PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2556

แก้ "ม.309"แทนพรบ.สุดซอย?



วันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม 2556, 00:00 น.


คอลัมน์ รายงานพิเศษ



ท่ามกลางการผลักดัน "นิรโทษสุดซอย" ที่ทำท่าจะพารัฐบาลเดินสู่ทางตันมากกว่า 

นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 

เพราะเชื่อว่าจะเป็นการช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้ได้กลับบ้านอย่างสง่างามและชอบธรรมมากกว่า 

การแก้มาตรา 309 จะใช่ทางออกหรือไม่ มีความเห็นจากนักวิชาการ และส.ว.

นันทวัฒน์ บรมานันท์

คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ

การแก้รัฐธรรมนูญต้องแยกกับการแก้กฎหมายนิรโทษกรรม เพราะการแก้รัฐธรรมนูญต้องตั้งกระบวนการขึ้นมาใหม่ แต่วันนี้มีกฎหมายนิรโทษอยู่ในสภาแล้ว 

เมื่อมีร่างพ.ร.บ.ที่เสนอโดยนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทร ปราการ ค้างการพิจารณาอยู่ ก็ต้องทำให้เสร็จ ซึ่งกฎหมายนี้จะสำเร็จมาในรูปแบบไหนไม่ทราบ แต่หลักคือต้องเคารพหลักการเดิม 

เมื่อมีการแปรญัตติเกิดขึ้นคนที่แปรญัตติต้องเข้าใจประเด็นซึ่งเป็นข้อถกเถียงของสังคม เพราะมีความอ่อนไหว 

ส่วนตัวมองว่าการแปรญัตติมาตรา 3 ที่กลายเป็นเรื่องเป็นราวในขณะนี้ ครั้งนี้ไม่ใช่การโยนหินถามทาง ถ้าเป็นการโยนหินต้องมีการพูดคุยกันเกิดขึ้นแต่นี่มีการทำเป็นร่างกฎหมายขึ้นมาแล้ว เป็นการตัดเชือกและพร้อมชน

พ.ร.บ.นิรโทษกรรมต้องเดินหน้าต่อให้จบ ถ้าไม่อยากกดดันก็ต้องกลับไปใช้ร่างเดิม 

ส่วนการแก้มาตรา 309 เป็นอีกเรื่องหนึ่ง วันนี้จะเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังมีอีกหลายประเด็น มาตรา 190 ก็รออยู่ และยังมีประเด็นการแก้ไขมาตรา 68 และ 239 ที่ต้องเข้ากระบวนการของสภาอีก 

ส่วนตัวเห็นด้วยว่าควรยกเลิกมาตรา 309 เพราะมาตรานี้ไม่ควรมีอยู่ตั้งแต่ต้นเพราะเป็นการทำลายรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ 

เราผ่านการรัฐประหารปี 2549 จนได้รัฐธรรมนูญ 2550 มาถึง 6 ปีแล้ว แต่บทบัญญัติมาตรา 309 ยังอยู่ ทั้งที่มาตรานี้ไม่ควรมี ผลของการรัฐประหารควรจบในตัวของมันเอง 

ผ่านมาถึงวันนี้ ข้อกล่าวหา พ.ต.ท.ทักษิณ ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ และมีเรื่องอีกจำนวนหนึ่งค้างอยู่ในองค์กรตรวจสอบต่างๆ มีการกล่าวหาอดีตนายกฯ ทั้งที่ข้อกล่าวหาควรยุติเร็ววันที่สุดหลังการรัฐประหาร แต่วันนี้ทุกอย่างยังอยู่

ในต่างประเทศจะไม่ปล่อยให้คดีความต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหารคาอยู่เนิ่นนานอย่างนี้ แต่จะรีบดำเนินการให้เสร็จ 

แต่ถ้าจะบอกว่าการแก้มาตรา 309 เพื่อจะไม่ถูกต่อต้านเหมือนการแก้พ.ร.บ.นิรโทษกรรม คงไม่ใช่ เพราะไม่ว่าจะแก้กฎหมายอะไรก็โดนต้าน ถ้าจะลบมาตรา 309 ก็จะถูกมองว่าจะไปช่วยพ.ต.ท.ทักษิณให้หลุดคดีความ ซึ่งเป็นการมองด้านเดียว มองแค่ปลายเหตุ 

