PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2560

"ชวน"ไม่เรียกร้องปลดล็อก กลัวคนรำคาญ

'ชวน' กำชับสมาชิกพรรคปชป. ไม่เรียกร้องปลดล็อก หวั่นคนรำคาญ ลั่นเกิดปัญหารัฐบาลต้องรับผิดชอบ
(10/12/60)นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลยังไม่ปลดล็อกพรรคการเมือง ว่า ผู้ใหญ่ในพรรคได้หารือกันแล้วว่าให้แจ้งสมาชิกไม่ต้องเรียกร้องเรื่องนี้เพราะมีคนรับผิดชอบอยู่ เขาจะรู้เองว่าหากทำช้าเสียหายก็ต้องรับผิดชอบ ไม่ต้องเรียกร้องเพราะชาวบ้านที่เบื่อเรื่องการเมืองจะรำคาญ เพราะรัฐบาลจะต้องพิจารณาเองว่าภายใต้เงื่อนเวลามีอะไรต้องทำ เมื่อไหร่ อย่างไร ดูให้เหมาะสม ซึ่งตามกฎหมายก็มีกรอบเวลาบังคับไว้ เช่นวันที่ 5 มกราคม 2561 ก็ต้องแจ้งฐานสมาชิกพรรคให้กกต.รับทราบ จึงต้องถามรัฐบาลว่าจะดำเนินการอย่างไร พรรคจะไม่เรียกร้องใด ๆ แต่ถ้าเกิดปัญหาก็อย่าปฏิเสธความรับผิดชอบ
อย่างไรก็ดีเนื่องในวันรัฐธรรมนูญ นายชวนกล่าวต่อว่าเป็นการให้ความสำคัญกับรูปแบบการปกครองระบบรัฐสภาที่ใช้กฎหมายเป็นหลัก โดยมีรัฐธรรมนูญเป็นแม่บทในการกำหนดบทบาทการคานอำนาจของแต่ละฝ่าย ซึ่งตนขอฝากไปถึงผู้ใหญ่ที่ชอบพูดว่าประชาธิปไตยเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศว่า ในความเห็นส่วนตัวที่เป็นผู้อาสาสมัครมาเป็นนักการเมืองนั้น ระบอบประชาธิไตยไม่ได้เป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศแต่อุปสรรคที่แท้จริงคือตัวคน กฎหมายบ้านเมืองก็ไม่ใช่อุปสรรค รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับมีจุดเด่นจุดด้อยของตัวเอง แต่โดยรวมแล้วก็ไม่ใช่อุปสรรคที่เป็นสาระสำคัญ ที่อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ประชาธิปไตยสะดุดคือคน ตัวบุคคลที่เข้ามาทำงานไม่มีความจริงใจหรือรักประชาธิปไตยที่แท้จริง
ส่วนนายนิกร จำนง ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา เปิดเผยว่า พรรคเตรียมยื่นหนังสือถึง กกต. ขอขยายเวลาในการทำกิจกรรม หลังประเมินว่าอาจแล้วเสร็จไม่ทัน โดยเฉพาะการแจ้งเปลี่ยนแปลงสมาชิกพรรค ส่วนปัญหา การสรรหา กกต.สายศาลที่อาจโมฆะ ยังไม่ให้ความเห็นไม่ได้ว่าจะกระทบเลือกตั้งหรือไม่ 

เหตุ กับ ปัจจัย ปม รัฐบาล “ขาลง” อะไร คือมูลฐาน

เหตุ กับ ปัจจัย ปม รัฐบาล “ขาลง” อะไร คือมูลฐาน



คําว่า “ขาลง” ของ คสช.และของรัฐบาล เป็นคำอันไม่ควรเกิดขึ้น หรือมีขึ้นอย่างเด็ดขาดหากมองจากอำนาจที่มีอยู่ในมือของ คสช.และของรัฐบาล
ถามว่าแล้วเกิดขึ้นได้อย่างไร
ต้องยอมรับว่าคำว่า “ขาลง” เป็นเงาสะท้อนจากคำถามของ “ผู้สื่อข่าว” ที่เสนอต่อบุคคลสำคัญไม่ว่าจะเป็นของ คสช. ไม่ว่าจะเป็นของรัฐบาล
แล้วก็ได้รับการปฏิเสธทุกครั้ง
ไม่ว่าจะเป็นคำถามต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะเป็นคำถามต่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ตาม
นั่นถือได้ว่าเป็น “ความรับผิดชอบ”
ทั้งๆ ที่ได้รับการปฏิเสธ ไม่ว่าจะจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แล้วเหตุใดคำว่า “ขาลง” จึงยังดำรงอยู่
เหมือนกับเป็น “ความจริง” อย่างปกติ
หากประเมินจากแต่ละสถานการณ์อันถือว่าเป็นเงาสะท้อนในห้วง “ขาลง” ของ คสช.และของรัฐบาลก็จะเห็นได้จากหลายกรณีประกอบและประสานเข้าด้วยกัน
นั่นก็ได้แก่ กรณีซึ่งเกี่ยวกับการปรับ ครม.
การที่ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ถือเป็นรูปธรรมแห่งความขัดแย้งอย่างเด่นชัด
เป็นความขัดแย้งจาก “ภายใน”
ภายใน 1 คือ มีสาเหตุมาจากการแต่งตั้งโยกย้ายในกระทรวงแรงงานผ่าน ครม. ภายใน 1 คือ มีสาเหตุมาจากการออกคำสั่งหัวหน้า คสช.โดยมาตรา 44 เพื่อกลับมติ ครม.
นั่นก็ได้แก่ รายละเอียดอันเกี่ยวกับการปรับ ครม.
ถ้าทุกอย่างเป็นปกติการปรับ ครม.ก็น่าจะจำกัดกรอบเพียงแต่ 1 กระทรวง 1 คน แต่นี่กลายเป็นการปรับ ครม.ขนาดใหญ่ บางกระทรวงถึงกับมีการกวาดล้างไปทั้งยวง

นี่คือความไม่เป็นปกติอย่างยิ่งจาก “ภายใน”
ทั้งหมดนั้นคือรากและฐานที่มาอย่างแท้จริงของปัญหาซึ่งดำรงอยู่ภายใน คสช. ภายในรัฐบาล ขณะที่แต่ละปรากฏการณ์ถือได้ว่าเป็นความต่อเนื่อง
อย่างเช่น การออกมาพูดกรณีของ “น้องเมย”
อย่างเช่น การส่งเสียงตวาดกลางตลาดปลา ปัตตานี อย่างเช่นการทำให้เรื่องไม่เป็นเรื่องกลายเป็นเรื่องกลายเป็นประเด็นในกรณีของ “แบมุส”
และที่สุดก็มาถึงกรณีของ Richard Mille
เห็นหรือไม่ว่าแต่ละรูปธรรมอันนำไปสู่บทสรุปว่าเป็น “ขาลง” ของ คสช.และของรัฐบาลนั้นมีความสัมพันธ์และยึดโยงกันและกัน
หากไม่มีการพูดเลอะเทอะต่อ “น้องเมย” คงไม่มีการขอโทษ
หากไม่มีการตวาดที่ตลาดปลา ปัตตานี และการไล่กวาดต้อนชาวบ้านที่แยกสำโรงสงขลา ก็คงไม่ต้องย้อนกลับไปยังตรังเพียงอีกไม่กี่วันคล้อยหลัง
เหล่านี้เสมอเป็นเพียง “ปรากฏการณ์” แต่ละปม แต่ละปัญหา
หากรากฐานอย่างแท้จริงดำรงอยู่ภายใน “คสช.” ดำรงอยู่ภายในกระบวนการบริหารจัดการของ ครม.มากกว่า
การมอบหมายอำนาจค่อนข้างเบ็ดเสร็จของการแก้ไขปัญหาทางด้านเศรษฐกิจให้กับ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นั่นแหละคือตัวจริง ของจริง
ตัวจริง ของจริงว่า “ปัญหา” คืออะไร
ปมเงื่อนอยู่ตรงที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จะบริหารจัดการอย่างไร จะมุ่งต่อประเด็นในทางเศรษฐกิจโดยละเลยและมองข้ามประเด็นในทางการเมืองกระนั้นหรือ
นี่ย่อมเป็น “การบ้าน” อย่างแหลมคมยิ่ง

ปูรากฐานก่อนเลือกตั้ง : ท้าพิสูจน์ทีมเศรษฐกิจเลือดใหม่เดินหน้าประชารัฐ

ปูรากฐานก่อนเลือกตั้ง : ท้าพิสูจน์ทีมเศรษฐกิจเลือดใหม่เดินหน้าประชารัฐ


นับเป็นโค้งสุดท้ายที่จะพิสูจน์ฝีมือรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่ความอยู่ดีกินดี ภาระตกหนักจึงมาอยู่ที่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะขุนพลคนสำคัญ
“หลังปรับทัพใหม่ของ ครม.ประยุทธ์ 5 ทิศทางจะดีกว่านี้แน่” นายสมคิด เปิดหัวบทสนทนารุ่งเช้าวันที่ ทีมข่าวการเมือง เข้าสัมภาษณ์ที่ห้องทำงาน ทำเนียบรัฐบาล
แถมย้อนรำลึกอดีตการทำงานยุคที่ผ่านมา ไม่เคยโรยด้วยกลีบกุหลาบ
ผมเจอโจทย์ยากมาทุกสมัย เมื่อปี 2540 ก็เจอโจทย์ยาก ครั้งนี้ก็ไม่ได้ง่าย ถ้าเรามัวแต่ไปคิดว่ายาก ข้างหน้ามันลำบาก ถ้าคิดแบบนั้นคงทำงานกับผมไม่ได้
การที่เรามาอยู่ตรงนี้ ดวงชะตาให้มาช่วย พล.อ.ประยุทธ์ ให้สามารถขับเคลื่อนทุกอย่างให้เดินไปข้างหน้า รอบนี้ดวงชะตาส่ง พล.อ.ประยุทธ์มาเพื่อทำให้บ้านเมืองเปลี่ยนผ่านไปสู่อนาคต
ส่วนทีมงานหรือ ครม.ชุดนี้คิดว่าพร้อมและเหมาะสมมาก แต่ละคนมีประสบการณ์แม้จะมาเป็นรัฐมนตรีใหม่ สำหรับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ปรับใหม่ทั้งหมดเป็นทีมที่ดีมาก
คนที่ไม่ได้อยู่แล้วไม่ได้หมายความว่าไม่ดี แต่นายกฯอยากจะจัดทัพให้ทุกอย่างเร็วและเหมาะสมกับสถานการณ์ เหมือนการวิ่งสี่คูณร้อย ผลัดแรก ผลัดสอง ผลัดสาม ผลัดสี่ มันไม่เหมือนกัน
สิ่งที่ชัดเจนของรัฐบาลชุดนี้คือความร่วมมือจะมีมาก คีย์อยู่ที่ว่าการทำงานทุกกระทรวงต้องเข้าหากันร่วมมือกัน ปัญหาทุกเรื่องต้องบูรณาการทุกกระทรวง ไม่มีแยกย่อย ถ้าแยกย่อยบ้านเมืองไปไม่รอด
ทีมการเมือง ถามว่าปัญหาปากท้องจะแก้ไขอย่างไร เพราะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ถึงรากหญ้า นายสมคิด ตอบว่า การที่บอกว่าต้องแก้ให้ดีขึ้นนั้นพูดมันง่าย รัฐบาลไม่ปฏิเสธความรับผิดชอบ แต่ต้องดูว่าอะไรที่เป็นโครงสร้างที่ต้องแก้ไข อะไรคือการแก้ปัญหาระยะสั้น ระยะยาว
นายกฯสั่งการแล้วว่าในหลวงทรงห่วงใยประชาชน ดูแลให้มีความสุข รู้ว่าข้างล่างยังลำบาก ถ้าทำดีที่สุดแล้วน่าจะดี
เห็นได้ว่านโยบายรัฐบาลตั้งแต่เริ่มต้นตอนเข้ามาใหม่ๆ ขอเลยคือไม่ให้เศรษฐกิจทรุด และต้องปฏิรูปให้บ้านเมืองไปได้ในอนาคตข้างหน้า
ขณะนี้เศรษฐกิจระดับบนกระเตื้องขึ้น เงินเฟ้อก็ต่ำ ทุกอย่างไปได้ดีหมด ต่างประเทศจากที่ไม่มองหน้า เดี๋ยวนี้ไปไหนก็ยอมรับ ทุกอย่างมาเมืองไทยหมด ดีหมดทุกกรอบ
ถามว่ารัฐบาลที่ทำมา 10 ปี เทียบกับรัฐบาลประยุทธ์ได้ไหม ไม่ได้เชียร์ แต่ให้ดูข้อเท็จจริง
แม้ว่าจะดีขึ้น ก็ยอมรับว่าระดับล่างยังไม่ดีเท่าที่ควร ด้วยเหตุผลว่ากลุ่มคนจนมีไม่กี่อาชีพ เป็นเกษตรกรแน่นอน เมื่อข้าวราคาต่ำ ราคายางตกย่อมได้รับผลกระทบ
เมื่อถามว่า นักการเมืองบอกว่าทำไมรัฐบาลไม่เตรียมประกันพืชผลทางการเกษตรที่จะออกมา เราป้องกันการเมืองอย่างไร นายสมคิด ตอบว่า เรื่องประกันรายได้ จำนำข้าว เป็นเส้นทางที่ง่าย แต่ต้องแบกหนักเพราะมีพ่อค้าเข้ามา สองทางนี้รัฐบาลใหม่ไม่อยากให้ทำเพราะทุจริตง่าย
การแก้ปัญหาเลยต้องใช้เวลา เงินไหลลงช้า ทำให้ข้างล่างเงินไม่หมุนเวียน ยางพาราไม่ใช่ปัญหาง่ายๆที่จะบอกว่าให้ราคา 80 บาท
เมื่อ 15 ปีที่แล้ว จำได้ว่าน้ำมันแพงมาก มีบริษัทประกาศรับซื้อยางพาราให้ราคาดี รัฐบาลขณะนั้นให้ปลูกยางเพิ่มที่อีสาน รายได้ดีจริงๆ กลายเป็นดับเบิ้ลซับพลายการผลิต
จากวันนั้นถึงวันนี้กว่า 15 ปีที่ผลิตเพิ่มตลอด ราคาน้ำมันดิ่งมีสิ่งทดแทน ราคายางไม่มีทางจะไปอยู่ตรงนั้นได้อีก พยายามให้ขึ้นในระดับสมน้ำสมเนื้อ
การแก้ปัญหาต้องหาทางเพิ่มรายได้ให้เขา ต้องหาโครงการเพื่อให้มีรายได้เสริม ถ้าไม่ได้ปลูกจะมีรายได้จากอะไร สั่งการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ไปคิดมา
ทีมการเมือง ถามว่าประชาชนยังขาดความรู้หากจะปลูกพืชเสริม นายสมคิด อธิบายว่า กระทรวงเกษตรฯกับ ธ.ก.ส.ต้องชี้เป้าให้เขา เมื่อชี้เป้าแล้วต้องให้สินเชื่อ ให้เขาผลิตโดยที่ไม่เสี่ยงมาก หาตลาดให้ รวมพลังกัน ทำช้าไม่ได้ ต้องทำเร็ว
คอนเซปต์นายกฯไม่ได้บอกให้เลิกปลูกข้าว แต่ให้หาพืชทางเลือกมาเสริม รวมถึงปศุสัตว์ การบ้านอยู่ที่กระทรวงเกษตรฯ
ถ้าพูดแค่ประกันราคา จำนำข้าว คิดได้แค่นี้ ทั้งที่ทางวิ่งระยะทางยาว ไม่ว่ากันถ้าคิดได้แค่นี้ก็คิดไป แต่อย่าเอามาโจมตีจนกระทั่งไม่สามารถวางอนาคต
ถ้าคิดแค่ว่า 15,000 อีกสิบปีจะไปอยู่ที่ไหน
ผมคิดว่าเขาคิดเป็น ถ้าคิดจะเอาชนะกันด้วยคะแนนเสียงต้องเอาตรงนี้มาตี
การพลิกการเมืองของทุกประเทศพลิกได้ตอนที่ชีวิตคนลำบาก พอฝืดเคืองปั๊บเอาอันนี้มาตี ถ้าทำโดยไม่กลัว มองไปในระยะยาวเตรียมวางฐานและไม่ละเลยระยะสั้น คือสิ่งที่รัฐบาลนี้วางแนวทางไว้
การมองสู่อนาคตต้องไปถึงดิจิทัลค้าขายข้ามประเทศ เพราะดิจิทัลสำคัญมาก ที่เมืองจีนหายจนเพราะดิจิทัล ไทยเราต้องทำให้สินค้ามีมูลค่าสูงขึ้น กระทรวงเกษตรฯต้องเร่งให้เกิดผลผลิต กระทรวงพาณิชย์ต้องเร่งทำตลาด
ส่วนการช่วยเหลือคนจน กระทรวงการคลังออกแบบบัตรคนจนทำให้เงินถึงมือคนจนโดยตรง ทีแรกถูกโจมตีบัตรคนจนไม่ดี ทั้งที่คนจนได้เงินเดือนต่ำกว่า 2,500 บาทต่อเดือน ความจริงอยู่ไม่ได้
ปีหน้าเงินงบสวัสดิการประชารัฐต้องมีมากกว่าเดิม จะใช้บัตรคนจนเป็นตัวหลักการ เมื่อรู้ว่ามีคนจนจำนวนเท่านี้ ต่อไปจะมีประโยชน์ที่จะเพิ่มเติมเข้าไปเพื่อลดค่าใช้จ่ายเขา
เขาจะมีรายได้เพิ่มขึ้น ตอนนี้กำลังคิดเรื่องยา คนจนใช้อะไรไม่มาก กินข้าวกับซื้อยา นี่คือการลดค่าใช้จ่ายคนจน
จะทำให้คนจนอยู่ได้จริงๆไม่ใช่จนดักดาน
นอกจากนี้ยังเห็นว่า สิ่งหนึ่งที่จะมีผลต่อรายได้ท้องถิ่นมหาศาลคือการท่องเที่ยว ท่องเที่ยวชุมชน ท่องเที่ยวเมืองรอง นโยบายใหม่ที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้รับคือการท่องเที่ยวต้องไม่ทำงานซ้ำซ้อนกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพราะ ททท.คือโปรโมชั่น กระทรวงการท่องเที่ยวฯคือพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว
ถ้าทำท่องเที่ยวเมืองรองกับชุมชน มีนักท่องเที่ยวแค่หมื่นคน จะทำให้ชุมชนเล็กๆเงินจะสะพัด
ทั้งหมดคือแนวทางของรัฐบาลที่จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นและช่วยคนจน
ปีนี้เห็นสัญญาณแล้ว ตลาดหุ้นก็ดี ปีหน้าส่งออกคงไม่ทรุดแล้ว ความเชื่อมั่นมีมากขึ้น การลงทุนจะมีมากขึ้นทั้งเอกชน รัฐบาล เอกชนที่เราหล่อเลี้ยงไว้จะออกผล ปีหน้าจะดีแน่นอน
ผมไม่ต้องการแค่นั้น ต้องเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตไปสู่อีกอย่างให้ได้ ช่วงสั้นทำอย่างไร ปรับโครงสร้างอย่างไร อย่าปล่อยให้ลอยไปตามอากาศ
ถ้าการเมืองไปถึงตอนนั้นแล้ว มันเกิดหมดแล้ว เชิญเลือกตั้งตามสบาย
ทีมการเมือง ถามว่าความรับผิดชอบทีมเศรษฐกิจเหมือนทัพหน้า นายสมคิด ตอบว่า อย่าไปคิดอย่างนั้น คิดแค่ว่ามีหน้าที่ ทำให้ดีที่สุด คนที่รับผิดชอบทั้งหมดคือนายกฯ ครม.ต้องทำงานแบบไม่มีใครเป็นพระเอก ไม่มีใครเป็นผู้ร้าย ทุกคนต้องช่วยกัน
ปีหน้าต้องลงให้ถึงข้างล่าง นี่คือเหตุผลว่าทำไมนายกฯถึงลงพื้นที่เยอะ เพื่ออธิบายให้รู้รัฐบาลไม่ได้ทอดทิ้ง แต่ยากที่จะไปนั่งอธิบายว่าปัญหาเกิดจากอะไร
การทำงานบางทีสิ่งสำคัญไม่ใช่เนื้องาน สิ่งสำคัญจะทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าใจไม่ให้การเมืองมาบิดพลิ้วบิดเบือนได้ บิดง่ายมาก
ถ้าคุณอยู่กับสิ่งเดิมๆ ส่งออกก็สิ่งเดิมๆ เกษตรก็เดิมๆ จะไปแข่งขันอย่างไร อยากให้คิดก้าวข้าม
อย่าเอาเวลาสั้นๆมาบีบบอกว่าต้องแก้ปัญหาปากท้องชาวบ้าน แก้ไม่ได้พาชาติเจ๊ง
ถ้าไม่คิดอะไร คิดสั้นๆนี่แหละจะพาชาติเจ๊ง.
ทีมการเมือง

