PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

เปิดคำให้การ ทบ.กรณีสื่อขอศาลปกครองสั่งเปิด “ราคากลาง” อุทยานราชภักดิ์ – 20 เดือนที่ยังคงไร้คำตอบ

อุทยานราชภักดิ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/index.php/th/media-centre/190815-j1.html
หลังจากศาลปกครองมีคำสั่งรับคำฟ้องของผู้สื่อข่าวสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ไปเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2560 เป็นคดีหมายเลขดำที่ 139/2560 กรณีที่ยื่นฟ้องกองทัพบก (ทบ.) ขอให้ศาลสั่งให้ ทบ. เปิดเผยข้อมูลราคากลางการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์บูรพกษัตริย์แห่งสยามจำนวน 7 พระองค์ ในโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์
ล่าสุด ในวันที่ 11 ก.ค.2560 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ได้รับเอกสารคำให้การของ ทบ. จำนวน 3 รายการ รวม 10 หน้ากระดาษเอสี่ ประกอบด้วย
  • คำให้การของ ทบ. ซึ่งจัดทำโดยพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ในฐานะผู้รับมอบอำนาจแทน ที่ชี้แจงถึงประเด็นต่างๆ ในการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ รวมถึงการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ
  • สำเนารายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ไล่เรียงถึงเส้นทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ พร้อมยืนยันในช่วงท้ายของเอกสารว่า ไม่มี “ประเด็นการทุจริต”
  • สำเนาหนังสือแจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งมีเพียงหน้าเดียว ที่ระบุว่าไม่พบ “พฤติการณ์แห่งการกระทำความผิด”
จากรายละเอียดเอกสารดังกล่าว พบว่ามีประเด็นที่เป็น “ข้อมูลใหม่” ไม่เคยปรากฎในสื่อมวลชนมาก่อน 4 ประเด็น ดังนี้
1. ขั้นตอนการเลือกโรงหล่อมาจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ
ปมโรงหล่อเป็นประเด็นข้อครหาที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ เนื่องจากปรากฎตามหน้าสื่อมวลชนช่วงปลายปี 2558 ว่ามีเซียนพระชื่อดังรายหนึ่งเรียกรับสินบนจากโรงหล่อต่างๆ รวมเป็นเงินกว่า 20 ล้านบาท แลกกับการให้ได้รับงานในโครงการนี้ แต่เมื่อเป็นข่าว ต่อมา พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ผบ.ทบ. ในฐานะประธาน ให้เซียนพระคนดังกล่าวนำเงินมาบริจาคให้กับมูลนิธิฯ
ขณะที่นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการ สตง. เคยออกมาชี้แจงว่า เงินดังกล่าวไม่ใช่ “เงินสินบน” แต่เป็น “ค่าที่ปรึกษา”
ทั้งนี้ ในเอกสารคำให้การของ ทบ. ระบุว่า การคัดเลือกโรงหล่อมาจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ได้เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2557 โดย ทบ.ได้ประสานและหารือร่วมกับสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากรในการออกแบบและปั้นพระรูปต้นแบบ พร้อมพิจารณาหาโรงหล่อที่มีศักยภาพในการหล่อพระบรมราชานุสาวรีย์ขนาดใหญ่ โดยมีการเรียกโรงหล่อเข้าประชุมหารือเพื่อรับทราบข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดทำโครงการ
ประเด็นที่ต้องการก็คือ การหล่อพระบรมราชานุสาวรีย์ ในขนาดความสูง 15.895 เมตร และกำหนดกรอบระยะเวลาจัดสร้างให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2558
โดยในการกำหนดว่าโรงหล่อใดจะหล่อพระบรมราชานุสาวรีย์พระองค์ใดนั้น “ให้แต่ละแห่งเสนอความต้องการตามความสมัครใจ…พร้อมกับการเสนอราคาค่าจ้างหล่อแต่ละพระองค์”
แม้ต่อมาได้มีการลดขนาดความสุงลงเหลือ 13.9 เมตร จึงได้เชิญโรงหล่อมาขอปรับลดราคาการจ้างลง พร้อมกับเชิญประชุมร่วมกันกรมศิลปากรและ ทบ. เพื่อชี้แจงรายละเอียดการดำเนินงาน และข้อตกลงในสัญญาจ้าง
ขั้นตอนการขอเรี่ยไร (รับบริจาค) ของหน่วยงานของรัฐ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ในโครงการที่มีวงเงินเกิน 500,000 บาท หากไม่เข้าข่ายข้อยกเว้น จะต้องยื่นขออนุมัติจาก กคร. ก่อน
2. เหตุใด ทบ. จึงรับเงินบริจาคได้ทั้งที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกฯ
อีกหนึ่งข้อสงสัยว่า เหตุใด ทบ. จึงสามารถเปิดรับเงินบริจาคทั้งผ่านธนาคารพาณิชย์ 5 แห่ง และร้านสะดวกซื้อชื่อดังเข้ากองทุนสวัสดิการ ทบ. ก่อนจะโอนเข้า “กองทุนสวัสดิการอุทยานราชภักดิ์” อีกที เพื่อนำเงินดังกล่าวมาใช้ในการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ได้ ทั้งที่ไม่ได้มีการขออนุมัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2544 แต่อย่างใด ซึ่งโทษของการไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกฯดังกล่าว คือเงินที่ได้มาทั้งหมดจะต้องถูก “แช่แข็ง” ไว้ ไม่ให้สามารถนำไปใช้จ่ายใดๆ ได้ และผู้เกี่ยวข้องยังอาจมีความผิดทางวินัยรวมถึงทางอาญาด้วย
ในสำเนารายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ สตง. ได้ระบุคำชี้แจงของ ทบ. ไว้ว่า เนื่องจาก “กองทุนสวัสดิการอุทยานราชภักดิ์” เป็นกิจการการจัดสวัสดิการภายใน ทบ. ตามระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในกองทัพบก พ.ศ.2554 และระเบียบคณะกรรมการสวัสดิการกองทัพบกว่าด้วยอุทยานราชภักดิ์ พ.ศ.2559 ที่ดำเนินกิจการตามที่ระเบียบสำนักนายกฯว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ พ.ศ.2547 ที่เปิดโอกาสให้ “ขอรับบริจาคจากภาครัฐและเอกชนได้”
“การขอรับบริจาคของกองทุนสวัสดิการราชภักดิ์ ยังมิใช่เป็นการเรี่ยไรในนามของส่วนราชการ ทบ. จึงไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกฯว่าด้วยการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2554 แต่อย่างใด” เอกสารของ สตง. ระบุคำชี้แจงของ ทบ.
3.จำนวนเงินที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ทั้งหมด
ในสำนวนรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ สตง. ซึ่งสรุปข้อมูลทั้งหมดไว้ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2558 ระบุว่า โครงการนี้มีการรับเงินทั้งหมด 796.82 ล้านบาท ประกอบด้วยแหล่งที่มา 2 แหล่งใหญ่ๆ คือ 1.งบกลาง 63.57 ล้านบาท และ 2.เงินบริจาค 733.25 ล้านบาท
ส่วนการจ่ายเงินในโครงการทั้งหมด แยกตามแหล่งเงิน งบกลางทั้ง 63.57 ล้านบาท จะใช้ในการก่อสร้างลานหิน ทำป้าย ป้อมยาม ฯลฯ ส่วนเงินบริจาคมีการเบิกจ่ายไปทั้งสิ้น 458.19 ล้านบาท ทั้งใช้ในการหล่อพระบรมราชานุสาวรีย์บูรพกษัตริย์แห่งสยามจำนวน 7 พระองค์ รวมเป็นเงิน 318.80 ล้านบาทหรือ เฉลี่ยองค์ละ 45.54 ล้านบาท สร้างอาคารพระบรมราชานุสาวรีย์ 143.53 ล้านบาท สร้างถนนคอนกรีตเอนกประสงค์ 45.14 ล้านบาท และระบบไฟฟ้าส่องสว่าง 59.55 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีการยืมไปใช้ในการจัดทำเหรียญที่ระลึก 71.54 ล้านบาท แต่ได้นำกลับมาใช้คืนจนหมดแล้ว
4.ราคากลางการหล่อพระบรมราชานุสาวรีย์อยู่ที่ใด
ทั้งนี้ในคำฟ้องของผู้สื่อข่าวสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ขอให้ศาลปกครองสั่งให้ ทบ.เปิดเผย “ราคากลาง” การจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์บูรพกษัตริย์แห่งสยามจำนวน 7 พระองค์ อย่างไรก็ตาม ในเอกสารคำให้การของ ทบ. ทั้ง 10 หน้ากระดาษเอสี่ ไม่ได้พูดถึงข้อมูลดังกล่าวแต่อย่างใด
มีเพียงการอธิบายขั้นตอนการคัดเลือกโรงหล่อมาจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ดังที่กล่าวข้างต้น และชี้แจงถึงขั้นตอนการตรวจคุณสมบัติและคุณภาพโลหะสำริดที่ใช้ในการหล่อ ว่ามีคุณสมบัติของทองแดง 95% ทั้งจากเอกสารใบขนสินค้าของกรมศุลกากร และจากการเจาะชิ้นส่วนตัวอย่างนำไปตรวจสอบในแล็บโดยกรมยุทธโยธาทหารบก
ส่วนหน่วยงานสำคัญอย่าง ป.ป.ช. ที่ก่อนหน้านี้ เคยมีแหล่งข่าวป.ป.ช.ออกมายอมรับกับสื่อมวลชนบางแห่งว่าเหตุที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ 9:0 ยกคำร้องไม่ไต่สวนโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ เนื่องจากทาง ทบ. ได้ส่งราคากลางให้ตรวจสอบแล้วพบว่า ไม่มีความผิดปกติใดๆ “แต่เหตุที่ไม่เปิดเผยราคากลางเนื่องจากกลัวสาธารณชนจะสับสน เพราะพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ แต่ละพระองค์ มีราคาไม่เท่ากัน ตามอิริยาบถที่แตกต่างกัน”
อย่างไรก็ตาม ในคำให้การของ ทบ. ทาง ป.ป.ช. กลับส่งสำเนาแจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นกระดาษเอสี่เพียง 1 แผ่น และไม่ให้รายละเอียดใดๆ ต่างกับของ สตง. โดยสิ้นเชิง
ทั้งนี้ สำนักงานศาลปกครองได้แจ้งผู้สื่อข่าวสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ให้ทำคำคัดค้านคำให้การของ ทบ. มาภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับเอกสาร (คือไม่เกินวันที่ 9 ส.ค.2560) ซึ่งกรณีที่ไม่ประสงค์จะทำคำคัดค้าน แต่ประสงค์จะให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีต่อไป ให้แจ้งเป็นหนังสือให้ศาลทราบ มิฉะนั้น ศาลอาจสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
สำหรับกรณีโครงการอุทยานราชภักดิ์ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ได้ใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ยื่นขอข้อมูลจาก ทบ. ไปตั้งแต่ช่วงปลายเดือน พ.ย.2558 แต่ถึงปัจจุบัน ผ่านมากว่า 20 เดือน ก็ยังได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วนโดยเฉพาะเรื่องราคากลาง นำไปสู่การใช้สิทธิยื่นฟ้องต่อศาลปกครองในท้ายที่สุด

