PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2561

ไม่ทุบทิ้ง แต่ ทำเป็น"ศูนย์เรียนรู้ "ของชาวเชียงใหม่ หวังว่า ศาลจะเข้าใจ

ไม่ทุบทิ้ง แต่ ทำเป็น"ศูนย์เรียนรู้ "ของชาวเชียงใหม่ หวังว่า ศาลจะเข้าใจ
"บิ๊กเจี๊ยบ" พลเอกเฉลิมชัย ผบ.ทบ. เผย มีหลายข้อเสนอ แต่จะเลือกข้อเสนอที่ดีที่สุด โดยเฉพาะ ข้อเสนอ ให้ บ้านพักศาล 45 หลัง เป็นศูนย์เรียนรู้ ของ จ.เชียงใหม่ ให้ประชาชนทุกคนได้ใช้ประโยชน์ และมีส่วนร่วม ช่วยกันดูแล หวังว่า ศาลคงจะเข้าใจ ชี้ การทุบทิ้ง เป็นสิ่งที่ง่าย แต่มีผลกระทบตามมา โดยเฉพาะความเสียหายกว่า 200ล้าน ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ การฟื้นฟู สภาพแวดล้อม ให้เป็นดั่งเดิม แม้จะเป็นสิ่งยาก และต้องใช้เวลา เชื่อยังไม่ต้องใช้ ม.44 เพราะสามารถพูดคุยกันได้ ชี้ ต้องรอบคอบ หาทางออกทุกฝ่ายพอใจ เผย “แม่ทัพ3-ผวจ.เชียงใหม่” ตั้งกก.ตรวจสอบรายละเอียด กำหนดส่งข้อมูล 29 เม.ย. ยันไม่ควรใช้อารมณ์ตัดสินปัญหา เชื่อเป็นบรรทัดฐานต่อไป
พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก และเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการก่อสร้างอาคารศาลอุทธรณ์ภาค 5 และที่พักข้าราชการตุลาการ ที่มีการใช้พื้นที่ของกรมธนารักษ์ในต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ซึ่งตั้งบริเวณเชิงดอยสุเทพและใกล้กับเขตอุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุยว่า พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 ได้ประชุมเสวนาในพื้นที่เมื่อวันที่ 9 เม.ย. ที่ผ่านมากับผู้ไม่ยอมรับการก่อสร้างบ้านพักดังกล่าว
ซึ่งได้ข้อสรุปประเด็นสำคัญคือ เขาต้องการให้รื้อบ้านพัก จำนวน 45 หลังที่อยู่บริเวณด้านบน โดยพื้นที่ทั้งหมดมี 147 ไร่ แบ่งเป็นส่วนด้านบนสุด 40 ไร่ ซึ่งไม่ได้ใช้งาน และยังคงเป็นป่าเหมือนเดิม แต่ในส่วนที่สองจำนวน 47 ไร่ ใช้สร้างพื้นที่บ้านพัก จำนวน 45 หลัง และส่วนที่สามคือพื้นที่ด้านล่างลงมาที่สร้างอาคารสำนักงานศาล และอาคารที่พักที่ประชาชนไม่ได้ติดใจ
ทั้งนี้ข้อยุติเมื่อวันที่ 9 เม.ย. นั้นทางแม่ทัพภาคที่ 3 และผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่จะตั้งคณะกรรมการไปตรวจสอบรายละเอียดว่ามีความจำเป็นต้องรื้อในส่วนใดบ้าง และรายงานให้ตนรับทราบในวันที่ 29 เม.ย.
ในส่วนของศาลนั้นทางสำนักงานเลขานุการศาลยุติธรรมได้ทำหนังสือเสนอมาที่รัฐบาลโดยมีแนวทางเป็นเรื่องของรายละเอียดทางศาล ซึ่งจะต้องนำทุกส่วนมาบูรณาการแก้ไขปัญหาเพื่อหาทางออกร่วมกัน
ทั้งนี้ตนได้รับคำสั่งจากพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรมว.กลาโหม ที่รับผิดชอบดูแลเรื่องนี้ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
แต่ทั้งนี้แนวทางที่หารือเบื้องต้นคือเพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับผู้ประกอบการควรจะให้ดำเนินการให้ได้ข้อยุติเสร็จสิ้นภายใน 1-2 เดือนข้างหน้า
ส่วนพื้นที่ที่สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ต้องคิดว่าจะดำเนินการอย่างไรให้เกิดประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่มากที่สุด ตนคิดว่าศาลจะเข้าใจในประเด็นนี้
สำหรับประเด็นใครจะรับผิดชอบต่อการดำเนินการก่อสร้างบ้านจำนวน 45 หลัง เพราะมีบางกระแสให้ข้อคิดเห็นว่าควรทุบทิ้ง แต่ในแง่ข้อกฎหมายคือเงินจำนวน 200 กว่าล้านบาท ที่สร้างบ้านพักและมีการทุบทิ้งใครจะรับผิดชอบ เพราะจะเป็นการเสียประโยชน์ไปโดยเปล่าประโยชน์หรือไม่
"หรือเราควรใช้พื้นที่ดังกล่าวใช้เป็นพื้นที่ประโยชน์ในภาพรวมของจ.เชียงใหม่ เพื่อให้ประชาชนในจังหวัดได้ประโยชน์ เช่นการสร้างศูนย์เรียนรู้ เป็นต้น และต้องมีปรับภูมิทัศน์ให้สอดรับกับพื้นที่ ซึ่งต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง และต้องมีหน่วยงานที่รับผิดชอบชัดเจน"
อย่างไรก็ตามทั้งหมดต้องผ่านกระบวนการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และคิดว่าทางศาลคงไม่มีปัญหา ซึ่งตนจะเสนอพล.อ.ประวิตรอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
“การทุบทิ้งเป็นสิ่งที่ง่าย แต่จะมีผลกระทบตามมา เพราะจะทำให้ภูมิประเทศกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ยากและต้องใช้เวลา แต่จะทำอย่างไรไม่ให้ทรัพยากรธรรมชาติเสียหายไป และให้เป็นความรับผิดชอบของคนเชียงใหม่ว่าจะปรับให้พื้นที่เป็นอย่างไร "
ทางแม่ทัพภาคที่3 ต้องไปคุยกับทางผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เพื่อหาข้อสรุปให้ได้ดีที่สุด และผมคิดว่าขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรา 44 ในการแก้ไขปัญหา” พล.อ.เฉลิมชัย กล่าว
เมื่อถามว่ากรณีนี้จะกลายเป็นบรรทัดฐานและจะมีการเรียกร้องในลักษณะนี้อีกหรือไม่ พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า จึงต้องทบทวนด้วยความรอบคอบและคงไม่สามารถฟันธงในวันสองวันนี้ เพราะต้องทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับชาติบ้านเมืองและเป็นมาตรฐานต่อไป
ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าที่ดินนี้เป็นของทางราชการที่ได้รับการอนุมัติให้ก่อสร้างถูกต้องตามกฎหมาย และใช้งบประมาณของพี่น้องประชาชน ดังนั้นไม่ควรใช้อารมณ์หรือความรู้สึกในการแก้ไขปัญหา เราต้องรอบคอบดูทุกมิติ เพราะเป็นเรื่องของกฎหมาย
เมื่อถามว่ามีการประเมินหรือไม่ว่าเหตุใดกระแสคัดค้านมีมากขึ้นในช่วงหลัง พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า ทางในพื้นที่กำลังประเมินอยู่ แต่คิดว่าท้ายสุดจะต้องลงเอยจุดที่เหมาะสมร่วมกัน

ไปรักษาร่างกาย!!

ไปรักษาร่างกาย!!
"นายกฯบิ๊กตู่"เผย "บิ๊กป้อม" ลาไปรักษาร่างกาย. แต่ไม่บอกว่า ในประเทศ หรือต่างประเทศ เหน็บนักข่าว สนใจอยากรู้จัง จะตามไปหรือไง พูดติดตลก ท่านลา ไปหารายได้พิเศษ มั้ง
หลัง วันนี้ พลเอกประวิตร ไม่มาประชุม ครม.-คสช. และร่วมงานสงกรานต์ทำเนียบฯ แถม วันพุธ ไม่ได้ไปร่วมรดน้ำสงกรานต์ ป๋าเปรม ด้วย
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ลาการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ว่า “ไปหารายได้เสริมมั้ง มันเรื่องอะไรของสื่อ
พล.อ.ประวิตร ลากิจได้ตามระเบียบ เขาก็ลาไป และไม่ได้บอกว่าจะไปไหน ปัดโธ่!!ทำไม สื่อคิดถึงหรือ พล.อ.ประวิตรลาไปดูแลร่างกาย เพราะต้องรักษาตัว ก็ต้องมีการไปตรวจร่างกาย ทำนองนี้”

เมื่อถามว่า พล.อ.ประวิตร ไปรักษาตัวที่ต่างประเทศหรือในประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ทำไม จะตามไปหรือ จะต้องรู้ทุกเรื่องหรือไง ไม่รู้สักเรื่องได้ไหม

“บิ๊กเจี๊ยบ” ยัน คสช.ไม่เลือกปฏิบัติ ปมขอประชุมพรรคฯ

Start นับ1
“บิ๊กเจี๊ยบ” ยัน คสช.ไม่เลือกปฏิบัติ ปมขอประชุมพรรคฯ ไม่กังวลนักการเมืองให้สัมภาษณ์ ชี้อยู่ในกรอบ ไม่ใช่การเคลื่อนไหวทางการเมือง ถือเป็นประโยชน์
พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ.และเลขาธิการ คสช.กล่าวถึงกรณีพรรคการเมืองเก่าออกมาเคลื่อนไหวหลังคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สมาชิกยืนยันสถานะว่า เป็นโอกาสที่สื่อได้ไปขอให้แสดงความคิดเห็นเท่านั้น ยังไม่ใช่เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งมีหลายแง่ที่เกิดประโยชน์ จึงไม่มีอะไรที่น่าห่วงใย ถือเป็นเรื่องของการเริ่มงานทางการเมือง ซึ่งการแสดงความคิดเห็นของนักการเมืองอยู่ในกรอบ ไม่มีอะไรที่น่ากังวล แต่เป็นการ สตาร์ท นับหนึ่งเพื่อเป็นการยืนยันสถานภาพพรรค ถือเป็นปกติของนักการเมือง
เมื่อถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะเลื่อนกำหนดการนัดหารือกับพรรคการเมืองจากเดือนมิถุนายนออกไป จะส่งผลต่อการปลดล็อคพรรคการเมืองหรือไม่ พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า คงไม่ ซึ่งตนยังไม่ทราบรายละเอียด เรื่องข้างหน้า จึงยังไม่มีข้อมูลในเรื่องนี้
ส่วนมีพรรคการเมืองมาขอประชุมพรรคแล้วหรือไม่นั้น ในส่วนพรรคการเมืองที่จดทะเบียนใหม่ก็มีมาขออนุญาตแล้ว ก็ต้องดำเนินการตามกระบวนการ เรื่องอยู่ที่สำนักงาน เลขาธิการคสช. ตนยังไม่ได้ดู
เมื่อถามว่า จะไม่เลือกปฏิบัติกับพรรคการเมืองที่อุดมการณ์ไม่ตรงกับ คสช.หรือไม่ พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า การที่อนุมัติหรือไม่นั้นอยู่ที่ กกต.ด้วย ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ ไม่ใช่ คสช.เพียงอย่างเดียว ทุกอย่างดำเนินการอย่างเสมอภาค และยุติธรรม
เมื่อถามว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เตือนการตั้งพรรคการเมืองในทำเนียบรัฐบาลอาจขัดกฎหมายและไม่เหมาะสม พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า ตนไม่ทราบข้อมูลว่าจริงเท็จแค่ไหน

ยังนึกไม่ออก ใครจะเป็นนายกฯ ถ้าไม่ใช่"ประยุทธ์"

ยังนึกไม่ออก ใครจะเป็นนายกฯ ถ้าไม่ใช่"ประยุทธ์"
“บิ๊กตู่” เผยเอง"พรรค"สมคิด" กำลังคุยกันอยู่ แบะท่ารอ พรรคใหม่ มาชวนร่วม ยัน”ไม่ได้รังเกียจการเมือง แต่ขอรอดูนโยบายว่าตรงกับตัวเองมั้ย คิดหนักจะเข้าพรรคไหน หวั่นไม่ได้รับเลือก ถาม"ถ้าผมลงไปอยู่ด้วยตรงนี้ มีใครรับประกันได้บ้างว่าผมจะได้ ก็ไม่มีใครรู้ว่ามันคุ้มค่าหรือเปล่า "
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดนนักข่าวรุมซัก เรื่องการตัดสินใจทางการเมือง หลังมีข่าวนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี สนับสนุนตั้งพรรคการเมืองและจะเชิญให้เป็นที่ปรึกษาพรรค ว่า “วันนี้เขาหารือกันอยู่ ก็ให้เขาหาหรือกันไป ก็ยังไม่เกิดความชัดเจนเกิดขึ้น และถ้าเขาตั้งพรรคขึ้นมา วันข้างหน้าก็ต้องไปดูว่าพรรคไหนเป็นอย่างไร เราควรจะสนับสนุนหรือเปล่า หรือจะสนับสนุนพรรคไหนอย่างไร แต่วันนี้เขายังไม่มาเชิญสักคนเลย”
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกรัฐมนตรีทราบหรือไม่ว่าขณะนี้มีการเคลื่อนไหวที่จะมีการตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่และจะเสนอให้ไปเป็นที่ปรึกษาพรรค พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “เขาก็คุยกันอยู่ละมั้ง ผมเห็นเขาคุยกันอยู่ แต่เขายังไม่พูดอะไรกับผม และยังไม่มีการทาบทาม
"แต่ถ้ามีการทาบทามก็ต้องขอคิดดูก่อน ผมบอกแล้วว่าผมจะต้องพิจารณาใคร่ครวญอีกที ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ นโยบายของพรรคตรงกับที่ผมได้ทำมาแล้วหรือเปล่า มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงและดีขึ้นหรือไม่
เพราะถึงอย่างไรผมก็ต้องไปเลือกตั้งเหมือนกับคนอื่นเขาเช่นกัน เพราะฉะนั้นถ้าพรรคนี้ดี ผมก็จะเลือกพรรคนี้ จะสนับสนุนพรรคไหนที่ดีแล้วเขามาขอให้ผมไปช่วยผมก็จะพิจารณา ส่วนจะดีหรือจะเสียผมก็ยังไม่รู้เลย”
เมื่อถามว่า การที่พรรคการเมืองจะมาเชิญให้ไปเป็นที่ปรึกษาพรรคจะไม่ปฏิเสธใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ยังไม่ได้รับ. แล้วจะไปปฏิเสธยังได้อย่างไร ถึงวันนี้ยังไม่มีใครมาเชิญ และวันนี้ยังไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นว่าจะพูดคุยอะไรกันได้หรือเปล่า เพราะมีหลายพรรคก็บอกว่าจะไม่มาคุยแล้วจะเลือกตั้งท่าเดียวเมื่อไม่มาคุยแล้วจะเลือกตั้งได้อย่างไร ต้องมาคุยกันก่อน
เมื่อถามว่าที่หลายพรรคการเมืองไม่อยากมาคุยเพราะเกรงการผูกมัด พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า จะไปผูกมัดอะไร ตนไม่ได้เชิญมาพูดคุยเพื่อให้แสดงความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่ต้องการให้มาพูดคุยว่าจะทำอย่างไรให้กับประเทศ ตนก็จะฟังว่าเขาจะพูดอะไร
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะประกาศความชัดเจนของตัวเองเมื่อไหร่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “ก็คงใกล้ที่จะเลือกตั้งละมั้ง เพราะผมเองไปเป็นส.ส.ไม่ได้อยู่แล้ว เมื่อเริ่มมีการพูดคุยผมก็คงมีความชัดเจนว่าจะเอาอย่างไรต่อไป”
ต่อข้อถามว่า ความตั้งใจของนายกจะเข้าไปเป็นประธานที่ปรึกษาพรรคหรือเป็นแค่สมาชิกพรรค พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่รู้ แต่ทุกคนก็ต้องเป็นสมาชิกพรรค
ทั้งนี้เมื่อถึงวันที่ต้องตัดสินใจ เมื่อเขาเสนอมาต้นก็ต้องดูว่าเขาจะมาขอให้ไปทำหน้าที่อะไร เพราะให้ไปสมัครเป็น ส.ส.ก็ไปไม่ได้ ถ้าจะให้สมัครเป็นอย่างอื่นก็ต้องดูว่าที่เสนอมานั้นมีความเหมาะสมหรือไม่ที่ตนจะไปช่วยงานเขา แล้วมีใครรับรองได้หรือไม่ว่าเมื่อตนไปอยู่พรรคการเมืองไหนแล้วพรรคนั้นจะชนะ
เมื่อถามว่าหากในการเลือกนายกรัฐมนตรีในรัฐสภา นายกฯคิดว่าเพื่อความสง่างามควรให้ ส.ส.เป็นผู้เสนอชื่อ หรือควรให้ ส.ว.เสนอชื่อนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ก็ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้ถ้าตั้งได้โดยการเสนอชื่อจากศศก็เป็นเรื่องดีมิใช่หรือ แต่ถ้าขัดแย้งกันมากๆตั้งนายกรัฐมนตรีไม่ได้. ไม่ยอมกันก็ต้องเอาคนนอกมาใครก็ได้ ก็ไปเลือกมา
เมื่อถามว่าแต่ขณะนี้ดูเหมือนจะมีชื่อของพล.อ. ประยุทธ์ ดังเพียงผู้เดียว. นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “สื่อเป็นคนทำให้ฉันดังเอง ก็ ลองยกชื่อ คนอื่นเข้ามาเป็นนายกฯคนนอกบ้าง”
เมื่อถามว่า ถ้าไม่ใช่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ คิดว่าควรจะเป็นชื่อใคร นายกญ กล่าวว่า ไม่รู้เหมือนกัน ยังนึกไม่ออก ตัวเองยังไม่ได้นึก
ผู้สื่อข่าวถามว่า ถึงวันนี้ไม่รังเกียจการเมืองแล้วใช่หรือไม่พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “ ผมเคยรังเกียจใครที่ไหน ผมไม่ได้รังเกียจการเมือง ผมเพียงแต่รังเกียจการเมืองที่ไม่สุจริต ไม่มีธรรมาภิบาล ผมรังเกียจการเมืองที่สร้างความขัดแย้ง
พอใจกันหรือยัง หรืออยากจะให้เป็นเหมือนเมื่อปี 2557 หรืออย่างไร ดังนั้นเมื่อเราไม่พอใจการเมืองแบบนั้นก็ต้องไปเลือกกันแบบใหม่
ส่วนจะเลือกใครก็ตามสะดวกพวกท่านเถอะ แต่ถ้าผมลงไปอยู่ด้วยตรงนี้ มีใครรับประกันได้บ้างว่าผมจะได้ ก็ไม่มีใครรู้ว่ามันคุ้มค่าหรือเปล่า มันคุ้มค่ากับประเทศชาติและคุ้มค่ากับตัวผมหรือไม่ ซึ่งความคุ้มค่าของผมหมายถึงจะได้ทำงานของผมก็แค่นั้นเอง จะไปคิดอะไรมาก มันเป็นทั้งชะตากรรมและชะตาแบ ที่สื่อถามแบบนี้จะเอาให้ได้กันหรืออย่างไร”
ผู้สื่อข่าวถามถึงการวิพากษ์วิจารณ์การลงพื้นที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ในขณะนี้ว่าเป็นการเริ่มต้นในการหาเสียง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนต้องลงพื้นที่อยู่แล้ว สี่ออย่าไปให้ความสำคัญกับคนที่มองว่าเป็นการหาเสียง ตนต้องการจะลงพื้นที่ไปในทุกจังหวัด ตั้งใจไว้ว่าก่อนจะหมดหน้าที่จะลงพื้นที่ไปในทุกจังหวัดและทุกกลุ่มจังหวัดให้ได้มากที่สุดแค่นั้นเอง เพียงแต่มาตรงกับช่วงเวลาของโรดแมพพอดี
“แล้วจะให้ผมไปทำในตอนไหน ผมก็อยากลงไปพบประ ชาชนในทุกพื้นที่และการลงไปก็ไม่ได้ฟังเพียงแต่ส่วนราชการเพียงอย่างเดียว ได้ไปแอบฟังประชาชนพูดบ้างและถามในสิ่งที่ประชาชนอยากจะพูด ซึ่งแม้บางครั้งจะไม่ได้พูดโดยตรงก็ส่งเป็นคลิปหรือSMS มา ผมก็นำข้อมูลไปซักไซร้ไล่เลียง ไม่ใช่ว่าทางราชการเสนออะไรมาก็ฟังอย่างเดียว ผมก็ต้องฟังทั้งสองฝ่าย การที่นายกฯลงพื้นที่ไม่ใช่ฟังแต่สิ่งดีๆ สิ่งไม่ดีก็เจอและนำมาแก้ไข” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

บิ๊กตู่’คนใน’ โดย นฤตย์ เสกธีระ

บิ๊กตู่’คนใน’ โดย นฤตย์ เสกธีระ



แฟ้มภาพ
เดิมที “คนนอก” มีความหมายถึงคนที่ไม่ได้รับเลือกตั้งแล้วมารับตำแหน่งรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรี
เวลาแยกแยะ “คนใน” กับ “คนนอก” ก็ไม่ซับซ้อน
แต่เดี๋ยวนี้รัฐธรรมนูญอนุญาตให้ใครก็ได้ที่ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคการเมืองและได้รับเสียงสนับสนุนจากรัฐสภาสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้
คำว่า “คนใน” กับ “คนนอก” จึงมีความพยายามตีความกันใหม่
ตีความกันว่า “คนนอก” คือ คนที่มาด้วยวิธีพิเศษตามกลไกทางรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้
นั่นคือในกรณีที่บุคคลที่พรรคการเมืองเสนอชื่อไม่สามารถขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้
หมายความว่า เมื่อแต่ละพรรคสามารถเสนอชื่อบุคคลที่เป็นนายกรัฐมนตรีได้พรรคละ 3 คน
แต่เมื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาแล้วตกลงกันไม่ได้
ต้องมีการขอใช้เสียงเพื่อของดใช้ข้อห้ามบางประการ และเปิดทางให้เลือกคนอื่นๆ นอกเหนือจากนั้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี
เขาตีความว่า “คนนอก” ในยุคนี้หมายถึงการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีด้วยวิธีนี้
แต่กรณีคนที่ไม่ได้เป็น ส.ส. แต่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี
เขาตีความว่าเป็น “คนใน”
กรณีเช่นนี้ในแวดวงการเมืองจะยอมรับกันหรือไม่ และจะเป็นที่ยอมรับในหมู่ผู้นิยมประชาธิปไตยกันหรือเปล่า
แต่กระบวนการตีความ “คนนอก” และ “คนใน” กำลังเป็นเช่นนี้
ดังนั้น เมื่อมีข่าวว่ากระบวนการที่จะไปสู่วิธีพิเศษ คือ “คนนอก” เป็นไปได้ยุ่งยากมาก
ต้องใช้เสียงรัฐสภาถึง 2 ใน 3 คือ 500 เสียงจาก 750 เสียง ในการดำเนินการ
ต้องถูกต่อต้าน ถูกครหาว่า เป็น “คนนอก”

ตอนนี้จึงโหมกระแสข่าว ถ้าเป็นบุคคล 1 ใน 3 ที่พรรคการเมืองเสนอชื่อก็ถือว่าเป็น “คนใน”
กลายเป็นประเด็นข่าวที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีปัจจุบัน อาจจะได้รับการเสนอชื่อจากพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง
เป็น 1 ใน 3 ของบุคคลที่สมควรได้เป็นนายกรัฐมนตรี
แล้วเปิดโอกาสให้สภาผู้แทนราษฏรและสมาชิกวุฒิสภาโหวตด้วยคะแนนเกิน 375 เสียง
หากเป็นเช่นนี้ โอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีก็ยังมีอยู่สูงยิ่ง เพราะแค่เสียงวุฒิสภาก็ 250 เสียงแล้ว
แถมยังสามารถประโคมบอกได้ว่าเป็น “นายกฯคนใน” ไม่ใช่ “นายกฯคนนอก”
ดังนั้น แม้ก่อนหน้านี้จะมีพรรคการเมืองหลายพรรคประกาศจุดยืน ไม่เอานายกฯคนนอก
แต่ถ้านายกฯคนต่อไปได้มาตามวิธีการทางรัฐธรรมนูญ
พรรคเสนอ รัฐสภาโหวต
หากเป็นเช่นนี้แล้วจะยอมรับหรือไม่ยอมรับ
ถ้าเป็นเช่นนี้จะยอมร่วมรัฐบาลหรือไม่เอาด้วย
เรื่องนี้ต้องเทียวถามกันใหม่ เพราะนิยามคำ “คนนอก” และ “คนใน” เปลี่ยนแปลง
การยอมรับคนที่ไม่ได้เป็น ส.ส.มานั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะเปลี่ยนไปหรือไม่
จะเป็นเช่นไรต่อไป น่าติดตาม
………………….
นฤตย์ เสกธีระ maxlui2810@gmail.com

ธงใหญ่ สองผืน ในมือ ‘ประชาธิปัตย์’ จะเหลือ 1 เดียว

ธงใหญ่ สองผืน ในมือ ‘ประชาธิปัตย์’ จะเหลือ 1 เดียว


เหมือนกับภาพในทางการเมืองจะสะท้อนให้เห็นลักษณะ 3 เส้า 3 ก๊ก นั่นก็คือ 1 คสช. 1 ประชาธิปัตย์ และ 1 เพื่อไทย
แต่ในที่สุดก็จะเหลือเพียง 2 ไม่ใช่ 3
แนวทางเช่นนี้ นายพิชัย รัตตกุล มองเห็นและสรุปออกมานานมาแล้วถึงได้เสนอให้พรรคการเมืองร่วมมือกันให้เป็นเอกภาพ
ต้านยันการสืบทอดอำนาจของ “คสช.”
แนวทางเช่นนี้ ไม่เพียงแต่ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล เท่านั้นที่ประมวลและขมวดออกมาว่าคือแนวทาง 1 เอาทหาร และ 1 ไม่เอาทหาร
หาก นายอลงกรณ์ พลบุตร ก็เห็นว่า 1 เอา คสช. 1 ไม่เอา คสช.
แม้ ณ วันนี้ พรรคประชาธิปัตย์จะยังประกาศชูธง 2 ผืน คือ 1 ต้านระบอบทักษิณ 1 ต้านนายกรัฐมนตรี “คนนอก”
แต่ในที่สุด แนวทาง “เพื่อไทย” จะเด่นชัดยิ่งกว่า
ต้องยอมรับว่า แนวทางพรรคเพื่อไทยกับแนวทางพรรคประชาธิปัตย์มีความแตกต่างกัน ไม่เพียงแต่จะแตกต่าง ณ ปัจจุบัน เท่านั้น
หากแตกต่างตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 มาแล้ว
นั่นเป็นผลจากการเติบใหญ่ของพรรคไทยรักไทย ทั้งในการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2544 และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2548
ชัยชนะอย่างต่อเนื่องของพรรคไทยรักไทยมีผลสะเทือน
ไม่เพียงแต่นำไปสู่การเกิดขึ้นของ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ที่นำโดย นายสนธิ ลิ้มทองกุล
หากแต่ดูดดึงพลังการเมืองอื่นๆ เข้าไปร่วมด้วยและหวังประโยชน์

พรรคประชาธิปัตย์อาจไม่ได้เข้าร่วมอย่างเต็มที่แต่ก็ดำเนินไปในแบบของ “พันธมิตร” ใน “แนวร่วม” เพื่อเอาพลังจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เข้าไปกำราบพรรคไทยรักไทย
และก็ประสบผลสำเร็จผ่านรัฐประหารเดือนกันยายน 2549
จากเดือนกันยายน 2549 ไม่เพียงแต่นำไปสู่การยุบพรรคไทยรักไทยในเดือนพฤษภาคม 2550 หากแต่ยังนำไปสู่การเกิดขึ้นของพรรคพลังประชาชน
และกำชัยจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2550
ความพ่ายแพ้นี้ทำให้พรรคประชาธิปัตย์เข้าไปเป็นพันธมิตรกับกลุ่มทหารซึ่งมีอำนาจ “เหนือรัฐ” และประสานกับพลังพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก่อการเคลื่อนไหวอันนำไปสู่การยุบพรรคพลังประชาชนในเดือนพฤศจิกายน 2551
เป็นผลให้พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล
เป็นผลให้รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์กับกลุ่มทหารซึ่งมีอำนาจ “เหนือรัฐ” ได้แสดงบทบาทร่วมกันในการสลายการชุมนุมเมื่อเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553
แต่แล้วการเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 พรรคเพื่อไทยก็ได้ชัยชนะ
จุดนี้เองนำไปสู่การเกิดขึ้นของ “กปปส.” โดยคนของพรรคประชาธิปัตย์มีส่วนอย่างเต็มพิกัด
แม้ ณ วันนี้ พรรคประชาธิปัตย์จะประกาศชูธง 2 ผืน ผืน 1 ต้านนายกรัฐมนตรี “คนนอก” ผืน 1 ต้านสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบทักษิณ”
แต่ในที่สุดก็จะเหลือธงเพียงผืนเดียว
สายสัมพันธ์ตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 ต่อเนื่องถึงรัฐประหารปี 2557 จะทำให้ธงผืนแรกเกิดการแปรเปลี่ยนและเหลือเพียงผืนเดียว คือ ต่อต้านสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบทักษิณ”
และนั่นหมายถึง โอกาสที่ “ประชาธิปัตย์” กับ “คสช.” จะเป็นเนื้อเดียวกัน

'จงใจ'เขย่าให้สะดุ้ง

'จงใจ'เขย่าให้สะดุ้ง



ชึ่งเดียว เครื่องติดเลย
กับจังหวะสตาร์ตออกตัวของ “จอมยุทธ์กวง” นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ที่ประกาศจุดยืนชัดเจน สนับสนุนให้ “นายกฯลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. ได้ตีตั๋วผู้นำต่อในช่วงเปลี่ยนผ่านประเทศ
เพราะเป็นคนดี มีคุณธรรม ทำให้บ้านเมืองสงบเอื้อต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ
เท่านั้นแหละเรตติ้งกระฉูด โดยไม่ต้องออกแรงแห่กระแส
เริ่มตั้งแต่ยุทธการป้ายสี “พรรคทหาร คสช.” ที่มาทันที ก่อนที่ “สมคิด” ไม่ทันพูดจบด้วยซ้ำ
โดยไม่ต้องรอความชัดเจนว่าเป็นพรรคอะไร ทีมหนุน “ลุงตู่” จะปักธงป้อมค่ายไหน แนวรบนักการเมืองอาชีพหันมาล็อกเป้าตำบลกระสุนตก
อารมณ์แบบที่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จิกด่ากัน 3 วัน 3 คืนไม่เลิก
ทั้งขุดผี ทั้งอ้างอาถรรพณ์ ขู่ประจานออกอากาศให้นายสมคิดและทีมหนุน “นายกฯลุงตู่” ระวังประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเผด็จการในอดีตที่ใช้ทำเนียบรัฐบาลเป็นที่เดินยุทธศาสตร์ตั้งพรรคทหาร
จุดจบพังพาบเหมือนจอมพล ป. พิบูลสงคราม
หนักเข้าก็ร่ายยาวนิยายสามก๊ก จากเดิมก๊วนเพื่อไทยแย่งอำนาจชิงผลประโยชน์กับก๊วนประชาธิปัตย์ แล้วยังมาเพิ่มก๊ก คสช. จะเสี่ยงทำให้ความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้นกว่าเก่า
สไตล์ขาใหญ่รับน้องใหม่ ประชาธิปัตย์กะเอาให้ทีมหนุน “ลุงตู่” ฝ่อให้ได้
ในอาการที่พรรคเพื่อไทย ลูกหาบ “นายใหญ่” ก็ร่วมด้วยช่วยหยามน้ำหน้า ถาม “สมคิด” ไปเอาความมั่นอกมั่นใจมาจากไหนถึงกล้าประกาศหนุน “นายกฯลุงตู่” เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ
ยกตนข่มตามฟอร์มแชมป์เก่า ท้าแน่จริงปลดล็อกไปลุยกันในสนามเลยดีกว่า
ออกลีลาดิสเครดิต แสร้งทำเป็นไม่ให้ราคา
เอาเป็นว่า จับอาการเพื่อไทย อ่านไต๋ประชาธิปัตย์ ต่างก็นั่งไม่ติดทั้งคู่ ดูตามรูปการณ์จังหวะการออกตัวของ “สมคิด” มันคือปรากฏการณ์ที่กระตุกแรงเหวี่ยงทางการเมือง
ถึงจุดที่ชัดเจนแล้วว่า มีตัวแปรแทรกขึ้นมามีผลต่อสมการเลือกตั้งแน่
และนั่นก็ได้เห็นอาการ “ผวา” ที่ซ่อนไว้ไม่มิด จากที่ปากบอก “สมคิด” บริหารเศรษฐกิจไม่ได้เรื่อง บ้อท่าแก้ปัญหาปากท้อง ทำให้ประชาชนเบื่อรัฐบาล แต่พอ “จอมยุทธ์กวง” ประกาศหนุน พล.อ.ประยุทธ์ตีตั๋วต่อ โดยเอาเครดิตของหัวหน้าทีมเศรษฐกิจเป็นประกัน
เพื่อไทย–ประชาธิปัตย์ แท็กทีมล่อเป้า ดักเตะตัดขากันจ้าละหวั่น
นั่นเพราะกลัวทีมหนุน “นายกฯลุงตู่” เบียดตกขอบ สะดุ้งกันเป็นแถว
ยิ่งแนวโน้มตามเงื่อนไขเวลาในเดือนเมษายนเป็นเดือนที่จะต้องยืนยันการเป็นสมาชิกพรรค การโยกย้ายเปลี่ยนพรรคจะต้องดำเนินการภายในเงื่อนกำหนดเวลาที่ คสช.เปิดไฟเขียวให้
การที่ “จอมยุทธ์กวง” เลือกจังหวะออกมาประกาศหนุน พล.อ.ประยุทธ์ แสดงความชัดเจนในยุทธศาสตร์การไปต่อของ “นายกฯลุงตู่” ประกอบกับรูปการณ์ที่จะมีการยกระดับความชอบธรรมในการเป็น “นายกฯคนใน” ผ่านสถานะที่ปรึกษาพรรคพลังประชารัฐ
เหลี่ยมนี้จัดได้ว่าเป็นความ “ตั้งใจ”
ชิงจังหวะเขย่าให้นักการเมืองได้มีทางเลือกใหม่
โดยเฉพาะพวก “รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง” ที่อยากให้บ้านเมืองเดินหน้าไปต่อได้ ไม่จมปลักกับเงื่อนไขความขัดแย้งเดิมๆ หนีวังวนเก่าๆของพรรคเพื่อไทยค่ายประชาธิปัตย์ที่เป็นตัวก่อชนวนวิกฤติ
“สมคิด” ส่งสัญญาณ “นำร่อง” ให้ตัดสินใจกันง่ายๆ
ประชาธิปัตย์กับเพื่อไทย คงต้องเหนื่อยกับภาวะอุดเลือดไหลออก
ยิ่งเป็นอะไรที่สังเกตได้ ตามจังหวะที่นายสมคิดบอกชัดๆหนุน “นายกฯลุงตู่” ไปต่อ พวกส่ออาการนั่งไม่ติดก็มีแค่ในหมู่นักการเมืองขาใหญ่
เพื่อไทยกับประชาธิปัตย์เท่านั้นที่เต้นเพราะเสียผลประโยชน์
แต่กระแสสังคมทั่วไป ส่วนใหญ่ไม่ได้ต่อต้าน แถมยังขานรับแนวทางนายสมคิดที่ประกาศหนุน “นายกฯลุงตู่” ตีตั๋วต่อ เพื่อความสงบของบ้านเมืองและความต่อเนื่องในการสานงานต่อ
ยกระดับความชอบธรรมเป็นนายกฯคนใน ผ่านพรรคการเมืองตามระบบ
โดยมอบการนำพรรคให้กับนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กับนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ ทีมงานรัฐมนตรีเศรษฐกิจ พร้อมหนุนคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาทำงานการเมืองเชิงสร้างสรรค์
เปิดทางเลือกให้ประชาชนส่วนใหญ่ที่ผวาขั้วขัดแย้งอย่าง
เพื่อไทยกับประชาธิปัตย์จะกลับมาฟัดกัน
ม็อบป่วนเมืองกลับมาอาละวาด ยึดสนามบิน ปิดกรุงเทพฯ เผาบ้านเผาเมือง
ฝันร้ายยังไม่หายหลอน ประเทศยังเสี่ยงย้อนไปลงเหว.
ทีมข่าวการเมือง

ยืดเกษียณอายุราชการ "60 เป็น 63 ปี" เตรียมรับมือสังคมผู้สูงอายุ

อีก 6 ปี ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ จะเกษียณอายุราชการในวัย 63 ปี เมื่อราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แผนปฏิรูปประเทศด้านสังคม ขยายอายุเกษียณราชการจาก 60 ปี เป็น 63 ปี โดยใช้เวลาเปลี่ยนผ่าน 6 ปี ขยับครั้งละปี 3 ครั้ง เว้นหน
วันนี้ (10 เม.ย.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แผนการปฏิรูปประเทศ 11 เรื่อง ลงประกาศ ณ วันที่ ๖ เม.ย.ปี 2561
โดยเนื้อหาในหน้า 34 ในแผนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม ระบุว่า ให้มีการขยายอายุเกษียณราชการจาก 60 ปี เป็น 63 ปี โดยใช้เวลา 6 ปี เพื่อเป็นต้นแบบในการขยายเวลาการทำงานและค่อยๆ ขยายเวลาเป็น 2 ปี ขยาย 1 ปี จะไม่กระทบต่อการจ้างงานคนรุ่นใหม่ที่ทดแทนคนที่เกษียณอายุ โดยไม่ครอบคลุมหน่วยงานที่ต้องใช้ศักยภาพทางร่างกาย


สำหรับวิธีการ กำหนดให้ 1.ศึกษาความเหมาะสมของตำแหน่งที่จะมีการขยายอายุเกษียณ และ 2.แก้ไขพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญให้ขยายอายุเกษียณราชการเป็น 63 ปี ผู้รับผิดชอบหลักคือ คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) มีเป้าหมายคือ ข้าราชการ, พนักงาน, รัฐวิสาหกิจ และเจ้าหน้าที่ของรัฐเกษียณอายุที่ 63 ปี ในปี 2567 และมีตัวชี้วัดเป็นข้าราชการ, พนักงาน, รัฐวิสาหกิจ และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีศักยภาพมีอายุเกษียณเพิ่มขึ้น 1 ปี ในทุกๆ 2 ปี กระทั่งปี 2567

ขณะที่ก่อนหน้านี้นายวิเชียร ชวลิต กรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม ผู้เสนอแนวคิดให้ขยายเวลาวัยเกษียณอายุราชการออกไป จากอายุ 60 ปี เป็น 63 ปี ยอมรับว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงต้องรองรับให้ผู้สูงอายุมีงานทำ จากการศึกษาพบว่า ผู้สูงอายุต้องได้รับการดูแล เพราะการให้ผู้สูงอายุได้ทำงาน เป็นปัจจัยสำคัญที่จะไม่ทำให้ผู้สูงอายุ อยู่บ้านจนกลายเป็นคนป่วย เหงา ซึมเศร้า ซึ่งการเพิ่มอายุการทำงานให้ นอกจากจะได้อยู่ร่วมในสังคมแล้ว ยังสะท้อนได้ว่า ผู้สูงอายุมีสุขภาพดีอีกด้วย จึงมองว่าทำอย่างไรผู้สูงอายุจึงจะมีโอกาสทำงานในบั้นปลายชีวิต


ทั้งนี้ ข้อมูลสถิติจำนวนผู้สูงอายุประเทศไทยปี 2559 ของกรมการปกครองพบว่า จังหวัดที่มีผู้สูงอายุมากที่สุดจาก 5 อันดับ คือ กรุงเทพมหานครมี 936,865 คน รองมาคือ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดนครศรีธรรมราช ขณะที่ประชากรผู้สูงอายุที่น้อยที่สุดคือจังหวัดระนอง มี 23,543 คน

ด้านสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประมาณว่าในปี 2561 เป็นปีแรกที่ประชากรผู้สูงอายุจะมีจำนวนมากกว่าวัยเด็กหลายแสนคน จากนั้นจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2564 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 และมีสัดสวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 และในปี 2579 ประชาชนจะมีจำนวนน้อยกว่าในปัจจุบันผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 สร้างภาระการพึ่งพิงวัยแรงงานในการดูแลวัยเด็กและผู้สูงอายุ


บทสรุปจากเวทีสาธารณะบ้านพักตุลาการ(9เม.ย.)

บทสรุปจากเวทีสาธารณะเพื่อร่วมกันหาทางออก กรณีบ้านพักตุลาการในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่”โดยไร้เงาตัวแทนศาล”

สรุปผลจากเวทีสาธารณะเพื่อร่วมกันหาทางออก กรณีบ้านพักตุลาการในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ณ มณฑลทหารบกที่ ๓๓ ค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่ วันจันทร์ ที่ ๙ เมษายน ๒๕๖๑ โดยมี พลโทวิจักข์ฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ ๓ เป็นประธาน แต่ตัวแทนศาลไม่มา จึงปรับเปลี่ยนเป็นให้แต่ละฝ่ายแชร์ข้อมูลกัน และนำข้อมูลเรียนต่อหัวหน้า คสช.ต่อไป

ในช่วงท้ายแม่ทัพภาคที่ ๓ ได้สรุปผลการประชุมจากภาคประชาสังคมว่า

๑.ภาคประชาสังคมต้องการให้รื้อบ้านพักศาลตุลาการ ภาค ๕ บางส่วน ส่วนจะรื้อขนาดไหนจะมีการตั้งกรรมการไปดูสถานที่จริง และสรุปผลภายในวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๖๑
๒.ให้ผู้รับเหมาทำงานให้เสร็จ หรือหยุดไว้เพียงเท่านี้แต่รัฐจ่ายเงินครบตามสัญญา เพื่อมิให้เกิดการฟ้องร้องเอาผิด
๓.หากรื้อบ้านพักศาลตุลาการแล้ว จะมีการจัดหาพื้นที่ราบด้านล่างทดแทน และเยียวยาในการจัดหางบประมาณก่อสร้างใหม่ ในพื้นที่ที่เหมาะสม
๔.ถ้ากรณีที่มีส่วนเกินจากที่ขีดเส้น (เส้นอยู่บริเวณสะพาน) ให้สำนักงานศาลส่งคืนพื้นที่ที่กระทบต่อผืนป่าดอยสุเทพ-ปุยให้แก่ราชพัสดุ เพื่อทำการปลูกป่า รัฐ-ราษฎร์ ต่อไป
ข้อสรุป ๔ ข้อนี้จะนำเสนอต่อผู้บัญชาการกองทัพบก ให้นำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีในฐานะ หัวหน้า คสช.ให้พิจารณาต่อไป
หลังจากนี้จะมีการตั้งกรรมการภาคประชาสังคมให้ไปดูพื้นที่ เพื่อให้เห็นสภาพพื้นที่จริง ก่อนสรุปมาเป็นประเด็น
ป.ล.ข้างต้นเป็นเพียงข้อสรุปจากการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดเชียงใหม่ และตัวแทนเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ โดยยังมิใช่ข้อสรุปที่แท้จริง เพราะต้องมีการพิจารณาอีกในลำดับถัดไป
“ดีใจที่หน่วยงานราชการในจังหวัดเชียงใหม่เริ่มเข้าใจกลุ่มขอคืนพื้นที่ และสรุปความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ขอขอบพระคุณทุกท่านมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ”

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก ขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ,Namfar Takonkit
ที่มา:http://www.mountainpeaknews.com/archives/4800

เมื่อศาลไม่ถอย'โซเชียลอำนาจที่4'รุกหนัก'

เมื่อศาลไม่ถอย'โซเชียลอำนาจที่4'รุกหนัก'เปลว สีเงิน'ชี้ทางออกบ้านพักตุลาการดอยสุเทพ


    
29 มี.ค.61- 'เปลว สีเงิน' วิพากษ์ บ้านพักข้าราชการตุลาการดอยสุเทพ      เมื่องภาคประชาสังคม ไม่ติดใจด้านความถูกต้องทางกฎหมาย   แต่ 'ติดใจ' ด้านสิ่งแวดล้อม
...ก็สรุปให้เข้าใจกันคร่าวๆ คือ เรื่องนี้มีมาแต่ปี ๒๕๔๙ แต่ลงมือสร้าง เมื่อปี ๒๕๕๖  สร้างมาเรื่อยๆ จนอีก ๒ เดือน ก็จะเสร็จเรียบร้อย ด้วยงบก่อสร้างกว่า ๑ พันล้าน!
-ศาลก็ไม่ถอย
-ประชาสังคม ก็ไม่ถอย!
ศาลยัน จะเป็นอื่นไปไม่ได้แล้ว แค่อีก ๒ เดือนก็จะแล้วเสร็จประชาสังคมก็ยัน ให้หยุดก่อสร้าง ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อน
ก็เข้าใจเหตุผลของทั้ง ๒ ฝ่าย แต่เมื่อกฎหมาย "ลายลักษณ์อักษร" ยันกับกฎหมาย "จารีตประเพณี" เช่นนี้
เป็นเรื่อง "ไม่น่าสบายใจ" ของบ้านเมืองจริงๆ!
จะตามรอยโครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย "คลองด่าน" ซะก็ไม่รู้ สร้างเสร็จแล้ว เสียเงินแล้วนับหมื่นล้าน
แทนที่รัฐบาลจะมีหัวคิด.........
แยกคดีเป็นส่วนคดี เนื้องานที่เสร็จแล้ว ก็แยกเอามาใช้งาน แต่ก็หาคนมีจิตสำนึกในความเป็น "สมบัติหลวง" ไม่ได้
ปล่อยทิ้งร้าง "สูญเปล่า" จนถึงวันนี้!
กรณีบ้านพักตุลาการเชิงดอยสุเทพ ก็หวั่นๆ อยู่ ว่าสุดท้าย จะลงเอยรูปแบบไหน?
แล้วจะทำยังไงกันดี........และใครล่ะ จะเป็นศูนย์บรรจบของสิ่งถูกทั้ง ๒ ในทางสร้างสรรค์?
บ้านพักตุลาการก็ได้ใช้ พื้นที่เชิงดอยสุเทพที่แหว่งเหมือนถูกแทะ ก็จะได้พื้นที่สีเขียวเชื่อมผืนป่าดอยสุเทพกลับคืนเหมือนเดิม?
แต่ที่อดห่วงไม่ได้ ก็คือ...........สถานที่สร้างบ้านพักตุลาการนั้น เป็นพื้นที่ลาดเชิงดอย คงกว่า ๓๐ องศาด้วยมั้ง?
ก็ วิวดี-อากาศดี
แต่จากประสบการณ์ผม การอยู่ตีนเขา-ตีนดอย ต้องระวังไฟป่า
บ้านพักตุลาการเชิงดอยก็ไม่หนีเงื่อนไขนั้น อย่ามองด้านวิวสวยอย่างเดียว ต้องคำนึงด้าน "ไฟป่า" ไว้ด้วย
 นอกจากไฟป่าแล้ว คนไม่เคยอยู่ป่า-อยู่ดอย ย่อมไม่ทราบ
ตอน "ฝนตก-น้ำหลาก"........พรวดเดียวแหละท่าน เร็ว-แรง และคมยิ่งกว่าขวานถาก มันจะกวาด "ทุกอย่าง" ที่ขวางหน้า
กระเด็น-กระดอน ไปในพริบตา!
นี่ไม่ใช่พูดเอาสนุก สภาพเป็นจริง ตั้งบ้านเรือนตามเชิงดอยจะหลีกหนีไม่พ้น ไม่วันใด ก็วันหนึ่ง
ที่พูดทั้งหมดนี้ ด้วยเจตนาเดียว คือ.......
ยุคนี้ โซเชียลมีเดีย เหมือนอำนาจที่ ๔ ก็ไม่อยากให้เกิดคำว่า "ศาลกับชาวบ้าน"
ปุจฉา-วิสัชนากัน เรื่อง 'วัตถุกับจิตใจ'  'เวิ้งว้าง'......ขอบฟ้าจรดขอบน้ำ ไม่รู้จบ!