PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2561

สี่ปี 'ชัตดาวน์กรุงเทพ' สิ้นเสียงนกหวีดนานแล้ว.. ประเทศไทยเปลี่ยนไปแค่ไหน?

สี่ปี 'ชัตดาวน์กรุงเทพ' สิ้นเสียงนกหวีดนานแล้ว.. ประเทศไทยเปลี่ยนไปแค่ไหน?
.
13 ม.ค. ของปีนี้ไม่เพียงตรงกับวันเด็ก ที่ท่านผู้นำของเราประกาศว่าจะพาบ้านเมืองไปสู่การปกครองแบบประชาธิปไตย ‘ไทยนิยม’ หรือพูดง่ายๆ คือไม่เป็นไปตามสากลเขา
.
13 ม.ค. ของปีนี้ ยังตรงกับวัน 'ครบรอบสี่ปี' การนัดชุมนุมทางการเมืองที่ผู้จัดอ้างว่า ‘ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์’ เพราะมีผู้เข้าร่วมชุมนุมถึง 6.8 ล้านคน (ตัวเลขโดย กปปส.)
.
การชุมนุมดังกล่าว มีความแตกต่างจากในอดีตโดยสิ้นเชิง เพราะเป็นการชุมนุมใหญ่ทั้งๆ ที่นายกฯประกาศยุบสภาไปแล้ว /จะมีการเลือกตั้งในเวลาอีกไม่ถึงเดือน /และต้นเหตุของของการชุมนุมก็คือ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ถูกคว่ำไปหมดทุกฉบับแล้ว
.
กลุ่ม กปปส.อ้างว่า เหตุที่ต้องจัดชุมนุมครั้งนี้ขึ้นมา ก็เพื่อกดดันให้รัฐบาลรักษาการลาออก ให้หน่วยงานราชการหยุดงานจะได้เป็นรัฐล้มเหลว (failed state) เปิดทางให้เกิด ‘สภาประชาชน’ ขึ้นมาปฏิรูปประเทศ
.
ในวันนั้น คือวันที่ กปปส. ประกาศ ‘ชัตดาวน์ กทม.’ ด้วยการนัดชุมนุมใหญ่พร้อมเคลื่อนขบวนดาวกระจายไปปิดตามสถานที่สำคัญๆ ทางเศรษฐกิจ 7 แห่ง ได้แก่ 1.แจ้งวัฒนะ 2.ห้าแยกลาดพร้าว 3.อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ 4.แยกปทุมวัน 5.สวนลุมพินี 6.แยกอโศก 7.แยกราชประสงค์
.
สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. เคยบอกเป้าหมายของการปฏิรูปประเทศไว้ 7 ข้อ ในวันนี้เสียงนกหวีดเงียบลงไปนานแล้ว ลองมาดูกันว่า ความคาดหวังกับความจริง เมื่อเวลาผ่านมาไป ภายใต้การปกครองโดยรัฐบาลทหาร คสช. ที่สุเทพประกาศหนุนสุดตัว ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน
.
ปรี๊ดดด ปรี๊ดดด ปรี๊ดดด
.
(1) #ปฏิรูปเลือกตั้ง
ข้อเสนอสุเทพ : “ปฏิรูปการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ ยุติธรรม โกงไม่ได้ และต้องไม่ให้คนชั่วมีโอกาสเข้ามานั่งในสภาทำเรื่องชั่วๆ โดยที่ไม่ฟังเสียงอำนาจของประชาชน”
สิ่งที่เกิดขึ้น : ได้ รธน.ฉบับปราบโกง / ระบบเลือกตั้ง ส.ส.ซับซ้อน / ส.ว.มาจากกลุ่มอาชีพ (แต่ชุดแรก คสช.จะตั้งเองทั้งหมด) / เปิดช่องนายกฯคนนอก
รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 กำหนดวิธีการเลือกตั้ง ส.ส.ไว้อย่างสลับซับซ้อน ด้วยข้ออ้างว่าเพื่อ ‘ป้องกันเสียงตกน้ำ’ แต่นักวิเคราะห์แทบทุกคนเห็นตรงกันว่า จะทำให้เกิดรัฐบาลผสมที่อ่อนแอ พรรคขนาดกลางจะมีอำนาจต่อรองสูง ขณะที่ ส.ว.แม้จะให้มาจากกลุ่มอาชีพเลือกไขว้กัน ทว่าชุดแรกกลับให้คนๆ เดียว คือหัวหน้า คสช. ตั้งขึ้นมาทั้งหมด แถมยังให้อำนาจพิเศษเลือกนายกฯ ได้อีกถึง 2 สมัย
กล่าวโดยสรุปการเลือกตั้งลดความสำคัญลงไป เพราะผู้ที่จะเลือกนายกฯและตั้งรัฐบาลจริงๆ เป็นคนไม่กี่คนเท่านั้น ไม่ใช่ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเป็นล้านๆ
.
(2) #ปราบโกง
ข้อเสนอสุเทพ : “การทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นทำให้ประเทศเสียหายต้องขจัดออกไปให้ได้ ต้องออกกฎหมายเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน ว่าไม่มีอายุความ ไม่ว่าจะวันไหนหากยังไม่ตายก็ต้องติดคุก”
สิ่งที่เกิดขึ้น : ปิดฉากคดีจำนำข้าว / ม.44 พักงานข้าราชการโกง / ออก กม.หยุดนับอายุความถ้าหนี
แต่ในเวลาเดียวกัน คดีเกี่ยวกับรัฐบาล คสช.เอง กลับจบลงด้วยข้อกังขาหลายๆ คดี โดยองค์กรอิสระทั้ง สตง.และ ป.ป.ช.ถูกตั้งคำถามเรื่องการทำงาน ทั้งคดีอุทยานราชภักดิ์ คดีน้องชายประยุทธ์ตั้งลูกมารับราชการ ขณะที่สังคมกำลังจับตาคดีนาฬิกา-แหวนเพชร ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่กำลังฮือฮาอยู่ในเวลานี้ ว่าจะลงเอยอย่างไร
นอกจากนี้ คะแนนดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นของไทย หรือ CPI ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นแบบมีนัยสำคัญ แถมปีล่าสุด ยังลดลงเหลือ 35 คะแนน เต็มร้อย อยู่ในลำดับที่ 101 ของโลก
.
(3) #กระจายอำนาจ
ข้อเสนอสุเทพ : “เคารพในอำนาจของประชาชนอย่างแท้จริง ประชาชนต้องสามารถถอดถอนนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และ ส.ส.แบบระบุระยะเวลาได้ การปกครองของบ้านเมืองจะต้องถูกกระจายไปยังท้องถิ่น เช่น ทุกจังหวัดจะต้องมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ไม่ใช่การแต่งตั้งจากส่วนกลางซึ่งทำให้มีการทุจริตซื้อตำแหน่ง”
สิ่งที่เกิดขึ้น : การตรวจสอบรัฐบาลเป็นได้อย่างจำกัด ภายใต้ประกาศและคำสั่ง คสช. ผู้เห็นต่างจากรัฐมักถูกพาเข้าค่ายทหารเพื่อปรับทัศนคติ หรือแย่ไปกว่านั้นคือเป็นคดีความขึ้นศาล (ทหาร)
ส่วนการเลือกผู้ว่าฯโดยตรง ก็ยังเป็นแค่ฝัน
.
(4) #ปฏิรูปตำรวจ
ข้อเสนอสุเทพ : “ต้องปฏิรูปโครงสร้างของตำรวจให้เป็นตำรวจของประชาชน ซึ่งคณะกรรมการตำรวจจะต้องเป็นภาคประชาชนไม่ใช่ตำรวจด้วยกันเอง”
สิ่งที่เกิดขึ้น : ภาคประชาชนยังไม่มีบทบาท แต่กันนักการเมืองไม่ให้ร่วมตั้ง ผบ.ตร.
ข้อเสนอปรับโครงสร้างตำรวจของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจที่ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน ที่ชัดเจนที่น่าสุด น่าจะมีแค่เรื่องให้ ก.ต.ช. ที่มีนักการเมืองร่วมอยู่ด้วย มีอำนาจในการกำหนดนโยบายภาพรวมเท่านั้น ส่วนการแต่งตั้ง ผบ.ตร. ไปจนถึงตำรวจอื่นๆ ให้เป็นอำนาจของ ก.ตร. ที่มีเฉพาะตำรวจนั่งอยู่
.
(5) #ปฏิรูปข้าราชการ
ข้อเสนอสุเทพ : “ต้องออกแบบกฎหมายให้ข้าราชการเป็นคนของประชาชน ไม่ใช่อยู่ใต้นักการเมือง”
สิ่งที่เกิดขึ้น : ข้าราชการก็ยังอยู่ใต้นักการเมือง (ที่เป็นอดีตทหาร)
ยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงตรงนี้เลย เพราะรัฐบาล คสช.เองก็โยกย้ายข้าราชการไม่ต่างจากนักการเมือง มีการย้ายข้ามกระทรวง ย้ายนอกฤดู หรือย้ายด้วยวิธีการพิเศษ เช่นใช้ ม.44
.
(6) #แก้ปัญหาสังคม
ข้อเสนอสุเทพ : “ปัญหาต่างๆ อย่างการศึกษา คมนาคม สาธารณสุข จะต้องนำเรื่องเหล่านี้เป็นวาระแห่งชาติ”
สิ่งที่เกิดขึ้น : ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลาเล่น / บังคับคาดเข็มขัด / ปฏิรูปรถเมล์-รถตู้ / เตรียมแก้ กม.บัตรทอง
เอาจริงๆ สิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ซึ่งทุกรัฐบาลจะต้องทำอยู่แล้ว
.
(7) #ส่งเสริมเอกชน
ข้อเสนอสุเทพ : “รัฐบาลต้องไม่รวบอำนาจผูกขาดธุรกิจเสียเอง ต้องส่งเสริมให้ภาคเอกชนแข่งขันกับนานาประเทศได้”
สิ่งที่เกิดขึ้น : ประชารัฐ
เป็นยุคที่ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐสูงมาก ผ่านการเข้ามารับตำแหน่งต่างๆ ทั้งใน ครม. สนช. สปช. สปท. คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ไปจนถึงคณะกรรมการประชารัฐ
.
.
แล้วคุณล่ะ คิดว่าสี่ปีที่ผ่านมา ประเทศของเราเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน?
.
.
ไทม์ไลน์ กปปส.
- เดือน ส.ค.2556 สภาฯพิจารณา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม วาระแรก
- 28 ต.ค.2556 ตีสี่ ประยุทธ์ ศิริพานิชย์ ขอแปรญัตติแก้ พ.ร.บ.นิรโทษฯ ในชั้นกรรมาธิการ เป็นฉบับสุดซอย
- 31 ต.ค.2556 สุเทพเริ่มชุมนุมค้าน พ.ร.บ.นิรโทษฯ (เวทีสถานีรถไฟสามเสน)
- 01 พ.ย.2556 สภาฯผ่าน พ.ร.บ.นิรโทษฯ วาระสองและสาม
- 04 พ.ย.2556 ย้ายเวที1 (เวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย)
- 11 พ.ย.2556 วุฒิสภายับยั้ง พ.ร.บ.นิรโทษฯ
- 25 พ.ย.2559 ย้ายเวที2 (เวทีกระทรวงการคลัง)
- 27 พ.ย.2559 ย้ายเวที3 (เวทีศูนย์ราชการ)
- 29 พ.ย.2556 จัดตั้ง กปปส. สุเทพเป็นเลขาฯ
- 08 ธ.ค.2556 ส.ส.ปชป.ลาออกทั้งพรรค
- 09 ธ.ค.2556 ย้ายเวที4 ตามปฏิบัติการ “คนไทยใจเกินล้าน” เคลื่อน 9 ทัพบุกทำเนียบ /ยิ่งลักษณ์ยุบสภา
- 21 ธ.ค.2556 ปชป.บอยคอตต์การเลือกตั้ง
- 22 ธ.ค.2556 กปปส.ปิด กทม. 5 แยกครึ่งวัน
- 13 ม.ค.2557 กปปส.เริ่มปฏิบัติการ “ชัตดาวน์ กทม.” ปิด กทม. 7 แยก ให้ข้าราชการเกียร์ว่าง เป็นรัฐล้มเหลว ตั้งสภาประชาชน
- 02 ก.พ.2557 เลือกตั้งทั่วไป
- 02 มี.ค.2557 ย้ายเวที5 (กลับมาเหลือสวนลุมพินีเวทีเดียว) /ปิดฉากชัตดาวน์ กทม.
- 21 มี.ค.2557 ศาลรัฐธรรมนูญให้เลือกตั้งทั่วไปไม่ชอบด้วย รธน.
- 07 พ.ค.2557 ศาลรัฐธรรมนูญให้ยิ่งลักษณ์พ้นจากตำแหน่ง กรณีโยกย้ายเลขาฯสมช.
- 12 พ.ค.2557 ย้ายเวที6 (เวทีสะพานมัฆวานรังสรรค์)
- 20 พ.ต.2557 ตีสาม ผบ.ทบ.ใช้กฎอัยการศึก
- 22 พ.ค.2557 คสช.ยึดอำนาจ
.
.
อ้างอิงจาก
https://www.youtube.com/watch?v=mWQ3UgXWK9o (ข้อเสนอปฏิรูปประเทศทั้ง 7 ข้อของสุเทพ)

ตร.หมายเรียกมือร้องนาฬิกาประวิตร

+++ ตำรวจออกหมายเรียกเอกชัย หงส์กังวาน ข้อหาโพสต์ข้อมูลคอมพิวเตอร์ลามก +++

16 ม.ค. 2561 เวลา 14.00น. มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 4 นายเดินทางไปที่บ้านของเอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมอิสระที่กำลังจัดกิจกรรมมอบนาฬิกาให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เพื่อส่งหมายเรียกรับทราบข้อกล่าวหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนเข้าถึงได้ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (4) ที่ บก.ปอท.

ในหมายเรียกระบุชื่อผู้กล่าวหาคือ พ.ต.ต.เอกพล แสงอรุณ โดยให้เอกขัยไปพบ ร.ต.อ.ณัฐษนัย มงคลกุล กอง 3 บก.ปอท. ในวันศุกร์ที่จะถึงนี้ (19 ม.ค. 2561) เวลา 13.30 น.

เอกขัย เปิดเผยว่า ส่วนตัวเขาคิดว่าการที่ตำรวจเรียกให้ไปตอนบ่าย
เพราะไม่ต้องการให้ทำเรื่องประกันตัวทันภายในวันนั้น

ต่อมา เอกชัยยังโพสต์บนเฟซบุ๊กส่วนตัวอีกว่า "จนป่านนี้ยังนึกไม่ออกโพสท์ไหนที่ "นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้""

ทั้งนี้ เขาจะขอเลื่อนการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเนื่องจากมีกำหนดการต้องเดินทางไปร่วมงานอบรมที่ประเทศพม่าระหว่างวันที่ 20-26 ม.ค. นี้

ว่าด้วย ‘นายกฯคนนอก’ คสช.ติดกับดักตัวเอง?

ว่าด้วย ‘นายกฯคนนอก’ คสช.ติดกับดักตัวเอง?


หมายเหตุเป็นความเห็นของนักวิชาการและฝ่ายการเมือง กรณีนายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาจติดกับดักตัวเองในการเขียนกติกาการเลือกตั้ง โดยเฉพาะภายหลังการเลือกตั้งไม่สามารถเลือกคนที่มาจากพรรคการเมืองเป็นนายกรัฐมนตรีได้ จำเป็นต้องใช้ช่องทางเลือกนายกฯจากคนนอก แต่อาจติดปัญหาเสียงสนับสนุนไม่เพียงพอในการขอยกเว้นรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การเปิดให้เสนอชื่อนายกฯ จนที่สุดไม่สามารถเลือกบุคคลที่จะมาเป็นนายกฯได้ ทำให้เกิดสุญญากาศการบริหารประเทศ


วิรัตน์ กัลยาศิริ

วิรัตน์ กัลยาศิริ

หัวหน้าคณะกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์
ปัญหาคาราคาซังมา 4-5 ปี เพราะไม่ได้ปฏิรูปตามที่ประชาชนต้องการ โดยเฉพาะการปฏิรูปตำรวจ การปฏิรูประบบราชการ การปฏิรูปที่ดิน หากไม่วางแผนการขับเคลื่อนบ้านเมืองให้ดี เป็นไปได้ว่าจะกลับไปสู่วงจรความขัดแย้งอีก หากเกิดขึ้นรอบนี้เป็นเรื่องยากที่จะแก้ไขอย่างยิ่ง
ในระยะแรกๆ ประชาชนชาวไทยให้การสนับสนุนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างมาก แต่เวลานี้กลับกัน เพราะความเชื่อถือค่อยๆ ลดลง อาจจะมาจากสนิมในเนื้อ หรือมาจากไม่ทำอย่างที่พูด หรือมาจากปัญหาอุปสรรคความรู้ความชำนาญเฉพาะด้านของรัฐบาลนี้
รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ออกแบบไว้เพื่อให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอก และออกแบบให้สมาชิกวุฒิสภาจำนวน 250 คน สามารถโหวตเลือกนายกฯได้ และต้องมีเสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สนับสนุนเกินครึ่ง
การที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกมาสนับสนุนนายกฯคนนอกก็เป็นสิทธิ แต่สิ่งที่รัฐบาลนี้ต้องเร่งจัดการคือจัดการกับคนทุจริต ทั้งทุจริตที่เกิดขึ้นก่อนรัฐบาลนี้ และการทุจริตในรัฐบาลนี้ เพื่อซื้อความน่าเชื่อถือของรัฐบาลกลับคืนมา และจะนำไปสู่ความผาสุกของบ้านเมืองในอนาคตที่แท้จริง

ชูศักดิ์ ศิรินิล

ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย
ไม่อยากจะเรียกว่าเป็นกับดัก หากคนจะมาเป็นนายกฯตามรัฐธรรมนูญก็ต้องแสดงว่าได้อ่านรัฐธรรมนูญโดยรู้แจ้งตลอดแล้ว สมัครใจเข้ามาสู่วังวนการควบคุมตรวจสอบแบบเข้มข้นของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน เงื่อนไขการเข้ามาเป็นนายกฯตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่สำคัญคือบทเฉพาะกาลให้มีการโหวตกันในรัฐสภามิใช่สภาผู้แทนราษฎรแบบปกติสภาผู้แทนฯ 500 คน วุฒิสภาจากการแต่งตั้งของ คสช. 250 คน รวมเป็น 750 คน คนจะเป็นนายกฯได้จึงต้องมีเสียงสนับสนุนไม่ต่ำกว่า 376 คน มีการพูดกันว่ามีเสียง ส.ว.อยู่แล้ว 250 คน เพียงหา ส.ส.ให้ได้ 126 คนก็ได้เป็นนายกฯแล้ว ดูตัวเลขก็เหมือนจะเป็นเช่นนั้น แต่ปัญหาใหญ่คือ ถ้ามาแบบนายกฯคนนอกในการโหวตรอบสอง จะต้องมีผู้เห็นด้วยกับญัตติที่เสนอไม่น้อยกว่า 500 คน คงต้องมีเสียง ส.ส.เห็นด้วยกับญัตติดังกล่าวไม่น้อยกว่า 250 คน
เท่ากับ ส.ส.อย่างน้อยครึ่งสภาต้องเห็นด้วยที่จะให้คนนอกบัญชีพรรคการเมืองมาเป็นนายกฯ ถ้าจะมาในบัญชีเลยตั้งแต่ต้นก็ต้องดูว่าพรรคใดจะเสนอ มีเสียง ส.ส.ถึงไหม หากจะได้เป็นไม่ใช่จะมีเสียง ส.ส.เพียง 126 คน สนับสนุนเท่านั้น เพราะการบริหารราชการแผ่นดินปกติ ถ้าเสียง ส.ส.ไม่ถึงครึ่ง กฎหมายไม่ผ่านสภา หรือโดนอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็คงอยู่ไม่ได้
หากได้เป็นนายกฯเข้าจริงๆ สิ่งที่ต้องเผชิญด่านแรกคือ การตรวจสอบคุณสมบัติรัฐมนตรีที่รัฐธรรมนูญบอกว่า ต้องซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ คงโดนยื่นคำร้องต่อศาล ต้องถูกตรวจสอบมาตรฐานทางจริยธรรมที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันสร้างขึ้น ลองนึกดูเอาเองว่าภาพต่างๆ ที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้ รัฐมนตรีทั้งหลายรวมถึงนายกฯด้วย จะผ่านด่านหินดังกล่าวได้หรือไม่ ถ้าจะแปลว่าเป็นกับดักก็คงจะพอพูดได้

อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
โดยกติกาแล้ว การตั้งนายกฯแบบปกติต้องใช้เสียง 375 ของสภา โดยมี ส.ส.500 เสียง ส.ว.250 เสียง ทางที่จะเกิดขึ้นได้คือ พรรคใหญ่ 2 พรรครวมกันแล้วอาจมีพรรคกลางอีก 1 พรรค หรือพรรคใหญ่ 1 พรรครวมกับพรรคกลางและพรรคเล็กทั้งหมด จึงจะได้นายกฯจากรายชื่อที่เสนอมา คำถามคือพรรคการเมืองกลาง-ใหญ่ หรือเล็ก-ใหญ่ พร้อมจับขั้วกันหรือเปล่า การจับขั้วมีทั้งจับเพื่อผลทางการเมืองและเพื่ออุดมการณ์ทางการเมือง แต่ประเทศไทยอุดมการณ์ทางการเมืองดูจะไม่ต่างกันมากนัก การจับขั้วนี้จึงต้องมองว่าทุกพรรคมองการจับขั้วเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง หรือผลประโยชน์ของประเทศชาติในการที่จะได้นายกฯที่มาในระบบการเลือกตั้ง

เรื่องการติดกับดักขึ้นอยู่กับว่าพรรคการเมืองจะได้ ส.ส.จำนวนเท่าไร ที่จะทำให้ได้นายกฯตามสูตรปกติหรือไม่ปกติ
การได้นายกฯตามสูตรปกติ คือ 1.ได้จำนวน 375 เสียง จาก ส.ส.ในสภาเอง 2.ได้ 375 เสียงจาก ส.ส.+ส.ว. อาจเป็นทางที่ไม่ต้องใช้พรรคใหญ่ แต่ใช้พรรคขนาดกลางหรือเล็ก คือ 125 ส.ส.+250 ส.ว. ก็จะเกิน 375 เพื่อเลือกนายกฯ หากใช้ 2 วิธีนี้แล้วเลือกนายกฯจากในลิสต์ที่เสนอมาไม่ได้ ทางเดียวที่จะเกิดขึ้นคือต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของ ส.ส.+ส.ว. คือ 500 คน
ที่มีการมองกันว่าการโหวต 2 ใน 3 จะติดกับดักเมื่อหาอีก 250 เสียง เพื่อให้เกิน 500 เสียง ไม่ได้นั้น กับดักนี้อาจไม่เกิดขึ้น ถ้าพรรคใหญ่พรรคหนึ่งมาจับมือกับพรรคขนาดกลางที่เหลือแล้วเข้าร่วมกับ ส.ว. โอกาสมีนายกฯคนนอกก็อาจเกิดขึ้นได้ แต่อาจไม่ง่าย เพราะขึ้นอยู่กับตัวแปรพรรคใหญ่พรรคหนึ่งที่จะไปจับกับพรรคขนาดกลางขนาดเล็กรวมตัวให้ได้ 500 คน นำเสนอชื่อนายกฯคนนอก กับดักนี้จึงจะเกิดได้
คำถามคือจะมีโอกาสหรือไม่ ที่ ส.ส.ไม่สามารถตกลงกันได้ว่าจะเลือกใครจากบัญชีที่แต่ละพรรคเสนอชื่อขึ้นมา ทำให้เกิดคำถามจากสังคม นายกฯคนนอกต้องมากับกระแสว่านักการเมืองทะเลาะกันจนต้องเรียกร้องนายกฯคนนอก ก็ต้องตั้งคำถามว่าตอนนี้มีพรรคการเมืองใดที่พยายามประกาศตัวว่าจะเอานายกฯที่มาจากคนนอก ถ้ามีพรรคไหนทำทีท่าอย่างนั้น ก็มีโอกาสเกิดนายกฯคนนอกขึ้นได้
ส่วนการโหวต 2 ใน 3 เพื่อยกเว้นรัฐธรรมนูญบางมาตรา เพื่อนำมาสู่การเลือกนายกฯคนนอก ถามว่ายากหรือไม่ เมื่อมาคำนวณที่นั่งในสภาโดยพิจารณาจากฐานเสียงการเลือกตั้งที่แล้วมา จะทำให้พรรคใหญ่สองพรรคได้คะแนนประมาณพรรคละ 120-180 เสียง ดังนั้น เมื่อสองพรรคใหญ่รวมกัน ทำให้พรรคที่เหลือมีคะแนนไม่พอไปรวมกับ ส.ว.ให้เกิน 500 จึงต้องอาศัยพรรคใหญ่พรรคใดพรรคหนึ่งไปด้วย
ดังนั้น ต้องมองว่าช่วงหาเสียงจะมีกระแสเรื่องจะเอาหรือไม่เอาทหาร หรือเรื่องเอานายกฯคนในหรือเอานายกฯคนนอก พรรคการเมืองอาจอ่านสัญญาณจากสังคมและแสดงตัวในช่วงการหาเสียงได้ว่าในที่สุดแล้วถ้าสังคมไปในทางใดทางหนึ่ง พรรคการเมืองอาจขานรับกับเสียงนั้น ก็อาจเห็นภาพการมีนายกฯคนนอกได้
การหาเสียงเดิมๆ จะเป็นการต่อสู้ระหว่างพรรค ครั้งนี้เป็นการต่อสู้ระหว่างวาทกรรม “เอาทหาร หรือไม่เอาทหาร-เอาประชาธิปไตยหรือไม่เอาประชาธิปไตย” เป็นการหาเสียงที่ทำให้คนต้องเลือก ถ้าพรรคการเมืองจับกระแสสังคมได้ แล้วตามกระแสนั้น อาจเป็นผู้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง และทิศทางของการมีนายกฯคนในหรือคนนอก จะชัดเจนเมื่อกระแสสังคมได้แสดงให้เห็น


รศ.ตระกูล มีชัย รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รศ.ตระกูล มีชัย

รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ส่วนตัวมองว่าไม่ใช่กับดัก และเป็นเงื่อนไขที่เกิดขึ้นยากมาก เพราะว่า ส.ว.จำนวน 250 คน แบ่งเป็น 200 คน ที่ คสช.แต่งตั้ง และอีก 50 คน มาจากการสรรหาของกลุ่มต่างๆ อาจจะได้ไม่ถึง 50 คน ที่จะเป็นคนของ คสช.ด้วยซ้ำไป ฉะนั้น ตัวเลข 250 อาจจะได้ 230-240 เพราะการเลือกไขว้ อาจทำให้ได้คนอื่นเข้ามาและคุมเสียงไม่ได้ ส่วนกลุ่ม ส.ส.จำนวน 500 คน หาให้ได้ 250 คน แทบเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าเผื่อพรรคการเมือง 2 พรรค ไม่ว่าประชาธิปัตย์หรือเพื่อไทยไม่เอาด้วย เมื่อไม่เอาด้วยก็เกิดปัญหาว่า หลังเลือกตั้งทั้งฝ่ายพรรคการเมืองหรือ ส.ส.เอง ก็ไม่อาจตกลงจับมือจัดตั้งรัฐบาลได้
ทำให้เข้าไปสู่เงื่อนไขที่ 2 คือ งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ซึ่งเงื่อนไขนี้ก็ไปไม่ถึงอีก เพราะจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่ต้องลงมติออกมาคะแนนเสียงรวมกัน 500 คน ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะฉะนั้น ถามว่า คสช.อ่านเกมนี้ออกหรือไม่ เชื่อว่าอ่านออก แต่เราไม่รู้ว่ากระบวนการการเจรจา การต่อรอง ก่อนเลือกตั้งกับหลังเลือกตั้ง ระหว่างกลุ่มอำนาจที่เป็นรัฐบาลขณะนี้กับกลุ่มการเมืองต่างๆ จะมีการเจรจากันได้มากน้อยแค่ไหน
เชื่อว่าทุกฝ่ายรู้หมดว่าจะเกิดปัญหานี้ ฝ่ายที่ต้องการมีอำนาจทางการเมืองก็คงต้องใช้การเจรจาต่อรองประโยชน์ทางการเมืองเพื่อให้เกิดทางใดทางหนึ่ง
จึงคิดว่า คสช.ไม่ได้วางกับดักของตัวเองเอาไว้ เพราะรู้อยู่แล้ว จะต้องเจรจาหมด เพราะการเมืองเข้าสู่โหมดประชาธิปไตยการเลือกตั้ง ใช้ชี้นิ้วสั่งไม่ได้ จะเป็นบทเรียนหนึ่งให้ผู้มีอำนาจได้รู้ว่าการเมืองจากการเลือกตั้งไม่สามารถชี้นิ้วสั่งได้ ต้องอาศัยการเจรจา เวลาเจรจาจะเอาตัวตนของตัวเองเป็นตัวตั้งและตั้งเงื่อนไขไม่ได้ เพราะฝ่ายพรรคการเมืองต่างๆ จะบอกว่า เมื่อขอมาก็ต้องนั่งพูดคุยกันบนความเท่าเทียมกัน สิ่งนี้คิดว่าคงจะต้องเกิดการเจรจา ขึ้นอยู่กับฝ่ายที่มีอำนาจตอนนี้ว่ามีความชอบธรรมทางการเมืองมากน้อยแค่ไหน ทั้งจำนวน ส.ส. ทั้งจำนวนความนิยมชมชอบของประชาชน ถ้ามีความชอบธรรมหลายๆ ด้านตรงนี้สูง ในการเจรจาต่อรองก็จะมีบทบาทมาก แต่ถ้าความชอบธรรมลดลง ไม่มากไปกว่าพรรคการเมือง การเจรจาก็จะเกิดบนความเท่าเทียมกัน

ที่มาของเผด็จการ และความสัมพันธ์ของเผด็จการกับการคอร์รัปชั่น

ที่มาของเผด็จการ และความสัมพันธ์ของเผด็จการกับการคอร์รัปชั่น


มักจะเป็นที่สงสัยในหมู่ของผู้คนที่เชื่อมั่นและศรัทธากับประชาธิปไตย ว่าเหตุไฉนบรรดาเผด็จการนั้นจึงอยู่ในอำนาจได้ และเหตุไฉนผู้คนจึงยอมที่จะอยู่ในอำนาจของเผด็จการ

วันนี้ผมมีส่วนหนึ่งของคำตอบ โดยจะนำท่านผู้อ่านย้อนกลับไปสู่ที่มาของประวัติศาสตร์เผด็จการของโลก และในช่วงหลังของบทความจะชวนท่านผู้อ่านคุยเรื่องของความสัมพันธ์ของเผด็จการกับคอร์รัปชั่นด้วยครับ

แน่นอนว่าเมื่อเราพูดเรื่องของเผด็จการ บางครั้งมันไม่ใช่แค่เรื่องของระบอบการเมืองเท่านั้น เพราะก็มีความเป็นไปได้ว่า ประชาธิปไตย นั้นก็สามารถเป็นเผด็จการได้เช่นกัน ดังนั้นถ้าเราจะเข้าใจเผด็จการเราคงต้องเข้าใจมันทั้งสองส่วน

หนึ่ง คือ เข้าใจมันในรูปแบบที่เป็นทางการ ว่าระบอบเผด็จการมีหน้าตาอย่างไร มีการจัดวางอำนาจอย่างไร มีการจัดสถาบันต่างๆ อย่างไร มันทำงานอย่างไร และโดยทั่วไปเผด็จการมักจะขึ้นสู่อำนาจโดยไม่ได้มาจากการเลือกตั้งและรัฐธรรมนูญ และมักจะมีการผูกขาดอำนาจโดยปราศจากการตรวจสอบ ซึ่งเราจะเห็นได้จากโครงสร้างการวางอำนาจ หรือบางทีก็เห็นจากความไม่กล้าของฝ่ายกองเชียร์/กองหนุนเอง

สอง คือ เข้าใจปฏิบัติการทางอำนาจ ซึ่งบางครั้งระบอบที่มาจากประชาชนแบบประชาธิปไตยก็มีโอกาสกลายเป็นเผด็จการได้ ถ้าการใช้อำนาจนั้นปราศจากการตรวจสอบ โดยเฉพาะเมื่อโครงสร้างเชิงสถาบันนั้นไม่มีระบบการถ่วงดุลตรวจสอบที่เข้มแข็ง ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในสังคมที่ประชาธิปไตยขาดคุณภาพ

อย่างไรก็ตาม มาเริ่มกันที่เผด็จการคลาสสิกก่อน กล่าวคือ คำว่าเผด็จการ หรือ dictator นั้นในยุคแรกไม่ใช่คำที่มีความหมายในแง่ลบ ว่ากันว่าคำว่าเผด็จการนั้น เกิดขึ้นในจักรวรรดิโรมัน โดยสภาของโรมัน ในช่วงห้าร้อยปีก่อนคริสตกาล (510 B.C.) กล่าวคือ เผด็จการนั้นไม่ได้มาจากการยึดอำนาจ แต่มาจากเงื่อนไขของการจำต้องใช้อำนาจเด็ดขาดในสภาวะฉุกเฉิน เช่น การเข้ามาแก้ปัญหาความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเฉพาะเมื่อมีการก่อกบฏ หรือการก่อจราจล

กล่าวอีกอย่างหนึ่ง เผด็จการนั้นไม่ได้มีแต่เกิดขึ้นจากระบอบกษัตริย์ หรือหัวหน้าเผ่า ที่มีมาก่อนหน้านั้น แต่เผด็จการนั้นก็มาจากระบอบสาธารณรัฐที่มาจากประชาชนแบบโรมันก็ได้ หรือว่าง่ายๆ เผด็จการนั้นก็สามารถมาจากประชาชน และ “เป็นคนของประชาชน” ได้ โดยเฉพาะเมื่อสภาผู้แทนของประชาชนนั้นตัดสินใจว่าจำต้องมอบอำนาจเบ็ดเสร็จให้กับผู้นำบางคนเพื่อให้ใช้อำนาจในการบรรลุภารกิจบางประการ อย่างกรณีโรมันในยุคสาธารณรัฐนั้น โดยทั่วไปจะมีผู้ปกครองในตำแหน่งกงสุลสองคน แต่เมื่อมีสภาวะฉุกเฉินนั้น อาจจะเลือกคนใดคนหนึ่งขึ้นมาดำรงตำแหน่งจอมเผด็จการ (dictator) ได้ (ประเด็นนี้หลายคนที่ชอบพูดว่า ฮิตเลอร์นั้นมาจากการเลือกตั้ง เอาเข้าจริงก็มีบางส่วนที่ไม่ได้ผิดทั้งหมด คือ ฮิตเลอร์มาจากลงมติในรัฐสภาเช่นกัน นั่นแหละครับ)

แต่ช้าก่อน การจะเป็นเผด็จการในสังคมสาธารณรัฐนั้นไม่ได้สามารถทำอะไรได้ตามอำเภอใจทั้งหมด แม้ว่าเขาจะมีอำนาจเหนือนักการเมือง และการกระทำของเขานั้นได้รับการยกเว้นผิดจากระบบกฎหมาย แต่โดยทั่วไป เขาจะมีอำนาจได้ไม่เกินหกเดือน และแม้ว่าเขาจะเปลี่ยนกฎหมาย และรัฐธรรมนูญได้ แต่เขาจะไม่สามารถใช้งบประมาณนอกเหนือไปจากที่สภาอนุมัติให้ และเขาไม่สามารถออกนอกประเทศได้

ดังนั้น โดยรากเหง้าของเผด็จการที่มาจากประชาชนนั้น เผด็จการอาจไม่ใช่พวกที่ล้มล้างประชาชน บางครั้งอย่างในโรมันนั้น เผด็จการที่มีที่มาจากประชาชนก็สามารถต่อสู้เพื่อประชาชน อย่าง Titus Larcius นั้นว่ากันว่า ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจพิเศษ จึงทำให้เขากลายสภาพจากกงสุลมาเป็นเผด็จการ เพื่อจัดการกับพวกกบฏในหลายเมืองที่ลุกฮือขึ้นเพื่อจะนำเอาระบอบกษัตริย์กลับมาปกครอง นอกจากนั้น เผด็จการอย่าง Larcius นี้ก็ยังจะพยายามปกครองเพื่อประโยชน์ของชนชั้นกลางและชนชั้นล่างด้วย แม้ว่าเขาจะมาจากชนชั้นสูงก็ตาม

เผด็จการในโรมันเริ่มมีลักษณะเบ็ดเสร็จเพิ่มขึ้นในหลายร้อยปีถัดมา คือเมื่อ 200 กว่าปีก่อนคริสตกาล (202 B.C.) Lucius Cornelius Sulla ได้รับการแต่งตั้งเป็นเผด็จการแบบไม่มีข้อจำกัดในด้านเวลา Sulla อยู่ในอำนาจสองปี และสังหารคนไปเป็นพันคน โดยจำนวนมากเป็นพวกคนที่ต่อต้านเขา และ Sulla ก็เริ่มมีความมั่งคั่งจากการไปยึดทรัพย์สินต่างๆ มาเป็นของตน หลังจาก Sulla ลงจากตำแหน่ง คนที่มาสืบทอดก็คือ Julius Caesar หรือซีซาร์ที่เรารู้จักกัน รายนี้เป็นเผด็จการตลอดชีวิตและนำไปสู่สงครามกลางเมือง ซีซาร์พบจุดจบโดยการถูกลอบสังหาร และหลังจากนั้นระบบเผด็จการก็ถูกล้มเลิกไป ด้วยข้อหาว่าเผด็จการเป็นพวกคอร์รัปชั่น

สำหรับ “เผด็จการยุคใหม่” นั้นพวกนี้เกิดขึ้นโดยเงื่อนไขของสภาวะฉุกเฉิน หรือข้ออ้างเรื่องสภาวะฉุกเฉินเช่นกัน โดยทั่วไปนักประวัติศาสตร์ถือว่านโปเลียน โบนาปาร์ตนั้นเป็นเผด็จการยุคใหม่คนแรก นโปเลียนนั้นเป็นทหารชั้นนายพลในสมัยการปฏิวัติฝรั่งเศส ที่เปลี่ยนระบอบจากกษัตริย์มาเป็นสาธารณรัฐประชาชน และท่ามกลางความวุ่นวายของการเปลี่ยนแปลงนั้น นโปเลียนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกงสุลภายใต้รัฐบาลในระยะเปลี่ยนผ่านนี้เอง

ความที่นโปเลียนเป็นผู้นำทหารที่แข็งแรงที่สุดในปฐพี (คือนำมาซึ่งชัยชนะให้ฝรั่งเศสมาโดยตลอด) เขาจึงได้รับความนิยมในหมู่ประชาชน เขาเป็นเผด็จการที่สร้างผลงานดีๆ หลายเรื่อง เช่น จัดทำงบประมาณที่เหมาะสม ปฏิรูปรัฐบาล และสร้างระบบกฎหมายที่ดี ความนิยมของเขาทำให้เขามีอำนาจและความชอบธรรมในการยกเลิกสภาที่มาจากการเลือกตั้งและเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ โดยตั้งตนเองเป็นกงสุลที่สามารถอยู่ในอำนาจตลอดชีวิต และต่อมาก็แต่งตั้งตัวเองเป็นจักรพรรดิ และนำทัพไปต่อสู้ทั่วยุโรป ในอีกด้านหนึ่งเขาก็ควบคุมทุกด้านของรัฐบาล และมีเครือข่ายสาบลับคอยสอดส่องผู้คน

อย่างไรก็ตาม นโปเลียนสิ้นอำนาจลงเมื่อเขาเริ่มแพ้สงคราม และเมื่อฝรั่งเศสถูกรุกรานจากหลายชาติยุโรปที่ล้อมฝรั่งเศสเอาไว้ บรรดาทหารระดับสูงเริ่มรวมตัวกันแข็งข้อและบีบให้นโปเลียนสละราชย์/สละอำนาจ จากนั้นนโปเลียนก็ถูกขับออกจากประเทศ

บทเรียนสำคัญในการทำความเข้าใจกับเผด็จการจากอดีตสู่ปัจจุบันนั้นมีหลายประเด็น

หนึ่ง เผด็จการนั้นจะปกครองแบบใช้อำนาจที่ปราศจากการตรวจสอบ การปราศจากการตรวจสอบทำได้หลายอย่าง เช่น เขียนกฎเกณฑ์ไม่ให้เกิดการตรวจสอบ หรือแม้กระทั่งทำให้คนนั้นกลัวที่จะตรวจสอบ ซึ่งการที่คนไม่ตรวจสอบนั้นก็มีหลายแบบ คือกลัวเผด็จการ หรือ แม้กระทั่งกลัวว่าฝ่ายที่พวกกองหนุนนั้นไม่ชอบจะกลับมามีอำนาจอีก ก็เลยอ่อนให้ หรือยกเว้นไม่ตรวจสอบ


สอง เผด็จการนั้นจะคุมสื่อ และการคุมสื่อนั้นจะเป็นการคุมประชาชนไปด้วย ดังนั้นงานข่าวกรองนั้นเป็นเรื่องสำคัญ หรือถ้าข่าวกรองไม่มีฝีมือ ก็จะต้องใช้วิธีการมีสายลับ หรือใช้จิตวิทยามวลชนในการตอบโต้ ซึ่งการกระทำเหล่านี้เรื่องใหญ่คือการจำกัดเสรีภาพของประชาชนและสื่อนั่นแหละครับ

สาม เผด็จการส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับการสร้างระบบความเชื่อและพิธีกรรมที่เน้นการเชิดชูบุคลิกภาพของตัวผู้นำ โดยมองว่าตัวผู้นำนั้นเป็นผู้ที่มีบารมีมากล้น และไม่มีความด่างพร้อยใดๆ การจะสร้างความเชื่อและพิธีกรรมเช่นนี้ได้ จำเป็นต้องใช้ระบบการโฆษณาชวนเชื่อ และระบบกฎหมายที่จัดการกับคนเห็นต่างและวิพากษ์วิจารณ์ในระดับที่รุนแรง งานศิลปะต่างๆ จะถูกครอบงำให้กลายเป็นการเขียนภาพของผู้นำเหล่านั้น เด็กนักเรียนจะถูกพร่ำสอนให้สำนึกในบุญคุณของจอมเผด็จการ ภาพถ่าย อนุสาวรีย์ ภาพวาด โปสเตอร์จะเต็มไปด้วยรูปของเผด็จการเหล่านี้ ดังที่จะพบในประเทศอย่างเกาหลีเหนือ

สี่สิ่งสำคัญก็คือ จากประวัติศาสตร์มาจนถึงวันนี้ เผด็จการไม่จำเป็นจะต้องมาจากการยึดอำนาจด้วยความรุนแรง หรือโค่นล้มระบบประชาธิปไตย แต่เผด็จการอาจจะตั้งต้นจากประชาธิปไตยเอง แต่ประชาธิปไตยที่ไม่เข้มแข็งและขาดการตรวจสอบที่ดีต่างหากที่ทำให้เผด็จการนั้นอยู่รอดและเติบโตจนกลืนกินประชาธิปไตย หรือหากินกับระบบประชาธิปไตย (อาทิ เผด็จการเสียงข้างมาก)

ห้า เผด็จการมักเคยเป็นทหารมาก่อน หรือจัดความสัมพันธ์ที่สามารถควบคุมหรือสร้างความภักดีกับกองทัพได้ สิ่งที่ควรจะเข้าใจก็คือ ระบอบคอมมิวนิสต์นั้นแม้ว่าตัวผู้นำอาจจะไม่ได้เป็นนายพล แต่โดยโครงสร้างการปกครองนั้น พรรคคอมมิวนิสต์ (หรือระบอบเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ) นั้นจะต้องสามารถควบคุมกองทัพได้อย่างเบ็ดเสร็จ


ในอีกด้านหนึ่งระบอบเผด็จการทหารนั้นก็มีอยู่มาก เรามักเรียกรัฐบาลที่มาจากคณะทหารว่าคณะรัฐประหาร ซึ่งภาษาอังกฤษก็คือ junta

หก เผด็จการนั้นอาจจะปล่อยให้มีการเลือกตั้งได้ เช่น การเลือกตั้งระดับท้องถิ่น แต่การเลือกตั้งเช่นนั้นไม่ได้กลายเป็นเงื่อนไขที่จริงจังในการพัฒนาประชาธิปไตย ระบอบกษัตริย์บางแห่ง เช่น ซาอุดีอาระเบีย นั้นก็ใช้วิธีนี้ในการปฏิรูป แต่ก็ไม่ได้กลายเป็นประชาธิปไตย หรือกรณีพม่า ที่ในช่วงต้นก็ปล่อยให้มีการเลือกตั้ง แต่เมื่อซูจีชนะก็ไม่รับรองผล ต่อมาตามโรดแมปก็ปฏิรูปการเมือง แต่ก็คงไว้ซึ่งอำนาจของทหารมากมายในรัฐบาลใหม่นี้

เจ็ด จุดจบของเผด็จการมีหลายแบบ เช่น ถูกแทรกแซงจากกองกำลังต่างชาติ ตายเอง ถูกลุกฮือโดยประชาชน หรือถูกบีบให้ออกจากคณะผู้นำที่เป็นกองหนุน แต่เผด็จการมักจะอยู่นาน และแม้ว่าจะล้มลง ก็ไม่ได้มีหลักประกันว่าการล้มลงของเผด็จการจะถูกแทนที่ด้วย
ประชาธิปไตย หากเราไม่ได้จริงจังกับการจัดวางระบบการถ่วงดุลตรวจสอบให้ดี

ทีนี้มาว่ากันด้วยเรื่อง เผด็จการกับการคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่ง เพราะส่วนใหญ่ที่เผด็จการถูกขับไล่นั้นก็เพราะเรื่องของคอร์รัปชั่นนั่นแหละครับ ไอ้ที่อ้างว่าจะลงตามสัญญา ส่วนหนึ่งในช่วงท้ายก็เต็มไปด้วยเรื่องการคอร์รัปชั่นที่อื้อฉาวมิใช่น้อย

ใช่ว่าประชาธิปไตยนั้นไม่มีการคอร์รัปชั่น แต่การคอร์รัปชั่นในประชาธิปไตยนั้นถูกเปิดโปงและสืบค้นได้อย่างเป็นระบบ ทั้งจากสื่อ และจากการตรวจสอบขององค์กรต่างๆ เว้นแต่หากประชาธิปไตยนั้นไม่มีคุณภาพ เราจะรู้สึกว่าการตรวจสอบนั้นไม่น่าเชื่อถือ

แต่ในกรณีของเผด็จการนั้น การคอร์รัปชั่นมีลักษณะที่เร้นลึก ส่วนหนึ่งเพราะตรวจสอบไม่ได้ และส่วนหนึ่งเพราะมันเป็นการคอร์รัปชั่นท่ามกลางความหวาดกลัว เพราะพื้นฐานของการ กระจายอำนาจไม่เท่ากัน ผู้มีอำนาจสามารถจัดการผู้คนที่หาญกล้ามาตรวจสอบได้มากกว่า

มีคำพูดที่น่าสนใจอยู่สองคำพูดในเรื่องของการคอร์รัปชั่นในเผด็จการที่น่าเล่าสู่กันฟัง

หนึ่ง มีนักเขียนท่านหนึ่งในเม็กซิโก กล่าวว่า

“การคอร์รัปชั่นเป็นทั้ง ‘กาว’ และ ‘น้ำมัน’ ของระบอบเผด็จการ” หมายถึงว่า การคอร์รัปชั่นนั้นเป็น ตัวเชื่อมโยงให้ส่วนต่างๆ ของระบอบเผด็จการนั้นอยู่ร่วมกันได้ และเป็นสิ่งที่หล่อลื่นให้ระบอบเผด็จการนั้นทำงานได้

หรือคำพูดของอดีตผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ว่า “การต้านโกงในสังคมจีนนั้นถ้าทำน้อยไป ประเทศก็ล่มจม แต่ถ้าทำมากไป ก็จะทำให้พรรคฯล่มจม”

การคอร์รัปชั่นกับเผด็จการนั้นซับซ้อนกว่าประชาธิปไตยตรงที่อาจเป็นไปได้ว่า เผด็จการบางกลุ่มนั้นอาจไม่ได้หวังผลประโยชน์อะไรตอนที่เข้ามายึดอำนาจ แต่อยู่ไปอยู่ไป เริ่มเห็นว่าการแบ่งสรรประโยชน์ในหมู่ตนเอง และเกื้อหนุนกองหนุนระดับสูงนั้นทำให้พวกเขาอยู่ได้ และสามัคคีกัน หรือผู้นำหลักไม่ทำ แต่อาจจะต้องหลับตาให้ทีมงานและพี่น้องของเขาทำไป ไม่เช่นนั้นก็จะไม่มีกองหนุนที่ช่วยเหลือเขาเอาไว้ในตำแหน่ง

โดยสถิติระดับโลกแล้ว ประเทศส่วนมากที่มีคะแนนคอร์รัปชั่นสูง มักเป็นประเทศที่เป็นเผด็จการ และรองลงมาคือ ประเทศที่มีประชาธิปไตยด้อยคุณภาพ นั่นก็คือ ระบอบการเมืองที่ให้อำนาจแก่ผู้นำมาก และการตรวจสอบน้อยนั่นแหละครับ

อาการลูบหน้าปะจมูกในระบอบเผด็จการเป็นเรื่องที่มีที่มาชัดเจน คือ ผู้นำบางทีก็ไม่กล้าจัดการคนอื่นที่โกง เพราะถ้าจัดการมากไป ระบบทั้งระบบมันล้มได้ เพราะมันโยงใยกันไปทั่ว ความต้องการการ
สนับสนุนจากกองหนุนนั้นมีมาก และถ้าไม่ปล่อยให้กองหนุนหาประโยชน์บ้าง ผู้นำก็จะไม่มีกองหนุน ดังนั้นว่ากันว่า เงื่อนไขสำคัญที่ผู้นำจะจัดการปราบคนโกงในยุคเผด็จการก็คือ การปราบโกงจะเกิดขึ้นด้วยเงื่อนไขของการเอาเรื่องความจงรักภักดีต่อผู้นำเป็นตัวตั้ง คือถ้ายังเป็นพวกเดียวกันก็จะลดราวาศอกลงบ้าง แต่ถ้าไม่เป็นพวกเดียวกันก็จะโดนหนัก

กล่าวง่ายๆ ก็คือ ผลประโยชน์ของผู้นำและระบอบเผด็จการเป็นตัวตั้งในการปราบโกง มากกว่าผลประโยชน์ของประชาชน

หรือพูดอีกอย่างก็คือ ถ้าจะตรวจสอบระบบปราบโกงในยุคเผด็จการนั้น แม้ตัวผู้นำสูงสุดจะไม่โกง แต่ถ้าผู้นำสูงสุดนั้นไม่มีฐานของอำนาจมาจากประชาชนโดยตรง แต่มาจากความภักดีของคณะผู้นำคนอื่น เขาจะไม่ปราบโกงอย่างจริงจังเพราะเขาจะเสียฐานคะแนนสำคัญคือกองหนุนของเขาครับ

และที่สำคัญ เมื่อรัฐบาลเผด็จการได้ลิ้มรสอำนาจที่มาจากการโกงแล้ว โอกาสที่จะมอบอำนาจให้ประชาชนก็จะล่าช้าลง และการปราบปรามและประกาศว่าประชาชนเป็นศัตรูก็จะมากขึ้นตามไปด้วย


หมายเหตุ – พัฒนาจาก S.Freeman. “How Dictators Work”. Howstuffworks.com., M.Pei. “Government by Corruption”. Forbes.com., “Why do all dictator regimes encourage corruption?. Quora.com., V.Mehta. “A dictator’s best friend: Corruption, War and the West”. Ceasefiremagazine.co.uk. Sep 12, 2012. และ W.Hallagan. “Corruption in Dictatorships”. Economic Governance. 11: 27-49, 2010.

‘พิมพ์’ การเมือง ประชาธิปไตย ไทยนิยม พฤศจิกายน 2561

‘พิมพ์’ การเมือง ประชาธิปไตย ไทยนิยม พฤศจิกายน 2561


ทั้งๆ ที่แวดล้อม คสช. แวดล้อมรัฐบาล มากด้วย “กูรู” ทางด้านการตลาด การประชาสัมพันธ์ แต่ คสช.และรัฐบาลก็กำลังประสบปัญหาในเรื่องการตลาด การประชาสัมพันธ์

สงสัยว่า “ใคร” เป็น “กุนซือ”

ไม่ว่าการเปิดตัวสินค้าในเรื่อง “ผมเป็นนักการเมือง” ไม่ว่าการเปิดตัวสินค้าในเรื่อง “นายกรัฐมนตรีคนนอก” และล่าสุดการเปิดตัวสินค้าผ่าน “ประชาธิปไตยไทยนิยม”

ล้วนแต่นำไปสู่ “ปัญหา”

ยิ่งเมื่อมีการงัดเอาคำ “ประชารัฐ” มาเป็นเสมือนเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ให้กับคำว่า “ผมเป็นนักการเมือง” เพื่อนำไปสู่ความหวังที่จะขยายฐาน “กองหนุน”

ยิ่งทำให้เกิดความสงสัยใน “กึ๋น”

เพราะไม่เพียงแต่ทำให้การเปิดประเด็น “พรรคประชารัฐ” มีความคมชัด หากแต่ยังดำเนินไปในลักษณะที่โบราณสรุปว่าเป็น “วัวพันหลัก”

การเสนอวลีที่ว่า “ประชาธิปไตยไทยนิยม” อาจถือว่าเป็นสุดยอดคำเท่ซึ่งพัฒนามาจาก “ประชาธิปไตยแบบไทย” และประชาธิปไตยอันมี “เอกลักษณ์”

แต่วลีนี้แหละที่จะ HOT โดยอัตโนมัติ

ที่ HOT มิใช่เพราะอานิสงส์จากสร้อย “ไทยนิยม” อันสะท้อนยุค จอมพล ป.พิบูลสงคราม และมิใช่เพราะเป็นความต่อเนื่องจากประชาธิปไตย “แบบไทย” ในยุคแห่งพรรคสหประชาไทยของ จอมพลถนอม กิตติขจร

หากแต่ทำให้เกิดลักษณะ “รวบยอด” จากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

นี่คือการก่อรูปของ “ปฏิมา” อันตรงกับ IMAGE และกลายเป็น “จินตภาพ” อันตรงกับคำว่า CONCEPT

ทุกความฝังใจจะปรากฏผ่าน “ประชาธิปไตยไทยนิยม”

เป็นประชาธิปไตยในแบบที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติดำรงอยู่ในลักษณะ “ฝักถั่ว” ทำตามคำสั่งของ คสช. ทำตามคำสั่งของรัฐบาล


ไม่มี “ฝ่ายค้าน” ไม่มี “กระทู้”

บริหารโดยประกาศและคำสั่งภายใต้ “มาตรา 44”

เหมือนกับคำพูดของหัวหน้า คสช. หัวหน้ารัฐบาล ต้องการสื่อเนื่องใน “วันเด็กแห่งชาติ” แต่เมื่อปรากฏเป็นข่าวก็จะเกิดอาการฝังจำอย่างลึกซึ้ง

เหมือนที่ “ประชารัฐ” ตีคู่กับ “ประชานิยม”

มีความเป็นไปได้ที่ “ประชาธิปไตยไทยนิยม” จะตีคู่มากับ “รัฐประหาร” จะตีคู่มากับ “เผด็จการ” และพิมพ์นิยมของ “คสช.”

ความโดดเด่นของ “แม่น้ำ 5 สาย” จะเปล่งประกาย

อนุศาสน์อันมาจาก นายวิษณุ เครืองาม ที่ว่า “เมื่อลงเรือแป๊ะก็ต้องตามใจแป๊ะ” จะเป็นเหมือนนิยามอันรวบรัดยิ่ง

ทั้ง “รัฐประหาร” และ “ประชาธิปไตยไทยนิยม”

เพียงแต่พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามนำเสนอ หากต้องการการสืบทอดอำนาจ หากต้องการให้ คสช.อยู่ยั่งยืนยงก็ต้องเดินหนทาง “ประชาธิปไตยไทยนิยม”

ก็เหนื่อยหนักหนาอย่างสาหัส

โจทย์ของ “ประชาธิปไตยไทยนิยม” คือ การนำเสนอผลงานจากเดือนพฤษภาคม 2557 กระทั่งเดือนพฤศจิกายน 2561 ว่าเป็นอย่างไร

สำเร็จ หรือ ล้มเหลว

ประชาชนต้องการให้พิมพ์การบริหารจัดการในแบบของ คสช. ในแบบของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงอยู่ต่อไป หรือว่าไม่ต้องการ

คำตอบเห็นได้จากผลการเลือกตั้ง

การเมือง “ไทยนิยม”

การเมือง “ไทยนิยม”


“ประชาธิปไตยไทยนิยม” วลีฮิต นิยามฮอต ควันหลงจากช็อตที่ “นายกฯลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช.ให้โอวาทเนื่องในวันเด็กแห่งชาติ

โดยขอให้เด็กไทยยึดมั่นในชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ต้องมีประชาธิปไตยแบบไทยๆ

กระตุก “เด็กโข่ง” พรรคเพื่อไทย ค่ายประชาธิปัตย์ โวยวายกันจ้าละหวั่น

รุมอัดผู้นำเผด็จการทหารสอนเด็กให้ไขว้เขว

แต่เรื่องของเรื่อง คำว่า “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” มันก็คุ้นกันมาพักใหญ่แล้ว แนวโน้มคนในบ้านในเมืองก็รู้สึกชินกับเงื่อนไขสถานการณ์นับตั้งแต่รัฐประหารล้มระบอบ “ทักษิณ” ตั้งแต่ปี 2549 มหากาพย์เรื่องยาวศึกชิงอำนาจประเทศไทยฉุดกระชาก

ลากถูกันมานับ 10 ปี จนมาอยู่ภายใต้อำนาจพิเศษยุค “ลุงตู่”

แม้แต่พี่เบิ้มอย่างสหรัฐอเมริกาก็ดูจะเข้าใจธรรมชาติเมืองไทย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับสถานการณ์ก้าวกระโดดของจีนแผ่นดินใหญ่ที่กำลังกลายเป็นมหาอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจและทหาร ก็ยิ่งตอกย้ำประชาธิปไตยแบบสากลไม่ได้เหมาะสมกับทุกประเทศเสมอไป

ธงของผู้นำรัฐบาล คสช.น่าจะสื่อความหมายในมุมนี้

แต่อีกมุมแฝง ก็น่าจะเปรียบเทียบกับยุคประชาธิปไตยเต็มใบ ที่เลือกตั้งมาแล้วนักการเมืองบางพรรคทำตัวเหมือนเป็นแค่ลูกจ้างบริษัท มีหน้าที่รับใบสั่งจากเจ้าของพรรคใช้เป็นเครื่องมือยึดสภา ออกกฎหมายเอื้อผลประโยชน์ทางธุรกิจให้ตัวเองและพวกพ้อง พฤติกรรมกินรวบประเทศไทย

ขณะที่พรรคการเมืองบางพรรคแพ้การเลือกตั้งซ้ำซากก็ยอมไม่ได้ เลิกยึดมั่นระบบรัฐสภา หันไปปลุกม็อบนอกสภามาล้มล้างกันจนบ้านเมืองวิกฤติ ฆ่ากันเลือดนองถนน จนเกือบรัฐล่มสลาย

ประชาธิปไตยเต็มใบตามหลักสากล แต่มาตรฐานสปิริตคนการเมืองไทยไม่เท่าสากล

ถึงจังหวะที่ประชาชนคนไทยคงต้องชั่งน้ำหนักให้ดี

ที่แน่ๆไล่ตามเกมยุทธ์ของ “ลุงตู่” ที่ค่อยๆปล่อยของต่อเนื่อง จากที่ยอมรับว่าเป็นนักการเมืองที่มาจากทหาร มาถึงคิวนิยาม “ประชาธิปไตยไทยนิยม”

แกะรอยเส้นทางกลับสู่การคุมอำนาจเปลี่ยนผ่านชัดขึ้นทีละช็อต

และนั่นก็แปรผันตามการยกระดับความเข้มของยุทธการ “เจาะยาง” สกัด “นายกฯลุงตู่” และทีม คสช. ก่อให้เกิดปรากฏการณ์แปรรูปขบวนรบถล่มรัฐบาลโดยอัตโนมัติ

เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ พันธมิตรฯ เอ็นจีโอ หันมาแท็กทีมเป็นแนวร่วมเฉพาะกิจ โฟกัสจากฉากเสวนา “เศรษฐกิจ 4 ปีของรัฐบาล รอดหรือร่วง” ที่สมาคมนักข่าวฯช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

ขบวนการต้าน “ลุงตู่” ก่อหวอดกันโต้งๆ ทั้งฝ่ายตรงข้ามและอดีตแนวร่วม

แต่จุดที่ผู้นำรัฐบาลและทีม คสช.กำลัง “นั่งไม่ติด” ก็คือ

“ไซเบอร์วอร์” ที่ขุมข่ายฝ่ายต้านรัฐบาลทหารกำลังเปิดแนวรบสงครามโซเชียลฯถล่มทีม “ลุงตู่” แบบปูพรมขึงพืด

อัพข้อมูลด้านลบ โหมถล่มรัฐบาลกันแบบนาทีต่อนาที

โดยที่หน่วยข่าวทหารตามแกะรอยได้ว่า รายการนี้ใช้ทีมมืออาชีพของบริษัทเอเจนซีฯชื่อดังในเครือธุรกิจของ “นายใหญ่” เป็นฝ่ายวางยุทธการเดินกระแสกันเลย

และแน่นอน จุดหมายก็ต้องมุ่งไปที่เป้าสำคัญ

ตามสถานการณ์ล่าสุด “จอมยุทธ์กวง” นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ กัปตันทีมเศรษฐกิจ ต้องนั่งไม่ติด เมื่อเจอโพสต์ร้อนๆ

บนเพจต้านรัฐบาลของขุมข่าย “นายใหญ่”

ตัดต่อภาพเข้มๆของกัปตันทีมเศรษฐกิจ ประกอบกับข้อความเสียดแทงใจคนจน “คนจนเองไม่ควรนั่งเฉยๆรอรัฐบาลมาช่วย ควรต้องพลิกจิตใจให้เป็นคนต่อสู้ ให้มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”

อ้างอิงเป็นบทปาฐกถาบนเวทีสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจเมื่อไม่นานนี้

แต่เมื่อนายสมคิดรีบให้ทีมงานถอดคำพูดคำต่อคำมาดู แล้วก็พบว่าของจริงอยู่ตรงประโยค “Poverty Materiallity คืออุปสรรคสำคัญที่หยุดกั้นไม่ให้คนจนพัฒนาความคิดที่ว่า ฉันจน ฉันเกิดมามีกรรม เราต้องขจัดความคิดนี้ให้หมด ต้องสร้างให้เขามีจิตใจพร้อมจะต่อสู้ มีความฮึกเหิม ต้องยึดหลักว่า เราจะไม่นิ่งเฉย รอให้รัฐบาลมาช่วย หน้าที่ของรัฐบาลคือไปช่วยเขาให้ยกระดับขึ้นมา”

แค่บิดนิดเดียว จาก “เชียร์แขก” เปลี่ยนเป็น “เรียกแขก” เลย

นี่คือเหลี่ยมเขี้ยว สถานการณ์แหลมๆเสียวๆ ที่ “ลุงตู่” กับ “เฮียกวง” ต้องเผชิญนับแต่นี้ไป

โดยเฉพาะภายหลังรัฐบาลเดินหน้าอัดฉีดมาตรการช่วยคนจน เพิ่มเงินสวัสดิการช่วยผู้มีรายได้น้อยเป็นคนละ 300–500 บาท กวาดแต้ม “มัดจำ” 11 ล้านคะแนนเสียงที่ลงทะเบียนคนจนไว้

ตามรูปการณ์เข้าฟอร์ม “การเมืองไทยนิยม”

ถ้าปล่อย “สมคิด” ไหลลื่น จะยิ่งเอา “ลุงตู่” ไม่อยู่.

ทีมข่าวการเมือง

'นาฬิกาหรู' พิสูจน์ปปช. ที่พึ่งสังคมหรือ 'คสช.'

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน
2 ชม.
'นาฬิกาหรู' พิสูจน์ปปช. ที่พึ่งสังคมหรือ 'คสช.'
- - สำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ - -
คอลัมน์ บนความเคลื่อนไหว
ไม่เฉพาะเรื่องโรดแมพเลือกตั้ง หรือ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะลอยข้ามคูหากาบัตรเข้ามานั่งเป็นนายกฯ คนนอกหรือไม่ ยังมีเรื่องนาฬิกาหรูและแหวนเพชรเม็ดเป้ง ของ บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่สังคมยังคงรอความชัดเจน เพราะมันคาราคาซัง จนกองเชียร์คสช.เริ่มจะไม่ไหวกับพฤติกรรม "บิ๊กคสช." คนนี้
แทนที่เมื่อเรื่องแดงขึ้น จะออกมาแถลงไขให้ความกระจ่าง แต่กลับสงบปากสงบคำ พยายามไม่พูดถึงซักแอะ คงกะว่าถ้า ไม่พูดซะอย่าง เรื่องมันจะไปต่อได้ซักกี่น้ำ งานนี้ไม่รู้ว่า "บิ๊กป้อม" ไปฟังคำแนะนำใครมา หรือ ปิ๊งไอเดียนี้ขึ้นมาเอง แทนที่เรื่องจะเงียบ ภาพทางโซเชียลมีเดียกลับกระหน่ำขุดนาฬิกาหรูที่บิ๊กป้อมสวมใส่ ในวาระต่างๆ มานำเสนอ รวมๆ แล้วกว่า 20 เรือน และเมื่อเจอ นักข่าวซักเรื่องนี้เข้า ก็พาวงแตกทุกที
ก็ไม่เข้าใจ ถ้า "บิ๊กป้อม" เป็นเจ้าของนาฬิกา หรือแบกหน้าไปยืมใครเขามาใส่เสริมบารมีจริง ทำไมถึงเป็นเรื่องยากเย็นที่จะชี้แจง ทั้งที่เป็นเรื่องของตัวเองทั้งนั้น
หรือทั้งแหวนและนาฬิกา "บิ๊กป้อม" ได้มาโดยมิชอบ มีใครมาประเคนเพื่อหวังแลกเปลี่ยนอะไรจากผู้มีอำนาจอย่างนั้นหรือไม่ หรือเจ้าตัวอาจจะควักกระเป๋าซื้อเอง แต่เหตุใด จึงไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อป.ป.ช.???
แน่นอน ป.ป.ช. ย่อมลำบากใจเป็นธรรมดา ที่ต้องเข้ามาเกี่ยวเรื่องนี้ ทางหนึ่งความกดดันจาก ผู้มีอำนาจ ยิ่งมีเบอร์1 อย่าง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ นั่งประธานป.ป.ช. แถมเป็นลูกน้องของคนที่มีปัญหาเรื่องนาฬิกาอยู่ด้วย
อีกทางหนึ่งสังคมก็จับตาสปิริตป.ป.ช. จะทำเรื่องนี้ให้แจ่มแจ้งแค่ไหน
เรื่องแบบนี้ ป.ป.ช. รู้ดีว่าต้องทำอย่างไร จะทำตัวให้เป็นที่ยอมรับของผู้มีอำนาจ หรือทำตัวให้เป็นที่ยอมรับของสังคม ต้องชั่งน้ำหนักให้ดี
จะเลือกใช้หลักการมารองรับผู้มีอำนาจ หรือจะใช้หลักการเพื่อหลักการ ขจัดความไม่โปร่งใส ไม่ถูกต้องชอบธรรม ว่ากันอย่างตรงไปตรงมา ไม่ลูบหน้าปะจมูก เมื่อนั้น ป.ป.ช.จะเป็นที่พึ่งของสังคมได้ แต่ถ้าป.ป.ช. เลือกจะเป็น ที่พึ่งของผู้มีอำนาจ คำครหาที่ว่า ป.ป.ช. เลือกอุ้มคนบางพวก จ้องขยี้คนอีกพวก ก็ไม่ต่างกับการเป็นองค์กรหรือเป็นลูกมือของผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะกับ คสช. ...

‘บิ๊กป้อม’รับแล้ว! นาฬิกาหรูเพื่อนเอามาให้ใส่ คืนหมดแล้ว ถ้าปปช.ชี้ผิด พร้อมลาออก

‘บิ๊กป้อม’รับแล้ว! นาฬิกาหรูเพื่อนเอามาให้ใส่ คืนหมดแล้ว ถ้าปปช.ชี้ผิด พร้อมลาออก


“บิ๊กป้อม” ลั่น พร้อมลาออกหาก ป.ป.ช.ชี้ผิดปมนาฬิกาหรู แจงมีเพื่อนเอามาให้ใส่ คืนให้เขาครบหมดทุกเรือนแล้ว

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 16 มกราคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากากรระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีเพจซีเอสไอแอลเอเปิดเผยภาพนาฬิกาหรูถึง 24 เรือนว่า “เป็นการวนเอาเรือนเก่าออกมา ไม่เป็นไรขอให้ทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบ ถ้าชี้ผมผิด ผมก็ออก และการทำงานของ ป.ป.ช.ไม่สามารถไปแทรกแซงได้ เพราะป.ป.ช.มีการดำเนินการตามขั้นตอนของเขา คงต้องรอให้เขาตรวจสอบให้เสร็จสิ้น และผมชี้แจง ป.ป.ช.ไปแล้ว”

เมื่อถามว่า มีการออกมาเปิดเผยเช่นนี้รู้สึกอารมณ์เสียหรือเสียความรู้สึกหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า “ไม่นอยด์ สภาพจิตใจไม่มีอะไร”


เมื่อถามอีกว่า ปกติเป็นคนชอบสะสมนาฬิกาใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า “ผมไม่มีหรอก ผมมีเพื่อน เพื่อนเอามาให้ผมใส่ แค่นั้นเอง และก็คืนเขาทั้งหมดทุกเรือน

เมื่อถามย้ำว่าที่มีและชอบจริงๆ มีกี่เรือน พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า “ไม่ขอพูดแล้ว

เมื่อถามถึงมีการระบุถึงหุ้นนาฬิกา พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า “ไม่มี ไปเอาที่ไหนมา”

เมื่อถามถึงกรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ระบุ หากชี้แจงเรื่องดังกล่าวไม่ชัดเจน จะกระทบกับภาพลักษณ์นายกฯ และรัฐบาล พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ก็พูดกันไป จะพูดอย่างไรก็พูดได้