PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2562

บริษัทประกันยอมจ่าย 'คิงส์เกต' เสี่ยงภัยการเมือง หลัง คสช.อ้าง ม.44 ปิดเหมือง

บริษัทประกันยอมจ่าย 'คิงส์เกต' เสี่ยงภัยการเมือง หลัง คสช.อ้าง ม.44 ปิดเหมือง
'คิงส์เกต' บริษัทสัญชาติออสเตรเลีย เจ้าของเหมืองชาตรี ใน จ.พิจิตร ซึ่ง คสช. อ้าง ม. 44 สั่งปิดไปเมื่อปี 60 เผยว่าบริษัทประกันยอมจ่ายชดเชย 82 ล้านดอลลาร์ เหตุ 'เสี่ยงภัยทางการเมือง' พร้อมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายกรณี 'คิงส์เกต' ฟ้องรัฐบาลไทยละเมิดข้อตกลงการค้าเสรีด้วย
บริษัทซูริก อินชัวรันซ์ ออสเตรเลีย และธุรกิจประกันที่เกี่ยวข้อง ยอมรับข้อตกลงการเจรจาไกล่เกลี่ยร่วมกับบริษัทคิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด จำกัด และจะจ่ายเงินชดเชยให้แก่คิงส์เกต รวม 82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2,542 ล้านบาท) โดยจะแบ่งจ่ายเงิน 55 ล้านดอลลาร์ภายในวันที่ 15 เม.ย.2562 หลังจากกลุ่มบริษัทประกันยอมรับว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับ บ.คิงส์เกต เป็นความเสี่ยงทางการเมือง
เว็บไซต์ Insurance Business Magazine สื่อของออสเตรเลีย รายงานเพิ่มเติมว่า การเจรจาไกล่เกลี่ยครั้งนี้ยุติลงด้วยดีก่อนถึงกำหนดที่ศาลสูงออสเตรเลียจะมีคำตัดสินต่อกรณีดังกล่าวในเดือน มิ.ย. และบริษัทประกันจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายราว 3.9 ล้านดอลลาร์ ที่คิงส์เกตต้องใช้ในกระบวนการยื่นฟ้องต่อคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ให้ดำเนินการกับรัฐบาลไทย ฐานละเมิดข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างไทย-ออสเตรเลีย หรือ TAFTA
กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากกรณีรัฐบาลทหารไทยใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 72/2559 ปิดเหมืองแร่ทั่วประเทศ ทำให้เหมืองทองคำชาตรี ซึ่งตั้งอยู่ใน ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร และเป็นกิจการของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งคิงส์เกตเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ได้รับผลกระทบต้องปิดทำการไปด้วย นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2560
คิงส์เกตระบุว่า คำสั่งระงับกิจการเหมืองแร่ของรัฐบาลไทย เกิดขึ้นก่อนจะสิ้นสุดวาระสัมปทานเหมืองทองคำชาตรีในปี 2563 และ 2571 ทำให้บริษัทสูญเสียรายได้ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทำให้หุ้นของคิงส์เกตในตลาดหลักทรัพย์ร่วงลงทันที และการกระทำของรัฐบาลทหารไทยเป็นการละเมิดข้อตกลง TAFTA ที่กำหนดเงื่อนไขเอาไว้ว่าทางการไทยและออสเตรเลียต้องให้การคุ้มครองนักลงทุนต่างประเทศ
ทั้งนี้ รัฐบาลไทยออกคำสั่งปิดเหมืองทองคำชาตรีก่อนหน้านี้แล้วครั้งหนึ่ง โดยระบุว่าส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในละแวกใกล้เคียง แต่การจัดทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสุขและสิ่งแวดล้อมของหน่วยงานรัฐบาลไทยต่อกรณีเหมืองทองคำชาตรียังไม่ยุติ ทำให้คิงส์เกตระบุว่าสถานการณ์ที่บริษัทต้องเผชิญเป็น 'ความเสี่ยงทางการเมือง' ไม่เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม
ตั้งทีมเจรจาเหมืองทองอัครา ยุติยื่นอนุญาโตฯ

ม.44 อาจทำให้ไทยเสียเปรียบในกระบวนการอนุญาโตตุลาการ
เว็บไซต์อินชัวรันส์ นิวส์ สื่อออสเตรเลีย รายงานว่า เหมืองทองคำชาตรีอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ไปทางเหนือประมาณ 280 กิโลเมตร เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2544 และผลิตทองคำได้ปีละกว่า 1.8 ล้านออนซ์ และเงินอีกประมาณ 10 ล้านออนซ์ ก่อนที่รัฐบาลทหารไทยจะออกคำสั่งปิดเหมืองทั่วประเทศในเดือน ธ.ค. 2559 ทำให้บริษัทสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมาก จึงยื่นเรื่องเบิกค่าชดเชยทีไ่ด้รับจากความเสี่ยงทางการเมืองจากบริษัทประกันต่างๆ รวมเป็นเงินกว่า 200 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 6,200 ล้านบาท) แต่บริษัทประกันปฏิเสธที่จะจ่ายเงิน ตัวแทนฝ่ายกฎหมายของคิงส์เกตจึงนำเรื่องยื่นฟ้องต่อศาลในรัฐนิวเซาท์เวลส์ของออสเตรเลีย 
กระบวนการพิจารณาคดียืดเยื้อมานานเกือบ 2 ปี แต่ก่อนจะถึงกำหนดนัดหมายพิพากษาในเดือน มิ.ย.2562 คิงส์เกตกับกลุ่มบริษัทประกันสามารถยอมรับข้อตกลงในการเจรจาไกล่เกลี่ยร่วมกันได้ แต่กรณีของคิงส์เกตกับรัฐบาลไทย 'ยังไม่สิ้นสุด' 
ก่อนหน้านี้ในเดือน ส.ค. 2559 นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการฝ่ายประสานงานกิจการภายนอก บริษัท อัครา รีซอร์สเซส ระบุว่า การสั่งระงับดำเนินกิจการเหมืองทองคำชาตรี กิจการของบริษัทอัคราฯ เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบธรรม ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และข้อเท็จจริงที่ดีพอ และระบุว่า ปัญหาความขัดแย้งเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่เป็นเพียงข้ออ้างจากคนบางกลุ่ม ที่มีความขัดแย้งเรื่องปัญหาที่ดินกับเหมืองทองคำ โดยเขากล่าวหาว่า มีคนบางกลุ่มพยายามเสนอขายที่ดินให้บริษัทในราคาที่สูงกว่าราคาประเมิน แต่บริษัทไม่สามารถรับซื้อไว้ได้ จึงมีการเคลื่อนไหวต่อต้านเหมืองทองคำ
หลังจากตัวแทนของคิงส์เกตเจรจาไกล่เกลี่ยกับรัฐบาลไทยหลายรอบเมื่อปี 2560 แต่ไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้ภายในกรอบเวลา 3 เดือนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกระบวนการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน (ISDS) คิงส์เกตตัดสินใจนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาคดีของคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ
ขณะที่นักกฎหมายไทยบางส่วนเตือนว่า การใช้คำสั่ง คสช. ตามมาตรา 44 ปิดเหมืองแร่ทั่วประเทศ รวมถึงเหมืองทองคำชาตรี เป็นการใช้ 'กฎหมายพิเศษ' ซึ่งไม่มีในประเทศอื่นๆ รวมถึงประเทศออสเตรเลียซึ่งเป็นคู่สัญญาในข้อตกลง TAFTA หากประเด็นนี้เข้าสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ไทยมีโอกาสเสียเปรียบและอาจแพ้คดีได้ ใกล้เคียงกับกรณี 'ค่าโง่ทางด่วน' เพราะเป็นการสั่งปิดทั้งที่สัญญาสัมปทานยังไม่หมด และเอกชนได้ลงทุนไปแล้ว ซึ่งจะทำให้เอกชนสูญเสียความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจในประเทศไทย 

ลำดับเหตุการณ์ กรณีพิพาท 'คิงส์เกต-รัฐบาลไทย'
2544 : บริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด ได้รับใบอนุญาตประทานบัตร เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำใน จ.พิจิตร พื้นที่รวม 3,900 ไร่ ครอบคลุม 3 จังหวัด พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ (ใบประทานบัตรเหมือง 'ชาตรีเหนือ' หมดอายุปี 2571 ส่วนเหมืองชาตรีใต้ ประทานบัตรหมดอายุปี 2563 )
2551 : บ.อัคราฯ ขอขยายพื้นที่ แต่ไม่ผ่านรายงานผลกระทบวิเคราะห์สิ่งแวดล้อม (EIA)
2553 : บ.อัคราฯ สร้างบ่อเก็บกักแร่แห่งที่ 2 ทั้งที่ยังไม่ได้รับอนุญาต และผิดวัตถุประสงค์การขออนุญาตในการใช้พื้นที่ สร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ทำให้ชาวบ้านรวมตัวยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้ระงับใบประทานบัตรของเหมืองชาตรี
2557 : ศาลปกครองพิษณุโลกมีคำพิพากษา 6 ข้อ หนึ่งในนั้นคือให้ บ.อัครา ระงับการประกอบโลหกรรมในพื้นที่ และห้ามออกใบอนุญาตขยายโรงงาน เพื่อบรรเทาผลกระทบชั่วคราว
2559 : เครือข่ายชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบเข้ายื่นหนังสือต่อรัฐบาล คสช. นำไปสู่การตั้งคณะกรรมการร่วม เพื่อแก้ไขปัญหา จากนั้น คสช.ใช้มาตรา 44 ให้ผู้ประกอบการที่ได้รับประทานบัตรและใบอนุญาตต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการเหมืองแร่ทองคําระงับประกอบกิจการ ตั้งแต่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป 
2560 : เดือน ส.ค. คิงส์เกตออกแถลงการณ์ระบุว่าตัวแทนของบริษัทเข้าพบกับตัวแทนของรัฐบาลไทย เพื่อขอให้ยกเลิกคำสั่งระงับกิจการเหมืองทองคำชาตรี และรัฐบาลไทยยืนยันจะไม่จ่ายค่าชดเชย แต่จะพิจารณาผลประโยชน์หรือข้อผ่อนผันอื่นๆ ให้แก่กิจการของบริษัทที่อยู่ในประเทศไทยแทน ทำให้บริษัทยื่นฟ้องรัฐบาลไทยในกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศในเดือน พ.ย.
2562 : บริษัทประกันภัยยอมจ่ายเงินค่าชดเชยความเสี่ยงทางการเมืองรวม 82 ล้านดอลลาร์แก่คิงส์เกต

ไม่มีความคิดเห็น: