PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ก.ต.ไล่ออก-ให้ออก 4 ผู้พิพากษา รวมอดีตรองปธ.ศาลฎีกา

ด่วน!ก.ต.ไล่ออก-ให้ออก 4 ผู้พิพากษา รวมอดีตรองปธ.ศาลฎีกา
ก.ต.ลงมติ ไล่ออก-ให้ออก อดีตรองประธานศาลสูง หน.คณะในศาลฎีกา อดีตประธานศาลอุทธรณ์ รวม4 นาย งดขึ้นเงินเดือน-ภาคทัณฑ์ 3 ผู้พิพากษาศาลฎีกา-อุทธรณ์กรณีให้ประกันจำเลยคดีข่มขืน-ยาเสพติดไม่ชอบ
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานโดยอ้างแหล่งข่าว ว่า ในการประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม(ก.ต.)เมื่อเร็วๆนี้ ได้พิจารณาลงโทษทางวินัยผู้พิพากษาชั้นใหญ่ 7 นาย ที่ถูกกล่าวหาว่าให้ประกันตัวจำเลยในคดีข่มขืนกระทำชำเรา และคดียาเสพติดผิดระเบียบและกฎหมาย ซึ่งก.ต.มีมติให้ลงโทษผู้พิพากษาแต่ละรายดังนี้
1.ให้ นายองอาจ โรจนสุพจน์ ผู้พิพากษาอาวุโส อดีตรองประธานศาลฎีกา,นายสิงห์พล ละอองมณี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา พ้นจากตำแหน่ง(ไล่ออก)ตาม พ.ร.บ.ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม มาตรา 32(7)
2.ให้ นายอดิศักดิ์ ทิมมาศย์ ผู้พิพากษาอาวุโส อดีตประธานศาลอุทธรณ์ ,นายสิทธิชัย พรหมศร ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา พ้นจากตำแหน่ง(ให้ออก)ตาม พ.ร.บ.ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม มาตรา 32 (7)
3.ให้งดเลื่อนขั้นเงินเดือน ผู้พิพากษาศาลฎีกา 2 นาย ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 76 (4)
4.ให้ภาคทัณฑ์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1(อดีตรองอธิบดีศาลอาญา)ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 76 (5)
แหล่งข่าวกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยผู้พิพากษากลุ่มนี้ ประธานศาลฎีกาได้สั่งให้พักราชการนายองอาจ โรจนสุพจน์ อดีตรองประธานศาลฎีกา,นายสิงห์พล ละอองมณี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ซึ่งเป็นอำนาจของประธานศาลฎีกา ตาม พ.ร.บ.ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมมาตรา74 ที่ระบุว่า เมื่อข้าราชการตุลาการผู้ใดมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งกรรมการสอบสวน หรือถูกฟ้องคดีอาญา ถ้า ก.ต. เห็นว่าจะให้อยู่ในหน้าที่ราชการระหว่างสอบสวนหรือพิจารณาจะเป็นการเสียหายแก่ราชการ ประธานศาลฎีกาจะสั่งให้พักราชการก็ได้
แหล่งข่าวกล่าวว่า การให้ไล่ออก-ให้ออกผู้พิพากษาจากการปฏิบัติหน้าที่ครั้งนี้ถือเป็นการลงโทษทางวินัยครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งและเป็นผู้พิพากษาที่มีตำแหน่งสูงซึ่งศาลยุติธรรมมีนโยบายชัดเจนในเรื่องนี้ซึ่งจะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของศาลยุติธรรมมากขึ้นว่า เป็นไปอย่างซื่อสัตย์สุจริต เป็นไปตามระเบียบแบบแผนและรอบคอบ
"หลังจากที่ ก.ต.มีมติให้ไล่ออกนายสมศักดิ์ จันทกุล ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2553 ซึ่งถูกกล่าวหาในทำนองเดียวกัน ในเรื่องการให้ประกันตัวจำเลย ก็เริ่มมีการสอบสวนข้อเท็จจริงผู้พิพากษาที่เกี่ยวข้องเรื่อยมา"แหล่งข่าวกล่าว
ข่าว - โพสต์ทูเดย์

พลิกปูม ‘นวน เจีย’ อาชญากรสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวกัมพูชา เคยเป็นคนไทย?

