PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2559

MOU

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) โดย ศาสตราจารย์ นาวาอากาศโท ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันฯ กับ หน่วยปฏิบัติการฟิสิกส์อนุภาคอลิซแห่งองค์กรเพื่อการวิจัยนิวเคลียร์แห่งยุโรปหรือเซิร์น โดย ดร. เปาโล จิวเบลลิโน ผู้อำนวยการจากอลิซ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2559 ณ วังสระปทุม กรุงเทพมหานคร
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเป็นประธานการลงนามบันทึกความเข้าใจ ระหว่างสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กับหน่วยปฏิบัติการฟิสิกส์อนุภาคอลิซ แห่งองค์กรเพื่อการวิจัยนิวเคลียร์แห่งยุโรปหรือเซิร์น สมาพันธรัฐสวิส ณ วังสระปทุม ในครั้งนี้ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และอลิซ ได้ริเริ่มความร่วมมือทางวิชาการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 โดยสถาบันฯ ได้ร่วมดำเนินโครงการยกระดับระบบติดตามภายใน (Inner Tracking System หรือ ITS) ของ อลิซ โดยได้เข้าร่วมกลุ่มการพัฒนา ตรวจสอบคุณสมบัติของเซนเซอร์ประเภทซิลิกอนสำหรับ ITS ระบบใหม่ และสร้างสถานีทดลองที่สามารถผลิตลำอิเล็กตรอนที่มีพลังงาน 1 GeV
นอกจากนี้ สถาบันฯ ได้ประสบความสำเร็จในการตรวจสอบคุณสมบัติของชิพต้นแบบเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนได้เข้าเป็นสถาบันฯ ในความร่วมมือของอลิซ โอกาสที่อลิซมอบให้ในครั้งนี้ จะนำไปสู่การพัฒนาที่สำคัญของนักวิทยาศาสตร์ไทยผ่านกระบวนการวิจัยขั้นสูงทางฟิสิกส์อนุภาคและเครื่องเร่งอนุภาค อีกทั้งถือเป็นก้าวสำคัญของหน่วยงานทั้งสองในการยืนยันเจตนาอันคงมั่น ที่จะคงความร่วมมือที่ดีต่อกัน และสรรสร้างความร่วมมือทางวิชาการใหม่ๆ เพื่อประโยชน์ร่วมกัน และเหนือสิ่งอื่นใด เพื่อความก้าวหน้าแห่งวงการวิทยาศาสตร์ไทย
ในการนี้ ดร. เปาโล จิวเบลลิโน ได้กราบบังคมทูลว่า งานการทดลองของอลิซ (ALICE experiment) หน่วยงานภายใต้เซิร์น เป็นเครือข่ายความร่วมมือระดับโลก ซึ่งประกอบด้วยสถาบันวิจัยต่างๆ 169 แห่ง จาก 42 ประเทศ อลิซมีความภาคภูมิใจในการต้อนรับ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนสู่ชุมชนวิจัยของเรา และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีการร่วมงานกันอย่างต่อเนื่องและบรรลุผล สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนเป็นผู้ร่วมงานที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเครื่องมือที่เป็นนวัตกรรมเพื่อตรวจสอบอนุภาค คือ ระบบติดตามภายใน (Inner Tracking System-ITS) ระบบใหม่ ของอลิซ เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นสิ่งแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าที่สำคัญของเทคโนโลยีด้านตัวตรวจวัดอนุภาค ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์กับสาขาอื่นๆ ได้ อาทิ ด้านยารักษาโรค เป็นต้น และจากความสำเร็จที่ผ่านมา จึงมีการดำเนินความร่วมมือในแบบสมาชิกอย่างเป็นทางการ โดยได้รับความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์จากคณะกรรมการบริหารความร่วมมือแห่งอลิซ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา ความร่วมมือของอลิซกับสถาบันในประเทศไทยนั้น เป็นความสำเร็จที่โดดเด่น จนสามารถกล่าวได้ในฐานะเป็นโมเดล แก่ประเทศอื่นๆ และจากความร่วมมือที่เกิดขึ้น นับเป็นโอกาสที่สำคัญในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย และยังเป็นเครื่องมือสู่การวิจัยที่ก้าวหน้าด้านฟิสิกส์อนุภาค อันจะนำไปสู่ประโยชน์ที่เกิดผลต่อชุมชนวิทยาศาสตร์ระดับสากลต่อไป

บทเรียน ล้ำค่า ‘เกรียงศักดิ์’ โมเดล ปลายปี 2522

ที่มา: มติชน
ยิ่งมีการอ้างอิงไปยัง “เปรมโมเดล” ยิ่งทำให้เงาสะท้อนการทะยานไปยังตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในเดือนมีนาคม 2523
มากด้วยความโดดเด่น เย้ายวนต่อการศึกษา
เหมือนกับว่าฐานทางการเมืองของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ คือ ฐานของกองทัพ ฐานของทหารในฐานะที่ดำรงตำแหน่งเป็น “ผบ.ทบ.”
ทั้งๆ ที่เหมือนกับการเข้ามาเท่ากับไปหัก พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
อาจสร้างความแค้นเคืองให้กับบรรดาสมาชิกสภานิติบัญญัติ ซึ่งมาจาก “การแต่งตั้ง” เมื่อเดือนเมษายน 2522 โดยพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น
แต่ที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ ด้านหลักของสมาชิกสภานิติบัญญัติคือ “ทหาร”
และฉันทามติของทหาร “ส่วนใหญ่” ในขณะนั้นเทคะแนนไปให้กับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ผ่านการเคลื่อนไหวของบรรดา “ยังเติร์ก”
ฐานกองทัพ ฐานทางทหาร ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จึงยังแกร่ง
ฐานของกองทัพ ฐานของข้าราชการประจำเป็นฐานทางด้าน “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” อันถือเป็นสภาแต่งตั้ง คำถามก็คือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เอาตัวรอดมาได้อย่างไรใน “สภาเลือกตั้ง”
นั่นก็คือ สภาผู้แทนราษฎร

ต้องยอมรับว่าฝ่ายค้านของรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนเมษายน 2522 คือ พรรคขนาดใหญ่ 2 พรรค
1 พรรคกิจสังคม 1 พรรคประชาธิปัตย์
2 พรรคนี้เองที่เคลื่อนไหวกดดันรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อประสบวิกฤตพลังงานตอนปลายปี 2522
2 พรรคนี้เองที่ “ยังเติร์ก” ต่อสายเข้าไป “เชื่อม”
พลันที่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ประจักษ์ในความร่วมมือกันระหว่าง 1 พลังในสภาผู้แทนราษฎร 1 พลังในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จึงรู้แล้วว่า “ไผเป็นไผ”
อย่าได้แปลกใจหาก 1 พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จะเดินทางเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ร่วมเดินทางไปด้วย
1 พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ตัดไฟตั้งแต่ต้นลมด้วยการประกาศลาออก
ผลก็คือ ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ยุติลงโดยพื้นฐาน ผลก็คือ สภาผู้แทนราษฎรให้ความสนใจไปยังการสรรหาตัวนายกรัฐมนตรีคนใหม่มาแทน พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
สปอตไลต์ฉายจับไปยัง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ โดยพลัน

