PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2559

แอมเนสตี้ฯ พบรัฐบาลทวงถามสถานการณ์สิทธิ


แอมเนสตี้ฯ พบรัฐบาลทวงถามสถานการณ์สิทธิ
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล พบหารือกับผู้แทนรัฐบาลเพื่อติดตามความคืบหน้าหลังนำเสนอรายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในไทยเมื่อเดือนที่แล้ว ด้านรองโฆษกรัฐบาลชี้เข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน แนะอย่ามองเพียงหลักการแต่ต้องคำนึงถึงบริบทของไทยด้วย
นายชำนาญ จันทร์เรือง ประธานคณะกรรมการองค์การแอมเนสตี้ฯ ได้พบกับผู้แทนรัฐบาลหลังจากได้นำเสนอรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนให้รัฐบาลไทยเมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยรายงานมีเนื้อหาระบุว่าสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทยถูกจับตาในระดับโลกหลายประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรม และการปิดกั้นความเห็นที่แตกต่าง ขณะที่ความขัดแย้งรุนแรงซึ่งมีการใช้อาวุธนั้นยังดำรงอย่างต่อเนื่องในภาคใต้ไทย ซึ่งหลังจากนั้นกระทรวงต่างประเทศได้ออกแถลงการณ์ระบุว่าแอมเนสตี้ฯ ใช้ข้อมูลที่ไม่ครอบคลุมและไม่คำนึงถึงความคืบหน้าในบางประเด็น เช่น การแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ เป็นต้น
นายชำนาญ กล่าวว่าคำชี้แจงดังกล่าวของรัฐบาลถือว่ากว้างเกินไป แอมเนสตี้ฯ จะให้เวลารัฐบาลอีกระยะก่อนจะติดตามสอบถามอีกครั้ง แต่ยืนยันว่ายังมีประเด็นที่รัฐบาลยังดำเนินการไม่ได้ตามมาตรฐานขั้นต่ำ ทั้งเรื่องเสรีภาพในการพูด การรวมตัว และการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร
ด้าน พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งร่วมหารือด้วยในวันนี้กล่าวกับบีบีซีไทยว่า รัฐบาลจะตอบประเด็นของแอมเนสตี้ฯ โดยละเอียด แต่เห็นว่าการมองเพียงกรอบหลักการโดยไม่คำนึงถึงบริบทของสังคมไทยนั้น ไม่เพียงพอ พล.ต.วีรชนยืนยันว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาเสถียรภาพและความมั่นคง และเข้าใจว่าทุกคนต้องมีสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน แต่ต้องมีความสมดุลและต้องไม่ละเมิดเสรีภาพของคนอื่นด้วยเช่นกัน
ส่วนเรื่องการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารนั้น รองโฆษกรัฐบาลระบุว่าเฉพาะกรณีร้ายแรงเท่านั้นและการพิจารณาคดีมีขั้นตอนไม่ต่างจากศาลปกติซึ่งจำเลยมีสิทธิในการมีทนายและขอประกันตัว ขณะที่คดีส่วนใหญ่ยังใช้ระบบศาลปกติ ‪#‎AmnestyInternational‬ ‪#‎Humanrights‬
(ภาพจากแฟ้มภาพ การประท้วงการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารเมื่อปี 2558)

ประวัติวุฒิสภาไทย

ประวัติวุฒิสภา
          รัฐสภาไทยพัฒนามาจากเคาน์ซิลออฟสเตต (Council of State) หรือ สภาที่ปรึกษา ราชการแผ่นดิน และองคมนตรีสภา(Privy Council)
ซึ่งเป็นสภาที่ปรึกษาในพระองค์ที่มีมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
           ภายหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. ๒๔๗๕  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕  ก็ได้กำหนดให้รัฐสภาเป็นระบบสภาเดียว  คือ สภาผู้แทนราษฎร  มีสมาชิกสองประเภท  (แต่ละประเภทมีจำนวนเท่ากัน) สมาชิก ประเภทที่ ๑  มาจากการเลือกตั้งและสมาชิกประเภทที่ ๒ มาจากการแต่งตั้ง   ทั้งนี้ก็เพื่อให้สมาชิกที่มาจากการแต่งตั้ง(สมาชิกประเภทที่ ๒)คอยช่วยเหลือกลั่นกรองงานของสมาชิก ผู้แทนราฏร(สมาชิก ประเภทที่ ๑) เพื่อให้การทำงานเกิดประโยชน์แก่ประชาชนมากที่สุด ดังเหตุผลที่นายปรีดี พนมยงค์  แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร ความตอนหนึ่ง ว่า
     “…ที่เราจำต้องมีสมาชิกประเภทที่ ๒ ไว้กึ่งหนึ่งก็เพื่อที่จะช่วยเหลือผู้แทนราษฎร   ในฐานะที่เพิ่งเริ่มมีการปกครองแบบรัฐธรรมนูญ เราย่อม
ทราบอยู่แล้วว่า  ยังมีราษฎรอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการศึกษาเพียงพอ  ที่จะจัดการปกครองป้องกันผลประโยชน์ ของตนเองได้บริบูรณ์ ถ้าขืน
ปล่อยมือให้ราษฎรเลือกผู้แทนโดยลำพังเอง  ในเวลานี้แล้ว  ผลร้ายก็จะตกอยู่แก่ราษฎร เพราะผู้ที่จะสมัครไปเป็นผู้แทนราษฎร  อาจเป็นผู้ที่มีกำลัง ในทางทรัพย์ คณะราษฎร ปฏิญาณไว้ว่าถ้าราษฎรได้มีการศึกษาเพียงพอแล้ว ก็ยินดีที่จะปล่อยให้ราษฎรได้ปกครองตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องมีสมาชิกประเภทที่ ๒ ฉะนั้น จึงวางเงื่อนไขไว้   ขอให้เข้าใจว่าสมาชิกประเภทที่ ๒  เป็นเสมือนพี่เลี้ยงที่จะช่วยประคองการงานให้ดำเนินไปสมตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ และเป็นผู้ป้องกันผลประโยชน์อันแท้จริง...”
  

