PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอาทิตย์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

นสพ.ต่างประเทศวิดคราะห์คดัจำนำข้าว

** นสพ.อังกฤษ-สหรัฐฯ วิเคราะห์ ‘คดีจำนำข้าว’ **

การ์เดียนชี้การตั้งข้อหาอาญา ‘ยิ่งลักษณ์’ อาจเป็นกลเกมต่อรองให้กลุ่มชินวัตรยอมโอนอ่อนผ่อนปรน ขณะวอชิงตันโพสต์มองว่า การโค่นรัฐบาลจากการเลือกตั้งรังแต่ทำให้ ‘ทักษิณ’ ได้แต้มทางการเมือง
.
 เมื่อวันพฤหัสบดี เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ เดอะ การ์เดียน ในอังกฤษ เผยแพร่บทบรรณาธิการ ระบุว่า ชีวิตทางการเมืองของคนไทยนับแต่รัฐประหารเมื่อปีที่แล้ว มีทั้งเรื่องตลกและเรื่องเศร้า
เรื่องตลกข้อแรก รัฐบาลไทยต้องลบทิ้งฉากเด็กนักเรียนวาดภาพฮิตเลอร์ในหนังโปรโมตค่านิยม 12 ประการ เรื่องตลกข้อที่สอง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยสภาที่ไม่มีอำนาจถอดถอน หรือถึงแม้มีอำนาจ ก็ไม่อาจอธิบายได้ว่า คนที่พ้นตำแหน่งไปแล้วจะถูกถอดถอนซ้ำอีกได้อย่างไร
.
เรื่องตลกข้อที่สาม แต่เป็นตลกขื่น คือกรณีผู้วิจารณ์รัฐบาลถูก “เชิญตัว” เข้าค่ายทหารเพื่อ “ปรับทัศนคติ”  เรื่องตลกข้อที่สี่ เป็นกรณีถึงโรงถึงศาล ผู้ต่อต้านการรัฐประหารถูกไต่สวนในศาลทหาร ไม่มีสิทธิ์อุทธรณ์คำพิพากษา และถูกบังคับให้ลงนามยินยอมถูกอายัดทรัพย์หากเคลื่อนไหวทางการเมือง เรื่องตลกข้อที่ห้า ฝ่ายตรงข้ามถูกเล่นงานด้วยข้อหาคอร์รัปชั่น แต่ฝ่ายผู้สนับสนุนรัฐบาลทหารถูกปล่อยปละละเลย
.
 เรื่องตลกล่าสุดเกิดขึ้นในวันพฤหัสบดีเมื่ออัยการสูงสุดส่งฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ น้องสาวของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้พลิกโฉมการเมืองไทยเมื่อทศวรรษครึ่งล่วงมาแล้ว ทักษิณได้ตอบสนองความต้องการ ความปรารถนา และความคับข้องใจของคนส่วนใหญ่ซึ่งมีฐานะด้อย โดยเฉพาะในเขตชนบท ส่งผลให้เขาและตัวแทนของเขาชนะเลือกตั้งทุกครั้ง
.
“ชนชั้นนำไทยทั้งขุ่นเคืองและมึนงง มองว่าเสียงส่วนใหญ่ที่ทักษิณได้รับนั้นไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม ทักษิณซื้อเสียง ทักษิณเป็นนักประชานิยมเหมือนนายกรัฐมนตรีอิตาลี ซิลวิโอ แบร์ลุสโกนี แม้กระนั้น ผู้คนก็ยังคงโหวตเลือกเขา” เดอะ การ์เดียนระบุ
.
“การใช้เล่ห์เพทุบาย การเล่นกลทางกฎหมาย และล่าสุด การแทรกแซงของทหาร ล้วนแต่ไม่สามารถพลิกสถานการณ์ได้ ปรากฎการณ์ทักษิณจะไม่สลายหายไป และจะไม่เสื่อมคลายแม้ทักษิณพ้นเวทีไปแล้วก็ตาม” 
.
บทบรรณาธิการบอกอีกว่า ขณะที่กองทัพและเหล่าพลเรือนที่เป็นพันธมิตรลงแรงอย่างไร้ผล ที่จะสร้างระบบการเมืองที่ดูดี แต่เป็นระบบที่กลุ่มทักษิณไม่อาจครองชัยชนะได้นั้น มีสัญญาณว่าบางปีกในระบอบทหารมีความเข้าใจดีว่า การโอนอ่อนผ่อนปรนอาจเป็นวิธีที่ได้ผลและสอดคล้องความเป็นจริงมากกว่า ผู้เจรจาลับจึงเดินทางไปๆมาๆระหว่างกรุงเทพกับดูไบ ถิ่นพำนักของทักษิณ การตั้งข้อหายิ่งลักษณ์อาจเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่ใช้ทั้งการต่อรองและการขู่
.
ในตอนท้าย เดอะ การ์เดียน บอกว่า เรื่องเศร้าสำหรับไทยก็คือ ประเทศนี้กำลังเสียเวลาเปล่า เศรษฐกิจย่ำแย่ในห้วงเวลาที่จำเป็นต้องขยายตัว สถานะของประเทศเมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านกำลังถดถอย เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ของไทยที่มีกับพันธมิตรเก่าแก่อย่างสหรัฐ

“ความพยายามที่จะกำหนดชี้อนาคตทางการเมืองของประเทศ ควรยกเลิกไปเสีย นับเป็นการล่วงเลยเวลาแล้วสำหรับการหวนคืนสู่ประชาธิปไตย”
.
ทางด้านหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ในสหรัฐฯ ระบุในบทบรรณาธิการในวันเดียวกัน ว่า กองทัพไทยกำลังพยายามทำในสิ่งที่ล้มเหลวมาแล้ว นั่นคือ ความพยายามที่จะกำจัดอิทธิพลทางการเมืองของตระกูลชินวัตร

กรณีสมเด็จช่วงกับอำนาจกดดันจากทหาร


การเมือง-กฎหมาย-ธรรมวินัย กรณีสมเด็จช่วง

สุรพศ ทวีศักดิ์(20/2/59)

เรื่องสมเด็จช่วง ยกเรื่อง "กฎหมาย" ไว้ในฐานที่ผมไม่ปฏิเสธการตรวจสอบเอาผิดทางกฎหมายนะครับ คือผมขอเรียกร้องให้มี "มาตรฐานเดียวกัน" ด้วยซ้ำว่า ถ้าอำนาจรัฐเข้าไปดำเนินการกับ "ประธานผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช" แบบนั้น รัฐก็ต้องมีคำอธิบายว่าได้ดำเนินการอย่างไรกับรถผิดกฎหมายแบบเดียวกันอีกราว 6,000 คัน และมีคำอธิบายอย่างไรว่า ทำไมไม่ดำเนินการอย่างเปิดเผยทุกขั้นตอนต่อสื่อมวลชนกรณีตรวจสอบอุทยานราชภักดิ์ ทำไมการตรวจสอบบุคคลที่มียศ ตำแหน่งสูงทางพระกับทางทหารจึงไม่ใช้ "มาตรฐานเดียวกัน" (เช่นคนที่ไปตรวจสอบทหารมีความผิด แต่ฝ่ายที่ไปตรวจสอบสมเด็จช่วงจะแสดงออกยังไงก็ได้ ทำไมไม่ยอมรับ เสรีภาพในการแสดงออกเหมือนกัน เป็นต้น)  

ในแง่ "การเมือง" คำถามก็คือว่า ถ้าเป็นการกล่าวหาสมเด็จช่วงในประเด็นเกี่ยวกับ "กฎหมายเพียวๆ" และเกี่ยวความเหมาะสมทาง "ธรรมวินัย" ก่อนเข้าสู่ตำแหน่งสำคัญทางสงฆ์เพียวๆ ไม่มีการเมืองเกี่ยวข้อง อำนาจรัฐจะเข้าไปดำเนินการกับสมเด็จช่วงแบบที่ทำไปแล้วไหม?

ที่ผมถามเช่นนี้ ก็เพราะมีกรณีที่โด่งดังมาก (หลายคนคงจำกันได้) คือกรณีที่ท่านจันทร์แห่งสันติอโศกและ อ.สุลักษ์ ศิวรักษ์ออกมากล่าวหาว่าอธิการบดี ม.สงฆ์ท่านหนึ่งมีปัญหาเรื่องเงินกับเรื่องสีกา กรณีนี้ อ.สุลักษณ์ได้ทำหนังสือถึงทั้งหน่วยงานปกครองสงฆ์และหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ทั้งเขียนบทความเผยแพร่ทางสื่อ และพูดในเวทีต่างๆมาเป็นปีๆ แต่ก็ไม่มีการดำเนินการใดๆทั้งหน่วยงานปกครองสงฆ์ และหน่วยงานภาครัฐ และท่านที่ถูกกล่าวหาก็ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม

ประเด็นสำคัญของการกล่าวหาก็คือเรื่องเงิน เรื่องสีกาซึ่งเป็นเรื่องที่พระและชาวพุทธไทยถือเป็นเรื่องใหญ่คือเรื่องต้อง "อาบัติปาราชิก" (หรือไม่?)

ที่ผมตั้งคำถาม ผมไม่เรียกร้องให้เอาการเมืองหรืออำนาจมหาเถรไปไล่ล่าดำเนินการกับพระท่านนั้นนะครับ (แต่เรื่อง "เงิน" นี่เกี่ยวข้องกับกฎหมายด้วยนะ)

ผมเพียงแต่ตั้งคำถามว่า ไม่ว่าเรื่องกฎหมาย หรือเรื่องความบริสุทธิ์ทางธรรมวินัยในการเข้าสู่ตำแหน่งของพระผู้ใหญ่ ถ้าไม่มี "การเมือง" เป็นปัจจัยหลัก จะมีการดำเนินการกันไหม?

และการดำเนินการภายใต้การใช้ "การเมือง" เป็นปัจจัยหลักนั้น มี "ความชอบธรรม" หรือไม่ เป็นมาตรฐานเดียวกันกับทุกฝ่ายหรือไม่? 

ทำไมพุทธอิสระชุมนุมถึงไม่ผิดในฐานขัดคำสั่ง คสช. แต่พระเมธีธรรมมาจารย์ถูกหมายเรียกจากตำรวจ เป็นต้น 

คือ ประเด็น "ความเป็นการเมือง" มันไม่ใช่เพียงจะบอกว่า "ทุกฝ่ายก็มีการเมืองทั้งนั้น" แต่มันมีปัญหาเรื่อง "ความชอบธรรม" ของวิธีการ ของอำนาจที่เข้ามาจัดการ และความเป็น "มาตรฐานเดียวกัน" เป็นต้นด้วยอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งก็เป็นปัญหา "ทางหลักการ" นั่นเอง
////

เรื่องทักษิณ เรื่องสมเด็จช่วง มีจุดเหมือนจุดต่างอยู่ ในทัศนะประชาธิปไตยไม่เคยปฏิเสธว่าทักษิณอำนาจนิยม พรรคไทยรักไทย พรรคเพื่อไทย มีปัญหาผลประโยชน์ (เยอะด้วย) แต่สิ่งที่เรายอมรับไม่ได้คือ หนึ่ง การทำลายทักษิณโดยทำลายสิทธิเสรีภาพ ทำลายประชาธิปไตย สอง การทำลายทักษิณโดยใช้ความอยุติธรรม ไม่เฉพาะกับทักษิณแต่กับมวลชนด้วย

เรื่องสมเด็จช่วง เราไม่เคยเห็นด้วยกับพวก "พุทธเป็นศาสนาประจำชาติ" หรือ กม.คุ้มครองศาสนา ทัศนะกีดกันเกลียดกลัวต่างศาสนา รวมทั้งการแผ่อิทธิพลของธรรมกาย แต่สิ่งที่อีกฝ่ายทำ มันไม่ใช่การปฏิรูปศาสนา ไม่ได้แก้ปัญหาด้วยการแยกศาสนาออกจากอำนาจรัฐ แค่ต้องการโค่นอำนาจและยึดอำนาจในคณะสงฆ์ ให้อยู่ขั้วเดียวกับอำนาจการเมือง แล้วก็ใช้ทุกวิถีทาง ตั้งแต่ให้ร้าย ทาสี ไปจนใช้อำนาจรัฐ พูดง่ายๆ ฝ่ายที่เล่นงานเขาก็ไม่มีความชอบธรรม

ใบตองแห้ง
20/2/59