อย่างไรก็ตาม กระบวนการแก้มาตรา 309 กว่าจะเสร็จอีกนาน เพราะต้องเริ่มกระบวนการใหม่

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่

หลักการการแก้มาตรา 309 ที่ผ่านมาจะพบว่าผู้เสนอต้อง การให้ยกเลิกกฎหมาย หรือคำสั่งต่างๆ ที่มีผลพวงมาจากการทำรัฐประหาร เมื่อปี 2549 เช่น คำสั่งของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ที่ตรวจสอบการทุจริตของรัฐบาลทักษิณ ซึ่งปัจจุบันคณะหรือองค์กรต่างๆ ที่ก่อตั้งขึ้นจากการรัฐประหารยังคงมีอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ 

หากมีการแก้ไขมาตรานี้จะส่งผลให้คำสั่งจากคณะหรือองค์กรที่เกิดขึ้นจากการทำรัฐประหารก็เป็นอันโมฆะ พ.ต.ท.ทักษิณจะได้รับอานิสงส์จากการแก้ไขด้วย

ถ้ามองในมุมที่รัฐบาลต้องการช่วยเหลือพ.ต.ท.ทักษิณ จริงๆ การแก้มาตรา 309 ดูแล้วยังจะมีความชอบธรรมมากกว่าการออกกฎหมายนิรโทษกรรมที่ครอบคลุมไปถึงพ.ต.ท.ทักษิณ

ยิ่งในขณะนี้กฎหมายนิรโทษกรรมได้เปลี่ยน แปลงไปจากหลักการเดิม ฉบับของนายวรชัย เหมะ มีจุดประสงค์เพื่อต้องการให้ช่วยเหลือประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อและเป็นนักโทษทางการเมืองให้พ้นความผิด 

แต่การแก้ไขมาตรา 3 ในชั้นกรรมาธิการทำให้กฎหมายนิรโทษกรรมนี้กลายเป็นกฎหมายสุดซอย กรณีทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมีปัญหาในเรื่องของความชอบธรรมของรัฐบาล 

ที่สำคัญ การแก้มาตรา 309 คือการยกเลิกอำนาจที่เกิดจากการทำรัฐประหาร และไม่ได้หมายความว่าพ.ต.ท.ทักษิณจะพ้นจากความผิด เพียงแค่กระบวนการตรวจสอบต่างๆ จะกลับไปสู่จุดเริ่มต้นใหม่ 

การตรวจสอบจะเป็นไปตามองค์กรที่ก่อตั้งจากรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เกิดจากการรัฐประหาร กฎหมายก็จะเป็นตามระบอบประชาธิปไตยที่มากขึ้น 

อีกทั้งยังเป็นการเตือนให้รู้ว่า หากบุคคลใดที่คิดจะทำรัฐประหารต้องระมัดระวังตัวยิ่งกว่าเดิมเพราะกฎหมายมันสามารถเปลี่ยนแปลงได้ 

อย่างไรก็ตามต้องอย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองสูง และในสถานการณ์เช่นนี้หากรัฐบาลเข้าไปแตะหรือดำเนินการเกี่ยวกับมาตรา 309 ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐบาลอาจเดินหน้าไปพบกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น 

ยิ่งการออกกฎหมายนิรโทษกรรมที่กำลังเป็นปัญหา หากเข้าไปแตะเรื่องมาตรา 309 ตอนนี้ รัฐบาลก็จะถูกมองว่ามีปัญหาในเรื่องของความชอบธรรม เอื้อประโยชน์ให้แก่พวกพ้อง 

แม้ในข้อเท็จจริงการแก้มาตรา 309 เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ แต่รัฐบาลต้องคำนึงว่าการแก้ไขกฎหมายที่มีความเสี่ยงนั้นต้องให้สังคมเป็นตัวตั้ง หรือตัวผลักดัน 

รัฐบาลอาจทำให้หลายวิธี เช่น ฟังความเห็นประชาชน หรือดูบริบทของสังคมในขณะนั้น และดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป 

หากรัฐบาลเอาตัวเองเป็นที่ตั้งแล้วและเร่งดำเนินการจนเกินไป ย่อมพบกับแรงต้านที่เพิ่มขึ้น

พิเชต สุนทรพิพิธ

ส.ว.สรรหา

อะไรก็แล้วแต่ที่เพิ่มมาจากการเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนายวรชัย เหมะ ย่อมไม่ดีทั้งนั้น พูดง่ายๆ คือ ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ หรือการเสนอแก้มาตรา 309 ไม่ใช่ทางออกที่ดี 

