PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2561

เขาว่า...ทฤษฎีสมคบคิด

17/3/61 เปลว สีเงิน 
มีปัญหาก็ต้องแก้
          ถ้าไม่แก้ มีทางเดียว....
          ตายดาบหน้า!
          เดิมทีไม่คิดกันหรอกครับว่า จะต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ ร่างประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.
          จิ้งจกทักยังต้องฟัง
          แล้วอาจารย์ใหญ่กฎหมายทักจะไม่ฟังกันเชียวหรือ
          เรื่องมันสืบเนื่องมาตั้งแต่วันอังคาร ย้อนกลับไปดู ประธาน กรธ. มีชัย ฤชุพันธุ์ แสดงความกังวลว่า   มีเนื้อหาในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่ สนช.ปรับแก้ หลายประเด็นที่อาจเข้าข่ายขัดกับรัฐธรรมนูญ
          อยากให้ สนช.ส่งตีความเพื่อให้เกิดความชัดเจน!
          แล้ว กรธ.ก็ทำความเห็นส่งไปยัง สนช.
          ทำไมต้องส่งตีความ
          คุณมีชัยให้เหตุผลว่า
          ...หากมีการประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้วมีคนร้องและศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญจะเกิดปัญหาตามมามากมาย โดยเฉพาะหากมีการเลือกตั้งไปแล้ว จะทำให้ล้มทั้งกระบวนการ ต้องนับหนึ่งใหม่...
          ประเด็นสำคัญ  
          "หากวินิจฉัยในช่วงนี้ ก็ยังสามารถอยู่ในกรอบโรดแมปเลือกตั้ง"
          มาดูกันว่า ประเด็นไหนน่าเป็นห่วง
          ร่างกฎหมายลูก ส.ส.มี ๒ ประเด็น
          -การตัดสิทธิ์ผู้ไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ห้ามดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ผู้บริหารท้องถิ่น กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน
          อาจขัดรัฐธรรมนูญคือ เป็นการตัดสิทธิ์หรือตัดเสรีภาพ ซึ่งหากเป็นเรื่องเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่จะตัดไม่ได้
          -ประเด็นที่ให้คนอื่นลงคะแนนเสียงแทนผู้พิการได้
          เดิม กรธ.กังวลเรื่องนี้ จึงเขียนว่าให้เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือเพื่อให้ผู้พิการลงคะแนนด้วยตนเอง
          แต่ สนช.ปรับแก้ไขใหม่กำหนดให้ เจ้าหน้าที่ลงคะแนนให้ได้ และถือว่าเป็นการลงคะแนนโดยตรงและลับ
          การเขียนเช่นนี้ จะขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่?
          ส่วนร่างกฎหมายลูก ส.ว. มีความกังวลเรื่องการแบ่งประเภทการสมัคร และเลือกเป็น ๒ ประเภท
          คือ "อิสระ" และ "โดยองค์กร" 
          จะเป็นการแยกแต่ละกลุ่มออกเป็น ๒ พวก
          รัฐธรรมนูญกำหนดให้ในแต่ละกลุ่มเลือกกันเอง การแยกแบบนี้ จึงไม่ใช่การเลือกกันเอง อาจจะขัดกับรัฐธรรมนูญ เพราะเท่ากับว่าให้องค์กรเลือกก่อนแล้ว จึงจะเลือกกันเอง
          แล้วสัญญาณที่ว่านี้ไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรับรู้ในข้อห่วงใย
            "เขาคงไม่อยากให้มีปัญหา คือจริงๆ แล้ว มันก็ไม่อยากให้มีการไปฟ้องร้องอะไรต่างๆ แต่ผมว่าเขาเป็นห่วง สิ่งที่เขาชี้แจงมา ซึ่งผมฟังจากสื่อ ท่านพูดว่าเป็นห่วงว่าวันข้างหน้าจะถูกฟ้อง และถ้าถูกฟ้องขึ้นมา พ.ร.ป.สองฉบับนี้จะเป็นปัญหาการเลือกตั้งอะไรต่างๆ ก็จะทำให้เป็นปัญหาหมด มันจะทำให้วุ่นวายสับสนอลหม่านไปหมด เอาเสียให้ชัดในตอนนี้"
          จากประธาน กรธ. ผ่านนายกรัฐมนตรี ไปที่ ประธาน สนช. "พรเพชร วิชิตชลชัย"
          จึงเหลือเพียงคำตอบเดียว ต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ
            “ผมก็ไม่อยากจะพูดว่าทำไมไม่ยอมทำทุกอย่างให้จบก่อนกระบวนการทุกอย่างจะเสร็จสิ้นลง แต่เมื่อท่านส่งมาตอนนี้ทางแก้ไขก็มีทางเดียว คือยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องที่สมาชิกต้องไปว่ากันเอง
            ผมไปชี้นำไม่ได้ ทุกคนจับจ้องว่าจะทำให้เลื่อนโรดแมปการเลือกตั้ง ยื้อการเลือกตั้ง ซึ่งการยื้อหรือเลื่อนโรดแมปทุกคนก็มองมาที่ตัวประธาน สนช.เป็นหลัก แต่ประธานไม่มีสิทธิ์บอกหรือบังคับสมาชิกว่าให้ยื่นหรือไม่ยื่น”
          ครับ...นั่นคือที่มาของการล่ารายชื่อ สนช.เพื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ ร่างกฎหมายลูก
          เท่าที่มีข้อสรุปออกมา ยื่นฉบับเดียวคือ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง  ส.ว.
          ระหว่างที่ล่าชื่อกันอยู่นี้ มันเป็นเรื่องธรรมดา ที่จะมีการถ่มถุยกันตามอัธยาศัย.....
          ยกตัวอย่างมาสักคน
          ประมวล เอมเปีย อดีต ส.ส.ชลบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ให้ความเห็นไว้ยาวยืด
            "เรื่องนี้น่าคิดว่าในขั้นตอนการพิจารณาก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นการหารือร่วมของปรมาจารย์ด้านกฎหมายและนักกฎหมายชั้นยอด ที่เข้าไปเป็นกรรมาธิการ ๓ ฝ่าย เพื่อปรับปรุงแก้ไขเนื้อหา ก่อนนำเสนอให้ที่ประชุมใหญ่ สนช.ให้ความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงที่ท่วมท้น
            แต่สุดท้ายกลับมาอ้างคำท้วงติงของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพื่อยื่นตีความ จึงอยากถามว่า ในขณะนั้น เหตุใด นายมีชัย ไม่ออกมาท้วงติงกฎหมายที่ตัวเองนั่งรับผิดชอบอยู่ แต่กลับมาส่งซิกหลัง สนช.มีมติโหวตผ่านไปแล้ว เช่นนี้หมายความว่าอย่างไร 
            เพราะมีการรวมชื่อ สนช.จาก ๔๑ คน ให้ได้ ๒๕  คนจากคนที่ขาดการประชุมและคนที่งดออกเสียง เหมือนแบ่งหน้าที่กันทำ โดยส่วนใหญ่โหวตผ่านตามสมาชิกผู้มีอำนาจ อีกส่วนรอรวมชื่อร้องให้ศาลตีความตามเสียงทักท้วง ทั้งที่คนเหล่านี้ส่วนใหญ่ขาดการประชุมไม่มาพิจารณาในวันโหวต แล้วยังมีหน้ามาเข้าชื่อส่งให้ศาลตีความ ไม่ละอายแก่ใจหรืออย่างไร
            ในเมื่อวันประชุมพิจารณากฎหมาย ๒ ฉบับนี้ พวกคุณยังลา ยังขาดประชุม แล้ววันนี้มารับลูกร่วมลงชื่อ รับใช้อำนาจโดยไม่สนใจสังคม จะเขียนด้วยมือแล้วจะลบด้วยปากหรืออย่างไร เข้าตำราถ่มน้ำลายรดฟ้าให้หล่นมาใส่หน้าตัวเองเช่นนั้นหรือ หากจะใช้แทกติกหรืออภินิหารทางกฎหมายแบบนี้ บอกกันตรงๆ ดีกว่าว่า เขาจะให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปอีก ๕ ปี ๑๐ ปี นักการเมืองส่วนใหญ่ต่างทำใจกันได้นานแล้ว แต่ขอให้รัฐบาลเร่งลงมือแก้ปัญหาปากท้องครอบครัวชาวบ้านที่กำลังลำบากทั่วหน้าให้ได้ก่อนดีกว่า
            รวมทั้งปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่เบ่งบานเกือบทุกวงการที่ผุดขึ้นไม่แพ้รัฐบาลที่ผ่านมา หากไม่เชื่อผมลองลงพื้นที่ถามชาวชลบุรีดูก็ได้ว่า เป็นข้อเท็จจริงหรือไม่”
          อืมมมม......ถ้าอ่านข่าวมาต่อเนื่อง จะเห็นว่า ประธาน กรธ.เตือนเรื่องขัดรัฐธรรมนูญมาตลอด
          ประเด็นของ "ประมวล เอมเปีย" อยู่ที่ทฤษฎีสมคบคิดเลื่อนเลือกตั้งลากยาว ๑๐ ปี......
          หายใจลึกๆ......
          แล้วค่อยๆ ไตร่ตรองดู  
          การเห็นปัญหาก่อนแล้วแก้ไขทันที
          กับปล่อยให้เกิดปัญหาแล้วค่อยตามแก้ทีหลัง 
          ถ้าอยู่บนสมมติฐานว่า คสช.จะลากยาว เพื่อสืบทอดอำนาจ อย่างไหนจะลากยาวได้มากกว่ากัน
          ออกจากโลกแห่งจินตนาการ มาดูความจริงกันบ้าง
          เอะอะเป็นทฤษฎีสมคบคิดกันไปเสียหมด
          ถ้ากรุณาถ่างตาดูปัญหาที่มันกำลังเกิดอยู่ ก็อยากจะถามกลับไปยังพรรคประชาธิปัตย์ว่า ถ้ามีหน้าที่ต้องแก้
          จะเลือกแก้แบบไหน?
          ย้อนกลับไปในอดีตไม่นานมานี้ อย่างน้อยก็มีอยู่ ๒ เหตุการณ์ ที่พรรคประชาธิปัตย์จำต้องแก้ไขปัญหาทันทีที่เห็น ไม่ปล่อยให้ไปเกิดเหตุวุ่นวายทีหลัง
          รัฐบาลนายทักษิณ ประกาศ "ยุบสภา" ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย โดยให้จัดการเลือกตั้งภายใน ๓๐ วัน!
          และออกพระราชกฤษฎีกา ยุบสภาผู้แทนราษฎร วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙
          วันรุ่งขึ้น พรรคประชาธิปัตย์ จับมือกับพรรคชาติไทย และพรรคมหาชน บอยคอต ไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งในวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๙
          ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยวันที่ ๘ พฤษภาคมปีเดียวกัน ให้การเลือกตั้งวันที่ ๒ เมษายน  พ.ศ.๒๕๔๙ เป็นโมฆะ
          ถามว่าขณะนั้นทำไมพรรคประชาธิปัตย์ ถึงตัดสินใจเช่นนั้น
          รอบ ๒ วันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๖ พรรคประชาธิปัตย์ประกาศไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งมีขึ้นในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗          
          อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้เหตุผลในวันนั้นว่า
          "พรรคเห็นว่าการเมืองของประเทศไทยอยู่ในภาวะที่ล้มเหลวมาเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า ๘-๙ ปี สืบเนื่องจากระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะกระบวนการประชาธิปไตยถูกบิดเบือนโดยบุคคลบางกลุ่ม ทำให้วันนี้ประชาชนขาดความศรัทธาในระบบพรรคการเมืองและระบบการเลือกตั้ง หากสภาพดังกล่าวยังดำรงต่อไปหมายความว่าการเมืองไม่มีการเปลี่ยนแปลง บ้านเมืองไม่มีการปฏิรูปก็จะตกอยู่ในสภาพการเมืองล้มเหลว ความขัดแย้ง สุ่มเสี่ยงต่อความรุนแรง ความสูญเสีย การทุจริตก็จะดำรงไปอย่างต่อเนื่อง
            พรรคต้องการหยุดภาวะการเมืองล้มเหลวนี้ พรรคจึงต้องหาทางออกที่แก้ปัญหาได้จริง เพราะประเทศไทยสูญเสียโอกาสมาอย่างต่อเนื่องทั้งการทุจริต นโยบายล้มเหลว ซึ่งเป็นการตัดโอกาสของประเทศที่จะพัฒนาให้ความเป็นอยู่ของคนไทยดีขึ้น
            แม้พรรคส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งก็ไม่อาจคลายวิกฤติศรัทธาได้ ซึ่งนับตั้งแต่มีการยุบสภาเป็นต้นมาได้ใช้ความพยายามอย่างถึงที่สุดที่จะกอบกู้ศรัทธาประชาชนให้มาสนับสนุนการเลือกตั้งและรัฐบาลหลังเลือกตั้งที่จะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศ แต่เราพบความจริงว่าการลงสมัครเลือกตั้งเป็นการช่วงชิงอำนาจแบบเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง”
          วันนั้นทุกคนรับรู้และเห็นว่านั่นคือสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ พยายามแก้ปัญหา สำเร็จหรือไม่เป็นอีกเรื่อง
          แต่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่เอาแต่เดินแข็งทื่อไปตายเอาดาบหน้า
          วันนี้ก็เช่นกัน เห็นแล้วว่าข้างหน้าอาจมีปัญหาใหญ่เกิดขึ้น อาจทำให้การเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไปอีก ซึ่งไม่มีใครตอบได้ว่า....เลื่อนไปเท่าไหร่
          แล้วจะงอมืองอตีน ไม่ทำอะไร เอาแต่จับผิดคนอื่น ทำไมทีประชุมไม่มา แล้วยังมีหน้าล่าชื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ
          คิดสักนิดซิครับ คนที่เขามาและยกมือโหวตให้กฎหมายผ่าน แล้วยังจะมาล่าชื่อ มิกลายเป็นการถ่มน้ำลายรดหน้าตัวเองหรือ
          ก็คนที่ไม่มาประชุมนั่นแหละเหมาะสุด
          แล้วไปถามเขาหรือยังว่า ลาประชุมเพราะอะไร
          บางคนอาจมีเหตุจำเป็นต้องลา
          บางคนป่วย
          ก็เหมือนกับสภาผู้แทนราษฎรในอดีต เห็นลากันบ่อยๆ บางคนมาแค่เซ็นชื่อเข้าประชุมแล้วหายหัว
          ได้เลือกตั้งกันแน่นอนครับ ไม่มีเหตุผลที่ คสช.จะลากยาวอีกแล้ว
          ส่วนศาลรัฐธรรมนูญท่านก็รู้ว่าจะต้องทำในส่วนของท่านอย่างไร ใช้เวลาเท่าไหร่ อย่าไปห่วงเลยครับ
          ถ้าจะบอกว่านี่คือ "ทฤษฎีสมคบคิด" ก็คงจะใช่
          สมคบคิดกันช่วยแก้ปัญหา.
                                                                                      ผักกาดหอม

คนชั้นกลางกับระบอบการเมือง : โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

คนชั้นกลางกับระบอบการเมือง : โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์


หนึ่งในภูมิภาคที่คนชั้นกลางขยายตัวอย่างรวดเร็วที่สุดคือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บางประเทศ เช่น สิงคโปร์ อาจอ้างได้เต็มปากเต็มคำเลยว่าเป็นประเทศของคนชั้นกลาง ไม่ต่างจากอังกฤษหรือสหรัฐ มาเลเซียกำลังเดินตามไป
แม้กระนั้น การเมืองของประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปไหน “ระบอบ” ปกครองของเกือบทุกประเทศมีอายุเกินครึ่งศตวรรษทั้งสิ้น ยกเว้นอยู่ไม่กี่ประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ลาว กัมพูชาและพม่า แต่ก็เป็นข้อยกเว้นที่ต้องขยายความ นอกจาก 4 ประเทศนี้แล้ว “ระบอบ” ปกครองในปัจจุบัน ล้วนสืบเนื่องมาจาก “ระบอบ” เมื่อประเทศเหล่านี้เพิ่งได้รับเอกราช ในสมัยที่เกือบทั้งหมดของประชากรคือเกษตรกรเลี้ยงตนเองที่ยากจนข้นแค้น … เกินสองชั่วอายุคนแล้วที่ประชาชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังอยู่ภายใต้ “ระบอบ” เดิม
หากจะขยายความประเทศยกเว้น 4 ประเทศ ก็คือแม้ว่าลาวและกัมพูชาได้ผ่านการ “ปฏิวัติ” มา แต่ “ระบอบ” ปกครองของทั้งสองประเทศก็ตั้งมั่นมาเกินหนึ่งชั่วอายุคนแล้ว อีกทั้งไม่มีฝ่ายค้านที่มีประสิทธิภาพ ถึงผู้นำอาจเปลี่ยนไปตามวาระหรือตามอายุขัย “ระบอบ” ก็ยังอยู่อย่างเก่า พม่าเปลี่ยนมาสู่ “ระบอบ” ที่มีการเลือกตั้งก็จริง แต่อำนาจเด็ดขาดก็ยังสถิตอยู่ที่สถาบันเดิม คือกองทัพ ส่วนอินโดนีเซีย ดูเหมือนจะเผชิญกับระยะเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยได้อย่างแข็งแรงที่สุด แต่หากระยะเปลี่ยนผ่านนี้ดำเนินต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด บางทีก็อาจเกิดการเรียกร้อง “กฎหมายและระเบียบ” อย่างกว้างขวาง จนยอมให้ประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งหรือผู้นำกองทัพเผด็จอำนาจไว้อีกก็ได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดว่า “ระบอบ” ไม่เปลี่ยน ก็อาจจะเป็นการมองข้ามความเปลี่ยนแปลงภายในระบอบไปหมดเลยก็ได้ การดำรงอยู่ของ “ระบอบ” เก่า ไม่ได้หมายความว่าไม่มีความเปลี่ยนแปลงภายใน “ระบอบ” เสียเลย เราอาจมองบทบาทของคนชั้นกลางจากประสบการณ์ในอดีตของยุโรปตะวันตกมากเกินไป
ภายใต้กรอบโครงอันเดิม เนื้อหาภายในได้เปลี่ยนไปมากขึ้นทุกที ปฏิเสธไม่ได้ว่ากรอบโครงหรือ “ระบอบ” ปกครองของประเทศเหล่านี้มีความยืดหยุ่นสูงมาก aristocrat หรือชนชั้นสูงตามประเพณีของสังคมเหล่านี้ไม่แข็งตัวด้วยชาติกำเนิดเพียงอย่างเดียว ช่องทางที่คนชั้นกลางจะขยับขึ้นไปอยู่ในแวดวงของ “ผู้ดีเก่า” มีอยู่หลากหลายช่องทาง ไม่เพียงเท่านั้น ช่องทางสู่อำนาจทางการเมืองก็มีหลากหลาย ทั้งการเลือกตั้ง (ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับชาติ) การลงทุนแก่พรรคการเมืองหรือพรรครัฐประหาร การติดสินบน ฯลฯ ตราบจนถึงวันนี้ โอกาสเขยิบฐานะทางเศรษฐกิจก็ยังมีอยู่ อย่างน้อยก็ทำได้จริงในคนบางกลุ่ม และฝันได้จริงแก่คนทั่วไป (และทำให้คอร์รัปชั่นระบาดไปในทุกวงการ … มองในแง่นี้คอร์รัปชั่นนั่นแหละเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยหล่อเลี้ยง “ระบอบ” เก่าเอาไว้ด้วย)
ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ที่ไม่เปลี่ยนกรอบโครงเดิม ไม่ได้พบเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่พบในจีนและอินเดียเช่นเดียวกัน เป็นอีกสองภูมิภาคที่คนชั้นกลางขยายตัวอย่างรวดเร็ว
คนชั้นกลางเหล่านี้เป็นใครมาจากไหน?
งานวิจัยที่ศึกษาคนชั้นกลางชิ้นหนึ่ง ซึ่งทำในภูมิภาคนี้ยกเว้นประเทศอินโดจีนและพม่า พบว่าเฉพาะสิงคโปร์และมาเลเซียเท่านั้น ที่คนชั้นกลางเกินครึ่งไต่เต้าขึ้นมาจากชนชั้นแรงงานหรือชาวนา แต่ในประเทศอื่นล้วนเป็นลูกหลานของคนชั้นกลางเดิมนั่นเอง (ฐานะทางเศรษฐกิจของคุณทักษิณ ชินวัตรนั้น ไม่ใช่ลูกคนขายโอเลี้ยงอย่างที่เขาใช้ในการโฆษณาหาเสียง แต่เป็นลูกหลานของตระกูลที่ออกจะมั่งคั่งทีเดียวในเชียงใหม่) สถิติของคนชั้นกลางในประเทศเหล่านั้นซึ่งไต่เต้ามาจากคนระดับล่างมีไม่เกิน 25% (อันเป็นตัวเลขของประเทศไทย)
ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ (หากถือเป็นข้อเท็จจริง เพราะงานวิจัยชิ้นนี้มีข้อบกพร่องที่เก็บข้อมูลจากเมืองหลวงเท่านั้น ซึ่งเป็นแหล่งที่ลูกหลานคนชั้นกลางเข้าถึงการศึกษาที่รัฐจัดให้ก่อน ข้อสรุปจึงบิดเบี้ยวในระดับใดระดับหนึ่ง) มีความหมายว่าอะไร? เมื่อเปรียบเทียบกับคนชั้นกลางในเอเชียตะวันออกคือ จีน เกาหลี ไต้หวัน และฮ่องกง คนชั้นกลางของเขาส่วนใหญ่ล้วนเติบโตมาจากคนชั้นแรงงานทั้งสิ้น หากไม่นับจีน ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศเหล่านั้นมีผลกระทบต่อ “ระบอบ” ปกครองอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ ประชาธิปไตยซึ่งตอบสนองต่อความหลากหลายของคนชั้นกลางล้วนมีความมั่นคง แต่ตราบเท่าที่รัฐบาลจีนและสิงคโปร์สามารถรักษาความสำเร็จทางเศรษฐกิจไว้ได้ “ระบอบ” ที่ไม่ยอมเปลี่ยนก็จะดำรงอยู่ต่อไปได้
การที่คนชั้นกลางส่วนใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้งอกขึ้นมาจากคนชั้นกลางหยิบมือเดียวที่มีมาแต่เดิม คงจะช่วยอธิบายได้ว่า เหตุใด “ระบอบ” ปกครองจึงไม่ถูกกดดันจากคนชั้นกลางให้ปรับเปลี่ยนไปตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและคนชั้นกลาง
อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทย การขยายตัวอย่างกว้างขวางของคนชั้นกลางระดับล่าง ซึ่งเติบโตมาจากเกษตรกรรายย่อยในชนบท กำลังทำให้องค์ประกอบของคนชั้นกลางไทยเปลี่ยนไป พวกเขามีความฝันทางการเมืองที่แตกต่าง แม้ยังไม่ได้จัดองค์กรทางการเมืองที่เป็นอิสระของตนเองในเวลานี้ แต่ก็ได้เรียนรู้การจัดองค์กรทางการเมืองแล้ว ดังนั้น “ระบอบ” ปกครองของไทยที่ไม่ยอมปรับเปลี่ยนมานาน คงต้องเผชิญกับการกดดันหนักขึ้นจนอาจไม่สามารถธำรงอยู่ต่อไปได้
เช่นเดียวกับในมาเลเซีย แม้การเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนชั้นกลางยังไม่อาจบ่อนเซาะความมั่นคงของพรรค UMNO ในชนบทได้ แต่จะดำรงอยู่ต่อไปได้นานเพียงไร เมื่อสูญเสียการสนับสนุนของคนชั้นกลางที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วเช่นนี้
แต่การปรับเปลี่ยน “ระบอบ” ของไทยและมาเลเซียในอนาคตคงต่างกัน ถ้าดูจากสภาวะทางการเมืองที่เป็นไปในปัจจุบัน เป็นไปได้สูงว่ามาเลเซียน่าจะ “เปลี่ยนผ่าน” โดยสงบกว่า อย่างน้อยก็เพราะไม่มีชนชั้นนำกลุ่มใดจะสามารถดึงเอากองทัพมาหนุนอำนาจของตนได้ แต่น่าหวั่นว่าการ “เปลี่ยนผ่าน” ในประเทศไทยจะไม่สงบอย่างนั้น
นักวิชาการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า คนชั้นกลางของภูมิภาคนี้มีการแบ่งย่อย (fractionalized) สูงมาก ไม่ใช่เพียงมีบทบาทหน้าที่ซึ่งต่างกันในเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต่างกันในวิถีชีวิต รายได้ที่ห่างกันไกล การศึกษา การพักผ่อนและการท่องเที่ยว ฯลฯ จนกระทั่งความใฝ่ฝันทางการเมืองและสังคมเป็นคนละเรื่องกันเลย

เป็นนักชาตินิยมเหมือนกัน แต่แสดงความรักชาติต่างกันไกล เป็นศาสนิกเดียวกัน แต่ยึดถือศีลธรรมและการปฏิบัติคนละชุด เป็นนักประชาธิปไตยคนละแบบ ต่อต้านคอร์รัปชั่นกันคนละมุม อนุรักษ์ป่ากันคนละวิธี ฯลฯ ทั้งไม่ใช่ต่างกันระหว่างสองฝ่าย แต่มีฝ่ายที่ต่างกันอีกเป็นสิบเป็นร้อย
การเมืองของคนชั้นกลางในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงไม่ใช่รวมตัวกันเพื่อต่อสู้ศัตรูร่วมกัน แต่เป็นการรวมตัวเพื่อต่อสู้กันเอง ระหว่างมุสลิมที่เชียร์อาฮกให้เป็นนายกเทศมนตรีของนครจาการ์ตาต่ออีกสมัย กับมุสลิมที่ร่วมกันปกป้องอิสลามจากอาฮก ระหว่างคนชั้นกลางที่ชื่นชมการฟื้น “กฎหมายและระเบียบ” ด้วยความรุนแรงและเด็ดขาดของประธานาธิบดีดูแตร์เต และคนชั้นกลางที่ห่วงใยต่อสิทธิเสรีภาพมากกว่า
แน่นอนคนเป่านกหวีดเรียกให้ทหารยึดอำนาจคือคนชั้นกลาง แต่คนชูสามนิ้วก็คนชั้นกลางเช่นกัน
นักวิชาการหลายคนมีความเห็นว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแต่คนชั้นกลาง แต่ไม่มีชนชั้นกลาง (อย่างที่ยุโรปตะวันตกเคยมี) เพราะคนชั้นกลางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่มีจิตสำนึกทางชนชั้น ความต่างที่เกิดจากการแยกย่อยดังกล่าวข้างต้น ทำให้ยากที่จะเกิดจิตสำนึกทางชนชั้นได้
ด้วยเหตุดังนั้น พลังทางการเมืองของคนชั้นกลางซึ่งเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ นี้ ถึงมีสูงมาก แต่ก็ไม่ใช่พลังที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านของ “ระบอบ” ปกครองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้
ยิ่งกว่านี้ คนชั้นกลางของภูมิภาคนี้เติบโตขึ้นมาด้วยการฟูมฟักของรัฐโดยแท้ นอกจากการศึกษาซึ่งรัฐจัดให้อย่างไม่เสมอภาคนัก เพราะยากที่ผู้มีภูมิลำเนาอยู่นอกเขตเมืองจะเข้าถึง ในระยะเริ่มแรกของการพัฒนาอุตสาหกรรม ทุกประเทศก็มักมุ่งสร้างอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า ซึ่งต้องการการอุปถัมภ์ของรัฐสูง (ทั้งโดยสุจริตและทุจริต) เช่น กำแพงภาษี โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม แหล่งสินเชื่อ มาตรฐานอุตสาหกรรม (ทั้งคุณภาพสินค้าและกระบวนการผลิต) ที่ไม่เคร่งครัดนัก (สิงคโปร์โชคดีที่ถูกขับออกจากมาเลเซียใน 1965 ทำให้ไม่มีตลาดภายในจะรองรับอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้า ต้องมุ่งสู่อุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกทันที)
อย่าว่าแต่กระฎุมพี (เจ้าของทุน) และคนชั้นกลางระดับบนเลย แม้แต่คนชั้นกลางระดับล่างก็ไต่เต้าขึ้นมาจากชาวนาเจ้าที่ดิน หรือพ่อค้าในหมู่บ้าน ด้วยโครงการของรัฐต่างๆ เช่นกัน โดยตรงบ้าง โดยอ้อมบ้าง
จนในภายหลังเมื่อตลาดภายในซึ่งมีกำลังซื้อต่ำอิ่มตัว ต่างต้องหันเข้าสู่อุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก กระฎุมพีของทุกประเทศยังเรียกร้องและได้มาซึ่งการอุปถัมภ์จากรัฐอย่างสูง กลไกรัฐและความประจวบเหมาะกับภาวะเศรษฐกิจของโลก ทำให้เงินทุนไหลเข้าและมีตลาดสินค้ารองรับในต่างประเทศ ดูเหมือนเป็นความสำเร็จจากฝีมือรัฐมากกว่าจากฝีมือการแข่งขัน
เปรียบเทียบกับยุโรปตะวันตกในศตวรรษที่ 18-19 กระฎุมพีและคนชั้นกลางในทุนนิยมอุตสาหกรรม มองรัฐเป็นคู่ขัดแย้งของตนมากกว่าผู้อุปถัมภ์ และทำให้ต้องการเข้าไปควบคุมรัฐโดยเป็นพันธมิตรกับฝ่ายแรงงาน ในขณะที่นายทุนอุตสาหกรรมและการเงินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มองรัฐเป็นมิตรแท้ หรือบางครั้งเป็นแผนกหนึ่งในบริษัทของตนเท่านั้น
การอุปถัมภ์ของรัฐไม่ใช่สิ่งที่ได้มาฟรี นายพลในกองทัพ, ข้าราชการระดับสูง รวมทั้งเทคโนแครตของกระทรวงทบวงกรม, และนักการเมือง เข้ามามีส่วนแบ่งกำไรด้วย ยิ่งกว่าส่วนแบ่งกำไรก็คือ เข้ามาร่วมลงทุนกับกิจการ ซึ่งเป็นหลักประกันในอันที่จะได้ “สิทธิพิเศษ” ในรูปต่างๆ ที่มั่นคงกว่าค่าต๋งด้วยซ้ำ คนของรัฐและธุรกิจระดับใหญ่พัวพันกันทั้งในชีวิตส่วนตัวและชีวิตทางธุรกิจในฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม กัมพูชา ลาว ไทย พม่า อย่างหนัก และอย่างเบาลงมาหน่อยในมาเลเซีย
ด้วยเหตุดังนั้น คนชั้นกลางซึ่งทวีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงไม่ใช่พลังที่จะนำ “ระบอบ” สู่การเปลี่ยนผ่าน อย่างน้อยก็ไม่อาจนำโดยตรงได้ แต่คนชั้นกลางคือพลวัตที่ทำให้ภายในของ “ระบอบ” ไม่หยุดนิ่ง ภายในกรอบโครงเดิม มีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงเพราะคนชั้นกลางอยู่ตลอดเวลา และมากขึ้นทุกที จนน่าสงสัยว่าตัวกรอบโครงหรือ “ระบอบ” นั้นจะดำรงอยู่ต่อไปได้หรือไม่ เพราะมันถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ในสังคมที่แทบไม่มีคนชั้นกลางอยู่เลย
สุดทางแห่งความยืดหยุ่นของ “ระบอบ” เมื่อไร “ระบอบ” ก็ต้องเปลี่ยน แต่คนชั้นกลางซึ่งไม่เคยเป็นพลังเด็ดขาดทางการเมืองเลยจะมีส่วนในการสร้าง “ระบอบ” ใหม่แค่ไหน และอย่างไร ยังน่าสงสัยอยู่
นิธิ เอียวศรีวงศ์

สัมภาษณ์พิเศษ : ‘ชวน’ ชู ‘พลังประชารัฐ’ ฝ่ากระแสนอมินี คสช.

สัมภาษณ์พิเศษ : ‘ชวน’ ชู ‘พลังประชารัฐ’ ฝ่ากระแสนอมินี คสช.


หมายเหตุ – นายชวน ชูจันทร์ ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรตลาดน้ำคลองลัดมะยม ในฐานะผู้ริเริ่มจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงแนวทางการจัดตั้งพรรค รวมทั้งข้อครหาในประเด็นที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นพรรคนอมินีของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สืบทอดอำนาจต่อ

ที่มาที่ไปของที่ชื่อไปสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล

บังเอิญชื่อไปพ้องกันอย่างธรรมชาติที่สุด จริงๆ ประชารัฐก็ใช้มาตั้งแต่เพลงชาติ ถ้าเราแปลให้เข้าใจ ประชารัฐ ก็คือรัฐของประชาชน ตามเนื้อเพลง เป็นประชารัฐ ไผทของไทยทุกส่วน คำนี้เคยถูกจดเป็นพรรคการเมืองมาเป็น 10 ปีแล้ว จึงนำมาใช้ไม่ได้ ต้องเพิ่มตัวหน้าหรือตัวหลังเข้าไปเพื่อไม่ให้ซ้ำ คือคำว่า พลัง
ในการรณรงค์ทางการเมือง การสร้างแรงบันดาลใจเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะฉะนั้นต้องเติมพลังประชารัฐเข้าไป คำว่าประชารัฐที่เราเลือกมาใช้ คือ 1.ทำให้เกิดกำลังใจ 2.ทำให้เกิดการรวมพลกันใหม่ของชาวบ้านทั่วประเทศ เพราะต้องเข้าใจโจทย์ปัญหาของประเทศให้ดีก่อนจะเดินต่อไป เราใช้ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ หลักประชาธิปไตยต้องดูคือ 1.ต้องมีผู้แทนหรือต้องมีการเลือกตั้ง 2.กฎหมายต้องเท่าเทียมกันกับทุกคน ส่วนอย่างอื่นไม่ใช่ประเด็นใหญ่

ถูกมองว่าเป็นพรรคเฉพาะกิจ เพื่อรองรับ คสช.

คำว่าเฉพาะกิจฟังดูแล้วเป็นแง่ร้าย พรรคการเมืองต้องตั้งอยู่ถาวร ประเทศถึงจะไปได้ ถ้าคุณเลือกจะพัฒนาประเทศด้วยระบอบประชาธิปไตย ต้องมีสถาบันพรรคการเมือง สถาบันจะยั่งยืนได้ก็ต้องมีการสืบทอด มีกระบวนการทำงานแบบองค์กร เราต้องยึดส่วนรวมเป็นหลัก เห็นมาเยอะแล้วพรรคเฉพาะกิจกี่พรรคล้มหายตายจาก ไม่มีพรรคเป็นตัวแทนของชาวบ้านทุกกลุ่มผลประโยชน์ให้เขาใช้พื้นที่เพื่อมาต่อรองกันอย่างมีศักดิ์ศรี

อะไรคือสาเหตุสำคัญของปัญหาการเมืองไทย

เยอะมาก จะตอบประเด็นเดียวคงไม่ได้ ต้องบอกว่าระบอบการปกครอง ระบอบการขับเคลื่อนภาครัฐ ใช้วิธีการนี้ไม่ประสบความสำเร็จ
ตั้งแต่ 2475 ที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง ถามว่าเราก้าวหน้าแค่ไหนภายใต้ระบอบนี้ กำลังจะไปได้ดีแล้วก็ลง กำลังจะไปได้ดีแล้วก็ตก รัฐประหารส่วนใหญ่เป็นผลของประชาธิปไตยไม่แข็งแรง รัฐประหารไม่ใช่สาเหตุแต่เป็นผลลัพธ์ ดังนั้นจึงไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ระบบราบรื่นไปได้สวยมาก แล้วคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะมาบอกว่าคุณไปเถอะ เดี๋ยวผมทำ ไม่ใช่อย่างนั้น พูดง่ายๆ คือตอนนั้นเกิดกลียุคแล้ว
ระบบตัวแทนเลือกมาไม่ประสบความสำเร็จ จึงทำให้มาอยู่ตรงนี้ ในขณะที่ 2-3 ปีที่ผ่านมา ทุกอย่างเร็วมาก สภาพโลกคาดการณ์ไม่ได้ เพราะฉะนั้นระบบบริหารประเทศจึงเปลี่ยน วันนี้ประเทศมีปัญหา คสช.ก็ต้องเข้ามาหยุดความรุนแรง
แม้วันนี้ คสช.จะเข้ามาถืออำนาจรัฐ แต่ในอีกระยะเวลาหนึ่งก็ต้องกลับเข้าสู่วิธีเดิม โจทย์ใหญ่ๆ คือเราจะไม่หวนกลับไปที่เก่าอีกเป็นอันขาด ถ้ากลับไปอีกครั้งผมถามทุกคนเลยว่าจะเอายังไงกันแน่ ไม่มีเวลาให้เราได้เจ็บปวดมากนัก คุณไม่ได้บทเรียนอะไรเลยหรือ

แนวทางของพรรค ‘พลังประชารัฐ’

อันดับแรก ผู้แทนต้องรู้ว่าประชาชนในพื้นที่มีกินหรือไม่ จากนั้นจะต้องคิดว่าจะผสมผสานความเป็นไทยลงไปอย่างไรในการพัฒนาเศรษฐกิจ
อีกสิ่งหนึ่งที่คิดไว้ว่าต้องไม่ทำ คือวาทกรรมทำให้เกิดความเกลียดชัง ไม่มีประเทศไหนพัฒนาไปได้ท่ามกลางความเกลียดชัง วันนี้บริหารงานด้วยรัฐบาล คสช. ต่อไปจะเป็นพรรคการเมือง วันนี้ทุกคนมาจดจ่อกับคำว่าสืบทอดอำนาจ คำนี้ไม่สร้างสรรค์ ถ้าใช้ก็ควรใช้คำว่าถ้านายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีบางท่านอยากจะทำงานต่อ เราเห็นเป็นอย่างไร อย่างนี้ดีกว่า เหมือนผมอยากจะทำอะไรสักอย่างเพื่อส่วนรวม ยังไม่เสร็จหรือรู้ว่าถ้าผมออกไปแล้วจะมีการเสียหาย แล้วมาบอกว่าผมอยากจะสืบทอด อยากเป็นใหญ่ บั่นทอนกำลังใจของผมนะ ใช้คำว่าสืบทอดอำนาจ ทำให้รู้สึกไม่ดีต่อภาคการเมือง
ขณะนี้เราให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำงานในนาม คสช.มีคนกลุ่มเดียว วันหนึ่งเมื่อท่านต้องทำงานท่ามกลางผู้แทนประชาชน 500-600 คน จะเสียหายอะไรนักหนา จึงอยากให้คิดในแง่ดี การพัฒนาประเทศเกือบครึ่งไม่เสร็จภายใน 2-3 ปี คุณทำวันนี้อาจจะเกิดผลอีก 4-5 ปีข้างหน้า เพราะฉะนั้นคนทำงานอยู่แล้วอยากเห็นผลสำเร็จก็อยากทำงานต่อ
วันนี้ลองถามคนในประเทศ ผมว่าหลายคนภูมิใจอย่างยิ่งถ้าได้พูดว่าฉันไม่ยุ่งกับการเมือง จึงเป็นเหตุผลให้เราอยากเข้ามาสร้างสิ่งใหม่ให้เกิดขึ้นในการเมืองของประเทศไทย ความคิดนี้ไม่ได้มองแค่ในระบบรัฐสภา แต่มองถึงในตำบล หมู่บ้าน จังหวัด เชื่อมกันหมด ให้ประชาชนมีแนวคิดว่าจะทำอะไรในถิ่นของตน ผมทำตลาดคลองลัดมะยมมาก็บอกว่าความเข้มแข็งต้องเริ่มจากชุมชน
ความแตกต่างทางความคิดเป็นเรื่องสวยงาม แต่เราจะจัดการความขัดแย้งให้มีความสวยงามอย่างไร การปิดกั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดีแน่นอน เพราะการสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นต้องปล่อยให้เขาคิดก่อน

พลังประชารัฐจะดึงทุกฝ่ายเข้ามาร่วม เพื่อไม่ให้กลับไปสู่วิกฤตความขัดแย้งแบบเดิม

ใช่ การทำงานเราต้องปักธงให้ได้ก่อนว่าจะไม่กลับไปอีก จะไม่เสียเลือดอีกต่อไป

ฝ่ายการเมืองโจมตีว่าเป็นนอมินีของ คสช.

ผมคิดว่าอาจจะเป็นหนทางหนึ่งเพื่อหวังให้ได้เสียงข้างมากในสภา เพื่อจะบริหารประเทศ ในเมื่อเป็นเรื่องถูกกฎหมายและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมก็ไม่เห็นเป็นอะไร บางประเทศเขาล็อบบี้กันในที่สาธารณะเลย ไม่ใช่เป็นเรื่องน่ารังเกียจ

คนส่วนใหญ่ในพรรคเป็นคนกลุ่มใด

เป็นผู้มีประสบการณ์ทางการเมือง สามารถมองประเด็นของประเทศออก อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ก็มี อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ก็มี

มีหลายคนตามต่างจังหวัดที่โทรมาหาผม ถามว่าจังหวัดนี้ขอลงสมัครนะ ยังพูดไม่ได้ว่าคาดการณ์จำนวนเก้าอี้ ส.ส.ไว้เท่าใด เพราะเดี๋ยวจะหาว่าเพ้อเจ้อ ต้องดูว่าหลังจากผมขายความคิดออกไปแล้วมีคนเห็นด้วยหรือไม่ เราจะได้ทำงานในระบบไปด้วยกัน ชาวบ้านก็ได้เรียนรู้ไปด้วย อย่างคำถาม 6 ข้อของ พล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ก็มีคนมองว่าสื่อถึงการต้องการสืบทอดอำนาจ จริงๆ ผมคิดว่า สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ถาม เป็นโจทย์ที่เราต้องถามตัวเองด้วยซ้ำ เพราะไปเลือกตั้งแล้วไม่ถามหรือว่า ถ้านักการเมืองที่เลือกไปทำไม่ดีจะทำอย่างไร การหาเสียงไม่ถูกต้อง การทุจริตคอร์รัปชั่นต้องทำอย่างไร ต้องช่วยกันคิด เพราะถ้าคุณไม่มีโจทย์จะไปแก้ปัญหาอะไรได้

จะแก้ภาพการเมืองไทยที่ผูกขาดโดย 2 พรรคใหญ่อย่างไร

หลายประเทศบริหารโดย 2 พรรคใหญ่ก็เดินหน้าไปได้ ไม่เห็นเป็นเรื่องเลวร้าย หรือต่อให้แตกเป็น 20 พรรค ถ้าทำงานได้ก็ไม่มีปัญหา

จุดยืนเรื่องนายกรัฐมนตรีคนนอก

ในช่วงแรกของการร่างรัฐธรรมนูญ เข้าใจว่าหลายคนก็คิดว่าจะมีมาตรานี้ไหม ถ้าไม่มีแล้วเกิดปัญหาเช่นที่ผ่านมา จะออกไม่ได้ ถ้าเปิดไว้ ไม่ดีกว่าหรือ เปิดแล้วจะใช้หรือไม่ใช้ก็เป็นเรื่องของพวกคุณ อยู่ที่ความเหมาะสม เพราะฉะนั้น มาเปิดวิธีคิดแบบใหม่ดีกว่า จะได้หาทางออกได้ เพราะโลกวันนี้ไม่ได้อยู่ในกรอบที่เราเคยชินอีกแล้ว เรามีโซเชียลมีเดียกันทุกคน การมีมติต่างๆ อาจจะไม่ต้องใช้ระบบเก่าแล้ว เช่น ถ้าผู้ใช้โซเชียลบอกว่าคุณไม่เหมาะแล้วจะดำรงตำแหน่ง คุณจะเอาอะไรมาเถียง ตำแหน่งทางการเมือง 4 ปี บางทีช้าไปแล้วด้วยซ้ำ 2 ปีก็เบื่อกันแล้ว

มองว่ากติกาออกแบบมาเอื้อให้รัฐบาล คสช.สืบทอดอำนาจ

แล้วแต่จะมอง แต่เราเปิดวิธีคิดใหม่ไม่ดีกว่าหรือ ดีกว่ามาโทษกันไปโทษกันมา

อาจเป็นเพราะฝ่ายหนึ่งมองว่ากฎหมายใช้บังคับนั้นไม่ได้มาจากฉันทามติของคนส่วนใหญ่

ต้องยอมรับ ฉันทามติบางอย่างก็ไม่รู้จะไปทางไหน ผมก็ไม่ค่อยเชื่อว่าเสียงส่วนใหญ่มันจะดีทุกเรื่อง เช่น เสียงส่วนใหญ่ของคนไม่เข้าใจ คนไม่ได้มีความคิด ต้องยอมรับก่อนว่าคนแตกต่างกัน เราไม่สามารถทําให้ทุกคนพอใจได้ แต่ถ้าคนส่วนใหญ่รับได้ ส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ ตรงนี้ต่างหากต้องยอมรับ ไม่ใช่ว่าไม่ได้ตามฉันแล้วไม่พอใจ

กระแสในโซเชียลส่วนหนึ่งมองว่าการทำงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

ต้องถามว่าเศรษฐกิจที่ดีของเขาคืออะไร คือการมีเงินใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย อยากได้อะไรก็ซื้อได้หรือเปล่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 บอกว่าต้องพอเพียงก่อน คือไม่อดอยาก มีอาหารกิน สุขภาพดี ปลอดภัย ให้เลือกระหว่างเจ็บกับจน ผมเลือกไม่เจ็บก่อน เพราะถ้าเจ็บบ่อยก็จนแน่ ต้องมีความมั่นคงก่อน แล้วความมั่งคั่งค่อยมาทีหลังก็ได้
ตามหลักการ เราไม่จำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจทุกปี ผมยังสงสารนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯเลย เมื่อไรจะเลิกกระตุ้นเศรษฐกิจ แล้วจะไปจบตรงไหนที่ไม่ต้องกระตุ้นแล้ว การทำให้ความเหลื่อมล้ำมีน้อย ต้องทำให้คนพึ่งตนเองไม่ได้สามารถพึ่งตนเองได้ มีตลาดในชุมชนเพื่อให้สิ่งผลิตทุกอย่างได้ออกมาขาย ซื้อกันเองขายกันเองได้ ส่วนคนฐานะดีอยู่แล้วเราก็ดูเขาห่างๆ อย่าไปรังแกให้เขาจนลงไปอีกคน ระบบเศรษฐกิจของประเทศก็เหมือนกัน ถ้าเราเปิดโอกาสให้คนมีเงินช่วยทำพรรคการเมือง อาจจะมีคนมีเงินเข้ามาบริจาคให้เราเยอะแยะ

จะสื่อสารให้คนส่วนใหญ่ยึดติดกับพรรคใหญ่มาสนับสนุนแนวทางของพรรคใหม่อย่างไร

ตรงนี้ผมว่าไม่ยาก เราคิดให้กว้าง พรรคการเมืองคือตัวแทนของชาวบ้าน มีหน้าที่อย่างหนึ่งคือทำงานให้กับชาวบ้าน ถ้าคุณไม่ได้เป็นฝ่ายรัฐบาล ก็ไม่ได้แปลว่าฝ่ายค้านจะไม่มีอะไรทำ คุณก็มีหน้าที่ดูแลโครงการต่างๆ ในพื้นที่ว่าเป็นยังไง ทำไปสิ ชาวบ้านเห็น อีกอย่างคือไม่ใช่ว่ารัฐบาลทำแล้วต้องไม่ดีทุกเรื่อง อย่างนี้ชาวบ้านจะเกลียดคุณทันที แต่ถ้าคุณช่วยแนะนำปรับปรุงให้ดีขึ้น ชาวบ้านจะรักคุณมากขึ้น

จะดึงคะแนนจากคนรุ่นใหม่อย่างไร

เยาวชนเดี๋ยวนี้ทำอะไรได้น้อยอย่างลงเรื่อยๆ เพราะใช้เวลากับสิ่งเดียวมากเกินไป จะหากินบนโซเชียลอย่างเดียว ทักษะในการใช้ชีวิตน้อยลง ฉะนั้น ต้องสร้างแนวคิดว่าชีวิตไม่ได้มีแค่นั้น ต้องเปิดโลกให้เขาเห็น ต้องไม่สร้างวาทกรรมว่าคนรุ่นเก่านั้นคร่ำครึ คนรุ่นใหม่เท่านั้นสุดยอด เพราะจะทำให้แบ่งคนออกเป็น 2 กลุ่ม คนแก่เลือกพรรคนี้ คนหนุ่มเลือกพรรคนั้น นั่นคือวาทกรรมผิด จริงๆ แล้วต้องทำด้วยกัน ผมอาจจะอายุ 65 แต่ก็ไม่ได้คิดว่าความคิดของตัวเองจะเก่าทั้งหมด มันอยู่ที่กระบวนการคิดต่างหาก ถ้าผู้ใหญ่มองว่าความคิดของตัวเองดีที่สุดไม่ต้องฟังเด็กนั่นก็ผิดเหมือนกัน

ขออนุญาต คสช.เพื่อประชุมเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคหรือยัง

ยังไม่มีการขออนุญาต เพราะต้องการรอการได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการก่อนว่าชื่อพรรคที่จองไปนั้นไม่มีปัญหา รวมถึงรายชื่อผู้ร่วมก่อตั้งพรรคทั้ง 15 คนด้วย

คุยกันเรื่องวางตัวหัวหน้าพรรคและเลขาพรรคบ้างหรือยัง

คงต้องคุยกันหลังจากได้สมาชิกมา 500 คน แต่ผมอยากให้มองโครงสร้างมากกว่าพุ่งเป้าตัวบุคคล คนเปลี่ยนไปอย่างไรโครงสร้างก็ยังมีความสำคัญ ต้องมองว่าจะให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมกับพรรคการเมืองอย่างไร เพื่อทำให้ระบบมีความยั่งยืน อย่างผมจะให้ไปอยู่ตรงไหนก็ได้ ขอแค่ได้นำความคิดของผมไปพัฒนาประเทศก็พอ

เปิดทางหาก พล.อ.ประยุทธ์ต้องการร่วมพรรค

ใช่ ถ้าท่านยินดีจะทำงานต่อ พรรคพลังประชารัฐก็ดีใจ เพราะอย่างที่บอกว่าการทำงานเพื่อบ้านเมืองจำเป็นต้องมีความต่อเนื่อง ถ้าท่านสมัครใจมาเราก็ยินดี ไม่มีเหตุผลอะไรต้องไปต่อต้าน

คนในรัฐบาลได้มีการประสานมาที่พรรคบ้างหรือไม่

ยังไม่มี ขนาดยังไม่ได้ติดต่อมา เขาก็วุ่นวายจากข่าวกันมากแล้ว ส่วนที่มองว่าผมกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ สนิทกันนั้น ก็ยอมรับผมเรียนรุ่นเดียวกับนายสมคิด สมัยปี 2516 แต่อยู่คนละคณะ ผมเรียนคณะนิติศาสตร์ ส่วนนายสมคิดเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ แต่หลังจากเรียนจบทุกคนก็แยกย้ายกันไปตามหน้าที่การงานของแต่ละคน นายสมคิดเขาโกลบอลไลเซชั่นไปแล้ว ส่วนผมมันโลคอลไลเซซั่น

เคยบอกว่าเป้าหมายอย่างหนึ่งคือต้องการทำการเมืองไทยไม่ให้เกิดรัฐประหารขึ้นอีก

ใช่ เพราะจะทำให้ระบบรัฐสภาต้องหยุด หยุดไปนานๆ คนก็จะเคยชิน ระบบรัฐสภายากตรงที่ต้องทำให้ทุกคนฉลาดขึ้น คิดเป็นขึ้น ประเทศไทยยังมีปัญหาคนยังไม่เข้าใจหลักคิด หลักคิดผิด วิธีปฏิบัติก็ผิด หมายความว่าถ้าคุณจะมีระบบรัฐสภา คุณต้องมีนักการเมืองที่ดีให้ได้ แต่ถ้าถามว่าถ้าชาวบ้านจะฆ่ากันแล้ว ยิ่งกว่ารัฐประหารก็มาเถอะ อย่าให้ชาวบ้านฆ่ากันด้วยเหตุผลทางการเมืองเลย

อยากบอกอะไรกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งในนามพรรคพลังประชารัฐ

ออกมาช่วยสร้างสรรค์ประเทศไทยให้ไปด้วยกัน ให้ระบอบประชาธิปไตยของเรายังอยู่ได้ มาร่วมเปลี่ยนประเทศไทยด้วยภาคประชาชน

Credit ทรุดต่ำ ความรู้สึก ไม่ “น่าเชื่อถือ” เลือกตั้ง ปราบโกง

Credit ทรุดต่ำ ความรู้สึก ไม่ “น่าเชื่อถือ” เลือกตั้ง ปราบโกง


นับวัน คสช.และรัฐบาลจะยิ่งประสบกับปัญหา “ความน่าเชื่อถือ” ต่อเนื่องอย่างกว้างขวาง ล้ำลึกหนักหนา สาหัสมากยิ่งขึ้น
จาก 1 การโกง และจาก 1 การเลือกตั้ง
ทั้งๆ ที่ คสช.ประกาศตั้งแต่ลงมือทำ “รัฐประหาร” เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ว่า 1 ในภารกิจคือ การเข้ามาปราบทุจริต คอร์รัปชั่น
โดยเน้นอย่างหนักแน่นไปยัง “นักการเมือง”
ผลก็คือ นักการเมืองในสังกัดพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย โดนกันไปทั่วหน้าไม่ว่าจะเป็นน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่เว้นแม้กระทั่ง นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี
แต่แล้วก็เกิดกรณี “โกงเงินคนจน” เกิดกรณี “โกงเงินเด็ก”
มิได้เป็น “นักการเมือง” หากแต่เป็น “ข้าราชการ” และเกิดกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และเกิดกับกระทรวงศึกษาธิการ
เท่านั้นไม่พอประเด็น “เลือกตั้ง” ก็ถาโถมเข้ามาอีก
ประเด็นการเลือกตั้งแม้ คสช.จะพยายามโบ้ยให้ปัจจัย “อื่น” ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง
แต่เอาเข้าจริงๆ ก็เป็นปัญหาจาก “ภายใน”
ไม่ว่าจะเป็นการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ในที่ประชุม สปช.เมื่อเดือนกันยายน 2558
ไม่ว่าจะเป็นการเติมในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.
ไม่ว่าจะเป็นการผ่านร่าง พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว.แล้วเกิดการเคลื่อนไหวเพื่อยื่นเรื่องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและตีความ
นี่เป็นเรื่องอันเกิดใน สปช. ใน กรธ.และใน สนช.ทั้งสิ้น

ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองไม่ว่าพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าพรรคอนาคตใหม่
การต้มยำทำแกงล้วนเป็นเรื่องของ”คสช.”
เหมือนกับว่ากรณีการโกงที่แผ่กระจายออกไปอย่างกว้างขวางกว่า 40 จังหวัดทั่วประเทศ เหมือนกับว่ากรณีการยื้อ ถ่วงและหน่วงการเลือกตั้ง
จะเป็นคนละเรื่อง ไม่มีอะไรเกี่ยวกัน
แต่สภาพความเป็นจริงที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ ล้วนเป็นเรื่องอันเกิดขึ้นภายใต้จมูกของ คสช.และของรัฐบาล
สะท้อนว่า “นโยบาย” ไม่ได้รับ “การปฏิบัติ”
ที่ขึงขังในเรื่องทุจริต คอร์รัปชั่น จนถึงขั้นกับมีบางคนยืนยันว่ากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญมีเป้าหมายเพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญ “ปราบโกง”
แต่เมื่อ “ปฏิญญาโตเกียว” ก็ไม่มีการปฏิบัติ
และยิ่งเมื่อ “ปฏิญญานิวยอร์ก” กลายเป็นเรื่องเลื่อนลอย จนแม้กระทั่ง “ปฏิญญาทำเนียบขาว” กลายเป็นคำพูดอันว่างเปล่า กลวง
ความไม่น่าเชื่อก็กลายเป็น “ตรา”ติดหน้าผาก “คสช.”
แนวโน้มและความเป็นไปได้ในทางความคิดและในทางการเมืองที่หนาแน่นมากยิ่งขึ้นจึงเป็นความรู้สึกในลักษณะ “ร่วม” ที่ขาดความเชื่อถือ
ขาดความรู้สึกไว้วางใจ
ไม่ว่าจะในเรื่องของการ “ปราบโกง” ไม่ว่าจะในเรื่องความแน่นอนของ “การเลือกตั้ง” ว่าจะเป็นเมื่อใดกันแน่
ลักษณะ “ร่วม” เช่นนี้เองที่เป็น “กระแส” ในสังคม

แค่ต่อลมหายใจ

แค่ต่อลมหายใจ



หลังปล่อยให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล เดือดร้อนเลือดตากระเด็น มานานนับปี
ในที่สุด “ดร.วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ก็ชงใส่พานเสนอ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกฯและ หน.คสช.ให้ใช้อำนาจพิเศษ “ม.44” ช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ที่ประสบปัญหาขาดทุน ริดสีดวงบานเป็นกลีบมะไฟ
ให้สามารถประคองตัวผ่านช่วงวิกฤติลูกผีลูกคนไปก่อนชั่วคราว
“แม่ลูกจันทร์” กราบเรียนว่า 2 มาตรการเร่งด่วนฉุกเฉินเพื่อต่อลมหายใจ ทีวีดิจิตอล ฉลองเทศกาลเช็งเม้งมีดังนี้คือ...
1, ผ่อนผันให้พักชำระหนี้ค่าใบอนุญาตทีวีเป็นเวลา 3 ปี
แต่ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลต้องชำระดอกเบี้ย 1.5 ของวงเงิน
2, ลดค่าเช่าโครงข่ายทีวีดิจิตอล ภาคพื้นดิน 50 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 2 ปี
โดย กสทช.ยอมจ่ายค่าเช่าครึ่งหนึ่งแทนผู้ประกอบการเอกชน
“แม่ลูกจันทร์” เห็นด้วยที่รัฐบาลจะใช้มาตรการช่วยเหลือธุรกิจทีวีดิจิตอลที่กำลังขาดทุนอ่วมอรไท
แม้จะเป็นการช่วยเหลือระยะสั้นๆแค่ 3 ปี
แต่อย่างน้อย ทำให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลทุกช่องได้มีเวลาพักหายใจ ไม่ต้องกระเสือกกระสนหาเงินไปประเคนจ่ายค่าใบอนุญาตส่วนที่ยังเหลืออีก 30 เปอร์เซ็นต์ ในช่วง 3 ปีที่ได้พักหนี้ชั่วคราว
ส่วนมาตรการลดค่าเช่าโครงข่ายทีวีดิจิตอล ภาคพื้นดิน 50 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 2 ปี น่าจะช่วยลดภาระขาดทุนของกลุ่มผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ได้อีกพอสมควร
ถ้ามองมุมรัฐบาล แม้มาตรการนี้ทำให้รายได้ค่าใบอนุญาตทีวี 24 ช่อง ที่ค้างอยู่อีก 1.3 หมื่นล้านบาท จะไหลเข้ากระเป๋ารัฐบาลช้าไปอีก 3 ปี
แต่รัฐบาลยังได้ฟันดอกเบี้ยอีก 180 ล้านบาท ไปพลางๆ
ดังนั้น มาตรการพักชำระค่าใบอนุญาตทีวีดิจิตอลชั่วคราว 3 ปี จึงไม่ได้ทำให้รัฐบาลขาดทุนแม้แต่สลึงเดียว
แถมยังได้กำไรดอกเบี้ยเพิ่มอีกฟรีๆ
ข้อสำคัญ ถ้าหากรัฐบาลไม่ยอมลดหย่อนผ่อนปรน ไม่ยอมช่วยเหลือเยียวยา มุ่งแต่จะเก็บค่าใบอนุญาตตะพึดตะพือ
เท่ากับรัฐบาลซํ้าเติมให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล แบกภาระขาดทุนต่อไปอีกไม่ไหว จนต้องเจ๊งกันระนาว
รายได้จากค่าใบอนุญาตทีวีจะต้องสูญหายไปอีกก้อนโต!!
สรุปว่า การต่อท่อหายใจพักชำระหนี้ชั่วคราว 3 ปี เป็นประโยชน์ทั้งเอกชนผู้ลงทุนทีวีดิจิตอล และเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลเอง
“แม่ลูกจันทร์” ยํ้าว่าการเปิดประมูล ใบอนุญาตทีวีดิจิตอล 24 ช่อง ทำให้รัฐบาลฟันรายได้เข้ากระเป๋าถึง 5 หมื่นล้านบาท
สูงกว่าที่รัฐบาลประเมินไว้ 3 เท่าตัว
ล่าสุด ผู้ประกอบการทีวีจ่ายค่าใบอนุญาตเข้ากระเป๋ารัฐบาลไปแล้วกว่า 3.3 หมื่นล้านบาท
เท่ากับรัฐบาลฟันกำไรหวาน คอแร้งไปแล้วกว่า 60 เปอร์เซ็นต์
การยืดเวลาจ่ายค่าใบอนุญาตที่ยังเหลืออีก 1.7 หมื่นล้านบาท จึงไม่กระเทือนซางรัฐบาลอะไรเลย
“แม่ลูกจันทร์” สรุปว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทีวีดิจิตอล ขาดทุนบานทะโร่ เกิดจากปัจจัย 2 ประการ
1, ผลกระทบจากเศรษฐกิจซึมยาว ทำให้รายได้จากโฆษณาหดลง สวนทางกับสถานีทีวีที่เพิ่มจาก 5 ช่อง เป็น 24 ช่อง จึงนำไปสู่วิกฤติขาดทุนจั๋งหนับบุเรงนอง
2, การเปิดทีวีดิจิตอลพรวดเดียว 24 ช่อง มันมากเกินไป เมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจไทย และจำนวนประชากรที่เป็นฐานผู้ชม
เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้แลเฮย.
“แม่ลูกจันทร์”

เลือกตั้งชี้ชะตาประเทศ : อนาคตประเทศไทยบนทางสามแพร่ง

เลือกตั้งชี้ชะตาประเทศ : อนาคตประเทศไทยบนทางสามแพร่ง



ใกล้ถึงฤดูเซ็ตซีโร่พรรคการเมือง
สองพรรคใหญ่หัวใจยืนอยู่คนละขั้วการเมือง ถูกจับตามากที่สุดว่าจะจัดทัพสู้ศึกเลือกตั้งอย่างไร ในสภาพพรรคเพื่อไทยระส่ำระสาย พรรคประชาธิปัตย์อ่อนระทวย
โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมียอดสมาชิกพรรคมากที่สุดในบรรดาพรรคการเมืองด้วยกัน
มีอุดมการณ์มายาวนานตั้งแต่ 6 เม.ย.2489 หนึ่งในอุดมการณ์ที่ยึดถือปฏิบัติมาโดยตลอด
คือ “ไม่สนับสนุนระบบและวิธีแห่งเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นระบบและวิธีการของรัฐบาลใดๆ”
ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาติดล็อกการเมือง แกนนำก็ใช้เวลาเดินสายพบปะตัวแทนกลุ่มอาชีพต่างๆ อาทิ ผู้ใช้แรงงาน เกษตรกร สมาคมการค้า เพื่อรวบรวมประเด็นปัญหากำหนดเป็นนโยบายด้านต่างๆ ซึ่งเป็นไปทิศทางเดียวกับอุดมการณ์ของพรรค พลวัตของสังคมและโลก โดยไม่ก่อให้เกิดหายนะแก่บ้านเมือง ถึงทำให้พรรคอยู่คู่กับประเทศไทยมาตลอด
ปัจจุบันก็เตรียมความพร้อม เพื่อเป็นทางเลือกของประเทศในยุคปฏิรูปได้อย่างไร นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดใจให้สัมภาษณ์ ทีมข่าวการเมือง ว่า อนาคตของประเทศมีความสำคัญกว่า
ขอให้เอาอนาคตของประเทศเป็นตัวตั้ง แล้วปรับวิสัยทัศน์ของพรรคจะไปรับใช้อนาคตของประเทศได้อย่างไร ขณะนี้สิ่งสำคัญประเทศไทยกำลังเดินอยู่บนทางสามแพร่ง
ทางหนึ่งยึด “แนวคิดเชิงอนุรักษนิยม” รัฐราชการเป็นตัวชี้นำประเทศ เน้นความสงบเรียบร้อย เป็นแนวทางที่เดินอยู่ในปัจจุบัน รวมหมายถึงหลังการเลือกตั้งแล้วเราก็จะเดินในแบบนี้ต่อไป
อีกทางหนึ่งย้อนไปสู่ “แนวคิดประชานิยม” มีทั้งการทุจริต คอร์รัปชัน ใช้อำนาจที่มีปิดปากและบั่นทอนระบบการตรวจสอบ ถ่วงดุล สุดท้ายประเทศก็วนกลับมาเป็นเหตุให้เกิดแบบทางที่หนึ่งอีก
ทางสุดท้าย “ระบบเสรีนิยมประชาธิปไตย ควบคู่รัฐสวัสดิการ” พรรคประชาธิปัตย์ต้องการให้ประเทศไทยเดินบนถนนเส้นทางนี้ ไม่ให้บ้านเมืองติดอยู่กับแนวทางปัจจุบันและไม่เอาประเทศย้อนไปสู่แนวทางประชานิยม
การวางอนาคตของพรรคประชาธิปัตย์ต้องกลับมาดูทั้งภายในและภายนอกพรรค
เรื่องภายในพรรค เราเป็นพรรคการเมืองหนึ่งเดียวที่เป็นสถาบัน มีประชาธิปไตยในพรรค สมาชิกทั่วประเทศราว 2.5 ล้านคน สาขาพรรค 150 สาขา คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 53/2560 กลับทำให้ประชาชนถูกจำกัด มีปัญหา การยืนยันตัวตนของสมาชิกพรรคในช่วงสั้นๆและยังไม่สามารถทำกิจกรรมการเมืองได้
คาดจะปลดล็อกการเมืองเดือน มิ.ย.-ก.ค.61 หลังจากนั้นจะมีการประชุมใหญ่ ทำข้อบังคับพรรค เลือกคณะผู้บริหารพรรค สุดท้ายต้องเลือกไพรมารีโหวตก่อนไปสู่การเลือกตั้ง
สิ่งแรกที่ผมยืนยันกับทุกคนในพรรค เราจะต้องยึดมั่นในหลักการของการสร้างพรรคแบบสถาบัน เป็นพรรคของประชาชน ไม่ใช่คิดแค่ให้เป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมาย ต้องทำให้ได้มากกว่าที่กฎหมายกำหนด สอดคล้องกับกฎหมาย ทั้งการตั้งสาขาพรรค สมาชิกพรรคจังหวัดต่างๆ การเลือกคณะกรรมการบริหารพรรค
เรายืนยันจะปฏิรูปและพัฒนาพรรคจากระบบเดิม แต่ที่สะดุดลงเพราะการปฏิวัติและห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง เราจะเร่งทำตรงนี้ คิดว่าทำได้ทัน แม้จะมีเงื่อนเวลาบีบอยู่มาก
ขณะเดียวกันจะทำงานร่วมกับมูลนิธิควง อภัยวงศ์ ซึ่งมีสถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย ทำการวิจัย และกำลังจัดตั้งสถาบันฝึกอบรมความรู้ทางการเมืองและประชาธิปไตย รวมถึงนโยบายสาธารณะ งานการเมืองจะเชื่อมกับงานวิจัย และงานวิชาการที่ให้ความรู้ด้านต่างๆควบคู่กันไป
ยอดอดีต ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ เหลือเท่าไหร่ ได้ตรวจสอบจำนวนหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ บอกว่า กระบวนการยืนยันตัวตนของสมาชิกมีกรอบชัดเจนตั้งแต่วันที่ 1-30 เม.ย. ใครจะมายืนยันหรือไม่ เขาคิดได้เอง
ต่อให้ไปเช็กชื่อแม้วันนี้เขาไม่ไป แต่พอถึงวันจริงเขาไม่มายืนยัน ก็ต้องเคารพการตัดสินใจของเขา
ใครที่เห็นว่าแนวทางอื่นมันตอบโจทย์มากกว่าก็ย่อมมีสิทธิที่จะไป
พรรคมีหน้าที่เดินต่อเพื่อสานแนวคิดของพรรค ผมไม่มานั่งกังวลเรื่องการนับหัว
อย่างที่บอกวันนี้ความสนใจของพรรคประชาธิปัตย์อยู่ที่ทิศทางการเดินของประเทศ
แต่การเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ อาจกระทบต่อพรรคได้ นายอภิสิทธิ์ บอกว่า พรรคเราเปิดกว้างอยู่แล้ว ที่ผ่านมาหลายยุคหลายสมัยก็แข่งขันกัน
ครั้งนี้ตอบไม่ได้ว่าจะมีใครแข่งขันกันบ้าง ถ้ามีเราก็ใช้หลักการให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมให้ได้มากที่สุด
มาถึงเวลานี้ กปปส.เตรียมตั้งพรรค จะมีผลกระทบต่อฐานเสียงของพรรคอย่างไร และถ้าไม่ตั้งพรรคใหม่ก็มีโอกาสฟอร์มทีมคณะกรรมการบริหารพรรคลงแข่ง นายอภิสิทธิ์ บอกว่า เราเป็นพรรคเดียวที่มีความเป็นประชาธิปไตยในพรรค จึงขึ้นอยู่กับสมาชิกพรรคที่จะตัดสินใจ
การตั้งพรรคใหม่ก็เป็นสิทธิที่สามารถทำได้ เราไม่ก้าวล่วง แต่ที่เราติดตามแนวคิดของคนที่จะไปตั้งพรรคใหม่มาตลอดว่า มีความประสงค์ที่จะตั้งพรรคเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ให้เป็นนายกรัฐมนตรี หลังการเลือกตั้ง ใครมีแนวคิดทางนี้ก็คงไปสนับสนุนหรือไปร่วมกับพรรคนั้นได้ เป็นสิทธิของแต่ละบุคคล
สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ต้องสืบทอดเจตนารมณ์และสืบสานอุดมการณ์ของพรรค เอาอุดมการณ์เป็นตัวตั้ง ไม่ยึดตัวบุคคลเป็นตัวตั้ง
และเดินตามแนวทางปฏิรูปการเมือง เป็นทางเลือกให้กับประชาชน
อุดมการณ์เปลี่ยนแปลงไม่ได้ นโยบายพรรคต้องเป็นพลวัต มีการพัฒนาขึ้นตลอดเวลา แล้วให้บุคลากรของพรรคเป็นคนขับเคลื่อนว่า ถ้าเลือกพรรคประชาธิปัตย์ เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ประชาชนจะได้รับ
ฉะนั้น เมื่อประชาชนสนับสนุน พรรคก็ตั้งจัดบุคลากรของพรรคเข้าไปผลักดันตามแนวทางนี้ จึงเป็นความคิดที่แตกต่างกับผู้ที่จะตั้งพรรคใหม่ที่มีธงว่า จะไปสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นเป็นนายกฯหรือว่าจะเป็นใครก็ตามที่จะขึ้นเป็นนายกฯ เป็นเรื่องที่ประชาชนและสมาชิกพรรคจะตัดสินใจว่า จะเลือกอะไรว่าเขาจะร่วมหรือสนับสนุนพรรคไหน อะไร อย่างไร เป็นการแข่งขันกันทางการเมืองตามปกติ
“คณะกรรมการบริหารพรรคในวันข้างหน้า ใครจะขึ้นมานำพรรคก็ต้องยึดมั่นในอุดมการณ์ของพรรค
ปัจจุบันยังมีปัญหาท้าทายใหม่เกิดขึ้นมาก ทั้งเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงในด้านทำลายล้างและการสร้างสรรค์ไปพร้อมกัน
เราเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงมาก และเรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เราต้องเอาจุดยืนและอุดมการณ์มาตอบให้ชัดว่านโยบายของพรรคคืออะไร
เมื่อเราไม่ใช่ประชานิยม ไม่ใช่อนุรักษนิยมประชารัฐหรือไทยนิยมยั่งยืน
แต่ยืนยันว่านโยบายของพรรคจะตอบสนองระบบเศรษฐกิจเสรีโลกาภิวัตน์
ควบคู่ไปกับการมีหลักประกันสวัสดิการสังคม ต่อยอดจากโครงการที่เคยร่วมก่อตั้งและทำมาแล้วทั้งสิ้น
ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ การว่างงานและสังคมสูงวัย”
ถ้าเราเดินหน้าอย่างนี้แล้วประชาชนบอกว่า อันนี้คือคำตอบของประเทศ เราต้องเป็นหลักในเรื่องเหล่านี้ ไม่ใช่ว่าจะมาตั้งคำถามตั้งแต่แรกว่า จะไปสนับสนุนใครให้เป็นนายกฯ ส่วนใครจะมาสนับสนุนเราก็ต้องมาว่ากัน
สมมติเราเดินไปอย่างนี้ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าประชาชนเลือกเรามานิดเดียว
อย่างนี้ก็ต้องเจียมตัว และต้องตัดสินใจว่าเราจะมีบทบาทอย่างไรต่อไป
พรรคจะไปสนับสนุนใคร หรือจะไปร่วมรัฐบาลกับใคร ถ้าแนวทางไม่เป็นอย่างนี้ เราก็ไม่เอา
ได้ย้ำมาหลายครั้งว่า ระบอบทักษิณไม่ต้องพูดเลย แต่ถ้าพรรคเพื่อไทยหลุดพ้นจากระบอบทักษิณค่อยมาคุยกัน แต่ยังไม่เห็นแนวโน้มว่าจะหลุดพ้น เช่นเดียวกันตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นนายกฯคนนอกหรือคนใน ยังไม่รู้ว่าเป็นใคร
สมมติ พล.อ.ประยุทธ์ อยากอยู่ในอำนาจต่อ ก็ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ
ขณะนี้ยังไม่รู้ว่าท่านจะเลือกเป็นนายกฯคนนอกหรือคนใน หรืออาจจะไม่สนใจอะไรเลยก็ได้
หลายคนจะมาบอกว่าให้สนับสนุนคนนอกเป็นนายกฯ ถามว่าคนนอกสนับสนุนแนวทางของเราหรือไม่
ถ้าคนนอกบอกว่าไม่เชื่อในแนวทางนี้ เราจะไปสนับสนุนได้อย่างไร
ถ้าเราไปสนับสนุนก็เท่ากับไม่เคารพเสียงของประชาชน
การเมืองต้องเดินไปแบบนี้ ไม่เช่นนั้นก็จะไม่มีการปฏิรูป.
ทีมการเมือง