โดยโครงสร้างแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 คล้ายกับว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งเป็น “สภาแต่งตั้ง” จะเป็นฐานกำลังให้กับการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
อาศัยพรรคเสรีธรรมและบางส่วนจากสภาผู้แทนราษฎรก็จัดตั้ง “รัฐบาล” ได้
คำถามก็คือ แล้วรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ซึ่งมีเสียงข้างน้อยใน “สภาผู้แทนราษฎร” อยู่ได้อย่างเป็นสุขหรือไม่
คำตอบก็คือ ไม่เป็นสุข
การดำรงอยู่ของ รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นับแต่เดือนมีนาคม 2523 เป็นต้นไป จึงเป็นสุขเมื่อเปรียบเทียบกับรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
เพราะว่ารัฐบาลประกอบด้วยพรรคการเมืองหลายพรรค
ไม่เพียงแต่ได้พรรคกิจสังคม ไม่เพียงแต่ได้พรรคประชาธิปัตย์ หากแต่ยังได้พรรคชาติไทย หากแต่ยังยื่นไมตรีไปยังพรรคประชากรไทย
“เอกภาพ” จึงเข้ามาแทนที่
เท่ากับสะท้อนให้เห็นว่า หากมองผ่าน “รัฐสภา” รัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ อาจแลดูแข็งแกร่ง แต่หากมองเฉพาะ “สภาผู้แทนราษฎร” รัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ กลับง่อนแง่น โงนเงน มิอาจสร้างผลงานการบริหารได้
ตรงกันข้าม รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แข็งแกร่งทั้ง “รัฐสภา” และ “สภาผู้แทนราษฎร”
อาจมีบางท่านแย้งว่า “ประยุทธ์โมเดล” ก็มากด้วยความแข็งแกร่งเพราะมีฐานจาก ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน
แต่ความหวาดเสียวของ “ประยุทธ์โมเดล” ก็เหมือนกับที่รัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้ประสบมาแล้วและจบลงอย่างปวดเจ็บมาแล้ว
“ประยุทธ์โมเดล” จึงต้องศึกษา “เปรมโมเดล” มากกว่านี้

วปอ.แถลงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไทยเป็นหัวใจของอาเซียน เสริมกำลังรบ ทั้งทางบก เรือ อากาศ


วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรเเถลงยุทธศาสตร์ชาติ-ยุทธศาสตร์ทหาร ระยะ 20 ปี กำหนดวิสัยทัศน์ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างยั่งยืนภายในปี 79 เป็นประตูสู่เอเชียและหัวใจของอาเซียนให้ได้ มีการเสริมสร้างกำลังรบ ทั้งทางบก เรือ อากาศ
พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานการรับฟังการแถลงยุทธศาสตร์ชาติ – ยุทธศาสตร์ทหาร ณ หอประชุมกองทัพเรือ ถนนอรุณอัมรินทร์ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ (ที่มาภาพเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล)
1 ก.ย. 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการเเถลงยุทธศาสตร์ชาติ-ยุทธศาสตร์ทหาร ระยะ 20 ปี พ.ศ.2560-2579 ของนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 58 และนักศึกษาวิทยาลัยเสนาธิการทหารรุ่นที่ 57 นักศึกษาวิทยาลัยการทัพบกชุดที่ 61 นักศึกษาวิทยาลัยการทัพเรือ รุ่นที่ 58 และนักศึกษาวิทยาลัยการทัพอากาศรุ่นที่ 50 โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพ นักศึกษา วปอ.รุ่นที่ 58 และ 59 ร่วมงานอย่างคับคั่ง
พล.ท.ไชยอนันต์ จันทคณานุรักษ์ ผอ.วปอ. กล่าวว่า ปีนี้ จัดทำยุทธศาสตร์ชาติ เป็นวาระพิเศษ เนื่องจากนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อมีส่วนสำคัญในการปฏิรูปประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาล ดังนั้นการทำยุทธศาสตร์ชาติในปีนี้จึงแตกต่างจากทุกปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีการปรับกระบวนการและขั้นตอนในโครงสร้างยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องรองรับกับภาพสถานการณ์ประเทศไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า โดยแบ่งเป็นกลุ่มยุทธศาสตร์ 4 ด้าน ประกอบด้วย ด้านความมั่นคง ความมั่งคั่ง คุณค่าและค่านิยม และการมีส่วนร่วมในสังคมโลก ซึ่งจะครอบคลุมวิสัยทัศน์และสอดคล้องกับแนวคิดของรัฐบาล คือ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
ด้าน พล.ร.ต.คำรณ พิสณธ์ยุธการ ตัวแทนนักศึกษา วปอ. รุ่นที่ 58 เเถลงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ว่า ในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติในครั้งนี้ได้สร้างภาพสถานการณ์ประเทศไทย 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. ภาพสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด 2. สถานการณ์ตามที่เป็นอยู่ และ 3. สถานการณ์ที่ดีที่สุดเพื่อทำนายอนาคตประเทศไทยใน 20 ปีข้างหน้า จากนั้นจึงกำหนดเป็นความต้องการของคนในชาติ 4 ด้าน  ได้แก่ 1. ด้านความมั่นคงปลอดภัย 2. ด้านความเจริญรุ่งเรืองผาสุกมั่งคั่ง 3. ด้านการเสริมสร้างคุณค่าเกียรติยศค่านิยมความเป็นไทย และ 4. การมีส่วนร่วมและอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกในสังคมโลก โดย วปอ.ได้นำผลประโยชน์ทั้ง 4 ด้านมาเป็นตัวตั้งในการพัฒนายุทธศาสตร์ย่อย โดยได้กำหนดวิสัยทัศน์ของประเทศไทยไว้ว่า “ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างยั่งยืนภายในปี พ.ศ. 2579”  โดยประเทศไทยจะต้องเป็นประตูสู่เอเชียและหัวใจของอาเซียนให้ได้ มีการเสริมสร้างกำลังรบ ทั้งทางบก เรือ อากาศ
ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีในด้านความมั่นคงและปลอดภัย ระบุไว้ว่า ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างยั่งยืนได้นั้น ปัจจัยสำคัญที่จะเป็นพื้นฐานที่ทำให้ทุกภาคส่วนราชการสามารถทำตามแผนงานได้ คือ ความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ที่จะเป็นเสมือนฐานรองรับ เป็นกำแพงป้องกันที่แข็งแกร่ง ดังนั้นสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จะต้องได้รับการปกป้อง ธำรงไว้อย่างมั่นคงถาวร การป้องกันประเทศจะต้องมีประสิทธิภาพ พร้อมเผชิญภัยคุกคามในรูปแบบต่าง ๆ และต้องพึ่งพาตนเองได้ มีความรักความสามัคคีของคนภายในชาติ เป็นสังคมที่มีคุณธรรม ปราศจากการทุจริตคอร์รัปชั่น และปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้องถูกขับเคลื่อนตามแผนงานและนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจะต้องยุติความขัดแย้งภายใน 5 ปี และเกิดความยั่งยืนภายใน 10 ปี คือปี พ.ศ.2569