          จากวัตถุประสงค์หรือเจตนารมณ์ดังกล่าวนี้เอง  จึงถือได้ว่า  “วุฒิสภา” หรือสภาที่ทำหน้าที่กลั่นกรองงานของสภาผู้แทนราษฎรได้ถือกำเนิดขึ้นมาในนามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ ๒ ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. ๒๔๗๕  นั่นเอง
          ต่อมาในปี  พ.ศ. ๒๔๘๙ ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์บ้านเมือง  โดยรัฐสภาได้เปลี่ยนเป็น “ระบบสภาคู่” หรือ “ระบบสองสภา” คือ สภาผู้แทนราษฎร และพฤฒสภา  ซึ่งพฤฒสภามีขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นสภายับยั้ง หรือสภากลั่นกรองงาน  คอยเหนี่ยวรั้งมิให้สภาผู้แทนทำงานด้านนิติบัญญัติเร็วเกินไป จนขาดความรอบคอบ ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ ๒ นั่นเอง
          สมาชิกพฤฒสภา  ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.๒๔๘๙ มาจากการเลือกตั้ง(ทางอ้อม)  มีคุณสมบัติสูงกว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งคุณวุฒิและวัยวุฒิ กล่าวคือ ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า ๔๐ ปีบริบูรณ์ มีคุณวุฒิอย่างต่ำปริญญาตรีหรือเทียบเท่ามาแล้วไม่ต่ำกว่า ๕ ปี  หรือเคยดำรงตำแหน่งทางราชการมาแล้วไม่ต่ำกว่าหัวหน้ากอง หรือเทียบเท่า  หรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนมาแล้ว  มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ ๖ ปี โดยวาระเริ่มแรกเมื่อครบกำหนด ๓ ปี ให้มีการเปลี่ยนสมาชิกจำนวนกึ่งหนึ่ง โดยการจับสลากออกและผู้ที่ออกไปแล้วมีสิทธิได้รับเลือกตั้งอีกครั้ง
          อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวใช้บังคับได้ไม่นาน  ก็ถูกยกเลิก รัฐธรรมนูญฯ ฉบับต่อมา คือ ฉบับปี พ.ศ.  ๒๔๙๐  ยังคงกำหนดให้รัฐสภาเป็นระบบสองสภาเช่นเดิม คือ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา(ไม่ได้ใช้ชื่อ “พฤฒสภา”)  สมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้ง  ส่วนอำนาจหน้าที่ยังคงเดิม คือ เป็นสภากลั่นกรอง  
          “วุฒิสภา” ที่สมาชิกมาจากการแต่งตั้ง  มีเรื่อยมาจนกระทั่งมีการปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐  โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐  ได้กำหนดหลักการสำคัญใหม่ ๆ หลายประการ  เช่น  กำหนดประชาชนมีส่วนร่วมในทางการเมืองมากขึ้น  กำหนดให้มีองค์กรอิสระหลายองค์กร  เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการระดับสูงอาจถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งได้  รวมทั้งได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงที่มาและองค์ประกอบของสมาชิกรัฐสภา  โดยในส่วนของวุฒิสภานั้น  เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง โดยไม่ต้องมีการหาเสียงและไม่สังกัดพรรคการเมืองใด  มีจำนวน  ๒๐๐ คน รัฐธรรมนูญฯ กำหนดให้วุฒิสภามีอำนาจหน้าที่เพิ่มขึ้นจากเดิมอำนาจหน้าที่ที่สำคัญก็คือ การคัดสรรบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระและองค์กรสำคัญต่าง ๆ  รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่ในการถอดถอนบุคคลที่กระทำผิดตามที่กฎหมายบัญญัติออกจากตำแหน่ง
          รัฐธรรมนูญฯ ฉบับปฏิรูปการเมืองดังกล่าวได้ใช้บังคับเกือบสิบปี  ก็ถูกยกเลิก  โดยผู้ที่ยกเลิกได้อ้างเหตุสำคัญหลายประการ  เช่น  องค์กรอิสระหลายองค์กรถูกแทรกแซง   สมาชิกของสภาทั้งสอง  มีความสัมพันธ์เป็นเครือญาติใกล้ชิดกัน  ทำให้ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้  
          รัฐธรรมนูญฯ  ที่จัดทำขึ้นใหม่ในปีพุทธศักราช ๒๕๕๐ หรือที่เรียกว่า “รัฐธรรมนูญฯ ฉบับ ประชามติ”  ได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขในหลายส่วน  เช่น  สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งมีจำนวน  ๔๘๐ คน โดย   ๔๐๐คน  มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ส่วนอีก ๘๐  คน  มาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วนโดยการแบ่งเป็นแปดกลุ่มจังหวัด  (สัดส่วนดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงอีกครั้ง  ในปี ๒๕๕๔  โดยรัฐธรรมนูญฯ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม  ได้กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิก  จำนวน  ๕๐๐ คน  มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง(เขตตละหนึ่งคน) จำนวน  ๓๗๕ คน และสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ  ๑๒๕ คน) 
          ส่วนวุฒิสภา  มี  ๑๕๐ คน  มาจากการเลือกตั้ง จังหวัดละ ๑ คน  ส่วนที่เหลือมาจากการสรรหาบุคคลที่มีความรู้  ความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์จากทุกกลุ่มวิชาชีพ โดยคณะกรรมสรรหาสมาชิกวุฒิสภา  ประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรง ตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามอบหมายจำนวนหนึ่งคน และตุลาการ ในศาลปกครองสูงสุดที่ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดมอบหมายจำนวนหนึ่งคน จะสรรหาสมาชิกวุฒิสภาจากรายชื่อบุคคลที่องค์กรวิชาชีพต่าง ๆ เสนอจากบัญชีรายชื่อที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเสนอ   
          รัฐธรรมนูญฯมีเจตนารมณ์ให้สมาชิกวุฒิสภาเป็นสภาของผู้ทรงคุณวุฒิที่หลากหลายและเป็นกลางมากที่สุด  โดยต้องมีอายุ ๔๐ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป จบปริญญาตรี  และต้องไม่มีความเกี่ยวข้อง (ไม่เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตร) กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง ในกรณีที่เคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ต้องพ้นจากตำแหน่งนั้น ๆ มาแล้วเกินกว่า ๕ ปีนับถึงวันรับสมัคร หรือวันที่ได้รับการเสนอชื่อ
          สมาชิกวุฒิสภามีวาระการดำรงตำแหน่ง ๖ ปี เมื่ออายุของวุฒิสภาสิ้นสุดลง ส่วนที่มาจากการเลือกตั้งจะมีการเลือกตั้งใหม่ภายใน ๓๐ วัน ในส่วนที่มาจากการสรรหา จะต้องสรรหาใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน ๖๐ วัน ทั้งนี้ สมาชิกวุฒิสภาจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินหนึ่งวาระไม่ได้ และสมาชิกวุฒิสภาที่พ้นวาระไม่ถึง ๒ ปี จะเป็นรัฐมนตรีหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ได้  
          ในระยะเริ่มแรก  รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐  ได้กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหา(ชุดแรก)  ให้มีวาระ ๓ ปี สามารถได้รับการสรรหาให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาได้อีก
----------------
เรียบเรียงโดย นายไพโรจน์  โพธิไสย 
                  รองเลขาธิการวุฒิสภา
 

คสช.ลุยปราบผู้มีอิทธิพลเมืองกรุง ขึ้นบัญชีจับตา'เก่ง การุณ-เสธ.ไอซ์'



Cr:ไทยรัฐ
คสช. โดย กองทัพภาค 1 นัดประชุม เจ้าหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อเดินหน้าปราบผู้มีอิทธิพล โดยสั่งขึ้นบัญชี 4 ผู้กว้างขวางในเขตกรุงเทพฯ เก่ง การุณ-เสธ.ไอซ์ ติดอยู่ในรายชื่อ 4 ผู้ถูกเพ่งเล็ง...
เมื่อวันที่ 6 มี.ค.2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยกองกำลัง รักษาความสงบเรียบร้อย กองทัพภาคที่ 1 ได้มีหนังสือไปถึง ผบ.พล.1 รอ. เชิญหัวหน้าฝ่ายการข่าว เพื่อร่วมประชุมเกี่ยวกับ กลุ่มผู้มีอิทธิพลในพื้นที่รับผิดชอบ ของกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย กองทัพภาคที่ 1 ในวันที่ 8 มี.ค. เพื่อปราบปราม ผู้มีอิทธิพลทั่วประเทศ ทั้งนี้ในหนังสือคำสั่งดังกล่าว มีการระบุรายชื่อ ผู้มีอิทธิพล 4 ราย ประกอบด้วย
1.นายการุณ โหสกุล หรือ เก่ง อดีต ส.ส.เขตดอนเมืองกว่า 10 สมัย ในนามของพรรคเพื่อไทย และยังเป็นผู้กว้างขวางในเขตดอนเมือง 2.พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต หรือ เสธ.ไอซ์ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ กองทัพบก ผู้กว้างขวางที่มีลูกน้องในแวดวงทหารจำนวนมาก อีกทั้งยังมีความใกล้ชิด กับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถือเป็นที่รู้จักกันอย่างดีทุกวงการ
3.ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หรือ ร.อ.มนัส อดีตทหาร อีกหนึ่งคนสนิทของ เสธ.ไอซ์ อีกหนึ่งผู้กว้างขวาง ในหลายวงการ อาทิ วงการสลากกินแบ่งรัฐบาล และเคยลงสมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ปัจจุบันมีภรรยาเป็นนักการเมืองท้องถิ่น ใน จ.พะเยา และ 4.นายชัยสิทธิ์ งามทรัพย์ ผู้กว้างขวางย่านหมอชิต
ด้าน พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช. กล่าวว่า ช่วงนี้หน่วยงานความมั่นคงเริ่มเข้มงวดมากขึ้น ในการดำเนินการต่อกลุ่มผู้มีอิทธิพลตามนโยบายของรัฐบาล และ คสช.โดยที่ผ่านมาพบมีเรื่องร้องเรียนเข้าจำนวนมาก ที่ส่งสัญญาณว่าในสังคมไทยยังมีบางบุคคลพยายามเอารัดเอาเปรียบบุคคลอื่นๆ อยู่ ด้วยพฤติกรรมที่หลากหลายรูปแบบ และจากข้อมูลที่ เจ้าหน้าที่ได้รับในบางกรณีก็พบว่ามีมูล แต่ในบางกรณีก็พบว่าเป็นเรื่องของการแอบอ้างชื่อบุคคลอื่นๆ มาแอบแฝงอำพราง เพื่อหาประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง ซึ่งจะอย่างไรก็ตามเชื่อว่า เจ้าหน้าที่จะสามารถพิสูจน์ทราบ และเข้าถึงข้อเท็จจริงได้ตามหลักฐาน และองค์ประกอบที่น่าเชื่อถือ รวมทั้งจะสามารถดำเนินการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ได้ โดยอาศัยกฎหมายเป็นหลัก สำหรับรายละเอียดในการดำเนินการคงเป็นเรื่องของแต่ละหน่วยแต่ละพื้นที่ ที่จะบริหารจัดการเพื่อให้เป็นไปตามนโยบาย
ส่วน พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.กล่าวว่า ขณะนี้ มีผู้มีอิทธิพลที่อยู่ในการจับตาของเจ้าหน้าที่ประมาณ 6,000 ราย โดยมีทั้งบุคคลทั่วไป ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น และข้าราชการทหาร ตำรวจ โดยแบ่งเป็น 16 ฐานความผิด แต่ที่ประชาชนต้องการให้เจ้าหน้าที่ เร่งกวาดล้างแบ่งเป็น 8 กลุ่มหลัก แต่ที่มากที่สุดคือ ยาเสพติด นอกนั้นก็แบ่งเป็นฮั้วประมูล เงินกู้นอกระบบ แต่ยังไม่ได้มุ่งเป้า เจาะจงพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แต่จะจู่โจมเข้าตรวจค้นพร้อมกันทั่วประเทศ.

ลิขิต ธีรเวคิน ชำแหละ รธน. “หยุดรักษามะเร็งด้วยคีโม”

7มีนาคม259

ลิขิต



หมายเหตุ – นายลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิตและนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ให้สัมภาษณ์พิเศษ “มติชน” ถึงเนื้อหาและข้อเสนอแนะร่างรัฐธรรมนูญฉบับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)˜
– มองภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญอย่างไรบ้าง
รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับประวัติศาสตร์ ถ้าร่างมาดีก็ทำให้ทุกอย่างเรียบร้อย ได้จารึกในประวัติศาสตร์ แต่ถ้าร่างแล้วนำไปสู่ปัญหาอย่างเช่นที่เคยเกิดเมื่อปี 2535 ประวัติศาสตร์ก็จะซ้ำรอย ทว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เริ่มต้นก็ผิดแล้ว เริ่มด้วยการบอกว่าจะปราบคนโกง รัฐธรรมนูญไม่ได้ใช้ปราบคนโกง แต่สร้างกติกาเพื่อให้คนอยู่ร่วมกัน คนโกงคือคนแหวกกติกา ต้องมีกลไกอย่างอื่นในการตรวจสอบ ไม่ใช่ปราบโกงทั้งฉบับ ถ้ามุ่งแบบนี้ก็เริ่มจากข้อเท็จจริงที่ไม่ไว้วางใจคนบางกลุ่ม รัฐธรรมนูญจะเล่นงานคนกลุ่มเดียวไม่ได้ การร่างรัฐธรรมนูญเพื่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ต้องมีความเข้าใจในเรื่องระบอบ รู้ประวัติศาสตร์ของประชาธิปไตย และต้องรู้ความเป็นมาของประเทศต่างๆ ว่ามีอุปสรรคอย่างไร ต้องเข้าใจวิชารัฐศาสตร์ เมื่อเข้าใจเรียบร้อยแล้วจึงร่างออกมา รัฐธรรมนูญฉบับนี้ในเรื่องของประชาธิปไตย การปกครอง การบริหาร เริ่มต้นก็ผิด ปรัชญาการร่าง ทัศนคติผิดตั้งแต่ต้น ระบอบการปกครองประชาธิปไตยหลักใหญ่คือต้องให้อำนาจกับประชาชน ให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน
บทบัญญัติต่างๆ เริ่มจากฝ่ายนิติบัญญัติคือ ส.ส. ในระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม บอกว่า ถ้าพรรคไหนได้คะแนนเยอะ ก็เลิก หยุด ไม่ต้องให้ แต่เฉลี่ยให้พรรคอื่นบ้าง ซึ่งผิด ประชาชนเลือกแล้วไม่ให้ได้อย่างไร ถ้าประชาชนต้องการเลือกพรรคใหญ่ ต้องให้พรรคใหญ่ มิฉะนั้นจะขัดหลักการ ส่วน ส.ว.ที่เลือกจากกลุ่มอาชีพต่างๆ ยังไม่มีรายละเอียดมาก แต่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางให้มีการเสนอชื่อนายกฯคนนอก แม้จะบอกว่ามาจากการเสนอโดยพรรคการเมือง ประเทศไทยมีพรรคเล็กพรรคน้อยเยอะแยะไปหมด ขณะเดียวกันศาลรัฐธรรมนูญกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีอำนาจมหาศาล เป็นอัครองค์กร และการกำหนดกฎเกณฑ์ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ยากเกินไปจะเป็นต้นตอของปัญหาใหญ่ในอนาคต
– รัฐบาลอยากให้มีกลไกพิเศษในช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อแก้ไขวิกฤต
ถ้ามีอย่างมากก็ 3 เดือน ไม่ใช่มาเป็นปีๆ อย่างเช่นที่นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกฯ ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญ เสร็จแล้วลาออกเลย 3-4 เดือน ไม่ใช่เปลี่ยนผ่าน 5 ปี บอกตรงๆ ว่าเสี่ยง มันไม่สามารถไปถึง 5 ปีได้ เพราะฉะนั้นที่อ้างว่าเปลี่ยนผ่านนั้นใครเป็นคนตัดสิน คิดเอาเองทั้งนั้น เอาอะไรมาประกันว่าเปลี่ยนผ่านตั้ง 5 ปี แล้วทุกอย่างจะเรียบร้อย ถ้ารัฐธรรมนูญดีอยู่แล้วภายใน 2-3 เดือน เลือกตั้งทันที เลือกตั้งเสร็จแล้วจะมาเปลี่ยนผ่านอะไรอีก ไม่ต้องมี ไม่ต้องมาคุมอะไรทั้งสิ้น คนไทยไม่ใช่เด็กทารก คนไทยเป็นผู้ซึ่งเติบโตแล้ว รัฐธรรมนูญผ่านมา 82 ปี ล้มลุกคลุกคลานเพราะมีหลายตัวแปร ไม่ใช่อยู่ๆ มาอ้างว่าไม่พร้อม จึงต้องอยู่อีกตั้ง 5 ปีเพื่อเปลี่ยนผ่าน ที่บอกว่าป้องกันปัญหาเมื่อมีวิกฤต ก็วิกฤตสร้างกันมาเองทั้งนั้น ผมไม่ได้ต่อต้านใคร ผมพูดโดยสัจธรรมว่านี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น
ตกลงหมายความว่าร่างรัฐธรรมนูญมาเพื่อรออีก 5 ปี แล้วจึงมีรัฐธรรมนูญตัวจริง บทเฉพาะกาลเขียนเผื่ออนาคต 3 เดือน 6 เดือนนั้นพอไหว แต่รัฐบาลกลับบอกว่า ต้องเผื่อแก้ไขปัญหาวิกฤต 2 ช่วง นั่นเท่ากับตบตากัน พูดตรงๆ เหมือนกับว่ารัฐธรรมนูญดีแล้วแต่ไม่ใช้ เหมือนผมให้เงินคุณ 1 ล้าน แต่จะให้หลังจาก 10 ปีผ่านไป แล้วจะมีประโยชน์อะไร เมื่อคุณไม่ได้เงินล้านนั่นอยู่ดี ขณะเดียวกันผู้มีอำนาจต้องการ ส.ว.มาเป็นฐานอำนาจ ต้องการอยู่ในอำนาจต่อ จึงต้องมีบทเฉพาะกาลให้อำนาจ ส.ว.
– รัฐบาลอาจต้องการแก้ไขปัญหาจริงๆ เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยก็เกิดวิกฤตอย่างที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน
ประชาชนต้องมีวุฒิภาวะพอที่จะอยู่โดยกติกา การชุมนุมที่ไม่มีการสร้างขึ้นมาเราไม่ว่ากัน แต่การชุมนุมนั้นสร้างกันขึ้นมาได้ ดังนั้นประชาชนต้องมีระเบียบวินัยและวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตย ถ้าไม่มีระเบียบวินัยและความเป็นประชาธิปไตยจะไปไม่รอด เมื่อเป็นเช่นนั้น ต้องทบทวนแล้วว่าประชาธิปไตยใช้ได้หรือไม่กับประเทศนี้ เมื่อใช้ไม่ได้แล้วมีระบอบทางเลือกหรือไม่ ถ้าไม่มี ก็ต้องกลับไปสู้ระบอบที่เลวน้อยที่สุดคือประชาธิปไตย ประชาธิปไตยไม่ใช่ระบอบที่ดี แต่เป็นระบอบที่เลวน้อยที่สุด หรือเป็นระบอบที่ทำงานได้ผล นี่คือหลักการใหญ่ๆ ผมไม่ได้บอกว่าประชาธิปไตยดีร้อยเปอร์เซ็นต์ เผด็จการเสียงข้างมาก ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือนั้นมี มันอยู่ที่จริยธรรมของนักการเมือง ความรับผิดชอบของประชาชน ที่ต้องมีวัฒนธรรมการเมืองที่ศรัทธาในประชาธิปไตย
ดังนั้น การอยากมีกลไกต่างๆ ในช่วงเปลี่ยนผ่านก็เพื่อจะรักษาอำนาจเอาไว้ ไม่อยากลงจากอำนาจเพราะยังมีบางอย่างที่สามารถวกกลับมาหาตัวเองได้ แต่อำนาจมีแนวโน้มทำให้คนเสียคน อยู่ในอำนาจถึงจุดจุดหนึ่ง ก็ไม่อยากลงจากอำนาจ อำนาจอร่อยกินแล้วติดใจ แต่ในสภาวะของสังคมทั้งภายในและต่างประเทศเปลี่ยนไปหมดแล้ว ถ้าไม่ลงอย่างสวยงาม มันก็อาจจะไม่สวยงามไปเลย การทำอะไรที่ทวนกระแสต้องคำนึงให้มาก ผมไม่สงสัยในการตั้งใจดีของผู้มีที่เกี่ยวข้องกับอำนาจ ไม่ว่าจะร่างรัฐธรรมนูญ หรือคุมอำนาจก็แล้วแต่ แต่ผมสงสัยในแง่ความรู้ ถ้าขาดความรู้ ข้อมูล มันจะมีปัญหา
– มองเจตนาคนร่างฯอย่างไร
เจตนารมณ์คือต้องการประชาธิปไตยครึ่งใบ ให้เป็นเหมือนรัฐธรรมนูญปี 2521 ไม่ต้องการให้คนไม่ดี คนโกงกินเข้ามาสู่การเมือง ในแง่หนึ่งคนโกงก็ต้องมีวิธีป้องกัน แต่วิธีการถูกต้องหรือไม่ อาจทำถูก แต่กลับกระทบกับหลักใหญ่กว่านั้นอีก กระทบหลักการปกครองประชาธิปไตย ผมไม่เห็นด้วยกับการรักษามะเร็งด้วยคีโม แม้ไปทำลายเนื้อร้าย แต่ในขณะเดียวกันร่างกายพังหมดเลย คือกระบวนการรักษาส่งผลกระทบต่อร่างกายมากกว่ามะเร็ง แม้มะเร็งจะหยุด แต่ส่วนอื่นเราพังหมด มันจะมีประโยชน์อะไร ถ้าต้องการรักษามะเร็งแต่ทำให้ร่างกายอ่อนแอกว่าเดิม ผมสงสัยว่าการรักษาแบบนี้มันสมเหตุสมผลหรือ เราแก้ปัญหาหนึ่ง แต่มีปัญหาอีกหนึ่งตามมา ซึ่งหนักว่าปัญหาที่แก้เสียอีก
บอกตรงๆ ประชาชนต้องการสิทธิเสรีภาพ แต่ไม่แน่ใจว่าประชาชนเข้าใจถึงประชาธิปไตยอย่างลึกซึ้งจริงๆ หรือไม่ นักการเมือง นักวิชาการเองเข้าใจรัฐธรรมนูญหรือไม่ คนร่างรัฐธรรมนูญเองนอกจากนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และสมาชิกที่เป็นคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ถามว่ามีความรู้ด้านรัฐศาสตร์ ประวัติประชาธิปไตยมากน้อยเพียงใด ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์จากนิด้า-จุฬาฯ ถามว่ารู้เรื่องประชาธิปไตย รู้รัฐศาสตร์จริงๆ เหรอ
ดังนั้น การลงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญจึงเป็นรูปแบบทางการเมือง แม้กระทั่งหย่อนบัตรเลือกตั้งก็เป็นการประกอบพิธีกรรมทางการเมือง นี่ไม่ใช่การต่อต้านประชาธิปไตย แต่ในความเป็นจริงหลีกเลี่ยงไม่ได้ มีคนจำนวนไม่น้อยลงคะแนนเสียงเลือกตั้งที่ไม่ใช่การเลือกตั้ง แต่เป็นการประกอบพิธีกรรมการหย่อนบัตร
– จะทำอย่างไรกับปัญหานักการเมือง
นักการเมืองต้องถามตัวเองเหมือนกันว่ามาเป็นนักการเมืองเพื่ออะไร มีความรู้เรื่องประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน มีอุดมการณ์ความรับผิดชอบต่อสังคม มีจริยธรรมทางการเมือง มีความอิสระในการตัดสินใจโดยไม่อยู่ในอาณัติของพรรคการเมืองมากแค่ไหน ไม่ใช่ใช้อำนาจรัฐหาผลประโยชน์ นั่นไม่ใช่นักการเมืองที่ถูกต้อง นักการเมืองต้องทำเพื่อส่วนรวม เพื่อประเทศชาติ เข้ามาทำงานจริงๆ มีความรู้มีความเข้าใจ และเป็นตัวของตัวเอง รักษาไว้ซึ่งกฎกติกาของสังคม ถ้าเข้าไปแล้วทำผิดๆ ถูกๆ โกงกิน นั่นไม่ใช่นักการเมืองที่พึงประสงค์ ไม่ต่างอะไรกับคนรับงานแล้วไม่ทำงาน เหมือนรับงานแล้วหาประโยชน์จากงานนั้นโดยไม่สุจริตธรรม
– ประเมินได้หรือไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติหรือไม่
ผมไม่ทราบ จะมีการลงประชามติหรือไม่ยังไม่รู้ อะไรก็เกิดขึ้นได้ ตอนนี้ตัวแปรเยอะมาก ใครจะคาดเดาได้ว่าพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น ขณะนี้ไม่มีอะไรแน่นอน ความขัดแย้งต่างๆ ก็มีหลายส่วน ประเด็นตอนนี้คือ 1.จะมีประชามติหรือไม่ 2.ถ้ามีแล้วจะผ่านหรือไม่ จะนำไปสู่ความสันติหรือไม่ ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ผมว่าควรใช้รัฐธรรมนูญเดิมไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ ปี 2550 หรือ 2540 แล้วประกาศเลือกตั้งให้ทันปี 2560 แต่ฉบับของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ควรนำมาใช้ เพราะไม่ผ่านความเห็นชอบใดๆ เลย เหลือ 2 ฉบับคือปี 2540 และ 2550 แต่รัฐธรรมนูญปี 2540 กระชับกว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่ดี สิทธิเสรีภาพดีขึ้นมาก ผมเห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 น่าจะเหมาะกว่า ส่วนจะแก้ตรงไหนก็อีกเรื่องหนึ่ง การแก้นั้นต้องไม่ขัดกับหลักการใหญ่
– มองออกไหมว่าวันหนึ่งมีรัฐบาลเลือกตั้งแล้วจะเป็นอย่างไร
ตัวพิสูจน์คือรัฐบาลจากการเลือกตั้งจะสามารถทำได้ดีกว่านี้หรือไม่ จะเป็นที่นับถือ ยอมรับ แก้ปัญหาได้จริงๆหรือไม่ ถ้าเลือกแล้วไม่สามารถแก้ไขปัญหาใดๆ ได้จะตอบคำถามอย่างไร ในเมื่อนักการเมืองเรียกร้องสิ่งนี้ แต่ไม่สามารถทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ดังนั้นจึงมีความชอบธรรมหรือไม่ที่เรียกร้อง เพราะฉะนั้นระวังให้ดี ตระหนักเรื่องนี้ไว้ รัฐบาลต่อไปที่มาจากการเลือกตั้งจะต้องคัดตัวบุคคลอย่างเต็มที่ ต้องมีมาตรการที่เข้มงวด ดำเนินการไปตามกฎหมาย ไม่มีการฉ้อราษฎร์บังหลวง ทำทุกอย่างให้โปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาล มิเช่นนั้นจะไม่สามารถแก้ตัวได้เลย เมื่อชี้นิ้ววิพากษ์วิจารณ์คนอื่น ขณะที่ตัวเองก็ไม่ได้ดีกว่ากัน นิ้วที่ชี้จึงวกกลับมาหาตัวเอง
– มีอะไรอยากเสนอแนะกรธ.
เมื่อร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาหวังจะแก้ปัญหา แต่ถ้าร่างฯเสร็จแล้วจะนำไปสู่ปัญหาที่หนักกว่าเดิม เกิดปัญหาเหมือนเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 มีคนเสียชีวิต นำปัญหาอันหนักหน่วงกลับมาอีก เป็นการล้มเหลวโดยสิ้นเชิง กรธ.ต้องตั้งสติให้มั่น และมีความคิดแบบว่าถูกต้องหรือไม่ที่ร่างอย่างนี้ สอดคล้องความเป็นจริง มีโอกาสสำเร็จหรือไม่ ถ้าไม่สำเร็จจะแก้อย่างไร ผมถึงบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับประวัติศาสตร์ ถ้าร่างมามีปัญหา เกิดความเสียหายอย่างหนัก ผู้ร่างต้องรับผิดชอบ

แอมเนสตี้ จี้ รัฐบาลหยุดคุกคามเสรีภาพ

แอมเนสตี้ จี้ รัฐบาลหยุดคุกคามเสรีภาพ
***************************************************************
‪#‎NEWSROOM‬ ‪#‎TV24‬ นายชำนาญ จันทร์เรือง ประธานกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เข้าพบรัฐบาลติดตามความคืบหน้าข้อเรียกร้องด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งผลการหารือในวันนี้นายชำนาญ กล่าวว่า ได้ยืนยันข้อเรียกร้องเดิมต่อรัฐบาลไทยในการเปิดเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง การชุมนุม และไม่มีการคุกคามและถูกจับกุม โดยรัฐบาลได้แจ้งให้กับทางแอมเนสตี้หลายเรื่อง แม้จะยังไม่มีข้อสรุปที่ตรงกันแต่เชื่อว่าทางรัฐบาลไทยจะดำเนินการให้เกิดความมาตรฐานทางเสรีภาพ
ขณะที่พลตรีวีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า การหารือวันนี้ได้มีการชี้แจงการทำงานรัฐบาลต่างๆ ซึ่งเสรีภาพนั้นรัฐบาลให้ความสำคัญแต่ต้องอยู่บนหลักพื้นฐานของการไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น พร้อมชี้แจงแอมเนสตี้ถึงบริบทของประเทศไทยในการดำเนินการแต่ละอย่าง ซึ่งรัฐบาลไทยยืนยันว่าเคารพสิทธิเสรีภาพเสมอ โดยหลังจากนี้จะชี้แจงกับทางแอมเนสตี้เพื่อให้เกิดความชัดเจนในผลรายงานที่ตรงกัน

คำสั่งสำนักเลขาฯวุฒิสภามัด “พล.ร.อ.ธราธร” แต่งตั้ง “ภรรยา” ควบตำแหน่ง “ผู้เชี่ยวชาญ-ผู้ชำนาญการ-ผู้ช่วยดำเนินงาน สนช.”

ดูชัด ๆ คำสั่งสำนักเลขาฯวุฒิสภามัด “พล.ร.อ.ธราธร” แต่งตั้ง “ภรรยา” ควบตำแหน่ง “ผู้เชี่ยวชาญ-ผู้ชำนาญการ-ผู้ช่วยดำเนินงาน สนช.” ก่อนตั้ง "ลูก" ผู้ชำนาญการต่อ รับเงินรวดเดียว 5.9 หมื่นบาท
PIC sapa 4 3 58 1
ในที่สุดสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็เริ่มขยับกาย !
ภายหลังสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบ สนช. จำนวนกว่า 50 ราย แต่งตั้งภรรยา-บุตร-เครือญาติ เข้าดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญ-ผู้ชำนาญการ-ผู้ช่วยดำเนินงาน สนช. รับเงินเดือน 1.5-2.4 หมื่นบาท 
โดยนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 ออกมาเปิดเผยถึงมติที่ประชุมคณะกรรมาธิการกิจการสามัญสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) ยืนยันว่า มติวิป สนช. ให้คำแนะนำกับ สนช. ที่มีการแต่งตั้งบุคคลใกล้ชิดเข้ามาทำหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ และผู้ช่วยดำเนินงาน ว่าควรปรับเปลี่ยนให้บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งเหล่านี้ ออกจากตำแหน่งไป หลังจากที่สังคมตั้งคำถามถึงความเหมาะสม
อย่างไรก็ดี มีบางฝ่ายครหาว่า พล.ร.อ.ธราธร ขจิตสุวรรณ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 ที่แต่งตั้ง "ภรรยา" เข้ามาดำรงตำแหน่ง ผู้เชี่ยวชาญ-ผู้ชำนาญการ-ผู้ช่วยดำเนินงาน สนช. ทั้ง 3 ตำแหน่งนั้น ไม่เป็นความจริง ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำคำสั่งของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เรื่อง การแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญ-ผู้ชำนาญการ-ผู้ช่วยดำเนินงาน มาเผยแพร่ให้เห็นชัด ๆ ดังนี้
1.คำสั่งสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ฉบับที่ 1660/2557 เรื่อง แต่งตั้งผู้ช่วยประจำตัว สนช. ลงวันที่ 29 ก.ย. 2557 มีผล 1 ส.ค. 2557
พล.ร.อ.ธราธร แต่งตั้ง พล.ร.ต.หญิง พวงพลอย ขจิตสุวรรณ คู่สมรส รับเงินเดือน 15,000 บาท
PIC ธราธรแตงตง 1
PIC ธราธรแตงตง 2
2.คำสั่งสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ฉบับที่ 1741/2557 เรื่อง แต่งตั้งผู้ชำนาญการประจำตัว สนช. ลงวันที่ 14 พ.ย. 2557 มีผล 1 พ.ย. 2557
พล.ร.อ.ธราธร แต่งตั้ง พล.ร.ต.หญิง พวงพลอย รับเงินเดือน 20,000 บาท
PIC ธราธรแตงตง 3
ต่อมา คำสั่งสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ฉบับที่ 44/2558 เรื่อง แต่งตั้งผู้ชำนาญการประจำตัว สนช. ลงวันที่ 12 ก.พ. 2558 มีผลเมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2558
พล.ร.อ.ธราธร แต่งตั้ง เรือตรีหญิงอนพัทย์ ขจิตสุวรรณ บุตรสาว รับเงินเดือน 20,000 บาท
อย่างไรก็ดี ยังไม่ปรากฏคำสั่งที่ให้ พล.ร.ต.หญิง พวงพลอย พ้นจากตำแหน่งผู้ชำนาญการประจำตัวแต่อย่างใด
PIC ธราธรแตงตง 6
3.คำสั่งสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ฉบับที่ 43/2558 เรื่อง แต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญประจำตัว สนช. ลงวันที่ 15 ม.ค. 2558 มีผล 1 ม.ค. 2558 
พล.ร.อ.ธราธร แต่งตั้ง พล.ร.ต.หญิง พวงพลอย รับเงินเดือน 24,000 บาท
PIC ธราธรแตงตง 4
PIC ธราธรแตงตง 5
เท่ากับว่า หาก พล.ร.ต.หญิง พวงพลอย ยังไม่พ้นตำแหน่งผู้ชำนาญการ จะได้รับเงินเดือนทั้งหมด 15,000 + 20,000 + 24,000 = 59,000 บาท
อย่างไรก็ดีประกาศ สนช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งบุคคลเพื่อปฏิบัติงานให้แก่ สนช. บังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2557 ประกาศเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2557 มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ลงลายมือชื่อกำกับ ระบุชัดเจนว่า
“บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งเพื่อปฏิบัติงานให้แก่ สนช. คนหนึ่ง ให้ดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญ-ผู้ชำนาญการ-ผู้ช่วยดำเนินงาน ได้เพียงตำแหน่งเดียว และบุคคลดังกล่าวจะต้องไม่เป็นผู้ปฏิบัติงานให้แก่ สนช. คนอื่นอีก”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ได้ติดต่อไปยัง พล.ร.อ.ธราธร เพื่อให้ชี้แจงต่อกรณีดังกล่าวแล้ว แต่ไม่สามารถติดต่อได้ โดยมีคนรับสายอ้างว่า พล.ร.อ.ธราธร ติดประชุมอยู่
ล่าสุด นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ได้ให้ น.ส.นันทนัช ศิรธรานนท์ บุตรสาว พ้นจากตำแหน่ง ตามคำสั่งเลขาธิการวุฒิสภา ที่ 101/2558 เรื่อง ให้ผู้ช่วยดำเนินงานของ สนช. พ้นจากตำแหน่ง แล้ว เมื่อวันที่ 15 ก.พ. ที่ผ่านมา 
ดังนั้น ต้องจับตาดูต่อว่า ท้ายสุด พล.ร.อ.ธราธร รวมไปถึง สนช. รายอื่น ๆ จะดำเนินการตามมติของวิป สนช. คือปรับเปลี่ยนคู่สมรสออกจากตำแหน่งหรือไม่
เพราะเมื่อท่านพูดเราจะฟัง เมื่อท่านลงมือทำเราถึงจะเชื่อ !

จับตา ผลสอบ "ราชภักดิ์"ของ ก.ยุติธรรม หลัง10มีค.นี้ หลัง ผู้ว่าฯ สตง. ยันซ้ำ ไม่พบความผิดปกติ

จับตา ผลสอบ "ราชภักดิ์"ของ ก.ยุติธรรม หลัง10มีค.นี้ หลัง ผู้ว่าฯ สตง. ยันซ้ำ ไม่พบความผิดปกติ "อุทยานราชภักดิ์" จะพลิก ตะแคง กลับไปกลับมา พลิกแล้วพลิกอีกยังไง สิ่งที่เรียกว่า "ผิดปกติ" ก็ยังไม่เจอ ขณะที่"รมว.ยุติธรรม"ให้ไปหา 2-3 ประเด็นเพื่อตอบสังคมทุกข้อสงสัย คาด บิ๊กต๊อก แถลงเอง
อ่านข่าว ย้อนหลัง....เพิ่งรู้ว่า เจอตัว "เซียนอุ๊" แล้ว แถมมาให้ปากคำ ด้วย
2 มีนาคม 2559 นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้สัมภาษณ์ ถึงกรณี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) อยากให้ตรวจสอบข้อมูลโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์เพิ่มเติม 2-3 ประเด็นว่า ไม่ได้มีอะไรสลับซับซ้อน ในส่วนของ สตง.เอง เห็นว่าจะพลิก ตะแคง กลับไปกลับมา พลิกแล้วพลิกอีก อย่างไร สิ่งที่เรียกว่า "ผิดปกติ" ก็ยังไม่เจออะไร แต่อาจจะมีข้อบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ใช่ผิดปกติมากมายอะไร
ส่วน2-3 ประเด็นที่ รมว.ยุติธรรม ต้องการให้ไปหาเพิ่มเติม นั้น ก็เป็นเรื่องของหลักฐาน เพื่อต้องการให้สามารถตอบคำถามต่อสังคมได้กระจ่างเท่านั้นช่วยดูให้ละเอียดขึ้น จะได้ตอบทุกปัญหาที่คาใจกันได้
ส่วนเรื่องพยานบุคคล สตง.สอบไปเยอะแล้ว รวมถึงนายวัชรพงศ์ ระดมสิทธิพัฒน์ หรือ อุ๊ กรุงสยาม เซียนพระชื่อดังด้วย
ทั้งนี้ หลังวันที่ 10 มี.ค.ทาง รมว.ยุติธรรมจะนัดให้มีการแถลงข่าวชี้แจงเรื่องนี้
(ผู้จัดการ ออนไลน์)
ผู้ว่าฯสตง. ยัน ไม่พบความผิดปกติโครงการราชภักดิ์ ระบุ รมว.ยุติธรรม ให้ไปหา 2 – 3 ประเด็นเพื่อตอบสังคมทุกข้อสงสัย เผย หลัง 10 มี.ค. “บิ๊กต๊อก”แถลงเรื่องนี้
MANAGER.CO.TH|โดย MGRONLINE LIVE

โฆษก คสช.เผย หน่วยมั่นคง เข้มงวด จัดการ ผู้มีอิทธิพล ระบุ มีปชช.ร้องเรียนเพียบ



โฆษก คสช.เผย หน่วยมั่นคง เข้มงวด จัดการ ผู้มีอิทธิพล ระบุ มีปชช.ร้องเรียนเพียบ ทั้งจริง และแอบอ้างชื่อ ปัดตอบ มีชื่อ "เสธ.ไอ้ซ์-ผู้กองมนัส-เก่ง การุณ" ให้เป็นรายละเอียดของแต่ละหน่วย
จากการที่ กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย กองทัพภาค1 (กกล.รส.ทภ.1) จะประชุม 8 มีค.นี้ เพื่อมอบนโยบายการปราบปรามผู้มีอิทธิพล โดยมีการมอบหมายให้แต่ละหน่วย ดำเนินการต่อผู้มีอิทธิพล ในแต่ละพื้นที่ และ ตามที่ ผู้บังคับบัญชา มอบหมาย นั้น
โดยมีเอกสารของ พล.1รอ. ระบุให้ ร.11พัน2รอ. เำเนินการกับ นาย การุณ โหสกุล. ร.อ.ธรรมนัส พรมเผ่า และ เสธ.ไอ้ซ์ พลเอกไตรรงค์ อินทรทัต นั้น
พันเอก วินธัย สุวารี โฆษก คสช. กล่าวว่า ในช่วงนี้หน่วยงานความมั่นคง จะเริ่มเข้มงวดมากขึ้น ในการดำเนินการต่อกลุ่มผู้มีอิทธิพลตามนโยบายของรัฐบาลและคสช.
โดยที่ผ่านมา พบว่า มีเรื่องร้องเรียนเข้าจำนวนมาก ที่ส่งสัญญาณว่าในสังคมไทยยังมีบางบุคคลพยายามเอารัดเอาเปรียบบุคคลอื่นๆอยู่ ด้วยพฤติกรรมที่หลากหลายรูปแบบ
จากข้อมูลที่ จนท.ได้รับในบางกรณีก็พบว่ามีมูล แต่ในบางกรณีก็พบว่าเป็นเรื่องของการแอบอ้างชื่อบุคคลอื่นๆ มาแอบแฝงอำพราง เพื่อหาประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง
อย่างไรก็ตามเชื่อว่าเจ้าหน้าที่จะสามารถพิสูจน์ทราบและเข้าถึงข้อเท็จจริงได้ตามหลักฐานและองค์ประกอบที่น่าเชื่อถือ รวมทั้งจะสามารถดำเนินการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ได้โดยอาศัยกฎหมายเป็นหลัก
ส่วนรายละเอียดในการดำเนินการ ว่า เป็นใคร อย่างไรบ้าง นั้น เป็นเรื่องของแต่ละหน่วยแต่ละพื้นที จะบริหารจัดการเพื่อให้เป็นไปตามนโยบาย

ถกแม่น้ำ 4 สาย..,..


ถกแม่น้ำ 4 สาย..,..
นายกฯ ประชุม แม่น้ำ4สาย ไม่ใช่5 สาย. บนตึกไทยคู่ฟ้า มีแค่ ครม -คสช-สนช-สปท. ตามจี้งาน ไม่มี"มีชัย"-กรธ.ร่วม เผย ไม่ได้เชิญ คาดหวั่นถูกมองรับใบสั่ง แถมกันพื้นที่สื่อเข้าใกล้ตึกฯ
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหน.คสช.หารือกับกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ “Prime Minister Meets CEOs (2st Series)”ในช่วงเช้าที่ทำเนียบรัฐบาล ก่อนมีการประชุมในช่วงบ่าย
ซึ่งคาดว่าเป็นการหารือการทำงานในภาพกว้าง รวมถึงการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกของ กรธ.ในประเด็นที่สังคมมีการวิพากษ์วิจารณ์กัน รวมถึงเรื่องแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และการปฏิรูปประเทศของ สปท. เพราะการปฏิรูปเกี่ยวข้องกับองค์กรต่างๆ
ขณะเดียวกัน จะเร่งรัดการทำงานของ สนช.ในเรื่องการออกกฎหมายที่สำคัญๆ รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 เกี่ยวกับการออกเสียงประชามติด้วย
โดยจะเร่งรัดให้การทำงานของแม่น้ำแต่ละสายให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะระยะเวลาการทำงานของรัฐบาลเหลือน้อยลง ดังนั้นภารกิจของแม่น้ำ 5 สายในแต่ละส่วนจะต้องมีผลงานให้เห็นเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ ในเวลา 13.30 น. สมาชิก แม่น้ำ4 สาย ได้เดืนทางมาประชุม บนตึกไทยคู่ฟ้า โดยไม่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ และกรธ.
โดย นายมีชัย เปิดเผยกับสื่อ สายรัฐสภา ว่า เนื่องจาก ไม่ได้รับเชิญ
โดยทาง จนท.ทำเนียบฯ กำหนดพื้นที่หวงห้าม ไม่ได้อนุญาต สื่อไป รอที่ทางเชิ่อม ข้างตึกไทยคู่ฟ้า เพื้อดักสัมภาษณ ผู้มาร่วมประชุม. คาดว่า วันนึ้ นายกฯ อาจมอบหมาย. นายวิษณุ ชี้แจงสื่อ เรื้องการประชุม แทน

เสธ.ไอซ์" ลั่น เลอะเทอะ ไร้สาระ ถูกยัดชื่อ เป็นผู้มีอิทธิพล ยันไม่เกี่ยวข้อง ระบุ โลว์โปรไฟล์ มานานแล้ว

เสธ.ไอซ์" ลั่น เลอะเทอะ ไร้สาระ ถูกยัดชื่อ เป็นผู้มีอิทธิพล ยันไม่เกี่ยวข้อง ระบุ โลว์โปรไฟล์ มานานแล้ว ช่วยเหลืองานสังคม ทำบุญ เพราะเกษียณมา 7 ปีแล้ว อยากอยู่แบบเงียบ ๆ เชื่อน้องทหารคนที่ใส่ชื่อน่าจะเอาข่าวเก่ามาเล่น/ เผยสุขภาพ เสธ.ไอ้ซ์ ไม่ค่อยดี แล้ว ออกงานล่าสุด เมื่อวันเกิด1 กย.2558 ที่ผ่านมา ในร้านอาหารย่านรามอินทรา
จากกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)โดยกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.)กองทัพภาคที่ 1 ได้รายงานผู้ที่อยู่ในข่าย มีรายชื่อเป็นผู้มีอิทธิพลในเขตพื้นที่รับความผิดชอบของ พล.1 รอ. และมีชื่อ "เสธ.ไอซ์" พลเอกไตรรงค์ อินทรทัต อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทบ. และเพื่อนเตรีมทหารรุ่น 10 ของ อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้มีอิทธิพลด้วยนั้น
พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต นายทหารนอกราชการ กล่าวว่า ตนไม่ให้ความสำคัญ กับข่าวนี้ ไม่มีสาระ ผมไม่เคยรู้เรื่อง เพราะตอนนี้ผมเกษียณราชการมา 7 ปี ไม่เคยทะเลาะเบาแว้งกับใคร เก็บตัว ทำบุญ ช่วยเหลืองานสังคมมาโดยตลอด ไม่เคยรู้เรื่องเกี่ยวกับผู้มีอิทธิพล อยากจะอยู่เงียบๆ
"ข่าว น่าจะเลอะเทอะ อยากรู้ว่าหน่วยไหนหรือใครเป็นผู้รายงาน ถ้าจะบอกว่าเป็นผู้มีอิทธิพล มันต้องอยู่ในข่าย ขบวนการค้ายาเสพติด ฮั้วประมูล ค้ามนุษย์ บ่อนการพนัน แต่ผมไม่รู้เรื่องอะไร ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับสิ่งเหล่านี้เลย"
"ปัจจุบันผมไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับใคร อยู่อย่างเงียบ ๆ ช่วยเหลืองานสังคม และรายชื่อที่เห็นก็น่าจะนำมาจากข่าวเก่า ๆ ไร้สาระ ไม่อยากให้ความสำคัญ ในเมื่อเรารู้ว่าเราทำอะไร"เสธ.ไอซ์. กล่าว
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบัน พลเอกไตรรงค์ อายุ67 ปี มีอาการไม่สบาย และทำอะไรช้าลง ไม่แข็งแรงเช่นแต่ก่อน และ ลดบทบาท มาตั้งแต่ หลัง รัฐประหาร22พค. เรื่อยมา โดยมักใช้เวลาไปพักผ่อน ในต่างประเทศ และรักษาตัว เพราะไม่ต้องการมีปัญหากับ คสช. โดยออกงานล่าสุด เมื่อวันเกิด1 กย.2558 ที่ผ่านมา ในร้านอาหารย่านรามอินทรา

เสร็จนาฆ่าโคถึก! อิหร่านสั่งประหาร “บาบัก ซันจานี” มหาเศรษฐีที่เคยช่วยรัฐ "ลักลอบขายน้ำมัน"

manager
7 มีนาคม 2559 16:21 น.
เสร็จนาฆ่าโคถึก! อิหร่านสั่งประหาร “บาบัก ซันจานี” มหาเศรษฐีที่เคยช่วยรัฐ ลักลอบขายน้ำมัน
บาบัก ซันจานี มหาเศรษฐีชาวอิหร่าน ซึ่งถูกศาลตัดสินประหารชีวิตฐานฉ้อโกงรัฐ
        เอเอฟพี - บาบัก ซันจานี มหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของอิหร่าน ซึ่งเคยเป็นนายหน้าช่วยรัฐแอบขายน้ำมันในช่วงที่ถูกนานาชาติคว่ำบาตร ถูกศาลตัดสินประหารชีวิตด้วยข้อหาคอร์รัปชัน และฉ้อโกงเงินของทางการไปกว่า 2,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
       
       เจ้าหน้าที่ยุติธรรมอิหร่านประกาศลงโทษตายแก่ ซันจานี เมื่อวันอาทิตย์ (6) แต่ระบุว่า มหาเศรษฐีผู้มีประวัติอื้อฉาวจากการช่วยรัฐบาลอดีตประธานาธิบดี มะห์มูด อาห์มาดิเนจัด ลักลอบค้าน้ำมันเพื่อดึงดูดสกุลเงินแข็งเข้าประเทศระหว่างปี 2005-2013 ยังมีสิทธิ์ที่จะอุทธรณ์ได้
       
       ซันจานี เริ่มก้าวขึ้นมามีอิทธิพลอย่างสูง หลังชาติตะวันตกประกาศมาตรการคว่ำบาตรระบบธนาคารของอิหร่าน ซึ่งทำให้เตหะรานขาดแคลนรายได้อย่างหนัก
       
       ซันจานี ยืนยันว่า ตนเพียงทำหน้าที่ “นายหน้า” ให้กับรัฐบาลอาห์มาดิเนจัด ซึ่งรับรู้และให้การสนับสนุนตนมาโดยตลอด นอกจากนี้ยังโอ้อวดทรัพย์สินมหาศาลที่ได้มาจาก “ทักษะ” ในการหลบเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตร
       
       เศรษฐีผู้นี้ยอมรับว่า เคยลักลอบส่งออกน้ำมันหลายล้านบาร์เรลจากอิหร่าน โดยผ่านเครือข่ายบริษัทในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, ตุรกี และมาเลเซีย
       
       ซันจานี มาถูกจับเอาเมื่อเดือน ธ.ค. ปี 2013 หรือราวๆ 3 เดือนหลังจากที่ประธานาธิบดี ฮัสซัน รอฮานี ขึ้นบริหารประเทศ และประกาศว่าจะปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันอย่างจริงจัง
       
       โฆลาม ฮอสเซน มอห์เซนี-เอเจอี โฆษกคณะตุลาการ ระบุว่า ซันจานี วัย 41 ปี ซึ่งถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานฉ้อโกงและก่ออาชญากรรมทางเศรษฐกิจ จะต้องคืนเงินให้แก่กระทรวงน้ำมันซึ่งเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง และถูกลงโทษประหารชีวิตด้วย 
เสร็จนาฆ่าโคถึก! อิหร่านสั่งประหาร “บาบัก ซันจานี” มหาเศรษฐีที่เคยช่วยรัฐ ลักลอบขายน้ำมัน
มะห์มูด อาห์มาดิเนจัด อดีตประธานาธิบดีสายแข็งของอิหร่าน
        กระบวนการไต่สวนคดีนี้มีการเปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบ ซึ่งนับว่าไม่บ่อยนักสำหรับคดีใหญ่ๆ ในอิหร่าน
       
       คดีนี้ยังมีผู้ต้องหาอีก 2 คนที่ถูกตัดสินประหารด้วยความผิดฐาน “ก่อการทุจริตบนแผ่นดิน” (corruption on earth) อันเป็นความผิดอุกฉกรรจ์ที่สุดตามกฎหมายของอิหร่าน
       
       นอกจากส่งเงินคืนให้กระทรวงน้ำมันแล้ว ซันจานี และจำเลยอีก 2 คนยังต้องจ่ายค่าปรับอีก 1 ใน 4 ของจำนวนเงินที่ยักยอกไปด้วย
       
       ซันจานี ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และอ้างว่าที่ไม่ได้จ่ายเงินคืนให้กระทรวงน้ำมันก็เพราะมาตรการคว่ำบาตรของตะวันตกทำให้ไม่สามารถโอนเงินได้ ซึ่งข้ออ้างนี้ถูกหักล้างในชั้นศาล
       
       ซันจานี เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ตนรับคำสั่งจากรัฐบาล อาห์มาดิเนจัด ให้หาวิธีส่งออกน้ำมันเพื่อนำรายได้เข้าประเทศ โดยจะได้ค่านายหน้าเป็นสิ่งตอบแทน ซึ่งเวลานั้นราคาน้ำมันดิบกำลังพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ภารกิจนี้จึงมีวงเงินหลายพันล้านดอลลาร์เป็นเดิมพัน
       
       สื่ออิหร่านประเมินว่า มหาเศรษฐีผู้นี้อาจมีทรัพย์สินสูงถึง 13,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่สังคมก็ยังคงถกเถียงกันว่า สิ่งที่ ซันจานี ทำเป็นการช่วยเหลือรัฐบาล หรือกอบโกยผลประโยชน์ชาติเข้าตัวกันแน่ 

คสช.กำลังรุกหรือถอยร่น

คสช.กำลังรุกหรือถอยร่น


CC 408
พีเพิล ยูนิตี้ – พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมาสนับสนุนแนวคิดให้มี ส.ว.สรรหาในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ซึ่งถูกจุดพลุขึ้นมาโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม
ซึ่งท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ ต่อเรื่องนี้ ก็คือการสำทับว่า คสช. “เอาแน่นอน”
ที่จริง พลันที่ พล.อ.ประวิตร ออกมาเปิดเผยแนวคิดนี้ ก็แทบไม่มีอะไรต้องสงสัยแล้วว่า เรื่องนี้เป็นแนวคิดและความประสงค์ของ คสช. เพียงแต่หลายฝ่ายอาจรอฟังจากปากหัวหน้า คสช.อีกที ซึ่งตอนนี้ก็ชัดเจนแล้ว
สรุปก็คือ งานนี้ พล.อ.ประวิตร เป็นคนเปิดเกมหรือออกโรง โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ คอยสนับสนุน แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับมันหมายความว่า เมื่อระดับ “พี่ใหญ่” เป็นคนออกมาเปิดเกมเอง และ พล.อ.ประยุทธ์ ออกมารับลูก แสดงว่าเรื่องนี้มันต้องสำคัญมากและมีความหมายมากต่อ คสช. และงานนี้ต้องเป็นไปตามความประสงค์ของ คสช.สถานเดียว
สำคัญมากและมีความหมายมากต่อ คสช.แบบไหน อย่างไร ก็แล้วแต่ฝ่ายต่างๆจะมอง หากเป็นฝ่ายตรงข้าม คสช.และนักการเมืองมอง ก็ต้องมองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจของ คสช. และเป็นการลดบทบาทความสำคัญของ ส.ส.หรือนักการเมือง
ขณะที่ฝ่ายผู้เสนอ ก็ถือว่าเรื่องนี้มีความสำคัญมากต่อช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านประเทศ ที่จะต้องมี ส.ว.เป็นพี่เลี้ยง และคอยถ่วงดุลนักการเมือง และล่าสุด พล.อ.ประวิตร ออกมาบอกอีกว่า คสช.ก็สามารถเข้าไปเป็น ส.ว.สรรหาได้ “ต้องช่วยไปทำ ไม่เช่นนั้นจะบอกว่าเสียของ” พล.อ.ประวิตร ให้เหตุผลที่ คสช.ต้องเข้าไปเป็น ส.ว.สรรหา
พล.อ.ประวิตร เปิดเผยถึง “ที่ยืนใหม่” ของ คสช.อย่างไม่ปิดบังอำพราง ไม่มีอะไรต้องเม้มไว้อีกแล้ว แม้จะรู้ว่าการแบไต๋เช่นนี้ย่อมหนีไม่พ้นถูกมองมากขึ้นว่า คสช.เตรียมสืบทอดอำนาจ
แต่นาทีนี้ พล.อ.ประวิตร ดูเหมือนจะไม่สนแล้ว เพราะไม่ว่าจะประเด็นไหนในร่างรัฐธรรมนูญ ก็ถูกมองว่าสืบทอดอำนาจทั้งนั้น
“สืบทอดก็สืบทอด ขอให้สามารถเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่อนาคตใหม่ได้ ไม่ใช่กลับไปเป็นแบบเดิม” พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.ประยุทธ์ อาจคิดแบบนี้แล้วก็ได้ในนาทีนี้
ทว่า มันมีประเด็นหลายประเด็นที่ต้องพิจารณาอย่างมากเกี่ยวกับเรื่องนี้
หนึ่ง มันเร็วไปที่จะรีบแบไต๋ว่า คสช.จะเข้าไปเป็น ส.ว.สรรหา ทั้งที่แค่เรื่องจุดพลุ ส.ว.สรรหาก็ลุกเป็นไฟอยู่แล้ว พล.อ.ประวิตร รีบร้อนเดินหน้าไปหน่อย หรือไม่ก็ไม่ทันคิด จึงพูดไปอย่างนั้น
แต่เอาเถอะ เมื่อพูดไปแล้วก็ปล่อยให้รู้แล้วรู้แรดไปเลย เรื่องผลตามมาค่อยว่ากันใหม่
สอง การเสนอเปลี่ยนแปลงที่มาของ ส.ว.มาเป็นสรรหา (ทั้งหมด) แสดงให้เห็นว่า คสช.ไม่ไว้วางใจและไม่มั่นใจในร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญร่างไว้ ว่าจะทำให้ประเทศเปลี่ยนผ่านไปสู่สิ่งที่ดีกว่าได้ และจะสกัดคนไม่ดีไม่ให้เข้ามามีอำนาจในบ้านเมืองได้ แม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะเปิดทางให้คนนอกเป็นนายกฯได้ และกำหนดวิธีการให้ที่มาของ ส.ส.มาจากสองทาง ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนอย่างเดียวไว้แล้วก็ตาม แต่สภาผู้แทนราษฎรก็ยังเป็นสภาของนักการเมืองและพรรคการเมือง ซึ่งพรรคการเมืองใหญ่จะกุมเสียงในสภาผู้แทนราษฎรไว้เช่นเดิม ซึ่งนั่นหมายความต่อไปว่า โอกาสที่คนนอกจะเป็นนายกฯก็ไม่มีอะไรแน่นอน แม้จะเปิดช่องไว้แล้ว
ดังนั้น คสช.จึงยังไม่วางใจในจุดนี้ว่ารัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรหลังการเลือกตั้งจะเป็นรัฐบาลและสภาที่ดี
พูดตรงๆก็คือ คสช.ยังไม่ไว้วางใจนักการเมือง
ขณะที่ที่มาของ ส.ว.ที่คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า มาจากสังคมเลือกกันเองจำนวน 200 คน ก็ไม่สามารถมีหลักประกันได้ว่า สังคมเลือกกันเองจริงๆหรือไม่ หรือมีนักการเมืองและพรรคการเมืองอยู่เบื้องหลัง ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น ส.ว.ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องมีคนของนักการเมืองและพรรคการเมืองแอบแฝงเข้ามา
การยึดครองทั้งสองสภาโดยนักการเมืองก็จะเกิดขึ้นอีก
จึงเป็นที่มาให้ พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.ประยุทธ์ ออกโรงมาเสนอให้ที่มาของ ส.ว.มาจากการสรรหาทั้งหมด แทนที่จะไปเสี่ยงให้นักการเมืองเล็ดลอดเข้ามา
กันไว้ดีกว่าแก้ และยังเป็นการแบ่งแยกถ่วงดุลกันระหว่างสภาของนักการเมืองกับสภาของ คสช. ให้เกิดดุลยภาพ ไม่ให้สภาใดมีอำนาจมากกว่ากัน
มองในแง่ดี มันก็ต้องมองแบบนี้ เว้นแต่มองในแง่ร้าย ก็มองได้อย่างเดียวคือ สืบทอดอำนาจ
สาม การเสนอให้ ส.ว.มาจากการสรรหาทั้งหมด เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านมีผลสัมฤทธิ์ และสิ่งที่ คสช.ทำลงไปไม่เสียของ ด้านหนึ่งแม้จะถือเป็นความพยายามอย่างที่สุดของ คสช.ที่จะไม่ยอมให้มีอะไรผิดพลาดเกิดขึ้นหลังมีรัฐธรรมนูญและมีการเลือกตั้งแล้ว ทว่า อีกด้านหนึ่งกลับแสดงให้เห็นว่า คสช.ถดถอยหรือถอยร่นมาเป็นระยะ และสถานการณ์ในอนาคตไม่น่าไว้วางใจมากขึ้นสำหรับ คสช.
ถอยร่นและไม่น่าไว้วางใจอย่างไร
ประการหนึ่ง ต้องหันมาใช้บริการ ส.ว. เป็นฐานทัพ จากที่ก่อนหน้านี้คิดไปไกลถึง “โปลิตบูโร”
ประการสอง นายกฯคนนอก และที่มา ส.ส.แบบแปลกแหวกแนว ก็ไม่อาจมั่นใจได้ ซึ่งนั่นหมายความว่า ผลการเลือกตั้งอาจเข้าอีหรอบเดิมๆ
ประการที่สาม คงไม่ต้องบอกว่า หากมีการแก้ไขให้ที่มาของ ส.ว.มาจากการสรรหา ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติยากขึ้นกว่าเดิมแค่ไหน
คสช.ก็รู้ แต่ไม่มีทางเลือก เพราะสถานการณ์ไม่น่าวางใจ และมีความจำเป็นต่อบ้านเมือง
“เป็นไงเป็นกัน ไม่ผ่านก็ไม่ผ่าน (สิวะ)” พล.อ.ประวิตร พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้พูด พีเพิล ยูนิตี้พูดเอง เพื่อให้เห็นภาพชัดๆ

ข่าวเจาะ // คสช.กำลังรุกหรือถอยร่น
พีเพิล ยูนิตี้
6 มีนาคม 2559
ที่มา : http://www.peopleunitynews.com/web02/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%B0-%E0%B8%84%E0%B8%AA%E0%B8%8A-%E0%B8%81%E0%B8%B3%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B8%AB%E0%B8%A3/