PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2557

สถานการณ์ข่าว 14ต.ค.2557

สปช.

"พล.อ.เลิศรัตน์" ปัดแสดงความเห็น ลต. นายกฯ โดยตรง มอง "เทียนฉาย" เหมาะ ปธ.สปช. คาด ร่างข้อบังคับ 1 ด. เสร็จ

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดเผยสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า โครงสร้างทางการเมือง เป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการปฏิรูป แต่มองว่ายังเร็วเกินไปที่จะแสดงความเห็น
เรื่องการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง ซึ่งต้องใช้เวลาออกแบบรูปแบบทางการเมืองของประเทศไทย ให้เดินหน้าไปด้วยความปรองดอง ส่วนบุคคลที่จะมาเป็นประธานนั้น ต้องเป็นคนที่มีความรับผิดชอบ รอบรู้ เด็ดขาด เป็นผู้นำ และต้องเป็นที่ยอมรับ โดยมองว่า นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ก็มีความเหมาะสม

ขณะที่ กรอบเวลา 1 ปี ค่อนข้างจำกัด แต่ไม่กดดัน ซึ่งเป็นงานที่ต้องทำร่วมกัน ฟังเสียงรอบข้าง เพราะการปฏิรูปคือการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นบนความยอมรับของทุกฝ่าย ส่วนข้อบังคับการประชุม สปช. คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ในการร่าง

อย่างไรก็ตาม พล.อ.เลิศรัตน์ สมัครมาในด้านพลังงาน และเห็นว่าความมั่นคงของพลังงานไทยในอนาคต เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องรูปธรรม มีราคาที่เหมาะสม เพราะมีผลกระทบในหลายด้าน ทั้งนี้ จะ
ได้อยู่ด้านดังกล่าวหรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับการแบ่งกรรมาธิการด้วย
----------
"เอนก" มอง ปธ.สปช. ต้องเป็นที่ยอมรับ ด้าน "ธวัชชัย" จ่อเสนอ กม.คอร์รัปชั่น ไม่มีหมดอายุความ ห้ามเล่นการเมืองตลอดชีวิต

ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านการเมือง กล่าวอภิปรายในหัวข้อ “จาก 14 ตุลา 16 ถึงการปฏิรูปใหญ่ประเทศไทย” ว่า สำหรับการปฏิรูปต้องมีการปฏิรูปตนเองด้วยเช่นกัน และประธาน สปช. ต้องเป็นบุคคลที่เป็นที่ยอมรับของทุกคน เข้มงวดตนเอง และให้อภัยผู้อื่น นอกจากนี้ หลังจากเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ สปช. จะต้องมีการพูดคุยเรื่องยุทธศาสตร์การปฏิรูปแบบองค์รวม

ขณะที่ ดร.ธวัชชัย ยงกิตติกุล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านเศรษฐกิจ มองว่า กรอบระยะเวลาในการทำงานจะต้องทำให้สำเร็จภายใน 1 ปีตามที่ได้กำหนดไว้ พร้อมเสนอกฎหมายการคอร์รัปชั่นต้องไม่มีอายุความ รวมถึงบุคคลที่เคยมีความผิดฐานคอร์รัปชั่น ต้องห้ามเล่นการเมืองตลอดชีวิต รวมถึงเสนอรัฐบาลเพิ่มงบประมาณให้กับคณะกรรมการป้องกันและปราบกรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ทั้งนี้ ในระหว่างการอภิปราย ได้มีนักศึกษาเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ปฏิรูปในส่วนของการปฏิรูปกองทัพอีกด้วย
------------
"กิติพงศ์" รายงานตัว สปช. คนที่ 10 ของวันนี้ ขณะวิป สนช. เริ่มพิจารณาถอดถอน "นิคม - สมศักดิ์" แล้ว

บรรยากาศที่รัฐสภา ล่าสุด มีสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มารายงานตัวต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 10 คน โดย นายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ สมาชิก สปช. ลำดับที่ 10 มาเป็นคนที่ 10 ซึ่งขณะนี้ มีสมาชิก สปช. มารายงานตัวทั้ง 7 วัน รวมเป็น 246 คน จากจำนวน 250 คน ซึ่งเหลือสมาชิก สปช. ที่ยังไม่ได้เดินทางมารายงานตัวอีกเพียง 4 คน