พลิกปูม ‘นวน เจีย’ อาชญากรสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวกัมพูชา เคยเป็นคนไทย?

Thu, 07/08/2014 - 16:57
Printer-friendly version
Views: 2,043
พลิกปูม ‘นวน เจีย’ อาชญากรสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวกัมพูชา เคยเป็นคนไทย?
สืบประวัติ “นวน เจีย” อาชญากรสงครามเขมรแดงที่ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวกัมพูชากว่าสองล้านคนเป็นอดีตคนไทย อดีตศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง แต่เขาก้าวไปเป็นใหญ่ในกองกำลังที่ขึ้นชื่อว่าโหดร้ายที่สุดแห่งศตวรรษได้อย่างไร ทีมข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์สืบค้นและเรียบเรียงข้อมูลมาให้ติดตาม
เอ่ยชื่อ “นวน เจีย” หลายคนคงรับรู้ข่าวคราวที่เขาถูกศาลศาลพิเศษกัมพูชา โดยการสนับสนุนของสหประชาชาติลงโทษจำคุกตลอดชีวิตในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวกัมพูชาในช่วงเขมรแดงเรืองอำนาจพร้อมกับ “เคียว สมพอน”อดีตประธานาธิบดีเขมรแดง โดยช่วงที่นวน เจียมีอำนาจในกองกำลังเขมรแดง เขาเคยดำรงตำแหน่งสูงสุดเป็นหมายเลข 2 รองจากพอล พต อดีตเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา จนได้รับการเรียกขานจากกองกำลังเขมรแดงว่า “พี่ชายหมายเลข 2”
แต่น้อยคนนักจะรู้ว่านวน เจียคือใคร มีประวัติอย่างไร เพราะอย่างที่รู้กันว่า กองกำลังเขมรแดงเป็นขบวนการที่ลึกลับซับซ้อนที่สุดในโลก อดีตนายทหารระดับนำที่หลุดพ้นช่วงเวลาแห่งการถูกแย่งชิงอำนาจคืนจากพรรคประชาชนปฏิวัติกัมพูชา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเวียดนามที่เป็นคอมมิวนิสต์สายโซเวียต ในขณะที่เขมรแดง เป็นสายเหมาอีสต์ หรือจีน ก็ยังสามารถใช้ชีวิตที่เหลือจนชราพร้อมครอบครัว ไม่ว่าจะเป็น ตา ม๊อก, เอียง สารี นางเอียง ทิริธ ฯลฯ
ส่วน “พอล พต” ถูกนักข่าวต่างชาติมาพบขณะที่ใช้ชีวิตในวัยบั้นปลายอย่างเงียบๆ กับครอบครัวที่ จ.ไพลิน ใกล้ชายแดนไทยเมื่อสิบกว่าปีก่อน ตอนนั้นอายุของเขาย่างเข้า 80 กว่าปี หลังจากนั้นรัฐบาลกัมพูชาจึงถูกนานาชาติกดดันให้ดำเนินการเอาผิดกับคนเหล่านี้ ทางการกัมพูชาจึงส่งเจ้าหน้าที่มาควบคุมตัวพอล พตไปขังกระทั่งเขาจะเสียชีวิตในคุก ก่อนการพิจารณาคดีจะเริ่มขึ้น เมื่อปี 2541 เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า กัมพูชาเองก็ไม่อยากรื้อฟื้นเอาเรื่องกับคนเหล่านี้เท่าไหร่นัก แต่จำเป็นต้องทำ เพราะการกดดันของนานาชาติที่ยากจะยอมรับการสังหารโหดชาวกัมพูชานับหมื่นๆ คน และเรียกร้องความรับผิดชอบต่อการล้มตายของผู้คนราว2-3ล้านคนในอดีตของคนเหล่านี้
ย้อนกลับไปที่นวน เจีย หลังจากที่ทางการกัมพูชาสืบสวนหาตัวจนเจอก็พบว่าเขาใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวใหญ่อันแสนจะอบอุ่นอยู่ที่ จ.ไพลินใกล้เคียงกับบ้านของพอล พต โดยนวน เจียยืนยันกับนักข่าวมาตลอดว่าเขาไม่มี"เอี่ยว" ในเรื่องฆ่าฟันประชาชน แต่จากข้อมูลในหนังสือ Candidates for Prosecution ของสตีเฟน เฮดเดอร์ กับไบรอัน ทิทเทอมอร์ สองผู้เชี่ยวชาญเรื่องเขมรแดง ระบุชัดเจนว่า นวน เจียมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายเรื่องประหารชีวิตของรัฐบาลเขมรแดง และการปรับใช้นโยบาย อีกทั้งหลักฐานมัดตัวเขาที่สุด มาจากคำให้การของนายคัง เก็ก เอียบ หรือ"สหายดุจ" อดีตผู้บัญชาการคุกโตน สเลง ที่ถูกจับกุมตัวได้และให้ข้อมูลกับ "เน็ต เทเยอร์" นักข่าวชาวเนเธอแลนด์เมื่อสิบกว่าปีก่อนว่า "ไม่ใช่พอล พต แต่เป็นนวน เจีย ผู้ออกคำสั่งโดยตรงให้ฆ่า"
นักวิเคราะห์มองว่าเขาเป็นคนมีบุคลิกหยิ่งยะโส ชอบข่มขู่ และไม่สำนึกเสียใจในความผิดที่ทำลงไป เขาบอกเพียงว่า นับจากเขายอมเข้ามอบตัวกับรัฐบาลกัมพูชา เมื่อปี 2541 ภายใต้ข้อตกลงที่ปิดฉากเขมรแดงลง นวน เจีย ยอมรับเรื่องการตายของประชาชน ภายใต้รัฐบาลที่เขาเป็นคนควบคุม แต่อ้างว่าเขาไม่ได้ใหญ่พอที่จะยุติการฆ่าฟันกันได้ และเคยกล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า เขาไม่รู้ว่าใครคือผู้ต้องรับผิดชอบต่อการตายของประชาชนเหล่านั้น
จากการสืบค้นประวัติ พบว่านวน เจีย เคยเป็น “คนไทย” มาก่อนโดยสิทธิอาณาเขตแห่งรัฐ เพราะเขาเกิดในครอบครัวเชื้อสายจีนที่จังหวัดพระตะบองในห้วงที่จอมพล ป. พิบูลสงครามไปยึดคืนจากฝรั่งเศสและจัดตั้งเป็นมณฑลบูรพา (โดยมีจังหวัดพิบูลสงครามอีกจังหวัดภายใต้มณฑล ) ก่อนที่ไทยต้องยกให้ฝรั่งเศสอีกครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี พ.ศ. 2489
นวน เจียมีชื่อเป็นไทยคือ “ลอง บุญรอด” หรือ “รุ่งเลิศ เหล่าดี” เกิดเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2469 ด้วยความที่ยุคนั้นเขาถือเป็นคนไทย จึงได้เข้ามาเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร จังหวัดพระนคร ต่อจากนั้นเข้าเรียนที่ โรงเรียนเตรียมปริญญา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง หรือ เตรียมธรรมศาสตร์ (ต.มธก.) รุ่นปี พ.ศ.2488
หลังจบการศึกษาเข้าทำงานที่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ในระหว่างนั้นก็ไปเข้าฟังบรรยายใน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองไปพร้อมกันด้วย ซึ่งเขาชื่นชอบวิชานิติศาสตร์มากที่สุด จนกระทั่งถึงปี 2493 ชีวิตการทำงานย้ายมาสังกัดแผนกอินโดจีน ในกระทรวงการต่างประเทศ ได้เงินเดือน 24 บาท
แต่ในระหว่างที่เรียน มธก. และเป็นข้าราชการไทยอยู่นั้น รุ่งเลิศ เหล่าดี ก็เข้าร่วมกับ องค์กรยุวชนไทย อันเป็นองค์กรของฝ่ายซ้าย หลังได้รับแรงบันดาลใจจากการอ่านหนังสือพิมพ์มหาชน ของฝ่ายซ้ายในยุคนั้น รวมถึงบทความของอุดม ศรีสุวรรณ เรื่อง "ทางออกของไทย" และ "ชีวทัศน์" ของประเสริฐ ทรัพย์สุนทร อดีตกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
ต่อมาเขาเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย อย่างเต็มตัวในปี ปี 2493 และโอนเข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งอินโดจีน แต่ในเวลาไม่นาน หลังได้ทราบข่าวว่า เกิดเหตุฝรั่งเศสสังหารชาวลาวที่เรียกร้องเอกราช เขาจึงแอบหนีออกจากไทยที่บึงกาฬ ผ่านเข้าลาวที่ปากซัน แล้วไปรับการรฝึกโดยเวียดมินห์ในสมรภูมิเดียนเบียนฟู จนกระทั่งเดินทางถึงกัมพูชา อันเป็นบ้านกิดในเวลาต่อมา
หลังจากนั้น รุ่งเลิศ เหล่าดี กลับไปใช้ชื่อเดิมในภาษาเขมรว่า "นวน เจีย" เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งกัมพูชา กระทั่งก้าวขึ้นมาเป็นรองเลขาธิการพรรค เป็นรองแต่เพียง “พอล พต” เลขาธิการใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาเท่านั้น ซึ่งเขาถือเป็นผู้นำเขมรแดงเพียงคนเดียวที่ไม่ได้เรียนจบจากฝรั่งเศสเหมือนคนอื่น
วันที่ 7 สิงหาคม 2557 ศาลพิเศษของกัมพูชาโดยการสนับสนุนของสหประชาชาติก็ตัดสินจำคุกเขาตลอด ในข้อหาก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ และเป็นไปได้สูงที่เขาจะประสบชะตากรรมเดียวกันกับพอล พต พี่ใหญ่ของเขา นั่นคือเสียชีวิตในคุก และนำศพกลับไปฌาปนกิจอย่างเรียบง่ายที่บ้านเกิดต่อไป.
ทีมข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รวบรวมและเรียบเรียงข้อมูล

ย้อนรอยเบื้องหลังคดี "สนธิ ลิ้มฯ” ก่อนศาลอุทธรณ์ยืนโทษจำคุก 20 ปี

ย้อนรอยเบื้องหลังคดี "สนธิ ลิ้มฯ” ก่อนศาลอุทธรณ์ยืนโทษจำคุก 20 ปี

เขียนวันที่
วันพฤหัสบดี ที่ 07 สิงหาคม 2557 เวลา 14:15 น.
เขียนโดย
isranews
หมวดหมู่
"..คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เห็นว่าที่จำเลยทั้งสามอ้างว่าไม่มีเจตนาทุจริต และไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว จึงขอให้ศาลลงโทษสถานเบา และรอการลงโทษนั้น เห็นว่าการกระทำของจำเลย เป็นการฝ่าฝืนกฎระเบียบของตลาดหลักทรัพย์ ร้ายแรง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นถือว่าเป็นโทษต่ำสุดแล้ว ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยพิพากษายืน.."
sonntte7-8-14
พลันที่ ศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษา ยืนโทษจำคุก 20 ปี นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตผู้บริหารกลุ่มแมเนอร์เจอร์ มีเดีย ในคดีที่ พนักงานอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 1 เป็นโจทก์ฟ้อง นายสนธิ ลิ้มทองกุล ร่วมกับ นายสุรเดช มุขยางกูร ,นางสาวเสาวลักษณ์ ธีรานุจรรยงค์ และ นางสาวยุพิน จันทนาอดีตผู้บริหาร และ กรรมการบริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ในความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 7 ส.ค.57 ที่ผ่านมา
สปอร์ตไลท์ทุกดวงในสังคมไทย ต้องหันกลับมาให้ความสนใจในตัวของ "เจ้าพ่อสื่อ" ผู้นี้ทันที
เพราะต้องยอมรับกันว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในยุคของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี บทบาทและท่าทีของนายสนธิ ถูกจับตามองเป็นอย่างมาก ในฐานะแกนนำคนสำคัญของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ออกมาต่อต้านรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ อย่างชนิดตาต่อตาฟันต่อฟัน
ขณะที่นายสนธิ ก็เคยประกาศลั่นกลางศึกครั้งนั้น ว่าจะสู้ไม่ถอย ชนิด "เจ๊งเป็นเจ๊ง"
มาวันนี้ชะตากรรมของ นายสนธิ กำลังเข้าขั้นวิกฤตเต็มรูปแบบ!
หากจะย้อยกลับไปถึงสาเหตุสำคัญเกี่ยวกับคดีนี้ มีจุดเริ่มต้นจาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เผยแพร่ข่าว เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2554 ว่า เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2554 ที่ผ่านมา ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 5 ปี และปรับ นายสุรเดช มุขยางกูร อดีตกรรมการผู้อำนวยการ บริษัทอินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) (“IEC”) จำนวน 1,178.25 ล้าน บาท
กรณีลงข้อความเท็จในรายงานการประชุมคณะกรรมการบริษัทเพื่อลวงให้ IEC หรือผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้ กระทำผิดหน้าที่โดยทุจริตจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะ ที่เป็นทรัพย์สินของ IEC และกระทำการเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเอง
ถ้าอ่านผ่านๆ ก็เหมือนคดีทั่วไปที่ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลัก ทรัพย์ฯกระทำการทุจริตต่อหน้าที่ ทำให้บริษัทเสียหายซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำ
แต่ถ้าใครที่ติดตามคดีนี้มาตลอด10 ปีจะรู้ว่า คดีนี้โยงถึง(อดีต?)เจ้าพ่อในวงการสื่อสารมวลชนคือ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งเครือเอเอสทีวีผู้จัดการและแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.)ด้วย
ทั้งนี้ พนักงานอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสนธิ ลิ้มทองกุล นายสุรเดช มุขยางกูร(จำแลยคดี IEC) น.ส.เสาวลักษณ์ ธีรานุจรรยงค์ และ น.ส.ยุพิน จันทนา อดีตกรรมการ บมจ. แมเนเจอร์ มีเดียกรุ๊ป (ถูกพิพากษาล้มละลายเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2553 คดีหมายเลขแดงที่ ลฟ. 5/2541 )เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานกระทำผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากนายสนธิ กับพวกซึ่งเป็นกรรมการบริษัท ร่วมกันลงข้อความเท็จในเอกสารของบริษัทแมเนเจอร์ ฯ( MGR) เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2539-30 เมษายน 2540 เพื่อ ค้ำประกันการกู้ยืมเงิน จำนวน 1,078 ล้านบาทให้แก่บริษัทเดอะ เอ็ม. กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ MGR โดยที่คณะกรรมการ MGR ไม่ ได้รับทราบ
ต่อมา เดอะ เอ็ม. กรุ๊ป ได้ผิดนัดชำระเงินกู้ส่งผลให้ MGR ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องรับภาระเป็นผู้ชำระหนี้ ให้กับธนาคารกรุงไทยฯ เป็นจำนวนเงิน 259 ล้านบาท
การกระทำดังกล่าวของบุคคลทั้ง 4 ราย เป็นการกระทำทุจริตโดยใช้ อำนาจที่ตนได้รับมอบหมาย แสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้เพื่อผู้อื่น อันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินและผลประโยชน์ของ MGR โดยตรง
คดีดังกล่าวเริ่มจากบริษัท IEC ค้ำประกันเงินกู้ให้กับบริษัท เดอะ เอ็มกรุ๊ป(มีนายสนธิ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้บริหารและเป็นบริษัทแม่ของ IEC) ซึ่งกู้เงินจากธนาคารกรุงไทย 1,198 ล้านบาท เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2539 แต่ทาง IEC ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลการค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าวให้แก่ตลาดหลักทรัพย์แห่ง ประเทศไทยทราบซึ่งเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ
อย่างไรก็ตาม นายชัยอนันต์ สมุทรวณิช ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ(ในขณะนั้น)และเป็นประธานกรรมการ IEC ในช่วงที่มีการค้ำประกันเงินกู้ออกมาปฏิเสธว่า คณะกรรมการ IEC ไม่เคยอนุมัติให้ค้ำประกันเงินกู้ให้เดอะ เอ็มกรุ๊ป แต่ผู้บริหารระดับสูงรายหนึ่งของ IEC ปลอมมติคณะกรรมการ
ขณะที่นายสุรเดช อดีตกรรมการผู้อำนวยการ IEC ยอมรับกับสำนักงาน ก.ล.ต.ว่า IEC ค้ำประกันเงินกู้ให้เดอะ เอ็มกรุ๊ปจริง
ต่อมาในเดือนธันวาคม 2542 สำนักงาน ก.ล.ต.ได้กล่าวโทษนายสุรเดช ต่อพนักงานสอบสวนโดยกล่าวหาว่า ปลอมหรือยินยอมให้มีการปลอมสำเนารายงานการประชุมคณะกรรมการบริษัท IEC เพื่อลวงให้ธนาคารกรุงไทยหลงเชื่อว่า คณะกรรมการบริษัท IEC มีมติให้ทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้ในนามบริษัท IEC เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์มาตรา 312 ระหว่างโทษจำคุก 5-10 ปี และยังมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานปลอมแผลงเอกสารด้วย
สำนักงาน ก.ล.ต.ตรวจสอบข้อมูลกรณีดังกล่าวเพิ่มเติม จนกลางเดือนตุลาคม 2543 จึงได้กล่าวโทษ นายสนธิ นายสุรเดช นางสาวเสาวลักษณ์ และนางสาวยุพิน อดีต กรรมการบริษัท MGR ร่วมกันปลอมเอกสารในการทำสัญญาร่วมค้ำประกันการกู้จำนวน 1,073 ล้านบาทให้แก่บริษัท เดอะ เอ็ม กรุ๊ปจากธนาคารกรุงไทยโดยคณะกรรมการบริษัท MGR มิได้รับทราบและมิได้มีการเปิดเผยข้อมูลในงบการเงินของบริษัท MGR
การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์มาตรา 307, 311 312 ซึ่งแต่ละกระทง ระวางโทษจำคุก 5-10 ปีและยังมีความผิดฐานปลอมแปลงเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 และ 268
หลังจากนั้นคดีนี้ได้เข้าสู่กระบวนการในชั้นศาลอย่างเต็มรูปแบบ ก่อนที่ศาลชั้นต้น จะพิพากษาจำคุกนายสนธิ ลิ้มทองกุล จำเลยที่ 1 และ นางสาวเสาวลักษณ์ ธีรานุจรรยงค์ จำเลยที่ 3 คนละ 85 ปี และนางสาวยุพิน จันทนา จำเลยที่ 4 จำคุก 65 ปี ส่วนนายสุรเดช มุขยางกูร จำเลยที่ 2 ให้ลงโทษจำคุก 5 ปี
แต่จำเลยทั้ง 4 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุกนายสนธิ จำเลยที่ 1 และ นางเสาวลักษณ์ จำเลยที่ 3 คนละ 42 ปี 6 เดือน และนางสาวยุพิน จำเลยที่ 4 จำคุก 32 ปี 6 เดือน ส่วนนายสุรเดช จำเลยที่ 2 ให้ลงโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน
แต่โทษสูงสุดในความผิดฐานดังกล่าว กฎหมายกำหนดให้ลงโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 20 ปี จึงลงโทษจำคุก นายสนธิ จำเลยที่ 1 , นางเสาวลักษณ์ จำเลยที่ 3 และ นางสาวยุพิน จำเลยที่ 4 คนละ 20 ปี แต่ต่อมานายสนธิ พร้อมด้วยนางเสาวลักษณ์ และนางสาวยุพิน ยื่นอุทธรณ์
ล่าสุดคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เห็นว่าที่จำเลยทั้งสามอ้างว่าไม่มีเจตนาทุจริต และไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว จึงขอให้ศาลลงโทษสถานเบา และรอการลงโทษนั้น เห็นว่า
การกระทำของจำเลย เป็นการฝ่าฝืนกฎระเบียบของตลาดหลักทรัพย์ ร้ายแรง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นถือว่าเป็นโทษต่ำสุดแล้ว ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยพิพากษายืน
ขณะที่นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความ ให้สัมภาษณต่อสื่อมวลชนว่า จะใช้หลักทรัพย์เป็นกรมธรรม์ประกันอิสรภาพ ซึ่งเป็นหลักทรัพย์เดิม มูลค่า 10 ล้าน เพื่อขอปล่อยชั่วคราว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาคำร้องของศาลว่าจะให้ประกันตัวหรือไม่
ส่วนชะตากรรมของนายสนธิ และผู้เกี่ยวข้องในคดีนี้จะเป็นอย่างไรนั้น คงต้องไปรอลุ้นในชั้นศาลฏีกา
เป็นคำตอบสุดท้าย!
---------
รายละเอียดคดีจำคุกอดีตผู้บริหาร IEC
คดีดังกล่าวสืบเนื่องจากวันที่ 28 พฤศจิกายน 2542 ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษนายสุรเดช กรณีลงข้อความเท็จในรายงานการประชุมคณะกรรมการบริษัทที่มีข้อความว่า ที่ประชุมคณะกรรมการของ IEC ได้อนุมัติให้IEC เข้าทำสัญญาเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ของบริษัทเดอะ เอ็ม.กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ต่อธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และได้เข้าทำสัญญาค้ำประกันการกู้ยืมเงินของบริษัทเดอะ เอ็ม.กรุ๊ปฯ ต่อธนาคารกรุงไทยฯในนามของ IEC อันเป็นกิจการที่เกินขอบเขตที่คณะกรรมการของ IEC ได้กำหนดไว้และต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการของ IEC ก่อน ทำให้ IEC มีภาระหนี้ค้ำประกันจำนวน 1,178 ล้านบาท อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 307 311 312(2) ประกอบ 313 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2554 ศาลอาญาฯพิพากษาว่านายสุรเดช มีความผิดตามมาตรา 307 311 312(2) และ 313 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ การกระทำความผิดของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตาม มาตรา 91 แห่งประมวลกฎหมายอาญา โดยลงโทษ (1) ฐานเป็นกรรมการลงข้อความเท็จในรายงานการประชุมเพื่อลวงให้นิติบุคคลหรือผู้ ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้ตามมาตรา 312(2) แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ให้จำคุก 5 ปี และปรับ 500,000 บาท
และ (2) ฐานเป็นกรรมการกระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริตจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของนิติบุคคล
และ (3) ฐานเป็นกรรมการกระทำการเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อตนเองหรือผู้อื่นตามมาตรา 307 311 ประกอบ 313 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงลงโทษตามมาตรา 313 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามมาตรา 90 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ให้จำคุก 5 ปี และปรับ 2,356,000,000 บาท
แต่เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ จึงลดโทษกระทงละกึ่งหนึ่ง เหลือกระทงละ 2 ปี 6 เดือน ปรับกระทงละ 250,000 บาท และ1,178ล้าน บาท ตามลำดับ รวมลงโทษจำคุก 4 ปี 12 เดือน โดยไม่รอลงอาญา
หมายเหตุ: อ้างอิงข้อมูลจาก prasong.com,รูปประกอบจาก Google