ในส่วนยุทธศาสตร์ทหาร 20 ปี กำหนดไว้ว่า กองทัพต้องการสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ เสริมสร้าวงเสถียรภาพความมั่นคงด้านพลังงาน การเงินและการคลัง การเตรียมกำลังเเละใช้กำลังเพื่อการป้องปรามและการผนึกกำลังเพื่อการป้องกันประเทศ และการป้องกันเชิงรุก รวมทั้งการปฏิบัติการร่วม โดยในอนาคตประเทศไทยจะมีกองทัพไทยในรูปแบบใหม่ เริ่มต้นจากการปรับโครงสร้างกองบัญชาการร่วมกองทัพไทย ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถของศูนย์บัญชาการทางทหาร เพื่อรองรับการเชื่อมโยงและเเลกเปลี่ยนข้อมูลในส่วนต่าง ๆ ทั้งภาคพื้นดิน ทะเล อากาศ และอวกาศ รวมถึงดาวเทียมทางทหาร ในการปฏิบัติการจำเป็นจะต้องพัฒนาหลักนิยมปฏิบัติการร่วมและผสมที่เหมาะกับบทบาทของกองทัพไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า การแสดงบทบาทต่าง ๆ ของกองทัพไทย การแสดงบทบาทต่าง ๆ ในเวทีสากล เช่น การฝึกร่วมผสมกับมิตรประเทศ การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ การเเพทย์ทหารและการรักษาความมั่นคงทางทะเล การรักษาสันติภาพ ตามกรอบของสหประชาชาติ
ในส่วนของการจัดหายุทโธปกรณ์ จำเป็นต้องดำเนินการในลักษณะพึ่งพาตนเองด้วยอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ตามแนวทางประเทศไทย 4.0 พัฒนาตัวบุคคลให้รองรับแนวทางปฏิบัติการ การพัฒนาองค์บุคคลให้รองรับแนวคิดการปฏิบัติการ โดยจัดทำโครงการศึกษาด้านยุทธศาสตร์และวิชาการทางทหาร ได้แก่ การตั้งศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ ตั้งมหาวิทยาลัยการป้องกันประเทศ และโรงเรียนเสนาธิการร่วม รวมทั้งศูนย์การฝึกทหารอาเซียนด้านต่าง ๆ โดยในส่วนของกำลังทางบก ต้องรองรับการปฏิบัติการจากมิตรประเทศ บทบาทด้านการรบ จะต้องพัฒนาและจัดระเบียบชายแดน มีกำลังเตรียมพร้อมที่มีระบบควบคุมและบังคับบัญชาที่ทันสมัย เชื่อมโยงระบบข้อมูลและข่าวกรองกับทุกเหล่าทัพ มีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีขีดความสามรถ โดยใช้เทคโนโลยีเพื่อลดจำนวนคนที่เข้าปฏิบัติการ และเมื่อเกิดสถานการณ์วิกฤติ กรมผสมจะเป็นหน่วยดำเนินกลยุทธ์หลัก มีการยิงระดับยุทธการที่มีความเเม่นยำสูงใช้ในที่มีการปฏิบัติร่วม เชื่อมโยงกับกำลังทางอากาศเพื่อโจมตีเป้าหมาย
ส่วนบทบาทที่ไม่ใช่การรบ จะมุ่งเน้นขีดความสามารถในการถวายความปลอดภัยและพระเกียรติของหน่วยทหารรักษาพระองค์ และการเสริมสร้างความมั่นคงร่วม รวมทั้งจัดการกำลังประชาชน ตามแนวทางผนึกกำลังป้องกันประเทศ ในขณะที่หน่วยทหารส่วนภูมิภาคต้องสามารถอำนวยการบรรเทาสาธารณภัยภายในประเทศและช่วยเหลือประชาชน โดยประสานกับกำลังในพื้นที่ ในส่วนกำลังทางเรือจะต้องพัฒนาเป็นกำลังทางเรือ 2 มหาสมุทร โดยการใช้กำลังทางเรือได้ทั้ง 2 ฝั่งอย่างสมดุล โดยไม่จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายกำลังขนาดใหญ่ มีการวางกำลังที่มีขีดความสามารถในการลาดตระเวนเฝ้าตรวจให้การคุ้มครองและช่วยเหลือเรือ รวมทั้งแหล่งผลประโยชน์ของชาติ ตลอด 24 ชม.
ส่วนกำลังทางอากาศ จะต้องมีบทบาทสำคัญในด้านการปกป้องเเละใช้ประโยชน์ทางอากาศและในมิติใหม่ในห้วงอวกาศ เพื่อสร้างการรับรู้ในการปฏิบัติการทางอากาศของต่างชาติ การตรวจการณ์ทางอวกาศ การสื่อสารและโทรคมนาคมทางอากาศ และสนับสนุนการปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลางกองทัพไทย เพื่อให้เห็นภาพสถานการณ์รบร่วมกัน ทั้งในมิติทางอากาศและมิติใหม่ในห้วงอวกาศ พร้อมเพิ่มเติมปฏิบัติการสงครามไซเบอร์ สงครามเครือข่าย และการป้องกันไว้ด้วย
ส่วนการใช้กำลังทางรบ จะใช้การปฏิบัติการร่วม ทั้งกำลังทางเรือและทางบก แต่จะต้องบรรจุอากาศยานให้เพียงพอ เพื่อตอบสนองภารกิจที่ไม่ใช่การรบทั้งในและนอกประเทศ ที่สำคัญกองทัพต้องปรับโครงสร้าง มุ่งเน้นการเป็นที่พึ่งของประชาชน มียุทโธปกรณ์ปฏิบัติการร่วมที่ทันสมัย บนพื้นฐานการพึ่งพาตนเองและส่งออก สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ กำลังพลทุกคนต้องเป็นทหารอาชีพ

สธ. เผยในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสซิก้ารายใหม่ 13 คนใน 4 จังหวัด

แก้ไขข้อมูล 18.20 น.
สธ. เผยในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสซิก้ารายใหม่ 13 คนใน 4 จังหวัด
กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เผยข้อมูลผู้ติดเชื้อไวรัสซิการายใหม่จำนวน 13 ราย ในจังหวัด เชียงใหม่ จันทบุรี เพชรบูรณ์ และบึงกาฬ ขณะที่มียอดผู้ป่วยสะสมตั้งแต่ต้นปีถึงเดือน มิ.ย. จำนวน 97 คน ขอไม่ให้ประชาชนตื่นตระหนก ยืนยันว่าไม่มีการระบาด และ สธ. ป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้านคณะกรรมการฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลกประชุมหาทางรับมือ โดยคาดว่าจะยังคงสถานะของการแพร่ระบาดว่าเป็นภัยฉุกเฉินระหว่างประเทศ ขณะที่มาเลเซียพบผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้อแล้ว 1 ราย ส่วนอินโดนีเซียตรวจสอบผู้เดินทางเข้าประเทศจากสิงคโปร์
น.พ. ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข กล่าวว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสซิก้าจำนวน 13 คน ใน 4 จังหวัดดังกล่าว ซึ่งทุกคนมีอาการไม่รุนแรง ได้รับการดูแลให้อยู่ในพื้นที่และเฝ้าระวังผู้ติดเชื้อรายใหม่ในพื้นที่ 28 วัน ตามระยะเวลาการฟักตัวของโรค ซึ่งพบว่าหน่วยงานทั้งของ สธ.และมหาดไทยสามารถควบคุมป้องกันไม่ให้ขยายออกไปนอกพื้นที่ได้อย่างประสบผลในทุกจังหวัด
รมว.สาธารณสุขขอให้ประชาชนมั่นใจว่า โรคติดเชื้อไวรัสซิกาไม่มีการระบาดในไทยแต่อย่างใด กระทรวงมีมาตรการป้องกันอย่างเต็มที่ และไม่ต้องกังวลกับข้อมูลของสหภาพยุโรปที่รายงานว่าไทยมีการระบาดของโรคนี้ เนื่องจากไทยมีระบบรายงานที่เป็นปัจจุบันจากพื้นที่และมีมาตรการป้องกันควบคุมโรคอย่างเป็นระบบ ซึ่งองค์การอนามัยโลกรับทราบ ทั้งนี้ วิธีการป้องกันที่ดีที่สุดคือการกำจัดลูกน้ำและยุงลายในแหล่งเพาะพันธุ์ ซึ่งขอให้ถือเป็นหน้าที่ของทุกคน
ด้าน นพ.วิชาญ ปาวัน ผอ.สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพระบุว่า สถิติดังกล่าวเน้นตรวจสอบในระยะ 1 สัปดาห์ซึ่งเป็นระยะเวลาที่มีประสิทธิภาพในดำเนินการดูแลป้องกัน ทั้งนี้ ตัวเลขสะสมของผู้ป่วยในช่วง 6 เดือนแรกของปี ตั้งแต่เดือน ม.ค. ถึงเดือน มิ.ย. คือ 97 ราย ใน 10 จังหวัด อย่างไรก็ตามไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนกเนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้รับการรักษาหายแล้ว
ด้านคณะกรรมการฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลกยังประชุมกันในวันนี้เพื่อหารือถึงความคืบหน้าในการจัดการกับการแพร่ระบาด โดยคาดว่าคณะกรรมการฯ จะสรุปสถานการณ์การแพร่ระบาดว่ายังคงเป็นภัยฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ
สำหรับสถานการณ์ในประเทศเพื่อนบ้านของไทย มาเลเซียได้รายงานว่าพบผู้ต้องสงสัยติดว่าเชื้อไวรัสซิก้าคนแรกแล้ว โดยเป็นผู้หญิงที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากสิงคโปร์ ซึ่งที่นั่นมีผู้ติดเชื้อมากกว่าร้อยราย และทางการสิงคโปร์ได้รณรงค์ให้ความรู้ประชาชนในการป้องกัน ขณะที่อินโดนีเซียได้ตรวจสอบผู้ที่เดินทางจากสิงคโปร์มายังสนามบินในกรุงจาการ์ตา และที่เกาะบาตัมซึ่งอยู่ไม่ห่างจากชายฝั่งทางใต้ของสิงคโปร์ ส่วนออสเตรเลีย ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ได้ออกคำแนะนำให้สตรีมีครรภ์เลี่ยงการเดินทางไปในประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโรค #ZikaVirus

โปรดเกล้าฯ แก้รัฐธรรมนูญชัวคราว 2557 เพิ่มสมาชิก สนช. เป็น 250 คน

โปรดเกล้าฯ แก้รัฐธรรมนูญชัวคราว 2557 เพิ่มสมาชิก สนช. เป็น 250 คน
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้า ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พุทธศักราช 2559 เพิ่มจำนวนสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติจากเดิม 200 เป็น 250 คน บังคับใช้วันที่ 2 ก.ย.
เนื้อหาที่เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ประกาศ 1 ก.ย. 2559 ระบุว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประกาศว่าโดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช 2557 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 รัฐธรรมนูญนี้เรียกว่า "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พุทธศักราช 2559
มาตรา 2 รัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"มาตรา 6 ให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติประกอบด้วยสมาชิกจำนวนไม่เกินสองร้อยห้าสิบคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดและมีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบปี ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติถวายคำแนะนำ"
มาตรา 4 ให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญนี้ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

“หมอเหรียญทอง” ยันปั๊มหัวใจ “ที่ดินพังงา” ตามขั้นตอน โยนถามแพทย์ชันสูตรเหตุตับแตก

เมื่อวันที่ 1 กันยายน ที่บริเวณหน้าอาคารศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ กล่าวว่าการรักษานายธวัชชัย อนุกูล อดีตเจ้าหน้าที่กรมที่ดินจังหวัดพังงา ผู้ต้องหาผูกคอตัวเอง ที่อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ โดยมีการปั๊มหัวใจเป็นไปตามขั้นตอนทางการแพทย์อย่างถูกต้อง เป็นการปั๊มหัวใจช่วงทรวงอก ประกอบด้วยหัวใจและปอด ไม่เกี่ยวกับตับที่อยู่ในส่วนช่องท้อง
พล.ต.นพ.เหรียญทอง กล่าวต่อว่า การให้ความช่วยเหลือเกิดขึ้นหลังจากได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษว่ามีผู้ป่วยเป็นลมหมดสติ โดยได้รับแจ้งเวลา 01.15 น. วันที่ 30 สิงหาคม ทางโรงพยาบาลจึงส่งทีมแพทย์ฉุกเฉินเข้าให้การช่วยเหลือทันที ไปถึงดีเอสไอเวลาประมาณ 01.20 น. ตลอดทางที่นำตัวนายธวัชชัยส่งโรงพยาบาล มีการปั๊มหัวใจตลอดเวลา เนื่องจากนายธวัชชัยอยู่ในภาวะวิกฤต กระทั่งถึงแผนกฉุกเฉิน ในเวลา 01.33 น. แพทย์ยังคงปั๊มหัวใจอย่างต่อเนื่อง ต่อมา 02.00 น. นำตัวนายธวัชชัยเข้าไปในห้องผู้ป่วยวิกฤตหรือไอซียู เพื่อต่อเครื่องช่วยหายใจและยังคงปั๊มหัวใจให้พ้นภาวะวิกฤต จนสุดท้าย เวลา 04.45 น. นายธวัชชัยเสียชีวิต
พล.ต.นพ.เหรียญทอง กล่าวอีกว่า จากนั้น 08.00 น. มีการส่งศพนายธวัชชัย ไปชันสูตรถึงสาเหตุการเสียชีวิตอย่างละเอียดที่สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ ส่วนสภาพศพและสาเหตุของตับแตกและเลือดออกในช่องท้อง ตามผลชันสูตรนั้น ต้องถามกับแพทย์ผู้ชันสูตรศพ จะให้ข้อมูลได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ หลังจากนายธวัชชัย เสียชีวิต ทางดีเอสไอได้มีการประสานขอสอบถามข้อมูลจากทางโรงพยาบาลอยู่เป็นระยะ โดยยืนยันว่าไม่มีการขอให้เปลี่ยนแปลงข้อมูลการเสียชีวิต
“ยืนยันว่าทางโรงพยาบาลไม่ได้ปั๊มหัวใจจนตับแตก แต่ไม่ทราบว่าก่อนเจ้าหน้าที่ฉุกเฉินโรงพยาบาลจะไปถึงตัวผู้ป่วย มีใครปั๊มหัวใจก่อนหรือไม่ ระหว่างการนำตัวนายธวัชชัยมาโรงพยาบาลมีเจ้าหน้าที่ดีเอสไอตามมาดูอาการด้วย แต่ไม่มีข้อพิรุธอะไร และหลังจากเสียชีวิต เจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้ตามสอบถามข้อเท็จจริง โดยโรงพยาบาลไม่ได้ตกแต่งข้อเท็จจริงและไม่ยอมให้ใครทำด้วย ”พล.ต.นพ.เหรียญทอง กล่าว

งานหิน!! นายกฯ มอบบิ๊กป้อม แก้ปัญหาจราจร

งานหิน!! นายกฯ มอบบิ๊กป้อม แก้ปัญหาจราจร
บิ้กป้อม เสนอของบฯกลาง "นายกฯ" แก้ปัญหาจราจร ช่วง3 เดิอนนี้ก่อน ตั้งกรรมการรณรงค์จิตสำนึก ยันแก้วันนี้พรุ่งนี้ไม่ได้ เตรียมประชุม ทำแผนจราจร ใน5ปี
พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กห) ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ให้แก้ปัญหาจราจร กล่าวว่า ปัญหาจราจร แก้วันนี้ พรุ่งนี้ คงไม่ได้ จนท.ทุกฝ่าย ต้องมาช่วยกัน ระบบขนส่งมวลชน ทั้งหมด เพื่อวางแผนในอีก5ปี ข้างหน้า โดยจะมีการประชุมใหญ่ ในเร็วๆนี้
ที่สำคัญคือ การปลุกจิตสำนึกคนใช้รถใช้ถนน เพราะถ้าให้บังคบ คนไม่สนใจ ทำอะไรไม่ได้
ยกตัวอย่าง รถเฉี่ยว ชนกัน ก็ลงมาตีกันเตรียมไม้ไว้ท้ายรถ ไว้ตีกัน
ต่้องมีมาตรการ ก่อนออกใบขับขี่ ให้ การอบรม ก่อนได้ และ การตรวจสอบ พฤติกรรมการขับรถ และมาตรการยึดใบขับขี่
"บ้านเรา ทำไม่ได้ หรอก เพราะคนเอาแต่ใจตัวเอง"
ตอนนี้ ได้ตั้ง กก.รณรงค์ เรื่องความปลอดภัยและจิตสำนึก การจราจร ให้ ปภ. มหาดไทย ดูแล
โดยได้ นำเรียน นายกฯในการ ขอ งบกลาง ทจำรวยนิดหน่อย มาแก้ ไขปัญหาใน 3 เดือน นี้ก่อน
ส่วนเรื่อง ให้รถทะเบียนเลขคึ่ ขับวันคี่ เลขคู่ ขับวันคู่ นั้น พลเอกประวิตร กล่าวว่า ใครยอมรับ บ้างล่ะ.
ถูกใจแสดงความรู้สึกเพิ่มเติม

แถลงยุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์ทหาร20ปี

แถลงยุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์ทหาร20ปี
นศ.วปอ.58 แถลงยุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์ทหาร20ปี ปี2560-2579ต่อ นายกฯบิ๊กตู่
"ร่างยุทธศาสตร์ชาติ วาดอนาคตชาติ อย่างยั่งยืน"
แผนโครงสร้างอาวุธยุทโธปกรณ์ ทุกมิติ... บก น้ำ ทะเล อากาศ อวกาศ. พรึ่บ....
งานนี้ นักศึกษา วปอ.58 ร่วมกับ วิทยาลัยเสธ.ทหาร 57 วิทยาลัยการทัพบก 61 วิทยาลัยการทัพเรือ48 และวิทยาลัยการทัพอากาศ50 ในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์ทหาร20ปี ปี2560-2579
เสนอต่อ พลเอกประยุทธ์ นายกฯ ที่หอประชุม ทร.