1ปีที่เหลือชี้ชะตา“ประยุทธ์” : ผ่าประสิทธิภาพ“สมคิด”เจาะเศรษฐกิจลงฐานราก

1ปีที่เหลือชี้ชะตา“ประยุทธ์” : ผ่าประสิทธิภาพ“สมคิด”เจาะเศรษฐกิจลงฐานราก


สะดุดช่วงเร่งเครื่องออกตัว “ครม.ประยุทธ์ 5”
เป็นเรื่องเป็นราว ตั้งแต่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. นำทีม รมต.ชุดใหม่ ร่วมประเดิมประชุมหลังได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง และเข้าเฝ้าถวายสัตย์ฯ
เหตุเกิดเมื่อคิวก่อนเข้าร่วมถ่ายรูปที่สนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบฯ คนต้นเรื่องอย่าง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.กลาโหม หนีไม่พ้นพื้นที่สถานะ “ตำบลกระสุนตก”
แค่ยกมือบังแดดส่องก็แจ็กพอต แหวนเพชรเม็ดใหญ่ส่องประกายดวงอาทิตย์และแสงแฟลช หนำซ้ำแขนเสื้อเปิดโชว์นาฬิกาหรูเรือนละหลายล้านบาท
เลยมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมา ทั้งปมราคาค่างวด รวมทั้งการแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช.เมื่อช่วงเข้ารับตำแหน่งรองนายกฯและ รมว.กลาโหม ในปี 2557
ขาประจำไล่บี้ ยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.สอบ เขย่ากันสนุกเลย
เรียกว่าเพิ่งตั้งหลักได้หมาดๆ มาถึงตอนนี้ “บิ๊กป้อม” ต้องเหนื่อยประคองตัวอีกแล้ว
แต่ก็เป็นไปตามรูปการณ์ ผ่านพ้นคิวปรับ ครม.ก็ชัดเจนสำหรับ “บิ๊กตู่” อย่างไรต้องมี “พี่ใหญ่” เคียงข้าง ประคอง “เรือแป๊ะ” ไปถึงฝั่งฝันด้วยกัน
และที่จริง หากดูที่งานของ “บิ๊กป้อม” ก็ถือว่าเข้าเป้า โดยเฉพาะด้านความมั่นคง ทั้งจากอำนาจพิเศษในมือ ขุมข่าย เครื่องมือ กลไกรัฐ รวมทั้งเครือข่ายพี่–น้องในกองทัพคอยหนุน เอื้อ “พี่ใหญ่” คุมเกมอยู่หมัด
หลายครั้งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ พี่ใหญ่เหมือนออกตัว “เจ็บแทน” ผู้นำ
ล่าสุดก็คิวตรวจค้นพบอาวุธสงครามใน จ.ฉะเชิงเทรา “รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง” โยงข้อมูลที่ได้รายงานไปถึงความเคลื่อนไหวการเมือง ลากไปถึงคิว “ปลดล็อก” อาจเลื่อนไปช่วงใกล้เลือกตั้ง
กวักมือเรียกแขก คนการเมืองรุมสวดจากทั่วทิศ
เพราะ “ไต๋” รัฐบาล คนการเมืองเลือกอ่านผ่านทาง “บิ๊กป้อม” ในฐานะ “ถือดุลร่วม”
ไม่แปลกที่บทบาทสำคัญของพี่ใหญ่ ทั้งจากคิวปรับ ครม. และจากการแบ่งงานรองนายกฯ
สำหรับงานด้านความมั่นคง “บิ๊กป้อม” ยังอยู่เป็นหลัก
ในห้วงที่โฉม ครม. “ประยุทธ์ 5” ที่มีเสียงสะท้อนตอบรับด้วยดี ทั้งการลดโทนสีเขียวถอดรัฐมนตรี ท็อปบูตเหลือน้อยลง เติมมืออาชีพเข้ามาหลายราย รวมทั้งโยกสลับกระทรวงที่ติดขัด
เน้นประสิทธิภาพของงาน ในโค้งสุดท้าย
งานอื่นน่าจะอยู่ตัว เดินหน้าไปต่อได้ แต่โจทย์ใหญ่ที่ยังแก้ไม่ตกคืองานด้าน “เศรษฐกิจ”
ปมปากท้องที่ยังสะสางไม่ถึงเป้า
คิวใหญ่ที่ “บิ๊กตู่” ก็น่าจะรับรู้ และหาแนวทางแก้ไขมาโดยตลอด
โดยเฉพาะภาวะ “ขัดลำกล้อง” ในฝ่ายบริหาร รมต.ต่างกระทรวงขัดลำ ทำให้กระบวนการอัดฉีดค้างท่อ การขับเคลื่อนนโยบายไปไม่ถึงฐานราก
สะท้อนชัดจากคิวปรับ ครม.หนนี้ ผู้นำตัดสินใจผ่าตัดจุดที่เป็นปัญหา เทน้ำหนักมาที่การแก้ปมขบเหลี่ยมระหว่างกระทรวง หนุน “ทีมเศรษฐกิจ” ที่มี “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกฯ นั่งแท่นกัปตันใหญ่
หลังจากที่การขับเคลื่อนนโยบาย มีปัญหาติดขัดมาตลอด
ทั้งการตัดสินใจโยกเพื่อนร่วมรุ่น ตท.12 “บิ๊กนมชง” พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ จาก รมว.เกษตรฯ ไปเป็นรองนายกฯ ผลักดันนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมช.ในเครือข่าย ดร.สมคิด ขึ้นชั้น รมว.พาณิชย์ หรือการเติมรัฐมนตรีในกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งอัดฉีดอุตสาหกรรมเอสเอ็มอี และเมกะโปรเจกต์อีอีซี ฯลฯ
ปรับเปลี่ยนเอื้อต่อ “ทีมเศรษฐกิจ” ชัดเจน
นอกจากนี้ถ้าหากโฟกัสที่กระทรวงเกษตรฯ การตั้งนายกฤษฎา บุญราช อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย มาเป็น รมว.เกษตรฯ เติม 2 รมช.ทั้งนายลักษณ์ วจนานวัช มาเร่งงานอัดฉีดงบฯสู่เกษตรกร และดึง “อาจารย์ยักษ์” วิวัฒน์ ศัลยกำธร มาผลักดันงานการเกษตรตามศาสตร์พระราชา
กระทรวงเกษตรฯ เป็นอีกจุดสำคัญฟื้นฐานราก

