PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2562

#กลัวที่ไหน : วีรพงษ์ รามางกูร

#กลัวที่ไหน : วีรพงษ์ รามางกูร




#กลัวที่ไหน : โดย วีรพงษ์ รามางกูร
การชุมนุมที่หน้าหอศิลป์ สยามสแควร์ และบน Sky Walk ที่สถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติ ซึ่งบัดนี้กลายเป็นที่ชุมนุมทางการเมืองเหมือนกับที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและที่ท้องสนามหลวงไปแล้ว

การชุมนุมที่เกิดขึ้นเป็นการนัดหมายกันเองโดยไม่มีผู้จัดหรือแกนนำ ถ้าดูจากโทรทัศน์ก็มองเห็นการชุมนุมที่ประสบความสำเร็จเกินคาดเพราะมีผู้คนมาร่วมประชุมหนาตา

 แม้ว่าสื่อมวลชนจะรายงานว่ามีผู้คนมาร่วมชุมนุมไม่ถึงหมื่นคน แต่ก็มีคนมาร่วมชุมนุมหนาตา จำนวนน่าจะเกินหมื่น เหมือนกับการชุมนุมการเมืองทุกครั้งที่เริ่มจากคนจำนวนไม่มาก ก่อนที่จะมีการชุมนุมใหญ่

เดิมคิดว่าจะเป็นการชุมนุมของคนรุ่นใหม่บางส่วนที่มีความตื่นตัวทางการเมือง เพราะเคยคิดกันเสมอว่าคนรุ่นใหม่ไม่สนใจการเมือง สนใจแต่เรื่องตัวเอง เรื่องทำมาหากิน

 แต่จากภาพที่เห็นผู้ชุมนุมมีทุกรุ่นทุกเพศทุกวัย พร้อมที่จะตะโกนขับไล่หัวหน้ารัฐบาล เรียกร้องสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชน เรียกร้องสิทธิความเป็นมนุษย์ให้กลับคืนมาอยู่กับปวงชนชาวไทย จากที่ถูกคณะรัฐประหารใช้กำลังยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินไปแล้วทำการปกครองตามระบอบเผด็จการเป็นเวลานานกว่า 5 ปี เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่สมุนของตนร่างมา ใช้เพื่อจะสืบทอดอำนาจต่อไปอีกเป็นเวลา 20 ปี ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้

ระบอบการปกครองแบบเผด็จการทหารและระบอบการปกครองที่สืบทอดอำนาจเผด็จการทหาร ที่การเลือกตั้งไม่มีความหมายเพราะมีสมาชิกวุฒิสภาที่ตนเป็นผู้แต่งตั้ง มีจำนวนกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีอำนาจมาลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเลือกนายกรัฐมนตรี ที่แต่งตั้งผู้ที่เขียนรัฐธรรมนูญเอง แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาเอง ก็ต้องได้รับการลงคะแนนเสียงเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างไม่ต้องสงสัย

เมื่อมีการจัดชุมนุมขับไล่รัฐบาลก็มักจะมีเสียงคัดค้านจากผู้นิยมระบอบเผด็จการทหารว่าไม่ควรนำการเมืองออกสู่ท้องถนน ควรจะทำกันในรัฐสภา ซึ่งเป็นวาทกรรมของผู้ที่นิยมผู้ที่กุมอำนาจรัฐปัจจุบันใช้ ก็เนื่องจากการดำเนินการตามวิถีทางประชาธิปไตยในรัฐสภาไม่เป็นผล เพราะสภาผู้แทนราษฎรก็ดี วุฒิสภาก็ดี เริ่มตั้งแต่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่มาของสมาชิกวุฒิสภาซึ่งมีอำนาจมาเลือกตัวนายกรัฐมนตรีด้วย รัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาเพื่อการสืบทอดอำนาจเผด็จการ ไม่ใช่ออกแบบมาเพื่อการแข่งขันอย่างเท่าเทียมกัน

การเลือกตั้งจึงไม่เสรีและไม่เป็นธรรม มีการเอารัดเอาเปรียบฝ่ายตรงกันข้าม แม้กระนั้นก็ยังไม่ได้เสียงข้างมาก ต้องใช้วิธีการสกปรก ซื้อ “งูเห่า” สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ “ทรยศ” ต่อผู้ลงคะแนนเสียงและต่อพรรคการเมืองของตน

การปกครองระบอบเผด็จการและระบอบสืบทอดอำนาจเผด็จการนั้น ต่างกันกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย การปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยเป็นการปกครองโดย “ความเห็นชอบ” ของคนส่วนใหญ่ ส่วนระบอบเผด็จการนั้นปกครองโดยการใช้ “ความกลัว” ของผู้ถูกปกครอง ถ้าผู้ถูกปกครองแสดงตนต่อต้านก็จะถูกกระทำด้วยความรุนแรงหรือถูกกลั่นแกล้งโดยอำนาจรัฐไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ด้วยเหตุนี้เมื่อมีการปฏิวัติรัฐประหารทุกครั้ง ไม่ว่าจะโดย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม หรือการรัฐประหารในยุคหลังๆ เมื่อทำการยึดอำนาจสำเร็จก็จะข่มขู่ประชาชนโดยการประกาศเรียกผู้คนที่มีชื่อเสียง ผู้คนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจ ผู้คนที่มีตำแหน่งหน้าที่ในทางราชการ ให้มาทำการมอบตัวและจะถูกควบคุมไว้จนกว่าจะแน่ใจว่าไม่ทำการต่อต้านข้าราชการประจำและประชาชนที่เข้าร่วมการปฏิวัติรัฐประหาร ครั้งสุดท้ายก็มีการเรียกไป “ปรับทัศนคติ” ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ของปวงชนชาวไทยอย่างชัดเจน

เมื่อคณะรัฐประหารทำการปกครองโดยการใช้กำลังเข้ายึดอำนาจ จากรัฐบาลที่มาตามวิถีทางประชาธิปไตย ตามรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตย และไม่ยอมคืนอำนาจอธิปไตยให้ประชาชนเพื่อปกครองตนเอง ประชาชนไม่สามารถดำเนินการถอดถอนรัฐบาลที่เข้ามาโดยที่ตนไม่ได้ให้ความเห็นชอบได้ ก็มีอยู่ทางเดียวคือ “การเมืองภาคประชาชน” นอกรัฐสภา เป็นความชอบธรรมที่ประชาชนจะดำเนินการถอดถอนรัฐบาลโดยวิธีอื่น มิใช่วิธีใช้อาวุธ มิใช่วิธีที่รุนแรง เป็นการชุมนุมอย่างสงบเปิดเผย ปราศจากอาวุธ

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมักจะเกิดขึ้นจากฝ่ายผู้ที่อยู่ในอำนาจ ที่ใช้อาวุธปราบปรามโดยอ้างว่าผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรงก่อน หรือผู้ชุมนุมเป็นผู้ก่อความรุนแรงโดยมีมือที่สาม ซึ่งมักจะไม่ทราบว่าเป็นผู้ใดเข้ามาแทรกแซง

ในการชุมนุมครั้งสุดท้ายที่สี่แยกราชประสงค์มี “ชายเสื้อดำ” เป็นมือที่สาม เข้ามาแทรกแซง จุดไฟเผาจนเกิดความรุนแรง จนบัดนี้ก็ยังไม่สามารถจับตัวร้ายชุดดำมาลงโทษได้

การชุมนุมของ กปปส.ที่แต่งตั้งตนเองเพื่อขับไล่รัฐบาลที่มาตามวิถีทางประชาธิปไตย เริ่มตั้งแต่ฝ่ายความมั่นคงอันได้แก่ ทหาร ตำรวจ กองทัพ ข้าราชการ ใส่ “เกียร์ว่าง” ประกาศตนเป็นกลางระหว่างผู้ชุมนุมกับรัฐบาล เพียงเท่านี้รัฐบาลก็แพ้แล้ว เพราะเท่ากับทหารได้ทำการปฏิวัติรัฐประหารแล้ว เพียงแต่ยังเขินอายประชาคมโลกเท่านั้น

กิจกรรมเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกและให้แก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคฝ่ายค้านเป็นการเรียกร้องที่ชอบธรรม รัฐธรรมนูญที่ร่างโดยกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร แน่นอนว่าต้องร่างตามความต้องการของฝ่ายเผด็จการทหาร เป็นรัฐธรรมนูญที่มีแหล่งที่มาไม่ชอบธรรมและมีบทบัญญัติที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ทำมาเอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายเผด็จการทหารสามารถสืบทอดอำนาจได้สะดวก ดังจะเห็นว่าผลของการเลือกตั้งจากการนับคะแนนที่ฝ่ายเผด็จการทหารใช้วิธีต่างๆ แต่ก็ไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนทั่วไปที่มีเหตุผล

เครื่องมือที่รัฐบาลเผด็จการทุกแห่งใช้เพื่อปกครองประเทศก็คือ การสร้างความกลัว ทั้งการใช้กำลังและความรุนแรง ใช้กฎหมายปราบปรามผู้ที่ไม่เห็นด้วย ใช้อิทธิพลจากอำนาจข่มขู่ผู้ต่อต้านระบอบการปกครองแบบเผด็จการทหาร ใช้กฎหมายปกครองเพื่อจะได้อยู่อย่างสงบเงียบไปเรื่อยๆ หากแต่การต่อต้านนั้นก็เป็นธรรมดาสามัญที่จะต้องฝ่าฝืนอำนาจรัฐหรือฝ่าฝืนผู้ที่ปกครองบ้าง โดยเฉพาะเป็นอำนาจและการปกครองที่ถูกปล้นไป

เป็นความชอบธรรมของประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศและเจ้าของอำนาจอธิปไตย ที่ต้องฝ่าฝืนกฎหมายและคำสั่งของผู้ที่ยึดอำนาจรัฐ ที่ฉีกกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่ได้อำนาจรัฐมาโดยมิได้รับความยินยอมจากประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจรัฐ มาตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาตั้งแต่ดั้งเดิม เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475

อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนชาวไทยโดยการพระราชทานรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 และวันที่ 10 ธันวาคม ก็กลายเป็นวันหยุดราชการของประเทศตั้งแต่นั้นมา การยึดอำนาจโดยคณะรัฐประหารหลังจากนั้นจึงเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แม้ว่าจะใช้สภานิติบัญญัตินิรโทษกรรมตนเองก็ตาม กฎหมายนิรโทษกรรมเป็นแต่เพียงกฎหมายที่ไม่เอาโทษการกระทำที่ผิดกฎหมายเช่นว่า แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้การกระทำที่ผิดกฎหมายนั้นกลายเป็นการกระทำที่ถูกกฎหมาย

เมื่อการเข้ามาโดยวิธีที่ไม่ถูกกฎหมายและใช้กฎหมายที่ตนบัญญัติขึ้นปกครอง ประชาชนก็ย่อมมีสิทธิอย่างชอบธรรมที่จะต่อต้านการได้มาซึ่งอำนาจโดยการทำผิดกฎหมายพื้นฐาน คือกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ถูกคณะรัฐประหารฉีกทิ้งไป ความชอบธรรมที่จะใช้กฎหมายเอาผิดกับผู้ต่อต้านการคงอยู่ในอำนาจของตนย่อมจะไม่มี การใช้จ่ายเงินจากภาษีอากรที่เก็บมาจากประชาชนในการปราบปรามประชาชนจึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ประชาชนผู้เสียภาษีย่อมมีสิทธิที่จะต่อต้าน

การปฏิวัติรัฐประหารเป็นการละเมิด “สัญญาประชาคม” ตามความหมายของ จอห์น ลอกซ์ อย่างตรงไปตรงมา การต่อต้านหรือแม้แต่การหาทางล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจอธิปไตยแล้วสถาปนาตนเองเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ประชาชนจึงมีความถูกต้องและชอบธรรมยิ่งที่จะถอดถอนรัฐบาลดังกล่าว ไม่ว่าจะโดยวิถีทางรัฐสภาผ่านผู้แทนราษฎร หรือวิถีทางอื่นที่สงบปราศจากอาวุธ ความรุนแรงและความไม่สงบจะเกิดขึ้นก็แต่การใช้คำสั่งของฝ่ายรัฐบาลที่ยึดอำนาจมาจากประชาชนเท่านั้น

ความขัดแย้งภายในประเทศจะเกิดขึ้นก็จากการมีผู้ยึดอำนาจอธิปไตยไปโดยมิชอบ ไม่ยอมคืนอำนาจให้ประชาชน ความขัดแย้งทางการเมืองไม่เป็นความผิดในระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นความผิดในระบอบการปกครองแบบเผด็จการที่ไม่เห็นด้วยกับระบอบนี้

หลายคนที่คัดค้านการรวมตัวชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย โดยอ้างการมีรัฐสภาบ้าง โดยอ้างกฎหมายบ้าง โดยอ้างความแตกแยกบ้าง โดยอ้างความเสียหายทางเศรษฐกิจบ้าง เป็นการอ้างที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนเหตุผลทางการเมืองที่ถูกต้อง เพราะ “สิทธิเสรีภาพ ภราดรภาพ เป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดของสังคมสมัยใหม่” ยุคสมัยอาณานิคมได้พ้นผ่านไปแล้ว ความสงบเรียบร้อยก็ดี ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันก็ดี ความสามัคคีในชาติก็ดี จะไม่มีวันเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลเผด็จการ หากแต่จะเป็นสังคมเผด็จการหรืออำนาจนิยมในทุกระดับชั้น

“ท่ามกลางอาวุธ เสียงของกฎหมายก็จะแผ่วลง” สิทธิเสรีภาพอันแท้จริงไม่มีทางได้มาโดยการหยิบยื่นให้จากเผด็จการ ยิ่งเผด็จการในเสื้อคลุมประชาธิปไตยอย่างที่พยายามทำอยู่ในปัจจุบัน ยิ่งมีความเลวร้ายกว่าเผด็จการอย่างตรงไปตรงมา

ความอยู่ดีกินดี ความก้าวหน้าในทางเศรษฐกิจที่การส่งออกของประเทศมีถึงร้อยละ 70 ของรายได้ประชาชาติย่อมจะไม่เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลเผด็จการ เพราะไม่มีประเทศอารยประเทศใดยอมเจรจาการค้าและการลงทุนด้วย ในรอบ 5-6 ปีหลังการทำรัฐประหาร ประเทศไทยไม่อาจจะลงนามในสัญญาการค้าและการลงทุนกับประเทศใดได้เลย ใครเป็นคน “ชังชาติ” และทำร้ายประเทศชาติกันแน่

เผด็จการอยู่ได้โดยการสร้างความกลัว ถ้าคนไม่กลัวเผด็จการก็อยู่ไม่ได้

ไม่รู้จักประคองอำนาจ

ไม่รู้จักประคองอำนาจ


ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง

ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ วันจันทร์ร่วงลงเพราะกังวลการเมือง หลังแฟลชม็อบอนาคตใหม่ มีคนเข้าร่วมหลายพัน

ขอบอกว่าอย่ากังวลเกินเหตุ พรรคอนาคตใหม่ก็มีขีดคั่นของตัวเอง การเคลื่อนไหวแสดงความไม่พอใจนั้นทำได้ แต่ต้องรู้ประมาณ ไม่งั้นก็ถูกกระแสตีกลับ เงื่อนไขขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นที่จะมีใครก่อม็อบล้มรัฐบาล เพียงแค่สถานการณ์ทำให้รู้สึกว่าใกล้เข้ามาทุกขณะ

พึงเข้าใจว่าแฟลชม็อบไม่ได้เกิดเพียงเพราะ กกต.ยื่นยุบพรรคอนาคตใหม่ แต่ประชาชนไม่พอใจกติกาเอาเปรียบตั้งแต่เลือกตั้ง หัวหน้า คสช.ชิงนายกฯ ได้โดยไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ แต่เป็นรัฏฐาธิปัตย์ 

กกต.ประกาศผลเลือกตั้งน่ากังขา แล้วยังมาพลิกแพ้พลิกชนะกันด้วยสูตรคำนวณพิลึกพิลั่น ยังไงๆ ก็ได้เป็นนายกฯ เพราะตั้ง 250 ส.ว.มาโหวตตัวเอง เป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ก็ยังเอาชนะคะคานด้วยงูเห่า

เท่านั้นไม่พอ รัฐบาลซึ่งเปลี่ยนโฉมหน้าจากทหารข้าราชการเทคโนแครตในยุครัฐประหาร ไปเป็นสารพัดนักการเมืองที่กวาดต้อนเข้ามา ก็เต็มไปด้วยปัญหาภาพลักษณ์ ตั้งแต่พรรคใหญ่แย่งเค้กไปถึงพรรคเล็กกินกล้วย ถูกครหาอุ้มพวกพ้อง สองมาตรฐาน

