กฎหมายพรรคการเมือง พรรคมวลชน และ(พรรค)คนรุ่นใหม่ โดย อุเชนทร์ เชียงเสน
ผู้เขียน | อุเชนทร์ เชียงเสน สำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์ |
---|
อย่างไรก็ตาม แม้กระทั่งในหมู่คนอยากเลือกตั้งเองก็มีคำถามต่อการปรากฏตัวของพรรคการเมืองนี้เช่นกัน จากเรื่องเล็กๆ จนไปถึงเรื่องใหญ่ๆ จากระยะสั้นจนถึงระยะยาว ตั้งแต่ควรจะมีพรรคการเมืองหรือไม่? จังหวะเวลานี้เหมาะสมหรือไม่? พรรคจะเป็นแบบไหน? ใครเป็นกลุ่มเป้าหมาย? นโยบายควรเป็นแบบไหน? จะประสบความสำเร็จหรือไม่? จนกระทั่งหากได้เป็นรัฐบาลแล้วจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ด้วยกระบวนการอย่างไร? คำถามทั้งหมดนี้น่าสนใจ เป็นหน้าที่ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ต้องขบคิดและตอบคำถาม จัดลำดับความสำคัญก่อนหลังเอง
ทั้งนี้ผู้เขียนต้องการแลกเปลี่ยนและเสนอความเห็นทั้งต่อผู้ริเริ่ม ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้ที่สนใจ และประชาชนทั่วไป ในประเด็นสำคัญพื้นฐาน 3 ประการ คือ 1) พรรคการเมืองและกฎหมายพรรคการเมือง 2) พรรคมวลชนและโอกาสของพรรคมวลชน และ 3) การสร้างพรรคทางเลือกใหม่ของคนรุ่นใหม่
1.
พรรคการเมืองและกฎหมายพรรคการเมือง 2560
หากถามนักรัฐศาสตร์ พวกเขาอาจจะนิยามความหมายพรรคการเมืองแตกต่างกันไป แต่สิ่งที่มีร่วมกันคือเน้นไปที่การมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งและต้องการได้รับตำแหน่งสาธารณะและอาณัติหรืออำนาจในการปกครองจากประชาชน หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง พรรคการเมืองเป็นการรวมตัวของพลเมืองบนฐานของความเป็นสมาชิกและโปรแกรมบางอย่าง เพื่อยึดครองตำแหน่งในการตัดสินใจทางการเมือง ผ่านวิธีการเลือกตั้ง ด้วยกลุ่มผู้นำของตนเอง เพื่อที่จะทำให้ข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ดำรงอยู่เป็นจริง หรือนำไปสู่การปฏิบัติ สิ่งนี้เองที่ทำให้พรรคการเมืองต่างกับการรวมกลุ่มในลักษณะอื่นๆ ที่ต้องการใช้กลุ่มในการต่อรองผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มตนอย่างกลุ่มผลประโยชน์ หรือสร้างอำนาจผ่านปฏิบัติการทางตรงอย่างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม
การมีอำนาจที่เป็นทางการ/ตามกฎหมาย “อำนาจที่มาจากประชาชน” ไม่ว่าจะเป็นนิติบัญญัติ (กรณีเป็นสมาชิกรัฐสภา) หรือบริหาร (กรณีเป็นรัฐบาล) ซึ่งจำเป็นในการผลักดันหรือเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ เป็นข้อจำกัดหรือสิ่งที่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมไม่มี และจึงเป็นเหตุให้ขบวนการไม่น้อยที่มีขอบเขตสมาชิกหรือผลประโยชน์ครอบคลุมกลุ่มที่กว้างขวางพอ พัฒนามาเป็นพรรคการเมืองในที่สุด สำหรับประเทศไทยมีความพยายามลักษณะนี้จากขบวนการเคลื่อนไหว “ภาคประชาชน” เช่นกัน แต่ด้วยความคิดและวิถีการปฏิบัติแบบเก่า ไม่เชื่อมั่นในพลังของตนเองและเป็นนักฉวยโอกาส โครงการทางการเมืองนี้จึงจบด้วยการเข้าร่วมเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ขุดหลุมฝังโอกาสของตัวเองและคนรุ่นหลังกับวิกฤตทางการเมืองที่พวกเขาร่วมสร้างขึ้นมานับทศวรรษ