ทางออกที่เหมาะสมคือ การกลับไปยึดตามร่างเดิม ซึ่งประชาชนจะยอมรับได้มากกว่า 

เพราะก่อนที่จะเสนอร่างจนเข้าสู่กระบวนการวาระ 1 พรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงเองก็ออกมาพูดเสียงเดียวว่าร่างฉบับดังกล่าวจะเอื้อแค่ประชาชนผู้ร่วมชุมนุมทางการเมืองที่บริสุทธิ์เท่านั้น ไม่รวมผู้สั่งการ แกนนำ ทุกคนก็เห็นว่ามีความเข้มแข็งในการเสนอร่าง 

ขณะเดียวกัน ประชาชนก็เข้าใจในระดับหนึ่งแล้ว ส่วนตัวก็ยังโหวตวาระ 1 ให้ เพราะเห็นแก่การสร้างความปรองดองชาติ แต่กลับเกิดการพลิกเกมในชั้นคณะกรรมาธิการ 

ก็ยังเดาไม่ออกว่าเป็นการเตี๊ยมกับคนเสื้อแดงให้ออกมาหยั่งเชิงเสียงอีกแนวหนึ่ง หรือเป็นตัวล่อ ส่วนพรรคเพื่อไทยก็เดินหน้าอีกทาง แต่ในที่สุดอาจจะเดินตามทางล้างผิดทุกคดีให้กับพ.ต.ท.ทักษิณก็เป็นได้

แม้ว่าการเสนอแก้มาตรา 309 จะดูดีกว่าร่างฉบับนายประยุทธ์ แต่ก็ต้องไปพัวพันกับช่วงรัฐประหาร ลากยาวไปถึงองค์กรทหาร คิดว่าอาจจะเป็นเรื่องยากลำบากเข้าไปอีก เพราะแค่ร่างที่เป็นอยู่ตอนนี้ก็เรียกแขกได้มากอยู่แล้ว 

ไม่ทราบว่ารัฐบาลคิดอย่างไรที่หมั่นเติมฟืนเข้ากองไฟ ทั้งที่รัฐบาลเกือบจะได้เครดิตหากให้ดำเนินไปตามปกติจนผ่านวาระ 2 และวาระ 3 แต่มาเรียกเสียงต่อต้านเพิ่มขึ้น

กมธ.นิรโทษฯถกจบตี1เหมาเข่ง7มาตราเดิมขณะปชป.โวยหักดิบซัดวิ่งราว



วันนี้ ( 26 ตุลาคม ) การประชุมกรรมาธิการนิรโทษกรรม ที่มีนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทยเป็นประธานได้ประชุมจบลงเวลาประมาณเที่ยงคืนกว่าๆที่ผ่านมา โดยยังคงให้มีการคงเนื้อหาใน 7 มาตราเดิมไว้ ไม่มีการแก้ไข โดยเฉพาะมาตรา 3 ที่เสนอโดยนายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ ที่ใหีมการนิรโทษกรรมให้กับทุกคนทุกฝ่าย หรือที่เรียกว่ากันว่า นิรโทษฯเหมาเข่ง หรือสุดซอย 
  
ทั้งนี้นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการนิรโทษกรรม เปิดเผยกับสำนักข่าวทีนิวส์ว่า การประชุมเมื่อคืนจบลงเกือบตี1 เพราะการเล่นเกมของพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งที่เนื้อหาพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ไม่มีอะไรที่ต้องอภิปรายกันมากแล้วเพราะอย่างไรก็ต้องให้ที่ประชุมสภาฯพิจารณาอีกครั้ง ส่วนกรรมาธิการฯนัดประชุมจัดทำรายงานสรุปวันที่ 28 ตุลาคม ก่อนส่งให้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฏร์ 
  
ขณะที่นายวัชระ เพชรทอง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการพิจารณาร่างพรบ.นิรโทษกรรม กล่าวกับสำนักข่าวทีนิวส์ด้วยว่า กรรมาธิการในส่วนพรรคเพื่อไทยยังคงยืนยันที่จะคงร่างพรบ.นิรโทษฯตามร่างเดิมที่ให้มีการล้างผิดแบบเหมาเข่ง และนายสามารถ ยังได้กระทำการหักดิบรวบรัดปิดการประชุมทั้งที่กรรมาธิการของพรรคประชาธิปัตย์ยังอภิปรายไม่แล้วเสร็จไม่ครบทุกคน ซึ่งเปรียบได้กับการวิ่งราวนิรโทษกรรม  

แผ่ดินไหวญี่ปุ่น7.3ริกเตอร์

แผ่นดินไหว 7.3 ญี่ปุ่น เตือนสึนามิ!!

วันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม 2556, 00:49 น.