การพิจารณาคดีค้ามนุษย์

16.00 น.ศาลอาญาแผนกคดีค้ามนุษย์อ่านคำพิพากษาจำเลยไปแล้ว 37  คนจาก 103 คน พบโกโต้งอดีตนายกอบจ.สตูล ผิดฐานค้ามนุษย์ ยังไม่อ่านพล.ท.มนัส คงแป้น คาดจะอ่านถึง4 ทุ่ม

ศาลอาญาแผนกคดีค้ามนุษย์อ่านคำพิพากษา จำเลยที่ 29 นายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือ โกโต้ง อดีตนายกอบจ.จ.สตูล มีความผิดฐานมีส่วนร่วมองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ,ฐานค้ามนุษย์ เด็ก 3 กระทง ,ร่วมกัน 3 คนขึ้นไปกระทำผิดค้ามนุษย์หรือกระทำโดยสมาชิกอาชกรรมข้ามชาติหรือผู้เสียหายถูกนำพาออกนอกราชอาณาจักรตกอยู่ในอำนาจของผู้อื่นต้องระวางโทษ 2 เท่า,สมคบคิด 2 คนขึ้นไป ค้ามนุษย์ ต้องระวางโทษ 2 เท่า,นำพาแรงงานต่างด้าวผิดกฏมาย,ให้ที่พักพิงแรงงานต่างด้าวผิดกฏหมาย รวม 6 คดี

ส่วนภาคบ่ายอ่านคำพิพากษา จำเลยที่ 20,35,37,51,24,36,52 โดยกลุ่มนี้เป็นเครือข่ายของโกโต้ง ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 20 และ 51 มีความผิดเช่นเดียวกับโกโต้ง ส่วนจำเลยที่ 35,37,24,36,52 ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

ขณะที่ จำเลยและ 96 นายสาและ เจะวาง เจ้าของเรือ ,จำเลยที่ 99 นายเจ๊ะอาด โต๊ะดิน เจ้าของแคมป์ที่พักในเทือกเขาแก้ว และจำเลยที่ 22 และ 17  มีความผิดฐานมีส่วนร่วมองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ,ฐานค้ามนุษย์ เด็ก 3 กระทง ,ร่วมกัน 3 คนขึ้นไปกระทำผิดค้ามนุษย์หรือกระทำโดยสมาชิกอาชกรรมข้ามชาติหรือผู้เสียหายถูกนำพาออกนอกราชอาณาจักรตกอยู่ในอำนาจของผู้อื่นต้องระวางโทษ 2 เท่า,สมคบคิด 2 คนขึ้นไป ค้ามนุษย์ ต้องระวางโทษ 2 เท่า โดยจำเลยที่ 99 มีความผิดข่มขืนใจผู้อื่น เอาคนมาเป็นทาส และร่วมกันให้ที่พักพิงแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายด้วย
13.30 น.ศาลยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้ตำรวจ 2 นายในคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา

ภาคบ่ายศาลอาญาแผนกคดีค้ามนุษย์อ่านคำพิพากษาอีก 5 คน ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ยกเว้น ด.ต.อัศณีย์รัญ นวลนอด ผิด ม.157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

กลุ่มที่ศาลยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย คือ จำเลยที่ 15,32,73,7 และ 9 ในจำนวนนี้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 คนคือ ด.ต.อัศณีย์รัญ นวลรอด  และ ร.ต.ท.มงคล สุโร

รวมเวลา 13.30 น.ศาลอ่านคำพิพากษาไปแล้ว 25 คน จาก 102 คน เหลือ 75 คน

ส่วนในภาคเช้าศาลอาญาแผนกคดีค้ามนุษย์อ่านคำพิพากษา จำเลยใน คดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา ไปแล้ว 20 คน จากจำนวนทั้งหมด 103 คน

ในจำนวน 20 คนประกอบด้วย จำเลยที่ 18,28,40,43,53,25,47,38,1,2,68,13,15,21,27,32,41,44,45,48,49,50,73 มีความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ความผิดฐานค้ามนุษย์ ร่วมกันค้ามนุษย์เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี

ในจำนวนนี้มีคนสำคัญที่เป็นนักการเมืองท้องถิ่น คือนายบรรณจง ปองผล อดีตนายกเทศบาลเมืองปาดังเบซาร์ นายอ่าสัน อินทธนู นายร่อเอ สนธยาแหละ อดีตสมาชิกเทศบาลเมืองปาดังเบซาร์ มีความผิดฐานร่วมกันค้ามนุษย์และต้องระวางโทษ 2 เท่า เพราะเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่

แต่ในจำนวน 20 คนมีความผิดแตกต่างกันไปในคดีทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย กักขังหน่วงเหนี่ยว บังคับให้เป็นทาส นำพาแรงงานต่างด้าวผิดกฏหมาย ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มที่ดูแลแคมป์ชาวโรฮิงญา กลุ่มนำพาขนส่งจากจ.ระนอง มายังเทือกเขาแก้ว จ.ปาดังเบซาร์ (รอคำพิพากษาที่ละเอียดอีกครั้ง)

รายชื่อจำเลยในคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา จำนวน 103 คน

1.นายบรรณจง หรือจง ปองผล
2.นายอ่าสัน หรือหมู่สัน หรือบังสัน อินทธนู
3.นายร่อเอ หรือเอ๋ สนยาแหละ
4.นายอาหลี หรือหลี ล่าเม๊าะ
5.นายยาหลี เขร็ม
6. นายประสิทธิ์ หรือเดช หรือบังเบส หรือบังเค เหล็มเหล๊ะ
7. ดาบตำรวจอัศณีย์รัญ นวลรอด
8.นายสาโรจน์ หรือบังสา แก้วมณีโชติ
9. ร้อยตำรวจโทมงคล สุโร
10.นายชลชาสน์ หรือบังโอบ ไชยมณี
11.นายสมยศ อังโชติพันธุ์
12.นายชลธิชา หรือบังชล ไชยมณี
13.นายเจ๊ะมุสา หรือล้าน สีสัย
14.นายอาบู หรือ ส.จ.บู ฮะอุรา
15.นางสาวปาลิตา หรือทอม ชูอมรทรัพย์
16.นายโคเทวย์ หรือโกทรี (KO HTWE)
17.นายสุวรรณ หรือโกหนุ่ย แสงทอง
18.นายอนัตตา หรือแกะ โชติบุญทอง
19. นายสถิต แหมถิ่น
20. นายสมรรถชัย หรือโบ้ หรือแรมโบ้ ฮะหมัด
21.นายมูปะกาส หรือบังกาด แขกพงศ์
22.นายปิยวัฒน์ หรือโกหย่ง พงษ์ไทย
23.นายอนัส หะยีมะแซ
24. นายมาเลย์ โต๊ะดิน
25.นายสุไหลหมาน หรือปาซี หมัดอาด้ำ
26.นายสุรียา หรือโกชัย อาฮะหมัด หรืออาหะหมัด ( เสียชีวิต )
27.นายวิรัช หรือบังเสม เบ็ญโส๊ะ
28.นายพิชัย หรือบ่องล๊ะ คงเอียง
29.นายปัจจุบัน หรือโกโต้ง อังโชติพันธุ์
30.นางทัศนีย์ สุวรรณรัตน์
31. พันตำรวจโทชาญ อู่ทอง
32.นายอนุสรณ์ หรือโกเล้ง สุขเกษม
33. ร้อยตำรวจตรีนราทอน สัมพันธ์
34. นายโปเซี่ย หรือโกเซี่ย อังโชติพันธุ์
35.นายสมบูรณ์ สันโด
36.นายวุฒิ วุฒิประดิษฐ์
37. นายสมพล อาดำ
38.นายอูเซ็น
39.นายสมเกียรติ หรือแอน แก้วประดับ
40.นายอับดุลลาซีด หรือซีด มันตะสุม
41.นายหมัดยูโส๊บ หรือหยัด บิลเหล็ม
42.นายเจ๊ะเต๊ะ หรือบังเต๊ะ ยะฝาด
43.นายหมิด หมอชื่น
44.นายสราวุธ หรือบังเครา พรหมกะหมัด
45.นายทนงศักดิ์ หรือยี่สัน เหมมันต์
46.นายซอเนียง อานู หรืออันวา หรือโซไนท์
47.นายเจริญ หรือบังแฉะ ทองแดง
48.นายสะอารี หรือสะหรี เขร็ม
49.นายถาวร หรือบังวร มณี
50.นายดีน หรือบังดีน เหมมันต์
51.นายชาคริต หลงสาม๊ะ
52.นายหมาดสะอาด ใจดี
53.นายดาเหร็ด หมานละโต๊ะ
54.พลโทมนัส คงแป้น
55.นายประสิทธิ์ หรือบังเหม แก้วประดับ
56.นายสุภาพ แก้วประดับ
57.นายฮาซอล (M.D.HASHIM)
58.นายอับดุลนาเซท หรืออาบู นอช็อต
59.นางสาวขวัญฤทัย จันทร์พ่วง
60.นางสาวสถาพร ชื่นทับ
61.นายหมุดสอและ กำพวน
62.นางสาวสีตีคอลีเยาะ วาเตะ
63.นางสายตา ฮวดสี
64.นายอาแซ เจ๊ะบากา
65.นางอรปภา จันทร์พ่วง
66.นางสมใจ หละอะด้ำ
67.นายอรัณ หนูอินทร์
68.นายจารึก สุวรรณรัตน์
69.นางศรัญญา เตะมาหมัด
70.นางปราณี สุขสำราญ
71.นายสุเมธ พูลสวัสดิ์
72.นายวรวิทย์ หรือฟาริด ปูหยัง
73.นายธัชพล หรือบังเป้า หวังเบ็ญหมุด
74.นายพิศิษ์ย์ เพ็ชรศีรี
75.นางสายใจ มูเก็ม
76.นางโฉมสิณี ปิยทัศสี
77.นางสาวสุภิยา ด้วงขุนนุ้ย
78.นางหรือนางสาวผานิต ด้วงขุนนุ้ย
79.นางรุ่งกานต์ พิพัฒนวานิช
80.นายวิทยา หรือโกจ๋วน จีระธัญญาสกุล
81.นางจันทร์ตรี แซ่เตีย
82.นางสาวศิริพร หรือแมว อุดมฤกษ์
83.นายภูษณ หรือฟิว ตันสุเมธ
84.นางสาวเสาวลักษณ์ วุรุฬห์รักษ์สกุล
85.นายถิระพล ชูคุปติวงศ์
86. นายณัฐวุฒิ ระวังภัย
87. นายหัวลี่ฟิ่น อ้าหลี
88. นายสรศักดิ์ ห่อมา
89. นางสาวโย หรือนางโย ดำรงพันธ์กุล
90.ร้อยเอกวิสูตร บุนนาค
91. นายชาลี มณีหรรษา
92.นายชินพงษ์ ชาตรูประชีวิน
93.นางสาวปริศนา จิรธรรมสกุล
94. นายธวัช นฤหบดินทร์
95.นางสาวสายฝน เผยศิริ
96. นายสาแล๊ะ จางวาง
97.นางจินตนา พรหมอักษร
98. นางสาวฉันทนา วันทอง
99. นายเจ๊ะอาด โต๊ะดิน
100.นายสมบัติ บำเพ็ญพงษ์
101. นายผิน ร่วมบัว
102.นางนงนุช บำเพ็ญพงษ์
103. นายมอฮัมหมัด หาญจิตร

ฟังคำพิพากษาคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา
คดีประวัติศาสตร์ที่มีจำเลยมากที่สุด 103 คน
พิจารณาโดยศาลอาญา แผนกคดีค้ามนุษย์ จากกรณีพบแคมป์กักขังและศพชาวโรฮิงญาที่เทือกเขาแก้ว ปาดังเบซาร์ จ.สงขลา เมื่อปี 2558

ศาลใช้เวลา 2 ปีในการพิจารณาคดี จนถึงวันนี้ศาลกำลังอ่านคำพิพากษา จำนวนกว่า 500 หน้า จากเวลา 09.00 น. คาดว่าจะแล้วเสร็จ 20.00 น.

คดีนี้มีการจับกุมผู้ต้องหาคนสำคัญ เช่น นาย บรรจง หรือจง ปองพล , นายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือโกโต้ง หรือเสี่ยโต้ง อดีตนายก อบจ.สตูล , พล.ท.มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ กองทัพบก

ระหว่างการพิจารณาคดีนี้ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรอง ผบช.ภ. 8 รรท.รอง ผบช.ศชต.ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา ถูกกลุ่มผู้มีอิทธิพลในคดีค้ามนุษย์ดังกล่าวข่มขู่ จนต้องขอลี้ภัยไปประเทศออสเตรเลีย

#ค้ามนุษย์โรฮิงญา #Rohingya

รอดูศาลอ่านคำพิพากษาคดีค้ามนุษย์

ศาลอาญานัดตัดสินคดีประวัติศาสตร์ คดีขบวนการค้ามนุษย์'โรฮิงญา' จำเลย 103 คน หลังจากสืบพยานนาน 2 ปี
              ลุ้นยกแรก แผนกคดีค้ามนุษย์ศาลอาญา นัดพิพากษาชี้ชะตา “โกโต้ง อดีตนายก อบจ.สตูล – พล.ท.มนัส คงแป้น” – ขบวนการค้ามนุษย์โรฮิงญา หลังอัยการยื่นฟ้องปี 58 รวม 103 ราย 11 สำนวนจากผู้ต้องหา 120 คน พยานร่วม 200 ปาก สืบปีกว่าแบบต่อเนื่องเดือนละ 8 วันเสร็จ ขณะที่จำเลยไร้ประกันถูกขังเรือนจำตลอดการพิจารณา 2 ปี   
             จากกรณีที่มีการกวาดล้างขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา อย่างหนักเมื่อปี 2558 หลังจากพบหลักฐานการปลูกสร้างค่ายกักกันชาวโรฮิงญา และอุยกูร์ ซึ่งการค้ามนุษย์เป็นเหตุหนึ่งทำให้ไทยถูกประเทศสหรัฐอเมริกาขึ้นบัญชีเทียร์ 3 กระทั่งเจ้าหน้าที่ไทย ได้เดินหน้ารวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีกับผู้ต้องหาๆ ต่างที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์หลังจากมีการกวาดล้างอย่างมากในประวัติศาสตร์

             โดยปี 2558 อัยการได้ทยอยยื่นฟ้องเป็นคดีอาญา ซึ่งครั้งแรกได้มีการฟ้องเป็นคดีต่อศาลจังหวัดนาทวีใน จ.สงขลา แต่เมื่อมีการจัดตั้งแผนกคดีค้ามนุษย์ในศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก แยกจากคดีอาญาทั่วไป เมื่อเดือน ส.ค.58 อย่างเป็นทางการเพื่อทำให้การพิจารณาคดีเป็นไปด้วยความรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพในการแสวงหาข้อเท็จจริงจากที่มีผู้พิพากษาซึ่งเชี่ยวชาญดำเนินกระบวนพิจารณา โดยแผนกคดีค้ามนุษย์ในศาลอาญา ถือเป็นศาลแรกแห่งเดียวที่เปิดพิจารณาคดีค้ามนุษย์ซึ่งมีการออกกฎหมายวิธีพิจารณาคดีเป็นการเฉพาะทางด้วย คือ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ.2559 นอกเหนือจากกฎหมายเดิมที่มีอยู่ คือ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ก็ได้มีการโอนคดีค้ามนุษย์ดังกล่าวมาพิจารณาในแผนกคดีค้ามนุษย์ศาลอาญา และระหว่างนั้นสำนักงานอัยการสูงสุด ก็ได้เปิดสำนักงานอัยการคดีค้ามนุษย์เพื่อดำเนินการเฉพาะความผิดลักษณะนี้ด้วย ซึ่งเป็นการบูรณาการกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับคดีค้ามนุษย์เต็มรูปแบบทั้งศาลและอัยการ
            โดยอัยการในยุคนายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด (ปี 2558)ได้รับสำนวนการสอบสวนคดีค้ามนุษย์ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.58 เป็นเอกสาร 19 ลังที่มีการกล่าวหาผู้ต้องหาชุดแรกการกระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์โรฮิงญา กระทั่งวันที่ 24 ก.ค.58 อัยการจังหวัดนาทวี ได้ทยอยยื่นฟ้องนายบรรจง หรือจง ปองพล , นายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือโกโต้ง หรือเสี่ยโต้ง อดีตนายก อบจ.สตูล , พล.ท.มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ กองทัพบก , เจ้าหน้าที่ตำรวจ และพลเรือน รวม 72 ราย เป็นจำเลยชุดแรกในคดีหมายเลขดำ อ.2741/2558 ต่อศาลจังหวัดนาทวี ความผิด 16 ข้อหาตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ฯ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติฯ ซึ่งอัยการได้คัดค้านการให้ประกันตัวด้วยเนื่องจากเป็นคดีที่ร้ายแรงและมีอัตราโทษสูงถึงประหารชีวิต

             แต่ภายหลังอัยการเห็นว่าเนื่องจาก 1.เป็นคดีเกี่ยวพันกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ 2.คดีมีเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนมากเกี่ยวข้องกระทำผิด 3.คดีอยู่ในความสนใจของประชาชนและนานาชาติ 4.พยานบางส่วนถูกข่มขู่ 5.การพิจารณาคดีที่ศาลจังหวัดนาทวีคับแคบอาจไม่เพียงพอต่อจำนวนจำเลยและทนายความที่ร่วมกระบวนพิจารณาคดี ขณะที่ศาลจังหวัดนาทวีก็มีคดีอื่นนอกเหนือจากคดีค้ามนุษย์ที่ต้องพิจารณาจำนวนมากเช่นกัน ซึ่งอัยการโจทก์ มีพยานประมาณ 200 ปาก ก็อาจส่งผลความล่าช้าต่อการพิจารณาและอาจกระทบต่อไม่สงบเรียบร้อยและความเที่ยงธรรม

            ดังนั้นอัยการจังหวัดนาทวีจึงยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 20 ส.ค.58 ขอให้ประธานศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตโอนคดี ขณะที่ฝ่ายจำเลยได้ยื่นคำร้องคัดค้าน โดยศาลจังหวัดนาทวี รวบรวมเอกสารคำร้องทั้งหมดของอัยการและจำเลยเสนอประธานศาลฎีการับไว้เมื่อ 17 ก.ย. กระทั่งวันที่ 29 ก.ย.58 นายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกาขณะนั้น ได้มีคำสั่งอนุญาตให้โอนคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญามาดำเนินกระบวนพิจารณาที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษกได้ 
              โดยนายตระกูล ที่ปฏิบัติหน้าที่อัยการสูงสุดปี 2558 ได้มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาขบวนการค้ามนุษย์โรฮิงญา 104 ราย ในข้อหาร่วมกันค้ามนุษย์ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ฯ มาตรา 4, 6, 7, 9, 10, 11, 52 , 53/1 , ร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์การอาชญากรรมข้ามชาติ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 มาตรา 3 ,5, 6, 10, 25, ร่วมกันหรือนำพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร หรือช่วยเหลือบุคคลต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 63,64 , เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตเพื่อให้เกิดความเสียหาย ตามประมลกฎหมายอาญา มาตรา 157 , พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 4 ,7 , 8 ทวิ , 72 ,72 ทวิ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 199, 270 , 309 , 312 , 312 ทวิ , 312 ตรี , 313 , 320 , 371 รวมทั้งสิ้น 16 ข้อหา ตามสำนวนที่พนักงานสอบสวน สภ.ปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลาได้รวบรวมพยานหลักฐานพร้อมความเห็นกล่าวหา นายบรรจง หรือ จง ปองพล กับพวก รวม 120 คน

             ประกอบด้วย บุคคลสัญชาติไทย 107 คน ซึ่งเป็นพลเรือน 92 คน ,เจ้าหน้าที่ตำรวจ 4 คน (ชั้นสัญญาบัตร 3 คนและชั้นประทวน 1 คน) , ทหาร 1 คน , ข้าราชการพลเรือน 1 คน , กลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้าน 2 คน , ผู้บริหารท้องถิ่น 3 คน และสมาชิกท้องถิ่น 4 คน , บุคคลสัญชาติเมียนมาร์ 9 คน และบุคคลสัญชาติบังคลาเทศ 4 คน โดยยังสั่งยุติการดำเนินคดีผู้ต้องหา 1 รายที่ได้ถึงแก่ความตายแล้ว ซึ่งผู้ต้องหา 104 ราย ที่สั่งฟ้องนั้น ก็ปรากฏว่าขณะนั้นปี 2558 ยังจับตัวไม่ได้ 32 ราย ประกอบด้วยเป็นบุคคลสัญชาติไทย 24 คน , บุคคลสัญชาติเมียนมาร์ 5 คน และบุคคลสัญชาติบังคลาเทศ 3 คน อัยการสูงสุด จึงมีคำสั่งให้แจ้งนายอำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา ติดตามตัวผู้ต้องหากลุ่มนี้มายื่นฟ้องตามข้อกล่าวหาที่อัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้องภายในอายุความ 20 ปี หากมีผู้ต้องหาที่หลบหนีอยู่ในต่างประเทศ ก็ให้สำนักงานอัยการสูงสุดประสานงานกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อดำเนินการขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน ตาม พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ.2551 ต่อไป
              ขณะที่ในกลุ่มผู้ต้องหานั้นยังมีผู้ร่วมกระทำการอีก 15 รายซึ่งยังจับกุมตัวไม่ได้เช่นกัน อัยการสูงสุดก็ให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนต่อไปเพื่อให้ได้ความชัดเจนว่ามีส่วนร่วมในการกระทำความผิดกับผู้ต้องหาอื่นอย่างไร โดยพฤติการณ์คดีนี้น่าเชื่อว่ายังมีผู้ร่วมกระทำความผิดอีกเป็นจำนวนมากและเพื่อให้การสอบสวนขยายผลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นายตระกูล อัยการสูงสุดขณะนั้นจึงได้มีคำสั่งให้มีพนักงานอัยการสำนักงานอัยการจังหวัดนาทวี และพนักงานอัยการสำนักงานอัยการภาค 9 ร่วมกันดำเนินคดีต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด
               หลังจากนั้นเดือน ต.ค.58 พนักงานสอบสวนก็ทยอยส่งผู้ต้องหาและสำนวนค้ามนุษย์โรฮิงญาให้อัยการ ในยุค ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร เป็นอัยการสูงสุด กระทั่งเมื่อแผนกคดีค้ามนุษย์ในศาลอาญา เริ่มรับโอนสำนวนคดีที่พนักงานอัยการคดีค้ามนุษย์ 1 ซึ่งรับผิดชอบแทนอัยการนาทวี ที่ยื่นฟ้องนายบรรจง หรือจง ปองพล  จำเลยที่ 1 , นายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือโกโต้ง หรือเสี่ยโต้ง อดีต นายก อบจ.สตูลจำเลยที่ 29 , พล.ท.มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก จำเลยที่ 54 กับพวกซึ่งเป็นข้าราชการและพลเรือน เป็นจำเลยที่ 1 - 88 เป็นคดีหมายเลขดำ คม.27/2558,คม.28/2558,คม.29/2558 ที่อัยการทยอยฟ้องจำเลยดังกล่าวตั้งแต่เดือน ก.ค.58 ในความผิด 16 ข้อหาเมื่อวันที่ 10 ต.ค.58 จากนั้นอัยการก็ได้ยื่นฟ้องจำเลยอื่นๆที่ถูกกล่าวหาร่วมกระทำผิดค้ามนุษย์ที่เป็นเครือข่ายอีกในคดีหมายเลขดำ คม.19,32,35,36,40,41,47,63/2558 รวมทั้งสิ้น 11 สำนวน จำเลยทั้งหมด 103 คนโดยจำเลยทุกคนในคดีนี้ไม่ได้รับการประกันตัวชั้นพิจารณา
                 โดยศาลอาญาเริ่มกระบวนการตรวจหลักฐานครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 พ.ย.58 จากนั้นศาลได้สืบพยานรวม 116 นัด ต่อเนื่องตั้งแต่เดือน มี.ค.59 เดือนละ 8 วัน โดยไม่มีการเลื่อนคดีหรือยกเลิกนัด ซึ่งโจทก์ สืบพยาน 98 ปาก จำเลย 111 ปาก และพยานเอกสาร 
                ขณะที่การสืบพยานฝ่ายจำเลยได้มีการร้องขอให้พิจารณาคดีลับสำหรับพยานจำเลยบางปากด้วยที่ต้องเบิกความในข้อเท็จจริงซึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศชาติ โดยศาลอนุญาตให้มีการพิจารณาเป็นการลับโดยให้มีเพียงคู่ความ ทนายความ กับเจ้าหน้าที่ศาลอยู่ในห้องพิจารณาและมีความจำเป็นต้องตัดสัญญาณทีวีวงจรปิดถ่ายทอดการพิจารณาด้วยซึ่งแผนกคดีค้ามนุษย์ในศาลอาญา ได้สืบพยานจำเลยนัดสุดท้ายเมื่อวันที่ 24 ก.พ.60 โดยศาลกำหนดฟังคำพิพากษาในวันที่ 19 ก.ค.60 นี้ โดยให้ฝ่ายจำเลยที่ประสงค์จะยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษรยื่นต่อศาลภายใน 30 วันนับแต่คดีเสร็จการพิจารณา 24 ก.พ.60

มีชัย' ยันร่าง พ.ร.บ.คดีอาญานักการเมือง ไม่ขัดหลักสากล

มีชัย' ยันร่าง พ.ร.บ.คดีอาญานักการเมือง ไม่ขัดหลักสากล

"มีชัย" โต้พิจารณาคดีลับหลังไม่ขัดหลักสากล แจงไม่นับอายุความย้อนหลังคดีที่จบแล้ว 
เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 60 ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า ตนพึ่งจะได้รับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คงต้องดูรายละเอียดก่อนว่ามีส่วนใดที่ไม่ตรงตามรัฐธรรมนูญ แต่เท่าที่ดูยังไม่เจออะไร ขอเรียนว่าไม่มีจุดไหนที่ไปตัดสิทธิผู้ถูกกล่าวหาเลย เขียนให้สิทธิผู้ถูกกล่าวหามากกว่าเดิมด้วย

เมื่อถามถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยออกมาวิจารณ์ว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่มีความเป็นสากล นายมีชัย กล่าวว่า ตามหลักสากลมีข้อยกเว้นเหมือนกัน ถ้าหากผู้ถูกกล่าวหาหนี สามารถดำเนินคดีลับหลังได้ เพราะการดำเนินคดีอาญาถ้าหากศาลไม่บังคับ จำเลยเลือกจะสละสิทธิ์ไม่ไปได้ การไปศาลถือว่าเป็นสิทธิ์ สามารถขออนุญาตทางศาลว่าจะไม่ไปก็ได้ ถ้าศาลไม่กลัวว่าผู้ถูกกล่าวหาจะหนีไปเขาก็อนุญาต
เมื่อถามถึงเรื่องการใช้กฎหมายย้อนหลัง นายมีชัย กล่าวว่า เท่าที่ดูรายละเอียดที่เพิ่มเติมจากทาง สนช. ไม่เห็นมีการไปบังคับใช้อะไรย้อนหลัง ถ้าเป็นคดีความที่เกิดขึ้นใหม่ หรือคดีที่ยังไม่ได้ดำเนินการก็ให้ใช้ของใหม่

เมื่อถามถึงเรื่องการบังคับใช้อายุความ นายมีชัย กล่าวว่า คดีที่ศาลได้ตัดสินแล้ว แต่จำเลยได้หนีไป กรณีแบบนี้ให้ใช้การนับอายุความตามกฎหมายเดิม จะฟ้องใหม่เพื่อให้ใช้กฎหมายใหม่ก็ทำได้ แต่ต้องไม่เป็นการฟ้องซ้ำกับคดีเดิม หรือหากเป็นกรณีที่ฟ้องกันแล้ว ศาลจำหน่ายคดีเพราะว่าไม่มีตัวจำเลย แบบนี้ฟ้องใหม่โดยให้หลักกฎหมายใหม่มาบังคับใช้ได้ อะไรที่เป็นโทษกับเขา กฎหมายจะไม่ใช้ย้อนหลังอยู่แล้ว แต่ว่าอะไรที่เป็นคุณตามหลักกฎหมายสามารถใช้ย้อนหลังได้ แต่ว่านี่เป็นคนละเรื่องกับกระบวนการพิจารณา ถ้าหากกระบวนการเริ่มต้นวันนี้ให้ใช้กฎหมายใหม่ได้ ถึงจะเป็นคดีเก่าก็ตาม

ก.ม.ดัดหลังศรีธนญชัย

ก.ม.ดัดหลังศรีธนญชัย

ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ผ่านความเห็นชอบของ สนช.อย่างเป็นเอกฉันท์ มีการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ เช่น คดีการเมืองไม่มีอายุความ และพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ นำไปสู่วิวาทะทางการเมือง เห็นได้ชัดว่าทั้งสองพรรคใหญ่มองเรื่องนี้ต่างกัน เพราะมองด้วยแว่นการเมืองที่ต่างกัน

ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยวิจารณ์ว่า การไม่นับอายุความในระหว่างที่จำเลยหลบหนีคดี และการพิจารณาคดี โดยไม่ต้องทำต่อหน้าจำเลย น่าจะมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และขัดต่อหลักสากล บางคนตั้งข้อสงสัยว่ามุ่งเล่นงานใคร ทำไมจึงมุ่งเฉพาะนักการเมือง ทำไมไม่ทำกับคดีนักธุรกิจโกงร้ายแรง สงสัยว่าจะมีวาระซ่อนเร้นเพื่อเล่นงานใครหรือไม่

ด้านพรรคประชาธิปัตย์มีอดีต ส.ส.ออกมาแสดงความคิดเห็นหลายคน ล้วนแต่สนับสนุน เพราะเชื่อว่าเป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริต ให้มีผลใช้บังคับอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ที่เข้ามาแสวงอำนาจทางการเมือง เพื่อทำการทุจริตประพฤติมิชอบ ต้องคิดหน้าคิดหลังให้หนัก เพราะถ้าจับได้ไล่ทันแม้หลบหนีคดีก็ไม่พ้นผิด

มีเสียงวิจารณ์ว่าร่างกฎหมายนี้จะมีผลบังคับย้อนหลังเพื่อเอาผิดคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีตหรือไม่ ข้อเท็จจริงก็คือ

ไม่ใช่กฎหมายที่กำหนดโทษใหม่ เพราะความผิดทางอาญาเป็นความผิดตามกฎหมายอยู่แล้ว ร่างใหม่เพียงแต่เปลี่ยนแปลงวิธีพิจารณาคดี ไม่ให้นับอายุความในขณะที่จำเลยหลบหนีคดี และให้พิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ แต่ให้สิทธิจำเลยตั้งทนายสู้คดีแทนได้

หลายคนถามว่า ทำไมจึงมุ่งเล่นงานนักการเมือง อาจเนื่องเพราะว่าในสังคมไทยนักการเมืองเป็นกลุ่มคนที่มีอำนาจสูง มีโอกาสที่จะใช้อำนาจหน้าที่กระทำความผิดอาญามาก เช่น การฉ้อราษฎร์บังหลวง และมีอำนาจบารมีมาก อาจแทรกแซงกระบวนการการใช้บังคับกฎหมาย ไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่ตรงไปตรงมา นักการเมืองที่ทำผิดส่วนมากจึงลอยนวล

แม้จะถูกจับกุมดำเนินคดีและตกเป็นจำเลยในศาลแล้ว แต่นักการเมืองผู้มากด้วยอำนาจบารมีก็ยังสามารถหนีความผิดได้ ด้วยการหลบหนีไปต่างประเทศ รอให้คดีขาดอายุความ และกลับบ้านอย่างสง่างาม ร่างกฎหมายใหม่อาจมุ่งอุดช่องโหว่ของกฎหมายตรงนี้ และดัดหลังนักการเมืองแบบศรีธนญชัย โดยอาศัยบารมีของศาลหรืออำนาจตุลาการเป็นที่พึ่ง

จุดอ่อนสำคัญของการปกครองประเทศ คือการขาดความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงและอย่างต่อเนื่อง เป็นประชาธิปไตยที่ล้มลุกคลุกคลานและอ่อนแอ ระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจอ่อนแอ ผู้กุมอำนาจบริหารสามารถแทรกแซง และครอบงำได้ทั้งราชการและรัฐสภา จึงต้องใช้องค์กรใหม่ๆช่วยเสริมอำนาจการตรวจสอบให้เข้มแข็ง.

แรงกระเพื่อมที่แฝงอยู่

แรงกระเพื่อมที่แฝงอยู่

ปล่อยแถวอีกลอตใหญ่

ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการแต่งตั้งบิ๊กข้าราชการ

ไล่ตั้งแต่นายฉัตรชัย พรหมเลิศ เป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค เป็นปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายพสุ โลหารชุณ เป็นปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายชูเกียรติ มาลินีรัตน์ เป็นผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ

ตำแหน่งสำคัญทั้งด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ

เดิมพันเฟ้น “มืองาน” มาช่วยประคองเกมในช่วงท้ายเทอมรัฐบาล

ตามอาการล่าสุดของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. ที่บ่นออกอากาศดังๆระหว่างงานอีเวนต์ก่อนประชุม ครม. ตัดพ้อแก้ปัญหาสารพัดมาตลอด 3 ปี แต่ยังไม่วายโดนกล่าวหาว่าเศรษฐกิจตกต่ำ และเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มต่างๆ

จับทางผู้นำรัฐบาลทหาร สะท้อนโจทย์หนักวนอยู่กับปมเศรษฐกิจ

ตามสถานการณ์ตรงหน้าก็อย่างที่เห็นๆกัน กับสภาพของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะ “เพื่อนรัก” ของ “นายกฯลุงตู่” ที่ตกอยู่ในวงล้อมตำบลกระสุนตก โดนทีมงานยี่ห้อประชาธิปัตย์ ล็อกเป้าถล่มปมบ้อท่าแก้ปัญหาราคาพืชผลเกษตรตกต่ำไม่ได้

ส่งเสียงโห่ไล่บี้ให้ลาออกจากตำแหน่ง

เล่นกันแรงถึงขั้นโยงมากระแทก “บิ๊กตู่” ว่าด้วยปมการประมูลข้าวเสื่อมสภาพส่อไม่โปร่งใส

กดดันให้ต้องขยับ “คัตเอาต์” ก่อนลามเข้าเนื้อ

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ก็เป็นหัวเชื้อชนวนที่กำลังก่อตัวในกระทรวงพาณิชย์ ตามกระแสในหมู่ข้าราชการที่เกิดแรงกระเพื่อมใต้น้ำอย่างหนัก

จากการบริหารภายใต้ “ข้าราชการอาชีพ” อย่างนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์

ปมเหตุเนื่องจากปีนี้มีข้าราชการระดับสูงไล่ตั้งแต่ปลัดกระทรวงและระดับอธิบดีเกษียณพร้อมกันหลายคน โดยแคนดิเดตเสียบแทนเป็นสายงานพวกที่ประจำอยู่ต่างประเทศเป็นหลัก

ทำให้นำมาซึ่งเสียงวิจารณ์ “เจนีวาคอนเน็กชั่น” ยึดกระทรวง

ขณะที่พวกที่เติบโตจากสายงานภายในประเทศกินแห้วหมด และส่อเค้าว่าพวกที่โดนดองอยู่ในตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงจะลาออกหากยังไม่ขยับออกจากที่เดิม

ประชดระบบคุณธรรมของกระทรวงพาณิชย์ที่ถูกทำลายไม่เหลือ

นั่นไม่เท่ากับเกม “เจาะยาง” แบบที่มีข้อมูลปมทุจริตระบายข้าวปล่อยให้คนประชาธิปัตย์และเพื่อไทยย้อนศรถล่มรัฐบาล

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นปัญหาที่จะกระทบต่อภาพรวมในเชิงบริหารก็คือ “จุดด้อย” ของพวกที่เติบโตมาจากสายงานต่างประเทศไม่เชี่ยวชาญกับปัญหาภายในประเทศ ขณะที่ภารกิจงานของกระทรวงพาณิชย์ต้องยึดโยงกับปัญหาราคาสินค้าเกษตร รวมถึงการคุมสถานการณ์ราคาสินค้า

งานเร่งด่วนเฉพาะหน้า ประคองปัญหาปากท้องของประชาชน

ตามสภาพการณ์อย่างที่เห็นและเป็นอยู่เวลานี้ กระทรวงพาณิชย์ก็โดนวิพากษ์วิจารณ์หนักอยู่แล้ว ทั้งเรื่องการจัดการสินค้าเกษตรและการควบคุมราคาสินค้า

แล้วถ้าตั้งคนที่ไม่เข้าใจสถานการณ์มาแก้ปัญหาก็จะไปกันใหญ่

สุดท้ายหนีไม่พ้นตอกย้ำฟอร์มบริหารของรัฐบาล คสช.ที่ถูกเบิ้ลบลัฟมาตลอดว่า เป็นรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เลยไม่ยึดโยงกับประชาชนฐานราก

ลำบากในการซื้อใจชาวบ้าน ดึงศรัทธาจากประชาชน

อะไรไม่เท่ากับว่า สถานการณ์จะลามเป็นปัญหากดทับเมื่อกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ หน่วยงานหลักที่ดูแลปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตร ข้าว ยางพารา ข้าวโพด อ้อย ฯลฯ

ต้องเกิดสภาวะ “ติดหล่ม” ในเชิงบริหารงาน

ในจังหวะสถานการณ์ท้ายเทอมรัฐบาล

แน่นอน โดยรูปการณ์ข้างหน้า ยังไงก็หนีไม่พ้นต้องเผชิญกับม็อบเกษตรกรที่เดือดร้อนจากราคาสินค้าตกต่ำ จำเป็นต้องเคลื่อนไหวมากดดันรัฐบาล คสช.

เสี่ยงท้าทายกฎเหล็กอำนาจพิเศษท็อปบูต

แบบที่แกนนำม็อบสวนยางขู่ฮึ่มๆ จะไม่ทนอีกต่อไป.

ทีมข่าวการเมือง

"แม่ทัพแดง" ไป...."รองแม่ทัพแดง" มา..

"แม่ทัพแดง" ไป...."รองแม่ทัพแดง" มา..
จับตา.."บิ๊กหิน" Return??!
คาดกันว่า โผนี้ มีการจัดทัพภาค1 ใหม่....และต้องจับตา การ คัมแบค ของ ตท.21 ที่จะมาจ่อ ชิงกับ ตท.22
ข่าวว่า บิ๊กแดง พลตรีณรงค์ พฤกษารุ่งเรือง ผบ.พล.ร.11 จะขยับขึ้น รองแม่ทัพภาค1 มาช่วยงาน บิ๊กตู่เล็ก พลโทกู้เกียรติ ศรีนาคา แม่ทัพน้อย1 ที่คาดว่า จะเป็น แม่ทัพภาค1 คนใหม่ แทน บิ๊กแดง พลโทอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ที่ขยับขึ้น พลเอก ผช.ผบ.ทบ.
โดยคาดกันว่า บิ๊กหิน พลตรีศรีศักดิ์ พูนประสิทธิ์ รองแม่ทัพน้อย1 อาจขึ้นมาเป็น แม่ทัพน้อย1 ตามอาวุโสและรุ่น
แต่ต้องจับตาว่า สองเกลอ ตท.22 บิ๊กหนุ่ย พลตรีธรรมนูญ วิถี และ บิ๊กติ่ง พลตรีสีนติพงศ์ ธรรมปิยะ รองแม่ทัพภาค1 จะอยู่ที่เดิม เพื่อ รอชิง แม่ทัพภาค1 ในปลายปีหน้า.....หรือ ย้ายไป เป็นพลโท ที่บก.ทบ. ก่อน หรือไม่
แต่ทว่า ทุกอย่างจะลงตัว แน่นอน ก็ช่วง ใกล้ๆ12 สค. ล่ะจ้า

"บิ๊กป้อม" ปัดข่าว นัดคุยโผทหาร 21 กค

"บิ๊กป้อม" ปัดข่าว นัดคุยโผทหาร 21 กค....ยันผมทำได้. น่า....ไม่ต้องห่วง มีขั้นตอน อยู่แล้ว.../คาด นัดส่งโผ กลางสัปดาห์หน้า ทำให้เสร็จ ก่อน12สค.
"‪บิ๊กป้อม" พลเอกประวิตร รมว.กลาโหม ปฏิเสธ ข่าวนัดกก.โยกย้าย-ผบ.เหล่าทัพ หารือ และส่งโผโยกย้ายทหาร 21กค.นึ้ แต่นัดเมื่อไหร่ไม่บอก เปรย เดี๋ยวเขาก็เสนอมาเอง. เป็นไปตามขั้นตอนอยู่แล้ว ไม่ต้องห่วง ผมทำได้ ยัน ไม่มีใคร ในใจ ที่จะให้นั่ง"ปลัดกห." เพราะเดี้ยวเขาก็เสนอชื่อมาเอง ชี้สื่อก็รู้ ทุกอย่างมีขั้นตอนอย่างไร‬
ทั้งนี้มีรายงานว่า มีกำหนดส่งรายชื่อโยกย้าย ในกลางสัปดาห์หน้า และต้องทำให้เสร็จ แล้วส่งนายกฯ ต้นเดิอน สค. เพื่อเตรียมทูลเกล้าฯ ช่วง 12สค.

"ไอ้ มนัส คนเดียว"!!...

"ไอ้ มนัส คนเดียว"!!...
บิ๊กตู่ ปริ๊ด นักข่าวจ้องตี ทหารทำผิด ค้ามนุษย์ ชี้ทหารมี4-5แสนคน ถาม"ไอ้มนัส" คนเดียวมันจะทำให้กองทัพเจ๊ง หรือไง
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช.กล่าวถึงกรณีที่ศาลอาญาจะตัดสิน "พล.ท.มนัส คงแป้น" อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก ในคดีค้ามนุษย์โรฮิงญาในวันนี้ จะมีผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศในเรื่องการค้ามนุษย์ หรือไม่ ว่า "แล้วยังไง และผมก็ไม่รู้ว่าการตัดสินของศาล จะมีผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศในเรื่องการค้ามนุษย์แต่ไหน เขาประเมินจากการทำผิดของเจ้าหน้าที่ ถ้าศาลตัดสินอย่างไรก็ตามนั้น ถูกก็คือถูก ผิดก็คือผิด
ส่วนกรณีของพล.ท.มนัส คงเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น มีคนอยู่ในกระบวนการจำนวนมาก
"ไม่ใช่แค่ไอ้มนัส เพียงคนเดียว ผมไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องกระพี้แบบนี้ คนเดียว หรือแค่ 2-3 คน ต้องไปดูว่าทั้งระบบเป็นอย่างไร การทุจริต การเรียกรับผลประโยชน์ การค้ามนุษย์มีกี่พวก
สื่อก็คอย แต่จะตีว่าผู้กระทำความผิดเป็นทหาร อย่าลืมว่าทหารทั้งประเทศมีถึง 4-5 แสนคน ไอ้มนัสเป็นเพียงคนเดียว มันจะทำให้เจ๊งทั้งหมด กองทัพเจ๊งทั้งระบบหรือยังไง"
พลเอกประยุทธ์ กล่าวด้วยอารมณ์เสีย ก่อนยุติการให้สัมภาษณ์

ไทม์ไลน์ปม'ศิริชัย'วืดนั่ง ปธ.ศาลฎีกา ถูกสอบ-ขัดแย้งโอนสำนวนคดียาเสพติด?

“การที่ผมลงโทษทั้ง 3 เรื่อง เป็นสิ่งที่ทำให้ผมไม่ได้เป็นประธานศาลฎีกา เป็นสิ่งที่ผมไม่เหมาะสมเป็นประธานศาลฎีกา ผมลงโทษพวกค้ายาเสพติด ถูกตำหนิว่า ไม่เหมาะสมจะเป็นประธานศาลฎีกา ผมก็เงียบ ไม่ว่าอะไร กลืนเลือดตัวเองหมด ยอมรับได้ ผมทำงาน ทำศาลอุทธรณ์ให้เป็นศาลดีเด่น แต่ผมลงโทษผู้ค้ายาเสพติด ผมไม่เหมาะจะเป็นประธานศาลฎีกา ท่านคิดว่ามันถูกต้องหรือไม่”
PIC sirichai 19 7 60 1
เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2560 นายศิริชัย วัฒนโยธิน ประธานศาลอุทธรณ์ แถลงต่อสื่อมวลชน ขอลาออกจากราชการ ภายหลังคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) มีมติเอกฉันท์ไม่แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา และมีกระแสข่าวว่า เตรียมถูกย้ายไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาประธานศาลฎีกา ซึ่งเป็นตำแหน่งใหม่ที่เคยไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ศาลยุติธรรม นอกจากนี้ยังถูกตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง กรณีบริหารงานภายในศาลอุทธรณ์ โดยเฉพาะประเด็นเพิกถอนโอนย้ายสำนวนคดีต่าง ๆ 
สำหรับสาระสำคัญในการแถลงครั้งนี้ นอกเหนือจากการระบุว่า จะลาออกจากราชการแล้ว ยังเชื่อว่า สาเหตุที่ไม่ได้เป็นประธานศาลฎีกา เกิดจากกรณีถูกร้องเรียนในการเพิกถอนโอนย้ายสำนวนคดียาเสพติดอย่างน้อย 3 คดี
เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจมากขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เรียบเรียงไทม์ไลน์-ข้อเท็จจริงต่าง ๆ ให้ทราบ ดังนี้
เมื่อปลายเดือน มิ.ย. 2560 มีกระแสข่าวออกมาว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (อนุ ก.ต.) เพื่อกลั่นกรองบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตุลาการ เพื่อพิจารณาเลื่อนข้าราชการตุลาการเป็นประธานศาลฎีกา คนที่ 44 แทนนายวีระพล ตั้งสุวรรณ ซึ่งจะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย. 2560 โดยมีชื่อของนายศิริชัย วัฒนโยธิน ประธานศาลอุทธรณ์ (ขณะนั้น) เป็นผู้มีอาวุโสสูงสุด ที่จะได้เลื่อนเป็นประธานศาลฎีกานั้น
ที่ประชุมเสียงข้างมากมีมติ ‘ไม่เห็นชอบ’ รายชื่อดังกล่าว ด้วยมติ 19-1 เสียง โดยอนุ ก.ต. หยิบยกเรื่องที่นายศิริชัย ถูกร้องเรียนประเด็นเพิกถอนโอนย้ายสำนวนคดีต่าง ๆ เป็นเหตุผลให้ไม่เห็นชอบ และส่งเรื่องให้ที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) พิจารณาในวันที่ 3 ก.ค. 2560 
ต่อมาในวันที่ 3 ก.ค. 2560 ที่ประชุม ก.ต. มีมติเอกฉันท์ ‘ไม่เห็นชอบ’ นายศิริชัย ให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา และให้สำนักงานศาลยุติธรรมจัดทำบัญชีรายชื่อโยกย้ายข้าราชการขึ้นเป็นประธานศาลฎีกาล็อตใหม่มา ซึ่งหลายคนทราบไปแล้วว่าคือ นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา ที่อาวุโสลำดับถัดมาจากนายศิริชัย
สิ่งหนึ่งที่ถูกตั้งคำถามมาตลอดคือ ตกลงสาเหตุอะไรที่ทำให้นายศิริชัยไม่ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา ทั้งที่เป็นผู้อาวุโสสูงสุด และตามธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมาในศาลยุติธรรมคือ จะเสนอชื่อข้าราชการตุลาการที่อาวุโสสูงสุดให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา ?
ภายหลังที่ประชุม ก.ต. มีมติเอกฉันท์ไม่เลือกนายศิริชัยดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา นายศิริชัยได้แถลงข่าวอย่างเป็นทางการต่อสื่อมวลชน 3 ครั้ง
ครั้งแรก เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2560 นายศิริชัย ตอบโต้สื่อบางแห่งที่อ้างว่า จะดำเนินการฟ้อง ก.ต. และอาจลาออก โดยยืนยันว่า จะไม่ฟ้อง ก.ต. และยอมรับมติของ ก.ต. ในเมื่อไม่เห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา ตามธรรมเนียมปฏิบัติแล้ว ตนจะต้องปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานศาลอุทธรณ์ต่อไป
ครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2560 หรือถัดมาเพียงประมาณหนึ่งสัปดาห์ นายศิริชัย ตอบโต้กระแสข่าวภายหลังที่ประชุม ก.ต. ตั้งตำแหน่งใหม่ คือ ที่ปรึกษาประธานศาลฎีกา และเตรียมให้นายศิริชัยโยกไปดำรงตำแหน่งดังกล่าว พร้อมกับมีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงอย่างเป็นทางการ กรณีเพิกถอนโอนย้ายสำนวน
ในครั้งนี้นายศิริชัยถึงกับ ‘สะอื้น’ ระบุว่า ตำแหน่งใหม่ที่เปิดขึ้นนี้อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่อยากพูดให้สถาบันศาลเสีย เพราะพูดไปอาจไม่เชื่อว่าเป็นแบบนี้ ตนโดนกระทำอยู่ตลอด ขออยู่ที่เดิมก็ไม่ให้อยู่ ถ้าเกิดขึ้นจริง ไม่รู้จะทำอย่างไรเหมือนกัน
ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2560 ที่ผ่านมา นายศิริชัย แถลงผ่านสื่อเป็นครั้งที่สามในรอบเดือน ภายหลังเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2560 มีการประชุม ก.ต. และสำนักงานศาลยุติธรรมจัดทำบัญชีรายชื่อโยกย้ายข้าราชการตุลาการ บัญชีที่ 2 ให้นายธนฤกษ์ นิติเศรณี รองประธานศาลฎีกา ดำรงตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์แทน ให้มีผลในวันที่ 1 ต.ค. 2560 เป็นต้นไป
นายศิริชัย ระบุว่า ทำหนังสือถึงประธานศาลฎีกา (นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) เพื่อขอลาออกแล้ว โดยขอให้มีผลตั้งแต่วันที่ 17 ก.ค. 2560 ที่ผ่านมา ทราบว่านายวีระพล ได้ลงนามในหนังสือดังกล่าวแล้ว
การแถลงข่าวครั้งที่สาม นายศิริชัย พยายามอธิบายถึงเบื้องลึก-ฉากหลังที่ตนไม่ถูกแต่งตั้งเป็นประธานศาลฎีกา โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการเพิกถอนโอนย้ายสำนวนคดียาเสพติดในชั้นศาลอุทธรณ์ อย่างน้อย 3 คดี สรุปได้ดังนี้
คดีแรก เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยประธานศาลอุทธรณ์คนก่อน มีคดีหนึ่งฟ้องว่า จำเลย ร่วมกับพวก มียาเสพติดให้โทษ (เมตแอมเฟตามีน) จำนวนมากไว้ครอบครองเพื่อจำหน่าย ศาลชั้นต้นพิพากษาประหารชีวิต และให้ลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต ต่อมามีการอุทธรณ์ โดยคดีนี้มีผู้ช่วยผู้พิพากษา ที่เรียกกันว่า ผู้ช่วยเล็ก และผู้ช่วยใหญ่ รวมถึงผู้พิพากษาอาวุโสท่านหนึ่ง และรองประธานแผนกคดียาเสพติดท่านหนึ่ง ทักท้วงว่า ปรากฏพยานหลักฐานใหม่เชื่อมโยงได้ว่า จำเลยมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ประธานแผนกคดียาเสพติดเห็นว่า ร่างคำพิพากษาดังกล่าวรับฟังได้ว่าจำเลยมีความผิดจริง แต่ประธานศาลอุทธรณ์ขณะนั้น ให้รองประธานศาลอุทธรณ์คนที่หนึ่ง พิจารณาว่า กระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมหรือไม่ รองประธานฯรายนี้ ระบุว่า กระทบกระเทือนต่อความยุติธรรม ทั้งที่ไม่ได้ตรวจสอบว่า ร่างคำพิพากษามีการปรับแก้ไขแล้วว่า จำเลยมีความผิดจริง ทำให้ในชั้นอุทธรณ์ต้องยกฟ้อง 