สำหรับนายกฤษฎา อดีตปลัดมหาดไทย แม้มีภาพผิดฝาผิดตัว แต่เมื่อดูที่ตำแหน่งที่มาและคุณสมบัติ ประกอบกับทิศทางนโยบายรัฐบาลปั่นเศรษฐกิจปากท้องในโค้งสุดท้าย

อดีตปลัด มท.อย่างนายกฤษฎา ถือว่าลงล็อก
เพราะมีประสบการณ์การบังคับบัญชา คุมกลไกข้าราชการมาก่อน ตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กระทั่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
มีช่องเชื่อมฝ่ายปกครองในพื้นที่ ข้อต่อชั้นดีประสานมหาดไทย
ไม่เพียงเท่านั้น พล.อ.ประยุทธ์ ยังรับรู้ข้อจำกัดในการทำงานของทีมเศรษฐกิจ รอบนี้ตัดสินใจมอบ “อำนาจเต็ม” ด้านเศรษฐกิจให้ “ดร.สมคิด” จากคิวแบ่งงานรองนายกฯ ได้กำกับดูแลกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพิ่มเติมจากเดิม
เรียกว่าคุมเศรษฐกิจ “เบ็ดเสร็จ” ก็ว่าได้
ที่ต้องโฟกัส อีกรายการใหญ่ที่ผู้นำอำนาจพิเศษออกแรงทลายจุดอุดตัน ข้อต่อบางจุดที่ทำให้การขับเคลื่อนนโยบายสะดุด นอกจากประกาศเชิงขู่หน่วยงานราชการ รวมทั้ง อปท.สนองนโยบายทีมเศรษฐกิจ
น่าจะเป็นคิว “บิ๊กตู่” เคาะโต๊ะในที่ประชุม ครม. ไฟเขียวดึงงบฯองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นับแสนล้านบาท มาสนับสนุนโครงการพัฒนาพื้นที่ ฝึกอาชีพ ยกระดับแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน
หลังจากที่มีการจับตา เพราะก่อนหน้านี้ “พี่รอง” อย่าง “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เคยออกมาแจกแจงรายละเอียดเงื่อนไขการใช้งบฯ อปท.
เหมือน “ขวางเปิดท่อ” กันในที
ในเงื่อนไขไม่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลง ความสำคัญของรัฐบาล คสช.นอกจาก “พี่ใหญ่” แล้ว “พี่รอง” ก็คือหลังพิงหลัก เป็นกำลังสำคัญของ “บิ๊กตู่” แต่เมื่อถึงจุดที่ต้องใช้อำนาจนายกฯก็ต้องทำความเข้าใจ
ไฟต์บังคับต้องใช้อำนาจผู้นำ ประกาศขอรับผิดชอบเอง ในการงัดเปิดท่อ อปท.อัดฉีดฐานราก
เรียกว่าปัจจัยต่างๆเอื้อต่อการทำงานทีมเศรษฐกิจ เข้าทาง “ดร.สมคิด” ในการแก้โจทย์โคตรหิน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ในภาวะที่โพลสำรวจสำนักต่างๆ รวมไปจนถึงชาวบ้านร้านตลาดสะท้อนออกมา
เศรษฐกิจฟูเฟื่องไม่ทั่วถึง ปมปากท้องยังบักโกรก
ชนิดที่ถ้าเดินสำรวจตลาดร้านค้า สถานการณ์ไม่เป็นบวกเหมือนตัวเลขเศรษฐกิจด้านต่างๆที่ออกมา
อยู่ในภาวะดีกระจุกตัว แต่ส่วนใหญ่ซบเซาหนัก

“คนขายหน้าเหี่ยว ลูกค้ากระเป๋าแห้ง” หายใจพะงาบๆตามกัน
สอดคล้องกับที่นายธนาคารใหญ่ “เสี่ยปั้น” บัณฑูร ล่ำซำ บิ๊กบอสธนาคารกสิกรไทย ออกมากระตุก รัฐบาลทำนอง ต้องเร่งแก้ปมรวยกระจุก–จนกระจาย ทำให้ชาวบ้านฐานรากลืมตาอ้าปากได้
ตามรูปการณ์ก็มาถึงจุดที่ “ดร.สมคิด” รู้ดี มาถึงจังหวะนี้ ปัจจัยต่างๆเอื้อต่อการทำงาน
ได้เพิ่มอำนาจ เติมคน ใช้งบฯได้เต็มพิกัด
ดังนั้นการแก้ปมเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ ลงถึง “ฐานราก” ถึงเวลาที่ต้องเดินหน้าเต็มสูบ
ถึงแม้ว่าอีกทางหนึ่ง ยังมีอีกจุดสำคัญคือกลไกของหน่วยงานราชการ ที่แม้จะมีการปรับเปลี่ยนระดับรัฐมนตรี แต่ในส่วนของข้าราชการ กับปัจจัยที่เกี่ยวกับเครือข่ายอำนาจ วัฒนธรรม ค่านิยมการทำงาน
ทั้งหมดอาจต้องใช้เวลาจูนเครื่องกันอีกพักใหญ่
แต่ก็ไม่ได้เป็นข้อแก้ต่างแก้ตัว หากสุดท้ายผลลัพธ์ไม่เข้าเป้า
เพราะน้ำหนักที่ “บิ๊กตู่” เทมาที่โจทย์เศรษฐกิจ สะท้อนว่าผ่านมา 3 ปี หมดเวลาลองผิดลองถูก
ถึงไฟต์บังคับ คืนความสุขให้ประชาชนเต็มที่อย่างที่ประกาศ
ดังนั้น 1 ปีจากนี้ถือเป็นเดิมพันสำคัญสำหรับ “ดร.สมคิด” ในการยกระดับเป็นอีก “ตัวเลือก” ในอนาคต
เป็นจุดชี้ทิศทางอำนาจ คสช. ในห้วงเปลี่ยนผ่าน
เหนืออื่นใด ผลลัพธ์ที่ออกมาจะเป็นตัวชี้ชะตา พล.อ.ประยุทธ์ ในแผน “ต่อตั๋ว” อำนาจพิเศษ.
“ทีมการเมือง”

ต้องเหนื่อยกว่าทุกครั้ง

ต้องเหนื่อยกว่าทุกครั้ง


ตั้งแท่นสอบกันทันทีทันควัน
ตามซีนที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สั่งให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบประเด็นนาฬิกาหรู “Richard Mille” ราคาหลายล้านบาท และแหวนเพชรเม็ดโต ของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม
โยงกรณีไม่ยื่นแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ตามที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ยื่นเรื่องให้ตรวจสอบ
โดยขีดเส้นให้ “บิ๊กป้อม” ทำหนังสือหรือมาชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่มาและวันเวลาที่ได้ทรัพย์สินดังกล่าวต่อ ป.ป.ช.ภายใน 30 วัน
ปมข้อสงสัยของสังคมเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบอย่างเป็นทางการ
ในมุมที่ ป.ป.ช.เองก็อยู่เฉยไม่ได้ หากปล่อยเกียร์ว่าง ไม่ดำเนินการตรวจสอบเรื่องที่กระแสสังคมกำลังเพ่งเล็งให้ความสนใจ เผลอๆอาจโดนหางเลขถูกเล่นงานตามไปด้วย
สถานการณ์ของพี่ใหญ่ยังสลัดไม่หลุดดงกระสุนตก ทำอะไรดูเหมือนจะขวางหูขวางตา ถูกจ้องจับผิดอยู่ตลอดเวลา
นั่นก็เป็นไปตามบทที่คอยทำหน้าที่เป็นกันชนให้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เจ็บตัวน้อยที่สุด ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีแต่เรื่องให้เข้าเนื้อเจ็บตัวอยู่ตลอดเวลา
แค่ยกมือขึ้นมาบังแดดยังกลายเป็นเรื่องผิด ถูกลากไปขยายผลถึงขั้นตรวจสอบ ทรัพย์สิน
และมีทีท่าว่า อาจจะต้องชี้แจงเหนื่อยกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ลำพังแค่กรณีการไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สิน ยังพออนุมานได้ว่า เพิ่งได้นาฬิกาและแหวนเพชรมาในช่วงหลังจากเข้ารับ ตำแหน่งรัฐมนตรี เมื่อปี 2557 จึงยังไม่มีทรัพย์สินรายการดังกล่าวอยู่ในลิสต์บัญชีทรัพย์สินที่ยื่นต่อ ป.ป.ช.
แต่ดันมีปมหวาดเสียวเรื่องการขยายผลให้ตรวจสอบปมร่ำรวยผิดปกติห้อยท้ายมาด้วย
เป็นสิ่งที่นักการเมืองแค่ได้ยินก็ขนหัวลุกทุกราย หากถูกแทงเรื่องให้ตรวจสอบ เพราะเสี่ยงต่อการถูกเอกซเรย์ที่มาของทรัพย์สินอย่างละเอียดยิบ
เหมือนอย่างที่นายศรีสุวรรณพยายามโหมฟืนตั้งข้อสังเกต คำนวณรายได้ พล.อ.ประวิตรที่รับราชการทหารมา 40 ปี เป็นนักการเมือง 2 สมัย โดยไม่มีธุรกิจใดๆ แต่มีบัญชีทรัพย์สินที่แจ้งต่อ ป.ป.ช.มากถึง 87 ล้านบาท และยังมีหัวเชื้อเรื่องทรัพย์สินหรูเข้ามาผสมโรงอีก
กระตุกอารมณ์ร่วมให้สังคมระแวงบิ๊ก คสช.
แน่นอนที่สุดถ้าอยู่ในสภาวะรัฐบาลปกติ “พี่ใหญ่” เลี่ยงไม่พ้นถูกลากขึ้นเขียง เจอซักฟอกกลางสภาแน่ แต่ในภาวะรัฐบาลพิเศษที่ท็อปบูตคุมกลไกทุกอย่างได้หมด
พลังการตรวจสอบในสภาไม่เข้มข้นเหมือนในอดีต
อย่างน้อยก็ช่วยผ่อนแรงปะทะจากหนักเป็นเบา สะกดแรงกระเพื่อมไม่ให้ขยายวงมากเกินเหตุ
ในมุม “บิ๊กป้อม” ก็พยายามสงวนท่าที ขอแจกแจงรายละเอียดทุกอย่างต่อ ป.ป.ช. ไม่ขอชี้แจงผ่านสื่อมวลชน ป้องกันไม่ให้ถูกขยายผล ออกไปอีก
ยื้อเวลารอผลสอบจาก ป.ป.ช.อย่างเดียว
แต่ที่น่าห่วงคือ การเคลียร์คำถามกับสังคม ตามที่รับรู้โดยทั่วกันถึงสถานะของ “บิ๊กกุ้ย” พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. เป็นลูกน้องเก่า เคยเป็นอดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ช่วยงาน พล.อ.ประวิตรมาก่อนหน้านี้
ระดับสายสัมพันธ์เจ้านาย–ลูกน้องเก่าที่ใกล้ชิดกัน มันก็หมิ่นเหม่อาจถูกมองในแง่การฟอกขาวช่วยลูกพี่ให้รอดบ่วง
หนีไม่พ้นถูกตั้งคำถามจับผิด เหมือนกรณีที่เคยไม่ยื่นอุทธรณ์ฟ้อง “บิ๊กป๊อด” พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. น้องเลิฟ “บิ๊กป้อม” ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อเดือน ต.ค.2551
ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าผลสรุปของ ป.ป.ช.ออกมาอย่างไร พี่ใหญ่ย่อมโดนทั้งขึ้นทั้งล่อง
ยิ่งหากบทสรุปสุดท้ายพบว่า พล.อ.ประวิตรไม่ได้มีความผิด ต่อให้พูดปากเปียกปากแฉะแค่ไหน มันก็ลบความรู้สึกของสังคมบางส่วนได้ลำบาก
ทำไปทำมากว่าจะสลัดพ้นมลทินได้ พี่ใหญ่อาจจะหืดจับกว่าทุกครั้ง.
ทีมข่าวการเมือง