PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

แรงกระเพื่อมที่แฝงอยู่

แรงกระเพื่อมที่แฝงอยู่

ปล่อยแถวอีกลอตใหญ่

ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการแต่งตั้งบิ๊กข้าราชการ

ไล่ตั้งแต่นายฉัตรชัย พรหมเลิศ เป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค เป็นปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายพสุ โลหารชุณ เป็นปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายชูเกียรติ มาลินีรัตน์ เป็นผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ

ตำแหน่งสำคัญทั้งด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ

เดิมพันเฟ้น “มืองาน” มาช่วยประคองเกมในช่วงท้ายเทอมรัฐบาล

ตามอาการล่าสุดของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. ที่บ่นออกอากาศดังๆระหว่างงานอีเวนต์ก่อนประชุม ครม. ตัดพ้อแก้ปัญหาสารพัดมาตลอด 3 ปี แต่ยังไม่วายโดนกล่าวหาว่าเศรษฐกิจตกต่ำ และเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มต่างๆ

จับทางผู้นำรัฐบาลทหาร สะท้อนโจทย์หนักวนอยู่กับปมเศรษฐกิจ

ตามสถานการณ์ตรงหน้าก็อย่างที่เห็นๆกัน กับสภาพของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะ “เพื่อนรัก” ของ “นายกฯลุงตู่” ที่ตกอยู่ในวงล้อมตำบลกระสุนตก โดนทีมงานยี่ห้อประชาธิปัตย์ ล็อกเป้าถล่มปมบ้อท่าแก้ปัญหาราคาพืชผลเกษตรตกต่ำไม่ได้

ส่งเสียงโห่ไล่บี้ให้ลาออกจากตำแหน่ง

เล่นกันแรงถึงขั้นโยงมากระแทก “บิ๊กตู่” ว่าด้วยปมการประมูลข้าวเสื่อมสภาพส่อไม่โปร่งใส

กดดันให้ต้องขยับ “คัตเอาต์” ก่อนลามเข้าเนื้อ

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ก็เป็นหัวเชื้อชนวนที่กำลังก่อตัวในกระทรวงพาณิชย์ ตามกระแสในหมู่ข้าราชการที่เกิดแรงกระเพื่อมใต้น้ำอย่างหนัก

จากการบริหารภายใต้ “ข้าราชการอาชีพ” อย่างนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์

ปมเหตุเนื่องจากปีนี้มีข้าราชการระดับสูงไล่ตั้งแต่ปลัดกระทรวงและระดับอธิบดีเกษียณพร้อมกันหลายคน โดยแคนดิเดตเสียบแทนเป็นสายงานพวกที่ประจำอยู่ต่างประเทศเป็นหลัก

ทำให้นำมาซึ่งเสียงวิจารณ์ “เจนีวาคอนเน็กชั่น” ยึดกระทรวง

ขณะที่พวกที่เติบโตจากสายงานภายในประเทศกินแห้วหมด และส่อเค้าว่าพวกที่โดนดองอยู่ในตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงจะลาออกหากยังไม่ขยับออกจากที่เดิม

ประชดระบบคุณธรรมของกระทรวงพาณิชย์ที่ถูกทำลายไม่เหลือ

นั่นไม่เท่ากับเกม “เจาะยาง” แบบที่มีข้อมูลปมทุจริตระบายข้าวปล่อยให้คนประชาธิปัตย์และเพื่อไทยย้อนศรถล่มรัฐบาล

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นปัญหาที่จะกระทบต่อภาพรวมในเชิงบริหารก็คือ “จุดด้อย” ของพวกที่เติบโตมาจากสายงานต่างประเทศไม่เชี่ยวชาญกับปัญหาภายในประเทศ ขณะที่ภารกิจงานของกระทรวงพาณิชย์ต้องยึดโยงกับปัญหาราคาสินค้าเกษตร รวมถึงการคุมสถานการณ์ราคาสินค้า

งานเร่งด่วนเฉพาะหน้า ประคองปัญหาปากท้องของประชาชน

ตามสภาพการณ์อย่างที่เห็นและเป็นอยู่เวลานี้ กระทรวงพาณิชย์ก็โดนวิพากษ์วิจารณ์หนักอยู่แล้ว ทั้งเรื่องการจัดการสินค้าเกษตรและการควบคุมราคาสินค้า

แล้วถ้าตั้งคนที่ไม่เข้าใจสถานการณ์มาแก้ปัญหาก็จะไปกันใหญ่

สุดท้ายหนีไม่พ้นตอกย้ำฟอร์มบริหารของรัฐบาล คสช.ที่ถูกเบิ้ลบลัฟมาตลอดว่า เป็นรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เลยไม่ยึดโยงกับประชาชนฐานราก

ลำบากในการซื้อใจชาวบ้าน ดึงศรัทธาจากประชาชน

อะไรไม่เท่ากับว่า สถานการณ์จะลามเป็นปัญหากดทับเมื่อกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ หน่วยงานหลักที่ดูแลปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตร ข้าว ยางพารา ข้าวโพด อ้อย ฯลฯ

ต้องเกิดสภาวะ “ติดหล่ม” ในเชิงบริหารงาน

ในจังหวะสถานการณ์ท้ายเทอมรัฐบาล

แน่นอน โดยรูปการณ์ข้างหน้า ยังไงก็หนีไม่พ้นต้องเผชิญกับม็อบเกษตรกรที่เดือดร้อนจากราคาสินค้าตกต่ำ จำเป็นต้องเคลื่อนไหวมากดดันรัฐบาล คสช.

เสี่ยงท้าทายกฎเหล็กอำนาจพิเศษท็อปบูต

แบบที่แกนนำม็อบสวนยางขู่ฮึ่มๆ จะไม่ทนอีกต่อไป.

ทีมข่าวการเมือง

ไม่มีความคิดเห็น: