PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2559

ประวัติวุฒิสภาไทย

ประวัติวุฒิสภา
          รัฐสภาไทยพัฒนามาจากเคาน์ซิลออฟสเตต (Council of State) หรือ สภาที่ปรึกษา ราชการแผ่นดิน และองคมนตรีสภา(Privy Council)
ซึ่งเป็นสภาที่ปรึกษาในพระองค์ที่มีมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
           ภายหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. ๒๔๗๕  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕  ก็ได้กำหนดให้รัฐสภาเป็นระบบสภาเดียว  คือ สภาผู้แทนราษฎร  มีสมาชิกสองประเภท  (แต่ละประเภทมีจำนวนเท่ากัน) สมาชิก ประเภทที่ ๑  มาจากการเลือกตั้งและสมาชิกประเภทที่ ๒ มาจากการแต่งตั้ง   ทั้งนี้ก็เพื่อให้สมาชิกที่มาจากการแต่งตั้ง(สมาชิกประเภทที่ ๒)คอยช่วยเหลือกลั่นกรองงานของสมาชิก ผู้แทนราฏร(สมาชิก ประเภทที่ ๑) เพื่อให้การทำงานเกิดประโยชน์แก่ประชาชนมากที่สุด ดังเหตุผลที่นายปรีดี พนมยงค์  แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร ความตอนหนึ่ง ว่า
     “…ที่เราจำต้องมีสมาชิกประเภทที่ ๒ ไว้กึ่งหนึ่งก็เพื่อที่จะช่วยเหลือผู้แทนราษฎร   ในฐานะที่เพิ่งเริ่มมีการปกครองแบบรัฐธรรมนูญ เราย่อม
ทราบอยู่แล้วว่า  ยังมีราษฎรอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการศึกษาเพียงพอ  ที่จะจัดการปกครองป้องกันผลประโยชน์ ของตนเองได้บริบูรณ์ ถ้าขืน
ปล่อยมือให้ราษฎรเลือกผู้แทนโดยลำพังเอง  ในเวลานี้แล้ว  ผลร้ายก็จะตกอยู่แก่ราษฎร เพราะผู้ที่จะสมัครไปเป็นผู้แทนราษฎร  อาจเป็นผู้ที่มีกำลัง ในทางทรัพย์ คณะราษฎร ปฏิญาณไว้ว่าถ้าราษฎรได้มีการศึกษาเพียงพอแล้ว ก็ยินดีที่จะปล่อยให้ราษฎรได้ปกครองตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องมีสมาชิกประเภทที่ ๒ ฉะนั้น จึงวางเงื่อนไขไว้   ขอให้เข้าใจว่าสมาชิกประเภทที่ ๒  เป็นเสมือนพี่เลี้ยงที่จะช่วยประคองการงานให้ดำเนินไปสมตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ และเป็นผู้ป้องกันผลประโยชน์อันแท้จริง...”
  

          จากวัตถุประสงค์หรือเจตนารมณ์ดังกล่าวนี้เอง  จึงถือได้ว่า  “วุฒิสภา” หรือสภาที่ทำหน้าที่กลั่นกรองงานของสภาผู้แทนราษฎรได้ถือกำเนิดขึ้นมาในนามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ ๒ ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. ๒๔๗๕  นั่นเอง
          ต่อมาในปี  พ.ศ. ๒๔๘๙ ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์บ้านเมือง  โดยรัฐสภาได้เปลี่ยนเป็น “ระบบสภาคู่” หรือ “ระบบสองสภา” คือ สภาผู้แทนราษฎร และพฤฒสภา  ซึ่งพฤฒสภามีขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นสภายับยั้ง หรือสภากลั่นกรองงาน  คอยเหนี่ยวรั้งมิให้สภาผู้แทนทำงานด้านนิติบัญญัติเร็วเกินไป จนขาดความรอบคอบ ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ ๒ นั่นเอง
          สมาชิกพฤฒสภา  ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.๒๔๘๙ มาจากการเลือกตั้ง(ทางอ้อม)  มีคุณสมบัติสูงกว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งคุณวุฒิและวัยวุฒิ กล่าวคือ ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า ๔๐ ปีบริบูรณ์ มีคุณวุฒิอย่างต่ำปริญญาตรีหรือเทียบเท่ามาแล้วไม่ต่ำกว่า ๕ ปี  หรือเคยดำรงตำแหน่งทางราชการมาแล้วไม่ต่ำกว่าหัวหน้ากอง หรือเทียบเท่า  หรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนมาแล้ว  มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ ๖ ปี โดยวาระเริ่มแรกเมื่อครบกำหนด ๓ ปี ให้มีการเปลี่ยนสมาชิกจำนวนกึ่งหนึ่ง โดยการจับสลากออกและผู้ที่ออกไปแล้วมีสิทธิได้รับเลือกตั้งอีกครั้ง
          อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวใช้บังคับได้ไม่นาน  ก็ถูกยกเลิก รัฐธรรมนูญฯ ฉบับต่อมา คือ ฉบับปี พ.ศ.  ๒๔๙๐  ยังคงกำหนดให้รัฐสภาเป็นระบบสองสภาเช่นเดิม คือ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา(ไม่ได้ใช้ชื่อ “พฤฒสภา”)  สมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้ง  ส่วนอำนาจหน้าที่ยังคงเดิม คือ เป็นสภากลั่นกรอง  
          “วุฒิสภา” ที่สมาชิกมาจากการแต่งตั้ง  มีเรื่อยมาจนกระทั่งมีการปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐  โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐  ได้กำหนดหลักการสำคัญใหม่ ๆ หลายประการ  เช่น  กำหนดประชาชนมีส่วนร่วมในทางการเมืองมากขึ้น  กำหนดให้มีองค์กรอิสระหลายองค์กร  เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการระดับสูงอาจถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งได้  รวมทั้งได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงที่มาและองค์ประกอบของสมาชิกรัฐสภา  โดยในส่วนของวุฒิสภานั้น  เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง โดยไม่ต้องมีการหาเสียงและไม่สังกัดพรรคการเมืองใด  มีจำนวน  ๒๐๐ คน รัฐธรรมนูญฯ กำหนดให้วุฒิสภามีอำนาจหน้าที่เพิ่มขึ้นจากเดิมอำนาจหน้าที่ที่สำคัญก็คือ การคัดสรรบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระและองค์กรสำคัญต่าง ๆ  รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่ในการถอดถอนบุคคลที่กระทำผิดตามที่กฎหมายบัญญัติออกจากตำแหน่ง
          รัฐธรรมนูญฯ ฉบับปฏิรูปการเมืองดังกล่าวได้ใช้บังคับเกือบสิบปี  ก็ถูกยกเลิก  โดยผู้ที่ยกเลิกได้อ้างเหตุสำคัญหลายประการ  เช่น  องค์กรอิสระหลายองค์กรถูกแทรกแซง   สมาชิกของสภาทั้งสอง  มีความสัมพันธ์เป็นเครือญาติใกล้ชิดกัน  ทำให้ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้  
          รัฐธรรมนูญฯ  ที่จัดทำขึ้นใหม่ในปีพุทธศักราช ๒๕๕๐ หรือที่เรียกว่า “รัฐธรรมนูญฯ ฉบับ ประชามติ”  ได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขในหลายส่วน  เช่น  สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งมีจำนวน  ๔๘๐ คน โดย   ๔๐๐คน  มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ส่วนอีก ๘๐  คน  มาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วนโดยการแบ่งเป็นแปดกลุ่มจังหวัด  (สัดส่วนดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงอีกครั้ง  ในปี ๒๕๕๔  โดยรัฐธรรมนูญฯ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม  ได้กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิก  จำนวน  ๕๐๐ คน  มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง(เขตตละหนึ่งคน) จำนวน  ๓๗๕ คน และสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ  ๑๒๕ คน) 
          ส่วนวุฒิสภา  มี  ๑๕๐ คน  มาจากการเลือกตั้ง จังหวัดละ ๑ คน  ส่วนที่เหลือมาจากการสรรหาบุคคลที่มีความรู้  ความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์จากทุกกลุ่มวิชาชีพ โดยคณะกรรมสรรหาสมาชิกวุฒิสภา  ประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรง ตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามอบหมายจำนวนหนึ่งคน และตุลาการ ในศาลปกครองสูงสุดที่ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดมอบหมายจำนวนหนึ่งคน จะสรรหาสมาชิกวุฒิสภาจากรายชื่อบุคคลที่องค์กรวิชาชีพต่าง ๆ เสนอจากบัญชีรายชื่อที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเสนอ   
          รัฐธรรมนูญฯมีเจตนารมณ์ให้สมาชิกวุฒิสภาเป็นสภาของผู้ทรงคุณวุฒิที่หลากหลายและเป็นกลางมากที่สุด  โดยต้องมีอายุ ๔๐ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป จบปริญญาตรี  และต้องไม่มีความเกี่ยวข้อง (ไม่เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตร) กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง ในกรณีที่เคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ต้องพ้นจากตำแหน่งนั้น ๆ มาแล้วเกินกว่า ๕ ปีนับถึงวันรับสมัคร หรือวันที่ได้รับการเสนอชื่อ
          สมาชิกวุฒิสภามีวาระการดำรงตำแหน่ง ๖ ปี เมื่ออายุของวุฒิสภาสิ้นสุดลง ส่วนที่มาจากการเลือกตั้งจะมีการเลือกตั้งใหม่ภายใน ๓๐ วัน ในส่วนที่มาจากการสรรหา จะต้องสรรหาใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน ๖๐ วัน ทั้งนี้ สมาชิกวุฒิสภาจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินหนึ่งวาระไม่ได้ และสมาชิกวุฒิสภาที่พ้นวาระไม่ถึง ๒ ปี จะเป็นรัฐมนตรีหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ได้  
          ในระยะเริ่มแรก  รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐  ได้กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหา(ชุดแรก)  ให้มีวาระ ๓ ปี สามารถได้รับการสรรหาให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาได้อีก
----------------
เรียบเรียงโดย นายไพโรจน์  โพธิไสย 
                  รองเลขาธิการวุฒิสภา
 

ไม่มีความคิดเห็น: