PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันเสาร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ฮับพลังงาน

Thon Thamrongnawasawat
เรื่องนี้ยาวมากและเขียนยากมาก แต่ใจมันอยากเล่าให้เพื่อนธรณ์ทราบ จึงตัดสินใจเขียนเรื่องแนวทางของสิงคโปร์ในการเข้ามามีบทบาทเรื่องก๊าซธรรมชาติ มาดูสิว่าประเทศที่ไม่มีก๊าซเลยสักนิด จะสามารถเป็นผู้หาผลประโยชน์จากพลังงานได้อย่างไร #เรื่องนี้หาอ่านยากมากนะ
ก่อนอื่นต้องบอกว่า ผมเชื่อในการแข่งขันแบบโลกเสรี การเขียนเรื่องนี้จึงไม่มีจุดประสงค์ต่อว่าสิงคโปร์ เพราะในธุรกิจระดับโลก ใครอ่อนแอก็แพ้ไป
ผมเพียงอยากชี้ให้เห็นว่า การรู้เขารู้เราในยุคนี้สำคัญอย่างยิ่ง และเราจำเป็นต้องเพิ่มขีดความสามารถเพื่อให้เราเจริญก้าวหน้า
ไม่งั้นเราก็คงอยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ ขณะที่ชาติอื่นเขาพุ่งไปไกลโพ้น แล้วเราก็มาเฝ้าสงสัยว่าเขาทำได้ไงหนอ
สิงคโปร์สามารถสร้างตัวเองจนเป็นฮับน้ำมันของภูมิภาค โดยใช้ข้อได้เปรียบจากสภาพภูมิศาสตร์ของการเป็นเมืองท่า ประวัติศาสตร์ที่สืบต่อมาตั้งแต่สมัยอาณานิคม การมีวิสัยทัศน์และการทำตามกรอบเพื่อตรงไปสู่เป้าหมาย จนกลายเป็นศูนย์กลางเทรดดิ้งน้ำมัน
อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์ไม่ได้เข้ามายุ่งเรื่องก๊าซธรรมชาติมากนัก เพราะเดิมทีก๊าซธรรมชาติยังไม่เป็นที่แพร่หลายเช่นน้ำมัน และการซื้อขายก๊าซมักเป็นการทำสัญญาในระยะยาว ไม่มีช่องว่างให้เทรดดิ้งแบบ Spot
แต่โลกเปลี่ยนครับ มีการค้นพบก๊าซธรรมชาติตามที่ต่างๆ ทำให้การ์ต้าไม่ใช่ผู้ผลิตรายใหญ่รายเดียวอีกต่อไป ยังมีออสเตรเลียและอเมริกาเข้ามาร่วมวง
ก๊าซธรรมชาติยังเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่คนยอมรับมากกว่าถ่านหิน เพราะปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่า
โดยเฉพาะคนไทย เราอยู่กับก๊าซมานาน ทำให้คุ้นเคยกับพลังงานประเภทนี้ ไม่เคยมีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมใหญ่โตจนเป็นประเด็น
สิงคโปร์ก็อยู่กับก๊าซมานานมาก เพราะพลังงานไฟฟ้าในสิงคโปร์ร้อยละ 95 มาจากก๊าซธรรมชาติที่เขานำเข้ามา
ผมสอบถามจาก CEO ชาวสิงคโปร์ เขาบอกว่าภาพลักษณ์เป็นสิ่งสำคัญของประเทศเขา แต่แน่นอนว่าค่าไฟก็ต้องแพงหน่อย ซึ่งเขาพิจารณาแล้วคิดว่าคุ้ม
Trade Off คือการได้อย่างเสียอย่าง เป็นเรื่องปรกติของพลังงาน ที่อาจแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ
แต่แน่นอนที่สุดคือไม่มีอะไรได้กับได้
เมื่อสิงคโปร์ใช้ก๊าซเป็นหลัก ค่าไฟสูงหน่อย เขาก็เริ่มหาทางได้ประโยชน์จากก๊าซเพื่อมาทดแทน ทั้งที่เขาไม่ได้มีแหล่งก๊าซเลย
สิงคโปร์เล็งเห็นว่า ในอนาคตของเอเชีย ก๊าซจะเป็นที่ต้องการเพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุผลดังนี้
ภายในปี2030 ประชากรเอเชียจะเพิ่มขึ้นอีก 500 ล้านคน ซึ่งเท่ากับประชากรอียูทั้งหมด
ในค.ศ.2010-2015 ราคาขายเฉลี่ย LNG ในเอเชียแพงกว่าที่อื่น
เอเชียนำเข้า LNG เป็นปริมาณ 2 ใน 3 ของโลกตั้งแต่1980 และคงเป็นเช่นนั้นไปอีกนาน
ในค.ศ.2012 เอเชียซื้อก๊าซเป็นเงินมากกว่า 130 พันล้านเหรียญ
นอกจากประเทศอุตสาหกรรมเดิม เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ยังมีความต้องการอีกมากจากประเทศใหม่ เช่น จีน อินเดีย (มาแรงมาก) ซึ่งความต้องการจะเพิ่มอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ เขายังคิดว่าตลาด ASEAN ก็สำคัญ แม้ว่าหลายชาติในอาเซียนจะมีแหล่งก๊าซของตนเอง แต่ลองดูมุมที่เขาคิดนะครับ
ในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์มีเกาะรวมกันกว่า 20,000 เกาะ สำหรับเกาะใหญ่ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นเกาะเล็กเกาะน้อยล่ะ
การส่งไฟฟ้าระหว่างเกาะเล็กๆ โดยใช้เคเบิ้ลใต้น้ำต้องลงทุนสูงมาก โดยเฉพาะการส่งไฟไปที่เกาะเล็กเกาะน้อยที่จะเจริญขึ้นกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคต กระจายตัวออกไปเรื่อยๆ
แหล่งท่องเที่ยวต้องการไฟฟ้า เมื่อค่าเคเบิ้ลแพง การสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็กตามเกาะต่างๆ หรือแม้กระทั่ง Floating Plant โรงไฟฟ้าลอยน้ำ เป็นเรื่องเป็นไปได้
ความรู้เพิ่มเติมสำหรับเพื่อนธรณ์ รู้ไหมครับว่า Floating Plant ยุคแรกๆ อยู่ในเมืองไทย เราซื้อต่อมาจากญี่ปุ่น จากนั้นก็นำไปใช้ที่ขนอม แต่ใช้จอดขึ้นไปบนฝั่ง ปัจจุบันรื้อไปหมดแล้วครับ
สิงคโปร์คิดว่าหากเขารับเรือขน LNG ขนาดใหญ่เข้ามาที่ท่า มีที่เก็บก๊าซเป็นฮับ จากนั้นก็ใช้เรือขนาดเล็กส่งก๊าซไปตามเกาะต่างๆ จะมีความเป็นไปได้ทางธุรกิจแบบ new S-Curve
เขายังทราบดีว่าก๊าซในเมืองไทยก็ลดน้อยลง จนถึงตอนนี้ เรากลายเป็นผู้นำเข้าก๊าซไปแล้ว ในอีก 7-10 ปี เราจะต้องนำเข้าเกือบทั้งหมด
สิงคโปร์มองเห็นความต้องการก๊าซในภูมิภาคที่มากขึ้น เชื่อว่าตลาดก๊าซจะพัฒนาคล้ายน้ำมัน มีการซื้อขายแบบ Spot มากขึ้นเรื่อยๆ
ขณะที่สัดส่วนของการทำสัญญาระยะยาวในอนาคตจะลดลง เนื่องจากมีปริมาณก๊าซออกสู่ตลาดจนพอเพียงให้เกิดการแข่งขันด้านเทรดดิ้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่เขาถนัด
ในค.ศ.2013 กองทุนเทมาเส็ก (ของรัฐบาล) จึงตั้งบริษัท Pavilion Energy เพื่อมุ่งหน้าหาประโยชน์ในเรื่องนี้
สิงคโปร์ทราบดีว่าจุดอ่อนของเขาคือไม่มีแหล่งก๊าซในประเทศ แม้จะมีท่อก๊าซส่งมาจากอินโดนีเซีย (สุมาตรา) แต่ก็มีระยะเวลาสัมปทาน และในอนาคตอินโดก็คงไม่ยอมขายก๊าซราคาถูกให้ง่ายๆ (ตอนนี้อยู่ระหว่างการต่อรอง)
เขาจึงแบ่งการทำงานเป็น 3 ส่วน Upstream Midstream และ Downstream ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ)
Upstream คือแหล่งก๊าซ เขาทราบดีว่าแหล่งในไทยแทบไม่เหลือ ในมาเลก็มีปิโตรนัส ในอินโดก็มีบริษัทอื่นๆ
เป้าหมายของสิงคโปร์จึงต้องเป็นแหล่งใหม่หน่อย เช่น แอฟริกา
แอฟริกาตะวันออกมีแหล่งก๊าซในทะเลอยู่มาก
สิงคโปร์มุ่งหน้าไปที่แทนซาเนีย ได้สัมปทานและวางแผนการผลิตก๊าซที่นั่น (ไม่ใช่ใน 2-3 ปีนะครับ แต่อาจเป็น 7-8 ปี ซึ่งตรงกับช่วงที่เขาคำนวณว่า Demand จะมากกว่า Supply ทำให้ราคาก๊าซดี)
เรื่องนี้ไทยก็ทราบ และเคราะห์ดีที่เราทำงานเรื่องก๊าซมานาน
ปตท.สผ.จึงเข้าไปลงทุนในโมซัมบิก เพื่อที่จะพัฒนาแหล่งก๊าซที่นั่น และต้องกระซิบไว้นิดว่าแหล่งของเรามีปริมาณสำรองมากกว่าแทนซาเนียเยอะครับ
ในส่วนของ Midstream สิงคโปร์ใช้จุดเด่นที่เป็นเมืองท่า พูดคุยกับบริษัทขนส่งทางทะเลง่าย จึงไปจับมือกับหลายบริษัท
นอกจากนี้ ยังต่อเรือเอง ถึงปัจจุบัน เขามี LNG Carrier 3 ลำ และกำลังต่อเพิ่มอีก 2 ลำ
นอกจากนี้ เขายังมีท่าเรือ LNG receiving terminal ขึ้นที่เกาะจูล่ง และกำลังขยายขนาดเพื่อให้รองรับการเก็บ LNG ได้หลายล้านตัน
ในส่วนนี้เมืองไทยแพ้เรื่อง-เท่าทันเรื่อง
เราไม่มีเรือขนส่งก๊าซเลยสักลำ ทั้งที่เราก็วางแผนมานาน ซึ่งคงต้องเร่งรีบหาทางกันหน่อยแล้ว
เคราะห์ดีที่เราเริ่มทำ LNG Terminal ไว้บ้างแล้ว และในอนาคตจะเพิ่มขึ้น จนสามารถรองรับ LNG ได้หลายล้านตัน มากกว่าสิงคโปร์ครับ
สุดท้ายคือ Downstream สิงคโปร์เริ่มทำการส่งก๊าซและวัตถุดิบอื่นๆ จากก๊าซ เพื่อป้อนโรงไฟฟ้า ปิโตรเคมี ไบโอเทคโนโลยี ฯลฯ
เขายังเน้นกิจกรรม Trading อย่างต่อเนื่องตามที่ถนัด โดยตั้งเป้าจะเป็นผู้กำหนดราคาก๊าซในระดับภูมิภาคให้ได้ (เหมือนที่ทำได้กับน้ำมัน)
ในส่วนของเมืองไทย เรามีหลายบริษัทด้าน Downstream ทั้งในประเทศและเริ่มไปลงทุนต่างประเทศ
และเราก็มีบริษัท Trading (ในเครือปตท.) ตั้งอยู่ที่สิงคโปร์และเพิ่งเปิดใหม่ที่ลอนดอน
ทั้งหมดนั้น ต้องลองคิดถึงระยะเวลาด้วยครับ ของเขาเริ่มต้นเมื่อปี 2013 ขณะที่เราทำงานเกี่ยวกับก๊าซมาเกือบ 40 ปี
ผมเคยไปเยี่ยมปิโตรนัส เห็นภาพของมาเลเซียว่าในฐานะประเทศที่มีแหล่งปิโตรเลียมมหาศาล เขากำลังจะไปทางไหน
หนนี้มาสิงคโปร์ ประเทศที่ไม่มีแหล่งปิโตรเลียมเลย แต่ก็เห็นภาพว่าเขาจะกระโดดเข้ามาในตลาดอย่างไร และจะก้าวไปอย่างไร
ในส่วนของเมืองไทย เราต้องพยายามครับ เพราะยังไงก๊าซก็ยังคงเป็นแหล่งพลังงานและวัตถุดิบหลักของเรา
การรู้จักคนอื่น หาตัวเองให้เจอ กำหนดกรอบ และมุ่งไปข้างหน้า เพื่อให้เราอยู่ในสภาพที่แข่งขันได้ เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง
ธุรกิจปิโตรเลียมและก๊าซในไทย ไม่จำกัดแค่พลังงาน แต่ยังหมายถึงวัตถุดิบที่ต่อยอดไปมหาศาล มีผู้คนเกี่ยวข้องหลายแสนคน
นี่จึงเป็นการแข่งขันที่มีปากท้องของคนมหาศาลมาเกี่ยวข้อง
ผมดีใจที่เราเริ่มมีแผนปฏิรูปพลังงาน (เสร็จภายในปลายเดือนธันวาคม) และยุทธศาสตร์ชาติ (เสร็จปลายเดือนมกราคม)
ซึ่งน่าจะพาเราเข้าไปสู่การแข่งขันใน S-Curve ใหม่ ที่ไม่จำเป็นต้องแข่งเพียงอย่างเดียว แต่สามารถร่วมมือกับสิงคโปร์มาเลเซียและชาติอื่นๆ ในการเป็นผู้นำของธุรกิจก๊าซในย่านนี้
เมื่อดูภูมิศาสตร์แล้ว เราอาจสู้ Lower ASEAN ไม่ได้ แต่ถ้าเป็น Upper ASEAN หรือประเทศ CLMV เรามีศักยภาพมากกว่า
เราท่อก๊าซที่ต่อเชื่อมไปมา หากเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านได้ เราจะก้าวไปอีกระดับ
อย่าลืมท่อก๊าซที่ต่อมาจากพม่า แม้สัมปทานอาจหมด แต่ถ้าเรามีท่าเรือ LNG ตรงนั้น เราก็ยังใช้ประโยชน์จากท่อได้อยู่ดี และระยะทางจากแอฟริกามาพม่าจะใกล้กว่าและประหยัดกว่าแล่นเรือลงไปหาสิงคโปร์
ผมเชื่อว่าท่านรัฐมนตรีพลังงานคงทราบเรื่องนี้และกำลังวางแผนอยู่
ผมเพียงอยากบอกว่า สิงคโปร์ก้าวไปเร็วมาก หากเราจะแข่ง เราต้องเร่งตั้งเป้าและเดินหน้า
ภารกิจของกระทรวงที่เป็นเรื่องเฉพาะหน้า ทั้งเปิดประมูลรอบใหม่และเรื่องโรงไฟฟ้าภาคใต้ เป็นที่ทราบดีอยู่แล้ว แต่ยังมีอีกหลายเรื่องที่เราต้องเร่งเดิน
มิฉะนั้น สักวันเราก็จะมาสงสัย ว่าทำไมสิงคโปร์ที่ไม่มีแหล่งก๊าซเลย กลายเป็นผู้นำในด้านนี้ได้อย่างไร
เขาคิดอย่างนี้ทำอย่างนี้ไงครับ
สำหรับเพื่อนธรณ์ อย่างที่บอกไว้ตอนต้น เรื่องนี้เขียนยากมาก และอาจมีผู้เข้าใจไม่เท่าไหร่ คนกดไลค์ชอบใจคงไม่มาก
แต่สำหรับผมแล้ว ขอเพียงเรื่องที่เขียนมีเพื่อนธรณ์อ่านแล้วได้ประโยชน์ จะเป็นกี่คนก็ไม่สำคัญครับ