สำหรับพรรคการเมือง ดูเหมือนว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 กลายมาเป็นอุปสรรคมากกว่าสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง ซึ่งการรวมตัวเป็นพรรคการเมืองของพลเมืองนี้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานควรจะทำได้ง่าย
รูปธรรมที่สำคัญของประเด็นที่กล่าวถึงข้างต้น เช่น การกำหนดจำนวนสมาชิกในการจัดตั้ง ไม่น้อยกว่าห้าร้อยคน และ “เพื่อประโยชน์ในการดําเนินการของพรรคการเมือง พรรคการเมืองต้องมีทุนประเดิมไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท โดยผู้ร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมืองทุกคนต้องร่วมกันจ่ายเงินเพื่อเป็นทุนประเดิม คนละไม่น้อยกว่าหนึ่งพันบาท แต่ไม่เกินคนละห้าหมื่นบาท” (มาตรา 9) สมาชิกแต่ละคนต้องจ่ายค่าสมาชิก/บำรุงพรรคไม่น้อยกว่าปีละหนึ่งร้อยบาท (มาตรา 15 วงเล็บ 15) แต่จะสิ้นสุดสมาชิกภาพเมื่อไม่ชําระค่าบํารุงเป็นเวลาสองปีติดต่อกัน (มาตรา 27 วงเล็บ 3)
นอกจากนั้น เมื่อจดทะเบียนพรรคแล้ว ภายใน 1 ปี ต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่าห้าพันคน และภายใน 4 ปี ต้องเพิ่มสมาชิกให้มีจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคน และต้องจัดให้มีสาขาพรรคอย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขา (มาตรา 33) โดยในจังหวัดที่ไม่มีสำนักงานใหญ่หรือสาขาพรรค ให้จัดตั้ง “ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด” (มาตรา 35) เพื่อดำเนินกิจกรรมของพรรคในเขตพื้นที่ ไม่นับข้อห้ามอีกสารพัดที่ไม่เพียงมีอคติ แต่ยังมองพรรคการเมืองเป็นสิ่งชั่วร้ายที่ต้องควบคุมอย่างเคร่งครัด
มาตรการที่ยกมาข้างต้นนี้ กล่าวได้ว่า เป็นปฏิกิริยาต่อการเกิด “พรรคทักษิณ” (พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน เพื่อไทย) และจึงต้องการให้เกิด “พรรคการเมืองแบบมวลชน (Mass Party)” ขึ้นในประเทศไทยของผู้บัญญัติกฎหมาย แต่กลายเป็นความหวังดีที่จะมีผลทางร้ายเพราะการบังคับให้เป็นพรรคมวลชนและถูกควบคุมมากเกินไปด้วยความกลัว “ผีทักษิณ” จะทำให้พรรคการเมืองขาดคุณสมบัติ (มาตรา 91) หรือถูกยุบ (มาตรา 92) ได้ง่ายจนเกินไป แทนที่จะส่งเสริมหรือปล่อยให้เติบโตอย่างอิสระตามวิถีของมัน
ไม่นับรวมวิธีการเลือกตั้ง/นับคะแนนของรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่ค่อนข้างพิสดาร ในระบบบัญชีรายชื่อหรือสัดส่วน จากเดิม รัฐธรรมนูญ 2540 หรือฉบับต่อๆ มา ที่เป็นระบบคู่ขนาน พรรคการเมืองหรือกลุ่มเฉพาะขนาดเล็กที่ไม่สามารถชนะในการเลือกตั้งในระบบแบ่งเขตได้ สามารถรวบรวมเสียงที่กระจัดกระจายผ่านการเลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อ ทำให้มี ส.ส.ในระบบสัดส่วนได้บ้าง แต่รัฐธรรมนูญ 2560 กลับคำนวณสัดส่วน ส.ส.จากคะแนนที่ได้รับในระบบแบ่งเขตมารวมกัน แล้วลบด้วยจำนวน ส.ส.เขตที่แต่ละพรรคได้จริง เป็นจำนวน ส.ส.ในระบบสัดส่วนของแต่ละพรรค
ทั้งหมดนี้ ทำให้พรรคการเมืองใหม่ๆ ขนาดเล็ก เกิดพัฒนา กระทั่งมีผู้แทนในสภาได้ยาก ไม่เพียงแต่กรณีพรรคการเมืองไม่สามารถปฏิบัติตามเกณฑ์จุกจิกที่วางไว้ หากออกนอกลู่นอกทางก็อาจจะถูกยุบได้ง่ายเหมือนกัน
2.
พรรคมวลชน และ “โอกาส” ของพรรคมวลชน
ไม่ต่างกับคนอื่นนัก คำถามขึ้นในใจผู้เขียนทันที เมื่อทราบว่ากลุ่มคนเหล่านี้จะตั้งพรรคการเมืองและลงแข่งขันในการเลือกตั้งครั้งหน้าว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมหรือไม่? ทั้งข้อจำกัดของกฎหมายการเลือกตั้งและพรรคการเมือง ระบบการเมืองและรัฐธรรมนูญที่คณะรัฐประหารวางไว้ ที่การแก้ไขตามระบบเป็นไปได้ยากมาก แต่ภายใต้การเห็นในสิ่งเดียวกันนี้สามารถมองได้สองทางเช่นกัน ทางหนึ่งปล่อยมันไปตามยถากรรม อีกทางหนึ่งก็พยายามจะต่อสู้หรือเปลี่ยนแปลงมัน แม้ตระหนักว่ายากเพียงใดก็ตาม แต่ความเปลี่ยนแปลงในโลกนี้น่าจะมาจากมุมมองที่สองมากกว่ามุมมองแรก
เราสามารถมองสถานการณ์นี้เป็น “โอกาสทางการเมือง” ได้เช่นกันในอย่างน้อย 2 ประเด็น
ประเด็นแรกว่าด้วย “ทางเลือก” ความขัดแย้งทางการเมืองกว่าทศวรรษที่ผ่านมายังไม่เห็นทางออกอันใด เมื่อพิจารณาจากผู้แสดงทางการเมืองที่มีอยู่ และดังนั้น ทางเลือกจึงจำเป็น และเป็นโอกาสของตัวแสดงทางการเมืองใหม่ที่จะเข้ามาเสนอตัวเป็นทางเลือก ประเด็นนี้มีผู้อภิปรายไว้หลายท่านแล้ว
ประเด็นที่สองว่าด้วย “พรรคมวลชน” หากถือว่า “พรรคไทยรักไทย” เป็นพรรคทางเลือกในต้นทศวรรษ 2540 ปัญหาที่เกิดขึ้นหลายอย่างในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สะท้อนการขาดความเป็นพรรคมวลชนของพรรคนี้ แม้จะมีสมาชิกมากมายเพียงไรก็ตาม ทำให้การดำเนินการหรือตัดสินใจต่างๆ ในเรื่องสำคัญ ถูกจำกัดไว้ที่ “แกนนำ” หรือศูนย์กลางของพรรคมากเกินไป ขาดการอภิปรายตรวจสอบหรือเหนี่ยวรั้งจากสมาชิก และคำนึงถึงสมาชิกน้อยเกินไป
หากคิดแบบนี้ เราสามารถใช้เงื่อนไขที่กฎหมายบีบให้เป็นพรรคมวลชน สร้างพรรคมวลชนจริงๆ ได้เหมือนกัน เพียงแต่มีระยะเวลาจำกัด และหวังผลระยะสั้นไม่ได้มากนัก ประเด็นนี้ทุกคนย่อมตระหนักดี
พรรคมวลชนคืออะไร? คนทั่วไปมักจะเข้าใจว่าเป็นพรรคที่มีสมาชิกมาก แน่นอนจำนวนสมาชิกสำคัญเพราะเป็นที่มาหรือนำไปสู่ประเด็นสำคัญอื่น อันได้แก่ ผู้ลงคะแนนเสียง ค่าสมาชิก/เงินบริจาคในการดำเนินกิจกรรม การรณรงค์หาเสียง หรือการระดมทรัพยากรอื่นๆ แต่ไม่เพียงเท่านั้น เพราะพรรคแบบนี้ต้องการความผูกพันอย่างสูงจากสมาชิก เพื่อเข้าสู่โครงสร้างที่ขยายออกจากศูนย์กลางเพื่อทำหน้าที่ต่างๆ ที่กว้างขวางและเครือข่ายที่เข้มแข็งของพรรค ดังนั้น ตัวชี้วัดสำคัญของการเป็นพรรคมวลชน คือ โครงสร้างและการจัดการบริหารพรรค ซึ่งหมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างส่วนต่างๆ ในพรรค (ตรงกันข้ามกับพรรคชนชั้นนำที่เน้นบทบาทผู้นำและรวมศูนย์อำนาจ) ที่เน้นการมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ และการร่วมตัดสินใจของสมาชิก ในฐานะที่เป็นเจ้าของพรรคร่วมกัน และความสัมพันธ์ภายในที่เป็นประชาธิปไตย สมาชิกที่เข้มแข็งและเอาการเอางานจึงเป็นหัวใจสำคัญ และเป็นวัคซีนป้องกันความโน้มเอียงหรือกลายร่างเป็นอย่างอื่น
การสร้างพรรคการเมืองใหม่และพยายามเป็นพรรคมวลชนจึงเป็นกระบวนการและแนวทางใหม่ที่หลายคนอาจไม่คุ้นเคยและอาจขาดความชัดเจน การไม่มีสูตรสำเร็จในหลายเรื่อง สร้างข้อกังขาหรือคำถามได้มากมาย แต่กระบวนการได้มาในเรื่องเหล่านี้สำคัญไม่น้อยกว่าคำตอบ และเปิดโอกาสให้ผู้คนที่สนใจจะร่วมหัวจมท้ายด้วยกัน สามารถมีส่วนร่วมได้อย่างจริงจัง กระบวนการนี้ต่างหากที่จะเป็นดัชนีชี้วัดความสำเร็จหรืออนาคตของพรรค
3.
การสร้างพรรคทางเลือกใหม่ของคนรุ่นใหม่
ด้วยเหตุผลหลายอย่างที่กล่าวไว้บ้างแล้ว ไม่มีเหตุผลต้องปิดบังว่าผู้เขียนสนับสนุนคนรุ่นใหม่ที่เสนอตัวขึ้นมาเป็นทางเลือกในการเมืองในขณะนี้ ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มนี้เท่านั้น แต่หมายรวมถึงกลุ่มอื่นๆ ซึ่งมีจุดยืนหรือความคิดทางการเมืองต่างออกไป เพราะพรรคการเมืองเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับสังคมประชาธิปไตย การมีพรรคการเมืองเพิ่มขึ้น หมายถึงประชาชนมีตัวเลือกที่จะมาแข่งขันเป็นปากเป็นเสียงหรือตัวแทนของเขามากขึ้น ท่ามกลางความคาดหวังและคำถามที่เกิดขึ้นมากมาย ผู้เขียนมีความเห็นและข้อเสนอเล็กๆ ที่อาจจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือสนใจ ดังนี้
เป้าหมาย ที่นั่งในสภา และสมาชิก
สำหรับผู้ก่อตั้ง ย่อมหวังจะได้ ส.ส.จากการเลือกตั้งครั้งหน้าจำนวนหนึ่ง เพราะมี ส.ส.หมายถึงการที่พรรคจะได้มีบทบาทในสถาบันที่เป็นทางการในการเสนอความเห็น อภิปราย ผลักดัน และเสนอทางเลือกต่างๆ ตามนโยบายของพรรค นอกจากนั้นยังเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า แนวทางที่เลือก-การสร้างพรรคการเมือง-เป็นแนวทางที่ถูกต้องหรือเป็นไปได้ มีอิทธิพลทางการเมืองมากกว่าช่องทางนอกสภา ความสำเร็จในขั้นตอนนี้จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับกลุ่มเป้าหมายและดึงดูดคนที่มีศักยภาพเข้าสู่พรรคต่อไป และนั่นรวมถึงความสำเร็จที่จะเพิ่มขึ้นในการเลือกตั้งต่อไป
จำนวน ส.ส.ที่จะได้จากการเลือกตั้งมีความไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง แต่การไม่มีหรือมีที่นั่งในสภาน้อย ไม่ใช่ตัวชี้วัดความสำเร็จอันเดียวหรือสำคัญชี้ขาดของพรรคการเมืองในระยะแรก แต่อีกขาหนึ่งของความสำเร็จ คือ การมีสมาชิก-รวมถึงโครงสร้างพรรคการเมือง-ตามแบบพรรคมวลชนที่แท้จริง ที่มีความผูกพันกับพรรค พร้อมจ่ายค่าสมาชิก หาสมาชิกหรือผู้ปฏิบัติงานของพรรคเพิ่มเติม มีส่วนร่วมในองค์กรของพรรค และการสร้างเครือข่ายกับภาคประชาสังคม ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ภูมิภาค จนถึงระดับชาติ เป้าหมายนี้ต้องใช้เวลาและเป็นการทำงานระยะยาว ความสำเร็จในการรวบรวมสมาชิกที่มีเป้าหมายร่วมกันนี้จะเป็นเครื่องประกันความมั่นคงและความสำเร็จของพรรคในอนาคต
ดังนั้นสองขาในการทำงานของพรรค ซึ่งไปด้วยกัน ด้านหนึ่ง สร้างผลิตภัณฑ์ของพรรค คือ นโยบายและผู้สมัคร เสนอต่อผู้ลงคะแนนเสียง อีกด้านหนึ่ง การรวบรวมหาสมาชิกพรรค
การรวบรวมหาสมาชิกและผู้ปฏิบัติงาน
เมื่อนึกถึงพรรคการเมือง ผู้เขียนนึกถึงคำวิจารณ์ของอาจารย์ท่านหนึ่งต่อขบวนการ “ภาคประชาชน” เมื่อปี 2548 ว่า “ขบวนการทางการเมืองต้องเริ่มจากฐานความคิดอุดมการณ์ ไม่ใช่เริ่มจากคนหรือสิ่งที่คนส่วนใหญ่เชื่อ ไม่ว่าจะเป็นคนในชุมชนหรือระดับล่างก็ตาม คุณจะต้องบอกว่า ความคิดแบบไหนเหมาะสมกับคนทั้งหมดในสังคม ที่ถูกต้อง และก็ถกเถียงจากความคิดนั้น”
เหมือนเอามะพร้าวห้าวไปขายสวน แต่อยากเน้นย้ำว่า แนวคิดนี้สามารถหรือควรนำมาใช้ในการสร้างพรรค กล่าวคือ แทนที่จะเริ่มต้นด้วยการรวบรวมผู้คนที่กระตือรือร้นทางการเมืองที่มีอยู่ และพยายามเข้าถึงเฉพาะกลุ่มเฉพาะปัญหา ซึ่งมีลักษณะแคบเกินไป พรรคการเมืองควรจะเริ่มต้นจากฐานความคิดหรืออุดมการณ์แล้วนำไปสู่การรวบรวมหาสมาชิกและผู้ปฏิบัติงาน หรือขั้นตอนอื่นๆ ของพรรคทั้งหมดต่อไป
สุดท้าย ในสถานการณ์แบบนี้ การริเริ่มหรือการสร้างสิ่งใหม่ๆ ทั้งน่ากลัว-เสี่ยง หลายอย่างต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง แต่ก็ท้าทายสำหรับผู้ที่ลงมือกระทำ การไม่ประสบความสำเร็จในเวลาสั้นๆ เป็นเรื่องปกติ แต่เหล่านี้จะเป็นประสบการณ์เพื่อความสำเร็จขั้นตอนต่อไป (ทั้งนี้จำเป็นต้องมีกระบวนการเก็บรับบทเรียนและรายละเอียดที่ดีพอ)
ดังนั้น กระบวนการในการสร้างสิ่งใหม่ วัฒนธรรมการเมืองแบบใหม่ มีความสำคัญไม่น้อยความสำเร็จในระยะสั้น การเปลี่ยนสู่สิ่งที่ดีกว่ามาจากผู้คนที่เชื่อมั่นในการเปลี่ยนแปลงมากกว่าผู้ยอมจำนน
อุเชนทร์ เชียงเสน
(c.cheangsan@gmail.com)
สำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์