หน้าฉากแต้มรอง หลังฉากแต้มต่อ

หน้าฉากแต้มรอง หลังฉากแต้มต่อ



ผ่าเกมอำนาจคสช.“ประยุทธ์”ฝ่าด่านเลือกตั้ง
อากาศอบอ้าว เข้าสู่ฤดูร้อนเต็มรูปแบบ
ตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาจะกินเวลาลากยาวไปจนถึงเดือนพฤษภาคม
โดยสถานการณ์คนเมือง โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯจะต้องเจอกับอุณหภูมิร้อนทะลักปรอท ต้องเปิดแอร์ เปิดพัดลม ดันยอดการใช้ไฟฟ้าพุ่งสูงทำสถิติทุกปี
ขณะที่ปัญหาประจำฤดู พื้นที่ต่างจังหวัดต้องเผชิญกับภาวะภัยแล้ง พืชผลเกษตรเสียหาย ปศุสัตว์ไม่มีน้ำเพียงพอ เกษตรกรเดือดร้อน ไม่มีเงินใช้จ่าย
ชาวไร่ ชาวนา ก่อม็อบเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือ
และนั่นก็เข้าทางกลุ่มต่อต้านรัฐบาลที่จ้องป่วนผสมโรง ปั่นบรรยากาศการเมืองร้อนตามอุณหภูมิ
วัฏจักรที่หมุนวนซ้ำซากทุกปี ณ วันนี้ก็มีอะไรที่ส่อเค้าอยู่
กับบรรยากาศเร้ากระแสเลือกตั้ง แรงกดดันให้ทหารคืนอำนาจประชาธิปไตย
เงื่อนไขสถานการณ์แบบที่ผู้นำอย่าง “นายกฯลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. ต้องประกาศย้ำแล้วย้ำอีก จะไม่มีการเลื่อนโรดแม็ป
เลือกตั้งภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 แน่นอน
แต่ก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อย ที่ยังไม่ปักใจเชื่อ ไล่บี้ไล่ต้อน เค้นคอถาม พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เว้นแต่ละวัน
ยิ่งเป็นอะไรที่ล่าสุด “พญาจิ้งจก” อย่างนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ออกมาทัก 2–3 รอบ เตือนให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ชิงยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.และร่าง พ.ร.บ.การได้มาซึ่ง ส.ว.เพื่อให้เกิดความชัดเจน
เพราะถ้าถูกยื่นตีความภายหลังและผลออกมาว่าขัดรัฐธรรมนูญ จะสั่นสะเทือนโรดแม็ป
กระบี่มือหนึ่งกฎหมายของประเทศไทย “ขู่” แรงซะขนาดนี้ มันก็เลยทำให้ “นายกฯลุงตู่” ต้องออกอาการลังเลๆ แนวโน้มต้องเดินตามนายมีชัย เพื่อเอาเสียให้ชัดตั้งแต่ตอนนี้
และก็เป็นนายสมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการ สนช. (วิป) ที่แบไต๋ สนช. หลายคนมีความเห็นร่วมกันว่า น่าจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพื่อให้เกิดความชัดเจน
โดยจะดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดปัญหากระทบต่อโรดแม็ป
ในจังหวะที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ต้องแตะเบรกชะลอการยื่นร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับสุดท้ายให้นายกรัฐมนตรี เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯถวาย ตามข้อห่วงใยของ “ซือแป๋มีชัย”
แบไต๋ หากยื่นให้ศาลตีความร่างกฎหมายลูก ส.ส. ก็จะกระทบต่อโรดแม็ปเลือกตั้งแน่นอน
ถึงตอนนี้ ความแน่นอนก็คือความไม่แน่นอน
กำหนดเลือกตั้งยังมีปัจจัยแทรกซ้อน อุปสรรคแฝงอยู่ตลอดสองข้างทาง
ขณะเดียวกันหันไปดูความพร้อมของนักการเมือง ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้เลือกตั้งเช้าเย็น
ตามรูปการณ์อย่างที่เห็น ทิศทางกระแสภายหลังกระบวนการจดทะเบียน จัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ตามประกาศ คสช.ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ที่ผ่านมา
ดูเหมือนว่า โฟกัสอยู่ที่ 3 จุดใหญ่
ไล่ตั้งแต่ค่าย กปปส. ของ “ลุงกำนัน” นาย
สุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิ กปปส. ที่ทำท่าออกตัวแรง แต่เอาเข้าจริงกระแสฝ่อลงดื้อๆตามเงื่อนไขสถานการณ์ที่นายสุเทพเล่นบท “ติ๊ดชึ่ง” ไม่ชัดเจน ประกอบกับแกนนำ กปปส. ไม่กล้า
ออกจากพรรคประชาธิปัตย์มาล่มหัวจมท้าย
ไม่เสี่ยงวัดดวงกับ “เสาไฟฟ้า” ในปักษ์ใต้
ต่างกับอาการคึกคักของขบวนการ “ยังบลัด” ที่นำโดย “ไพร่หมื่นล้าน” อย่างนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานบริหารกลุ่มบริษัทไทยซัมมิทฯ กับผู้ร่วม
อุดมการณ์อย่างนายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์มหา-วิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์
ที่ประกาศเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ ตั้งพรรคอนาคตใหม่
อย่างไรก็ตาม ภายใต้จังหวะการเคลื่อนไหวที่ถูกจับตาไม่กะพริบ จากฐานความคิดของตัวบุคคลที่ร่วมอุดมการณ์ที่สลัดไม่พ้นคราบของ “นิติราษฎร์–นิติเรด” ล่อแหลมหมิ่นเหม่ปมสถาบัน
แถมกระบวนท่ายังเลียนแบบการตลาดยี่ห้อ “ทักษิณ” ในช่วงเดินยุทธศาสตร์ “คิดใหม่ทำใหม่” เปิดตัวพรรคไทยรักไทยชนิดถอดแบบกันมา
นั่นก็ยิ่งหนีไม่พ้นข้อครหานอมินี “นายใหญ่”
แต่จุดที่เป็นไฮไลต์จริงๆก็คือชื่อของพรรค “พลังประชารัฐ” ที่ถูกตามแกะรอยมากที่สุด ตามสถานะของป้อมค่ายที่จะเป็นฐานคะแนนให้ พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเบิ้ลเก้าอี้นายกรัฐมนตรี
ยี่ห้อที่คนทั่วไปรู้ว่าเป็นแบรนด์ประจำของ “ลุงตู่”
และเท่าที่มีกระแสร่ำลือแคนดิเดตหัวหน้าพรรค และทีมงานเป็นรัฐมนตรีในทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะชื่อของนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กับ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์
ล้วนแต่ทีมงานในค่ายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ
ทั้งทีมงานและภารกิจเป้าหมายในการหนุน พล.อ.ประยุทธ์ สานงานปฏิรูปต่อเนื่อง รวมถึงชื่อ “ประชารัฐ” ที่ติดเป็นแบรนด์ “ลุงตู่”
มันจึงเป็นอะไรที่ลงตัว เข้าเค้าความเป็นจริง
ที่แน่ๆโดยกระแสตอบรับ “เชิงบวก” กับความพยายามยกระดับความชอบธรรมของ “บิ๊กตู่” กับสถานะนายกรัฐมนตรี “คนใน” ที่มาจากที่ปรึกษาพรรคการเมือง
ไม่ใช่ “คนนอก” ที่ส่งเทียบไปหามเข้ามา
ชื่อของ “พลังประชารัฐ” จะเป็นพรรคที่กระตุกโมเมนตัมทางการเมืองนับแต่นี้ไปแน่นอน
แต่ทั้งหมดทั้งปวง ตามธรรมชาติของพรรคใหม่ที่เริ่มต้นจากศูนย์ ต่อให้คึกคัก ฟอร์มดีมีอนาคตยังไง ก็ยังเป็นอะไรที่อยู่ในห้วงของกระแสลอยๆ
โดยฐานต้นทุนจริงๆยังไม่มีอะไรจับต้องได้
เหนืออื่นใด โดยสูตรคุมเกมอำนาจช่วงเปลี่ยนผ่านของ “ลุงตู่” ยังจำเป็นต้องพึ่งเสียงของพรรคการเมืองใหญ่ที่เกินหลักร้อยเสียง ในการประคองการบริหารในสภาผู้แทนราษฎร
พรรคขนาดกลางหรือขนาดเล็กยังไม่ใช่คำตอบของสมการ
ตามรูปการณ์พวกที่ถือดุลในเกมเลือกตั้งก็ยัง
อยู่ที่ป้อมค่ายการเมืองเดิม โฟกัสอยู่ที่ 2 ค่ายหลักคือ พรรคเพื่อไทย กับ พรรคประชาธิปัตย์
ที่จะมีความชัดเจนในวันที่ 1 เมษายน นี้ ตามคิวที่ คสช.เปิดให้พรรคเก่าเคลียร์ฐานสมาชิกได้
แต่พวกเขี้ยวลากดิน “ลักไก่” มั่วนิ่มออกตัวกันก่อนนานแล้ว
ว่ากันตามปรากฏการณ์ที่สะท้อนออกมาจากแรงกระเพื่อมทั้งในประชาธิปัตย์และเพื่อไทยที่เปิดศึกชิงอำนาจการนำพรรคกันตั้งแต่สัญญาณเลือกตั้งดังมาไกลๆ
พรรคเพื่อไทยฟัดกันเละในศึกแย่ง “นอมินี นายใหญ่”
ตามฉากป่วนๆที่ลูกชายของนายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรี แกนนำสายตรงดูไบ ออกมาฟาดหางใส่ “เจ๊หน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เจ้าแม่เมืองกรุง พรรคเพื่อไทย
เค้าลางเกมชิงการนำพรรคเพื่อไทยต้องฟัดกันถึงขั้นพรรคแตก
สถานการณ์เดียวกันกับพรรคประชาธิปัตย์ ที่ดีกรีศึกสายเลือดกำลังระอุ ระหว่างทีมของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค กับเครือข่ายของ “ลุงกำนัน” ที่แฝงตัวอยู่ในพรรค
ตามสไตล์พรรคเก่าแก่ เปิดศึกกันเองทีไร ต้องฟัดกันพรรคแตกทุกครั้ง
ทั้งประชาธิปัตย์และเพื่อไทยต้องเปิดศึกหักดิบ ชิงการนำพรรคในยกแรกก่อนลงสนามเลือกตั้ง
เพื่อนำไปสู่การเดินยุทธศาสตร์ข้ามช็อตหลังเลือกตั้ง ใครจะเกาะขบวนไปกับ “ลุงตู่”
แน่นอนโดยเงื่อนไขความเป็นไปได้ สถานการณ์จับจ้องไปที่ฝั่งประชาธิปัตย์มากกว่าเพื่อไทย
แม้ ณ วันนี้ นายอภิสิทธิ์ ยังชิงเหลี่ยมยึดหลักการพรรคเก่าแก่ ประกาศไม่เอาทหาร ประชาธิปัตย์ต้องสนับสนุนหัวหน้าพรรคเป็นนายกรัฐมนตรี
แต่การเมืองไม่มีตีไพ่หน้าเดียว
ก่อนเลือกตั้งกับหลังเลือกตั้ง มักจะพูดคนละภาษา
อย่าลืมว่า “อภิสิทธิ์” ก็ติดภาพตั้งรัฐบาลในค่ายทหารมาแล้ว การตั้งแง่รังเกียจท็อปบูตจึงดูกระไรอยู่
อีกทั้งแนวโน้มก็อย่างที่ลูกทีมของนายอภิสิทธิ์แพลมไต๋ ถ้าจะแตะมือกับพรรคเพื่อไทย โหวตให้คนของระบอบ “ทักษิณ” เป็นนายกรัฐมนตรี ขอเลือกสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ดีกว่า
แบะท่าแค่ขอกั๊กจังหวะหาเสียง ให้ดูหล่อๆตอนเลือกตั้งแค่นั้น
ที่สำคัญ วันนี้ คสช.แค่ปล่อยไหลตามแต้มต้นทุนของ “ลุงตู่” ที่ดูเป็นธรรมชาติ แต่ถึงที่สุด ถ้าจำเป็นต้องเจรจาภาษาทหารแบบที่จำเป็นต้องได้
ทีมงาน “ลุงตู่” ก็มีปืน มีกฎหมาย มีผลประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจยื่นให้
ยังไงก็ถือ “แต้มต่อ” ในการเจรจา
หน้าฉากทหารถือ “แต้มรอง” อาจเสียเปรียบ ความชอบธรรมตามหลักประชาธิปไตยสากล แต่หลังฉาก คสช.ได้เปรียบภายใต้สไตล์การเมืองแบบไทยนิยม
โดยเฉพาะข้ออ้างเพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปสู่การปฏิรูป ไม่ย้อนกลับไปสู่วังวนวิกฤติเหมือนเดิม
มันมีน้ำหนักในตัวอยู่แล้ว.
“ทีมการเมือง”