PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2558

จับซี3ฆ่าสามีให้ปค.ช่วยปลอมชื่อประวัต หลบหนีคดี

จับอดีตขรก.สาวใหญ่ซี3 หนีคดีฆ่าสามีนาน 9 ปี ทำบัตรปชช.ปลอมอำพรางตัว
Cr:ผู้จัดการ
ชุดสืบสวน บช.น.จับกุมสาวใหญ่อดีตข้าราชการมหาดไทยซี 3 ก่อคดียิงอดีตสามีทนายความเสียชีวิตเมื่อปี 49 ก่อนหลบหนีการประตัวในชั้นศาล สารภาพหลังหลบหนี ได้รับการช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่กรมการปกครองทำบัตรประชาชนปลอม เพื่อใช้ทำธุรกรรมทางการเงิน

วันนี้ (19 ต.ค.) เมื่อเวลา 11.00 น.ที่กองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล(บก.สส.บช.น.) พ.ต.อ.สุนทรเกียรติ คล้ายกรุต ผกก.สส.1 บก.สส.บช.น. พ.ต.ท.ธนกฤต กนิษฐกุล รอง ผกก.สส.1 บก.สส.บช.น. พ.ต.ท.ธิติพงษ์ สียา สว.สส.1 บก.สส.บช.น. พ.ต.ท.ชุมพล แสนวิชัย สว.สส.1 บก.สส.บช.น. ร.ต.ท.สุกิจ เพชรนิล รอง สว.สส.1 บก.สส.บช.น. ร่วมกันจับกุมตัว นางศิรินทิพย์ จิตต์แก้ว หรือเจริญสกุลวณิชย์ หรือ น.ส.นวินดา นนท์ธีระสมบัติ อายุ 59 ปี อดีตเจ้าหน้าที่แผนกพัสดุกองคลัง กรมการปกครองมหาดไทย ซี 3 โดยสามารถจับกุมได้บริเวณปากซอยคู้บอน 7 ถนนคู้บอน แขวงรามอินทราเขตคันนายาว กทม. เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม เวลา 22.00 น. ที่ผ่านมา

การจับกุมครั้งนี้สืบเนื่องจาก ชุดจับกุมได้ออกสืบสวนติดตามจับกุมตัว นางศิรินทิพย์ ตามหมายจับศาลจังหวัดนนทบุรีที่ 134/2549 ลงวันที่ 10 พ.ค. 49 ในข้อหาความผิดต่อชีวิต ซึ่งจากการสืบสวนทราบว่าตั้งแต่ปี 49 นางศิรินทิพย์ ไม่เคยทำธุรกรรมใดๆ ซึ่งค่อนข้างผิดปกติ กระทั่งชุดสืบสวนไปพบเบาะแสสำคัญมีรถยนต์ต้องสงสัยว่าเป็นรถของนางศิรินทิพย์ เมื่อตรวจสอบชื่อเจ้าของรถพบว่าใช้ชื่อน.ส.นวินดา แต่ตำหนิรูปพรรณค่อนข้างเหมือนกับผู้ต้องหาที่หลบหนี ตำรวจจึงได้ทำการตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือของนางศิรินทิพย์ จากกองทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และลายพิมพ์นิ้วมือของ น.ส.นวินดา จากส่วนบริหารและพัฒนาเทคโนโลยีการทะเบียน สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง เมื่อนำลายนิ้วมือทั้ง 2 มาตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบทราบว่าเป็นบุคคลเดียวกัน

ต่อมา เมื่อวันที่ 18 ต.ค. เวลา 22.00 น. ชุดจับกุมสืบทราบว่านางศิรินทิพย์ ได้หลบหนีมาบริเวณปากซอยคู้บอน 7 ถนนคู้บอน แขวงรามอินทรา เขตคันนายาว กทม. จึงเดินทางไปตรวจสอบพบปากซอยคู้บอน 7 ถนนคู้บอน แขวงรามอินทรา เขตคันนายาว กทม. จึงเดินทางไปตรวจสอบพบนางศิรินทิพย์ ซึ่งมีตำหนิรูปพรรณตรงตามหมายจับ จึงแสดงตัวเข้าจับกุมและนำตัวมาสอบสวนเพิ่มเติมและทำบันทึกจับกุมที่ กก.สส.1 บก.สส.บช.น.

จากการสอบสวน นางศิรินทิพย์ ให้การรับสารภาพว่า เป็นผู้ต้องหาตามหมายจับจริง โดยหนีหมายจับศาลจังหวัดนนทบุรีในคดียิงนายกำพล จิตต์แก้ว สามีทนายความ อดีตข้าราชการกรมสรรพากร โดยหลังจากยิงสามีตายแล้วได้รอมอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและได้ประกันตัวในชั้นศาล ต่อมาศาลได้มีคำพิพากษาคดีแต่ตนไม่ได้ไปฟังคำพิพากษาศาลจึงทำการออกหมายจับ ทั้งนี้ระหว่างหลบหนีตนได้รับการช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกรมการปกครองให้การทำบัตรประชาชนปลอม และปลอมข้อมูลพ่อ แม่ ทั้งหมด เพื่อใช้ทำธุรกรรมทางการเงินและการใช้สิทธิ์ต่างๆ ซึ่งชุดจับกุมได้นำตัวนางศิรินทิพย์ ส่งศาลจังหวัดนนทบุรี ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

รูปภาพของ Ampaipan Wachaporn

บิ๊กหมู มอบนโยบาย 11 ข้อ สนับสนุนงานรัฐบาลและ คสช. ปกป้องสถาบัน ยกเครื่องการข่าว

บิ๊กหมู มอบนโยบาย 11 ข้อ สนับสนุนงานรัฐบาลและ คสช. ปกป้องสถาบัน ยกเครื่องการข่าว สร้างความพร้อมรบ สั่งให้ทุกหน่วยทำงานในหน้าที่ให้ดีที่สุด ดูแลกำลังพล พร้อมช่วยประชาชนในทุกเรื่องอย่างเต็มกำลังความสามารถ ยึดค่านิยม 12 ประการ บิ๊กตู่ ต่อ
พลเอก ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธาน การประชุมผู้บังคับหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก พร้อมมอบนโยบายการปฏิบัติงานกองทัพบกประจำปี ๒๕๕๙ ให้กับผู้บังคับหน่วยจนถึงระดับผู้บังคับกองพัน
โดยมีนโยบายสำคัญใน ๑๑ เรื่อง คือ
๑. การพิทักษ์ และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นภารกิจที่ทุกหน่วยจะต้องให้ความสำคัญสูงสุด ดำเนินการอย่างเต็มที่ในทุกด้านที่เกี่ยวข้อง
๒. ให้การสนับสนุนภารกิจของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพื่อให้สามารถบริหารราชการแผ่นดิน และดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองได้ตามความมุ่งหมาย
๓. การดูแลสวัสดิการกำลังพลและครอบครัว ด้วยมาตรการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้เป็นรูปธรรม ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
๔. พัฒนาระบบงานด้านการข่าว เพื่อให้สามารถสนับสนุนการปฏิบัติงานของกองทัพบกในทุกภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและขยายเครือข่ายงานข่าว โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
๕. เสริมสร้างความพร้อมรบในทุกด้าน โดยการปรับปรุงโครงสร้างให้เป็นกองทัพ
ที่มีประสิทธิภาพ พัฒนาขีดความสามารถความพร้อมรบ ด้วยระบบการฝึกที่จริงจังมีมาตรฐานและการบริหารจัดการที่ดี ให้หน่วยมีความพร้อมรบ รวมทั้งสามารถสนับสนุนภารกิจด้านการบรรเทาสาธารณภัย
๖. ยกระดับมาตรฐานการฝึกเป็นบุคคลตามตำแหน่งหน้าที่และความชำนาญการทางทหาร การฝึกหน่วยทหารขนาดเล็กและการฝึกเป็นหน่วยในภาพรวม
๗. พัฒนาระบบการส่งกำลังบำรุงให้สอดคล้องกับความต้องการยุทโธปกรณ์ภายใต้งบประมาณที่ได้รับการจัดสรร ปรับปรุงและเข้มงวดในมาตรการควบคุมสิ่งอุปกรณ์ ตลอดจนปรับปรุงระบบการบริหารจัดการภายในเพื่อลดภาระงานด้านธุรการ
๘. การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงยึดถือและน้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี โดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม มุ่งสู่วัตถุประสงค์หลัก คือ ลดการก่อเหตุ สร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน สนับสนุนการแก้ไขปัญหาตามแนวทางสันติวิธี ควบคู่ไปกับงานด้านการพัฒนาพื้นที่
๙. ให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติโดยทันที รวมทั้งการเตรียมความพร้อมและมีแผนการปฏิบัติร่วมกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการเตรียมรับมือกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นเป็นประจำในแต่ละพื้นที่ ขณะเดียวกันให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ ตลอดจนการพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำ เพื่อช่วยลดผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยอย่างยั่งยืน
๑๐. เสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือกับกองทัพบกประเทศเพื่อนบ้านและมิตรประเทศ โดยมุ่งเน้นที่กลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเมื่อสิ้นสุดปี ๒๕๕๘
๑๑. การใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๙ ให้เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดและเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมาย
ผู้บัญชาการทหารบก กำชับให้ผู้บังคับหน่วยทุกหน่วยปฏิบัติงานด้วยความจริงใจ ดูแลผู้ใต้บังคับบัญชา และหน่วยงานให้ดีที่สุด ให้หน่วยทหารมีเกียรติและศักดิ์ศรี
ในขณะที่กำลังพลมีความภูมิใจในหน่วยงานของตน ให้ทำงานในลักษณะเป็นทีมงานของกองทัพบก เพื่อให้บ้านเมืองมีความสงบสุข ยืนยันกองทัพบกพร้อมปฏิบัติตามแนวนโยบายของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติในทุกเรื่อง โดยดำเนินการทันที เพื่อให้เกิดผลดีแก่ชาติบ้านเมืองและประชาชน สิ่งใดที่กองทัพบกจะช่วยดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้ทุกหน่วยดำเนินการทันที
รวมทั้งให้ดำรงการปฏิบัติตาม “ค่านิยมหลัก ๑๒ ประการ” ของนายกฯ ทั้งในส่วนของหน่วยทหาร ครอบครัว ชุมชนรอบค่าย และในทุกพื้นที่ที่หน่วยไปปฏิบัติงาน เพื่อเป็นการเสริมสร้างวัฒนธรรมอันดีงามของประเทศไทย และช่วยสร้างสังคมไทยให้น่าอยู่

"นิพิฏฐ์" ถาม "บิ๊กตู่" เหตุใดจึงใช้ ม.44 ย้ายบุคลากรสภาฯ พร่ำเพรื่อ !!

วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2558 มติชน


นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเห็นกรณีที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา44 สั่งย้ายนายจเร พันธุ์เปรื่อง พ้นเลขาธิการสภาสภาผู้แทนราษฎร ไปช่วยราชการเป็นที่ปรึกษาประจําสํานักนายกฯ โดยเห็นว่า มีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 กับบุคลากรของรัฐสภา 2 ครั้งแล้ว ซึ่งหากจะเอาผิดใครก็ควรจัดการต้นตอ นอกจากนี้ยังเห็นว่า การย้ายคนนอกเข้ามาเป็นการบั่นทอนจิตใจของคนทำงาน และขอว่าอย่าใช้อำนาจดังกล่าวพร่ำเพรื่อ

"ย้ายเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร"


อ่านข่าวท่านนายกรัฐมนตรี(หน.คสช.)ใช้อำนาจตามม.44ย้ายเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ไปประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และย้ายบุคคลจากวุฒิสภา มาทำหน้าที่เลขาสภาผู้แทนราษฎร ผมไม่สบายใจอยู่ 4-5 ประการ

1.การใช้ม.44กับเลขาสภาผู้แทนราษฎรเกิดขึ้น2ครั้งแล้วตั้งแต่มีการยึดอำนาจ ซึ่งปกติไม่ค่อยมีการใช้อำนาจพิเศษอย่างนี้กับบุคลากรของรัฐสภา

2.หากเลขาสภาผู้แทนราษฎรปฏิบัติหน้าที่โดยไม่สมควรเช่นในอดีตมีการติดตั้งนาฬิกาในสภาราคา70,000บาท/เครื่องหรือเรื่องอื่นใดก็ตามขอให้ทราบว่าลำพังเลขาสภาฯไม่สามารถทำอะไรได้มากมายหรอกแต่ต้องมีคนอยู่เบื้องหลังคือฝ่ายการเมือง เช่น ประธานสภาผู้แทนราษฎร หากจะเอาผิดก็ควรเอาผิดให้ถึงต้นตอ

3.การย้ายบุคคลจากวุฒิสภามาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นการตัดโอกาสข้าราชการจากสภาผู้แทนราษฎรที่จะเติบโตก้าวหน้าตามสายงาน ยิ่งผู้ที่จะมาใหม่ยังมีอายุราชการอีกนาน(มาก) ยิ่งตัดโอกาสและบั่นทอนขวัญ-กำลังใจ คนจากสภาผู้แทนราษฎร

4.หากเลขาสภาฯทำไรผิด ก็ควรใช้วิธีปฏิบัติอย่างอื่นดีกว่า อย่าใช้ม.44พร่ำเพรื่อเลย สถาบันสภาผู้แทนราษฎรบอบช้ำมากแล้ว

5.การใช้อำนาจตามม.44ควรให้ประชาชนรับรู้เหตุผลด้วยว่าเพราะอะไรอย่างน้อยผมก็เป็นคนไทยคนหนึ่งที่อยากรู้ผมมิได้ปฏิเสธการใช้อำนาจแต่ผมมีสิทธิรับทราบเหตุผลการใช้อำนาจบ้างมิใช่หรือ?

6.อยากรู้จริงๆใครเป็นเจ้าของความคิดให้หน.คสช.ใช้อำนาจตามม.44กับกรณีนี้ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องเล็กเกินไปที่จะใช้อำนาจตามม.44กับเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

ผมตรงไปตรงมาอย่างนี้แหละครับ

กองทัพเน้นปกป้องสถาบัน ตั้ง"กองสงครามไซเบอร์"สู้ | เดลินิวส์

กองทัพเน้นปกป้องสถาบัน ตั้ง"กองสงครามไซเบอร์"สู้ "ผบ.สส." นั่งหัวโต๊ะถก "ผบ.เหล่าทัพ" นัดแรก ชูนโยบายป้องสถาบันฯ-หนุนกิจกรรม “Bike for Dad ปั่นเพื่อพ่อ” พร้อมตั้ง "กองสงครามไซเบอร์" ไว้ต่อกร "สงครามไซเบอร์“

เมื่อวันที่ 19 ต.ค. ที่กองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.) ถนนแจ้งวัฒนะ พล.อ.สมหมาย เกาฏีระ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) เป็นประธานการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ ครั้งที่ 1/2559 ซึ่งถือเป็นการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพครั้งแรก หลังมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ โดยมีพล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) และพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และคณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง 

ทั้งนี้ ก่อนการประชุม พล.อ.สมหมาย ได้ขึ้นแท่นรับการทำความเคารพจากทหารกองเกียรติยศสามเหล่าทัพ ก่อนนำคณะผู้บัญชาการเหล่าทัพเข้าการสักการะพระพุทธนวรราชบพิตร ประดิษฐาน ณ ชั้น 3 และพระพุทธนวราชบรมบพิตรศักดิ์สิทธิชัยมงคลประดิษฐาน ณ ชั้น 7 โดยมีวาระการประชุมมอบนโยบายในการปฏิบัติงานที่สำคัญให้แก่ผู้บัญชาการเหล่าทัพและผบ.ตร. ได้แก่ การให้ความสำคัญในการถวายความจงรักภักดี การปกป้องและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ในทุกโอกาส รวมถึงสนับสนุนกิจกรรม “Bike for Dad ปั่นเพื่อพ่อ” 

จากนั้นเวลา 12.00 น. พล.อ.สมหมาย แถลงภายหลังการประชุมว่า ในวันนี้ (19 ต.ค.) ได้ให้นโยบายทุกเหล่าทัพและผบ.ตร. ซึ่งทุกเหล่าทัพจะมีแผนยุทธศาสตร์ 5 ปีอยู่แล้ว แต่ขณะนี้ก็ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์เหล่าทัพ 20 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ได้สั่งการไว้ โดยนโยบายที่สำคัญคือการถวายความจงรักภักดีและการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ การป้องกันประเทศ การรักษาผลประโยชน์ของชาติ ทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ พร้อมทั้งการพัฒนาประเทศ การช่วยเหลือประชาชนด้วยการบรรเทาสาธารณภัย ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในประเทศและต่างประเทศสำหรับเรื่องพิเศษที่ตนเน้นย้ำ คือประเด็น "สงครามทางไซเบอร์" ที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น เราจึงจัดตั้งกองสงครามไซเบอร์และจัดทำยุทธศาสตร์ไซเบอร์ของกองทัพขึ้นด้วย.“


“วิลาศ” แฉ กทม.ส่อโกงเพียบ! จ่อฟ้อง ป.ป.ช.ฟัน รองผู้ว่าฯ งงงบสะสมเหลือแค่ 2 พันล้าน

18 ตุลาคม 2558 13:29 น.ผู้จัดการ
“วิลาศ” แฉ กทม.ส่อโกงเพียบ! จ่อฟ้อง ป.ป.ช.ฟัน รองผู้ว่าฯ งงงบสะสมเหลือแค่ 2 พันล้าน

อดีต ส.ส.กทม.ประชาธิปัตย์ ซัด อปท. ไม่ทุจริตก็อย่ากลัว สตง. แฉรองผู้ว่าฯ กทม.บินเฟิร์สคลาสทัวร์นอกทุกเดือน สงสัยเกี่ยวจัดซื้อรถดูดเลน ปูดย้าย ผอ.เขตใช้เงินถึง 7 หลัก เผยบางกอกใหญ่ทำเรื่องย้ายลูกน้องตนมาอยู่ให้ดูแล แถมเรียกค่าเซ็นใบอนุญาตทั้งที่ถูกกฎหมายแล้ว งงสร้างสวนเสร็จก่อนเซ็นสัญญา จ่อฟ้อง ป.ป.ช.และ ปปง. เล็งชงเรื่องให้ที่ประชุมพรรค เหน็บไม่เคยเห็น “สุขุมพันธุ์” ระบุงบสะสมเมืองหลวงเกลี้่ยง จาก 3 หมื่นล้านหรือแค่ 2 พันล้าน สับปราบโกงไม่ไปไหนเพราะยกเว้นฟันญาติ เเพื่อน

 วันนี้ (18 ต.ค.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีสถาบันพระปกเกล้า จัดสัมมนารับฟังความเห็นของสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เรื่องแนวทางการนำเสนอเพื่อแก้ระเบียบกฎหมายของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณของ อปท.เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนว่า ในการสัมมนามีการระบุว่า สตง.ขัดขวางการทำงานของอปท. โดยมีการเสนอขอให้ตัดอำนาจการตรวจสอบการใช้งบประมาณของ สตง. ตนในฐานะคนกลางเห็นต่างจากเรื่องนี้ เพราะเห็นว่า สตง.ทำหน้าที่ได้ดีแล้ว ซึ่งจากการแถลงผลงานครบ 9 ปีของ ป.ป.ช.ระบุว่าเรื่องทุจริตที่มีร้องเข้ามามากที่สุด คือ การทุจริตของ อปท.ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ รวมมูลค่าความเสียหายจาการทุจริต 1.68 แสนล้านบาท ซึ่งหาก อปท.ไม่ทุจริตก็ไม่ต้องกลัวการตรวจสอบ
       
       นายวิลาศกล่าวว่า ทั้งนี้ อปท.บางส่วนดีอยู่ แต่ก็มีบางส่วนที่มีการทุจริต เช่น กทม.ซึ่งเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นใหญ่ที่สุด มีข้าราชการและประชาชนมาร้องเรียนกับตนว่า มีรองผู้ว่าฯ กทม.คนหนึ่งเดินทางไปต่างประเทศทุกเดือน นั่งเครื่องบินชั้นเฟิร์สคลาส และต้องไปจบที่ประเทศฝรั่งเศส และเยอรมนี โดยใช้เงินสดซื้อตั๋ว ตั้งข้อสงสัยว่าที่มาของเงินจะเกี่ยวข้องกับกรณีการทำหนังสือเวียนถึงเขตต่างๆ ที่ขอให้ตรวจสอบและทำเรื่องมาถึง กทม. เพื่อขอให้ซื้อรถต่างๆ เช่น รถดูดเลน รถดูดไขมันหรือไม่ ซึ่งเดิมแต่ละเขตจะมีอยู่แล้ว 1 คัน แต่มีการสั่งภายในให้ทำเรื่องเสนอมา พร้อมกำหนดสเปก เช่น รถดูดไขมันขนาด 8 คิว คันละ 24 ล้านบาท พอตนแถลงก็สั่งชะลอเรื่อง ที่ต้องสั่งให้เขตต่างๆทำเรื่องขึ้นมาเพื่อใช้อ้างกรณีถูกตรวจสอบว่าเป็นการเสนอขอซื้อจากเขตไม่ใช่เป็นคำสั่งจากรองผู้ว่าฯ
       
       นายวิลาศกล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีกรณีแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ กทม.โดยเฉพาะระดับสูง ปัจจุบันทำเพื่อผลประโยชน์ เช่น การย้าย ผอ.เขตต้องใช้เงินถึง 7 หลักไม่แพ้ในวงการตำรวจ อย่าง ผอ.เขตบางกอกใหญ่ในพื้นที่ตน มีการทำเรื่องย้ายลูกน้องตัวเองซึ่งเป็นนายช่างโยธาเขตจตุจักรมาอยู่เขตบางกอกใหญ่ โดยให้หัวหน้าฝ่ายโยธามีคำสั่งระบุให้ดูแลพื้นที่ฝั่งซ้ายของถนนจรัลสนิทวงศ์ และถนนเพชรเกษม ฝั่งที่มีคอนโดมิเนียมจำนวนมาก มีการเรียกค่าเซ็นใบอนุญาตก่อสร้างทั้งที่ถูกแบบกลางของ กทม.แล้ว
       
       “ไม่ทราบว่า ผอ.ที่ย้ายมาใหม่เก็บกันขนาดนี้ต้องส่งเงินให้รองผู้ว่าฯ คนไหนหรือไม่ อย่างไร เพราะขนาดก่อสร้างถูกแบบแปลนก็ยังเสียค่าตวัดลายเซ็น” นายวิลาศกล่าว
       
       นายวิลาศกล่าวว่า และยังมีการสร้างสวนเฉลิมพระเกียรติที่เขตธนบุรี โดยประมูลงานผ่านอีอ็อกชัน แต่ก็ได้บริษัทของคนสนิทของรองผู้ว่าฯ คนหนึ่ง ที่น่าแปลกใจคือมีการสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ ล่วงหน้า ก่อนที่จะมีการเซ็นสัญญา โดยมีการระดมหรือสั่งข้าราชการ กทม.ให้อำนวยความสะดวกให้กับบริษัทดังกล่าวทุกอย่าง เมื่อสร้างสิ่งก่อสร้างเสร็จเพิ่งจะมาเร่งรัดกับทางเขตให้รีบเซ็นสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง โอยอ้างว่ารองผู้ว่าฯ สั่งมาให้รีบเซ็น

 “เท่านั้นยังไม่พอ มีการขนทีมงานของรองผู้ว่าฯ รายนี้ไปฉลองเกษียณอายุราชการที่ญี่ปุ่น โดยมีการซื้อสินค้าจากบริษัท คิงเพาเวอร์ ในช่วงโปรโมชัน ซื้อครบ 5 หมื่นจะแจกตั๋วเครื่องบินไปกลับญี่ปุ่น 1 ใบ ปรากฏว่ามีการสั่งซื้อสินค้าลอตเดียว 5 ล้านบาท ได้ตั๋วไปกลับ 100 ใบ ถามว่าเอาเงินที่ไหนมาซื้อสินค้าดังกล่าว ใครเป็นผู้ดูแล และมีการขนข้าราชการ กทม.ในส่วนบริหารไปเที่ยวเป็นระลอก ล่าสุดกำลังไปเที่ยวสหรัฐฯ อีก 7 คน ถามว่าเอาเงินมาจากไหน” นายวิลาศกล่าว                                                                                                                            นายวิลาศกล่าวว่า ด้วยเหตุผลดังกล่าวตนจึงขอสนับสนุนให้ สตง.ยังมีอำนาจตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของ อปท. เพราะขนาด กทม.ที่อยู่ในส่วนกลางยังกล้าทำขนาดนี้ และตนจะนำเรื่องต่างๆ พร้อมพยานหลักฐานเอกสารและบุคคล เข้าร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช. )และ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อขอให้ตรวจสอบเส้นทางการเงินที่ใช้จ่ายในเรื่องนี้ทั้งหมด                           ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการนำหลักฐานไปร้องต่อ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.ในฐานะผู้บริหารระดับสูงหรือไม่ นายวิลาศกล่าวว่า ขณะนี้ยังมีคำสั่ง คสช.ห้ามพรรคจัดกิจกรรมทางการเมืองใดๆ หากทำได้ตนก็จะเสนอเรื่องนี้ต่อที่ประชุมพรรคให้พิจารณาด่วน และที่ผ่านมาก็ไม่เคยเห็นหน้าผู้ว่าฯ กทม.เลย และไม่รู้ว่าท่านจะเข้าศาลาว่าการเมืองไหร่ หรือย้ายไปอยู่ดอยแล้ว แต่ขอตั้งข้อสังเกตเรื่องการใช้งบว่าก่อนหน้านี้ กทม.มีเงินสะสมอยู่ 3 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันลองไปขอตรวจสอบดูเหลือไม่ถึง 2 พันล้านบาท เพราะแต่ละคนมือฉกาจในการทำเรื่องของบประมาณทั้งนั้น
       
       เมื่อถามต่อว่า จะนำเรื่องนี้ร้องขอ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม และ คสช.หรือไม่ เพราะขัดกับนโยบายเรื่องการปราบปรามการทุจริต นายวิลาศกล่าวว่า ตนเชื่อมือและชื่นชมต่อการทำงานของ พล.อ.ไพบูลย์ แต่เรื่องการทุจริตและคดีต่างๆ แต่ที่ผ่านมาตนเคยร้องเรียนหลายเรื่องแต่ก็ยังเงียบหาย เช่นคดีอิทธิพลของ “เสธ.เจม” ที่เรียกเก็บค่าคุ้มครอง หรือกรณีผู้ว่าฯ ที่เป็น สนช.ทุจริตในการจัดซื้อยาปราบศัตรูพืชก็ยังไร้คำตอบ จึงเห็นว่าปัญหาการปราบปรามทุจริตของบ้านทุกวันนี้ที่ไปไม่ถึงไหนเพราะเข้าตำรา เอาจริง ยกเว้นญาติและเพื่อน แต่ตนก็จะคัดเรื่องที่สำคัญเพื่อยื่นต่อ คสช.อีกครั้ง

อลงกรณ์แบไต๋! เอาแน่คณะกรรมการปรองดอง ตามแนว"เอนกโมเดล"แก้การเมืองสีเสื้อ

วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2558 มติชน



นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวถึงสูตรการทำงานของ สปท. 1+1+18 ภายใต้การทำงาน 20 เดือนว่า ระยะแรก 1 เดือนนับจากวันที่ 19 ต.ค. คือการยกร่างกลไก ทั้งการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับการประชุม และตั้งคณะกรรมาธิการปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน ซึ่งจะใช้เวลา 1 เดือน โดยในวันที่ 20 ต.ค. เวลา 09.00 น. จะเป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะการสร้างความปรองดอง ก่อนนำข้อสรุปเข้าสู่การพิจารณาของการประชุมแม่น้ำ 5 สาย ในวันที่ 28 ต.ค.นี้

นอกจากนี้ ในวันที่ 20 ต.ค. จะมีการเปิดศูนย์สื่อสาร สปท.ที่รัฐสภา เพื่อเปิดช่องทางให้ประชาชนได้ส่งวิธีการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ ระยะที่ 2 สปท.จะใช้เวลา 1 เดือน กลั่นกรอง 37 วาระการปฏิรูป และ 8 วาระการพัฒนา ของ สปช. เพื่อจัดลำดับความสำคัญ ก่อนจะใช้เวลา 18 เดือน ดำเนินการสรุปวิธีการปฏิรูปทั้งหมดส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่วนร่างกฎหมายจะส่งต่อไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

นายอลงกรณ์ยังกล่าวถึงแนวทางการสร้างความปรองดองว่า ขึ้นอยู่กับข้อบังคับการประชุมที่จะร่างขึ้น และนโยบายของ ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท. แต่จากการหารือร่วมกันระหว่างประธานและรองประธาน เห็นว่าประเด็นดังกล่าวมีความสำคัญและมีความจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการสร้างความปรองดอง สานต่อแนวทางของคณะกรรมการชุดของนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)

"มั่นใจว่าจะสามารถควบคุมบรรยากาศการประชุมได้ แม้ว่าส่วนประกอบของ สปท.จะมีทั้งพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองคู่ขัดแย้งร่วมด้วย โดยจะทำให้ สปท.เป็นสัญลักษณ์และจุดเริ่มต้นของการปรองดอง ยอมรับว่าอาจเป็นเรื่องลำบาก ที่จะประสานแนวคิดทุกกลุ่มให้เป็นเอกภาพ แต่ยังมั่นใจว่าทุกฝ่ายมีเป้าหมายเดียวกัน ซึ่งจะต้องมีการพูดคุยนอกรอบระหว่างสมาชิกมากขึ้น" นายอลงกรณ์กล่าว

นายอลงกรณ์กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม สปท.จะไม่จัดสรรโควตาในตำแหน่งประธานและรองประธาน แต่ละคณะกรรมาธิการ ทุกตำแหน่งจะมีคณะกรรมการกลั่นกรองบุคคลที่เหมาะสมมาทำหน้าที่ ไม่เหมือนสภาการเมือง ขอให้ลืมรูปแบบเดิมเรื่องการจับจองโควตาในอดีต

ปี 1963 (2506) สำคัญไฉน?

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์

ประเทศไทยมีแผนพัฒนาศก.แล้วตั้งแต่ปี 1961 (2504) เป็นประเทศแรกในเอเซียอาคเนย์ที่เริ่มพัฒนาอสก. มีถนนลาดยางหลายพันกม. และปี 1963 ไทยเริ่มใช้คอมพิวเตอร์เป็นประเทศแรก ไทยเป็นประเทศที่รวยและเจริญที่สุดในแถบนี้

ปี 1963 มาเลเซียเพิ่งเป็นเอกราชจากอังกฤษ มีแต่สวนยาง สวนปาล์ม และเหมืองดีบุก ถนนลาดยางไม่กี่ร้อยกม. ศก.90% เป็นเกษตรกรรม ไม่มีอสก. เป็นประเทศยากจน

ปี 2013 (2556) มาเลเซืยมีรายได้ประชาชาติต่อหัว (GNI) 10,430 ดอลลาร์สรอ. ประเทศไทยมี 5,340 ดอลลาร์สรอ. คนมาเลเซียโดยเฉลี่ย "รวยกว่า" คนไทยสองเท่า ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ถนนหลวง ทางด่วน โทรคมนาคม สนามบิน แต่ทั้งมาเลเซียและไทยก็ยังคงสังกัดกลุ่ม "ประเทศรายได้ปานกลาง-กลุ่มสูง"

ศก.มาเลเซียช่วงหนึ่งก็คล้ายไทย เติบโตก้าวกระโดดปลายยุค 2520-40 เจอวิกฤตศก.2540 การเมืองไม่ค่อยเป็นปชต. แต่จุดต่างสำคัญคือ กองทัพขึ้นต่อรัฐบาลพลเรือน และไม่มีรัฐประหาร!

ปี 1991 นายกฯมหาธีร์ตั้งเป้าให้มาเลเซียเป็น "ประเทศพัฒนาแล้ว" ภายในปี 2020

ปี 2009 นายกฯราซัคเปลี่ยนจากแนวทางมหาธีร์ที่เน้นรัฐวิสาหกิจ อุ้มธุรกิจกลุ่มทุนมาเลย์ หันมาเปิดเสรีการค้า เร่งเจรจาเอฟทีเอ เร่งขยายสนามบิน ระบบราง ถนนหลวงและทางด่วน กับผ่อนคลายการเมือง

มาเลเซียจะมี GNI ทะลุเพดาน 12,745 ดอลลาร์สรอ. ในปี 2018 กลายเป็น "ประเทศรายได้สูง" ตามนิยามของธนาคารโลก

วันนี้ มาเลเซียเข้าร่วมเขตศก. TPP เข้าถึงตลาดสหรัฐ แคนาดา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เม็กซิโก ด้วยภาษีศูนย์ มาเลเซียจึงเป็น "เสือตัวที่ห้า" แห่งเอเซียอย่างแท้จริง

ประเทศไทยสำลักฝุ่นท้ายขบวนรถมาเลเซียไปก่อนก็แล้วกัน!

เบื้องหลัง!'บิ๊กตู่'กลับลำ!ยกเลิกคำสั่งตั้งเลขาสภาฯ บทบาทผู้นำกับอำนาจ ม.44

วันจันทร์ ที่ 19 ตุลาคม 2558 เวลา 10:50 น สำนักข่าวอิศรา
"...ว่ากันว่าเหตุผลเบื้องหลังที่ทำให้ นายนัฑ ผาสุข  ได้รับการแต่งตั้งให้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นเพราะได้แรงหนุนจากผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ที่นิยมชมชอบการทำงานของนายนัฑ ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งโชว์ผลงานได้ดีเข้าตา และเรียกใช้บริการอยู่เสมอ.."
p0o9i
"เหตุผลสำคัญที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องออกคำสั่งยกเลิกการแต่งตั้ง นายนัฑ ผาสุข ให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร แทนนายจเร พันธุ์เปรื่อง ที่พ้นจากตำแหน่ง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ไปดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่ง หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 37/2558  เป็นเพราะนายนัฑ ผาสุข ถูกต่อต้านอย่างหนัก" 
นี่คือ ข้อมูลสำคัญที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าวระดับสูงที่เชื่อถือได้ ในสภาผู้แทนราษฎร ถึงเหตุผลที่มาของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 37/2558 ที่ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่อย่างเป็นทางการในช่วงกลางดึก คืนวันที่ 18 ต.ค.2558 ที่ผ่านมา

(อ่านประกอบ : "บิ๊กตู่"กลับลำ!ออกคำสั่งยกเลิกตั้ง "นัฑ ผาสุข" ข้ามห้วยนั่งเก้าอี้เลขาสภาฯ)

ส่วนสาเหตุที่ทำให้นายนัฑ ผาสุข ถูกต่อต้านอย่างหนัก  จนถึงขั้นทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจลงนามในคำสั่งฉบับใหม่ เพื่อยกเลิกการเข้าไปดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสภาฯ ดังกล่าว
เป็นผลมาจากการที่ข้าราชการในสภาฯ หลายคนมองว่า นายนัฑ ผาสุข ซึ่งมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมาย (นิติกรทรงคุณวุฒิ) สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา
แต่กลับได้รับความเห็นชอบจากผู้นำประเทศ ใช้อำนาจพิเศษ แต่งตั้งให้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นเลขาสภาฯ เป็นการย้ายข้ามห้วยจากวุฒิสภาไปใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎร ถือเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมอย่างมาก
ว่ากันว่าเหตุผลเบื้องหลังที่ทำให้ นายนัฑ ผาสุข  ได้รับการแต่งตั้งให้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นเพราะได้แรงหนุนจากผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ที่นิยมชมชอบการทำงานของนายนัฑ ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งโชว์ผลงานได้ดีเข้าตา และเรียกใช้บริการอยู่เสมอ
เมื่อการทำงานของ นายจเร พันธุ์เปรื่อง มีปัญหา ต้องถูกย้ายออกตำแหน่ง จึงเสนอชื่อให้ นายนัฑ เข้ามาทำหน้าที่แทน 
ส่วนพล.อ.ประยุทธ์ ด้วยความที่ไว้วางใจและเชื่อการทำงานของผู้ใหญ่รายนี้อยู่แล้ว จึงเห็นดีเห็นงามลงนามในคำสั่งแต่งตั้งทันที 
แต่เวลาผ่านไปแค่ 2 วัน เริ่มได้รับสัญญาณไม่ดี โดยเฉพาะกระแสต่อต้านจากข้าราชการ จึงตัดสินใจออกคำสั่งแต่งตั้งฉบับใหม่ เพื่อตัดไฟแต่ต้นลมไม่ได้ปัญหานี้ลุกลามบานปลาย กลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว 
จะว่าไปการออกประกาศ คสช.หรือ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ออกมาแล้วถูกมองว่ามีปัญหาในทางปฏิบัติที่ผ่านมามีหลายเรื่อง ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน ก็คือ ประกาศ คสช. ฉบับที่ 115/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีการพิจารณาความอาญา โดยกำหนดให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีอำนาจในการยื่นฟ้อง หรือไม่ยื่นฟ้องคดีทางอาญา ทั้งที่แต่เดิมกระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่ในการดูแลประชาชน ในเรื่องการรักษาความสงบรวมไปถึงการดูแลเรื่องความยุติธรรมให้กับประชาชนในพื้นที่
ส่งผลทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเมื่อประกาศฉบับนี้ออกมา อำนาจของผู้ว่าฯจึงถูกลดลงไป และให้อำนาจนั้นแก่ผู้บัญชการตำรวจภูธรภาค ประการสำคัญทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบการถ่วงดุลอำนาจในการพิจารณาคดีความทางอาญา ทั้งในอำนาจการสั่งฟ้อง และการสืบสวน ของทั้งตำรวจและอัยการ 
ซึ่งว่ากันว่าเบื้องหลังที่มาประกาศฉบับนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ถูกยัดไส้โดยคนบางกลุ่ม ให้ลงนามเห็นชอบ ทั้งที่ ยังไม่ได้พิจารณาข้อมูลให้ครบถ้วนรอบด้าน และผลส่งทำให้เกิดปัญหาตามมาจำนวนมากเช่นกัน  
ย้อนกลับมาที่ กรณีการออกคำสั่ง หัวหน้า คสช. เรื่องการแต่งตั้งให้ นายนัฑ ผาสุข ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร แทนนายจเร พันธุ์เปรื่อง แม้ในทางปฏิบัติ เป็นเรื่องที่ถูกต้องที่ว่า หลังจากรู้ว่าการออกคำสั่งของตนเอง อาจจะมีความบกพร่องและผิดพลาดเกิดขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ ก็รีบตัดสินใจแก้ไขปัญหา ด้วยการออกคำสั่งแก้ไขคำสั่งเดิมทันที และเป็นสิ่งที่ผู้นำควรปฏิบัติอย่างยิ่ง
แต่ในทางปฏิบัติที่ถูกต้องจริงๆ แล้ว ปัญหาเรื่องนี้จะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ใช้ความระมัดระวังรอบคอบในการพิจารณาใช้อำนาจมากกว่านี้
ทุกครั้งที่ได้รับการรายงานข้อมูลจากผู้ใกล้ชิด และเจ้าหน้าที่เข้ามา ควรจะต้องมีการตรวจสอบพิจารณาข้อมูลให้ครบถ้วนรอบด้านก่อนตัดสินใจ
เพราะอำนาจ คือ ของศักดิ์สิทธิ โดยเฉพาะอำนาจมาตรา 44  ไม่ใช่ของเล่น ที่นึกจะใช้ นึกจะยกเลิกเมื่อไรก็ได้ 
และที่สำคัญ พอเกิดอะไรผิดพลาด ก็ปล่อยให้ผ่านเลยไป ทำเหมือนให้ลืมๆ ไปซะ เหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้นมาก่อน แบบที่เห็นและเป็นอยู่ในขณะนี้

"ประยุทธ์" สั่งการลับ กู้วิกฤตภาพลักษณ์ประเทศไทยในสายตาชาวโลก



"ประยุทธ์" สั่งการลับ กู้วิกฤตภาพลักษณ์ประเทศไทยในสายตาชาวโลก




ข้อสั่งการลับ "ประยุทธ์" กู้วิกฤตภาพลักษณ์ประเทศไทยในสายตาชาวโลก


"..สภาพปัญหาก่อนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (ครม.) และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะเข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน (ก่อนวันที่ 22 พ.ค.2557 ที่มีการทำรัฐประหาร) ให้ระบุชัดเจน ในเรื่องสำคัญ อาทิ ความแตกแยกของคนในชาติ การใช้ความรุนแรง การไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างเค่รงครัด การทุจริตคอร์รัปชัน.."


ที่มา สำนักข่าวอิศรา
วันเสาร์ ที่ 17 ตุลาคม 2558

ดูเหมือนว่า ปัญหาภาพลักษณ์ของประเทศไทย ในสายตาชาวต่างชาติ จะเป็นเรื่องใหญ่ ที่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

เห็นได้จากในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 ต.ค.2558 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาหารือต่อที่ประชุมอย่างเป็นทางการ

โดยเฉพาะการหาแนวทางการจัดทำข้อมูลชี้แจงต่างประเทศเกี่ยวกับการดำเนินงานของรัฐบาล ในช่วงที่ผ่านมา

พล.อ.ประยุทธ์ ได้สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำข้อมูลสำหรับให้ทุกส่วนราชการใช้ในการชี้แจงต่างประเทศเกี่ยวกับการดำเนินการของรัฐบาลเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน

พร้อมระบุให้จำแนกประเด็นให้ชัดเจนดังต่อไปนี้

1.สภาพปัญหาก่อนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (ครม.) และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะเข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน (ก่อนวันที่ 22 พ.ค.2557 ที่มีการทำรัฐประหาร)

ให้ระบุชัดเจน ในเรื่องสำคัญ อาทิ ความแตกแยกของคนในชาติ การใช้ความรุนแรง การไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด การทุจริตคอร์รัปชัน

2. การดำเนินการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (ครม.) และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในระยะที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหาสำคัญเร่งด่วน และนำมาสู่ความขัดแย้งของคนในชาติ

เช่น การรักษาความสงบเรียบร้อย การสร้างความปรองดอง การปรับปรุงมาตรฐานการบินพลเรือนของไทยตามแนวทางขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) การดำเนินการเกี่ยวกับการทำประมงที่ผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์ การแก้ไขบุกรุกทรัพยากรธรรมชาติ การดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชัน

3. การกำหนดแนวทางการบริหารงานที่มีโรดแมปที่ชัดเจน ซึ่งได้แบ่งกลุ่มงานออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ ด้านความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านการต่างประเทศ ด้านการบริหารราชการแผ่นดินกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ ได้มุ่งสร้างความเข้าใจแก่ภาคส่วนต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ

โดยเฉพาะกับ "สื่อมวลชน" เพื่อขอความร่วมมือให้นำเสนอข่าวในเชิงสร้างสรรค์ โดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญ

4. การสร้างความเข้มแข็งภายในประเทศให้ครอบคลุมทุกด้าน ดังนี้

4.1 ด้านความมั่นคง เช่น การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การสร้างความปรองดองสมานฉันท์

4.2 ด้านเศรษฐกิจ เช่น การแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกร การบริหารการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ การเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

4.3 ด้านสังคม เช่น การจัดระเบียบสังคม การปราบปรามผู้มีอิทธิพล การแก้ไขปัญหาการบุกรุกทรัพยากรธรรมชาติ

4.4. ด้านการต่างประเทศ เช่น การพัฒนาบทบาทให้ไทยเป็นผู้นำกลุ่ม CLMV การดำเนินการตามพันธกรณีและข้อตกลงระหว่างประเทศ

4.5. ด้านการบริหาราชการแผ่นดิน กฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม เช่น การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน การแก้ไขกฎหมายที่ล้าสมัย ลดความเหลื่อมล้ำ และเพื่อพัฒนาประเทศ การแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ รวมทั้งเร่งรัดการปฏิรูปประเทศในทุกมิติ

ทั้งนี้ ในการประชุม ครม. ดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ ได้ย้ำให้กระทรวงการต่างประเทศ นำเสนอข้อมูลดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในสัปดาห์หน้า หรือประมาณวันที่ 13 ต.ค. 2558 ที่ผ่านมา

เบื้องต้น หากคำนวณระยะเวลาที่มีข้อสั่งการดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่ 6 ต.ค.2558 จนถึงปัจจุบัน เชื่อว่าขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศ น่าจะจัดทำข้อมูลดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว และเริ่มมีการใช้งานไปแล้ว

ส่วนเหตุผลที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องสั่งการให้มีการดำเนินการในเรื่องนี้ น่าจะเป็นผลมาจากการเดินทางไปต่างประเทศหลายครั้ง และพบว่ามีข้อมูลสำคัญหลายส่วนที่ต่างชาติยังไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกตรง

ซึ่งเป็นผลมาจากการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลต่างๆ ของประเทศไทย ให้ต่างประเทศได้รับรู้ในช่วงที่ผ่านมา ดูเหมือนจะไร้ระบบและขาดทิศทางที่ชัดเจน กลายเป็นช่องโหว่สำคัญ ที่ทำให้ฝ่ายการเมืองตรงข้าม ใช้เป็นช่องโหว่เคลื่อนไหว สร้างกระแส โจมตีจากนอกประเทศไทยตลอดมา

บางเรื่องบางเหตุการณ์ กว่าจะรู้ตัวว่าเสียท่าก็สายเกินการไปเสียแล้ว!

"มีชัย"ตั้งธง ตัดสิทธิการเมืองโกง ห้ามเล่นการเมืองตลอดชีวิต

วันที่ 09 ตุลาคม พ.ศ. 2558 มติชน



นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า เตรียมวางมาตรการไม่ให้คนที่ทุจริตการเลือกตั้งและทุจริตต่อหน้าที่กลับเข้ามาสู่การเมือง เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 35 ที่ว่าด้วยการกำหนดให้การร่างรัฐธรรมนูญต้องมีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและตรวจสอบมิให้ผู้เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเคยกระทำการอันทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด

"ข้าราชการตัวเล็กๆ ไปโกงข้อสอบยังถูกห้ามไม่ให้เป็นข้าราชการตลอดชีวิต นักศึกษาที่โกงการสอบก็ไม่มีทางได้เข้ามาในมหาวิทยาลัยได้เลย แล้วทำไมคนที่เป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ถ้าผิดต่อหน้าที่กลับบอกว่า 5 ปีผ่านไปแล้วเอามาเถอะ เบื้องหลังของเหตุผลมันคืออะไร ผมก็พร้อมรับฟังและช่วยยืนยันได้หรือไม่ว่าจะไม่มีการทุจริตอีก" นายมีชัย กล่าว
          
เมื่อถามว่า ตั้งใจจะให้เกิดการตัดสิทธิในการกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองย้อนหลังแบบเด็ดขาดหรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า ตรงนี้ กรธ.กำลังคุยกันอยู่ว่าเรื่องบางเรื่องอาจจำเป็นต้องให้มีผลย้อนหลัง คนที่จะมาปกครองต้องมีความโปร่งใสทุกด้านเพื่อให้ประชาชนสามารถยกมือไหว้ได้อย่างสนิทใจ
ด้าน นายนรชิต  สิงหเสนี โฆษก กรธ.แถลงกล่าวว่า ที่ประชุมจะเชิญหน่วยงานเกี่ยวกับการปราบปรามทุจริตมาให้ข้อมูลดังนี้ วันที่ 13 ตุลาคม สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) วันที่ 14 ตุลาคม คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และวันที่ 15 ตุลาคม คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขณะที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน จะเชิญมาในลำดับถัดไป ส่วนพรรคการเมืองเชื่อว่าจะมีการเชิญมาชี้แจง เพราะมีส่วนสร้างความปรองดองให้กับประเทศชาติ แต่ที่ประชุมยังไม่มีการหารือในเรื่องดังกล่าว
       
เมื่อถามว่ากรอบรัฐธรรมนูญจะย้อนหลังไปถึงนักการเมืองก่อนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้หรือไม่นั้น นายนรชิต กล่าวว่า นายมีชัย เคยพูดไว้ว่า กรณีผู้ใหญ่บ้าน หรือกำนัน เมื่อทุจริตก็ไม่สามารถกลับมาดำรงตำแหน่งได้ ดังนั้น ส.ส.และนายกฯ ซึ่งสูงกว่าตำแหน่งดังกล่าว จึงจำเป็นต้องมีมาตรการคุมเข้มมากกว่า แต่ในประเด็นนี้ ยังไม่มีข้อสรุปอย่างเป็นทางการ

เปิดข้อเสนอ "องคมนตรี" ปฏิรูปประเทศเจ็บแล้วต้องจำนักการเมืองโกง-คอคอดกระโอกาสทอง

ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ โดยศาสตราจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี ส่งถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2558












ผลสรุปอนุฯป.ป.ช.ซัดผู้บริหารท้องถิ่นตัวการใหญ่! ใช้นโยบาย-อิทธิพลเอื้อโกง

วันจันทร์ ที่ 11 พฤษภาคม 2558  สำนักข่าวอิศรา

ผู้บริหารท้องถิ่นตัวการใหญ่! เปิดรายงานสรุปปัญหาการทุจริตใน อปท. พบก่อนเลือกตั้งมีการซื้อเสียง อาศัยอิทธิพลนักการเมืองระดับชาติ อ้างนโยบายหาเสียงเอื้อโกง หลังนั่งเก้าอี้จัดสรรเงินให้เกิดการวิ่งเต้น กินเปอร์เซ็นต์โบนัส ข่มขู่ ขรก.ให้ช่วยฮั้วจัดซื้อจัดจ้าง
PIC nacc 11 5 58 2
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เป็นสรุปรายงานสภาพปัญหาการทุจริตในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ของคณะอนุกรรมการมาตรการป้องกันการทุจริตเชิงนโยบายของผู้บริหารท้องถิ่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ได้จากการประชุมระดมความคิดเห็น และการตอบแบบสอบถามจากหน่วยงานต่าง ๆ
----
จากการศึกษาสภาพปัญหาและสาเหตุของการทุจริตเชิงนโยบายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวมทั้งมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะของผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้อง คณะทำงานจัดทำมาตรการป้องกันการทุจริตเชิงนโยบายของ อปท. พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า กระบวนการทุจริตเชิงนโยบายของ อปท. นั้น มักเกิดจากการกระทำของผู้มีอำนาจ กำหนดนโยบายของ อปท. ซึ่งก็คือ ผู้บริหารท้องถิ่น
ดังนั้น จึงสรุปข้อมูลสภาพปัญหาที่พบ โดยแบ่งออกเป็น 3 มิติ ดังนี้
1.มิติก่อนการเข้าสู่ตำแหน่งของผู้บริหารท้องถิ่น
พบสภาพปัญหาหลัก ๆ 3 ประการ ได้แก่ 
1.1 ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้บริหารท้องถิ่นบางส่วน กระทำการทุจริตเพื่อให้ได้เข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่น กล่าวคือ มีการซื้อเสียง หรือกระทำการอื่นใดที่ขัดต่อกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง โดยอาศัยความเป็นผู้มีอิทธิพล/เครือญาติ หรือเครือข่ายกับนักการเมืองระดับชาติ และบางส่วนก็ได้รับการสนับสนุนจากนายทุนในการสมัครรับเลือกตั้ง ทำให้เมื่อเข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารท้องถิ่นแล้ว มีการกำหนดนโยบายเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้อง
1.2 ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้บริหารท้องถิ่นบางส่วนขาดประสบการณ์ และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือความรู้ด้านอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการบริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
1.3 ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้บริหารท้องถิ่นบางส่วน กำหนดนโยบายที่ใช้ในการหาเสียงโดยมิได้คำนึงกฎหมาย ระเบียบ และอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ว่าสามารถดำเนินการตามที่ได้หาเสียงไว้ได้หรือไม่ ทั้งนี้เมื่อได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้บริหารท้องถิ่นแล้วก็อ้างถึงความชอบธรรมที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชน ผลักดันนโยบายไปสู่การปฏิบัติ เพื่อเอื้อผลประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้อง
2.มิติระหว่างการดำรงตำแหน่งของผู้บริหารท้องถิ่น
สรุปสภาพปัญหา โดยแบ่งตามประเด็นที่ใช้ในการศึกษาจำนวน 3 ประเด็น ได้แก่
2.1 ปัญหาที่พบเกี่ยวกับการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น สรุปได้ 3 ส่วน ดังนี้
1) กระบวนการจัดทำแผนพัฒนาตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจัดทำแผนพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2548 ให้อำนาจผู้บริหารท้องถิ่นในการจัดทำ การแก้ไข การเพิ่มเติม และการเปลี่ยนแปลงพัฒนามากเกินไป ทำให้ผู้บริหารท้องถิ่นใช้อำนาจดังกล่าว บรรจุแผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์แอบแฝง ก่อนนำไปสู่การจัดทำข้อบัญญัติ หรือเทศบัญญัติ งบประมาณรายจ่าย ทำให้แผนพัฒนาท้องถิ่นนั้นไม่เป็นไปตามความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง แต่มุ่งการแสวงหาผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง
2) กระบวนการนำแผนพัฒนาท้องถิ่นไปปฏิบัติเป็นช่องทางให้เอื้อประโยชน์ต่อผู้บริหารท้องถิ่นและพวกพ้อง
3) การติดตามและประเมินผลแผนพัฒนาฯ ไม่มีประสิทธิภาพ อันนำไปสู่การจัดทำแผนพัฒนาฉบับใหม่ที่ไม่สนองตอบต่อการแก้ไขปัญหาของท้องถิ่นอย่างแท้จริง หากแต่แฝงวัตถุประสงค์ในการเอื้อประโยชน์แก่ผู้บริหารท้องถิ่นและพวกพ้อง
2.2 ปัญหาที่พบเกี่ยวกับการเงิน การคลังและงบประมาณ สรุปได้ ดังนี้
1) การใช้ดุลยพินิจของผู้บริหารท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่ในการจัดเก็บรายได้ เช่น การใช้อำนาจในการเป็นผู้พิจารณาประเมินภาษี และใช้อำนาจพิจารณาอุทธรณ์ภาษี เป็นต้น ในลักษณะที่เอื้อประโยชน์แก่เครือญาติหรือพวกพ้อง
2) การจัดสรรเงินอุดหนุนเฉพาะกิจให้แก่ อปท. เอื้อให้เกิดการวิ่งเต้นเพื่อให้ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนของผู้บริหารท้องถิ่นบางแห่ง โดยมีผลประโยชน์แลกเปลี่ยน ตลอดจนมีการกำหนดแผนงานโครงการที่มีผลประโยชน์แอบแฝงรองรับการจัดสรรเงินอุดหนุนเฉพาะกิจดังกล่าว ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม และเป็นช่องทางก่อให้เกิดการทุจริตด้วย
3) การจัดสรรงบประมาณตามนโยบายของผู้บริหารท้องถิ่นหลายโครงการ มุ่งเพื่อประโยชน์ในการสร้างคะแนนนิยมให้กับตนเอง โดยไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์สาธารณะและความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณ เช่น การตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการที่เอื้อประโยชน์ให้กับหัวคะแนน เครือญาติและพวกพ้อง หรือการตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการศึกษาดูงานทั้งในและต่างประเทศ โดยไม่ได้มุ่งหวังผลในการพัฒนาท้องถิ่นอย่างแท้จริง แต่แฝงด้วยเจตนาเพื่อหวังคะแนนนิยม เป็นต้น
4) ผู้บริหารท้องถิ่นใช้อำนาจจัดสรรเงินให้เป็นประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษ อันมีลักษณะเป็นเงินรางวัลประจำปีแก่พนักงานส่วนท้องถิ่น (โบนัส) โดยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่กำหนด และเป็นการใช้เงินของ อปท. ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ กล่าวคือ ผู้บริหารท้องถิ่นบางแห่งนำเงินที่ควรนำไปพัฒนาท้องถิ่นมาจัดสรรเป็นเงินโบนัส นอกจากนั้นผู้บริหารท้องถิ่นบางแห่งยังมีการเรียกรับเงินเปอร์เซ็นต์จากโบนัสของพนักงานส่วนท้องถิ่นอีกด้วย
5) ผู้บริหารท้องถิ่นใช้อำนาจโดยกำหนดนโยบายหรือการใช้อำนาจข่มขู่บังคับให้ข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ให้ความร่วมมือในการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อตนเอง เครือญาติ และพวกพ้อง ตลอดจนการร่วมมือกับผู้ประกอบการในการฮั้วประมูล ทำให้การจัดซื้อจัดจ้างของ อปท. ขาดความโปร่งใส
2.3 ปัญหาที่พบเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล 
1) ผู้บริหารท้องถิ่นบางส่วนใช้อำนาจทางการบริหารงานบุคคลท้องถิ่นโดยมิชอบ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่เครือญาติ พวกพ้อง หรือนายทุน ทำให้การบริหารงานบุคคลของท้องถิ่นไม่เป็นไปตามระบบคุณธรรม (Merit System)
2) ผู้บริหารท้องถิ่นใช้อำนาจกำหนดกรอบอัตรากำลังของ อปท. ไม่สัมพันธ์กับภาระงานที่มีอยู่จริง เนื่องจากผู้มีอำนาจเปิดกรอบอัตรากำลังเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเครือญาติหรือพวกพ้องของตนโดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสมกับปริมาณงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน
3.มิติการกำกับดูแลและการตรวจสอบ
สรุปปัญหาได้ ดังนี้
กระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจของผู้บริหารท้องถิ่น จากทั้งภายในองค์กร ได้แก่ ฝ่ายสภาหน่วยตรวจสอบภายใน และจากภายนอกองค์กร ได้แก่ องค์กรอิสระ สื่อมวลชน ภาคประชาสังคมไม่มีประสิทธิภาพ นำไปสู่การกำหนดนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้อง รวมถึงหน่วยงานที่กำกับดูแลมีความเชื่อมโยงกับ อปท. ในเรื่องการขอสนับสนุนงบประมาณอุดหนุน ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลมีความเกรงใจไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่กำกับดูแลได้อย่างเต็มที่
ส่วนการดำเนินงานของหน่วยงานตรวจสอบ เช่น ป.ป.ช. มีความล่าช้า ไม่ทันต่อสถานการณ์ทุจริต ส่งผลให้ผู้บริหารท้องถิ่นบางแห่งไม่มีความเกรงกลัวต่อกฎหมาย รวมถึงไม่มีบทลงโทษเรื่องการถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดในภายหลังจากที่ผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น พ้นวาระการดำรงตำแหน่งแล้ว และอยู่ระหว่างการดำรงตำแหน่งวาระใหม่
นอกจากนี้ในส่วนของการใช้ดุลยพินิจในการตีความข้อกฎหมาย ระเบียบ ของเจ้าหน้าที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำให้การตรวจสอบ อปท. แต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน อาจนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างผู้บริหารท้องถิ่นและหน่วยงานตรวจสอบในการทุจริตเชิงนโยบายอีกด้วย

"วิษณุ"ยังไม่เห็นจม."ธานินทร์" เผย รื้อคดีเก่ายังมีอีก แต่จำไม่ได้มี"ปรส."หรือไม่

วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2558  มติชน

http://www.matichon.co.th/online/2015/10/14452258101445225848l.jpg
เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีนายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรีและอดีตนายกรัฐมนตรี ส่งจดหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถึงข้อเสนอในการร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอห้ามนักการเมืองที่กระทำผิดเข้ามาดำรงตำแหน่งอีก หลังพ้นโทษ 5 ปี หรือกรณีจัดตั้งศาลพิเศษระหว่างประเทศเพื่อเรียกคืนทรัพย์สินนักการเมืองที่ลี้ภัยไปต่างแดนว่า ยังไม่ทราบเรื่องและไม่ทราบว่านายธานินทร์ส่งจดหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์จริงหรือไม่ ขณะนี้ยังไม่ได้รับเรื่อง และนายกรัฐมนตรียังไม่ได้ส่งข้อเสนอของนายธานินทร์มาให้

"แต่อาจจะส่งเนื้อหาให้ในเวลาทำงานเพราะขณะนี้เป็นวันหยุดส่วนข้อเสนอของนายธานินทร์ที่เปิดเผยตามสื่อต่างๆ นั้น ผมเห็นข้อมูลแล้วแต่ไม่ขอแสดงความเห็นเพราะยังไม่ได้รับข้อเสนอ ส่วนข้อเสนอจะเป็นการส่งสัญญาณเพื่อกีดกันคนในพรรคเพื่อไทยหรือไม่นั้น ผมไม่ทราบ" นายวิษณุกล่าว

โดยวันที่ 28 ตุลาคม ที่จะประชุมแม่น้ำ 5 สายที่รัฐสภา จะไม่มีการพูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 35 เนื่องจากเป็นวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องการส่งสัญญาณพูดกับสภาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มากกว่า เพราะเป็นสภาที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ จะยังไม่มีการพูดถึงการแก้ไขมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว อย่างไรก็ตามรัฐบาลไม่เคยคิดที่จะแก้ไขมาตรา 35 แต่ คสช.จะแก้หรือไม่แก้อย่างไรนั้น ไม่ทราบ แต่ขณะนี้ยังไม่มีเหตุผลใดที่ต้องแก้ไข

ผู้สื่อข่าวถามถึงนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จแห่งชาติ (นปช.) เคลือบแคลงใจในการรื้อฟื้น 12 คดีของรัฐบาล แต่กลับไม่มีการรื้อคดีองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) นายวิษณุกล่าวว่า 12 คดีเป็นเรื่องที่รัฐเป็นทั้งจำเลยและโจทก์ในการฟ้อง ส่วนเรื่อง ปรส.ไม่ทราบอยู่ที่ใด ยังไม่โผล่เข้ามาที่รัฐ ข้อสำคัญ 12 คดีเป็นคดีแพ่งไม่มีคดีอาญา

"คดีทางแพ่งไม่ได้มีอยู่แค่ 12 คดี แต่ 12 คดีที่ว่าเป็นคดีสำคัญที่มีเรื่องมีราวในขณะนี้กำลังฟ้องอุตลุด จะแพ้ จะชนะ หรือจะเดินหน้าจะถอยหลัง แต่คดีอื่นๆ ที่สำคัญ ผมเคยชี้แจงในที่ประชุมแม่น้ำ 5 สายเมื่อหลายเดือนที่ผ่านมาว่า มีอีก 40 คดี อย่างคดีรถดับเพลิง ขณะนี้ยังไม่ถึงวาระที่จะรายงานคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะ ครม.เขาอยากรู้คดีที่รัฐบาลจะต้องจ่ายเงินหรือจะได้เงินตรงนี้มากกว่า ส่วน 40 คดีที่เหลืออยู่จะรายงานให้ที่ประชุม ครม.ทราบเพื่อดำเนินการในช่วงไหนอย่างไรนั้นยังไม่ทราบ" นายวิษณุกล่าว

เมื่อถามว่า ใน 40 คดีที่ยังไม่รื้อฟื้นมีคดี ปรส.อยู่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า "ไม่ทราบ จำไม่ได้ แต่ 40 คดีน่าจะครอบคลุมหมดแล้ว หากค้นเจอจะบอกให้ทราบอีกทีว่ามีคดี ปรส.ด้วยหรือไม่ ไม่ได้ลึกลับอะไร"

เปิดศึกสายเลือด! ปชป.จัดหนักกันเอง แฉทุจริตใน กทม.อื้อ! หอบหลักฐาน ฟ้อง ป.ป.ช.

วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2558  มติชน


นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า มีข้าราชการและประชาชนมาร้องเรียนกับตนว่า มีรองผู้ว่าฯ กทม.คนหนึ่งเดินทางไปต่างประเทศทุกเดือน นั่งเครื่องบินชั้นเฟิสต์คลาส และต้องไปจบที่ประเทศฝรั่งเศสและเยอรมนี โดยใช้เงินสดซื้อตั๋ว ตั้งข้อสงสัยว่าที่มาของเงินจะเกี่ยวข้องกับกรณีการทำหนังสือเวียนถึงเขตต่างๆ ที่ขอให้ตรวจสอบและทำเรื่องมาถึงกทม. เพื่อขอให้ซื้อรถต่างๆ เช่น รถดูดเลน รถดูดไขมัน หรือไม่ ซึ่งเดิมแต่ละเขตจะมีอยู่แล้ว 1 คัน แต่มีการสั่งภายในให้ทำเรื่องเสนอมา พร้อมกำหนดสเปก เช่น รถดูดไขมันขนาด 8 คิว คันละ 24 ล้านบาท พอตนแถลงมีการสั่งชะลอเรื่อง และที่ต้องสั่งให้เขตต่างๆ ทำเรื่องขึ้นมาเพื่อใช้อ้างกรณีถูกตรวจสอบว่าเป็นการเสนอขอซื้อจากเขต ไม่ใช่เป็นคำสั่งจากรองผู้ว่าฯ

นอกจากนี้ ยังมีกรณีแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการกทม. โดยเฉพาะระดับสูง อาทิ การย้ายผู้อำนวยการเขต ต้องใช้เงินถึง 7 หลักไม่แพ้ในวงการตำรวจ อย่างผู้อำนวยการเขตบางกอกใหญ่ในพื้นที่ตน มีการทำเรื่องย้ายลูกน้องตัวเองซึ่งเป็นนายช่างโยธาเขตจตุจักร มาอยู่เขตบางกอกใหญ่ โดยให้หัวหน้าฝ่ายโยธามีคำสั่งระบุให้ดูแลพื้นที่ฝั่งซ้ายของถนนจรัญสนิทวงศ์และถนนเพชรเกษม ซึ่งเป็นฝั่งที่มีคอนโดมิเนียมจำนวนมาก มีการเรียกค่าเซ็นใบอนุญาตก่อสร้างทั้งที่ถูกแบบกลางของ กทม.แล้ว และยังมีการสร้างสวนเฉลิมพระเกียรติที่เขตธนบุรี โดยประมูลงานผ่านอี-ออคชั่น แต่ได้บริษัทของคนสนิทของรองผู้ว่าฯ คนหนึ่ง ที่น่าแปลกใจคือมีการสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ ล่วงหน้า มีการระดมหรือสั่งข้าราชการ กทม.ให้อำนวยความสะดวกให้กับบริษัทดังกล่าวทุกอย่าง เมื่อสร้างสิ่งก่อสร้างเสร็จเพิ่งจะมาเร่งรัดกับทางเขตให้รีบเซ็นสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง โอยอ้างว่ารองผู้ว่าฯ สั่งมาให้รีบเซ็น

“เท่านั้นยังไม่พอ มีการขนทีมงานของรองผู้ว่าฯรายนี้ไปฉลองเกษียณอายุราชการที่ญี่ปุ่น โดยมีการซื้อสินค้าจากบริษัท ชื่อดัง ในช่วงโปรโมชั่น ซื้อครบ 5 หมื่น จะแจกตั๋วเครื่องบินไป-กลับญี่ปุ่น 1 ใบ ปรากฏว่ามีการสั่งซื้อสินค้าล็อตเดียว 5 ล้านบาท ได้ตั๋วไป-กลับ 100 ใบ ถามว่าเอาเงินที่ไหนมาซื้อสินค้าดังกล่าว ใครเป็นผู้ดูแล และมีการขนข้าราชการ กทม.ในส่วนบริหารไปเที่ยวเป็นระลอก ล่าสุดกำลังไปเที่ยวสหรัฐอีก 7 คน ถามว่าเอาเงินมาจากไหน” นายวิลาศ ระบุ

ทั้งนี้ จะนำเรื่องต่างๆ พร้อมพยานหลักฐานเอกสารและบุคคลเข้าร้องเรียนต่อคณะกรรมการป.ป.ช. และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อขอให้ตรวจสอบเส้นทางการเงินที่ใช้จ่ายในเรื่องนี้ทั้งหมด

เมื่อถามว่า จะมีการนำหลักฐานไปร้องต่อ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ในฐานะผู้บริหารระดับสูงหรือไม่ นายวิลาศกล่าวว่า ขณะนี้ยังมีคำสั่ง คสช.ห้ามพรรคจัดกิจกรรมทางการเมืองใดๆ หากทำได้จะเสนอเรื่องนี้ต่อที่ประชุมพรรคให้พิจารณาด่วน และที่ผ่านมาไม่เคยเห็นหน้าผู้ว่าฯ กทม.เลย และไม่รู้ว่าจะเข้าศาลาว่าการ กทม.เมื่อไหร่ หรือย้ายไปอยู่ดอยแล้ว แต่ขอตั้งข้อสังเกตเรื่องการใช้งบว่า ก่อนหน้านี้ กทม.มีเงินสะสมอยู่ 3 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันลองไปขอตรวจสอบดูเหลือไม่ถึง 2 พันล้านบาท เพราะแต่ละคนมือฉกาจในการทำเรื่องของบประมาณทั้งนั้น.

ว่าด้วยรถใหญ่รถเล็กใครผิด



....มีเรื่องที่คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจผิดกันอยู่เรื่องหนึ่งคือ เข้าใจว่าเมื่อรถเฉี่ยวชนกันรถใหญ่จะเป็นฝ่ายผิด โดยเฉพาะผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์กว่าร้อยละ 95 เข้าใจว่า ถ้าเกิดเฉี่ยวชนกับรถยนต์แล้ว รถยนต์เป็นฝ่ายผิด ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด ๆ เพราะไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใด ๆ บัญญัติไว้เช่นนั้น

.....การที่รถยนต์เกิดการเฉี่ยวชนกับรถยนต์ด้วยกันหรือเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ หรือรถจักรยานยนต์เฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ด้วยกัน ฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายผิดหรือถูกก็ต้องพิจารณาว่า ฝ่ายใดเป็นฝ่ายประมาท


.....ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคสี่ บัญัติว่า กระทําโดยประมาท ได้แก่กระทําความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทําโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทําอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่าน้ันได้แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

.....ตัวอย่างของการกระทำโดยประมาท เช่น การขับรถยนต์หรือจักยานยนต์ด้วยความเร็วสูงแล่นจี้รถที่แล่นอยู่ข้างหน้าในระยะกระชั้นชิดเมื่อรถคันหน้าหยุดกะทันหัน คันที่แล่นตามหลังมาก็หยุดไม่ทันชนท้ายคันหน้า เช่นนี้ ผู้ขับขี่รถคันหลังเป็นฝ่ายประมาทเพราะอาจใช้ความระมัดระวังโดยการขับขี่ทิ้งระยะห่างจากคันหน้าในระยะที่สามารถหยุดรถได้ทัน เมื่อมีเหตุฉุกเฉินแต่ไม่ได้ใช้ หรือกรณีที่รถแล่นออกมาจากถนนซอยเมื่อถึงถนนใหญ่ก็แล่นออกไปเลยโดยผู้ขับขี่ไม่ได้ดูว่ามีรถแล่นมาหรือไม่ และถูกรถที่แล่นมาตามถนนใหญ่เฉี่ยวชน เช่นนี้ รถคันที่แล่นออกมาจากถนนซอยเป็นฝ่ายประมาทเพราะอาจใช้ความระมัดระวังโดยผู้ขับขี่ต้องดูเสียก่อนว่ามีรถแล่นผ่านมาหรือไม่ หรือกรณีที่แล่นตัดหน้ารถคันอื่นกะทันหันในระยะกระชั้นชิดเกินกว่ารถคันนั้นจะสามารถหยุดได้ทัน ก็ต้องถือว่าผู้ขับขี่คันที่แล่นตัดหน้าเป็นฝ่ายประมาท เป็นต้น
.

....ทั้งนี้ไม่ต้องคำนึงว่า คันไหนเป็นรถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ คันไหนเป็นรถที่มีขนาดใหญ่หรือรถที่มีขนาดเล็กกว่า แต่ดูเพียงว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายประมาทเท่านั้น

....ผู้ขับขี่รถยนต์ที่เกิดการเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ ถ้าผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์หรือเจ้าพนักงานตำรวจจราจรแจ้งว่าท่านเป็นผู้ขับขี่รถยนต์ซึ่งเป็นรถใหญ่เป็นฝ่ายผิด ก็บอกให้เขารู้ด้วยว่าไม่มีกฎหมายฉบับใดบัญญัติไว้ แต่เป็นการเข้าใจผิดตาม ๆ กันมาเท่านั้น ครับ

FBสุชาติ ศรีแสง