ขณะที่ การประชุมคณะกรรมาธิการกิจการ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ วิป สนช. ได้เริ่มแล้ว พร้อมพิจารณาถอดถอน นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์
อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ออกจากตำแหน่ง ซึ่งประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นผู้เสนอให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มอบหมายให้พิจารณา
----------
"วิทยากร" ปาฐกถา 14 ตุลา แนะ เลือกนายกฯ ครม. โดยตรง มอง ผู้แทนราษฎร ไม่ควรทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร

รศ.วิทยากร เชียงกุล คณบดีกิตติคุณวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวปาฐกถางานรำลึก 41 ปี 14 ตุลา 2557 ในหัวข้อ “ขบวนการประชาชน ปัญหา และทางออกของประเทศไทย”
ตอนหนึ่ง ว่า สำหรับประชาธิปไตยแบบตัวแทน ขอเสนอแนะให้ควรเลือกนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีโดยตรง ส่วนผู้แทนราษฎรควรเลือก 2 รอบ เพื่อให้ได้ผู้ชนะที่มีคะแนนเสียงมากกว่า
ร้อยละ 50 รวมถึงควรมีการเลือกผู้แทนจากกลุ่มอาชีพทำงานร่วมกับผู้แทนจากท้องที่ ทั้งนี้ ผู้แทนควรทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติเพียงอย่างเดียว และไม่ทำหน้าที่ในฝ่ายบริหาร
--
"วิทยากร" มอง 14 ตุลา ทำให้ ปชต. ตื่นตัว ขณะการปฏิรูปประเทศ ต้องเริ่มจากตัวเอง เปิดกว้างรับฟัง  

รศ.วิทยากร เชียงกูล คณบดีกิตติคุณวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวปาฐกถางานลำรึก 41 ปี 14 ตุลาคม 2557 ในหัวข้อ “ขบวนการประชาชน ปัญหา และทางออกของประเทศไทย” ตอนหนึ่งว่า ขบวนการ 14 ตุลา ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้าในบางเรื่องเช่นการตื่นตัวในระบอบประชาธิปไตย แม้คณะทหารจะทำรัฐประหารยึดอำนาจได้หลายครั้งแต่มักอยู่ได้แค่ระยะสั้น ๆ

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ 14 ตุลา ทำลายการผู้ขาดอำนาจของทหารได้ระดับหนึ่ง แต่กลายเป็นการเปิดช่องทางให้ชนชั้นนำอื่น ๆ เช่น นายทุน ข้าราชการระดับสูงเข้ามามีอำนาจแทน ชนชั้นนำเหล่านี้ยอมรับระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาเป็นเครื่องมือในการจัดสรรแบ่งปันอำนาจ

สำหรับแนวทางการปฏิรูปประเทศไทย ประชาชนเริ่มจากการปฏิรูปตนเอง หากรับฟังอย่างใจกว้าง เปลี่ยนวิธีคิดแบบ 2 ขั้วสุดโต่ง ไม่ควรเข้าข้างชนชั้นนำกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งด้วยอารมณ์ ศรัทธาแบบ
คับแคบ แต่ควรหาข้อมมูลเชิงประจักษ์ อย่างจำแนกเป็นเรื่อง ๆ
---------------
"คำนูณ" อภิปรายงาน 14 ตุลา หวังปฏิรูป 1 ปี ขจัดอำนาจนักการเมืองกลุ่มทุน ยัน ทำหน้าที่ สปช. ให้ดีที่สุด

นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านกฎหมาย การอภิปราย หัวข้อ “จาก 14 ตุลา 16 ถึงการปฏิรูปใหญ่ประเทศไทย” ว่า วันนี้ประเทศไทย มีการตั้งคำถามและกำลังถกเถียงว่าอะไรคือประชาธิปไตย และพยายามหาคำตอบร่วมกัน ซึ่งตั้งแต่ในรัฐธรรมนูญมีการบัญญัติว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต้องสังกัดพรรคการเมือง และต้องปฏิบัติตามมติพรรคการเมือง ไม่เช่นนั้น หากพรรคการเมืองถูกขับออกจากพรรคการเมืองจะทำให้พ้นสภาพความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และบทบัญญัติที่ว่า นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงคิดว่าบทบัญญัติดังกล่าวได้ทำลายสิทธิทางการเลือกตั้ง และสิทธิการสมัคร ส.ส. ซึ่งไม่แตกต่างจากการคัดสรรผู้แทนให้เข้ามาให้ประชาชนเลือกเช่นเดียวกับประเทศจีน และฮ่องกง

