PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2562

โลกที่ เสกสรรค์ เห็น คือโลกที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยม-ก้าวหน้า ไม่เคยคิด ?

โลกที่ เสกสรรค์ เห็น คือโลกที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยม-ก้าวหน้า ไม่เคยคิด ?

เสกสรรค์ ประเสริฐกุลImage copyrightJIRAPORN KUHAKAN/BBC THAI
"โลกที่เราเห็นคือโลกที่เราคิด และเรามักจะมองไม่เห็นสิ่งที่ไม่ได้คิดเอาไว้แล้วล่วงหน้า" คือมุมมองที่ ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตผู้นำนักศึกษาเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 ใช้ในชีวิตส่วนตัว
ทว่าวันนี้เขานำมันมาวิเคราะห์สังคม-อ่านปรากฏการณ์ในบ้านเมือง ในระหว่างกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "ประเทศไทยในความคิด ความคิดในประเทศไทย" จัดโดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ดร.เสกสรรค์ขยายความว่า คนเราจะเห็นโลกแบบไหน ขึ้นอยู่กับความรู้สึกนึกคิดที่มี-ที่รู้จัก เข้าทำนอง "พ่อครัวไม่สนใจเรื่องสีสันของไก่เท่ากับเนื้อของมัน หรือศิลปินก็อาจจะเห็นแต่ความงามของไก่จนลืมนึกถึงด้านที่เป็นอาหาร" แม้มนุษย์เห็นโลกได้จำกัดและแตกต่างกัน ทว่าส่วนใหญ่กลับมีแนวโน้มเชื่อว่าโลกที่ตัวเองเห็นเป็นโลกแห่งความจริง จากนั้นก็ผลิตความเห็นออกมายืนยันสายตาของตน-โต้แย้ง-ทะเลาะกับคนอื่นเพราะความเห็นไม่ตรงกัน
ตลอดเวลากว่า 10 ปีของความขัดแย้ง ดร.เสกสรรค์เห็นความรุนแรงระดับ "ไม่มีใครฟังใคร" โดยแบ่งชุดความคิดที่ขัดแย้งกันออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ แนวคิดของฝ่ายอนุรักษ์นิยม ที่อยากรักษาสถานภาพเดิม เพราะเห็นว่า "โลกใหม่คือสังคมที่ปนเปื้อน" ควรกลับไปสู่โลกเก่าที่ถูกต้องดีงามกว่า กับแนวคิดของฝ่ายก้าวหน้า ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโลกเพราะเห็นว่าความถูกต้องดีงามรออยู่ในอนาคต
นักกิจกรรมที่เรียกตัวเองว่า "คนอยากเลือกตั้ง" เรียกร้องให้นักการเมืองร่วมการชุมนุมกับประชาชนเพื่อกดดันให้เกิดการเลือกตั้งภายในปี 2561 เมื่อวันที่ 10 ก.พ. ที่ผ่านมาImage copyrightJIRAPORN KUHAKAN/BBC THAI
ข้อสังเกตของอดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์คือ ทฤษฎีใหม่ ๆ ในทางสังคมการเมืองถูกคิดขึ้นน้อยมาก แต่หนักในทางผลิตซ้ำ-ส่งทอดจาก 2 แหล่งคือ ยุคสมัยที่ผ่านพ้นไปแล้ว กับโลกภายนอก อีกทั้งยังมีสัดส่วนไม่กลมกลืนกับสภาพที่เป็นอยู่ ทำให้ความขัดแย้งทางความคิดในไทยมีลักษณะคล้าย "ความขัดแย้งทางศาสนา ซึ่งออกไปในทางศรัทธาความเชื่อ"
"สังคมไทยกลายเป็นพื้นที่ช่วงชิงระหว่างความคิด 2 กระแส โดยฝ่ายอนุรักษนิยมมีปัญหาเรื่อง 'กาละ' ส่วนฝ่ายก้าวหน้ามีปัญหาเรื่อง 'เทศะ' และทั้ง 2 ฝ่ายต่างพยายามที่จะปรับเปลี่ยนโลกของผู้อื่นให้ตรงกับความคิดของฝ่ายตน" ดร.เสกสรรค์กล่าว
ก่อนขยายความว่า ฝ่ายแรกต้องการนำความคิด ความเชื่อ และคุณค่าจากสมัยเก่ากลับมาอยู่ในกาลเวลาที่เปลี่ยนไป ขณะที่ฝ่ายหลังพบว่าการนำแนวคิดจากโลกภายนอกมาไว้ในพื้นที่อันไม่ใช่เนื้อดินถิ่นกำเนิดนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย
เสกสรรค์ ประเสริฐกุลImage copyrightJIRAPORN KUHAKAN/BBC THAI
ต่อไปนี้คือข้อวิเคราะห์-วิจารณ์คู่ขัดแย้งทางความคิดฝ่ายอนุรักษ์นิยมกับฝ่ายก้าวหน้า ที่ ดร.เสกสรรค์ชี้ว่าทั้ง 2 ฝ่ายต่างแข่งกันบรรจุชุดความคิดของตนลงใน space and time (พื้นที่และเวลา) ของประเทศไทยปัจจุบัน ทั้งนี้บีบีซีไทยได้สรุปใจความสำคัญและเลือก "วรรคทอง" ของเขาในเวทีปาฐกถานี้มานำเสนอ

1. ฝ่ายอนุรักษ์นิยม : รัฐ-ชนชั้นนำต่างเป็น reference กัน

รัฐไทยโดยผ่านระบบการศึกษา และเครื่องมือบังคับควบคุม สามารถผลิตซ้ำชุดความคิดอนุรักษ์ในรูปของ "อุดมการณ์แห่งรัฐ" และ "อัตลักษณ์ของชาติ" ได้อย่างสม่ำเสมอ โดยมีชนชั้นที่ใกล้ชิดอำนาจรัฐ-ประชากรที่ชอบเป็นหนึ่งเดียวกับรัฐ คอยขานรับและขยายต่อในรูปแบบไม่เป็นทางการ กลายเป็น reference (รายการอ้างอิง) ให้กันและกัน
  • "รัฐอ้างสังคมในการสร้างความชอบธรรมของอำนาจ สังคมส่วนที่เอ่ยถึงก็อิงกรอบอุดมการณ์ของรัฐในการรักษาผลประโยชน์และปรุงแต่งสถานภาพ กระทั่งใช้มันมาเสริมขยายอัตตาของตน"

2. ฝ่ายอนุรักษ์นิยม : การเมืองของคนดี

จินตนาการที่มีพลังที่สุดของฝ่ายอนุรักษ์นิยมคือแนวคิดเรื่อง "ความเป็นคนดี" ซึ่งผูกโยงกับเรื่องศีลธรรม บุญบาป แต่ตัดขาดประเด็นชนชั้น กลุ่มผลประโยชน์ ตลอดจนโครงสร้างเศรษฐกิจสังคม กล่าวคือ "ดีชั่วไม่จำเป็นต้องมีบริบทห้อมล้อม" แต่คนไทยต้องเป็นคนดี สังคมไทยต้องเป็นสังคมของคนดี และผู้ปกครองประเทศไทยต้องเป็นคนดี อีกทั้ง "ความเป็นคนดี" มักมีนัยสัมพันธ์ทางอำนาจและเชื่อมโยงกับความคิดอำนาจนิยม กลายเป็นฐานคิดที่สนับสนุนให้คนจำนวนน้อยมีอำนาจเหนือคนส่วนใหญ่
การชุมนุมของ กปปส. บริเวณพื้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยImage copyrightGETTY IMAGES
แนวคิดนี้ถูกนำมาใช้อย่างเข้มข้นที่สุดในช่วงต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และสนับสนุนรัฐประหารเมื่อต้นปี 2557 ซึ่งผู้นำการชุมนุมยืนยันว่าคนเราไม่เท่ากัน อำนาจทางการเมืองควรอยู่ในมือของคนดีเท่านั้น และคนไม่ดีไม่ควรมีสิทธิในเรื่องการเมืองปกครอง
  • "เป็นการเอาความเป็นคนดีมาใช้สร้างอัตตารวมหมู่ เป็น Collective Ego ซึ่งก่อเกิดเป็นอัตลักษณ์ของกลุ่มผู้ประท้วง ขณะเดียวกันก็กดเหยียดฝ่ายตรงข้ามให้มีฐานะต่ำกว่าในทางศีลธรรม อันนี้แน่นอนเป็นการปูทางไปสู่การจะทำอย่างไรก็ได้ จะจัดการอย่างไรก็ได้กับฝ่ายที่ถูกระบุไว้แล้วว่าเป็นคนไม่ดี"
  • "คนไม่ดีในสายตาของฝ่ายที่ถือว่าตัวเองเป็นคนดีนั้น ไม่ได้มีแค่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หากยังรวมประชาชนที่เลือกรัฐบาลดังกล่าวด้วย ดังนั้นผู้ที่พวกเขาต้องการตัดสิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครองจึงไม่ได้มีแค่นักการเมือง หากยังรวมถึงชาวบ้านนับล้านหรือประชาชนทั่วทั้งประเทศ"
  • "เมื่อมองจากบริบทที่ห้อมล้อมเหตุการณ์ในปี 2557 เราจะพบว่าความเป็นคนดีหรือคนไม่ดีที่ถูกประดิษฐ์ขึ้น มีลักษณะสอดประสานกับฐานะทางชนชั้นของแต่ละฝ่ายอย่างแยกไม่ออก แถวหน้าสุดของกลุ่ม 'คนดี' มักจะหมายถึงคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี มีการศึกษาสูง ส่วน 'คนไม่ดี' ส่วนใหญ่เป็นชาวชนบท หรือคนชั้นกลางชั้นล่างในเมือง ซึ่งส่วนมากมีการศึกษาน้อยกว่าและมีรายได้ค่อนไปในทางต่ำ"
เสกสรรค์ ประเสริฐกุลImage copyrightJIRAPORN KUHAKAN/BBC THAI
ปรากฏการณ์ "คนดี" ทำให้ ดร.เสกสรรค์นึกถึงประเด็นพื้นฐานของปรัชญาการเมืองคือใครควรมีสิทธิเป็นผู้ปกครอง ซึ่งประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เพลโต นักปราชญ์ชาวกรีก เคยเสนอว่าอำนาจการเมืองไม่ควรอยู่ในมือคนทั่วไปที่สนใจแต่เรื่องทำมาหากิน หากควรอยู่ในมือชนส่วนน้อยที่มีคุณสมบัติเหมาะสม คนกลุ่มนี้จะต้องมีทั้งความปรีชาสามารถ คุณธรรมสูงส่ง ไม่มีทรัพย์สินส่วนตัว ใช้ชีวิตรวมหมู่ ไม่มีกระทั่งครอบครัว และต้องทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์สุขของผู้อยู่ใต้การปกครอง
  • "ถามว่าแล้ว 'ความเป็นคนดี' ในประเทศไทย มีลักษณะใกล้เคียงกับชนชั้นปกครองของเพลโตหรือไม่ คำตอบคือแค่เรื่องทรัพย์สินส่วนตัวก็สอบไม่ผ่านแล้ว เรื่องภูมิปัญญาก็ไม่แน่นัก อย่าว่าแต่เรื่องครองตัวเป็นโสดปราศจากครอบครัว"
เขาเห็นว่า ความดี-ความเลวสามารถพิจารณาได้จากหลายมุม ดังนั้นจำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายมานิยามกฎเกณฑ์ร่วมกัน เพื่อให้เกิดความเห็นชอบในเรื่องผิด ถูก ดี ชั่ว ในระดับที่พอเพียงต่อการจรรโลงสังคม และแนวคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพและระบอบประชาธิปไตยไม่ได้เป็นขั้วตรงข้ามกับ "ความเป็นคนดี"

