PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2561

ผบ.สูงสุด" แจง ทหารหญิง ขอ รถ-ทหารไปขนย้ายบ้านส่วนตัว ไม่ผิด สามารถทำได้

ผบ.สูงสุด" แจง ทหารหญิง ขอ รถ-ทหารไปขนย้ายบ้านส่วนตัว ไม่ผิด สามารถทำได้ แต่ต้องออกค่าใช้จ่ายเอง เผย ส่วนราชการ-เอกชน สามารถขอรับการสนับสนุนจาก กองทัพได้
จากกรณี เพจ "กูต้องได้100ล้านจาก ทักษิณ แน่ๆ" นำเอกสารราชการ ทหารหญิงคนหนึ่ง สังกัดกองบัญชาการกองทัพไทย ขอสนับสนุน ยานพาหนะ น้ำมัน กำลังพล ขนย้ายบ้าน นั้น
พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าวว่า เอกสารนี้ ยังไม่ได้มีการปฏิบัติ ตามวันเวลาที่ระบุในเอกสาร
ซึ่งการดำเนินการจะมีระเบียบการขอสนับสนุน ที่ชัดเจนซึ่งปกติกองทัพก็มีระเบียบรองรับอยู่ ซึ่งก็ต้องดำเนินการตามระเบียบอย่าง
เช่น ในหน่วยงานด้วยกัน ส่วนราชการต่อส่วนราชการ หรือเอกชนต่อส่วนราชการ รวมทั้งข้าราชการของส่วนราชการ ซึ่งมีระเบียบชัดเจนอยู่แล้ว
สำหรับการปฏิบัติในระเบียบระบุเอาไว้ว่า ค่าใช้จ่าย ทั้งหมดผู้ขอรับการสนับสนุน เป็นผู้จ่ายเอง อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาเราก็ให้ความช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นในส่วนของราชการ หรือประชาชนที่เกิดภัยพิบัติเดือดร้อน เราก็ช่วยอยู่แล้วซึ่งก็มีค่าใช้จ่าย
"กำลังพล ที่ขอรับการช่วยเหลือจะต้องจ่ายค่าน้ำมันรถ และค่าแรงของกำลังพลที่ไปช่วยเหลือ ซึ่งจะมีเรต ค่าใช้จ่ายอยู่ ซึ่งคิดเป็นค่าสึกหรอ ตามอัตรา และเงินที่ได้มาก็จะส่งเข้าบูรณะทรัพย์สิน ต่อไป ถือเป็นระเบียบทางราชการที่ชัดเจน" พล.อ.ธารไชยยันต์ กล่าว

ขยาดดดดด "พลังดูด" นายกฯ

ขยาดดดดด "พลังดูด" นายกฯ
"บิ๊กเจี๊ยบ" ขยาด ตอบ "พลังดูด"นายกฯบิ๊กตู่" /ไม่ห่วงการชุมนุม "4ปีคสช.ขอสื่ออย่าตีข่าวใหญ่ กระทบภาพพจน์ เศรษฐกิจ ชี้ใช้กฎหมายเอาผิด ‘นักการเมือง’ กล่าวหาลอยๆไม่หลักฐาน หวั่นสังคมวุ่นวาย
พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. ไม่ตอบกรณี ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าใช้พลังดูดนักการเมือง โดยยกมือ แสดงว่า ไม่ตอบ
.
ส่วนกรณีการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองที่เริ่มเข้มข้นขึ้นในเดือนพ.ค.นี้ พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า ไม่มีอะไรที่น่าห่วงใย ซึ่งเรื่องความมั่นคงและการชุมนุมทางกองทัพก็มีแผนอยู่แล้ว แต่มองว่าการชุมนุมเป็นเรื่องการเรียกร้องของกลุ่มคนกลุ่มเดิมที่อยากเลือกตั้ง
ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนเรื่องสถานที่ จำนวนคน มีเวลาในการดูไปก่อน แต่ตนก็ไม่อยากให้สื่อตีไปว่าจะเป็นการชุมนุมใหญ่ เพราะจะเสียภาพด้านเศรษฐกิจและอื่นๆ ซึ่งจริงๆแล้วอาจไม่มีอะไรก็ได้ ก็เป็นกระบวนการทำต่อเนื่องมาตลอด ตั้งแต่ก่อนสงกรานต์ ไม่ต้องกังวล
ส่วนการออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองต่างๆในเวลานี้ ว่า ในปัจจุบันยังอยู่ในกรอบ ก็เป็นการแสดงความเห็นตามกระบวนการของนักการเมืองในแง่มุมต่าง ไม่มีปัญหาอะไร
.
พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวถึงการออกมาให้ข่าวของนักการเมืองที่ไม่มีหลักฐานเพียงพอนั้น จะต้องบังคับใช้กฎหมายหรือไม่ ว่า ก็ต้องดูว่าใครเสียหาย ก็แจ้งความดำเนินคดี ก็ต้องเป็นไปตามนั้น แต่บ้านเมืองจะต้องยืนอยู่บนข้อเท็จจริง การกล่าวหากันลอยๆ ไม่มีข้อเท็จจริง ก็ทำให้เกิดความสับสน วุ่นวาย

วิพากษ์ ม.44 แนะใช้ให้น้อย ระวังอนาคต-มีสิทธิโดนฟ้อง

วิพากษ์ ม.44 แนะใช้ให้น้อย ระวังอนาคต-มีสิทธิโดนฟ้อง


หมายเหตุ – ความคิดเห็นของนักวิชาการ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กลับมาใช้อำนาจตามมาตรา 44 แก้ปัญหาต่างๆ อีกครั้ง อาทิ ระงับการสรรหาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชุดใหม่ ช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลหลังจากไม่ใช้มาระยะหนึ่ง



ยอดพล เทพสิทธา

ยอดพล เทพสิทธา
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยนเรศวร

ผมมองว่าการใช้มาตรา 44 มาแก้ไขกฎหมายที่ตนเองร่างขึ้นมามันสะท้อนอะไรหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการร่างกฎหมายขึ้นมาจะผิดพลาดมากหรือน้อย พวกคุณก็มีอำนาจพิเศษอย่างมาตรา 44 มาใช้ค้ำหัวไว้ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จึงร่างกฎหมาย แบบขอไปที ทำให้จบๆ ไป มันทำให้กลไกร่างกฎหมายต่างๆ ขาดความรอบคอบ เมื่อมีปัญหาขึ้นมา เอะอะมีอะไรก็ใช้มาตรา44 ตลอด ขอยกตัวอย่างกรณีร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ว. ขึ้นมาพอรู้ว่าจะขัดรัฐธรรมนูญ ก็ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งการที่ทำแบบนี้มันคือ การเขียนด้วยมือลบด้วยเท้าตัวเองชัดๆ
ทั้งนี้ บางทีการออกกฎหมายมากก็ไม่ได้แปลว่ากฎหมายจะมีประสิทธิภาพมากนัก ถ้าเทียบกับสมัยมี ส.ส. แม้ว่าจะออกกฎหมายน้อย แต่มันใช้ได้จริง ก็จะมีคุณภาพมากกว่าปริมาณ
ขณะเดียวกันใช้อำนาจตรงนี้มาแก้ไขปัญหา และมันก็จะกระทบกับหลักความมั่นคงของกฎหมาย ใช้มาตรา 44 มายกเลิกกฎหมายฉบับนั้น กฎหมายฉบับนี้จะทำให้หลักดังกล่าวมันใช้ไม่ได้จริง ผลที่ตามมาก็คือวันนี้เรามีกฎหมายแบบนี้แล้วถ้าพรุ่งนี้ใช้มาตรา 44 ยกเลิก หลักความมั่นคงทางกฎหมายก็จะไม่มี ซ้ำร้ายประชาชนจะใช้อะไรเป็นหลักเป็นฐานไม่ได้เลย
ผมคิดว่ามาตรา 44 ขาดการควบคุม เป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจ ซึ่งจะมีผลเสียของมันอยู่แล้ว เราไม่สามารถฝากชีวิตฝากความหวังไว้กับคนคนเดียวได้เลย เพราะเราต้องเดาตามอารมณ์ว่าเขาจะดี หรือไม่ดี เราไม่รู้เลย อย่างเมื่อวานนายกฯยิ้มแป้นเลย เพราะได้พบกับศิลปินสาว BNK48 ฉะนั้นเราจะฝากความหวังไว้ที่คนคนเดียวไม่ได้
ดังนั้น ทางที่ดีควรจะกลับไปสู่ระบบปกติ สนช.ต้องทำหน้าที่ร่างกฎหมายด้วยความละเอียดรอบคอบ มากกว่านี้ ถ้าเป็นแบบนี้ได้ การใช้มาตรา 44 จะไม่มีความจำเป็นเลย เพราะมันไม่มีความจำเป็นตั้งแต่แรกอยู่แล้ว



ชาติชาย ณ เชียงใหม่
คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

การใช้มาตรา 44 ในเบื้องต้น ตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นการใช้อำนาจเพื่อแก้ปัญหาใน 2 สาเหตุคือ 1.ใช้อำนาจมาตรา 44 เพื่อแก้ปัญหาอุปสรรค หรือ ข้อจำกัดทางกฎหมาย อาทิ กฎหมายฉบับนั้นอาจเขียนให้มีการปฏิบัติได้ยาก หรือกฎหมายฉบับนั้น อาจเขียนไม่สัมพันธ์กับความทันสมัยในเทคโนโลยีปัจจุบัน และอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเมืองก็ต้องใช้อำนาจมาตรา 44 เข้ามาแก้ไขในส่วนนี้ และ 2.ใช้อำนาจมาตรา 44 เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคเรื่องข้อจำกัดทางพฤติกรรมของคน อาทิ กรณีทุจริตทางราชการ หรือ กรณีแต่งตั้งโยกย้าย เพื่อไม่ให้ภาครัฐและประเทศเสียหายในภาพรวมมากไปกว่านี้ คสช.ก็จะใช้มาตรา 44 เข้ามาออกคำสั่งเพื่อให้แก้ไขปัญหาได้เร็วขึ้น
อย่างไรก็ตาม การใช้มาตรา 44 จะต้องเป็นไปด้วยความจำเป็น ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ คสช. มีอำนาจก็จะใช้ แต่จะต้องใช้บังคับไม่ให้เกิดความเสียหายมากกว่า ต้องใช้เพื่อความจำเป็น และตรงต่อเงื่อนไขที่จะแก้ไขปัญหา
ส่วนกรณีล่าสุด ที่ คสช.ใช้มาตรา 44 หยุดระงับการสรรหา กสทช. นั้น ส่วนตัวเข้าใจว่า การสรรหานั้นอาจมีข้อจำกัด หรือ เงื่อนไขทางกฎหมาย เช่น คุณสมบัติในทางปฏิบัติที่อาจจะไม่ได้คนที่มีคุณสมบัติตามที่ต้องการจริงๆ คสช.จึงใช้อำนาจมาตรา 44 เพื่อเปิดโอกาสให้มีการร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์มากกว่าเดิม
ทั้งนี้ ถ้าถามว่าปัจจุบัน ตัวกฎหมายมีปัญหาหรือไม่นั้น ในทางทฤษฎีไม่มีกฎหมายใดที่เขียนได้สมบูรณ์แบบ หรือ เพอร์เฟกต์ กฎหมายทุกฉบับจะต้องมีอุปสรรค หรือ มีข้อผิดพลาดในตัวกฎหมายเองที่จะต้องไปเปลี่ยนแปลงกัน ไม่ว่าจะด้วยข้อจำกัดใดก็ตาม เพียงแต่ คสช.ในช่วงนี้อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน แล้วมาใช้มาตรา 44 ในทางกฎหมายเพื่ออุดรูรั่วของปัญหา ช่วยยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการสรรหา กสทช.
ดังนั้น คสช.จึงใช้มาตรา 44 ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ส่วนตัวถ้าถามว่าไม่ใช้มาตรา 44 เลยจะดีกว่าหรือไม่ ผมคิดว่าดีกว่าอยู่แล้ว แต่ปัญหามันก็มีข้อจำกัดในเรื่องของระยะเวลา สิ่งที่กังวลคือหากหมดยุคแล้วไม่มีมาตรา 44 สังคมไทยจะต้องเรียนรู้การออกกฎหมายที่ถูกต้องตามกระบวนการ
ผมเกรงว่าสังคมไทยจะเสพติดมาตรา 44 โดยเฉพาะกับผู้มีอำนาจ ทั้งที่คนไทยควรได้เรียนรู้กระบวนการออกกฎหมายตามปกติ มิเช่นนั้น เกรงว่าในอนาคตจะเกิดปัญหาที่จะทำให้ผู้คนไม่ปรับตัวเข้ากับกระบวนการแก้ปัญหาตามลำดับที่ถูกต้อง และหากเป็นไปในลักษณะนี้ก็จะไม่ดีต่อสังคมไทย ผมอยากให้ปล่อยให้เรื่องกฎหมายเป็นเรื่องของสังคมดำเนินการตามกระบวนการอย่างตรงไปตรงมามากกว่า



รศ.ยุทธพร อิสรชัย
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์
ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

มาตรา 44 เป็นหลักยกเว้นของกฎหมาย การใช้หลักยกเว้นต้องระมัดระวังอย่างมาก เพราะในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญบฉบับชั่วคราวปี 57 บัญญัติเอาไว้ว่า จะไม่มีความรับผิดทางอาญา ทางแพ่ง ทางปกครอง และเป็นการใช้อำนาจทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ถือได้ว่าเป็นอำนาจที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด และปราศจากการตรวจสอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะหลังจะเห็นว่าหลังจาก ม.44 ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ปี 60 แล้ว ยิ่งมีการใช้ ม.44 มากขึ้น
ส่วนใหญ่การใช้ ม.44 จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ดังนั้น ในกระบวนการเหล่านี้เป็นเรื่องทางปกครอง แต่ในทางตรงกันข้ามการตรวจสอบคำสั่งทางปกครองเหล่านี้กลับไม่สามารถทำได้ เพราะมี ม.44 ที่ถูกรับรองโดยรัฐธรรมนูญค้ำเอาไว้อยู่ ตรงนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่คิดว่าในอนาคตจะเกิดผลกระทบมาก
ในกรณี กสทช. และทีวีดิจิทัลจะเห็นว่า กสทช.ไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในเรื่องของการเลือก กสทช.ชุดใหม่ ดังนั้นการใช้ ม.44 ที่มากเกินไปและมาเกี่ยวข้องกับเรื่องสัมปทาน เกี่ยวข้องกับบรรดาทีวีดิจิทัล จะทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างตามมา
ตรงนี้อาจเกี่ยวข้องกับเรื่องการตั้งสเปกได้ เพราะคล้ายกับเรื่องของ กกต.ที่ไม่ผ่านเพราะกำหนดสเปกเทพ แม้จะมีสเปกเทพแล้ว กรรมการสรรหาก็พยายามที่จะหาคนให้ผ่านบรรดาคุณสมบัติเหล่านี้ขึ้นมา

แต่สุดท้ายก็ถูกคว่ำใน สนช. สะท้อนให้เห็นว่าแม้จะกำหนดสเปกเทพก็ไม่ได้ทำให้ทุกอย่างเดินไปอย่างราบรื่น และหลังจากนี้เชื่อว่าปัญหาเหล่านี้จะเกิดขึ้นอีกกับบรรดาองค์กรอิสระต่างๆ
ถามว่าจะทำให้เกิดการเสพติดการใช้ ม.44 ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ หรือไม่ สังคมไทยเรามีวัฒนธรรมทางการเมืองที่ชอบความรวดเร็ว ความเด็ดขาด เฉียบพลันในการแก้ปัญหาอย่างทันที ซึ่งนั่นไม่ใช่ทางออกอย่างแท้จริง
ทางออกที่แท้จริงคือการที่จะต้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ และไม่ส่งผลกระทบไปสู่อนาคต ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้เสพติดการแก้ปัญหาโดยใช้วิธีการแบบอำนาจนิยม คิดว่าถ้าเราต้องการเดินหน้าสู่สังคมประชาธิปไตยต้องปรับวิธีคิดเหล่านี้ใหม่
อย่างไรก็ตาม การใช้ ม.44 มีข้อดีคือ ทำให้เกิดความรวดเร็วในการแก้ปัญหา สามารถปลดล็อกปัญหาหลายๆ อย่างที่ติดขัดได้ แต่ข้อเสียคือ ม.44 เป็นข้อยกเว้นของตัวบทกฎหมาย เมื่อเป็นข้อยกเว้นและเป็นการใช้อำนาจที่ปราศจากการตรวจสอบ ซึ่งจะผิดหลักนิติธรรมในระยะยาว
การผิดหลักนิติธรรมเหล่านี้จะกระทบต่อความมั่นคงในหลักกฎหมาย และทำให้หลักกฎหมายปั่นป่วน
โดยมีข้อเสนอคือ ควรใช้ ม.44 ให้น้อยที่สุด หรือแทบจะไม่ควรใช้เลย เพราะเรามีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรอยู่แล้ว อำนาจเหล่านี้ต้องถูกใช้ในเรื่องที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น



พนัส ทัศนียานนท์
อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

มาตรา 44 ถือเป็นอาวุธ เป็นเครื่องมือการรัฐประหาร เมื่อยึดอำนาจเข้ามาแล้วและใช้มาตรานี้โดยใช้อำนาจแบบเด็ดขาด อีกทั้งมาตรานี้ไม่ผ่านการพิจารณาของสภา ไม่ผ่านการพิจารณาของประชาชน ไม่มีใครมีสิทธิเข้าไปตรวจสอบ แม้แต่แสดงความคิดเห็นก็ไม่ได้ หรือแสดงไปแล้วอาจไม่ฟังก็ได้
เพราะฉะนั้นนี่เป็นกฎหมายที่ออกมาในลักษณะเสี่ยง ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจใช้อำนาจสั่งการตามมาตรานี้ แม้จะมีคณะทำงานที่เป็นนักกฎหมายหรือผู้เชี่ยวชาญก็ตาม แต่การไม่ฟังเสียงใครเลย หรืออาจเลือกฟังเฉพาะบางคน บางกลุ่ม
อย่างในเรื่องนี้ที่ออกมาตรการช่วยอุ้มทีวีดิจิทัล คำถามคือ การช่วยอุ้มทีวีดิจิทัลนั้นอุ้มอย่างไร ใช้เงินด้วยหรือไม่ ถ้าใช้เงินก็เอาภาษีอากรไปอุ้มใช่ไหม กลายเป็นว่าประกอบธุรกิจที่ไม่ประสบความสำเร็จ เกิดความล้มเหลว คนไทยทั้งประเทศต้องช่วยกันอุ้มหรือไม่
เพราะฉะนั้นในประเด็นนี้ไม่มีใครมีโอกาสไปแสดงความเห็นหรือคัดค้าน นี่ไม่ได้เป็นประเด็นว่าเขาใช้อำนาจ ม.44 แบบพร่ำเพรื่อหรือไม่ เพราะประเด็นพร่ำเพรื่อคิดว่าไม่ใช่ประเด็นที่แท้จริง แต่ที่แท้จริงคือมาตราที่นำมาใช้นี้ไม่เหมาะสมอยู่แล้ว
คิดว่าเขามีกฎหมายอยู่แล้ว คือกฎหมายของ กสทช.เอง แต่อาจมีปัญหาตรงที่กฎหมายที่มีอยู่เข้าไปช่วยอุ้มไม่ได้ ถ้าอุ้มก็ผิดหลัก เพราะคุณประมูลเข้ามา เข้ามาทำแล้วธุรกิจไม่เป็นอย่างที่วางแผนไว้ ประสบความล้มเหลว แล้วให้รัฐบาลอุ้ม
เพราะฉะนั้นการใช้ ม.44 เข้าใจได้เลยว่ากฎหมายปกติเท่าที่มีอยู่ช่วยอุ้มไม่ได้ แล้วการเข้าไปอุ้มนั้นถูกต้องหรือไม่ ในเมื่ออุ้มแล้วภาระตกอยู่กับใคร รัฐบาล ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ ก็สามารถเข้าไปอุ้มใครต่อใครก็ได้ ทุกเรื่องที่ทำอ้างว่าใช้อำนาจของตัวเอง แต่ความจริงแล้วใครเป็นคนจ่ายเงิน ส่วนตัวคิดว่าไม่ถูกต้องมาตั้งแต่แรก
ไม่ได้มอง ม.44 ในแง่ร้ายทั้งหมด ข้อดีอาจอยู่ที่นำมาใช้ในความจำเป็นเร่งด่วน เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศชาติ ซึ่งถ้าไม่รีบจัดการแล้วอาจล่มสลายขึ้นทันทีทันใด อาจใช้มาตรการอะไรบางอย่าง ซึ่งถ้าใช้มาตรการตามวิถีทางปกติอาจช้าไม่ทันการณ์ มันดีตรงนี้เท่านั้น
แต่คำถามคือปัญหาของทีวีดิจิทัลเป็นปัญหาของประเทศชาติแค่ไหนอย่างไร เรื่องที่สรรหามา กสทช.มาแล้ว แต่คุณสมบัติไม่เพียงพอนั้น ถามว่าผู้สรรหาเลือกมาได้อย่างไร ปัญหาน่าจะอยู่ตรงที่ผู้สรรหาเข้ามาไม่ได้สเปกตามที่ผู้มีอำนาจต้องการหรือไม่
กรณีการสรรหาเข้ามาแล้วคนที่ได้รับการสรรหามาไม่มีคุณสมบัติเพียงพอ คิดว่าเรื่องนี้กรรมการสรรหาถือเป็นผู้กระทำความผิดด้วย คุณไปสรรหาคนที่ไม่มีคุณสมบัติตามกฎหมายเข้ามาได้อย่างไร
ถามว่าหากบ้านเมืองเป็นปกติ ผู้ได้รับผลกระทบจาก ม.44 สามารถฟ้องกลับได้ไหม มองจากสภาพการณ์ที่เป็นในปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการนิรโทษเรียบร้อยแล้ว เขาจะใช้อำนาจอย่างไรก็ไม่ถือว่าเป็นความผิด ซึ่งเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญเช่นนั้น
หากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังบังคับใช้ต่อไป ใครจะฟ้องเขา เขาก็อ้างรัฐธรรมนูญขึ้นมาได้ว่าที่กระทำไปนั้นเป็นไปโดยชอบทุกอย่าง ไม่ได้ทำอะไรผิด ฟ้องร้องไม่ได้
แต่ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญขึ้น มีการลบล้างผลพวงของการรัฐประหารเหมือนที่พรรคอนาคตใหม่เสนอ ถ้าสิ่งนั้นสามารถทำได้ และมีการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา มีบทบัญญัติให้ลบล้างผลพวงรัฐประหารด้วย นั่นคงฟ้องร้องได้
แต่ที่สำคัญคือต้องมีการลบล้างผลพวงรัฐประหารให้หมดเสียก่อน แต่รัฐธรรมนูญใหม่จะเกิดขึ้นได้อย่างไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

พุทธะอิสระ ถามบิ๊กตู่ ‘มุ่งกวาดต้อนคนพาลมาเป็นพวก แล้วจะต่างอะไรกับทักษิณ’

พุทธะอิสระ ถามบิ๊กตู่ ‘มุ่งกวาดต้อนคนพาลมาเป็นพวก แล้วจะต่างอะไรกับทักษิณ’


พุทธะอิสระ อดีตเจ้าอาวาสวัดอ้อน้อยและแกนนำกปปส. โพสต์ข้อความทางเฟสบุ๊กแสดงความเห็นกรณีรัฐบาลนำนักการเมือง มาช่วยงาน โดยระบุว่า มีประชาชนบ่นว่าทำให้รัฐบาลเสียภาพลักษณ์
“เขาต่างบ่นให้ฟังด้วยความเป็นห่วงเป็นใยภาพลักษณ์ของรัฐบาล คสช. และหลวงพ่อประยุทธ์ จันทร์โอชาว่า “จักไปเข้าทางคนพาลเสียแหละกระมั่ง” หากคิดว่าการจะชนะการเลือกตั้ง แล้วกลับมามีอำนาจได้ต้องกวาดต้อนคนพาลให้เข้ามาเป็นพวก เช่นนั้นมันจะต่างอะไรกับนายทักษิณ ที่สมัยตั้งพรรคใหม่ๆ มีคนเคยทักท้วงว่า ผู้ที่นายทักษิณไปชวนมาร่วมพรรค ส่วนใหญ่มีพฤติกรรมไม่ต่างอะไรกับมหาโจร เป็นคนพาลทั้งนั้น จำได้ว่า นายทักษิณพูดว่า หากคบกับโจร ใช้โจร แล้วทำให้ชนะการเลือกตั้งได้ ก็ถือว่าคุ้ม อะไรประมาณนี้แหละ เหมือนกับคำพูดของประธานเหมาของจีนที่ว่า แมวถ้าจับหนูได้ ไม่ว่าจะเป็นแมวสีอะไรก็ล้วนมีประโยชน์ทั้งนั้น หรือว่าคำพูดเหล่านี้ คสช. จักยืมมาใช้เพื่อสืบทอดอำนาจด้วยการไปกวาดคนพาลมาเข้าฝูง” พุทธะอิสระ ระบุว่า
และว่า “ขอบอกว่า พวกเราไม่ได้เชื่อนายทักษิณ พวกเราคนไทยไม่ได้เชื่อประธานเหมา แต่พวกเราเชื่อพระพุทธเจ้า ที่ทรงสอนเอาไว้ว่า อย่าคบคนพาล จงคบแต่บัณฑิต ทั้งยังทรงสำทับอีกว่า “การคบคนพาล นั่นเท่ากับว่าการคบศัตรู” เวลานี้คนไทยไม่ได้โง่เหมือนแต่เก่าแล้ว คนไทยส่วนใหญ่รู้ตื่น จากอำนาจมืดของคนพาลแล้ว ฉะนั้น แม้บริวารหรือคนรอบข้างของหลวงพ่อประยุทธ์ จักเที่ยวไปกวาดต้อนบรรดานักการเมืองที่มีประวัติทั้งที่พอจะรับได้ และเลวจนถึงขนาดคนได้ยินชื่อก็สะอิดสะเอียน เอาเข้ามาอยู่ในก๊วนการเมืองของคนใกล้ชิด คสช. และใกล้ชิดหลวงพ่อประยุทธ์เพื่อชนะการเลือกตั้ง แล้วไอ้ที่หลวงพ่อประยุทธ์เทศน์ เอาไว้เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เรื่อง หิริ ความละอายชั่ว โอตัปปะ ความเกรงกลัวบาปล่ะมันมิอาจนำมาใช้กับการเลือกคนเข้าพรรคดอกหรือ”พุทธะอิสระ กล่าว

‘รสช.’ กับ ‘คสช.’ บทเรียน สามัคคีธรรม และ ‘พลังดูด’

‘รสช.’ กับ ‘คสช.’ บทเรียน สามัคคีธรรม และ ‘พลังดูด’


ถามว่าเหตุปัจจัยอันใดทำให้ความพยายามต่อท่ออำนาจของ “รสช.” ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2535 ไม่ประสบความสำเร็จ
คำตอบ 1 เพราะว่า “ชาวบ้าน” รับไม่ได้
เหมือนกับประเด็นที่ว่าชาวบ้านรับไม่ได้นั้นจะรวมศูนย์ไปอยู่ที่ข้ออ้างในการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของผู้นำรสช.
คือยอม “เสียสัตย์เพื่อชาติ”
อาจเป็นเช่นนั้น แต่ในที่สุดแล้วกรณี “ยอมเสียสัตย์เพื่อชาติ” เสมอเป็นเพียงปลายบนสุดของยอดภูเขาน้ำแข็ง
แต่อีกคำตอบ 1 คือ รูปของการจัดตั้ง “พรรค” เพื่อสืบทอด “อำนาจ”
จะเข้าใจประเด็นนี้จะมองเพียง “พรรคสามัคคีธรรม” ไม่ได้ จำเป็นต้องมองไปยัง “พรรคชาติไทย” จำเป็นต้องมองไปยัง “พรรคกิจสังคม” ประกอบด้วย
ขณะเดียวกัน ก็ต้องนึกถึง “ประกาศ รสช.ฉบับที่ 42″
หากเทียบสัดส่วนการประณามหยามเหยียดต่อ “นักการเมือง” ระหว่าง รสช.กับ “คสช.” ต้องยอมรับว่า คสช.เฉียบขาดมากกว่า
เพราะยึดกุมหลัก “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง”
เพราะรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 สืบทอดไม่เพียงแต่ความเฉียบขาดของ “กปปส.” หากแต่ยังสืบทอดความเฉียบขาดของ “พันธมิตร” ประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 ด้วย
นั่นก็คือ ฟาดกระหน่ำ “นักการเมือง” เข้าเต็มพิกัด
รสช.อาจไม่ได้ออกแอ๊กชั่นแบบนี้ แต่หากดูประกาศ รสช.ฉบับที่ 42 ในการตรวจสอบทรัพย์สินของนักการเมืองแล้วก็ต้องยอมรับว่าเป็นมาตรการ “เด็ดหัว” นักการเมือง
ถึงกับตั้ง พล.อ.สิทธิ จิรโรจน์ มาเป็นประธานตรวจสอบ

แต่เอาเข้าจริงๆ ชาวบ้านก็ค่อยๆ รับรู้เป็นลำดับว่า รสช.มิได้เอาจริง หากแต่เสมอทำเพื่อนำไปสู่แนวทางอย่างที่รับรู้กันในแวดวงนักเลงว่า “ตีเมืองขึ้น”
ความมาแตกเอาเมื่อหลังการเลือกตั้งบรรดาพรรคการเมืองที่นำโดย “พรรคสามัคคีธรรม” อันถือว่าเป็นพรรคของรสช.นั่นแหละเป็นแกนนำ
แกนนำในการรวมกับพรรคชาติไทย พรรจกิจสังคม
ฟอร์มรัฐบาลขึ้นมาแล้วก็ไปเชิญคนสำคัญของ รสช.ให้ลาออกจากตำแหน่งทางทหารเข้าดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี
เท่านั้นแหละกระแส “ต้าน” ก็เกิดขึ้น
เริ่มจาก ร.ต.ฉลาด วรฉัตร ประท้วงด้วยการอดอาหาร ตามมาด้วย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคพลังธรรม
นั่นแหละคือที่มาแห่งการเคลื่อนไหวเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535
นั่นแหละคือที่มาแห่งการแบ่งพรรคการเมืองออกเป็น 2 กลุ่มขนาดใหญ่ นั่นก็คือ 1 พรรคเทพ และ 1 พรรคมาร
พรรคใดเป็นเทพ พรรคใดเป็นมารก็รู้ๆ กันอยู่
ปฏิบัติการ “ดูด” จากทำเนียบรัฐบาลไปยังคนของพรรคประชาธิปัตย์ไปยังคนของพรรคพลังชล จึงนำไปสู่นัยประหวัดถึงพรรคสามัคคีธรรม
พรรคสามัคคีธรรม อันถือเป็น “พรรคมาร”
ทำไมจึงเป็นพรรคมาร หาก นายสกลธี ภัททิยกุล อธิบายไม่ได้ หาก นายสนธยา คุณปลื้ม นายอิทธิพล คุณปลื้ม อธิบายไม่ได้
สามารถใช้บริการของพรรคประชาธิปัตย์ได้

เรื่องนี้จบเร็ว

เรื่องนี้จบเร็ว



ไม่มีไฟย่อมไม่มีควัน ไม่มีใบสั่ง ก็ไม่มีล้มกระดาน
ควันหลงใบสั่งล้มกระดาน “ว่าที่ กรรมการ กสทช.ชุดใหม่” ที่ผ่านการสรรหารอบแรกจำนวน 14 คน ส่งให้ที่ประชุม สนช.ลงมติคัดเลือกให้เหลือ 7 คน
แต่แทนที่ สนช.จะลงมติคัดเลือก 14 คนให้เหลือ กสทช. 7 คนตามกติกา
ที่ประชุม สนช.กลับแหกกติกา มีมติโละทิ้งยกเข่งผู้ผ่านการสรรหาทั้ง 14 คน
โดยอ้างเหตุผลกำปั้นทุบดินว่ามีผู้ที่ผ่านการสรรหา 8 คนขาดคุณสมบัติมีลักษณะต้องห้าม และมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมที่จะได้รับการคัดเลือกเป็น กสทช.??
ดังนั้น ที่ประชุม สนช.ลากตั้งจึงมีมติด้วยคะแนน 118 เสียงต่อ 25 เสียง ให้ล้มกระดานการสรรหา กสทช.ทั้งหมด 14 คน
โยนกลับไปให้เริ่มต้นการสรรหา กสทช.ใหม่ซ้ำอีกที
“แม่ลูกจันทร์” กราบเรียนว่าการ ที่ สนช.ลากตั้งโหวตล้มกระดานการสรรหา กสทช.ชุดใหม่โดยไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าผู้ที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติจากคณะกรรมการสรรหามาแล้ว 8 คน จาก 14 คน ขาดคุณสมบัติตรงไหน? และมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมอย่างไร??
ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติอย่างแรง
ประกอบกับมีไอ้โม่งปล่อย “คลิปหลุด” อ้างชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ว่าไม่แฮปปี้โผรายชื่อว่าที่ กสทช. ที่ผ่านการสรรหาทั้ง 14 คน??
ยิ่งเพิ่มความน่าสงสัยว่าจะมีใบสั่งให้ สนช.ลากตั้งล้มกระดานอย่างที่ลือกัน
ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี และ หน.คสช. จึงต้องใช้อำนาจพิเศษ ม.44 เพื่อตัดไฟแต่ต้นลม โดยมีสาระสำคัญ 3 ประเด็น
1,สั่งยกเลิกกระบวนการสรรหา กสทช.ชุดที่โดนที่ประชุม สนช.ลากตั้งล้มกระดาน
2,สั่งระงับการสรรหา กสทช.ชุดใหม่ไม่มีกำหนด จนกว่า หน.คสช.จะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
3,สั่งต่อวีซ่าให้กรรมการ กสทช.ชุดเดิมปฏิบัติหน้าที่ไปก่อน จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
“แม่ลูกจันทร์” ชี้ว่า คำสั่ง คสช.ม.44 ฉบับนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการล้มกระดานการสรรหา กสทช.
ไม่ต้องเริ่มต้นกระบวนการสรรหา กสทช.ใหม่ให้ยุ่งยากสับสนวุ่นวาย
ส่วนการใช้อำนาจ ม.44 สั่งยกเลิกการสรรหา กสทช.ซ้ำอีกดอก เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ผ่านการสรรหา 14 คน ไปร้องศาลปกครองว่าได้รับความเสียหาย และสูญเสียโอกาสที่จะได้ดำรงตำแหน่ง กสทช.
และประเด็นสุดท้าย เพื่อลบล้างความผิดให้ สนช.ลากตั้งที่ร่วมกันลงมติฝ่าฝืน พ.ร.บ.กสทช.
“แม่ลูกจันทร์” ย้ำว่า พ.ร.บ.กสทช. กำหนดให้ที่ประชุม สนช.มีหน้าที่ลง มติคัดเลือกผู้ผ่านการสรรหา 14 คน ให้เหลือ 7 คน
ดังนั้น การที่ สนช.ปฏิเสธไม่ลงมติคัดเลือกผู้ผ่านการสรรหาเป็น กสทช.
แถมยังร่วมกันล้มกระดานการสรรหา กสทช. ยกเข่งทั้ง 14 คน จึง เป็นเจตนาฝ่าฝืนมาตรา 16 และ 17 ของ พ.ร.บ.กสทช.
แต่คำสั่ง คสช.ฉบับนี้จะช่วยลบล้างความผิดให้ สนช.ที่ทั้ง 118 คน ที่ร่วมกันล้มกระดานยกเข่งทันที
ใครจะเอาประเด็นนี้ไปฟ้องศาลไม่ได้อีกต่อไป
แบบนี้ก็จบข่าวน่ะซีโยม.
"แม่ลูกจันทร์"

ปมแฝง 'เครื่องดูดฝุ่น'

ปมแฝง 'เครื่องดูดฝุ่น'



ตบปาก ไม่ให้ด่าตีกินฟรีกันง่ายๆอีกต่อไป
จับอาการที่ “นายกฯลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. สั่งให้ฝ่ายกฎหมายไล่เช็กบิล “แจ็คผู้ฆ่าลุงกำนัน” นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เจ้าสำนัก “ข่าวไม่ได้กรอง” โทษฐานที่ปูดตัวเลขกลมๆ 40,000 ล้านบาท ทุนตั้งพรรคทหาร
ตามพฤติการณ์สะสมชอบตีปี๊บปมทุจริตกระแทกรัฐบาล ตีกินแล้วก็เงียบหายไป
ยิ่งในจังหวะที่นายวัชระโผล่มาร่วมแห่ ตามขบวนที่ “เดอะมาร์ค” นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กำลังเดินหน้านำลูกหาบปั่นกระแสดูด ผลิตวาทกรรม “ตกเขียว” เขย่าพรรคการเมืองใหม่
สไตล์ยี่ห้อประชาธิปัตย์ที่ถนัดเตะตัดขา “เจาะยาง” คู่แข่งที่จะมาแย่งพื้นที่
งานนี้ถ้า “ลุงตู่” ยอมเป็นเป้านิ่ง ไม่ตอบโต้อะไรก็เท่ากับยอมรับสภาพที่ทีม “อภิสิทธิ์” ป้ายสีให้ สุดท้ายก็ติดเนื้อล้างไม่ออก สังคมเชื่อตามลมปากช่างทาสียี่ห้อประชาธิปัตย์
ฟอร์มเดิมพรรคทหารใช้เงิน อำนาจ กวาดต้อน ส.ส.ไปสู่จุดจบไม่สวย
“ลุงตู่” เป็นมวยพอที่จะเด้งเชือกออกจากมุม
อีกจุดที่แฝงอยู่ในคำพูดคมๆของ “นายกฯลุงตู่” ที่สวนหมัด “อภิสิทธิ์” เลยว่า ไม่ใช่เครื่อง “ดูดฝุ่น”
โดยนัยนั่นหมายถึงไม่ดูดขยะปฏิกูล ของโสโครกโสมม
อารมณ์เหมือนจงใจเปรียบกับนักการเมืองน้ำเน่าพันธุ์เก่า ไม่เอามาสังฆกรรม
และในคราวเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ก็แบะท่าเปิดทางเป็นนัย พร้อมดึงนักการเมืองน้ำดี ที่แสดงบทบาทว่าจะร่วมกันพัฒนาประเทศ ทำเพื่อประเทศชาติ
เพื่อโอกาสเดินหน้าปฏิรูป ไม่ทำการเมืองแบบเดิมๆ
เสริมกับปรากฏการณ์ที่แต่งตั้งนายสนธยา คุณปลื้ม หัวหน้าพรรคพลังชล เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เพราะเจ้าตัวอาสาใช้ความชำนาญในพื้นที่ภาคตะวันออกช่วยประสานโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เมกะโปรเจกต์เรือธงของ
รัฐบาล
สถานการณ์บ่งชี้ “ลุงตู่” ฉลาดพอที่จะไม่ย่ำรอยเดิมไปสู่จุดตาย
แม้โดยรูปเกมมันยังวนอยู่ในระบบนิเวศการเมืองแบบไทยๆที่หนีไม่พ้นระบบอุปถัมภ์
เงื่อนไขบังคับการก่อกำเนิดป้อมค่ายการเมืองใหม่ จำเป็นต้องพึ่งนักการเมืองเก่าที่เป็นเจ้าของพื้นที่ เพื่อเป็นหลักประกันแต้มชัวร์ไม่ให้วืดเป้าจั่วลม
ต้องเดินหมากตามทฤษฎีขนมชั้นของ “ทักษิณ ชินวัตร”
แบบที่ไม่มีการบอกปัดบ้านใหญ่นครปฐม ตระกูลสะสมทรัพย์ที่ถูกทาบร่วมทีมหนุน “ลุงตู่”
ในอารมณ์อย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์พูดเป็นทำนองออกตัว นักการเมืองหลายคนอาจอยากทำความดี แต่มันทำดีไม่ได้ ท้ายที่สุดถูกนโยบายพรรค ถูกอะไรต่างๆมันทำให้เขาต้องเปลี่ยนแปลง เลยเสียไปหมด
นี่คือจุดที่หัวหน้า คสช.พยายามสะท้อนจุดแตกต่าง
เปิดทางให้ตัวเองเป็นเชิงต้องอาศัยกระบวนการเข้าสู่อำนาจแบบวังวนเดิมๆ
หักมุมจากอดีตที่ทำนักการเมืองผิดเพี้ยนไป เพราะหัวขบวนอาศัยเหลี่ยมการเมือง สร้างฐานอำนาจเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจกินรวบประเทศไทย นักเลือกตั้งอาชีพกลายสภาพเป็นลูกจ้างบริษัทไม่กล้าหืออือ
เพราะกลัวโดนไล่ออกหมดอนาคต
หัวหด จำใจต้องทำตามใบสั่ง ผิดเป็นถูก ถูกเป็นผิด เหตุที่มาทำให้การเมืองวิกฤติ
นักการเมืองจึงถูกเหมาเป็นผู้ร้าย
แต่ถึงวันนี้ “ลุงตู่” เปิดโอกาสให้กลับตัวกลับใจ เปิดทางให้นักการเมืองออกจากบริษัทจำกัด กลับมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย เป้าหมายเพื่อการปฏิรูปประเทศ
ล็อกกรอบให้การเมืองกลับมาอยู่ในร่องในรอย
โดยที่ “ลุงตู่” ไม่มีเหลี่ยมแฝงผลประโยชน์ทางธุรกิจ กินรวบประเทศไทย
แต่นั่นก็หมายเหตุไว้ เลือกเฟ้นเอาเฉพาะน้ำดี พวกที่ยังพอกลับตัวกลับใจได้
ส่วนพวกตัวแสบที่กู่ไม่กลับแล้ว ก็ไม่เสี่ยงเอามาสังฆกรรมให้โดนด่า
ตามเงื่อนไขสถานการณ์ที่เปิดให้ขยับแข้งขยับขา ปล่อยให้
โชว์หน้าโชว์ตา ออกฤทธิ์ออกเดชกันเต็มที่ ใครถือหางฝั่งไหน ใครซ่า ห้าวเป้งยังไง
หน่วยสแกนท็อปบูต “ล็อกเป้า” ไว้หมดแล้ว
แนวโน้มอันดับแรก พวกที่มีแผล มีชนักปักหลัง ติดคดีความอาญา คดีเลือกตั้ง คดีทุจริตคอร์รัปชัน และยังแสดงตัวแสดงตนเป็นกองกำลังสำคัญของ “นายใหญ่”
รอลุ้นเป็นผู้โชคดีทางบ้านได้ มีของแจกแน่.

ทีมข่าวการเมือง

ยังไง ก็หนุน "บิ๊กตู่"!

ยังไง ก็หนุน "บิ๊กตู่"!
"ผบ.สูงสุด"นำแผงผบ.เหล่าทัพ ยัน เสียงหนักแน่น หนุน "บิ๊กตู่" แม้จะลงเล่นการเมือง-ตั้งพรรค ไม่หวั่น ถูกใช้เครื่องมือหาเสียง ยัน กองทัพ หนุนรัฐบาลมาตลอด แล้วแต่มุมมอง/พร้อมรับมือ ม็อบ 4 ปี คสช.
พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ให้สัมภาษณ์ถึง การดูแลสถานการณ์การบ้านเมือง ภายหลัง จะมีการชุมนุมที่จะเกิดขึ้น ครบรอบ4ปี คสช.ในเดือนพฤษภาคมนี้ว่า คงจะดูแลตามขอบเขตและอำนาจหน้าที่ ซึ่ง
หน่วยงานต่างๆได้เตรียมแผนการรองรับไว้แล้ว
ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุมจะมีการปักหลัก ค้างคืนนั้น ช่วงครบรอบ 4 ปีในการยึดอำนาจของ คสช.นั้น เราคงใช้กฎหมายเป็นหลัก พร้อมด้วยการพูดจาหารือทำความเข้าใจ ถึงขั้นตอนในการดำเนินการ และคิดว่า ที่ผ่านมาคงได้มีการพูดคุยกันไว้บ้างแล้ว
เมื่อถามถึง บทบาทของกองทัพหลังพลเอกประยุทธ์ มีท่าทีจะเล่นการเมือง พล.อ.ธารไชยยันต์ กล่าวว่า แน่นอน ทางกองทัพก็ยังเป็นเครื่องมือ ของรัฐบาลอยู่แล้ว การสนับสนุนรัฐบาลเป็นหน้าที่หลักของกองทัพ
เมื่อถามย้ำว่า บทบาทของ พล.อ.ประยุทธ์ เริ่มชัดเจนในการลงเล่นการเมืองเพราะมีการดึงตัวอดีตนักการเมืองเข้ามาร่วมทำงานกับรัฐบาล กองทัพยังคงสนับสนุนอยู่หรือไม่ พล.อ.ธารไชยยันต์ กล่าวว่า เรายังสนับสนุนรัฐบาลและผู้นำรัฐบาลอยู่
เมื่อถามว่า หลังเกษียณจะเห็นผู้บัญชาการเหล่าทัพชุดนี้ร่วมพรรคทหารหรือไม่ ว่า ทุกอย่างเป็นเรื่องของอนาคต แต่ส่วนในความคิดส่วนตัว คงไม่เกี่ยว ซึ่งตนก็คงจะมีหน้าที่บทบาทในเรื่องของสนช.แค่นั้น
เมื่อถามอีกว่า กองทัพต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง จะรักษาจุดนี้ไว้อย่างไร พล.อ.ธารไชยยันต์ กล่าวว่า การปฏิบัติงานของทหาร สนับสนุนงานตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งปกติจะมีแผนล่วงหน้าที่ชัดเจนอยู่แล้ว เราก็จะดำเนินการไป
ส่วนนโยบายที่เพิ่มเติมหรือปัญหาเฉพาะหน้า เช่นการช่วยเหลือประชาชน หรือสิ่งที่เกิดขึ้นทันทีทันใด เราก็มีแผนงาน แผนเผชิญเหตุรองรับ ซึ่งภาพรวมใหญ่ๆกองทัพปฏิบัติตามแผนและนโยบาย ที่วางไว้
ส่วนที่ฝ่ายการเมืองมองว่า พล.อ.ประยุทธ์ ใช้กองทัพเป็นเครื่องมือในการหาเสียงนั้น ผบ.สูงสุด กล่าวว่า คิดว่าแล้วแต่คนมอง ซึ่งปกติตั้งแต่ดำเนินการมา ตนก็ทำอย่างนี้มาโดยตลอด ส่วนใครจะคิดอย่างไรเป็นเรื่องของมุมมอง ของแต่ละคน

ปราม ลูกน้อง !!

ปราม ลูกน้อง !!
"บิ๊กเจี๊ยบ"เผย ปราม ทหารภาคใต้ตอนบน อย่าเอี่ยวค้ามนุษย์ -ผู้มีอิทธิพล หลังได้ข้อมูลมา แต่ยังไม่ชี้ชัด ระบุ หากมีมูล จะเอาผิดตามกฎหมาย ยันไม่เกี่ยวเครือข่าย "พลโทมนัส คงแป้น"

พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบทบ./รองผอ.รมน. กล่าวถึงกรณีที่ได้ไปประชุม ที่ กองกำลังเทพสตรี จ.ระนอง สัปดาห์ที่แล้ว
กำชับทหารในภาคใต้ตอนบน ไม่ให้เกี่ยวข้องผลประโยชน์ และผู้มีอิทธิพลว่า พื้นที่นี้ มีปัญหาเรื่องแรงงานเยอะ ผมจึงอยากให้ทหารในพื้นที่ระมัดระวัง
"ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐาน ชัดเจน แต่มีข่าวว่าอาจมีทหารเข้าไปเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์เท่านั้น ผมจึงไปปรามลูกน้อง ซึ่งยัง ไม่รู้ว่าใช่ คนนี้ คนนั้น หรือไม่ เพราะยังไม่มีข้อมูล"

เมื่อถามว่า เป็นข้อมูลเดียว กับที่ พลเอกประยุทธ์ นายกฯ มีอยู่ใช่ หรือไม่ พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า ตนไม่ทราบ หากเราพบข้อมูลจริงๆ เราต้องดำเนินการตามกฎหมาย
เมื่อถามอีกว่า เกี่ยวข้องกับเครือข่ายเดิมของพล.ท.มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก ที่ถูกจับกุมคดีค้ามนุษย์ หรือไม่ ผบ.ทบ. กล่าวว่า ในพื้นที่ตรงนั้นมีปัญหาแรงงาน ปัญหาการหลบหนีเข้าเมือง และเรื่องธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ตนก็ต้องไปปรามลูกน้อง ให้ระมัดระวังในเรื่องเหล่านี้ เพราะได้ข่าวมาว่ามี แต่ไม่เกี่ยวกับพล.ท.มนัส เพราะเป็นเรื่องอดีต

ตบเท้าเข้า"พรรคบิ๊กตู่"หลังเกษียณ กันมั้ย??

ตบเท้าเข้า"พรรคบิ๊กตู่"หลังเกษียณ กันมั้ย??
"บิ๊กต๊อก" ปัดตอบ ผบ.เหล่าทัพ ตบเท้าเข้า"พรรคบิ๊กตู่"หลังเกษียณ มั้ย เปรย "ทุกอย่างเป็นเรื่องของอนาคต" คาด คงเป็นแค่ สนช.
เมื่อถูกถามว่า หลังเกษียณ ตค.นี้ ผบ.เหล่าทัพชุดนี้ จะไปร่วมพรรคทหาร ของ พลเอกประยุทธ์ หรือไม่
"ยังไม่ได้คิด ทุกอย่างเป็นเรื่องของอนาคต " บิ๊กต๊อก พลเอกธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ผบ.ทหารสูงสุด กล่าว
ทั้งนี้ ทั้ง พลเอกธารไชยยันต์ และ บิ๊กเจี๊ยบ พลเอกเฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. บิ๊กนุ้ย พลเรือเอก นริส ประทุมสุวรรณ ผบ.ทร. และ บิ๊กจอม พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ผบ.ทอ. จะเกษีบณราชการ 30 กย.2561 นี้ พร้อมกัน
"แต่ส่วนในความคิดส่วนตัว คงไม่เกี่ยว ซึ่งผม ก็คงจะมีหน้าที่บทบาทในเรื่องของสนช แค่นั้น"พลเอกธารไชยยันต์ กล่าว

ทหาร พร้อมรับมือ ม็อบ "4 ปี คสช."เชื่อคุยกันได้!!


"บิ๊กต๊อก"พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าวถึง การดูแลสถานการณ์การบ้านเมือง ภายหลัง จะมีการชุมนุมที่จะเกิดขึ้น ครบรอบ4ปี คสช.ในเดือนพฤษภาคมนี้ว่า คงจะดูแลตามขอบเขตและอำนาจหน้าที่ ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ได้เตรียมแผนการรองรับไว้แล้ว
ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุมจะมีการปักหลัก ค้างคืนนั้น ช่วงครบรอบ 4 ปี ในการยึดอำนาจของ คสช.นั้น เราคงใช้กฎหมายเป็นหลัก พร้อมด้วยการพูดจาหารือทำความเข้าใจ ถึงขั้นตอนในการดำเนินการ และคิดว่า ที่ผ่านมาคงได้มีการพูดคุยกันไว้บ้างแล้ว

คำพูด ไม่สำคัญ เท่าพยานหลักฐาน

คำพูด ไม่สำคัญ เท่าพยานหลักฐาน
"ศรีวราห์" ไม่สน"เปรมชัย" บอก ไม่ได้ฆ่าเสือดำ ยันพนักงานสอบสวนยึดตามพยานหลักฐาน และการร้องทุกข์ของกรมอุทยานฯ ทุกอย่างสิ้นสุดที่ศาล ลั่น"นามสกุล ไม่มีผล "นามสกุล ไม่ได้ระบุไว้ในกฎหมาย กฎหมายระบุไว้ว่า คุณทำผิด หรือ ทำถูก"

จากกรณีที่ นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด ตอบคำถามผู้ถือหุ้น ระหว่างการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2561 ว่า ไม่ได้เป็นคนฆ่าเสือดำ และล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฯ
พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพรามณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) กล่าวว่า สำนวนของพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจ ได้สรุปความเห็นส่งพนักงานอัยการไปแล้ว ว่าร่วมกันดำเนินการ ซึ่งทางพนักงานอัยการมีความเห็นฟ้องแล้วเรื่องการล่าสัตว์ป่า
ดังนั้น กระบวนการยุติธรรมต้องไปสิ้นสุดกันที่ศาล ไม่ว่านายเปรมชัยจะยืนยันตนเองอย่างไร
ส่วนตัวก็ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่มีพยานหลักฐาน ก็ต้องดำเนินการไปตามนั้น
ส่วนกรณีที่สังคมโซเชียลตั้งข้อสงสัย หลังจากนายเปรมชัย ยืนยันในที่ประชุมผู้ถือหุ้นว่าไม่ได้ฆ่าเสือดำ และอาจจะหลุดคดีนั้น ขอสังคมอย่าคิดแทนอัยการ อย่าคิดแทนศาล
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีข้อสังเกตว่า ตำรวจจะหยิบประเด็นเล็กน้อยมาดำเนินการแทนประเด็นการล่าสัตว์ พล.ต.อ.ศรีวราห์ กล่าวว่า ทุกประเด็นเป็นเรื่องที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร้องทุกข์มา เราก็ต้องดำเนินการสอบสวนให้ครบถ้วนตามที่เขาร้องทุกข์มา จะเล็กน้อย จะใหญ่แค่ไหน มันไม่เกี่ยว เพราะมันเกี่ยวว่าจะผิด หรือไม่ผิดมากกว่า
เมื่อถามย้ำว่า ขณะนี้กลายเป็นว่านามสกุลของนายเปรมชัย จะมีผลต่อกระบวนการยุติธรรม พล.ต.อ.ศรีวราห์ กล่าวว่า นามสกุล ไม่ได้ระบุไว้ในกฎหมาย กฎหมายระบุไว้ว่า คุณทำผิด ทำถูกหรือไม่ ซึ่งพนักงานสอบสวนยืนยันว่า เรารวบรวมหลักฐานและพิจารณาไปตามกฎหมายบ้านเมือง ขอย้ำว่าเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ

รอง ผบ.ตร. กล่าวด้วยว่า ส่วนความเห็นแย้งที่ส่งให้อัยการสูงสุด ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานว่ามีความเห็นอย่างไร เบื้องต้น ทราบเพียงว่าคณะกรรมการอยู่ในการพิจารณายังไม่เสร็จสิ้น ตามขั้นตอนถ้าอัยการสูงสุดมีความเห็นอย่างไร ก็ถือว่าเป็นที่สิ้นสุด
ส่วนสำนวนคดีการติดสินบนเจ้าพนักงาน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่อัยการศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 7 กำลังพิจารณา ตนขอยืนยันเช่นเดิมว่า มีความมั่นใจในสำนวนคดีร้อยเปอร์เซ็นต์