ดังนั้น มีความหวังว่า ภายในระยะเวลาการปฏิรูป 1 ปี ต้องขจัดอำนาจนักการเมืองกลุ่มทุน ขจัดการผู้ขาดอำนาจไว้ที่อำนาจรัฐส่วนกลาง เช่น การปฏิรูปตำรวจ และกระจายอำนาจการปกครอง อย่างไรก็ตาม แม้ไม่มั่นใจว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ แต่หวังว่าสภาปฏิรูปแห่งชาติจะทำให้ดีที่สุด
-------------
"เอนก" มอง สปช. ไม่ควรเป็นอาชีพทางการเมืองเพื่อหาโอกาสและผลประโยชน์ ขอใช้เหตุ 14 ตุลา เป็นบทเรียน

นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านการเมือง กล่าวอภิปรายในหัวข้อ “จาก 14 ตุลา 16 ถึงการปฏิรูปใหญ่ประเทศไทย” ว่า สปช. ต้องนำจิตวิญญาณของเหตุการณ์ 14 ตุลา มาใช้เป็นบทเรียน และ สปช. ไม่ควรเป็นอาชีพทางการเมืองเพื่อหาโอกาสและผลประโยชน์ รวมถึงการนำความทรงจำที่เกี่ยวกับ 14 ตุลาใช้และเชิญชวนประชาชนทั้งประเทศ ให้ลดความรู้สึกขมขื่นและลดการวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ว่าการปฏิรูปจะล้มเหลว โดยต้องมีการพูดคุยกับหลายฝ่ายให้มากที่สุด ซึ่งจะต้องทำงานอย่างรวดเร็วและรอบคอบ ดังนั้น คิดว่าหากทำได้เพียงร้อยละ 25 จากเหตุการณ์ 14 ตุลา ถือว่าสามารถทำได้ดีมาก
----------
"มานิจ" เผย สปช. เป็นโอกาสที่ดีในการแก้ปัญหา หวัง ปชช. ช่วยผลักดันปฏิรูป แสดงความเห็น ตรวจสอบการทำงานสื่อ

นายมานิจ สุขสมจิตร สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านสื่อมวลชน กล่าวอภิปรายในหัวข้อ “จาก 14 ตุลา 16 ถึงการปฏิรูปใหญ่ประเทศไทย” ว่า ที่ผ่านมา ในประเทศไทย ประชาธิปไตยที่แท้จริงไม่ได้เกิดขึ้นเลย ซึ่งเมื่อมีสภาปฏิรูปฯ ถือเป็นโอกาสที่ดีในการแก้ปัญหาด้านต่าง ๆ ทั้งการศึกษา เศรษฐกิจ ระบบทุนนิยม ระบบราชการ โดยเฉพาะด้านสื่อสารมวลชน ที่รัฐต้องไม่ใช้ภาษีอากรของประชาชนมาซื้อสื่อมวลชนและทำให้สื่อขาดเสถียรภาพจนทำให้ประชาชนขาดโอกาสและสิทธิในการรับรู้

ดังนั้น จึงหวังว่าประชาชนที่มีความสำคัญโดยตรงต้องช่วยผลักดันและแสดงความคิดความเห็น และช่วยกันตรวจสอบโดยเฉพาะการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน
---------------
สปช. "ธวัชชัย" เผย ศก. คอร์รัปชันมากสุด "คำนูณ" ฝากนายกฯ ชะลอเปิดสัมปทานปิโตรเลียม ด้าน "รสนา" ขอ ไร้ผูกขาดพลังงาน

ดร.ธวัชชัย ยงกิตติกุล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านเศรษฐกิจ กล่าวอภิปรายในหัวข้อ “จาก 14 ตุลา 16 ถึงการปฏิรูปใหญ่ประเทศไทย” ว่า ในด้านเศรษฐกิจประสบกับความทุจริตคอร์รัปชั่นมากที่สุด ดังนั้น จึงต้องมีการรวมตัวของเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น พร้อมเชื่อว่า หากมีกติกาชัดเจนภาคธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ นอกจากนี้คิดว่าปัญหาบ้านเมืองในขณะนี้ส่วนหนึ่งมาจากนักวิชาการ จึงมองว่าหากแก้ปัญหาไม่ได้ขออย่าทำให้เกิดปัญหา

ขณะที่ นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านกฎหมาย กล่าวว่า ขอฝากไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงการปฏิรูปพลังงาน ว่า ขอให้รอผลจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ
ก่อนเปิดการพิจารณาสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ด้าน นางสาวรสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านพลังงาน กล่าวว่า หวังว่าการปฏิรูปไม่ใช่ทำเพียงแค่สมาชิก สปช. จำนวน 250 คน ในสภา พร้อมเสนอยกเลิกระบบสัมปทาน แต่ขอให้ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต โดยต้องไม่มีการผูกขาดพลังงาน

///////////
"สุรชัย" เผย วันนี้เลือก สนช. 5 คน เป็น กมธ.ยกร่าง รธน. ขณะยังไม่เห็นสำนวนถอนถอด "ยิ่งลักษณ์" จาก ป.ป.ช.

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันนี้จะมีการนำเรื่องการคัดเลือกบุคคลในสัดส่วนของ สนช. 5 คน เพื่อเข้าไปดำรงตำแหน่งในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยจะต้องเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติที่มีความรู้ทางกฎหมาย คิดถึงผลประโยชน์ส่วนรวมและเสียสละต่อประเทศชาติส่วนกรณีการถอดถอน นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา ขณะนี้ยังไม่ทราบจะเรื่องนำเข้าสู่ที่ประชุมหรือไม่

นอกจากนี้ สำหรับกรณีการถอดถอน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จากกรณีโครงการรับจำนำข้าว ขณะนี้ ยังไม่เห็นสำนวนการถอดถอนจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่เผยจะส่งมายัง สนช. วันนี้
-----------
"พรเพชร" นำวิป สนช. ประชุมถอด "นิคม-สมศักดิ์" ก่อนเลือก กมธ.ยกร่าง รธน. ล่าสุด สปช. รายงานตัวแล้ว 247 คน 

บรรยากาศที่รัฐสภา ล่าสุด มีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ วิป สนช. ที่มี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยที่ประชุมมีวาระพิจารณากรณีการร้องขอให้ถอดถอน นายนิคม ไวยรัชพานิช ออกจากตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา และ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ออกจากตำแหน่ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามที่ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ เป็นผู้เสนอเรื่อง และประธาน สนช. มอบหมายให้พิจารณา

นอกจากนี้ ที่ประชุมจะหารือเรื่องการวางหลักเกณฑ์ที่จะให้ได้มาซึ่งบุคคลจากสมาชิก สนช. ที่จะเข้าไปทำหน้าที่ในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ขณะที่มีสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. มารายตัวแล้ว 11 คน รวม 247 คน จากทั้งหมด 250 คน และเหลือผู้ที่ยังไม่ได้มารายตัวเพียง 3 คน
------------
สนช. บรรจุวาระถอด "สมศักดิ์ - นิคม" 17 ต.ค. เปิดชื่อ กมธ.ยกร่าง รธน. 30 ต.ค. ขณะ สปช. รายงานแล้ว 248 คน

น.พ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะโฆษก วิป สนช. กล่าวถึงมติที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ วิป สนช. ว่า ให้บรรจุวาระถอดถอน นายนิคม ไวยรัชพานิช ออกจากตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ออกจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในกรณีกระทำผิดต่อหน้าที่ เข้าที่ประชุม สนช. ในวันศุกร์ที่ 17 ต.ค. นี้ โดยจะเปิดโอกาสให้สมาชิกเสนอญัตติว่า สนช. จะมีอำนาจในการถอดถอนหรือไม่ ตามความผิดที่เกิดตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ที่ถูกยกเลิกไปแล้ว ให้ขึ้นอยู่กับมติที่ประชุม

ส่วนการสรรหาคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะมีการประชุมก่อน โดยคัดจากบุคคลในและนอก สนช. ให้ได้รายชื่อในวันที่ 30 ต.ค. นี้  โดยขณะนี้ มี พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม แสดงความจำนงแล้ว

ขณะที่ล่าสุด การรายงานตัวของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ในวันที่ 7 มีสมาชิกมารายงานตัว 12 คน รวม 7 วัน 248 คน จาก 250 คน ทำให้ขณะนี้ มีสมาชิกที่ยังไม่ได้เดินทางมารายงานตัว 2 คน คือ นางทิชา ณ นคร ส่วน นายสุทัศน์ เศรษฐ์บุญสร้าง ซึ่งติดภารกิจที่ต่างประเทศ ได้แจ้งขอแสดงตนในวันที่ 18 ต.ค. 57
-------------
ป.ป.ช. เลื่อนพิจารณาถอด 39 ส.ว. ไป 16 ต.ค. พร้อมหารือ สปช. ยื่นทรัพย์สินหรือไม่ ยัน ส่งสำนวน "ยิ่งลักษณ์" ให้ สนช. แล้ว

นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในวันนี้ ไม่มีการพิจารณาสำนวนคดีถอดถอนสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 39 ราย กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมิชอบ ในประเด็นที่มาของวุฒิสภา เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่สามารถสรุปสำนวนคดีได้ทัน จึงขอเลื่อนการพิจารณาสำนวนคดีดังกล่าวในวันพฤหัสบดีที่ 16 ตุลาคมนี้ ซึ่งในวันเดียวกันนี้ คณะกรรมการจะพิจารณาว่าสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. หรือไม่

ส่วนสำนวนคดีถอดถอนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในกรณีไม่ละงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว นายปานเทพ เปิดเผยว่า ได้ส่งสำนวนคดีถอดถอนดังกล่าวไปให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อไปแล้ว เมื่อบ่ายที่ผ่านมา
///////////
ภารกิจนายกฯ

นายกรัฐมนตรี ขอชี้แจงกรณีไมโครโฟนแพง หลังประชุม ครม. ขณะ ก.มหาดไทย เตรียมรายงานจัดโซนนิ่งปลูกข้าว

การประชุมคณะรัฐมนตรี ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เป็นประธานการประชุมแล้ว โดยก่อนประชุม สื่อมวลชนได้สอบถามถึงความคืบหน้าการตรวจสอบกรณีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และชุดไมโครโฟนที่มีราคาแพง ในห้องประชุมคณะรัฐมนตรี ตึกบัญชาการ 1 ซึ่ง นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ขอชี้แจงภายหลังการประชุมเสร็จสิ้น ขณะเดียวกัน กระทรวงมหาดไทย จะรายงานความคืบหน้าข้อมูลพื้นที่การจัดโซนนิ่งการปลูกข้าวทั้งในและนอกระบบชลประทาน โดยจะเน้นปลูกข้าวคุณภาพดีราคาสูง ส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็จะนำรายงานข้อมูลพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งใน 2 ลุ่มน้ำหลัก คือ ลุ่มเจ้าพระยา และลุ่มน้ำแม่กลอง และเสนอแผนการขุดลอก คูคลอง แผนสร้างแหล่งน้ำรวมถึงแผนการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในส่วนของน้ำอุปโภคบริโภค
---------
นายกฯ ย้ำ รัฐธรรมนูญยึดตามโรดแมป ขอ สปช. เสนอความเห็นปฏิรูปในที่ประชุม ยัน อังกฤษไม่ติดใจคดีฆ่า 2 นักท่องเที่ยว 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. กล่าวว่า จะต้องมีรัฐธรรมนูญตามโรดแมปปฏิรูปที่วางไว้ ขณะเดียวกัน ได้ให้สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. แสดงความคิดเห็นให้น้อยลง โดยให้ไปเสนอความคิดเห็นเรื่องการปฏิรูปในที่ประชุม สปช.

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังยืนยันว่า ประเทศอังกฤษไม่ได้เรียกอุปทูตไทย ไปชี้แจงกรณีจับกุมผู้ต้องหาคดีเกาะเต่า แต่เจ้าหน้าที่ไทยได้เข้าชี้แจงเอง ซึ่งทางประเทศอังกฤษก็เข้าใจดี และไม่ได้ติดใจอะไร
เพราะการจับกุมเป็นไปตามหลักฐานและกระบวนการทางกฎหมาย ส่วนที่ตำรวจอังกฤษจะเข้ามาร่วมช่วยเหลือทางคดีนั้น ก็สามารถเข้ามาได้ แต่ต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพนอกอาณาเขตด้วย
-----------
"พล.อ.ประวิตร" ตั้ง "ถวิล" นั่งที่ปรึกษาส่วนตัว ยัน "พล.อ.อักษรา" เป็น หน.พูดคุยสันติสุข เดินหน้าทุ่งยางแดงโมเดล

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกระแสข่าวการแต่งตั้ง นายถวิล เปลี่ยนสี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มาดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะที่ปรึกษาด้านความมั่นคง ว่า ตนได้แต่งตั้งให้มาเป็นที่ปรึกษาส่วนตัว ซึ่งในส่วนหัวหน้าทีมพูดคุยสันติสุขยังคงเป็น พล.อ.อักษรา เกิดผล ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า จะนำทุ่งยางแดงโมเดล มาใช้ในทุกพื้นที่ของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพราะการนำประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมจะก่อให้เกิดสันติสุขที่ยั่งยืน ซึ่งภายหลังจากเกิดเหตุการณ์เผาโรงเรียนนั้น ยังไม่มีการเพิ่มเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด แค่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม
------------------
นายกฯ เผย ทุ่งยางแดงโมเดล เข้มปลอดภัย ตั้ง หน.สันติสุข หลังคุยมาเลย์ จ่อบินอิตาลีประชุมอาเซ็ม พร้อมหารือส่วนตัว 5 ปท.

พล.อประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. กล่าวถึงกรณีที่ทางหน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดตั้งทุ่งยางแดงโมเดล ภายหลังเกิดเหตุลอบเผาโรงเรียนใน จ.ปัตตานี ว่า เป็นมาตรการกวดขันการรักษาความปลอดภัยให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งไม่ใช่โมเดลใหม่แต่เป็นการปรับให้ทันต่อสถานการณ์ ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาจะต้องดำเนินการอย่างบูรณาการ ส่วนการกำหนดหัวหน้าชุดพูดคุยสันติสุขนั้น จะดำเนินการภายหลังเดินทางไปพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซีย

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับการเดินทางไปประชุมผู้นำเอเชียยุโรป หรือ อาเซ็ม ครั้งที่ 10 ที่สาธารณรัฐอิตาลี ระหว่างวันที่ 16-17 ตุลาคมนี้นั้น จะพูดถึงความร่วมมือของประชาคมโลก ด้านการค้าเศรษฐกิจ เรื่องสภาพแวดล้อม ความเปลี่ยนแปลงอุหภูมิโลก ความแห้งแล้งของทรัพยากรน้ำ ทั้งนี้ จะมีโอกาสเข้าหารือส่วนตัวกับต่างประเทศ 5 ประเทศด้วย
----------------
รมว.กห. เผย ดูภาพรวมสันติสุขใต้ ขณะเรื่องความปลอดภัย เป็นหน้าที่ ผบ.ทบ. ปัดข่าวมาเลย์ เลื่อนให้นายกฯ เยือน

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ยังไม่ลงไปติดตามสถานการณ์ในช่วงนี้ ซึ่งหน้าที่ในเรื่องของการดูแลความปลอดภัยนั้นเป็นหน้าที่ของผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ที่จะต้องไปติดตามในการให้ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งตนจะดูในภาพรวมในการขับเคลื่อนในการทำให้ภาคใต้เกิดสันติสุขในทุก ๆ ด้าน

นอกจากนี้ พล.อ.ประวิตร ปฏิเสธถึงกระแสข่าวที่ทางมาเลเซียขอเลื่อนไม่ให้นายกรัฐมนตรีเดินทางไปเยือนในขณะนี้ ว่าไม่เป็นความจริง เพราะเรื่องการไปเยือนต่างประเทศนั้น เป็นการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีที่จะไปชี้แจงยังต่างประเทศถึงสถานการณ์ของประเทศไทยและความต้องการของประชาชนชาวไทย
//////////
นายกฯ เร่งแก้ราคายางตก ยัน ช่วยชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ไร้ทุจริต ขณะผลสอบไมโครโฟนแพง ยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนการ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาควมมสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า การแก้ไขปัญเรื่องผลผลิตทางการเกษตรว่า การแก้ปัญหาเรื่องข้าวนั้นมีมาตรการเร่งด่วนรองรับ ซึ่งมาตรการให้เงินช่วยเหลือชาวนา 1,000 บาทต่อไร่ ต้องไม่มีการทุจริต ซึ่งหากมีการทุจริตต้องมีผู้รับผิดชอบ ทั้งนี้ ได้มีการตั้งรองนายกรัฐมนตรีดูแลมาตรการเร่งด่วนต่าง ๆ ไม่ให้มีการทุจริต

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้บังคับให้เกษตรกรเลิกทำนา ส่วนการแก้ไขปัญหาเรื่องยางพารานั้น ต้องมีการหมุนเวียนสต๊อกยางพารา และจะต้องมีการส่งเสริมทั้งของภาครัฐและประชาชน ขณะเดียวกันจะ
ดำเนินการพูดคุยกับต่างประเทศเพื่อมาซื้อยางพารา