3. ฝ่ายอนุรักษ์นิยม : ถ้าไม่เชื่อฟังรัฐ "ความเป็นไทยบกพร่อง"

แนวคิด "ความเป็นไทย" เป็นสิ่งที่รัฐไทยสร้างขึ้นล้วน ๆ มีไว้ใช้กับคนในประเทศมากกว่าใช้ต่อต้านต่างชาติอย่างจริงจัง จุดเน้นอยู่ที่ความจงรักภักดีและเชื่อฟังรัฐ ใครทำตัวเป็นเด็กดี คนนั้นจึงจะถูกนับเป็นคนไทย ใครที่คิดเห็นต่างจากรัฐ ก็มักถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับความเป็นคนไทย กระทั่งถูกขับไล่ไสส่งให้ไปอยู่ประเทศอื่น ยิ่งในช่วงหลังรัฐประหาร 2557 คนที่เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ พูดถึงประชาธิปไตย หรือพูดถึงหลักสิทธิมนุษยชน ล้วนแต่ถูกเพ่งเล็งว่า "ความเป็นไทยบกพร่อง"
ประชาชนให้กำลังใจทหารบริเวณหน้าสโมสรกองทัพบก ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557Image copyrightAFP/GETTY IMAGES
คำบรรยายภาพประชาชนให้กำลังใจทหารบริเวณหน้าสโมสรกองทัพบก ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557
อย่างไรก็ตามการปกป้องระบอบอำนาจนิยมโดยเชิดชูความเป็นไทย ด้วยการระบุว่าประชาธิปไตยเป็นแนวคิดของโลกตะวันตก อาจไม่เหมาะหรือใช้การไม่ได้กับประเทศไทย เขาเห็นว่าเป็นอันตรายต่อความปรองดองในสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากแนวคิดสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยกลายเป็นคุณค่าสากลมานานแล้ว และคนไทยจำนวนมากก็ศรัทธาในคุณค่านี้ ทว่าไม่ปฏิเสธว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีคนไทยบางกลุ่มรังเกียจประชาธิปไตยเพราะปัญหาทุจริตคอร์รัปชันของนักการเมืองบางคน กับปัญหาความแตกแยกระหว่างมวลชนที่สนับสนุนพรรคการเมืองคนละพรรค
  • "ระบอบประชาธิปไตยในโลกล้วนมีปัญหาไม่มากก็น้อยทั้งนั้น อันนี้เปรียบเทียบไปแล้วก็เหมือนปัญหาอันตรายบนท้องถนน เราคงไม่แก้ปัญหาด้วยวิธีเลิกใช้รถยนต์แล้วกลับไปนั่งเกวียน พร้อมกับภูมิใจว่าเกวียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทย"
  • ในอดีตเคยมีการใช้แนวคิด 'ความเป็นไทย' มาต่อต้านนักศึกษาฝ่ายซ้าย ผลที่ออกมาคือเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 และไฟสงครามประชาชนที่ลุกลามอยู่ในพื้นที่มากกว่า 50 จังหวัด โชคยังดีที่การใช้แนวคิดความเป็นไทยมาต่อต้านต่อต้านประชาธิปไตยในช่วงหลังรัฐประหาร 2557 ไม่ได้ส่งผลรุนแรงขนาดนั้น กระนั้นก็ตาม เปลวไฟในใจคนอาจจะยังคุกรุ่นอยู่ก็ได้ ในเมื่อธงแห่งความเป็นคนดีและความเป็นไทย ถูกชูโดยกลุ่มชนที่ได้เปรียบเพื่อใช้กดเหยียดชนชั้นล่าง ๆ ในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำเป็นอันดับ 3 ของโลก ความคิดใดที่เน้นย้ำแต่ความ 'ด้อยกว่า' ของคนจำนวนมหาศาล ความคิดนั้นย่อมนำมาซึ่งหายนะมากกว่าความเจริญ
ปัญหาใหญ่ของประชาธิปไตยมิได้อยู่ที่การถูกยึดพื้นที่ หรือถูกล้มกระดานอยู่เป็นระยะ ๆ โดยฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น หากอยู่ที่ความไม่สามารถป้องกันตัวของระบอบและผู้คนที่สมาทานแนวคิดชุดนี้ด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ฝ่ายที่ล้มระบอบยังอ้างว่าทำไปเพื่อพิทักษ์ประชาธิปไตยหรือสร้างประชาธิปไตยที่ดีกว่า ซึ่งในทัศนะของ ดร.เสกสรรค์เห็นจุดอ่อนของฝ่ายประชาธิปไตย ดังนี้

4. ฝ่ายก้าวหน้า : พรรคการเมืองเป็น "อวตารใหม่ของระบบอุปถัมภ์"

ในแต่ละช่วงที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย นักการเมืองมักเป็นผู้เล่นหลักมากเกินไป ในขณะที่นักการเมืองส่วนใหญ่มีแนวคิดประชาธิปไตยค่อนข้างแคบ อาศัยแต่การเลือกตั้งเป็นหนทางก้าวสู่อำนาจและหมกมุ่นอยู่กับบทบาทในรัฐสภา จนลืมความสำคัญขององค์ประกอบอื่น ๆ ของระบอบ เช่น บทบาทของประชาสังคม ภาคประชาชน สื่อมวลชน หรือแม้แต่เสียงวิจารณ์ของสามัญชน ด้วยเหตุนี้บรรดานักการเมือง/พรรคการเมืองไม่ได้พยายามผลักดันให้มีการขยายพื้นที่ประชาธิปไตยออกไปในระดับโครงสร้าง เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงของตัวระบอบ
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปราศรัยระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2554 ที่จ.บุรีรัมย์ ก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 ก.ค. 2554Image copyrightGETTY IMAGES
คำบรรยายภาพน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2554 ที่ จ.บุรีรัมย์
เรื่องที่นักการเมือง/พรรคการเมืองควรทำ แต่ไม่ได้ทำมีอยู่ 3 ประการคือ กระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น, ปฏิรูประบบราชการให้ยึดโยงกับประชาชน, ขยายงานรัฐสภาด้วยการเกี่ยวร้อยภาคประชาชนเข้ามาไว้ในกระบวนการนิติบัญญัติอย่างสม่ำเสมอ
  • "ที่ผ่านมาบรรดาพรรคการเมืองและนักการเมืองไม่เพียงลืมผลักดันให้มีการขยายโครงสร้างประชาธิปไตยเท่านั้น หากยังใช้ความสัมพันธ์แบบจารีต ไม่เป็นสมัยใหม่ มาสร้างฐานเสียงทั้งในและนอกพรรค ระบบพรรคการเมืองกลายเป็นอวตารใหม่ของระบบอุปถัมภ์ ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วขัดกับปรัชญาเรื่องสิทธิเสรีภาพเป็นอย่างยิ่ง"

5. ฝ่ายก้าวหน้า : รัฐบาลเลือกตั้งมองภาคประชาชนเป็นปฏิปักษ์

รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมักมีท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อความเคลื่อนไหวทางการเมืองของภาคประชาชนที่เป็นอิสระ โดยเห็นว่าไม่ใช่มวลชนของตน แทนที่จะดึงประเด็นของประชาชนเข้าสู่กระบวนการทำงานของรัฐ กลับมุ่งกำราบปราบปราม ทำให้กลุ่มเคลื่อนไหวของภาคประชาชนจำนวนหนึ่งเกิดความคับแค้นจนขาดสติ หันไปสนับสนุนรัฐประหารและระบอบอำนาจนิยม
  • "การที่นักการเมืองเป็นผู้เล่นหลักบนเวทีประชาธิปไตยแล้วมองไม่เห็นบทบาทของผู้เล่นอื่น มองไม่เห็นความเปราะบางของระบอบดังกล่าวในสังคมไทย ย่อมทำให้เกิดความประมาทในการใช้อำนาจ และทำให้ประชาธิปไตยกลายเป็นโครงสร้างเสาเดียว เมื่อเสานี้ล้มหรือถูกโค่น ทั้งโครงสร้างก็พังทลายลงมา"
เสกสรรค์ ประเสริฐกุลImage copyrightJIRAPORN KUHAKAN/BBC THAI
ดร.เสกสรรค์เชื่อว่า การต่อสู้ทางความคิดในประเทศไทยยังต้องดำเนินต่อไปอีกนาน กระทั่งตลอดไป ตราบเท่าที่ "โลกที่เราเห็นคือโลกที่เราคิด" ประเด็นจึงไม่ได้อยู่ที่ทำอย่างไรเราจึงจะคิดเห็นและมองโลกเหมือนกันทั้งประเทศ แต่นำความขัดแย้งทางความคิดมาไว้ในปริมณฑลที่จัดการได้ด้วยวิธีใด
"ตราบเท่าที่ความคิดสมบูรณ์แบบไม่มีอยู่ในหัวใคร ก็ย่อมไม่มีใครที่สามารถมองเห็นโลกได้อย่างครบถ้วน" เขากล่าวในช่วงท้าย
สำหรับกิจกรรมปาฐกถาพิเศษ "ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 16" จัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบ 102 ปี วันคล้ายวันเกิด ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาชิกขบวนการเสรีไทย ทั้งนี้ ดร.ป๋วยได้รับการประกาศยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกโดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ในวาระ 100 ปีชาตกาลของเขา โดยถือเป็นคนไทยคนที่ 26 ที่ได้รับเกียรตินี้ แม้ถึงแก่อนิจกรรมไป 19 ปี แต่ผลงานและเกียรติประวัติในอดีตยังถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่อง

บริษัทประกันยอมจ่าย 'คิงส์เกต' เสี่ยงภัยการเมือง หลัง คสช.อ้าง ม.44 ปิดเหมือง

บริษัทประกันยอมจ่าย 'คิงส์เกต' เสี่ยงภัยการเมือง หลัง คสช.อ้าง ม.44 ปิดเหมือง
'คิงส์เกต' บริษัทสัญชาติออสเตรเลีย เจ้าของเหมืองชาตรี ใน จ.พิจิตร ซึ่ง คสช. อ้าง ม. 44 สั่งปิดไปเมื่อปี 60 เผยว่าบริษัทประกันยอมจ่ายชดเชย 82 ล้านดอลลาร์ เหตุ 'เสี่ยงภัยทางการเมือง' พร้อมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายกรณี 'คิงส์เกต' ฟ้องรัฐบาลไทยละเมิดข้อตกลงการค้าเสรีด้วย
บริษัทซูริก อินชัวรันซ์ ออสเตรเลีย และธุรกิจประกันที่เกี่ยวข้อง ยอมรับข้อตกลงการเจรจาไกล่เกลี่ยร่วมกับบริษัทคิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด จำกัด และจะจ่ายเงินชดเชยให้แก่คิงส์เกต รวม 82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2,542 ล้านบาท) โดยจะแบ่งจ่ายเงิน 55 ล้านดอลลาร์ภายในวันที่ 15 เม.ย.2562 หลังจากกลุ่มบริษัทประกันยอมรับว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับ บ.คิงส์เกต เป็นความเสี่ยงทางการเมือง
เว็บไซต์ Insurance Business Magazine สื่อของออสเตรเลีย รายงานเพิ่มเติมว่า การเจรจาไกล่เกลี่ยครั้งนี้ยุติลงด้วยดีก่อนถึงกำหนดที่ศาลสูงออสเตรเลียจะมีคำตัดสินต่อกรณีดังกล่าวในเดือน มิ.ย. และบริษัทประกันจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายราว 3.9 ล้านดอลลาร์ ที่คิงส์เกตต้องใช้ในกระบวนการยื่นฟ้องต่อคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ให้ดำเนินการกับรัฐบาลไทย ฐานละเมิดข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างไทย-ออสเตรเลีย หรือ TAFTA
กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากกรณีรัฐบาลทหารไทยใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 72/2559 ปิดเหมืองแร่ทั่วประเทศ ทำให้เหมืองทองคำชาตรี ซึ่งตั้งอยู่ใน ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร และเป็นกิจการของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งคิงส์เกตเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ได้รับผลกระทบต้องปิดทำการไปด้วย นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2560
คิงส์เกตระบุว่า คำสั่งระงับกิจการเหมืองแร่ของรัฐบาลไทย เกิดขึ้นก่อนจะสิ้นสุดวาระสัมปทานเหมืองทองคำชาตรีในปี 2563 และ 2571 ทำให้บริษัทสูญเสียรายได้ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทำให้หุ้นของคิงส์เกตในตลาดหลักทรัพย์ร่วงลงทันที และการกระทำของรัฐบาลทหารไทยเป็นการละเมิดข้อตกลง TAFTA ที่กำหนดเงื่อนไขเอาไว้ว่าทางการไทยและออสเตรเลียต้องให้การคุ้มครองนักลงทุนต่างประเทศ
ทั้งนี้ รัฐบาลไทยออกคำสั่งปิดเหมืองทองคำชาตรีก่อนหน้านี้แล้วครั้งหนึ่ง โดยระบุว่าส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในละแวกใกล้เคียง แต่การจัดทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสุขและสิ่งแวดล้อมของหน่วยงานรัฐบาลไทยต่อกรณีเหมืองทองคำชาตรียังไม่ยุติ ทำให้คิงส์เกตระบุว่าสถานการณ์ที่บริษัทต้องเผชิญเป็น 'ความเสี่ยงทางการเมือง' ไม่เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม
ตั้งทีมเจรจาเหมืองทองอัครา ยุติยื่นอนุญาโตฯ

ม.44 อาจทำให้ไทยเสียเปรียบในกระบวนการอนุญาโตตุลาการ
เว็บไซต์อินชัวรันส์ นิวส์ สื่อออสเตรเลีย รายงานว่า เหมืองทองคำชาตรีอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ไปทางเหนือประมาณ 280 กิโลเมตร เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2544 และผลิตทองคำได้ปีละกว่า 1.8 ล้านออนซ์ และเงินอีกประมาณ 10 ล้านออนซ์ ก่อนที่รัฐบาลทหารไทยจะออกคำสั่งปิดเหมืองทั่วประเทศในเดือน ธ.ค. 2559 ทำให้บริษัทสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมาก จึงยื่นเรื่องเบิกค่าชดเชยทีไ่ด้รับจากความเสี่ยงทางการเมืองจากบริษัทประกันต่างๆ รวมเป็นเงินกว่า 200 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 6,200 ล้านบาท) แต่บริษัทประกันปฏิเสธที่จะจ่ายเงิน ตัวแทนฝ่ายกฎหมายของคิงส์เกตจึงนำเรื่องยื่นฟ้องต่อศาลในรัฐนิวเซาท์เวลส์ของออสเตรเลีย 
กระบวนการพิจารณาคดียืดเยื้อมานานเกือบ 2 ปี แต่ก่อนจะถึงกำหนดนัดหมายพิพากษาในเดือน มิ.ย.2562 คิงส์เกตกับกลุ่มบริษัทประกันสามารถยอมรับข้อตกลงในการเจรจาไกล่เกลี่ยร่วมกันได้ แต่กรณีของคิงส์เกตกับรัฐบาลไทย 'ยังไม่สิ้นสุด' 
ก่อนหน้านี้ในเดือน ส.ค. 2559 นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการฝ่ายประสานงานกิจการภายนอก บริษัท อัครา รีซอร์สเซส ระบุว่า การสั่งระงับดำเนินกิจการเหมืองทองคำชาตรี กิจการของบริษัทอัคราฯ เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบธรรม ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และข้อเท็จจริงที่ดีพอ และระบุว่า ปัญหาความขัดแย้งเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่เป็นเพียงข้ออ้างจากคนบางกลุ่ม ที่มีความขัดแย้งเรื่องปัญหาที่ดินกับเหมืองทองคำ โดยเขากล่าวหาว่า มีคนบางกลุ่มพยายามเสนอขายที่ดินให้บริษัทในราคาที่สูงกว่าราคาประเมิน แต่บริษัทไม่สามารถรับซื้อไว้ได้ จึงมีการเคลื่อนไหวต่อต้านเหมืองทองคำ
หลังจากตัวแทนของคิงส์เกตเจรจาไกล่เกลี่ยกับรัฐบาลไทยหลายรอบเมื่อปี 2560 แต่ไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้ภายในกรอบเวลา 3 เดือนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกระบวนการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน (ISDS) คิงส์เกตตัดสินใจนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาคดีของคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ
ขณะที่นักกฎหมายไทยบางส่วนเตือนว่า การใช้คำสั่ง คสช. ตามมาตรา 44 ปิดเหมืองแร่ทั่วประเทศ รวมถึงเหมืองทองคำชาตรี เป็นการใช้ 'กฎหมายพิเศษ' ซึ่งไม่มีในประเทศอื่นๆ รวมถึงประเทศออสเตรเลียซึ่งเป็นคู่สัญญาในข้อตกลง TAFTA หากประเด็นนี้เข้าสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ไทยมีโอกาสเสียเปรียบและอาจแพ้คดีได้ ใกล้เคียงกับกรณี 'ค่าโง่ทางด่วน' เพราะเป็นการสั่งปิดทั้งที่สัญญาสัมปทานยังไม่หมด และเอกชนได้ลงทุนไปแล้ว ซึ่งจะทำให้เอกชนสูญเสียความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจในประเทศไทย 

ลำดับเหตุการณ์ กรณีพิพาท 'คิงส์เกต-รัฐบาลไทย'
2544 : บริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด ได้รับใบอนุญาตประทานบัตร เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำใน จ.พิจิตร พื้นที่รวม 3,900 ไร่ ครอบคลุม 3 จังหวัด พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ (ใบประทานบัตรเหมือง 'ชาตรีเหนือ' หมดอายุปี 2571 ส่วนเหมืองชาตรีใต้ ประทานบัตรหมดอายุปี 2563 )
2551 : บ.อัคราฯ ขอขยายพื้นที่ แต่ไม่ผ่านรายงานผลกระทบวิเคราะห์สิ่งแวดล้อม (EIA)
2553 : บ.อัคราฯ สร้างบ่อเก็บกักแร่แห่งที่ 2 ทั้งที่ยังไม่ได้รับอนุญาต และผิดวัตถุประสงค์การขออนุญาตในการใช้พื้นที่ สร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ทำให้ชาวบ้านรวมตัวยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้ระงับใบประทานบัตรของเหมืองชาตรี
2557 : ศาลปกครองพิษณุโลกมีคำพิพากษา 6 ข้อ หนึ่งในนั้นคือให้ บ.อัครา ระงับการประกอบโลหกรรมในพื้นที่ และห้ามออกใบอนุญาตขยายโรงงาน เพื่อบรรเทาผลกระทบชั่วคราว
2559 : เครือข่ายชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบเข้ายื่นหนังสือต่อรัฐบาล คสช. นำไปสู่การตั้งคณะกรรมการร่วม เพื่อแก้ไขปัญหา จากนั้น คสช.ใช้มาตรา 44 ให้ผู้ประกอบการที่ได้รับประทานบัตรและใบอนุญาตต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการเหมืองแร่ทองคําระงับประกอบกิจการ ตั้งแต่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป 
2560 : เดือน ส.ค. คิงส์เกตออกแถลงการณ์ระบุว่าตัวแทนของบริษัทเข้าพบกับตัวแทนของรัฐบาลไทย เพื่อขอให้ยกเลิกคำสั่งระงับกิจการเหมืองทองคำชาตรี และรัฐบาลไทยยืนยันจะไม่จ่ายค่าชดเชย แต่จะพิจารณาผลประโยชน์หรือข้อผ่อนผันอื่นๆ ให้แก่กิจการของบริษัทที่อยู่ในประเทศไทยแทน ทำให้บริษัทยื่นฟ้องรัฐบาลไทยในกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศในเดือน พ.ย.
2562 : บริษัทประกันภัยยอมจ่ายเงินค่าชดเชยความเสี่ยงทางการเมืองรวม 82 ล้านดอลลาร์แก่คิงส์เกต

'ดร.สมเกียรติ' แฉ อเมริกามีแผนสร้างสงครามกลางเมืองในไทย!

'ดร.สมเกียรติ' แฉ อเมริกามีแผนสร้างสงครามกลางเมืองในไทย!
9 เม.ย.62- ดร.สมเกียรติ โอสถสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หัวข้อ คนไทยมองอเมริกาอย่างไร เรื่องที่ดาเนียล รัสเซล อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ควรรู้ และตอบ โดยระบุว่า ไทยกับอเมริกามีความสัมพันธ์กันมา 180 ปี แต่คนเลือกที่จะเรียนรู้ พบเห็น และจำเหตุการณ์ที่เกิดขื้นในช่วงชีวิตของเขาเท่านั้น กลายเป็นความรู้ของคนรุ่นอายุหนื่งเกี่ยวกับอเมริกา
หนึ่ง ประชาธิปไตย
อเมริกามาข่มขู่ให้ไทยไปรบในสงครามเวียดนาม ใช้ไทยเป็นฐานทัพส่งกำลังไปถล่มประเทศในอินโดจีนอยู่หลายปี ในช่วงนั้นอเมริกาให้ความสนับสนุนการรัฐประหารของไทยทุกครั้ง เพื่อความมั่นคงของประเทศไทย
อยากรู้ว่าอเมริกาเปลี่ยนแปลงกฏหมาย รัฐธรรมนูญอะไรบ้าง ที่ทำให้ท่าทีของอเมริกาเปลี่ยนแปลงไป หรือเป็นการตีความของผู้บริหารอเมริกาปัจจุบันเท่านั้น
วันนี้ประเทศไทยเสี่ยงที่จะเกิดสงครามกลางเมือง เรามีลำดับความสำคัญของเรา ที่ต้องรักษาสันติภาพ
จะอ้างประชาธิปไตยมาสร้างสงครามกลางเมืองในประเทศเราหรือ
หรือต้องการรัฐบาลที่สัญญาว่าจะให้อเมริกาตั้งฐานทัพ เพื่อจะรบกับจีน ไทยก็กลายเป็นสมรภูมิน่ะซี
ดาเนียลเห็นว่าการปกครองของซาอุดิอารเบียเป็นประชาธิปไตยมากกว่าไทยหรือ ทำไมจีน เวียดนามที่เป็นคอมมิวนิสท์อเมริกาจืงยอมรับอย่างดี ทำไมอเมริกาจึงมีท่าทีต่อการรัฐประหารในอียิปต์ต่างจากไทย
ดาเนียลควรอธิบายว่าเรื่องจริงคืออะไร หากต้องการแค่จะมาทำนโยบายปักหมุดเอเซียให้สำเร็จ ก็ไม่เห็นจะต้องอ้างโน่นอ้างนี่ให้มากความ
เรื่องนี้เป็นเรื่องความน่าเชื่อถือ ความมีมาตรฐานของประเทศยูน่ะ ดาเนียล ไม่มีของพวกนี้ ไม่มีใครยอมรับเป็นผู้นำดอก
สอง ทำไมอเมริกาจึงทิ้งพันธมิตรในสงคราม
อเมริกาเข้าร่วมรบกับเวียดนามใต้ ลาว กัมพูชา ชวนไทยไปด้วย จู่ๆประเทศยูก็ขนเครื่องบิน ออกเรือกลับบ้านเฉยเลย ไม่บอกใคร
เวียดนาม ลาว เขมรแตก คนอพยพเข้าไทยสามล้าน มาช่วยอะไรบ้างไหม ทิ้งพันธมิตรไทยแลนด์ไว้มีกระสุนพอรบแค่ 3 วัน
คนเอเซียเขาถือมากเรื่องทิ้งเพื่อน ความเชื่อถือไว้วางใจอเมริกาหมดไปแล้วทั้งในไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา และประเทศเอเซียทั้งหมด
ดาเนียลช่วยอธิบายหน่อยว่า ทำไมจึงทิ้งพันธมิตรร่วมรบ แล้วที่เป็นพันธมิตรตอนนี้ มีอะไรเป็นหลักประกันว่าจะไม่ทิ้งกันอีก ปัญหาความน่าเชื่อถือเหมือนกัน
สาม ช่วงสงครามเวียดนาม อเมริกาสร้างโสเภณีเด็ก ยาเสพติด ทำลายสังคมไทยยับเยิน
คนไทยยังจำภาพทหารอเมริกันกับเด็กไทยสูงแค่เอวเดินกันตามถนน ความจำคือทหารอเมริกันเอาเด็กจากท้องนามาบำเรอกาม มากมาย เปิดบาร์ คลับ ขนยามาค้า เหมือนเมืองแองเจลีสในฟิลิปปินส์ ปัญหาพวกนี้ยังแก้ไม่จบ ตอนอเมริกันกลับ ร้านค้าในอีสานปิดครึ่งเมืองทุกจังหวัด ดาเนียลช่วยอธิบายว่าตอนนี้ทหารอเมริกันเลิกทำแบบเก่าแล้วยัง
สี่ วิกฤติเศรษฐกิจ
เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 ประเทศไทยขอความช่วยเหลือเงินกู้มาค้ำสำรอง อเมริกาไม่ให้แม้แต่เซนต์เดียว แต่ให้เม็กซิโกกู้ 56 พันล้านเหรียญ เงินที่ไทยกู้มา 17 พันล้านเหรียญได้จากประเทศเอเซียทั้งนั้น ดาเนียลช่วยอธิบายว่าเราเป็นพันธมิตรแบบไหนกันวะ
แล้วเมือทรัพย์สินไทยราคาตก กองทุนอเมริกาก็มาซื้อราคาถูก กองทุนของอเมริกามาทุบไทยเดี่้้ยง คนไทยทั้งประเทศเห็นอเมริกาเป็นโจร ดาเนียลช่วยอธิบายหน่อยว่าทำไมอเมริกาจึงมีท่าทีต่อพันธมิตรเช่นนั้น
พอตอนนี้เราลำบาก มาอัดใหญ่เลย ตัดการส่งออกบ้าง ด่าบ้าง มันเป็นนิสัยคนอเมริกันที่ปฏิบัติต่อเพือนหรือเปล่า
คนเอเซียถือ เลิกคบ ไม่อยู่ใกล้อเมริกานานๆ ประเทศเจริญดีมาก เจริญทั้งเอเซีย
ห้า อเมริกาสร้างสงครามในทุกที่ที่ไปยุ่งเกี่ยว
คนไทยนั่งดูทีวี อ่านหนังสือพิมพ์ เห็นอเมริกาไปบุกที่โน่นที่นี่ อิรัก ซีเรีย ละติน เละไปหมด ใช้กลยุทธทำให้เศรษฐกิจประเทศต่างๆพัง คนลี้ภัยเป็นล้านๆคนไทย คนเอเซียกลัวมาก ไม่อยากให้อเมริกาเข้าใกล้
ดาเนียลช่วยมาพูดให้คนไทยเชื่อมั่นอเมริกาหน่อยได้ไหม ว่าไม่มีอันตราย เห็นไปสร้างสงครามกลางเมืองที่โน่นที่นี่ เที่ยวนี้จะเล่นไทยหรือ ถามดื้อๆยังงี้แหละ
หก สัญญา Trans Pacific Partnership
เป็นสัญญาที่ตลกมาก คนเซ็นไม่รู้รายละเอียดสัญญา เอาขื้นเวบหน่อยได้ไหม
เจ็ด กำลังอำนาจของอเมริกา
คนไทยติดตามข่าวอเมริกา รู้ว่าอเมริกามีคนที่จัดว่าจนร่วม 70 ล้านคน มีปัญหาภายในเรื่องผิว มีคนในคุก คนมีคดีร่วม 20 ล้านคน มีแก๊งร่วมสามแสนกว่าแก๊ง รัฐไม่มีเงิน ต้องลดกำลังทหารสิบปี ต้องตัดงบทหารต่อเนื่องสิบปี ที่คนมองเห็นคืออเมริกาหันมาใช้การปลุกปั่นให้คนในประเทศต่างๆเกิดการรบกันเอง เพื่ออเมริกาได้ประโยชน์โดยไม่ต้องเสียเงิน ดาเนียลช่วยอธิบายว่าไม่มีแผนสร้างสงครามกลางเมืองในไทยหน่อย
นี่คือเหตุผลที่ดาเนียลพูด คนไทยไม่ฟัง แล้วคนไทยก็ด่าเอา เห็นเป็นตัวซวย ต้องอธิบายให้ฟัง จะได้เข้าใจ แล้วกลับมาพูดกันตรงๆแบบคนเอเซียพูดกัน ไม่ต้องลวดลายมาก ยุคนี้ ต้องพูดให้คนไทยเข้าใจ เพราะเราตัดสินใจ
ที่นี่ประชาธิปไตยมากนะครับ
In God, We Trust
บทความนี้ทำให้ระดับนโยบายในวอชิงตัน ทุกโต๊ะทุกหน่วยงาน ช็อค ไม่รู้จะตอบอย่างไร คนไทยไม่เหมือนเดิม.