ทีนี้เมื่อคดียกฟ้องไปแล้ว ประธานศาลอุทธรณ์คนก่อนพ้นตำแหน่ง ต้นรับหน้าที่แทน พิจารณาแล้วเห็นว่า ร่างนี้ปรับแก้ไขแล้ว การสั่งโอนครั้งนี้อาจหลงผิด เมื่อปรับแก้ไขจนครบแล้ว และไม่ได้มีผู้ทักท้วงดูอีกว่าถูกต้องหรือไม่ เมื่อไม่ถูกต้อง พยานหลักฐานครบแล้ว ปรับแก้แล้ว พบว่า จำเลยกระทำความผิดจริง ตนก็บอกให้ลงโทษไปตามร่างที่แก้ไขใหม่ ไม่ได้ยกฟ้อง และคดีนี้อ่านให้จำเลยฟังแล้ว จำเลยยอมรับคำพิพากษาทุกประการ ไม่ต้องออกฎีกา คดีถึงที่สุดแล้ว
คดีที่สอง ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยรวม 4 คน เกี่ยวกับคดียาเสพติด จำเลยที่ 1 รับสารภาพ รับโทษ 25 ปี ส่วนจำเลยที่ 2-4 จำคุกตลอดชีวิต จำเลยอุทธรณ์ ศาลรับอุทธรณ์ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนปรับแก้ไขร่าง ผลออกมาว่า พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น แต่ผู้ช่วยเล็กบอกว่า ร่างนั้นยังไม่พอฟังให้ลงโทษได้ ต่อมารองประธานแผนกคดียาเสพติดเห็นว่า พอผ่านได้ แต่ประธานแผนกคดียาเสพติดขณะนั้นเห็นว่า ยังผ่านไม่ได้ มีการท้วงกัน ประธานศาลอุทธรณ์ขณะนั้น เสนอให้รองประธานฯคนที่หนึ่งพิจารณาว่า กระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมหรือไม่ รองประธานฯคนที่หนึ่ง เห็นว่า กระทบกระเทือนความยุติธรรม ให้โอนสำนวน มีการโอนสำนวนเมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2558 ซึ่งในการโอนสำนวนนี้ จะทราบแล้วว่า คำพิพากษาจะออกมาในรูปแบบใด ต่อมาเมื่อประมาณเดือน ส.ค. 2558 เรื่องถึงผู้ช่วยเล็ก ต่อมาช่วงเดือน พ.ย. 2558 ผู้ช่วยเล็กจึงเสนอมาถึงตนตอนเป็นประธานศาลอุทธรณ์ ไม่ทราบสาเหตุว่าทิ้งเวลา 6-7 เดือน เพราะอะไร
“เห็นว่ามีพฤติการณ์แปลก ๆ ไม่ควรทิ้งช่วงขนาดนี้ ขณะเดียวกันเจ้าของสำนวนยกตัวอย่างคำพิพากษาของศาลฎีกาใส่มาเลย ก็เห็นว่า ร่างคำพิพากษาออกไปได้ จึงใช้ร่างเดิมของเขา แล้วลงโทษจำเลยไป จำเลยยอมรับ ไม่ขอฎีกา คดีถึงที่สุด ซึ่งทุกท่านรู้อยู่แล้วคดียาเสพติดเงินมหาศาล ถ้าเขาไม่ทำผิด เขาต้องขอฎีกา บางคน 3 ศาลแล้วยังขอรื้อฟื้นคดีอาญาอยู่เลย”
คดีที่สาม กรณีตนโอนสำนวนคดียาเสพติดคดีหนึ่ง เดิมศาลชั้นต้นยกฟ้อง เจ้าของสำนวนเขียนยกฟ้องตาม แต่ทุกคนท้วงหมด ตั้งแต่ผู้ช่วยเล็ก ผู้ช่วยใหญ่ รองประธานแผนกคดียาเสพติด ประธานแผนกคดียาเสพติด ตนเห็นว่า ร่างนี้ลงโทษได้ จึงถามรองประธานฯคนที่หนึ่งว่า กระทบกระเทือนความยุติธรรมหรือไม่ รองประธานฯคนที่หนึ่ง ระบุว่า กระทบกระเทือนความยุติธรรม ตนจึงต้องสั่งโอนสำนวนให้อีกท่านหนึ่ง ท่านเอาไปเก็บไว้ 20 กว่าวัน ก่อนคืนมา บอกว่าไม่สะดวกใจจะเขียนร่างคำพิพากษาเรื่องนี้
“ความจริงทำไม่ได้ เมื่อมอบหมายก็ต้องเขียน แต่ผมบริหารงานไม่ต้องการใช้ระเบียบเข้มข้น ทำให้การทำงานยก ถ้าบอกว่า ไม่เขียน จะตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง มันก็ภาพลักษณ์ไม่ดี เราอยู่อย่างพี่น้อง เมื่อคืนมาผมก็จ่ายให้คนต่อไป”
“ที่คนกล่าวหาว่า ผมต้องการลงโทษจำเลย มันเป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นขั้นตอนอย่างที่ว่า ประธานศาลอุทธรณ์คนเดียวไม่มีอำนาจ ถ้ารองประธานฯคนที่หนึ่งบอกว่า ร่างไม่กระทบกระเทือนความยุติธรรม ก็ต้องตีออก ไม่สามารถทำอย่างอื่นได้เลย แล้วผู้พิพากษาท่านมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี จะไปบอกให้ท่านเขียนอย่างนู้นอย่างนี้ไม่ได้”
“การที่ผมลงโทษทั้ง 3 เรื่อง เป็นสิ่งที่ทำให้ผมไม่ได้เป็นประธานศาลฎีกา เป็นสิ่งที่ผมไม่เหมาะสมเป็นประธานศาลฎีกา ผมลงโทษพวกค้ายาเสพติด ถูกตำหนิว่า ไม่เหมาะสมจะเป็นประธานศาลฎีกา ผมก็เงียบ ไม่ว่าอะไร กลืนเลือดตัวเองหมด ยอมรับได้ ผมทำงาน ทำศาลอุทธรณ์ให้เป็นศาลดีเด่น แต่ผมลงโทษผู้ค้ายาเสพติด ผมไม่เหมาะจะเป็นประธานศาลฎีกา ท่านคิดว่ามันถูกต้องหรือไม่”
นี่คือ 3 คดียาเสพติดหลัก ๆ ที่ถูกอนุ ก.ต. หยิบยกขึ้นมาพิจารณาถึงความไม่เหมาะสมในการขึ้นดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาของนายศิริชัย 
อย่างไรก็ดีนายศิริชัย ตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2558 และเอกสารเหล่านี้เป็นความลับ ไม่ทราบว่าเอาออกกันไปได้อย่างไร และเอาไปเก็บไว้ตั้งแต่ปี 2558 หรือประมาณ 3 ปีมาแล้ว 
ท้ายสุดนายศิริชัย พยายามชี้ให้เห็นว่า สมัยเป็นกรรมการ ก.ต. ตนเป็นหัวหอกในการพิจารณาลงโทษข้าราชการตุลาการชั้นผู้ใหญ่หลายคนออกไป และคนที่ออกไปพัวพันกับคดียาเสพติดด้วย ?
“ถ้าท่านทราบถึงผู้ทำหน้าที่บริหารคดีเกี่ยวกับยาเสพติด จะทราบว่า ช่วงที่ผมมาอยู่ เขาจะพอใจมากในการปฏิบัติงาน เพราะเราไม่มีการแสวงผลประโยชน์จากคดียาเสพติดเลย ถ้าผมอยากจะรวย ผมทำแล้ว คดียาเสพติดก็รู้ว่ามีมูลค่ามหาศาลเท่าไหร่ โทรศัพท์เครื่องหนึ่งในเรือนจำเท่าไหร่ ผมสามารถหาเงินได้มหาศาล ผมรู้ว่าคนไหนจะยกฟ้อง มาหาผม ผมจ่ายสำนวนให้คนที่จะยกฟ้องเลย ไม่ต้องทำอะไรมาก”
ทั้งหมดคือความในใจแบบ ‘เปิดอก’ ของนายศิริชัย จากข้าราชการตุลาการที่กำลังพุ่งทะยานขึ้นสู่จุดสูงสุดของชีวิตข้าราชการศาลยุติธรรม ปี 2556 เป็นรองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้สินเชื่อเครือกฤษดามหานครโดยทุจริต และวินิจฉัยส่วนตัวว่า อาจมีกลุ่มการเมืองอยู่เบื้องหลัง จนนำไปสู่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้าไปสอบสวนเชิงลึกอยู่ตอนนี้
ต่อมาปี 2558 ดำรงตำแหน่งเป็นประธานศาลอุทธรณ์ ปี 2559 ทำให้ศาลอุทธรณ์ได้รับรางวัลศาลยุติธรรมดีเด่นประจำปีงบประมาณ 2559 ท่ามกลางแสงสปอร์ตไลต์ที่ฉายลงมา นี่อาจจะเป็นประธานศาลฎีกาคนต่อไป
กระทั่งปี 2560 ชีวิตต้องเข้าสู่จุดหักเห ถึงขนาดต้องยอมลาออกจากราชการ และถูกตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงขึ้นอยู่ตอนนี้
ส่วนข้อเท็จจริงจะเป็นแบบนี้หรือไม่ คงต้องรอติดตามผลการสอบอย่างเป็นทางการต่อไป!