เมื่อเวลา 02:10 วันที่ 26 ต.ค.2556 ตามเวลาท้องถิ่น เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.3 นอกชายฝั่งใกล้กับ จ.ฟุกุชิมา มีประกาศเตือนให้เฝ้าระวังสึนามิ ยังไม่มีรายงานความเสียหาย ผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต...

เมื่อเวลา 02:10 วันที่ 26 ต.ค.2556 ตามเวลาท้องถิ่น สำนักงานสำรวจทางธรณีวิทยาของสหรัฐ (USGS) แจ้งว่า เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.3 นอกชายฝั่งใกล้กับ จ.ฟุกุชิมา มีประกาศเตือนให้เฝ้าระวังสึนามิ โดยคาดว่าจะมีสึนามิสูงประมาณ 1 เมตร ยังไม่มีรายงานความเสียหาย ผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต 

ขณะที่ บริษัทเทปโกสั่งอพยพคนงานที่อยู่ใกล้กับกำแพงทะเลของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟุกุชิมะ ไดอิจิ แล้ว โดยยังไม่มีสิ่งที่ชี้ว่าสึนามิกระทบเข้าฝั่ง รายละเอียดจะแจ้งให้ทราบต่อไป.




โดย ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์

'ธรรมะจากสมเด็จพระสังฆราช' คู่มือในการดำเนินชีวิต


วันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม 2556, 05:30 น.

แม้สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก จะสิ้นพระชนม์ไปแล้ว แต่พระกรณียกิจที่ทรงดำเนินการมาโดยตลอด ทั้งด้านการพระศาสนาในต่างประเทศ ที่ทรงมีส่วนสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปยังประเทศต่างๆ ด้านสาธารณูปการ ด้านพระนิพนธ์ ตลอดจนหลักธรรมคำสอนต่างๆ ที่ประทานแก่ปวงชนชาวไทย จะยังถูกรำลึกอยู่ในหัวใจคนไทยตลอดไป ในฐานะ “ผู้นำคณะสงฆ์สูงสุดแห่งโลกพระพุทธศาสนา”

ดังเช่นในวันอาสาฬหบูชา พ.ศ.2556 สมเด็จทรงประทานวรธรรมคติให้แก่ชาวพุทธ นำพระรัตนตรัยให้เป็นที่พึ่งของจิตใจ ไม่ใช่เพียงกราบไหว้ขอพร


“เมื่ออภิลักขิตกาลเช่นนี้เวียนมาถึง ควรที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย จักได้น้อมใจรำลึกถึงพระรัตนตรัย พร้อมทั้งสำรวจตรวจสอบดูใจของตนเองว่า ได้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะที่พึ่งแท้จริงแค่ไหนเพียงไร

อันการถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะที่พึ่ง ตามนัยแห่งพระพุทธศาสนานั้น มิใช่ถึงโดยการกราบไหว้อ้อนวอน หรือถึงโดยการอธิษฐานขอพรให้พระรัตนตรัยมาช่วยปกป้องรักษา เพื่อที่ตนจะได้มีชีวิตอย่างปลอดภัยเป็นสุข แต่การถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะอย่างแท้จริงนั้น คือ การศึกษาเรียนรู้พระรัตนตรัยให้เข้าใจแจ่มชัดแล้วน้อมนำเอาความจริงที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้พระธรรมที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอน และพระสงฆ์สาวกของพระพุทธองค์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเป็นแบบอย่าง มาเป็นหลักเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสมถูกต้อง อันจะทำให้ได้ชื่อว่านับถือและบูชาพระรัตนตรัยอย่างแท้จริง ด้วยทั้งพระรัตนตรัยก็จะปกป้องคุ้มครองมิให้ตกไปสู่ความชั่ว โดยไม่ต้องอธิษฐานอ้อนวอน”
นอกจากนี้ในหนังสือ “100 คำสอน สมเด็จพระสังฆราช” ยังได้มีการคัดเลือกพระศาสนธรรมสำคัญๆ ที่สมเด็จทรงนิพนธ์ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย กล่อมเกลาจิตใจให้สงบเยือกเย็น เหมาะกับยุคสมัย ผู้อ่านทุกเพศทุกวัยสามารถนำหลักธรรมคำสอนไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ไม่ยาก...

“คติธรรมดาที่ไม่มีใครเกิดมาในโลกนี้ จะหนีไปให้พ้นได้ ก็คือ ความแก่ ความตาย แต่คนโดยมากพากันประมาทเหมือนอย่างว่าไม่แก่ ไม่ตาย น่าที่จะรีบทำความดี แต่ก็ไม่ทำ กลับไปทำความชั่ว ก่อความเดือดร้อนให้แก่กันและกัน ต่างต้องเผชิญทุกข์เพราะกรรมที่ต่างก่อให้แก่กันอีกด้วย ฉะนั้นก็น่าจะนึกถึงความแก่ ความตายกันบ้าง เพื่อจะได้ลดความมัวเมา และทำความดี”

“ในการแก้ปัญหาเยาวชน บุคคลที่เป็นทิศสำคัญๆ ทุกฝ่ายของเยาวชน แต่ละคนจึงจำเป็นต้องร่วมมือกันตั้งตนของตนเองไว้โดยชอบ ให้เป็นทิศที่ดีตามฐานะที่เกี่ยวข้อง และอันที่จริงไม่ใช่แต่เยาวชนเท่านั้น ทุกๆ คนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เมื่อทิศต่างๆ โดยรอบตนดีอยู่ก็ย่อมจะชักนำกันไปในทางที่ดีได้ แต่มีข้อแตกต่าง ต่างกันอยู่ว่า สำหรับเด็กหรือเยาวชนนั้นยังเป็นผู้เยาว์ สติปัญญาจำต้องอาศัยทิศรอบตนที่ดี ซึ่งผู้ใหญ่จำต้องทำตนให้เป็นทิศของเด็ก และช่วยสร้างทิศที่ดีให้แก่เด็ก”
“ทุกคนต้องการความสุข ความสบายใจด้วยกันทั้งนั้น แต่ทุกคนก็ยังไม่ได้รับสิ่งที่ต้องการ เพราะใจยังมีความปรารถนาต้องการหรือความโลภนี้แหละอยู่เป็นอันมาก โดยที่ไม่พยายามทำให้ลดน้อยลงเห็นจะด้วยมิได้คิดให้ประจักษ์ในความจริงว่า ความโลภคือเหตุใหญ่ประการหนึ่ง ซึ่งนำให้ทุกข์ ให้เดือดร้อน ให้ไม่มีความสุข ความสบายใจกันอยู่อย่างมากทั่วไปในทุกวันนี้ แม้ทำสติพิจารณาให้ดีจะเห็นได้ไม่ยากนัก”

ในหนังสือ “ชีวิตนี้น้อยนัก” ที่สมเด็จทรงนิพนธ์ไว้ ซึ่งคำว่า “ชีวิตนี้น้อยนัก” หมายถึงชีวิตในชาติปัจจุบันน้อยนัก สั้นนัก ท่านมุ่งให้เปรียบเทียบชีวิตนี้กับชีวิตในอดีตที่นับชาติไม่ถ้วน และชีวิตในอนาคตที่จะนับชาติอีกไม่ถ้วนเช่นกัน สำหรับผู้ไม่ยิ่งด้วยปัญญา จะไม่สามารถนำพาจนพ้นทุกข์สิ้นเชิงได้ โดยในหนังสือบางช่วงระบุว่า...

“ชีวิตนี้แม้น้อยนัก แต่ก็เป็นความสำคัญนัก สำคัญยิ่งกว่าชีวิตในอดีตและชีวิตในอนาคต ที่ว่าชีวิตนี้ คือชีวิตในชาติปัจจุบันนี้สำคัญ ก็เพราะในชีวิตนี้เราสามารถหนีกรรมไม่ดีที่ได้ทำไว้ในอดีตได้ และสามารถเตรียมสร้างชีวิตในอนาคตไว้ดีเลิศเพียงใดก็ได้ หรือตกต่ำเพียงใดก็ได้ ชีวิตในอดีตล่วงเลยไปแล้ว ทำอะไรอีกไม่ได้ต่อไปแล้ว ชีวิตในอนาคตก็ยังไม่ถึง ยังทำอะไรไม่ได้ เช่นนี้จึงกล่าวได้ว่าชีวิตนี้สำคัญนัก พึงใช้ชีวิตนี้ให้เป็นประโยชน์ให้สมกับความสำคัญของชีวิตนี้”

นอกจากสมเด็จจะทรงนิพนธ์เรื่องต่างๆ ไว้จำนวนมาก ทั้งตำรา พระธรรมเทศนา และทั่วไปแล้ว ยังมีพระธรรมคำสอนและหลักธรรมอีกจำนวนมาก ซึ่งเป็นหลักธรรมคำสอนที่ทุกคนสามารถนำไปเป็นแนวคิด แนวปฏิบัติ เพื่อเป็นกรอบในการดำเนินชีวิตในสังคมปัจจุบันได้เป็นอย่างดี.






โดย ไทยรัฐออนไลน์