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ “ถ้าเป็นปีศาจ ผมคงเป็นปีศาจของชนชั้นปกครอง”

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ “ถ้าเป็นปีศาจ ผมคงเป็นปีศาจของชนชั้นปกครอง”





In focus

  • เป้าหมายหลักของพรรคอนาคตใหม่คือการล้มล้างอำนาจของ คสช. ธนาธรเชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะยังไม่นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง แต่เป็นบันไดก้าวแรก ซึ่งแม้ต้องใช้เวลานาน แต่เขาคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องลงมือทำ
  • เขามองว่า การสร้างความขัดแย้งและความเกลียดชังเป็นวิธีของการเมืองแบบเก่า เพื่อให้คนเชื่อว่ากองทัพคือทางออก แต่สำหรับพรรคอนาคตใหม่ การเมืองต้องพูดกันด้วยหลักการมากกว่าโจมตีตัวบุคคล
  • ความฝันของเขาไม่มีอะไรซับซ้อน นั่นคือการทำให้ผู้คนเสมอภาคกันภายใต้กฎหมาย เศรษฐกิจและการลงทุนใหญ่ไม่ถูกผูกขาดด้วยทุนใหญ่อีกต่อไป
  • ใครก็ตามที่มองว่าเขาเป็นปีศาจ ก็อาจจะเป็นคนที่ต้องสูญเสียอำนาจทั้งการเมืองและเศรษฐกิจไป หากฝันของเขาสำเร็จถึงเป้าหมาย
  • หากภารกิจทางการเมืองสำเร็จแล้ว ธนาธรอยากออกไปจากพื้นที่ทางการเมืองทันที เขามองภาพตัวเองในอีก 10 ปีข้างหน้าว่าจะเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเล็กๆ มีบ้านริมน้ำ และได้คืนเวลาให้กับลูกๆ และครอบครัว
นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่กับนโยบายก้าวหน้า พร้อมประกาศท้าชนกับอำนาจเผด็จการครองเมือง และแก้ไขรัฐธรรมนูญปี’60 ชื่อของ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ ไม่เคยตกจากกระแสทั้งบวกและลบ นับแต่ปัญหาใหญ่น้อยภายในพรรค ไล่เรื่อยมาถึง#ฟ้ารักพ่อ
แม้จะได้รับแรงสนับสนุนจากคนรุ่นใหม่ไม่น้อย แต่ธนาธรก็เป็นอีกตัวละครหนึ่งทางการเมืองที่ถูกโจมตีอย่างหนักหน่วงไม่แพ้พวกหัวขั้วใหญ่ๆ บนถนนการเมืองที่สะสมแรงรักแรงแค้นกันมา หลายคำกล่าวหาและปรามาสพุ่งเข้าหาเขาจากฝ่ายที่คิดต่าง บ้างก็ตั้งข้อสงสัย ฯลฯ จนถึงการตกเป็นคดีความและข่าวดิสเครดิตต่างๆ ที่ทำให้เขาต้องออกมาชี้แจงโต้ตอบอยู่เป็นระยะ
4 วันก่อนสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ เราได้สนทนากับธนาธร—ผู้ที่ดูไม่รู้เหน็ดเหนื่อยกับการเดินสายปราศรัยและการพบปะกับสื่อต่างๆ แน่นอนว่าคำตอบของเขายังคงชัดเจน แจ่มแจ้ง แข็งกร้าว และยึดมั่นในอุดมการณ์
แม้ว่าจะมีความเห็นจากอีกฝั่งการเมืองชี้นิ้วว่าเขาเป็น‘ปีศาจ’ ตนใหม่ของสังคมไทยก็ตาม

คุณรู้สึกอย่างไรกับการเจอคดีความในช่วงนี้

ไม่มีข้อพิสูจน์นะครับ แต่ผมเชื่อว่าคดีนี้มีแรงจูงใจทางการเมือง เพื่อกดดันเรา เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของผม ในฐานะหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งตอนนี้คดีก็ได้ถูกส่งต่อจากชั้นตำรวจสู่ชั้นอัยการ ผลจะเป็นอย่างไรก็คงขึ้นอยู่กับกระบวนการยุติธรรม และพรรคอนาคตใหม่ก็จะต่อสู้ในชั้นศาลต่อไป
ผมต้องบอกว่าผมและแกนนำพรรคอนาคตใหม่อีกสองท่าน ก็คือคุณไกรก้อง ไวทยาการ และคุณจารุวรรณ ศรัณย์เกตุ ไม่ได้ตื่นตระหนกอะไร แล้วก็ไม่ได้ย่อท้ออะไรกับการทำงาน พวกเราก็คงทำงานอย่างขันแข็งต่อไปครับ

นอกจากการพยายามทำลายความน่าเชื่อถือแล้ว คดีความจะส่งผลกระทบอื่นด้วยไหม

สิ่งเดียวที่ทำให้เราลำบากก็คือเสียเวลาในการทำงาน มันต้องเดินทางไปโน่นไปนี่ เพื่อต่อสู้คดีในกระบวนการยุติธรรม แต่กำลังใจเราไม่เคยตก ไม่ได้ทำให้ความฮึกเหิมของเราน้อยลง มันยังทำให้เรามั่นใจด้วยว่าเรามาถูกทางแล้ว

อย่างกรณีที่คุณถูกโจมตีเรื่องนิตยสารฟ้าเดียวกัน คุณมีความเห็นอย่างไร

ก็ไม่มีอะไรนี่ ฟ้าเดียวกันก็เป็นนิตยสารเล่มหนึ่ง ผมมีส่วนร่วมในการก่อตั้งจริง แต่ฟ้าเดียวกันก็มีกองบรรณาธิการของเขาเอง ที่ผมเชื่อว่าเขามีจรรยาบรรณของกองบรรณาธิการที่แข็งแรงและสง่างามมากกว่าสื่ออื่นๆ ทั่วไปในประเทศไทย ถ้าผมจะไปก้าวก่ายเขามันคงเป็นไปไม่ได้
ฟ้าเดียวกันมีกองบรรณาธิการ มีผู้จัดพิมพ์โฆษณา ซึ่งอยู่ภายใต้กฎหมายของ พ.ร.บ.สิ่งพิมพ์อยู่แล้ว ถ้าใครคิดว่าฟ้าเดียวกันผิด เอาข่าวเท็จมาหลอกลวงประชาชนก็ไปฟ้องเขาสิ ผมไม่คิดว่ากองบรรณาธิการจะไม่มีเกียรติและศักดิ์ศรีจนยอมที่จะให้ผมจูงจมูกได้ ใครที่คิดอย่างนั้นก็ดูถูกกองบรรณาธิการของฟ้าเดียวกันมากเกินไป

ตั้งแต่คุณเริ่มลงสนามการเมืองมาจนบัดนี้ ได้เรียนรู้บทเรียนต่างๆ มากน้อยแค่ไหน

โอ้โห เยอะแยะเลย ถึงเราจะบอกว่ากำลังใจเราดีขึ้น แต่มันเป็นคนละเรื่องกับการเรียนรู้ ถามว่ามีสิ่งที่เราทำผิดพลาดไหม ต้องบอกว่ามีเยอะมาก เดี๋ยวก็พลาดเรื่องโน้น เดี๋ยวก็พลาดเรื่องนี้ นั่นก็เป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้และแก้ไข

ก่อนหน้านี้อนาคตใหม่ก็ถูกโจมตีจากอดีตกลุ่มNew Gen ของพรรคว่า ระบบการทำงานของพรรคได้กลายเป็นแบบtop-down ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยแนวราบเหมือนอย่างที่บอกไว้ตอนแรก

ผมว่าไม่น่าจะมีพรรคไหนที่เปิดกว้างเท่าเราอีกแล้วนะ ในทีมจังหวัดแต่ละทีมเขาก็มีอำนาจในการออกแบบกิจกรรมของเขาเอง ทีมส่วนกลางแทบไม่ได้ไปยุ่งอะไร แต่ละจังหวัด มีพื้นที่ มีอำนาจ และมีงบประมาณให้จัดสรรเต็มที่ ถ้าองค์กรเป็นอย่างนั้นจริงๆ คือทั้งหมดมาจากtop-down มันโตเร็วขนาดนี้ไม่ได้หรอกครับ ที่เราโตเร็วขนาดนี้ มีคนมาสนับสนุนพวกเราเยอะกว่านี้ เพราะเราเปิดกว้างต่างหาก
ผมยกตัวอย่าง ทีมงานจังหวัดของเรามีเล็กใหญ่ต่างกัน ทั่วประเทศไทยเรามีทีมงานพื้นฐานเป็นพันๆ คน ซึ่งส่วนใหญ่พวกเขามาด้วยใจ ไม่ได้มีค่าตอบแทน ผมว่าคงมีแต่พรรคเราพรรคเดียวที่ทำได้ และพวกเขาก็ล้วนแต่มีส่วนช่วยในการตัดสินใจในการบริหารพื้นที่จังหวัดของตัวเอง
แต่ไม่ต้องแปลกใจหรอก เพราะว่าการสร้างแพลตฟอร์มทางการเมืองที่ใหม่ขนาดนี้ ทุกคนเข้ามาทำงานแล้วย่อมมีความเห็นที่ไม่ตรงกันได้ ต้องยอมรับจริงๆ ว่าระหว่างทางก็ต้องมีคนที่หลุดออกไป เป็นเรื่องปกติ

แสดงว่าสมาชิกพรรคอาจจะไม่ได้มีอุดมการณ์ตรงกันไปทั้งหมด เพราะหลายครั้งที่มีการแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะแตกต่างกันไป

ก็พยายามทำนะครับ แต่ก็ต้องบอกว่ามันเป็นไปได้ทั้งหมดแหละ มันไม่สามารถ— คืออย่างนี้ แรกที่สุดคุณต้องกลับไปที่รัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญฉบับนี้บอกว่า คุณจะส่ง ส.ส. ลงสมัครในเขตไหนได้ คุณต้องมีสมาชิกในเขตนั้นๆ100 คน ดังนั้น มันจึงเป็นการบังคับโดยรัฐธรรมนูญ ให้คุณต้องมีสมาชิก ไม่อย่างนั้นจะส่ง ส.ส. ไม่ได้ โอกาสที่คุณจะเข้าไปมีอำนาจได้ก็น้อยลง
ดังนั้น ในทีมจังหวัดเองก็ได้ไปรับสมัครสมาชิก ซึ่งคนที่เข้ามาสมัครเป็นสมาชิกก็มีดีกรีที่ต่างกัน ถ้าเอาจังหวัดละ100 คน ทั้ง77 จังหวัด คุณจะทำให้คน7,700 คนมีความคิดทุกอย่างในแนวเดียวกันภายในเวลา8 เดือนได้รึเปล่า ผมว่าทำไม่ได้
คุณต้องมองโลกด้วยความเป็นจริง อย่ามองโลกด้วยความไร้เดียงสา มันทำไม่ได้หรอก แต่อย่างน้อยโดยหลักคือมีอุดมการณ์กลางเหมือนกัน นั่นคือเรื่องประชาธิปไตย คือการไม่เอาเผด็จการ ส่วนอื่นรอบนอกมันอาจจะต่างกัน บางคนเอากัญชา บางคนไม่เอากัญชา บางคนไม่เห็นด้วยกับLGBT บางคนก็เห็นด้วยกับLGBT คือกรอบข้างนอกอาจจะต่างกันบ้าง ซึ่งก็ไม่ได้แปลก เราไม่ได้คาดหวังให้คนทุกคนที่เข้ามาในพรรคเห็นด้วยกับเราในทุกเรื่อง

ความคาดหวังสูงสุดของอนาคตใหม่ในการเลือกตั้งครั้งนี้คืออะไร

เราพูดหลายครั้งแล้ว พรรคอนาคตใหม่ตั้งขึ้นมา ไม่ได้เพื่อส่งใครเป็น ส.ส. ไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อส่งใครเป็นรัฐมนตรี ไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อส่งธนาธรเป็นนายกรัฐมนตรี พรรคอนาคตใหม่ตั้งขึ้นมาเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทย

หมายถึงไม่ได้อยากเป็นรัฐบาล?

(ตอบทันที) ใครบอกว่าเราไม่เคยคิดจะเป็นรัฐบาลครับ ธนาธรพูดตลอดว่าธนาธรพร้อมเป็นนายกรัฐมนตรี พรรคอนาคตใหม่พร้อมที่จะนำการเปลี่ยนแปลง เราไม่เคยบอกว่าเราไม่ต้องการเป็นรัฐบาล แต่เราบอกว่าประเด็นที่สำคัญที่สุดคือการปักธงทางความคิด ไม่ใช่การได้มาซึ่งเสียง มันคนละเรื่องกัน
ทำไม? ถ้าเราทำให้ความคิดของเราเป็นความคิดสาธารณะได้ คะแนนเสียงมาเอง แล้วคุณจะได้เป็นรัฐบาล แต่ถ้าไม่พูดถึงความคิดหลัก หาเสียงด้วยวิธีอื่น ต่อให้เป็นรัฐบาล ก็เปลี่ยนแปลงประเทศไม่ได้ เราจะเป็นรัฐบาลด้วยการผลักดันความคิดของเราให้เป็นเรื่องหลักในสังคมก่อน เมื่อเป็นเรื่องหลักแล้วประชาชนจะเลือกเรา นี่คือการทำการเมืองแบบใหม่ นั่นคือการให้ประชาชนเลือกเพราะศรัทธาในความคิดที่ต้องการเปลี่ยนแปลงของเรา

คิดว่าพรรคอนาคตใหม่มาเร็วไปหรือช้าไปสำหรับการเมืองไทย

โอ้โห ไม่อยากจะตอบเลย ผมว่าผมไม่รู้หรอกนะในเชิงประวัติศาสตร์เราจะสามารถแต้มสีสันทางประวัติศาสตร์ให้การเมืองไทยได้มากน้อยแค่ไหน ไม่รู้ว่าเร็วไปหรือช้าไป แต่ผมรู้หนึ่งอย่าง ว่าเราเกิดมาในช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ ช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่น่าตื่นเต้นที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ในแง่หนึ่ง นอกจากน่าตื่นเต้นแล้วมันยังเป็นช่วงเวลาที่น่าหดหู่ที่สุดด้วย และเพราะมันทั้งน่าหดหู่และน่าตื่นเต้นนี้เอง ที่ทำให้พวกเราเกิดมา
ผมขอเพิ่มเติมตรงคำว่าน่าตื่นเต้นนิดนึง น่าตื่นเต้นก็คือการเข้ามาของเทคโนโลยี ก่อนหน้าคนรุ่นเรา แม้แต่การเลือกตั้งครั้งที่แล้ว เทคโนโลยียังแสดงศักยภาพของมันไม่เต็มที่ ดังนั้นการสร้างการเมืองใหม่มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของผู้คนยังจำกัดอยู่ที่ช่อง3-5-7-9 ยังถูกจำกัดที่โครงสร้างอิทธิพลของรัฐ ไม่ว่าจะผ่านกำนันผู้ใหญ่บ้าน แต่วันนี้การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของผู้คนเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง แล้วผมคิดว่าการเข้ามาของโซเชียลมีเดีย จะทำให้คณิตศาสตร์การเมืองแบบเก่าใช้ไม่ได้ในการเลือกตั้งครั้งนี้
ดังนั้น นอกจากมันเป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นและน่าหดหู่ที่สุดในประวัติศาสตร์แล้ว มันยังเป็นช่วงเวลาที่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ น่าจะเกิดได้ เป็นไปได้มากที่สุดในประวัติศาสตร์ด้วยเช่นกัน

คุณเชื่อมั่นในการเลือกตั้งครั้งนี้แค่ไหน ว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ประเทศได้จริงๆ

ไม่ต้องพูดให้มันโรแมนติกนะครับ การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงหรอก แต่เป็นจุดเริ่มต้น เป็นบันไดก้าวแรก ผมอยากให้มองมันในฐานะการเดินทาง อาจจะต้องใช้เวลา ไม่มีใครรู้ ห้าปี สิบปี หรือบางทีผมอาจจะตายไปแล้ว แต่ยังทำไม่เสร็จก็เป็นได้ ไม่มีใครรู้ รู้แต่ว่าความอยุติธรรมที่อยู่ในประเทศนี้มันมากเกินไป และมันนานเกินไปแล้ว มันต้องเริ่มลงมือทำจริงๆ สักที

มีพรรคการเมืองไหน ที่พรรคของคุณจะไม่มีวันร่วมมือด้วย

ภารกิจที่สำคัญที่สุดของการเลือกตั้งครั้งนี้คือการหยุดยั้งอำนาจของ คสช. หยุดยั้งการสืบทอดอำนาจ ถ้าแพ้ครั้งนี้ คสช. กลับมามีอำนาจได้ เขาจะอยู่กับเราไปอีก8 ปี จากที่อยู่มาแล้ว5 ปี นั่นหมายความว่าเราจะมีเขา13 ปี เผลออาจจะต้องอยู่ไปจนถึงแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ20 ปีด้วย รัฐประหารครั้งเดียวเอาเราไปสิบยี่สิบปี ดังนั้นแล้วเราแพ้ไม่ได้ ทำอย่างนั้นยังไม่พอ แม้ตัวองค์กรที่ชื่อ คสช. ก็จะหายไปหลังการเลือกตั้ง แต่ระบอบ คสช. จะยังอยู่กับเราในรูปแบบของรัฐธรรมนูญปี2560 ดังนั้นแค่หยุดยั้งการสืบทอดอำนาจอย่างเดียวไม่พอ ต้องแก้รัฐธรรมนูญปี‘60 ทั้งฉบับด้วยครับ
ดังนั้น ผมคิดว่านี่คือเงื่อนไขในการจะบอกว่าร่วมกับใคร หรือไม่ร่วมกับใคร ไม่ต้องดูชื่อหัวหน้าพรรค ไม่ต้องดูชื่อพรรค เอาหลักการเรื่องนี้มาคุยกัน ถ้าใครรับหลักการนี้ มาทำงานร่วมกัน เรายึดมั่นในหลักการ ผ่อนปรนในรายละเอียด
ทีนี้ ถามว่ามีพรรคไหนที่ไม่เข้าร่วมแน่นอน ก็ต้องพูดตรงๆ ว่ามีอยู่หนึ่งพรรค นั่นก็คือพรรคพลังประชารัฐ ทำไม? เพราะพรรคพลังประชารัฐตั้งขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์ชัดเจน คือการสืบทอดอำนาจของ คสช. ซึ่งพรรคการเมืองแบบนี้ ไม่ใช่ไม่เคยมีในอดีต พรรคเสรีมนังคศิลา(โดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม) เคยเกิดขึ้น พรรคสามัคคีธรรม(โดย พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก—ถูกมองว่าตั้งขึ้นเพื่อสืบทอดอำนาจ รสช.) เคยเกิดขึ้น
มันคือพรรคเฉพาะกิจที่เมื่อทหารทำรัฐประหารแล้วหนีแรงกดดันไม่พ้น ยังไงก็ต้องจัดการเลือกตั้ง แต่ผู้นำกองทัพยังอยากธำรงไว้ซึ่งอำนาจ สิ่งที่พวกเขาทำก็คือตั้งพรรคเฉพาะกิจขึ้นมา เพื่อผลักดันตัวเองให้กลับเข้าไปสู่อำนาจอีกครั้ง ดังนั้น ถ้ามองในแง่ประวัติศาสตร์แล้ว การเกิดขึ้นของพรรคพลังประชารัฐ ไม่มีอะไรที่น่าแปลกใจ ในทางกลับกัน เป็นสิ่งที่คาดหวังไว้แล้วตั้งแต่เกิดรัฐประหารด้วย ว่าจะต้องมีพรรคทหารตั้งขึ้นมา เมื่อการเลือกตั้งใกล้เข้ามาถึง ดังนั้น พรรคพลังประชารัฐมีอุดมการณ์ชัดเจนมาก ว่าเป็นพรรคที่ชูคุณประยุทธ์ จันทร์โอชาให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

สำหรับคนที่ไม่ค่อยมีความหวังกับประเทศชาติอีกแล้ว กับการเลือกตั้งครั้งนี้ คุณธนาธรอยากบอกอะไรกับพวกเขา

ถ้าคุณไม่ไปเลือกตั้ง เขากลับมาแน่ คุณได้ลุงตู่แน่

มีคนที่โจมตีว่าคุณจะเป็นปีศาจตนต่อไป ต่อจากคุณทักษิณ ชินวัตร คุณคิดเห็นอย่างไร

มันเป็นการทำลายกัน ผมคงต้องบอกว่า เผด็จการไม่สามารถทำรัฐประหารได้ ถ้าคนไม่ขัดแย้งกัน ดังนั้นวิธีการที่เขาทำเสมอมาก็คือทำให้คนเกลียดกลัวกัน เมื่อคนในชาติเกลียดชังกันได้เมื่อไร ก็จะเกิดช่องว่างที่ทำให้พวกเขาเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง นี่คือข้อหาต่อประชาธิปไตย ว่าเห็นไหม ประชาชนยังไม่พร้อม เห็นไหม ว่าประชาธิปไตยทำให้คนตีกัน เมื่อคนตีกัน ประเทศไปต่อไม่ได้ กองทัพคือทางออก รัฐประหารคือการแก้ไข นี่คือเรื่องที่เราถูกทำให้เชื่อมาตลอด
เพราะฉะนั้น ข้อกล่าวหาที่มาทำร้ายผม ก็คือผลพวงของการเมืองแบบเก่า การเมืองที่ทำให้12 ปีที่ผ่านมาเราไปไหนไม่ได้ ต้องอยู่กับการเมืองแบบนี้ไป สาดโคลนกัน ทำลายกัน ไม่พูดถึงหลักการ ไม่พูดถึงข้อเท็จจริง ซึ่งวิธีที่จะต่อสู้กับการเมืองแบบนี้ได้ ก็คือต่อสู้ด้วยความคิดสร้างสรรค์ ต่อสู้ด้วยข้อเท็จจริง ด้วยหลักการที่ถูกต้อง และพรรคอนาคตใหม่ก็จะเดินไปข้างหน้าอย่างนี้
ถ้าสังเกต8 เดือนที่ผ่านมา เราไม่เคยโจมตีตัวบุคคล เราโจมตี วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลด้วยหลักการมาตลอด ว่าหลักการมันไม่ถูกต้องยังไง ที่มาของอำนาจไม่ถูกต้องยังไง นี่คือการเมืองแบบที่เราอยากทำ แล้วมันก็แสดงให้เห็นแล้วว่า คนซื้อไอเดียการสร้างพรรคแบบเรา ที่ไม่เหน็บแนม ไม่กระแนะกระแหน ไม่วิพากษ์วิจารณ์ตัวบุคคล ไม่ใช้ข่าวลวง ไม่ใช้ข่าวที่ทำให้คนเกลียดชัง ทำลายกัน
ส่วนผมจะเป็นปีศาจหรือไม่ ถ้าเป็นปีศาจ ผมก็คงเป็นปีศาจของชนชั้นปกครอง เราเรียกร้องให้ทหารออกจากอำนาจ เรียกร้องให้ประเทศไทยไม่มีรัฐประหารอีกในอนาคต นี่คือข้อเรียกร้องที่คุณอยากได้ไหม? มีใครก่อนหน้าพรรคอนาคตใหม่เคยเสนอแบบนี้ไหม?
นี่คือความฝันที่ง่ายมาก ไม่มีอะไรซับซ้อน และไม่ได้ผิดแปลกไปจากที่สากลเขาเรียกร้องกัน เราต้องการประเทศไทยที่ทุนใหญ่จะไม่ผูกขาดเศรษฐกิจทั้งหมด เราต้องการประเทศไทยที่ทุนใหญ่ออกไปสร้างและดึงส่วนแบ่งจากตลาดโลกมาเพื่อต่อยอดให้กับทุนขนาดกลางขนาดเล็ก ไม่ใช่ทุนใหญ่หากินด้วยการเอาเปรียบทุนขนาดเล็ก เราอยากเห็นสังคมที่ความเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมายเกิดขึ้นจริง ไม่ใช่กฎหมายมีไว้ใช้แต่เฉพาะกับคนจน ขณะที่คนรวย คนมีอำนาจไม่เคยต้องติดคุกติดตะราง เราต้องการเห็นสังคมที่ลูกนายพลไม่สามารถไปข่มเหงคนอื่นได้
คนที่กลัวความฝันแบบนี้ คือกลุ่มคนที่ป้ายให้เราเป็นปีศาจ นั่นก็คือกลุ่มคนที่ถูกหลอกหลอนโดยความฝันของเรา โดยประเทศไทยในอนาคตที่เราวาดหวังไว้ คนกลุ่มนี้ที่จะสูญเสียอำนาจ ต้องสูญเสียทั้งการครอบงำทางเศรษฐกิจและการเมือง พวกเขากลัวข้อเสนอที่เราบอกว่าเป็นข้อเสนอที่ทำให้การเมืองเป็นของประชาชน ที่ทำให้ผลของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยจะเอาไว้รับใช้ประชาชน ไม่ใช่รับใช้คนเพียงไม่กี่คนในสังคมไทย

ย้อนกลับไปในวัยเด็ก อะไรที่หล่อหลอมแนวคิดหรืออุดมการณ์ทางการเมืองของคุณให้เป็นอย่างทุกวันนี้

ตอนเป็นเด็ก ผมเติบโตมาในครอบครัวที่เรียกได้ว่าเป็นชนชั้นกลาง ไม่ได้เป็นคนรวย พ่อแม่ผมตอนที่ท่านเป็นหนุ่มเป็นสาว ท่านต้องทำงานหนัก พ่อผมเองเรียนจบ ป.4 ดังนั้น จะบอกว่าผมเกิดมาจากครอบครัวที่รวยนี่ไม่ใช่ ความมั่งคั่งของครอบครัวมันถูกสะสมตอนที่ผมโตมา ตอนผมเริ่มเข้ามหาวิทยาลัย ก็เริ่มเห็นแล้วว่าเราเริ่มมีความมั่งคั่ง
ถามว่าเติบโตมายังไง ผมก็ต้องบอกว่าผมไม่เคยมีความคิดที่จะเข้ามาเป็นนักธุรกิจ หรือเข้ามาดูแลธุรกิจของที่บ้านเลย ผมอยากไปทำงานอย่างอื่น อยากเป็นNGO อยากทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชนที่ได้ใช้ความรู้ความสามารถ ใช้ศักยภาพของตัวเองช่วยเหลือผู้อื่น แต่มันมีอุบัติเหตุก็คือตอนที่พ่อผมเสียในปีที่ผมเรียนจบพอดี คุณแม่ก็เลยขอให้ผมกลับเข้ามาทำงานที่บริษัท นั่นก็คือจุดเริ่มต้นชีวิตธุรกิจของผม ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่เคยมีอยู่ในหัวเลย
แต่จุดเริ่มต้นทางการเมืองจริงๆ เริ่มตั้งแต่ปี2560 ผมเริ่มเห็นว่าประเทศไทยมันไม่มีความหวัง มันไม่รู้จะไปต่อยังไง แล้วมันก็จำเป็นที่จะต้องมีพลังใหม่ๆ ที่จะมาผลักดัน เปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้ไปข้างหน้า แล้วเรามองไม่เห็นเลยว่าพรรคการเมืองที่มีอยู่จะเป็นตัวแทนความฝันของเราได้อย่างไร ถ้าเราอยากได้สังคมที่เราอยากเห็น มันเหลืออยู่วิถีทางเดียว ก็คือลงมือทำเอง

คุณมองภาพตัวเองในอีก10 ปีข้างหน้าไว้อย่างไร

(หัวเราะ) 10 ปีเหรอ ผมอยากเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเล็กๆ ที่ไหนสักแห่ง อยากจะมีบ้านติดริมน้ำ อาทิตย์หนึ่งสอนสัก6 ชั่วโมง เอาเวลาไปนั่งอ่านหนังสือ มีเวลาไปท่องเที่ยวเชิงผจญภัยปีละสักครั้งสองครั้ง มีเวลาอยู่กับครอบครัว เอาเวลากลับคืนให้ลูกๆ แล้วก็ได้ความเป็นส่วนตัวของชีวิตกลับคืนมา

นั่นหมายถึงหลังจากได้ทำหน้าที่ทางการเมืองลุล่วงแล้ว?