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบราคาไมโครโฟน โดยระบุว่า ขณะนี้กระบวนตรวจสอบยังไม่แล้วเสร็จ โดยคณะกรรมการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ หรือ
คตร. ได้ส่งข้อมูลมาแล้ว แต่ยังเหลือในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. และสำนักคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ซึ่งจะต้อง
นำข้อมูลทั้ง 3 ส่วนมาประกอบกันเพื่อสรุปผลตรวจสอบอีกครั้ง
-----------
ครม. เห็นชอบออกกฎหมายควบคุมนำเข้าบารากุ - บุหรี่ไฟฟ้า ขณะเตรียมงดส่งน้ำปลูกข้าวนาปรัง รับมือน้ำแล้ง

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า เห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอให้กรมการค้าต่างประเทศออกกฎหมายควบคุมการนำเข้าบารากุ รวมไปถึงบารากุไฟฟ้า และบุหรี่ไฟฟ้า (อี-ซิกาแรต) ภายใต้ พ.ร.บ.นำเข้า-ส่งออกสินค้า พ.ศ. 2522 เนื่องจากปัจจุบันมีการเผยแพร่ การซื้อขายบุหรี่ไฟฟ้า และบรากุ ผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต ถือเป็นการเชิญชวนกลุ่มเยาวชน ดังนั้น คณะรัฐมนตรีจึงมีมติห้ามนำเข้ามาภายในราชอาณาจักร

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับเหล้าปั่น ซึ่งมีกฎหมายควบคุมอยู่แล้ว

นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบการรายงานสถานการณ์น้ำ ประจำปี 2557-2558 โดยคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้งดส่วน้ำปลูกข้าวนาปรัง ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง รวม 26 จังหวัด เนื่องจากมีปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนใหญ่น้อย และจะช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ
--------
นายกรัฐมนตรี ระบุ การเสนอร่าง พ.ร.บ.จัดเก็บภาษีมรดก ต้องพิจารณารอบคอบ มั่นใจ ผ่านกฎหมายนี้

พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษคามสงบแห่งชาติ หรือ คสช. กล่าวว่า กล่าวถึงความคืบหน้า การเสนอ ร่างพรบ.จัดเก็บภาษีมรดก เข้าสู่การพิจารณาของสนช. ว่าจะต้องมีการพิจารณาให้รอบด้านเพราะกฏหมายนี้ถือว่ามีความสำคัญกับคนทุกกลุ่ม แม้หลายรัฐบาลที่ผ่านมาการผลักดันจะไม่สำเร็จ แต่เชื่อว่าร่างพรบ.ฉบับนี้ จะผ่านความเห็นชอบจากสนช. แน่นอน ส่วนการแก้ปัญหาที่ดินทำกินให้กับผู้มีรายได้น้อย ได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคงดูแลเพื่อจัดสรรให้มีความเหมาะสมและถูกต้อง พร้อมวางโครงสร้างการจัดการใหม่ทั้งหมด
----
"ม.ล.ปนัดดา" เผย ตรวจข้าวในแล็บเสร็จ 15 ต.ค. นายกฯ กำชับทำงานเต็มรูปแบบ ขณะ ป.ป.ช. ยังไม่ประสานขอข้อมูล

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ เปิดเผยถึงความคืบหน้า การตรวจสอบคุณภาพข้าวจากห้องปฏิบัติการ ว่า มีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก ซึ่งล่าสุด ห้องแล็บของได้กระทรวงพาณิชย์ ขอตรวจทานครั้งสุดท้ายเพื่อจำแนกเกรดของข้าวให้ถูกต้อง โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 15 ตุลาคม และจะรายงานคณะกรรมการนโยบายและการบริหารจัดการข้าว (นบข.) และนายกรัฐมนตรี จากนั้นจะนำข้าวที่คัดแล้วที่มีคุณภาพเต็มร้อยนำมาจำหน่ายทั้งในและนอกประเทศ

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ทำรายงานแบบเต็มรูปแบบทุกขั้นตอนการทำงานเพื่อป้องกันความผิดพลาด ส่วนผลลัพธ์ตัวเลขความเสียหายจากปริมาณข้าว กระทรวงพาณิชย์ จะเป็นผู้รายงาน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ได้รับการประสานงานจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในการขอข้อมูลความเสียหายจากคุณภาพข้าวเพื่อนำไปประกอบคดีรับจำนำข้าว