไรเหนือกว่าสิ่งที่เราคิดไว้เยอะมาก และเขาก็ว่าทุกคนก็รู้ แต่พูดไม่ได้ สภาวะที่ทุกคนก็รู้ แต่พูดไม่ได้นี่เองที่น่ากลัวและเป็นพลังให้กับหมุดหน้าใส
“มีหลายคนบอกว่าหมุดหน้าใสไม่เมคเซ๊นส์และอีกไม่ช้าหมุดเก่าจะกลับมา ซึ่งผมคิดว่าไม่มีทางเกิดขึ้นแน่นอน ฟันธง และผมเชื่อว่าหมุดใหม่นี้มีสองทางเลือก หนึ่ง-ดำรงอยู่ต่อไป พอผ่านช่วงคนพูดเยอะๆ โดยไม่มีใครสนใจ มันก็จะอยู่อย่างนี้และกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากข้อความ นัยของมัน และอาจจะนำไปสู่การปิดพื้นที่ตรงนั้น อาจมีการขยายพื้นที่ของอาณาบริเวณนั้นให้กลายเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์และวัตถุนี้จะกลายเป็นวัตถุศักดิ์สิทธิ์ กับสอง-ถ้ากระแสต่อต้านมากกว่านี้ ซึ่งผมไม่รู้ว่าจะมากแค่ไหน มันก็จะถูกเอาออกและกลบเป็นพื้นถนน”
“ภาพหรือความหมายที่มีหมุดเป็นศูนย์กลาง ทำให้ผู้มีอำนาจรัฐที่มีความคิดที่ตรงข้ามกับหลักการประชาธิปไตยเห็นว่า วัตถุเหล่านี้เริ่มมีอันตรายและต้องรื้อ หมุดคณะราษฎรมีความหมายและพลังทางการเมืองมาก และจะขยายไปมากกว่านี้อย่างก้าวกระโดด"
เมื่อถามว่าฝ่ายสนับสนุนการคงอยู่ของหมุดคณะราษฎรจะทำอะไรในสถานการณ์เช่นนี้ได้บ้าง ชาตรีแสดงความเห็นว่า ในเชิงการเคลื่อนไหวทางการเมือง การนำหมุดคณะราษฎรจำลองไปทับไว้ วางไว้ ถือเป็นกิจกรรมทางการเมือง เป็นการตอบโต้ที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง ทางที่สองคือหมุดคณะราษฎรกลายเป็นมวลชน (Mass) มาระยะหนึ่งแล้ว นี่ก็เป็นจังหวะอีกครั้งหนึ่งที่จะผลิตซ้ำหรือทำให้หมุดคณะราษฎรกลายเป็นวัตถุที่ ‘ป็อป’ ขึ้นเรื่อยๆ และแพร่กระจายไปให้มากที่สุด โดยไม่จำเป็นต้องมีตัวหมุดจริงๆ อยู่ เขากล่าวแบบนี้เพราะประเมินบนฐานว่าคงไม่ได้หมุดกลับมาอีกแล้ว
อย่างไรก็ตาม การรื้อถอนหมุดคณะราษฎรและนำหมุดหน้าใสมาวางแทน ชาตรีมองว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดของฝ่ายที่เอาหมุดออก ถ้าเป็นเขา เขาจะเลือกเอาออกและกลบเป็นพื้นถนนแทน การเอาหมุดหน้าใสมาวางถือเป็นความอ่อนหัดในการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์
“ถ้าเอาหมุดออกไปเลย มันหาย พื้นถนนผ่านไปเดือนสองเดือนก็อาจจะกลืนกันไป เพราะฉะนั้นการไม่ดำรงอยู่ของวัตถุสัญลักษณ์คือสิ่งที่ดีที่สุด แต่การที่วัตถุนั้นไม่ดำรงอยู่ แล้วมีวัตถุสัญลักษณ์ที่เป็นอุดมการณ์ตรงข้ามมาแทน มันทำให้เรายังคงเห็นวัตถุเก่าอยู่เสมอ เมื่อเรามองหมุดใหม่ เราก็ยังเห็นหมุดเก่า ในแง่การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองนี่จึงเป็นความอ่อนหัด มีแต่ความเกลียดและกลัวสัญลักษณ์ในยุคคณะราษฎร”