แต่กลับมีการใช้องค์กรอิสระเป็นเครื่องมือทำลายฝ่ายตรงข้าม เช่นจับทุจริตเลือกตั้งไม่ได้เลย จับ ส.ส.ถวายเงินพระ กับ ส.ส.ใส่ซองงานศพ ได้อย่างละ 1 คน แต่ผลงานโบว์แดงคือจับหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ถือหุ้นนิตยสารที่ปิดไปแล้ว ไม่มีผลให้คุณให้โทษในการเลือกตั้ง แล้วยังยื่นยุบพรรคจากการให้เงินกู้ ทั้งที่กฎหมายเขียนไว้ว่าให้ยุบพรรคหากรับเงินบริจาคโดยรู้ว่าเป็นเงินผิดกฎหมาย ได้มาจากการค้ายาเสพติดทุจริตค้ามนุษย์ ฯลฯ

ถามว่าถ้ายุบพรรคอนาคตใหม่แล้วธนาธรจะนำม็อบลุกฮือล้มรัฐบาลได้ไหม ยังไม่ได้หรอกครับ แต่ความโกรธแค้นของคนจะลุกลาม และไประบายออกกับรัฐบาลในเรื่องอื่น ซึ่งภายใต้เงื่อนไข 2 ด้าน คือหนึ่ง ปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้า ทำอย่างไรก็แก้ไม่ตก 6 ปีประยุทธ์ ชาวบ้านบ่นตลอด กับสอง ปัญหาจากนักการเมืองในรัฐบาล ซึ่งถ้าเกิดเรื่องอื้อฉาว ถูกเปิดแผลสำคัญๆ กระแสอาจจะรุมกระหน่ำจนโงหัวไม่ขึ้น

ลำพังอนาคตใหม่ล้มรัฐบาลไม่ได้หรอก รัฐบาลจะล้มด้วยตัวเองนี่แหละ

มีคำถามน่าสนใจว่า ทำไมการเมืองหลังเลือกตั้งจึงต้องร้อนแรงปานนี้ ทำไมเล่นกันถึงขั้นจะยุบพรรคอนาคตใหม่ ธนาธรไม่ได้เป็น ส.ส. อย่าแสร้งไร้เดียงสาอ้างว่าเป็นเรื่องทางกฎหมาย เราอยู่ใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ 2560 เครือข่ายอำนาจที่วางไว้โดย คสช. อย่างน้อยก็เห็นการปลุกความเกลียดชังควบคู่ไปกับนักร้อง lawfare

ว่ากันในวิถีการเมืองเรื่องอำนาจ รัฐบาลแม้เสียงปริ่มน้ำ ก็อยู่ได้สบายๆ เพราะมีกองทัพ รัฐราชการ เครือข่ายกฎหมายหนุนหลัง โดยไม่ต้องทำลายฝ่ายตรงข้าม ยิ่งอยู่ในอำนาจนานๆ ฝ่ายค้านยิ่งอ่อนลง 

การเมืองแบบอนาคตใหม่ขึ้นกับกระแส เมื่อลงสนามจริง เลือกตั้งครั้งหน้าไม่แน่ว่าจะถึง 40 ขณะที่พรรคเพื่อไทย เมื่อไม่ได้เป็นรัฐบาล เลือกตั้งทีไรก็แพ้ 250 ส.ว. การหาเสียงด้วยนโยบายก็ไม่มีพลัง

ขอเพียงรัฐบาลประคองอำนาจให้ได้ รักษาภาพลักษณ์พอประมาณ ควบคุมนักการเมืองของตัวเองให้ได้ ไม่ยากเลยที่จะอยู่สี่ปีแล้วชนะเลือกตั้ง

แต่นี่คือสิ่งที่พวกเขาทำไม่ได้ ระบอบอำนาจนี้อยู่ไม่เป็น เคยชินแต่การรวบอำนาจ ไม่รู้จักอยู่แบบ
ประคองอำนาจ ใช้อำนาจเหนือกว่าในระดับที่เหมาะสม มีแต่จะเอาให้ได้ดังใจ และกลัวจนไม่สามารถให้พื้นที่ขั้วตรงข้าม

อยู่ไม่เป็นอย่างนี้ การเมืองจึงแรง