นั่นอาจจะหมายความว่า ภารกิจทางการเมืองต้องสำเร็จแล้ว ถ้ามันสำเร็จแล้วผมคงไปทันที ผมไม่ได้อยากจะอยู่ที่นี่ แต่ผมต้องอยู่เพราะเห็นว่าประเทศไทยมันไม่มีคนทำ ก็ต้องทำเอง ดังนั้นถ้าภารกิจสำเร็จเมื่อไร ผมฝันเห็นชีวิตผมเป็นแบบนั้น เรียบๆ หาบ้านติดแม่น้ำที่ไหนสักแห่ง น่าจะประมาณภาคเหนือตอนล่างอะไรแบบนี้ ในเมืองเล็กๆ ที่ไม่แออัดเหมือนกรุงเทพฯ เพราะอยู่กรุงเทพฯ มานานแล้ว และรู้สึกว่าพอแล้ว เราอยากใช้ความรู้ที่เรียนรู้มาในชีวิต เอาไปสอนหนังสือให้กับคนรุ่นต่อๆ ไป

อยากให้นิยามความเป็นพ่อในแบบของคุณ

อืม(หัวเราะ) ผมชอบเลี้ยงลูกให้พวกเขาเติบโตในกลางแจ้ง ผมเชื่อว่าชีวิตอยู่กลางแจ้ง อยู่ข้างนอก ผมจะสนับสนุนให้เขากล้าหาญ จะไม่ค่อยกดดันเขาในเรื่องการเรียน ไม่กดดันให้เขาต้องเรียนพิเศษหนักๆ แต่เชื่อว่าเด็กน่าจะต้องมีความสุขมากกว่า ร่าเริง แบบเนี้ย(ชี้ไปที่ลูกสาวซึ่งกำลังปีนชั้นวางของเล่น) ดูดิ(หัวเราะ) ผมคิดว่าถ้าเรียนดีได้ก็ดี เรียนดีไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ชีวิตมันก็ไม่ได้วัดกันที่ผลการสอบ ผมพยายามพาลูกไปเจอกับธรรมชาติ ไปตั้งแคมป์กลางป่าบ้างถ้ามีโอกาส พยายามให้เขาเจอกับความหลากหลาย ให้เขาได้เห็นโลกที่กว้างขึ้น เชื่อว่าจะทำให้เขาเติบโตเป็นคนที่สวยงามได้ ยอมรับทัศนคติที่แตกต่างของคนในสังคมได้ในอนาคต

มีความคิดแบบอนุรักษนิยมที่ลึกๆ แล้วตัวเองเห็นด้วยบ้างไหม

พูดยาก ผมว่าอาจจะต้องพูดเป็นเรื่องๆ ยกตัวอย่างอะไรดี…เรื่องคอนเซอร์เวทีฟเหรอ ผมเป็นคนไม่ฟังเพลงใหม่ๆ นะ ผมจะฟังเพลงโอลดี้ส์ ที่เป็นเพลงยุคผม ในแง่หนึ่งผมก็ฟังเพลงไม่เป็นนะ เพลงเทคโน เพลงตื๊ดๆ อะไรพวกนี้ก็ฟังไม่ค่อยเป็น ในทางวัฒนธรรมนี่ผมอาจจะไม่ถนัด ยกตัวอย่างภาพเขียน ผมจะไม่เข้าใจพวกภาพเขียนแบบโพสต์โมเดิร์น แอ็บสแตร็กต์ พวกกล่องสี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม วงกลม หรือเอาพู่กันมาป้ายๆ สีใส่ ผมจะดูไม่รู้เรื่อง ผมชอบอะไรที่มันเก่าๆ แบบเรียลิสติก เป็นภาพคน ภาพธรรมชาติ มันจับต้องได้ เราเชื่อมโยงตัวเองกับภาพได้

แต่ถึงคุณอาจจะไม่ถนัดเรื่องเชิงวัฒนธรรม คุณเชื่อในซอฟต์พาวเวอร์ไหมว่ามันช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมได้

ซอฟต์พาวเวอร์สำคัญมากแน่นอนครับ จุดชี้ขาดไม่ได้ชี้ขาดกันที่ปืน รถถัง คุกตะราง กฎหมาย แต่จุดที่ชี้ขาดก็คือใครเป็นผู้กำหนดนิยามความหมายของสังคมได้ต่างหาก แล้วการจะทำอย่างนั้นได้ แค่อาวุธยุทโธปกรณ์อย่างเดียวไม่พอ แต่วัฒนธรรมต่างหากที่เป็นเรื่องจำเป็น

ในมุมมองของคุณ ทำไมที่ผ่านมาหลายรัฐบาลถึงไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้

ไม่มีรัฐบาลไหนคิดจะเปลี่ยนแปลงไง ย้อนกลับมา ถ้าถามว่าพรรคอนาคตใหม่แตกต่างจากพรรคอื่นยังไง ผมคิดว่าพรรคอื่นต้องการเข้าไปบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ของรัฐ เพื่อผลประโยชน์ของแต่ละกลุ่มคนที่สนับสนุนพรรคนั้นๆ พรรคอนาคตใหม่ก็ต้องการที่จะจัดสรรทรัพยากรของรัฐด้วย แต่ในขณะเดียวกัน เราต้องการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับคนในประเทศนี้ด้วย

ถามจริงๆ ช่วงนี้เครียดบ้างไหม

จริงๆ ก็ไม่เครียดนะ โอเคเราอาจจะทำงานหนัก วันหนึ่งที่ทำงาน12 ชั่วโมงถือว่าทำงานน้อย แต่ถามว่าเหนื่อยไหม เครียดไหม ไม่ ทุกครั้งที่ไปลงพื้นที่หาประชาชน ผมชื่นใจมาก เมื่อเช้านี้ลงตลาดตั้งแต่6 โมงครึ่ง ไปสองตลาด มีแต่คนที่ให้กำลังใจ และมีคนที่บอกว่า คุณทำให้ผมหันมาสนใจเรื่องการเมือง ถ้าไม่มีคุณ การเลือกตั้งครั้งนี้ฉันจะโหวตโน ฯลฯ นี่คือประโยคที่ผมได้ยินตลอด8 เดือนที่ผ่านมา เรื่องคดีความต่างๆ เราก็ไม่ได้เครียด พวกเรายักไหล่กับมัน ขอโทษนะ—มันอ่อนเกินไปที่จะมาจัดการกับเรา

มีอะไรที่ทำให้คุณหัวเราะได้ในหลายวันมานี้

ถ้ามีก็คงเป็นพวกข่าวโจมตีที่ไม่เป็นความจริง เราเห็นทีก็หัวเราะที มันเป็นinnovation ของฝ่ายนั้น แต่เป็นinnovation ที่ขำไม่ค่อยออก(หัวเราะดังลั่น)

คิดว่าตัวเองเป็นผู้ชายโรแมนติกไหม

ผมว่าผมโรแมนติกนะ คือโรแมนติกในแง่ที่ว่า ผมเป็นคนอ่อนไหว ถ้าไปดูหนังก็จะร้องไห้บ่อย ถ้าอ่านหนังสือที่มันมีเรื่องราวของคน ชีวิตของผู้ทุกข์ทนก็จะร้องไห้ ในสังคมถ้าเจอเรื่องที่ไม่เป็นธรรมก็จะอยู่เฉยไม่ได้ คือถ้าไม่โรแมนติกก็คงไม่มาอาสาเปลี่ยนแปลงสังคมหรอก

Fact Box

  • ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หรือ‘เอก’ เกิดเมื่อปี2521 ปัจจุบันเป็นคุณพ่อลูกสี่
  • เขาขึ้นเป็นรองประธานบริหารกลุ่มบริษัทไทยซัมมิท ตั้งแต่ปี2545 ต่อมาลาออกจากตำแหน่งทางธุรกิจทั้งหมด เพื่อลงสนามการเมือง ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ร่วมกับ รศ.ปิยบุตร แสงกนกกุล เขาได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่27 พฤษภาคม2561
  • ธนาธรจบการศึกษาจาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสาขาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอตติงแฮม ประเทศอังกฤษ และด้วยความสนใจทางการเมือง เขาตัดสินใจศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขาเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทใบที่สอง สาขาการเงินระหว่างประเทศ ที่โรงเรียนธุรกิจสเติร์น มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก และปริญญาโทใบที่สาม สาขากฎหมายธุรกิจระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยซังคท์กัลเลิน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
  • ธนาธรชื่นชอบกีฬาผาดโผนและกิจกรรมเชิงผจญภัย ทั้งพายเรือคายัค วิ่งมาราธอน ไตรกีฬา ไต่เขา ฯลฯ เขาเคยพายเรือล่องแม่น้ำในประเทศไทยโดยมีเป้าหมายออกสู่อ่าวไทย รวมถึงพายเรือจากอ่าวไทยเพื่อไปถึงพรมแดนมาเลเซีย ทั้งยังเคยออกกำลังกายด้วยการเดินจากที่ประชุมฝั่งธนบุรีกลับบ้านตัวเองที่บางนา-ตราด